แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: [1] 2 3 ... 534
1
“อยู่ตามลำพัง” ปัญหาหนึ่งของ “สังคมผู้สูงวัย” เมื่อสถิติชี้จะมี “คนแก่” ที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว “เพิ่มขึ้น” นักวิชาการสะท้อน ผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวคือ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกมองข้าม

ปัญหาเรื้อรัง เพราะไม่ถูกวางแผนล่วงหน้า

เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “ไทย” ได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์” แล้ว แต่ปัญหาหนึ่งคือ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ “ตัวคนเดียว” โดยไม่มีญาติหรือลูกหลานดูแล นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทอดทิ้งคนแก่

แต่ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนมีลูกกันน้อยลง เลือกใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลถึงกัน และจากรายงาน “ภาพสะท้อนสถานการณ์การของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว” ของ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า...

สัดส่วนของ “คนแก่” ที่อาศัยตามลำพัง “เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด” ในปี 2564 คือมีผู้สูงอายุที่ “อยู่ตัวคนเดียว” ถึง1.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนผู้อายุทั้งหมด

และอีก 21% อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส บวกกับด้วยทุกวันนี้ “คนไม่นิยมมีลูก” ทำให้แนวโน้มผู้สูงอายุในอนาคต จะเป็นคนที่ต้องอยู่ตามลำพังโดยไม่มี“ลูกหลาน” เพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาของการที่ “คนแก่” อยู่คนเดียว แน่นอนคือ “สุขภาพ” ที่ไม่มีใครคอยดูแล บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิต โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็มี อย่างที่เราเคยเห็นกันในสื่อ

รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวันสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สะท้อนปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องเจอให้ทีมข่าวฟังว่าคือ “การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารธสุข หรือบริการสังคมอื่นๆ” และคำตอบได้จากผู้สูงอายุเหล่านี้คือ...

“ประมาณ 1 ใน 4 ของคำตอบ คือไม่มีคนพาไป มันก็เป็นคำถามนึงว่า แล้วเราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ เข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือบริการทางสังคม จะทำยังไงกับคนกลุ่มนี้ดี”

แม้จะตระหนักถึงปัญหาเรื่องผู้สูงอายุในภาพรวม แต่เราไม่เคยนิยามว่า “กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว” แบบไร้ญาติขาดมิตรนั้นเป็น “กลุ่มเปราะบาง”

เอาเข้าจริง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ “ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”แต่ในเมื่อไม่ถูกนิยามว่าเป็น“กลุ่มเปราะบาง” อย่างคนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง “เราอาจไม่ได้ตระหนักว่า พวกเขาจะอยู่ได้ไหม”

การจะดูแลเหล่าผู้สูงอายุ จริงๆ อาจต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุอย่าง “การลงทะเบียนผู้สูงอายุ” ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอีก 5 ปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุ

อาจจะต้องขึ้นทะเบียนสำหรับ“คนอาศัยอยู่คนเดียว” เพราะเมื่อแก่ตัวขึ้น ความเสี่ยงเรื่องการดูแลมันจะตามมา คนกลุ่มนี้เองที่ภาครัฐและประชาสังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

“ปัญหาหนึ่งอย่างที่เจอเยอะเลยคือ ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งมากกว่าร่างกาย บางคนถึงร่างกายจะดี แต่มีเรื่องซึมเศร้า ความเหงา ความกังวลที่จะอยู่คนเดียว”

“ความกังวล”คืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ลำบาก เรื่องที่กังวลส่วนมากคือ “ความปลอดภัย” ผู้เฒ่าหลายคน อยากจ้างคนมาช่วยดูแล แต่ก็ห่วงเรื่องการถูกทำราย หรือลักขโมย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการเสนอไปในเชิงนโยบายว่า “ควรจะหาหน่วยงานหลัก” ที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ และบรรจุให้เป็นภารกิจหลัก ในทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือในชุมชน

“เพื่อนบ้าน-ชุมชน” ระบบช่วยเหลือคนแก่

จากสภาพสังคมที่เห็น ดูเหมือนหลายคนในอนาคต คงต้องใช้ชีวิตวัยแก่อย่างโดดเดียว คำถามที่น่าสนใจคือ เรามีระบบที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้ แม้จะไม่มีครอบครัวดูแลได้หรือเปล่า?

กูรูรายเดิมช่วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ตอนนี้บ้านเรามีบริการที่เรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือพาไป” เป็นบริการ ที่พาไปโรงพยายาบาล พาไปทำธุระข้างนอก แล้วก็นำกลับมาส่งที่บ้าน

แต่ด้วยที่ว่าบริการรูปแบบนี้ “มันยังไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ” มีเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นบริการที่ดี และพอจะช่วยแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการการรักษาของคนกลุ่มนี้ได้ในระดับนึง

ส่วนในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังในบ้านนั้น บางพื้นที่ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่อง “การบริการชุมชน” โดย ดร.ศุทธิดา อธิบายแนวคิดเหล่านี้ไว้เพิ่มเติม

“มีแนวคิดที่ว่า คนที่อยู่คนเดียวเนี่ย เราอยากให้เขาได้อยู่บ้านเดิม ชุมชนเดิมได้ โดยที่เขาไม่ต้องพึ่งพาใครได้ยาวนานที่สุด หมายความว่าแม้จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีครอบครัวเลย แต่ก็จะมีการดูแลโดยชุมชน”

ต่างกับ “ยุโรป” ที่จะเห็นว่า ส่วนใหญ่มักเลือกไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือซื้อบริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะว่า “สวัสดิการและเงินบำนาญของเขาสูง” พวกเขาจึงสามารถดูแลตัวเองในตอนแก่ได้

แต่ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มมีโมเดล ที่เรียกว่า “การดูแลระยะยาว” ในบางพื้นที่ คือมีการติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือกล้องวงจรปิดที่ส่งสัญญาญตรงไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น

“เขาจะมีกริ่งเรียก แล้วมันจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานในชุมชน ให้รับรู้ว่าบ้านนี้ ผู้สูงอายุกำลังมีปัญหา”

อีกอย่างที่ทีมวิจัยของ ดร.ศุทธิดา กำลังผลักดันคือ “การดูแลโดยเพื่อนบ้าน” หมายถึงในหนึ่งชุมชน จะมีการตั้งผู้นำที่รับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ เก็บข้อมูลว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกี่คน คนไหนที่อาศัยอยู่คนเดียว แล้วก็ให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นคนช่วยดูแล “เพราะเพื่อนบ้านจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยเหลือได้เร็วที่สุด ตรงนี้ก็อาจช่วยได้”

อาจารย์เสริมอีกว่า จริงๆ แล้วการดูแลเรื่องเหล่านี้ ทางภาครัฐทำมาตลอด อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนคอยดูแลเรื่องเหล่านี้

แต่จากการลงพื้นที่วิจัยก็พบปัญหาหนึ่ง คือจำนวนบุคลากรน้อย และภาระงานที่เยอะ ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้ถูกดูแลอย่างทั่วถึง อีกเรื่องคือ “ข้อมูลที่กระจัดกระจาย” ของแต่ละหน่วยงาน ถ้าตรงนี้สามารถบูรณาการรวมกันได้ ก็จะตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
14 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

2
เลขาธิการแพทยสภา เตือน "หมอ" ระวังออกใบความเห็นแพทย์หรือใบรับรองแพทย์เท็จหลังหยุดยาว เหตุนายจ้างตรวจเข้มการหยุดลูจ้าง พบ 5 ปัญหาปลอมใบรับรอง แนะเก็บต้นขั้วไว้ตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้แพทย์ระวังเรื่อง "ใบความเห็นแพทย์ (เท็จ) หลังวันหยุดยาว" โดยระบุว่า เนื่องจากการให้หยุดมีผลต่อการทำงานของคนไข้บางคน ในกรณีที่ป่วยจริงไม่มีปัญหา แต่ที่แพทยสภาเคยพบปัญหาจากใบความเห็นแพทย์เท็จเหตุดังนี้ กรณีวันหยุดยาวบริษัทห้างร้านจะเพ่งเล็งในการตรวจสอบ วันลาหยุดใน ใบความเห็นแพทย์ เป็นพิเศษ เกี่ยวกับการขาดงานของ ลูกจ้าง โดยเฉพาะห้างร้านที่เปิดในช่วงวันหยุด และการหยุดโดยเจ็บป่วยจะไม่ถูกหักค่าแรง จึงมักมีการตรวจสอบอย่างละเอียดกัน

แพทยสภาเชื่อมั่นว่าคุณหมอใช้วิจารณญาณและระมัดระวังในการให้หยุดให้เหมาะสมกับความเจ็บป่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่อาจพบคือ

1. มีการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุด ให้มากขึ้น ในใบรับรองแพทย์โดย พนักงาน เป็นเหตุให้มีการส่งไปตรวจสอบ ที่สถานพยาบาลและบางครั้งถามมาที่แพทยสภา ดังนั้นจึงต้องมีต้นขั้ว ที่ชัดเจนทุกครั้ง

2. มีการใช้ใบรับรองของเพื่อนพนักงานด้วยกันมาแก้ไขชื่อ หรือทำสำเนา ถ่ายเอกสารสีปลอม ซึ่งถือเป็นใบรับรองแพทย์เท็จ เมื่อตรวจสอบกับสถานพยาบาล ดังนั้นต้นขั้วที่สถานพยาบาลจึงสำคัญมาก

3. มีการไปซื้อใบรับรองแพทย์จากแหล่งปลอมต่างๆ ปั๊มตราสถานพยาบาล มีลายเซ็นแพทย์ปลอม อันนี้ตรวจสอบกับสถานพยาบาล ได้ และมีการตรวจอยู่ประจำ ทางแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผิดกฎหมายเอกสารเท็จอยู่แล้ว

4. มีการร้องขอแพทย์ ให้เพิ่มวันลาในโรคที่ไม่ควรหยุดยาว เพราะจะกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่มีรถมาทันในการทำงาน การออกต้องระวัง ขอให้แพทย์ยึดมั่นตามข้อเท็จจริง สงสารเขาอาจจะเป็นปัญหากับตัวเองได้

5. ขอให้ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเพราะมาทำงานไม่ทัน โดยไม่ได้ป่วยจริง อันนี้เข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์เท็จ มีคดีร้องจริยธรรมมาที่แพทยสภาด้วย โดยมีพยานเพื่อนพนักงานบอกว่าไม่ได้ป่วย ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้หมอถูกลงโทษได้ แพทย์ออกได้ตามวันจริงที่มาตรวจเท่านั้น
เชื่อว่าสถานการณ์ใบความเห็นแพทย์จะมีปัญหาหลังวันหยุดยาว ขอให้คุณหมอระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ คุณหมอเอง และถ้าเป็นคลินิก ต้องให้มีสำเนาไว้ทุกครั้งที่ตรวจสอบได้ทันที ถ้าพบใบรับรองแพทย์เท็จที่ใช้ชื่อคุณหมอ ให้แจ้งความและแจ้งนิติกร แพทยสภา (02-589-7700 , 02-589-8800) และ สถานพยาบาลที่ออกด้วย

ใบรับรองแพทย์เท็จ หรือปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย เตือนเพื่อนๆ พนักงาน อย่าหยุดจนเลยเวลา หลายรายถูกออกจากงานไม่คุ้ม

17 เม.ย. 2567 ผู้จัดการออนไลน์


3
สุดอาลัย นพ.กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ หรือ “หมอกัณฑ์” แพทย์หนุ่มใจดีใน รพ.ระแงะ เป็นที่รักของชาวบ้าน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตกข้างทางจากไปอย่างกะทันหัน
ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ นพ.กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ หรือหมอกัณฑ์ เสียชีวิตกะทันหันเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2567 ด้วยอุบัติเหตุรถตกข้างทาง ณ ถนนระแงะมรรคา ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สร้างความเศร้าเสียใจแก่เพื่อนร่วมงานและคนไข้ของคุณหมอเป็นอย่างมาก

โดยมีรายงานว่า หมอกัณฑ์ นพ.กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ อายุ 34 ปี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประสบอุบัติเหตุขณะขับรถมาเกิดหลับใน รถพุ่งชนเสาไฟฟ้าตกข้างทางบริเวณถนนระแงะมรรคา ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้คุณหมอบาดเจ็บสาหัสและจากไปอย่างกะทันหัน

ล่าสุดวันนี้ (14 เม.ย.) แฟนเพจเฟซบุ๊ก รพ.สต.บ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยว่า “ในนาม รพ.สต.บ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่เคยร่วมงานดูแลสุขภาพชาวอำเภอระแงะ และอำเภอใกล้เคียงกับ หมอกัณฑ์ หมออันเป็นที่รักของชาวบ้าน รู้สึกเสียดาย และใจหายมากๆ กับการจากไปโดยไม่มีวันกลับของนายแพทย์ท่านนี้ คุณหมอ เป็น หมอ ที่มีหัวจิตหัวใจของการเป็นหมอจริงๆ ยอมรับในความทุ่มเท เหน็ดเหนื่อย เป็นกันเองกับคนไข้มากๆ โดยเฉพาะกริยา มารยาท การวางตัวของคุณหมอ นอบน้อม ถ่อมตน ซึ่งหาได้ยากมากๆ ในสังคมทุกวันนี้

ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณหมอต่อครอบครัว และเพื่อนร่วมงานของคุณหมออีกครั้งครับ”

“หมอกัณฑ์” เป็นที่รักของประชาชนเนื่องจากความใจดี การวางตัวที่ดีมีมารยาท มีเมตตาต่อคนไข้ ช่วยเหลือคนไข้อย่างสุดความสามารถ ไม่เกี่ยงรวยจน ตามไปรักษาให้ถึงบ้าน และยังไปส่งคนไข้ถึงบ้านด้วยตัวเอง

สำหรับ นพ.กัณฑ์เอนก เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เมื่อจบแล้วจึงได้กลับมาเป็นหมอที่บ้านเกิดตามอุดมการณ์ที่อยากช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ การจากไปของคุณหมอจึงทำให้คนไข้และเพื่อนร่วมงานรวมทั้งครอบครัวของคุณหมอเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งมีรายงานว่าพิธีศพจะจัดขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2567 โดยจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ นพ.กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ เวลา 14.00 น. ณ วัดสังฆสิทธาราม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

15 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
.................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.00 น. วานนี้ (13 เม.ย.) นายวิมุตติ อำนักมณี นายอำเภอระแงะ/ผอ.ศปก.อ.ระแงะ ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ รถยนต์ของ นายแพทย์กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ หรือ "หมอกัณฑ์" ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประสบอุบัติเหตุเสียหลักชนเสาไฟฟ้า เหตุเกิดบริเวณหน้าศูนย์บริการลูกค้า ทีโอที สาขาตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้นายแพทย์กัณฑ์เอนก สวีวงศ์ เสียชีวิต

เบื้องต้นทราบว่า "หมอกัณฑ์" ขับรถเก๋งยี่ห้อนิสสัน รุ่นอัลเมรา ทะเบียน กง 4963 นราธิวาส มาตามถนนสายระแงะมรรคา เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุหน้าบริษัท TOT ได้เกิดอาการหลับในทำให้รถเสียหลักไปชนกับเสาไฟส่องสว่างริมถนน เป็นเหตุให้ นายแพทย์กัณฑ์เอนก ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

14 เม.ย. 67
อมรินทร์ เทเลวิชั่น

4
กล้องวงจรปิด บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะคนร้ายสวมเสื้อแขนยาวคอปกสีฟ้า กางเกงขาสั้น เข้ามาทางด้านหลัง ก่อนใช้มือปิดปาก และบีบคอ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ห้วยแอ่ง ต.ห้วยแอ่ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยายามดิ้นรน จนรอดพ้นเงื้อมมือคนร้าย และวิ่งออกไปขอความช่วยเหลือ คนร้ายจึงวิ่งหลบหนีไป โดยมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองมหาสารคาม ห่างจาก รพ.สต.บ้านห้วย แอ่งไปประมาณ 150 เมตร กระทั่งมาพบกับชาวบ้านในพื้นที่กำลังขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกมาจากบ้านพัก คนร้ายได้ข่มขู่ให้ลงจากรถ และขี่รถหลบหนีไป ทั้งนี้พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.วานนี้ (7 เม.ย. 67) ภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยแอ่ง ต.ห้วยแอ่ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

ทีมข่าวสำนักข่าววันนิวส์ลงพื้นที่ รพ.สต.บ้านห้วยแอ่ง พบว่าเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และชุดสืบสวน สภ.ท่าตูม รวมถึงชุดสืบสวนภูธรจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเก็บหลักฐานภายในที่เกิดเหตุ คุณหมอผู้เสียหายอายุ 31 ปี เล่าว่า เมื่อวานนี้ขณะที่ตนกำลังเข้าเวรอยู่ โดยนั่งอยู่ที่โต๊ะบริการจุด one stop service มีชายสวมเสื้อแขนยาวคอปกสีฟ้า กางเกงขาสั้นสีดำ ใส่รองเท้าเตะ เข้ามาภายใน รพ.สต. มาขอใช้บริการล้างแผลที่บริเวณน่องขวา ซึ่งมีแผลเย็บ ตนเองดูแผลแล้ว พบว่าแผลแห้งดี ไม่ต้องล้าง จึงสอบถามถึงบัตรประชาชนเพื่อที่จะได้ตรวจสอบสิทธิ์ คนร้ายก็บอกว่าไม่ได้เอาบัตรมา เพราะเดินทางมาจาก จ.ร้อยเอ็ด ทะเลาะกับแม่ กำลังจะไปหาพระในจังหวัดมหาสารคาม จะต้องเดินเท้าไป

พอตนไม่ล้างแผลให้ ก็บอกว่าปวดแผล ขอยาพารา ตนจึงได้ให้ยาพาราไป 1 แผง แต่คนร้ายแกะกินแค่ 1 เม็ด ก่อนที่จะเดินออกไป จากนั้นไม่นาน คนร้ายก็เดินเข้ามาอีกบอกว่าที่เท้าเป็นแผลถลอกจากรองเท้ากัด และเดินมาไกล ขอปลาสเตอร์ปิดแผล ตนก็หยิบปลาสเตอร์ยาปิดแผลส่งให้ โดยให้คนร้ายนำไปติดแผลเอง และรอบที่ 3 ก็มาขอปลาสเตอร์ปิดแผลอีก ขอสำลีเพิ่ม เพราะอันเก่าหลุด แล้วคนร้ายก็ขอยาพาราอีก 2 เม็ด ตนได้ให้ปลาสเตอร์ยากับสำลีไป แต่ไม่ได้ให้ยาพารา พร้อมอธิบายกับคนร้ายว่ายาพาราต้องกินทุก 4-6 ชั่วโมง

ทั้งนี้คนร้ายได้มาบอกว่าจะเข้าไปที่ตัวเมืองมหาสารคาม แต่จะขอมารอรถโดยสารที่ศาลาใน รพ.สต.ได้หรือไม่ ซึ่งตนเองก็ปฏิเสธไป และคนร้ายเหมือนจะเข้าใจ ก่อนจะกล่าวขอบคุณและเดินออกไป ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าแปลกๆ จึงแช็ตไลน์ปรึกษาเพื่อนว่าควรทำอย่างไร จู่ๆ คนร้ายก็ย้อนกลับเข้ามา และเกิดเหตุการณ์แบบในวงจรปิด พร้อมยอมรับว่าเคยดูแต่ในข่าวไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง

ด้านหลานสาวของชาวบ้านที่ถูกชิงรถมอเตอร์ไซค์ เล่าว่า ขณะที่ป้าขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อของ คนร้ายก็วิ่งมาพอดี เหมือนกับวิ่งออกกำลังกาย ป้าจึงหยุดรถให้ แต่คนร้ายกลับขู่ให้ลงจากรถ และขี่หลบหนีไป

หลังจากนี้ทาง รพ.สต. จะเพิ่มมาตรการป้องกันเหตุเพิ่มเติม โดยช่วงเวลาเข้าเวรก็จะได้จัดเจ้าหน้าที่มาเข้าเวรครั้งละ 2 คน และขอเข้าแผนครุภัณฑ์ เพื่อจัดซื้อกล้องวงจรปิดมาติดตั้งเพิ่มเติม ขณะที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดมหาสารคาม ได้ลงพื้นที่ติดตามคนร้ายจากกล้องวงจรปิด และเส้นทางที่คาดว่าจะใช้หลบหนี ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่ามีพลเมืองดีพบคนร้ายอยู่ในพื้นที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น แต่ก็ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าคนร้ายจริงหรือไม่ ซึ่งหากใครพบเห็นบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ก็สามารถแจ้งได้ ที่ สภ.ท่าตูม หรือ ที่งานสืบสวนภูธรจังหวัดมหาสารคาม.



8 เม.ย. 2024
https://www.one31.net/news/detail/69137

5
คนไทยถูกหลอกผ่าน “โทรศัพท์-SMS” ในปี 66 ถึง 79 ล้านครั้ง!! กูรูบอกเลยจะแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ

เดือนเดียว เสียหายถึง “2 พันกว่าล้าน”!!

เปิดข้อมูลน่าตกใจ “ไทย”คว้าอันดับ 1 ของเอเชีย เรื่อง “คอลเซ็นเตอร์” เมื่อ “Whoscall”แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักตัวตน ระบุว่าคนไทยถูกหลอกผ่าน “โทรศัพท์และข้อความ”จำนวนมหาศาล คือจากแค่ปี 66 ปีเดียว มีการส่ง SMS มาหลอกถึง79 ล้านครั้ง!!

ส่วนเรื่องความเสียหาย ทาง thaipoliceonline.com ได้รายงานว่า ตั้งแต่ 1-29 ก.พ.2567 รวมแล้วเป็นมูลค่า “2.4 พันล้านบาท”แต่ถ้ารวมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเป็นเงินทั้งหมดราว “5 หมื่นล้านบาท!!”

เพื่อให้เข้าใจปัญหาเรื้อรังประเด็นนี้มากขึ้น ทางทีมข่าวจึงขอให้ ดร.ปริญญา หอมอเนกประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด กูรูด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยวิเคราะห์

โดยกูรูรายนี้บอกว่า การที่ไทยติด “TOP 5”ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกวันนี้มือถือและโลกดิจิทัลผสมอยู่ในชีวิตคนเราอย่างเต็มรูปแบบบวกกับวัฒนธรรมของคนไทยที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ไว้ใจกัน ไม่ค่อยระแวดระวังเรื่องเหล่านี้เท่าใดนัก

“คำถามที่ต้องสนใจคือ สาเหตุที่มาติดอันดับได้ มาจากอะไร แล้วเราจะแก้ยังไง”

สาเหตุหลักและสาเหตุเดียวของเรื่อง “ปัญหาคอลเซ็นเตอร์” ทั่วทุกมุมโลกคือ “ข้อมูลรั่ว”ทุกวันนี้มีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในทั้งองค์กรรัฐและเอกชน วัดจากคนคนหนึ่งน่าจะไม่น้อยกว่า 20-30 แห่ง “ทำให้เราบอกไม่ได้ว่า ข้อมูลเรารั่วจากไหน”                                   

แต่คำถามคือ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” หรือ “PDPA”(กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)ควรเข้มงวด เอาจริงเอาจังมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ คือถ้าองค์กรรัฐหรือเอกชนไหนทำข้อมูลรั่วไหล ก็ต้องมีบทลงโทษไปตามกฎหมาย

ที่สำคัญต้องเปลี่ยน mindset ใหม่เลยว่า “ข้อมูลเรารั่วแน่ ล้านเปอร์เซ็นต์”ให้เหมือนเป็นโปรแกรมป้องกันตัว หากมีใครติดต่อมาแล้วอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ บอกข้อมูลเราถูกต้องทั้งหมด ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า “อาจได้ข้อมูลที่รั่วมาอ้างอิง อย่าเชื่อ”

ส่วนที่มีคนสงสัยว่า “มันเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงปราบไม่หมดสักที” เป็นเพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่นอกประเทศการไปปราบปรามจึงอาจต้องข้ามชายแดนไป

“ตรงนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศ แล้วเอาให้ชัดว่า ตำรวจเรามีอำนาจในประเทศเขาไหม หรือถ้าเจ้าหน้าที่ฝั่งนั้นไม่ร่วมมือ เราจะทำยังไง”

ประเด็นที่น่าตกใจคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้ “ใช้สัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากฝั่งไทย” ดังนั้น ตามแนวชายแดนจะมีมาตรการอะไรบ้างไหม เพื่อตรวจสอบและปิดกั้น ไม่ให้แก๊งพวกนี้เข้าถึงสัญญาณจากประเทศเรา

ก้เรื่องนี้ ต้องมี “เจ้าภาพ”

“เราต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น” ดร.ปริญญา แนะทางแก้ 2 วิธี คืออย่างแรก“ต้องมีการเช็กฐานข้อมูลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด” เช่น ต้องตรวจสอบได้ ถ้ามีการเปิดบัญชีม้าในธนาคาร A พอถูกอายัดก็ไปเกิดบัญชีที่ธนาคารอื่นต่อ
“ตอนนี้ไม่รู้กันเลยนะว่า มีม้ามาเปิดบัญชีในธนาคารไหนบ้าง” นี่เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบ แต่จะไปติด ปัญหาเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ทำให้เราต้องออกกฎหมายมารองรับการตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“ถ้าเราตรวจแล้วพบว่า คนคนนี้เปิดบัญชีม้า ก็ขึ้น blacklist ในธนาคารไหน ก็ไม่สามารถเปิดบัญชีได้ อันนี้ผมว่าจะช่วยลดปัญหาได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เลยนะ”

แม้เราจะมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ยังขาด “เจ้าภาพ” ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังนั้น “ต้องตั้งหน่วยงานรับผิดชอบก่อน และรับผิดชอบตามกฎหมายด้วยนะครับ”

“ส่วนตัวชี้วัดคือ เตือนประชาชน 60 ล้านคนปีนี้ 10 ครั้ง คนรับรู้แล้ว ผลลัพธ์คนโดนหลอกลดลงเท่าไหร่ งบประมาณเท่าไหร่ ภาระหน้าที่ชัด แต่ตอนนี้ไม่มี”

เมื่อไม่มี “เจ้าภาพหลัก” ก็ส่งผลให้กฎหมาย ขอบเขตงาน อำนาจในการใช้กฎหมาย หรือแม้ตัวชี้วัดผลการทำงาน“มันไม่ชัดเจน”

ยกตัวอย่าง “AOC” สายด่วน 1441

ที่ให้บริการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์แบบ One Stop Serviceทั้งการปรึกษา หรืออายัดบัญชี จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้มันครบจบในที่เดียวได้จริงๆ

หลายคนอาจบอกว่า โทรไป AOC แล้ว แต่ยังช้า ยังไม่สามารถอายัดบัญชีได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ปริญญา อยากชวนให้เข้าไปดูในรายละเอียดว่า “ในทางกฎหมาย คนที่นั่งอยู่ใน AOC มีอำนาจทางกฎหมายที่จะอายัดหรือเปล่า”

เพราะเส้นทางการเงินเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” เมื่อไม่มีกรอบกฎหมายมารองรับ อำนาจในการตรวจสอบก็ไม่มี
“AOC 1441 พ.ร.บ.บัญชีม้า ต้องชมคนทำ คือไอเดียดี แต่ยังคิดมาไม่สะเด็ดน้ำ เพราะงั้นเราต้องมาดู กันต่อว่า จะพัฒนามันต่อไปยังไง”

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในมุมมองของกูรูรายนี้มองว่า “ดีขึ้นเยอะ” แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้เอง “ก็ไม่หมู” เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานต้องมาร่วมกันจัดการ

ทั้ง “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE)” หรือ “ตำรวจไซเบอร์” ดูจากผลงานก็ทำเต็มที่ และ “ดีที่สุดแล้วในตอนนี้” แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หากมี “หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ”

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่มีประเทศไหนสามารถปราบให้เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์หมดไปได้ เพราะพวกคนเหล่านี้ มักจะก้าวนำหน้าเราเสมอ แต่อย่างน้อยเราทำให้ลดลงให้ได้

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : whoscall.com

8 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

6
หน่วยบริการสะท้อนหลากปัญหา "กองทุนบัตรทอง" ถูกบีบด้วยงบ อัตราเบิกจ่ายต่ำกว่าต้นทุนและกองทุนอื่น ทั้งประกันสังคมและข้าราชการ คาดอีก 3-5 ปีปัญหาระเบิดแรงแน่ ด้านชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชง 7 ข้อเสนอแก้ปัญหา ย้ำหาก สปสช.งบไม่พอ ให้บันทึกเป็นลูกหนี้ รพ.แล้วต้องตามจ่ายในปีต่อไป จี้ร่วมรับผิดชอบ อย่าปล่อยลอยแพ

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวในเวทีอภิปราย "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน" ในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการ ว่า การออกประกาศหลักเกณฑ์ของสปสช.ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไทม์ไลน์ปีงบประมาณปกติจะเริ่ม ต.ค. สิ้นสุด ก.ย. แต่เมื่อ 1-2 ปี จะไปสตาร์ทที่ไตรมาส 1 ส่วนปีนี้อาจจะอ้างว่าเพราะเปลี่ยนรัฐบาล แต่ก็ล่อไปครึ่งปีแล้ว ซึ่งต้องเห็นใจหน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะคลินิกจะประสบปัญหาการเงิน ดังนั้น จึงฝากดูด้วยว่าในปีถัดๆ ไปขอให้เริ่มเร็วกว่านี้ได้หรือไม่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในแง่ของงบฯ ค่าใช้จ่ายบัตรทอง เพิ่มจาก 154,000 ล้านบาท เป็น 217,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่งบรายหัวก็เพิ่มขึ้น 20% แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มีการจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ต้นทุนทั้งคนและอุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้นเงินที่เพิ่มขึ้น ฟังแล้วดูดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้นประชาชนไม่ผิด แต่ท่านต้องดูว่า จะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ ซึ่งหากมาดูหลักคิดที่เขียนชัดว่า “คำนึงถึงประชาชน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว แต่กลับลืมเพราะประกาศ 10 ฉบับ ไม่เคยเขียนเอาไว้เลยว่า “ให้ความเป็นธรรมกับสถานพยาบาล” เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ถามว่าใครต้องเป็นผู้แบกรับ

เมื่อดู รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป จะได้งบฯ จากกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท สำนักงานประกันสังคม 12,000 บาท และ สปสช. 8,300 บาท ซึ่งสมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็น รมว.สาธารณสุข ซึ่งทราบความเดือดร้อนของ รพ. จึงพยายามหางบฯ มาให้กว่า 5 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงงบเหมาจ่ายรายหัวตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ไว้ในช่วงต้นปี ราวๆ 8-9 พันล้านบาท พอมาถึง ส.ค.-ก.ย. ก็เหลือประมาณ 2-3 พันล้านบาท และยังมีงบฯ สำรองอีกประมาณ 100 ล้านบาท ตอนหลังน้อยลงเรื่อยๆ จึงต้องฝาก สปสช.ดูตรงนี้ว่าใครต้องแบกรับ เช่น โรงเรียนแพทย์ แถวกระทรวงการต่างประเทศ แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วย ประมาณ 500-700 ล้านบาท โรงเรียนแพทย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน 1.5 - 2 พันล้านบาทต่อปี เพราะ สปสช.ให้งบมาเท่านั้นและบีบไปหมด

“ตอนนี้ไม่ระเบิด แต่อีก 3-5 ปี จะระเบิดแรงขึ้น เพราะเห็นประกาศต้นเดือนนี้ กรมบัญชีกลางกำหนดลิมิตค่าใช้จ่ายด้านยาหลายรายการ ฉะนั้น รพ.โดยเฉพาะภาครัฐจะไม่มีมารองรับ และหลายอย่างจะระเบิดออกมา ดังนั้น ความท้าทายของกองทุน สปสช. คือทำอย่างไร ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ได้” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า จากการพิจารณา (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 มีข้อเสนอในประเด็นสำคัญ 7 เรื่อง ประกอบด้วย

1.การจ่ายค่าบริการต้องสะท้อนต้นทุนจริงในทุกบริการ เพราะถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะผิดตลอดไป ยกตัวอย่าง ต้นทุนผู้ป่วยใน นักวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาต้นทุนในรพศ./รพท. 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยต้นทุนของรพ.แต่ละระดับอยู่ที่ราว 13,000 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) แต่อัตราจ่ายของบัตรทองอยู่ที่ 8,350 บาท ส่วนสำนักงานประกันสังคม 12,000-15,000 บาท และกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท แสดงให้เห็นว่าบัตรทองจ่ายให้ต่ำกว่ากองทุนอื่นและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต้นทุน

2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องมีแหล่งเงินที่ชัดเจน ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิม แต่ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่เพิ่มเรื่อยๆ

3.อัตราหรือราคาที่ประกาศแล้ว ห้าม ปรับแก้ลดลงระหว่างปี จนกว่าจะผ่านอนุกรรมการ เพราะจะทำให้รพ.จัดหาซื้อในราคาที่สปสช.ประกาศไม่ได้ ก็จะกระทบกับการให้บริการประชาชน ฉะนั้น หากมีการต่อรองราคาได้แล้วช่วยแจ้งบริษัทที่ผ่านการต่อรองให้แจ้งทั่วประเทศว่าจะขายราคาที่ตกลงกัน รพ.จะได้ดำเนินการได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 เมื่อมีสัญญาอยู่แล้วดำเนินไป 1-2 เดือน แต่สปสช.ประกาศราคาใหม่ แล้วสัญญาเก่าจะวุ่นวายมาก

4.ลดสัดส่วนกองทุนเฉพาะโรค จากที่ปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 12 หรือ 15 % ของงบฯเหมาจ่ายรายหัวถือว่าจำนวนมาก ให้เหลือน้อยกว่า 5% ให้เอาเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ

5.กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ให้ดำเนินการเหมือนกันในทุกกองทุน โดยเกลี่ยจากกองทุนย่อยอื่น หรือใช้จากกองทุนที่รายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม หรือของบกลางเพิ่มจากรัฐบาล ถ้ายังไม่พอ ขอให้บันทึกบัญชีสปสช.เป็นลูกหนี้ของหน่วยบริการ แล้วตั้งเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายที่ สปสช.ต้องตามจ่ายหนี้ให้หน่วยบริการในปีถัดไป ขอให้สปสช.ร่วมรับผิดชอบด้วยอย่าปล่อยลอยแพหน่วยบริการ อย่างปี 2566 จำนวน 2,600 ล้านบาทให้รพ.ต้องเป็นหนี้ กลายเป็นไปใครให้การรักษามายิ่งเป็นหนี้ ตรรกะแบบนี้ไม่น่าถูกต้อง

6.สปสช.ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการให้ประชาชน ไม่ใช่ซื้อข้อมูลอย่างตอนนี้ เพราะแม้หน่วยบริการให้บริการไป แต่ข้อมูลไม่ตรงก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มภาระงาน เกิดภาวะหมดไฟ จะกระทบประชาชน ดังนั้น รพ.ควรใช้ชุดข้อมูลเดียวในการเบิกจ่าย ทุกกองทุน รวมถึง กองทุนย่อยและใช้ช่องเดียวในการส่ง Financial Data hub ส่วนการตรวจสอบการโกง สปสช.ต้องหาวิธีอื่นอย่าโยนภาระให้หน่วยบริการ และ

7.สปสช.ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน โดยการกระจายอำนาจจาก สปสช.ไป สปสช.เขต เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่

2 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

7
เครือ รพ. พญาไท-เปาโล ขึ้นแท่นผู้นำด้านสุขภาพ ล่าสุดคว้ารางวัล The Best Medical Healthcare Brand ในหมวดธุรกิจการแพทย์ในประเทศไทย จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อให้การตัดสินรางวัลในครั้งนี้มีข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องแม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ ทันต่อความเคลื่อนไหว ครอบคลุมรอบด้านทุกความแตกต่างหลากหลาย โดยมี คุณอนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการอำนวยการ และผู้ร่วมก่อตั้ง The People เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบรางวัล ในงาน The People Awards 2024 โดยทีมผู้บริหารของโรงพยาบาลฯ นำโดย คุณศุภกร พะวันนา ผู้อำนวยการสายการตลาดเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล พร้อมด้วย คุณวนิดา เศรษฐเศวต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารการตลาดองค์กร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เข้ารับรางวัลดังกล่าว

ซึ่งเกณฑ์การตัดสินได้คัดเลือกองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านต่างๆ 5 รางวัล จากองค์กรที่เข้าเกณฑ์จำนวน 100 Finalists โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาเน้นเรื่อง “คน” ที่ไม่หยุดพัฒนา สอดคล้องกับการให้ความสำคัญเรื่อง “People Branding” ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือให้คนไปดูแลคน ซึ่งงานนี้จัดโดย The People ซึ่งเป็นสื่อในเครือ Nation Group ประกอบด้วย กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก, สปริงนิวส์ ,The Nation, ฐานเศรษฐกิจ และ The People

รางวัลนี้นับเป็นอีกความสำเร็จร่วมกันของพนักงานทุกระดับที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นพัฒนา ‘คน’ ที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมที่ดูแล ‘คน’ ดังคำที่ว่า “นวัตกรรมที่ดีที่สุด คือ คนที่ไม่หยุดพัฒนา” ภายใต้แคมเปญ Fight for Better หรือ ‘ดีที่สุดไม่มี มีแต่ดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้น” คำพูดติดปากของคนในเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล องค์กรที่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากความดีและความเก่งของทุกคน สู่เป้าหมายสร้างคนเพื่อให้ดูแลคน

28 มี.ค. 2567 ผู้จัดการออนไลน์

8
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้นำองค์กรหลายท่านอย่างลงลึกเกี่ยวกับการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม หรือ DEI อันเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ สำหรับประเด็นเรื่องความหลากหลายที่มีการพูดถึงมากที่สุดใจตอนนี้คือเรื่อง Generation

ทำไมเด็กสมัยนี้ต้องขอสัมภาษณ์หลังเลิกงาน? ทำไมบริษัทต้องให้เข้าไปสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศ? ทำไมทำงานแค่ 3 ปีอยากเป็น CEO? ทำไมยังโปรโมทไม่ได้ถ้าพี่ยังไม่ได้โปรโมท? คำถามมากมายที่ตอบยังไงก็ไม่ถูกใจคนที่เติบโตมาจากสมัย ประสบการณ์และทัศนคติต่อการทำงานที่แตกต่าง

เพราะนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราเห็นคนต่างเจน มากถึง 5 เจนอยู่ร่วมกันในองค์กร การบริหารคนต่างเจนจึงถือเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ Baby Boomers ไปจนถึง Generation Z ความหลากหลายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของความเป็นผู้นำ ความสามารถในการจัดการและบูรณาการจุดแข็งของคนรุ่นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้นำที่ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่กลมกลืน มีประสิทธิผล และผลักดันนวัตกรรม 

4 คุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่ผนึกพลังคนหลากหลาย Generation มีดังนี้

1. เลิกคิดจะไปเปลี่ยนแปลงคนต่างเจน 

จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำที่จะผนึกพลังคนหลากหลายเจนที่มีประสิทธิภาพ คือเลิกคิดจะไปเปลี่ยนแปลงคนต่างเจน แต่ต้องการทำความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะ ค่านิยม ทัศนคติ และความชอบในการทำงานของแต่ละรุ่น ตัวอย่างเช่น Baby Boomers เป็นที่ให้ความสำคัญต่อจรรยาบรรณในการทำงานและความภักดีต่อนายจ้าง ในขณะที่ Generation X ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และ Generation Z เจนใหม่ล่าสุดที่เข้าสู่ตลาดแรงงานที่ให้คุณค่าต่อความหมาย คุณค่าแท้จริงของการทำงาน เทคโนโลยี และความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นการตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้ทำให้ผู้นำสามารถปรับแนวทางของตนและนโยบายองค์กรได้ ทำให้มั่นใจว่าสมาชิกในทีมแต่ละคนรู้สึกมีคุณค่า เข้าใจ และมีแรงบันดาลใจ

2. ก้าวข้ามทัศนคติการมองคนแต่ละเจนแบบเหมารวม 

แนวทางความเป็นผู้นำที่ผนึกพลังคนต่างเจนให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ ก้าวข้ามทัศนคติแบบเหมารวม เช่น คำว่า “เด็กสมัยนี้” “คนสมัยพี่” และส่งเสริมการไม่แบ่งแยกและความเท่าเทียมโดยตระหนักถึงจุดแข็งและศักยภาพส่วนบุคคลของสมาชิกในทีม ส่งเสริมความเสมอภาค ไม่ว่าการโอกาสในพัฒนา การยอมรับ หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผู้นำที่สามารถลดอคติที่เกี่ยวข้องกับอายุจะสามารถสร้างทีมที่เหนียวแน่นมากขึ้น

3. ใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายอันเป็นเครื่องมือสำคัญเชื่อมโยงคนต่างเจน

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นรากฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำทุกยุคสมัย และยิ่งทวีความสำคัญในการบริหารคนต่างเจนเพราะการสื่อสารช่วยปิดช่องว่างและเข้าถึงคนต่างเจน ผู้นำต้องรู้จักใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย ตั้งแต่รายงานที่เป็นทางการ อีเมล ไปจนถึงการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีทางโซเชียลแพลตฟอร์มที่พนักงานอายุรุ่นใหม่ชื่นชอบ นอกจากนี้ การส่งเสริมโครงการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (one-on-one) เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างคนต่างเจนยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นและส่งเสริมความเคารพและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

4. เต็มใจทดลองรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น

การจัดการทำงานให้มีความยืดหยุ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้นำที่จะดึงดูดคนต่างเจน ผู้นำต้องเข้าใจว่าสิ่งที่จูงใจคนแต่ละเจนไม่เหมือนกัน การทำงานแบบมีลำดับชั้นที่ชัดเจนอาจจะดึงดูดคน Baby Boomer หรือ Generation X ในขณะที่การจัดให้สภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้อิสระ เปิดโอกาสให้ร่วมระดมสมองคิด ทำงานร่วมกันอาจจะจูงใจ Generation Y และ Generation Z มากกว่า ผู้นำที่สามารถปรับตัวโดยการเต็มใจที่จะทดลองใช้นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และเปิดรับข้อเสนอแนะ จะสามารถสร้างสถานที่ทำงานที่ครอบคลุมคนหลากหลายเจนมากขึ้น

โดยสรุป ความเป็นผู้นำที่ส่งเสริมความหลากหลายด้าน Generation ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ผู้นำที่สามารถปลดล็อกมุมมองและประสบการณ์ ขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันจึงจะสามารถสร้างความสำเร็จในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

Bangkokbiznews
ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วงวงศ์ญาติ
2 เมย 2567

9
จากกรณีสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็น 2 พื้นที่ที่มีจุดความร้อนติดอันดับต้นๆ ของประเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 1 เมษายน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 ของวันที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 10.48 น. แสดงพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ของ อ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งพบพื้นที่ความเสียหายทั้งสิ้น 251,037 ไร่

และในพื้นที่ของ อ.แม่แจ่ม อ.จอมทอง อ.ฮอด อ.อมก๋อย อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ที่มีความเสียหายทั้งสิ้น 203,573 ไร่ รวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด 454,610 ไร่

สำหรับสาเหตุการเกิดไฟป่ายังคงมาจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน.

1 เมษายน 2567
มติชน

10
ตำรวจไล่ล่า 2 หนุ่มโหด บุกร้านจำหน่ายสุราฟันเจ้าของร้านแขนขาด แฟนสาวช็อกคว้าแขนพาวิ่งหนียังไม่หยุดถือมีดวิ่งไล่ โชคดีชาวบ้านมาช่วยเลยทิ้งรถวิ่งหนีไป ปมแค้นเตือนห้ามสูบบุหรี่

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 1 เม.ย.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ศรีราชา จ.ชลบุรี รับแจ้งเหตุทะเลาะวิวาทชายถูกมีดฟันแขนขาด บริเวณหน้าร้านจำหน่ายสุรา ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จึงรีบรุดไปตรวจสอบพร้อมฝ่ายสืบสวน และหน่วยกู้ภัยสว่างประทีป ศรีราชา

ที่เกิดเหตุพบคราบเลือดกระจายอยู่เต็มพื้นเป็นทางยาว และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าโซนิค สีเทา ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน พลิกตะแคงข้างอยู่ ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นเจ้าของร้านจำหน่ายสุรา อายุ 39 ปี ถูกมีดฟันแขนซ้ายขาด ชาวบ้านช่วยกันนำตัวส่งรพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ไปก่อนหน้านี้แล้ว

สอบสวนแฟนสาว ระบุ ตอนนั้นตนนั่งอยู่ในร้าน มีคนร้ายเป็นชาย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์มาจอดหน้าร้านแล้วลงมาเอามีดฟันแขนแฟนขาดตกใจมาก หยิบแขนของแฟนวิ่งหนีไปโรงพยาบาลพร้อมกับแฟน ซึ่งคนร้ายก็ยังวิ่งตามมาโชคดีมีพลเมืองดีเข้ามาช่วยเหลือและพาแฟนไปส่งรพ.

" สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องจากเย็นวานนี้ เกิดรถชนกันใกล้หน้าร้านแล้วคนที่ฟันแขนแฟนมายืนสูบบุหรี่ดูเหตุการณ์อยู่หน้าร้าน ทำให้กลิ่นควันเข้าไปในร้าน แฟนเลยเดินออกไปเตือนจนกระทั่งวันนี้มาเกิดเหตุ "

ขณะที่พลเมืองดี เล่านาทีระทึก ขับรถผ่านตรงที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องตะโกนให้ช่วยเหลือจึงวนรถกลับไปดูก็พบว่ามีผู้ชายแขนขาด 1 คนพร้อมผู้หญิงกำลังพากันเดินไปโรงพยาบาล จึงรีบวิ่งตามคนร้ายไปจนกระทั่งไปบอกให้คนร้ายยอมมอบตัวซะ แต่คนร้ายไม่หยุดวิ่งหนีต่อ ซึ่งคนร้ายยังบอกว่าคนเจ็บจะไปยิงเขาก่อนช่วงเย็นวานนี้

เบื้องต้นหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายกำลังออกค้นหาคนร้าย คาดว่ายังคงหลบหนีไปได้ไม่ไกลเนื่องจากทิ้งรถจักรยานยนต์ไว้ พร้อมเร่งตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดหารูปพรรณคนร้ายติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป

1 เม.ย.2567
ข่าวสด

11
การปรับ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บรรจุใหม่รอบนี้ เป็นผลมาจากที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี

การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการนั้นเป็นไปตามความเหมาะสม คำนึงถึงสถานการณ์โลกและความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และจะส่งผลให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต รวมทั้งเพื่อรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบราชการไทยต่อไป

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

............................................................................................

สำหรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ แรกบรรจุทุกคุณวุฒิ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 แยกเป็นกลุ่มวุฒิการศึกษา ดังนี้

วุฒิการศึกษา ปวช.
อัตราเดิม : 8,400-10,340 บาท
อัตราใหม่ : 10,340-11,380 บาท

วุฒิการศึกษา ปวส.
อัตราเดิม : 11,500-12,650 บาท
อัตราใหม่ : 12,650-13,920 บาท

วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี
อัตราเดิม : 15,000-16,500 บาท
อัตราใหม่ : 16,500-18,150 บาท

วุฒิการศึกษา ปริญญาโท
อัตราเดิม : 17,500-19,250 บาท
อัตราใหม่ : 19,250-21,180 บาท

วุฒิการศึกษา ปริญญาเอก
อัตราเดิม : 21,000-23,100 บาท
อัตราใหม่ : 23,100-25,410 บาท



1 เมษายน 2567

12
เรียกได้ว่าเป็นข่าวเศร้าของวงการมวยไทย หลังสูญเสียนักมวยดาวรุ่งเจ้าของฉายา "ขุนเข่าน้ำตาไหล" ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผลงานของนักมวยดาวรุ่งคนนี้กันมาบ้างแล้ว ท่ามกลางแฟนมวยที่เข้ามาไวอาลัยต่อการสูญเสียในครั้งนี้จำนวนมาก โดยเพจเฟซบุ๊ก มิสเตอร์ป๋อง ได้แจ้งข่าวร้ายดังกล่าวว่า

"ณรงค์ชัย..จากไปอย่างสงบ !! "ขุนเข่าน้ำตาไหล" ณรงค์ชัย ศิษย์จอมยุทธ นักชกอำเภอจักราช นครราชสีมา เคยชกสังกัดเกียรติเพชร และกลุ่มพลังใหม่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

..ก่อนหน้านั้น เจ้าตัวเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไชค์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567  นอนเป็นเจ้าชายนิทราอยู่หลายวัน แพทย์พยายามยื้อชีวิตไว้เต็มที่แต่ไม่สำเร็จ จนมาเสียชีวิตในวันอาทิตย์ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

..ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวน้องบิว ณรงค์ชัย ด้วยครับ ผมเองก็ได้บรรยายน้องชกตั้งแต่ดาวรุ่งจนเป็นดาวดัง ขึ้นชกคู่เอกมาหลายครั้ง!! #ขอให้น้องสู่ภพภูมิที่ดีครับ R.I.P."  โดยแฟนมวยต่างเข้ามาแสดงความเสียใจอย่างต่อเนื่อง

 สำหรับ "ขุนเข่าน้ำตาไหล" ณรงค์ชัย ศิษย์จอมยุทธ เคยโลดแล่นบนสังเวียนมาหลายไฟต์และถูกจับตาว่ากำลังจะเป็นนักชกอนาคตไกล ก่อนเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต

Thainewsonline
1 เมย 2567

13
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในโรงพยาบาลสงฆ์ว่า ในช่วงปลายเดือน มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูง  4 ราย ของโรงพยาบาลสงฆ์ ประกอบด้วย นพ.สมเกียรติ เกษมธรรมคุณ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ดร.ดุษฎี ใหญ่เรืองศรี รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล นพ.อนุตพงษ์ ชูจันทร์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ และ นพ.ประวิทย์ ตันติวัฒนาศิริกุล หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม ในฐานะคณะกรรมการบริหารหน่วยงาน ได้ทำบันทึกถึงอธิบดีกรมการแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อขอลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกัน

โดยผู้บริหารระดับสูงทั้ง 4 ราย ระบุถึงเหตุผลการลาออกเหมือนกัน ว่า "เนื่องจากการบริหารงานของผู้มีอำนาจในโรงพยาบาลสงฆ์ ที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ ทำให้เกิดความไม่สบายใจและความไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจรวมถึงครอบครัว จึงขอลาออกจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป"

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ภายหลังได้รับทราบเรื่องนี้ ได้ติดต่อไปยัง พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงถึงกรณีที่เกิดขึ้น

พญ.อัมพร ชี้แจงว่า เรื่องการลาออกจากตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นเรื่องของกลไกการบริหารภายใน แต่ยังไม่ได้เห็นเอกสารลาออกฉบับจริง ได้รับการแจ้งผ่านการบอกเล่า

เมื่อถามว่า มีการระบุเหตุผลในหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเหมือนกันว่า การบริหารงานของผู้มีอำนาจในโรงพยาบาลสงฆ์ ที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ?

พญ.อัมพร กล่าวว่า "ไม่ทราบ ต้องถามเจ้าตัวเอง"



29 มีนาคม 2567
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/127436-isra-priest-hospital.html

14
วันนี้ (1 เมษายน 2567) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับระบบให้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) 902 แห่ง ใช้ระบบ Financial Data Hub (FDH) เป็นช่องทางในการเบิกจ่ายค่าบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป หลังประเมินผลการเบิกจ่ายโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ใน 4 จังหวัดนำร่อง พบว่าได้ผลดี สะดวกกับโรงพยาบาล และเดินหน้าสู่ Digital Transformation เต็มรูปแบบเพื่อช่วยให้การเบิกจ่ายรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมมาตรฐานรักษาควาปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งเตรียมขยายสู่สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคมต่อไป

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดและโฆษก สธ. เปิดเผยว่า สธ.ได้พัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน กระทรวงสาธารณสุข (Financial Data Hub : FDH) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลและการเงิน สนับสนุนการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 หน่วยบริการในสังกัด สป.สธ.ทั้ง 902 แห่ง มีการส่งข้อมูลบริการมายัง FDH ครบทุกแห่ง และเมื่อเริ่มนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการเบิกจ่ายการค่าบริการของหน่วยบริการ 49 แห่ง ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส พบว่า สามารถส่งข้อมูลได้ครบทุกแห่ง สปสช. รับข้อมูลไปพิจารณาและโอนจ่ายให้หน่วยบริการได้สำเร็จ รวมทั้งมีการขยายไปยังหน่วยบริการอื่นที่พร้อมส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายผ่านระบบ FDH ด้วย

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า จากความสำเร็จดังกล่าว สธ. และ สปสช. จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกจ่ายบนระบบคลังข้อมูลสุขภาพของทั้ง 2 หน่วยงาน รองรับการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สธ.ผ่าน FDH ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป หน่วยบริการในสังกัด สป.สธ.ทั้ง 902 แห่ง ส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ FDH เพียงช่องทางเดียว เป็นการเปลี่ยนวิธีส่งข้อมูลจากการบันทึกในระบบเป็นการส่งข้อมูลด้วย “เทคโนโลยีดิจิทัล” แทน โดยระบบ FDH จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการและ สปสช. ด้วย API และทำหน้าที่เสมือนเป็นไปรษณีย์ รับและส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“เรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) จะมีการให้สิทธิและตรวจสอบสิทธิก่อนเข้าใช้งานระบบ FDH สิทธิการแก้ไขข้อมูล มีการเข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคลจากระบบสารสนเทศโรงพยาบาลก่อนส่งเข้าระบบ FDH ข้อมูลจะถูกจัดเก็บในระบบคลาวด์ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ISO/IEC 27001 และ ISO 27799 โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ทำการเจาะระบบหาช่องโหว่ เพื่อนำไปสู่การรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน” นพ.สุรโชค กล่าว

โฆษก สธ. กล่าวอีกว่า สป.สธ.ยังได้พัฒนาบุคลากรของหน่วยบริการให้สามารถส่งข้อมูลและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง ครบถ้วน ผ่านการประชุมชี้แจงและอบรมผู้ใช้งาน โดยร่วมกับ สปสช. ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาล และบุคลากรจาก 4 จังหวัดนำร่อง ถ่ายทอดประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรค และปัจจัยความสำเร็จในการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสนับสนุนผู้บริหารแต่ละระดับ ในการควบคุม กำกับ ติดตาม การปฏิบัติงานของบุคลากร โดยในระยะต่อไป สธ.จะดำเนินการให้ระบบ FDH สามารถทำงานร่วมกับระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลางที่ดูแลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบสารสนเทศของกองทุนประกันสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นๆ ต่อไป

https://www.matichon.co.th
1 เมษายน 2567

15
พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระเกี้ยว จุลมงกุฎ พระเกี้ยวยอด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 เป็นตรางา ลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวมีรัศมี ประดิษฐานบนพานรอง 2 ชั้น ปากพานชั้นล่างมีรูปดอกกุหลาบ เคียงด้วยฉัตรตั้ง 2 ข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้าง มีพานรอง 2 ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง

โดยเหตุที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเกี้ยวขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อให้รัชกาลที่ 5 (ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ) ใช้ทรงในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. 2408 จึงได้เรียกกันว่า “จุลมงกุฎ” มาแต่ครั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง รัชกาลที่ 5 จึงทรงถือเอาพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎนี้มาเป็นสัญลักษณ์หรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ต่อมา

พระราชลัญจกรนี้ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสาร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงประทับพระราชลัญจกรพระเกี้ยวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2410 กล่าวคือ

เมื่อ พ.ศ. 2410 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ส่งมองซิเอแบลกัวต์เป็นราชทูตพิเศษเข้ามาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญากับสยาม ต่อมาวันหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรเรือรบฝรั่งเศสตามคำกราบบังคมทูลเชิญของราชทูต

จากนั้น “ราชทูตฝรั่งเศสจัดการรับเสด็จอย่างเต็มยศใหญ่ ชักธงบริวารและให้ทหารขึ้นยืนประจำเสาเรือรบ แล้วยิงปืนสลุตตามพระเกียรติยศรัชทายาททุกประการ อาศัยเหตุที่ราชทูตฝรั่งเศสแสดงความเคารพโดยพิเศษนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หมายถึงรัชกาลที่ 5) ลงพระนามและประทับพระลัญจกร ในหนังสือสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนสัญญา กับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย…”
ดังนั้น รัชกาลที่ 5 ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ จึงน่าจะทรงใช้ตรา “พระเกี้ยว” ประจำพระองค์ ทรง “ลงพระนามและประทับพระลัญจกร” ในหนังสือสำคัญดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยาม ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “ดูเหมือนตราพระลัญจกรรูปพระจุลมงกุฎ (เกี้ยวยอด) จะคิดขึ้นในคราวนี้ แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ”

อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2555). พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
ส. พลายน้อย. (2527). ความรู้เรื่องตราต่าง ๆ เล่ม 1 พระราชลัญจกร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564
https://www.silpa-mag.com


หน้า: [1] 2 3 ... 534