แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 378 379 [380] 381 382 ... 536
5686
สธ.คลอดนโยบายพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอาหารผู้ป่วยไทยพุทธ และมุสลิม ในโรงพยาบาลในสังกัด 824 แห่งทั่วประเทศ จัด 6 เมนูอาหารผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เพิ่มครัวอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ 19 แห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นไข้เร็วขึ้น

       วันนี้ (14 ก.ค.)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดครัวฮาลาลต้นแบบ ที่โรงพยาบาลลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้ประชาชนไทย มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดตรวจสอบสถานที่แหล่งผลิต จำหน่ายอาหาร หน่วยบริการอาหาร 7 ประเภทที่เน้นเป็นพิเศษ ต้องผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยๆ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ 1.โรงงานผลิต/แปรรูปอาหาร 2.ตลาดค้าส่ง 3.ตลาดสด 4.ตลาดนัด 5.ร้านอาหาร/แผงลอย 6.โรงพยาบาล และ 7.โรงอาหารของศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน และให้เข้มการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรการทางกฎหมายในอาหาร 6 ประเภท ได้แก่ 1.น้ำมันทอดซ้ำและน้ำมันที่จำหน่ายแต่ไม่มีฉลาก อย.2.สารปนเปื้อน 6 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันรา สารกำจัดศัตรูพืชค้างและสารเร่ง เนื้อแดง 3.น้ำดื่ม น้ำแข็ง 4.อาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 5.นมโรงเรียน และ 6.เส้นก๋วยเตี๋ยว
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยนอนพักรักษา จำนวน 824 แห่ง ซึ่งให้การดูแลผู้เจ็บป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลปีละ 16 ล้านกว่าราย หรือมีเฉลี่ยวันละ 40,000 ราย ให้ปรับปรุงเมนูสุขภาพเป็นหมวดหมู่เฉพาะโรค เพื่อบำรุงสุขภาพ ช่วยเสริมการบำบัดรักษาผู้ป่วยทุกโรคของแพทย์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น หรือช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นไข้ได้เร็วขึ้น ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ที่บ้าน และจัดพิมพ์เมนู แยกเป็นเล่มแยกเป็นรายโรค เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในปีแรกเน้น 6 ประเภท ได้แก่

1.เมนูอาหารสุขภาพหรืออาหารทั่วไป
2.เมนูอาหารโรคเบาหวาน
3.เมนูโรค ความดันโลหิตสูง
4.เมนูอาหารโรคหัวใจและปลอดเลือด
5.เมนูอาหารโรคไต และ
6.เมนูอาหารโรคมะเร็ง
       
       นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการให้บริการอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมกับโรค แก่ชาวไทยมุสลิมที่เจ็บป่วยตามหลักศาสนาบัญญัติ ซึ่งขณะนี้มีชาวไทยที่เป็นมุสลิมประมาณ 4 ล้านคนทั่วประทศ โดยให้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีเมนูอาหารสุขภาพฮาลาล พัฒนายกระดับมาตรฐาน โรงครัวของโรงพยาบาล 19 แห่ง เป็นโรงครัวฮาลาล ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร หลักโภชนาการ หลักสุขาภิบาลความสะอาด และความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและญาติ เกิดความเชื่อมั่น
       
       โรงพยาบาล 19 แห่ง ได้แก่ รพ.หาดใหญ่ รพ.นครพิงค์ รพ.แม่สอด รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ระนอง รพ.กระบี่ รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช รพ.ยี่งอ จ.นราธิวาส รพ.ยะหริ่ง รพ.ปะนาเระ รพ.มายอ รพ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รพ.สะเดา จ.สงขลา รพ.คลองท่อม จ.กระบี่ รพ.ตะโหมด จ.พัทลุง สถาบันโรคทรวงอก จ.นนทบุรี และในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และจะขยายไปยังโรงพยาบาล ที่มีความพร้อมในการผลิตอาหารฮาลาล และตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิม เช่นที่รพ.ลาดบัวหลวง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิมร้อยละ 40 ของประชากรทั้งอำเภอ และมีผู้ป่วยในที่เป็นชาวไทยมุสลิม พักรักษาร้อยละ 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 กรกฎาคม 2555

5687
สธ.จับมือตำรวจภูธรภาค 3 เปิดช่องจราจรให้รถพยาบาลฉุกเฉิน นำส่งผู้ป่วยอาการหนัก ส่งรักษาต่อระหว่างโรงพยาบาล นำร่อง 8 จังหวัดอีสาน เล็งขยายผลในจังหวัดใหญ่ๆ รวม กทม.ด้วย
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริเริ่มเปิดโครงการเส้นทางบุญสู่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินที่นำส่งผู้ป่วยที่ป่วยหนัก หรือมีอาการสาหัสจากโรงพยาบาลไปรักษาต่อระหว่างโรงพยาบาลตามระบบบริการการส่งต่อของกระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างทันท่วงที มีการประสานงานกันระหว่างโรงพยาบาลต้นทางและปลายทาง กับสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่นั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานไปยังลูกข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเส้นทางผ่าน จนกว่าจะถึงโรงพยาบาลปลายทาง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การส่งผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่นคล่องตัว ผู้ป่วยถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างปลอดภัย และรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาพยาบาล ลดการพิการซ้ำซ้อน และเสียชีวิตจากการถึงโรงพยาบาลล่าช้า

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า จากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2553 มีผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปยังหน่วยบริการทุกระดับเพื่อรักษาต่อในภาพรวมทั้งประเทศ รวมจำนวน 289,253 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 66 ครั้ง โดยเป็นการส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนไปโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลอื่นๆ มากที่สุดปีละ 220,510 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นการคลอดปกติ
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวนี้ ได้นำร่องใน 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยร่วมมือกับสำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว ในการอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทางจราจรจนไปถึงโรงพยาบาลปลายทาง
       
       “มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยมีตำรวจนายหนึ่งที่อยู่ประจำป้อมจุดสี่แยกแห่งหนึ่ง ได้รับการประสานว่า จะมีรถพยาบาลผ่านมาเพื่อส่งตัวคนไข้หนักไปส่งโรงพยาบาล นายตำรวจผู้นั้นได้คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้ ทำให้รถพยาบาลผ่านไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย คนป่วยไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีและทราบในภายหลังว่าคนป่วยที่อยู่ในรถพยาบาลฉุกเฉินที่อำนวยความสะดวกให้ในวันนั้น เป็นมารดาของตนเอง ทำให้นายตำรวจผู้นั้นเกิดความรู้สึกต้องการบำเพ็ญประโยชน์แบบเดียวกันนี้กับคนอื่นด้วย” รมช.สาธารณสุข กล่าว
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต้นทางจะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรในพื้นที่ ว่าจะมีการนำส่งผู้ป่วยเวลาใด ใช้เส้นทางไหน จุดหมายอยู่ที่ใด เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ประสานไปยังลูกข่ายในพื้นที่ที่จะมีการผ่านของรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรได้รับไฟเขียวผ่านตลอดเส้นทาง ไม่มีไฟแดง โครงการเส้นทางบุญสู่โรงพยาบาลนี้ ถ้าได้รับการตอบรับจากประชาชนก็จะมีการขยายโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆอีกต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะตามจังหวัดใหญ่ที่การจราจรคับคั่ง เช่น เชียงใหม่ กทม.เป็นต้น มั่นใจว่า จะทำให้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็วขึ้น ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการสาหัส จะถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว มีโอกาสรอดชีวิตสูง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 กรกฎาคม 2555

5688
1. “ในหลวง” ทรงเครื่องแบบทหารเสด็จฯ ทุ่งมะขามหย่อง พสกนิกรนับแสนเฝ้ารับเสด็จ เผย ใกล้เสด็จฯ ออกจาก รพ.ได้แล้ว!
       
           เมื่อวันที่ 25 พ.ค. เวลาประมาณ 16.30น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลศิริราช  เพื่อไปพักผ่อนพระอิริยาบถและติดตามงานตามพระราชอัธยาศัย ณ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการแก้มลิงและเป็นสถานที่ตั้งพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และที่สำคัญ เป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ ไปทรงเกี่ยวข้าว ณ ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อปี 2539
       
           ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ มีประชาชนจากทุกสารทิศจำนวนนับแสนคนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองและชมพูไปเฝ้ารอรับเสด็จเพื่อชื่นชมพระบารมี  ขณะที่สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ประชาชนชาวไทยจำนวนมากมารอเฝ้ารับเสด็จตามท้องถนนตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปจนถึงพระนครศรีอยุธยา เพื่อชื่นชมพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด นับเป็นการเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
       
       โอกาสนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทรงมีพระพักตร์สดใส และทรงโบกพระหัตถ์ พร้อมแย้มพระโอษฐ์ให้กับประชาชนตลอดเส้นทาง ขณะที่ประชาชนพร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยกกล้องส่วนพระองค์ขึ้นมาฉายรูปประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จด้วย
       
       หลังรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนถึงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และครอบครัว ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินแปลงนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวข้าวเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2539 ขณะที่นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
       
       จากนั้น ได้เสด็จฯ ไปยังศาลากลางน้ำ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียง “ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินทองแห่งพระมหากรุณาธิคุณ” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวว่า เมื่อปี 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรอบพระราชานุสาวรีย์พระสุริโยทัย เพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง และในปี 2538 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ จ.พระนครศรีอยุธยา ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ เพื่อบรรเทาปัญหาแก่ราษฎรที่เดือดร้อนจากอุทกภัย และนำน้ำไปใช้ในการเกษตรต่อไป
       
       ทั้งนี้ หลังการแสดงต่างๆ จบลง ประชาชนต่างลุกขึ้นยืนจุดเทียนชัยถวายพระพรและพร้อมใจกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา 2 รอบ ก่อนเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องและยาวนานทั่วทั้งทุ่งมะขามหย่อง กระทั่งเวลา 19.25น. จึงเสด็จฯ ไปยังพระตำหนักสิริยาลัย และเสวยพระกระยาหารค่ำตามพระราชอัธยาศัย ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ กลับโรงพยาบาลศิริราช
       
       ด้านนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เผยว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังทุ่งมะขามหย่องครั้งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงานของอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่อง หลังประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 ซึ่งพระองค์ทรงอยากให้ประชาชนได้รู้ถึงประโยชน์ของน้ำท่วม หากบริหารจัดการน้ำได้ดี จะเกิดประโยชน์
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้บอกข่าวดีกับประชาชนระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลศิริราชได้ในเร็ววันนี้ เนื่องจากพระพลานามัยดีขึ้นมากแล้ว
       
       2. “บิ๊กบัง” ดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา -“ขุนค้อน” รีบชงเข้าวาระ 31 พ.ค. ด้าน “ปชป.” ซัด ทำเพื่อ “ทักษิณ” คนเดียว!

       เมื่อวันที่ 24 พ.ค. มีข่าวแพร่สะพัดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในเวลาต่อมา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้ออกมายอมรับว่า พล.อ.สนธิ ได้ยื่นญัตติด่วนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาจริง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และตรวจสอบแล้ว ทุกอย่างถูกต้อง จึงบรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว น่าจะพิจารณาได้ในวันที่ 30-31 พ.ค.
       
           นายเจริญ เผยด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมีทั้งสิ้น 8 มาตรา สำหรับผู้ที่จะได้รับอานิสงส์จากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีประมาณ 3 กลุ่ม 1.ผู้ชุมนุมทางการเมือง 2.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะปฏิวัติ และ 3.นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งจากกรณีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เพียงให้มีการนิรโทษกรรมความผิดจากการกระทำระหว่างการชุมนุม แต่ยังมีการลบล้างคดีความและคำพิพากษาต่างๆ เสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยทำผิดหรือต้องคำพิพากษามาก่อน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดา จะได้รับอานิสงส์โดยตรง ซึ่งอาจรวมถึงคดียึดทรัพย์ด้วย
       
       ทั้งนี้ มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2548 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่ถือเป็นความผิด หากมีการกระทำใดผิดกฎหมาย ก็ให้พ้นผิดโดยสิ้นเชิง  มาตรา 4 ระบุว่า หากคดีใดอยู่ระหว่างสอบสวน ก็ให้ยุติการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้องร้อง ถ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี หากศาลตัดสินไปแล้ว ก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว และหากบุคคลใดอยู่ระหว่างรับโทษ ก็ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นทันที
       
       ขณะที่มาตรา 5 ระบุว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หรือได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) หรือได้รับผลกระทบจากองค์กรหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งตามประกาศ คปค. ก็ไม่ต้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิด ส่วนมาตรา 6 ระบุให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค สิ้นผลทันที โดยให้ถือว่ากรรมการบริหารพรรคนั้นไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมาตราดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เพื่อความปรองดอง
       
       ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงการยื่นญัตติด่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ พล.อ.สนธิว่า ถ้าเป็นเรื่องด่วน ก็สามารถเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในวันที่ 31 พ.ค.ได้ โดยการพิจารณารับหลักการ ใช้เวลาเต็มที่ 1 วัน ก็น่าจะจบได้ หรือจะขยายเพิ่มอีก 1 วันก็ไม่มีปัญหา  ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นหรือไม่ นายสมศักดิ์ ชี้ว่า บ้านเมืองถึงเวลาต้องปรองดองกันแล้ว ยุคนี้ใครไม่ปรองดองก็บ้าแล้ว
       
       หลัง พล.อ.สนธิ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา ปรากฏว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาซัด พล.อ.สนธิ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การที่รองประธานสภาฯ บรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นเรื่องด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระ ถือเป็นการลักไก่แบบเงียบเชียบ จึงสะท้อนข้อเท็จจริง 3 ข้อ คือ 1.การอ้างจัดสานเสวนาก่อน ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เป็นแค่กลวิธีลับ ลวง พราง หลอกประชาชน 2.การขยายสมัยประชุมสภาออกไป เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การเร่งออกกฎหมายเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อคนคนเดียว และ 3.มีคนบอกว่า เสื้อแดงมาส่งถึงฝั่งแล้ว ต่อไปก็จะหาพาหนะใหม่ขึ้นเขาเองนั้น วันนี้ชัดเจนแล้วว่า พาหนะใหม่ก็คือ คนที่ช่วยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ นายจุรินทร์ ยังชี้ด้วยว่า จากนี้ไป บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น
       
       ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงแล้ว กฎหมายปรองดองก็คือกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง เพียงแต่พ่วงพันธมิตรฯ และกรณีตำรวจ ทหารเข้าไปด้วย “ขอเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิชี้แจงประชาชนให้ชัด 1.ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายนิรโทษกรรม 2.พล.อ.สนธิไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาจริงหรือไม่ ตกลงเงื่อนไขอะไร ถึงยอมเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ 3.นายกฯ อยู่ในฐานะ ส.ส. หัวหน้ารัฐบาล เจ้าของพรรคเพื่อไทย และเป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องแถลงท่าทีให้ชัด เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ อย่าบอกว่าเป็นเรื่องของสภา และ 4.พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร เพราะถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะมี ส.ส.อย่างน้อย 20 คนได้ประโยชน์”
       
      3. แกนนำพันธมิตรฯ นัดรวมพลต้าน กม.ปรองดองล้างผิด “ทักษิณ” 30 พ.ค.นี้ ที่ลานพระรูปฯ ด้าน “สนธิ” ประกาศขอสู้ครั้งสุดท้าย!

       เมื่อวันที่ 26 พ.ค. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานคอนเสิร์ต “เมืองไทยรายสัปดาห์ภาคพิเศษ” ที่สวนลุมพินี เพื่อรำลึกในโอกาสครบรอบ 4 ปีการเริ่มต้นชุมนุม 193 วันเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551  ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเดี่ยวไมโครโฟนโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทางแกนนำพันธมิตรฯ ได้แถลงความคืบหน้าการเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย รวมทั้งผลการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน จนสามารถประกาศเป็น “ร่างหลักการปกครองประเทศไทย” เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในแนวทางของพันธมิตรฯ โดยหลังจากนี้จะมีการนำร่างหลักการปกครองประเทศไปทำประชาพิจารณ์ และปรับปรุงให้สมบูรณ์ต่อไป
       
           ทั้งนี้ ร่างหลักการปกครองประเทศในแนวทางของพันธมิตรฯ เน้นการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งมี 15 ข้อ ได้แก่ หลักการปกครองประเทศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ,หลักการปกครองประเทศต่อระบบพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องขจัดเผด็จการที่มาจาการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ที่ครอบงำประเทศทุกรูปแบบ ฯลฯ
       
           นอกจากนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังมีมติเอกฉัท์นัดชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนมวลชนไปยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านและขอให้ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ รวมทั้งให้ผู้เสนอ ถอนวาระออกจากที่ประชุมสภาฯ
       
           พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า หากไม่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกจากสภา กลุ่มพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวต่อไป เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทำลายชาติ แม้พันธมิตรฯ จะได้ประโยชน์จากกฏหมายดังกล่าวก็ตาม แต่ถือว่าไม่จำเป็น เพราะประโยชน์ของชาติสำคัญกว่า
       
           ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศขอสู้เป็นครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พ.ค.นี้ “นับแต่ปี 2548 มาถึงวันนี้ 7 ปีเต็ม ...สำหรับคนๆ หนึ่ง เดินทางมา 7-8 ปีแบบนี้ โดนคดีความ โดนคดีที่ผู้พิพากษาท่านมีความสุขมากกับการที่ผมผิด 1 เจตนา ท่านเปลี่ยนไปเป็น 8 เจตนา แล้วจำคุกผม 85 ปี ท่านมีความสุขปล่อยให้ท่านมีความสุขไป ผมไม่ว่า แล้วยังผ่านลูกปืนอีก 200 นัด ยังขึ้นศาล แล้ววันที่ 30 นี้ยังจะต้องออกถนนอีกแล้ว พี่น้องครับ สำหรับคนๆ หนึ่ง อายุ 65 ปี สู้ให้ชาติบ้านเมืองจนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมทำมากเกินกว่าพอแล้วพี่น้อง ออกครั้งนี้ผมจะออกครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าแพ้จะต้องตายคาลูกปืนผมจะตาย ถ้าชนะเมื่อไหร่ผมจะล้างมือ แล้วผมจะขอลาออกจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปใช้ชีวิตที่เงียบๆ ไม่ต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาหลอกใช้ผมอีกต่อไป”
       
           นายสนธิ ยังเผยด้วยว่า ทุกวันนี้ตนมีชีวิตอยู่ได้เพราะสวดมนต์ภาวนา และถามตัวเองว่า ทำให้ชาติมากพอหรือยัง ซึ่งตอบได้ว่ายัง ต้อง 30 พ.ค.นี้ก่อน ดังนั้นหากพ้น 30 พ.ค.นี้แล้ว จะแพ้หรือชนะ หรือจบอย่างไรก็ตาม ตนต้องปล่อยให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ให้อำมาตย์ ให้หลายคนที่หลอกใช้ตนอยู่ และให้พรรคการเมืองบางพรรคที่เคยหลอกใช้ตน ให้รับแผ่นดินนี้เอาไปดูแลต่อไป
       
       4. รบ. จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากการชุมนุมแล้วล็อตแรก 465 ราย - เมิน “ปชป.” ร้อง ป.ป.ช.จ่ายเงินไม่มี กม.รองรับ!

           เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลได้จัดพิธีมอบเงินเยียวยาแก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. และ 6 มี.ค.2555 ที่อนุมัติเงินเยียวยา 2,000 ล้านบาท
       
           ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีมอบเงินเยียวยาดังกล่าว โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งยกเลิกหมายดังกล่าว และให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปคอป.) เป็นประธานแทน ซึ่งนายยงยุทธ บอกว่า นายกฯ ติดภารกิจที่ภาคเหนือ กลับมาไม่ทัน จึงให้ตนเป็นประธานแทน
       
           สำหรับยอดผู้ได้รับเงินเยียวยาล็อตแรกนี้มีจำนวน 524 ราย แบ่งเป็น เสียชีวิต 44 ราย ,ทุพพลภาพ 6 ราย ,บาดเจ็บสาหัส 58 ราย ,บาดเจ็บ 177 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย รวมยอดเงินเยียวยา 577,663,079 บาท อย่างไรก็ตามมีผู้มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยาล็อตแรกแค่ 465 ราย  ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียน ได้แก่ ญาติของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ,ญาติของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นต้น
       
           ด้านนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า เผยเหตุที่ยังไม่ได้ไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ว่า ไม่ได้ปฏิเสธการรับเงิน แต่เป็นเพราะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เรียกประชุมตรงกันพอดี ประกอบกับต้องใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ
       
           สำหรับตัวเลขเงินเยียวยาล็อตแรกนี้ นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เผยว่า แบ่งเป็น 5 ประเภท 1.เสียชีวิต ได้รับเงิน 7.75 ล้านบาท แต่หากมีการรักษาและเสียชีวิตภายหลังจะได้เพิ่มอีก 200,000 บาท รวมเป็น 7.95 ล้านบาท 2.ทุพพลภาพ ได้รับเงิน 7.9 ล้านบาท 3.บาดเจ็บสาหัส ได้รับเงิน 1.75 ล้านบาท 4.บาดเจ็บไม่สาหัส ได้รับเงิน 695,000 บาท และ 5.บาดเจ็บเล็กน้อย ได้รับเงิน 235,000 บาท
       
           อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทนั้น นายปกรณ์ บอกว่า พม.จ่ายเป็น 2 ลักษณะ โดยจ่ายเป็นเงินสด 3.25 ล้านบาท ส่วนอีก 4.5 ล้านบาท ให้เป็นสลากออมสินแทน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่รับเงินเยียวยา จะต้องยุติการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน อีกทั้งเงินเยียวยา นำมาจากภาษีประชาชน และรัฐบาลได้พยายามเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมอย่างเต็มที่แล้วเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและอยากให้เกิดความปรองดอง  สำหรับผู้ที่ยอมถอนฟ้องทางแพ่งเพื่อรับเงินเยียวยา ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา ที่อยู่สายเสื้อแดง โดยนางพะเยาว์ พูดทำนองเสียใจที่ต้องถอนคดีแพ่ง แต่ยืนยันว่าคดีอาญาที่ตนฟ้องจะเดินหน้าต่อไป
       
           ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาขู่จะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หากรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 7.75 ล้านแก่ผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า ทุกอย่างทำตามขั้นตอน มีการตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการ และเสนอเรื่องผ่านที่ประชุม ครม. พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีการจ่ายเงินชดเชยในลักษณะนี้มาแล้ว รัฐบาลก็ใช้ระเบียบคล้ายๆ เดิม ไม่ต่างกัน
       
      5. ป.ป.ช. ชี้ “สุพจน์” ร่ำรวยผิดปกติ ส่ง อสส.ดำเนินคดี พร้อมเสนอยึดทรัพย์ 18 ล้าน ด้านเจ้าตัว ลาออกจากราชการแล้ว!

       เมื่อวันที่ 24 พ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยรายการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดที่มีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้แยกทรัพย์สินของนายสุพจน์ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เงินสดกว่า 18 ล้านบาท และทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ที่คนร้ายปล้นไปจากบ้านนายสุพจน์เมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย.2554 แล้วตำรวจยึดกลับคืนมาได้ โดยเก็บเป็นของกลางในคดี 2.เงินฝากในบัญชีธนาคาร ที่ดิน รถยนต์ อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่นายสุพจน์ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไว้ และ 3.ทรัพย์สินอื่นบางรายการ เช่น รถยนต์
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินในส่วนที่ 1 คือเงินสดกว่า 18 ล้านบาท เป็นของนายสุพจน์จริง แม้นายสุพจน์จะต่อสู้ว่าเงินดังกล่าวเป็นของตัวเองเพียง 5,068,000 บาท โดยแยกเป็นเงินสินสอดงานแต่งงานของบุตรสาว 2 ล้านบาท ,เงินที่บิดาของคู่สมรสของบุตรสาวมอบให้เป็นทุนในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ 2.5 ล้านบาท และเงินรับไหว้จากญาติผู้ใหญ่ 568,000 บาท แต่ ป.ป.ช.พบพิรุธว่า เงินของกลาง 18 ล้านบาทที่ตำรวจยึดมาจากคนร้ายอยู่ในสภาพที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ไม่มีสายคาดจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต่างจากเงินสินสอดที่นายสุพจน์นำภาพมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เป็นธนบัตรใหม่และมีสายคาดของ ธปท. ดังนั้น เงินของกลางที่ยึดได้ จึงไม่มีเงินสินสอดจากงานแต่งงานของบุตรสาวนายสุพจน์ ส่วนเงินที่บิดาของคู่สมรสของบุตรสาวให้เป็นทุนนั้น ก็ไม่มีพยานรู้เห็น การอ้างว่าเป็นการให้แบบฉุกละหุกและไม่เปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลและผิดวิสัยของการมอบเงิน จึงเชื่อว่าไม่มีการมอบเงินดังกล่าวจริง ส่วนเงินรับไหว้จากญาติผู้ใหญ่ มีพยานหลักฐานของผู้มอบให้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีการมอบให้จริง และอาจรวมอยู่ในเงินดังกล่าว
       
        เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ป.ป.ช.จึงมีมติว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เพราะมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติจำนวน 17,553,000 บาท และทองคำรูปพรรณหนัก 10 บาท จึงมีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.) ดำเนินคดีและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
       
        สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสุพจน์นั้น ล่าสุด ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า เหตุที่ลาออกไม่ใช่ถอดใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องการเปิดทางให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทน ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติใบลาออกแล้ว และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า
       
        ส่วนความคืบหน้าการติดตามจับกุมคนร้ายที่ร่วมกันปล้นบ้านนายสุพจน์นั้น พล.ต.ต.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ยืนยันว่า ในส่วนของผู้ต้องหา 3 คนที่ยังหลบหนี ประกอบด้วย นายวีระศักดิ์ หรือโก้ เชื่อลี ,นายคำนวณ หรือนวน เมฆน้อย และนายพงษ์ศักดิ์ หรือเจี๊ยบ นามวงศ์ ทาง บช.น.ยังไม่ละทิ้งการติดตาม พร้อมยืนยันว่า ผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ที่ประเทศลาว โดยมีพวกค้าไม้ให้ความช่วยเหลืออยู่ ส่วนผู้ต้องหาที่จับกุมได้แล้ว 9 คน พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 9 ต่อศาลแล้ว ซึ่งศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกวันที่ 29 ม.ค. 2556

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 พฤษภาคม 2555

5689
1. สภาฯ เลื่อนถก กม.ปรองดองออกไปไม่มีกำหนด ด้านพันธมิตรฯ ประกาศพักชุมนุม ขณะที่ “ผู้การแต้ม” ถูกเด้งเข้ากรุ คาด ไม่ยอมสลายม็อบ!

       ความคืบหน้าหลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้รีบบรรจุเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 30-31 พ.ค. ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วย ประกาศนัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้ารัฐสภาในวันที่ 30 พ.ค.เช่นกัน เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่มุ่งล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น
       
       ปรากฏว่า พล.อ.สนธิ ได้ออกมายืนยันว่า การเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ตนคนเดียว พร้อมย้ำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเพียงถนนเส้นหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรองดอง และว่า อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาหรือสร้างความปรองดองได้เร็ว ต้องรีบทำ อย่ารอช้า เพราะบ้านเมืองรอไม่ได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ มีมากถึง 4 ร่าง คือ 1.ร่างของ พล.อ.สนธิ 2.ร่างของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.กลุ่มเสื้อแดงในพรรค ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับร่างของ พล.อ.สนธิ ต่างกันตรงที่ร่างของนายณัฐวุฒิ ไม่ให้ลบล้างความผิดผู้ที่สั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 3.ร่างของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และ 4.ร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับร่างของ พล.อ.สนธิ
       
       ด้านแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากระเบียบวาระ พร้อมเผยจุดยืนของพรรคว่า จะคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภา รวมทั้งจะรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม ทำลายระบอบการปกครอง พร้อมขอให้ประชาชนที่รักความถูกต้อง ออกมาแสดงการคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย
       
       ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ดังกล่าวผ่านสภา จะเป็นครั้งแรกที่ระบบตุลาการถูกแทรกแซง โดยอำนาจตุลาการจะถูกยกเลิกแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่จะไม่มีการยกเลิกอำนาจตุลาการ
       
       สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ปรากฏว่า มีมวลชนมาร่วมด้วยจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มเสื้อหลากสีของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ออกมาร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เช่นกัน จากนั้นพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนมวลชนไปหน้ารัฐสภา และยื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยให้เหตุผลที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งลบล้างความผิดของบุคคลต่างๆ ทั้งที่บางคดีมีคำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุดแล้ว,กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความชัดเจน กินความกว้าง และกระทบหลายองค์กร,มีการก้าวล่วงล้มล้างคำพิพากษาของศาล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ,กฎหมายปรองดองฉบับนี้เป็นการทำผิดต่อกฎหมายอาญาหลายมาตรา ฯลฯ จึงขอให้สภาฯ ระงับร่างกฎหมายดังกล่าว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่พันธมิตรฯ ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ อยู่หน้าสภาฯ ปรากฏว่า บรรยากาศในสภาเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ซึ่งอยู่ลำดับที่ 27 ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงว่า ก่อนพิจารณาว่าควรเลื่อนเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหรือไม่นั้น ควรพิจารณาก่อนว่า ร่างฯ ดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ เพราะอาจเกี่ยวพันกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท ที่จะมีการคืนเงินหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกฎหมายการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อน จึงจะบรรจุเข้าสภาได้ โดยควรถามไปยัง พล.อ.สนธิ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม หรือไม่ก็เรียกประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ ทั้ง 35 คณะให้เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องนี้
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ พยายามย้ำอยู่หลายครั้งว่า เป็นอำนาจของตนในการวินิจฉัยว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ พร้อมอ้างว่า ที่ตนบรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา เพราะโพลต่างๆ บอกว่าประชาชนทั่วประเทศต้องการความปรองดอง ทั้งนี้ บรรยากาศเริ่มตึงเครียด โดย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านต่างโห่โต้ตอบกันไปมา จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ตะโกนขึ้นว่า “ประธานคนเดียวจะวินิจฉัยได้อย่างไร ถ้าบ้านเมืองฉิบหายแตกแยก จะรับผิดชอบกันอย่างไร ช่วยเป็นกลางหน่อย อย่าทำเพื่อทักษิณ ที่นี่ไม่ใช่สภาทาส...” ด้านนายสมศักดิ์ ได้ตัดบทด้วยการสั่งพักการประชุม
       
       เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง ก็เกิดความวุ่นวายอีก เมื่อนายสมศักดิ์พยายามให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องเลื่อนญัตติร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า ประธานกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ พร้อมส่งเสียงโห่นายสมศักดิ์ ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาด่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ขณะที่นายสมศักดิ์ ยังพยายามเดินหน้าจะให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ วิ่งกรูกันไปที่หน้าบัลลังก์ประธานสภาฯ ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยรีบวิ่งกรูไปคุ้มกันนายสมศักดิ์ ขณะเดียวกันตำรวจรัฐสภากว่า 20 นาย รีบเข้ามาอารักขานายสมศักดิ์บนบัลลังก์เช่นกัน ด้านนายสมศักดิ์ เมื่อหายตกใจรีบสั่งพักการประชุม
       
       ทั้งนี้ ระหว่างพักประชุม เหตุการณ์ยังคงวุ่นวาย โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ตะโกนต่อว่าสภาเผด็จการ พร้อมชูป้าย “ปรองดองต้องไม่ฟอกผิดเป็นถูก” ขณะที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ พยายามขึ้นไปลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ลงจากบัลลังก์ แต่ถูกนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นำทีม ส.ส.หญิงของพรรค บุกขึ้นไปยื้อแย่งเก้าอี้ประธานคืน หลังเหตุการณ์คลี่คลาย น.ส.รังสิมา เผยเหตุที่ต้องไปลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ว่า เพราะประธานทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง หากยังมีเก้าอี้ไว้ตรงนั้น เดี๋ยวประธานก็จะกลับมานั่งอีก จึงต้องการลากไปไว้ด้านหลัง
       
       หลังไม่พอใจการทำหน้าที่ประธานของนายสมศักดิ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้พากันล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ โดยได้ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็เตรียมฟ้อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายนายสมศักดิ์ ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์วุ่นวายดังกล่าว ส่งผลให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ต้องทำหน้าที่ประธานฯ แทนนายสมศักดิ์ โดยได้สั่งปิดประชุม และนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 31 พ.ค.
       
       สำหรับการประชุมสภาฯ วันที่ 31 พ.ค.ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก โดยก่อนประชุม ได้มีการประชุมประธาน กมธ.สามัญประจำรัฐสภาทั้ง 35 คณะ เพื่อพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ก่อนมีมติ 22 ต่อ 1 ว่าไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทั้งนี้ ก่อนลงมติ กมธ.ซีกฝ่ายค้านได้วอล์กเอาต์ ไม่ยอมลงมติ
       
       จากนั้นเมื่อมีการประชุมสภาฯ นายสมศักดิ์ได้แจ้งมติของ กมธ.ให้ที่ประชุมทราบ ก่อนตัดบทด้วยการให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ตามข้อเสนอของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ด้วยการขว้างหนังสือข้อบังคับการประชุมสภาไปที่บัลลังก์ประธาน ขณะที่ผลการลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วยให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนด้วยคะแนน 272 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นนายสมศักดิ์ได้สั่งปิดประชุมทันที พร้อมนัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 1 มิ.ย.
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด สภาฯ ไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแท่นปูนและลวดหนามไปขวางตามแยกต่างๆ ของถนนที่มุ่งหน้ารัฐสภา คาดว่าเพื่อขวางไม่ให้มวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ประกอบกับผู้ชุมนุมบางส่วนได้ไปปักหลักตามแยกต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ ส.ส.ไม่สามารถเดินทางเข้าสภาได้ นายสมศักดิ์ จึงได้แจ้งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปเป็นวันที่ 6-7 มิ.ย.แทน ขณะที่พันธมิตรฯ ได้ประกาศพักการชุมนุมชั่วคราวเช่นกัน โดยนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 5 มิ.ย.เวลา 15.00น.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ พร้อมบอกว่า คราวนี้จะเป็นการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง และพร้อมเคลื่อนไปยังสถานที่ต่างๆ ตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด(2 มิ.ย.) ประธานสภาฯ ได้สั่งงดการประชุมสภาในวันที่ 5-7 มิ.ย.แล้ว พันธมิตรฯ จึงได้ประกาศงดการชุมนุมในวันที่ 5 มิ.ย. แต่ขอให้แนวร่วมเฝ้าระวังในที่ตั้ง และพร้อมเคลื่อนมวลชนทันทีที่มีแถลงการณ์จากแกนนำพันธมิตรฯ
       
       ทั้งนี้ หลังสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ตามกำหนดได้ เพราะการชุมนุมของพันธมิตรฯ ส่งผลให้ตำรวจระดับสูงถูกเด้ง 2 นาย คนแรกคือ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผ.บชน.) โดยถูก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน แล้วให้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มารักษาราชการ ผ.บชน.แทน ซึ่งมีการประเมินกันว่า เหตุที่โยก พล.ต.ท.วินัย ถ้าไม่ใช่เพราะไม่สามารถเปิดทางกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าสภาได้ ก็อาจเป็นเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ พล.ต.ท.วินัยต้องเปลืองตัวหรือมือเปื้อนเลือดหากมีการสลายม็อบ เพราะ พล.ต.ท.วินัย เป็นหลานเขยคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
       
       ส่วนตำรวจอีกนายที่โดนเด้ง ก็คือ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 30 วันเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ถูกโยกคาดว่าเป็นเพราะรัฐบาลต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม แต่ตำรวจไม่ทำ เนื่องจาก พล.ต.ต.วิชัย เป็นคนที่ประนีประนอม เน้นการเจรจาเป็นหลัก
       
       2. ศาล รธน.มีมติรับวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน. ขัด กม.หรือไม่ พร้อมสั่งสภาฯ ชะลอโหวตวาระ 3 ด้าน “ทักษิณ” เหิม อัดศาลปล้นอำนาจ!

       เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีมีผู้ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญถึง 5 คำร้อง ประกอบด้วย 1. คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และนายบวร ยสินทร และคณะ
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าประชุมครั้งนี้มี 8 คน ขาดไป 1 คน คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ขอลาประชุม โดยที่ประชุมมีมติ 7 : 1 ว่า ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีที่มีการร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้จากบุคคลที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าว ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง ก็คือ นายชัช ชลวร ซึ่งเห็นว่า มาตรา 68 ให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       
       ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณา โดยให้รวมพิจารณาคำร้องไปในคราวเดียวกัน เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี พร้อมกันนี้ ศาลยังได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ให้ผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ประกอบด้วย ครม. ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ส่งหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยศาลจะนัดคู่กรณีไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.เวลา 09.30น.
       
       นายพิมล ยังบอกด้วยว่า คณะตุลาการได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย หากรัฐสภายังเดินหน้าก็ไม่ได้มีบทลงโทษอะไร แต่การดำเนินการต่อไป อาจเป็นการแสดงเจตนาว่า มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะตามคำร้องจริง
       
       ทั้งนี้ ล่าสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ประกาศงดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.แล้ว พร้อมกับงดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในวันที่ 6-7 มิ.ย. โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ออกมากล่าวหาว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะมาตราดังกล่าวให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นายพร้อมพงศ์ ยังขู่ด้วยว่า ตุลาการฯ ที่รับคำร้องดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และอาจถูกยื่นถอดถอนได้
       
       ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ได้โฟนอินมายังเวที “ครึ่งทศวรรษความจริงวันนี้” ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เมืองทองธานี(2 มิ.ย.) โดยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกฎหมายหรือไม่ ไว้วินิจฉัย “ขบวนการปล้นอำนาจกำลังเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ชะลอไว้ไม่ให้โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่านักการเมือง นักประชาธิปไตยระหว่างประเทศบอกมีด้วยหรือการละเมิดประชาธิปไตยข้ามสาย ผมก็ตกใจ สืบไปสืบมา ศาลรัฐธรรมนูญเขียนเอง ...ต้องบอกประชาชนว่าจะปล่อยให้กระบวนการปล้นอำนาจเกิดขึ้นอีกหรือ ตกลงจะยอมรับอำนาจที่ไม่มีอำนาจหรือไม่”
       
       พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอ้างด้วยว่า ก่อนที่ตนจะเข้ามาเล่นการเมืองมีเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเข้ามาเล่นการเมืองมีแต่เงินหายไป ส่วนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดไป ก็เป็นเงินของตนที่ถูกปล้นไป
       
       3. ศาล พิพากษาจำคุก “พล.อ.ธรรมรักษ์” 3 ปี 4 เดือน คดี ทรท.จ้างพรรคเล็ก ด้านเจ้าหน้าที่ กกต.รับสินบนแก้ข้อมูล เจอคุก 5 ปี!

       เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย(ทรท.) ,นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ,นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย ,นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และ 11
       
       ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 2-7 มี.ค.2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายชวการ จำเลยที่ 3 จ้างวานให้นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงาน กกต.เป็นเงิน 30,000 บาท ให้ตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้
       
       ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอมรวิทย์เป็นคนเดียวที่มีรหัสผ่านเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ซึ่งหลังเกิดเหตุนายอมรวิทย์ได้สารภาพกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.ว่าเป็นผู้ไปรับแบบเอกสารแจ้งเปลี่ยนข้อมูลสมาชิกพรรคพร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลจากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อมาแก้ไขข้อมูล โดยไม่ผ่านขั้นตอนการลงรับเอกสารงานสารบรรณ และไม่มีการเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยคิดว่าสามารถทำได้ เพราะปรึกษาเพื่อนร่วมงานแล้ว ซึ่งศาลเห็นว่า นายอมรวิทย์ทำงานมา 2 ปีเศษ ต้องรู้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ การกระทำของจำเลยจึงสะท้อนถึงเจตนาอันมิชอบอย่างชัดแจ้ง
       
       ส่วน พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายชวการ ได้ใช้ให้นายอมรวิทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ ศาลเห็นว่า นายชวการเคยให้การไว้ว่า ได้รับการติดต่อจากนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์อยากพบ จากนั้นได้เดินทางไปพบที่พรรคไทยรักไทยช่วงปลายเดือน ก.พ.2549 ต่อมาวันที่ 3 มี.ค.2549 ได้ไปพบที่กระทรวงกลาโหม โดยได้รับเงินมา 50,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายให้นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อชำระค่าลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพัฒนาชาติไทย จากนั้นวันที่ 6 มี.ค.2549 นายทวีก็ได้นำเงินมาให้นายชวการอีก 760,000 บาท เพื่อแบ่งให้ผู้สมัคร ส.ส. จากนั้นวันที่ 8 มี.ค.2549 นายทวีได้นำเงินมาให้อีก 140,000 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีของนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ซึ่งนายสุขสันต์ เคยเบิกความยอมรับว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากนายชวการแล้ว ก็ไปหาผู้สมัคร พร้อมยอมรับว่า นายบุญทวีศักดิ์ได้นำแผ่นบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและรายชื่อบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส.มาให้ตนแก้ไข
       ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่พรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กเท่านั้นที่ส่งผู้สมัคร จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า หากพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ พรรคไทยรักไทยย่อมไม่มีโอกาสได้รับเลือกเกิน 20% ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการที่นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 4 จัดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยเน้นจังหวัดภาคใต้ จึงสมประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย
       
       ขณะที่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหรือหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 5 กระทำผิดจริง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ,3 ,4 และ 5 คนละ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน พร้อมทั้งให้ริบเงินสดของกลาง 30,000 บาท
       
       หลังฟังคำพิพากษา พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 และนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งศาลอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท
       
      4. “ซูจี” ออกนอก ปท.ครั้งแรกในรอบ 24 ปี ประเดิมมา “ไทย” พร้อมปลุกแรงงานพม่าให้รัก ปทท. หยอด อีก 10-15 ปี ได้กลับ ปท.!

       เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ค. นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก 2012 (World Economic Forum 2012) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งจะมาเยี่ยมแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศของนางซูจีครั้งนี้ ถูกจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งที่ผ่านมา นางซูจีปฏิเสธที่จะเดินทางออกนอกประเทศมาตลอด เนื่องจากเกรงว่าหากเดินทางออกมาแล้ว รัฐบาลทหารพม่าจะไม่อนุญาตให้เธอกลับเข้าประเทศอีก
       
       ทั้งนี้ นางซูจีและคณะได้เดินทางไปดูวิถีชีวิตของแรงงานพม่าที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีชาวพม่านับหมื่นคนมารอต้อนรับ โอกาสนี้ นางซูจีได้ขอให้แรงงานพม่าให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย อย่าได้สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ต้องทำงานให้ดี ถ้ามีอะไรก็ให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทย “อยู่เมืองไทยต้องรู้รักษาความสงบภายในบ้านเมืองของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ขอให้รักประเทศไทยเหมือนกับรักประเทศพม่า การทำงานก็ต้องทำให้เต็มที่ ช่วยกันดูแลเมืองไทยให้ดี และอีก 10-15 ปีข้างหน้า สถานการณ์ในประเทศพม่าก็จะดีขึ้น แรงงานทุกคนก็จะได้กลับประเทศ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างอยู่ในไทย ไม่เพียงนางซูจีจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนแรงงานพม่าในจังหวัดต่างๆ แต่ยังได้พบหารือกับนักการเมืองของไทยด้วย เช่น หารือเป็นการส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เผยในเวลาต่อมาว่า เป็นการหารือเรื่องทั่วไป ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจในพม่า การปรับปรุงระบบกฎหมายในพม่า เพื่อให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนได้สะดวก
       
       นอกจากนี้นางซูจียังได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องปัญหาของแรงงานพม่าในไทย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า แรงงานพม่าในไทยมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แต่ลงทะเบียนไว้เพียง 8 แสนคน อีก 1.2 ล้านคนอยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้รัฐบาลพม่าตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติใน 5 จังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ได้แก่ ภูเก็ต ,สุราษฎร์ธานี ,สมุทรสาคร ,สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนพม่าแล้วลงทะเบียนตามกฎหมาย จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทเท่ากับแรงงานไทย นอกจากนี้ยังจะได้รับสวัสดิการต่างๆ และได้เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่เท่านั้นรัฐบาลไทย-พม่า ยังได้เตรียมทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) เพื่อให้คนพม่าได้เรียนโรงเรียนไทยด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มิถุนายน 2555

5690
1.    อัยการสูงสุด รีบฟันธง ร่างแก้ รธน.ไม่ล้มการปกครอง ด้านศาล รธน.ยัน มีอำนาจรับคำร้อง ไม่หวั่นถูกข่มขู่!

           หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติ 7 ต่อ 1 รับวินิจฉัยกรณีมีผู้ร้องว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จัดทำโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ มีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ พร้อมมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย
       
           ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย-กลุ่มเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ออกมาโจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก โดยอ้างว่าประชาชนไม่สามารถร้องเรื่องดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด แล้วให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย  ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้มีมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไว้ก่อน นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังได้เข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งด้วย
       
           ด้านกลุ่มเสื้อแดง ได้ประกาศล่าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ขณะที่แกนนำเสื้อแดงบางส่วนได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       ส่วนกลุ่มนิติราษฎร์ อ้างว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันให้รัฐสภาต้องชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ด้วยว่า หากรัฐสภายอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
       
           อย่างไรก็ตาม นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมายืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าวระบุว่า การยื่นคำร้องของประชาชนทำได้ 2 ทาง 1.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และ 2.ยื่นต่ออัยการสูงสุด
       
           ด้านนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกอาการมึน ไม่กล้าฟันธงว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้กับรัฐสภาได้หรือไม่ โดยบอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในโลกนี้ก็ไม่เคยมี  ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
       
           ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้ออกมาจี้ให้ประธานรัฐสภา ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไว้ก่อน หากประธานรัฐสภายังดึงดัน วิปฝ่ายค้านจะไม่ร่วมลงมติ
       
           ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนว่า ใครฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระวังจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังอาจถูกถอดถอนได้ฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญ  ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เตือนว่า หากรัฐบาลไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วสุดท้ายถูกลงโทษหรือถูกยุบพรรค จะมาโทษว่าองค์กรอิสระหรืออำมาตย์ไปกลั่นแกล้งไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ชี้แจงแล้วกลับไม่พูด กลับโมโหและจะเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ
       
           ด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลง(6 มิ.ย.) ยืนยันว่า การยื่นคำร้องของประชาชนตามมาตรา 68 สามารถทำได้ 2 ทาง คือ 1.ยื่นต่ออัยการสูงสุด และ 2.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง  เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังแถลงข่าวเสร็จ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาเผยว่า “หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีโทรศัพท์จากผู้ที่ไม่หวังดีมาหาผมและข่มขู่ต่างๆ นานา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะปลงกับเรื่องพวกนี้เสียแล้ว”
       
           ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายุให้อัยการสูงสุดฟันธงว่า ผู้ที่จะร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ได้ต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป  ด้านอัยการสูงสุด(อสส.) รับลูกทันควัน โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีบุคคลร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดมาตรา 68 หรือไม่ ได้เปิดแถลงยืนยันว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส. เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด 15 มาตรา 291 ไม่ได้มีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด
       
           หลังคำแถลงของอัยการสูงสุดเข้าทางพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง ปรากฏว่า กลุ่มเสื้อแดงได้ไปยื่นหนังสือจี้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คนที่มีมติรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัย ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันกลุ่มเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเสื้อแดงเพื่อยื่นถอดตุลาการทั้ง 7 ต่อประธานวุฒิสภา  ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ประกาศว่า หาก นปช.รวบรวมรายชื่อได้ 1 ล้านคนเมื่อใด อยากรู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยังอยู่ต่อไปได้หรือไม่
       
       ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ก็เตรียมเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการตัดงบประมาณในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่และปัญหาเรื่องความโปร่งใส
       
       ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงอีกครั้ง(8 มิ.ย.)ว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ทำได้ 2 ทาง คือยื่นต่ออัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดก็เป็นคนละส่วนกับศาล และไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลในการที่จะรับคำร้องของผู้ยื่นไว้วินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ หลังอัยการสูงสุดชี้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส.ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาบอกว่า ไม่แปลกใจ เพราะตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา การทำงานของอัยการสูงสุดสอดคล้องกับธงของรัฐบาลตลอด เมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นอย่างนี้ ก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการต่อไป นายอภิสิทธิ์ ยังตำหนินายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่นิ่งดูดายกับกรณีที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำคนเสื้อแดง ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเวทีเสื้อแดงปราศรัยโจมตีพร้อมแจกเบอร์โทรศัพท์ของตุลการศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกในครอบครัว
       
       ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่ประธานรัฐสภาสั่งงดประชุมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เพราะไม่กล้าขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอออกไปจนกว่าจะทราบคำวินิจฉัยของศาลนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ก็มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยระหว่างประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างอภิปรายโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แต่อย่างใด เนื่องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมร่วมรัฐสภาครั้งต่อไปในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งต้องจับตาว่าฝ่ายรัฐบาลจะขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือไม่
       
      2.    พันธมิตรฯ ใช้ กม.จัดการพวกล้ม รธน. พร้อมลั่น ชุมนุมใหญ่ทันทีที่ กม.ปรองดองเข้าสภา!

       เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “เคารพและรอผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนักการเมืองกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และเคลื่อนไหว พ.ร.บ.ล้างผิดให้ทักษิณและพวกอย่างถึงที่สุด” โดยยืนยันว่า การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ เป็นสิ่งจำเป็น และจะชุมนุมภายใต้ 3 เงื่อนไขที่ว่า มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก นอกจากนี้ยังพร้อมชุมนุมใหญ่ หากสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่จุดที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่
                     
       สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนี้ แม้พันธมิตรฯ จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การลบล้างความผิดให้กับ นช.ทักษิณกับพวก แต่ยังเป็นเพียงแค่การวิเคราะห์และประเมินเหตุการณ์ สถานการณ์จึงยังไม่สุกงอมพอที่จะเข้าเงื่อนไขชุมนุม ทั้งนี้ พันธมิตรฯ เห็นว่า ควรใช้กฎหมายจัดการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ ไปดำเนินคดีอาญาและยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 416 คน ทั้ง ส.ส.-ส.ว.-คณะรัฐมนตรี รวมทั้งยื่นยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยได้ยื่นต่ออัยการสูงสุด-คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหากมีความผิดจริง จะมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
                     
              ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยแล้ว พร้อมสั่งให้นักการเมืองในรัฐสภาชะลอการลงมติฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในวาระ 3 นั้น พันธมิตรฯ เห็นว่า คดีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้นพันธมิตรฯ จึงขอแสดงความเคารพและสนับสนุนกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้นหากสมาชิกรัฐสภายังดึงดันที่จะลงมติฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ในวาระ 3 ต่อไป ขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการต่อไป
             
              ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังย้ำด้วยว่า หากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสภาฯ เมื่อใด พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด และพร้อมจะยกระดับการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบทันที
       
       3.คอป.จี้ รบ.หยุดเร่งรัดออก กม.ปรองดอง หวั่นนองเลือด ด้าน ปธ.วิปรัฐบาล ยัน เลิกชงเข้าสภาสมัยประชุมนี้!

ป้ายรณรงค์ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ คาดว่าจัดทำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดทั่ว กทม. แต่ถูกพรรคเพื่อไทยแจ้งตำรวจสั่งเก็บและดำเนินคดี อ้างว่า เข้าข่ายปลุกปั่นให้บ้านเมืองปั่นป่วน
           ความคืบหน้ากรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) , รวมทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติเข้าสภา  แต่สุดท้าย หลังประชุมสภาทั้ง 3 วัน(30 พ.ค.-1 มิ.ย.) ก็ไม่สามารถลงมติรับหลักการในวาระ 1 ได้ เนื่องจากนอกสภาฯ ก็มีการชุมนุมต่อต้านโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่ในสภาก็เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จากกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ พยายามรวบรัดให้มีการลงมติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ มีการขว้างปาเอกสารใส่บัลลังก์ประธานสภาฯ บ้าง ขณะที่ ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์บางคนพยายามไปเคลื่อนย้ายเก้าอี้ประธานสภาฯ  แต่ถูก ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยมายื้อแย่งคืน สุดท้าย ประธานสภาฯ ได้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไป และยังไม่มีกำหนดว่าจะประชุมอีกหรือไม่ในสมัยประชุมนี้
       
           ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา และถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เพราะการเสนอร่างดังกล่าวเข้าสภา ทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรจัดเวทีสานเสวนาให้เกิดความปรองดองก่อน ซึ่งการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ก็มีการจัดสรรงบเพื่อสร้างความปรองดองไว้แล้ว
       
           ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตรา พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภาอีก ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ได้มอบหมายให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับวิปรัฐบาลถึงเวลาที่เหมาะสมในการปิดสมัยประชุมสภา พร้อมยืนยันว่า ทั้งหมดอยู่ที่สภา หากยืนยันว่าไม่มีอะไร ก็ปิดประชุมสภาได้ ส่วนท่าทีของรัฐบาลต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องของสภาเช่นกัน รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ
       
           ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ผลการสำรวจเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของเอแบคโพลล์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 ไม่มีความหวังว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะนำไปสู่ความสุขของบ้านเมือง ขณะที่ร้อยละ 89 ต้องการให้ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหาค่าครองชีพก่อนออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ นอกจากนี้ร้อยละ 80 ยังมองว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทำให้ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์
       
           นายชวนนท์ ยังเผยด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำหนังสือ “ต้านกฎหมาย ล้างผิดคนโกง” เพื่อแจกจ่ายทั่วประเทศ โดยเนื้อหามี 4 ประเด็น ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคในการต้านการออกกฎหมายปรองดอง คือ 1.ต่อต้านการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำผิดกฎหมาย 2.ไม่ให้มีการคืนทรัพย์สิน 3.ไม่ให้มีการฟอกตัวของนักการเมือง และ 4. ไม่ให้ย่ำยีกระบวนการยุติธรรม โดยเบื้องต้นจะแจก 4 แสนเล่ม
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากหนังสือ “ต้านกฎหมาย ล้างผิดคนโกง” ที่พรรคประชาธิปัตย์จัดทำแล้ว ในหลายพื้นที่ของ กทม.ยังพบป้ายรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ด้วย โดยมีข้อความว่า “หยุดกฎหมายล้างผิด โกงชาติ หมิ่นสถาบัน”
       
           แต่หลังจากมีการติดตั้งป้ายดังกล่าวไม่นาน ทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจท้องที่ที่มีการติดตั้งป้ายดังกล่าว เพื่อให้เก็บป้ายออก พร้อมทั้งให้เอาผิดผู้ที่ติดตั้งป้าย ข้อหาติดป้ายโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
       
           ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้นำใบแจ้งความไปร้องเรียนต่อ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลด้วย ซึ่ง พล.ต.ต.คำรณวิทย์ บอกว่า จะพิจารณาว่าป้ายดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการโดยไม่กลั่นแกล้งฝ่ายใดทั้งสิ้น
       
           ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตำหนิตำรวจหลังมีการออกเก็บป้าย “หยุดกฎหมายล้างผิด โกงชาติ หมิ่นสถาบัน” โดยอ้างว่าเป็นป้ายที่นำไปสู่ความแตกแยก โดยถามตำรวจว่า ใช้อำนาจอะไรในการเก็บป้ายเหล่านั้น กรณีหมู่บ้านเสื้อแดงและป้ายที่กระทบสถาบัน ทำไมตำรวจนครบาลไปเห็นกล้าไปทำอะไร ซึ่งฝ่ายค้านจะตรวจสอบว่าตำรวจมีอำนาจหรือไม่ พร้อมย้ำว่า นี่ไม่ใช่รัฐตำรวจ
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดีแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังไปยื่นหนังสือจี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ให้เก็บแผ่นป้ายดังกล่าวออกจากเสาไฟฟ้าหรือสถานที่สาธารณะทั้ง 50 เขตของ กทม.ด้วย
       
           ไม่เท่านั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ ยังได้ไปแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ดำเนินคดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5 คน ข้อหาขัดขวางการประชุมสภาฯ ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ พร้อมอ้างว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ด้วย 
       
       ขณะที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้สอบสวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานขัดขวางการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ โดยขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
       
       ด้านนายธาริต บอกว่า หากสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีการกระทำผิด จะเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษที่จะประชุมวันที่ 27 มิ.ย.นี้ รับเป็นคดีพิเศษต่อไป พร้อมส่งสัญญาณว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องเป็นผู้มีอิทธิพลตามกฎหมายคดีพิเศษ
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกต่อกรณีที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ผ่านสภา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทบทวนการเร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการประชุมสภาฯ ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คอป.เห็นว่า หากกระบวนการสร้างความปรองดองดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม และไม่คำนึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง สถานการณ์อาจบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้   
       
       ทั้งนี้ เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในสมัยประชุมนี้ โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ได้ออกมายืนยัน(6 มิ.ย.)ว่า ในสมัยประชุมนี้ จะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แน่นอน เวลาการประชุมที่เหลืออยู่ จะเป็นเพียงการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการฟอกเงิน และกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนเท่านั้น
       
      4.    ศาล พิพากษาจำคุก “ราเกซ” พ่อมดการเงิน 10 ปี พร้อมสั่งชดใช้เงิน “บีบีซี” พันกว่าล้าน!

       เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายราเกซ สักเสนา อายุ 60 ปี สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายาพ่อมดการเงิน อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด(มหาชน) หรือบีบีซี ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 นายราเกซ ได้ร่วมกับนายเกริกเกียรติและพวกที่ยังหลบหนี ยื่นขอสินเชื่อกู้ยืมเงินในนามบริษัท ซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 2 พันล้านบาท จากบีบีซี ผู้เสียหาย โดยอ้างวัตถุประสงค์การกู้และมีการนำหลักทรัพย์ใบหุ้นและที่ดินมาเป็นหลักประกัน โดยนายราเกซเป็นผู้ทำเอกสารเสนอนายเกริกเกียรติ ซึ่งพบว่า ความจริงแล้วจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติไม่มีเจตนาที่จะเอาใบหุ้นมาใช้เป็นหลักประกัน นอกจากนี้ที่ดินที่นำมาเป็นหลักประกัน ก็มีราคาประเมินที่แท้จริงแค่ 26.9 ล้านบาท ไม่ใช่ 1,350 ล้านบาทตามที่จำเลยกับพวกได้ทำหลักฐานขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์สินของบีบีซีไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติเป็นเงินทั้งสิ้น 1,657 ล้านบาท อัยการจึงขอให้ศาลสั่งให้จำเลยร่วมกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
       
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานแน่นหนาและเบิกความสอดคล้องกัน รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุก 10 ปี และปรับ 1 ล้านบาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินผู้เสียหายจำนวน 1,657 ล้านบาทนั้น ศาลเห็นว่าการกู้เงิน มีการชำระเงิน 525 ล้านบาท จึงให้จำเลยชดใช้เงินคืนจำนวน 1,132 ล้านบาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า นายราเกซ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ถูกนำตัวขึ้นรถของเรือนจำเดินทางมาศาลฯ เพื่อฟังคำพิพากษา โดยนายราเกซมีอาการป่วย ไม่สามารถเดินได้ เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงนำตัวขึ้นนั่งรถเข็นแล้วพาเข้าห้องพิจารณา หลังฟังคำพิพากษา นายราเกซ ยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์คดี ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายราเกซได้ถูกอัยการยื่นฟ้องในความผิดลักษณะเดียวกันนี้ต่อศาลอาญาอีก 4 คดี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มิถุนายน 2555

5691
1. “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ปิดสมัยประชุมสภาแล้ว 19 มิ.ย. ด้าน“เพื่อไทย”หน้าแตกญัตติต้านคำสั่งศาล รธน.คว่ำกลางสภา!

           ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภายังไม่กล้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องของหลายกลุ่มบุคคลไว้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ พร้อมสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลฯ จะวินิจฉัย แต่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย พร้อมเคลื่อนไหวสอดรับกับกลุ่มเสื้อแดงด้วยการเข้าชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะที่อัยการก็ออกมาแถลงยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.และ ส.ส.ที่เสนอเข้าสภา ไม่เข้าข่ายล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุในมาตรา 68 นั้น
       
           ปรากฏว่า ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันมติเดิมว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3ไว้ก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของประธานรัฐสภา  อย่างไรก็ตาม ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ดูจะสวนทางกับวิปรัฐบาล เพราะนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ได้ออกมาเผยท่าทีของวิปว่า เห็นว่าไม่ควรลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในช่วงนี้ เพราะยังมีความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
       
           ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดประชุมร่วมรัฐสภา(12 มิ.ย.) ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ประกาศก่อนเลยว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในบรรยากาศที่ดี และเป็นที่ชัดเจนว่า จะไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในสมัยประชุมนี้ รวมทั้งจะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พร้อมแจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 19 มิ.ย.
       
       นายสมศักดิ์ยังได้ส่งสัญญาณจะขอปิดอภิปรายเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญด้วย หากไม่มีสมาชิกคัดค้าน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนไม่พอใจ จึงประท้วงและเสนอญัตติขอให้รัฐสภาพิจารณาว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงโดยชี้ว่า เรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น จะลงมติไม่ได้
       
       จากนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างคัดค้านกันไปมา กระทั่งนายสมศักดิ์ได้ใช้อำนาจตัดสินเรื่องนี้ โดยทำตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ที่ประชุมมีมติว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ แต่การจะลงมติเรื่องดังกล่าวได้ จะต้องมีสมาชิกสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด  ด้านนายอภิสิทธิ์ เมื่อไม่สามารถทักท้วงได้สำเร็จ จึงได้นำทีม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์จากที่ประชุม  จากนั้น นายสมศักดิ์ได้กดออดเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม พร้อมสั่งพักประชุม 5 นาที เพื่อรอให้สมาชิกเดินเข้าห้องประชุม
       
       เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง นายสมศักดิ์ได้ให้สมาชิกแสดงตน ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 323 เสียง เมื่อเห็นว่าสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งมา 1 เสียง นายสมศักดิ์จึงให้ลงมติว่าควรจะมีการลงมติว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ถือว่าเสียงเห็นด้วยไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถนำญัตติคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาหรือลงมติได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรู้ผล  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่วอล์กเอาต์ต่างเดินเข้าห้องประชุมอีกครั้ง พร้อมตะโกนด้วยความดีใจว่าญัตติดังกล่าวตกไปแล้ว ทั้งนี้ มีรายงานว่า สมาชิกที่ไม่เห็นด้วย 2 เสียง ก็คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา  สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 2 เสียง คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา ส่วนผู้ที่ไม่ลงคะแนน 3 เสียง คือ นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี ,นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ และนายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี  นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่า ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 7 คนที่อยู่ในสายนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายเนวิน ชิดชอบ ได้ลงมติเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว
       
       หลังญัตติดังกล่าวตกไป มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่พอใจอย่างมาก โดยได้โทรศัพท์มาต่อว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยให้เกิดกรณีนี้ขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยขาดประชุมถึง 16 คน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังต่อสายไปจี้นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ชี้แจงด้วยว่าทำไม ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาจึงขาดประชุม 8 คน ซึ่งนายบรรหาร ได้ออกมายอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณโทรศัพท์มาพูดคุยเรื่องดังกล่าวจริง ซึ่งได้เคลียร์กันไปแล้วว่า เรื่องนี้เกิดความสับสน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลงมติ รับรอง ส.ส.ของพรรคไม่ขาดประชุมแน่
       
           ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ได้แสดงความไม่พอใจนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ประกาศกลางที่ประชุมว่าจะไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จึงได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวประธานรัฐสภา ขณะที่นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ได้ออกมาสวนกลับนายก่อแก้วว่า ที่นายสมศักดิ์ประกาศออกไปเช่นนั้นก็เป็นไปตามมติของพรรคเพื่อไทยที่ให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ “การตัดสินใจของนายสมศักดิ์ถือเป็นความสง่างามของฝ่ายนิติบัญญัติ...ไม่ใช่ความด่างพร้อยและเป็นการตัดสินใจที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่การสยบยอมกับเนื้องอกของอำนาจฝ่ายตุลาการดังที่นายก่อแก้วกล่าวหา”
       
           เป็นที่น่าสังเกตว่า มีข่าวแพร่สะพัดว่าอาจมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้  แต่ต่อมา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ออกมาดับข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่า จะไม่มีการประชุมดังกล่าว เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า จะยังไม่มีการถอนร่างดังกล่าวออกจากสภา แต่ก็จะยังไม่มีการพิจารณา โดยระหว่างนี้จะมีการนำไปสานเสวนาก่อน พร้อมย้ำว่า การประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 1 ส.ค. ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 19 มิ.ย.แล้ว
       
       
      2.    อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง “ทักษิณ”กับพวกรวม 27 คน ต่อศาลฎีกาฯ คดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย 9 พันล้าน!

           เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด(อสส.) ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการนำสำนวนพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 27 คน กรณีทุจริตปล่อยกู้ 9,000 ล้านบาทของธนาคารกรุงไทย จำนวน 150 แฟ้ม 17 ลัง เข้ายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
       
           สำหรับคดีนี้ เริ่มมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เมื่อ คตส.หมดวาระ ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 โดยมีการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก ร่วมกันกระทำผิดกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ ต่อมา กฤษดามหานครมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า กฤษดามหานครไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูงมาก แต่ทางธนาคารกรุงไทยกลับอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี
       
           คือ 1.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำนวน 500 ล้านบาท 2.อนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำนวน 9,900 ล้านบาท และ 3.อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้แก่บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวน 1,185 ล้านบาท
       
           จึงถือว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ การปล่อยกู้ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนกับพวก
       
           สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา 2.กลุ่มผู้ปล่อยกู้ ได้แก่ คณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และบริษัทเอกชนผู้ขอกู้ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด ,บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์คจำกัด และ บมจ. กฤษดามหานคร และ 4.กลุ่มบุคคลที่ได้ประโยชน์จากบริษัทเอกชนดังกล่าว
       
           ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้องไว้และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00น. ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกอัยการสูงสุด รีบออกตัวว่า การยื่นฟ้องคดีนี้เป็นมติของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ซึ่งเห็นว่าพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณกับพวกรวม 27 คนเป็นความผิดตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า คดีนี้ไม่มีการยื่นฟ้องบุคคลอื่นในครอบครัวชินวัตรแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย
       
       3. ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด “ยงยุทธ” คดีอัลไพน์ ผิดทั้งวินัยร้ายแรง-อาญา ด้าน “ปุระชัย” รอด!

           เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีซื้อขายที่ดินวัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ปทุมธานีโดยมิชอบเพื่อเอาไปสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งกรณีนี้ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดนายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาก่อนแล้ว ที่ได้กระทำการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนสิทธิขายที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯ 
       
       มาคราวนี้ ป.ป.ช.พิจารณากรณีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยใช้อำนาจในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในการรับรองการซื้อขายที่ดินวัดธรรมิการามฯ กับบริษัท อัลไพน์ ว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนได้ จนกว่าจะมีการตราเป็นกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เคยระบุในขณะนั้นว่า การกระทำดังกล่าวของนายยงยุทธไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการกระทำของนายยงยุทธมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง นอกจากนี้ยังมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยของนายยงยุทธต่อไป ซึ่งผู้บังคับบัญชาก็คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะสมัยที่นายยงยุทธกระทำผิด ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องดำเนินการลงโทษภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. นอกจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินคดีอาญานายยงยุทธในศาลต่อไป  รวมทั้งส่งความเห็นไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการเพิกถอนคำสั่งของนายยงยุทธที่เคยสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม และโฉนดที่ดินเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
       
       ส่วน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มิได้เร่งรัดเพื่อดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ป.ป.ช.ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า ยังไม่ถือว่ามีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       4. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนมติเดิม “ยิ่งลักษณ์” ไม่ใช้จริยธรรมเพียงพอตั้ง “นลินี-ณัฐวุฒิ” เตรียมส่ง 2 สภาดำเนินการ!


           ความคืบหน้ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติก่อนหน้านี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เสนอชื่อแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมอย่างเพียงพอ แต่นายกรัฐมนตรีก็มิได้ทบทวนการแต่งตั้ง 2 รัฐมนตรีดังกล่าว และได้ทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้วนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดแถลงโดยยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลทั้งสองเป็นรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของนายกฯ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า กรณีนางนลินีแม้จะมีคุณสมบัติและไม่มีข้อห้ามใดใดในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย แต่การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งของรัฐบาลไทยถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อความสง่างามของรัฐบาล ซึ่งหากก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายต่อประเทศชาติตามมา นายกฯ ในฐานะที่ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
       
           ส่วนกรณีนายณัฐวุฒินั้น นายรักษ์เกชา เผยว่า นายกฯ ชี้แจงว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การที่ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งว่า การกระทำของแกนนำ นปช.และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 63 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยเดิมคือ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่  ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร
       
      5. “เพรียวพันธ์” สั่งยกเลิกสอบนายสิบตำรวจ หลังพบโกงข้อสอบทั่วประเทศ - รวบแกนนำเสื้อแดงลำปางเอี่ยว!

       เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พล.ต.ต.จักรทิพย์ โหละสุตสกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้นำทีมแถลงข่าวจับกุมขบวนการโกงสอบคัดเลือดบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นประทวน(นายสิบตำรวจ) ซึ่งเปิดสอบแข่งขันพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ผู้ต้องหา 5 ราย ประกอบด้วย นางเตือนใจ พงษ์พันธ์ ,นายปัญญาศักดิ์ นิลเพ็ชร ,นายสมชาย แสงทอง ,นายธนกร วิเศษ และนางศตพร วิเศษ ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังได้ตัวผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบตามสนามโรงเรียนต่างๆ อีก 21 ราย พร้อมของกลางชุดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 2 ชุด แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 21 แผ่น และอื่นๆ รวมทั้งเอกสารรายชื่อผู้เข้าสอบและเงินสดที่เรียกรับจากผู้สมัครเข้าสอบคัดเลือกจำนวน 10.5 ล้านบาท
       
        ทั้งนี้ หลังจากการสอบสวนขยายผล ผู้ต้องหาได้ซัดทอดถึงนายดาชัย อุชุโกศลการ แกนนำกลุ่มพลังลำปางและประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจนครราชสีมาจึงได้ขอศาลออกหมายจับ ก่อนนำกำลังไปควบคุมตัวนายดาชัยขณะหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง ที่ จ.ลำปาง ซึ่งนายดาชัยลงสมัครด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายดาชัยไปค้นสำนักงานกลุ่มพลังลำปาง สถานีวิทยุชุมชนกลุ่มพลังลำปาง รวมทั้งบ้านญาตินายดาชัยอีก 4 หลัง พบเอการประกอบใบสมัครสอบคัดเลือดตำรวจชั้นประทวนเป็นสัญญาบัตร 22 ใบ จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงสอบนายสิบตำรวจ พร้อมอ้างว่าตนถูกใส่ร้ายจากผู้ต้องหาที่ให้การซัดทอด
       
        ด้าน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนการทุจริตสอบคัดเลือกเป็นตำรวจ ก่อนเผยว่า การก่อเหตุครั้งนี้ทำกันเป็นขบวนการ ขณะนี้รู้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมดแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นขบวนการหน้ามหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่ง โดยกลุ่มคนมีความรู้ร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย และมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อตรวจสอบการทุจริตสอบคัดเลือกเป็นตำรวจแล้ว
       
        ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกการสอบครั้งนี้แล้ว เนื่องจากหลักฐานพบว่ามีการทุจริตชัดเจน และว่า “จากการสอบสวนถึงตอนนี้มีเพียงดาบตำรวจนายหนึ่งใน สภ.เมืองศรีสะเกษเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องส่วนใด”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มิถุนายน 2555

5692
1.“สุรพงษ์” เตรียมชง ครม.ไฟเขียวนาซาใช้สนามบินอู่ตะเภา 26 มิ.ย. หลังนาซาขู่ถอนตัว ด้านผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ ต้องให้รัฐสภาพิจารณาก่อน!

       เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อดำเนินกิจกรรมของนาซา สำหรับผู้ที่เข้าร่วมหารือ ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ,พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ
       
       ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุม พล.อ.อ.สุกำพล ยืนยันว่า การที่นาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาจะไม่ส่งผลเสียหรือกระทบต่อความมั่นคงของไทย และไม่มีนอกมีในอย่างที่หลายฝ่ายวิตก “ไม่ต้องกลัวเรื่องที่บินถ่ายรูปแล้วเก็บข้อมูลของเราไป เพราะดาวเทียมมีอยู่เต็มไปหมด ถ้าอยากจะได้ภาพที่ชัดเจนก็เสียเงินนิดหน่อย ใช้เว็บไซต์กูเกิลสบายมาก...” ส่วนที่มีข่าวว่า การอนุญาตให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ จะให้วีซ่าแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น พล.อ.อ.สุกำพล รีบบอกว่า เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องตลก พวกที่ออกมาพูดเช่นนี้เป็นพวกที่ทำให้รัฐบาลเสีย
       
       ขณะที่นายสุรพงษ์ เผยเหตุที่นาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นาซาได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอสำรวจเมฆสำหรับใช้ในการพยากรณ์อากาศ จากนั้นฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่เครื่องบินของนาซาต้องบินผ่านประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงได้ให้นาซาไปเจรจากับเพื่อนบ้านก่อน ปรากฏว่าไม่มีประเทศใดคัดค้าน นาซาจึงทำหนังสือมาถึงตนเมื่อต้นเดือน มิ.ย. และว่า นาซาต้องการใช้สนามบินอู่ตะเภาแค่ 2 เดือน คือ ส.ค.-ก.ย. โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยขึ้นบินด้วย เพื่อเอาตัวอย่างของเมฆไปวิเคราะห์
       
       ทั้งนี้ หลังประชุมกับนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น นายสุรพงษ์แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 19 มิ.ย. นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตกลงรายละเอียดและรูปแบบการทำงานร่วมกัน รวมถึงเที่ยวบินที่จะบินผ่านน่านฟ้าไทยข้ามไปประเทศกัมพูชาและสิงคโปร์ด้วย ไม่เท่านั้น ที่ประชุมยังหารือถึงการตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติระดับภูมิภาค ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ซึ่งทุกเหล่าทัพก็เห็นชอบในหลักการ โดยเบื้องต้นจะตั้งศูนย์แบบไม่ถาวร และมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอดเวลาช่วงที่เกิดภัยพิบัติ
       
       ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ หากอนุญาตให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาว่า ทำให้เรารู้เกี่ยวกับเมฆและฝนในระดับสูง นอกจากนี้ยังได้ความรู้เรื่องฝุ่นละอองในบรรยากาศและเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน พร้อมย้ำว่า ไม่มีอะไรต้องห่วงเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะไม่ร่วมมือกับนาซา
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายฝ่ายได้ออกมาคัดค้านการที่นาซาจะขอใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ยืนยันว่า เรื่องนี้เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน พร้อมจี้ให้ ครม.เปิดเผยรายละเอียดที่จะให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภา ขณะที่นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า การจะให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ว่าด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติที่อาจไปอยู่ในอาณัติของต่างชาติ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกำลังให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศไทยอีกครั้ง
       
       ด้านนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา ยืนยันเช่นกันว่า เรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาควรเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพราะขนาดเรื่องไทยจะเพิ่มเส้นทางการบิน ยังต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา แล้วนี่จะมีการบินสำรวจสภาพภูมิอากาศที่ต้องบินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาก่อน
       
       ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ไม่มีวาระพิจารณาเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา แต่อย่างใด โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดก่อน หากชัดเจนเมื่อใด จึงจะนำเข้า ครม. ส่วนขั้นตอนใดที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้รัฐสภารับทราบ ก็จะทำ
       
       อย่างไรก็ตาม สถานทูตสหรัฐฯ ได้นำหนังสือของนาซามาแจ้งให้ไทยทราบว่า หากรัฐบาลไทยไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องสนามบินอู่ตะเภาได้ภายในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ เพราะปัญหาในประเทศ นาซาก็เข้าใจ และจะขอถอนตัว เพราะไม่สามารถขนอุปกรณ์มาเตรียมพร้อมได้ทัน
       
       ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกอาการเหมือนไม่อยากให้นาซาถอนตัว จึงรีบออกมาบอกว่า จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ จะเอาหรือไม่เอา เรื่องจะได้จบ
       
       ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ออกมาเตือนรัฐบาลอย่าไว้ใจสหรัฐฯ เพราะเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศไทยได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ สหรัฐฯ อ้างว่าจะนำเครื่องบินไปรับผู้ประสบภัย แต่กลับนำไปสำรวจและถ่ายภาพฐานทัพของฝ่ายตรงข้าม สร้างความไม่พอใจให้ประเทศคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังมีความพยายามจะเข้ามาขอใช้พื้นที่ในไทยเป็นที่ตั้งการต่อสู้เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เช่น เคยขอเช่าเกาะภูเก็ต แต่กองทัพเรือไม่อนุญาต
       
      2.“สุเทพ” แฉ “ทักษิณ” ส่งคนมาเจรจาให้หยุดขวางแก้ รธน.-ออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ แลก ปชป.ได้ร่วมรัฐบาล ด้าน “เพื่อไทย” เล็งฟ้องหมิ่น!

       สัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาแฉว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งคนกลางมาเจรจากับตน เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ แลกกับการดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล
       
       ปรากฏว่า คำพูดของนายสุเทพ ส่งผลให้แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาโวยวายเป็นการใหญ่ หาว่านายสุเทพกุเรื่อง โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ท้าให้นายสุเทพโชว์หลักฐานออกมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณส่งใครมาเจรจา อย่าพยายามสร้างเครดิตให้ตัวเองด้วยการเล่นการเมืองแบบเก่าบิดเบือนข้อมูล
       
       ขณะที่นายสุเทพ แย้มว่า การเจรจาเกิดขึ้นหลายครั้ง ผ่านคนกลางที่ให้ความเคารพคุ้นเคยกันดี ครั้งแรกมาขอให้ตนเดินทางไปดูไบ แต่ได้ปฏิเสธไป จากนั้นส่งคนมาประสานให้เจอในสถานที่แห่งหนึ่ง “ครั้งหลังเขาเปิดเผยเจตนาว่าจะคุยเรื่องขอให้ยุติการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ ผมก็ได้ปฏิเสธไป เพราะส่วนตัวไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท.ทักษิณอีกต่อไปแล้ว หลังจากเคยรับปากผมหลายเรื่อง แต่ไม่เคยทำตามที่รับปากไว้เลยสักเรื่อง”
       
       นายสุเทพ ยังเล่าต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้คนเดิมได้มาเจรจามาอีก บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยากพบ ถ้าไม่สะดวก ให้ไปคิดว่าจะมาร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ จะเลือกกระทรวงไหนไปบริหารให้บอกมา ขออย่างเดียวอย่าคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มาจับมือกันแก้ปัญหาก่อน เพื่อให้บ้านเมืองสงบ พอรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี ค่อยเลือกตั้งต่อสู้กันใหม่ แต่ตนได้ปฏิเสธไปทันที
       
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถามเรื่องดังกล่าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกเพียงว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ และไม่น่าเป็นไปได้
       
       ด้านนายสุเทพ ออกมาแย้มอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณส่งคนมาเจรจาตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.2555 หลังน้ำท่วม แต่ไม่ใช่คนในพรรคเพื่อไทย โดยเป็นสุภาพสตรีชั้นสูง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม 2 คน ส่วนอีกคนเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งได้ไปพบที่บ้านบุคคลดังกล่าว โดยบุคคลดังกล่าวทำหน้าที่วิ่งไปวิ่งมาระหว่างตนกับ พ.ต.ท.ทักษิณหลายครั้ง กระทั่งมีการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสุเทพ ยังบอกด้วยว่า ทุกครั้งที่ได้รับการติดต่อจากบุคคลดังกล่าว ตนได้แจ้งให้หัวหน้าพรรคและผู้ใหญ่ในพรรคทราบ
       
       ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า เรื่องที่นายสุเทพพูดเป็นเรื่องเท็จ และ พ.ต.ท.ทักษิณได้แต่หัวเราะเมื่อทราบเรื่องนี้ ขณะที่นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ท้าให้นายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปสาบานที่วัดพระแก้วพร้อมกับตนและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันที่ 20 มิ.ย. หากไม่ไป แสดงว่าที่พูดมาเป็นเรื่องโกหก
       
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(20 มิ.ย.) นายพร้อมพงศ์และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ไปรอเก้อ เพราะนายสุเทพไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ เผยว่า ได้สาบานต่อวัดพระแก้วว่า หากสิ่งที่ทำเป็นเรื่องถูกต้อง ขอให้พรรคเพื่อไทยเจริญรุ่งเรืองและเป็นรัฐบาลตลอดไป หากสิ่งที่นายสุเทพพูดไม่จริง เป็นเกมการเมืองเพื่อทำลายพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ ไม่เจริญรุ่งเรืองทางการเมือง และเป็นฝ่ายค้านตลอดไป นายพร้อมพงศ์ ยังบอกด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีนายสุเทพข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236
       
       3.กกต.แจกใบแดง “การุณ” ฐานใส่ร้าย “แทนคุณ-ปชป.” เตรียมส่งศาลฎีกาฯ ชี้ขาด ด้าน “เพื่อไทย” เล็งส่ง “จตุพร” เลือกซ่อม!


       เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมพิจารณากรณีนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาว่าโฆษณาใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 และ 12 มิ.ย.2554 นอกจากนี้ยังมีการปราศรัยใส่ร้ายในลักษณะเดียวกันที่ตลาดโกสุมรวมใจ เขตดอนเมือง โดยใส่ร้ายนายแทนคุณและพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคการเมืองเก่าแก่ นักการเมืองรุ่นใหม่ ถือแปรงทาสีปราศรัยทุกครั้ง ชุมนุมทุกครั้ง เอาเงินมาแจก เกณฑ์คนไปฟังการปราศรัยที่ตลาดสะพานใหม่ รายละ 300 บาท”
       
       ทั้งนี้ กกต.พิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมากให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) นายการุณ โดยหลังจากนี้ กกต.จะยกร่างคำวินิจฉัยเพื่อเสนอศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษาต่อไป
       
       ขณะที่นายการุณ เผยความรู้สึกหลังทราบมติ กกต.ว่า ตอนนี้ยังรู้สึกสบายๆ เพราะเคยเจอเหตุการณ์หนักกว่านี้ ก็ยังยิ้มได้ และจะเดินหน้าทำงานต่อไปไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีก็ตาม นายการุณ ยังย้ำด้วยว่า การปราศรัยของตน ไม่ได้ระบุตัวบุคคล
       
       ด้านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า หากศาลฎีกาฯ วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตนก็พร้อมสู้เต็มที่ และคงต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งใครลงสมัครแทนนายการุณ และว่า ขณะนี้รู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะคดียิงนายชุติเดช สุวรรณเกิด หัวคะแนนของตน ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือว่า หลังจากนายชุติเดชแล้ว รายต่อไปจะเป็นตน จึงต้องระวังตัวมากขึ้น พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการข่มขู่เข้ามาเป็นระยะๆ แต่ไม่รู้สึกท้อถอย
       
       ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งแทนนายการุณ แต่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาบอกว่า หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีมติเช่นเดียวกับ กกต. จะเสนอให้พรรคส่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนนายการุณ พร้อมเชื่อว่า นายการุณจะไม่ขัดข้อง เพราะถือว่าเป็นนักต่อสู้เช่นเดียวกัน
       
       ด้านนายการุณ ส่งสัญญาณไม่มีปัญหาหากนายจตุพรจะลงสมัครรับเลือกตั้งแทนตน เพราะนายจตุพรเป็นพี่ตนและเป็นพวกเดียวกัน แต่ต้องมีการพูดคุยกันก่อน นายการุณ ยังเชื่อด้วยว่า ตนยังมีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาฯ เพราะดูจากมติ กกต.แล้ว ยังมีเสียงแตกอยู่ 2 เสียง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้ออกมาเผยว่า ตนเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้ให้ใบแดงนายการุณ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมากรณีมีการพูดจาใส่ร้ายกันทางการเมือง กกต.จะยกคำร้องทุกครั้ง โดยเฉพาะการใส่ร้ายกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ การให้ใบแดงนายการุณด้วยข้อกล่าวหาใส่ร้ายครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรก
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนความจำนางสดศรีว่า ไม่ทราบว่านางสดศรีได้ดูประวัติหรือยังว่าเคยให้ใบแดงเรื่องแบบนี้มาก่อน เพราะนายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ เคยโดนใบแดงข้อหาปราศรัยใส่ร้ายมาแล้ว นอกจากนี้กฎหมายยังระบุชัดว่า พฤติกรรมใดที่เป็นการสร้างความเข้าใจผิด ทำให้เกิดผลกระทบต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร ถือเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่เท่านั้น เวลาผู้สมัครรับเลือกตั้งทำอะไรเองแล้วผิดกฎหมาย มักจะโดนใบแดง ไม่ใช่โดนใบเหลือง ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ดังนั้นนางสดศรีไม่ควรให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับประชาชน “คำพูดของนางสดศรีนั้น จะมีคนนำไปใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน... จึงอยากให้ กกต.ออกมาชี้แจง ไม่เช่นนั้นคนจะสับสน กลายเป็นว่ามีมติออกมาแล้ว เสียงข้างน้อยออกมาอธิบาย แต่เสียงข้างมากไม่อธิบาย”
       
      4. ศาล รธน. ยื่นศาลอาญาถอนประกัน “จตุพร” คดีก่อการร้าย หลังดูหมิ่น-ข่มขู่ศาล ด้านเจ้าตัว ขู่ดำเนินคดีตุลาการสัปดาห์หน้า!

       จากกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. โดยปราศรัยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ พร้อมมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย โดยนายจตุพรได้กล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัย นอกจากนี้แกนนำเสื้อแดงบางคน เช่น นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ยังประกาศบนเวทีในลักษณะข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการบอกเบอร์โทรศัพท์และบ้านพักของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวด้วยนั้น
       
       ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งตัวแทนไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพรในคดีก่อการร้าย โดยศาลอาญาได้รับคำร้องไว้ พร้อมออกหมายเรียกนายจตุพรมาสอบถามข้อเท็จจริงในวันที่ 23 ก.ค.เวลา 09.00น.
       
       ด้านนายจตุพร ไม่พอใจพร้อมประกาศว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิยื่นเรื่องถอนประกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี และว่า ตนจะไปแจ้งความผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า ข้อหากระทำการขัดรัฐธรรมนูญ
       
       ขณะที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาชี้แจงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรณีดังกล่าว แต่สำนักงานศาลฯ คงทำไปตามหน้าที่ที่เห็นว่าควรต้องมีการดูแลความปลอดภัยของตุลาการทุกคน “ผมเข้าใจว่าเพื่อให้ตุลาการทำหน้าที่ด้วยความราบรื่น ไม่ถูกข่มขู่คุกคาม จึงจำเป็นต้องดูแลไม่ให้ตุลาการถูกข่มขู่ เพราะนายจตุพรและพวกได้มีการปราศรัยข่มขู่ที่รัฐสภา อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ คนรถของผมเองก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะพาคนมาบุกที่บ้าน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงห่วงความปลอดภัย”
       
       ด้านนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พูดถึงการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่คู่ความ แต่คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอมานั้น มีผลกระทบต่อสังคม และพฤติการณ์ของนายจตุพรตามที่ร้องมา ก็มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ถือว่าเข้าข่ายข้อกำหนดในการประกันตัว ถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่ยื่นคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวนายจตุพรมาสอบสวนได้
       
       อย่างไรก็ตาม นายทวี ส่งสัญญาณเหมือนกับว่าอาจจะไม่มีการถอนประกันนายจตุพรตามที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้อง “ไม่มีการตั้งธงว่าจะถอนประกันนายจตุพร เพราะการถอนประกันอาจเกิดปัญหาตามมาแบบกรณีที่เคยถอนประกัน แล้วนายจตุพรติดคุก ออกมาเลือกตั้งไม่ได้ จนโดนตัดสิทธิ แต่จะพิจารณาถึงข้อแม้ในการประกันตัวและความเสียหายที่เกิดขึ้น”
       
       5. ศาลเยาวชนฯ ยังไม่อ่านคำพิพากษาคดี “แพรวา” ซิ่งซีวิคชนรถตู้ดับ 9 ศพ นัดคู่กรณีไกล่เกลี่ย 2 ก.ค.!


       เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส ทรัพย์สินเสียหาย และข้อหาใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์
       
        ทั้งนี้ อัยการยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.2553 จำเลยได้ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นทางยกระดับโทลล์เวย์มุ่งหน้าถนนดินแดงด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจำเลยได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังหรือใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ โดยจำเลยไม่ขับรถในช่องทางซ้าย เมื่อมาถึงบริเวณแยกทางลงบางเขน ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำเลยได้เปลี่ยนช่องทางจากขวาสุดมาทางซ้าย และได้เปลี่ยนกลับไปยังช่องทางขวาอีกครั้ง เป็นเหตุให้รถของจำเลยพุ่งเข้าชนรถตู้โดยสาร ที่วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้รถตู้เสียหลัก หมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์พลิกคว่ำ คนขับรถตู้และผู้โดยสารกระเด็นออกจากตัวรถตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนรถของจำเลยแฉลบเลยจากรถตู้ไปประมาณ 50 เมตร นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุ จำเลย ยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถด้วย โดยมีหลักฐานเป็นรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลย ซึ่งในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา
       
        ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา และได้เสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีไกล่เกลี่ยเรื่องค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ศ.2553 มาตรา 132 โดยนัดให้ทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค. เวลา 09.00น. หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ศาลจะมีคำพิพากษาต่อไป
       
        หลังศาลยังไม่อ่านคำพิพากษา นพ.กฤช รอดอารีย์ บิดานายเกียรติมัน รอดอารีย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่าผิดหวังที่ศาลยังไม่อ่านคำพิพากษา พร้อมย้ำว่า คดีนี้ ตนไม่ได้หวังเรื่องสินไหมทดแทน แต่อยากให้มีการรับผิดชอบต่อสังคม อยากให้มีการตัดสินตามความผิดของจำเลยมากกว่า

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 มิถุนายน 2555

5693
1. ครม. ถอย ยอมนำเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเข้าสภา ด้านนาซาประกาศถอนตัว-ไม่สัญญา ปีหน้ามาอีก!

       ความคืบหน้ากรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซา) ขอเข้าใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรีในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ โดยอ้างว่าเพื่อดำเนินกิจกรรมสำรวจเมฆสำหรับใช้ในการพยากรณ์อากาศ แต่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะสหรัฐฯ อาจมีเป้าหมายทางทหารเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ดังนั้นการจะอนุญาตให้นาซาเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขณะที่แกนนำในรัฐบาลหลายคน อ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แค่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติก็เพียงพอ โดยเตรียมดันเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 26 มิ.ย. เนื่องจากทางนาซาประกาศว่า หากรัฐบาลไทยให้คำตอบไม่ทันวันที่ 26 มิ.ย. นาซาคงต้องถอนตัว เพราะไม่สามารถขนอุปกรณ์มาเตรียมพร้อมได้ทัน
       
       ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเปิดประชุมในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 พร้อมมอบหมายให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศ อธิบายให้ทางสหรัฐฯ เข้าใจ
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 190 แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงจากหน่วยงานที่ตรวจสอบและฝ่ายค้าน จึงควรใช้กลไกของรัฐสภาในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนาซาเข้าที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 ถือว่าไม่เกี่ยวอะไรกับมาตรา 190 เพราะแม้รัฐบาลจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 179 แต่ถ้าต่อไปมีการไปทำความตกลงก็ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อยู่ดี
       
       ทั้งนี้ หลัง ครม.มีมติให้นำเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเข้าที่ประชุมรัฐสภาในเดือน ส.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้โทรศัพท์รายงานผลให้นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยทราบ และให้ช่วยแจ้งนาซาฝ่ายไทยด้วย พร้อมหวังว่านาซาจะเข้าใจและกลับมาสำรวจวิจัยตามโครงการดังกล่าวที่ประเทศไทยในปีหน้า นายสุรพงษ์ ยังโยนความผิดให้พรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า “ถ้าปีนี้น้ำท่วมหนัก ฝ่ายค้านต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่นำเรื่องนาซามาเป็นประเด็นทางการเมือง จนทำให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาส”
       
       ด้านนายวอลเตอร์ บราโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า นาซาไม่สามารถรอการตัดสินใจของฝ่ายไทยได้ เนื่องจากการศึกษาสภาพอากาศต้องทำในเดือน ส.ค.และ ก.ย.เท่านั้น ส่วนจะกลับมาดำเนินโครงการนี้อีกครั้งในปีหน้าหรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะพูด นายวอลเตอร์ ยังบอกด้วยว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โอกาสสำคัญของนักวิทยาศาสตร์จากทั้งนาซาและฝ่ายไทยจะได้ร่วมงานกัน เพื่อจัดเก็บข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ต้องสูญเสียไป เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญต่อทั้งไทย สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย”
       
       หลังนาซายกเลิกใช้สนามบินอู่ตะเภา แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้ประกาศจะฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์พยายามขัดขวางไม่ให้นาซาเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา พร้อมชี้ว่า โครงการร่วมมือระหว่างนาซากับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) หรือจิสด้า มีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แล้ว แต่กลับไม่มีการนำเรื่องเข้า ครม. ถือว่านายอภิสิทธิ์และคุณหญิงกัลยาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้นตนจะยื่นฟ้องในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง
       
       ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาท้าให้นายพร้อมพงศ์รีบแจ้งความดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และคุณหญิงกัลยา พรรคจะได้แจ้งความกลับนายพร้อมพงศ์ ฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท ถือเป็นการแลกกันคนละหมัด
       
       ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรทั่วไป ไม่มีการพูดถึงการตรวจสภาพอากาศโดยการใช้สนามบินอู่ตะเภาแต่อย่างใด ดังนั้นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นต้องโทษรัฐบาลนี้ ไม่ใช่มาโยนความผิดให้ฝ่ายค้าน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นาซาจะยกเลิกการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันจะนำเรื่องนาซาเข้าที่ประชุมรัฐสภาในเดือน ส.ค. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าการอนุมัติให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาหรือแค่ ครม.เห็นชอบก็พอ จะได้นำไปเป็นข้อมูลหากนาซามาขอใช้สนามบินอีก
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงความหวังเช่นกันว่าปีหน้านาซาจะมาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาอีก พร้อมชี้ การที่รัฐบาลไม่สามารถให้นาซาใช้สนามบินในปีนี้ได้ เพราะคนในชาติบางส่วนพยายามไม่เข้าใจ “ผมเชื่อว่าทุกคนหวังดีกับประเทศชาติ วันที่ประชุมหารือกัน นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพก็อยู่ด้วย ได้ข้อสรุปว่าถ้าดีก็นำไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือการนำเข้า ครม.แล้วทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคนในชาติบางส่วนพยายามไม่เข้าใจ จึงทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ลำบาก...”
       
       2. “จตุพร” บุกศาล รธน.ยื่นหนังสือจี้ชี้แจง พร้อมขู่ หากถูกถอนประกัน จะอดข้าวประท้วง ด้าน “เสื้อแดง” ฮึ่ม ชุมนุมใหญ่!

       ความคืบหน้ากรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ไม่พอใจที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร หลังขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.โดยกล่าวหาโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 พร้อมกันนี้นายจตุพร ยังประกาศจะแจ้งความเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยื่นถอนประกันตนด้วย ขณะที่มีข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะออกเอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าวในวันที่ 25 มิ.ย.นั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(25 มิ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นถอนประกันนายจตุพรแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ปรากฏอยู่ในคำร้องแล้ว และศาลอาญาได้มีคำสั่งนัดสอบถามจำเลยในวันที่ 23 ก.ค. เมื่อคำร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงของดให้ความเห็นกรณีดังกล่าว เพื่อไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล และให้การพิจารณาเป็นไปตามกฎหมาย
       
       ด้านนายจตุพร ประกาศ จะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 มิ.ย. เพื่อสอบถามเรื่องที่ยื่นถอนประกันตน รวมทั้งกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนได้แจ้งความดำเนินคดีตนข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2553 โดยที่ตนไม่รู้มาก่อน เมื่อตุลาการเป็นคู่ฟ้องกับตน จะทำให้การยื่นถอนประกันตนไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ดักคอนายจตุพรว่า จะไปศาลรัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ควรใช้วิธีเอามวลชนไปกดดันข่มขู่ศาล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีความพยายามจะลากศาลมาเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลและกลุ่ม นปช.เพื่อปูทางนำไปสู่การลดอำนาจตุลาการ เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “หากเราให้ศาล ซึ่งเป็นองค์กรอยู่เหนือการเมือง ถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้ง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมขาดที่พึ่ง และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้”
       
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(26 มิ.ย.) นายจตุพรได้เดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคนเสื้อแดงนับร้อยคน จากนั้นได้ยื่นหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงการยื่นถอนประกันตน
       
       นายจตุพร เผยด้วยว่า ได้ขอให้ศาลตอบข้อสงสัยต่อไปนี้ 1.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใดในการยื่นคำร้องถอนประกันตน 2.มีข้อความใดของตนที่เป็นการข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยแจ้งความดำเนินคดีตน โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน นายจตุพร ยังประกาศด้วยว่า หากผมถูกจองจำโดยไม่ได้กระทำผิด ผมจะเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อที่จะมาขึ้นรถของกรมราชทัณฑ์ที่ศาลอาญา และจะอดข้าวตั้งแต่วันแรกที่ถูกจองจำ ซึ่งมีทางเดียวที่จะเอาผมออกจากเรือนจำได้ คือร่างที่ไร้วิญญาณ ผมยอมยกอิสรภาพ แต่ไม่ยอมที่จะยกความเป็นมนุษย์ให้”
       
       ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือตอบโต้นายจตุพรแต่อย่างใด ขณะที่นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธาน นปช.ได้ออกมาขู่ศาลอาญาว่า หากมีการถอนประกันนายจตุพรเมื่อไหร่ กลุ่มคนเสื้อแดงพร้อมจะออกมารวมตัวครั้งใหญ่ เพื่อถามหาความเป็นธรรมและความถูกต้องให้กับนายจตุพรแน่นอน “ผมมองว่าขณะนี้เริ่มมีกระบวนการจ้องล้มรัฐบาล เริ่มจากกระบวนการถอนประกันนายจตุพรก่อน ซึ่งต้องไม่ลืมว่า นายจตุพรเป็นเหมือนกล่องดวงใจและเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง ...หากนายจตุพรถูกถอนประกันจริง สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะส่อเค้าบานปลายได้”
       
      3. “ขุนค้อน” เสนอถอน กม.ปรองดอง หวั่นวุ่นหลังเปิดสภา ด้าน “อภิสิทธิ์” รีบหนุน ขณะที่ “บิ๊กบัง-ชุมพล” ส่งสัญญาณเห็นด้วย!

       เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงกรณีที่วงเสวนาของอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ระบุว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.สถานการณ์การเมืองจะรุนแรงขึ้นว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติบรรจุอยู่ในวาระการประชุมวาระแรก ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ควรนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ ควรยื้อออกไปก่อน เพราะอยากให้มีการประชาเสวนาสักระยะหนึ่ง ส่วนจะถอนร่างดังกล่าวออกไปก่อนหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับสมาชิกในที่ประชุมจะพูดคุยกัน ซึ่งน่าจะคุยกันได้ และว่า ตนได้คุยเรื่องนี้กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ บ้างแล้ว
       
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงแนวคิดของนายสมศักดิ์ที่เห็นว่าควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปก่อน ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า เป็นเรื่องของสภา คงต้องให้สภาเป็นผู้พิจารณา ขณะที่ พล.อ.สนธิ บอกว่า ยังไม่ได้คุยกับประธานสภาฯ เรื่องการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ คุยกันแค่ว่า หากจะให้กฎหมายปรองดองเดินหน้าได้ ต้องเป็นไปตามแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอให้จัดเสวนาหรือทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อน เพื่อดูการตอบรับของสาธารณชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ว่าตามนั้น พล.อ.สนธิ ยังเชื่อด้วยว่า “หากเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.มีแนวโน้มสูงที่จะเลื่อนกฎหมายปรองดองออกไป แต่ต้องพูดคุยกับผู้ร่วมเสนอกฎหมายปรองดองก่อน”
       
       ด้านนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บอกว่า การถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกจากวาระการประชุมสภา ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องฟังเสียงที่ประชุมว่าจะถอนหรือเลื่อนร่างดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแกนนำ นปช. บอกว่า ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการหารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แต่ส่วนตัวแล้วได้ทั้ง 2 แบบ จะให้ถอนหรือไม่ถอนก็ได้
       
       ส่วนท่าทีของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรค บอกว่า เรื่องปรองดองไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เปิดสภาแล้วยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ ควรทำประชาเสวนาตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าก่อน
       
       เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ออกมาสนับสนุนและขอบคุณที่ประธานสภาเห็นว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ควรใช้เวลาทบทวนเพื่อให้เกิดการพูดคุยในสังคมก่อน
       
       ขณะที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) บอกว่า เรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ ส.ส.ต้องไปคุยกันเอง การจะถอนหรือไม่ถอนร่างฯ ขึ้นอยู่กับเจ้าของร่างทั้ง 4 ฉบับ ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าวิปรัฐบาลจะหารือเรื่องดังกล่าว
       
      4. ศาลแพ่ง ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว “จอดำ” หวั่น “ยูฟ่า” ระงับสัญญาณช่อง 3-5-9 ทำคนทั้ง ปท.อดดูยูโร!


       เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ศาลแพ่งได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวคดีที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรทัศน์ระบบฟรีทีวี ระบบเคเบิล ระบบดาวเทียม และกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีสีช่อง 3 ,กองทัพบก เจ้าของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ,บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เจ้าของโมเดิร์นไนน์ทีวี และบริษัท จีเอ็มเอ็ม จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องละเมิดและผิดสัญญา พร้อมขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 (ฟุตบอลยูโร) ทันทีจนกว่าจะหมดรายการในวันที่ 2 ก.ค.
       
       ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น นอกจากศาลจะต้องพิจารณาประโยชน์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังต้องพิจารณาประโยชน์และความเสียหายของผู้บริโภคอื่นหรือผลกระทบต่อสวนรวมอย่างรอบด้านด้วย ดังนั้นการมีคำสั่งใดใดของศาล จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และสิทธิของผู้บริโภคทั่วไปกับประโยชน์และสิทธิของปัจเจกชนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจำหน่าย จ่ายโอน หรือกันสิทธิของตนด้วย
       
       และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลเห็นว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังสามารถรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ,5 และ 9 ได้โดยผ่านสายอากาศรับสัญญาณทั่วไป หรือโดยช่องทางอื่น เช่น อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวในส่วนของจำเลยที่ 1-3 ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย อาจใช้เป็นข้ออ้างเรื่องลิขสิทธิ์ให้บริษัท จีเอ็มเอ็มระงับการส่งสัญญาณให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ,5 และ 9 ได้ ซึ่งจะเกิดความเสียหายมากกว่า เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ ไม่ใช่แค่โจทก์ทั้งห้า และผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรทัศน์ทำนองเดียวกับโจทก์ทั้งห้า เท่านั้นที่จะไม่ได้ดูการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว แต่ยังจะลุกลามไปถึงผู้บริโภคทั้งประเทศที่อาจจะอดดูเช่นกัน
       
       ไม่เท่านั้น ยังจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาประชาคมโลก เรื่องการรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และอาจส่งผลไปถึงการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬารายการอื่นๆ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคตด้วย ซึ่งยากที่จะเยียวยาแก้ไข
       
       เมื่อศาลพิเคราะห์ผลได้ผลเสียของผู้บริโภคโดยรวมและความเสียหายที่จะเกิดกับจำเลยทั้งสี่ แล้วเห็นว่า ยังไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณา จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้งห้า
       
      5. ไทย-กัมพูชา ตกลงถอนทหารพ้นพระวิหาร เพื่อเปิดทางให้อาเซียนเข้าสังเกตการณ์ตามคำสั่งศาลโลกแล้ว!

       เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานจากกรุงพนมเปญว่า พล.อ.เนียง พัท เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารของไทย ได้เปิดแถลงร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการหารือของคณะทำงานร่วมที่กรุงพนมเปญ โดย พล.อ.เนียง พัท บอกว่า การประชุมเป็นไปอย่างฉันมิตร และได้ข้อสรุปที่ดี โดยทั้งไทยและกัมพูชาตกลงที่จะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีเจ) เพื่อเปิดทางให้ทีมสังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปประจำการในพื้นที่ดังกล่าว
       
        อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการถอนทหาร จะให้ศูนย์ปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิดทั้งของไทยและกัมพูชาประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค.เพื่อหารือและวางมาตรการร่วมกันในการเก็บกู้กับระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวภายใน 30 วัน ก่อนจะมีการถอนกำลังทหารออกมา
       
        ด้าน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารของไทย พูดถึงผลการหารือกับ พล.อ.เนียง พัท ว่า เป็นไปด้วยดี และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กรกฎาคม 2555

5694
1. “ในหลวง” เสด็จฯ ทางชลมารคทรงเปิด 5 โครงการชลประทาน ด้าน ปชช.รับเสด็จเนืองแน่นสองฝั่งเจ้าพระยา!
       
       เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เวลาประมาณ 16.30น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จลงจากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังท่าเทียบเรือเพื่อประทับเรืออังสนา ที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ที่บริเวณหน้ากรมชลประทาน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อมทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ และทรงมีพระพักตร์ผ่องใส ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่พร้อมใจกันใส่เสื้อสีชมพูมารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงบริเวณเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี นอกจากนี้พระองค์ยังทรงยกกล้องขึ้นถ่ายรูปพสกนิกรเป็นระยะๆ ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนเป็นอันมากที่เห็นพระองค์ทรงมีพระวรกายแข็งแรง โดยประชาชนต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเส้นทางที่พระองค์เสด็จฯ ผ่าน
       
       ทั้งนี้ เมื่อเสด็จฯ ถึงหน้ากรมชลประทานแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน จากนั้นมีการแสดงสื่อผสม “น้ำสร้างชีวิต” บนเรืออังสนา กระทั่งเวลา 20.23น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระหัตถ์บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก ,โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม ,โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช ,โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก
       
       หลังจากทรงเปิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 5 โครงการแล้ว พระองค์ได้ทอดพระเนตรวีดิทัศน์บรรยากาศสดจากทั้ง 5 จังหวัดที่ร่วมกันแปรอักษรคำว่า “ทรงพระเจริญ” เมื่อการแสดงจบลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ กลับโรงพยาบาลศิริราชในเวลาประมาณ 20.30น.
       
      2. ศาล รธน.ไต่สวนกรณีแก้ รธน.มาตรา 291 แล้ว นัดวินิจฉัย 13 ก.ค.นี้ ขณะที่ “เฉลิม-เสื้อแดง” ขู่ ตัดสินไม่เข้าทาง มีม็อบใหญ่!

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากองค์คณะ ทำให้องค์คณะที่จะพิจารณาคดีนี้เหลือ 8 คน
       เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนกรณีที่ศาลฯ รับวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ของรัฐบาลซึ่งเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
       
       โดยวันแรก(5 ก.ค.) เป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ร้องก่อนจำนวน 7 ปาก แบ่งเป็นผู้ร้อง 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ,นายบวร ยสินทร และพยานฝ่ายผู้ร้องอีก 2 คน คือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา
       
       ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นการพิจารณาในการไต่สวนไว้ 4 ประเด็น คือ 1.อำนาจในการฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และ 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและวรรคท้าย อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบพรรคหรือไม่
       
       สำหรับการไต่สวนวันแรกกินเวลากว่า 7 ชั่วโมง โดยผู้ร้องและพยานต่างยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ของรัฐบาลที่ดำเนินมาจนถึงวาระ 3 แล้วนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แก้ไขได้เพียงบางมาตรา ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับอย่างที่รัฐบาลดำเนินการอยู่
       
       ขณะที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า มาตรา 291 ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากจะแก้ไข ต้องลงประชามติก่อนว่า จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของประเทศที่ผ่านการลงประชามติ และถือเป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนเป็นครั้งแรก “ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เขียนในวรรคสองของมาตรา 291 ขัดที่ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ใช้ดุลพินิจทำลายล้างสิ่งที่ประชาชนเจ้าของอำนาจได้ลงประชามติ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการไต่สวนวันแรก นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากองค์คณะ 1 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล เหตุที่ขอถอนตัวเนื่องจากไม่สบายใจหลังถูกนายชูศักดิ์ ศิรินิล ผู้แทนผู้ถูกร้องของพรรคเพื่อไทย พาดพิงระหว่างซักค้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ว่า นายจรัญเคยระบุเมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนจะได้หลุดพ้นจาก คมช.และการรัฐประหาร พร้อมบอกด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ไม่ยาก แก้ไขแค่มาตราเดียว
       
       ซึ่งนายจรัญได้ชี้แจงกลางห้องพิจารณาคดีว่า “ผมพูดตอนนั้นว่าถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2550 เราจะไม่พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น น่าจะต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน แล้วถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแบบยกเลิกทั้งฉบับ” ทั้งนี้ การที่นายจรัญชี้แจงดังกล่าว ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่สบายใจ เพราะหากตัดสินคดีต่อไป อาจทำให้สาธารณชนรู้ความเห็นของนายจรัญล่วงหน้าได้ จึงขอถอนตัว ซึ่งองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาต จึงเหลือองค์คณะเพียง 8 คนที่จะวินิจฉัยคดีนี้ โดยในการพิจารณาคดีจะต้องมีองค์คณะไม่น้อยกว่า 5 คน
       
       สำหรับการไต่สวนวันที่สอง(6 ก.ค.) เป็นการไต่สวนผู้ถูกร้องจำนวน 8 ปาก ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ,นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ,นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้แทนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ครม.มอบหมายให้มาชี้แจง
       
       ทั้งนี้ ก่อนที่การไต่สวนจะเริ่มขึ้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากองค์คณะอีก 3 คน คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ,นายนุรักษ์ มาประณีต และตน โดยนายสุพจน์และนายนุรักษ์ขอถอนตัวเนื่องจากเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ที่ประชุมไม่อนุญาต เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตได้ เนื่องจากได้รับการยกเว้นไปแล้วตามข้อกำหนด ส่วนตนขอถอนตัวเนื่องจากถูกเผยแพร่คลิปในเว็บไซต์ยูทูบว่าเคยพูดอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อปีก่อน จึงเกรงว่าจะใกล้เคียงกับกรณีนายจรัญที่ขอถอนตัวไปก่อนหน้า แต่ที่ประชุมไม่อนุญาตให้ตนถอนตัว เพราะเห็นว่าไม่ใกล้เคียงกรณีนายจรัญ
       
       สำหรับประเด็นที่ผู้ถูกร้องให้การต่อศาลฯ นั้น ต่างยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหา เพราะขาดความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็ยืนยันว่า ตนไม่เคยคิดล้มล้างการปกครอง พร้อมย้ำว่า หลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ตนจะตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางจริงๆ มาช่วยวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญไปแก้ไขเรื่องการปกครองและรูปแบบของรัฐหรือไม่
       
       ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายสมศักดิ์กรณีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายสมศักดิ์ ตอบไม่เคลียร์ โดยนายวสันต์ ถามว่า พระราชอำนาจไม่ได้มีเฉพาะในหมวด 2 แต่มีกระจายอยู่ทั่วรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย พระราชอำนาจโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจจะถือว่าเป็นหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งนายสมศักดิ์ ตอบว่า ความเห็นตน หลักการปกครองประชาธิปไตย มีหลักสำคัญ 3 ประการ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตรงนี้ไม่น่าไปแตะต้อง ส่วนประเด็นอื่นพิจารณาตามความเหมาะสม
       
       ทั้งนี้ หลังใช้เวลาไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้องนานกว่า 10 ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 14.00น. พร้อมเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในวันที่ 11 ก.ค. หากไม่ยื่นจะถือว่าไม่ติดใจ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการไต่สวนแล้วเสร็จ พรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาส่งสัญญาณเชิงข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเข้าทางที่ตนต้องการ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ บอกว่า หากคำวินิจฉัยของศาลทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับ จะมีการออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก แต่จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พร้อมอ้างว่าตนไม่ได้ขู่ แต่สถานการณ์มันเป็นแบบนั้น
       
       ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แถลงว่า การเมืองเวลานี้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม ขอให้คนเสื้อแดงเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา รอการนัดหมายจากแกนนำเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป พร้อมประกาศว่า หากฝ่ายอำมาตย์ใช้อำนาจมิชอบ คนเสื้อแดงก็จะไม่ยอมรับ
       
       3. ปชป. แฉคลิปเสียง “ขุนค้อน” กล่อม “ทักษิณ” ถอยแก้ รธน.-พ.ร.บ.ปรองดองฯ ชั่วคราว เพื่อรักษาอำนาจไว้!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดรายการ “สายล่อฟ้า” ออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมช่องบลูสกายแชนแนล โดยนำคลิปเสียงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่กล่าวในงานวันเกิดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ความยาวประมาณ 25 นาทีมาเปิดในรายการ ซึ่งเนื้อหาในคลิปเป็นการเล่าของนายสมศักดิ์เกี่ยวกับเบื้องหลังที่รัฐบาลยอมถอยเรื่องการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 รวมทั้งการชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งคาดว่านายสมศักดิ์ได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟัง
       
       ทั้งนี้ เนื้อหาในคลิปนอกจากสะท้อนชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทอย่างมากในพรรคเพื่อไทยและมีบทบาทในการเดินหน้าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้ว ยังสะท้อนด้วยว่า นายสมศักดิ์พยายามเดินเกมเพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจได้นานๆ ด้วยการชะลอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไว้ชั่วคราว 3-6 เดือน แล้วค่อยผลักดันเข้าสภาใหม่ “...ผมพูดเป็นหมื่นทีเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ผมก็พูดกับท่านไปหมื่นที ผมบอกว่าทนลำบากมาตั้ง 5 ปี แล้วจะลำบากต่ออีก 3 เดือน 6 เดือน มันจะเป็นอะไร ...เพราะฉะนั้น 1 ส.ค.นี้ ถอน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไป แล้วไปประชาเสวนาหาทางออกทุกตารางนิ้วทั่วประเทศไทย แล้วใช้สื่อของรัฐโหมประโคมความจริงวันนี้ แล้วอาศัยประชาชนเป็นกำแพงพิงฮะ... แล้วประชาชนทั้งประเทศจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เราได้อย่างดีครับ แล้วถึงเวลานั้น ใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน เอา พ.ร.บ.ปรองดองฯ กลับเข้ามา(ในสภา) ประชาธิปัตย์มึงจะเอายังไง แล้วเสื้อเหลืองมึงจะเอายังไง สรุปแล้วครับ ทนลำบากมา 5 ปีแล้ว ลำบากต่ออีกสัก 6 เดือนจะเป็นอะไรครับ ...หัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยนาทีนี้ ผมพูดกับผู้บริหารพรรคกับกรรมการยุทธศาสตร์ พูดกับคนทางไกลนับครั้งไม่ถ้วน ผมบอกว่าท่องไว้เป็นคาถาเลย หัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือ การบริหารชัยชนะให้เป็นชัยชนะที่ยั่งยืน รักษาอำนาจรัฐเอาไว้ครับ” นายสมศักดิ์ ยังพูดในคลิปด้วยความภาคภูมิใจในบทบาทของตนที่สามารถโน้มน้าวให้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นคล้อยตามกับเหตุผลที่ควรชะลอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไว้ชั่วคราวได้
       
       ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงคลิปดังกล่าวว่า เป็นการสารภาพของนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่เคยก้าวข้ามพ้น พ.ต.ท.ทักษิณ และอยู่ภายใต้การบงการของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบต่อคลิปดังกล่าว และยอมรับความจริงว่าตัวเองเป็นแค่หุ่นเชิดให้พี่ชายและทำงานตามใบสั่งเท่านั้น
       
       นายชวนนท์ ยังบอกด้วยว่า จะปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่าจะนำคลิปดังกล่าวไปประกอบการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาหรือไม่ นอกจากนี้อาจยื่นคลิปดังกล่าวเป็นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการวินิจฉัยคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วย และอาจยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาเรื่องจริยธรรมของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจะพิจารณาด้วยว่าสามารถนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ กรณีพรรคเพื่อไทยถูกบงการโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ถูกต้องโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
       
       ด้านนายสมศักดิ์ ได้ออกมายอมรับว่าเป็นเจ้าของเสียงในคลิปจริง โดยพูดคุยกับญาติพี่น้องเป็นการภายใน นึกไม่ถึงว่าจะหลุดออกมา พร้อมยืนยันว่า เนื้อหาในคลิปไม่มีอะไรน่าเสียหาย เพราะตนมีความบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรก็ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
       
      4. ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจากกลางกรุง สูญ 100 ล้าน ด้านปลัดอุตสาหกรรม สั่งปิดตรวจสอบ 30 วัน!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เวลาประมาณ 07.30น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ซอยสุขุมวิท 64 เขตพระโขนง กทม. จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 โดยเปลวเพลิงได้ลุกไหม้เป็นกลุ่มควันดำพวยพุ่งจากหอแยกน้ำมันก๊าดในหน่วยกลั่นดังกล่าว รวมทั้งมีเสียงระเบิดจากจุดเกิดเหตุประมาณ 2-3 ครั้ง
       
        หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่วิศวกรรมโรงกลั่นน้ำมันบางจากได้ปิดวาล์วท่อแยกส่งน้ำมันก๊าดพร้อมหยุดระบบการเดินเครื่องส่งน้ำมันดิบทั้งระบบ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะฉีดน้ำและโฟมหล่อเลี้ยงจุดเพลิงไหม้ กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้
       
        ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมเยี่ยมประชาชนในชุมชนใกล้โรงกลั่นน้ำมัน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการแสบตา แสบคอ และคลื่นไส้จากการสำลักควัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เผยด้วยว่า หลังจากนี้จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะย้ายโรงกลั่นน้ำมันหรือคลังแสงออกจากพื้นที่ กทม. เพราะขณะนี้พบว่าพื้นที่ที่มีการตั้งโรงกลั่นหรือคลังแสงมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เกรงว่าจะสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
       
        ขณะที่นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พูดถึงเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ว่า ได้เกิดประกายไฟไปติดบริเวณหน่วยย่อยของโรงกลั่นซึ่งรองรับน้ำมันจากหน่วยกลั่นหลัก สาเหตุเกิดจากการรั่วของท่อส่งน้ำมัน ซึ่งต้องตรวจสอบว่ารั่วเพราะอะไร แต่ยืนยันว่ามลพิษทางอากาศไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
       
        นายอนุสรณ์ เผยด้วยว่า หน่วยกลั่นน้ำมันของบริษัทบางจากมี 3 หน่วย โดยหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 1 ปิดไม่ได้ใช้งานแล้ว หน่วยกลั่นที่ 2 มีกำลังผลิต 40,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนหน่วยกลั่นที่ 3 มีกำลังผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน และว่า “หลังจากนี้บริษัทจะหยุดทำการผลิต 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบความเสียหาย ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ จะเปิดหน่วยกลั่นที่ 2 ต่อไป ส่วนเรื่องน้ำมันขาดแคลนนั้นไม่ต้องกังวล ทางบริษัทมีโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ,จ.สมุทรสาคร ,จ.เชียงใหม่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อผลิตน้ำมันและส่งให้ลูกค้าแทนไปก่อน และจะนำเข้าน้ำมันเพื่อผลิตให้ทันกับที่ลูกค้าต้องการ”
       
       ส่วนมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ นายอนุสรณ์ คาดว่าไม่น่าเกิน 100 ล้านบาท พร้อมคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมโรงกลั่นประมาณ 2- 3 เดือน นายอนุสรณ์ ยังยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการย้ายโรงกลั่นออกนอก กทม. เพราะบริษัทตั้งอยู่ที่นี่มา 50 ปีแล้ว และใช้เงินลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท
       
        ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ได้สั่งให้โรงกลั่นน้ำมันบางจากปิดตรวจสอบหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 เป็นเวลา 30 วัน ส่วนหน่วยกลั่นที่ 2 ให้ปิดตรวจสอบ 7 วัน จนกว่าจะมั่นใจในความปลอดภัย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 กรกฎาคม 2555

5695
1. “ในหลวง” ทรงพระประชวร เลื่อนเสด็จฯ เขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี ไม่มีกำหนด!
       
       เมื่อวันที่ 13 ก.ค.สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 52 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 12 ก.ค. หลังมีพระอาการกระตุกที่พระหัตถ์ข้างขวา พระหทัยเต้นเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ด้านคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า บริเวณใต้เยื่อหุ้มพระสมองชั้นนอกด้านซ้ายมีพระโลหิตซึมเล็กน้อย จึงได้ถวายพระโอสถทางหลอดพระโลหิต หลังจากนั้นพระอาการกระตุกของพระหัตถ์ข้างขวาได้หายไป
       
       สำหรับพระอาการช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ค.คณะแพทย์รายงานว่า พระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ไม่มีพระอาการกระตุก ขณะที่การเต้นของพระหทัยและความดันพระโลหิตเป็นปกติ ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานให้งดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง ล่าสุด(14 ก.ค.) สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ความคืบหน้าพระอาการประชวรว่า คณะแพทย์รายงานว่า พระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ คณะแพทย์ได้ขอถวายพระโอสถทางหลอดพระโลหิตต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด ส่วนพระอาการทั่วไปเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ โดยความดันพระโลหิต การเต้นของพระหทัยและการหายพระทัยเป็นปกติ รวมทั้งทรงบรรทมได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้นำแถลงการณ์ไปติดไว้บริเวณชั้น 1 ศาลาศิริราช 100 ปี ได้มีประชาชนจำนวนมากไปมุงอ่านแถลงการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว
       
       ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ได้รับการประสานจากนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนหมายกำหนดการเสด็จฯ เยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 ก.ค.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
       
       สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งเดิมพื้นที่โครงการเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่ แต่ที่ดินถูกชะล้างพังทลาย ทำให้หน้าดินเสียหาย และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่สามารถปลูกพืชได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกมาช่วยในการป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ทั้งยังใช้หญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำด้วย
       
      2. ศาล รธน. ชี้ แก้ ม. 291 ไม่ล้มล้างการปกครอง แต่แก้ทั้งฉบับไม่ได้ ให้ทำประชามติก่อน ด้าน “นปช.” จี้สภาเดินหน้าลงมติวาระ 3!

       เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลซึ่งผ่านการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2 ไปแล้วนั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่างเดินทางมาร่วมฟังคำวินิจฉัยโดยพร้อมเพรียงกัน โดยผู้ร้อง ได้แก่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ,นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ส่วนผู้ถูกร้อง ได้แก่ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาพูดปลุกระดมข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง พวกตนก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว และขอให้คนเสื้อแดงร่ำลาครอบครัวเอาไว้ได้เลย เพราะจะเป็นการต่อสู้แบบแตกหักอย่างแน่นอน เพราะหากศาลวินิจฉัยเช่นนั้น ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะไม่รับฟังคำตัดสินครั้งนี้ และจะดำเนินการไปสู่การจับกุมศาล หากตำรวจไม่กระทำตาม ประชาชนก็จะดำเนินการเอง
       
       ร้อนถึงผู้เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความเข้มในการรักษาความปลอดภัยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยทางตำรวจถึงกับมีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ไว้เพื่อนำตุลาการศาลฯ ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินหลังอ่านคำวินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แบ่งการวินิจฉัยเป็น 4 ประเด็น ประเด็นแรก ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลมีอำนาจในการรับคำร้องไว้วินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าวได้โดยตรง ซึ่งศาลฯ เห็นว่าการแปลความแบบนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
       
       ประเด็นที่สอง การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่ ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านการทำประชามติ จึงถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นแม้การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291 เพราะควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข
       
       ประเด็นที่สาม การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง และหากพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เห็นว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง โดยเป็นการคาดการณ์และความห่วงใยของผู้ร้องที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังห่างไกลที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับในการไต่สวน ผู้ถูกร้องได้เบิกความยืนยันว่าไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง และให้คำมั่นว่าจะดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       อย่างไรก็ตาม ศาลฯ เห็นว่า หาก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ ขณะที่ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 ได้
       
       ทั้งนี้ เมื่อศาลฯ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลจึงไม่พิจารณาประเด็นที่สี่ที่ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ราย
       
       ด้านทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงในเวลาต่อมาว่า ประเด็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ เป็นมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ที่เห็นว่าศาลมีอำนาจรับคำร้อง โดยเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจรับคำร้อง คือ นายชัช ชลวร ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น เป็นมติเอกฉันท์ 8 เสียงที่เห็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
       
       หลังรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะ 1 ในผู้ร้อง บอกว่า ฝ่ายผู้ร้องพอใจกับคำวินิจฉัยของศาล เพราะเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการยับยั้งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลยังทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 3 เป็นอันตกไปด้วย ซึ่งหากรัฐบาลต้องการเดินหน้าแก้ไข ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด โดยต้องทำประชามติหรือแก้ไขเป็นรายมาตราโดยสมาชิกรัฐสภาเอง
       
       ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) บอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลเดินหน้าไม่ได้ เพราะถือว่าศาลได้สั่งให้ยุติการลงมติในวาระ 3 แล้ว
       
       ส่วนท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกปากชมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความกล้าหาญและความยุติธรรม พร้อมบอกว่า ตนมีความเชื่อมั่นมาตลอดอยู่แล้วว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม
       
       ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาคุยโวว่า คาดไว้ไม่ผิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาแบบนี้ พร้อมขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม อ้างว่า ฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้วยังไม่แน่ใจว่าจะให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ได้หรือไม่
       
       ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 เป็นอันตกไป และ ส.ส.ร.ก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นายอุดมเดชยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็นเท่านั้น
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนค จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ไปศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลฯ อีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่ารัฐสภาต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป พร้อมขีดเส้น ต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.นี้
       
       ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า พันธมิตรฯ เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าคดีที่พันธมิตรฯ ได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส.-ส.ว.รวม 416 คนต่อไป ตราบใดที่ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือเอาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าที่ประชุมสภา
       
       ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ บอกว่า รับได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ ขณะนี้หลักเกณฑ์ได้ถูกจารึกไว้แล้วว่า หากมีใครจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองเมื่อใด ประชาชนทุกคนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดอีกต่อไป “เพราะฉะนั้นมันไม่หมูแล้วสำหรับรัฐบาลชุดนี้ ที่จะทำอะไรตามใจชอบ อยู่ๆ ฉันจะออกกฎหมายปรองดอง ฉันจะแก้รัฐธรรมนูญ มันไม่หวานหมูเหมือนที่เขาคิด... ถ้าจะแก้ตามแบบที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการก็ทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำ ก็จะไปร้องอีก หากล้มล้างมาตรา 309 จะยอมเหรอ จะฟอกผิด ให้การกระทำของ คตส.เป็นโมฆะ แล้วจะได้ไม่ต้องติดคุก 2 ปี ได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน อย่างนี้เราก็ไม่ยอม เราก็ไปค้าน”
       
       ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแถลงว่า พรรคฯ จะประชุมในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อหาทางออกหลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี 3 แนวทาง 1.เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ต่อไป 2.ทำประชามติ ซึ่งในมาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า “ควรทำประชามติ” จึงไม่แน่ใจว่าคำว่า “ควร” จะต้องทำหรือไม่ทำ และ 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่ง ส.ส.หลายคนเสนอว่า ถ้าจะแก้ ก็ควรแก้มาตรา 68 เป็นมาตราแรก โดยตนจะเสนอให้ประชาชนยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดได้เท่านั้น ไม่สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้อีกต่อไป
       
       ขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เช่น นางธิดา ถาวรเศรษฐ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ฯลฯ ได้เปิดแถลงยุให้สภาเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ต่อไป พร้อมอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมาบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ เพราะการที่ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลตามที่ประกาศว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำประชามติของประชาชนทั้งประเทศแล้ว นายจตุพร ยังขู่จะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้ด้วย “เบื้องต้นสถานการณ์รัฐบาลปลอดภัย คือพรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ แต่วาระ 3 ยังเดินต่อไม่ได้ ซึ่งแกนนำ นปช.จะต้องไปปรึกษาหารือหามาตรการดำเนินการต่อไป คาดว่าถ้ามีการนัดหมายในครั้งต่อไป จะเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมีมวลชนเข้าร่วมหลายล้านคน”
       
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปผลสอบ “ปู ว.5 โฟร์ซีซั่นส์” ไม่ส่อชู้สาว พร้อมชี้ โครงการ “บ้านหลังแรก” ไม่เอื้อ บ.เอสซีฯ

       เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงผลวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าประชุมสภา โดยเดินทางไปทำธุระส่วนตัว ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน และฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 รวมทั้งกรณีที่นายกฯ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกร้องเรียนว่าเดินทางไปพบนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในเวลาราชการ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ อันอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และอาจขัดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 279 ซึ่งจากการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นายกฯ ไม่ได้ขาดประชุมสภา เพราะช่วงแรกของการประชุม ไม่มีประเด็นที่นายกฯ ต้องชี้แจง เมื่อมีงานในความรับผิดชอบที่ต้องเร่งรัดแก้ปัญหา จึงไม่ได้อยู่ร่วมประชุม แต่เมื่อเสร็จภารกิจก็กลับมาร่วมประชุมสภา จึงไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่านายกฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
       
       ส่วนข้อร้องเรียนที่ว่านายกฯ ไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พร้อมนายกิตติรัตน์ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปว่า ไม่ปรากฏหลักฐานที่นำไปสู่การได้ประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใด จึงไม่อาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเช่นกัน รวมทั้งไม่พบว่าการไปโรงแรมดังกล่าว เป็นการกระทำที่ส่อไปในทางชู้สาวตามที่มีผู้ร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
       
       สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า นโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาล นายกฯ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร ถือว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วพบว่า โครงการบ้านหลังแรกริเริ่มโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกำหนดตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนบริษัท เอสซีแอสเสทฯ จะได้ประโยชน์เพียง 9 โครงการ ที่มีราคาขายยูนิตละไม่เกิน 5 ล้านบาท 409 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 4.39 ของมูลค่าโครงการที่เปิดขายในปี 2554-2555
       
       ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือหุ้นในบริษัท เอสซีแอสเสทฯ ร้อยละ 0.85 ซึ่งไม่เกินกว่าที่ พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 ดังนั้นการถือหุ้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ ยังไม่อาจสรุปได้ว่านายกฯ มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณา โดยได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยทั้ง 2 กรณีให้นายกรัฐมนตรีและผู้ร้องทราบแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค.
       
       4. ศาล พิพากษาจำคุก “จตุพร” 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี คดีหมิ่น “อภิสิทธิ์” ตีตนเสมอเจ้า!

       เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,328 และ 332
       
        ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน โดยจำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2552 ว่า “...โจทก์ออกมานั่งทำตัวเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการใส่ความโจทก์ จึงพิพากษาจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์มติชนและผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
       ด้านนายจตุพร กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ตนน้อมรับคำพิพากษา แต่จะหารือกับทนายความเพื่อใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะคดีหมิ่นประมาทที่มีกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และไม่กังวลคดีอื่นที่ถูกนายอภิสิทธิ์ฟ้องหมิ่นประมาท เพราะตนพูดไปตามหลักฐานและเอกสาร พร้อมเชื่อว่า วันหนึ่งนายอภิสิทธิ์อาจตกเป็นจำเลยบ้างก็ได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 กรกฎาคม 2555

5696

ตัวแทนชาวสาธารณสุขมอบดอกใม้ให้กำลังท่าน รมว.สาธารณสุข เพื่อผลักดันให้มีการบรรจุพี่น้องของเราเป็นข้าราชการ(โดยเร็ว) ช่วงบ่าย วันอังคารที่ 10 กค หน้าสำนักงาน สปสช.


แถมเรื่องซี 8 ของพยาบาล และออกจาก กพ. รวมทั้ง DRG.v.4-5


ตัวแทนมาจากหลายโรงพยาบาล


ชาวโรงพยาบาลสมุทรสาคร (ตอนนี้ไปไหน ใครๆก็เกรง)
ไม่เชื่อดูลิงค์นี้ http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=4864.0


ชาวโรงพยาบาลปทุมธานี (เอาคนตัวใหญ่ๆมาหลายคน)


ชาวโรงพยาบาลสมุทรปราการ (มาถึงก่อนใครๆ)


ชาวโรงพยาบาลราชบุรี (เอาทีมต้อนรับแขกมาด้วย ชุดสวยสีม่วง)


เฮฮาเมื่อพบคนคุ้นเคยกัน

5697
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลการศึกษาขององค์การว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ “โออีซีดี” ระบุ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยติด “อันดับ 10 ของโลก” และ “อันดับ 1 ในอาเซียน”ในฐานะเมืองใหญ่ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และถือเป็นเมืองสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งยวดต่อภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และการทำลายล้างของคลื่น “สตอร์ม เซิร์จ” โดยคาดว่า มูลค่าทรัพย์สินในกรุงเทพฯที่สุ่มเสี่ยงต่อหายนะดังกล่าว อาจพุ่งสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 34.9 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ.2070 หรืออีก 58 ปี นับจากนี้
       
        รายงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าวซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 และมีฐานอยู่ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสระบุว่ามีเมืองท่ามากกว่า 130 แห่งทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆต่อภัยคุกคามจากเหตุน้ำท่วมเพราะคลื่น “สตอร์ม เซิร์จ” , ภัยคุกคามจากพายุ รวมถึง การที่ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นกว่าปกติ ซึ่งทางโออีซีดีระบุว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ ที่ขาดการวางแผนด้านการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการบริหารจัดการในเชิงโครงสร้างที่ “ย่ำแย่” ซึ่งแน่นอนว่า จะยิ่งส่งผลให้มีคนกรุงเทพฯต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยคุกคามดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก
       
        ผลการศึกษาขององค์การระหว่างประเทศซึ่งมีสมาชิก 34 ชาติดังกล่าวระบุว่า เมืองหลวงของไทยซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก” แห่งนี้ อาจตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมากขึ้น ซึ่งภายในปี ค.ศ. 2070 ประชากรของกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 5.1 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก “สารพัดภัยธรรมชาติ” ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์คลื่นซัดกระหน่ำชายฝั่ง น้ำท่วม หรือ พายุ
       
        ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินในเมืองหลวงของไทยที่สุ่มเสี่ยงถูกทำลาย ก็คิดเป็นวงเงินมหาศาลถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 34.9 ล้านล้านบาท และทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นมหานครที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามจากสภาพอากาศโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก แต่เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       
        ด้านโฮเซ อังเฆล กูร์เรีย อดีตนักการทูตชาวเม็กซิกัน วัย 62 ปี ในฐานะเลขาธิการใหญ่ของโออีซีดี ออกมาเปิดเผยว่า เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วและสร้างความเสียหายเป็นวงเงินมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.43ล้านล้านบาท) นั้น ถือเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า นับจากนี้เมืองหลวงของไทยจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
       
        ทั้งนี้ รายงานของโออีซีดีระบุว่า 10 เมืองใหญ่ของโลกที่สุ่มเสี่ยงจะถูกทำลาย หรือเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมากที่สุด คือ เมืองไมอามี มลรัฐฟลอริดา ของสหรัฐฯ, นครกว่างโจว ของจีน, มหานครนิวยอร์กและเมืองนวร์ก ของสหรัฐฯ, เมืองโกลกาตาหรือกัลกัตตาของอินเดีย,นครเซี่ยงไฮ้ของจีน , เมือง มุมไบของอินเดีย, เมืองเทียนจินหรือเทียนสินของจีน, กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น, เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีน และปิดท้ายด้วยกรุงเทพมหานครของไทย ในอันดับที่ 10

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 กรกฎาคม 2555

5698
สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมติให้เสนอชื่อ รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตรียมเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนต่อไป
       
       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย เชื้อรัตนพงษ์ เลขานุการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยว่าตามที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามความในข้อ 6 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา บัดนี้ คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามวิธีการและขั้นตอนที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการประชุมครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2555 เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณาแนะนำ ผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนหนึ่งชื่อ ผลการพิจารณาของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีมติให้เสนอชื่อ รองศาสตราจารย์ นพ.นิเวศน์ นันทจิต เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้เสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไป
       
       สำหรับรศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สองสมัย มีผลงานวิชาการโดดเด่นนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(IT) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและบริการผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งสามารถสอบได้อันดับต้น ๆ ของประเทศ ส่งผลให้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ


ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 กรกฎาคม 2555

5699
“...อัตราเดียว 30 บาทไม่ใช่คำตอบของการร่วมจ่าย คนรายได้ปีละล้านก็จ่าย 30 บาท เท่าที่รายได้เท่าค่าแรงขั้นต่ำ เช่นนี้ไม่อาจเรียกว่าความเป็นธรรม...”
       
       นโยบาย 30 รักษาทุกโรค ที่ทำให้คนไทย 99% มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการสุขภาพไทยและบทเรียนสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นผลงานในความทรงจำของพรรรคไทยรักไทย
       
       นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคได้เริ่มขึ้นในปี 2543 และการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท ถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งในมุมหนึ่งเพื่อทำลายสัญลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย แต่ก็มีส่วนสำคัญในการทำงานนโยบายหลักประกันสุขภาพนั้นเป็นนโยบายแห่งชาติที่ทุกพรรคการเมืองต้องสนับสนุน แต่แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมารื้อฟื้นการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทกลับมาใหม่ ชวนให้วิเคราะห์ดูว่าเก็บแล้วจะได้อะไร
       
       หากพิจารณาไตร่ตรองเหตุผลอย่างรอบคอบต่อการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทนั้น ก็มีประโยชน์อย่างน้อย 3 ประการ
       
       หนึ่ง สามารถเพิ่มเงินรายได้ให้สถานพยาบาลของรัฐปีละ 2,000 ล้านบาท แต่หากมองลึกลงไปเงินจำนวนนี้สำหรับรัฐบาลนั้นหาไม่ยาก เพียงแค่รัฐบาลเพิ่มภาษีเหล้าเบียร์สุราอีกสัก 5% รายได้จากภาษีเหล่านี้ก็มากกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมาให้โรงพยาบาลต้องมาปวดหัว และทะเลาะกับคนไข้โดยไม่จำเป็น มีภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยสินค้าที่ทำลายสุขภาพอีกมากที่รัฐบาลหารายได้เพิ่มได้ นั่นคือเป้าหมาย โดยไม่ต้องมาเอาเงินออกจากกระเป๋าคนจน
       
       สอง เป็นการร่วมจ่ายเพื่อให้เกิดการมาใช้บริการที่โรงพยาบาลอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ข้อนี้มีเหตุผลมากที่สุด แต่ปัจจุบันความแออัดของโรงพยาบาล ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรอนานก็เป็นเครื่องกรองอย่างดีที่หากไม่ป่วยพอประมาณไม่มีใครอยากจะมาโรงพยาบาลมารอสองสามชั่วโมงหรือทั้งวันหรอก คนที่มานั่งรอส่วนใหญ่ก็คนจนทั้งนั้น จนแล้วต้องมานั่งรอนาน ขาดรายได้แล้วยังต้องมาจ่ายสามสิบบาทอีก หากรัฐบาลคิดถึงเรื่องการร่วมจ่ายจริงๆแล้ว หลักของการร่วมจ่ายคือรวยมากจ่ายมาก จนระดับหนึ่งได้รับการยกเว้น อัตราเดียว 30 บาท ไม่ใช่คำตอบของการร่วมจ่าย คนรายได้ปีละล้านก็จ่าย 30 บาท เท่าที่รายได้เท่าค่าแรงขั้นต่ำ เช่นนี้ไม่อาจเรียกว่าความเป็นธรรม
       
       สาม เป็นการฟื้นฟูความทรงจำของประชาชนต่อนโยบาย 30 รักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน หากนี่คือเหตุผลที่แท้จริง เหตุผลนี้คือเหตุผลที่ยืนอยู่บนความทุกข์ของคนจน คนที่เป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล แม้ว่าโดยหลักการคนจน เด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ จะได้รับการยกเว้นการเก็บ 30 บาทก็ตาม แต่คนจนกี่คนที่ได้รับการยกเว้น อะไรที่เรียกว่าจน คนที่รับค่าแรงวันละ 30 บาทจนไหม ยากลำบากในการตีความ เงินส่วนนี้ควรจะเป็นเงินค่าขนมของลูกของหลาน มากกว่ามาตอบสนองนโยบายเพียงเพื่อจะเอาสัญลักษณ์แห่ง 30 บาทกลับคืนมา
       
       สรุปจากเหตุผลทั้ง 3 ประการแล้ว ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดันทุรังเก็บ 30 บาทไปอีกทำไม เรื่องดีๆ มีมากมายที่น่าทำ แต่ไม่ทำ เรื่องแค่จะเอาโลโก้ 30 กลับมา แต่ไม่มีผลดีอื่นใดเลยกลับผลักดัน เช่นนี้แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะฉลาดน้อยไปไหม จะกลับมาเก็บสามสิบบาทอีกทำไม คิดสั้นๆ ไปหรือเปล่า นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยกล้าๆ ตัดสินใจยกเลิกไปเลย ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะจะให้รัฐมนตรี วิทยา บุรณศิริ มากลืนน้ำลายตนเองนั้น แม้อยากกลืนก็ทำไม่ได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 กรกฎาคม 2555

5700
“สุรวิทย์” ชี้ ยกเลิกวิธีสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส.เดิม ไม่ได้ล้างบางใคร อยากให้เปิดกว้าง
       
       นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรียกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 ก.ย.2537 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และไม่อนุมัติรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่ สวรส.ได้เสนอก่อนหน้านี้ พร้อมอนุมัติรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ใหม่แทน ว่า มติ ครม.เดิม ได้กำหนดเกณฑ์การสรรหาตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ว่า เมื่อครบวาระ ให้มีการจับสลากออก 3 คน และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่พิจารณาเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมจนครบ 7 คน จากนั้นจึงเสนอคณะกรรมการ สวรส.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต่อไป ซึ่งวิธีดังกล่าว ตนเห็นว่า เป็นวิธีที่ไม่เปิดกว้าง และทำให้ได้คณะกรรมการเดิมกลับมาดำรงตำแหน่งซ้ำ จึงขอให้ ครม.ยกเลิกมติ ครม.เดิม เพื่อให้การสรรหาเปิดกว้าง
       
       “การขอให้ยกเลิกมติ ครม.เดิม และเสนอรายชื่อคณะกรรมการใหม่ ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการล้างบางใคร แต่วิธีการเดิมถือว่า ไม่เปิดกว้าง และทำให้ได้คนเดิมๆ เข้ามาทำงานวนไปมา ซึ่งตนถือว่ามีอำนาจในการดูแล สวรส.และเห็นว่า ไม่ถูกต้องที่การสรรหาจะใช้วิธีเดิม จึงเสนอให้ยกเลิกมติครม.เดิม และเสนอรายชื่อใหม่” นพ.สุรวิทย์ กล่าว
       
       สำหรับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้แก่ 1.ศาสตราจารย์ ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 ศาสตราจารย์ ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำบัดโรคมะเร็ง ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ 3.นายประยูร กุนาศล อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ 4.ศาสตราจารย์ อมร ลีลารัศมี ศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 5.นายบุญปลูก ชายเกตุ อดีตเลขาธิการ ก.พ.6.นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 7.นางสาวรพีสุภา หวังเจริญรุ่ง นักวิจัยอาวุโส ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2555 เป็นต้นไป ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่ สวรส.ได้เสนอให้ ครม.อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วสี นพ.มงคล ณ สงขลา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.วิจิตร ศรีสุพรรณ เป็นต้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 กรกฎาคม 2555

หน้า: 1 ... 378 379 [380] 381 382 ... 536