แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: [1] 2 3 ... 670
1
“เศรษฐา” เผย รู้สึกเป็นเกียรติ หลัง UN แต่งตั้งเป็นหนึ่งในผู้แทนกิตติมศักดิ์เรื่องความปลอดภัยทางถนน ชี้ เป็นเรื่องที่ “นายกฯ อิ๊งค์” ให้ความสำคัญ เพราะอุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียให้ไทยปีละมหาศาล

เมื่อเวลา 13.41 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตภาพและข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ว่า ยินดีที่ได้พบนายฌอง ท็อด (Mr. Jean Todt) อีกครั้ง และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสหประชาชาติ (UN) ให้ตนเป็นหนึ่งในผู้แทนกิตติมศักดิ์ (Honorary Representatives) ในเรื่อง Road Safety หรือความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้ความสำคัญ ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียให้ประเทศไทยปีละมหาศาล ทั้งในแง่ของชีวิต ทรัพย์สิน และความเชื่อมั่น ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการป้องกัน

“ผมเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนี้เราเป็น 1 ใน 5 Diplomatic Hubs พร้อมกับบรัสเซลส์ เจนีวา นิวยอร์ก และวอชิงตัน ดีซี ในการรณรงค์เรื่องนี้ จะช่วยยกระดับ Road Safety ของประเทศไทย และความปลอดภัยบนท้องถนนของคนไทยทุกคน”

Thairath Online
6 พฤศจิกายน 2567

2
นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยถือเป็นปัญหาสำคัญ

ทั้งนี้ตามรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนปี 2566 ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลกพบว่าประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 25 คนต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่ายังเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ยังบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ค.ศ.2021 - 2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่มีเป้าหมายลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573  และให้เป็นไปตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ซึ่งประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570
 
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

ทั้งนี้เร่งผลักดันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ อาทิ ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ การพัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล UN Regulations ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุทางถนน

สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เพื่อการยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ทั้งนี้จะนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและการให้บริการประชาชน พิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถ อีกทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนามาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนของทั้งสองหน่วยงาน อันจะมีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนโดยรวมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสมศักดิ์  เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 18,000 ราย พิการกว่า 10,000 รายต่อปี และบาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 600,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านการเยียวยารักษา กระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือคาร์ซีทสำหรับเด็ก และจัดให้มีโครงการขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมผู้ขับขี่

นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าขับเคลื่อนคลินิกอาชีวเวชกรรมสู่การเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive) ให้ได้อย่างน้อย 24 แห่งทั่วประเทศในปี 2568 

Thansettakij
6ุุพย2567

3
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นำประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 10/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.และผู้บริหาร สธ. เข้าร่วม

โดยก่อนการประชุมได้มีพิธีมอบโล่รางวัลแบบอย่างการดำเนินงานที่ดีด้านโรคไม่ติดต่อปี 2567 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี 2567 ประเภทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดกลาง และโรงพยาบาลขนาดเล็ก รวม 9 รางวัล 2.รางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) เชิงนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 3 รางวัล และ 3.รางวัลผลงานคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่เป็นผลงานดีเด่นระดับประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 4 รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในระบบ มีเพียงร้อยละ 2.21 และพบปัญหาการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขาดทุน ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพและทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไป หาหมอ” ได้แก่
1.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนด (Fee Schedule) และ
2.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยตั้งเป้าปี 2568 เพิ่มมูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพร เป็น 1,500 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ในปี 2569

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า สำหรับ 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่
-กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ,
-ไข้หวัด/โควิด-19,
-ท้องอืด ท้องเฟ้อ,
-ท้องผูก/ริดสีดวงทวารหนัก,
-วิงเวียน/คลื่นไส้ อาเจียน,
-ชาจากอัมพฤกษ์-อัมพาต,
-ผิวหนัง/แผล,
-นอนไม่หลับ,
-ท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) และ
-เบื่ออาหาร

ส่วนยาสมุนไพร 32 รายการ ได้แก่ ยาไพล (ครีม), เถาวัลย์เปรียง/สารสกัด/ยาสารสกัด เถาวัลย์เปรียงสูตรตำรับ 1 และสูตรตำรับ 2, ยาประคบ, ยาสหัศธารา, ยาปราบชมพูทวีป, ยาฟ้าทะลายโจร/สารสกัด, ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม สูตรตำรับ 1 และสูตรตำรับ 2, ประสะมะแว้ง, ยาธาตุอบเชย, ยาขมิ้นชัน, ยามะขามแขก,ยาผสมเพชรสังฆาต สูตร 1 และ สูตร 2, ยาขิง, ยาหอมนวโกศ, ยาว่านหางจระเข้, ยาเปลือกมังคุด, ยาพญายอ, ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาทำลายพระสุเมรุ, ยาศุขไสยาศน์, ยาน้ำมันกัญชา (THC) 2.0 mg/ml, ยาน้ำมันกัญชาทั้งห้า, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC มากกว่าหรือเท่ากับ 20:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC ในอัตราส่วน 1:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา (THC) ไม่เกิน 0.5 mg/drop /ไม่เกิน 3 mg/drop, ยาหอมเทพจิตร, ยากล้วย, ยาเหลืองปิดสมุทร, มะระขี้นก, ยาพริก และ ยาเขียวหอม

“ส่วนความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้จัดส่งข้อมูลการขอจัดตั้งกองทุนฯที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้กรมบัญชีกลางแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมจัดทำกฎหมายลำดับรอง 27 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา” นายสมศักดิ์ กล่าว

6 พฤศจิกายน 2567
มติชน

4
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการ สปสช. และ นายประเทือง เผ่าดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. นำคณะผู้บริหาร สปสช.ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริการงานทะเบียน เป็นต้น ลงตรวจเยี่ยมฝ่ายบริหารงาน Contact Center เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ของประชาชนในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร ในกรณีใบส่งตัว

นพ.จเด็จกล่าวว่า ไปรับฟังปัญหาของคนหน้างาน สายด่วน สปสช.1330 ในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานโรงพยาบาลในกรณีที่ต้องส่งต่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัญหาที่พบ มีทั้งกรณีการอออกใบส่งตัวของคลินิกที่มีการออกหลักเกณฑ์ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขอใบส่งตัว อาทิ ต้องขอใบส่งตัวล่วงหน้า 1 เดือน หรือต้องขอก่อน 7 วัน การจำกัดระยะเวลาของการส่งตัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายเดินทางเพิ่ม และมีผู้ป่วยหลายรายที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามนัดโดยจ่ายเงินเอง ทั้งที่เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการส่งต่อและใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่คลินิกยืนยันจะให้การรักษาผู้ป่วยเองทั้งที่เกินศักยภาพบริการทั้งเป็นโรคที่ต้องส่งตัวผู้ป่วย และการจำกัดการจ่ายยารักษาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียง 7 วัน เป็นต้น

“ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลรับส่งต่อนั้น พบว่า ตามแนวทางการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ ของ สปสช. ที่กำหนดให้สายด่วน สปสช.1330 เป็นหน่วยที่ออกใบส่งตัวให้กับผู้ป่วยนั้น ปรากฏว่าเมื่อผู้ป่วยไปรับบริการยังมีโรงพยาบาลทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วยอยู่ แม้ว่าทางสายด่วน สปสช.1330 จะได้มีการติดต่อประสานเพิ่มเติมไปแล้วหลายครั้งก็ตาม” นพ.จเด็จกล่าว และว่า จากปัญหาที่รับฟังนี้ มองว่ายังเป็นปัญหาที่ สปสช. สามารถจัดการได้ และมั่นใจ โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2568 ที่งบประมาณเพียงพอแน่นอน ซึ่ง สปสช. ได้จัดสรรงบไปที่คลินิกในอัตรา 79 บาทต่อประชากรต่อเดือน เมื่อคำนวณกับจำนวนประชากรอย่างน้อย 1 หมื่นคน คลินิกได้รับงบดำเนินการอย่างน้อย 8 แสนบาทต่อเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายค่าแพทย์ พยาบาล ค่ายาและอื่นๆ โดยรวมถึงค่าส่งต่อผู้ป่วยที่ 800 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งใช้ข้อมูลการจ่ายค่าส่งต่อผู้ป่วยที่สูงสูดอยู่ที่ 400,000 บาทต่อเดือน ก็ยังมีกำไร และเมื่อรวมกับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คลินิกก็จะมีรายได้เพิ่มเติมอีก ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมจะขอขยายรับประชากรสิทธิบัตรเพิ่มเติม เพราะมองแล้วว่าไม่ขาดทุน

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีระบบสุขภาพมีความซับซ้อน และมีสายร้องทุกข์ร้องเรียนปัญหาการบริการสูงร้อยละ 80 ของสายที่เข้ามาทั้งหมด สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เบื้องต้นจะมีการพูดคุยกับคลินิก

“หากคลินิกไหนที่ยังเป็นปัญหาในการดูแลผู้ป่วย อาจต้องมีทีมเข้าไปแก้เป็นรายกรณี และ สปสช.ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการด้วย เพราะการที่ไม่ให้บริการ หรือไม่อำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และรวมถึงคลินิกที่ติดป้ายดำทวงเงิน ก็จะจัดการด้วยเช่นกัน เพราะ สปสช. ไม่ได้ค้างเงินคลินิก ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาล หากแห่งไหนที่ติดขัดไม่รับส่งต่อผู้ป่วย ก็จะให้ผู้บริหาร สปสช. พร้อมทีมไปเจราจา ขอย้ำว่า ผู้ป่วยที่สายด่วน สปสช. 1330 ส่งต่อไปนั้น ไม่ได้เป็นการส่งผู้ป่วยไปเพื่อขอรับบริการฟรี แต่ สปสช.มีเงินที่จะตามจ่ายค่ารักษาให้ โดยเป็นการเบิกจ่ายจากคลินิกต้นสังกัด จำนวน 800 บาท ส่วนที่เกินจากนั้น ให้เป็นการเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้” นพ.จเด็จกล่าว และว่า ส่วนปัญหาผู้ป่วยศรัทธาหมอ และไม่ยอมกลับไปรับบริการที่คลินิก ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถรักษาที่คลินิกได้ กรณีแบบนี้จะให้มีเจ้าหน้าที่ลงไปหน้างานที่โรงพยาบาล เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล เชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ อีก 1 เดือน จะมีการรับฟังเสียงสะท้อนจากทีมสายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

6 พฤศจิกายน 2567
มติชน

5
บอร์ดสปสช.เห็นชอบข้อเสนอคกก.ควบคุมคุณภาพฯ  ปรับระบบรักษาผู้ป่วยล้างไต หลังพบฟอกเลือดเสี่ยงเสียชีวิตสูง เคาะกลับใช้ “PD first ล้างไตช่องท้องทางเลือกแรก” พร้อมวางกลไก pre-authorization เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง  จัดระบบแรงจูงใจแพทย์ใหม่

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุม กล่าวว่า บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ปรับระบบผู้ป่วยล้างไต โดยเพิ่มสัดส่วนบริการล้างไตทางช่องท้องให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยรายใหม่ ควบคุมงบค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้ไม่เกินร้อยละ 12 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะเวลา 5 ปี ให้นำนโยบาย PD First กลับมาใช้ทันที เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย

บอร์ดสปสช.เห็นชอบปรับระบบรักษาผู้ป่วยล้างไต
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า  บอร์ดสปสช.เห็นชอบในข้อเสนอ ที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้ส่งเรื่องให้บอร์ดสปสช.พิจารณา มีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ พบว่า การล้างไตทางเส้นเลือด หรือฟอกเลือด (HD) มีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการล้างไตทางหน้าท้อง (PD) จากอดีตที่มีการล้างไตทางหน้าท้องประมาณครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ลดเหลือประมาณร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 เป็นการล้างไตทางเส้นเลือดหรือการฟอกเลือด และพบว่า เสียชีวิตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ล้างไตภายใน 90 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการควบคุมฯ ไม่ได้แจ้งว่า สาเหตุเกิดจากอะไร

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการควบคุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอกลับมาว่า ขอให้ดูในบริการล้างไตอีกครั้ง ประกอบกับมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น งบประมาณก็สูงขึ้นด้วย จึงมีข้อเสนอให้เน้นการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง เพราะในอดีตมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 10,000 คน แต่ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 คน ก็ต้องมีมาตรการให้ลดลง จึงต้องทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ต้องรับบริการล้างไต ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี

เพิ่มสัดส่วนล้่งไตผ่านช่องท้องมากขึ้น
ส่วนเรื่องของนโยบายอยากให้กำหนดมาตรการ เพิ่มสัดส่วนการล้างไตทางหน้าท้องมากขึ้น คาดว่า ส่วนหนึ่งคณะกรรมการอาจกังวลว่า ผู้ป่วยไปแออัดแบบฟอกเลือด เกรงว่าการบริการจะไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ มีผลต่อการให้บริการหรือไม่ ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้น จึงอยากให้มีการแบ่งเบาไปใช้บริการล้างไตทางหน้าท้องด้วย

ปัจจุบันมีการล้างไตทางหน้าท้อง 2 ระบบ ได้แก่ 1. ล้างไตแบบเดิม และ 2.  เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติหรือเครื่อง APD การมีนวัตกรรมใหม่ จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ต้องไปแออัด ทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันว่า ให้เอาประโยชน์ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จัดกลไกที่จะร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ดูว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมในการล้างไตรูปแบบใด แล้วให้บริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วย (pre-authorization) คือ การให้ความสำคัญในการเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

"จะไม่เหมือนในอดีตที่ให้ล้างไตทางหน้าท้องเป็นหลัก ไม่มีกระบวนการนี้ ดังนั้น ครั้งนี้จะเป็นกระบวนการใหม่ ที่ สปสช.ต้องไปจัดระบบ รวมถึงการดูเรื่องภาระงบประมาณในอนาคตด้วย แต่ยืนยันว่า ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญ เมื่อไหร่ที่มีผู้ป่วยต้องใช้บริการ ยังยืนยันที่จะให้บริการ ถึงแม้ตัวเลขในปีงบประมาณนี้ เราจะเพิ่มจำนวนการปลูกถ่ายไตจำนวนมากด้วย" นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาฯ กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยในที่ประชุม พิจารณาแล้วว่า กำหนดให้งบบริการบำบัดทดแทนไตเป็นแบบปิด (global budget) ควรเป็นงบปลายปิดในภาพรวม หากมีความจำเป็น พิสูจน์ได้ว่ามีผู้ป่วยมากขึ้น ก็จะมีกลไกในการดูแลงบประมาณให้เหมาะสม และไม่อยากให้คำว่า ปลายปิด เป็นการส่งสัญญาณว่า หากมีผู้ป่วยรายใหม่จะไม่ได้รับบริการ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น

ตั้งกลไกนโยบาย PD first
ที่ประชุมยังมีการถกกันว่า ต้องควบคุมงบประมาณในรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ แต่ในท้ายที่สุด ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ผู้ป่วยมีความจำเป็นก็ต้องใช้บริการ แม้งบประมาณจะมีข้อจำกัดอย่างมาก ยืนยันว่า ยังดูแลผู้ป่วยเต็มที่เหมือนเดิม ซึ่งข้อเสนอใช้คำว่า นำระบบ PD first กลับมาใช้โดยเร็วที่สุด แต่การนำนโยบาย PD first กลับมาอาจจะต้องมีกระบวนการ ซึ่งในอดีต ทุกคนต้องเข้าระบบล้างหน้าท้องก่อน แต่ครั้งนี้จะใช้คณะบุคคล ผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการ และมีคนที่มีความเป็นกลางมาช่วยพิจารณา (pre-authorization) ต้องมีการวางระบบในหลายส่วน อาจวางถึงระดับเขตและระดับพื้นที่ในการสร้างกลไก ให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

จัดระบบแรงจูงใจแพทย์ใหม่
"ทั้ง 2 ระบบ มีข้อดีและข้อเสีย ถ้ามองในเรื่องค่าใช้จ่ายทางอ้อม การล้างทางหน้าท้องถ้าทำได้ก็จะประหยัด จึงต้องดูความเหมาะสมมากกว่าพยาธิสภาพของโรค ในที่ประชุม ยังมีข้อเสนอเรื่องแรงจูงใจของแพทย์ เพราะมีแพทย์ส่วนหนึ่งไม่ได้มาดูผู้ป่วย แล้วรับค่าตอบแทน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพในการฟอกเลือด อาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย จึงต้องมีการจัดระบบอีกครั้ง หลังจากวันนี้คงต้องมีการดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการภายใต้กรรมการควบคุมฯ จะตั้งกลไกขึ้นมาส่วนหนึ่ง โดยจะทำงานร่วมกันในการสร้างกลไกขึ้นมา โดยเฉพาะกลไกที่จะร่วมกันพิจารณาตัดสิน ชวนผู้ป่วยพูดคุยว่าอะไรคือประโยชน์สูงสุด" นพ.จเด็จ กล่าว

4 พฤศจิกายน 2567
https://www.hfocus.org/content/2024/11/32155

6
4 พ.ย. 2567 เมื่อเวลา 17.00 น. นายอารือมัน เวาะงอย ผู้ใหญ่บ้าน ได้โทรศัพท์มายังนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ขอให้ช่วยเหลือลูกบ้าน เป็นหญิงสาวอายุ 36 ปี ชาว อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กรณีเมื่อ 18 ปีก่อน ได้ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะที่หมอเย็บแผลคลอด พยาบาลได้ทำเข็มหล่นไปในช่องคลอด หมอพยายามใช้นิ้วควานหาแต่ไม่สามารถนำเข็มออกมาได้ ต่อมามีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องน้อยอยู่เป็นประจำเป็นระยะๆ จนแทบทนไม่ได้

กระทั่งปี 2566 ได้ไปตรวจเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลจังหวัด ในภาพที่เอกซเรย์ปรากฏว่ามีเข็มอยู่ในช่องคลอด จากนั้นโรงพยาบาลได้ส่งตัวต่อไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลใน จ.สงขลา แต่เข็มมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอด ทำให้หมอไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องเลื่อนการผ่าตัดมาถึง 2-3 ครั้ง ปัจจุบันหญิงสาวยังต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เดือนละประมาณ 3-4 ครั้ง ถึงแม้จะใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา แต่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และครอบฐานะยากจน จึงขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือด้วย
 
หลังรับเรื่อง นางปวีณา ได้โทรประสาน นพ.ถนัด อาวารุลหัก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และนัดหมายให้ผู้ใหญ่บ้านพาลูกบ้านสาวไปพบเพื่อให้การรักษาให้หายขาด และประสาน นางสาวสาลินี วงศ์ทอง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยและช่วยเหลือเรื่องการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยมูลนิธิปวีณาฯ จะติดตามการช่วยเหลือต่อไป

4 พ.ย. 2567
คมชัดลึก

7
ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบอันตรายต่อสุขภาพ เทียบเท่าสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ล่าสุด ปี 67 พบคนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 17.20% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63%

เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนแห่งการฟังแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยว ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกโซเชียลและข่าวสารที่หมุนไว คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์มากขึ้นทำให้คุยกับครอบครัวและคนรอบข้างน้อยลง เกิดปัญหาทางจิตใจทั้งความเหงา ความโดดเดี่ยว คนรู้สึกไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะที่คนรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากงานวิจัยความสัมพันธ์ทางสังคมกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยการวิเคราะห์อภิมาน โดย J. Holt-Lunstad และคณะ ในวารสารวิชาการ PLOS Medicine ระบุว่า อันตรายของความเหงาเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ถึงวันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว นอกจากนี้ ความเหงาและความโดดเดี่ยว ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การเสพติดสุรา บุหรี่ เสี่ยงป่วยโรควิตกกังวล ซึมเศร้า และสมองเสื่อม เรียกได้ว่าเป็นภาวะขาดการสัมพันธ์เชื่อมโยง (lack of social connection)”

“การกำหนดให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนการฟังแห่งชาติ หรือ National Month of Listening ครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งแรกของไทย และของโลก สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการรับฟัง”

“ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมให้มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการความรู้สึกเหงาและความโดดเดี่ยวได้ รวมถึงการสนับสนุนให้มีพื้นที่การรับฟังที่หลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่เกื้อกูลกัน”

“สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ฟรีมากกว่า 75 กิจกรรมทั่วประเทศ ในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตลอดเดือน พ.ย. 67 สามารถติดตามรายละเอียดและเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ความสุขประเทศไทย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 22 เมษายน 2567 พบมีผู้เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.20% มีความเครียดสูง 15.48% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63%

“หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่า ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว ส่วนวัยทำงานต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักเกินไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม ล่าสุด เกิดกรณีเภสัชกรตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากมีความกดดันในเรื่องการทำงาน สาเหตุจากหัวหน้างานไม่เคยเปิดใจรับฟัง ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทย โดยองค์กรนิวกราวด์ เคยระบุว่าของขวัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือการรับฟังและความเข้าใจ 25% มากกว่าการได้รับเงิน 11% ถึงสองเท่า

“ธนาคารจิตอาสา ร่วมกับ สสส. และเพื่อนภาคี จัดทำแคมเปญเดือนการฟังแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพที่ตัวเองมี คือ การฟังที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งการฟังที่มีคุณภาพจะส่งผลให้เรารู้จักเข้าใจตัวเองและชีวิต เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับผู้อื่น กับโลก และธรรมชาติ พร้อมร่วมกันสร้างสังคมที่เกื้อกูล ภายใต้แคมเปญฯ ตลอดเดือน พฤศจิกายน 2567 จะมีกิจกรรมที่ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1.Listenian Space หรือ กิจกรรมรับฟังโดยอาสา (Listenian) ผ่านหัวข้อเสวนาต่างๆ เช่น “Friday Night” พื้นที่สำหรับชาวออฟฟิศ ที่อยากปลดปล่อยความรู้สึกให้ใครสักคนฟังหลังเลิกงาน “Lady Listening” พื้นที่รับฟังโดยเหล่าผู้รับฟังผู้หญิง เพื่อเพื่อนหญิงด้วยกัน”

“2.Listenian Class หรือ เวิร์กชอปการฟังด้วยหัวใจ ในหัวข้อประเด็นต่างๆ เช่น การฟัง 101, DIY Happiness, Student Well-being ชวนมาเรียนรู้ทักษะการฟังเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะการมีความสัมพันธ์ที่ดี” ดร.สรยุทธ กล่าว

มติชน
1  พย 2567

8
อาลัย หมออุ๊ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ยกย่องเป็นหมอทุ่มเทดูแลคนไข้

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย” โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า

คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พญ.ธนวดี สร้อยสุวรรณ (หมออุ๊) อายุรแพทย์ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย

หมออุ๊เป็นอายุรแพทย์ที่ตั้งใจทำงาน รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ได้รับคำชื่นชมจากผู้มารับบริการ เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน การจากไปของหมออุ๊นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของ รพ.ศรีสังวรฯ และกระทรวงสาธารณสุข

ขออาราธนาอำนาจคุณพระสังวรกิจโกศลผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล ตลอดจนกุศลธรรมที่หมออุ๊ทำมาโดยตลอด โปรดดลบันดาลให้หมออุ๊ไปสู่สุคติ มีความสุขในสัมปรายภพด้วยเทอญ

สำหรับการเสียชีวิตของ หมออุ๊ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ พญ.ธนวดี ตกข้างทางที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เมื่อเวลาประมาณ 14:40 น. ขณะเดินทางกลับบ้านพักที่ จ.พิษณุโลก เป็นเหตุให้ พญ.ธนวดี แพทย์หญิง ธนวดี อายุ 42 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น อาลัยต่อการจากไปของคุณหมอเป็นอย่างมาก เช่น

“คุณหมอเป็นหมอที่ดีมากค่ะ ถึงจะติดเที่ยงคุณหมอก็จะตรวจคนไข้ที่นัดไว้ให้หมดก่อนถึงพัก ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วยนะคะ”
“ขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวคุณหมอและคุณหมอ ด้วยนะคะขอให้คุณหมอไปสู่ภพภูมิที่ดีค่ะ”
“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณหมอด้วยค่ะ ขอให้คุณหมอสู่สุคติในสัมปรายภพนะคะ ได้เคยเป็นคนไข้คุณหมอคุณหมอดูแลดีมากๆค่ะ”
“ขอให้คุณหมอไปเป็นนางฟ้าบนสวรรค์นะคะ”


4 พฤศจิกายน 2567
มติชน

9
สพฉ.คึกคัก ฮ.เอกชนตบเท้าเข้าสมัคร หลัง “สมศักดิ์” ไฟเขียวยก ฮ.ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ นำร่อง 5 จว.หัวเมืองท่องเที่ยว เพิ่มการเข้าถึงในพื้นที่ห่างไกล และลดอัตราการเสียชีวิต

วันนี้ (1 พ.ย. 67) เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า ภายหลังจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้มีอนุมัติให้มีการจัดระบบหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทางฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ โดยองค์กรเอกชน ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ที่มีฐานปฏิบัติการบิน ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร
2. ชลบุรี
3. เชียงใหม่
4. ภูเก็ต และ
5. สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ไปแล้วนั้น
มีองค์กรภาคเอกชนที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทางฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศสมัครมาแล้ว จำนวน 7 องค์กร ได้แก่ 1. บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด
2. บริษัท ไทยเอเวชั่น เซอร์วิส จำกัด
3. บริษัท ยูไนเต็ด ออฟชอร์ เอวิเอชั่น จำกัด
4. บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด
5. บริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น จำกัด
6. โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิ
7. โรงพยาบาลพิษณุเวช
ซึ่ง 7 บริษัทนี้จะต้องนำเสนอความพร้อมในการเป็นหน่วยเฉพาะทางฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ ต่อคณะกรรมการที่สถาบันฯ ได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาศักยภาพการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทย มีความพร้อมด้านการแพทย์และการบินพลเรือน ที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมนานาชาติ สพฉ. จึงมีแผนเพิ่มการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นภาคละ 2 จังหวัด ตามสั่งการนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศได้ตลอดเวลาที่ได้รับการร้องขอ และมีความครอบคลุมการให้บริการประชาชนทั่วประเทศ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวิกฤติซึ่งต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวในศักยภาพด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศต่อไป


Amarin TV News
1 พ.ย. 67

10
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ แถลงความร่วมมือการขึ้นทะเบียนโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็น "หน่วยบริการรับส่งต่อโรคทางสมอง ระบบประสาทและกระดูกสันหลัง" ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีผ่านระบบ Video Call

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำทีมผู้บริหาร สปสช. และคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการผ่าตัดสมองให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองโดยทีมแพทย์ใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบัญชีนวัตกรรมเพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของทีมแพทย์ในการให้บริการประชาชน

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยขั้นสูงระดับตติยภูมิ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เรามีความพร้อมการรักษาตั้งแต่โรคหัวใจ โรคทางสมอง มีเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม การผ่าตัดแผลเล็กด้วยกล้อง Endoscope ในกลุ่มโรคหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ปอด นอกจากนี้ ในกลุ่มจักษุวิทยายังมีแพทย์อนุสาขาที่ครอบคลุมบริการ

ในส่วนของโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง โรงพยาบาลฯ มีแพทย์อายุรศาสตร์สมองจำนวน 2 ท่าน หนึ่งในนั้น คือ ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาด้านหลอดเลือดสมอง ทำให้มีความเชี่ยวชาญการตรวจและรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ซับซ้อนได้เป็นพิเศษ

ในส่วนของระบบประสาท โรงพยาบาลฯ มีแพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ 2 ท่าน ซึ่งมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถในการผ่าตัดโรคทางสมองได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าเนื้องอกในสมอง เนื้องอกในไขสันหลัง ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง อาการทางสมองจากอุบัติเหตุ ฯลฯ

"อย่างผู้ป่วยทางสมอง เราผ่าตัดมาแล้วหลายสิบราย ทั้งเนื้องอกในสมอง เลือดคั่งในสมอง เส้นเลือดโป่งพองในสมอง ฯลฯ อย่างการผ่าตัดวันนี้เป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ มีเลือดคั่งต้องเจาะกะโหลกเพื่อระบายแรงดันในสมอง ซึ่งทีมแพทย์จะใส่แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียมเพื่อให้ศีรษะผู้ป่วยมีความสวยงาม" ผอ.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ สปสช. มีแนวคิดสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการไม่ว่าจากพื้นที่ใดก็ตาม โรงพยาบาลฯ พร้อมให้การดูแลทั้งหมดและเบิกจ่ายตามระบบ สปสช. โดยไม่เป็นภาระให้โรงพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยมาต้องตามจ่าย ดังนั้นหากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ถ้ามีคนไข้อยู่ในความดูแลและมีวันรอคอยมาก ก็สามารถส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทุกช่องทาง

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีมาตรฐานที่สูงอยู่แล้วสามารถเป็นหน่วยบริการรับส่งต่ออีกแห่งหนึ่งในระบบบัตรทองได้ สปสช. มีความยินดีเพราะจะช่วยให้ประชาชนอีกจำนวนมากได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ

นอกจากโรคทางสมองแล้วในด้านอื่น ๆ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ มีความพร้อมเช่นกัน ดังนั้น หากโรงพยาบาลใดมีคิวผ่าตัดนาน ต้องการมารับบริการที่นี่ ทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็พร้อมรับตัวได้เลย ซึ่งก็จะช่วยลดความแออัด และระยะเวลารอคอยได้มาก

"วันนี้นอกจากการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อฯ แล้ว เรายังได้มาดูการผ่าตัดใส่แผ่นปิดกะโหลกศีรษะที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย 100% ปัจจุบันให้การรักษาผู้ป่วยบัตรทองไปแล้วกว่า 130 ราย ทั้งที่ทำจากไทเทเนียมและโพลีเมอร์

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบัญชีนวัตกรรม 7 รายการที่ประกาศเป็นสิทธิประโยชน์แล้ว ซึ่งช่วยเป็นกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและใช้งานในประเทศ ลดการนำเข้า ประหยัดงบประมาณได้กว่า 300 ล้านบาท" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

Thansettakij
31 ตค 2567

11
หนุ่มเวรเปล รพ.ดังอุดร พลัดตกแฟลตชั้น 4 ดับสลด แม่-แฟนร่ำไห้แทบขาดใจ เผยอีก 1 เดือนจะแต่งงาน

เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 31 ตุลาคม ศูนย์วิทยุร่มโพธิ์ทอง สภ.เมืองอุดรธานี ได้รับแจ้งมีชายกระโดดตึก 4 ชั้น เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดที่แฟลต 5 ชั้น เทศบาลนครอุดรธานี ซอยอุดรดุษฎี 4 ชุมชนบ้านห้วย 1 เทศบาลนครอุดรธานี หลังรับแจ้งเหตุ ร.ต.อ.ณัฐวัตร ละดาวัลย์ รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองอุดรธานี ตร.ชุดสืบสวน สายตรวจอินทรีย์ 191 แพทย์เวร รพ.ศูนย์อุดรธานี และอาสากู้ภัยมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถาน รุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุบนพื้นหน้าทางขึ้นอาคาร พบศพ นายฐนกร วีระบุศย์ หรือ โอเว่น อายุ 25 ปี ชาว ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย นอนคว่ำหน้า กะโหลกศีรษะยุบ เลือดไหลออกจากปากนองพื้น สวมเสื้อยืดสีขาว กางเกงขาสั้นสีเทา รองเท้าแตะสีน้ำเงิน ตกอยู่หน้าบันไดทางขึ้น โดยมี นางภครินทร์ อายุ 48 ปี แม่บ้านแฟลต ผู้เห็นเหตุการณ์คนแรก ยืนรอให้การกับเจ้าหน้าที่

จากนั้นไม่นาน น.ส.พรพรรณ หรือน้ำ อายุ 28 ปี ชาว ต.สร้อยพร้าว อ.หนองหาน จ.อุดรธานี แฟนสาวของผู้ตาย ได้เดินทางมายืนยันตัวผู้ตาย และพาเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบบนห้องพักชั้น 4 ห้องพักของผู้ตาย ซึ่งไม่พบความผิดปกติใดๆ

จากนั้นประมาณ 30 นาที พ่อ แม่ และพี่สาวของผู้ตาย ได้เดินทางมาที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ญาติทั้งหมดดูศพเป็นครั้งสุดท้าย ญาติทั้งหมดต่างพากันร้องไห้เสียใจดังระงมไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ได้ร้องไห้ปานจะขาดใจ เรียกหาชื่อลูกชาย “ถามลูกว่าทำแบบนี้ทำไม มีปัญหาอะไรทำไมไม่บอกแม่ เจ็บมาหรือเปล่าลูก”

น.ส.น้ำเล่าทั้งน้ำตาว่า แฟนทำงานพนักงานเวรเปลที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เลิกงานออกเวรตอน 08.00 น. แล้วกลับมาที่ห้องพัก โทรหากันล่าสุด 09.00 น. ซึ่งตนกำลังออกมาขายของที่โรงอาหาร รพ.ศูนย์อุดรธานี น้องส่วยที่รู้จักกันโทรมาบอกว่า มีคนกระโดดแฟลตเสียชีวิต ไม่รู้ว่าใช่แฟนตนหรือไม่ ตนโทรหาแฟนก็ไม่รับโทรศัพท์ จึงรีบมาที่เกิดเหตุ เมื่อเห็นศพก็ยืนยันว่าใช่แฟนตนแน่นอน ตกใจ ช็อกมาก คบกันมาได้ประมาณ 1 ปี เราไม่เคยทะเลาะกันเลย มีแพลนจะแต่งงานกันเดือนหน้านี้ด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ แต่คิดว่าแฟนน่าจะเครียดเรื่องงาน และเรื่องเงินมากกว่า

เบื้องต้นจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของแฟลต จับไม่ได้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากกล้องมีสภาพเก่า อยู่ระหว่างของบประมาณปรับปรุง เห็นภาพเฉพาะจังหวะที่แม่บ้านเดินผ่านจุดเกิดเหตุ และได้ยินเสียงร่างผู้ตายตกลงที่พื้น จึงวิ่งกลับไปดู ก่อนที่จะโทรแจ้งผู้จัดการแฟลต และโทรแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ

นางภครินทร์ แม่บ้าน ผู้เห็นเหตุการณ์คนแรก เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนกำลังกวาดพื้นอยู่ที่ชั้น 4 ตนเห็นผู้ตายยืนอยู่บันไดหนีไฟระหว่างชั้น 4 และชั้น 5 เกาะราวบันไดอยู่ ตนถามว่ามาทำอะไร คนตายก็ไม่ได้ตอบอะไร เอาแต่ก้มหน้า จากนั้นตนก็เดินลงมาที่ชั้น 1 กำลังจะเดินเลี้ยวขวาไปสำนักงานคล้อยหลังนิดเดียว ตนก็ยินเสียงอะไรบางอย่างตกกระทบพื้นอย่างแรง หันไปดูก็พบร่างคนตายนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้น ตกใจมาก ทำอะไรไม่ถูก ตนสั่นไปหมด ตั้งสติได้ก็โทรหาผู้จัดการแฟลตทันที ผู้ตายพักที่นี่มานานแล้ว เห็นหน้ากันคุยกันประจำ ผู้ตายเป็นคนอารมณ์ดี ไม่นึกว่าจะมาคิดสั้นแบบนี้

เบื้องต้นได้นำศพไปเก็บรักษาไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เพื่อทำการชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ตามขั้นตอนของกฎหมาย หากญาติไม่ติดใจในสาเหตุการตาย ก็จะมอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป

มติชน
31 ตุลาคม 2567

12
โรงพยาบาลพระรามเก้า ออกแถลงการณ์เสียใจเหตุบุคลากรเสียชีวิต ยันตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิดเป็นไปอย่างยุติธรรมในทุกขั้นตอน พร้อมเน้นย้ำทุกหน่วยงานปฏิบัติงานด้วยความเข้าอกเข้าใจ

วันที่ 31 ต.ค. 67 จากรณีโซเชียลวิจารณ์สนั่น ภาพแชตไลน์หัวหน้า ปมปัญหาในที่ทำงาน คาดเป็นเหตุทำให้ลูกน้องทนไม่ไหว ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น (อ่านข่าว : วิจารณ์สนั่น แชตไลน์หัวหน้า คาดทำให้ลูกน้องทนไม่ไหว)

ล่าสุด มีรายงานว่า แฟนเพจ Praram 9 hospital เผยแพร่แถลงการณ์จากโรงพยาบาลพระรามเก้า เรื่อง ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุคลากรในโรงพยาบาลพระรามเก้า

โดยระบุว่า โรงพยาบาลพระรามเก้าขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าในองค์กรและขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ทันทีที่โรงพยาบาลฯ ทราบถึงเหตุการณ์ คณะผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด และได้ติดต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อแสดงความเสียใจอย่างจริงใจ โดยยืนยันถึงความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้เป็นไปอย่างยุติธรรมในทุกขั้นตอน

การออกแถลงการณ์ครั้งนี้ล่าช้า เนื่องจากทางองค์กรจำเป็นต้องทำการรวบรวมข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive) อย่างรอบคอบ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงจิตใจของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าแถลงการณ์นี้จะสะท้อนถึงความห่วงใยและการเคารพต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

โรงพยาบาลฯ มีความยินดีที่จะดูแลและสนับสนุนครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มที่ รวมถึงการดูแลและให้กำลังใจบุคลากรทุกคนอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานด้วยความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เพื่อให้การดูแลซึ่งกันและกันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน)

Thairath Online
31 ต.ค. 67

13
โซเชียลวิจารณ์สนั่น ภาพแชตไลน์หัวหน้า ปมปัญหาในที่ทำงาน คาดเป็นเหตุทำให้ลูกน้องทนไม่ไหว

วันที่ 30 ตุลาคม 2567 กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล เมื่อเฟซบุ๊กเพจ อีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ ได้เผยแชตของชายคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็น เภสัชกรขณะคุยกับหัวหน้างาน

โดยในแชตบางช่วงบางตอน ทางหัวหน้างานได้แนะนำให้ลูกน้องคนนี้ไปพัก หรือลาออก หากรู้สึกว่าเริ่มไม่มีความสุขกับการทำงาน และมีประโยคที่ถามว่า "จะย้ายไปทำงานแผนกอื่นไหม จะได้ไปถามให้ เพราะจะได้ไม่มีหัวหน้าอย่างตนมากดดัน" รวมถึงบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน โดยหัวหน้าทิ้งท้ายว่า "หากทำงานร่วมกันไม่ได้ก็ลาออกไป ประวัติจะได้ไม่เสีย"

ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ พี่ของเจ้าของแชตนี้ ได้ออกมาโพสต์แจ้งข่าวว่า น้องตัวเองจากไปแล้ว โดยทิ้งข้อความเอาไว้ถึงคนที่อยู่รอบตัว ทั้งขอบคุณความทรงจำดีๆ และคนที่คอยช่วยเหลือ รวมถึงขอโทษหากติดค้างใครไว้

นอกจากนี้ ยังมีบางท่อน ที่ระบุถึงปัญหาในที่ทำงานว่า ต้องไปเจอหน้าคนที่ไม่เคยเห็นค่า ไลน์ที่ทำงานก็ Toxic จนเกิดปัญหาหลายอย่างกับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หากมีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หรือมีความคืบหน้าเพิ่มเติม จะได้รายงานให้ทราบต่อไป.

30 ต.ค. 2567
ไทยรัฐ

14
เภสัชกรหนุ่ม จบชีวิตตัวเอง กดดันหนักเจอที่ทำงานเป็นพิษ ถูกกดดันให้ลาออกอย่างไม่เป็นธรรม ทิ้งจดหมายสุดหดหู่

วันที่ 30 ต.ค. 2567 กลายเป็นข่าวเศร้าที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อเพจใต้เตียงมข.ได้โพสต์เรื่องราวสุดเศร้าของวงการแพทย์ หลังจากที่ "เภสัชกรหนุ่ม" รายหนึ่งที่ต้อง เผชิญแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ กดดันหนักจนตัดสินใจลาโลก ด้วยการรมควันภายในรถยนต์ ทิ้งจดหมายฉบับสุดท้ายขอโหสิกรรมครอบครัวอ่านแล้วยิ่งสุดหดหู่ พร้อมภาพข้อความแชทที่พูดคุยกับหัวหน้างาน ในลักษณะที่ถูกกดดันให้ลาออกอย่างไม่เป็นธรรม   

โดยโพสต์ของทางเพจใต้ เตียงมข. มีใจความว่า ข่าวเศร้าจากวงการเภสัชกร เมื่อเภสัชกรหนุ่ม ศิษย์เก่า มข. และอดีตพี่เลี้ยงน้องใหม่ ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง หลังต้องเผชิญกับความกดดันและความเป็นพิษในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของเขาจนทนไม่ไหว ในข้อความสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ เขาได้กล่าวถึงความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่ไม่ได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้างาน รวมถึงการถูกกดดันให้ลาออกอย่างไม่เป็นธรรม

เรื่องราวของเขาทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตในที่ทำงาน และชี้ให้เห็นว่าการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอาจส่งผลร้ายแรงต่อสภาพจิตใจของพนักงาน การจากไปของเขาเป็นเสียงเตือนให้ผู้ที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานต้องกลับมาทบทวนถึงการกระทำของตนเอง ว่าการปฏิบัติต่อลูกน้องในลักษณะที่กดดันหรือไม่ให้การสนับสนุนที่เพียงพอนั้น อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าเศร้าและไม่ควรเกิดขึ้น

เพื่อนและคนรู้จักของเขาต่างสะเทือนใจและเสียใจกับการจากไปครั้งนี้ หลายคนมองว่าเขาเป็นคนมีจิตใจดี สดใส และเป็นที่รักของเพื่อนๆ ซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษได้ทำให้เขาต้องสูญเสียพลังใจในการดำเนินชีวิต

เหตุการณ์นี้เป็นการเตือนให้สังคมให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เข้าใจและสนับสนุนจิตใจของคนในทีม เพื่อลดการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต


 นอกจากนี้ กรณีของเภสัชกรหนุ่มยังทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ หลายคนตั้งคำถามถึงบทบาทของหัวหน้างานในการดูแลจิตใจของพนักงาน และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการบริหารจัดการในองค์กร โดยเฉพาะการสนับสนุนทางจิตใจที่หัวหน้างานควรมอบให้แก่ลูกน้อง หลายความคิดเห็นแสดงความเห็นตรงกันว่า การพูดคุยอย่างสร้างสรรค์และการรับฟังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจเป็นสิ่งเล็กๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความเครียดและปัญหาต่างๆ ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้

 
และยังได้คอมเมนต์ภาพข้อความแชทที่ผู้เสียชีวิตพูดคุยกับหัวหน้างาน ไว้ด้วย

30 ต.ค. 2567
https://www.tnews.co.th/social/social-news/616800

15
19 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊กยินดี ในโอกาสที่ "เกาะช้าง" จ.ตราด ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่พักผ่อนเขตร้อนชื้นที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก โดยนิตยสาร Travel + Leisure ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ของโลก

โดย นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เปิดเผยว่า นับเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับการท่องเที่ยวของไทย

นายเนรมิต กล่าวว่า สำหรับเกาะช้าง "อัญมณีแห่งอ่าวไทย" ได้รับการยกย่องให้อยู่ในอันดับสูงสุดร่วมกับจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างพาลาวัน (ฟิลิปปินส์) และบาหลี (อินโดนีเซีย) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกาะช้างและเกาะบริวาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย ประกอบด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งป่าดิบชื้น น้ำตก ชายหาด และแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับความงามของธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดินป่า ดำน้ำดูปะการัง และล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน

ในการจัดอันดับครั้งนี้ มัลดีฟส์ครองอันดับ 1 ตามมาด้วยเกาะช้างของไทยในอันดับ 2 และหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกาในอันดับ 3 การติดอันดับของเกาะช้างครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำถึงความสวยงามและเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวไทยในสายตาชาวโลก

ผลการจัดอันดับนี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะช้างและประเทศไทยโดยรวม โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสความงดงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเกาะแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวควรคำนึงถึงความยั่งยืนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเป็นสำคัญ

ส่วนการจัดอันดับโดย Travel + Leisure ครอบคลุมจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั่วโลก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในแถบแคริบเบียน แปซิฟิกใต้ เอเชีย และยุโรป สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวเขตร้อนชื้นทั่วโลก

นายเนรมิต  ทิ้งท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อุทยานแห่งชาติ​หมู่​เกาะช้าง​ กรมอุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า ​และ​พันธุ์พืช​ ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารจัดการอุทย​านแห่งชาติ​สู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (GSTC)​ ต่อไป

สำหรับรายชื่อ 30 อันดับจุดหมายปลายทางเขตร้อนชื้นที่ได้รับการจัดอันดับมีดังนี้

มัลดีฟส์ - มัลดีฟส์
เกาะช้าง - ไทย
หมู่เกาะฮาวาย - สหรัฐอเมริกา
ฟิจิ - ฟิจิ
พาลาวัน - ฟิลิปปินส์
หมู่เกาะกัลป์ฟ์ออฟจีน - สหราชอาณาจักร
คอสตาริกา - คอสตาริกา
โบราโบร่า - เฟรนช์โปลินีเซีย
เม็กซิโก - เม็กซิโก
บาหลี - อินโดนีเซีย
จามีกา - จามีกา
สาธารณรัฐโดมินิกัน - สาธารณรัฐโดมินิกัน
หมู่เกาะ Tuamotu - เฟรนช์โปลินีเซีย
จามากา - จามากา
หมู่เกาะวิคตอเรีย - สหราชอาณาจักร
เปอร์โตริโก - สหรัฐอเมริกา
เกรเนดา - เกรเนดา
โดมินิกา - โดมินิกา
บาฮามาส - บาฮามาส
เซนต์บาร์ตส์ - แอนติกาและบาร์บูดา
ปาลาวา - ปาลาวา
ลอสกาบอส - เม็กซิโก
แคนคูน - เม็กซิโก
วิลิซิยานาเกา - ฟิจิ
หมู่เกาะเลามู - เคนยา
เซเชลส์ - เซเชลส์
เกาะ Zakynthos - กรีซ
เฟอร์นันโด เด โนโรนยา - บราซิล
เกาะฮาม - ออสเตรเลีย
อิบิซา - สเปน


ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

19 ต.ค. 67
PPTVHD36

หน้า: [1] 2 3 ... 670