ผู้เขียน หัวข้อ: ชะตากรรมจากความผิดพลาด-โพสต์ทูเดย์(15สค2553)  (อ่าน 1484 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
8 ปีที่ตั้งเครือข่ายเสียหายทางการแพทย์ มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย...

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สังคมไทยเชิดชูวิชาชีพแพทย์ในฐานะผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นทุกข์ ตลอดถึงการยื้อชีวิตในยามที่ความเจ็บป่วยมาถึงปลายสุดระหว่างความเป็นความตาย

สำนึกของสังคมไทยต่อแพทย์ จึงเป็นสำนึกแห่ง “บุญคุณ”

แม้จรรยาวิชาชีพจะเป็นสิ่งกำกับและควบคุมการทำหน้าที่ของแพทย์ให้เป็นไปเพื่อมนุษยธรรม แต่ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากการปฏิบัติใดตกอยู่ใต้ความประมาทเลินเล่อ ที่ผ่านมาสำนึกแห่ง “บุญคุณ” ในผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ กดทับให้ผู้รับบริการอยู่ในภาวะทำใจเพื่อจำยอมต่อความบกพร่อง ทั้งที่ควรได้รับสิทธิในการเยียวยาช่วยเหลือจากความผิดพลาดบกพร่องนั้น

ตลอดระยะเวลาที่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 มีการใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทองจำนวนถึง 727 ล้านครั้ง เป็นคนไข้ใน 28 ล้านราย ความถี่ของการใช้บริการจำนวนมหาศาลเช่นนี้ จำนวนครั้งของ “ความผิดพลาด” ก็น่าจะมากตามไปด้วย

แต่ทว่า มีคนไข้เพียง 3,200 รายเท่านั้น ที่กล้า “ใช้สิทธิ” ฟ้องร้องความผิดพลาดของแพทย์

เจ้าชายนิทรา

กว่า 5 ปีมาแล้ว ที่ ยงยุทธ ปันนินา เด็กหนุ่มระดับหัวกะทิความหวังของครอบครัว “ปันนินา” ต้องมีสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง โดยมี ดวงนภา ปันนินา มารดา ที่ต้องระทมทุกข์แสนสาหัส เสมือนมีคมมีดกรีดกรายหัวใจอยู่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

“ทุกวันนี้ลูกเหลือเพียงร่างกับลมหายใจ แม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่เมื่อเห็นสภาพแบบนี้แล้วเราก็อยากให้เขาตายไปเลย ตัวเราเองบางครั้งก็อยากกินยาตายเหมือนกัน”

เธอตัดพ้อชะตากรรมอย่างหดหู่ต่อลูกชายวัย 19 ปีเศษ ของเธอประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเมื่อเดือน พ.ค. 2547 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ด้วยการให้ยาและเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากมีอาการสมองบวมและเลือดออกในสมอง โดยรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูถึง 27 คืน กระทั่งอาการดีขึ้นแพทย์เจ้าของไข้จึงตัดสินใจย้ายมาพักฟื้นและสั่งถอดเครื่องช่วยหายใจบริเวณลำคอออก

“ตอนนั้นลูกชายอาการดีขึ้นมากแล้ว กายภาพบำบัดหัดเดินได้ เขียนหนังสือได้ สื่อสารด้วยคำสั้นๆ ได้ เรียกพ่อเรียกแม่ได้ เราก็คิดว่าลูกจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งหมอสั่งให้ถอดเครื่องช่วยหายใจที่คอออก พอหมอผ่าตัดเสร็จก็เดินออกจากห้องทันที ให้พยาบาลดูแลแทน เราเห็นพยาบาลเอาผ้าก๊อซอุดรูที่คอเอาไว้แล้วเดินออกไปโดยไม่สนใจอะไรเลย ทันใดนั้นลูกก็อาการทรุดลง หายใจไม่ได้” เธอกล่าวด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก แล้วเล่าต่อว่า ทราบภายหลังว่าสมองของบุตรชายขาดออกซิเจน

เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ดิ้นอย่างทุรนทุราย มีอาการคล้ายๆ ชัก ผู้เป็นแม่จึงรีบวิ่งไปแจ้งพยาบาลเวรที่อยู่นอกห้องให้ช่วย แต่คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ “เด็กยังไม่ชินกับการหายใจ ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น” จนสุดท้ายบุตรชายทนไม่ไหว กระเสือก|กระสน ถ่ายเรี่ยราด แพทย์จึงนำเข้าห้องไอซียูรอบ 2 เป็นเวลากว่า 45 คืน

“ลูกก็ทรุดหนัก รอดตายมาได้ด้วยการปั๊มหัวใจขึ้นมา แต่ก็ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทราแบบนี้ เป็นเพราะความประมาทของแพทย์และพยาบาลที่ไม่ดูให้ดีว่าคนไข้หายใจเองได้หรือไม่” เธอกล่าวตำหนิ

เวลา 4 เดือนที่เข้ารับการรักษา ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ครอบครัว “ปันนินา” มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทเท่านั้น

“เราก็คนบ้านนอก ไม่รู้จะทำยังไง พอดีอ่านข่าวเจอเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงได้เขียนจดหมายไปแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง แต่สุดท้ายกลับได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ตอนนี้เราฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและชนะคดีในชั้นต้นกับอุทธรณ์แล้ว ศาลให้ชดเชยให้เรา 3.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกกว่า 4 แสนบาท แต่เราบอกเขาว่าไม่เอาดอกเบี้ยก็ได้ ขอให้จบเถอะ อย่าต้องให้ไปสู้อีกศาลหนึ่งเลย เราเหนื่อยและลำบากมาพอแล้ว” ดวงนภาวิงวอน

แอบตัดลำไส้

วนาพร เกริกชัยวัน เป็นเหยื่ออีกรายที่ถูกกระทำ โดยเธอเข้ารับการผ่าตัดพังผืดซึ่งอยู่ระหว่างรังไข่และมดลูก เพื่อสะดวกต่อการมีบุตรเมื่อเดือน พ.ย. 25 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังการผ่าตัดแพทย์แจ้งว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี มีปัญหาเล็กน้อย คือ |มีดไปสะกิดโดนลำไส้ เนื่องจากพบพังผืดในบริเวณนั้น ทว่าได้เย็บตกแต่งเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเธอกลับบ้านกลับเกิดอาการอาเจียนและปวดท้องอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจกลับมายังโรงพยาบาลอีกครั้ง

แพทย์อีกรายเอกซเรย์และวินิจฉัยว่ามีลำไส้บางส่วนไม่ทำงาน จำเป็นต้องสอดสายยางทางจมูกจนถึงลำไส้ เพื่อทำการดูดน้ำย่อยและน้ำดีออกมา

เป็นเวลา 10 วัน ที่ต้องนอนทรมานโดยมีสายยางระโยงระยางทั่วตัว เธอรู้สึกมีกลิ่นเหม็นออกมาจากภายในร่างกายและพยายามแจ้งพยาบาลตลอดเวลา ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเป็นกลิ่นน้ำย่อย จึงไม่ต้องวิตกกังวล จากนั้นแพทย์รายใหม่ได้ดูฟิล์มเอกซเรย์ พบว่าลำไส้หลายส่วนไม่ทำงาน จำเป็นจะต้องฉีดรังสีเข้าเส้นเลือด เพื่อทำการเอกซเรย์ในอุโมงค์อย่างละเอียดและผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง

การผ่าตัดครั้งที่ 2 ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ด้วยความสงสัยจึงสอบถามพยาบาลว่า แพทย์ได้ตัดลำไส้ออกไปบ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าตัดไป 8 มิลลิเมตร แต่จากการถามแพทย์อีกครั้ง ทำให้ทราบว่าตัดออกไปครึ่งหนึ่งของลำไส้ทั้งหมด เนื่องจากมีการเน่าเสียเกิดขึ้น

“ดิฉันทราบมาว่าการผ่าตัดครั้งแรกก็มีการตัดลำไส้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ได้โดนใบมีดบาด เมื่อไปสอบถามแพทย์รายแรก เขาจึงยอมรับว่าตัดไป 2 นิ้วจริง” เธอ กล่าว และเล่าว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งหมด 2.4 แสนบาท ทั้งที่ตัวเองเตรียมเงินไว้เพียง 7 หมื่นบาท สำหรับผ่าตัดเพื่อช่วยการมีบุตรเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อไปถามแพทย์รายแรกกลับพบว่าการผ่าตัดเพื่อมีบุตรก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน ทั้งนี้แพทย์คนดังกล่าวได้รับปากจะเจรจากับโรงพยาบาลเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้ แต่ก็ไม่เป็นผล

“หมอบอกว่าผ่าตัดไม่สำเร็จ และต่อไปจะไม่สามารถมีบุตรได้อีกแล้ว ดิฉันต้องสูญเสียลำไส้ สูญเสียความหวังในการมีบุตร จากความผิดพลาดของหมอและโรงพยาบาล ที่สำคัญยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อไว้ด้วย”

ทุกวันนี้วนาพรมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายตลอดเวลา และไม่สามารถยึดอาชีพเสริมสวยซึ่งสร้างรายได้ให้เธอถึงวันละ 3,000 บาท ได้เหมือนเก่า

ขูดเลือดด้วย ความหวัง

“แค่หมอบอกว่ามีโอกาสเพียง 1% ที่จะช่วยให้สามีดิฉันรอดจากความตาย ไม่ว่าต้องเสียเงินเท่าไรดิฉันก็จะไปหามา แต่นี่สามีดิฉันเสียชีวิตไปแล้วแต่กลับไม่บอกความจริง บอกแค่ว่ายังมีทางช่วย แล้วสุดท้ายเรียกเก็บเงินถึงคืนละ 5 แสน” นางปุ้ย (นามสมมติ) ตัดพ้อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือคับแค้นใจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการจากไปของสามีเธอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำ รู้สึกได้ว่าเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงชั่วข้ามคืน เธอย้อนเหตุการณ์กลับไปยังคืนวันที่ 11 ส.ค. 2552 ว่า ได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าสามีล้มหมดสติอยู่ในห้องเซานา จึงรีบลงไปดูแล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการปฐมพยาบาล จากนั้นจึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีประวัติการรักษาอยู่ที่นั้น

การพยาบาลเป็นไปตามขั้นตอน สามีของเธอถูกส่งไปรักษาตัวยังห้องไอซียู เธอจึงพาบุตรกลับไปพักผ่อนที่บ้าน กระทั่งเช้าของวันที่ 12 ส.ค.2552 เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลได้โทร.แจ้งว่าให้กลับมาด่วนและต้องปั๊มหัวใจสามี เพราะอาการทรุดตัวลง

เรื่อยมาจนบ่ายคล้อย มีการปั๊มหัวใจถี่ขึ้นอีก 2 ครั้ง แพทย์เจ้าของไข้เข้ามาบอกให้ทำใจเอาไว้ และคาดว่าสามีคงอยู่ไม่พ้นวันนี้ เนื่องจากร่างกายไม่รับยา

“ตอนนั้นดิฉันรีบติดต่อญาติของสามี น้องสะใภ้ เสนอให้ย้ายไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งและจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ เมื่อดิฉันได้คุยกับแพทย์โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ ได้รับคำยืนยันว่ามีโอกาสรอด จึงตัดสินใจย้ายสามีไปทันที” เธอเล่าถึงความหวังอันริบหรี่

โรงพยาบาลแห่งใหม่เสนอทางยื้อชีวิตสามีไว้ด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวใจ แต่ราคายาเข็มละกว่า 7 หมื่นบาท เธอตอบตกลงทันทีด้วยความหวังว่าจะช่วยชีวิตของสามีไว้ได้

“พอฉีดยาปุ๊บ เขาก็บอกว่าทุกอย่างกระเตื้องขึ้น แล้วจึงพาสามีไปอยู่ที่ห้องไอซียู จนถึงกลางดึกสามีกลับมีเลือดจากทุกส่วนของร่างกาย และสุดท้ายแพทย์ก็มาบอกว่าสามีได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะให้แพทย์ชำนาญการมาดูเรื่องเลือด เนื่องจากเลือดติดเชื้อ”

“ในเมื่อสามีเสียชีวิตแล้ว จะเอาทั้งหมอทั้งเครื่องฟอกโลหิตหรืออะไรอื่นๆ มาทำไมอีก ดิฉันถามหมอว่า ถามจริงๆ นะคะคุณหมอ ที่ทำทั้งหมดไม่ได้ให้ช่วยให้รอด เพียงแต่พยุงร่างไว้ให้เห็นใช่หรือไม่ คุณหมอก็พยักหน้า ที่สำคัญหมอยังไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของสามีด้วย เขียนแต่เพียงว่าตายผิดปกติ แล้วส่งต่อไปสถาบันนิติเวชจุฬาฯ ผ่าพิสูจน์ศพ”

เธอ บอกว่า ค่ารักษาคืนเดียวเป็นเงิน 5 แสนบาท ทั้งที่แพทย์น่าจะรู้แล้วว่าสามีเสียชีวิตตั้งแต่โรงพยาบาลแรกแล้ว แต่ด้วยต้องการทำเพื่อการค้าอย่างไร้จรรยาบรรณ จึงรับปากเพื่อรับคนไข้มารักษาโดยต้องการแต่เงินเพียงอย่างเดียว

“เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเป็นที่สุด เพราะเราไม่มีทางสู้หมอหรือสู้แพทยสภาได้เลย เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาลกันทั้งนั้น เวลารักษาก็มุ่งแต่จะคิดเงิน ไม่ได้มองถึงคุณค่าของชีวิตและความรู้สึกของคนอื่นสักเท่าไร” เธอกล่าวสรุปอย่างหมดหวัง

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ บอกว่า กว่า 8 ปีที่ตั้งเครือข่ายมา มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ยกันได้ อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย กำลังเตรียมยื่นฟ้อง และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ที่สำคัญคือมีกลุ่มที่ต่อสู้แล้วเลิกล้มกลางคันเป็นจำนวนมาก

“จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2543 พบการเสียชีวิตจากความผิดพลาดที่ป้องกันได้ 9.8 หมื่น-1.9 แสนราย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน สหรัฐอเมริกาใช้เวลาตรวจคนไข้เฉลี่ย 20 นาทีต่อคน ในขณะที่ประเทศไทยใช้เพียง 2-3 นาที นั่นเชื่อได้ว่าอัตราความผิดพลาดย่อมสูงกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งต้นเหตุและปลายเหตุอย่างแน่นอน”

ความหวังของผู้ป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด คงไม่ต่างกับอุดมการณ์ของแพทย์ผู้ให้บริการ ที่ปราถนาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์จนเต็มความสามารถอย่างถึงที่สุด แม้ความผิดพลาดอาจสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การเยียวยาบรรเทาผลกระทบ คือ สิ่งแรกสุดที่จะต้องเร่งทำอย่างเต็มกำลัง