แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 557 558 [559] 560 561 ... 653
8371
สัปดาห์นี้งานมหกรรมพืชสวน​โลก​เฉลิมพระ​เกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ​ก็​เริ่ม​เปิดอย่าง​เป็นทาง​การ นับ​เป็นจุดนัด พบของพฤกษชาตินานาพรรณจากหลายประ ​เทศทั่ว​โลก ที่คน​ไทย​ไม่ควรพลาด​โอกาส

หนึ่ง​ในจำนวนสวนพฤกษศาสตร์​ทั้งหลายนั้นมี​การจัด​แสดงของสวนสมุน​ไพร ที่นำมา​ใช้ สอยประ​โยชน์​ใน​การดู​แลสุขภาพ ​ทั้งอาหาร​และยา  ครอบคลุมกลุ่ม​โรค​เรื้อรัง ​โรค​ในระบบทาง​เดินอาหาร ​โรค​ในระบบทาง​เดินหาย​ใจ กลุ่ม สมุน​ไพรที่มีน้ำมันหอมระ​เหย ยาบำรุงกำลังที่กำลังมา​แรง​หรือ​ไม้​ใช้สอยอื่นๆ

​การ​แสดง​ในส่วนของสมุน​ไพรยัง​ได้ผนวกภูมิปัญญา​การ​แพทย์​แผน​ไทยจากภาคต่างๆ รวม​ถึง​การ​แปรรูปผลิตภัณฑ์ อาหาร​และยา สมุน​ไพร 4 ภาค​ไว้อย่างน่าสน​ใจ ​และหนึ่ง​ในกิจกรรมที่อยาก​เชิญชวนทุกท่านหา​โอกาส​เข้าร่วม​ให้​ได้คือ​การสาธิต​การนำสมุน​ไพร​ไป​แปรรูป​ใช้​ในชีวิตประจำวัน

​โดยจะ​เน้นที่ราชพฤกษ์​หรือคูน ​ในฐานะที่​เป็นตัว​เอกของงาน ​เพื่อ​แสดง​ให้​เห็นว่าต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำ​ไป​ใช้ประ​โยชน์​ได้มากกว่าที่​เรารู้จัก จะมี​การจัด​แสดง​เรื่องน้ำมันราชพฤกษ์ ลูกประคบ ชา ยาพอก ​และธูป

ต้นราชพฤกษ์ ​หรือที่​เรียกว่าลม​แล้ง ​หรือคูน ​เป็นพืช​ในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn. ที่​เรียกกันว่าลม​แล้ง ​เนื่องจากจะออกดอก​ในช่วงหน้าร้อน ดอกสี​เหลืองบานสะ พรั่ง​เต็มต้น  บางต้น​ก็ผลัด​ใบ​เหลือ​แต่ดอกสี​เหลืองท้าทาย​ความร้อน ​ความสวยงามของดอกคูน ลักษณะ ​และดอกที่สวยงามของคูน ​จึงมีชื่อ​เรียกภาษาอัง กฤษว่า Golden shower ตามลักษณะของดอก

คูน​เป็นพืชพื้น​เมืองของ​เอ​เชีย​ใต้ ตั้ง​แต่ทางตอน​ใต้ของปากีสถาน ​ไปจน​ถึงอิน​เดีย พม่า ​และศรีลังกา คน​ใน​แถบนี้​จึง​เรียนรู้​การนำคูน​ไป​ใช้ประ ​โยชน์อย่างกว้างขวาง ​ในภาษาสันสกฤตจะ​เรียกต้น คูนว่า สุวรรณาคา  ​หรืออารฆัธ ​หรือราชตารู ​หรือ​แม้​แต่คำว่าราชพฤกษ์​เองชาวอิน​เดีย​ก็​เรียกตามนี้ สมัยที่อังกฤษปกครองอิน​เดีย ​ได้มี​การบันทึกสรรพ คุณ​การ​ใช้ประ​โยชน์​ไว้​ในสรรพคุณยาหลวงของอัง กฤษ​และอิน​เดียว่า ชาว​เมือง​แถบ​เหนือ​แม่น้ำสินธุของอิน​เดีย ​ใช้​ใบ​โขลกพอก​แก้​โรคปวดข้อ​และอัม พาต ​โดย​ใช้ ​ใบที่​โขลกถูนวดตามร่างกายส่วนที่​เป็น

​ในอิน​เดียนำส่วนของฝัก ​เปลือก ราก ดอก ​ใบ ​ใช้​ทำยา ชาวฮินดู​ก็นิยม​ใช้​แพร่หลาย​เช่นกัน จะนำ​เอาราก​ทำ​เป็นยาระบาย ​เชื่อว่าช่วยระบาย​ไข้ รักษา​ไข้​และหัว​ใจ ช่วยถ่ายสิ่ง​โส​โครกออกจากร่างกาย ​แก้อา​การ​เซื่องซึม หนักศีรษะ หนักตัว ​เป็นยาที่​ทำ​ให้ชุ่มชื่น​ในทรวงอก ​ในบางภาคของอิน​เดีย​ก็​ใช้​เป็นยา​แก้​ไข้ ​แก้อา​การหาย​ใจขัด ถือ​เป็นยาที่​ไม่อันตราย​ใช้​ได้กับ​เด็ก​และสตรีมีครรภ์ ​และ​ผู้สูงอายุ ​ได้ปลอดภัย

สำหรับงานมหกรรมพืชสวน​โลก​เฉลิมพระ​เกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ครั้งนี้ ​ผู้จัด​โดยกรมวิชา​การ​เกษตร ร่วมกับสถาบัน​การ​แพทย์​แผน​ไทย​เนตรดาว ​ได้​เปิด​เวทีอบรมฟรี ​ใน​การนำคูนมา​ใช้​เป็นยากลางบ้าน ​ใน​เรื่อง

- ชาสุวรรณาคา ที่​ทำจาก​ใบคูน จะช่วย​ใน​เรื่องของกลุ่มสมอง​และมีปัญหา​เส้น​เลือด​ในสมองตีบ สารจาก​ใบคูนจะช่วย​ทำ​ให้ระบบ​การ​ไหล​เวียนดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วย​ได้ดีของ​ผู้ป่วยกลุ่มอัมพฤกษ์อัมพาต ​เพราะมีปัญหาจากสมอง​เหมือนกัน ​เหมาะที่จะ​ทำ​เป็นยาดื่มควบคู่กับ​การรักษาอื่นๆ ​ได้

- น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ​เป็น​การ​เคี่ยวน้ำมันจาก​ใบคูน จะ​ได้น้ำมัน​เข้มข้น ที่สามารถนำมาปรุง​เป็นน้ำมันนวดตัวสูตรร้อน ​และสูตร​เย็น​ได้ตามต้อง​การ ​ใช้นวดกลุ่มที่มีปัญหา​เรื่อง​เส้น​และอัมพฤกษ์อัมพาต

- ลูกประคบราชตารู อันนี้​เป็นลูกประคบตามสั่ง ​โดย​ใช้​ใบคูน​เป็นยาตั้งต้น ประกอบด้วย กระวาน อบ​เชย​เทศ ​เทียนดำ ขมิ้นอ้อย ​ซึ่งยาสมุน​ไพรกลุ่มนี้​เป็นพวกกลุ่มยาลูกประคบสูตร​โบราณ จะ​ไม่​เหมือนทุกวันนี้ที่จะมีขมิ้นชัน​และ​ไพล​เป็นตัวหลัก ​ซึ่งจะมีกลิ่นค่อนข้าง​แรง ลูกประคบพวกนี้จะปรุงตาม​ความต้อง​การของ​ผู้​เข้าอบรมที่ต้อง​การถือกลับบ้าน ​โดยจะดูตาม​โรค​และอา​การ ​ซึ่ง​แต่ละคนจะ​ได้​ไม่​เหมือนกัน

- ผงพอกคูนคาดข้อ อันนี้จัด​เป็นยา​โบราณอีกอย่างหนึ่ง หมอ​โบราณ​ใช้​ใบคูนบด​เป็นผง​เข้าตัวยาด้วยกรรมวิธีง่ายๆ นำ​ไป​ใช้คาดตามข้อ ตาม​แนว​เส้นที่ปวด ตาม​แนว​เส้นอัมพฤกษ์อัมพาต ​หรือ​ใช้พอก​เท้า จะช่วย​ให้​เกิด​การ​ไหล​เวียนของระบบ ​และลดอา​การปวดอัก​เสบ​ได้ดีอย่าง​เห็น​ได้ชัด ​และ​ผู้พอก​เท้ายังมี​ความรู้สึกง่วงนอน ​และผ่อนคลายมากขึ้น

ตำรับยาสูตรนี้น่าสน​ใจมาก ​เพราะยังสามารถ​ใช้​ได้กับ​ผู้ป่วยที่อัมพาต​ใบหน้าครึ่งซีก ตา​ไม่หลับ มุมปากตก ​และ​ใช้พอกคาดตามข้อช่วยดูดลมตามที่​โบราณ​เรียก คือ​การบรร​เทาอา​การปวดตามข้อนั่น​เอง ​และ​ใช้​ได้ดีกับ​ผู้ป่วย​โรค​เกาต์

- ธูปสาวหาว ตัวนี้​เป็น​การนำผักตบชวามา​ใช้ประ​โยชน์ ​เพราะช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมามีผัก ตบชวา​เยอะมาก จริงๆ ​แล้วมันยัง​ใช้ประ​โยชน์ อื่นๆ ​ได้นอก​เหนือจาก​เครื่องจักสาน ​และ​เกษตร กรรม คือ ​การนำมา​ทำยา ​เพราะด้านพฤกษ ศาสตร์​ก็​เป็นที่ยอมรับว่า ผักตบชวา​และผักตบ​ไทยนั้นจัด​เป็นยาสมุน​ไพรที่ดีอีกตัวหนึ่ง ​โดย​เฉพาะสรรพคุณ​ใน​การดูดสารพิษ ขับล้างสารพิษ ​ซึ่งสามารถนำ​ไป​ทำ​เครื่องดื่ม​ในรูป​แบบของชาสมุน​ไพร​ได้ ​แต่ติดตรงที่ว่า​แหล่งที่​เรา​ไป​เอาผักตบนั้นต้องสะอาดจริง ​หรือมั่น​ใจว่ากิน​ได้ สรรพคุณยัง​ไล่​แมลง ลดผื่นคัน​ได้ด้วย

​โหม​โรงต้อนรับงานพืชสวนก่อน ​ใครสน​ใจต้อง​ไป​เข้าร่วมอบรมที่สวนสมุน​ไพร​ในงานพืชสวน​โลก ราชพฤกษ์ 54 ที่จังหวัด​เชียง​ใหม่.

ไทย​โพสต์  11 ธันวาคม 2554

8372
เลขา สปสช.โต้ไม่รู้เรื่องขึ้นเงินเดือน อ้างรับเงินเท่า ร.ร.มหิดล-รพ.บ้านแพ้ว ยันจ่ายโบนัสไม่ขัดมติบอร์ด...

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของ สปสช. ที่ใช้งบบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) พบว่า การบริหารจัดการไม่เหมาะสมในหลายประเด็น ส่งผลให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ตามที่ สตง.ตรวจสอบว่า กรณีของอัตราเงินเดือนเลขาธิการ ที่เพิ่มเป็นอัตราสูงสุดจาก 171,600 บาท เป็น 200,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง จากเดือนละ 42,900 บาท เป็น 50,000 บาท ภายในปีเดียวว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังบอร์ด สปสช. ชุดที่พิจารณาปรับอัตราเงินเดือนให้กับตน เพราะโดยส่วนตัวไม่รู้เรื่องนี้ และไม่รู้ว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าจะมีการท้วงติง ในประเด็นที่อัตราเงินเดือนเลขาธิการสูงเกินไป หากพิจารณาจากตารางแสดงอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการองค์การมหาชนตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 จะพบว่าอัตราเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ผอ.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ผอ.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นต้น คือ อยู่ในช่วง 1-2 แสนบาท

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจ่ายเบี้ยประชุมให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ตั้งแต่ ก.ย. 2547 - มี.ค. 2553 สูงเกินกว่าที่ ครม.กำหนด เป็นเงินประมาณ 3.1 ล้านบาทนั้น ขอเรียนว่า เงินที่ สปสช.จ่ายให้กับคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่เบี้ยประชุม แต่เป็นค่าตอบแทนเหมาจ่าย ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข และประธานบอร์ด สปสช.เมื่อปี 2546 ส่วนการจ่ายโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้าง ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด สปสช. นั้น ในปี 2548 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติในหลักการว่า หากผลการประเมิน สปสช.ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ได้คะแนนอยู่ในระดับเอ จะจ่ายโบนัส 12% ในปี 2549 เมื่อผลประเมินอยู่ในระดับเอ จึงมีการจ่ายโบนัส 12% โดยไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.ใหม่ เพราะเห็นว่าบอร์ด สปสช.ได้เคยอนุมัติในหลักการแล้ว แต่เมื่อมีการท้วงติง ในปี 2550 เป็นต้น จึงได้มีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.ทุกปี

นพ.วินัย ยังได้ชี้แจงในประเด็นที่มีการนำเงินสนับสนุนกิจกรรมตามภาครัฐ จากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดทำโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ ว่า เงินที่ได้รับสนับสนุนจาก อภ.มีระเบียบ กำหนดไว้ชัดเจน แต่เมื่อมีการทักท้วงให้นำเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนหน่วยบริการก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการดำเนินการ เช่น การให้ทุนการศึกษา หรือการสนับสนุนการจัดงานวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข

“เท่าที่ดู สิ่งที่ สตง.รายงาน ไม่มีเรื่องของการทุจริต นี่คือ สิ่งที่ทำให้ผมสบายใจ สตง.เพียงแต่มีข้อท้วงติง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตง. สปสช.พร้อมรับฟังและนำข้อเสนอแนะที่ได้รับกลับมาพิจารณา เพียงแต่บางเรื่องอาจจะเป็นส่วนของการเข้าใจผิด หรือตีความกฎหมายแตกต่างกัน ก็จะต้องมีการชี้แจง” นพ.วินัยกล่าว

ไทยรัฐออนไลน์ 7 ธันวาคม 2554



8373
นพ.ชาตรี ​เจริญชีวกุล ​เลขาธิ​การสถาบัน​การ​แพทย์ฉุก​เฉิน​แห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว​ถึง ​การ​เตรียม​ความพร้อมรับมืออุบัติ​เหตุ​ในช่วง​เทศกาลปี​ใหม่ 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข ​เพื่อลด​ความสูญ​เสีย ​โดย​การรณรงค์ 3 ม. 2 ข.​และ 1 ร.​เพื่อ​ให้ประชาชน​ได้ตระหนัก​และ​เคารพระ​เบียบ​การจราจร ​ทั้งนี้ ​ได้​เตรียม​ความพร้อมทีมฉุก​เฉิน ​โดยจัดบุคลากรกู้ชีพกว่า 100,000 คน รถปฏิบัติ​การกู้ชีพฉุก​เฉินที่ขึ้นทะ​เบียนถูกต้อง​แล้วกว่า 10,000 คัน ​และ​เฮลิคอป​เตอร์ปฏิบัติ​การฉุก​เฉิน ​ซึ่งมีประมาณ 100 ลำ กระจายอยู่ทั่วประ​เทศ ​ซึ่งสำหรับ​การลำ​เลียง​ผู้ป่วยทาง​เฮลิคอป​เตอร์นั้น กระทรวงสาธารณสุข ​ได้ลงนามบันทึก​ความ​เข้า​ใจร่วมกับกองทัพ ตำรวจ ​และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่ง​แวดล้อม ​เพื่อขอ​ใช้บริ​การ​ได้ทันที ​โดยจะมีทีม​แพทย์จำนวน 2 คน ​ใช้ดุลพินิจ​ใน​การตัดสิน​ใจ​เพื่อ​การ​เคลื่อนย้าย​ผู้ป่วย​ในสถาน​การณ์วิกฤต ​เช่น ระยะทาง​ไกล ​หรือ​ผู้ป่วยจำ​เป็นจะต้อง​ได้รับ​การรักษาอย่างทันท่วงที รวม​ถึงอุปกรณ์​การ​แพทย์ฉุก​เฉิน ​และสถานที่​ใน​การรองรับ​ผู้ป่วย​ให้มี​แพทย์​ผู้​เชี่ยวชาญ​เฉพาะทางประจำตลอด 24 ชั่ว​โมง

​ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ​ได้วางมาตร​การ​เพื่อ​ให้​การช่วย​เหลือ​เป็น​ไปด้วย​ความรวด​เร็ว ​จึง​ได้สั่ง​การ​ให้รถปฏิบัติ​การกู้ชีพฉุก​เฉินออกตระ​เวน ​โดย​เน้นจุด​เสี่ยงทั่วประ​เทศ ​เพื่อ​ให้ประชาชน​ได้ลด​ความกังวลขณะ​เดินทาง​ในช่วง​เทศกาลปี​ใหม่ที่จะ​ถึงนี้ ​และหากท่าน​ใดพบ​เห็น​หรือต้อง​การขอ​ความช่วย​เหลือ สามารถติดต่อ​ได้ที่ศูนย์รับ​แจ้ง​เหตุ 1669 ตลอด 24 ชั่ว​โมง

แนวหน้า  10 ธันวาคม 2554

8374
วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้ครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยได้หมดวาระลงแล้ว และได้มีการคัดเลือกใหม่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีทั้งหมด 21 คน เป็นไปตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ซึ่งมีกรรมการในสัดส่วนต่างๆ ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้นขณะที่อีก 10 คนจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยการคัดเลือกครั้งนี้จะทำการลงคะแนนเสียงเลือกในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแล้วเสร็จ ประกอบด้วย

1.นายวีรวัฒน์ อภิชิตวิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทย
2.นางลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์
3.นางศิวนาถ ยอดสุวรรณ์ ผุ้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคเหนือ)
4.นายบริบูรณ์ ธัชแก้วกรพินธุ์ ผุ้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคกลาง)
5.พระครู ศุภาจารภิมล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
6.นายสะมะแอ จันทรัตนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคใต้)
7.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ
8.นายกร พงษ์เถื่อน ผู้ทรงคุณวุฒิองค์การเอกชนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย
9.นายประจวบ จันทร์เพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตหรือจำหน่ายยาแผนไทย และ
10.นายณัฐ โฆษิวากาญน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มผู้ปลูกหรือแปรรูปสมุนไพร

โดยหลังจากนี้จะมีการประกาศให้ทราบ โดยหากไม่มีผู้ทักท้วงภายใน 60 วันจะดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อลงนามต่อไป
       
       นพ.สุพรรณกล่าวต่อว่า ปีนี้มีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการเสนอเข้าพิจารณาทั้งหมด 433 คน ซึ่งหลังจากคัดเลือกได้จะทำหน้าที่ในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และกฎหมาย หรือประกาศตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการดูแลคุ้มครองเกี่ยวกับสมุนไพรไทยในทุกด้านด้วย เช่น การเห็นชอบออกกฎหมาย การเพิกถอน หรือกระทั่งการจดทะเบียนและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับตำรายาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทยทั่วราชอาณาจักร เพื่อจัดทำทะเบียนจำนวน 89,866 รายการ แบ่งเป็นตำรายาแผนไทย 84,082 รายการและและตำราการแพทย์แผนไทย 5,784 รายการ
       
       นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ยังหมายรวมถึง การคุ้มครองสมุนไพรไทยในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย ซึ่งในการประชุม ครม.ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีความเห็นชอบในการทำแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ ตามที่ สธ.เสนอ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานสมเด็จพระศรีนคริทร์กาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
พื้นที่อุทยานแห่งชาติ (อช.) แม่วงก์ จ.กำแพงเพชร
พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาฯ จ.นครพนม
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล
อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ
อุทยานแห่งชาติ นายูง-น้ำโสม จ.อุดรธานี

โดยคาดว่าจะส่งลงประกาศในราชกิจานุเบกษา บังคับใช้ประมาณเดือน ม.ค. 2555 ส่วนพื้นที่ได้ประกาศไปแล้วมี 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ภูผากูด จ.มุกดาหาร พื้นที่ชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย จ.อุบลราชธานี 5 พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ธันวาคม 2554

8375
ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดย “บริการสาธารณสุข หมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามความหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ” แต่จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. มีการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ

   เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายในลักษณะการบริหารงาน สปสช. ได้รับงบประมาณ 2 ส่วนคือ งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) การดำเนินงานของ สปสช. เพื่อบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้งบประมาณในส่วนงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นงบประมาณที่จะนำไปจัดสรรให้หน่วยบริการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95,325,000.00 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ตัวอย่างปรากฏดังตาราง

ตัวอย่างข้อตกลงที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาใช้ในลักษณะการบริหารงาน ประจำปีงบประมาณ 2552



ที่มา : เอกสารข้อตกลงดำเนินงานตามโครงการ สำนักบริหารกองทุน สปสช.

หมายเหตุ : รายละเอียดแต่ละโครงการมีดังนี้
   1. โครงการลำดับที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินการพัฒนาคุณภาพตามระดับคะแนนคุณภาพ สำหรับโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเมินเพื่อรับรองคุณภาพโรงพยาบาลที่พร้อมรับการตรวจเยี่ยมประเมิน
   2. โครงการลำดับที่ 2 เกี่ยวกับการจัดประชุมแพทย์และเครือข่ายผู้รับผิดชอบระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อชี้แจงการเตรียมความพร้อมและแนวทางในการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเป้าหมาย และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายมารับบริการวัคซีน พร้อมทั้งติดตามผลการให้บริการและติดตามอาการภายหลังการได้รับวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค
   3. โครงการลำดับที่ 3 เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเงินการบัญชีของหน่วยบริการ และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการประเมินผลการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงินการคลังและข้อมูลบริการของเครือข่ายหน่วยบริการ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารหน่วยบริการทุกระดับ
   4. โครงการลำดับที่ 4 เกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการรับส่งข้อมูลการรักษาและการใช้ยาของผู้ป่วยนอกรายบุคคล ต้นแบบสารสนเทศให้รองรับการแสดงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลบริการที่ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศให้สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างระบบของหน่วยบริการและศูนย์ข้อมูลของ สปสช. และจัดทำแผนขยายผลการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายบุคคลของการให้บริการ ณ จุดบริการของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การที่ สปสช. นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลกระทบทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ ]ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

2. ให้เลขาธิการกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด
...

8376
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน หรืออสม. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ใช้ อสม.เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศมากว่า 30 ปี ในลักษณะจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทน แต่ในช่วงปี 2552 รัฐบาลจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ รายละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่13 มกราคม 2552

ในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณเงินค่าตอบแทนให้กับ อสม. ผ่านทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปีงบประมาณ2553 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อบจ. โดยให้ อบจ.กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก และเบิกจ่ายเงินสวัสดิการตอบแทน ให้แก่ อสม.ที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั่วประเทศ ตั้งแต่เมษายน 2552-กันยายน 2553 จำนวน 10,544.50 ล้านบาท

สตง.ระบุว่า จากการสุ่มตรวจข้อมูลการดำเนินงานของ อสม.เชิงรุก ของ สสจ.กาญจนบุรีพบว่าการทำงานไม่คุ้มค่าเงินที่รัฐต้องจ่ายไปอสม.ส่วนใหญ่ไม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาท หน้าที่ที่ระเบียบกำหนดไว้ จากการสอบถาม อสม. 418 ราย ในพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่ปฏิบัติงานไม่ถึง 4 วันใน 1 เดือน และปฏิบัติงานเพียงแค่ 4 วันต่อเดือนเพียง 12 รายเท่านั้น ไม่แตกต่างกันกับตอนที่ยังไม่มีค่าตอบแทน ส่วนใหญ่คิดว่าเงิน 600 บาทนั้น รัฐบาลจ่ายเงินเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ถึงแม้จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม

นอก จากนี้ สตง.ยังตรวจพบ อสม.ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดเลือกจากหมู่บ้าน/ชุมชน แต่มาจากการชักชวนจากเครือญาติที่เป็น อสม.อยู่ก่อนแล้วจากการตรวจสอบทะเบียนรายชื่อ อสม. 1,015 ราย พบว่ามี อสม.ที่มีเครือญาติใช้นามสกุลเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป 318 ราย บางนามสุกลใช้ซ้ำกันถึง 6 ราย บางรายยังอยู่บ้านเดียวกันหรือบ้านใกล้กันทั้งที่ตามข้อกำหนดโครงการอสม. 1 ราย ต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนในละแวกบ้าน จำนวน 8-15 หลังคาเรือน

มติชน ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

8377
“วิทยา” ทาบทาม “กายสิทธิ์” อดีตอธิบดีอัยการฯ เป็น ปธ.ตรวจสอบ สปสช.หลัง สตง.พบตุกติก แจงเร่งแก้ปัญหาตามข้อชี้แจงของ สตง.อย่างดี ไม่มีนิ่งเฉย
       
       จากกรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลความผิดปกติว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมูลความผิดปกติเรื่องการบริหารงบประมาณและส่งเรื่อง ให้ สปสช.ชี้แจงแต่ละกรณี จนกระทั่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. (บอร์ด สปสช.) จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบนั้น
       
       ล่าสุด วานนี้ (9 ธ.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยกำลังทาบทาม นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งหากตกลงก็พร้อมทำงานได้ทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งการตรวจสอบนั้นจะเป็นไปตามสตง.ระบุไว้ แต่จะประเด็นไหนอย่างไร คงต้องรอคณะกรรมการทำงานก่อน ซึ่งยืนยันว่าตนได้ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดตามที่มีคนร้องเรียนมา
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบจะเน้นที่ตัวบุคคล หรือต้องเน้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณ สปสช.ทั้งหมด นายวิทยา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน อยู่ที่คณะกรรมการ และอันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยตน แต่เมื่อ สตง.ตรวจสอบและส่งรายงานเรื่องนี้มา โดยตนในฐานะรัฐมนตรี สธ. และประธานบอร์ด สปสช.ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยดึงคนภายนอกเข้ามาดำเนินการ ซึ่งตนก็ทำตามหน้าที่ เพราะหากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
       
       ต่อข้อถามว่า ระหว่างการรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะส่งผลต่อการทำงานของ บอร์ด สปสช.หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า คนละส่วนกัน เหมือนกับคดีความต่างๆ ยังไม่มีคนผิด ก็ทำงานได้ ซึ่งการทำหน้าที่ของบอร์ด สปสช.ก็ต้องเดินหน้าต่อไป.

ASTVผู้จัดการรายวัน    9 ธันวาคม 2554

8378
 เหตุเพลิงไหม้โรงพยาบาลเอกชน สูง 5 ชั้น ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 03.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 04.30 น.ตามเวลาของไทย ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 160 คนกำลังหลับไหล
       
       เอส.อุปัฐเย รองประธานอาวุโสของโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอแห่งนี้ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีผู้เสียชีวิต 70 ราย และสามารถช่วยเหลือออกมาได้ราว 90 คน
       
       เหยื่อส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ป่วย ที่ติดอยู่ภายในอาคาร เนื่องจากควัน และเปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วไปตามวอร์ดต่างๆ บนชั้นที่สูงขึ้นไป โดยกว่าจะควบคุมเพลิงส่วนใหญ่ได้นั้น เวลาก็ล่วงเลยไปถึงเวลา 09.00 น.
       
       นี่ถือเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งจากการสืบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ชี้ว่า ต้นเพลิงมาจากชั้นใต้ดิน
       
       ด้าน มามะตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก รับปากว่า จะดำเนินการสอบสวนสาเหตุอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งยกเลิกใบอนุญาตของโรงพยาบาลให้มีผลในทันที และสัญญาจะใช้มาตรการขั้นรุนแรง หากพบว่าการป้องกันอัคคีภัยต่ำกว่ามาตรฐาน
       
       นักผจญเพลิงทำงานอย่างยากลำบากในการขนย้ายผู้ป่วย และพนักงานของโรงพยาบาลที่ยังติดอยู่ภายใน ซึ่งมีควันไฟลอยโขมง ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งเดินไม่ได้ก็ต้องอพยพออกจากอาคารด้วยรอก และเชือก ส่วนรถดับเพลิงก็เข้าถึงที่เกิดเหตุด้วยความลำบาก เนื่องจากถนนแคบ และคดเคี้ยว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ธันวาคม 2554             


8379
ดทึ่ง! นักวิจัยไทยพัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนหนูทดลอง เป็นเซลล์ตับของคนได้สำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คาดอีก 10 ปี จะพัฒนาจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ และร่างกายเป็นเซลล์ตับใหม่ให้กับคนได้อย่างสมบูรณ์ สามารถช่วยปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรคตับได้....

รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาสามารถทำได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะ

อย่างไรก็ตามยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนถ่ายตับ เช่น ภาวะร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย (Rejection) นอกจากนั้นยังพบปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคตับจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ล่าสุด มทส. ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบด้วยดร.กาญจนา ธรรมนู และ รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ พัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับของมนุษย์ได้สำเร็จ และได้ทำการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในระดับชีวโมเลกุล พร้อมทั้งทดสอบเทคโนโลยีการแยกเซลล์อย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด

ทั้งนี้ การพัฒนาเซลล์ต้นแบบจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากการปฏิสนธิ และมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตเป็นอวัยวะต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นให้พัฒนาเป็น เซลล์ตับนั้นจำเป็นต้องทราบการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เดี่ยว เพื่อให้รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์นี้อาจทำให้เราทราบได้ถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติอื่นใดที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพัฒนาเซลล์ และที่สำคัญเมื่อเซลล์ถูกการกระตุ้นให้เป็นเซลล์ตับในระยะสุดท้ายแล้วนั้น เซลล์ตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งเทคนิคการวิเคราะห์จาก กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดโดยใช้แสงซินโครตรอนสามารถแสดงผลการพัฒนาไปสู่เซลล์ตับได้อย่างชัดเจนเป็นที่น่าพอใจมาก และคิดว่าจากนี้ไปจะทดลองในสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์  หรือด้วยสเต็มเซลล์ร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต และคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณกว่า 10 ปีจะสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเซลล์ตับใหม่ให้กับมนุษย์ได้

ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างฐานข้อมูลในการตรวจ หรือจัดจำแนกเซลล์ตับที่ถูกต้อง และสมบูรณ์จากเซลล์ตั้งต้นได้รวดเร็วขึ้นกว่าวิธีปกติทั่วไป และช่วยลดข้อจำกัดในของการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้นกว่า และมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมีใด ๆ จะช่วยให้การทำงานของนักวิจัยรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทย

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ธค 2554

8380
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กของสหรัฐฯศึกษาพบว่า เพียงแค่เปลี่ยนมากินปลาปิ้งหรือเผา ชั่วอาทิตย์ละมื้อจะช่วยบำรุงสุขภาพสมอง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหลงลืม ความจำถดถอย และเป็นโรคสมองเสื่อมให้น้อยลงได้

นักวิจัยได้พบจากการวิจัยโดยการตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ว่า การกินปลาปิ้งหรือเผา จะช่วยอภิบาลเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์บริเวณสมอง ที่ถือว่าสำคัญกับความจำและสติปัญญามีความแข็งแรง

ดร.ไซรัส ราชิ ระบุว่า “ผู้ที่กินปลาปิ้งหรือเผาจะมีสมองที่โตกว่าคนอื่น จะมีเซลล์สมองในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความจำและเรียนรู้โตกว่า เหตุผลที่สำคัญก็คือ สมองส่วนนี้มีความเสี่ยงสูงกับโรคสมองเสื่อมด้วย” เขายังเสริมอีกว่า “ทั้งยังพบว่าความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม และสติปัญญาเสื่อมจะถดถอยลงภายในระยะเวลา 5 ปี ลงถึง 5 เท่า”.

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ธค 2554

8381
วารสารของวิทยาลัย “หทัยวิทยา” สหรัฐฯ รายงานว่า ทีมนักวิจัยอังกฤษ และอิตาลี ศึกษาพบว่าหากกินกล้วยหอมวันละ 3 ลูก จะสามารถลดความเสี่ยงการเป็นลมอัมพาตลงได้

พวกเขาแนะว่า ให้กินกล้วยหอมมื้อละหนึ่งลูก จะทำให้ได้โปแตสเซียม ป้องกันการเกิดก้อนเลือดอุดตันในสมอง ได้ถึงร้อยละ 21 หากจะกินอาหารที่มีโปแตสเซียมอย่างอื่น เช่น ผักโขม ถั่ว ปลา ถั่วแขกชนิดเม็ดแดงและเหลืองแทน ก็ได้เช่นกัน

กล้วยหอมแต่ละลูกจะมีโปแตสเซียมอยู่ประมาณ 1,600 มิลลิกรัม แร่ธาตุนี้ มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกาย หากขาดมันจะทำให้หัวใจเต้นไม่ปกติ มีอารมณ์ฉุนเฉียว  คลื่นเหียนวิงเวียน และท้องร่วง

พวกเขาได้ประมาณว่า หากชักชวนให้ประชาชนบริโภคอาหารที่อุดมด้วยโปแตสเซียม และลดเกลือให้น้อยลง จะช่วยลดยอดผู้เสียชีวิตจากโรคลมอัมพาตปีหนึ่งๆ ลงได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย.

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ธค 25554

8382
นายกแพทยสภาเผย มติเอกฉันท์ตั้ง "พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา" เป็นกรรมการแพทยสภาคนใหม่แทน "นพ.สุรินทร์ ทองมา" มีผลทันที รับมีความขัดแย้ง แต่ไม่ส่งผลการทำหน้าที่...

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ว่า ได้เสนอชื่อ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ต่อที่ประชุม เพื่อให้เป็นกรรมการแพทยสภาคนใหม่แทน นพ.สุรินทร์ ทองมา เนื่องจาก พญ.เชิดชู เป็นบุคคลที่ได้รับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นลำดับถัดไปในการเลือกตั้ง กรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ.2554-2556 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2554 จึงสมควรที่จะเข้ามาทำหน้าที่กรรมการแพทยสภาคนใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยกระทำมา เมื่อมีกรรมการแพทยสภาคนใดคนหนึ่งลาออก ซึ่งคณะกรรมการได้ลงคะแนนเสียงรับรองเป็นเอกฉันท์ ส่งผลให้ พญ.เชิดชู สามารถปฏิบัติงานในฐานะกรรมการแพทยสภาได้ทันที และแพทยสภาจะเชิญเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการครั้งแรกในวันที่ 12 ม.ค. 2555

“ขณะนี้ถือว่า พญ.เชิดชู ได้เป็นกรรมการแพทยสภาคนใหม่แล้ว เพราะมีผลทันทีนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการรับรอง จากนี้จะเดินหน้าทำงานร่วมกัน เนื่องจากการเป็นกรรมการแพทยสภาจะต้องทำหน้าที่ด้วยความเสียสละเพื่อประชาชน ขอยืนยัน พญ.เชิดชู ไม่ได้มีปัญหาหรือความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับกรรมการ แพทยสภาบางคน แม้ พญ.เชิดชู จะมีความเห็นบางเรื่องไม่ตรงกับกรรมการแพทยสภาบางคน แต่ถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถทำงานร่วมกันได้” ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว

นายกแพทยสภา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการของแพทย์อาสา แพทยสภาที่ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในการให้บริการประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยมีสมาชิกจากคณะแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมัครเข้าร่วมกว่า 500 คน และมีการออกหน่วยทุกวัน วันละ 4 คน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการรวมตัวของแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้ เป็นพลังที่ทำให้แพทย์ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และประชาชนค่อยๆ ดีขึ้น และกลับมาสู่ความผูกพันกันเช่นในอดีต.

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ทีมข่าวการศึกษา
8 ธันวาคม 2554


8383
ประเด็นที่ 5    ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งหน่วยงานในกำกับของรัฐถือเป็นองค์การมหาชนประเภทหนึ่ง แต่มีความแตกต่างจากองค์การมหาชนในเรื่องกฎหมายจัดตั้ง ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และลักษณะของภารกิจ แต่หลักเกณฑ์พื้นฐานในการจัดตั้งองค์กรยังมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับองค์การมหาชน คือ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ หากการจัดทำบริการสาธารณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานบริหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นมีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากหลักเกณฑ์พื้นฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การมหาชนมีความสำคัญอย่างมาก จากการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สปสช. พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

5.1   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงเกินกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปีงบประมาณ 2546 - 2552 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือน หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุม และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน โดยกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การมหาชน เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน และเบี้ยประชุม เป็นต้น ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี และหากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี โดยให้ขอความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณา แต่จากการตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของ สปสช. พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นมา สปสช. มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ข้างต้นทุกปี โดยไม่ได้เสนอไปยัง ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด ปรากฏดังตาราง


ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์การจ้างเจ้าหน้าที่และบุคลากรประเภทอื่น ๆ ของ สปสช. จะเห็นได้ว่ามีการจ้างเกินกว่ากรอบอัตรากำลังที่คณะกรรมการกำหนด โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตาราง

ที่มา : สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลง สปสช.

หมายเหตุ :

1. ปีงบประมาณ 2548 - 2551 สปสช. มีการจ้างพนักงานตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 ข้อ 15 ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่จำเป็นโดยสภาพของงานที่มีลักษณะเฉพาะ หรืองานที่มีลักษณะหรือเวลาของการปฏิบัติงานเป็นพิเศษ หรืองานที่มุ่งหมายความสำเร็จของงานเป็นหลัก เลขาธิการอาจจ้างบุคคลที่เห็นสมควรให้ปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นการเฉพาะก็ได้ โดยทำเป็นสัญญาจ้าง บุคคลดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นลูกจ้างตามข้อบังคับนี้”

2. ปีงบประมาณ 2552 สปสช. มีการจ้างลูกจ้างตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 ข้อ 8(2) ซึ่งกำหนดว่า ผู้ปฏิบัติงาน มี 3 ประเภท ดังนี้ ...(2) ลูกจ้าง ได้แก่ บุคคลผู้ซึ่งสำนักงานจ้างให้ทำงานโดยมีการกำหนดระยะเวลาจ้างไว้ในสัญญาจ้าง...”

5.2 มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification)

คำอธิบายลักษณะงาน (Job description) ของ สปสช. ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification) ของเจ้าหน้าที่ไว้ 4 ด้าน คือ ด้านคุณวุฒิการศึกษา ด้านประสบการณ์ ด้านความรู้และทักษะ และด้านสมรรถนะ จากการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ในสำนักนโยบายและแผน สำนักบริหารสารสนเทศการประกัน และสำนักงานสาขาเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจำนวน 111 อัตรา ปรากฏดังตาราง


จากตาราง พบว่าการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานรวมทั้ง 3 สำนักมีเพียงร้อยละ 8.11 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่หากพิจารณาเป็นรายสำนักแล้วพบว่าสำนักบริหารสารสนเทศการประกันมีการบรรจุเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานในอัตราที่ค่อนข้างสูงคือร้อยละ 19.44 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในสำนัก โดยตำแหน่งที่มีการบรรจุแต่งตั้งไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานได้แก่ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้ากลุ่มงาน ตำแหน่งละ 1 คน และเจ้าหน้าที่อาวุโสและหัวหน้างานตำแหน่งละ 2 คน ถึงแม้ว่า สปสช. จะได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานไว้ 4 ด้านดังกล่าว แต่เนื่องจากคุณสมบัติด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่จำเป็นและสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถ ดังนั้นการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาที่กำหนดไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของ สปสช. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ และเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีความสามารถมากกว่าแต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 5 ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)

เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

 1. ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรอย่างเคร่งครัด

 2. ให้มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ตรงตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification) อย่างเคร่งครัด
...


8384
ปีพุทธศักราช 2507 เป็นปีแรกที่ผมต้องจากบ้านสามชุก สุพรรณบุรี มาอยู่กรุงเทพมหานคร ในช่วงชีวิตที่ยังไม่พ้นวัยรุ่น ผมเข้ามาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม ซอยสังขะวัฒนะ 2 ถนนลาดพร้าว

ครั้งหนึ่ง วิทยาลัยครูจันทรเกษมเคยให้พวกเราเดินทางไปโบกธงชาติรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ริมทางถนนพหลโยธิน ครั้งนั้นขบวนเสด็จผ่านไปเร็วเกินกว่าที่ผมจะมองเห็นพระองค์และสมเด็จพระราชินีในรถยนต์พระที่นั่งได้ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นบุญแห่งชีวิตเด็กหนุ่มลูกแม่ค้าขนมถ้วยคนทำไร่ทำนาธรรมดาอย่างผมเป็นล้นพ้น บันทึกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ผมรู้สึกตื่นเต้นตรึงใจเป็นที่สุด ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีโอกาสใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวของแผ่นดินที่พ่อผมใช้ปลูกข้าวและทำนาแห้วมานานปี ผมทราบดีว่าไร่นาที่บ้านผมใช้พักพิงและทำกินอยู่นั้น แม้เป็นทางการจะมีหลักฐานเอกสารบ่งบอกว่าเป็นของครอบครัวพ่อแม่ผม แต่โดยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว แผ่นดินที่ผมอยู่อาศัยและใช้ทำกินนั้น โดย “ทางกาล” แล้ว เป็นของพระเจ้าอยู่หัวทุกตารางนิ้ว

เพราะผมเป็นพสกนิกรแห่ง “ราชอาณาจักรไทย” ผมจึงสำนึกเสมอว่าพื้นที่ทุกส่วนของแผ่นดินไทยล้วนเป็นแผ่นดินของพระราชาทั้งสิ้น ตำราประวัติศาสตร์ไทยที่ผมเล่าเรียนเขียนอ่านมาแต่วัยเด็กบ่งบอกถึงพระราชวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงสร้างบ้านแปงเมือง ปกป้องแว่นแคว้น ขยายดินแดน เพื่อสถาปนาความมั่นคงยั่งยืนให้กับราชอาณาจักรและพสกนิกรพลเมืองสยามประเทศของพระองค์

ทรงทำเช่นนี้ต่อเนื่องมา ทุกราชวงศ์ ทุกช่วงสมัยในกาลอดีต
ตั้งแต่ก่อนเริ่มสมัยราชอาณาจักรสุโขทัย
มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ปัจจุบัน

ผมจึงไม่เคยมีคำถามให้กังวลสงสัยถึงความยิ่งใหญ่ของของชนชาติไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร
และใครคือผู้สร้างแผ่นดินไทยให้เราได้อยู่และเติบโตร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้

ยิ่งด้วยเหตุที่ว่าผมเป็นชาวสุพรรณฯ ผมจึงรู้เรื่องดอนเจดีย์ แดนยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ทำให้ชนชาติไทยได้คืนเอกราชและความยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทยกลับคืนมา ประวัติศาสตร์ไทยทุกช่วงเวลาบอกย้ำกับผมทุกนาทีว่าแผ่นดินไทยทุกถิ่นฐานเป็นแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว เป็นดินแดนของพระราชา เป็นราชอาณาจักรที่ยืนยงคงอยู่อย่างยิ่งใหญ่มาจนทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ เป็นเวลายาวนานเกือบพันปีแล้ว

ปีแรกที่ผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมคอยโอกาสที่จะไปชมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง เพราะเหตุที่ใครต่อใครก็บอกกับพ่อผมมานานหลายปีแล้วว่าในพระราชพิธีนี้หากใครได้ไปร่วมชมแล้วอาจโชคดีได้รับข้าวเปลือกที่หว่านในพระราชพิธีมาผสมกับข้าวปลูกในนาก็จะเป็นศิริมงคลอย่างที่สุด ผมจึงไปยืนชมพระราชพิธีแรกนาฯกับเขาด้วย แม้จะอยู่ไกลจากบริเวณงาน แต่พอถึงเวลางานเลิกแล้วผมก็วิ่งแหวกฝูงชนเข้าไปกวาดเก็บเศษข้าวเปลือกมาได้หนึ่งกำมือใส่กระเป๋ากางเกง ทั้งเศษดินฝุ่นทั้งข้าวเปลือก นำกลับไปสุพรรณฯให้พ่อวางขึ้นหิ้งบูชาที่บ้านสามชุก รอเวลาที่จะไปผสมกับพันธุ์ข้าวปลูกในหน้าทำนาต่อไป

เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่นาข้าวของพ่อได้พันธุ์ข้าวเปลือกมหามงคลจากท้องสนามหลวงในปีนั้น

บ้านผมมีที่ดินเพียง10 ไร่ แบ่งทำนาราว 6 ไร่ ที่เหลือเป็นสระน้ำ ปลูกไม้ยืนต้นและส้มสุกลูกไม้ผลไม้พื้นบ้านตลอดจนแปลงผักสวนครัว ทำลานตากข้าว และแบ่งที่สำหรับปลูกบ้านอยู่อาศัย ในสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า “ไร่นาสวนผสม” ยังไม่เกิด “ทฤษฎีใหม่” ยังไม่มีใครรู้จัก “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่สิ่งที่พ่ออุยและแม่แม้นของผมทำก็มีคุณค่าใกล้เคียงกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพร่ำสอนพสกนิกรของพระองค์ในยุคปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนโครงการชลประทานอำเภอสามชุกของผม ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ผมเป็นเด็กเกินกว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเสด็จแบบใดๆได้ แต่กระนั้นครอบครัวของผมก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจของพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ผมจำความได้แล้วนานหลายปีก่อนที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะได้รับการประกาศโดยพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517

พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำให้ชาวสุพรรณได้ทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนผมเกิดแล้ว

ในวัยแรกเริ่มต้นชีวิต ถึงผมจะไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดเลย แต่ผมก็ถือเอาเองว่าผมและพ่อแม่พี่น้องผมทุกคนได้ใช้ชีวิตในแนวทางที่ใกล้ชิดกับปรัชญาของพระองค์อย่างแนบแน่นที่สุดมาโดยตลอด

อาจจะด้วยผลแห่งบุญกรรมที่ทำไว้แต่ใดมาก็เกินกว่าที่ผมจะอธิบายได้ ในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอย่างที่ไม่เคยนึกว่าจะมีโอกาสเช่นว่านี้มาก่อนเลย ในฐานะอาจารย์บรรจุใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ข้ามมาถึงปีพระราชทานปริญญาบัตรถัดมา ผมได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือพานถวายใบปริญญาบัตรในพิธี ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยหัวใจอันระทึก ผมนั่งพับเพียบ ทางเบื้องขวาล่างของพระเก้าอ้ีประทับ ผมทำหน้าที่ขยับเล่มปริญญาบัตรให้ได้เหลี่ยมมุมเพื่อพระองค์จะได้ทรงหยิบไปพระราชทานให้บัณฑิตต่อไปโดยสะดวก ผมได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระหัตถ์ขวาของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่ไม่เคยมีใครในจังหวัดสุพรรณบุรีได้โอกาสใกล้ชิดเช่นนั้นเลย ผมแอบเงยขึ้นมองพระหัตถ์ที่ทรงเอื้อมลงมาที่พานวางใบปริญญาบัตร และแอบมองเลยขึ้นไปถึงพระพักตร์ด้วยสองสามครั้ง เป็นความใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและพระหัตถ์โดยตรงเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม

กาลผ่านไป ผมผันแปรชีวิตจากนักวิชาการไปเป็นสื่อสารมวลชนนักจัดรายการวิทยุ เป็นนักข่าวและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ จากการจัดรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ทำให้ผมมีโอกาสถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงของผมเองได้โดยตรงทุกปี ยิ่งเมื่อทราบในเวลาต่อมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงงานไปจนถึงเช้ามืดแล้วทรงฟังรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมด้วยก่อนเข้าพระบรรทม ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดแห่งชีวิต  ณ เย็นวันที่ 4 ธันวาคม ปีหนึ่ง ระหว่างมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ถ่ายทอดสดเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในเวลาประมาณ 16:00 น. และบันทึกเทปออกอากาศโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในเวลาค่ำหลัง 20:00 น. ปรากฏว่ามีเสียงโทรศัพท์มือถือดังแทรกขึ้นมาระหว่างมีพระราชดำรัสและออกอากาศอยู่ พอถึงในเช้าวันรุ่งขึ้นผมก็วิจารณ์เรื่องนี้ในรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผมทันทีอย่างไม่ยั้งคิดว่า “ยุคที่โทรศัพท์มือถือกำลังเป็นของใหม่นี้นั้นทุกคนควรระมัดระวัง โดยเฉพาะในงานพิธีสำคัญๆก็ไม่ควรเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้เพราะอาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ดังที่เกิดในระหว่างมีพระราชดำรัสเมื่อวานนี้ได้”...

“ใครหนอช่างไม่ระมัดระวังเอาเสียเลย ทำไมไม่รู้จักปิดโทรศัพท์เสียก่อนจะเข้าร่วมงานพิธีสำคัญเช่นนี้”, ผมบ่นดังๆในรายการวิทยุของผมที่ FM 90 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์

เนื่องจากรายการ “โลกยามเช้า” ของผมมีผู้ฟังมาก ผู้ฟังผู้ใกล้ชิดในพระองค์ก็แจ้งให้ผมทราบทันทีหลังคำวิจารณ์ตอนเช้าว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี คือเจ้าของโทรศัพท์มือถือเครื่องที่เป็นปัญหาเครื่องนั้น!

ทราบแล้วหัวใจผมแทบหยุดเต้น
หากเป็นสมัยโบราณหัวผมคงหลุดจากบ่าไปแล้ว
คำวิจารณ์โดยขาดการยั้งคิดของกระผมกลายเป็นการวิจารณ์อันมิบังควร
ไม่สมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษใดๆเลย

คุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เจ้านายของผมและเจ้าของกิจการธุรกิจสื่อสารมวลชนที่ผมเป็นลูกจ้างในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้ก่อตั้งสถานีวิทยุ จ.ส.100 วิทยุข่าวสารและการจรจรในปี พ.ศ. 2534 โดยทราบกันดีเป็นการภายในว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในงานของ จส.100 มาก และทรงสนพระทัยอย่างใกล้ชิดในแทบทุกเรื่องที่ จส.100 ทำและเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์ จนอยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คุณปีย์ นำผมและคณะผู้ประกาศของ จส.100 ราว 30 คนเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงให้เวลาเข้าเฝ้านานถึงกว่าสองชั่วโมง ทรงมีพระราชปรารภเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการทำงานของ จส.100 โดยเฉพาะการทำงานแปลกๆใหม่ของพวกเราที่สังคมไทยไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน ส่วนความผิดพลาดล่วงเกินของผมในรายการวิทยุ “โลกยามเช้า” ของผม ตอนที่วิจารณ์เรื่องโทรศัพท์มือถือดังผิดกาละเทศะในวันเฉลิมพระชนมพรรษานั้น ตลอดจนการวิจารณ์ข่าวสารการเมืองต่างๆของผมนั้น พระองค์ทรงบอกว่า :

“ยกให้คุณสมเกียรติเขาไปคนหนึ่งก็แล้วกัน”

เป็นอันว่าข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว จะเรียกว่าอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม!

นั่นเป็นความใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ใกล้ชิดในระดับเกือบพระอาญามิพ้นเกล้า
ดุจเป็นพระราชกระแสรับสั่งชุบชีวิตให้กับผม จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอีกในสถานภาพเป็นทางการตามตำแหน่งหน้าที่ในชีวิตที่ผันแปรไป ในฐานะ :

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2550

มาวันนี้ วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา พอดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของผมและของประชาชนชาวไทยทั้งมวลทรงเข้าสู่ช่วงพระชนม์ชีพที่จะต้องทรงพักผ่อนพระวรกายให้มากหลังทรงตรากตรำพระราชภารกิจมายาวนานมากที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในพระราชอาณาจักรใดบนโลกมนุษย์นี้

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสสั้นๆถึงความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ พระองค์ทรงเตือนให้พวกเราเร่งช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประชาชน พระองค์ทรงย้ำตอนหนึ่งว่า

“โดยเฉพาะขณะนี้ ประชาชนกำลังเดือดร้อนลำบากจากน้ำท่วม จึงชอบที่จะร่วมมือกัน ปัดเป่าแก้ไขให้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่น โครงการต่างๆ ที่เคยพูดไปนั้นเป็นการแนะนำ ไม่ได้สั่งการ แต่ถ้าเป็นการปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ คุ้มค่า และทำได้ก็ทำ ข้อสำคัญจะต้องไม่ขัดแย้งแตกแยกกัน หากจะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อให้งานที่ทำบรรลุผลที่มีประโยชน์ เพื่อความผาสุกของประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ”

พระราชดำรัสของพระองค์ในปีนี้สะท้อนความเป็นนักประชาธิปไตยของพระองค์อย่างสูงสุดยอด สะท้อนความเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ของราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงมอบอำนาจการปกครองโดยตรงไปให้ประชาชนจนหมดสิ้นแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกรอบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก ซึ่งเราเริ่มใช้กันมาได้เพียง 79 ปี ต่างไปจากศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญฉบับ (หรือหลัก) แรกของไทยที่บัญญัติขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว

พระองค์ทรงทราบดีว่าไม่มีพระราชอำนาจจะสั่งการใดให้รัฐบาลทำสิ่งใดได้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน แต่พระองค์ก็ทรงหวังว่าแนวพระราชดำริของพระองค์จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์ หากรัฐบาลเห็นพ้องด้วยว่าควรปฏิบัติตามเพราะเป็นประโยชน์

“ทำได้ก็ทำ”
เท่านั้นเอง ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงคาดหวังจากรัฐบาลและพสกนิกรของพระองค์

สำหรับผม พระราชดำรัสทุกกระแส ผมไม่ต้องปรึกษาใครให้ขัดแย้งกับใคร
ผมปฏิบัติตามได้เสมอทุกเรื่อง
ผมเองทำตามพระราชดำริมาตลอดชีวิต
และจะทำต่อไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
เพราะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช…
คือ...พระเจ้าอยู่หัวแห่งชีวิต...ของผม.

สมเกียรติ อ่อนวิมล
เดลินิวส์ 7 ธันวาคม 2554

8385
"ธงไตรรงค์" ธงชาติไทยจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่สำคัญสูงสุดและเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นชาติไทยที่ทั่วโลกรู้จักมากที่สุด

นับตั้งแต่การยกเลิกใช้ "ธงช้างเผือก" เป็นธงชาติสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2459 และได้เปลี่ยนเป็นธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นเป็นธงชาติสยามสำหรับหน่วยงานราชการแทน พร้อมกันนั้นรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านยังทรงออกแบบธงแดงขาวห้าริ้ว ซึ่งมีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวสยามไม่สามารถหาธงช้างเผือกมารับเสด็จได้ จึงมีการจัดหาผ้าสองสีเพื่อให้สีตรงกับธงช้างเผือก นั่นก็คือ สีแดงซึ่งเป็นพื้นของธงช้างเผือก และสีขาวคือตัวช้างเผือกมาใช้รับเสด็จแทน หลังจากที่พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรผ้าสองสีแล้ว จึงทำให้พระองค์ท่านมีพระราชดำริให้ประชาชนนำผ้าสองสีคือสีแดงและสีขาวมาตัดเย็บเองทำเป็นธงประดับและรับเสด็จอย่างง่าย ทั้งยังสะดวก ไม่สิ้นเปลือง จึงถือเป็นพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลต่อประชาชนชาวสยาม โดยธงแบบนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ธงค้าขาย"

 หลายท่านอาจสงสัยว่ารูปร่างและแบบธงค้าขายนี้เป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากธงไตรรงค์เลย เพียงแต่แถบกลางที่เป็นสีน้ำเงินเข้มแต่เดิมเป็นสีแดงเท่านั้น และธงค้าขายนี้เองถือเป็นต้นแบบของธงไตรรงค์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบด้วยพระองค์เองอีกเช่นกัน มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2460

 สาเหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนแถบกลางจากสีแดงเป็นสีน้ำเงินเข้มเนื่องจากในขณะนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 สยามอยู่ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งธงของประเทศมหาอำนาจได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ต่างเป็นธงชาติที่มีสีสามสีประกอบด้วยสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน จึงเป็นเหตุทำให้พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้สยามได้ปรับเปลี่ยนสีธงให้เป็นไปตามสีของประเทศสัมพันธมิตร และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือสีน้ำเงินเข้มบนแถบกลางธงไตรรงค์ยังถือว่าเป็นสีประจำพระชนมวารหรือสีทรงโปรดของรัชกาลที่ 6 อีกด้วย และที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือที่มาของสีธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นสีของธงชาติไทย

 ส่วนความหมายนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

 ขอร่ำรำพรรณบรรยาย   ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
 ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์  หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตไทย
 แดงคือโลหิตเราไซร้   ซึ่งยอมสละได้  เพื่อรักษาชาติศาสนา
 น้ำเงินคือสีโสภา   อันจอมประชา   ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
 จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์    จึ่งเป็นสีธง   ที่รักแห่งเราชาวไทย
 ทหารอวตารนำไป    ยงยุทธ์วิชัย   วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ

 ดังนั้นความหมายของธงชาติไทย ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ.2460 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดของเราที่สามารถยอมพลีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งคำสอนตามหลักพุทธศาสนาและการมีธรรมะประจำใจคนไทย สีน้ำเงิน หมายถึง สีทรงโปรดของพระองค์และเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ท่านด้วย ดังนั้นจึงเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

 "ธงไตรรงค์" ธงชาติไทยจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่สำคัญสูงสุดและเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นชาติไทยที่ทั่วโลกรู้จักมากที่สุด แต่การประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ มักมีการประดับที่ผิดระเบียบหรือผิดด้านอยู่เสมอ อาจเนื่องด้วยเพราะความไม่รู้หรือไม่เข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง กล่าวคือการประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย เราจะใช้ตัวเราเป็นหลัก โดยให้ตัวเราอยู่ในเคหะสถานหรือสถานที่ที่จะประดับธงชาติแล้วหันหน้าออกไปทางด้านหน้าของเคหะสถานหรือสถานที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่นมองไปที่ประตูทางเข้าหรือบันไดทางขึ้นสู่อาคาร ส่วนด้านขวามือของเราจะเป็นการประดับธงชาติไทย ส่วนด้านซ้ายมือของเราจะเป็นการประดับธงสำคัญอื่นๆ อาทิเช่น ธงตราสัญลักษณ์ 84 พรรษา ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้ได้กับการประดับธงชาติที่ยานพาหนะด้วย นั่นก็คือธงชาติไทยจะประดับทางด้านคนขับซึ่งเป็นด้านขวาเสมอ

 นอกจากนี้การประดับธงชาติไทยร่วมกับธงตราสัญลักษณ์ 84 พรรษา เคียงคู่กับพระบรมฉายาลักษณ์หรือบนเวทีนั้นมีหลักการและวิธีจำง่ายๆ ดังนี้ ให้ตัวเราหันหน้าไปในทิศทางเดียวกับพระบรมฉายาลักษณ์ โดยด้านขวามือของเราให้ประดับธงชาติไทย ส่วนบนเวทีก็เช่นเดียวกันคือให้เรายืนอยู่บนเวทีแล้วหันหน้าออกสู่ผู้ชม ด้านขวามือของตัวเราคือด้านที่ประดับธงชาติไทย

 แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายท่านมักจะละเลยและไม่ปฎิบัติเกี่ยวกับการประดับธงไตรรงค์ที่ถูกต้องนั่นก็คือ การประดับธงไตรรงค์ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ โดยธงไตรรงค์นั้นต้องไม่อยู่ต่ำกว่าธงอื่นๆ และสภาพของผืนธงต้องไม่เก่ากว่าสีต้องไม่ซีดและขนาดผืนธงต้องไม่เล็กกว่าธงสำคัญอื่นๆ

 ส่วนเรื่องขนาดของผืนธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ยังเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าท่านประดับด้วยธงชาติไทยหรือประดับเพียงแค่แถบผ้าสีธงชาติเท่านั้น กล่าวคือธงไตรรงค์ ธงชาติไทยต้องมีอัตราส่วนความกว้างต่อความยาว หกส่วนต่อเก้าส่วน (6 : 9) ตามที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติธงนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงพระราชบัญญัติธงที่มีการประกาศใช้ล่าสุดคือปีพ.ศ.2522 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยถ้าผืนธงชาติไทยที่ท่านประดับมีอัตราส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากนี้ ในทางกฏหมายจะไม่ถือเป็นธงชาติไทย แต่จะถือเป็นเพียงแถบสีธงชาติ แม้ว่าวัสดุที่ใช้จะเป็นผ้าและสามารถใช้ชักหรือประดับบนเสาได้ก็ตาม

 ตัวอย่างเช่น ผ้าชิ้นหนึ่งที่มีแถบสีแดงหนึ่งส่วน ขาวหนึ่งส่วน น้ำเงินเข้มสองส่วน ขาวหนึ่งส่วน แดงหนึ่งส่วน และมีขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร ความยาว 90 เซนติเมตร ผ้าผืนนี้ตามกฏหมายสามารถเรียกได้ว่าเป็นผืนธงไตรรงค์ ธงชาติไทย แต่ถ้าผ้าผืนดังกล่าวเปลี่ยนขนาดเป็นความกว้าง 60 เซนติเมตร ความยาว 100 เซนติเมตร หรือความยาวเพียง 80 เซนติเมตร ในทางกฏหมายจะไม่เรียกผ้าผืนนี้ว่าธงชาติไทย แต่จะเรียกว่า "ผ้าแถบสีธงชาติไทย"

 ดังนั้น การประดับธงไตรรงค์ ธงชาติไทย ร่วมกับธงสำคัญอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราคนไทยควรจะกระทำอย่างถูกต้อง ตามระเบียบแบบแผน เพื่อความสง่างาม ความพร้อมเพรียง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแถบสี ขนาดผืนธง และวิธีการประดับที่ถูกต้อง

โดย : พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย
กรุงเทพธุรกิจ 8 ธันวาคม 2554

หน้า: 1 ... 557 558 [559] 560 561 ... 653