แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 437 438 [439] 440 441 ... 654
6571
วันที่ 10 ตุลาคม ภญ.สุภาพร ปิติพร หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ได้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพราะขณะนี้น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร โดยน้ำกำลังจะไหลทลายกำแพงที่ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลช่วยกันนำถุงทรายมาวางกั้นเอาไว้รอบโรงพยาบาล

ภญ.สุภาพรระบุว่า หากน้ำทะลักเข้ามาในโรงพยาบาลนั้น จะทำให้โรงพยาบาลได้รับความเสียหายอย่างมาก อีกทั้งยังต้องฟื้นฟูอย่างมากภายหลังน้ำลด ไม่มีใครรู้ว่าจะลดเมื่อใด เพราะเวลานี้น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาล มีเพียงถนนกั้นเอาไว้ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังหวาดหวั่นว่า กำแพงของโรงพยาบาลด้านหลังจะทนรับแรงการไหลของน้ำไม่ไหวจะพังลงมา ทำให้น้ำไหลเข้าเขตโรงพยาบาลทั้ง 2 ด้าน

ทางด้านนายรอยลกล่าวว่า ได้ประสานงานกับทางกรมทหารช่างและกระทรวงคมนาคมให้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ไปปกป้องพื้นที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นจะต้องเสริมความแข็งแรงของกำแพงโรงพยาบาลด้านหลังก่อน เพราะเวลานี้น้ำสูงถึง 60 ซม. ส่วนด้านหน้ายังไม่น่าห่วงเท่าด้านหลัง ทั้งนี้จะเดินทางลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อดูการทำงานในวันที่ 11 ตุลาคม ด้วยตัวเอง


มติชนออนไลน์  10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

6572
ชื่อแม่น้ำ มีที่มาให้เรียกได้หลายอย่างตั้งแต่โบราณกาล ไม่มีกำหนดตายตัว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบาย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2485) ในบทความเรื่องชื่อลำน้ำแม่กลองวินิจฉัยนาม แต่สรุปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

1. เรียกตามตำบลที่ปากน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา มี ต. บางเจ้าพระยา อยู่ปากน้ำ, แม่น้ำท่าจีน มี ต. บางท่าจีน อยู่ปากน้ำ, แม่น้ำบางปะกง มี ต. บางปะกง อยู่ปากน้ำ

2. เรียกตามตำบลที่ต้นน้ำ เช่น แม่น้ำปิง, แม่น้ำน่าน, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำแม่กลอง

3. เรียกตามชื่อย่านที่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำท่าจีน เรียกชื่อต่างกันเป็นช่วงๆ ดังนี้ ทางต้นน้ำเรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า เมื่อผ่านย่านมะขามเฒ่า (อ. วัดสิงห์ จ. ชัยนาท), เรียกแม่น้ำสุพรรณเมื่อผ่านเมืองสุพรรณ (จ. สุพรรณบุรี), เรียกแม่น้ำนครชัยศรีเมื่อผ่านเมืองนครชัยศรี (อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม)

4. เรียกตามความเคยชิน โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ และยังหาที่มาไม่ได้ เช่น แม่น้ำน้อย (ไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท)

อาจมีอย่างอื่นอีกที่ผมไม่รู้

แม่น้ำบางปะกง มาจากไหน?

มีผู้ข้องใจเรื่องแม่น้ำบางปะกงที่ผมเคยเขียนย่อๆไปคราวก่อน จึงจะบอกเล่าให้ชัดเจนเพิ่มอีก

แม่น้ำบางปะกง เกิดจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำนครนายก (จ. นครนายก) กับแม่น้ำปราจีนบุรี (จ. ปราจีนบุรี) ไหลรวมกันที่ อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา แล้วเรียกชื่อใหม่ว่าแม่น้ำบางปะกง ไหลลงอ่าวไทยที่ ต. บางปะกง อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา

แม่น้ำปราจีนบุรี มีต้นน้ำจาก 2 ทาง คือทางเหนือ กับทางใต้

ทางเหนือ ไหลลงใต้ จากทิวเขาใหญ่ มี 4 สาย คือ 1. แม่น้ำพระปรง 2. แม่น้ำหนุมาน 3. ห้วยยาง 4. ห้วยโสมง ทั้ง 4 สาย ไหลไปรวมกันที่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี เรียกแม่น้ำปราจีนบุรี

จากนั้นไหลผ่าน อ. ศรีมหาโพธิ, อ. ประจันตคาม, อ. เมืองปราจีนบุรี

ทางใต้ ไหลขึ้นเหนือ มี 1 สาย เรียกคลองพระสทึง (สทึง เป็นภาษาเขมร แปลว่า คลอง) จากทิวเขาอำเภอต่างๆใน จ. จันทบุรี คือ อ. มะขาม, อ. โป่งน้ำร้อน, และ อ. สอยดาว

ผ่านอำเภอต่างๆใน จ. สระแก้ว คือ อ. วังสมบูรณ์, อ. วังน้ำเย็น, อ. เขาฉกรรจ์, และ อ. เมืองสระแก้ว แล้วรวมกับแม่น้ำพระปรง ไหลไป อ. กบินทร์บุรี รวมกับแม่น้ำหนุมาน เรียกแม่น้ำปราจีนบุรี

(ท้องที่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี จะเห็นว่าเป็นที่รวมรับน้ำอย่างน้อย 5 สาย จากทิศทางต่างๆกัน จึงมีน้ำหลากมารวมท่วมมากกว่าที่อื่น)

บริเวณแนวคลองพระสทึง (ทำแนวเหนือ-ใต้) เป็นที่ดอนกลายเป็นสันปันน้ำ แบ่งน้ำเป็น 2 ส่วน ไหลไปทางตะวันตกลงอ่าวไทย กับไหลไปทางตะวันออกลงโตนเลสาบ กัมพูชา

แม่น้ำบางปะกง ยังมีลำน้ำสาขาอีก 1 สาย เรียกคลองท่าลาด (อยู่ใน จ. ฉะเชิงเทรา) เกิดจากแควระบม (อ. สนามชัยเขต) กับแควสียัด (อ. ท่าตะเกียบ) รวมกันที่ ต. เกาะขนุน อ. พนมสารคาม ไหลผ่าน อ. ราชสาส์น ลงรวมแม่น้ำบางปะกงที่ ต. ปากน้ำ (เจ้าโล้) อ. บางคล้า จ. ฉะเชิงเทรา

ปะกง (ในชื่อบางปะกง) กร่อนจากคำเขมรว่า บงกง แต่อ่าน บ็องกอง แปลว่า กุ้ง แสดงว่าแม่น้ำบางปะกงสมัยโบราณมีกุ้งชุกชุมเป็นที่รู้ทั่วกัน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดหรือเดาขึ้นมาเองโดยไม่ตรวจสอบ แต่สรุปจากอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2545) และจากประสบการณ์ตรงที่เคยไปสำรวจถึงบริเวณต้นน้ำทุกสายหลายปีมาแล้ว

ถึงกระนั้นก็ไม่มั่นใจจะถูกต้องทุกอย่าง เพราะผมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจต่างจากหลายๆท่านก็ได้ ดังนั้นขอให้ทักท้วงที่เห็นว่าบกพร่อง


โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
คอลัมน์ สยามประเทศไทย /มติชนรายวัน 10 ต.ค.2556

6573
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความคืบหน้าอาการป่วยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน หลังเข้ารับการรักษาอาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ว่า อาการของร.ต.อ.เฉลิม ดีขึ้น ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คาดว่าจะเดินทางออกจากโรงพยาบาลได้ภายในวันนี้ (10 ต.ค.) ทั้งนี้ อาการดังกล่าวถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ และรักษาให้หายได้

 เมื่อเวลา 15.30 น. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เดินทางออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีร.ต.อ.ดวง อยู่บำรุง บุตรชายคนเล็กเดินทางมารับพร้อมข้าราชการระดับสูงกระทรวงแรงงาน
 
 ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตอนเข้าโรงพยาบาลเป็นเพราะมีอาการปวดศีรษะ เดินเอนๆ ที่ผ่านมาไม่อยากผ่าตัดเนื่องจากเป็นเรื่องของสมอง จึงใช้วิธีทานยา แต่ก็คิดว่าอาการไม่น่าจะดีเพราะออกกำลังกายได้น้อยลง จึงตัดสินใจเข้าผ่าตัด แพทย์มีฝีมือ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่ต้องเปิดสมอง ทำเพียงเจาะช่องเล็กๆ และใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษ
 
 "อาการของผมคือเลือดไหลในสมอง 2 ข้าง แต่เป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่เลือดไม่ไหลเข้าไปในสมองส่วนที่สำคัญ แพทย์เจาะเอาเลือดออกไปเยอะพอสมควร ส่วนการดื่มไวน์ไม่เกี่ยวเพราะเลิกดื่มมานานแล้ว และสามารถทานอาหารทุกอย่างได้ตามปกติ ตั้งแต่ผ่าตัดเสร็จ"
 
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิมเดินออกจากห้องผู้ป่วยด้วยตัวเอง แต่ต้องค่อยๆ เดิน โดยมีร.ต.อ.ดวงเดินประกบตลอดเวลา และมีสีหน้ายิ้มแย้มขณะให้สัมภาษณ์

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันในโซเชียลมีเดียมีกระแสข่าวลือว่า ร.ต.อ.เฉลิมเสียชีวิตแล้ว


ข่าวสดออนไลน์  10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา

6574
น้ำเซาะประตูระบายน้ำตะกุดอ้อ อ.กบินทร์บุรี พังยาวกว่า 50 เมตร น้ำทะลักเข้าพื้นที่ประจันตคาม ขณะที่ รพ.ประจันตคาม น้ำท่วมสูงเกือบเมตร ต้องย้ายแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินและ OPD ไปอยู่ที่ศูนย์ป้องกันบรรเทาและสาธารณภัยฯ ชั่วคราว...

วันที่ 10 ต.ค. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา บริเวณประตูระบายน้ำตะกุดอ้อม หมู่ 7 ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้ถูกน้ำเซาะจนพื้นที่หูช้างขาด ยาวกว่า 50 เมตร จนทำให้มวลน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี จำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่พื้นที่ อ.ประจันตคาม อย่างรวดเร็ว ทางราชการจึงได้แจ้งหน่วยงานต่างๆ ให้อพยพทรัพย์สิน รวมทั้งประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ด้วยเป็นเวลากลางดึก ทำให้ประชาชนไม่ทราบข่าวมาทราบอีกครั้ง เมื่อมวลน้ำได้ไหลเข้าพื้นที่บ้าน จนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยอนุสรณ์จึงได้จัดกำลังออกไปช่วยชาวบ้านในการขนย้ายสิ่งของ


ส่วนที่ รพ.ประจันตคาม ก็ถูกน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ สูง 70 ซม. ทางโรงพยาบาลต้องระดมกำลังทหารมาช่วยในการขนย้ายเครื่องมือแพทย์ ไปทำการรักษาที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปราจีนบุรี รวมทั้งมีการหนุนสะพานทางเข้าโรงพยาบาลให้สูงขึ้นอีก เพื่อให้เจ้าหน้าที่เดินเข้า-ออกในตัวอาคารได้ เนื่องจากทางโรงพยาบาลยังจำเป็นต้องปฏิบัติงานบางส่วนอยู่ในตัวอาคาร

นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผู้อำนวยการ รพ.ประจันตคาม เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลก็มาทราบในเวลา 01.00 น. ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้เตรียมการอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมาระดับน้ำสูงขึ้นรวดเร็วมาก ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีได้พิจารณาสั่งการ และแนะนำให้เคลื่อนย้ายแผนกฉุกเฉิน พร้อมแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือแพทย์และ OPD ไปอยู่ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากเป็นที่สูง สะดวกในการให้บริการ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย


ส่วนผู้ป่วยใน ทางโรงพยาบาลได้ย้ายไปอยู่ที่ รพ.กบินทร์บุรี 4 ราย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 1 ราย ขณะนี้ก็รับเพียงผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก ส่วนโรงไฟฟ้า โรงครัว และโรงซักล้าง ทางโรงพยาบาลสามารป้องกันไว้ได้ มีเพียงแต่ระบบบำบัดน้ำเสีย น้ำได้ล้นออกนอกระบบ จึงจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักเจ้าหน้าที่อีก 13 หลัง ที่ถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ทางชุมสายโทรศัพท์ของ อ.ประจันตคาม ได้ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 1.50 เมตร ทางเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำกระสอบทรายมาทำแนวป้องกัน ไม่ให้น้ำไหลเข้าไปภายในตัวอาคาร รวมทั้งมีการยกหม้อแปลงไฟฟ้าให้สูงพ้นระดับ และหากถูกน้ำท่วมจะส่งผลต่อระบบโทรศัพท์ทั้งอำเภอ ไม่สามารถใช้การได้


นอกจากนี้ ในตลาดเทศบาลตำบลประจันตคาม ซึ่งเป็นชุมชนย่านเศรษฐกิจ ก็ถูกน้ำท่วมสูงเฉลี่ยประมาณ 30 ซม. พบว่าบรรดาร้านค้าต่างเร่งวางแนวกระสอบทรายและก่ออิฐถือปูน เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าร้าน ซึ่งจากการสอบถาม นางประพร สวัสดิรัตน์ อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 ถนนศิวบูรณ์ ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาจนตอนนี้ ยังไม่เคยเจอน้ำท่วม ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร.

ไทยรัฐออนไลน์ 10 ตค 2556

6576
 เอเอฟพี – ประธานาธิบดี กริสตินา เคิร์ชเนอร์ ของอาร์เจนตินา ถูกแพทย์สั่งพักฟื้น 1 เดือน หลังจากตรวจพบว่าเธอมีอาการเลือดคั่งในสมอง ซึ่งมีสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม โฆษกของเธอระบุเมื่อวันเสาร์ (5 ต.ค.)
       
       เคิร์ชเนอร์ วัย 60 ปี “ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม และผลตรวจสมองในตอนนั้นไม่พบความผิดปกติใดๆ” อัลเฟรโด สกอกซิมาร์โร โฆษกของเธอชี้
       
       ทว่าผลตรวจครั้งใหม่เหล่านี้ระบุว่าเธอมีอาการเลือดคั่งในสมอง ประเภทฮีมาโตมาใต้เยื่อดูราอย่างเรื้อรังและ “แพทย์สั่งให้เธอพัก 1 เดือน” เขาระบุในคำแถลง
       
       สกอกซิมาร์โรกล่าวว่า แพทย์ไม่ได้สั่งให้ผู้นำหญิงซึ่งมาจากการเลือกตั้งคนแรกผู้นี้นอนพักตลอดเวลา
       
       อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้บอกว่าเธอจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มากน้อยเพียงไร เพียงแต่ระบุว่าแพทย์จะติดตามดูอาการของเคิร์ชเนอร์อย่างใกล้ชิด
       
       นอกจากนี้ โฆษกของเคิร์ชเนอร์ไม่ได้ชี้แจงว่า รองประธานาธิบดี อามาโด โบว์โดว์ จะเข้ามาสานต่อภารกิจใดบ้าง ในช่วงที่เคิร์ชเนอร์ต้องพักฟื้น ทั้งนี้ โบว์โดว์ วัย 50 ปี เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ
       
       เคิร์ชเนอร์มีปัญหาทางสุขภาพหลายอย่างขณะดำรงตำแหน่ง โดยแพทย์ระบุว่าเธอมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
       
       เมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนเข้าสู่สมัยที่ 2 ของการเป็นประธานาธิบดี เธอได้เข้ารับการผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่กลับพบว่าแพทย์วินิจฉัยผิดพลาดว่าเธอเป็นโรคมะเร็ง
       
       ในช่วงที่เคิร์ชเนอร์ทดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เธอได้ยกเลิกการปรากฏตัวตามกำหนดการหลายครั้ง และให้เหตุผลว่าเธอมีอาการอ่อนเพลีย
       
       เนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์ สามีของเธอ คือ อดีตประธานาธิบดีสองสมัย ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม เขาเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายในปี 2010 แต่ก็ยังทันเห็นภรรยารับช่วงเป็นประธานาธิบดีต่อจากเขา
       
       สำหรับบทบาทภายในประเทศ คริสตินา เคิร์ชเนอร์ ต้องเผชิญกับกับภาวะเงินเฟ้อที่กำลังทวีความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และค่าเงินเปโซที่อ่อนตัวลง ตลอดจนบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ นโยบายจำกัดจำนวนเงินดอลลาร์ที่ประชากรแต่ละคนจะถือครองได้ อันเป็นนโยบายที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน
       
       ในระดับนานาชาติ เธอยังคงผลักดันกรณีพิพาทเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์เข้าไปอยู่ในการพิจารณาขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้หมู่เกาะดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่อาร์เจนตินาซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาก ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 ตุลาคม 2556

6577
ภาพที่ 1: แสดงประวัติศาสตร์เส้นทางเดินของมะพร้าว
     
       
       ด้วยความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ ได้นำน้ำมันมะพร้าวซึ่ง มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว (Saturated oil) มาใช้เป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอางค์นับเป็นพันๆปี โดยที่คนในสมัยก่อนไม่ค่อยเป็นโรคเหมือนกับคนในสมัยนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคธัยรอยด์ โรคผิวหนัง ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือแม้โลกจะไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเรื่องข้อมูลข่าวสารเหมือนกับยุคนี้ แต่คนทั่วโลกที่ใช้น้ำมันมะพร้าวในอดีตต่างรู้สรรพคุณในการใช้ใกล้เคียงกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้งในด้านการปรุงอาหาร เป็นยารักษาโรค ทาแผลจากของมีคมและฟกช้ำ ใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวและเส้นผม ทั้งในอินเดียที่ใช้กันมากว่า 5,000 ปี ชาวปาปัวนิวกินี ชาวปานนามาชาวจาไมก้า ชาวไนจีเรีย โซมาเลีย และเอธิโอเปียชาวแอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ ชาวพื้นเมืองในเกาะซามัว ชาวศรีลังกา ชาวฟิลิปปินส์ ชาวอินโดนีเซีย ชาวไทย นิยมใช้น้ำมันมะพร้าวมาปรุงอาหาร คาวหวาน โดยเฉพาะกะทิ ใช้เป็นยา เป็นเครื่องประทินบำรุงผิว รักษาผิว
       
        ด้วยคุณสมบัติที่เป็นน้ำมันพืชที่มีสรรพคุณหลายด้านที่เห็นผลตรงกันในหลายประเทศ ทำให้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำมันมะพร้าวจึงกลายเป็นน้ำมันที่นิยมใช้ในการปรุงอาหารและยาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา แม้ในยุโรปในเวลานั้นก็มีการนำน้ำมันมะพร้าวมาใช้สำหรับคนป่วยที่มีปัญหาระบบย่อยอาหารหรือการดูดซึมอาหารที่ไม่ดี ตลอดจนใช้สำหรับเด็กเล็กที่ย่อยไขมันชนิดอื่นไม่ค่อยได้ สร้างภูมิคุ้มกัน ฯลฯ

ภาพที่ 2 : แสดงพื้นที่ในกรอบเส้นสีแดงที่เป็นแหล่งของมะพร้าวตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้คิดตามว่าหากคนในโลกนี้เปลี่ยนน้ำมันพืชมาเป็นน้ำมันมะพร้าวประเทศใดจะได้รับประโยชน์สูงสุด


       ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484 -2488) กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศฟิลิปปินส์และหมู่เกาะต่างๆในย่านเอเชียและแปซิฟิก ส่วนไทยก็เป็นทางผ่านร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นด้วย ในเวลานั้นสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรฯเป็นศัตรูกับญี่ปุ่น ทำให้น้ำมันมะพร้าวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนี้ต้องหยุดส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรฯไปโดยปริยาย
       
        เมื่อน้ำมันมะพร้าวขาดแคลนในสหรัฐอเมริกาจึงทำให้ต้องมีการสานต่อการผลิตน้ำมันพืชชนิดอื่นขึ้นมาแทน ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้มีการคิดค้นน้ำมันพืชไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated oil) ขึ้นมา เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วลิสง ฯลฯ ผลก็คือทำให้เกิดการปลูกพืชเหล่านี้กันอย่างแพร่หลายมากในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในยุคนั้นอย่างมหาศาล และทำให้สมาคมถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกากลายเป็นกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลทางการเมืองในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       
        ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ประเทศญี่ปุ่นตกกลายเป็นผู้แพ้สงคราม หลังจากนั้น น้ำมันมะพร้าวจึงเริ่มส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ในเวลานั้นสงครามทางการค้าระหว่าง "น้ำมันพืชอิ่มตัว" และ "น้ำมันพืชไม่อิ่มตัว" ได้เริ่มต้นรุนแรงขึ้น
       
        และคู่แข่งอันสำคัญในเวลานั้น ฝ่ายน้ำมันพืชอิ่มตัวก็คือ "น้ำมันมะพร้าว" จากเอเชียและแปซิฟิก
       
        และฝ่ายที่เป็นน้ำมันพืชไม่อิ่มตัวก็คือ "น้ำมันถั่วเหลือง" ที่ปลูกกันมากในสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น
       
        กลุ่มสมาคมถั่วเหลืองแห่งอเมริกัน(American Soybean Association หรือ ASA) ได้โจมตีน้ำมันมะพร้าวว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ทำให้เป็นคอเลสเตอรอลได้ง่าย ทำให้เป็นโรคหัวใจได้ง่าย อ้วนง่าย และทำให้เป็นอัมพาต !!!
       
        ในปี พ.ศ. 2500 เป็นเวลา 12 ปีหลังจากยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิบัติการทำลายความน่าเชื่อถือน้ำมันมะพร้าวได้รุนแรงขึ้นไปอีก โดยได้มีงานวิจัยที่ประดิษฐ์ขึ้นหลายชิ้น ที่ระบุว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ อัมพาต และโรคอ้วน โดยงานวิจัยชิ้นเหล่านั้นนั้นมีการใช้ความร้อนและเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันมะพร้าวในส่วนที่ยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ให้เป็นน้ำมันไฮโดรจีเนตที่ผิดธรรมชาติ เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดแล้วโจมตีน้ำมันมะพร้าวให้เสียหายโดยตรง เพราะงานวิจัยชิ้นนั้นไม่สอดคล้องกับงานวิจัยต่อๆกันมาอีกจำนวนมากในรอบ 50 กว่าปีที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังเลยแม้แต่น้อย
       
        แต่งานวิจัยการโจมตีไขมันอิ่มตัวไม่มีเพียงลักษณะดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายชิ้นแต่ไม่ได้โจมตีน้ำมันมะพร้าวตามธรรมชาติโดยตรงเพราะรู้ว่าโจมตีได้ยาก จึงเน้นการโจมตีน้ำมันที่เป็น "ไขมันอิ่มตัว" ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ และทำให้เชื่อว่าไขมันอิ่มตัวคือผู้ร้ายในวงการน้ำมันที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร เพื่อเชื่อมโยงทางอ้อมว่าน้ำมันมะพร้าวคือไขมันอิ่มตัว ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวจึงต้องทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพด้วย
       
        สำหรับในประเทศไทยก็มีการโฆษณาน้ำมันถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งว่าน้ำมันถั่วเหลืองของยี่ห้อตัวเองแช่ตู้เย็นแล้วไม่เป็นไข แต่น้ำมันอิ่มตัวแช่ตู้เย็นแล้วเป็นไข เพื่อชักชวนผู้บริโภคให้รู้สึกหวาดกลัวว่าเมื่อเป็นไขแล้วจะเป็นก้อนไขมันอุดตันในเส้นเลือดในท้ายที่สุด โดยผู้บริโภคในยุคนั้นไม่เคยฉุกคิดเลยสักนิดว่าน้ำมันมะพร้าวจะเริ่มจับตัวเป็นไขเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย 36.4 - 37.0 องศาเซลเซียส จึงไม่มีทางจะเกิดไขขึ้นได้เลยในร่างกายมนุษย์
       
        แต่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็เพราะเป็น "สงครามทางการค้า" ที่มีความรุนแรงอย่างมาก สมาคมถั่วเหลืองอเมริกัน เผยแพร่และรณรงค์อย่างหนักในช่วงปี พ.ศ. 2523 - 2532 ให้คนอเมริกันเลิกกินไขมันอิ่มตัว ซึ่งรวมถึงน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ซึ่งเรียกรวมๆว่าเป็นน้ำมันจากเขตร้อน (Tropical Oil) เป็นอันตราย ทำให้คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงต่อโรคหัวใจ เพื่อให้คนทั้งโลกไปบริโภคน้ำมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Oils) โดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลืองแทน
       
        หลังจากนั้นคนอเมริกันและคนทั่วโลกก็หลงอยู่ในมายาคติและการโฆษณาชวนเชื่อ จึงตื่นตระหนกและรังเกียจใช้น้ำมันมะพร้าวมากขึ้น ส่งผลทำให้คนบริโภคน้ำมันมะพร้าวน้อยลงอย่างรวดเร็ว และคนบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ ราคามะพร้าวตกลง มีการโค่นต้นมะพร้าวในเอเชียแปซิฟิกจำนวนมากแล้วหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน

ภาพที่ 3 : แสดงการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะหลังช่วงการรณรงค์ให้คนอเมริกันหวาดกลัวกับไขมันอิ่มตัว
     

ภาพที่ 4 : แสดงการเปลี่ยนแปลงของประชากรคนอ้วนและน้ำหนักเกินในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบ 19 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2533 - 2552)
       ในที่สุดสงครามน้ำมันพืชยุติลง "น้ำมันถั่วเหลือง" ได้รับชัยชนะอย่างขาดลอย!!!
     
 
        แต่สิ่งที่คนอเมริกันและทั่วโลกที่หันไปใช้น้ำมันถั่วเหลือง กลับได้รับคือ คอเลสเตอรอลที่มีอนุมูลอิสระทำลายหลอดเลือดสูงขึ้น เป็นโรคเบาหวานมากขึ้น อ้วนมากขึ้น(จนมีคนอ้วนมากที่สุดในโลก) และโรคหัวใจและโรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนอเมริกันมากที่สุด ทั้งๆที่ใช้น้ำมันถั่วเหลืองกันอย่างมหาศาลแล้ว และทำให้ในช่วง 15-20 ปีมานี้คนอเมริกันเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น

ภาพที่ 5 : แผนภูมิแสดงเปรียบเทียบ % ของ 10 สาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรในสหรัฐอเมริการสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยโรคหัวใจและโรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในยุคปัจจุบัน

 
      เมื่อเห็นข้อมูลดังนี้อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าการอ้วนขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงสาเหตุของการเสียชีวิตของคนอเมริกันอาจไม่ได้มาจากน้ำมันพืชก็ได้ ก็มีส่วนจริงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ขอให้เก็บคำถามนี้เอาไว้ก่อน เพราะจะกล่าวถึงการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคเหล่านี้ต่อไป แต่ในชั้นนี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าการโฆษณาชวนเชื่อว่าการหยุดกินไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันมะพร้าวแล้วหันมากินน้ำมันถั่วเหลืองแทนจะทำให้ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่เป็นโรคมะเร็ง หรือไม่เป็นโรคอ้วนนั้น ก็ไม่ได้เป็นความจริงแต่ประการใด


       แต่ในทางตรงกันข้าม ดร.เรย์ พีท (Ray Peat) ผู้เชี่ยวชาญด้านธัยรอยด์ และฮอร์โมน แห่งมลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้เขียนรายงานเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2548 ค้นพบว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการรณรงค์ในเรื่องการโจมตีน้ำมันมะพร้าวอย่างหนักหน่วง ทำให้คนเชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้อ้วนคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และอ้วนง่าย ในช่วงเวลานั้นมีรายงานบันทึกปรากฏในหนังสือเอนไซโคลพีเดียแห่งสหราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2489 ว่า ผู้เลี้ยงหมูได้ซื้อน้ำมันมะพร้าวเอาไปเลี้ยงหมูเพราะเชื่อว่าจะทำให้หมูอ้วนเร็วทำน้ำหนักง่ายตามการโฆษณาของสมาคมถั่วเหลืองอเมริกัน แต่เมื่อนำน้ำมันมะพร้าวมาให้หมูกินแล้วปรากฏว่า...
       
        หมูที่เลี้ยงด้วยน้ำมันมะพร้าว "ผอมลง"ทั้งเล้า!!!
       
        หลังจากนั้นวงการธุรกิจปศุสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ทั่วโลกต่างก็ได้มีความรู้มากขึ้นว่าหากจะเลี้ยงให้สัตว์ตัวเองอ้วนขึ้นนั้น ต้องให้กิน "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวโพด" เพราะล้วนแล้วแต่เป็นธัญพืชที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งสิ้น ไม่มีใครเลี้ยงด้วยน้ำมันมะพร้าวอีกต่อไป เพราะรู้ว่าน้ำมันจาก "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวโพด" นั้นเป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลืองในยุคหลังมีการตัดแต่งพันธุกรรมจะกดการทำงานของไทรอยด์ให้ต่ำลง ทำให้เกิดการเผาผลาญได้ช้าลง สัตว์จึงกินน้อยแต่ขุนให้อ้วนง่าย ไขมันเยอะ เหมาะอย่างมากในการทำน้ำหนักให้ได้กำไรในการขาย

ภาพที่ 6 : ภาพจากภาพยนตร์ Food Inc. สารคดีเปิดโปงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารได้รับรางวัลออสก้า แสดงการเปรียบเทียบขนาดของไก่ในยุคเมื่อปี พ.ศ. 2493 (ซ้ายมือ) หลังยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมา 5 ปีที่ใช้เวลาเลี้ยง 70 วัน กับ ไก่ที่เลี้ยงในยุคปี พ.ศ. 2551 (ขวามือ) ที่กินถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรมและฉีดยาปฏิชีวนะในช่วงเวลา 48 วัน


       และเมื่อปี พ.ศ. 2554 ดังเต รอคชีซาโน (Dante Roccisano) และ มาเช เฮนเนอเบอร์ค (Maciej Henneberg) จากหน่วยงานวิจัยทางด้านชีวมนุษยวิทยาและกายวิภาคเชิงเปรียบเทียบ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งแอดเดลเลทด์ (University of Adelaide) ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำหัวข้อการศึกษาในเรื่องการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองโดยเฉพาน้ำมันถั่วเหลืองต่อหัวประชากรในหลายประเทศโดยอาศัยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าปริมาณการบริโภคน้ำมันถั่วแหลืองมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับภาวะโรคอ้วน
       
        ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะมาปฏิวัติน้ำมันพืช เอาความจริงกลับคืนมา และไม่ให้พวกมันหลอกพวกเราอีกต่อไป

 ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    4 ตุลาคม 2556

6578
1. “ยิ่งลักษณ์” เมินเสียงทัดทาน ลงนามทูลเกล้าฯ ร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว.แล้ว ด้าน 40 ส.ว. ยื่นราชเลขาธิการระงับทูลเกล้าฯ ชี้ นายกฯ กระทำการไม่บังควร!

       ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. เดินหน้าลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 โดยไม่สนเสียงทักท้วงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ที่เสนอให้ชะลอการโหวตวาระ 3 เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นที่ส่อว่าขัด โดยเฉพาะกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติวาระ 2 ทั้งนี้ ทันทีที่ผ่านวาระ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า หากมี ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อเสนอเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน
       
       แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่สนและพยายามเร่งทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่า นายกฯ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันหลังได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาวาระ 3 จากประธานรัฐสภา พร้อมคาดว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 1 ต.ค.
       
       นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ประสานเสียงหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องชะลอการทูลเกล้าฯ โดยอ้างว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่สามารถยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อใช้สิทธิตามมาตรา 154 ได้ เพราะมาตรา 154 ยื่นได้เฉพาะกรณีที่เป็นร่าง พ.ร.บ.เท่านั้น ไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 มาแล้วในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
       
       หลังพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณว่านายกฯ จะไม่ชะลอการทูลเกล้าฯ แน่ กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา จึงได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้ระงับการทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และว่า หากนายกฯ เร่งนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ อาจเป็นการกระทำที่ไม่บังควร เพราะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นายกฯ อาจถูกกล่าวโทษว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 167 ทั้งนี้ นอกจากจะยื่นหนังสือถึงนายกฯ แล้ว ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ยังได้ยื่นหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อระงับการทูลเกล้าฯ อีกทางหนึ่งด้วย
       
       ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เตือนนายกฯ เช่นกันว่า การรีบทูลเกล้าฯ โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อเบื้องพระยุคลบาท เพราะตามกฎหมาย รัฐบาลยังมีเวลา 20 วันในการทูลเกล้าฯ แต่หากนายกฯ รีบทูลเกล้าฯ แล้วพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนด หรือหากไม่พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องนำร่างกฎหมายนั้นมาปรึกษากันใหม่ หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกฯ นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง หากมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 30 วัน ให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งกรณีนี้เกรงว่าจะกระทบต่อสถาบัน
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่สนเสียงทักท้วงและคำเตือนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. เดินหน้าลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายเลขาฯ ครม. พร้อมยืนยัน ตนทำตามข้อกฎหมาย และได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ในฐานะนายกฯ จึงมีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถยึดหลักอื่นได้
       
       ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ถึงความคืบหน้าการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับสำนักราชเลขาธิการ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายกฯ ลงนามเพื่อนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ 1 วัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ให้ยกคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้วินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงมติแทนกันของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ ศาลฯ ได้ให้นายพีระพันธุ์ทำสำเนาคำร้องส่งศาล 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
       
       ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบเมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยระบุว่า สำเนาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำแจกให้กับสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2556 ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อจริงจากสมาชิก 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 291 มีเพียงตัวพิมพ์ชื่อเท่านั้น นอกจากนี้เนื้อหาในมาตรา 115(9) และมาตรา 116 วรรคสอง ก็ไม่ตรงกับเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อความไม่ตรงกันประมาณ 5 จุด จึงถือว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างปลอมหรือญัตติปลอมหรือไม่ ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจผิดต่อกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งตรวจสอบ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติรับเรื่องดังกล่าว และให้อนุกรรมาธิการไปตรวจสอบรายละเอียด โดยจะเชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิปรัฐบาลและผู้เที่กี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อไป
       
       2. ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ 8 เสียง ชี้ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี’57 ไม่ขัด รธน. แต่แนะ ครั้งต่อไป กมธ.ควรให้องค์กรอิสระได้ชี้แจงความจำเป็นใช้งบ!

       เมื่อวันที่ 4 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมลงมติกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 50 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กับคณะรวม 62 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด และวรรคเก้า หรือไม่ เนื่องจากมีการปรับลดงบของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จนอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยศาลได้ให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ สภาผู้แทนราษฎร ,ผู้แทนสำนักงบประมาณ ,สำนักงานศาลยุติธรรม ,ศาลปกครอง และ ป.ป.ช.เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้แจงโดยยืนยันว่า อาจมีความเข้าใจผิดคิดว่ามีการตัดงบองค์กรอิสระ ซึ่งไม่ใช่ เป็นเพียงการปรับลดงบประมาณลง และปรับลดน้อยมาก
       
       ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมตุลาการฯ มีมติเอกฉันท์ 8 เสียง วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด และวรรคเก้า เนื่องจากมาตรา 168 วรรคเก้า บัญญัติเพียงว่า การพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระตามวรรคแปด หากองค์กรนั้นเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรให้ไม่เพียงพอ สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาอย่างรอบคอบว่า การที่ฝ่ายบริหารปรับลดงบประมาณขององค์กรดังกล่าว เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดให้คณะกรรมาธิการต้องเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในการแปรญัตติแต่อย่างใด
       
       ประกอบกับคณะตุลาการฯ เห็นว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. มีโอกาสชี้แจงแสดงเหตุผลการขอเพิ่มงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้รับรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ และได้รับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาแล้ว จึงไม่ปรากฏเหตุที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 168 วรรคแปดมีวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการฯ ให้ความเป็นธรรมแก่หน่วยงานดังกล่าวจึงควรที่จะให้หน่วยงานดังกล่าวได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีครั้งต่อไป กรรมาธิการฯ จะต้องให้
       ผู้แทนขององค์กรอิสระเข้าชี้แจงความจำเป็นในการของบประมาณขององค์กรตนเองใช่หรือไม่ และหากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น และว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็สามารถนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยต่างออกมาขอบคุณศาลเป็นการใหญ่ โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค บอกว่า ขอบคุณที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรวดเร็ว และถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ พร้อมติงพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองเพื่อหวังให้กระทบรัฐบาล
       
       ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การที่ตนและคณะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 เนื่องจากเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรคแปด เรื่องการจัดสรรงบประมาณในส่วนขององค์กรอิสระนั้นน้อยเกินไป จึงยื่นคำร้องไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรอิสระโดยไม่ได้มีนัยใดๆ ทั้งสิ้น การที่ศาลตัดสินออกมาเช่นนี้ ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
       
       3. ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับจำคุก “สนธิ” 2 ปี คดีหมิ่นสถาบัน พูดซ้ำ “ดา ตอร์ปิโด” ด้าน “สุวัตร” ข้องใจ ศาลไม่ดูเจตนา ชี้เคยมีบรรทัดฐานศาลฎีกา มั่นใจชนะแน่!

       เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีนำคำพูดของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” ที่ปราศรัยหมิ่นสถาบัน มาปราศรัยซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2551 จำเลยได้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเตอร์เน็ตให้คนไทยและต่างชาติได้รับชมทั้งในและต่างประเทศ โดยจำเลยได้นำเอาคำปราศรัยของ น.ส.ดารณีที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์มาพูดซ้ำ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
       
       ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องนายสนธิ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพูดของจำเลยมีเจตนาเพื่อเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ดำเนินคดี น.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณี ที่มีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ด้านอัยการ ในฐานะโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์
       
       ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนา แต่กลับเอาคำพูดของ น.ส.ดารณีมาพูดซ้ำในที่สาธารณะ ทำให้คนไทยบางส่วนที่ไม่ทราบว่าเนื้อหาที่ น.ส.ดารณีพูดเป็นอย่างไร ก็ได้มาทราบจากที่จำเลยพูด ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังเพียงพอ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบของความผิดแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิพากษากลับ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี
       
       หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย วงเงิน 5 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา
       
       ด้านนายสนธิ กล่าวยอมรับว่า ได้นำคำพูดของ น.ส.ดารณีมาปราศรัยบนเวทีจริง แต่เป็นคำพูดเพียงบางส่วนเท่านั้น และเจตนาเพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี น.ส.ดารณี อย่างไรก็ตามจะต่อสู้คดีนี้ในชั้นฎีกาต่อไป นายสนธิ ยังให้สัมภาษณ์เปิดใจในเวลาต่อมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า ศาลชั้นต้นยกฟ้องตน เพราะตนและทนายนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำผิด แต่ทำไมศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาโดยไม่ดูที่เจตนา ทั้งที่ประมวลกฎหมายอาญา ต้องดูข้อเท็จจริงเรื่องเจตนาของผู้กระทำผิดเป็นหลัก “คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีเนื้อหาสาระในกระดาษไม่เกิน 1 หน้าครึ่งกระดาษ ท่านสั่งลงโทษจำคุกผมโดยใช้ดุลพินิจว่าผมนำคำพูดของ ดา ตอร์ปิโด มาพูดจริง ซึ่งยอมรับว่าจริง แต่เจตนาทำไมถึงไม่นำมาพูดถึงว่าผมนำคำพูดมาเพื่อเจตนาอะไร เพื่อการปกป้องสถาบันใช่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งชาติทราบดี อย่างไรก็ตาม ผมยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันในฐานะคนไทยคนหนึ่งต่อไป ไม่รู้สึกหวั่นไหวใดๆ ยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลฎีกา เพราะประมวลกฎหมายอาญาต้องดูที่เจตนาในการกระทำความผิดเป็นหลัก”
       
       นายสนธิ ยังแฉผ่านรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ทางเอเอสทีวีด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ มีนัยทางการเมือง มีกระบวนการที่จะเอาตนติดคุกให้ได้ เหมือนมีคำสั่งมาจากต่างประเทศ แล้ววิ่งไปที่เครือข่ายศาลของเขา และว่า แม้แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องตน ก็ถูกกดดันจากอย่างหนักเพื่อเอาตนติดคุกให้ได้ แต่ท่านไม่ยอม นายสนธิ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เร็วผิดปกติ เหมือนเป็นการวางยาวางเครือข่ายเอาไว้ เพราะหลังจากอัยการอุทธรณ์ได้แค่ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสิน ซึ่งตนเคารพคำพิพากษา เพราะเคารพหลักนิติรัฐ แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นคำพิพากษาที่ดุลพินิจใช้ไม่ได้ เพราะไม่พิจารณาเรื่องเจตนาเลยแม้แต่นิดเดียว
       
       นายสนธิ ยังประกาศด้วยว่า ตนไม่เคยกลัวติดคุก แล้วจะไม่หนีด้วย แต่จะเตือนผู้พิพากษาที่แกล้งตน รับงานเขามา ใครที่ทำกับตนแบบนี้ต้องมีอันเป็นไปทุกคน เพราะสิ่งที่ตนทำเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหากถึงจุดสุดท้าย ตนต้องติดคุกด้วยคดีหมิ่นเบื้องสูง ก็จะติด จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษด้วย และหากการติดคุกของตนมีส่วนให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมในวงการผู้พิพากษา มันก็คุ้ม “ไม่ต้องกังวล ผมไม่ท้อใจ ผมไม่รู้สึกอะไร ถ้าผมจะต้องเป็นอะไรไป เพราะผมต้องสู้ให้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ให้เป็นไป อย่างน้อยที่สุดผมก็ตายอย่างนอนตาหลับ เกิดมามันคุ้มค่าที่เป็นคนไทย เป็นมนุษย์ แล้วเป็นคนเอเอสทีวี แล้วก็เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
       
       ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เผยว่า ตนรับไม่ได้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และจะฎีกาภายใน 30 วัน พร้อมมั่นใจว่าศาลฎีกาจะเห็นเจตนาในการพูดที่แตกต่างกันระหว่างนายสนธิกับ น.ส.ดารณี ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตแล้วว่า การนำคำพูดคนอื่นมาพูดต่อ จะมีความผิดก็ต่อเมื่อคนพูดทีหลังต้องมีเจตนาเดียวกับผู้พูดครั้งแรก แต่นี่ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาถึงเจตนาของนายสนธิเลย ตนมั่นใจว่าศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
       
       นายสุวัตร ยังย้ำด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ดูเจตนาเลย บอกแต่ว่านายสนธิยอมรับว่าพูดจริง ทั้งที่สิ่งที่นายสนธิเอามาพูดยังไม่ถึง 1 ใน 5 ที่ดา ตอร์ปิโด พูดด้วยซ้ำ สรุปออกมาแค่ 3 ประโยค ทั้งที่ดา ตอร์ปิโด พูดตั้ง 3 วัน 3 ครั้ง ครั้งละเป็นชั่วโมง และเนื้อหาในการสรุปของนายสนธิก็ไม่มีข้อความใดที่เป็นความผิดมาตรา 112 เลย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์บอกว่าการกระทำของนายสนธิไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ นายสุวัตร แย้งว่า ศาลได้อ่านหรือยังว่าดา ตอร์ปิโด พูดอะไร แล้วนายสนธิสรุปแค่ 3 ประโยค แบบนี้ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอหรือ และที่ศาลอุทธรณ์บอกว่านายสนธิไม่มีความจำเป็นต้องถ่ายทอดซ้ำ นายสุวัตร แย้งว่า ทั้งที่ดา ตอร์ปิโด พูด 3 วัน 3 คืนที่สนามหลวง ไม่มีใครลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันเลย แบบนี้จำเป็นหรือยัง หรือใครจะหมิ่นประมาทในหลวงก็ได้ ไม่ต้องมีคนลุกขึ้นมาปกป้องใช่หรือไม่
       
       4. “หมอเลี้ยบ-อดีตปลัดไอซีที” รอด ที่ประชุมวุฒิฯ มีมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกรณีแก้สัญญาดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป!

       เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ประชุมวุฒิสภาได้ดำเนินกระบวนการถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ หลังบุคคลทั้งสองถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
        ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ว่า การที่นายไกรสร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นการกระทำที่มิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อชินคอร์ป เพราะทำให้ชินคอร์ปในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคม ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้การลดสัดส่วนการถือหุ้นลงร้อยละ 11 ย่อมส่งผลให้ชินคอร์ปได้รับทุนคืนจากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย อีกทั้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นยังส่งผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้
       
       ส่วน นพ.สุรพงษ์ นั้น ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เนื่องจากได้อนุมัติแก้ไขสัญญาการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปดังกล่าว โดยไม่มีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน ถือว่ามีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ป.ป.ช.จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้อง นพ.สุรพงษ์-นายไกรสร และนายไชยยันต์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายไกรสรและนายไชยยันต์ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ด้วย จึงมีมติส่งรายงานและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้บุคคลทั้งสองเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป
       
        สำหรับการลงมติว่าจะถอดถอน นพ.สุรพงษ์และนายไกรสรออกจากตำแหน่งหรือไม่ของที่ประชุมวุฒิสภานั้น ใช้วิธีลงคะแนนลับ ซึ่งการจะถอดถอนได้ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่หรือ 90 เสียง ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติถอดถอน นพ.สุรพงษ์ 71 เสียง ไม่ถอดถอน 59 เสียง และมีมติถอดถอนนายไกรสร 66 เสียง ไม่ถอดถอน 66 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เมื่อเสียงถอดถอนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จึงถือว่าที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนบุคคลทั้งสองออกจากตำแหน่ง

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 ตุลาคม 2556

6579
      4. ศาลปกครอง พิพากษาให้ “อสมท” คืนเงินส่วนลดโฆษณาให้ “ไร่ส้ม” 55 ล้าน ด้าน อสมท เล็งอุทธรณ์ ชี้ ไร่ส้มทุจริต ไม่มีสิทธิ์ได้ส่วนลด!

       เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาคดีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดังเป็นประธานกรรมการ ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) คู่สัญญาผลิตรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี กรณีเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30% ตามสัญญา และค่าโฆษณาที่ อสมท โฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงไว้
       
        ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างมากพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ตามสัญญา ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2548 และวันที่ 14 ก.ค.2549 ให้บริษัทไร่ส้ม รวมเป็นเงิน 55,523,763.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังให้ อสมท ชดใช้กรณีที่ได้โฆษณาล้ำไปในเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้มอีก 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-21 ธ.ค.2549 รวมเวลา 1.15 วินาที เป็นเงิน 253,255.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระเงินทั้งหมดภายใน 90 วัน หลังจากคดีถึงที่สุด
       
        องค์คณะตุลาการยังพิจารณาด้วยว่า กรณีที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลา ทาง อสมท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือทักท้วงว่าบริษัททำไม่ถูกต้อง อีกทั้งการจัดคิวและควบคุมเวลาโฆษณาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทั้งหมดที่ควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเกินเวลา ดังนั้นจึงยากที่บริษัทไร่ส้มจะปกปิดคิวโฆษณาที่เกินไปโดยไม่ยื่นใบคิวแจ้งล่วงหน้าตามที่ อสมท กล่าวอ้าง และว่า การที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาไปมาก คิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท เป็นเวลาปีเศษ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2548-ก.ค.2549 โดย อสมท ยังไม่มีการเรียกเก็บเงิน ก็เป็นเรื่องผิดปกติทางการค้าอย่างมาก จึงถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและระบบงานของ อสมท เองที่ไม่ควบคุมตรวจสอบและเรียกเก็บเงินจากบริษัทไร่ส้มภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของ อสมท
       
        อีกทั้งเมื่อบริษัทไร่ส้มได้รับแจ้งจาก อสมท ให้ชำระเงิน ทางบริษัทก็ได้รีบนำเงินไปชำระเพื่อป้องกันข้อครหาและไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจต่อสังคม จึงยังไม่อาจฟังได้ว่า การที่บริษัทไร่ส้มจ่ายเงินให้ อสมท เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนกรณีที่ อสมท อ้างว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบเหตุการณ์ทุจริตการโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม โดยพบว่านางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานธุรการ อสมท ที่มีหน้าที่จัดทำใบคิวและคิวโฆษณาได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทไร่ส้มเพื่อลงคิวโฆษณาส่วนเกินโดยไม่ต้องแจ้งซื้อโฆษณานั้น องค์คณะตุลาการเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการสอบภายใน อสมท เอง แม้จะมีส่วนน่าสงสัย แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ จึงพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ให้บริษัทไร่ส้มเป็นเงินกว่า 55 ล้านบาทดังกล่าว
       
        ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อปรากฏหลักฐานว่า บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลาเป็นจำนวนมากคิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทไร่ส้มกลับไม่แสดงความจำนงที่จะชำระเงิน แต่รอจนกระทั่งปีเศษ เมื่อ อสมท มีหนังสือทวงถาม บริษัทไร่ส้มจึงนำเงินมาชำระ การกระทำดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติทางการค้าระหว่างคู่สัญญาในเรื่องโฆษณาส่วนเกินและการรับส่วนลด อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา
       
        ทั้งนี้ นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความบริษัทไร่ส้ม เผยว่า คำพิพากษาเป็นไปตามคำฟ้องที่ขอให้ อสมท คืนเงินส่วนลดทางการค้า แต่ในส่วนที่ศาลพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนที่ล้ำไปในเวลาของบริษัทไร่ส้มนั้น เห็นว่า ศาลไม่ได้พิจารณาในหลักการแบบไทม์แชร์ริ่ง ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายเต็มจำนวนเวลารวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจะกลับไปพิจารณาร่วมกับบริษัทไร่ส้มอีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
       
        ขณะที่ทางผู้บริหาร อสมท ยืนยันแล้วว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ เพราะมองต่างจากศาลปกครอง โดยนายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท เผยว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ต้องแยกคดีระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม ออกเป็น 2 ประเด็น เพราะมี 2 คดี คดีแรก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้ม กรณีทุจริตโฆษณาเกินเวลาของ อสมท ซึ่งเป็นคดีอาญา ส่วนคดีนี้ บริษัทไร่ส้มฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีที่บริษัทไร่ส้มจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ อสมท แล้ว ซึ่ง อสมท เรียกเก็บเต็มจำนวน แต่บริษัทไร่ส้มเรียกร้องส่วนลด ซึ่ง อสมท มองว่าบริษัทไร่ส้มไม่ซื่อตรงต่อคู่สัญญา จึงไม่ควรได้รับส่วนลด
       
       สำหรับความคืบหน้าคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้มทุจริตยักยอกค่าโฆษณา อสมท ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องบริษัทไร่ส้มนั้น มีรายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ว่า อัยการเห็นว่าคดีนี้ยังไม่สมบูรณ์ในบางประเด็น ซึ่งตามขั้นตอน เมื่ออัยการเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ จะส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน แต่หากยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ทาง ป.ป.ช.จะเป็นผู้ส่งฟ้องคดีต่อศาลเอง


ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 กันยายน 2556

6580
1. รัฐบาล เดินหน้าลาก “สภาผัวเมีย” ผ่านรัฐสภาวาระ 3 แล้ว เมิน ปชป.- ส.ว.สรรหาวอล์กเอาต์ ด้าน “อภิสิทธิ์” จี้ นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ !

       ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. พร้อมกำหนดให้มีการลงมติในวาระ 3 ภายใน 15 วัน คือวันที่ 28 ก.ย. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นไม่เป็นไปรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ ,กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าหลักการในวาระ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามีภรรยา และบุตร สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะได้
      
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้นำทีม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากที่พรรคได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ไว้ก่อน ล่าสุด พรรคมีคลิปภาพหลักฐานใหม่ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยเป็นกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.เวลา 17.33น. ช่วงการลงมติ และมาตรา 10 วันที่ 11 ก.ย. เวลา 16.43น. ช่วงลงมติปิดอภิปรายและลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรา 126 ที่บัญญัติว่า สมาชิกมีสิทธิลงมติหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียงและจะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งในการลงมติ ดังนั้นการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญถูกละเมิด
      
       สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้นำคลิปวิดีโอมาเปิดให้สื่อมวลชนดู 3 คลิป โดยภายในคลิป มีภาพ ส.ส.คนหนึ่งนำบัตรแสดงตนของสมาชิกมาให้กับ ส.ส.คนหนึ่งที่นั่งอยู่ พร้อมใช้บัตรที่รับมาสลับกันเสียบเข้าไปยังเครื่องลงคะแนน นับได้ประมาณ 4 ใบ
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแฉเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่า นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่า เป็น ส.ส.ที่อยู่ในคลิปวิดีโอจริง แต่อ้างว่า ไม่ได้มีการเสียบบัตรแทนกัน ตนเพียงแค่เสียบบัตรคาไว้ในที่นั่ง แต่มี ส.ส.อีกคนเข้ามานั่งแทน ตนจึงเข้าไปเอาบัตรและย้ายที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้จี้ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สอบเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แต่นายสมศักดิ์บ่ายเบี่ยง โดยอ้างว่า ให้รอฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว
      
       ด้านศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งวินิจฉัยว่านายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 2 กับพวกรวม 309 คน ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ต่อนายสมศักดิ์ โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าคดีมีมูล แต่ไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ขอ
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ไว้วินิจฉัย พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.ออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน แต่ทั้งรัฐบาลและนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไม่สน ยืนยันลงมติตามกำหนดเดิม ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาสำทับว่า เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ผ่านวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.แล้ว นายกฯ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญด้วยการนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะต้องแยกส่วนกัน
      
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดวันประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 (28 ก.ย.) ปรากฏว่า วิปฝ่ายค้านและ ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการลงมติ เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ จึงประท้วงอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาตัดสินใจให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันที ท่ามกลางเสียงทักท้วงของฝ่ายค้าน
      
       และทันทีที่เลขาธิการรัฐสภาขานชื่อสมาชิกทีละคนเพื่อลงมติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.สรรหา ได้ประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์จากห้องประชุมทันที ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำพวงหรีดมีข้อความว่า “สภาทาส” ไปให้นายสมศักดิ์ที่หน้าบัลลังก์ แต่นายสมศักดิ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำพวงหรีดดังกล่าวออกไป
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมเพื่อลงมติในครั้งนี้ด้วย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 258 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าร่างฯ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว
      
       ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน รีบยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส.143 คน ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฉบับนี้มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า เมื่อสมาชิกรัฐสภามีการยื่นเรื่องตามมาตราดังกล่าวแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายฉบับนั้นไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินหน้าหรือชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าว
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรรีบนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ เพราะนายกฯ มีเวลา 20 วัน ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งหวังว่าศาลจะมีข้อยุติภายใน 20 วัน หากนายกฯ รีบทูลเกล้าฯ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายกฯ ต้องรับผิดชอบ
      
       2. ช่อง 9 ปิดหูปิดตา ปชช. แบน “คนค้นฅน” ตอนศศินเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ ด้านสมาคมต้านโลกร้อน ซัด เชลียร์ผู้มีอำนาจ ขู่ฟ้องศาลปกครอง!

       จากกรณีที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนหนึ่ง ได้เดินเท้าจาก อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มายัง กทม. ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.-22 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมระยะทาง 388 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนั้น
      
       ปรากฏว่า ทันทีที่นายศศินและผู้ร่วมเดินเท้ามาถึง กทม. ได้มีประชาชนไปให้การต้อนรับและร่วมคัดค้านเขื่อนแม่วงก์อย่างล้นหลาม ทั้งนี้ นายศศิน ขึ้นเวทีปราศรัยว่า พื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าใหญ่ เช่น เสือ อาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ในอีเอชไอเอไม่ได้บอกว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ “พวกเรามองว่าสิ่งที่จะเสียไปไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้าง เพราะหากเปรียบกับปริมาณน้ำท่วมในปี 2554 จะสามารถรับน้ำได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น รวมทั้งสามารถส่งน้ำไปพื้นที่บริการได้เพียง 1 แสนไร่เท่านั้น ไม่ใช่ 3 แสนไร่ อย่างที่บอกกับชาวบ้านในพื้นที่” ทั้งนี้ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านอีเอชไอเอต่อรัฐบาลผ่านนายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า คงต้องประเมินว่าประชาชนต้องการธรรมชาติที่อาจจะให้ความสวยงาม หรือต้องการเขื่อนที่จะทำให้ประเทศเจริญ และสามารถเก็บน้ำเพื่อการชลประทานได้ ซึ่งคงต้องหารือกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก่อน
      
       ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า จะสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่นอน เพราะผืนป่าจะอยู่เหนือความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ และต่อให้การสร้างเขื่อนดังกล่าวช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้แค่ 1% ก็ต้องสร้าง และว่า รัฐบาลมีแผนสู้กับน้ำท่วม 9 เรื่อง การสร้างเขื่อนเป็น 1 ในนั้น โดยจะสร้างเขื่อนเล็กและใหญ่รวม 21 เขื่อน
      
       ทั้งนี้ กระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยมีดารานักแสดงหลายคนออกมาร่วมคัดค้านเช่นกัน เช่น “นก” ฉัตรชัย เปล่งพานิช ได้โพสต์ข้อความคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ลงในอินสตาแกรมว่า “ถ้ามึงจะทำร้ายผืนป่า ทำร้ายธรรมชาติ สัตว์นรกจะมารอรับมึงแน่ แต่มึงคงไม่ตกใจ เพราะมึงเห็นในกระจกอยู่ทุกวัน คิดทำสิ่งสร้างสรรค์บ้างได้มั้ย”
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ บอกว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องเขื่อนแม่วงก์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีความพยายามปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้ข้อมูลจากผู้ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เช่นกรณีที่โมเดิร์นไนน์ทีวี(ช่อง 9) ระงับการออกอากาศรายการ “คนค้นฅน” ตอน “ศศิน เฉลิมลาภ 388 KM จากแม่วงก์สู่ กทม.” ซึ่งมีกำหนดออกอากาศเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ย. ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย บางคนถึงกับระบุว่า “รัฐนี้เป็นรัฐแห่งอวิชชา เพราะไม่ยอมให้คนในชาติได้รับความจริงแท้ ...แปลตรงๆ ว่า สิ่งที่รัฐนำเสนอย่อมปลอมปนด้วยสิ่งมอมเมาเขลาโง่”
      
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือเช็ค ผู้ดำเนินรายการคนค้นฅน และผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา ซึ่งเจ้าตัวพร้อมให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยคำพูด แต่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำเทปกาวสีดำชิ้นแรกมาปิดปาก ชิ้นที่ 2 ปิดตาทั้งสองข้าง ชิ้นที่ 3 ปิดหูขวา และชิ้นที่ 4 ปิดหูซ้าย ซึ่งสะท้อนว่ามีการแทรกแซงและพยายามหยุดการสื่อสารเรื่องแม่วงก์ออกสู่สาธารณะ
      
       ด้านนายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งแบนรายการคนค้นฅนดังกล่าว และว่า ทราบจากทาง อสมท ว่า เป็นการตัดสินใจของหน่วยงานเซ็นเซอร์ของทางช่อง 9 เอง เพราะรายการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน
      
       ขณะที่นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายดูแลสายงานโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ยอมรับว่า มีการระงับการออกอากาศรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าวจริง เพราะนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน และว่า อสมท เป็นกลาง เวลาออกข่าว ต้องออกให้สมดุลรอบด้าน จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทางรายการให้ไปสัมภาษณ์อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแก้ต่าง แต่ทางรายการไม่ทำ และทำไม่ได้ จึงบอกไปว่า ถ้าพร้อมทำเมื่อไหร่ จะออกอากาศให้ นางกมลาสิริ ยังย้ำด้วยว่า การระงับรายการดังกล่าว ไม่มีการเมืองแทรกแน่นอน
      
       ด้านรายการคนค้นฅนได้เผยแพร่คำชี้แจงทางโซเชียลมีเดียว่า หลังฝ่ายพิจารณาเทปออกอากาศแจ้งว่า อยากให้ปรับแก้เนื้อหาให้สมดุลทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนและฝ่ายคัดค้าน รวมทั้งตัดทอนเนื้อหาที่ทางสถานีฯ เห็นว่าจะทำให้เกิดการยั่วยุ ขัดแย้งออก ทางรายการก็ได้ปรับแก้ตามที่ทางสถานีฯ ห่วงใย บนพื้นฐานที่ไม่ให้เสียจุดยืนและรูปแบบของรายการ ที่เป็นสารคดีชีวิต ไม่ใช่สารคดีเชิงข่าว นอกจากนี้ทางรายการยังเพิ่มเติมเนื้อหาว่า พร้อมจะนำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนในโอกาสต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศแต่อย่างใด ทางรายการฯ จึงได้นำเทปรายการตอนดังกล่าว มาเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อให้สังคมได้ร่วมพิจารณาและหาทางออกอย่างสันติและเป็นธรรม
      
       ทั้งนี้ หลังช่อง 9 แบนรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าว ปรากฏว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของช่อง 9 ว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ มีรายการของรัฐบาลทางช่อง 9 ที่โฆษณาชวนเชื่อและเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวออกมามากมาย แต่ช่อง 9 ก็ไม่ได้สั่งห้ามเผยแพร่แต่อย่างใด พฤติกรรมของช่อง 9 จึงเป็นการเชลียร์ผู้มีอำนาจอย่างออกหน้าออกตา “ปิดหูปิดตาประชาชน” ที่มีสิทธิจะรับรู้ความจริงอีกด้าน ทั้งๆ ที่ช่อง 9 เป็นบริษัทมหาชน ที่มาจากเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใด ทางสมาคมฯ จึงขอให้ช่อง 9 ทบทวนพฤติกรรม พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.สั่งการให้ช่อง 9 นำเทปรายการคนค้นฅนตอนตอนดังกล่าวมาออกอากาศโดยเร็ว หากช่อง 9 ยังเพิกเฉย สมาคมฯ จำเป็นต้องร่วมกับผู้ชมและนักอนุรักษ์พึ่งอำนาจศาลปกครองโดยเร็วแน่นอน
      
       3. รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เพิ่งได้ฤกษ์แถลงผลงาน 1 ปี ด้าน ปชป.ซัด รัฐบาลล้มเหลว-ถังแตก-เพิ่มหนี้ให้ประชาชน!

       เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ครบรอบ 1 ปี(23 ส.ค.2554-23 ส.ค.2555) ของการบริหารราชการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลครั้งนี้ ถือว่าช้ากว่ากำหนดมาก เพราะขณะนี้รัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว และการแถลงผลงานครั้งนี้ก็มีขึ้นหลังจากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาเตือนว่า รัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ยอมแถลงผลงานหลังครบ 1 ปี
      
       ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงภาพรวมผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ และประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในปี 2554 รัฐบาลจึงต้องตัดงบปกติจากทุกกระทรวงเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาทในการป้องกันอุทกภัย และยังเสนอให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน และว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้โดยยึดจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1.การสร้างเศรษฐกิจสมดุล 2.การสร้างความเชื่อมั่น และ 3.การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
      
       ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภารกิจด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ดำเนินแนวนโยบายที่ครอบคลุมถึง 14 ด้าน เช่น เพิ่มรายได้ ,ลดรายจ่าย ,ขยายโอกาส ,สร้างรากฐานอนาคต และที่สำคัญ รัฐบาลกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในหลายเส้นทาง
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า คำมั่นสัญญาต่างๆ รัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ ไม่เท่านั้นรัฐบาลยังซ้ำเติมประชาชนในแง่ค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน ขณะที่เกษตรกรภาคใต้ชุมนุมมีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยปี 2554 ราคาอยู่ที่ กก.ละ 125 บาท แต่วันนี้อยู่ที่ กก.ละ 74 บาท ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลพูดเรื่องปรองดอง แต่กลับผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการปรองดองที่เลือกปฏิบัติ
      
       ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยเคยขึ้นป้ายหาเสียงว่า ล้างหนี้ประเทศไทย สร้างรายได้ประชาชน เอาความสุขที่เคยได้รับคืนมา แต่กลับล้มเหลว นอกจากทำไม่ได้ตามสัญญาแล้ว รัฐบาลยังทำให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 188,774 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 บาทจากปี 2554 และว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลถังแตก เพราะความล้มเหลวในโครงการรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลใช้งบบานปลาย จาก 30,000 ล้านเป็น 90,000 ล้านบาท
      
       ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมผลงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ก่อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาบริหารประเทศ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีนัก เมื่อเข้ามาบริหาร จึงเน้นนโยบายด้านการต่างประเทศด้วยการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ แต่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหาว่า นายกฯ เดินทางไปเยอะและไม่ประสบผลสำเร็จอะไร นายสุรพงษ์ ยังเย้ยด้วยว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศ 2 ปี 8 เดือน ไปเยือนต่างประเทศแค่ 20 ประเทศ ขณะที่มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยแค่ 8 คนเท่านั้น แต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนถึง 22 คน เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีที่ต่างชาติและสังคมโลกให้การยอมรับนั่นเอง
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ สวนกลับนายสุรพงษ์ว่า เหตุที่ตนตัดสินใจไม่ไปเยือนหลายประเทศ เพราะเห็นว่าปัญหาในประเทศหนักกว่า ส่วนที่นายสุรพงษ์อ้างว่า มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยน้อยในสมัยรัฐบาลตนนั้น เป็นการกล่าวหาที่ใช้ไม่ได้ เพราะหลังจากเสื้อแดงบุกที่ประชุมอาเซียนที่พัทยา ทำให้รัฐบาลตนลำบากใจเพราะไม่รู้ว่าหากเชิญผู้นำต่างประเทศมา แล้วจะเจอปัญหาอะไรบ้าง
      
       ขณะที่นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงการทำงานในสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีการลงมติกฎหมายสำคัญในสภา 55 ครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเซ็นชื่อแค่ 9 ครั้ง โดยไม่ยอมร่วมลงมติเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่บอกว่ามีอะไรให้มาพูดกันในสภา แต่นายกฯ กลับไม่ให้ความร่วมมือกับที่ประชุมสภา
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการแถลงและการอภิปรายผลงานรัฐบาลดำเนินมาถึงช่วงบ่ายวันที่สอง(25 ก.ย.) ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ยุติการถ่ายทอดสด โดยเปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดสดภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไปเป็นประธานพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจดีเด่น ที่ศูนย์ประชุมไบเทคแทน ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เพราะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จึงเสนอให้ประธานสั่งพักการประชุมจนกว่าช่อง 11 จะสามารถถ่ายทอดการประชุมได้ ทั้งนี้ บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม จึงขออภัยและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นได้มีการอภิปรายต่อ กระทั่งหมดจำนวนผู้อภิปรายในช่วงเย็น เป็นอันเสร็จสิ้นการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล
      
 

6581
 1. สภาฯ เสียงข้างมากผ่านวาระ 3 ร่าง กม.กู้เงิน 2 ล้านล้านแล้ว เตรียมชงเข้าที่ประชุมวุฒิฯ ด้าน ปชป.เล็งยื่นศาลตีความขัด รธน.หรือไม่!

       เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ได้มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 18 มาตรา โดยวันแรกอภิปรายและลงมติผ่านได้ 2 มาตรา คือ มาตรา 1 ว่าด้วยชื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เสนอให้เรียกชื่อ พ.ร.บ.นี้แตกต่างกันไป เช่น นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก เสนอให้ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินสองล้านล้านบาทเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศโดยสร้างภาระหนี้เพิ่มห้าสิบปี” แต่สุดท้าย ที่ประชุมลงมติยืนยันตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนด ด้วยคะแนน 288 ต่อ 122 เสียง สำหรับมาตรา 2 ว่าด้วยวันบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากยืนยันตามกรรมาธิการเสียงข้างมากให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ด้วยคะแนน 292 ต่อ 111 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 3 ว่าด้วยนิยามของคำว่า “ยุทธศาสตร์ แผนงาน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ” นั้น อภิปรายไม่จบ จึงพิจารณาต่อในวันที่ 20 ก.ย. ทั้งนี้ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง และว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ก็ได้ระบุว่า การออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ออกกฎหมายกู้เงินมโหฬารขนาดนี้ ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ยืนยันว่าไม่มีประเด็นไหนขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ด้วยคะแนน 282 ต่อ 98 เสียง
       
       จากนั้นได้พิจารณามาตรา 4 ต่อ ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายโดยเสนอให้เพิ่มนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ด้วย เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ อีกทั้งนายกฯ มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจพิจารณาโครงการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยและมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการด้วยคะแนน 289 ต่อ 103 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 5 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท และให้ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 นั้น นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ที่รัฐบาลอ้างว่า หากใช้งบประมาณปกติ จะมีผลกระทบต่อโครงการ ตนขอถามว่าการใช้งบประมาณปกติจะทำให้โครงการไม่ต่อเนื่องอย่างไร ที่ผ่านมาโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ล่าช้า ปัญหาก็ไม่ได้มาจากเงินงบประมาณ แต่เป็นปัญหาการจัดการของฝ่ายบริหาร นายกรณ์ ยังชี้ด้วยว่า การลงทุนตาม พ.ร.บ.กู้เงินนี้ หลายโครงการจะทำให้ประเทศขาดทุนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น รถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง เชื่อว่าจะขาดทุนถึงปีละ 1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 เส้นทางเพิ่มเติมใน กทม.จะขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ต้องนำเงินภาษีคนทั้งประเทศมาชดเชยการขาดทุน
       
       ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า รัฐบาลมองประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงคือการสร้างเศรษฐกิจ สร้างเมือง และสร้างรายได้ คล้ายๆ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนสร้างถนนไป 6 แสนล้านบาท ไม่ได้คืนแม้แต่บาทเดียว เพราะไม่ได้เก็บเงินคนใช้ถนน แต่สิ่งที่ได้คือความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญของบ้านเมือง ซึ่งต่อมา ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 5 ด้วยคะแนน 288 ต่อ 115 เสียง
       
       จากนั้นได้พิจารณามาตรา 6 ต่อ โดยนายกรณ์อภิปรายไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลอ้างว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านไม่ได้ส่งเข้าคลังจึงไม่ถือว่าเป็นเงินแผ่นดิน พร้อมชี้ ถ้ารัฐบาลเดินหน้ากู้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เสี่ยงแน่นอน ถ้ายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาเช่นไร ดังนั้นรัฐบาลควรลดความเสี่ยงด้วยการนำเงินกู้เข้าสู่คลัง และนำเงินออกมามาใช้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ้างว่า ในชั้น กมธ.เคยสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว บอกว่าไม่ต้องนำเงินส่งคลังก็ดำเนินการได้ จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติ ซึ่งเสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 6 ด้วยคะแนน 288 ต่อ 99 เสียง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรา 7-19 อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมี ส.ส.อภิปรายไม่มาก มาตราละ 1-2 คน ขณะที่บางมาตราไม่มีผู้อภิปราย ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายมาตรา 14 ว่า เมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบการกู้เงินแล้ว ควรนำเสนอสภาและวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง เพื่ออนุมัติโครงการและวงเงินกู้ที่เหมาะสม เพื่อจะได้ดูว่าที่ไปจ้างที่ปรึกษา 3 หมื่นล้านบาท สมควรหรือไม่ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลต้องการเลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีผล เพราะในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 288 ต่อ 105 เสียง
       
       ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 20 ว่า ภายในปีงบประมาณ 2560 ให้ ครม.จัดทำงบประมาณประจำปีเป็นงบประมาณแบบสมดุล หากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ห้ามกู้เงินหรือจัดสรรเงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 21 ว่า หากโครงการใดผลการศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน ให้ยกเลิกโครงการนั้นทันที เพื่อลดภาระหนี้ให้กับรัฐ นอกจากนี้นายจุติ ยังสงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 22 ด้วยว่า โครงการที่ได้รับความเสียหายจากการละเว้น โดยไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามสายบังคับบัญชามีความรับผิดทางแพ่ง อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการแปรญัตติเพิ่มดังกล่าว ก่อนมีการลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินในวาระ 3 ด้วยคะแนน 287 ต่อ 105 เสียง
       
       สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาอีก 3 วาระ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จะมีการส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร หากสภาฯ เห็นด้วยกับวุฒิสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งสัญญาณแล้วว่า จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังผ่านวาระ 3 แล้ว
       
       2. ป.ป.ช. ชี้ “วิเชษฐ์” ถือหุ้นเกิน 5% เตรียมชง กกต. ส่งศาล รธน.ชี้ขาด หลุด รมต.หรือไม่ ด้าน “สรวงศ์” ลุ้นต่อ รอหลักฐานเพิ่ม!

       เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องการถือครองหุ้นเกิน 5% ของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ภริยานายวิเชษฐ์ถือหุ้นบริษัทเอกชนเกิน 5% ของทุนจดทะเบียนจริง และไม่มีการแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับจากวันเข้ารับตำแหน่ง ถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจพิจารณาว่า นายวิเชษฐ์จะหมดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสิน ดังนั้น ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส.ส.และ ส.ว. รวมถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติของนายวิเชษฐ์ต่อไป โดยคาดว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะสามารถส่งเรื่องไปยัง กกต.และนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีข่าวว่าถือหุ้นเกิน 5% เช่นกันนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้หาหลักฐานเพิ่มเติม
       
       ด้านนายวิเชษฐ์ ได้กล่าวก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.จะมีมติดังกล่าวโดยยืนยันว่า ตนไม่มีเจตนาจะปกปิดข้อมูล และได้ทำเรื่องให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์หุ้นดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเรียบร้อยแล้ว “หลังจากมีข่าวว่า ภรรยาผมถือครองหุ้นธุรกิจเกิน 5% ของทุนจดทะเบียน และไม่ได้แจ้ง ป.ป.ช. ผมก็ได้ไปตรวจสอบข้อมูลดูอีกครั้ง และพบว่า กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือการแจ้งข้อมูลให้ ป.ป.ช.รับทราบภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน และการโอนหุ้นไปให้บริษัทจัดการหุ้นดูแลภายใน 90 วัน ซึ่งแม้จะพ้นขั้นตอนกรอบระยะเวลา 30 วันไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วันอยู่ และ ล่าสุดผมก็ได้ดำเนินการโอนหุ้นให้บริษัทจัดการหุ้นเรียบร้อยแล้ว”
       
       3. รัฐบาล ดีเดย์จ่ายเงินช่วยปัจจัยผลิตชาวสวนยาง 2,520 บ./ไร่ รอบแรก 450 คน 24 ก.ย.นี้ ที่ อ.ชะอวด!

       ความคืบหน้าหลังคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่ชาวสวนยาง จากเดิมไร่ละ 1,260 บาท สำหรับผู้ที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ เพิ่มเป็นไร่ละ 2,520 บาท สำหรับชาวสวนยางที่เปิดกรีดไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมยืนยันว่าการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามราคาที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราตั้งไว้ที่ 90 บาท/กก. ส่วนผู้ที่เปิดกรีดยางมากกว่า 25 ไร่ จะเหมาจ่ายที่ 63,000 บาทต่อราย ซึ่งในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยาง มีทั้งกลุ่มที่พอใจและไม่พอใจ โดยกลุ่มที่พอใจได้เรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนไปลงนามกับเกษตรกรที่ จ.นครศรีธรรมราชในวันที่ 13 ก.ย.นั้น
       
       ปรากฏว่า รัฐบาลได้ส่ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบเกษตรกรที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ก่อนลงนามร่วมกัน ซึ่งเกษตรกรบางส่วนพอใจจึงยุติการเคลื่อนไหว แต่บางส่วนไม่พอใจ จึงยังคงชุมนุมต่อไป เช่น ที่บริเวณบ้านเตาปูน อ.จุฬาภรณ์ และแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช แต่ภายหลังผู้ชุมนุมที่บ้านเตาปูนได้ย้ายไปชุมนุมรวมกับที่แยกควนหนองหงษ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลส่งคนที่มีอำนาจลงไปเจรจา ไม่ใช่ส่งใครก็ได้ลงไป โดยเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ราคายางต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท 2.ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 6 บาท 3.รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลด้วยความจริงใจ หากไม่สนใจ จะยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทันที
       
       ด้านตำรวจในพื้นที่ได้ระดมกำลังกองร้อยปราบจลาจล 650 นาย เข้าปฏิบัติการปิดล้อมยึดคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์เมื่อวันที่ 16 ก.ย. โดยเลือกช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมเหลืออยู่น้อย ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องยอมเปิดทาง อย่างไรก็ตาม ภายหลังผู้ชุมนุมได้ยึดพื้นที่คืน ส่งผลให้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการยิงหนังสติ๊กและขว้างปาก้อนหินเข้าใส่ จนมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกเผา 8 คัน ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด
       
       ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อ้างว่า รัฐบาลได้พูดคุยกับตัวแทนชาวสวนยางทั้งหมดแล้ว และพยายามช่วยอย่างเต็มที่ “ถ้าเราไปช่วยเหลือในต้นน้ำมาก ปลายน้ำหรือผู้บริโภคก็จะซื้อในราคาที่แพงขึ้น ตรงนี้เราต้องช่วยกันรักษาสมดุล” ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยืนยันการช่วยเหลือที่ไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งเทียบได้กับ กก.ละ 90 บาท จะไม่มีการปรับเพิ่มตามที่มีการเรียกร้อง
       
       ด้านนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์ เพื่อปรามไม่ให้มีการชุมนุม โดยได้ขยายเวลาการบังคับกฎหมายใช้ดังกล่าววันต่อวัน
       
       ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามโยงว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุมเพื่อหวังล้มรัฐบาล ร้อนถึง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมาโต้กลับว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่ควรใส่ร้ายผู้ชุมนุม เพื่อเบี่ยงเบนความล้มเหลวในการแก้ปัญหา ด้านนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาส่งสัญญาณขอพึ่งบารมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ให้ช่วยเจรจากับผู้ชุมนุม โดยบอกว่า ตนจะเป็นตัวแทนรัฐบาลไปขอพบและพูดคุยกับนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจแนวคิดของนายวิสาร ส่งผลให้ภายหลัง นายวิสารต้องไปหารือกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามรัฐบาล ด้าน ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมช่วยเหลือ โดยลงไปเยี่ยมและพูดคุยกับผู้ชุมนุมแล้ว และผู้ชุมนุมพร้อมจะตั้งตัวแทนขึ้นมาเจรจากับรัฐบาล
       
       ขณะที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้าจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว หลังเปิดให้ลงทะเบียนทั่วประเทศ โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจาก 70 จังหวัดยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนแล้ว 4 แสนกว่าครัวเรือน จากทั้งหมดกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน
       
       ด้าน พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลสามารถจ่ายเงินค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทเข้าระบบให้เกษตรกรชุดแรกได้ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ จำนวน 450 ราย ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ส่วนเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่เขตป่าสงวนและเขตอุทยานฯ ที่ติดปัญหาเรื่องเอสารสิทธิยังให้ไม่ได้
       
       ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า วันที่ 25 ก.ย.จะเริ่มจ่ายค่าปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรใน จ.นราธิวาส 500 ครัวเรือน วันที่ 26 ก.ย. จ.ปัตตานี ,สงขลา ,พัทลุง จังหวัดละ 500 ครัวเรือน วันที่ 27 ก.ย. จ.กระบี่ ,ยะลา ,ชุมพร ,ระนอง ,สตูล ,ภูเก็ต และพังงา จังหวัดละ 500 ครัวเรือน ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่เป็นคนกรีดยาง จะช่วยเหลือเยียวยาหรือไม่ นายยุคล บอกว่า ต้องแยกคนกรีดยางกับเกษตรกรออกจากกัน โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก
       
       4. โปรดเกล้าฯ โยกย้ายนายทหารแล้ว “นิพัทธ์” ปลัด กห.- “ณรงค์” ผบ.ทร. - “อุดมเดช” รอง ผบ.ทบ. จ่อ ผบ.ทบ.ปีหน้า!

       เมื่อวันที่ 15 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2556 จำนวน 861 นาย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2556 โดยตำแหน่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ตท.14 รองปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีข่าวว่าเป็นไปตามแรงผลักดันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ตท.13 ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่ออยู่ในคลิปเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุยกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อกหักไม่ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ โดยย้ายข้ามไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ตท.13 รองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ
       
       ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ พล.ต.พันลึก สุวรรณทัต ตท.21 นายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี น้องชาย พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็น พล.ท. ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่ พล.ต.พิษณุ พุทธวงศ์ ตท.19 ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เป็น พล.ท. ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
       
       ด้าน พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ ตท.12 ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ ย้ายข้ามไปเป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพไทย ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ตท.13 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ถูกย้ายไปเป็นเสนาธิการทหาร
       
       ในส่วนของ 5 เสือ ทบ.ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ตท.14 เสนาธิการทหารบก ได้ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่เกษียณอายุราชการ โดยจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในปีหน้าหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกษียณอายุราชการ ขณะที่ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ตท.13 ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นแคนดิเดตปลัดกระทรวงกลาโหมก่อนหน้านี้ อกหักได้เป็นแค่ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
       
       ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลป์ยะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และ ผอ.สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอยู่ในไลน์ท้าชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.ในปีหน้าเช่นกัน ขณะที่ พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ตท.15 แม่ทัพภาค 1 ได้ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ,พล.ท.ธีรชัย นาควานิช ตท.14 รอง เสธ.ทบ.ได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 , พล.ต.ชาญชัย ภู่ทอง ตท.15 รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ส่วน พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ตท.20 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ร.2 รอ.) ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. คุมกำลัง 1 ในค่ายทหารที่สำคัญในการปฏิวัติรัฐประหาร
       
       5. ปปง. มีมติยึดทรัพย์ “อดีตเณรคำ” 24 ล้าน-สหกรณ์ยูเนี่ยน 227 ล้าน พร้อมชงอัยการตามยึดทรัพย์คดีบีบีซีนับหมื่นล้าน ด้าน “เสี่ยอู๊ด” โดนด้วย 23 ล้าน!

       เมื่อวันที่ 19 ก.ย. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) แถลงว่า คณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง.ที่มีนายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาผลตรวจสอบคดีสำคัญ 7 คดี โดยมีมติให้สรุปสำนวนอายัดทรัพย์สินของนายวิรพล สุขผล หรืออดีตพระเณรคำและบุคคลใกล้ชิด ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 31 รายการ มูลค่ากว่า 24 ล้านบาท โดยเป็นไปตามมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากอดีตพระเณรคำและบุคคลใกล้ชิดไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์ได้บางส่วน นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรมยังมีมติให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของอดีตพระเณรคำและบุคคลใกล้ชิด 14 รายการ มูลค่ากว่า 4 แสนบาท ทั้งนี้ ในการชี้แจงที่มาทรัพย์สิน อดีตพระเณรคำได้ส่งตัวแทนเข้ามาชี้แจงแทน
       
       นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรม ยังมีมติให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับพวก 87 รายการ และให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม 37 รายการ มูลค่ากว่า 227 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง.ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายเป็นรายคดี โดยร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ นำทรัพย์สินที่อายัดไว้ไปจำหน่ายหรือบริหาร เพื่อนำรายได้กลับคืนสหกรณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้มากที่สุด ซึ่งมีทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการ 306 รายการ มูลค่ากว่า 633 ล้านบาท
       
       ส่วนกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานครนั้น คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของนายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ว่าได้มาจากไหน อย่างไร ชี้แจงได้หรือไม่ นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรมยังมีมติรับทราบกรณีที่เลขาธิการ ปปง.ใช้อำนาจตามมาตรา 48 สั่งอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารของบริษัท ดิจิตอล คราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ DCHL กว่า 74 ล้านบาท ฐานฉ้อโกงประชาชน และมีมติให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
       
       ส่วนอีก 3 คดีนั้น คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์คดีอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ(บีบีซี) ที่อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัท ซิตี้เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น เป็นที่ดิน นส.3 ที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 61 แปลง มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามยึดทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมมูลค่าประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท
       
       นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรมยังมีมติให้อายัดทรัพย์คดีฉ้อโกงประชาชนในการจัดสร้างและให้เช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัว ที่ดำเนินการโดยนายสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด โดยให้อายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร 4 บัญชี มูลค่า 23 ล้านบาท ไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันเพื่อดำเนินการตามกฎหมายตามมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน
       
       6. ทัพลูกยางสาวทีมชาติไทย โชว์ฟอร์มเยี่ยมคว่ำทีมชาติญี่ปุ่น 3 เซตรวด คว้าแชมป์เอเชีย 2013 ได้สำเร็จ!

       เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ได้มีการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013 ที่ชาติชายฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ จังหวัดนครราชสีมา โดยทัพลูกยางสาวทีมชาติไทย ได้สร้างชื่อกระหึ่มอีกครั้งหลังโชว์ฟอร์มสุดยอดคว่ำทีมชาติญี่ปุ่น 3 เซตรวด 25-22, 25-18 และ 25-17 คว้าแชมป์เอเชีย 2013 ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 2 ต่อจากปี 2009 โดยก่อนหน้า 1 วัน ได้โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมมาแล้วด้วยการเอาชนะจีน 3-2 เซต
       
        ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลให้ “กัปตันกิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ ได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์มาครอง ขณะที่ นุศรา ต้อมคำ ได้รับรางวัลมือเซตยอดเยี่ยม ด้านวิลาวัณย์ เผยถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “ดีใจมาก เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่สามารถเล่นกับญี่ปุ่นได้ขนาดนี้ ซึ่งรางวัลนี้ต้องขอยกความสำเร็จให้กับเพื่อนร่วมทีมและสต๊าฟโค้ชทุกคน เพราะหากไม่มีคนเซต เราก็ตบไม่ได้ และหากไม่มีคนบล็อก เราก็ไม่สามารถที่จะรับลูกได้”
       
       ขณะที่ "โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร หัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้แสดงความชื่นชมลูกทีมทุกคน “วันนี้ต้องขอชื่นชมลูกทีมทุกคนที่เล่นได้ตามการบ้านที่วางไว้ ไม่เคยคิดว่าจะเล่นได้เป๊ะขนาดนี้ ซึ่งแชมป์ครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจกว่าเมื่อปี 2009 เพราะคู่แข่งทุกทีมนั้นแข็งแกร่งมาก แต่ทุกคนก็กัดฟันสู้ได้แม้จะมีหลายคนที่มีอาการบาดเจ็บไม่ฟิต รวมถึงต้องขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่านและต้นสังกัดของผมและนักกีฬาด้วยเช่นกัน”
       
       ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีรับรางวัล ทัพ “ลูกยางสาวไทย” ได้เดินแก้บนตามที่ วรรณา บัวแก้ว ขอไว้ โดยเดินจากสนามแข่งขันไปถึงลานย่าโม รวมระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร สำหรับโปรแกรมต่อไปของ “นักตบสาวไทย” จะลงสู้ศึกรายการ ไอวีบีเวิลด์ แกรนด์ แชมเปียนส์ คัพ 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน พ.ย. ต่อด้วย ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่ประเทศพม่า ในเดือน ธ.ค.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 กันยายน 2556

6582
1. ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “ประชา มาลีนนท์” 12 ปี “พล.ต.ต.อธิลักษณ์” 10 ปี คดีทุจริตรถดับเพลิง ขณะที่ “โภคิน-วัฒนา-อภิรักษ์” รอด!

       เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ,บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากบริษัทดังกล่าวอยู่ที่ประเทศออสเตรีย) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687,489,000 บาท
       
       ทั้งนี้ ศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายประชา จำเลยที่ 2 และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โดย พล.ต.ต.อธิลักษณ์ มีพฤติกรรมลุกลี้ลุกลนเร่งรีบเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ ซึ่งเป็นการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินจริงไม่สมเหตุสมผล โดยไม่เคยสืบราคาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายใด และไม่ได้มีการต่อรองราคาอย่างจริงจัง “(ศาล)เห็นว่า จำเลยที่ 4 ผิดวิสัยข้าราชการ มีการต่อรองราคาโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติ โดยมีพิรุธและเอื้อประโยชน์ต่อจำเลยที่ 5 (บริษัท สไตเออร์ฯ) โดยมิชอบ” จึงพิพากษาจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา
       
       ขณะที่นายประชา จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่า เมื่อนายประชาถูก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ขอให้ช่วยเหลือผลักดันโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ หากนายประชาไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ซื้อสินค้า ก็คงไม่เดินทางไปดูงานที่ประเทศออสเตรีย โดยเฉพาะผู้แทนบริษัท สไตเออร์ฯ มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาลหลายหน เมื่อมาเบิกความก็ให้การกลับไปกลับมา จึงเป็นสิ่งที่ส่อพิรุธมากขึ้น อีกทั้งเมื่อนายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 มีหนังสือให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนโครงการ นายประชา ซึ่งรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น กลับเร่งให้เปิดแอลซีทันที จนนำไปสู่การซื้อสินค้าไม่เหมาะสม เอื้อประโยชน์ให้บริษัท สไตเออร์ฯ จำเลยที่ 5 สะท้อนพฤติการณ์ว่า นายประชามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ตั้งแต่แรก จึงพิพากษาจำคุกนายประชาเป็นเวลา 12 ปี ไม่รอลงอาญา
       
       ส่วนนายโภคิน จำเลยที่ 1 ,นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และนายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 นั้น ศาลยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า นายโภคินเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังจากมีการเสนอโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงแล้ว และไม่ได้เป็นผู้อนุมัติโครงการแต่อย่างใด ขณะที่นายวัฒนา ศาลเห็นว่า ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการทำข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน หลังจากมีการลงนามจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงจากบริษัท สไตเออร์ฯ โดยบริษัท สไตเออร์ฯ ได้จ้างบริษัท ซีพีเอ็มฯ มาซื้อขายไก่ต้มสุกที่ส่งออกแทน ซึ่งแม้จะมีการอ้างว่า บริษัท ซีพีเอ็มฯ เป็นเครือญาติกับนายวัฒนา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายวัฒนามีส่วนรู้เห็นด้วย ส่วนนายอภิรักษ์ อดีตผู้ว่าฯ กทม.นั้น ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ กทม.หรือทุจริตแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับบุคคลทั้งสอง เพื่อติดตามตัวมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 09.30น. พร้อมปรับนายประกัน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายประชาได้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.โดยเที่ยวบิน TG750
       
       สำหรับนายประชาเป็นนักการเมืองคนที่ 4 ของประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก โดยคนแรกคือนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี คดีทุจริตยา ปัจจุบันพ้นโทษแล้วและบวชเป็นพระ คนที่สอง นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และคนที่สาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ
       
       2. “สนธิ-จำลอง” เมินร่วมวงปฏิรูป ซัดรัฐเป็นผู้ก่อความขัดแย้ง ต้องแก้ที่ตัวเอง ด้าน “บรรหาร” ไม่กล้ารับปากจะไม่ช่วย “ทักษิณ” พ้นโทษ!

       เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานคณะปฏิรูป 3 ด้าน ตามแผนสภาปฏิรูปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาพบและหารือกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ โดยนายบรรหารเดินทางมาพร้อมกับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งการหารือครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วย
       
       ทั้งนี้ นายบรรหาร บอกกับนายสนธิและ พล.ต.จำลองว่า ตนมาในฐานะผู้ประสานงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งตนอายุ 82 แล้ว คงอยู่อีกไม่กี่ปี ก็อยากจะทำประโยชน์ให้ลูกหลานบ้าง พร้อมเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โทรมาหาตนเองว่าอยากจะปฏิรูปบ้านเมืองให้ทุกฝ่ายมาเปิดใจคุยกันไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และขอให้ตนเป็นผู้ประสานงานเพราะรู้จักคนมาก
       
       ด้าน พล.ต.จำลอง บอกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง มาจากการกระทำของพรรครัฐบาล และว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งสภาปฏิรูปอะไร เพราะสามารถแก้ได้โดยตัวของรัฐบาล เพราะฉะนั้นนายกฯ ควรแก้ปัญหาที่ต้นตอ อะไรที่ทำอยู่ก็เลิกซะ ไม่ต้องเดือดร้อนนายบรรหารด้วย
       
       ขณะที่นายสนธิ บอกว่า ขอถามนายบรรหาร 4-5 ข้อว่า นายบรรหารคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ควรกลับมาติดคุกหรือไม่ และถ้าจะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องนิรโทษฯ ให้นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วยหรือไม่ ทำไมนักการเมืองและข้าราชการต้องบินไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ และกลับมาพร้อมตำแหน่ง ตนจึงไม่เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง การแสดงออกของรัฐบาลไม่ได้แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา เช่นการต่ออายุราชการให้กับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็เพราะนายธาริตสามารถเล่นงานฝ่ายตรงข้ามกลับได้ “ถ้าเขาคิดจะใช้พี่บรรหารเป็นเครื่องมือในเกมนี้ ถ้าเป็นแบบนั้น ผมขอไม่เล่นด้วย และอยากถามพี่ด้วยว่า พี่คิดว่าตัวเองก็คือต้นตอของปัญหาด้วยหรือไม่ ...ผมไม่เคยคิดว่าทักษิณจะปฏิรูปการเมือง เขาก็แค่ต้องการลดอุณหภูมิทางการเมืองลงมาเท่านั้น งั้นต้องถามว่า พี่จะไปเป็นตัวประกอบของเขาอีกนานไหม นี่คือคำพูดที่มาจากใจ พี่ต้องไม่โกรธผม”
       
       นายสนธิ ยังบอกด้วยว่า อยากให้นายบรรหารทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ลือลั่นก่อนตาย เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือของทักษิณ อยากให้นายบรรหารแสดงจุดยืนให้ชัดเจนเพื่อพิสูจน์ว่าสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อชาติ เพื่อประชาชน
       
       ด้านนายบรรหาร ชี้แจงโดยยืนยันว่า ตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร และว่า ตอนนี้แค่เริ่มต้น ส่วนตอนจบจะเป็นอย่างไรต้องรอดูต่อไป พร้อมอ้างว่า ตนไม่ได้แก้ตัวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่บางอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้เชื่อพี่ชาย และว่า ปัจจุบันความเป็นธรรมในสังคมไม่มี ตนถูกแบน พรรคถูกยุบทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด มัน 2 มาตรฐานหรือไม่ นายบรรหาร ยังพูดเหมือนปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า เหตุที่ทักษิณไม่กลับประเทศ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมให้ทักษิณนั้น นายบรรหารเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ พร้อมยืนยัน กฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่มีการแปรญัตติเพื่อช่วยทักษิณ เมื่อนายสนธิ ถามว่า ถ้าสุดท้ายแล้วสภาฯ จะนิรโทษกรรมหรือพยายามทำอะไรให้ทักษิณ นายบรรหารจะไม่เอาด้วยใช่หรือไม่ ด้านนายบรรหารถึงกับทำหน้าเหวอก่อนบอกว่า ไม่ขอตอบ พร้อมอ้างว่า คำถามนี้ตอบยาก ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
       
       ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายบรรหารได้มอบปากกาที่ทำขึ้นในวันเกิดตัวเองให้นายสนธิและ พล.ต.จำลองด้วย จากนั้นนายบรรหาร ได้เดินทางไปพบ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอคำแนะนำและนำไปเสนอในเวทีสภาปฏิรูป โดย นพ.ประเวศ บอกว่า ตนสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง พร้อมชี้ ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างอำนาจ ถ้าจะปฏิรูป ต้องลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก โอกาสนี้ นพ.ประเวศได้เสนอให้ปฏิรูปประเทศโดยใช้รูปแบบ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วย 1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีนายกฯ เป็นประธาน และประกอบด้วยบุคคลที่มาประชุมเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
       
       2.เครือข่ายปฏิรูปประเทศ อาจเป็นกลุ่มเครือข่ายตามพื้นที่ กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยให้ทุกฝ่ายเป็นอิสระ ต่างคนต่างทำไม่ต้องขึ้นกับใคร แต่ตัวร่วมที่จะทำให้มาเจอกันคือประเทศไทย 3.สภาปฏิรูปประเทศหรือสมัชชาปฏิรูปประเทศ คือการประชุมของทุกภาคส่วนในการปฏิรูปประเทศ เพื่อพิจารณาและรับรองเป็นมติในประเด็นนโยบายต่างๆ จากนั้นส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีนายกฯ เป็นประธาน จะทำให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติง่ายขึ้น เพราะผ่านการสังเคราะห์จากทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม จนเกิดเป็นฉันทามติ
       
       นพ.ประเวศ บอกด้วยว่า ตนขออยู่ในส่วนที่ 2 คือเครือข่ายปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าส่วนที่ 1 เชิญให้ร่วมประชุม ก็ยินดี ด้านนายบรรหาร แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ พร้อมเผยว่า หลังจากเข้าพบนายสนธิแล้วรู้สึกหนักใจ เพราะลูกระเบิดลงหลายลูก แต่เมื่อเดินทางมาพบ นพ.ประเวศ ทำให้รู้สึกเบาใจขึ้นบ้าง และยืนยันอีกครั้งว่า ตนไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล
       
       3. ร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ผ่านฉลุยวาระ 2 เตรียมลงมติวาระสาม 27 ก.ย.นี้ ด้าน ปชป. จ่อชงศาลฯ วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่!

       เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ซึ่งค้างอยู่ที่มาตรา 7 เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ซึ่งกำหนดไว้ 6 ปี ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายเสนอให้ ส.ว.มีวาระแค่ 4 ปี ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุวุ่นวายในช่วงค่ำ เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอปิดอภิปราย โดยอ้างว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายนอกประเด็น จึงเกิดการประท้วงกันไปมาระหว่าง ส.ส.ของทั้งสองพรรค ในที่สุด นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ให้ลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายต่อ ด้วยคะแนน 336 ต่อ 11 เสียง จากนั้นจึงลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 7 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบ 334 ต่อ 3 เสียง
       
       วันต่อมา(10 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 8 ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อตำแหน่ง ส.ว.ว่างลง ซึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ยังคงติดใจกรณีที่เสียงข้างมากชอบเสนอปิดอภิปราย ขณะที่นายนิคมและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็วินิจฉัยเรื่องการปิดอภิปรายแตกต่างกัน พรรคประชาธิปัตย์ยังชี้ด้วยว่า เสียงข้างมากฉ้อฉล ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ โต้กลับว่า ฝ่ายค้านเตะถ่วง ตั้งใจจะคว่ำรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายนิคม ได้เปิดใจด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ทุกครั้งที่ผมขึ้นมา(ทำหน้าที่ประธาน) ถูกประท้วง ผมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านบอกว่าผมผิด ยื่นถอดถอนผม แม้ยื่นถอดถอนผม ก็ไม่เป็นไร แต่อย่ากล่าวหากัน”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการอภิปรายดำเนินมาถึงช่วงบ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปรายอีก โดยอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายวกไปวนมา ด้านนายสมศักดิ์ไกล่เกลี่ยขอให้อภิปรายอีก 3 คน จากนั้นได้มีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 8 ด้วยคะแนน 362 ต่อ 115 เสียง ก่อนพิจารณามาตรา 9 ต่อ ว่าด้วยการห้ามจับกุมคุมขังหรือออกหมายเรียกกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปสอบ ระหว่างที่มี พ.ร.ฏ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำผิด ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 9 ด้วยคะแนน 358 ต่อ 96 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้ ส.ว.สรรหายังคงมีสมาชิกภาพและสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คนใช้บังคับ และหลังจาก ส.ว.สรรหาหมดวาระลง ไม่ต้องสรรหา ส.ว.อีกนั้น ได้มีการพิจารณาต่อในวันที่ 11 ก.ย. โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ขอแปรญัตติให้ตัดมาตรา 10 ออกทั้งมาตรา เนื่องจากเนื้อหาขัดกับหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง เพราะตามหลักการระบุว่า สมควรกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ในมาตรา 10 ยังคงให้ ส.ว.สรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อ และว่า หากกรรมาธิการจะแก้ให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องแก้ให้สุดซอย อย่าปล่อยให้ ส.ว.สรรหาที่เหลืออยู่ 73 คนกลายเป็นติ่งในวุฒิสภาต่อไป
       
       ทั้งนี้ นายสมชายประกาศด้วยว่า หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วเสร็จ ตนจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้แน่นอน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปรายอีก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงถามนายสมศักดิ์ว่า นายสมศักดิ์เคยวินิจฉัยให้สิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย วันนี้จะกลับคำอย่างนั้นหรือ? ด้านนายสมศักดิ์ได้ให้ลงมติ ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการปิดอภิปราย จึงมีการลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 10 หรือไม่ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบ 348 ต่อ 22 เสียง
       
       จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา 11 ต่อ ซึ่งกำหนดให้ กกต.เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่อรัฐสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้รัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้ภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาฯ นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป ทั้งนี้ หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอปิดอภิปราย แต่ ส.ว.บางคนเสนอให้เปิดอภิปรายต่อ จึงมีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงข้างมาก 335 ต่อ 12 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปราย จึงลงมติว่าจะเห็นชอบมาตรา 11 หรือไม่ ปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นชอบ 329 ต่อ 1 เสียง
       
       หลังจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 12 ต่อ ซึ่งกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.สรรหาเท่าที่เหลืออยู่ยังคงสมาชิกภาพต่อไปจนกว่าจะครบวาระ แต่ ส.ว.สรรหาจะปฏิบัติหน้าที่ถอดถอนบุคคลใดออกตามรัฐธรรมนูญมิได้จนกว่า ส.ว.จากการเลือกตั้งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบให้ ส.ว.สรรหาสิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่ ส.ว.เลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ ด้วยคะแนน 333 ต่อ 1 เสียง
       
       ส่วนมาตรา 13 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ซึ่งเป็นการกำหนดวาระเริ่มแรกของวุฒิสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหาเท่าที่เหลืออยู่นั้น นายสมศักดิ์ได้ใช้อำนาจประธานที่ประชุมขอความเห็นชอบจากที่ประชุมให้ตัดมาตรานี้ทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมาตรา 12 ได้ยกเลิก ส.ว.สรรหาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรานี้อีก ซึ่งแม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นด้วย แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมเสียงข้างมากก็ลงมติเห็นด้วยให้ตัดมาตรา 13 ทิ้ง ด้วยคะแนน 340 ต่อ 4 เสียง
       
       สำหรับขั้นตอนหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ต้องเว้นช่วง 15 วัน จึงจะมีการลงมติในวาระ 3 ได้ ซึ่งค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะมีการประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ในวันที่ 27 ก.ย. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพรรคเห็นว่าไม่ได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น 1.ประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ 2.มีการเพิ่มเติมเนื้อหาจากการพิจารณาในวาระ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามีภรรยา และบุตร สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะได้
       
       4. ครม. เพิ่มปัจจัยผลิตช่วยสวนยางเป็น 2,520 บ. ไม่เกิน 25 ไร่ ด้านภาคีสวนยาง 16 จว.ใต้รับได้ งดชุมนุมใหญ่ พร้อมจี้ รบ.ลงนาม!

       ความคืบหน้าหลัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเจรจากับแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ก่อนเปิดแถลงว่า ได้ข้อยุติร่วมกับชาวสวนยางแล้วว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือที่ กก.ละ 90 บาท แต่ปรากฏว่า แกนนำชาวสวนยางได้ออกมาแฉว่ารัฐบาลชิงแถลงทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน สะท้อนว่ารัฐบาลไม่จริงใจ เพราะชาวสวนยางขอให้พบกันครึ่งทางที่ กก.ละ 95 บาท ดังนั้นชาวสวนยางจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ก.ย. โดยเฉพาะที่ จ.สงขลามีการประกาศว่าจะปิดด่านสะเดา หากรัฐบาลไม่สนองข้อเรียกร้องภายใน 7 วันนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) นัดพิเศษ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวสวนยาง จากเดิมที่กำหนดว่าจะช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท สำหรับผู้ที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ เพิ่มเป็นไร่ละ 2,520 บาท สำหรับชาวสวนยางที่เปิดกรีดไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่ง กนย.ชี้แจงว่า การเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว เท่ากับว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือชาวสวนยางที่ กก.ละ 90 บาทแล้ว เพราะคำนวณจากราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ตลาดกลางหาดใหญ่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ราคา 78 บาทต่อ กก. เมื่อบวกกับจำนวนที่ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 12 บาทต่อ กก. ก็เทียบได้กับ 2,520 บาทต่อไร่ เท่ากับว่าเป็นไปตามราคาที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราตั้งไว้ที่ 90 บาท/กก. ส่วนผู้ที่เปิดกรีดยางมากกว่า 25 ไร่ จะเหมาจ่ายที่ 63,000 บาทต่อราย
       
       ทั้งนี้ กนย. ได้เสนอรูปแบบการช่วยเหลือชาวสวนยางดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติงบช่วยเหลือโดยนำมาจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินวงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับเงื่อนไขการช่วยเหลือ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิทำกินในพื้นที่นั้น
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กนย.และ ครม.มีมติช่วยเหลือด้วยการเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว ส่งผลให้ชาวสวนยางมีทั้งพอใจและไม่พอใจ โดยกลุ่มที่ไม่พอใจ ได้แก่ ชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีนายมนูญ อุปลา เป็นแกนนำ ได้มีการนำโลงศพ 3 ใบมาเผาบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเวียงสระ ประกอบด้วย โลงศพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ,โลงศพนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และโลงศพนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมชี้ว่า รัฐบาลกลับคำ บอกจะช่วยเหลือชาวสวนยางที่ กก.ละ 90 บาท กลับเปลี่ยนเป็นการช่วยปัจจัยการผลิตแทน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง คนกรีดยางไม่ได้ประโยชน์
       
       ส่วนกลุ่มที่พอใจ ได้แก่ กลุ่มสวนยางบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่มีนายเอียด เส้งเอียด เป็นผู้ประสานงาน โดยบอกว่า รับได้กับการเพิ่มปัจจัยการผลิตดังกล่าว ดังนั้นทางกลุ่มจะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 14 ก.ย.
       
        ขณะที่กลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่มีนายอำนวย ยุติธรรม เป็นประธานภาคีเครือข่าย ได้ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อการช่วยเหลือของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ก.ย. โดยได้ข้อสรุปว่า จะเรียกร้องไปยังรัฐบาล 5 ข้อ 1.ภาคีเครือข่ายฯ มีมติรับหลักการตามที่รัฐบาลเสนอเพิ่มปัจจัยการผลิตเป็น 2,520 บาท/ไร่ หรือเฉลี่ย 12 บาท/กก. และขยายจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ โดยรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค. 2.ให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินชดเชยส่วนต่างราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ กก.ละ 6 บาท 3.รัฐบาลต้องไม่เอาผิดและไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุม 4.รัฐบาลต้องเยียวยาและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน 5.ให้นายกฯ หรือตัวแทนมาร่วมลงนามกับตัวแทนเครือข่ายภายในวันที่ 13 ก.ย. ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
       
       ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลจะส่ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรฯ ที่ จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ย. โดยจะไม่มีการลงนามแต่อย่างใด เพียงแต่ไปรับหนังสือจากกลุ่มภาคีเครือข่ายฯ เท่านั้น สำหรับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือภายในวันที่ 15 ต.ค.นั้น พล.ต.อ.ประชา อ้างว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ น่าจะพูดคุยกันได้
       
       ส่วนในด้านคดี พล.ต.อ.ประชา บอกว่า ใครทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรืออาญา ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน โดยจะมีฝ่ายคดีขึ้นมาดูความเรียบร้อย ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ว่า มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมชาวสวนยางทั้งหมด 11 คดี จาก 5 พื้นที่ชุมนุม ได้แก่ สภ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 2 คดี มีผู้ต้องหา 3 คน ออกหมายเรียกแล้ว ,สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มี 6 คดี ผู้ต้องหา 26 คน กำลังขออนุมัติหมายจับอีก 1 คน ,จุดแยกนาบอน จ.นครศรีธรรมราช มี 1 คดี ผู้ต้องหา 6 คน ,จุดชุมนุมท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มี 1 คดี ผู้ต้องหา 9 คน และ จ.กระบี่ 1 คดี ผู้ต้องหา 7 คน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 กันยายน 2556

6583
 1. “นิคม” ปิดปากอภิปรายแก้ รธน.มาตรา 5 “สภาผัวเมีย” รวบรัดลงมติ ด้าน “ปชป.” ซัด เลว-ระยำ-บัดซบ พร้อมยื่นถอดถอน!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ซึ่งค้างอยู่ที่มาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขโดยเปิดช่องให้บุพการี สามีภรรยา และบุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ รวมทั้งให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี ก็ลงสมัคร ส.ว.ได้เช่นกัน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็น “สภาผัวเมีย” ทำงานเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถแทรกแซงวุฒิสภาในการตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2540
       
       ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมวันดังกล่าว ภาคเช้าเป็นไปด้วยความวุ่นวาย หลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอที่ประชุมให้เปลี่ยนวาระการประชุมเป็นการพิจารณาปัญหาของชาวสวนยาง แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่อนุญาต ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประท้วงเป็นระยะๆ นายสมศักดิ์จึงเรียกตำรวจรัฐสภากว่า 20 นายเข้าคุมตัวนายวัชระออกจากห้องประชุม แต่นายวัชระขัดขืน จึงมีการฉุดกระชากกัน กระทั่งนายวัชระล้มลง ส่งผลให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ รีบเข้าไปช่วยนายวัชระ แต่ก็มีการยื้อยุดกัน เมื่อเหตุการณ์ชุลมุนมากขึ้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนจึงเข้าไปช่วยนำตัวนายวัชระออกจากวงล้อมตำรวจ สุดท้ายนายสมศักดิ์ ยอมให้ที่ประชุมหารือเรื่องความเดือดร้อนของม็อบยางเป็นเวลา 30 นาที
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าจะมีการพิจารณามาตรา 5 มีข่าวว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากอาจมีการทบทวนประเด็นที่ให้บุพการี สามีภรรยา และบุตรของ ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ เนื่องจากมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยเชื่อว่ากรรมาธิการเสียงข้างมากจะยอมทบทวนมาตรา 5 จริง ซึ่งก็เป็นดังที่พรรคประชาธิปัตย์คาด เพราะเอาเข้าจริง กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ยืนยันไม่มีการทบทวน
       
       ไม่เท่านั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากยังชิงปิดการอภิปรายมาตรา 5 ด้วย หลังนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติขอปิดอภิปราย โดยอ้างว่า อภิปรายกันมาพอแล้ว ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยจึงลุกขึ้นคัดค้าน เพราะมีผู้ที่จะอภิปราย 57 คน แต่เพิ่งอภิปรายไปได้แค่ 7 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยว่าไม่สามารถเสนอญัตติปิดการอภิปรายได้ แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เดินหน้าให้ลงมติท่ามกลางการตะโกนประท้วงของฝ่ายค้าน ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 316 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง จากนั้นนายนิคมรีบสั่งปิดประชุมทันที
       
       ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวสร้างความสับสนเป็นอย่างมาก เพราะสื่อบางสำนักรายงานว่านั่นคือการลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แล้ว ขณะที่สื่อบางสำนักรายงานว่า นั่นเป็นเพียงการลงมติว่าเห็นด้วยกับการปิดอภิปรายหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่การลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แต่อย่างใด ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันเช่นกันว่า การลงมติดังกล่าวเป็นลงมติเกี่ยวกับการปิดอภิปราย แต่ทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาล รวมทั้งนายนิคม ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า นั่นเป็นการลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แล้ว
       
       ต่อมา เมื่อมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณามาตรา 6 ในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นมาตราที่มีการแก้ไขโดยเปิดช่องให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งได้หลายสมัยติดต่อกัน ไม่ต้องเว้นวรรคดังที่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุ ปรากฏว่า ช่วงแรก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอหารือกรณีนายนิคมรวบรัดให้มีการปิดอภิปรายเมื่อคืนวันที่ 4 ก.ย. พร้อมขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา พิจารณาว่าการปิดอภิปรายสามารถทำได้หรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์เคยวินิจฉัยไว้ว่าทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิการอภิปราย ด้านนายสมศักดิ์อ้างว่า เมื่อนายนิคมวินิจฉัยไปแล้ว ก็ถือว่าจบไปแล้ว ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิด ผิดถูกมีช่องทางอื่น นายสมศักดิ์ ยังถือโอกาสพูดเปิดใจด้วยทำนองว่า ตนทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณตามที่ถูกกล่าวหา
       
       ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเข้าชื่อยื่นถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่งฐานปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งปกติการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต้องยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่ครั้งนี้ได้มีการยื่นผ่าน นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 โดย นพ.อนันต์ บอกว่า จะตรวจสอบคำร้องว่าถูกต้องหรือไม่ภายใน 15 วัน ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.สืบสวนต่อไป
       
       นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ออกแถลงการณ์ประณามการทำหน้าที่ของนายนิคม 3 ข้อ 1.มีพฤติกรรมเร่งรีบรวบรัดตัดตอนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ 2.มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่เร่งรีบรวบรัด เพราะหากรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ทันก่อนเดือน มี.ค.2557 จะทำให้ ส.ว.ชุดนี้ รวมทั้งนายนิคม ลงสมัครรับเลือกได้อีกครั้ง และ 3.มีพฤติกรรมในการรับใช้ฝ่ายบริหาร ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงการทำหน้าที่ของนายนิคมว่า นายนิคมสมควรได้รับคำประณามจากสังคมด้วยคำ 3 คำ คือ เลว ระยำ บัดซบ เพราะเป็นตัวอย่าง ส.ว.เลือกตั้งที่เลวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ประเทศจะได้ ส.ว.เลือกตั้งไม่ต่างจากนายนิคม
       
       เป็นที่น่าสังกตว่า ในการประชุมพิจารณามาตรา 6 ได้มีการชิงปิดอภิปรายซ้ำรอยมาตรา 5 อีก โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติปิดอภิปราย ท่ามกลางความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลุกขึ้นประท้วงอย่างหนัก ขณะที่นายนิคมพยายามไกล่เกลี่ยให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยถอนญัตติปิดอภิปราย เพราะกลัวจะถูกถอดถอนอีก แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งมี ส.ว.เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ จึงได้มีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปราย 314 ต่อ 7 เสียง จากนั้นจึงได้มีการลงมติมาตรา 6 ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ 314 ต่อ 3 เสียง พร้อมนัดประชุมพิจารณามาตรา 7 ต่อในวันที่ 7 ก.ย.
       
       ทั้งนี้ การประชุมในวันที่ 7 ก.ย. ไม่สามารถพิจารณามาตรา 7 ได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงต้องสั่งปิดประชุม และนัดประชุมใหม่ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 14.00น.
       
       2. รัฐบาล จัดฉาก อ้างม็อบยางพอใจ กก.ละ 90 ด้านแกนนำม็อบ ลั่น ต้อง 95 นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง 14 ก.ย.!

       ความคืบหน้าการชุมนุมของชาวสวนยางพาราภาคใต้ที่ปิดถนนบริเวณสี่แยกควรหนองหงษ์ และแยกบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งปิดเส้นทางรถไฟ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ 120 บาท/กก. เศษยาง 60 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน 7 บาท/กก. หากไม่สนองตอบข้อเรียกร้อง จะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยัน ให้ 120 บาทไม่ได้ แต่จะช่วยสนับสนุนค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางน้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งผู้ชุมนุมไม่พอใจการช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว
       
       ปรากฏว่า เมื่อถึงวันยกระดับการชุมนุม ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในหลายจุดหลายจังหวัดภาคใต้ เช่น ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ,จ.กระบี่ ,จ.ตรัง ,จ.ชุมพร ,จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ร้อนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ก่อนส่ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปเจรจาที่ จ.สุราษฏร์ธานี หากไม่คืบหน้า ให้ชวนแกนนำผู้ชุมนุมขึ้นมาหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ กทม.
       
       แต่ปรากฏว่า การเจรจาทั้งที่สุราษฎร์ธานีและที่ กทม. ไม่สามารถตกลงกันได้ แม้ฝ่ายเกษตรกรจะยอมลดข้อเรียกร้องลง โดยเสนอทางเลือกให้รัฐบาล 2 ทาง คือ 1.ให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างจากราคาตลาดให้เป็น กก.ละ 100 บาท โดยโอนผ่านบัญชีที่รัฐบาลมีอยู่ หรือ 2.ให้รัฐบาลประกันราคายางในราคา กก.ละ 100 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่เกษตรกรเคยเสนอที่ กก.ละ 120 บาท แต่นายกิตติรัตน์ก็รับไม่ได้ การเจรจาจึงล้มเหลว
       
       จากนั้นผู้ชุมนุมที่สงขลาได้ออกแถลงการณ์ หากรัฐบาลไม่เหลียวแล จะยกระดับด้วยการปิดตลาดกลางยางพารา โดยจะให้เวลา 10 วันก่อนยกระดับการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการปิดถนนเพชรเกษมฝั่งขาขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลจึงใช้โล่ดันเพื่อให้ผู้ชุมนุมเปิดทาง กระทั่งเกิดการปะทะกัน จนมีผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมด้วย แต่ภายหลังตำรวจอ้างว่าไม่ได้ใช้ พร้อมกันนี้ ตำรวจยังได้จับกุมแกนนำผู้ชุมนุม 12 คน(ชาย 8 หญิง 4)ไปคุมตัวไว้ที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า ต.ห้วยทราย จ.ประจวบคีรีขันธ์
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของชาวสวนยาง ก่อนมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหายางพารา โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยืนยันด้วยว่า “รัฐบาลดูแลเกษตรกรทุกประเภทโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ เรียนว่าการดูแลชาวนาที่ปลูกข้าว จะไม่เหมือนกับเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะการปลูกข้าวนั้น 1 ปี ปลูก 1 ครั้ง ซึ่งต้องมีการลงทุนสูง แต่การดูแลการปลูกยาง รัฐดูแลตั้งแต่ต้นมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่รูปแบบการดูแลไม่เหมือนกัน”
       
       ด้านนิตยสารไทม์รายงานว่า การประท้วงของเกษตรกรชาวสวนยาง สะท้อนข้อกล่าวหาต่อนโยบายประชานิยมภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างชาติระบุว่า รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมที่รัฐบาลให้การรับประกันราคาข้าวของประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นฐานเสียง แต่กลับละเลยเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งอยู่ในพื้นที่ซึ่งรู้กันว่าส่วนใหญ่เป็นพวกเสื้อเหลือง
       
       ทั้งนี้ หลัง พล.ต.อ.ประชา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเจรจากับแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนเกษตรกรร่วมหารือกว่า 30 คน โดยฝ่ายเกษตรกรยืนยันขอให้รัฐบาลช่วยที่ กก.ละ 100 บาท แต่ฝ่าย พล.ต.อ.ประชา เสนอที่ กก.ละ 90 บาท ภายหลังฝ่ายเกษตรกรจึงขอให้พบกันครึ่งทางที่ กก.ละ 95 บาท แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ พล.ต.อ.ประชา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนราคายางที่ กก.ละ 90 บาท และจะดำเนินการให้มีผลภายใน 10 วัน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า จ.สงขลา ได้ตะโกนแทรกขึ้นมาว่า รัฐบาลสรุปแบบนี้ไม่ได้ แกนนำส่วนใหญ่ยอมให้ที่ กก.ละ 95 บาทแล้ว รัฐบาลไม่ยอมอีก ชิงสรุปปิดประชุม รับไม่ได้ เครือข่ายแต่ละจังหวัดจะเคลื่อนไหวแน่นอน จ.สงขลาจะปิดประเทศ โดยเฉพาะด่านสะเดา หรือที่ส่งสินค้าออกนอกประเทศ จะให้เวลารัฐบาล 7 วัน เหตุการณ์จะเลวร้ายกว่านี้
       
       ด้านนายอำนวย ยุติธรรม แกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรในกลุ่มประมาณ 15 คน ได้เปิดแถลงข่าวยืนยันว่า การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว เพราะรัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา “พวกเราจะชี้แจงให้เกษตรกรที่ไม่เห็นด้วย ให้ไปร่วมชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เวลา 14.00น. ณ หน้าที่ว่าการอำเภอทุกที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ ส่วนราคายางก็ขอกลับไปที่เดิมที่ กก.ละ 100 บาท และคนที่จะต้องมาเจรจาครั้งต่อไปต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น”
       
       3. ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อยื่นศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 ขัด รธน. เหตุหั่นงบ “ศาล-องค์กรอิสระ” ยับ!

       เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พร้อมด้วย ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 114 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา โดยยื่นผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มาตรา 27 สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครอง และมาตรา 28 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปดและวรรคเก้า ที่ระบุว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
       
       ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ชี้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอของบประมาณจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท แต่ ครม.ปรับลดกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอแปรญัตติเพิ่มในชั้นกรรมาธิการในวงเงิน 4.1 พันล้านบาท แต่กรรมาธิการกลับไม่เชิญสำนักงานศาลฯ มาร่วมหารือ ขณะที่ศาลปกครองเสนอของบ 2.9 พันล้านบาท แต่ ครม.ปรับลดกว่า 890 ล้านบาท คงเหลือ 2 พันล้านบาท โดยศาลปกครองได้ขอแปรญัตติเพิ่มในชั้นกรรมาธิการ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.ที่เสนอของบ 2.3 พันล้านบาท แต่ถูกปรับลด ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริหารองค์กร
       
       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา บอกว่า ปกติแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ถ้าประธานรัฐสภารีบส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฯ ก็คงพิจารณาโดยเร็ว ไม่น่าจะเกิดความล่าช้า แต่จะทำให้เกิดการตรวจสอบตามหลักนิติธรรม และหากศาลฯ เห็นพ้องตามคำร้องของสมาชิกรัฐสภา จะไม่ส่งผลถึงขนาดทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทั้งฉบับต้องตกไป แต่ต้องแก้ไขมาตรา 27 และ 28 ให้ถูกต้อง
       
       ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า เมื่อมีคนไปร้องศาลฯ ก็ไม่สามารถนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เพราะต้องรอความเห็นของศาลฯ ก่อน อย่างไรก็ตามนายวราเทพ ยืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเมื่อหลายปีก่อนเคยเกิดกรณีลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งแม้จะทำให้ไม่สามารถนำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 มาใช้ได้ทันกำหนด แต่สามารถนำร่างเดิมมาใช้ได้ แม้จะกระทบต่อการดำเนินนโยบายบางเรื่องก็ตาม
       
       4. อัยการ สั่งฟ้อง “บอล” กับพวก ฐานปล้นฆ่า “เอกยุทธ” 8 ข้อหาหนัก โทษถึงขั้นประหารฯ เมิน ข้อสงสัยจ้างวานฆ่า บอก ไม่อยู่ในสำนวน!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ได้แถลงความคืบหน้าคดีฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกคนตามความเห็นของพนักงานสอบสวน โดยสั่งฟ้องนายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง ,นายสุทธิพงษ์ หรือเบิ้ม พิมพิสาร ,นายชวลิต หรือเชาว์ วุ่นชุม และนายทิวากร หรือทิว เกื้อทอง ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิด 8 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ 3.ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด และให้ทำเอกสารสิทธิ์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและมีอาวุธฯ
       
       4.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 5.ร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย 6.ร่วมกันนำอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผลสมควร 7.ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้อื่นมีและใช้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 8.ร่วมกันนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมืองฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแห่งพฤติการณ์ และไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 ,289(4) (7) ,309 ,310 ,340 ,340ตรี ,371 ,83 ,91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2556 มาตรา 4 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พ.ย.2541 ข้อ 14 ,15 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 ,8ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ต.ค. พ.ศ.2519 ข้อ 3 ,6 ,7 และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 1,941,970 บาทแก่ผู้เสียหาย
       
       นอกจากนี้อัยการยังได้สั่งฟ้อง จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง และนางจิตอำไพ เพ็งด้วง บิดามารดานายสันติภาพ จำเลยที่ 5-6 ด้วย ฐานร่วมกันรับของโจร(ที่ได้จากการทำความผิดปล้นทรัพย์) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง
       
       ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ย้ำด้วยว่า อัยการได้สั่งฟ้องตามข้อเท็จจริงในสำนวนตามที่พนักงานสอบสวนส่งให้ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และคำรับสารภาพของผู้ต้องหา ประกอบกับพยานแวดล้อมอื่นที่เชื่อมโยงกัน ปรากฏเพียงเท่านี้ ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ส่วนที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความนายเอกยุทธได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้จ้างวานอยู่เบื้องหลังนั้น ไม่มีปรากฏในสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมา ในสำนวนมีแค่ประเด็นปล้นฆ่าชิงทรัพย์เท่านั้น ส่วนหนังสือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสภาพศพว่า ไม่ใช่การประสงค์ต่อทรัพย์ และได้ยื่นถึงนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดก่อนหน้านี้ จากการพิจารณาเห็นว่า เป็นเพียงหลักฐานนอกสำนวน ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคดี แต่ทางอัยการจะส่งหนังสือของ กสม.ให้พนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรเพิ่มเติมเพื่อสั่งฟ้องในคดีอื่นอีกหรือไม่
       
       ส่วนที่นายสันติภาพจะกลับคำให้การในชั้นศาลหรือไม่นั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ บอกว่า เป็นสิทธิที่จำเลยสามารถจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก พร้อมยืนยัน ฮาร์ดดิสก์ที่สูญหายไปนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในคดี และว่า คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนามีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต โดยคดีนี้อัยการเตรียมพยานบุคคลไว้นำสืบจำนวน 70 ปาก
       
       ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายศุภชัย คงประพันธ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนต่อศาลอาญา โดยคำฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำเลยที่ 1-4 ซึ่งมีอาวุธปืนขนาด .38 และมีดไปบริเวณ ซ.ทาวน์อินทาวน์ 21 เขตวังทองหลาง กทม. และร่วมกันปล้นทรัพย์นายเอกยุทธ โดยลักทรัพย์ 9 รายการ อาทิ เงินสด นาฬิกา สร้อยทองคำพร้อมพระเลี่ยมทอง ฯลฯ รวมมูลค่า 6.6 ล้านบาท และจำเลยยังร่วมกันใช้อาวุธจี้บังคับข่มขู่ผู้ตายและใส่กุญแจมือพาขึ้นรถตู้ตระเวนไปที่บ้านพักผู้ตาย 2 แห่งย่านทาวน์อินทาวน์และลาดกระบัง นอกจากนี้ยังทำกล้องวงจรปิดเสียหาย ก่อนที่พวกจำเลยจะบังคับผู้ตายให้ออกเช็คเบิกเงินสด 5 ล้านบาทไปโดยทุจริต จากนั้นใช้กำลังกอดรัดผู้ตาย ด้วยการใช้ท่อนแขน บีบกดบริเวณลำคออย่างรุนแรงและอุดปากอุดจมูก ก่อนใช้เชือกรองเท้ารัดคอผู้ตายจนขาดอากาศหายใจ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า คำฟ้องของอัยการมีจุดที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง กรณีที่ระบุว่า “จำเลยยังร่วมกันใช้อาวุธจี้บังคับข่มขู่ผู้ตายและใส่กุญแจมือพาขึ้นรถตู้ตระเวนไปที่บ้านพักผู้ตาย 2 แห่งย่านทาวน์อินทาวน์และลาดกระบัง” ซึ่งข้อเท็จจริงคือ บ้านนายเอกยุทธอยู่ที่ย่านทาวน์อินทาวน์ ส่วนที่ย่านลาดกระบังนั้น ไม่ใช่บ้านของนายเอกยุทธ แต่เป็นบ้านพี่สาวของนายบอล จำเลยที่ 1
       
       คำฟ้องยังระบุด้วยว่า หลังก่อเหตุ พวกจำเลยได้ร่วมกันนำศพผู้ตายไปฝังที่ไร่นาร้าง จ.พัทลุง เพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ส่วนจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันรับของโจร เป็นเงินสด 4,242,000 บาทของผู้ตายที่ถูกปล้นไป กระทั่งวันที่ 12 มิ.ย. ตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1 ,3 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 จับกุมได้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ขณะที่จำเลยที่ 5-6 เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยได้นำทรัพย์สินของผู้ตายมาคืนจำนวน 4,658,030 บาท และว่า ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1-2 รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จำเลยที่ 3 สารภาพเฉพาะข้อหาเคลื่อนย้ายศพ และร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 4 สารภาพเฉพาะข้อหาเคลื่อนย้ายศพ ส่วนจำเลยที่ 5-6 ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร
       
       ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยที่ 1-4 เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลาง อาทิ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง ,เชือกผูกรองเท้า ,จอบขุดดิน 2 เล่ม และให้จำเลย ร่วมกันคืนหรือชดใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 6 รายการเป็นเงิน 1,941,970 บาท ด้านศาลได้ประทับรับฟ้อง พร้อมนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 5 ก.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด จำเลยได้ขอให้การในวันตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงนัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ต.ค.เวลา 13.30น.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 กันยายน 2556

6584
ทำอย่างไร เมื่อยางระเบิดขณะขับรถ

1. มือทั้งสองต้องจับอยู่ที่พวงมาลัยอย่างมั่นคง

2. ถอนคันเร่งออก

3. ควบคุมสติให้ดีอย่าตกใจมองกระจกหลังเพื่อให้ทราบว่ามีรถใดตามมาบ้าง

4. แตะเบรกอย่างแผ่วเบาและถี่ๆ อย่าแตะแรงเป็นอันขาด เพราะว่า จะทำให้รถหมุน

5. ห้ามเหยียบคลัตช์โดยเด็ดขาดเพราะถ้าเหยียบคลัตช์รถจะไม่เกาะถนนรถจะลอยตัวและจะทำให้บังคับรถได้ยากยิ่งขึ้น อาจเสียหลักเพราะการเหยียบคลัตช์เป็นการตัดแรงบิดของเครื่องยนต์ ให้ขาดจากเพลา

6. ห้ามดึงเบรกมืออย่างเด็ดขาด จะทำให้รถหมุน

7. เมื่อความเร็วรถลดลงพอประมาณแล้วให้ยกเลี้ยวสัญญาณเข้าข้างทางซ้ายมือ

8. เมื่อความเร็วลดลงระดับควบคุมได้ ให้เปลี่ยนเกียร์ต่ำลงและหยุดรถ

ข้อสังเกตเมื่อยางระเบิด คือ ไม่ว่ายางด้านใดจะระเบิดล้อหน้าหรือล้อหลังก็ตาม เมื่อระเบิดด้านซ้าย รถก็จะแฉลบไปด้านซ้ายก่อน แล้วก็จะสะบัดกลับ และสะบัดไปด้านซ้ายอีกที สลับกันไปมา และในทำนอง ตรงกันข้าม หากระเบิดด้านขวาอาการก็จะ กลับเป็นตรงกันข้ามอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นส่วนมากก็คือ หากขณะยางระเบิดรถวิ่งอยู่ที่ความเร็วสูงมากๆ พอยางระเบิด ขึ้นมารถก็จะกลิ้งทันที ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการขับรถที่ใช้ความเร็วสูงๆจึงมักจะแก้ไขอะไรในเรื่องนี้ไม่ได้ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุร้ายแ รงที่จะเกิดขึ้น ในขณะขับรถ จึงไม่ควรขับรถเร็ว ( ความเร็วทีถือว่าปลอดภัยใน DEFENSIVE DRIVING คือ ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง)

http://www.prakanthai.com

หน้า: 1 ... 437 438 [439] 440 441 ... 654