แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 646 647 [648] 649 650 ... 655
9706
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ....และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การเข้าถึงยา 2. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ และสมุนไพร เพื่อการพึ่งพาตนเอง และ 4. การพัฒนาระบบการควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของยา ทั้งหมดนี้จะทำให้ระบบยาของประเทศไทยมีความมั่นคง ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการรักษาโรคอย่างเสมอภาค มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประเทศพึ่งพาตนเองได้ โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเร็วๆนี้ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

นพ.ไพ จิตร์กล่าวว่า  ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขคือ  การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล มีการใช้ยาเกินความจำเป็นทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมทั้งการซื้อยาใช้เองของประชาชน ซึ่งต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันจะเน้นส่งเสริมจริยธรรมทั้งแพทย์ เภสัชกร  และผู้ขายยา และในปีงบประมาณ 2554 จะทบทวนปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งฉบับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศต่อไป.

ไทยรัฐออนไลน์
วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ.2553

9707
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในการศึกษาว่า ผู้ชายมีกรรมเป็นกำเนิดเกิดมามีหน่วยพันธุกรรมที่ทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์อัมพาตขึ้นง่ายอยู่ในตัว

ยีนตัวนั้นมีชื่อเรียกว่า "1-ฮาโปลกรุป" ทำให้บุรุษเพศตกอยู่ในฐานะล่อแหลมกับโรคของหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 55 แต่นักวิจัยยังไม่อาจบอกได้ว่า มันกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่และมีไขมันสูงในเลือด ใครจะใหญ่กว่ากัน

นักวิจัยปีเตอร์ ไวสส์เบิร์ก กล่าวว่า หากว่ายีนเกี่ยวโยงกับปัจจัยเสี่ยงอย่างความดันโลหิตสูง ก็จะยิ่งทำให้การค้นพบครั้งนี้ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น เนื่องด้วยจะสามารถรักษาอาการความดันเลือดสูงในผู้ชายได้เต็มไม้เต็มมือกันยิ่งขึ้น

ยีนตัวนี้มีอยู่แพร่หลายในยุโรปตอนเหนือ ทำให้สงสัยกันว่า อาจเป็นเหตุผลของการที่มีผู้ป่วยในอังกฤษมากกว่าคนตามชาติริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน.

ไทยรัฐออนไลน์
วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ.2553

9708
คลังไฟเขียวขรก. รักษาร.พ.เอกชน

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนใน 6 เรื่อง ดังนี้
1.เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.3 หมื่นบาท
2.เงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท
3.ค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท หรือปีละไม่เกิน 600 บาท
4.สิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม
5.เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต
6.เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพจากเดือนละไม่เกิน 2 พันบาท เป็น 4 พันบาท

 นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สปส.พยายามทำให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด โดยดำเนินการจัดตั้ง "เคาเตอร์เซอร์วิส"ในสถานประกอบการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้ส่งบุคลากรมาร่วมอบรมเพื่อให้บริการในเบื้องต้นเกี่ยวกับงานประกันสังคม เช่น การรับประโยชน์ทดแทน โดย สปส.จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจร โดยเริ่มต้นจากสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้าง 1 พันคนขึ้นไปก่อน ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะขยายไปยังสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 500 คนภายใน 6 เดือน และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไปให้เสร็จสิ้นในปีงบประมาณหน้า ซึ่งทั้งหมดจะครอบคลุมผู้ประกันตนกว่า 4 ล้านคน

 ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนใน 6 เรื่อง ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ทางกระทรวงแรงงานและ สปส.ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ แต่หัวใจหลักที่ทางขบวนการแรงงานต้องการ คือ การปฏิรูป สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องให้แรงงานทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน นอกจากนี้ ควรขยายความคุ้มครองให้กับแรงงานนอกระบบด้วย

 "ผ่านมาแล้ว 20 ปี แต่ สปส.ก็ยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการต้องทำให้เป็นที่ไว้วางใจของคนงาน เนื่องจากเป็นความหวังของผู้ประกันตน" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว และว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ทาง สปส.เพิ่มให้นั้น ตนเห็นว่าในบางกรณีควรเพิ่มให้มากกว่านี้ เช่น เงินสงเคราะห์บุตร ควรเพิ่มเป็นรายละ 500 บาท และควรขยายความคุ้มครองจาก 6 ปี ให้เป็นลักษณะเดียวกับที่ให้ข้าราชการ

 ส่วนกรณีที่เพิ่มสิทธิในการรักษาผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งเป็นโรคที่ยกเว้นการรักษาพยาบาลนั้น ตนเห็นว่า สปส.ควรยกเลิกการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ ที่ได้รับการยกเว้น เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม สปส.ควรปรับการบริการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพด้วย

 ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. เปิดเผยว่า การลงทุนในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2553 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 15,223 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลตอบแทน จากดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 12,380 ล้านบาท เงินปันผล และกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 2,843 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่ากองทุนมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 12,960 ล้านบาท มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2,263 ล้านบาท ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนที่ผ่านมารวม 707,730 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 567,010 ล้านบาท

 นายปั้น กล่าวต่อว่า ในปี 2553 นี้คาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท โดย คณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบให้คงสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ส่วนการลงทุนในหุ้นให้คงสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับกรอบการลงทุนเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทางเลือกอื่น เพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

 วันเดียวกัน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า คลังได้ขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเอกชนได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องเป็นกรณีเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเท่านั้น โดยสวัสดิการที่ขยายเพิ่มขึ้นจะให้ครอบคลุมโรคร้ายต่างๆ ที่จะทำให้เป็นอันตรายจนถึงเสียชีวิตด้วย และจะเริ่มให้เบิกได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 โดยทางกรมบัญชีกลางจะมีการกำหนดโรคว่ามีชนิดใดบ้างที่จะเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งการเข้าการรักษาจะต้องรับการอนุมัติจากทางกรมบัญชีกลางก่อน และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะเป็นเหมาจ่ายต่อโรคที่ได้รับการรักษา หากค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่กำหนด ทางข้าราชการต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

 นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า การขยายสิทธิของข้าราชการดังกล่าว จะไม่กระทบทำให้การใช้งบประมาณมากขึ้น เนื่องจากเป็นระบบการเหมาจ่ายต่อโรค และการรักษาต้องได้รับการอนุมติจากกรมบัญชีกลางเสียก่อน โดยการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล 1 เดือนที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2553 จะมีการเบิกค่ารักษาพยาบาล 6.1 หมื่นล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณก่อนหน้า โดยปีงบประมาณ 2553 กรมบัญชีกลางได้รับการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาล 4.8 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 จะได้งบ 6.2 หมื่นล้านบาท

 นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ปัจจุบันข้าราชการที่ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1.9 ล้านคน บุคคลในครอบครัวอีก 2.6 ล้านคน รวมเป็นบุคคลที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาจำนวน 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ปีที่ผ่านมาเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในประมาณ 7 แสนคน

แนวหน้า วันที่ 1/9/2010

9709
คมชัดลึก : “ จุรินทร์ ” เปิดตัวรายการ “ เฮลท์ สเตชั่น ” สถานีสร้างสุขภาพของสธ. ออกอากาศทุกบ่ายวันเสาร์ ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เวลา 14.00 ถึง 14.50 น. เริ่มครั้งแรกวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2553 ใช้งบลงทุนแค่หลัก 10 ล้าน มุ่งหวังลดค่าใช้จ่ายรักษาโรคปีละหลักแสนล้าน

(1ก.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วยดร.พรรณสิริ   กุลนาถศิริ     รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข   นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารร่วมแถลงข่าวเปิดตัว รายการสถานีสุขภาพ หรือเฮลท์ สเตชั่น ( Health Station ) รายการโทรทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง NBT ทุกวันเสาร์ เวลา 14.00 น.-14.50 น.

 นายจุรินทร์กล่าวว่า รายการสถานีสุขภาพจะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2553 นี้เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มต้นเปิดตัวโครงการด้วยรายการสถานีสุขภาพ นำเสนอสาระด้านสุขภาพครอบคลุมงานทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค การฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้คำขวัญประจำรายการว่า “ สุขภาพดี เริ่มที่ตัวคุณ ” เพื่อเป็นการให้ความรู้และการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และเข้าใจวิธีการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือที่เรียกว่าเซลฟ์ แคร์ (Self Care) เพื่อลดการเจ็บป่วย ลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล และเพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีสุขภาวะที่ดี

  นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า รายการนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญอย่างน้อย 5 ประการคือ 1.เป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ 2.ให้ความรู้ที่เป็นวิชาการในด้านสุขภาพ 3.เพื่อเผยแพร่ผลการพัฒนางานของบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรอื่นๆ และอสม. และผลงานของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ 4.เป็นช่องทางให้ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นและตั้งคำถาม เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปพัฒนางาน การให้บริการ และด้านอื่นๆ 5.เพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสถานีสุขภาพสัญจร ซึ่งจะจัดในรูปแบบหน่วยคาราวานแพทย์เคลื่อนที่ ไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้ด้านวิชาการ ให้บริการด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

 นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า รูปแบบของรายการมีทั้งหมด 6 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรกเรียกว่าสถานีต้นทาง คือสถานีสุขภาพสัญจรที่จัดเป็นคาราวานสุขภาพเคลื่อนที่ ประกอบด้วยรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และคณะผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกไปพบกับข้าราชการพี่น้องประชาชนในส่วนภูมิภาค และอสม. เพื่อบริการด้านสุขภาพ ฟรี และมีการถ่ายทอดรายการไปพร้อมกัน

ช่วงที่ 2 สถานี 3 ดี เป็นรูปแบบของการนำเสนอการปรับโฉมบริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ตามนโยบายโรงพยาบาลสาธารณสุขยุคใหม่ เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีรอยยิ้ม มาเสนอต่อประชาชนและจะนำไปพัฒนางานต่อไป

ช่วงที่ 3 สถานีต้นแบบ เป็นการนำเสนอผลงาน ผลสัมฤทธิ์ ผลสำเร็จของงานที่เกิดจากทั้งตัวบุคคล และของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับบุคลากรและหน่วยงานในสังกัดนำไปใช้พัฒนางานเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

ช่วงที่ 4 สถานีโต๊ะกลม เป็นส่วนของการสนทนาเชิงลึกในประเด็นสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยแพทย์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้กับประชาชนในประเด็นนั้นๆ

ช่วงที่ 5 สถานีสนุกสร้างสุข นำเสนอกิจกรรมต่างๆ ในภูมิภาคในจังหวัดและในพื้นที่ต่างๆ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เช่นการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่างๆ และ

ช่วงที่ 6 คือท้ายขบวนชวนคุย เป็นช่วงของการตอบคำถามสุขภาพของผู้ชมรายการ รวมทั้งเป็นช่องทางในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศสู่งานของกระทรวงสาธารณสุข โดยประชาชนสามารถส่งคำถามได้ 3 ช่องทาง คือ1.ส่งทางจดหมายมาที่ตู้ปณ.5 ปณศ.บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 หรือโพสต์เข้ามาในเว็บไซต์ www.healthstationtv.com หรือเว็บไซต์ www. สถานีสุขภาพ .com และจะมีการพัฒนารายการอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินผลการตอบรับจากประชาชนเป็นระยะๆ   โดยนักวิชาการ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อไป

 “ รายการสถานีสุขภาพนี้ เป็นรายการที่สร้างความตระหนักให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นความสำคัญของการป้องกันและการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่าการที่จะเน้นให้คนไทยไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือเมื่อป่วยแล้วถึงค่อยมาแก้ปัญหา เพราะงบประมาณในการรักษาพยาบาลแต่ละปีสูงมาก เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้ง 5 โรคนี้ จ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท จึงเป็นที่มาของนโบบายกระทรวงสาธารณสุขที่จะทำให้คนไทยเห็นความสำคัญเรื่องการป้องกัน เพราะฉะนั้นสถานีสุขภาพจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ใช้เงินหลัก 10 ล้านเท่านั้น เพื่อไปลดใช้ค่าใช้จ่ายหลักแสนล้านเช่นใน 5 โรคที่กล่าวมา ซึ่งคิดว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง ” นายจุรินทร์กล่าว     

 ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งบประมาณการทำรายการสถานีสุขภาพ   ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคนำหน้าการรักษาพยาบาล จะใช้งบประมาณในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและงบประชาสัมพันธ์ของแต่ละกรมด้วย ซึ่งตลอดทั้งปีจะใช้งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท

9710
คมชัดลึก : "จุรินทร์”หนุนไทยเป็นศูนย์การรักษาของเอเชีย เน้นธุรกิจส่งเสริมสุขภาพปีนี้จับมือสมาพันธ์สปาไทย เอาใจลูกค้าต่างแดนที่บินการบินไทย ให้สิทธิพิเศษรับบริการสปาระดับ 5 ดาวใน 28 แห่ง ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี 2553 หวังสปาไทยติดอันดับนิยมระดับโลก

วันที่ 26 สิงหาคม 2553 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานแถลงข่าววิสิท ไทยแลนด์ วิสิท ไทย สปา (Visit Thailand Visit Thai Spa) ว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการเมดิคอลฮับ (Medical Hub) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์การแห่งการรักษาของเอเชีย โดยเน้นเรื่องการรักษาพยาบาล แต่การรักษาจะต้องไม่กระทบกับการให้บริการของคนไทย ดังนั้นจึงได้ให้สถานพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว สำหรับรัฐบาลจะเน้นการให้บริการผู้ป่วยที่เป็นคนไทย

 นอกจากนี้ยังเน้นธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดแผนไทย เป็นต้น เน้นในเรื่องของการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ใช้สมุนไพรไทยเป็นหลักในการผลิตเพื่อจำหน่าย และสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางการสาธารณสุขของภูมิภาค

   นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ได้มอบให้นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูรายละเอียดโครงการจะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบหรือไม่ในเรื่องของการสนับสนุนธุรกิจสปา รวมถึงการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553 จะมีการนำเรื่องเมดิคอล ฮับ เข้าที่ประชุมกระทรวงซึ่งจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก

 และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายธุรกิจการท่องเที่ยวไทย  ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับบริษัทการบินไทยและสมาพันธ์สปาไทยจัดโครงการพิเศษ วิสิท ไทยแลนด์ วิสิท ไทย สปา (Visit Thailand Visit Thai Spa) เพื่อดึงลูกค้าต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยสายการบินไทย สามารถนำหางตั๋วบัตรโดยสารเครื่องบิน มาใช้เป็นส่วนลดในการรับบริการในสปาไทย 28 แห่งที่ผ่านมาตรฐานของกระทรวง เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2553 นายจุรินทร์ กล่าว

 ด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล กล่าวว่า สปาที่เข้าร่วมโครงการวิสิท ไทยแลนด์ วิสิท ไทย สปา มีทั้งหมด 28 แห่งใน 7 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้แก่
เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 10 แห่ง
1.ซิกเซนท์ ไฮด์อเวย์ (Six Senses hideaway Samui)
2.ไรราสปา(Rai Ra Spa)
3.ปรานา สปา (Prana Spa)
4.สปา เซนวารี (Spa Cenvaree)
5.เนเชอรัล วิง เฮลท์ สปา แอนด์ รีสอร์ท (Netural Wing Health Spa & Resort)
6.บ้านตลิ่งงาม รีสอร์ท แอนด์ สปา (Baan Taling Ngam Resort and Spa)
7.สันติบุรี รีสอร์ท แอนด์ สปา(Santiburi Resort and Spa)
8.มันดารา สปา (Mandara Spa)
9.เมลาตี บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา (Melati Beach Resort & Spa)
10.อรันดา เฮอร์บอล์ สปา (Eranda Herbal Spa)

จังหวัดภูเก็ต 1 แห่ง คือมันดารา สปา ภูเก็ต (Mandara Spa Phuket)
จังหวัดกระบี่ 1 แห่ง คือมันดารา สปา กระบี่ (Mandara Spa Krabi)
จังหวัดระยอง 1 แห่ง คือภาราดี สปา (Paradee Spa)

กรุงเทพ 6 แห่ง ได้แก่
1.ดิโอเอซิส สปา กรุงเทพ (The Oasis Spa bangkok)
2.สปา เอทินี (Spa Athenee)
3.เดอะ สปา บาย เอ็มสปา (The Spa by Mspa)
4.วารีนา สปา (Vareena Spa)
5.มันดารา สปา กรุงเทพ (Mandara Spa Bangkok)
6.มันดารา สปา รอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพ (Mandara Spa Royal Orchid Sheraton Bangkok)

จังหวัดเชียงใหม่ 7 แห่ง ได้แก่
1.ดิโอเอซิส สปา ลานนา (The Oasis Spa Lanna)
2.โอเอซิส สปา เชียงใหม่ (The Oasis Spa ChiangMai)
3.เต่าการ์เดนท์ เฮลล์ สปา แอนด์ รีสอร์ท (Tao Garden Health Spa and Resort)
4.สปา มันตรา อินเตอร์เนชั่นนัล (Spa Mantra International)
5.ลานนาคำ สปา (Lanna come spa)
6.เปียก สปา แอนด์ บิวตี้ ซาลอน เชียงใหม่ (Peak Spa and Beauty Salon)
7.อมร สปา เชียงใหม่ (Amora Spa)

จังหวัดเชียงราย 2 แห่ง ได้แก่ อนันตรา สปา (Anantara Spa) และภูใจใส เมาเทน รี สอร์ท แอนด์ สปา (Phu Chaisai Mountain Resort & Spa)  ซึ่งจะทำให้ชาวต่างชาติสัมผัสสปาที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข  และนำไปเผยแพร่ขยายผลต่อๆไป

9711
คมชัดลึก : "จุรินทร์ ” ห่วงหมอพื้นบ้านที่มีกว่า 47 , 000 คน แต่มีใบประกอบโรคศิลปะเพียง 39 คน ตั้งเป้าในปี 2554 จะให้หมอพื้นบ้านมาสอบขึ้นทะเบียนให้ได้อย่างน้อย 1 , 000 คน พร้อมเร่งหน่วยงานติดตามข้อมูลยาสมุนไพรรักษามะเร็งที่คลินิกหมอสมหมาย วันจันทร์ที่ 6 ก.ย.53 นี้

 (1ก.ย.) นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วยดร.พรรณสิริ   กุลนาถศิริ     รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข   นายแพทย์ไพจิตร์   วราชิต   ปลัดกระทรวงสาธารณสุข   เปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 “ หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5   กันยายน   2553 โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่าย 13 หน่วยงาน

 นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการนำสมุนไพรและสนับสนุนการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก มาใช้ในระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งหากนำสมุนไพรไทยมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีการใช้มากขึ้นและเผยแพร่ไปทั่วโลก ไทยจะสามารถเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพในภูมิภาคได้ ตามนโยบายเมดิคอลฮับ ( Medical Hub ) 

 สมุนไพรไทยขณะนี้   สนับสนุนให้ผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ และนำมาใช้เป็นยาควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน   โดยมียาจากสมุนไพรไทย 19 รายการที่ใช้ในการรักษาประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน และขณะนี้ได้เสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาเพิ่มเติมอีก 644 รายการ เพื่อให้มีการใช้ยาสมุนไพรไทยควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบันกว้างขวางมากขึ้น   และสปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณด้านการแพทย์แผนไทย เพิ่มจากหัวละ 2 บาทเป็นหัวละ 6 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2554 เป็นต้นไป 

 นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในปี 2553 จะมีการบรรจุแพทย์แผนไทยจำนวน 150 คน ไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยขณะนี้มีแพทย์แผนไทยจบปริญญาตรีจำนวน 1,000 คน จะมีการทยอยบรรจุต่อไป นอกจากนี้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งทั่วประเทศมีแพทย์พื้นบ้านประมาณ 47,000 กว่าคน แต่มีใบประกอบโรคศิลปะเพียง 39 คน   จึงมอบนโยบายสนับสนุนให้แพทย์พื้นบ้านมาสอบขึ้นทะเบียนและรับใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมาย ในปีนี้ตั้งเป้าอย่างน้อย 1,000 คน ในส่วนของการแพทย์ทางเลือก เช่นแพทย์แผนจีน หรือการรักษาด้วยศาสตร์อื่นๆ เช่น ไคโรแพคติก   หากมีผลการศึกษารับรองว่าสามารถใช้ในการรักษาการสร้างเสริมสุขภาพได้ กระทรวงสาธารณสุขจะให้การสนับสนุน 

  นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องยารักษามะเร็งของคลินิกนายแพทย์สมหมายที่สามารถพัฒนายาสมุนไพรมาใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันในการรักษามะเร็งว่า   ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยังไม่มีข้อสรุปจากกระทรวง สาธารณสุข แต่ในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553นี้ ได้ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ องค์การเภสัชกรรม มาร่วมให้ข้อมูลในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากต้องดูด้วยความรอบครอบ และมีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน   และจะแถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาให้ทราบ หากสมุนไพรใดที่มีผลการวิจัยที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นประโยชน์ จะให้การสนับสนุนแน่นอน ส่วนขั้นตอนกระบวนการให้เป็นไปตามกฎหมาย

9712
“จุรินทร์”ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อหาข้อยุติร่วมในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯโดยเร็ว มอบปลัด สธ.เป็นประธาน มีกรรมการจากทั้ง 2 ฝ่าย ข้อสรุปจากที่ประชุมถือเป็นมติร่วม ไม่ใช้เสียงข้างมาก
       
       วันนี้ ( 30 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งมีผู้เสนอความคิดเห็นให้ขยายการใช้มาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมถึงระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย ว่า ประเด็นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช.ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อกฎหมาย ซึ่งยังมีความเห็นไม่ตรงกัน บางฝ่ายบอกว่าสามารถดำเนินการได้ บางฝ่ายบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ ในวันประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลางเดือนกันยายนนี้
       
       ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 มีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอำนวยการให้เกิดการประชุมหารือทั้ง 2 ฝ่าย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นเลขานุการ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายรวม 63 คน ได้แก่ 6 สภาวิชาชีพ คณะแพทย์สถาบันการแพทย์ เช่นศิริราชพยาบาล รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้แทนแพทย์จากกรุงเทพมหานคร แพทย์ทหาร แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมแพทย์คลินิกไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
       
       นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯยังไม่ทราบเวลาที่แน่ชัดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด แต่บรรจุอยู่ในช่วงกลางๆ ของระเบียบวาระการประชุม ดังนั้น 2 ฝ่ายจึงยังมีเวลาหารือกัน หากเป็นไปได้ควรเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมของทั้ง 2 ฝ่าย จะถือเป็นมติข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช้การลงมติโดยอาศัยเสียงข้างมาก ดังนั้นเรื่องจำนวนของแต่ละฝ่ายในคณะกรรมการจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
       
       ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข กล่าวว่า จะพยายามจัดประชุมคณะกรรมการฯให้เร็วที่สุด ด้วยความรอบคอบเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่ชัดเจน ซึ่งได้พูดคุยกับแพทยสภาในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและประชาชน เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสามารถทำได้แต่ขอให้เร่งรัดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 สิงหาคม 2553 

9713
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2553 

ไทยร่วมองค์การอนามัยโลก เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมเครื่องมือแพทย์นานาชาติ 9 ก.ย.นี้ หลังพบทั่วโลกเสียค่าเครื่องมือแพงฉี่ ร่วมกว่า 6 ล้านล้านบาท ขณะไทย เสีย 2 หมื่น 5 พันล้านบาท ผู้แทน WHO หวังใช้เวทีนานาชาติเร่งหาทางแก้
       วันนี้ (27 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค สธ.แถลงข่าว "การประชุมนานาชาติ เรื่องเครื่องมือแพทย์ ครั้งที่ 1 (The first Global Forum on Medical Device ) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุม ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-11 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินีโดย นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากพบสถิติที่หลายๆ ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านแพทย์ถึงปีละกว่า 6 ล้านล้านบาท โดยเป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยกว่า 25,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในเทคโนโลยีระดับสูง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็ถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ เช่น ถุงมือและถุงยางอนามัยเป็นมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้านสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ขณะที่ประเทศอื่นๆ หลายแห่งกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล

นพ.สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ด้านปัญหาของเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย คือ 1.การของเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในกลุ่มคนยากจนหรือรายได้น้อยที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ 2.การใช้เครื่องมืออย่างไม่เหมาะสมใช้ โดยไม่จำเป็น ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น ใช้การตรวจเอ็กซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เกินความจำเป็น 3.คุณภาพของเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้
       
       “เชื่อว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเร่งหาทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และเกิดการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับผู้ร่วมเข้าประชุมกว่า 300 คน จาก 90 ประเทศ” นพ.สุวิทย์ กล่าว
       
       ด้านดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม (Dr.Maureen Birmingham) ผู้แทนขององค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ของค่าใช้จ่ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ อาทิ ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริงในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือประจำสถานพยาบาล ปัญหาด้านบุคลากรที่ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งที่มีเครื่องมือแพทย์ดีๆ มีมาตรฐานแต่กลับไม่ใช้บุคลากรเชี่ยวชาญที่สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ทั่วถึง และบางครั้งการให้บริการแบบผิดๆ ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้ ดังนั้น การร่วมมือในการเร่งดำเนินการในเรื่องกรอบความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งคำตอบที่ดีจะต้องมาจากความคิดเห็นในเชิงนโยบายของเครือข่ายสาธาารณสุขทั่วโลก
       
       “แม้ทาง WHO จะไม่มีการจัดลำดับชัดเจนว่าประเทศใดที่ประสบปัญหาเรื่องเครื่องมือแพทย์มากที่สุด แต่ก็พอจะมองเห็นแนวโน้มได้ว่าในหลายๆ ประเทศย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน แม้แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ” ดร.มัวรีน กล่าว
       
       ดร.มัวรีน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ทีมแพทย์กำลังศึกษาว่า สารปรอทที่ใช้ในในเมอคิวรีปรอทวัดไข้นั้น อาจมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่ง WHO ก็จะได้ใช้เวทีในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ เพื่อหารือกันว่าในอนาคตอาจใช้เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์โรคอย่างเดียว ที่เรียกว่า ซีพีอาร์

9714
เครือข่ายแพทย์ มีมติที่ประชุม เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ เตรียมตั้งทีมทำงาน 9 คณะ ชี้แจง พ.ร.บ แก่ประชาชน เผยขณะนี้แพทย์เห็นควรขยาย ม.41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ
       
       วานนี้ (27 ส.ค.)ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แพทย์สภาได้ร่วมกับตัวแทนจากภาคต่างๆ ประกอบไปด้วยตัวแทนจาก สธ. สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กลาโหม ตำรวจ คณะแพทย์ศาสตร์ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กรุงเทพมหานคร สมาคมโรงพยาบาลเอกชน คลินิก แพทยสมาคม และภาคีสภาวิชาชีพอื่นๆ รวม 80 คน ประชุมคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ....โดยมี ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี ประธานกลุ่มสถาบัน กสพท. เป็นประธานคณะ , นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เป็นเลขาธิการ คณะทำงาน และมี พลอากาศตรี นพ.การุณ เก่งสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศเป็นโฆษกประจำคณะทำงานฯ
       
       พลอากาศตรี นพ.การุณ กล่าวว่า เนื่องจากคณะทำงานฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับนี้ ได้รับการประกาศใช้อาจมีผลกระทบต่อความเสียหายด้านค่าใช้จ่ายในระบบบริการสาธารณสุขไทยหลายล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ต่อแพทย์ และบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งบุคลากรทีให้บริการสาธารณสุขกว่า 3 แสนคน เห็นว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงได้มีมติในที่ประชุมร่วมกันว่า ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำประชาพิจารณ์ เพื่อแบ่งหน้าที่ดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนในการเดินหน้าชี้เแจงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ให้ประชาชนได้คิดและทำความเข้าใจเพิ่มเติม โดยจะจัดตั้งคณะทำงานเป็น 9 คณะ เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะมีการประชุมภายในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยคณะกรรมการดังกล่าวนี้จะเฉลี่ยบุคลากรในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ 1.รพศ./รพท. 2.โรงเรียนแพทย์ 3.กรุงเทพฯ 4.แพทย์จากสี่เหล่า ได้แก่ แพทย์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ 5. แพทยสมาคม
       
       พลอากาศตรี นพ.การุณ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของประชาชนที่ยังกังวลว่า จะไม่มีเงินกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นและชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ขอชี้แจงว่า เงินกองทุนตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้นมีอยู่แล้ว โดยคณะทำงานฯเห็นว่า ควรขยายมาตราดังกล่าวให้ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดของประเทศไทยก็เพียงพอแล้ว
       
       "อันนี้เป็นเพียง ข้อสรุปเบื้องต้น ซึ่งทางคณะทำงานจะจัดส่งต่อ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยเร็วที่สุด ส่วนข้อสรุปในขั้นสุดท้ายก็จะเร่งดำเนินการจัดประชุมต่อไป " นพ.การุณ กล่าว

9715
ปลัด สธ.สั่่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีโรงพยาบาลกำแพงแสน ทำคลอดลูกเสียชีวิต เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เร่งรายงานผลโดยเร็วที่สุด แจงการใส่ผ้าอนามัย ไม่ใช่ใสเพื่อปิดกั้นการคลอด แต่เป็นการรองรับน้ำคร่ำที่ไหลออก ป้องกันการติดเชื้อเข้าโพรงมดลูก
จากกรณีที่ นายศักดิ์พล สระทองอั๋น อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ 3 ตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ร้องเรียนโรงพยาบาลกำแพงแสน จ.นครปฐม หลังพาภรรยาไปคลอดบุตรเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2553 เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น.และเด็กเสียชีวิตหลังจากที่โรงพยาบาลกำแพงแสนได้ส่งภรรยาไปคลอดที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม เนื่องจากเด็กอยู่ในท่าก้น
       
       วันนี้ (27 ส.ค.)นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง 1 ชุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และให้รายงานผลโดยเร็ว
       
       นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากนายแพทย์สมชาย เจนลาภวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงแสน ว่า ทีมพยาบาลประจำห้องคลอดได้ให้การดูแลผู้ป่วยคลอดรายนี้ตามมาตรฐานการดูแลผู้เจ็บครรภ์คลอด หลังรับรักษาเวลา 07.30 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2553 พยาบาลได้ทำการตรวจครรภ์ และตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร เด็กยังลงช่องเชิงกรานไม่เต็มที่ จากนั้นได้ติดตามการหดรัดตัวของมดลูก ฟังเสียงหัวใจเด็กด้วยเครื่องมือตลอดเวลา ทุก 1 ชั่วโมง เนื่องจากรายนี้มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ยังไม่ครบกำหนดคลอด แพทย์ได้ตรวจอาการแล้วให้นอนพักบนเตียง ลดการเคลื่อนไหวให้มากที่สุดเพื่อลดการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกเป็นการประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนครบกำหนด ผลพบว่าเด็กหัวใจเต้นปกติ แต่ต่อมาผู้ป่วยเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น ปากมดลูกเปิดมากขึ้น มีน้ำคร่ำรั่วซึมออกมา แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
       
       จากนั้นเวลา 12.45 น.ผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์ถี่และรู้สึกอยากเบ่งจึงได้ตรวจภายในอีกครั้ง พบว่าปากมดลูกเปิดหมด เด็กอยู่ในท่าก้น แพทย์เวรประจำวันหยุดได้ตรวจประเมินผู้ป่วยและวางแผนให้ผู้ป่วยคลอดได้อย่างปลอดภัยที่สุด โดยสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ส่งผู้ป่วยไปคลอดที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม และจัดเตรียมพยาบาลไปให้การดูแลผู้ป่วยระหว่างการนำส่ง 2 คน เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยและบุตรกรณีเกิดการคลอดฉุกเฉินบนรถ พร้อมทั้งได้ให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยทางจมูกตลอดทางป้องกันไม่ให้เด็กขาดออกซิเจน ฉีดยาคลายการหดรัดตัวของมดลูกป้องกันการคลอดระหว่างนำส่งซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้คลอดและทารกได้ และใส่ผ้าอนามัยเพื่อรองรับน้ำคร่ำป้องกันการติดเชื้อเข้าโพรงมดลูก ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นการคลอดแต่อย่างใด
       
       ด้านดร.นพ.คงเดช ลีโทชวลิต รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดในประเทศไทย พบราวร้อยละ 9 ของการคลอดทั้งหมด และเป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตได้ถึง ร้อยละ 60-80 ยิ่งคลอดก่อนกำหนดเร็วมากเท่าใดโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตมีสูงเนื่องจากอวัยวะต่างๆภายในร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่พร้อมที่จะทำงาน อย่างไรก็ดีในการให้การช่วยเหลือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเร่งนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็วที่สุด

9716
สมาพันธ์แพทย์-รพ.เอกชน เสนอขยาย ม.41 หวังครอบคลุมคนไทย 63 ล.
สมาพันธ์แพทย์ เดินหน้าถกร่าง พ.ร.บ.ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง สมาคม รพ.เอกชน ทำหนังสือให้ สปสช.เสนอ ต่อ “จุรินทร์” ชี้แจงข้อเสนอให้ขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมคนไทย 63 ล้านคน “หมอวรงค์” แนะ สมาพันธ์กำหนดแนวทางเรื่อง คกก.กองทุน-ชี้ไม่พอใจร่างนี้ควรเสนอร่างใหม่
       
       วันนี้ (26 ส.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น.สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ/รพท.)ได้จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับเสียหายจากการเข้ารับบริการสารธารณสุข พ.ศ....” โดยมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการเปิดการประชุม ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ วิปรัฐบาล คณะแพทยศาตร์ รพ.รามาธิบดี กองกรรมาธิการสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานงบประมาณ วิทยาลัยการแพทยศาสตร์กรุงเทพฯ และวชิระพยาบาล สำนักอนามัย (ศูนย์บริการสาธารณสุข) แพทยสมาคม สมาคุม รพ.เอกชน กรมการแพทย์ทรหารบก สำนักงานสวัสดิการสุขภาพ กองทัพเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ รพ.ตำรวจ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช และคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี
       
       นพ.ไพจิตร์  กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ อยากให้ทางเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรรม ได้เร่งหารือร่วมกันเพื่อเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว ซึ่งโดยส่วนตัวก็เชื่อว่าการที่ทางผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมล้วนแล้วแต่คาดหวังตรงกันว่า ต้องการให้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นั้น มีความครอบคลุมในการคุ้มครองทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม ทั้งฝ่ายผู้ป่วยและฝ่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ตนคาดหวังว่า จะได้ผลสรุปอย่างเป็นธรรม จากทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันเช่นเดิมว่า การหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นั้นจะไม่ใช้เรื่องผลโหวต แต่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล จึงขอให้ทุกท้านได้หารือกันอย่างเต็มที่แล้วสรุปเป็นประเด็นเพื่อนำเสนอต่อไป
       
       นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือในฐานะประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เรื่อง ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ (คกก.)ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ลงวันที่ 25 ส.ค.2553 ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดนำมติที่ประชุม คกก.ควบคุมคุณภาพ ฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2553 เสนอแนะให้มีการแก้ไขมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกิน 1 % ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล โดยเสนอให้แก้ 3 ข้อ คือ
1. แก้ไขให้ครอบคลุมผู้รับบริการทุกคน
2.แก้ไขให้ครอบคลุมสถานบริการซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ
3.ขยายจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินชดเชยความเสียหาย
       
       “ขณะนี้หนังสืออยู่ในระหว่างการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นผู้นำเสนอแก่รัฐมนตรี ส่วนวันเวลาจะเป็นเมื่อใดนั้น ก็แล้วแต่หน่วยงานจะสะดวก” นพ.เอื้อชาติ กล่าว
       
       ด้าน นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ตัวแทนจากแพทยสมาคม กล่าวว่า จากการที่ได้ติดตามอ่านรายละเอียดของ พ.ร.บ.แล้วยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ผู้ให้บริการทางสารธารณสุขจะได้รับ นอกเสียจากการมุ่งคุ้มครองเพียงผู้เข้ารับบริการด้านเดียว ดังนั้น อยากให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วดำเนินการแก้ไขขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมคนไทยทั้ง 63 ล้านคนจะดีกว่า โดยหากผู้ป่วยท่านใดที่เข้ารับบริการจนเกิดความเสียหายและต้องการเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือเพื่อเยียวยาจริงๆ ก็สามารถช่วยได้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ
       
       ขณะที่ นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ที่ปรึกษา กมธ.สธ.สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้มีโครงสร้างของคณะกรรมการที่ดูแลกองทุนเงินชดเชยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องเป็นอิสระ เพราะเห็นว่าถ้าหากเป็นอิสระนั้นภาครัฐจะไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงควรคุยกันในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการให้ชัดเจนด้วย
       
       นพ.วรงค์ เดชวิกรม รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะนำตัวแทนจากวิปรัฐบาล กล่าวว่า อยากให้ทุกท่านที่ร่วมประชุมในวันนี้ เร่งหาทางออกร่วมกันในเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ยังเห็นว่าไม่ชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ความเป็นไปได้ในการถอนร่างนั้นคงยาก เพราะถึงแม้ร่างของรัฐบาลจะถูกถอนออกมาตามคำเสนอแนะของแพทย์ แต่ตราบใดที่ร่างของ เครือข่ายภาคประชาชนยังอยู่ก็จะดำเนินไปตามขั้นตอนของสภา ดังนั้น หากมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะใด ควรที่จะเร่งดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องของคณะกรรมการก็ควรเสนอแนวทางใหม่ เพื่อหาทางออก ส่วนกรณีที่หลายๆ มาตรานั้นมีความไม่เหมาะสม หรือโดยส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.นั้นไม่เหมาะสม ก็ควรที่จะหาหนทางในการล่ารายชื่อเพื่อเสนอเป็นร่างฉบับใหม่ เสนอเข้าประกบในสถาจะดีกว่า
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเสร็จสิ้น ที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปเป็นมติ 3 ข้อ เป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับเสียหายจากการเข้ารับบริการสารธารณสุข พ.ศ...." โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองประธานสมาพันธ์รพศ./รพท. กล่าวว่า ผลจากการประชุมนั้น ได้มีการสรุปเป็นมติร่วม 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยืนยันจะต้องมีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเท่าเทียมทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข 2.ระหว่างที่ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ยังไม่มีผลบังคับใช้ ควรที่จะมีการขยายมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกระดับ และครอบคลุมสถานพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช .)ได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เรียบร้อยแล้ว

9717
ป.ป.ท. ลากไส้กระบวนการทุจริตยา เตรียมส่งหลักฐานฟ้องผู้อำนวยการโรงพยาบาล 23 แห่ง จ่อคิวไล่ตรวจบัญชีข้าราชการที่ซิกแซ็กเบิกค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 1 หมื่นราย

ความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตยาในแวดวงข้าราชการ มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่กรมบัญชีกลางกำลังสอบสวน เนื่องจากมีข้าราชการร่วมกับโรงพยาบาลเบิกเงินเกินจริงนั้น

นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า หลังถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตยาในแวดวงข้าราชการมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อรวบรวมหลักฐานการทุจริตยา เพื่อเตรยมเตรียมจะยื่นฟ้องระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล 23 แห่ง และแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ

“ขณะ นี้ปปท.หารือกรมบัญชีกลางที่จะสรุปการทุจริตและเสนอรัฐบาลกำหนดแนวทางการ ป้องกัน รวมทั้งดำเนินคดีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งมีครบทุกกลุ่ม ซึ่งจะยื่นฟ้อง 23 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลที่จะถูกดำเนินคดีเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งนี้ถ้าตรวจสอบเจอปปท.สามารถที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีได้เพราะเป็นหน้าที่ ของปปท.ที่จะดำเนินคดีกับรข้าราชการที่ทุจริต แต่จะให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้ฟ้องร้องก็ก็ได้เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรง หรือโรงพยาบาลก็ร้องทุกข์ได้ จะสรุปผลให้ได้ในเดือน ก.ย.นี้เพราะข้อมูลหลักฐานเริ่มที่จะครบแล้ว ในเบื้องต้นกรมบัญชีกลางเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้องเพราเป็นผู้เสียหายโดยตรง” นายภิญโญ กล่าว

นอกจากนี้ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบว่าคณะกรรมการที่พิจารณาการขึ้นบัญชียาแต่ละโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับบริษัทยาอย่าง ไรถ้าตรวจสอบรายละเอียดชัดเจนจะทำให้เห็นโครงสร้างกระบวนการทุจริตได้ครอบ คลุมมากขึ้น และ และากพบว่าคณะกรรมการ รพ.ของรัฐมีความสัมพันธ์กับบริษัทยาก็เป็นการขัดแย้งผลประโยชน์จะทำให้มี หลักฐานเชื่อมโยงได้ชัดขึ้น

ใน ขณะเดียวกันปปท.อยู่ก็ระหว่างการขอข้อมูลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลกรมบัญชีกลาง มีผู้ได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 4 ล้านคน ว่ามีจะขอดูว่าข้าราชการที่ที่เบิกเงินค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดที่ติด 1 ใน 1 หมื่นคน ที่เบิกเงินสูงสุดผิดปกติ หรือ มีคนที่เบิกบ่อยมากที่สุด เพื่อมาหาร่องรอยการทุจริต และสรุปทำรายงานกรมบัญชีกลางและเสนอรัฐบาล แนวทางการแก้ไขต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว 8 ราย ซึ่งมีการเบิกยารายละ 16 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ป.ป.ท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบร้านขายยาข้างโรงพยาบาล ซึ่งพบว่ามีบุคลากรของโรงพยาบาลนำไปขายให้ในราคาถูก 60-70% และตรวจสอบการซื้อขายยาในเว็บไซต์เพื่อสาวหาต้นตอว่ามีการลักลอบเอายาไปขายได้อย่างไร

นายภิญโญกล่าวว่าจากการตรวจสอบภาพรวมใหญ่ที่มีการทุจริตมากที่สุด คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบริษัทยา โดยมีมูลเหตุจูงใจสำคัญ คือ ค่าคอมมิชชันประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทปปท.ประมาณว่าค่าคอมมิชชั่นประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 30 % จากราคายาที่มีการซื้อขายกันทั้งหมด 4-5 หมื่นบาท และค่ายาส่วนใหญ่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท จะกระจายอยู่ในโรงพยาบาลหลักๆ คือ รพ.ระดับศูนย์ รพ.มหาวิทยาลัย มีประมาณ 100 แห่ง ซึ่งรพ.ระดับชุมชนไม่มีปัญหาเพราะจะใช้ยาในบัญชียาหลัก ส่วน ยานอกบัญชียาหลักซึ่งส่วนใหญ่เป้นยานอกประเทศที่มีราคาแพงไม่ค่อยได้ใช้ เพราะว่าถ้าคนไข้เป็นโรคที่ซับซ้อนรพ.ชุมชนก็ส่งมารักษาที่รพ.ขนาดใหญ่ รพ.ศูนย์หรือ รพ.มหาวิทยาลัย เช่นรพ.ศิริราช รพ.จุฬา รพ.รามาธิดีเป็นต้น

9718
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 สิงหาคม 2553 00:25 น
 
 กทม.เล็งเพิ่มบทบาทเทศกิจ จับเป็น "หมอทำคลอด-ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ-เข้าเฝือกอ่อน" พร้อมยกเครื่องรถพยาบาลฉุกเฉิน EMS ของกทม.ใหม่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เตรียมติด GPS หาพิกัดที่เกิดเหตุ คาดปีหน้าเห็นเป็นรูปธรรม

กทม.เล็งเพิ่มบทบาทเทศกิจ จับเป็น "หมอทำคลอด-ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ-เข้าเฝือกอ่อน" พร้อมยกเครื่องรถพยาบาลฉุกเฉิน EMS ของกทม.ใหม่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เตรียมติด GPS หาพิกัดที่เกิดเหตุ คาดปีหน้าเห็นเป็นรูปธรรม
       
       พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงแนวความคิดเทศกิจช่วยทำคลอด ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ที่ กทม.จะจัดทำเป็นโครงการขึ้น ว่า ในหลักการเบื้องต้นสำหรับโครงการเทศกิจจราจรช่วยทำคลอดเหมือนตำรวจจราจรโครงการพระราชดำรินั้น จะเป็นการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.ที่สมัครใจจะมาเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อให้มีความรู้และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันที เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากผู้ที่กำลังจะคลอดบุตรปวดท้องมากจนไม่สามารถที่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลได้
       
       พญ.มาลินี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายโปรแกรมที่ กทม.จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เทศกิจ เช่น การให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการโรคหัวใจเบื้องต้นในเวลาเร่งด่วน การช่วยเหลือผู้ป่วยขาหัก การเข้าเฝือกอ่อนให้เบื้องต้น การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกัน กทม.จะมีการปรับปรุงรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน EMS ของกทม.ใหม่เพื่อให้รอบรับกับภารกิจที่จะเกิดขึ้นว่า จะต้องมีความพร้อมอะไรบ้าง อาทิ จะมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อให้ทราบว่าจุดหมายอยู่บริเวณใด การจราจรเส้นทางดังกล่าว และโดยรอบเป็นอย่างไร รวมถึงรถ EMS อยู่บริเวณใดแล้วซึ่งจะมีศูนย์บัญชาการ (Command Center) คอยสั่งการและติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและวางแผนว่าจะมีขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างไร จะรับเทศกิจจำนวนเท่าไหร่ ใช้งบประมาณมากน้อยอย่างไร ซึ่งคาดว่าปี 2554 จะมองเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
       
       ด้าน นายศราวุธ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเราจะศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือศูนย์เอราวัณ และได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ เพราะกว่าจะมาถึงสถานที่เกิดเหตุแม้ปกติจะสามารถใช้เวลาเร็วสุดที่ 10 นาที แต่ถ้าหากมีบุคคลที่มีความรู้ เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือตำรวจ อยู่ที่จุดเกิดเหตุหรือบริเวณใกล้เคียงเข้าถึงได้เร็วกว่าก็จะให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ซึ่งจะช่วยผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยได้เยอะ ทั้งนี้ ทางสำนักการแพทย์จะหารือกับสำนักเทศกิจถึงความพร้อมในเรื่องดังกล่าวและจะจัดทำหลักสูตรการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าในอีก 2-3 เดือนนี้จะเริ่มฝึกอบรมได้

-------------------------------------------------------------------

ความหมายท้ายข่าว
นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระวงศ์   
21 ส.ค. 2010 09:43น.

จากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...

เทศกิจทำคลอดถือเป็นการบริการสาธารณสุข ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายนี้

ผู้ให้บริการจะต้อง จ่ายค่าคุ้มครองแก่กองทุนที่มีท่านสารี/ท่านดลพรหรือผู้แทนเป็นกรรมการ(ในกรณีที่สารีดลพรได้เป็นวุฒิสมาชิก) ด้วยอัตรา ดังต่อไปนี้

การเรียกเก็บค่าคุ้มครอง

๑.การบริการทำคลอดแล้วกลับบ้าน จ่ายค่าคุ้มครองรายละ๕บาท

๒.ทำคลอดแล้วส่งโรงพยาบาล จ่ายค่าคุ้มครองรายละ๘๐บาท

บทลงโทษผู้ให้บริการ

๑.มีความเสียหายต่อทารก เช่น ทำคลอดไม่สำเร็จทารกตายในระหว่างคลอด ตัวเย็น เลือดเป็นกรด ติดเชื้อ ดูดน้ำคร่ำออกจากปากและในคอไม่หมดทำให้สำลักน้ำคร่ำ กระดูกหัก ขาดออกซิเจน ส่งโรงพยาบาลช้าทำให้เกิดอันตราย ตาย ฯลฯ สุดแท้แต่จะหาข้ออ้าง

-ทารกเกิดก่อนกำหนด เช่น กระดูกหัก คอหัก แขนหัก ขาหัก จากการทำคลอด ตาบอดจากการให้ออกซิเจน หัวใจวายจากการขาดออกซิเจน เลือดเป็นกรดจากการขาดออกซิเจนแล้วเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด ตัวเย็นแล้วปอดไม่ทำงาน ตัวเย็นแล้วทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำแล้วช็อค ตาย ฯลฯ สุดแท้แต่จะหาข้ออ้าง

๒.มีความเสียหายแก่มารดา เช่น ตกเลือด ติดเชื้อ น้ำคร่ำเข้ากระแสเลือด มดลูกแตก ช่องทางคลอดฉีกขาดถึงลำไส้/รูทวาร กระเพาะปัสสาวะบาดเจ็บจากการคลอด ตายระหว่างการคลอด โรคพื้นฐานที่เป็นอยู่กำเริบจนเกิดความเสียหาย หลังจากการคลอดแล้วผู้คลอดรู้สึกอับอายเทศกิจที่ทำคลอดให้เป็นความเสียหายทางจิตใจ ฯลฯ สุดแท้แต่จะหาข้ออ้าง

ผู้ให้บริการ มีโอกาสรับผลของการทำคลอด ด้วยโทษทางแพ่งและอาญา เพราะเทียบได้กับสินค้าอันตราย

เมื่อมีความเสียหายแล้ว ผู้ได้รับความเสียหาย กรณีความเสียหายจากการคลอดนี้ จะได้รับค่าชดเชยสองเด้ง

๑.ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นไปจ้างทนายฟ้อง หรือหากไม่อยากจ่ายตังค์ก็ติดต่อเลขาธิการสภาทนายความ หากต้องการเร็วได้ผลสูง ติดต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

๒.ค่าชดใช้ความเสียหายการันตีอย่างน้อย๑ล้านบาทจากการฟ้องแพ่งหรือจากการกราบคารวะขอประนีประนอมยอมความจากผู้ให้บริการ

ที่ว่าสองเด้งนั้น เนื่องจากมีผู้เสียหายได้ทั้งสองคน อาจสี่เด้งเพราะความเสียหายมีทั้งกายและใจ

------พระเจ้าช่วยกล้วยทอด อามิตตาพุทธ ขอเอียะซือฮุกโจ้วช่วยคุ้มครองพี่เทศกิจด้วยเถิด------
   
 

9719
 ASTVผู้จัดการออนไลน์(20สค) - กฏหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่บังคับใช้มา 2 ปี ยังมีปัญหาเพียบ ผู้ประกอบการฉวยใช้เป็นเครื่องมือรุมฟ้องผู้บริโภค ขณะที่ระบบการจำแนกคดีทำให้การพิจารณาล่าช้า ภาระการพิสูจน์ยังตกอยู่ที่ผู้บริโภค และเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ สุดช้ำ “เหยื่อซานติก้า” ถูกทอดทิ้งสู้เพียงลำพัง
       
       ในงานสัมมนา ศาลอุธรณ์ ภาค 1 กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชนในวาระ ครบรอบ 20 ปีศาลอุธรณ์ ภาค 1 ได้จัดเวทีเสวนา “1 ปี กับคดีผู้บริโภค : ใครได้ใครเสีย” เมื่อ วันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), นายประมวญ รักศิลธรรม ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ภาค 1, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายสุวิทย์ หมื่นเดช ผู้จัดการฝ่ายป้องกันการทุจริตบัตรเครดิตบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด เข้าร่วมเสวนา
       
       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา กล่าว ถึงปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคว่า ถึงแม้ว่าหลักการและแนวคิดของกฎหมายนี้จะเน้นขยายความคุ้มครองผู้บริโภคให้ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม แต่การบังคับใช้ กฎหมายที่ผ่านมานั้น การวินิจฉัยประเภทคดีว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี
       
       ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะยื่นฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการก็จะอ้างว่าคดีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภค เรื่องดังกล่าวก็ต้องถูกส่งไปให้ศาลอุธรณ์วินิจฉัยก่อนว่าเข้าข่ายคดีผู้ บริโภคหรือไม่ การพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นก็ต้องหยุดลงเพื่อรอคำวินิจฉัยออกมาก่อน เพราะการแยกประเภทคดีจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินคดีและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ใช่คดีผู้บริโภคก็จะต้องมีการเสียค่าธรรมการยื่นฟ้องแพ่ง ซึ่งความล่านี้ส่งผลต่ออายุความตามกฎหมาย
       
       อีกปัญหาก็คือการตีความ ประเภทคดีที่เกี่ยวพันกันว่าเกี่ยวพันกันหรือไม่ ซึ่งอาจมีความคาบเกี่ยวกันเช่น คดีแพ่งที่ฟ้องผู้ประกอบการเป็นคดีผู้บริโภคนั้น จะคาบเกี่ยวถึง พ.ร.บ.ความรับผิดอีกหรือไม่ ซึ่งต้องส่งให้ ศาลอุธรณ์พิจารณาอีกเช่นกัน
       
       นายสุรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็น เรื่องเขตอำนาจศาลตามมาตรา 17 ที่ว่าให้ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิด ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นโจทก์ให้ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนา เรื่องนี้ดูเหมือนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แต่กลับกลายเป็นว่า สร้างภาระ เพราะคนทั่วไปไม่ได้ทำงานอยูในภูมิลำเนาของตัวเอง บางคนทำงานอยู่กรุงเทพแต่ถูกฟ้องศาล และศาลได้ส่งเอกสารไปภูมิลำเนาที่บ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ก็ต้องกลับไปขึ้นศาลที่ต่างจังหวัด ตรงจุดนี้ควรจะต้องแก้ปัญหา ให้ตีความคำว่าภูมิลำเนาในความหมายอื่นด้วย
       
       “อีกปัญหาที่พบก็คือการ ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี ตามมาตรา 20 เจ้าพนักงานคดียังน้อยและไม่มีความพร้อม ซึ่งตามกฎหมายนั้นให้บทบาทเจ้าพนักงานคดีเด่นมากแต่ปัจจุบันยังไม่มี"
       
       นอกจากนั้น กฎหมายมาตรา 44 ว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบของนิติบุคคล หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น ถือเป็นข้อกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สิทธิ อย่างกรณี ของซานติก้า ศาลชั้นต้นรับฟ้องและมีคำสั่งให้สืบไปถึงผู้ถือหุ้นของซานติก้า ผู้บริโภคจึงต้องส่งค่านำหมายให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการนำหมายส่งไปแล้วกว่า 10,000 บาท ซึ่งผู้บริโภคต้องออกเอง แต่ภายหลังมีการยกเลิกคำสั่ง ภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงตกอยู่กับผู้บริโภค และไม่สามารถเรียกคืนได้
       
       "ระบบการสืบพยานเป็นระบบไต่สวนศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้ เองตาม มาตรา 33 และ 34 แต่ศาลก็ยังไม่มีกระบวนการใช้ส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่" นายสุรชัย กล่าว
       
       ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว ถึงปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ว่าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคไปทั้งหมด 169 คดี แบ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะ 94 คดี ประกันภัย 51 คดี สุขภาพ 6 คดี อสังหาริมทรัพย์ 5 คดี มาตรฐานสินค้า 3 คดี โทรคมนาคม 3 คดี คุณภาพบริการ 2 คดี และสัญญาเช่าซื้ออีก 2 คดี
       
       “ปัญหาที่เราพบก็คือความไม่เพียงพอของเจ้าพนักงานคดี ถือเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จริงตามวัตถุประส่งค์และเจต นารามณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโดยศาลเป็นผู้สืบพยาน ซึ่งเป็นภาระของศาล ทางศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 นี้มอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีทำแทนในเรื่องต่างๆ ตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกา เพื่อสืบเสาะหรือพิสูจน์ให้ได้มาซึ่งพฤติกรรมและพฤติการณ์ของคู่กรณีว่ามี ความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ แต่ปัจจุบันการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ยังตกเป็นของผู้บริโภคเช่นเดิม
       
       "ผู้บริโภค ต้องรับภาระส่งหมายเรียกพยานบุคคคล พยานหลักฐาน รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมการนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายนัดไปยังคู่กรณีเองอย่างกรณีซานติก้าที่ต้องส่งถึงผู้ถือหุ้น 30 คน ต้องเสียเงินกว่า 10,000 บาท” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
       
       เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความแตกต่างการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกันของศาลแต่ละคดี ในการพิจารณาคำร้องผู้บริโภคที่ใช้สิทธิตามมาตรา 44 ที่จะรับพิจารณาคำร้องหรือไม่รับ กรณีตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และซานติก้าผับ ที่บางศาลจะไม่รับคำร้องหรือรับเป็นบางราย เพื่อไต่สวนเพราะคิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งผู้ถือหุ้นและเป็นการเสียเวลา เป็นต้น ทั้งที่ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิชี้แจงและยืนยันการใช้สิทธิตามมาตรานี้แล้ว และเป็นการใช้สิทธิผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
       
       “ส่วนเรื่องการไม่ต้องใช้ทนายความนั้น เห็นว่าไม่เป็นจริง เพราะ บางคดีมีความซับซ้อน ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีทนายเพื่อดำเนินคดีอย่างคดีทางการแพทย์ หรือคดีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องแย้งและต้องทำคำให้การกลับไป และผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายฉบับนี้ได้จริง เช่น การเขียนคำฟ้อง คำร้อง คำเบิกความ หรืออื่นๆ ได้เองทุกเรื่อง จำเป็นต้องมีทนาย” นางสาวสารี กล่าว
       
       สำหรับความความหวังของผู้บริโภคต่อการพิจารณาคดีในกฎหมายนี้ นางสาวสารี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังก็คือความรวดเร็ว และการมีบรรทัดฐานในการตัดสินคดีที่เป็นแบบเดียวกันของศาล เพราะพบว่าถึงแม้จะเป็นคดีเดียวกันแต่การตัดสินต่างกัน และอยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ได้อย่างแท้ จริง
       
       ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว พบว่า กว่า 2 ปีแล้วที่กฎหมายได้มีผลบังคับใช้ ปรากฏว่า ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 คือผู้ประกอบการ ห้างร้าน บริษัท ฯลฯ ที่ใช้สิทธิไล่เบี้ยประชาชนผู้บริโภค และมีผู้บริโภคจำนวนไม่มากนักที่ใช้สิทธิปกป้องตนเองตามพระราชบัญญัติฉบับ นี้
       
       อีกทั้งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิเองต่างพบเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เป็นไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีทนายความในการดำเนินคดี , ความล่าช้าในการวินิจฉัยของศาล , การพิจารณาคดีในระบบไต่สวนของศาล , การมีเจ้าพนักงานคดีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย , การไม่ได้รับการยกเว้นค่านำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในศาลชั้นต้น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภคตามเจตนารมณ์และ วัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว
       
       อนึ่ง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจัดงาน ประชุม “สภาปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม : กรณี 2 ปี พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551” ณ ห้องประชุมนนทรี โรงแรม ทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ 15 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เวลา 08.30-16.30 น.

9720
ปลัด สธ. เตรียมนัดกรมบัญชีกลาง -สปสช. -โรงพยาบาลในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกเสตนท์ ระบุยังไม่สามารถกำหนดวันเวลาได้
       
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่กรมบัญชีกลางปรับลดเพดานเบิกจ่ายโครงลวดค้ำยันหลอดเลือด หัวใจตีบ หรือสเตนท์ให้เท่ากับราคาใหม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดประมูลได้ในราคาถูกหลายเท่าตัวจนทำให้สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอด เลือดไม่พอใจเพราะไม่สามารถจัดซื้อสเตนท์จากบริษัทอื่นได้ในท้องตลาด เนื่องจากระบบการซื้อของกรมบัญชีกลาง และสปสช.แตกต่างกันว่า เนื่องด้วยแพทย์ที่รักษาคนไข้นั้นจะเรียกว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์อย่างเดียวแต่ต้องอาศัยความรู้ ด้านศิลปะประกอบกัน ดังนั้นการจะปรับเปลี่ยนอะไรต้องเป็นความเห็นของหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกรม บัญชีกลาง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสปสช. ซึ่งจะมีการหารือกันก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไปซึ่งหากกรมบัญชีกลางจะมี การประกาศใช้จริง สธ.ก็พร้อมช่วยเหลือโดยจะมอบหมายให้ อภ. เป็นผู้ดำเนินการประมูลสเตนท์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เพื่อใช้กับผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้วันและเวลาในการหารือเรื่องดังกล่าวคงไม่สามารถระบุได้ แต่ก็ต้องมีการดำเนินการอย่างแน่นอน

ด้านภญ.ซึ้งกมล ศรีอารัญญ์ รองผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า หากกรมบัญชีกลางมีหนังสือให้ดำเนินการเรื่องนี้ ทางอภ.ก็สามารถจัดประมูลได้ทันที อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าต้องใช้สเตนท์จำนวนเท่าไรทำให้ไม่ สามารถคำนวณราคาประมูลได้ ดังนั้นต้องรอดูก่อนว่ามีความชัดเจนมากเพียงใดจึงจะสามารถดำเนินการได้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้มีการเลื่อนการประกาศปรับลดเพดานสเตนท์จากเดิมเริ่ม ใช้วันที่ 2 ส.ค. ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย ส่วนความเป็นมาในการปรับลดราคากลางสเตนท์ของสปสช. ซึ่งได้มีการปรับราคากลางสเตนท์ใหม่โดยแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาอุปกรณ์หัวใจ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมีการประชุมคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสำรวจการใช้สเตนท์ในโรงพยาบาลหลังจากนั้นได้ประกาศลดราคาสเตนท์ โดยจัดซื้อในระยะที่ 1 (1 ธ.ค.2552-ก.พ. และขยายต่อ 30 มิ.ย.2553)และจัดซื้อ ระยะที่ 2 (1 ก.ค.-31 ธ.ค.2553) ซึ่งสามารถประมูลได้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลางคือ สเตนท์ชนิดไม่เคลือบยาได้ชุดละ 5,400 บาท จากเดิม 35,000 บาท และสเตนท์ชนิดเคลือบยาได้ชุดละ 23,400 บาท จากเดิม 85,000 บาทซึ่งผลการดำเนินงาน 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 260 ล้านบาท

หน้า: 1 ... 646 647 [648] 649 650 ... 655