แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 646 647 [648] 649 650 ... 653
9706
โดย...สุจิตรา

ในวงการสาธารณสุขขณะนี้คงไม่มีเรื่องใดที่เป็นที่กล่าวขานเท่า (ร่าง) “พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ผู้เขียนสนใจในเรื่องนี้จนอดรนทนไม่ได้ต้องเขียนบทความก็เพราะผู้เขียนมีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ตัวแบบศึกษา (Case Study) ของกระบวนการในการออกกฎหมายเพื่อที่จะให้เกิดกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและสังคม

ประเด็นที่มักจะได้รับการหยิบยกมาเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านได้แก่

1. ประโยชน์ของกองทุน

กลุ่มผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า การที่มีกองทุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้การฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ลดน้อยลง โดยยกตัวอย่างประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และ นอร์เวย์ หรือที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้ความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนไข้ที่ได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีหลักการสำคัญเพื่อลดคดีการฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลลงด้วย โดยปรากฏในเจตนารมณ์ของร่างฉบับดังกล่าว

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านได้ให้เหตุผลว่าการที่มีกองทุนดังกล่าวแล้วก็ไม่มีอะไรที่รับประกันว่าการฟ้องร้องจะลดน้อยลง

ประเด็นของผู้เขียน คือ บริบทของประเทศในสแกนดิเนเวียกับประเทศไทยนั้น ต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนประชากร (นอร์เวย์ 4.6 ล้านคน สวีเดน 9 ล้านคน ไทย 66.4 ล้านคน) รายได้ต่อหัวประชากร (นอร์เวย์ 58,600 เหรียญต่อหัวประชากร สวีเดน 36,800 เหรียญต่อหัวประชากร ไทย 8,100 เหรียญต่อหัวประชากร) วัฒนธรรม ประเพณี ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน สำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การรู้ผิดชอบชั่วดี (มิเช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงที่ผ่านมา) หรือแม้แต่สำนึกในการเรื่องที่ง่ายที่สุด เช่น ในเรื่องของการใช้รถใช้ถนนก็แตกต่างกัน

ดังนั้น การที่ระบบ No-fault Liability ประสบความสำเร็จในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและนิวซีแลนด์ มิได้เป็นหลักประกันว่าระบบดังกล่าวจะต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะระบบดังกล่าวต้องอาศัยสำนึกที่ดีของความต้องการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระบบดังกล่าวจึงจะขับเคลื่อนอย่างดีและมีประโยชน์ได้

การให้เหตุผลว่า ความมุ่งหวังที่จะให้การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงปรากฏชัดเจนในเจตนารมณ์ของร่างพ.ร.บ.นั้น ก็มิได้หมายความว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องบรรลุผลเสมอไป เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับเป็นกรอบเพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นๆ พึงใช้ในการพิจารณาดำเนินการ แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น กฎหมายในคดีอาญาต่างก็มีเจตนารมณ์เพื่อให้คดีความต่างๆ ลดน้อยลง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิได้เป็นเช่นนั้น

2. ที่มาของเงินกองทุน

ที่ประเทศสวีเดนนั้น เม็ดเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ นั้น มาจากภาษีท้องถิ่นของประชาชน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ท้องถิ่นก็ต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมในการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และผู้เขียนก็เชื่อว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ต้องมาจากคนในท้องถิ่น ท้องถิ่นคงไม่ยอมที่จะให้บุคคลอื่นที่เป็นคนนอกท้องถิ่นมาพิจารณาตัดสินการใช้จ่ายเงินของตนให้กับผู้ร้องขอ เพราะคณะกรรมการที่มาจากคนนอกไม่มีความผูกพัน และไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ต่อเงินกองทุนดังกล่าวของท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษีของท้องถิ่นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่องบประมาณของประเทศ

ในกรณีของไทยนั้น เงินของกองทุนที่จะตั้งขึ้นตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” นำมาจาก (มาตรา 22) 1) เงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ที่เหลืออยู่ ประมาณสี่พันหกร้อยล้านบาท) 2) เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ (ตามมาตรา 21 ซึ่งระบุแต่เพียงว่า จะเรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้คำนึงถึงขนาดของสถานพยาบาล จำนวนผู้รับบริการ ความถี่หรือความรุนแรงของความเสียหาย ฯลฯ ) 3) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 4) เงินเพิ่มตามมาตรา 21 วรรคสอง 5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้กองทุน 6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ประเด็นของผู้เขียน คือ ความไม่ชัดเจนของที่จำนวนเงินที่สถานพยาบาลต้องจ่ายสมทบ ซึ่งตาม (ร่าง) พ.ร.บ.นี้สถานพยาบาลประกอบด้วยสถานพยาบาลของเอกชน สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย และสถานบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลทั้งต่อผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน แพทย์เจ้าของคลินิกแพทย์ และผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ ว่าตนเองจะต้องเสียเงินมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งคือ จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่พิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจะพิจารณาโดยคำนึงอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และคำนึงถึงกำลังของกองทุน จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินที่จ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยานั้นจะไม่บานปลายออกไปในแต่ละปีจนกลายเป็นภาระแก่เงินงบประมาณตามวงเล็บ 3 (เงินอุดหนุนรัฐบาล) และเป็นภาระแก่สถานพยาบาลที่อาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นทุกปีตามที่คณะกรรมการกำหนดในภายหลัง

3. ความเคลือบแคลงในผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่างก็ถูกหยิบยกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลเบื้องลึกที่สนับสนุนและที่คัดค้าน

ในส่วนผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดา หรือ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม ก็ถูกตั้งประเด็นว่ามีความต้องการลึกๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการเพื่อบริหารกองทุนที่มูลค่าหลายพันล้านหรือหลายหมื่นล้านบาทในโควตาของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนทั้งสิ้น 5 คนในอนาคตหรือไม่ หรือความพยายามที่จะส่งคนของตนเข้ามามีบทบาทแทนในกรณีที่ตนเองไม่สามารถจะเข้ามาได้ กลุ่ม NGO ซึ่งก็มีเก้าอี้ที่ชัดเจนในกรรมการถึงสามคน รวมทั้งตัวแทนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

นอกจากนี้แล้วสำนักงาน ก.พ.ก็ติงว่า พ.ร.บ.นี้อาจซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สำนักงาน ก.พ.ร. ก็มีความเห็นว่า สธ.ควรมอบให้ สปสช.ดำเนินการขยายความครอบคลุม โดยไม่ต้องตั้งกองทุนและสำนักงานขึ้นใหม่ กระทรวงการคลังเห็นว่าใช้เงินตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ ทำไมกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทั้งหลายจึงไม่นำข้อท้วงติงหรือความเห็นของหน่วยงานดังกล่าวมาหาทางออกที่เหมาะสมกว่าการตั้งกองทุนใหม่

ในกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการแพทยสภาบางท่านก็ถูกตั้งประเด็นว่า ที่ออกมาคัดค้านเพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนซึ่งต้องเสียเงินสมทบกองทุนดังกล่าวด้วย

ประเด็นปัญหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.

ประเด็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มผู้ออกมาคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนใน (ร่าง) พ.ร.บ. มีเพียงข้อความที่เขียนว่า “ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้” (มาตรา 6) หรือ “วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” ในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงพยาบาลต่างๆ (มาตรา 21) ทั้งที่สองมาตราดังกล่าวเป็นมาตราที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่วางใจ ความหวาดกลัวว่าเมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ผ่านสภาแล้ว การกำหนดรายละเอียดในภายหลังตามที่ระบุใน พ.ร.บ. จะถูกเล่นแร่แปรธาตุและจะยากในการแก้ไขดังที่มีบทเรียนมาแล้วในกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งเหตุผลของผู้คัดค้านคือความห่วงใยในผลกระทบวงกว้างต่อสังคมทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลที่ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอนเพราะแพทย์ทุกคนก็ต้องสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยมากขึ้นเพื่อปกป้องตนเอง ความห่วงใยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และความห่วงใยว่าต่อแต่นี้ไปทุกหน่วยราชการก็จะพยายามเขียนกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนเพื่อที่ตนจะได้เข้าไปบริหาร โดยมีกฎหมายบังคับให้สังคมต้องเอาเงินมาลงไว้ที่กองทุนที่ตั้งขึ้น

สังคมไทยเราได้เคยมีบทเรียนมามากมายแล้วกับความพยายามที่จะสร้างผลงานในประชานิยมในด้านสาธารณสุขและผลงานเหล่านั้นก็สร้างบาดแผลให้กับสังคมและภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) นัยว่าเพื่อให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง (ทั้งที่ในระบบก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าถึงได้อยู่แล้ว แม้จะไม่มีเงินสักบาทโรงพยาบาลของรัฐก็ยังรักษาให้ฟรี)

แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายในโครงการที่นับวันมีแต่จะมากขึ้นๆ หรือ โครงการระบบการจ่ายตรงด้านค่ารักษาของข้าราชการ ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ข้าราชการ แต่กลับสร้างภาระแก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากในปัจจุบัน รวมทั้งสร้างช่องทางในการทุจริตและคดโกงให้เกิดขึ้นดังที่กรมบัญชีกลางตระหนักดี หรือ กองทุนประกันสังคม (ด้านการรักษา) ที่ให้ผู้ทำงานต้องจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าในกองทุนประกันสังคม แทนที่จะเก็บล่วงหน้าจากบริษัทห้างร้านและรัฐบาล และจะเก็บจากผู้ทำงานก็ต่อเมื่อไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรคหรือการเจ็บป่วยที่ง่ายๆ ที่ผู้ทำงานน่าที่จะดูแลตนเองได้ เช่น หวัด อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (ยกเว้นโรคที่ต้องต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูงหรือกรณีเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD)

วิธีการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ประชาชนผู้ทำงานจะได้ใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตน เป็นการมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ผู้ทำงานที่ดูแลสุขภาพได้ดีก็จะได้รางวัลคือไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งความหวาดระแวงของผู้ป่วยในระบบประกันสังคมต่อโรงพยาบาลหรือต่อแพทย์ว่าจะได้ยาที่ไม่ดีจะได้ไม่เกิดดังเช่นทุกวันนี้ เหล่านี้คือตัวอย่างของการออกกฎหมาย กฎระเบียบที่อาจส่งผลดีต่อผู้รับบริการ แต่ส่งผลกระทบและผลข้างเคียงในระยะยาวและยากที่จะแก้ไข

คำถามมีอยู่ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างหรือไม่

ถ้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างนั่นคือต่อระบบสาธารณสุข รัฐบาลและรัฐสภามีเหตุจำเป็นต้องรีบเร่งเพื่อออก พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

บทเรียนในแง่การเมืองภาคประชาชน

ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องรีบเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ รัฐบาล รัฐสภา และสังคมน่าที่จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือหรือหนทางในการสร้างเวทีทางปัญญาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมแสดงความเห็น ความเห็นหลากหลายมุมมอง ความเห็นที่มีหลายขนาดของการมอง ความเห็นที่มีความลึก (Perspective) ในการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เป็นการปูพื้นฐานการเมืองภาคประชาชนเพื่อประชาชนได้มีโอกาสและให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและผูกพันกับลูกหลานของเราในอนาคต มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองในสภาบังคับวิถีชีวิตของเราจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติดังที่เป็นมา

เวทีที่ผู้เขียนพูดถึงนี้อาจไม่ใช่เวทีทางทีวีหรือวิทยุ อาจเป็นเวทีบนโลกไซเบอร์ที่คนที่สนใจเข้าถึงโดยสะดวกทุกเวลา ไม่ใช่เวทีเพื่อให้คนทั่วไปฟังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เวทีเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามและประกาศก้องว่า “ข้าคือผู้ชนะ” แต่เป็นเวทีเพื่อสร้างเวทีการเมืองภาคประชาชนให้ประชาชน บนพื้นฐานความคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมในระยะยาว มิใช่คิดเพียงง่ายๆ แล้วต้องมาตามแก้ในภายหลัง

ผู้เขียนได้เคยลองเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ถ้าทุกฝ่ายจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงที่เกี่ยวข้องกับตน ทำไมไม่ทดลองนำระบบนี้มาใช้ในพื้นที่บางจังหวัดและติดตามดูผลว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ติดตามดูว่า การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงหรือไม่ ติดตามดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่เราต้องการให้ดีขึ้นและเป็นเหมือนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นดีขึ้นจริงตามเขาหรือไม่ ติดตามดูว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้คัดค้านห่วงใย ไม่ว่าจะในเรื่องของเงินกองทุนที่บานปลาย การร้องเพื่อขอเงินชดเชยที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อติดตามและได้ผลดีแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว ก็สามารถที่จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดที่มีบริบทเหมือนกัน สุดท้ายเมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ทุกฝ่ายก็จะมาร่วมด้วยความสมัครใจ

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ประเทศไทยยังคงต้องอยู่อีกนาน เรายังมีเวลาอีกมากมาย ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องเร่งรีบออกกฎหมายหรือสร้างระบบที่อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

9707
บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์.....

โดย...ศ.นพ.ธารา ตริตระการ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เขียนได้ติดตามเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่นั้น มีความเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่อยากฝากคณะทำงานให้พิจารณาและดำเนินการแก้ไขต่อไป คือ

1.ความเสียหายใน พ.ร.บ.ดังกล่าวคืออะไร ?

ในมาตรา 3, 5 และ 6 มีนิยามคำ “ผู้เสียหาย” แต่มิได้กล่าวถึงว่า “ความเสียหาย” คืออะไร มีความรุนแรงระดับใดจึงจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น เสียชีวิต เสียอวัยวะ สูญเสียการทำงานของอวัยวะทั้งหมดหรือบางส่วน เสียโฉม เสียหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เสียความสามารถในการทำงาน เสียขวัญ เสียใจ หรือทำให้เกิดความหวาดวิตกจนกระทบต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ย่อมมีผู้ยกความเสียหายขึ้นมาร้องเรียนขอค่าชดเชยได้แม้เป็นเพียงความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ

2.มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนในมาตรา 5 และ 6 ว่าด้วยสิทธิของผู้เสียหายและเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามร่าง พ.ร.บ.ฯ

มาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ในมาตรา 6 ผู้เสียหายไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 5 ได้หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ (1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (2) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (3) ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดให้ใช้สิทธิอย่างกว้างขวาง ยกเว้นจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 วงเล็บ 1, 2 และ 3 แล้ว เมื่อเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น ย่อมมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือได้ทั้งสิ้นโดยไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยประกอบอื่น แม้เหตุยกเว้นในวงเล็บทั้งสามบ่อยครั้งไม่สามารถแยกว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุเวชปฏิบัติ์ หรือ Malpractice

บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice เป็นการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่น่าจะเป็นความผิด จึงไม่รับผิดและไม่เห็นด้วยในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ผู้เสียหายมองว่า ความเสียหายเกิดจากการรับบริการสาธารณสุข ผู้ให้บริการจึงต้องรับผิดชอบ ความเห็นที่แตกต่างกัน นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้อง

เพื่อความเข้าใจตรงกัน จึงขอยกตัวอย่างเช่น

ผู้ป่วยเป็นนักธุรกิจวัยกลางคน มีรายได้สูง มีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ ผู้ใกล้ชิดนำส่งโรงพยาบาล แพทย์พบว่าหัวใจหยุดเต้น จึงให้การรักษาโดยการช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและยาอื่นๆ อีกหลายชนิด ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องที่หออภิบาลหรือหอผู้ป่วยหนักอีก 2 สัปดาห์ ผลการรักษาอาจเป็นไปได้หลายลักษณะ เช่น

1.การช่วยชีวิตสำเร็จ ผู้ป่วยฟื้นเป็นปกติ กลับไปประกอบอาชีพได้เหมือนเดิมแต่เกิดความเสียหาย คือ ฟันหน้าหัก 2 ซี่ กระดูกซี่โครงหัก 4 ซี่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดทุกครั้งที่บิดร่างกาย มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถเดินทางไกลๆ โดยเครื่องบิน ทำให้เสียรายได้ในการประกอบธุรกิจ

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ เพราะความเสียหายมิใช่ความเสียหายตามธรรมดาของโรค แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการรักษา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย แต่ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice

2.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองบางส่วน ความจำเสื่อม ทำให้ประกอบธุรกิจไม่ได้ ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือว่าเกิดจากการรักษาไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย

3.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองอย่างมาก ช่วยตัวเองไม่ได้ ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ กินอาหารเองไม่ได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวอย่างมาก

- ผู้ใกล้ชิดที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลพบว่า แพทย์ผู้ให้การรักษาเบื้องต้นเป็นเพียงแพทย์จบใหม่ ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ไม่พร้อม เครื่องช็อกหัวใจไม่ทำงาน ทำให้การช่วยฟื้นคืนชีพไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหายจนครอบครัวได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานมาก

- ผู้ป่วย และครอบครัวจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่?

จะเห็นได้ว่าความเสียหายในลักษณะที่ 1 เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติหรือ Mal Practice ฟันและกระดูกซี่โครงที่หักเกิดจากกระบวนการช่วยชีวิต เป็นความเสียหายที่น่าจะรับได้ในการช่วยชีวิตฟันหักสามารถใส่ฟันปลอมได้ กระดูกหักจะติดและหายเองตามธรรมชาติภายใน 4 ถึง 6 สัปดาห์

ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดกว้างให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองอย่างกว้างขวางทุกกรณีที่ไม่ใช่ข้อยกเว้นใน มาตรา 6 วงเล็บ 1 ถึง 3 ถ้าคณะกรรมการหรือผู้ที่กำลังดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดจากเหตุลักษณะนี้ สมควรได้รับสิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ก็จะมีผู้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายมากมาย จนเป็นภาระหนักแก่ระบบการเงินของประเทศและระบบการสาธารณสุขของประเทศ กระทบการเงินที่จะนำไปพัฒนาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอื่นๆ และอาจกระทบระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศได้ เพราะความเสียหายในลักษณะนี้|มีมากมาย ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 เป็นความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยไม่มี ความผิดพลาดใดๆ ในการให้บริการ อาจเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองได้รับความเสียหาย แต่ผู้เสียหายและญาติอาจมองว่า เกิดจากการบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่าเข้าข่ายมาตรา 6 (1) หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ไม่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้

ความเสียหายในลักษณะที่ 3 เป็นความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหาย เมื่อหัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดและออกซิเจนมากกว่า 5 นาที เซลล์สมองจะเริ่มตาย ความเสียหายของสมองจึงขึ้นกับเวลาที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและประสิททธิภาพของการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ญาติผู้เสียหายมองว่า เกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล การบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และพิจารณาขีดจำกัดของโรงพยาบาลและผู้ให้บริการ

การที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้สิทธิกับผู้เสียหายอย่างกว้างขวางดังกล่าว กำหนดเวลาให้คณะกรรมการและอนุกรรมการตลอดจนกระบวนการพิจารณาช่วยเหลือต่างๆ รวดเร็ว ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วทันการ ย่อมเป็นผลดีอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่มีผลสะท้อนกลับ ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ว่าจากเหตุใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ใช้สิทธิเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชย ซึ่งจำเป็นต้องหาเหตุแห่งความเสียหายที่ไม่ใช่สาเหตุในข้อยกเว้นที่จะใช้สิทธิในมาตรา 6 จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นการกล่าวโทษผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลได้ให้การรักษามาอย่างดีโดยตลอด แม้กระทั่งการช่วยชีวิต จึงน่าจะมีผลกระทบที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการเสื่อมทรามลง มีผลกระทบขวัญและกำลังใจของผู้ให้บริการ ที่ทุ่มเทกายใจในการช่วยเหลือผู้รับบริการ

การกำหนดนิยามและความรุนแรงของความเสียหาย และเหตุแห่งความเสียหายให้รัดกุมจึงจำเป็น แม้ว่ามาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ. โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ในหลายประเทศที่มีระบบการบริการสาธารณสุขและระบบเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่ดี เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะเมื่อเกิดความเสียหายที่รุนแรง หรือที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ใช้สิทธิอย่าง กว้างขวางตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

จึงขอฝากให้คณะทำงาน พิจารณาแก้ไขมาตรา 5 และ 6 ในร่าง พ.ร.บ.นี้

สำหรับนิยาม “ความเสียหาย” ขอเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 3 ดังนี้ “ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” หมายความว่า การเสียชีวิต การเสียอวัยวะ การเสียความสามารถในการทำงานของอวัยวะอย่างถาวรบางส่วนหรือทั้งหมด

การเสียโฉม การได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง การได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเรื้อรังจนมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต อันเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งมิไช่ผลที่คาดว่าจะได้รับตามปกติจากการรับบริการสาธารณสุข มิใช่ผลการดำเนินของโรคตามปกตินั้น มิใช่ผลที่เกิดตามมาตรฐานการรับบริการสาธารณสุขมิใช่ผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการรับบริการสาธารณสุขที่คาดว่าอาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการสาธารณสุขได้แจ้งให้ผู้รับการรับบริการสาธารณสุขทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

นิยามที่เสนอเพื่อพิจารณานี้ กำหนดขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนขึ้น ป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสเรียกร้องสิทธิโดยไม่สมควร จะช่วยให้คณะกรรมการพิจารณาการช่วยเหลือชุดต่างๆ พิจารณาได้ง่ายขึ้น ไม่กำหนดผู้กระทำหรือการกระทำว่าผิดถูกอย่างไรว่า เป็นความประมาท ความบกพร่อง ความผิดพลาด ความไม่พร้อมของผู้ให้บริการ สถานบริการ หรือกระบวนการให้บริการ แต่ดูที่ผลลัพธ์ของการบริการที่เป็นความเสียหายจึงไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 นิยามนี้กำหนดชัดเจนว่า ผลเสียหรือความเสียหาย เป็นผลโดยตรง ที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและเกิดผลเสียที่กระทบต่อผู้เสียหายรุนแรงและยาวนาน

ตามตัวอย่างที่ยกมาแสดงข้างต้น ความเสียหายในลักษณะที่ 1 ฟันหักเป็นความเสียหายถาวรที่ต้องรักษาโดยการใส่ฟันปลอม สมควรได้รับการชดเชย ส่วนซี่โครงหักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้จากการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐาน และหายได้เอง จึงไม่ควรได้รับการชดเชย

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 และ 3 ถ้านำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ช้ากว่า 5 นาทีสมองย่อมได้รับความเสียหายตามธรรมชาติ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงไม่ต้องพิจารณากระบวนการให้การบริการ แต่ถ้านำส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วก่อน 5 นาที จึงพิจารณาว่ากระบวนการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพและเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่

การกำหนดคำจำกัดความและขอบเขตความคุ้มครองที่ชัดเจน จึงเป็นธรรมแก่ผู้ให้และผู้รับบริการ จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชน จะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันคิด ช่วยกันกำหนดขอบเขตที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศโดยรวม ไม่เปิดกว้างจนเกินไป ไม่ทำให้ผู้ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้

จึงขอฝากให้คณะทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้



9708
8 ปีที่ตั้งเครือข่ายเสียหายทางการแพทย์ มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย...

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สังคมไทยเชิดชูวิชาชีพแพทย์ในฐานะผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นทุกข์ ตลอดถึงการยื้อชีวิตในยามที่ความเจ็บป่วยมาถึงปลายสุดระหว่างความเป็นความตาย

สำนึกของสังคมไทยต่อแพทย์ จึงเป็นสำนึกแห่ง “บุญคุณ”

แม้จรรยาวิชาชีพจะเป็นสิ่งกำกับและควบคุมการทำหน้าที่ของแพทย์ให้เป็นไปเพื่อมนุษยธรรม แต่ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากการปฏิบัติใดตกอยู่ใต้ความประมาทเลินเล่อ ที่ผ่านมาสำนึกแห่ง “บุญคุณ” ในผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ กดทับให้ผู้รับบริการอยู่ในภาวะทำใจเพื่อจำยอมต่อความบกพร่อง ทั้งที่ควรได้รับสิทธิในการเยียวยาช่วยเหลือจากความผิดพลาดบกพร่องนั้น

ตลอดระยะเวลาที่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 มีการใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทองจำนวนถึง 727 ล้านครั้ง เป็นคนไข้ใน 28 ล้านราย ความถี่ของการใช้บริการจำนวนมหาศาลเช่นนี้ จำนวนครั้งของ “ความผิดพลาด” ก็น่าจะมากตามไปด้วย

แต่ทว่า มีคนไข้เพียง 3,200 รายเท่านั้น ที่กล้า “ใช้สิทธิ” ฟ้องร้องความผิดพลาดของแพทย์

เจ้าชายนิทรา

กว่า 5 ปีมาแล้ว ที่ ยงยุทธ ปันนินา เด็กหนุ่มระดับหัวกะทิความหวังของครอบครัว “ปันนินา” ต้องมีสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง โดยมี ดวงนภา ปันนินา มารดา ที่ต้องระทมทุกข์แสนสาหัส เสมือนมีคมมีดกรีดกรายหัวใจอยู่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

“ทุกวันนี้ลูกเหลือเพียงร่างกับลมหายใจ แม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่เมื่อเห็นสภาพแบบนี้แล้วเราก็อยากให้เขาตายไปเลย ตัวเราเองบางครั้งก็อยากกินยาตายเหมือนกัน”

เธอตัดพ้อชะตากรรมอย่างหดหู่ต่อลูกชายวัย 19 ปีเศษ ของเธอประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเมื่อเดือน พ.ค. 2547 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ด้วยการให้ยาและเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากมีอาการสมองบวมและเลือดออกในสมอง โดยรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูถึง 27 คืน กระทั่งอาการดีขึ้นแพทย์เจ้าของไข้จึงตัดสินใจย้ายมาพักฟื้นและสั่งถอดเครื่องช่วยหายใจบริเวณลำคอออก

“ตอนนั้นลูกชายอาการดีขึ้นมากแล้ว กายภาพบำบัดหัดเดินได้ เขียนหนังสือได้ สื่อสารด้วยคำสั้นๆ ได้ เรียกพ่อเรียกแม่ได้ เราก็คิดว่าลูกจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งหมอสั่งให้ถอดเครื่องช่วยหายใจที่คอออก พอหมอผ่าตัดเสร็จก็เดินออกจากห้องทันที ให้พยาบาลดูแลแทน เราเห็นพยาบาลเอาผ้าก๊อซอุดรูที่คอเอาไว้แล้วเดินออกไปโดยไม่สนใจอะไรเลย ทันใดนั้นลูกก็อาการทรุดลง หายใจไม่ได้” เธอกล่าวด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก แล้วเล่าต่อว่า ทราบภายหลังว่าสมองของบุตรชายขาดออกซิเจน

เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ดิ้นอย่างทุรนทุราย มีอาการคล้ายๆ ชัก ผู้เป็นแม่จึงรีบวิ่งไปแจ้งพยาบาลเวรที่อยู่นอกห้องให้ช่วย แต่คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ “เด็กยังไม่ชินกับการหายใจ ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น” จนสุดท้ายบุตรชายทนไม่ไหว กระเสือก|กระสน ถ่ายเรี่ยราด แพทย์จึงนำเข้าห้องไอซียูรอบ 2 เป็นเวลากว่า 45 คืน

“ลูกก็ทรุดหนัก รอดตายมาได้ด้วยการปั๊มหัวใจขึ้นมา แต่ก็ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทราแบบนี้ เป็นเพราะความประมาทของแพทย์และพยาบาลที่ไม่ดูให้ดีว่าคนไข้หายใจเองได้หรือไม่” เธอกล่าวตำหนิ

เวลา 4 เดือนที่เข้ารับการรักษา ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ครอบครัว “ปันนินา” มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทเท่านั้น

“เราก็คนบ้านนอก ไม่รู้จะทำยังไง พอดีอ่านข่าวเจอเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงได้เขียนจดหมายไปแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง แต่สุดท้ายกลับได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ตอนนี้เราฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและชนะคดีในชั้นต้นกับอุทธรณ์แล้ว ศาลให้ชดเชยให้เรา 3.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกกว่า 4 แสนบาท แต่เราบอกเขาว่าไม่เอาดอกเบี้ยก็ได้ ขอให้จบเถอะ อย่าต้องให้ไปสู้อีกศาลหนึ่งเลย เราเหนื่อยและลำบากมาพอแล้ว” ดวงนภาวิงวอน

แอบตัดลำไส้

วนาพร เกริกชัยวัน เป็นเหยื่ออีกรายที่ถูกกระทำ โดยเธอเข้ารับการผ่าตัดพังผืดซึ่งอยู่ระหว่างรังไข่และมดลูก เพื่อสะดวกต่อการมีบุตรเมื่อเดือน พ.ย. 25 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังการผ่าตัดแพทย์แจ้งว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี มีปัญหาเล็กน้อย คือ |มีดไปสะกิดโดนลำไส้ เนื่องจากพบพังผืดในบริเวณนั้น ทว่าได้เย็บตกแต่งเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเธอกลับบ้านกลับเกิดอาการอาเจียนและปวดท้องอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจกลับมายังโรงพยาบาลอีกครั้ง

แพทย์อีกรายเอกซเรย์และวินิจฉัยว่ามีลำไส้บางส่วนไม่ทำงาน จำเป็นต้องสอดสายยางทางจมูกจนถึงลำไส้ เพื่อทำการดูดน้ำย่อยและน้ำดีออกมา

เป็นเวลา 10 วัน ที่ต้องนอนทรมานโดยมีสายยางระโยงระยางทั่วตัว เธอรู้สึกมีกลิ่นเหม็นออกมาจากภายในร่างกายและพยายามแจ้งพยาบาลตลอดเวลา ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเป็นกลิ่นน้ำย่อย จึงไม่ต้องวิตกกังวล จากนั้นแพทย์รายใหม่ได้ดูฟิล์มเอกซเรย์ พบว่าลำไส้หลายส่วนไม่ทำงาน จำเป็นจะต้องฉีดรังสีเข้าเส้นเลือด เพื่อทำการเอกซเรย์ในอุโมงค์อย่างละเอียดและผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง

การผ่าตัดครั้งที่ 2 ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ด้วยความสงสัยจึงสอบถามพยาบาลว่า แพทย์ได้ตัดลำไส้ออกไปบ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าตัดไป 8 มิลลิเมตร แต่จากการถามแพทย์อีกครั้ง ทำให้ทราบว่าตัดออกไปครึ่งหนึ่งของลำไส้ทั้งหมด เนื่องจากมีการเน่าเสียเกิดขึ้น

“ดิฉันทราบมาว่าการผ่าตัดครั้งแรกก็มีการตัดลำไส้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ได้โดนใบมีดบาด เมื่อไปสอบถามแพทย์รายแรก เขาจึงยอมรับว่าตัดไป 2 นิ้วจริง” เธอ กล่าว และเล่าว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งหมด 2.4 แสนบาท ทั้งที่ตัวเองเตรียมเงินไว้เพียง 7 หมื่นบาท สำหรับผ่าตัดเพื่อช่วยการมีบุตรเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อไปถามแพทย์รายแรกกลับพบว่าการผ่าตัดเพื่อมีบุตรก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน ทั้งนี้แพทย์คนดังกล่าวได้รับปากจะเจรจากับโรงพยาบาลเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้ แต่ก็ไม่เป็นผล

“หมอบอกว่าผ่าตัดไม่สำเร็จ และต่อไปจะไม่สามารถมีบุตรได้อีกแล้ว ดิฉันต้องสูญเสียลำไส้ สูญเสียความหวังในการมีบุตร จากความผิดพลาดของหมอและโรงพยาบาล ที่สำคัญยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อไว้ด้วย”

ทุกวันนี้วนาพรมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายตลอดเวลา และไม่สามารถยึดอาชีพเสริมสวยซึ่งสร้างรายได้ให้เธอถึงวันละ 3,000 บาท ได้เหมือนเก่า

ขูดเลือดด้วย ความหวัง

“แค่หมอบอกว่ามีโอกาสเพียง 1% ที่จะช่วยให้สามีดิฉันรอดจากความตาย ไม่ว่าต้องเสียเงินเท่าไรดิฉันก็จะไปหามา แต่นี่สามีดิฉันเสียชีวิตไปแล้วแต่กลับไม่บอกความจริง บอกแค่ว่ายังมีทางช่วย แล้วสุดท้ายเรียกเก็บเงินถึงคืนละ 5 แสน” นางปุ้ย (นามสมมติ) ตัดพ้อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือคับแค้นใจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการจากไปของสามีเธอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำ รู้สึกได้ว่าเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงชั่วข้ามคืน เธอย้อนเหตุการณ์กลับไปยังคืนวันที่ 11 ส.ค. 2552 ว่า ได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าสามีล้มหมดสติอยู่ในห้องเซานา จึงรีบลงไปดูแล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการปฐมพยาบาล จากนั้นจึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีประวัติการรักษาอยู่ที่นั้น

การพยาบาลเป็นไปตามขั้นตอน สามีของเธอถูกส่งไปรักษาตัวยังห้องไอซียู เธอจึงพาบุตรกลับไปพักผ่อนที่บ้าน กระทั่งเช้าของวันที่ 12 ส.ค.2552 เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลได้โทร.แจ้งว่าให้กลับมาด่วนและต้องปั๊มหัวใจสามี เพราะอาการทรุดตัวลง

เรื่อยมาจนบ่ายคล้อย มีการปั๊มหัวใจถี่ขึ้นอีก 2 ครั้ง แพทย์เจ้าของไข้เข้ามาบอกให้ทำใจเอาไว้ และคาดว่าสามีคงอยู่ไม่พ้นวันนี้ เนื่องจากร่างกายไม่รับยา

“ตอนนั้นดิฉันรีบติดต่อญาติของสามี น้องสะใภ้ เสนอให้ย้ายไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งและจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ เมื่อดิฉันได้คุยกับแพทย์โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ ได้รับคำยืนยันว่ามีโอกาสรอด จึงตัดสินใจย้ายสามีไปทันที” เธอเล่าถึงความหวังอันริบหรี่

โรงพยาบาลแห่งใหม่เสนอทางยื้อชีวิตสามีไว้ด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวใจ แต่ราคายาเข็มละกว่า 7 หมื่นบาท เธอตอบตกลงทันทีด้วยความหวังว่าจะช่วยชีวิตของสามีไว้ได้

“พอฉีดยาปุ๊บ เขาก็บอกว่าทุกอย่างกระเตื้องขึ้น แล้วจึงพาสามีไปอยู่ที่ห้องไอซียู จนถึงกลางดึกสามีกลับมีเลือดจากทุกส่วนของร่างกาย และสุดท้ายแพทย์ก็มาบอกว่าสามีได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะให้แพทย์ชำนาญการมาดูเรื่องเลือด เนื่องจากเลือดติดเชื้อ”

“ในเมื่อสามีเสียชีวิตแล้ว จะเอาทั้งหมอทั้งเครื่องฟอกโลหิตหรืออะไรอื่นๆ มาทำไมอีก ดิฉันถามหมอว่า ถามจริงๆ นะคะคุณหมอ ที่ทำทั้งหมดไม่ได้ให้ช่วยให้รอด เพียงแต่พยุงร่างไว้ให้เห็นใช่หรือไม่ คุณหมอก็พยักหน้า ที่สำคัญหมอยังไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของสามีด้วย เขียนแต่เพียงว่าตายผิดปกติ แล้วส่งต่อไปสถาบันนิติเวชจุฬาฯ ผ่าพิสูจน์ศพ”

เธอ บอกว่า ค่ารักษาคืนเดียวเป็นเงิน 5 แสนบาท ทั้งที่แพทย์น่าจะรู้แล้วว่าสามีเสียชีวิตตั้งแต่โรงพยาบาลแรกแล้ว แต่ด้วยต้องการทำเพื่อการค้าอย่างไร้จรรยาบรรณ จึงรับปากเพื่อรับคนไข้มารักษาโดยต้องการแต่เงินเพียงอย่างเดียว

“เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเป็นที่สุด เพราะเราไม่มีทางสู้หมอหรือสู้แพทยสภาได้เลย เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาลกันทั้งนั้น เวลารักษาก็มุ่งแต่จะคิดเงิน ไม่ได้มองถึงคุณค่าของชีวิตและความรู้สึกของคนอื่นสักเท่าไร” เธอกล่าวสรุปอย่างหมดหวัง

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ บอกว่า กว่า 8 ปีที่ตั้งเครือข่ายมา มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ยกันได้ อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย กำลังเตรียมยื่นฟ้อง และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ที่สำคัญคือมีกลุ่มที่ต่อสู้แล้วเลิกล้มกลางคันเป็นจำนวนมาก

“จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2543 พบการเสียชีวิตจากความผิดพลาดที่ป้องกันได้ 9.8 หมื่น-1.9 แสนราย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน สหรัฐอเมริกาใช้เวลาตรวจคนไข้เฉลี่ย 20 นาทีต่อคน ในขณะที่ประเทศไทยใช้เพียง 2-3 นาที นั่นเชื่อได้ว่าอัตราความผิดพลาดย่อมสูงกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งต้นเหตุและปลายเหตุอย่างแน่นอน”

ความหวังของผู้ป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด คงไม่ต่างกับอุดมการณ์ของแพทย์ผู้ให้บริการ ที่ปราถนาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์จนเต็มความสามารถอย่างถึงที่สุด แม้ความผิดพลาดอาจสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การเยียวยาบรรเทาผลกระทบ คือ สิ่งแรกสุดที่จะต้องเร่งทำอย่างเต็มกำลัง

9709
ใครเสีย ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


สิทธิของผู้รับหรือซื้อบริการทางสาธารณสุข ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากความผิดพลาดของการให้บริการก็ตาม หรือแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ละเมิดก็ตาม เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งเพื่อปกป้องตนเอง และถ้าคิดให้กว้าง ย่อมปกป้องสังคมโดยรวมจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขายหรือให้บริการด้วย


และเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มีประโยชน์เช่นนี้ การฟ้องร้องเป็นคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดพลาดของบริการสาธารณสุข จึงไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายในตัวเอง ผู้ที่คัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" จึงต้องยอมรับในเบื้องต้นก่อนว่า สิทธิและการใช้สิทธิเช่นนี้ ไม่ใช่ปัญหา ไม่ควรลิดรอนสิทธิ หรือประณามการใช้สิทธินี้ตามครรลองแห่งกฎหมาย


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การฟ้องร้องก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายแก่ทุกฝ่าย ทางฝ่ายบุคลากรทางสาธารณสุขเองก็หวาดระแวงว่า การปฏิบัติของตนอาจทำให้ตนเองเสียหายจากการถูกฟ้องร้องได้ การตัดสินใจในภารกิจหลักคือการรักษาพยาบาล กลับตกเป็นรองการตัดสินใจเพื่อรักษาความปลอดภัยทางกฎหมายของตนเอง (ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่คนไข้แน่นอน) และในทางตรงกันข้าม การเป็นคดีในศาลสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากต้องเสียทรัพย์สินเงินทองในการดำเนินคดีแล้ว ยังใช้เวลานานหลายปี โอกาสจะชนะคดีก็มีไม่มากนัก เพราะ "ผู้ชำนาญการ" ที่จะให้การเป็นพยานหาได้ยาก เนื่องจากศาลไทยยอมรับความ "ชำนาญการ" แก่แพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ในขณะที่การแพทย์ปัจจุบัน แยกความเฉพาะทางออกเป็นส่วนย่อยละเอียดซับซ้อน จนกระทั่งแต่ละ "ทาง" ก็มีไม่กี่คน ล้วนเห็นหน้าเห็นตาและรู้จักกันเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น


เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และคนไข้ และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ม.41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข "โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งแก่คนไข้ และบุคลากรทางสาธารณสุข โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากความบกพร่องของบริการ หรือเกิดขึ้นด้วยเหตุปรกติธรรมดา หากเกิดขึ้นจากบริการ ก็ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหาย


หลักการ "ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" นี้มีความสำคัญ กล่าวคือแม้จะยังต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากความบกพร่องของบริการหรือไม่ ข้อวินิจฉัยนี้จะไม่ผลักภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์คนใดคนหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความบกพร่องของ "ระบบ" ฉะนั้นจึงตั้งกองทุนขึ้น เพื่อจ่ายเงินค่าช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ได้ไปรีดเอาจากบุคลากรคนใดคนหนึ่งแต่อย่างไร


เท่ากับว่าหลักการข้อนี้คำนึงถึงเงื่อนไขการทำงานของบุคลากรในความเป็นจริงด้วย ในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง แพทย์แต่ละคนต้องทำงานหนักมาก โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยหรือตัดสินใจให้การรักษาพยาบาลอาจเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ความผิดพลาดนั้นจึงเป็นความผิดพลาดของ "ระบบ" ไม่ใช่บุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะศาลจะไม่สามารถคำนึงถึงเงื่อนไขอื่นๆ ได้นอกจากการตัดสินใจและการกระทำของบุคคลนั้นๆ คำพิพากษาจึงบังคับให้บุคคลต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น


นอกจากนี้ หลักการข้อดังกล่าว ยังทำให้การช่วยเหลือเบื้องต้นสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็วกว่าการดำเนินคดีในศาลอย่างเทียบกันไม่ได้ จากสถิติที่ สปสช.ได้รวบรวมไว้ ในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มมีผลในเรื่องนี้ (2547-2552) ระยะเวลาเฉลี่ยของการดำเนินการในแต่ละกรณีมีเพียง 51 วันเท่านั้น ในปี พ.ศ.2553 ซึ่งยังไม่สิ้นปี สถิติถึงกรกฎาคม เวลาเฉลี่ยในการดำเนินการเหลือเพียง 27 วัน


เรายังมีกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางสาธารณสุขอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยกฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่ ก็คงอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน กล่าวคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดพลาดเชิงระบบมากกว่าเชิงบุคคลล้วนๆ


แม้ผลดีที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ที่มีอยู่ปรากฏอย่างชัดแจ้งแล้ว แต่ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับก็มีข้อจำกัดที่ครอบคลุมประชาชนไม่ทั่วถึง ม.41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติครอบคลุมเฉพาะผู้รับบริการซึ่งใช้บัตรทอง (30 บาท) ซึ่งมีผู้ถือบัตรอยู่เพียง 40 กว่าล้านคน จากประชากรกว่า 60 ล้านในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพียงแต่ "ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น" เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการชดเชยความเสียหาย ส่วน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ครอบคลุมเฉพาะผู้รับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น


ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ ซึ่งถูกต่อต้านโดยบุคคลบางฝ่ายอยู่เวลานี้ จึงเป็นเพียงการเติมเต็มความพยายามในทิศทางที่ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ.2539 เท่านั้น เช่นขยายการคุ้มครองให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ทำความพอใจให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายมากขึ้น คือไม่ได้จ่ายแต่ค่า "ช่วยเหลือเบื้องต้น" เท่านั้น แต่รวมถึงการ "ชดเชย" เบื้องต้นด้วย ซึ่งสถิติที่ผ่านมาชี้ว่า จะยิ่งทำให้ผู้เสียหายนำเรื่องไปฟ้องคดีน้อยลง หลักการ "ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" ก็ยังคงเดิม ซึ่งหมายความว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ "ระบบ" สาธารณสุขต้องพัฒนาไปในทางที่ปลอดภัยมากขึ้น


ในส่วนผู้ได้รับความเสียหาย ก็ไม่จำเป็นต้องไปผ่านกระบวนการที่สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นแก่ตนเองในศาล


ผู้ที่อาจคิดว่าตัวต้อง "เสีย" จริงๆ จากร่าง พ.ร.บ.นี้ก็คือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปล่อยให้แพทย์ของตนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาล (ทั้งแพ่งและอาญา) ได้ตลอดเวลา โดยบริษัทผู้ทำธุรกิจโรงพยาบาลไม่ต้องรับผิดชอบมากไปกว่ารักษาภาพพจน์ของตนในตลาดไว้ให้ดีเท่านั้น จะด้วยเหตุผลทางธุรกิจอย่างใดก็ตาม กลุ่มผู้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างรุนแรงที่สุด จึงเป็นกลุ่มสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ที่เรียกตนเองว่า "แพทยสภา"


อันที่จริงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ากองทุนน้อยมาก อันไม่เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นกว่าเดิม ในทุกวันนี้กำไรของบริษัทธุรกิจที่ทำโรงพยาบาลก็สูงมากอยู่แล้ว จะดูดซับไว้เองก็ยังได้ แม้บริษัทพยายามจะผลักภาระด้านนี้มาให้แก่ผู้บริโภค การแข่งขันกันในตลาดของธุรกิจประเภทนี้ ก็บังคับให้ไม่อาจเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลให้สูงไปกว่านี้ได้อีกมากนักอยู่แล้ว


ความวิตกกังวลของผู้ต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสมเหตุสมผลเท่าไรนัก


ที่เกรงว่า จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีในศาลมากขึ้น สถิติที่มีอยู่กลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม แม้ว่า สปสช.ยังไม่มีสถิติว่าผู้ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว นำคดีขึ้นสู่ศาลสักเท่าไร แต่ดูจากการ "อุทธรณ์" คำวินิจฉัยของคณะกรรมการประจำจังหวัด เข้ามายังคณะกรรมการกลาง (ซึ่งหมายความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการประจำจังหวัดไม่เป็นที่พอใจ จึงร้องขอคำวินิจฉัยใหม่ หากเป็นกระบวนการทางการศาลก็คือนำคดีขึ้นสู่ศาล) กลับพบว่า จากที่เคยมีตัวเลขถึง 14.4% ใน พ.ศ.2548 กลับลดลงเหลือเพียง 8.2% ใน พ.ศ.2552 เฉลี่ยคือ 10.5% เท่านั้น ดูจากแนวโน้มแล้ว อัตราเฉลี่ยจะต่ำกว่านี้อีกในระยะยาว ยิ่งร่าง พ.ร.บ.ให้ค่าชดเชยเบื้องต้นด้วย ซึ่งย่อมมากกว่าค่าช่วยเหลือเบื้องต้น ก็ยิ่งแน่ใจได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะเป็นที่พอใจมากกว่านี้


ค่าใช้จ่ายจริงตาม ม.41 ของ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพก็มีน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก กล่าวคือเป็นเพียง 0.05% ของกองทุนเท่านั้น ในปีสุดท้ายใช้ไปเพียง 296.5 ล้านบาท(ข้อมูลผิดจริงๆปี 52 - 73 ล้าน) ของเงิน 1,000 ล้านบาท (ซึ่งเหลือสะสมมามากกว่านี้อีกมาก)


คนไทยก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป ไม่มีเงินจำนวนมากสักเท่าไรหรอก ที่จะทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการตัดสินใจฟ้องหรือไม่ฟ้อง เท่ากับท่าทีของผู้กระทำความเสียหายต่อผู้ได้รับความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้ามาสร้างท่าทีที่ดีของผู้กระทำความเสียหาย เพื่อให้ปัญหายุติลงโดยดี โดยไม่มีฝ่ายใดต้องเจ็บปวดกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ควร


ข้อที่วิตกกันและสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชนใช้เป็นข้ออ้างในการต่อต้านอีกอย่างหนึ่ง ก็คือคณะกรรมการซึ่งจะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.นี้จะประกอบด้วยคนหลายประเภท และส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ (หรือผู้ชำนาญการ-ทางการแพทย์) ความหลากหลายขององค์ประกอบคณะกรรมการนั้นมีความสำคัญ หากเราถือว่าคณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยความผิดพลาดของบุคคล แต่วินิจฉัยความผิดพลาดบกพร่องของ "ระบบ" ถึงความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นจากบุคคล แต่ก็เป็นบุคคลที่ต้องทำงานอยู่ใน "ระบบ" ดังนั้น "ผู้ชำนาญการ" จึงต้องมีหลายด้านมากกว่าทางการแพทย์ คนที่ติดตามกรณีผู้เสียหายมานาน ย่อมเข้าใจและ "ชำนาญการ" กับ "ระบบ" ยิ่งกว่าแพทย์ ดังเช่นเอ็นจีโอทั้งหลายเป็นต้น


จากสถิติการดำเนินงานตาม ม.41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพฯ มีคำร้องของผู้ที่คิดว่าได้รับความเสียหายถูกปฏิเสธ เพราะไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยถึง 17.2% ความคิดที่ว่า คนไข้ใกล้ตายจะพากันมาตายที่โรงพยาบาลเพื่อให้ญาติได้รับสิทธินี้ จึงเป็นความเพ้อเจ้อเท่านั้น เพราะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหลายฝ่าย จะสามารถวินิจฉัยได้ไม่ยากว่า ความตายนั้นเกิดขึ้นจากความบกพร่องของ "ระบบ" หรือมาจากเหตุอันหลีกเลี่ยงมิได้


ถึงจะมีผู้สมัครใจมาตายโรงพยาบาลมากขึ้น ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.นี้แน่นอน ความจริงคนไทยเลือกตายโรงพยาบาลมานานแล้ว เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สะดวกที่จะตายที่บ้านอย่างบรรพบุรุษของตนเองอีกแล้ว


นอกจากนี้ แม้ว่าคณะกรรมการประกอบด้วยคนหลายฝ่าย ก็ใช่ว่าฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่แพทย์มีความจงเกลียดจงชังแพทย์เป็นพิเศษ ในกรณีที่ต้องการความเห็นของ "ผู้เชี่ยวชาญ" ทางการแพทย์ คณะกรรมการฝ่ายอื่นก็คงต้องฟัง เพราะไม่มีความรู้พอที่จะวินิจฉัยได้ สิ่งที่น่าห่วงกลับเป็นตรงกันข้ามมากกว่า นั่นคือจะหาความรู้จากที่ใดมาตรวจสอบถ่วงดุลวินิจฉัยของแพทย์ที่เป็นกรรมการได้ ฉะนั้นกรรมการที่เป็นแพทย์แม้เป็นส่วนน้อย ก็อาจมีอิทธิพลสูงสุดในการวินิจฉัยในบางกรณี


ส่วนข้อวิตกว่าจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวม และโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้น ก็ได้กล่าวแล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโรงพยาบาลเอกชนในฐานะที่เป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง


ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้มากกว่าเสีย ผู้เสียหายก็ได้ บุคลากรทางสาธารณสุขก็ได้ เอาเข้าจริง เสี่ยเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ ถ้าไม่เห็นแก่กำไรเพียงน้อยนิดอย่างหน้ามืดเกินไป เพราะเท่ากับทุกโรงพยาบาลมีหลักประกันด้านนี้ไว้แล้วส่วนหนึ่ง โอกาสที่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ลดลง และสังคมไทยโดยรวมก็ได้


นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรสนับสนุนอย่างเต็มที่



9710
ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ต้องแก้กระดุมทั้งหมด แล้วเริ่มติดกระดุมใหม่
สิ่งที่หลีกไม่พ้น คือ ยังไง ๆ ก็ ต้องแก้กระดุมเม็ดแรกด้วย
เมื่อจะแก้ทั้งที เปลี่ยนกระดุมเป็นแบบสวยๆหน่อย ขยับขยายรังดุมให้เหมาะด้วยเลย

พี่น้อง......เตรียมแก้กระดุมเม็ดแรกกันได้แล้ว(แก้ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ)

9711
อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะรู้ว่าแพทย์คนเขียนเป็นแค่ คนอยากให้คนอื่นคิดว่าเป็น นักศึกษาแพทย์
พูดตรงๆ ก็คือ นักศึกษาแพทย์ตัวปลอม

อยากให้เป็นนักศึกษาแพทย์จริงๆ
จะได้ไปนั่งจับเข่าคุยกับน้อง แล้วเล่าเรื่องจริงให้ฟัง ไล่เรื่องขยะๆ ออกจากหัวของน้องให้หมด

9712
หมอสุธีร์หยุดกล่าวหาแพทย์ทั้งประเทศเสียทีครับ คุณไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่ารู้ดีไปกว่าหมอที่เคลื่อนไหว

ไม่มีใครโง่พอที่จะทำลายสิ่งที่เป็นเรื่องดี เรื่องราวที่เป็นเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติจะได้มีการชำแหละละเอียด

ยิ่งกว่าการชำแหละชันสูตรพลิกศพ แล้วคุณจะได้รู้ว่าคุณหรือใครที่คุณกล่าวหานั้น ใครโง่กว่าใคร แล้วจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไรครับ


ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงาน ไม่รู้เรื่องกฎหมาย มองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของเนื้อใน ดูแค่เปลือกกับคำโฆษณา แล้วขยันออกความคิดเห็น
คุณหมอสุธีร์กลับไปเรียนต่ออีกหลายปีก็จะยังไม่ทราบกระมังว่า อะไรเป็นอะไร


เพื่อนเราคนหนึ่ง

9713
นักศึกษาแพทย์ผู้ซึ่งจะเป็นหมอในเมษายนปีหน้านี
เขาก็น่าจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน

เพราะเมื่อเขาจบใหม่เขาก็จะยังไม่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่สมบูรณ์เหมือน พี่ ๆ ที่จบมานานแล้ว
เขาก็จะต้องไปทำงานในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน
และเมื่อเขาทำอะไรผิดพลาดด้วยความอ่อนในประสบการณ์ หรือด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร้อม
เขาก็ควรจะมีเครื่องมืออะไรมาช่วยให้พวกเขาได้เห็นว่าผู้ป่วยของเขาที่ไ้ด้ร ับความเสียหาย
ได้รับช่วยเหลือเยี่ยวยาที่เหมาะสม
แต่เหตุใด พี่ ๆ จึงมาทำลายเครื่องมือที่จะช่วยเขาเสีย

จาก นพ. Suthee Rattanamongkolgul

มายาคติแห่งวิวาทะแพทย์-ผู้เสียหายทางสาธารณสุข
ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่าการออกมาปะทะกันรอบล่าสุดของกลุ่มองค์กรวิชาชีพสาธารณสุขที่นำ โดยแพทย์ กับกลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุขถือว่ารุนแรงและส่ง ผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างโดยเฉพาะในประเด็นของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ......
 
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจาก เจตนารมณ์ที่ดีในการที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายให้ได้รับการชดเชย ที่เหมาะสม ลดการฟ้องร้องแพทย์และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “หมอ” กับ “คนไข้” ที่กำลังถูกถ่างให้กว้างขึ้นทุกทีโดยคนหลายกลุ่มทั้งที่รู้และรู้เท่าไม่ถึง การณ์
 
ต้นเรื่องคือความสัมพันธ์ที่ ย่ำแย่มาจากการที่เกิดความเสียหายกับคนไข้ขึ้นมาแล้วหมอไม่ได้อธิบายหรือ อธิบายได้ไม่ดีพอ แล้วเกิดคดีความฟ้องร้อง คราวนี้ต่างฝ่ายก็มีกองเชียร์เข้ามาช่วยสนับสนุน ฝ่ายหนึ่งก็เป็นสภาวิชาชีพที่เล่นผิดบทบาท ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นกลุ่มNGOsที่เจ็บปวดมาเหมือนๆกัน ต่อสู้กันไปต่อสู้กันมา ๓ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง สุดท้ายไม่ว่าผลเป็นยังไงก็เจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ทั้ง หมอที่รักษาคนไข้เองก็เกิดอาการท้อ-น้อยใจ- หมดกำลังใจ-หวาดระแวงในการทำงานเพื่อคนไข้คนอื่นๆต่อ ส่วนผู้ป่วยก็รู้สึกแย่ต่อหมอทั้งๆที่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียขึ้น ส่วนกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายก็เตรียมไปห้ำหั่นกันในเวทีต่อไป
  
อย่างเหตุการณ์ประท้วงร่างพระราช บัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ......เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคมที่ผ่านมานี่ทำให้ผมมองเห็นอะไรได้หลายๆอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ของกลุ่มสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย ในครั้งนี้
  
อย่างแรกคือตัวแทนของสมาพันธ์ที่ ออกมาเรียกร้องวันนี้หลายๆคนไม่ได้อ่านร่างพรบ.อย่างถึ่ถ้วนเลยด้วยซ้ำ สังเกตจากการตอบคำถามในวงสนทนาต่างๆที่มักจะแสดงออกกันไปคนละเรื่องกับคำถาม ในแถลงการณ์ต่างๆที่สมาพันธ์แห่งนี้ออกมาก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและมี อคติต่อร่างฉบับนี้อย่างมาก  ผลที่ตามมาก็คือได้มี การสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวขึ้นในหมู่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร...จนเกิดการล่ารายชื่อมาคัดค้านร่างพรบ.ฉบับนี้สมใจผู้ชักใยอยู่ เบื้องหลังสมาพันธ์ไปเต็มๆ
  
มายาคติแรก มีผู้พยายามบอกว่าพรบ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดการฟ้องร้องหมออย่างกว้างขวางอย่าง ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน(คุ้นๆเหมือนตอนมีมาตรา ๔๑ใหม่ๆไหมครับ) แล้วก็จะมีการเอาหมอติดคุก ทำให้กำลังใจในการทำงานหดหายไป ทั้งที่ความจริงแล้วพรบ.ฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับหมอเลยสักนิด เขาตราขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการรับบริการ หมอไม่ถูกฟ้องอาญาจากพรบ.ฉบับนี้ เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพรบ.นี้เขาก็ฟ้องอาญาหมอได้อยู่แล้วตามประมวล กฎหมายอาญาซึ่งมีมาก่อนแล้ว
 
มายาคติที่สอง มีการปลุกระดมถึงการที่ไม่มีตัวแทนสภาวิชาชีพเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ มีแต่NGOsกับ คนที่ไม่ได้ตรวจคนไข้มารุมหมอ แล้วการตัดสินก็ใช้เสียงข้างมากโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดอีก ถามว่าทำไมถึงไม่ให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพก็เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดความทับ ซ้อนกันระหว่างคณะกรรมการนี้กับการไต่สวนของสภาวิชาชีพ เพราะกองทุนนี้ตั้งมาเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่วงที่จะมาเอาผิดใคร เป็นการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมด้วยจิตใจของมนุษย์โดยมโนสำนึกว่าผู้เสียหายคน นี้ควรได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร โดยไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เหมือนอย่างกรณีที่แพ้ยาแล้วตาบอดถามว่าแพทย์ผิดไหมที่ให้ยาตัวนี้ก็ไม่ผิด เพราะแพทย์ไม่รู้ว่าคนๆนี้จะแพ้ยาอะไรล่วงหน้าได้ แต่ถามว่าได้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของเขาไหม เขาจะอยู่ต่อไปอย่างไร ครอบครัวเขาจะทำอย่างไร ตรงนี้หมอตอบไม่ได้ หมอก็จะคิดว่าเป็นความซวยหรือกรรมของคนไข้เองที่แพ้ยาตัวนี้ ทีนี้ก็เกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นมากลายเป็นปัญหาลุกลามต่อไป
 
ถามว่าเวลาขับรถแล้วเราไปชนรถ คันหน้าที่เบรกกระทันหันเนี่ยบริษัทประกันจ่ายเงินให้เราไหม??
 
มายาคติที่สาม ที่ทุกคนกลัวกันมากที่สุดคือการถูกถอนใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม การออกจากราชการและการติดคุกซึ่งเป็นโทษจากกฎหมายอื่นทั้งสิ้น กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการระบุโทษดังกล่าวไว้เลย!! เป็นแต่เพียงการปรุงแต่งจากคนบางกลุ่มเท่านั้นที่บอกว่าจะมีคนเอาผลจากการ ตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการตามพรบ.นี้ไปขยายผลฟ้องอาญาต่อ ซึ่งถือว่าไกลจากตัวกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะขั้นตอนคือการฟ้องอาญา;ศาลตัดสินจำคุก;ออกจากราชการ;แพทยสภาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน;เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นขั้นตอนปกติเหมือนตอนยังไม่มีพรบ.ฉบับนี้  แล้ว กฎหมายฉบับนี้ช่วยแพทย์โดยศาลสามารถนำหลักฐานการ พิจารณาของคณะกรรมการกองทุนมาพิจารณาเพื่อที่จะไม่ลงโทษหรือลดโทษให้อีกก็ ได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าแพทย์มีความผิด

กรณีร่อนพิบูลย์ก็เป็นตัวอย่าง หนึ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความจริงเขาก็ไม่ได้อยากฟ้องแต่คนในสภาวิชาชีพ เองต่างหากที่ไปยุให้แพทย์ไม่ไปงานศพ ไม่ขอโทษ ไม่ช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โศกนาฏกรรมที่สภาวิชาชีพเอาไปฉายซ้ำสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวและสร้าง บาดแผลให้วงการแพทย์จึงเกิดขึ้น
  
บางครั้งหมอก็ควรมองความเดือดร้อนของคนไข้บ้างว่าเขาเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าพวกนี้อยากได้เงิน อยากเอาหมอติดคุก อยากให้หมอคนนี้ถูกยึดใบประกอบฯ มิเช่นนั้นระยะห่างของหมอกับคนไข้จะถูกถ่างออกไปอีก จากผู้ให้ไปสู่ผู้รับกลายเป็นพ่อค้ากับลูกค้า
  
บอกตรงๆครับผมในฐานะนักเรียน แพทย์คนนึงรู้สึกสลดใจที่เห็นหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัดออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ฟังๆเขาเล่ากันมา เอาขี้ปากเขามาพูดสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวกัน ภาพพวกพี่ๆที่ออกมาวันนี้ในสายตาชาวบ้านดูไม่ดีเลยครับ
 
ผมไม่อยากให้เรื่องวันนี้จบแค่ การออกมาแสดงพลังโก้ๆของแต่ละฝ่าย ทั้งสองฝ่ายควรย้อนกลับไปรวบรวมข้อมูลหลักฐานและข้อเสนอแนะต่อร่างพรบ.ฉบับ นี้แล้วมาคุยกันใหม่โดยปราศจากอคติ คิดถึงใจเขาใจเรา อย่าคิดถึงตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว ผมไม่อยากให้สังคมสาธารณสุขของเราไม่ฟังกันแบบเหลืองกับแดงที่มีความคิดฝังหัวโดยไม่รู้จักแยกแยะผิดถูก แล้วมาเจอใหม่ในรัฐสภาตอนแปรญัตติดีกว่าครับ
  
เชิญตรองดูตามโยนิโสมนสิการ
ขุมทรัพย์ เพชร.

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓  




9714
มีข่าวแจ้งว่า

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิต วราชิต ได้ประสานให้มีการพบปะ พูดคุยกันของหลายๆฝ่ายที่เกียวข้องกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
(เช่น ตัวแทนจากแพทยสภา-ตัวแทนจากแพทยสมาคม- ตัวแทนจากสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.- ตัวแทนจากชมรมแพทย์คลินิค- คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร์-ตัวแทนเอ็นจีโอ)
ในวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.นี้ที่กระทรวงสาธารณสุข เวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับร่าง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

จากข่าววงใน

9715

ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. พรรคประชาธิปัตย์  ได้มีตัวแทนแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ ผู้แทนสาขาเภสัชกรรม สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง และคณะกรรมการศึกษาเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาการสาธารณสุขไทย นำโดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา ได้เดินทางมาพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารมูลนิธิ ควง อภัยวงศ์ เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. เพราะเห็นว่าคนบางส่วนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่จะเสียประโยชน์ และเป็นภาระงบประมาณระยะยาว จึงควรถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาก่อนแล้วนำมาพิจารณาใหม่ให้รอบคอบ โดยใช้เวลาการเข้าพบประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

 จากนั้น รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ในภาพรวม ทุกคนที่มาวันนี้ มีความเห็นพ้องกันว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องผลักดันให้เกิดขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์รายละเอียดและสาระแล้ว เราคิดว่ามันยังไม่สอดคล้องกันกับเจตนารมณในหลายๆรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องที่มีอยู่ในหลายกระทรวง ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อหาทางออกไปด้วยกันว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ดีควรถูกนำมาปรับอย่างไรให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการทางการแพทย์ทั้งประเทศ เพราะร่างพ.ร.บ.นี้กินความไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพจนถึงนักวิชาการด้านสาธารณสุข จึงถือว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมกลว้างขวางมาก จึงต้องมีการทบทวนรายละเอียดที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับไป และบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่สำคัญว่าสาระยังไม่ครบถ้วน ในเวลาเดียวกันผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรีจึงรับไปบริหารจัดการในแนวทางของท่าน เพื่อให้ทุกกลุ่มได้มาพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้ง

 เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีระบุหรือไม่ว่าจะชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ ที่จะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้ รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี ทางเราไม่ไปผลักดัน หรือกดดันว่าให้ทำอะไร เราเพียงแต่เสนอข้อเท็จจริงในเรื่องของสาระสำคัญเท่านั้น แต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไรนั้น ก็ถือเป็นวิจารณญาณของท่าน ทั้งนี้ เราไม่อยากให้ร่าง
พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ สถานพยาบาล และคนไข้ที่อยู่ในระดับจังหวัดต่างๆ จะได้รับผลกระทบ เพราะวันนี้ความสัมพันธ์ยังดีอยู่มาก นอกจากนี้ เราไม่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วเกิดการสั่นสะเทือนในการปรองดองของชาติ จึงควรชะลอแล้วทำให้เกิดความเรียบร้อย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการเยียวยามากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา


9716
ข้อเสนอเนื้อหาที่น่าจะนำเสนอความคิดเห็นกับร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายต่อสื่อมวลชน

1.             แพทย์และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขไม่ได้คัดค้านการที่ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อมีความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และจากกระบวนการรักษาพยาบาล

2.             บุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีความเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นเงินเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวเท่านั้น มิได้เป็นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายในระยะยาว การช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือ การทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุข หรือใกล้เคียงที่สุด ซึ่งการช่วยเหลือนี้ ได้แก่ การฟื้นฟูสุขภาพ การใช้กายอุปกรณ์ การใช้อุปกรณ์เทียม การฝึกอาชีพ เป็นต้น ซึ่งร่างพรบ.นี้เน้นการช่วยเหลือในรูปของเงินอย่างเดียวจึงไม่เหมาะสม

3.             นอกจากผู้ที่ได้รับความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังมีผู้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานจากสาเหตุอื่นๆอีก ได้แก่ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากภัยการจราจร ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรม จากการจราจร เป็นต้นซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลืออาจเป็นการช่วยเหลือโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสังคมสงเคราะห์ โดยเป็นการช่วยครอบคลุมประชาชนผู้เดือดร้อนทุกคน ไม่เลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4.             หากจะมีการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็ควรจะให้การช่วยเหลือโดยประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่ประเมินจากว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นหรือไม่ ความผิดร้ายแรงเพียงใดดังร่าง ถึงแม้ว่าร่างพรบ.นี้จะมีการเขียนว่าจะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่จริงๆแล้วเนื้อหาในร่างพรบ.นี้จะมีการจ่ายเงินให้ก็ต่อเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นเท่านั้นซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพียงพอเพราะต้องใช้เวลาในการตัดสิน และอาจได้รับการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

5.             คณะกรรมการที่จะตัดสินว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขทำผิดหรือไม่ตามร่างพรบ.นี้ส่วนใหญ่ จะไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ และกฎหมาย ทำให้การติดสินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและตามหลักกฎหมาย

6.             ดังนั้นถ้าตัดสินว่าบุคลกรทางด้านสาธารณสุขไม่ได้กระทำผิด ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้าตัดสินว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขกระทำความผิดบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็ไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะคณะกรรมการที่ตัดสินถูกผิดส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุข แต่ผลการตัดสินสามารถนำไปเป็นมูลฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลอาญา และอื่นๆได้

7.             กฎหมายนี้มีอคติต่อบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพราะแม้แต่ชื่อก็แสดงถึงการมองถึงบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในด้านอาฆาตมาดร้าย และเนื้อหาในร่างพรบ.นี้ก็มิได้ให้ความยุติธรรมต่อบุคลากรทางด้านสาธารณสุข

8.             บุคลากรทางด้านการแพทย์ซึ่งเสียสละตนเองเพื่อผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว มิควรถูกผลักภาระให้ต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่ออีกทั้งภาระทางด้านการเงินซึ่งต้องจ่ายให้กองทุนตามร่างพรบ.นี้ ภาระด้านความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งการช่วยเหลือควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น

9.             บุคลากรทางด้านการแพทย์จะขาดขวัญและกำลังใจเพราะ ขาดความเชื่อมั่น ความมั่นใจ จนอาจไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ หรือแม้กระทั่งอาจลาออกจากราชการ หรือเปลี่ยนอาชีพจากทางด้านสาธารณสุขเลยก็เป็นได้

10.        ผู้ที่เสนอกฎหมายนี้อาจมีเงื่อนงำอย่างอื่นซ่อนอยู่ เพราะถ้าหากสามารถเข้าไปเป็นกรรมการในร่างพรบ.นี้ ซึ่งจะมีกองทุนอยู่จำนวนมหาศาล สามารถจะกำหนดเงินเดือน เงินตอบแทนอื่นๆ ได้เอง และสามารถนำเงินในกองทุนไปหาผลประโยชน์แอบแฝงอย่างอื่นได้

 พ.ภีศเดช

9717
สถิติการแพทย์ไทยที่น่าสนใจ
ในการวางแผนจะคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการไปโรงพยาบาลอย่างไรดี

ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย กำลังมีประเด็นร้อนเรื่องการที่รัฐบาลและสส.รวมทั้งประชาชน ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและมีข่าวว่า ประชาชนอยากให้มีกฎหมายนี้ แต่ฝ่ายแพทย์ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนี้ ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ กลุ่มแพทย์เหล่านี้ ก็อาจจะถูกมองว่า ไม่อยากให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผู้เขียน ได้ออกมาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.นี้ แต่ไม่ใช่ว่า พวกแพทย์ไม่อยก คุ้มครองประชาชน” แต่การคุ้มครองประชาชนก็ควรจะคุ้มครองทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้ให้การรักษา และฝ่ายได้รับการรักษาด้วย

 ก่อนอื่นก็ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่า บุคลากรทางการแพทย์นั้น ทุกสาขาวิชาชีพ ต่างก็มีจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพกำกับดูแลมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ และมีสภาวิชาชีพ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของวิชาชีพนั้นๆ คอยกำกับดูแล และบังคับให้บุคลากรในการกำกับนั้น ปฏิบัติวิชาชีพอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพนั้นๆ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ไม่ปฏิบัติตามกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพแล้ว ก็ต้องได้รับโทษทัณฑ์จากสภาวิชาชีพ โดยไม่มีข้อยกเว้น  แต่ทำทในปัจจุบัน ในระยะแปดปีมานี้ มันเกิดอะไรขึ้นในวงการแพทย์ จึงทำให้มีการฟ้องร้อง /ร้องเรียนแพทย์เกิดขึ้นมากมาย ก็จะขอทบทวนว่า “เกิดอะไรขึ้นในวงการแพทย์บ้านเรา

  ภายในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา เกิดสิ่งใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย คือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ที่ให้สิทธิแก่ประชาชน 46.9 ล้านคน ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกชนิด โดยจ่ายเงินเพียงครั้งละ 30 บาท และต่อมาในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกการเก็บเงินครั้งละ 30 บาท โดยนพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ.ในยุคนั้น อ้างว่า เสียเวลาลงบัญชี

แต่ผลพวงของระบบ 30 บาท(0 บาท) รักษาทุกโรคนี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย คือประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสุขภาพเลย แต่ไปเรียกร้องสิทธิ์การรักษามากขึ้น ประชาชนมีความคาดหวังสูง และเมื่อไม่ได้ตามคาดหวัง ก็มีการร้องเรียน/ฟ้องร้องมากขึ้น (เรียกร้องตามสิทธิ์ที่รัฐบาลบอกไว้)
จากสถิติของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช)ซึ่งพอ.(พิเศษ)ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนะกุล ได้บรรยายที่จังหวัดขอนแก่น  ได้แสดงตัวเลขที่น่าสนใจว่า ในปีงบประมาณ 2553 (ตค.52-มีค. 53)ประชาชนมีการร้องเรียน388,493 เรื่อง  แต่เป็นเรื่องสอบถามข้อมูล 381,680 เรื่อง(98.25%) เป็นเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย 1,550 เรื่อง(0.39%) และเป็นเรื่องความเสียหายจากการรักษาเพียง 1,978 เรื่องหรือ 0.51%ของเรื่องร้องเรียน

แต่ถ้าดูจำนวนครั้งที่ประชาชนไปรับการตรวจรักษาแล้ว ในแต่ละปี จะพบว่า ในจำนวนประชาชนทั้งหมด 63 ล้านคนนี้ ไปโรงพยาบาลทั้งสิ้น 200 ล้านครั้ง โดยแบ่งออกเป็นผู้ป่วยนอก 2.7 ครั้งต่อคนต่อปี รวมเป็น 140 ล้านครั้ง เป็นผู้ป่วยใน(นอนรักษาในโรงพยาบาล) อีก 11%ของประชาชนทั้งหมดคือ 6.9 ล้านคน/ปี ถ้าคิดว่าประชาชนนอนรพ.เฉลี่ยครั้งละ 3 วัน เป็นจำนวนที่แพทย์ต้องตรวจวันละอย่างน้อย รวมการผ่าตัดและรักษาอื่นๆวันละ 3 ครั้ง รวมแล้วเท่ากับแพทย์ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในอีก62.1 ล้านครั้ง รวมแล้วแพทย์ต้องรับภาระตรวจรักษาผู้ป่วย 200,000,000 ครั้งต่อปี แต่เกิดการฟ้องร้องเรื่องความเสียหายแค่ ไม่ถึง 2,000 ครั้ง เท่ากับอัตราการเกิดความเสียหายเพียงไม่ถึง 1 ครั้งต่อการรักษา 100,000 ครั้ง หรือคิดเป็นเพียง 0.001%

  ทีนี้มาดูสถิติแพทย์ไทยบ้าง พบว่าประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด37,598 คน ในจำนวนนี้ รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 12,000 คน แต่ในจำนวน 12,000 คนนี้ เป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูง กลาง ล่าง เสียเกือบ 4,000 คน ยังเหลือแพทย์ที่ทำงานดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยเพียงประมาณ 8,000 คนเทียบกับภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยปีละ200,000,000 ครั้ง ทำให้แพทย์เหล่านี้ต้องทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง และมีเวลาในการตรวจผู้ป่วยนอก 2-4 นาที่ต่อผู้ป่วย 1 คน ความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการตรวจรักษาผู้ป่วยก็คงจะเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงต่อการที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก็คงมากขึ้นเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่จะเกิดการฟ้องร้อง/ร้องเรียนมากขึ้น

  ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไต้หวัน (ไม่ต้องไปเปรียบกับประเทศทางยุโรป ที่เก็บภาษีแพงมาก) ที่มีประชาชนเพียง 23 ล้านคน แต่มีแพทย์จำนวน 50,000 คน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แพทย์ไทยต้องรับภาระมากกว่าแพทย์ไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด
 
 จะเห็นได้ว่า คนไทยป่วยมากๆแล้วจึงไปหาหมอ ทำให้อัตราผู้ป่วยในมากกว่าไต้หวันถึง 10 เท่า ในขณะที่อัตราผู้ป่วยนอกของไต้หวันมีถึง 14 ครั้งต่อคนต่อปี มากกว่าอัตราผู้ป่วยนอกของไทยประมาณ 5 เท่า แสดงว่าเขารีบไปหาหมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่านอนโรงพยาบาลแพง เนื่องจากไต้หวัน เขากำหนดให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินในการไปใช้บริการโรงพยาบาล อัตราการจ่ายเงินก็แตกต่างกันระหว่างผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ทันตกรรม หรือค่ายา ยกเว้นกลุ่มโรคที่มีอาการรุนแรง ผู้มีรายได้น้อย ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทหารผ่านศึก และเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่ต้องจ่ายเงิน

ในขณะที่ไต้หวัน มีงบประมาณการประกันสุขภาพ 400,000 ล้านบาทสำหรับหระชาชน 23 ล้านคน แต่ประเทศไทยมี 3 กองทุน สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพมี 120,000 ล้านบาท สำหรับประชาชน 46.9 ล้านคน ฟรีหมด แล้วยังไปจ่ายเงินเดือนบุคลากรอีกส่วนหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ งบประมาณไม่พอใช้

  จากการสัมมนาแปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโดยแพทยสภา ได้สรุปว่า
การที่ประชาชนไทยได้สิทธิฟรี ทำให้ไม่ดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ไปใช้บริการโรงพยาบาลเหมือนโรงเจ แต่คนจนจริงๆ อาจไม่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีค่ารถเดินทางไปโรงพยาบาล

เมื่อคนไปโรงพยาบาลมาก แพทยพยาบาลรับภาระงานมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีความคาดหวังสูง ทำให้การฟ้องร้องสูง เพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง และยังสมาารถร้องเรียนได้เงินชดเชยอีก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์แย่ลง

  มีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับมาตรฐานการแพทย์เกิดขึ้น 1,978 เรื่อง ในปีพ.ศ. 2553 โดยแยกเป็นเรื่องร้องเรียนจากเขตต่างๆของสปสช.ดังนี้คือ
1.เขตกรุงเทพมหานคร 61.9%
2.เขตเชียงใหม่ 8.4%
3. เขตสระบุรี 7.1%
4.เขต สงขลา 3.2%
5.เขตสุราษฎร์ธานี 3.2%
6.เขตขอนแก่น 2.6%
7. เขตพิษณุโลก 1.3%
8.เขตนครสวรรค์ 1.3%
9.เขต นครราชสีมา 1.3%

 เป็นเรื่องน่าคิดมากที่เขตกทม.มีศูนย์การแพทย์ที่มีศักยภาพสูงสุดอยู่มากกว่าเขตอื่นๆในประเทศไทย ทำไมจึงเกิดการร้องขอเงินช่วยเหลือมากกว่าเขตอื่นๆอย่างโดดเด่นเช่นนี้ น่าที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขของสปสช.จะไปศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไป ว่า มันเป็นเพราะกทม. มีประชาชนอาศัยอยู่มากกว่าที่อื่น (หมายถึงคนต่างจังหวัดและต่างด้าวอพยพมาทำงาน โดยไม่มีทะเบียนบ้าน) ผู้ป่วยอาการวิกฤติถูกส่งต่อมาจากต่างจังหวัดเยอะ ทำให้มาถึงแล้ว แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ หรือคนในกรุงเทพมีความคาดหวังสูงเกินไป

 มีการวิเคราะห์ของคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานหน่วยบริการสาธารณสุขได้มาคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้เขียนว่า โรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) หลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีบุคลากรน้อยเกินไป เช่นหมอ 1 คน ต่อผู้ป่วย 30,000 คน พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 10,000-20,000 คน และที่PCU แห่งนี้ มีเรื่องร้องเรียนมากว่าพยาบาลไม่ยิ้มเลย


 ผู้เขียนก็อึ้งกิมกี่ไปเลย (จะหัวเราะก็มิออก จะร่ำไห้ก็มิได้!) แต่ได้ข่าวว่า ผู้บริหารจะไปจ้างประชาสัมพันธ์ให้มาทำหน้าที่ยิ้มแทนบุคลากร ! และกำลังจะออกพ.ร.บ.มาคุ้มครองผู้เสียหายและทำร้ายบุคลากรพ.ศ. ....

มีข่าวว่าพวกหมอต่อต้านกฎหมายคุ้มครองประชาชน  เพราะหมอไม่รักประชาชนหรือเปล่า? หมอไม่อยากให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัยหรือเปล่า?

ขอตอบตามความเป็นจริงว่า หมอแทบทุกคน ส่วนใหญ่แล้วต้องรักประชาชนยิ่งกว่าตัวเองอยู่แล้ว  หมออยากรักษาประชาชนให้หายป่วย ไม่ต้องตายโดยไม่สมควรตายทุกคน เพราะถ้าหมอรักษาดี ก็จะมีชื่อเสียงขจรขจาย ถ้าหมอรักษาไม่ดี ก็จะมีชื่อเสีย เน่าเหม็นไปทุกวงการ และหมอส่วนมาก ย่อมต้องเสียสละเวลาที่ควรจะเป็นเวลาส่วนตัวกับครอบครัว ทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง เวลากินก็ไม่ได้กิน เวลานอนก็ไม่ได้นอน หวังเพียงช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปลอดภัย  โดยมีมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพกำกับอยู่แล้ว มีสภาวิชาชีพคอยลงโทษ มีกฎหมายหลายฉบับที่ลงโทษได้อยู่แล้ว
ประชาชนล่ะ จะให้กำลังใจให้หมออดทนทำงานต่อไปได้แค่ไหน?

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

9718
เมื่อเอ่ยถึง “ลพบุรี” หลายคนนึกถึงจังหวัดที่เต็มไปด้วยลิงและโบราณสถานกลางเมืองซึ่งสะท้อนความเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย แต่ใครหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเมืองละโว้ในอดีตนี้ยังมีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์โลกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย
       
       ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2228 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยและดาราศาสตร์โลก ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ พระที่นั่งเย็น จ.ลพบุรี โดยมีคณะเจซูอิตหรือคณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศส 6 รูปถวายคำบรรยาย และระหว่างปรากฏการณ์คณะสงฆ์ได้บันทึกข้อมูลระหว่างเกิดคราสในแต่ละนาทีโดยละเอียด และระบุว่าคราสบังถึงหลุมใดของดวงจันทร์บ้าง
       
       ข้อมูลในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยบันทึกของ บาทหลวง เจ.เดอฟงเตอเนย์ ซึ่งเป็น 1 ในคณะสงฆ์แห่งพระเยซู ว่าปรากฏการณ์ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุตที่ใช้ในการสังเกตการณ์ อีกทั้งยังพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษต่อคณะสงฆ์ เช่น พระราชทานอนุญาตให้คณะสงฆ์ลุกขึ้นยืนต่อหน้าที่ประทับ และประทับเบื้องหลังคณะสงฆ์เพื่อทอดพระเนตรปรากฏการณ์ เป็นต้น
       
       นายอารี สวัสดี อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าเมืองลพบุรีถือเป็นเมืองดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อ 325 ปีดังกล่าวนั้น คณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาศึกษาปรากฏการณ์และบันทึกข้อมูลโดยละเอียดเพื่อหาเส้นละติจูด (Latitude) หรือเส้นรุ้งและเส้นลองจิจูด (Longitude) หรือเส้นแวง ของเมืองละโว้ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเปรียบเทียบกับหอดูดาวกรุงปารีส
       
       การศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคาดังกล่าวเพื่อหาตำแหน่งเส้นละติจูดและลองจิจูดนี้ นายอารีบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างแผนที่ซึ่งมีความแม่นยำและเที่ยงตรง โดยมีคณะสงฆ์ที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนั้นถึง 18 แห่งทั่วโลก อาทิ เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี, กรุงโรม อิตาลี, กรุงปารีส ฝรั่งเศส, กรุงมาดริด สเปน และ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
       
       “ครั้งนั้นเทคโนโลยีดาราศาสตร์ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาอยู่ที่ลพบุรี กล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุด นาฬิกาพก นาฬิกาลูกตุ้มและอุปกรณ์วัดมุมที่ดีที่สุดมารวมอยู่ที่นี่ ข้อมูลจากการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาถูกส่งไปให้ จิโอวานนี โดมินิโก แคสสินี* นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีซึ่งเป็นศิษย์เอกของกาลิเลโอ กาลิเลอิ** และอาจกล่าวได้ว่าเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติโครงการแรกที่เข้ามาในไทย” นายอารีกล่าว
       
       สำหรับพระที่นั่งเย็นนั้น นอกจากเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์จันทรุปราคาแล้ว ยังเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พ.ศ.2231 ด้วย แต่จากบทความในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามฯ ซึ่งเขียนโดย นายอารี สวัสดี ระบุว่าไม่อาจค้นคว้าได้ว่ามีการจดบันทึกการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนั้นหรือไม่ เพราะเกิดการปฏิวัติในปีเดียวกันนั้น และต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ก.ค.2231
       
       อีกสถานที่สำคัญสำหรับดาราศาสตร์ไทยคือ “วัดสันเปาโล” ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และยังเป็นบ้านพักที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่บาทหลวงนักวิทยาศาสตร์จากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยสร้างขึ้นใน พ.ศ.2228 และมีรูปแบบคล้ายกับหอดูดาวกรุงปารีสที่สร้างขึ้นก่อนหอดูดาววัดสันเปาโลเพียง 21 ปี แต่ปัจจุบันหอดูดาววัดสันเปาโลหลงเหลือเพียงซากและโครงสร้างบางส่วนเท่านั้น ขณะที่หอดูดาวกรุงปารีสยังค่อนข้างสมบูรณ์อยู่
       
       จากความสำคัญของวัดสันเปาโลอายุกว่า 300 ปีนี้ ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy) ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จึงได้สถาปนาให้เป็นหนึ่งในจุดสำคัญทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย (Establishment of Astronomical Landmark in Thailand) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
       
       ทั้งนี้ เราทราบถึงความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จากเอกสารที่บันทึกโดยคณะทูตและคณะสงฆ์แห่งพระเยซูจากฝรั่งเศส โดย นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสืบค้นเอกสารเกี่ยวกับดาราศาสตร์ไทยในยุคดังกล่าว ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของหอดูดาวกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเขาได้มอบให้แก่สมาคมดาราศาสตร์ดำเนินการแปลต่อไป
       
       “ลพบุรีเป็นเมืองที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานการศึกษาดาราศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยศึกษาวิจัยด้วยตนเอง มีแง่มุมดาราศาสตร์ที่โดดเด่นมาก ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองไม่แตกต่างกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งสถานที่สำคัญๆ ทางดาราศาสตร์ของลพบุรีมีอย่างน้อย 2 แห่ง คือ วัดสันเปาโลและพระที่นั่งเย็น เมืองนี้เป็นเมืองที่มีหลักฐานว่าครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยเรื่องนี้ และมีหลักฐานจริง จงภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพวกเรา” นายภูธรกล่าว
       
       แม้ความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในไทยจะเหลือให้เห็นเพียงซากปรัก แต่อย่างน้อยร่องรอยที่ทิ้งไว้ได้สะท้อนให้เห็นพระราชวิสัยทัศน์อันก้าวหน้าและยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้น้อมนำไปเป็นแบบอย่าง
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2553 

9719
เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานระบุ สงครามรบพุ่งภายในแผ่นดินมังกร และการรุกรานจากข้าศึกภายนอกในช่วง 2 พันปีในอดีต เกิดจากแรงขับของสภาพภูมิอากาศ ที่หนาวเย็นลง มากกว่าแรงขับจากระบบศักดินาสวามิภักดิ์, การต่อสู้ทางชนชน หรือความเลวทรามของคณะผู้ปกครองอย่างที่นักประวัติศาสตร์ให้เหตุผลกันโดยทั่วไป
       
       ทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสภาพดินฟ้าอากาศกับความวิบัติหายนะ เช่น ภัยแล้ง, น้ำท่วม และการแห่ลงมากินพืชผลในไร่นาของตั๊กแตนฝูงมหึมา ซึ่งนำไปสู่การล่มสลาย หรือการสถาปนาราชวงศ์จีนนั้น มิใช่เรื่องใหม่อะไร
       
       แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ อันโกลาหลวุ่นวายมายาวนานของจีนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สภาพภูมิอากาศและสังคมจีนอาจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง
       
       จนกระทั่งคณะนักวิทยาศาตร์ของจีนและยุโรป ซึ่งมีนาย จาง จื้อปิน จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของจีนในกรุงปักกิ่งเป็นหัวหน้า ได้ตัดสินใจนำข้อมูลในช่วงกว่า 1,900 ปีมาเปรียบเทียบกัน 2 ชุด
       
       ผลงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร “ the British Journal Proceedings of the Royal Society B.” โดยพวกเขาขุดค้นลงไปในกองเอกสารประวัติศาสตร์ แล้วก็พบความถี่ของการเกิดสงคราม, ข้าวยากหมากแพง, การถล่มพืชไร่ของฝูงตั๊กแตน,ความแห้งแล้ง และอุทกภัย
       
       ขณะเดียวกัน ก็ได้จำลองแบบของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาเหล่านั้น เพื่อพิจารณาเทียบเคียง
       
       “การล่มสลายของราชวงศ์ในสังคมเกษตรกรรมได้แก่ราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ.25-220), ถัง (ค.ศ.618-907), ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1125), ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) และหมิง (ค.ศ.1368-1644) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระดับอุณหภูมิอากาศ ที่ต่ำ หรืออุณหภูมิอากาศ ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว” นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้สรุป
       
       นอกจากนั้น การขาดแคลนอาหารในหมู่อาณาราษฎรน่าจะทำให้ราชวงศ์เหล่านี้อ่อนแอลง ขณะเดียวกัน การขาดแคลนอาหารยังผลักดันให้พวกชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางภาคเหนือ ซึ่งอุณหภูมิอากาศลดต่ำลงได้ง่ายอยู่แล้ว บุกโจมตีดินแดนทางใต้ โดยอุณหภูมิอากาศ ที่ลดลงเฉลี่ย 2.0 องศาเซลเซียสต่อปี อาจทำให้ฤดูกาลเติบโตของต้นหญ้าในทุ่งราบ หดสั้นลงถึง 40 วัน
       
       งานวิจัยชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่การจลาจล และสงคราม โดยตั้งข้อสังเกตว่า จักรวรรดิโรมันและมายาก็ถึงกาลอวสานในระหว่างที่สภาพอากาศมีความหนาวเย็นด้วยเช่นกัน
       
       นอกจากนั้น ยังสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศในแต่ละยุคสมัยทุก ๆ 160 หรือ 320 ปีนั้น น่าจะเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น ความผันผวนที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์, การโคจรของโลก และการเอียงของแกนโลก
       
       อย่างไรก็ตาม หลักฐานประวัติศาสตร์ ที่พวกเขาพบนั้น ชี้ว่า ภาวะโลกเย็นต่างหากเล่าคือเจ้าตัวการร้าย หาใช่ภาวะโลกร้อนอย่างที่มนุษย์ในปัจจุบันกำลังเผชิญกันแต่อย่างใด

9720
รพ.จุฬาฯ อวดนวัตกรรมหุ่นยนต์จัดเตรียมหลอดเลือดอัตโนมัติ ร่นเวลาตรวจจากเดิม 1 ชม.เหลือ 20 นาที ศักยภาพเยี่ยมตรวจบริการคนได้เร็วขึ้น

วันนี้ (16 ก.ค. ) ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวภายในงานแถลงข่าวนวัตกรรมไทยประดิษฐ์ “หุ่นยนต์จัดเตรียมหลอดเลือดอัตโนมัติ” เครื่องแรกของประเทศไทย ที่ตึก ภปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การเข้าใช้บริการภายในโรงพยาบาลจุฬาฯที่มีผู้ป่วยนอกสูงถึงปีละ 1.2 ล้านราย เป็นผู้ป่วยในปีละประมาณ 5-6 หมื่นราย และส่วนใหญ่จะต้องเจาะเลือดเพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ด้วยโรคเบาหวาน จากการบิรการดังกล่าวถ้าเป้นช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 07.00-09.00 น.จะมีผู้ป่วยรอคิวเจาะเลือดราว 300 ราย จากผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการทั้งวันตกประมาณ 2,000 ราย ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ จากปัญหาที่มีทาง รพ.จุฬาฯ จึงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเพื่อพัฒนา รพ.สู่ความเป็นเลิศระดับโลก ( World Class hospital) และมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ฝ่ายเวชศาสตร์ชันสูตร รพ.จุฬาฯ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัท เซนนิเมต (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติพัฒนา หุ่นยนต์จัดเตรียมหลอดเลือดอัตโนมัติ ที่ชื่อราเบลอน (Rabelon) ซึ่งเป็นฝีมือคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาใช้บริการใน รพ.จุฬาฯ เพื่อนำร่องและในอนาคตก็อาจจะเผยแพร่นวัตกรรมไปสู่โรงพยาบาลอีกหลายแห่งในประเทศไทย
       
       “ นวัตกรรมที่มีช่วยให้การกระบวนการในการเก็บตัวอย่างเลือดเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกและถูกต้อง ลดระยะเวลาในการให้บริการด้วย เพราะหุ่นยนต์ทำช่วยในการลำเลียงหลอดเลือดจากห้องเจาะเลือดไปยังห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและสะดวก ทำให้ช่วงเวลาเร่งด่วนในการเจาะเลือดลดลงกว่าครึ่ง จากระบบเดิมใช้เวลาตรวจนานถึง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้หุ่นยนต์นั้นจะใช้เวลาแค่ 20 นาที และสามารถตรวจคนไข้ได้เพิ่มขึ้นจาก 300 ราย เพิ่มเป็น 600 รายในช่วงเวลาเร่งด่วน ” ศ.นพ.อดิศร กล่าว
       
       ด้าน ศ.นพ.เทวารักษ์ วีรวัฒน์กานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านงานสนับสนุนบริการผู้ป่วย กล่าวว่า ศักยภาพการทำงานของหุ่นยนต์ฯ สามารถจำแนกหลอดเลือดได้ถึง 8 แบบที่เหมาะกับเลือดแต่ละชนิด และเมื่อเจาะเลือดแล้วเสร็จจะลำเลียงไปยังห้องตรวจวิเคราะห์เลือดทันที ซึ่งประโยชน์หลักๆ คือ ช่วยให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น และจากที่ได้ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพที่ช่วยลดเวลากระบวนการเจาะเลือด พบว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ใช้เวลา 44 นาทีต่อคน เหลือเพียง 20 นาทีต่อคนในเดือนมิถุนายน และหากเวลาไม่เร่งด่วนประมาณ 9.00 น.ขึ้นไป จะเหลือเพียงไม่ถึง 10 นาทีต่อคนเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถจัดเตรียมหลอดเลือดได้ประมาณ 1,440 หลอดต่อชั่วโมง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาหุ่นยนต์ลักษณะนี้แล้ว แต่ราคาสูงถึง 15 ล้านบาท ขณะที่ของไทยมีราคาถูกกว่ามากเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ดังกล่าวยังเป็นเพียงหุ่นยนต์ลำเลียง ซึ่งการเจาะเลือดยังต้องใช้พยาบาลในการดำเนินการ แต่คาดว่า ในอนาคตอาจมีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพในการเจาะเลือดได้เอง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2553 

หน้า: 1 ... 646 647 [648] 649 650 ... 653