แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: [1] 2 3 ... 605
1
โรงพยาบาลสตึก บุรีรัมย์ ขอเวลาตรวจสอบปมอดีต ขรก.ร้องถอนฟันติดเชื้อเกิดตุ่มหนองโผล่บนหน้า ยืนยันหากเกิดจากการรักษาพร้อมเยียวยา

จากกรณีที่นายสุรเดช พันธุ์มุง อายุ 64 ปี ข้าราชการเกษียณชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ได้โพสต์คลิประบายความรู้สึก พร้อมเรียกร้องให้ทาง รพ. ออกมาชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบ ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล หลังจากไปถอนฟันที่ รพ.สตึก แต่เกิดผลข้างเคียงติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดหนองที่เหงือก และมีตุ่มหนองขนาดใหญ่โผล่บนใบหน้าต้องผ่าตัดรักษา เจ็บปวดทรมาน นอน รพ.อีกเกือบเดือน มีผลกระทบทั้งสภาพจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้าที่ต้องเกิดแผลเป็น และยังไม่รู้ว่าจะมีภาวะอื่นแทรกซ้อนอีกหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 9 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง รพ.สตึก ตามที่ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าได้ทำการถอนฟันที่ รพ.แห่งนี้แล้วเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด ก่อนจะติดเชื้อมีหนองที่เหงือก และตุ่มหนองขนาดใหญ่โผล่ขึ้นที่แก้มจนต้องผ่าตัดรักษาอีกเกือบเดือน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ รพ. แจ้งว่า ผอ.เดินทางไปประชุมที่ต่างจังหวัด แต่ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นให้ท่าน ผอ.ทราบแล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวทาง รพ.ขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน ว่าผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการรับบริการที่ รพ.หรือไม่อย่างไร จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลในตอนนี้ได้

อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ป่วย ได้รับผลกระทบจากการรักษาของทาง รพ.จริง ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับการเยียวยามตามมาตรา 41 ตามสิทธิ

ไทยรัฐ
9 มิ.ย. 2566

2
จนขั้นสุด หนุ่มป่วยหนักไร้เงินหาหมอ ก่อนสิ้นใจข้างบ้าน แม่กลับมาช็อก ร่ำไห้มีเงินแค่ 7 บาท จะเอาจากไหนทำศพ ถูกตัดไฟมา 10 ปี ตร.ช่วยออกเงินทำศพให้

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 9 มิ.ย.66 พ.ต.ท.อภิรัฐ ทองฉิม รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองจ.นครศรีธรรมราช ได้รับแจ้งเหตุคนเสียชีวิตที่บ้านพัก พื้นที่หมู่ 1 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จึงรุดไปตรวจอบพร้อมแพทย์และเจ้าหน้าที่มูลนิธิใต้เต็กตึ๊ง

ที่เกิดเหตุ พบผู้เสียชีวิตทราบชื่อคือ นายประเสริฐ คงตุ้ง อายุ 45 ปี อยู่บ้านหลังดังกล่าว นอนเสียชีวิตอยู่ข้างบ่อน้ำใต้ต้นมังคุดข้างบ้าน สภาพศีรษะมีบาดแผลฉกรรจ์ โดยมี นางสาคร คงตุ้ง อายุ 65 ปี ผู้เป็นแม่ นั่งร่ำให้เสียใจอย่างน่าเวทนา

นางสาคร ให้การว่า ลูกชายป่วยเรื้อรังจากวัณโรค ได้ออกมาจากบ้าน เข้าใจว่ามาอาบน้ำที่บ่อน้ำ แล้วหายเงียบไปนาน ซึ่งอาจเกิดลื่นล้มศีรษะฟาดกับขอบบ่อที่เป็นคอนกรีต เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งเมื่อตนกลับมาจากบ้านญาติจึงได้พบศพลูกชายดังกล่าว

นางสาคร กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้นว่า อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้กับลูกชายเพียง 2 คน ขณะที่ลูกชายอยู่ในสภาพป่วยหนัก ไม่ยอมไปหาหมอรักษา เพราะเกรงว่าจะต้องนอน รพ.กลัวแม่จะลำบาก จนร่างกายป่วยทรุดหนักขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ร่างกายอ่อนแรงจนกระทั่งเกิดเหตุขึ้น ก่อนมาเจอลูกเสียชีวิตมีเงินอยู่เพียง 37 บาท และได้ไปซื้อของกินให้ลูก 30 บาท เหลือเงินเพียง 7 บาท จึงไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจัดงานศพลูก

ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าบ้านของสองแม่ลูก อยู่ในสภาพแร้นแค้นเป็นอย่างมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากถูกตัดกระแสไฟ ยกมิเตอร์จากเสาไฟฟ้าออกไปนานนับ 10 ปี เพราะไม่มีเงินชำระค่าไฟ ในครัวทำอาหารใช้เตาไม้ฟืนที่หาได้จากบริเวณใกล้บ้านมาเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ให้การช่วยเหลือในเรื่องอาหารสดในบางครั้ง สร้างความหดหู่แก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งงานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม และพนักงานสอบสวน ได้ร่วมกันควักกระเป๋าสมทบเงินสดให้ นางสาคร จำนวนหนึ่งเพื่อไปจัดการศพลูกชาย ขณะที่นางสาคร บอกว่า ลูกสั่งไว้ว่าถ้าตายไปให้เอาศพไปเผาเลยไม่ต้องจัดงาน เนื่องจากไม่มีเงิน ซึ่งเจ้าหน้าได้ให้กำลังและขอให้ทำบุญวาระสุดท้ายตามประเพณีสัก 1-2 วันก็ยังดี ด้านเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ช่วยประสานงานขอหีบศพมาช่วยสงเคราะห์บรรจุศพ นางสาคร ด้วย

ข่าวสด
9 มิ.ย.66

3
วิธีเทรนด์หมอกำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยการให้หมอฝึกใช้เครื่องมือแพทย์ ผ่านเทคโนโลยี 3D VR

เครื่องมือแพทย์ต่างๆนานา ที่เราเคยเห็นตอนที่เราไปหาหมอ แค่ดูก็รู้แล้ว ว่าคงจะใช้งานได้ยากมากมายขนาดไหน กว่าหมอแต่ละคนจะใช้เครื่องได้ถนัดมือ ก็คงต้องใช้เวลาในการฝึกกันพอสมควร ซึ่งทางบริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด ก็ได้เห็นปัญหาตรงนี้ จึงร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการฝึกแพทย์ ให้ได้ทดลองใช้เครื่องมือ ก่อนจะลงสนามปฏิบัติการจริง ด้วยเทคโนโลยี 3D Virtual Reality หรือระบบเสมือนจริง

ระบบนี้จะช่วยให้หมอ ได้ลองใช้เครื่องมือแพทย์ต่างๆ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความผิดพลาด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ลดอันตราย ลดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือจริงๆ แต่หมอก็ยังได้ทดลองใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อฝึกให้คล่องก่อนจะออกปฏิบัติงานจริง

เห็นแบบนี้ก็สบายใจได้ว่า เทคโนโลยีจะทำให้บุคคลกรทางการแพทย์ ได้พัฒนาความชำนาญ และทำให้วงการแพทย์ในบ้านเรา เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องนะครับ

อีจัน 2
9มิย2566

4
ครูสาว พ้อ ถูกบีบให้ออกจากราชการ เหตุไปร้องเพลงกลางคืน ถามทำงานเสริมผิดตรงไหน?

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ในโลกออนไลน์อย่างมาก หลังจากที่ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง เป็นครู ในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โพสต์คลิป ที่ตนลาออกจากราชการครู พร้อมระบุข้อความว่า “ครูรับงานเสริมร้องเพลงผิดตรงไหน เป็นครูห้ามร้องเพลงงานนอก ห้ามร้องเพลงกลางคืน อย่างงั้นหรอ โดนบีบจนปวดสมองมาก ตอนนี้เจอลาออกจากการเป็นครูแล้วอย่างเป็นทางการแล้ว”

ในคลิปนั้น เป็นภาพหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นครู พร้อมกับระบุในคลิปว่า “โดนบีบให้ลาออกจากครู เพราะผิดจรรยาบรรณ คือ รับงานร้องเพลงกลางคืน #อาชีพนึงที่โดนบูลลี่มาตลอดในชีวิตฉัน”

หลังจากโพสต์คลิปไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “อีกคนร้องเพลงจนได้เป็นผู้กอง” “เป็นกำลังใจให้นะคะ ครูเป็นอาชีพที่กดดันมากๆค่ะ” “ส่วนตัวคิดว่ามันไม่เกี่ยวเลยค่ะ อาชีพครูเราก็เต็มที่แต่เวลานอกราชการคือรายได้เสริม ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ” เป็นต้น

10มิย2566
มติชน

5
ผุดอีกราย! แฉวงการแพทย์ คลั่งระบบอาวุโส แถมสภาพบ้านพักแทบอยู่ไม่ได้ ลั่น! 'วงการที่ขอให้มองคนไข้เป็นมนุษย์ แต่ไม่เห็นคนทำงานเป็นมนุษย์'

กำลังเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียลอย่างมาก สำหรับประเด็นเดือดที่ 'อินเทิร์น' หรือ 'แพทย์ใช้ทุน' ลาออกจากระบบกันจำนวนมาก ล่าสุด ก็มีผู้ใช้บัญชี Facebook รายหนึ่ง ออกมาโพสต์แชร์ประสบการณ์ตอนเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ ที่ต้องไปออกชุมชนตอนปี 6

โดยเธอเล่าว่า ระบบอาวุโสของวงการนี้ เริ่มเห็นชัดเจนในช่วงขึ้นคลินิก (ปี4) โดยจะต้องทำตัวเองให้ลีบเล็กต่ำกว่าเสมอ ความเป็นผู้น้อย 'ต้อง' อ่อนน้อมถ่อมตนจนเกินพอดี ทั้งหมดนี้สรุปได้ด้วยคำว่า 'อยู่เป็น' ซึ่งเธอนั้นอึดอัดมาก จึงตัดสินใจจ่ายเงินใช้ทุน ด้วยกำลังทรัพย์จากทางครอบครัว

ทั้งนี้เธอเผยเหตุผลที่ตัดสินใจไม่ไปใช้ทุนนั้น มาจากการไปออกชุมชนตอนปี 6 โดยเธอได้ เจอกับหัวหน้าแผนกที่ 'คลั่ง' ระบบอาวุโสมาก เช่น "ก็เพราะฉันพูดแบบนี้ ต้องทำแบบนี้" หรือ "ก็เขาทำแบบนี้กันมาตลอด" รวมไปถึงการมาหาถึงที่บ้านพักเพื่อ 'สั่งสอน' นอกเวลาจนดึก หรือการไม่ให้ลงจากรถ ให้นั่งเบียดกันทั้งกลุ่มเพื่อ ฟัง 'อบรม' เป็นชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้นยังมี การห้ามขับรถ ทั้งที่อายุ 23-24 แล้ว และโรงพยาบาลอยู่ห่างจากชุมชนมาก ต้องขอติดท้ายรถกระบะเพื่อเข้าเมืองไปหาอะไรกิน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของ สภาพบ้านพักในโรงพยาบาล ซึ่งสภาพบ้านที่เธอได้นั้นค่อนข้างดีแล้ว หากเทียบกับเพื่อนที่ไปที่อื่น

โดยเธอเล่ารายละเอียดบ้านว่า เป็นบ้านสองชั้น มีฟูก 3.5 ฟุต วางพื้น 3 อัน อันนึงขึ้นราดำทั้งแผ่นและตรงกลางแบนเป็นแอ่ง ต้องใช้ฟูก 2 อัน แบ่งกันนอน 5 คน ขยับไม่ได้นอนขดติดกันเป็นปลาทูในเข่ง ส่วนห้องที่มีฐานเตียง กำแพงมีรูกว้างนกบินเข้าออกสบาย และเชื้อราขึ้นรอบรู จึงตัดสินใจใช้ห้องที่ไม่มีฐานเตียงและเอาฟูกวางพื้นแทน

การจะขอฟูกใหม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีผ้าปูให้ แถมเพื่อนที่ย้ายไปนอนคืนแรกๆ ก็สีฟูกตกใส่ ขาเป็นสีน้ำเงินไปหลายวัน สุดท้ายต้องเอาผ้าห่มบางๆที่เหลือมาวางปูแทน

โดยนี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เธอแชร์ประสบการณ์ และเธอยังวิจารณ์กระแสในโลกโซเชียลที่มีหมอบางคนออกมาพูดในแนวว่า 'ตัวเองยังผ่านมาได้ เด็กสมัยนี้ไม่อดทน รวมถึงคนไข้ที่ว่าหมอที่ไม่ทนในระบบแบบนี้ว่าไม่มีจรรยาบรรณ ไม่เสียสละ'

เธอเสริมว่า "วันนี้กระแสสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณต้องปรับตัว หรือไม่ก็รอวันหายไปตามกระแสเวลา คุณคิดว่าต้องอดทนต้องเสียสละ เราถามว่าทำไมต้องเสียสละแบบนี้ หมอไม่ได้พักเต็มที่ ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ผลเสียก็ตกกับคนไข้ กับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง"

"แทนที่คุณจะช่วยผลักดันให้วงการบ้านเราดีขึ้น คุณกับหวังให้มันอยู่ที่เดิม ด้วยเหตุผลว่า เพราะมันก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว"

ก่อนจะทิ้งประโยคสุดเดือดว่า "วงการที่ขอให้มองคนไข้เป็นมนุษย์ แต่ไม่เห็นคนทำงานเป็นมนุษย์" ด้านชาวเน็ตเข้ามากดถูกใจ กดแชร์ และคอมเมนต์แสดงความเห็นกันสนั่น วิพากษ์วิจารณ์วงการแพทย์กันยับ

ความคิดเห็นส่วนหนึ่งของชาวเน็ต :

"สภาพห้อง สภาพแวดล้อมในการทำงานคือไม่ได้เลย"
"เพิ่งเคยเห็นสภาพความเป็นอยู่ โหดมากๆ ความรู้ใหม่เลย อ่านจนจบตกใจมาก"
"วงการครูก็เป็นค่ะ มันเป็นวัฒนธรรมองค์กรของประเทศไทยจริงๆ"
"สงสารคนที่เข้าไปแล้วแต่ไม่มีทางเลือกจริงๆ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ดูแล้วคงยากจริงๆบ้านเรา"

ข่าวสด
9มิย2566

6
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ การจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการของหน่วยบริการในสังกัด สธ. ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีผู้ตรวจราชการ สธ. รองอธิบดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา (Special Medical Center : SMC) ทุกแห่ง จำนวน 300 คน ร่วมประชุม

นพ.ณรงค์กล่าวว่า สธ.มีนโยบายสนับสนุนให้หน่วยบริการในสังกัดที่มีความพร้อม จัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ (Special Medical Clinic: SMC) ตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะในสาขาที่มีประชาชนมีความต้องการสูง เช่น ทันตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยการรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางในช่วงเวลาราชการ ซึ่งหน่วยบริการได้ปรับระบบงานบริการให้ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดรับกับความต้องการของผู้รับบริการมากขึ้น มีการขยายประเภทการให้บริการและจำนวนหน่วยบริการให้ครอบคลุม รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีหน่วยบริการในสังกัด สธ.เปิดให้บริการ SMC จำนวน 133 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานปลัด สธ. 114 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 13 แห่ง สังกัดกรมสุขภาพจิต 5 แห่ง และสังกัดกรมควบคุมโรค 1 แห่ง

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ได้มีการปรับเปลี่ยนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ อัตราค่าบริการ และประกาศ อัตราค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2566 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2566 ซึ่งสอดคล้องกับคู่มือแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมแพทย์ พ.ศ.2563 ของแพทยสภา และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงต้องสร้างความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำหลักเกณฑ์ที่ สธ.กำหนดไปใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้อง และจัดบริการ SMC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566 โดยมีการอภิปราย ให้ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องที่สำคัญ อาทิ SMC ระบบสุขภาพในอนาคตไทย ก้าวไกลสู่สากล, การบริหารจัดการระบบการเงิน การคลัง คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการฯ, กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ SMC ทางเลือกใหม่, การบริการที่เป็นเลิศ เข้าถึงหัวใจของการให้บริการ เป็นต้น” นพ.ณรงค์กล่าว

มติชน
8 มิถุนายน 2566

7
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนโลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวจากสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นพยาบาลสาว ได้ออกมาโพสต์เหตุการณ์ที่ทำให้เธอถึงกับต้องตัดพ้อกับสิ่งที่เจอนั่นก็คือถูกคนไข้คุกคามถึงห้องตรวจ พร้อมกับเดินมาชี้หน้าด่า แถมยังไม่มีใครปกป้องช่วยเหลือได้เลย โดยพยาบาลสาวรายนี้ระบุข้อความว่า

“นี่หรือ คือสิ่งที่หน่วยงานที่เรียกว่าส่วนราชการดูแลเรา นี่หรือคือ พยาบาลของพระราชา หมดกัน พอกันทีสำหรับวิชาชีพนี้ ชุดขาวที่ไม่มีแม้คนมาปกป้อง ต่อให้เราเป็นใคร เราควรมีสิ่งที่เรียกว่าศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ใครก็ได้มาย่ำยี กี่ครั้งที่โดนเหยียบย่ำโดนดูถูก เราพยายามอดทน แต่ครั้งนี้คือไม่ไหวแล้วจริงๆ

ทั้งๆ ที่เราพยายามทำงานทุกอย่าง แต่คนที่เรียกว่าคนไข้ กลับมาชี้หน้าด่า และคุกคามแบบนี้ ไม่แปลกใจที่พยาบาลลาออกกันจำนวนมาก #ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ #สภาพยาบาลมีไว้เพื่อ? ไม่เป็นราชการ จะมีชีวิตต่อได้หรือไม่ สุดท้ายหัวหน้าบอกว่าให้อดทน”..

เดลินิวส์
8 มิ.ย.2566

8
‘หมอโอชิษฐ์’ ชี้ แพทย์–พยาบาล แห่ลาออกเหตุต้องทำงานต่อเนื่อง 32 ชม. ด้าน ก.พ. อ้างมีคนมากแล้ว ไม่รับเพิ่ม ทั้งที่ไม่ดูพันธกิจ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ว่าที่ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ ลาออกจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือชั่วโมงการทำงานของแพทย์แต่ละคน ทั้งๆที่แพทย์หนึ่งคนต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจรวมทั้งสมอง และต้องพร้อมมากที่สุดในการดูแลผู้ป่วย เพราะต้องตัดสินใจในการรักษาคนไข้ แต่ในความเป็นจริงแพทย์และพยาบาลหนึ่งคนต้องทำงานโหลดมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยได้ แม้แพทย์แต่ละคนมีความรู้เท่าเทียมกัน แต่การต้องทำงานต่างกันจึงอาจจะส่งผลต่อการรักษาคนไข้ได้

นพ.โอชิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์นที่ทำงานตามโรงพยาบาล ทุกคนต้องการการพักผ่อนที่พอเพียง เพราะปัจจุบันแพทย์หนึ่งคนต้องทำงาน 32 ชั่วโมงถือว่าหนักมาก จึงอยากให้มีการจัดสรรเวลาการทำงานอย่างมีระบบ หรือออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานตามเวลาและมีเวลาพักผ่อน ปกติแพทย์หนึ่งคนควรทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากมากกว่านี้ก็จะหนักเกินไป ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมที่จะหารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและหามาตรการในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

“ปัญหาการทำงานหนักของแพทย์ ปัจจัยสำคัญมาจากหลักคิดของของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือก.พ. ที่ไม่ยอมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีการนำจำนวนข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น ทั้งที่พันธกิจหรือการทำงานแตกต่างกัน แต่ ก.พ.ไม่มองที่พันธกิจ จึงไม่อนุมัติให้เพิ่มบุคลากร จึงอยากให้ก.พ.เปิดโอกาสให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถรับบุคลากรทางการแพทย์ได้เองเหมือนหน่วยงานอื่น ก็จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้ ปัญหาแพทย์ทำงานหนักหรือสมองไหลจะลดลงอย่างแน่นอน” นพ.โอชิษฐ์ กล่าว

8 มิถุนายน 2566
มติชน

9
สธ.จ่อหารือแพทยสภาแก้ปม ‘หมอลาออก’ ยกเลิกหลักสูตรอินเทิร์น เรียน 7 ปี

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นพ.ณรงค์ อภิกุลวานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับ 4 ชมรมแพทย์และสาธารณสุขในสังกัด สธ. ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย หลังมีกระแสข่าวแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อิน เทิร์น) แห่ลาออก เนื่องจากทนสภาพการทำงานหนัก แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำไม่ไหวว่า

การประชุมวันนี้มีการหารือ ประเด็นที่ 1 การยกระดับหน่วยบริการตั้งแต่การจัดระบบปฐมภูมิ ระบบส่งต่อ การยกระดับบทบาทในเชิงระบบ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนแล้ว

ประเด็นที่ 2 การดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรในเรื่องภาระงาน ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันว่าจะให้โรงพยาบาล (รพ.) นำเงินบำรุงของ รพ.มาปรับปรุงสวัสดิการบุคลากร เช่น บ้านพัก สิ่งแวดล้อมภายใน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการแล้วกว่า 43 แห่ง รวม 1,500 ล้านบาท ส่วนค่าตอบแทนก็มีการปรับปรุงแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับค่าตอบแทนในแต่ละหน่วยบริการ คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

“ภาระงานของ สธ.ในแต่ละระดับหน่วยบริการมีมากขึ้นด้วยหลายปัจจัย เช่น วิถีชีวิตด้านสุขภาพและความคาดหวังของประชาชน ดังนั้น คนก็จะเข้าใช้บริการใน รพ.มากขึ้น รวมถึงเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังท้องถิ่น การบริการบางอย่างก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลับไปใช้บริการที่ รพ.ระดับจังหวัด ทำให้ภาระงานส่วนนี้กลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น และอีกส่วนที่ต้องหารือคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน ดังนั้น หลังจากนี้ต้องหารือกันเรื่องความสมดุลระหว่างสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้กับบุคลากร เพื่อไม่ให้กระทบต่อขวัญกำลังใจ และสุดท้ายเป็นเรื่องของวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ในแต่ละเจเนอเรชั่นที่มีความแตกต่าง ขณะนี้ถ้าไปดูในสื่อ ก็จะเห็นเรื่องการลาออก การหมดไฟ ซึ่งรุ่นนี้จะเป็นรุ่นน้อง หรือรุ่นลูก ซึ่งจะมีความแตกต่าง ดังนั้น การทำความเข้าใจกับลูกๆ เหล่านี้จึงมีความสำคัญ จึงมีการหารือกันว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชมรมฯต่างๆ จะต้องสื่อสารและดูแลน้องๆ อย่างใกล้ชิด และปรับปรุงระบบให้มีการสนับสนุนการทำงาน นำเอาปัญหามาพูดคุยกัน” นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 การจัดการบุคลากร ที่ สธ.ไม่สามารถดูแลได้เบ็ดเสร็จ แต่อยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงมีการหารือกันว่า หาก สธ.สามารถดำเนินการเบ็ดเสร็จในภาพรวมผ่าน คณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุขได้ ก็อาจจะจัดการเรื่องบุคลากรได้เอง โดยหลังจากนี้ จะมีการศึกษาแนวคิดดังกล่าวอย่างในวิชาชีพครู ตำรวจ และประเด็นที่ 4 แพทย์ใช้ทุน โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรืออิน เทิร์น (Intern) ก็มีการหารือกันว่า ในการผลิตแพทย์จะใช้สูตร 6+1 คือ เรียน 6 ปี แล้วเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีตามข้อกำหนดของแพทยสภา ในระหว่างการเพิ่มพูนทักษะก็จะมาประจำที่ รพ.ของ สธ. 117 แห่ง จึงมีประเด็นภาระงานในส่วนนี้ขึ้น ที่ประชุมจึงหารือกันว่า จะประสานไปยังแพทยสภาว่าทาง สธ.จะรับบุคลากรที่พร้อมปฏิบัติงานเลย โดยอาจเอาการเพิ่มพูนทักษะกลับไปสู่การเรียน ให้เป็นการเรียนที่ 7 ปีได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีการหารือจริงจัง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำ ถึงแนวคิดผลิตแพทย์ 7 ปี หมายถึงจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่จะเป็นการเรียน 7 ปีใช่หรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากมุมมองที่เป็นปัญหาในขณะนี้ ดังนั้น จึงต้องนำไปสู่การหารืออีกครั้ง

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้คุยกันถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาก เกิดจากบัตรทอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า จริงๆ การมีนโยบายบัตรทองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รพ.มากขึ้น ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ใช่ความผิด ซึ่งจริงๆ จะเกี่ยวข้องกับการจัดสิทธิประโยชน์ของกองทุนที่ไม่สมดุลกับบุคลากร หากดูจากสถิติก็พบว่าอัตราการเข้าถึงบริการของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระยะเวลารอคอยแพทย์ในหลายประเทศ ก็จะเห็นว่าไทยมีระยะเวลารอคอยที่สั้นกว่ามากในหลายประเทศ

“วันนี้เราได้ส่งสัญญาณไปแล้วว่าสิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้น อาจต้องหารือว่าจำนวนบุคลากรที่มีสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้น” นพ.ณรงค์กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จำเป็นต้องส่งสัญญาณถึงประชาชนด้วยหรือไม่ ในเรื่องของการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะบัตรทอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขอพูดในฐานะของแพทย์ที่ดูแลประชาชนที่ป่วยว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่ป่วย สุขภาพดี ถัดมา ดีรองลงมาคือประชาชนมีความรอบรู้ในการดูแลตัวเองหากเจ็บป่วยเพื่อการเลือกใช้บริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปที่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แล้วไปใช้บริการคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ การใช้เทเลเมดิซีน ก็จะลดการสู่ รพ.และความแออัดได้

“หากการบริการสอดคล้องกับทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ก็จะต้องไปเพิ่มสมรรถนะของหน่วยบริการนั้นๆ และสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพให้ประชาชน เพื่อเลือกเข้าใช้บริการอย่างเหมาะสม เชื่อว่าปัญหาก็จะลดลงไป” นพ.ณรงค์กล่าว และว่า ต้องหารือกัน เพราะหากเพิ่มสิทธิประโยชน์จนเกินสมรรถนะบุคลากร ก็จะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนพึงมี ต้องมองให้รอบคอบ

เมื่อถามว่าสิทธิประโยชน์ในแต่ละกองทุนที่ต้องหารือกัน นพ.ณรงค์กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

“ยกตัวอย่างเรื่อง การรอฟอกไตของผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเส้นเลือด ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากพอสมควร แต่หากมีการขยายสิทธิประโยชน์เข้าไปเยอะ ก็ทำให้ผู้ป่วยที่รอผ่าตัดเส้นเลือดเข้าไม่ถึงบริการ แต่ถ้าเราหารือกันในการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือใช้หลักการบริการทรัพยากรร่วมกันในระดับจังหวัด (One Provine One Hospital) ประชาชนก็จะเข้าถึงบริการได้ แต่จะต้องไปดูในรายละเอียดของแต่ละสิทธิประโยชน์” นพ.ณรงค์กล่าว

8 มิถุนายน 2566
มติชน



10
ฮิปโปเครติส (460-370 ก่อน ค.ศ.) เป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณ เกิดที่เกาะโคส ประเทศกรีซ ในครอบครัวที่มีพ่อและปู่เป็นแพทย์ ในสมัยโบราณที่มักมีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ตั้งสมมติฐานการป่วยว่าเป็นการถูกลงโทษของพระเจ้า และรักษาด้วยพิธีกรรม ฮิปโปเครติสได้ปฏิวัติความเชื่อและวิธีการรักษาเดิมๆ เชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจาก สาเหตุทางธรรมชาติ, ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม, อาหาร และรูปแบบชีวิตประจำวัน

ฮิปโปเครติส เป็นผู้แยกการแพทย์ออกจากเรื่องศาสนา จนได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการแพทย์-Father of Medicine”

นอกจากนี้ ฮิปโปเครติส ได้จัดหมวดหมู่การเจ็บป่วยออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ เฉียบพลัน, เรื้อรัง, โรคประจำถิ่น และการแพร่ระบาด รวมถึงการใช้คำศัพท์ต่างๆ เช่น กำเริบ, เป็นซ้ำ, หายแล้ว, วิกฤติ, เป็นๆ หายๆ, อาการสูงสุด, ระยะฟักตัว ซึ่งเรื่องเช่นนี้เมื่อ 2,000 ปีก่อนถือเป็นเรื่องล้ำสมัยมาก เขายังเป็นแพทย์คนแรกที่ทำระเบียนบันทึกอาการและประวัติของคนไข้ วางกฎเกณฑ์วิธีการปฏิบัติของแพทย์ต่อคนไข้ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ถึงปัจจุบัน ฯลฯ

ฮิปโปเครติสก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ที่เกาะคอส (Kos) ประเทศกรีซ นักเรียนใหม่ที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนของเขาจะต้องกล่าวคำปฏิญาณ ที่เรียกว่า “คำปฏิญาณฮิปโปเครติส” (Hippocrates oath) ต่อหน้าผู้เป็นครู และเพื่อนร่วมวิชาชีพของเขา คำปฏิญาณนี้เป็นการกำหนดมาตรฐานของมารยาทและการปฏิบัติวิชาชีพแพทย์

คำปฏิญาณของฮิปโปเครติส เดิมเป็นภาษากรีก หลังมีการแปลอื่นๆ รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งที่ใช้อ้างอิงนี้ เป็นสำนวนแปลของ ผศ.ภญ.ดร.รวงทิพย์ ตันติปิฎก จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ (Hippocrates of Cos. “The Oath”. Loeb Classical Library.147:298–299.doi:10.4159/DLCL.hippocrates_cos-oath.1923. [24 June 2018]) ไว้ดังนี้ (สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“ข้าขอสาบานต่อแพทย์อะพอลโล เอสคิวเลเฟียส ไฮจีเอีย แพนาซีอา และเหล่าทวยเทพ ได้โปรดเป็นพยานว่า ข้าจะปฏิบัติตามคำสาบานและคำมั่นนี้อย่างเต็มความสามารถและสติปัญญาของข้า

ข้าจะเทิดทูนอาจารย์ดังเช่นบิดามารดา และมีท่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตข้า หากท่านต้องการเงินทอง ข้าพร้อมจะแบ่งส่วนที่ข้ามี และถือว่าคนในครอบครัวของท่านเป็นดุจพี่น้องร่วมสายโลหิต หากเขาต้องการ ข้าจะสอนสั่งศิลปวิทยาการ โดยไม่คิดค่าจ้างหรือมีข้อผูกมัด ข้าจะพร่ำสอนศีลธรรม คำสั่งสอน และความรู้อื่นที่ข้ามีทั้งหมดให้แก่บุตรของข้า บุตรของอาจารย์และศิษย์ผู้ให้คำมั่นและสาบานตนแล้วเท่านั้น ไม่สอนให้ผู้อื่นนอกเหนือจากนี้

ข้าจะบำบัดรักษาผู้ป่วยเต็มกำลังความสามารถและสติปัญญาของข้า แต่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรือกระทำในสิ่งที่ผิดโดยเด็ดขาด

ข้าจะไม่ให้ยาพิษแก่ผู้ใด แม้จะถูกร้องขอ ทั้งจะไม่ให้คำแนะนำเพื่อการนั้น ข้าจะไม่ทำแท้งให้แก่หญิงผู้ใดเช่นเดียวกัน ข้าจะยังความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตและศิลปวิทยาการของข้า ข้าจะไม่ใช้มีดผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกจากตัวผู้ป่วย แต่จะหลีกทางให้กับผู้ชำนาญในการนี้

บ้านหลังใดก็ตามที่ข้าไปเยี่ยมเยือน ข้าจะไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ ข้าจะละเว้นจากการกระทำผิดโดยตั้งใจและการกระทำที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะไม่ลวนลามร่างกายของบุรษหรือสตรี ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือเป็นไท สิ่งใดที่ข้าได้พบเห็นหรือได้ยินระหว่างการประกอบวิชาชีพ หรือนอกการประกอบวิชาชีพ จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และไม่ควรแพร่งพรายออกไป ข้าจะเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด

หากข้าปฏิบัติตามคำสัตย์สาบานนี้และไม่ละเมิดฝ่าฝืน ขอให้ข้าได้รับเกียรติยศชื่อเสียงในชีวิตและวิชาชีพ จากผู้คนทั้งหลายตราบกาลนาน หากข้าตระบัดสัตย์และผิดคำสาบาน ขอให้ชะตากรรมของข้าพลิกผันเป็นตรงข้าม เทอญ”

เนื้อหาคำปฏิญาณข้างต้น เป็นต้นทางของจริยธรรมการทางแพทย์ เป็นจรรยาบรรณแพทย์ที่มีเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นรากฐานของจรรยาบรรณแพทย์สากลที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของแพทย์ในทุกประเทศ แพทยสมาคมโลกได้ประมวลหลักคำสอนสำคัญมากำหนดเป็นคำประกาศกรุงเจนีวา เมื่อ พ.ศ. 2490 และก่อให้เกิดแนวคิดในการมีกฎหมายควบคุมวิชาชีพแพทย์ ตลอดจนมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์อื่น เช่น เภสัชกร

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม
4 มิย 2566

11
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังคนในระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นทั้งวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล นักรังสีการแพทย์ ฯลฯ

โดยในส่วนของแพทย์ อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข  24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็น สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1: 2,000 คน ถือเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก

ส่วนกำลังการผลิตแพทย์ภาครัฐและเอกชนรวมกันได้ปีละ 3,300 คน จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่การจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) และมีหน่วยงานรับจัดสรรหลายสังกัด

ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800 - 1,900 คน โดยปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน

ที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%

สำหรับเรื่องภาระงานมากนั้น จากการสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ มี 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง

ได้มีการวางแผนแก้ไขเป็นระยะ 3, 6, 9, 12 เดือน สามารถลดชั่วโมงการทำงานได้แล้ว 20 แห่ง ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน

ซึ่งจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะก่อนไปศึกษาต่อ ,แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน กลุ่มนี้จะมากสุดเนื่องจากสามารถไปศึกษาต่อได้แล้ว ,แพทย์ใช้ปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน

และแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน รวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จึงมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบพบว่า แพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90% เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด ได้แก่

การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ
สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย


Thansettakij
7มิย2566

12
กรมควบคุมโรค เผยปี 65 ไทยจัดงานวิ่ง 832 งาน พบหมดสติ 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 11 ราย เผย 5 สาเหตุ แนะ 10 ข้อเตรียมพร้อม

วันที่ 7 มิ.ย. 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันพุธแรกในเดือนมิ.ย.ของทุกปีเป็นวันวิ่งโลก (Global Running Day) ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 7 มิ.ย. ปัจจุบันการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในไทย จากการเฝ้าระวังของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กรณีภาวะวิกฤตหัวใจและหลอดเลือด ฮีทสโตรก หรือการเสียชีวิตขณะวิ่งในงานวิ่ง พบว่าปี 2565 จัดงานวิ่ง 832 งาน พบเหตุการณ์หมดสติในงานวิ่ง 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 11 ราย

ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 50-59 ปี โดย 23 รายที่หมดสติรวมถึงผู้เสียชีวิตเป็นนักวิ่ง นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ระยะทางขณะวิ่งที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือ ระยะทางสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย (Quarter 4) และส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่ขาดการรักษาทานยาไม่ต่อเนื่อง

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้นักวิ่งหมดสติหรือเสียชีวิต ได้แก่ 1.การเร่งทำลายสถิติตนเอง 2.ดื่มน้ำไม่เพียงพอ 3.รับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ 4.การฝึกฝนที่ไม่เพียงพอต่อระยะทางที่ลงแข่งขัน 5.ความถี่ของการลงแข่งขันที่บ่อยและหักโหมเกินไป ดังนั้นนักวิ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดรูปแบบการวิ่ง ให้เหมาะสมกับตนเอง

ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่การวิ่งมาราธอนที่ขาดการเตรียมตัวหรือหักโหมเกินไปในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดภาวะวิกฤตได้

ข้อแนะนำก่อนการลงแข่งขันสำหรับนักวิ่ง ดังนี้
1.เตรียมพร้อม ฝึกฝนร่างกายให้เพียงพอกับระยะทางการลงแข่งขัน
2.ไม่ลงแข่งขันวิ่งระยะทางไกลในช่วงเวลาที่ติดต่อกันมากเกินไป
3.สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
4.ไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจทั้งก่อนวิ่งและขณะวิ่ง
5.นักวิ่งที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งขันทุกครั้ง
6.นอนพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันวิ่ง
7.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
8.ให้ข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง เพื่อประโยชน์กับทีมแพทย์ในการเตรียมความพร้อมให้การดูแล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ 9.ตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และค่าฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าก่อนถึงวันแข่งขันจริง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกาย วางแผนการดื่มน้ำระหว่างวิ่งให้เหมาะสม และ
10.หากมีอาการแน่นหน้าอกหรือหน้ามืด ควรหยุดพักและแจ้งหน่วยแพทย์ในงานวิ่งทันที

ขณะที่ นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การวิ่งครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ ช่วยให้อารมณ์ดี และที่สำคัญนอนหลับได้ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อสุขภาพที่ดี การวิ่งที่ดี คือไม่วิ่งระยะทางไกลมากเกินไป ไม่วิ่งเร็วเกินไป ไม่วิ่งติดต่อกันจนเกินไป ควรเว้นวันพักผ่อนให้เหมาะสมกับระยะทาง และต้องวิ่งอย่างปลอดภัยโดยการเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่งขัน

7 มิ.ย. 2566
ข่าวสด

13
ข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมากกว่า 5 ล้านคน ไม่สอดรับกับจำนวนโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จับมือกับโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. รวม 17 แห่งเพื่อเป็นทางเลือกใหม่กรณีต้องส่งต่อรักษา หากโรงพยาบาลในระบบเตียงเต็มหรือรอคิวนาน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ รพ.รับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มีจำกัด

ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ ซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ (สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบฯ) ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด รวมถึงการรักษาพยาบาลที่มีเหตุสมควร เช่น กรณีภาวะเจ็บป่วยที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการดูแลที่ต้องส่งต่อรักษา เป็นต้น

โดยเบื้องต้น สปสช.ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 รวม 17  แห่ง ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.รพ.กล้วยน้ำไท
2.รพ.ปิยะเวท
3.รพ.บางนา1
4.รพ.เพชรเวช
5.รพ.บางนา5
6.รพ.มเหสักข์
7.รพ.แพทย์ปัญญา
8.รพ.มิตรประชา
9.รพ.ศรีสวรรค์ กรุงเทพ
10.รพ.พีเอ็มจี
11.รพ.สุขสวัสดิ์อินเตอร์
12.รพ.อินทรารัตน์
13.รพ.นวมินทร์
14.รพ.วิภารามปากเกร็ด
15.รพ.บางโพ
16.รพ.กรุงเทพสนามจันทร์
17.รพ.บางไผ่

ทั้งนี้ จากผลความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในครั้งนี้ จะทำให้ระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม.สามารถขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่ม 582 เตียง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยใน

พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ปรับแนวทางการให้บริการใหม่ ครอบคลุมการรับส่งต่อทั้งกรณีบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จากเดิมที่จำกัดเฉพาะรับส่งต่อผู้ป่วยในเท่านั้น พร้อมรับส่งต่อการบริการเฉพาะด้าน อาทิ ผู้ป่วยสวนหัวใจ เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเส้นฟอกไต เป็นต้น

การเบิกจ่ายค่าบริการ

สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรที่รับส่งต่อผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลมาเบิกจ่ายมาที่ สปสช. ได้โดยตรง

ช่องทางการรับบริการ

ผู้ป่วยสามารถโทร. "สายด่วน สปสช. 1330 กด 9" เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ดำเนินการประสานหาเตียงต่อไปได้

Thansettakij
ึ7มิย2566

14
“หมอทวีศิลป์” แจง “เพิ่มแพทย์” แค่หนึ่งในวิธีแก้ปมสมองไหล จ่อชง ก.พ.ใช้บุคลากรเกษียณ

วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะผู้บริหาร สธ. ครั้งที่ 6/2566 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน และมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เข้าร่วมประชุมด้วย ว่า การประชุมคณะผู้บริหาร สธ. วันนี้ เป็นวาระปกติที่มีการประชุมประจำเดือน มีการติดตามงานและมอบนโยบายกว้างๆ ส่วนเรื่องที่ สธ.กำลังได้รับความสนใจในประเด็นปัญหาขาดกำลังพลด้านแพทย์นั้น ก็เป็นโอกาสที่ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ให้ข่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เช่น แพทยสภา ที่ดูแลเรื่องการผลิตแพทย์ การเพิ่มพูนทักษะ และแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งพรุ่งนี้ (8 มิถุนายน 2566) แพทยสภาจะมีการประชุมใหญ่ โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธาน รับทราบเรื่องนี้ และพยายามแก้ไขมาตลอด ก็จะนำเรื่องนี้เข้าวาระเพื่อพิจารณา ให้นำไปสู่การแก้ไข ทั้งการผลิตแพทย์ การจัดสรร การกระจาย และคุณภาพกับปริมาณ

“ส่วนเรื่องอัตรากำลังที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปลัด สธ. ก็ให้มีการนัดหมายเลขาธิการ ก.พ. ที่เดิมเรานัดหารือกันทุกเดือนอยู่แล้ว และที่ผ่านมาพูดคุยกันเรื่องแซนด์บ็อกซ์ในการปรับเรื่องบุคลากรต่างๆ เป็นประจำ ครั้งนี้จึงขอนัดวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเลขาธิการ ก.พ. รับทราบและรับปากว่าจะหารือเพื่อหาข้อสรุปกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

รองปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องภาระงานที่สื่อมวลชนและในโซเชียลมีเดียนำไปเชื่อมโยงกับการบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ UC ซึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องหารือกันนั้น ที่ประชุมมอบให้ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ. หารือร่วมกับคณะผู้บริหาร สปสช. ในการลดภาระงานของแพทย์ โดยให้ สปสช.เข้ามามีส่วนช่วยผู้ทำงานด่านหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่แพทย์อย่างเดียว ยังรวมถึงพยาบาล เจ้าหน้าที่วิชาชีพอื่นๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากมีการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2566) ประชาชนมองว่า การเพิ่มแพทย์เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว และได้ถามถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น กับสต๊าฟที่ดูแลแพทย์อินเทิร์น รวมถึงค่าตอบแทน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2566) ที่เราพูดกัน ไม่ได้พูดถึงการแก้ไขแพทย์ แต่พูดเรื่องการลดภาระงาน เรื่องการเพิ่มสวัสดิการ 4 ข้อ แต่ประเด็นที่มีการพูดเรื่องผลิตแพทย์ คงเป็นการฟังความตอนต้น เพราะการแถลงข่าวใช้เวลาแถลงพอสมควร ซึ่งการผลิตแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของความขาดแคลน ดังนั้น การเพิ่มแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่หลักๆ คือ การปรับสวัสดิการ 4 ข้อ เช่น การปรับภาระงาน ปรับค่าตอบแทน ซึ่ง สธ.ทำมาตลอดและจะทำให้เข้มข้นไปอีก

“เมื่อวานยังมีคนพูดเรื่องการลาออกว่า ยังไม่ชัดเจน ว่าสรุปแล้วลาออกเยอะจริงหรือไม่ จึงขอเน้นย้ำอีกว่า ปีละ 400 กว่าคนเท่านั้นเอง แต่ในโซเชียลเอาตัวเลขที่บอกว่าลาออกปีละ 900 คน โดยเอาตัวเลขที่ได้รับจัดสรรมาลบกับตัวเลขแพทย์ที่ สธ.มีอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย แต่ถ้าดูจากการแถลงข่าว จะเห็นลำดับการจัดสรรแพทย์ ดังนั้น ตัวเลข 900 คน ที่ลาออกต่อปี ยืนยันว่าไม่ใช่ เป็นความเข้าใจผิด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า จะต้องพูดคุยกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จริงๆ พวกเราทำงานกันอยู่แล้ว การสื่อสารผ่านสื่อก็เป็นที่ดี เพราะข้อมูลตอนนี้ก็ยังเป็นชุดเดิม เราเปิดเผยออกไปทั้งหมด ดังนั้น ถ้าจะมีการมาหารือ ก็ยินดี เพื่อช่วยกัน

“ผมเชื่อว่าน้องๆ ที่ทำงานอยู่ก็อยากมีความสุขในการทำงาน เรามีหลายวิธีสร้างความสุขในการทำงานด้วยความเข้าใจกัน บรรยากาศการทำงาน มีปัญหากันทั้งนั้น ดูในเฟซบุ๊ก ก็มีคนบอกว่า ไม่ใช่แค่ สธ. อย่างเดียว เอกชนก็มีความกดดัน คนทำงานอยู่ที่บ้านก็มี เหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ถ้าเรามาช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะการทำงานคือ การจัดการกับปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่เราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความพยายามแก้ไขกันมานาน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ไม่ใช่เราจะลุกขึ้นมาทำได้ทันที เพราะมีข้อจำกัดในฝ่ายราชการ ต้องอ้างอิงกฎหมายว่าอยู่ในอำนาจ สธ. หรือไม่ ตรงนี้จึงต้องใช้เวลาพอสมควร” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้หารือกันเรื่องการกระจุกตัวของแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สูงถึงหมื่นคนหรือไม่ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การกระจุกตัวของแพทย์เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้เป็นตลาดเสรี หรือรัฐสวัสดิการ ก็เจอปัญหาเดียวกัน ดังนั้น ประเทศที่มีกำลังก็จะมีการนำเข้าแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อน และขณะนี้ แพทยสมาคมพยายามผลักดันเรื่องของแพทย์ในประเทศไทย ถ้าบริหารจัดการที่ดี ก็จะทำให้มีความเพียงพอ เพราะมีแพทย์ในประเทศทั้งหมด 60,000 คน ถ้ารวมกับแพทย์เกษียณก็จะมากขึ้น หลายประเทศใช้แรงงานแพทย์หลังเกษียณด้วย ซึ่งจะมีการพูดคุยกับเลขาธิการ ก.พ. ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ด้วย เพราะถ้าไม่ติดเรื่องกรอบข้าราชการ ก็จะสามารถทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ได้ เช่น จ.ภูเก็ต ที่อาจมีการเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ช่วยกันคิดรูปแบบการบริหารงาน ศึกษาผลเพื่อเสนอต่อเลขาธิการ ก.พ. ในระยะถัดไป

7 มิย 2566
มติชน

15
คืบหน้าล่าสุดจากกรณี​ พลทหาร​ผลัด 1/66 สังกัด ม.พัน 27 พล.ม.2 รอ. นอนเสียชีวิตบนเตียงในค่ายทหาร โดยมีกระแสข่าวลือหนาหูว่า พลทหารถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ​เนื่องจากวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ญาตินำเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาให้ ก่อนจะถูกตรวจพบ จึงมีการทำโทษ หลังจากนั้น พอเช้าอีกวัน พบว่าพลทหารคนดังกล่าวนอนเสียชีวิตบนเตียงนอน

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 6มิ.ย.66 ทางด้านเพจดังอย่างเพจ บิ๊กเกรียน มีรายงานว่า ผลชันสูตรจากโรงพยาบาลนครนายก​ ระบุ​ว่า พลทหาร​ม้ามแตก (Ruptured Spleen) เป็นภาวะที่เปลือกหุ้มม้ามแตกหรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้อง

  ซึ่งทางด้านของค่ายทหาร ได้ยืนยัน​ว่า ตามข้อเท็จจริง​ คือ​ พลทหารวัย 21 ปี ผลัด 1/66 สังกัด ม.พัน 27 พล.ม.2 รอ. ตำบลปากข้าวสาร อำเภอเมืองสระบุรี โดยการ"เสียชีวิตเบื้องต้นตาม​ความเห็นแพทย์ เกิดจากโรคประจำตัว ไม่มีการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ"

  ต่อมา​ได้ร่างของพลทหาร ส่งชันสูตร​ยังโรงพยาบาลนครนายก​ ประกอบกับทางกองทัพภาคที่1ได้เร่งสอบสวนทราบว่า​ ถูกลงโทษ​หรือโดนซ่อม​ ฐานฝ่าฝืนลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าค่าย​

Thainewsonline
6 มิ.ย.2566

หน้า: [1] 2 3 ... 605