ผู้เขียน หัวข้อ: 2ปีกฎหมายฟ้องคดีผู้บริโภคปัญหาเพียบ นายทุนฉวยใช่เอาคืน  (อ่าน 1848 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 ASTVผู้จัดการออนไลน์(20สค) - กฏหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่บังคับใช้มา 2 ปี ยังมีปัญหาเพียบ ผู้ประกอบการฉวยใช้เป็นเครื่องมือรุมฟ้องผู้บริโภค ขณะที่ระบบการจำแนกคดีทำให้การพิจารณาล่าช้า ภาระการพิสูจน์ยังตกอยู่ที่ผู้บริโภค และเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ สุดช้ำ “เหยื่อซานติก้า” ถูกทอดทิ้งสู้เพียงลำพัง
       
       ในงานสัมมนา ศาลอุธรณ์ ภาค 1 กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชนในวาระ ครบรอบ 20 ปีศาลอุธรณ์ ภาค 1 ได้จัดเวทีเสวนา “1 ปี กับคดีผู้บริโภค : ใครได้ใครเสีย” เมื่อ วันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), นายประมวญ รักศิลธรรม ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ภาค 1, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายสุวิทย์ หมื่นเดช ผู้จัดการฝ่ายป้องกันการทุจริตบัตรเครดิตบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด เข้าร่วมเสวนา
       
       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา กล่าว ถึงปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคว่า ถึงแม้ว่าหลักการและแนวคิดของกฎหมายนี้จะเน้นขยายความคุ้มครองผู้บริโภคให้ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม แต่การบังคับใช้ กฎหมายที่ผ่านมานั้น การวินิจฉัยประเภทคดีว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี
       
       ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะยื่นฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการก็จะอ้างว่าคดีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภค เรื่องดังกล่าวก็ต้องถูกส่งไปให้ศาลอุธรณ์วินิจฉัยก่อนว่าเข้าข่ายคดีผู้ บริโภคหรือไม่ การพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นก็ต้องหยุดลงเพื่อรอคำวินิจฉัยออกมาก่อน เพราะการแยกประเภทคดีจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินคดีและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ใช่คดีผู้บริโภคก็จะต้องมีการเสียค่าธรรมการยื่นฟ้องแพ่ง ซึ่งความล่านี้ส่งผลต่ออายุความตามกฎหมาย
       
       อีกปัญหาก็คือการตีความ ประเภทคดีที่เกี่ยวพันกันว่าเกี่ยวพันกันหรือไม่ ซึ่งอาจมีความคาบเกี่ยวกันเช่น คดีแพ่งที่ฟ้องผู้ประกอบการเป็นคดีผู้บริโภคนั้น จะคาบเกี่ยวถึง พ.ร.บ.ความรับผิดอีกหรือไม่ ซึ่งต้องส่งให้ ศาลอุธรณ์พิจารณาอีกเช่นกัน
       
       นายสุรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็น เรื่องเขตอำนาจศาลตามมาตรา 17 ที่ว่าให้ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิด ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นโจทก์ให้ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนา เรื่องนี้ดูเหมือนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แต่กลับกลายเป็นว่า สร้างภาระ เพราะคนทั่วไปไม่ได้ทำงานอยูในภูมิลำเนาของตัวเอง บางคนทำงานอยู่กรุงเทพแต่ถูกฟ้องศาล และศาลได้ส่งเอกสารไปภูมิลำเนาที่บ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ก็ต้องกลับไปขึ้นศาลที่ต่างจังหวัด ตรงจุดนี้ควรจะต้องแก้ปัญหา ให้ตีความคำว่าภูมิลำเนาในความหมายอื่นด้วย
       
       “อีกปัญหาที่พบก็คือการ ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี ตามมาตรา 20 เจ้าพนักงานคดียังน้อยและไม่มีความพร้อม ซึ่งตามกฎหมายนั้นให้บทบาทเจ้าพนักงานคดีเด่นมากแต่ปัจจุบันยังไม่มี"
       
       นอกจากนั้น กฎหมายมาตรา 44 ว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบของนิติบุคคล หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น ถือเป็นข้อกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สิทธิ อย่างกรณี ของซานติก้า ศาลชั้นต้นรับฟ้องและมีคำสั่งให้สืบไปถึงผู้ถือหุ้นของซานติก้า ผู้บริโภคจึงต้องส่งค่านำหมายให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการนำหมายส่งไปแล้วกว่า 10,000 บาท ซึ่งผู้บริโภคต้องออกเอง แต่ภายหลังมีการยกเลิกคำสั่ง ภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงตกอยู่กับผู้บริโภค และไม่สามารถเรียกคืนได้
       
       "ระบบการสืบพยานเป็นระบบไต่สวนศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้ เองตาม มาตรา 33 และ 34 แต่ศาลก็ยังไม่มีกระบวนการใช้ส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่" นายสุรชัย กล่าว
       
       ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว ถึงปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ว่าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคไปทั้งหมด 169 คดี แบ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะ 94 คดี ประกันภัย 51 คดี สุขภาพ 6 คดี อสังหาริมทรัพย์ 5 คดี มาตรฐานสินค้า 3 คดี โทรคมนาคม 3 คดี คุณภาพบริการ 2 คดี และสัญญาเช่าซื้ออีก 2 คดี
       
       “ปัญหาที่เราพบก็คือความไม่เพียงพอของเจ้าพนักงานคดี ถือเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จริงตามวัตถุประส่งค์และเจต นารามณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโดยศาลเป็นผู้สืบพยาน ซึ่งเป็นภาระของศาล ทางศาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 นี้มอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีทำแทนในเรื่องต่างๆ ตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกา เพื่อสืบเสาะหรือพิสูจน์ให้ได้มาซึ่งพฤติกรรมและพฤติการณ์ของคู่กรณีว่ามี ความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ แต่ปัจจุบันการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ยังตกเป็นของผู้บริโภคเช่นเดิม
       
       "ผู้บริโภค ต้องรับภาระส่งหมายเรียกพยานบุคคคล พยานหลักฐาน รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมการนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายนัดไปยังคู่กรณีเองอย่างกรณีซานติก้าที่ต้องส่งถึงผู้ถือหุ้น 30 คน ต้องเสียเงินกว่า 10,000 บาท” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
       
       เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความแตกต่างการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกันของศาลแต่ละคดี ในการพิจารณาคำร้องผู้บริโภคที่ใช้สิทธิตามมาตรา 44 ที่จะรับพิจารณาคำร้องหรือไม่รับ กรณีตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และซานติก้าผับ ที่บางศาลจะไม่รับคำร้องหรือรับเป็นบางราย เพื่อไต่สวนเพราะคิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งผู้ถือหุ้นและเป็นการเสียเวลา เป็นต้น ทั้งที่ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิชี้แจงและยืนยันการใช้สิทธิตามมาตรานี้แล้ว และเป็นการใช้สิทธิผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
       
       “ส่วนเรื่องการไม่ต้องใช้ทนายความนั้น เห็นว่าไม่เป็นจริง เพราะ บางคดีมีความซับซ้อน ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีทนายเพื่อดำเนินคดีอย่างคดีทางการแพทย์ หรือคดีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องแย้งและต้องทำคำให้การกลับไป และผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายฉบับนี้ได้จริง เช่น การเขียนคำฟ้อง คำร้อง คำเบิกความ หรืออื่นๆ ได้เองทุกเรื่อง จำเป็นต้องมีทนาย” นางสาวสารี กล่าว
       
       สำหรับความความหวังของผู้บริโภคต่อการพิจารณาคดีในกฎหมายนี้ นางสาวสารี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังก็คือความรวดเร็ว และการมีบรรทัดฐานในการตัดสินคดีที่เป็นแบบเดียวกันของศาล เพราะพบว่าถึงแม้จะเป็นคดีเดียวกันแต่การตัดสินต่างกัน และอยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ได้อย่างแท้ จริง
       
       ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว พบว่า กว่า 2 ปีแล้วที่กฎหมายได้มีผลบังคับใช้ ปรากฏว่า ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 คือผู้ประกอบการ ห้างร้าน บริษัท ฯลฯ ที่ใช้สิทธิไล่เบี้ยประชาชนผู้บริโภค และมีผู้บริโภคจำนวนไม่มากนักที่ใช้สิทธิปกป้องตนเองตามพระราชบัญญัติฉบับ นี้
       
       อีกทั้งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิเองต่างพบเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เป็นไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีทนายความในการดำเนินคดี , ความล่าช้าในการวินิจฉัยของศาล , การพิจารณาคดีในระบบไต่สวนของศาล , การมีเจ้าพนักงานคดีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย , การไม่ได้รับการยกเว้นค่านำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในศาลชั้นต้น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภคตามเจตนารมณ์และ วัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว
       
       อนึ่ง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจัดงาน ประชุม “สภาปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม : กรณี 2 ปี พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551” ณ ห้องประชุมนนทรี โรงแรม ทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ 15 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เวลา 08.30-16.30 น.