แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 372 373 [374] 375 376 ... 536
5596
มหันตภัยอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขจากระบบ 30บาทรักษาทุกโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือคือ ภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ตามที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ระบบ 30 บาทใช้งบประมาณปลายปิด เมื่อประชาชนเจ็บป่วยมากและมาใช้บริการมากขึ้น ผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็ชี้นำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้แพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นยาใหม่ มีราคาสูง โดยมิได้พิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้ทางวิชาการที่ควรจะต้องใช้ยาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ของการรักษาหรือไม่? แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือ “การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณอันจำกัด”

   ทั้งนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติขึ้นมา เพื่อกำหนดว่า ยาอะไรที่ควรใช้รักษาผู้ป่วยได้ทุกคน โดยเฉพาะในระบบ 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ โดยไม่สามารถบังคับแก่ผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง ผู้ป่วยที่ซื้อประกันเอกชน และผู้ป่วยในสิทธิของสส. สว. รัฐมนตรี และนักการเมือง ที่ได้รับสิทธิจากการจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจากเงินภาษีของประชาชนเช่นเดียวกันกับประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการรับบริการสาธารณสุขในกองทุนอื่นๆ(ยกเว้นกองทุนประกันสังคม)

  ยาในบัญชียาหลักนี้ ส่วนมากเป็นยาที่หมดเวลาของสิทธิบัตรแล้ว และบริษัทยาสามารถผลิตยาที่มีส่วนประกอบของตัวยาตามต้นแบบดั้งเดิมได้ โดยใช้ชื่อ “สามัญ”  ซึ่งการหมดระยะเวลาของการใช้สิทธิบัตรและการผลิตยาสามัญได้จากหลากหลายบริษัท ทำให้ราคายาถูกลง สามารถประหยัดงบประมาณค่ายาได้เป็นอย่างดี

   ผู้เขียนก็เห็นด้วยว่า แพทย์ควรสั่งยาชื่อสามัญนี้ในการรักษาผู้ป่วย ถ้ายาสามัญนี้มีจำนวนมากและครอบคลุมการรักษาโรคทุกชนิด และการผลิตยาสามัญเหล่านี้ได้ถูกตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติเหมือนตัวยาต้นแบบตามหลักการของ GMP (Good Pharmaceutical Practice) ซึ่งจะทำให้หวังผลในการรักษาว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและทุเลาหรือหายจากการเจ็บป่วย

  แต่ยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมเอง ได้รับการยกเว้น(จากกระทรวงสาธารณสุข) ว่าไม่ต้องผ่านการตรวจ ตามระบบ GMP แต่อย่างใด และกระทรวงสาธารณสุขยัง “บังคับ”ให้โรงพยาบาลสั่งซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมอีกด้วย ซึ่งบางทียาจากองค์การเภสัชกรรมก็อาจจะไม่มีตัวยาตามที่บ่งชี้ไว้ตามเอกสารกำกับยาก็เป็นได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบกระบวนการผลิตยาแต่ละชนิด

  อย่างไรก็ตามยาที่ยังมีสิทธิบัตรครอบคลุมอยู่ ทางรัฐบาลไทยก็ได้ไปทำ CL (Compulsory Licensing) มา เพื่อจะมาผลิตยาสามัญสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท แต่องค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยาในประเทศก็ยังไม่มีศักยภาพที่จะผลิตยาสามัญเหล่านี้ได้ จึงต้องไปซื้อมาจากประเทศอินเดีย  ซึ่งไม่แน่ว่าการผลิตยาเหล่านั้นจะผ่านการตรวจสอบตามระบบ GMP หรือไม่ แต่แพทย์ผู้รักษาส่วนหนึ่งก็พบว่ายาสามัญที่ผลิตโดยการทำ CL ที่ซื้อมาจากอินเดียบางอย่าง ไม่มีผลในการรักษาดีเท่ายาต้นแบบ ซึ่งได้มีการติดตามผลการรักษาและทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า (1) อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีได้นำเสนอรายงานการศึกษาผู้ป่วย 300 รายที่ได้รับยาต้านเอดส์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชไว้ว่า 49 % ของผู้ป่วยดื้อต่อยา lamivudine, 39.6 % ดื้อต่อ stavudine และ 58 % ดื้อต่อ nevirapine การดื้อต่อยานี้ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีราคาสูงขึ้นถึง เดือนละหมื่นบาท จากที่ใช้ขององค์การฯ เพียงเดือนละพันบาท ซ้ำร้ายการดื้อต่อยานี้ทำให้เชื้อในผู้ป่วยรายใหม่ดื้อต่อยา ARV ธรรมดาด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยใหม่จำเป็นต้องเริ่มต้นรักษาด้วยยาราคาแพงตั้งแต่แรก และข้อมูลจาการศึกษาของอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตีพิมพ์รายงานการรักษาผู้ป่วยเอดส์ตามโครงการรักษาเอดส์สปสช.พบว่า มี การดื้อยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น จาก 68.5 % ในระหว่างปี 2000-2002 เป็น 74.9 % ในระหว่างปี 2003-2004 การดื้อต่อ NNRTI ระหว่างปี 2003-2004 (59.2 %) สูงกว่าระหว่างปี 2000-2002 (36.9 %) การศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ของการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากยาชุดที่มี NNRTI ซึ่งใช้ในระหว่างปี 2003-2004 จากองค์การเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาชุดผสมที่เรียกว่า GPO-vir ซึ่งระดับการดื้อยาในชุดนี้สูงถึง 40.8-43.8 % เลยทีเดียว
เมื่อยาไม่เหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ผลิตได้ การได้ยาที่มีราคาถูก แต่ใช้ไม่ได้ผล ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายจากโรค ซ้ำยังอาจทำร้ายคนในครอบครัว และคนอื่น ๆ ด้วยจากการที่พวกเขาสามารถติดเชื้อที่ดื้อยาจนไม่สามารถที่จะรักษาได้อีกเลย   

   แต่สปสช.และคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่เคยเอ่ยถึงการรายงานการรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาแล้วมีเชื้อดื้อยาและรักษาไม่หายเหล่านี้เลย
นอกจากคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่รวมรายการยานวัตกรรมใหม่ๆที่มีประสิทธิผลในการรักษาเหล่านี้ เข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยการอ้างว่ายามีราคาแพง ไม่คุ้มค่ากับการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทแล้ว

    สปสช.ยังไม่ยินยอมให้แพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักให้แก่ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท โดยที่ผู้ป่วยยินยอมจ่ายเงินเอง เมื่อสปสช.ตรวจพบว่า แพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักให้ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท เพื่อจะได้รักษาโรคมะเร็ง สปสช.ก็สั่งให้โรงพยาบาลคืนเงินค่ายาให้แก่ผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลไม่อาจจะสั่งยานั้นให้แก่ผู้ป่วย(เนื่องจากโรงพยาบาลก็ไม่มีเงินจ่ายค่ายา)  ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดีกว่า

  ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก ที่สปสช.ไม่มีเงินพอที่จะซื้อยาที่ดีๆให้ผู้ป่วยได้ แต่สปสช.ยังไป “ปิดกั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสม แม้จะยอมจ่ายเงินเองก็ตาม” เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างชัดเจน
  สปสช.ไม่ได้ปิดกั้นสิทธิผู้ป่วยในระบบบัตรทองเท่านั้น แต่สปสช.ยังเสนอข้ามไปยังระบบสวัสดิการข้าราชการ ไม่ให้ใช้ยาเหล่านั้นด้วย 

  คณะกรรมการยาหลักแห่งชาติจึงไม่ยอมนำยาเหล่านี้ เข้าไปในรายชื่อในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ก็ขออนุมัติเป็นพิเศษ ให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักที่มีประสิทธิผลสูงกว่าได้ด้วย ซึ่งมีผลให้ค่ายาของผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้ราชการสูงขึ้นมาก
สวรส.ซึ่งได้ตั้งองค์กรลูกคือสพตร.(สำนักงานตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาล) ซึ่งมีแพทย์เพียงคนเดียว ไปตรวจสอบว่า แพทย์ในโรงพยาบาลไหน มีการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักอย่างไรบ้าง และสพตร.ได้รายงานว่า แพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆสั่งยาให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการสูงถึง 66% 

แทนที่สพตร.จะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ยาในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นมีไม่มากพอที่จะครอบคลุมการรักษาโรคบางอย่างให้ได้ผลดีเหมือนยานอกบัญชียาหลัก สพตร.กลับไปเสนอให้กรมบัญชีกลาง “จัดทำมาตรการในการควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งหมด 9 กลุ่มยา นำไปเสนอให้กรมบัญชีกลางออกระเบียบการห้ามใช้ยาในผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการคือ

1.ยาลดอาการข้อเข่าเสื่อม (glucosamine)
2.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด (antilipidemia)
3.ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน (drug affecting bone metabolism)
4.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร(antiulcerant/variceal bleeding)
5.กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ( NSAIDs/ anti-osteoarthritis)
6. กลุ่มยารักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบคั่งเลือด (ACEI)
7.กลุ่มยาลดความดันโลหิต (ARBS)
8.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเลือด (antiplatelets)
9.กลุ่มยารักษามะเร็ง (anticancers)

 ซึ่งกรมบัญชีกลางก็ประกาศว่าจะงดการจ่ายยาใน 9 กลุ่มนี้แก่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเป็นการ “บอกเลิกสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ข้าราชการ” ว่าเมื่อเป็นข้าราชการแล้ว จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย  แต่เมื่อข้าราชการมารับราชการยอมทำงานเงินเดือนน้อย และทำตามระเบียบวินัยข้าราชการมาตลอดชีวิตราชการ แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วก็จะไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุดตามวิจารณญาณของแพทย์ แต่จะได้รับเพียงยาที่ “มีราคาถูก” และอาจจะไม่มีประสิทธิผลในการรักษาเหมือนเดิม

   และข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เงินเดือนต่ำ ย่อมจะประสบความเดือดร้อนจากโครงการนี้อย่างแน่นอนกล่าวคือจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับยาที่เหมาะสมในการรักษาโรคต่างๆดังกล่าวแล้ว ถือเป็นการละเมิดสิทธิข้าราชการอีกด้วย
 และผู้อ่านก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทและประกันสังคม ก็ย่อมไม่ได้รับยาเหล่านี้ในการรักษาอาการป่วยเช่นกัน

   จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติและผู้บริหารกองทุน 30 บาท เป็นผู้ทำให้เกิดมหันตภัยต่อการใช้ยาที่ทันสมัย มีประสิทธิผลต่อการรักษาดี ในผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุน ให้ได้ยาที่ไม่เหมาะสมต่ออาการป่วยบางโรคเหมือนกันหมด คือเลวเท่าเทียมกัน

 เมื่อมีข่าวว่ากรมบัญชีกลางจะห้ามการจ่ายยาบางชนิดแก่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้มีกลุ่มข้าราชการออกมาคัดค้านคำสั่งของกรมบัญชีกลาง จนทำให้กรมบัญชีกลางยอมถอยก่อน

  แต่สพตร. ไม่หยุดเพียงแค่นี้ กลับส่งลูกไปให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเสนอครม. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งหมด 6 คณะคือ

1.คณะอนุกรรมการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์
2.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
3.คณะอนุกรรมการกำหนดแนวเวชปฏิบัติ ข้อบ่งชี้การใช้ยา การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาล
4.คณะอนุกรรมการตรวจสอบการรักษาพยาบาลและการเบิกจ่าย
5.คณะอนุกรรมการพัฒนายาและรหัสยามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์
6.คณะอนุกรรมการปรับปรุงกลไกการเบิกจ่ายเงินโดยกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม

  นอกจากนั้นยังมอบให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการข้าราชการ
ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ ก็คงมาทำหน้าที่ “บีบให้บริษัทยา “ขายยาในราคาถูกๆ” และก็คงมา “บีบ”แพทย์ ให้แพทย์ สั่งยาในบัญชียาหลักเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อ “ลดภาระงบประมาณในการรักษาสุขภาพประชาชน” เป็นการประหยัดเงิน แต่จะประหยัดชีวิตผู้ป่วยได้หรือไม่? ทั้งนี้ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานทั้งปวง ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข แต่จะมาตัดสินใจบังคับการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ โดยมิได้นึกถึงคุณภาพการรักษาผู้ป่วย คิดแต่จะประหยัดเงินเท่านั้น และยังหวนกลับมาให้ใช้ยาสมุนไพร ซึ่งจะให้แพทย์ที่เรียนมาตามหลักสูตรแพทย์แผนปัจจุบัน กลับมาใช้ยาแผนไทยโบราณ โดยที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยได้

  ขอยกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ที่ได้ผลิตยาสมุนไพรจากขี้เหล็ก เป็นยาเม็ด เพื่อใช้รักษาอาการท้องผูก โลหิตจางและนอนไม่หลับ ปรากฏผลต่อมาว่า ขี้เหล็กเข้มข้นในเม็ดยา ทำให้เป็นผลทำลายตับ เกิดอาการตับวาย ผู้ป่วยเสียชีวิต จึงต้องหยุดใช้ยาเม็ดขี้เหล็ก ทั้งนี้ การผลิตยาสมุนไพรถ้าไม่มีการวิเคราะห์วิจัยและตรวจสอบคุณสมบัติและผลข้างเคียงจากยา ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้ยาได้ ดังกรณียาเม็ดขี้เหล็กนี้

   ฉะนั้น การคิดแต่ที่จะประหยัดเงิน โดย “ควบคุมและจำกัดรายการยา” จึงนับเป็นมหันตภัยอันร้ายแรงต่อระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง และยังทำให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ที่จะไม่ได้เป็น “วิชาชีพอิสระ”อีกต่อไป  เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์ของผู้บริหารกองทุน ทำให้แพทย์ไม่มีโอกาสที่จะได้มีประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆ ทำให้วิชาชีพแพทย์ย่ำเท้าอยู่กับวิธีรักษาแบบเดิมๆ ในขณะที่โลกกว้างทางการแพทย์เขาก้าวไปไกลถึงไหนๆแล้ว   
ตามปกติแล้ว โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ที่ให้การศึกษาฝึกอบรมแก่นักศึกษาเพื่อให้มีความรู้สำเร็จออกมาเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยต่อไปนั้น อาจารย์ที่สอนนักศึกษาควรจะได้มีโอกาสใช้ยาที่ผลิตออกมาตามนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีความรู้และประสบการณ์ว่า ยานี้เมื่อใช้ไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการตอบสนองต่อยาเร็ว/ช้าเพียงใด มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่เคยรายงานหรือไม่ และควรจะใช้ยาตามขนาดที่แนะนำโดยผู้ผลิตยา หรือสามารถลดขนาดให้น้อยลงมาก็ได้ผลดีเหมือนใช้เต็มตามขนาดยาที่แนะนำ ยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ประเทศไทยสามารถทดลองใช้วัคซีนในขนาดน้อยกว่าที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ และได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน เป็นการประหยัดเงินซื้อยาจำนวนมาก โดยใช้ยาเพียงเล็กน้อยแต่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกัน

  ในเมื่อรัฐบาลเห็นชอบกับทางสปสช.ที่จะคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะทำให้โรงพยาบาลของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยหรือของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอที่จะซื้อยาใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ไม่ได้ซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่สอนให้คนเป็นแพทย์ที่มีความรู้ทันสมัย กลับต้องมีปัญหาในด้านวิชาการแพทย์หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เนื่องจากประเทศอื่นๆเขาก้าวนำไปข้างหน้า และวงการแพทย์ไทยจะตามไม่ทันนวัตกรรมใหม่ๆเหล่านั้น (2)

อาจารย์สุธรรมยังได้กล่าวอีกว่า การสอนนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันนั้น ก็เพื่อจะได้ใช้แพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าอาจารย์แพทย์ไม่สามารถสอนนักศึกษาแพทย์ให้มีความรู้ก้าวทันโลกปัจจุบันแล้ว เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า เขาก็จะกลายเป็นแพทย์ที่มีความรู้ล้าหลังไปอีก 20 ปี

ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองเฟื่องฟู มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดหลักทรัพย์ เพราะอะไร? ก็จะขอตอบว่า ประชาชนที่มีความรู้และมีเงินก็คงไม่อยากเสี่ยงชีวิต ไปรับการรักษาในระบบ 30 บาท เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพของยาและการรักษา
ในขณะที่รพ.เอกชนเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากมีระบบ 30 บาท เพราะรพ.เอกชนมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัย สามารถจ่ายค่าตอบแทนแก่แพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในราคาสูง ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ เวชภัณฑ์ทันสมัย แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจจากความรู้ และประสบการณ์ในการตัดสินใจตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องถูกจำกัดเรื่องการสั่งการตรวจ การใช้ยา หรือวิธีการรักษา   

โดยแพทย์จะต้องควบคุมตนเองในเรื่องมาตรฐานการรักษาและจริยธรรมทางการแพทย์  อาจจะมีการควบคุมโดยองค์กรแพทย์หรือคณะกรรมการแพทย์ของโรงพยาบาล ทั้งนี้แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนมีภาระงานน้อย จึงสามารถมีเวลาที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยได้มาก จึงพบว่า การฟ้องร้องแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีน้อยกว่าการฟ้องร้องแพทย์ในโรงพยาบาลราชการ

   ส่วนระบบการบริการที่บริหารจัดการโดยโรงพยาบาลเอกชนนั้น ต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของกองประกอบโรคศิลปะ(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งกำหนดว่าโรงพยาบาลเอกชนจะต้องมีบุคลากรครบครันทุกประเภท เช่น จะต้องมีวิสัญญีแพทย์อยู่ประจำในโรงพยาบาล จึงจะเปิดทำการผ่าตัดได้ ในขณะที่รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่ต้องมีวิสัญญีแพทย์ก็ทำการผ่าตัดได้ โดยให้วิสัญญีพยาบาลทำหน้าที่แทนแพทย์ก็ได้ และงานหลายๆอย่างที่ควรให้แพทย์ทำ ก็ให้พยาบาลทำแทนได้ในรพ.ของทางราชการ

   ฉะนั้น โรงพยาบาลเอกชนจึงมีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทันสมัยครบครัน

 จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรพ.เอกชนจึงเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่รพ.กระทรวงสาธารณสุขถูกจำกัดทั้งงบประมาณ ยา เครื่องมือแพทย์ วิธีการรักษา แม้แต่แพทย์ก็ไม่มีอิสระในการประกอบวิชาชีพ เพื่อรักษาผู้ป่วยของตนตามความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของตน   

  การที่มีข่าวว่าคนไทยกินยามากถึงปีละ 47,000ล้านเม็ด โดยมีผู้ซื้อยากินเองร้อยละ 15  (3) และที่น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดโครงการให้ประชาชนเอายาเก่ามาแลกไข่ พบว่าในเวลาเพียง 2 วัน ได้ยาเก่ามาถึง 8.7 ล้านเม็ด(4)โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบประมาณไว้จังหวัดละ 1 ล้านบาท เท่ากับ 77 ล้านบาท และเผายาเก่า 37 ล้านเม็ดมูลค่า 70 ล้านบาท (5) มียามากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ยาเบาหวาน 7,615,789 เม็ด 2.ยาโรคความดันโลหิตสูง 7,038,068 เม็ด 3.วิตามิน 3,207,215 เม็ด 4.ยาลดไขมันในเลือด 2,901,603เม็ด และ 5.ยารักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 1,521,030 เม็ด ที่เหลือเป็นแคลเซียม ยาปฏิชีวนะ และพาราเซตามอล อย่างละกว่า 1 ล้านเม็ด และยาอื่นๆ อีก 11 ล้านเม็ด

หลังโครงการนี้แล้ว เราก็ไม่ได้หวังนายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเกิดความตระหนักรู้ว่า สาเหตุที่ประชาชนมียาเก็บไว้มากมายโดยไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากประชาชนได้ยามาฟรีๆ โดยตนเองไม่มีต้นทุนอะไร และประชาชนก็ลืมไปว่า เงินที่จ่ายค่ายานั้น ก็คือเงินงบประมาณจากภาษีอากรของประชาชน ที่เอามาซื้อยาไปทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
นายวิทยา บุรณศิริ จะรู้หรือไม่ว่า ควรจะแก้ปัญหาการซื้อยาไปทิ้งโดยไม่ได้ใช้นี้อย่างไร เพื่อประหยัดค่ายาที่ไม่ได้ใช้ แทนที่จะไปประหยัดค่ายาจากการบีบบังคับไม่ให้แพทย์ใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดกับการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้ยารักษาโรคอย่างแท้จริง

  โดยสรุปก็คือมหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการใช้ยาในการักษาความเจ็บป่วย เนื่องจากมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโยไม่คิดเงิน ทำให้ผู้ป่วยเอายาไปทิ้งๆขว้างๆ โดยไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่กรรมการยาก็พยายามบังคับให้แพทย์จ่ายยาเก่าๆเท่านั้น ห้ามใช้ยานวัตกรรมใหม่ ที่มีคุณภาพในการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ดีกว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย และละเมิดสิทธิของแพทย์ที่ไม่สามารถประกอบวิชาชีพอิสระได้ จะทำให้ความรู้ในวิทยาการแพทย์ไทยถอยหลังเข้าคลอง ไม่มียาใหม่ๆเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะในอนาคตเมื่อแพทย์ไม่สามารถสั่งยาเหล่านี้ให้ผู้ป่วยได้บริษัทยาก็คงไม่นำยาเข้ามาในประเทศไทย และผู้ป่วยไทยอาจจะต้องไปสั่งยามารักษาตัวจากต่างประเทศ หรือต้องออกไปรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างประเทศ

พญ.เชิดชู อริญศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
16 ก.ย. 2555


เอกสารอ้างอิง
1. http://thaipublica.org/2011/09/drug-standards/ คำถามเรื่องมาตรฐานยาที่องค์การเภสัชกรรมต้องตอบ
          2. http://thaipublica.org/2012/03/sutham-evaluation10-years-nhso/ นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ เปิดประเด็นร้อน 10 ปีสปสช. รพ.รัฐขาดทุนถ้วนหน้า หมอ-พยาบาลป่วน หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยเอาไม่อยู่
3. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=95500000332คนไทยกินยาปีละ 47,000,000 ล้านเม็ด
   4. http://www.dailynews.co.th/politics/134273   
5. http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000086158

5597
ผู้เขียนได้เขียนถึง มหัตภัยของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคมา 4 ตอนแล้ว คือเริ่มจากภัยต่อประชาชน ภัยต่อบุคลากรสาธารณสุข ภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขและงบประมาณ และภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ

 ในตอนนี้ผู้เขียนจะขอเขียนถึงภัยของระบบ 30 บาทที่มีต่อคุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งมีความหมายที่ครอบคลุมถึงมหันตภัยของระบบ 30 บาทในการที่จะทำให้เกิดการขาดคุณภาพ มาตรฐานในทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือการขาดคุณภาพมาตรฐานของการบริการสาธารณสุข หรือขาดคุณภาพของ การดูแลรักษาสุขภาพ (Quality of healthcare)

   ก่อนอื่นผู้เขียนขอทำความเข้าใจก่อนว่า การดูแลรักษาสุขภาพนั้น ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายว่า มีความหมายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร โดยครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค/ความเจ็บป่วยและการฟื้นฟูสมรรถภาพ

การดูแลรักษาสุขภาพ จึงควรเป็น “ความรับผิดชอบของตนเอง ร่วมกับการไปรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” ซึ่งอาจเป็นบริการสาธารณะหรือไม่ก็ได้

สำหรับระบบ 30บาทนั้น การดูแลสุขภาพของตนเองไม่ถูกบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ มีแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ตลอดมาว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว สปสช.กำหนดขีดจำกัดในการรักษาหรือการให้บริการสาธารณสุขมากมายหลายประการ แต่สปสช.ไม่ได้บอกความจริงให้ประชาชนทราบ ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังสูงในการมารับการบริการ เมื่อไม่ได้อย่างที่คาดหวังก็กล่าวโทษบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การบริการรักษาเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าบุคลากรสาธารณสุขโยเฉพาะอย่างยิ่งคือแพทย์มีข้อจำกัดในการรักษาเนื่องจากการกำหนดกฎเกณฑ์ของสปสช.

 การไม่กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ดูแลรักษาสุขภาพทำให้ประชาชนไม่ตระหนักในความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อีกทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักว่า ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นของตนเอง และกระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมี “ความสามารถ” ที่จะดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นของตนเองและครอบครัวได้

     ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนี้ ประชาชนสามารถ “ทำได้เอง” โดยการมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค/อุบัติเหตุ สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของตนเองและครอบครัวได้ และรู้ว่าเมื่อไรควรจะรีบไปหาหมอเพื่อให้ตรวจรักษาเพราะถ้ามัวแต่รักษาเองจะเป็นอันตราย  และเมื่อไปพบแพทย์แล้ว ก็ควรจะถามแพทย์ให้เข้าใจว่าตนเอง ควรจะปฏิบัติตัวเช่นไร กินยาอย่างไร งดเว้นพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อความเจ็บป่วยอย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้หายป่วยและมีสุขภาพดีดังเดิม พร้อมทั้งรู้ว่าจะฟื้นฟูสมรรถภาพที่สูญเสียไปอย่างไร
แต่งบประมาณที่จัดสรรไปในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคส่วนใหญ่ ถูกจัดสรรไปให้องค์กรนอกเหนือกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาล กล่าวคือไปอยู่ที่สสส.คือกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีงบประมาณมากมาย มากกว่างบประมาณส่งเสริมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนไทยตระหนักว่า จะส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างไร

   ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและอุบัติเหตุ อัตราการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่สวมหมวกกันน็อก เมาแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรยังไม่สามารถลดลงได้อย่างน่าพอใจ อัตราการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ไม่เพิ่มขึ้น

   ประกอบกับรัฐบาลเอง ก็ยังไม่สามารถควบคุมและกำจัดมลภาวะในอากาศ น้ำและอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนล้มป่วยจากสาเหตุของสารพิษในอากาศ น้ำ และอาหาร ได้แก่ มะเร็งต่างๆ ที่มีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากมายตลอดเวลา

 ประกอบกับสปสช.ก็โฆษณาทุกวันว่า รักษาฟรีหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาชนก็เลยไม่สนใจที่จะดูแลรักษาสุขภาพของตน ไม่สร้างสุขภาพ ไม่ป้องกันโรค โดยไม่เลิกพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ ฉะนั้นความเจ็บป่วยก็จะมีมากขึ้น
แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วประชาชนก็ไม่ต้อง “กังวล” เรื่องค่ารักษา รู้สึกว่า “ป่วย”เมื่อไรก็ไปโรงพยาบาล เพราะได้รับการ”รับรอง” ว่ารักษาฟรีทุกโรค ถ้ากินยาไม่หมดยังเอายาที่ได้มาฟรีๆนั้นไปแลกไข่มากินได้อีก

 และถ้าประชาชนไม่พอใจผลการรักษาก็สามารถไปเรียกร้องขอเงินช่วยเหลือได้สูงสุดถึง 400,000 บาท
แต่เมื่อประชาชนป่วยมากขึ้น ไปรับบริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป ภาระงาน “เกินที่จะให้การดูแลรักษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทางการแพทย์”ได้  โดยที่กระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ก็ไม่ได้สะท้อนปัญหาการบริการทางการแพทย์ที่ขาดคุณภาพมาตรฐานให้แก่รัฐบาล ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดคุณภาพมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ ปล่อยให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงต่ออันตรายต่อสุขภาพ และก็พยายามที่จะออกกฎหมายมา”ให้เงินชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย” แล้วเท่านั้น

  ทั้งนี้ การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.นั้น เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะ คือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ซึ่งการบริหารกองทุนนี้จะต้องถูกประเมินโดยกพร.(ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2547) แต่กพร.ก็ไม่เคยทำการประเมินตามหน้าที่ ส่วนสปสช.ก็เอาเงินไปจ้างองค์กรเอกชน(TRIS) ให้มาประเมินผลงานว่า สปสช.บริหารกองทุนดีเด่นทุกปี  น่าจะถือได้ว่ากพร.ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่(ในการประเมินผลงานของสปสช.) และสปสช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ(ในการใช้งบประมาณแผ่นดินไปจ้างองค์กรเอกชนให้มาประเมินผลงานของตน)
การที่ผู้เขียนกล่าวว่า คุณภาพมาตรฐานการบริการทางแพทย์ไม่ดีนั้น ก็ต้องดูว่าเราควรจะประเมินการบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาลอย่างไรจึงจะเหมาะสม

 ในการประเมินผลงานและคุณภาพมาตรฐานการรักษาสุขภาพในระบบการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ควรจะประเมินจากอะไรบ้าง เพื่อจะรู้ว่า ประชาชนจะได้รับการบริการดูแลรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่?
การประเมินคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน ก็ให้ความสำคัญกับ “ความปลอดภัยของผู้ป่วย”เป็น อันดับแรก แต่ถ้าจะประเมินคุณภาพระบบบริการทางการแพทย์แล้ว ก็จะมีการประเมินในหลากหลายมิติ

   ทั้งนี้ถ้าเราไปดูวิธีการประเมินคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ (Healthcare quality) ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพของการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศสมาชิกให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน เพื่อจะได้ให้ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านในสหภาพยุโรป มีความมั่นใจว่า ถ้าเจ็บป่วยในระหว่างเดินทาง ก็จะได้รับการบริการรักษาสุขภาพอย่างมีคุณภาพมาตรฐานเหมือนๆกันในแต่ละประเทศ ซึ่งการประเมินคุณภาพการบริการนั้น ควรประเมินหรือวัดผลการดำเนินงานทั้งสิ้น 3 เรื่องคือ

   1.ทรัพยากรในการทำงาน
   2. กระบวนการทำงาน
   3. ผลการทำงาน
ซึ่งถ้าเราจะนำหลักการประเมินผลงานนี้ มาประเมินคุณภาพมาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในระบบ 30 บาท ก็จะได้ผลการประเมินดังนี้

   1.ทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุข มีความไม่เพียงพอของทรัพยากร  ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่

1.1 ขาดงบประมาณในการจัดซื้อหรือพัฒนาโรงพยาบาลที่จะต้องให้การบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน งบประมาณในการซื้อยาและเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ ละเทคโนโลยีที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย โดยที่สำรักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดสรรงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยเองในบางเรื่องที่อยากทำ(ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.) ได้แก่การจัดทำโครงการพิเศษต่างๆ  ในขณะที่สปสช.จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลที่ต้องรักษาโรคทั่วไปน้อยลง ถือว่าไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน คือเลือกปฏิบัติตาช่อประชาชนและโรงพยาบาล ไม่เหมือนกัน และไม่มีความชอบธรรม ต่อประชาชน คือคนจนหรือไม่จนก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ในขณะที่ประชาชนในกลุ่มประกันสังคมต้องจ่ายเงินในการรักษาตนเอง
 
1.2 ขาดอาคารสถานที่ เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ไม่มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลเพื่อที่จะขยายอาคารสถานที่ จัดหาเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ทำให้เห็นผู้ป่วยต้องนอนตามเตียงเสริมเตียงแทรกหน้าห้องน้ำ หน้าบันได ที่ระเบียงหรือปูเสื่อนอนกันมากมาย ในขณะที่มีการจัดสรรงบประมาณในการบริหารสำนักงานสปสช.จนล้นเหลือ มีอาคารสถานที่กว้างขวางใหญ่โต

1.3 ขาดบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข   ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาและให้บริการประชาชน และไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ทำงานตรวจรักษาประชาชนอย่างเหมาะสมคุ้มค่า ทำให้บุคลากรลาออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง บุคลากรที่อดทนทำงานอยู่จึงต้อง ทำงานหนัก มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาด ในขณะที่อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานของสปสช.ซึ่งทำหน้าที่บริหารการเงิน เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาล กลับมีอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งสูงมาก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข มารับงานที่สปสช. ที่งานสบาย ค่าตอบแทนสูง
ถือว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ประหยัด และไม่เป็นธรรม

   2.กระบวนการทำงาน ในการให้บริการรักษาสุขภาพ โดยการประเมินคุณภาพกระบวนการทำงานในการให้บริการสาธารณสุขนั้น ควรประเมินอย่างไรบ้าง ซึ่งตัวอย่างจากสหภาพยุโรป ได้ประเมินกระบวนการให้บริการสุขภาพดังนี้คือ

1.   Effectiveness (ประสิทธิผล) หมายความว่า การให้บริการด้านสุขภาพหรือการบริการสาธารณสุขนั้น ผลตอบสนองหรือไม่?
2.   Efficiency (ประสิทธิภาพ) หมายความว่า การให้บริการนั้น ได้รับผลการรักษาที่ดี แต่เสียค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการรักษาน้อยที่สุด ไม่ใช่ประหยัดงบประมาณค่ายา แต่ทำให้ผู้ป่วยดื้อยาและรักษาไม่หาย เหมือนที่สปสช.ทำอยู่
3.    Access(การเข้าถึงบริการ) ประชาชนที่ต้องการการบริการนั้นมีความสามารถมาใช้บริการได้หรือไม่ เข่น การส่งผู้ป่วยจากรพ.เล็กไปยังรพ.ที่มีขีดความสามารถสูงนั้นสะดวกรวดเร็ว ทันเหตุการณ์เพื่อช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต หรือล่าช้าจนทำให้ผู้ป่วยตายระหว่างทาง
4.   Safety การบริการนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่? มีการป้องกันความเสี่ยงอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยหรือไม่? ซึ่งได้แก่การให้การรักษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยคนที่ต้องการการรักษานั้น  อย่างรวดเร็วในเวลาที่ควรทำและให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก Doing the right thing (What),to the right patient(to whom), at the right time(when) and doing thing right first time) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระบบ 30 บาท ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับการรักษาที่อาจไม่เหมาะสม เพราะข้อจำกัดเรื่องยาและการกำหนดวิธีรักษา และอาจต้องรอนานจนเกิดอันตราย และอาจไม่ได้รับความปลอดภัย จากข้อจำกัดในการเริ่มให้การรักษาครั้งแรก เช่นในรายรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย โดย CAPD-first ทำให้ผู้ป่วยตายไปถึง 40 %
5.   Equity การบริการนั้นทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องมารับบริการหรือไม่? ในระบบ 30 บาท เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะคนไม่จน มาแย่งใช้ทรัพยากรอันจำกัด ทำให้ระบบเกิดความขาดแคลนมากขึ้น
6.   Appropriateness การบริการนั้นมีความเหมาะสมต่ออาการป่วย หรือเรียกว่า Evidenced-based practice หรือไม่?  หรือต้องทำตามระเบียบและข้อจำกัดของสปสช. เช่น การบังคับให้ผู้ป่วยบัตรทองต้องเริ่มล้างไตทางหน้าท้องเป็นครั้งแรก ถ้าใครไม่ยอมรับการรักษาแบบที่สปสช.กำหนดไว้นี้ ก็ต้องไปจ่ายเงินเอง แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับการบอกเล่าว่า การรักษาเช่นนี้จะ เหมาะสมกับตนเองหรือเหมาะสมกับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายทุกคนหรือไม่? หรือทำให้ผู้ป่วยตายหมดในเวลาที่ยังไม่สมควรตาย?
7.   Acceptability ดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยสบายใจ พึงพอใจ มั่นใจ และเต็มใจมาใช้บริการ
8.   Responsiveness (patient-centeredness) การบริการนั้นได้ตอบสนองโดยตรงต่อความจำเป็นด้านสุขภาพในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนหรือไม่  เช่นผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องครบวงจรหรือไม่
9.   Satisfaction ประชาชนที่มารับบริการมีความพึงพอใจในบริการ และผลการรักษาและสถานะสุขภาพหลังการรักษาดีขึ้นตามที่คาดหวังหรือไม่
10.   Health improvement ผลจากการรับบริการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น
11.   Continuity ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างต่อเนื่องจนหมดความจำเป็นที่จะได้รับบริการหรือไม่?
12.   Availability การบริการมีอยู่ทั่วไปหรือไม่?
13.   Preventive/early detection มีการบริการที่ครอบคลุมไปถึงการป้องกันโรคและตรวจคัดกรองความเจ็บป่วยในกลุ่มเสี่ยงแต่เนิ่นๆหรือไม่
14.   Public/patient information มีการประชาสัมพันธ์ในแง่สุจริต ถูกต้อง ตรงกับความจริงทั้งหมด  โปร่งใส ตรงไปตรงมา (transparency)  และเชื่อถือได้(Accountability)
ซึ่งสปสช.ไม่เคยประเมินตามหลักการนี้แต่อย่างใด เห็นประเมินแต่เพียงว่า การประกันสุขภาพในประเทศไทยมีความครอบคลุมเกือบ 100% โดยรวมเอาการประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการเข้าไปด้วย นอกจากนี้ก็ประเมินแต่ว่าประชาชนได้รับความพึงพอใจมากกว่า 90%

 แต่ผู้เขียนคิดว่า การประเมิน ความพึงพอใจนั้น อาจไม่แสดงถึงความพึงพอใจต่อ “ผลการรักษา” เนื่องจากถ้าประชาชนพึงพอใจผลการรักษาจริง ก็คงไม่มีกรณีฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นทุกปี ประชาชนคงพึงพอใจเพราะไม่ต้องจ่ายเงินตนเองเท่านั้น แต่ไม่พึงพอใจผลการรักษาเพิ่มมากขึ้นทุกปี

   และการฟ้องร้องนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นมาก เพราะประชาชนได้รับความเสียหายหรือประชาชนรู้สึกว่าตนเองไม่มีความปลอดภัยจากการไปรับบริการสาธารณสุขมากขึ้น

   ส่วนสถานะสุขภาพประชาชนไทยนั้น ก็มีการประเมินจากรายงานของนพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์แล้วว่า  การกำหนดงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแบบปลายปิด โดยใช้หลักเกณฑ์เหมาจ่ายรายหัวต่อปี ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีข้อดีคือสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้แต่ประชาชนอาจจะมีความเสี่ยงต่อบริการ ที่ไม่มีคุณภาพ

โดยได้ยกตัวอย่างจากยุโรปและอเมริกา ว่างบประมาณปลายปิดจะเสี่ยงต่อการรักษาที่ล่าช้า ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง/มีความเสี่ยงสูงอาจไม่ได้รับการรักษา และจะไม่ถูกส่งต่อไปหา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (เพราะเกรงว่าจะต้องใช้เงินในการรักษามากเกินงบประมาณ)

โรงพยาบาลต้องคลำกระเป๋าเงินไปด้วย ว่าจะมีเงินพอใช้หรือไม่ในการรักษาผู้ป่วย ในขณะที่คิดหาวิธีจะรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับจำนวนเงินในกระเป๋า

***** นอกจากนี้ นพ.จิรุตม์ ยังได้อ้างถึง ผล การวิเคราะห์ข้อมูล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีพ.ศ. 2547 เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพหือ 30 บาท กับระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่าอัตราตายของผู้ป่วยในแต่ละโรค (adjusted CFR ปรับตามอายุแล้ว) ในระบบบัตรทองสูงสุดเมื่อเทียบกับอีก 2 ระบบ และอัตรตาย (SMR) ของระบบบัตรทองก็สูงสุดเช่นเดียวกัน

  นอกจากนั้น สปสช.ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการป้องกันโรคและไม่ได้ส่งเสริมการตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรคอย่างจริงจัง และไม่ได้ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรค เช่นพอมีข่าวว่าจะให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ก็มีกลุ่มประชาชนกลุ่มสตรีออกมาคัดค้านไม่ให้ดำเนินการเพราะกลัวว่าคนซื้อวัคซีนจะได้รับผลประโยชน์จากบริษัทวัคซีน

3. ผลของการให้บริการสาธารณสุข   ในการวัดผลที่เกิดจากการให้บริการสาธารณสุขในระบบ30 บาทนั้น สปสช.จะวัดเพียงแต่ความครอบคลุม “จำนวน” ประชาชนที่ได้รับบริการเท่านั้น  ไม่ได้วัดว่าประชาชนที่มีสิทธ์ในระบบ 30 บาทนั้น มีสถานะสุขภาพเป็นอย่างไร ผลการรักษาดีหรือไม่ และประชาชนหรือบุคลากรผู้ให้บริการนั้นมีความสุขและความพึงพอใจในระบบ 30 บาทหรือไม่นั่นคือจะต้องวัดสิ่งต่างๆดังนี้

3.1 Population health หมายถึงภาพรวมของสถานะสุขภาพของประชาชน ซึ่งวัดจากอัตราป่วย อัตราตาย ที่ลดลง แต่สำหรับประเทศไทยหลังมีระบบ 30 บาท ทั้งอัตราป่วย อัตราตาย อัตราทารกตายกลับเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นมากว่าผู้ป่วยในระบบอื่นๆดังกล่าวแล้ว

3.2 Clinical outcome หมายถึงผลของการรักษาทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าระบบ 30 บาท ทำให้ประชาชนไม่พอในผลการรักษามากขึ้น มีการกล่าวหาฟ้องร้องบุคลากรมากขึ้น นับว่าระบบ 30บาทก่อความไม่พึงพอใจผลการรักษามากขึ้น

3.3 Meeting expectations of public and workforce หมายถึงว่าระบบการบริการสาธารณสุขนั้น ได้ผลตามความคาดหมายหรือตามความคาดหวังของประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรผู้ให้บริการแก่ประชาชนหรือไม่ ซึ่งสปสช.ไม่เคยรับฟังความเห็นของบุคลากรเลย และไม่เคยรับฟังว่าประชาชนไม่พอใจ สปสช.ก็ไม่รับผิดชอบ โยนให้เป็นความผิดของโรงงพยาบาลและบุคลากร โดยตลอด ไม่หันหน้ามาให้ความร่วมมือกับบุคลากรที่ทำงานให้บริการประชาชน ทำให้ผลการดูแลรักษาประชาชนมีปัญหามาก แต่ประชาชนไม่รับรู้ เพราะความไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมาของสปสช.ที่เป็นมาตลอดเวล 10 ปีที่มีระบบ 30 บาท

   โดยสรุป ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อให้เกิดมหันตภัยต่อคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุข ทำให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถรักษามาตรฐานในการทำงาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพการบริการสาธารณสุขในทุกมิติ และการขาดคุณภาพในการบริการทำให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพประชาชนต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

เอกสารอ้างอิง   
1.   http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2011&group=7&gbl
2.   http://thaipublica.org/2012/03/sutham-evaluation10-years-nhso/

5598
 เราต้องยอมรับว่าเราประหลาดใจเมื่อทราบว่าคู่รักคนดังอย่าง...(ใครก็ได้ เลือกเอาสักคู่) ต้องมีอันเลิกรากันไป หลังจากควงคู่อย่างหวานซึ้ง 6 ปีและหมั้นหมายกันมา 2 ปี ซึ่งทำให้เราอดพิศวงไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ และกลายเป็นว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นของธรรมดามากขึ้นทุกทีในสังคมปัจจุบัน นั่นก็คือ การอยู่ในขั้น “ดูใจ” กันอย่างยาวนานเพื่อให้แน่ใจว่า “คนนี้แหละ ที่ใช่”

   
       คู่หนุ่มสาวยุคนี้ใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อค้นหาให้รู้ว่าตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไร และต้องการอะไรในชีวิตคู่ ผลลัพธ์ก็คือ ไม่มีกฎตายตัวอีกต่อไปแล้วว่านานแค่ไหนถึงจะเรียกว่านานเกินไปสำหรับการดูใจก่อนแต่งงาน
       
       แต่สำหรับทุกคู่ที่พาตัวเข้าสู่ประตูวิวาห์ได้สำเร็จในที่สุด ก็มีหลายคู่ที่เตียงหักหลังจากลงทุนหลายปีก่อนพบกับทางตันของความสัมพันธ์ ซึ่งนำเราไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า “ถ้าการแต่งงานเป็นอะไรที่คุณมองไปในอนาคต แล้วความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนานก่อนแต่ง มันเป็นความคิดที่ดี หรือเป็นการเสียเวลาเปล่ากันแน่?”
       
       ทำไมเราต้องรอ
       
       จากการศึกษาวิจัยเร็วๆนี้พบว่า คนชั้นกลางซึ่งมีการศึกษาดีเป็นส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะ“ทำ” อะไรบางอย่างกับปริญญาราคาแพงของพวกเขาก่อนแต่งงานเป็นธรรมดา ก่อนที่จะขนหัวลุกกับการผ่อนรถผ่อนบ้านและมีลูก อันเป็นความจำเป็นในการลงหลักปักฐานและสร้างครอบครัว ซึ่งสำคัญกว่าประโยชน์สุขส่วนตัวไปแล้ว จึงเห็นได้ว่าคนชั้นกลางแต่งงานช้าลงทุกที
       
       แต่คู่รักจำนวนมากเลือกที่จะย้ายเข้ามาอยู่กินด้วยกันก่อนมีพันธะผูกพัน ดังนั้นพวกเขาก็เสมือนเป็นคู่ผัวตัวเมียกันเรียบร้อยแล้ว
       
       สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้หนุ่มสาวหลายคู่แต่งงานกันในที่สุดก็คือ ความปรารถนาทางประเพณีของสังคมที่พวกเขาไม่อาจสั่นคลอนได้ นั่นก็คือ พวกเขาควรมีการผูกมัดกันอย่างถูกกฎหมายก่อนที่จะมีลูก
       
       ทำความเข้าใจ
       
       ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่รังเกียจแนวคิดในการรอคอยโอกาสอันควรกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเธอคิดว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือร่วมกับเขา แต่คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้แอบมีแนวคิดอย่างอื่นอยู่?
       
       คุณจึงจำเป็นต้องคุยกับเขาในเรื่องนี้

   
       “แม้คุณจะรู้สึกเหมือนคุณไม่พร้อมสำหรับการแต่งงานในนาทีนี้ แต่มันก็สำคัญมากที่อย่างน้อยคุณต้องหารือกับเขาถึงลู่ทางสู่ประตูวิวาห์ภายในช่วงเวลา 18 เดือนของความสัมพันธ์” ดร.บาร์ตัน โกลด์สมิธ ผู้เขียน EMOTIONAL FITNESS FOR INTIMACY (ความเหมาะสมทางอารมณ์สำหรับความใกล้ชิด) กล่าว
       
       “และจากนั้นก็ติดตามสถานการณ์ด้วยการประเมินความสัมพันธ์ทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่าคุณทั้งคู่ยังอยากเห็นงานวิวาห์เกิดขึ้นอยู่”
       
       แฮนนาห์ เซลิกสัน ผู้เขียน A LITTLE BIT MARRIED แนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในฐานะคู่รัก อย่างการย้ายเข้าไปอยู่กินด้วยกันหรือใช้บัญชีเงินฝากร่วมกัน โดยไม่บอกคู่รักของคุณว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับการแต่งงานเสียก่อน
       
       นั่นก็หมายความว่าถ้าเขาไม่ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด คุณก็ต้องเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน ถึงแม้กรอบเวลาของเขาอาจแตกต่างกับของคุณ แต่มันก็เป็นการเปิดใจคุยกัน
       
       “คู่รักจำนวนมากที่มีความสำพันธ์ระยะยาวก่อนแต่งงานแบบนี้ มักไม่สื่อสารความต้องการของกันและกัน และนั่นก็เป็นการพัฒนาปัญหาให้ใหญ่โตขึ้นทุกขณะ” แฮนนาห์กล่าว
       
       ถ้าคุณวิตกว่าเขาอาจไม่เห็นด้วยกับความคิด เรื่องการแต่งงานของคุณละก็ โปรดระลึกไว้ว่า การเลิกราหลังจากควงกันมาหลายปี มันก็รู้สึกเจ็บปวดพอๆ กับการหย่าร้างนั่นแหละ โดยเฉาะอย่างยิ่งถ้าพวกคุณอยู่กินด้วยกัน ยิ่งอยู่กันนานมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเท่านั้น
       
       ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ คุณจงหาให้พบว่าคุณจะยืนอยู่จุดไหนจึงจะมั่นใจที่สุด
       
       มันก็แค่คุยกันอย่างเปิดใจ (เปิดอกด้วยยิ่งดี) อย่าปล่อยให้อะไรต่ออะไรมันเนิ่นนานเกินไป
       
       อ้อ และถ้าคุณอยู่ด้วยกันมานานชั่วกัปชั่วกัลป์แล้ว แต่ยังรอที่จะรู้สึกแน่ใจ 100% ละก็ ขอให้คิดใหม่ “ทุกการแต่งงาน คือ การผูกขาดทางกามอารมณ์ของคนคู่หนึ่ง” ซึ่งมันอาจเป็นข้อดีที่สุดของการแต่งงาน ถ้าคุณเป็นคนที่ชื่นชอบระบบผูกขาด

 คอลัมน์ Sexociety โดย Dr.DEN
ASTVผู้จัดการออนไลน์  14 กันยายน 2555

5599
 1. แกนนำอาร์เคเคนับร้อย เข้าเจรจาแม่ทัพภาค 4 ประกาศยุติต่อสู้ พร้อมยื่น 3 เงื่อนไข ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เชิญทุกฝ่ายถกแก้ไฟใต้ 18 ก.ย.!

       เมื่อวันที่ 11 ก.ย. พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เป็นประธานเปิดโครงการประสานใจเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ได้มีแกนนำและเครือข่ายอาร์เคเคที่ถูกออกหมายจับในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส มาลงทะเบียนขอเข้าร่วมโครงการรวม 93 คน นำโดยนายแวอาลี คอปเตอร์ หรือ “เจ๊ะอาลี” ที่ทางการเคยตั้งรางวัลนำจับ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นแกนนำในการร่วมวางแผนและสั่งการให้แกนนำระดับปฏิบัติการนำกำลังบุกปล้นปืนที่กองพันพัฒนา 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
       
       พล.ท.อุดมชัย พูดถึงแกนนำอาร์เคเคกลุ่มนี้ว่า ถือเป็นผู้กล้าที่เป็นนักรบ ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ พร้อมยืนยันว่า การพูดคุยกับอาร์เคเคครั้งนี้ไม่มีการต่อรองใดใด เป็นการคุยเพื่อนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ มีการทำความเข้าใจกันว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และว่า หลังจากนี้ หากในพื้นที่มีความสงบสุข อาจจะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนผู้ที่ถูกออกหมายจับ ก็จะถูกยกเลิกไปด้วย
       
       ด้านนายมุคตาร์ ซีกะจิ ในนามกลุ่มความร่วมมือเพื่อวิสัยทัศน์ใหม่มาลายูปัตตานี เผยถึงการเข้าเจรจากับแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า เป็นการแสดงเจตจำนงของกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เพราะมีหมายจับ และไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากไม่มั่นใจในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล นายมุคตาร์ ยังพูดถึงความต้องการของกลุ่มด้วยว่า “กลุ่มที่มาพบปะ ขอให้รัฐบาลร่วมกันคิดเพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ประสงค์ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับ หมายเรียก หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ รวมถึงความมั่นใจในการที่จะดูแลความปลอดภัยให้”
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า แกนนำอาร์เคเคที่เข้ามาเจรจา มีการยื่นเงื่อนไขต่อรัฐ 3 ข้อ คือ 1.รัฐมีมาตรการต่อผู้ที่ยุติความรุนแรงต่อรัฐอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับ 2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นการเจรจา แกนนำอาร์เคเคทั้ง 93 คน ได้ถ่ายรูปกับ พล.ท.อุดมชัย ก่อนจะแยกย้ายกันไป
       
       ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงการเข้าเจรจาของแกนนำอาร์เคเคว่า ไม่ได้เป็นการพูดคุย แต่เป็นการเข้าแสดงตัวของคนที่เป็นกลาง เพื่อจัดตั้งคณะทำงานและประสานเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานแล้ว พร้อมเผยว่า จะมีคนเข้ามาเจรจาเพิ่มอีกนับพันคน “ยืนยันว่า หากการเจรจาเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นยืนยันว่า จะนำคนในกลุ่มมาเข้าร่วมพูดคุยเจรจากับรัฐอีกเกือบ 1,000 คน โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เรียกร้องเรื่องความปลอดภัย และเมื่อมีการมอบตัวแล้ว ขอให้รัฐช่วยดูแลเรื่องของการประกอบอาชีพด้วย”
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงกรณีที่บางฝ่ายสงสัยว่า แกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบที่เข้าเจรจากับแม่ทัพภาคที่ 4 ป็นตัวจริงหรือไม่ โดยยืนยันว่า ทั้งหมดมีรายชื่อในทำเนียบกำลังรบผู้ก่อความไม่สงบที่กองทัพได้จัดทำขึ้น ถ้าไม่ใช่ กลุ่มคนเหล่านี้จะมาให้จับทำไม
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวทีสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้วิธีเชิญนายอภิสิทธิ์และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ทำเนียบรัฐบาลแทนในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. โดยได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหนังสือเชิญนายอภิสิทธิ์และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ในการหารือวันดังกล่าว จะมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ แม้จะยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าพร้อมร่วมมือแก้ปัญหา และไม่ติดใจที่นายกฯ ไม่ใช้เวทีสภาในการหารือแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรัฐบาลอาจเห็นว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน “เมื่อได้พบกับนายกฯ จะได้เสนอในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ บทบาทของนายกฯ การป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขใหม่ที่จะทำให้เกิดปัญหา”
       
       ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 คาดหวังว่า หลังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาเจรจา น่าจะเกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเร็ววันนี้ โดยกำลังเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อยกเลิกแล้ว จะมีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้ออกมารายงานตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “เมื่อมวลชนของเขาเองปฏิเสธความรุนแรง คนกลุ่มนี้ก็อยู่ไม่ได้ คนกลุ่มนี้เมื่อไม่มีมวลชนรองรับก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าใครยังต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นักวิชาการบางส่วนยังเคลือบแคลงการเข้ามอบตัวของแกนนำอาร์เคเคเกือบร้อยคน โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า เป็นเรื่องดีที่แกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าแสดงตัว แต่การเข้ามอบตัวแบบไม่มีที่มาที่ไป ไม่เคยมีข่าวการพูดคุยหรือเตรียมการใดใด จู่ๆ กลับมีแกนนำและนักรบเดินเข้ามามอบตัวเกือบ 100 คน ทำให้สังคมเคลือบแคลงใจกันอยู่
       
       2. ศาล ปค.ระงับคำสั่ง “สุกำพล” โยก “ชาตรี”ช่วยราชการ ด้าน “เสถียร” แห้ว เหตุเผยความลับแต่งตั้งนายทหาร!

       ความคืบหน้ากรณี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งให้ตนและ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 27 ส.ค. โดยไม่เป็นธรรม หลัง พล.อ.อ.สุกำพลไม่พอใจที่ พล.อ.เสถียรได้ทำหนังสือขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมประจำปี 2555 โดยเฉพาะการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ พล.อ.เสถียร ได้ขอให้ศาลฯ ทุเลาการบังคับคำสั่งย้ายของ พล.อ.อ.สุกำพล ด้วย เพื่อให้ตนและ พล.อ.ชาตรี ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ศาลปกครองได้มีคำสั่งกรณีดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของ พล.อ.เสถียร ศาลฯ ให้ยกคำขอทุเลา ทำให้ พล.อ.เสถียรต้องไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตามคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจาก พล.อ.เสถียร เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การพิจารณาแต่งตั้งดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงถือว่าเป็นความลับของราชการ ไม่สามารถนำไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกได้
       
       นอกจากนี้ การที่สื่อลงข่าวว่า พล.อ.เสถียร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เดินทางไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนำสำเนาบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งทหารชั้นนายพลไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ถ้าข่าวดังกล่าวไม่จริง พล.อ.เสถียรต้องแก้ข่าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดใด อีกทั้ง พล.อ.เสถียร ยังยอมรับว่าได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบและชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ พล.อ.เสถียรไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เพื่อยับยั้งไม่ให้ พล.อ.เสถียรเผยแพร่ความลับของราชการต่อไป และป้องกันไม่ให้เกิดความแตกความสามัคคีในทหาร จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พล.อ.ชาตรี นั้น ศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดี ส่งผลให้ พล.อ.ชาตรี ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ต้องไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดใดที่ฟังได้ว่า พล.อ.ชาตรีมีส่วนรู้เห็นการนำความลับของราชการในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงไปเปิดเผย มีเพียงคำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่อ้างว่า พล.อ.ชาตรีไม่ได้ยับยั้งกรณีที่ พล.อ.เสถียร และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ได้ทำหนังสือสือถึงนายกรัฐมนตรี และเข้าพบองคมนตรี เกี่ยวกับการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล ซึ่ง พล.อ.ชาตรี ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหมกำหนดหรือมอบหมายเท่านั้น
       
       ประกอบกับการจะสั่งให้ข้าราชการไปช่วยราชการหรือพ้นจากตำแหน่งเดิมจะต้องเป็นเหตุผลพิเศษเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือหากให้ข้าราชการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป อาจเกิดความเสียหายกับทางราชการได้ แต่กรณี พล.อ.ชาตรี ศาลเห็นว่า ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว “การให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง การให้ พล.อ.ชาตรี กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หรือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด”
       
       ส่วนที่ พล.อ.ชาตรี ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกระทำการใดใดเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลนั้น ศาลบอกว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งห้ามได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
       
       ด้านนายธนพนธ์ ชูชยานนท์ ผู้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี บอกว่า ได้รายงานคำสั่งของศาลปกครองให้บุคคลทั้งสองทราบแล้ว โดยในส่วนของ พล.อ.เสถียรจะสู้คดีต่อไป ซึ่งทีมทนายผู้รับมอบอำนาจจะปรึกษาหารือกันว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่ระงับคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ต่อไป
       
       ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกอาการไม่อยากพูดถึงคำสั่งของศาลปกครองที่สั่งทุเลาการบังคับคดีในส่วนของ พล.อ.ชาตรี โดยอ้างว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร “เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพูด ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้แล้ว เพราะพูดมากไปจะทำให้ทหารเสื่อมเสียหมด ปล่อยให้มันจบไป เมื่อศาลพิจารณาอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารดังกล่าวหยุดชะงักแต่อย่างใด โดยได้ผ่านขั้นตอนจากกระทรวงกลาโหมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ลงนามเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว
       
       โดยมีรายงานว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.อ.สุกำพลสนับสนุน แต่ พล.อ.เสถียรไม่เห็นด้วย และมองว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงกลาโหม เพราะยังมีคนที่อาวุโสกว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ ขณะที่ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็น 1 ในแคนดิเดตตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และถูก พล.อ.อ.สุกำพล สั่งให้ไปช่วยราชการ แต่ศาลปกครองสั่งระงับคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกเด้งเข้ากรุ เป็นจเรทหารทั่วไป ส่วน พล.อ.พิณพาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ที่ได้เข้าขอขมา พล.อ.อ.สุกำพล ก่อนหน้านี้ ถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
       
       สำหรับตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก มีรายงานว่า พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ขณะที่ พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 เพื่อจ่อเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ในเดือน เม.ย.2556 ฯลฯ
       
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้ กต.ถอนพาสปอร์ต “ทักษิณ” ชี้ ผิดระเบียบ ด้าน “สุรพงษ์”ยัน ทำทุกอย่างถูกต้อง!

       เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้เดินทางไปสอบถามผู้ตรวจการแผ่นดินถึงความคืบหน้ากรณีได้ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่ร่วมกันออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ เมื่อปลายปี 2554 ว่า เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
       
       ด้านนายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนกรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ถูกต้องตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2548 ข้อ 21(2) (3) โดยข้อ 21 ระบุเกี่ยวกับการปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง (2) ระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่กำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ และ (3) ระบุว่า เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอื่น สั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงเข้าข่ายผิดระเบียบดังกล่าว
       
       นายรักษ์เกชา บอกด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ไปทบทวนการออกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน หากไม่ยอมส่งกลับมาภายในเวลาที่กำหนด ผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และถ้ารัฐมนตรีไม่สนใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
       
       ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า หนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้ว และตนได้อ่านสำเนาแล้ว พร้อมยืนยัน การอนุมัติให้หนังสือเดินทาง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน อย่างไรก็ตาม จะให้ปลัดกระทรวงไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ถ้ามีสิ่งใดทำได้ ก็จะดำเนินการ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็จะชี้แจงให้เข้าใจว่าขั้นตอนการปฏิบัติเป็นอย่างไร
       
       ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาโวยว่า ข้อสรุปของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่น่าจะถูกต้อง พร้อมอ้างว่า การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นไปตามระเบียบ และเป็นการเยียวยา-คืนความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในสมัยนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการเพิกถอนหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อขจัดศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
       
       4. ปภ.สรุป 10 จังหวัดยังจมน้ำ ขณะที่ “สุโขทัย” อ่วม ท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี!

       สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด เช่น สุโขทัย ,แพร่ ,อุตรดิตถ์ ฯลฯ โดยเฉพาะที่สุโขทัยที่น้ำได้รั่วซึมจากผนังกั้นน้ำแม่น้ำยมที่ถูกน้ำเซาะ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยสูงกว่า 1 เมตร นับว่าท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี ร้อนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)เป็นการด่วนเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ก่อนสั่งให้กองทัพเข้าไปซ่อมแซมผนังกั้นน้ำที่สุโขทัย พร้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้า กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าไปดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ
       
        ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.พูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่สุโขทัยว่า ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่คิดว่าน่าจะเป็นโครงสร้างของระบบรับน้ำที่เก่า จึงได้ให้รองอธิบดีกรมชลประทานไปตรวจสอบแล้ว พร้อมขอโทษชาวสุโขทัยที่ต้องประสบภาวะน้ำท่วม “ที่สุโขทัยผมก็ต้องขอโทษ ขอแสดงความเห็นใจอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่อาจรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นใต้เขื่อน เพราะสร้างมาตั้งแต่ปี 2544”
       
        ด้านนายรอยล จิตรดอน กรรมการ กบอ.ยืนยันว่า น้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือและภาคกลาง เป็นน้ำฝนที่ท่วมขังและระบายไม่ทัน ไม่ใช่น้ำท่วมเพราะน้ำเหนือหลากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ขณะที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาชี้ว่า เอ็นจีโอเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำยม โดยบอก แม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำเดียวที่มีปัญหา เพราะไม่มีเขื่อนกักเก็บหรือชะลอน้ำ พยายามสร้างเขื่อนก็ถูกเอ็นจีโอคัดค้านมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ยืนยันว่า ภาวะน้ำท่วมที่สุโขทัยจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ หรือปลายน้ำอย่างแน่นอน
       
        ขณะที่นายวีระ วงษ์แสงนาค อดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ยังวางใจไม่ได้ จนกว่าจะผ่านพ้นเดือน ต.ค.นี้ไปก่อน เพราะ ในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย.จะมีการก่อตัวของพายุอีก 2 ลูกในกลางมหาสมุทรแปซิฟิก หากเคลื่อนตัวไปทางจีนก็หายห่วง แต่หากมาทางเวียดนามหรือไทย ก็ต้องลุ้นว่าปริมาณน้ำจะมากน้อยเพียงใด
       
        ด้านนายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ก็เตือนเช่นกันว่า จากนี้ไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. ประเทศไทยจะยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมอีกหลายครั้ง ส่วนช่วง 14-18 ก.ย.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่แทบทุกภาค ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศ
       
        ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขามีระดับสูงขึ้น 25-50 ซม.และอาจเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำได้ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา
       
        ทั้งนี้ ปภ.ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมจนถึงวันที่ 15 ก.ย. ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ ลำปาง และระนอง มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 1.3 แสนคน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 1.6 แสนไร่


ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 กันยายน 2555

5600
   1. “เจ๋ง ดอกจิก” นอนคุกต่อ ศาลไม่ให้ประกัน ชี้ ยังไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยสำนึกผิด-เข็ดหลาบแล้ว!

       ความคืบหน้ากรณีนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย) ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ถูกศาลสั่งถอนประกันเมื่อวันที่ 22 ส.ค. เนื่องจากมีพฤติกรรมผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการปราศรัยข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบนเวทีคนเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.โดยบอกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของตุลาการฯ และครอบครัว พร้อมชักชวนคนเสื้อแดงให้โทรศัพท์ไปคุยหรือไปเยี่ยมไปจัดการ ส่งผลให้นายยศวริศต้องกลับเข้าไปนอนคุกอีกครั้งที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ หรือที่มักเรียกกันว่า คุกวีไอพี
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.ในฐานะทนายความนายยศวริศได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 6 แสนบาท พร้อมกันนี้ยังได้นำ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปเบิกความต่อศาลเพื่อรับรองความประพฤติให้นายยศวริศด้วย
       
       โดย พล.ต.อ.ประชา เบิกความว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีโครงการสนับสนุนให้นักโทษคดีการเมืองได้รับการประกันตัว เพื่อให้เกิดความปรองดอง และนายยศวริศก็เข้าข่ายเช่นกัน และว่า ถ้าศาลอนุญาตให้ประกันตัว ตนจะคอยติดตามควบคุมดูแลไม่ให้นายยศวริศกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก ทั้งนี้ ศาลได้นัดสอบถามนายยศวริศในวันต่อมา 4 ก.ย. เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางอัยการไม่ได้คัดค้านการยื่นขอประกันตัวนายยศวริศแต่อย่างใด
       
       วันต่อมา(4 ก.ย.) นายยศวริศได้แถลงต่อศาล โดยยืนยันว่า ตนรู้สึกสำนึกผิดแล้ว ถ้าศาลเมตตาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง จะไม่ละเมิดสัญญาประกันตัว และจะระวังไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่ดูหมิ่นหรือทำผิดกฎหมาย นายยศวริศ ยังพยายามยกสารพัดเหตุผลเพื่อให้ตนได้รับการประกันตัว โดยบอกว่า ตอนนี้ตนเป็นเลขานุการนายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และภรรยาก็ไม่มีรายได้ และว่า ถ้าได้รับการประกันตัว จะทำหนังสือขอโทษไปยังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่มีการพูดปราศรัยหรือยุ่งเกี่ยวพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญอีก
       
       ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องให้ศาลถอนประกันนายยศวริศ ได้แถลงคัดค้านการประกันตัว โดยบอกว่า จำเลยเพิ่งถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสั้นๆ และยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาล นายนิพิฏฐ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตอนที่อยู่ในเรือนจำหลักสี่ นายยศวริศก็มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป ขณะที่กรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้ร้องเพลงคาราโอเกะในเรือนจำด้วย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะให้นายยศวริศประกันตัวหรือไม่ในวันต่อมา 5 ก.ย.
       
       ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า นายยศวริศเคยได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว แต่ยังกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แม้นายยศวริศจะบอกว่าสำนึกผิดแล้ว และให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด จะทำหนังสือขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นแค่การกล่าวอ้าง ยังไม่มีพฤติการณ์แสดงออกอย่างชัดเจน อีกทั้งศาลเห็นว่า การสูญเสียอิสรภาพของจำเลยยังเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยสำนึกและเข็ดหลาบต่อการกระทำความผิดแล้ว จึงเห็นควรให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
       
       ด้านนายยศวริศ หลังฟังคำสั่งศาล ถึงกับมีสีหน้าเคร่งเครียด ขณะที่นายวิญญัติ ทนายความนายยศวริศ บอกว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือแสดงความสำนึกผิดของนายยศวริศส่งถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ศาลเห็นว่านายยศวริศสำนึกผิดและปฏิบัติให้เห็นชัดเจนแล้ว โดยหนังสือที่จะส่งถึงตุลาการฯ จะชี้ให้เห็นว่า นายยศวริศไม่มีเจตนาจะทำร้ายบุคคลใด ที่ทำไปเพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้จะยื่นขอประกันตัวนายยศวริศครั้งต่อไปไม่เกินเดือน ต.ค.
       
       ด้านพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเอาผิด พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฐานทำผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง เพราะได้ทำหนังสือรับรองความประพฤติให้นายยศวริศและไปให้ปากคำต่อศาลระหว่างขอประกันตัว ทั้งที่นายยศวริศมีคดีอยู่ในชั้นศาลถึง 3 คดี คือ รับจ้างเลือกตั้ง ขึ้นเวทีปราศรัยล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นจำเลยในคดีก่อการร้าย หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่า พล.ต.อ.ประชามีความผิดร้ายแรง ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูล เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป
       
       2. ทายาท “กระทิงแดง” ซิ่งเฟอร์รารีชน ตร.ดับ ก่อนหนีเข้าคฤหาสน์ ด้าน “เฉลิม” ขอโทษ -พร้อมรับผิดชอบ ขณะที่ “คำรณวิทย์” สั่งเด้ง สวป. ฐานจัดฉากแพะ!

       เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 05.40น. ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้รับแจ้งว่าเกิดอุบัติรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ตำรวจ ส่งผลให้ตำรวจเสียชีวิต บริเวณปากซอยสุขุมวิท 47 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ก่อนลากร่างตำรวจจากจุดเกิดเหตุไปไกล 200 เมตร จนถึงปากซอยสุขุมวิท 49 โดยผู้เสียชีวิตคือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อายุ 47 ปี ผบ.หมู่ฝ่ายปราบปราม สน.ทองหล่อ อยู่ในชุดเครื่องแบบตำรวจ นอกจากนี้ยังพบรถจักรยานยนต์ตำรวจยี่ห้อไทเกอร์พังเสียหายอยู่ใกล้กัน
       
       หลังเจ้าหน้าที่รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบชิ้นส่วนรถยนต์ตกอยู่และมีคราบน้ำมันเครื่องของรถคันก่อเหตุไหลเป็นทางยาวไปจนถึงหน้าบ้านเลขที่ 9 ภายในซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นบ้านของนายเฉลิม อยู่วิทยา บุตรชายนายเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัทผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง
       
       ต่อมา พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ ได้นำกำลังตำรวจไปปิดล้อมบ้านหลังดังกล่าว เพื่อขอเข้าตรวจค้น เนื่องจากเชื่อว่าผู้ก่อเหตุหลบหนีอยู่ภายในบ้าน แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) ไม่อนุญาต โดยอ้างว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่ กระทั่งต่อมา 08.00น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางไปขอตรวจค้น โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ก่อนเผยว่า ยังไม่พบผู้ขับขี่รถคันก่อเหตุ และว่า รปภ.ยังไม่อนุญาตให้ตรวจค้นโรงจอดรถใต้ดิน โดยอ้างว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ จึงได้ประสานขอหมายค้นจากศาลเพื่อเข้าตรวจสอบ พร้อมประกาศว่า ขอเอาตำแหน่งเป็นประกันว่า ใครก็ตาม ต้องนำตัวมาดำเนินคดีให้ได้ เพราะเป็นเหตุอุกอาจ จะไม่ปล่อยให้ลูกน้องต้องมาตายฟรีๆ ถ้านำตัวจริงมาดำเนินคดีไม่ได้ ตนจะลาออก
       
       อย่างไรก็ตาม ให้หลังไม่นาน ทนายความและ รปภ.ของบ้านหลังดังกล่าว ได้อนุญาตให้ตำรวจเข้าตรวจสอบภายในบ้านได้ ซึ่งตำรวจได้พบรถคันก่อเหตุเป็นรถสปอตหรูยี่ห้อเฟอร์รารี สีเทาดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยมีร่องรอยการชนที่ด้านซ้ายของรถ นอกจากนี้ยังพบเครื่องหมายยศของ ด.ต.วิเชียร ติดอยู่ที่รถคันดังกล่าวด้วย ไม่เท่านั้นยังพบบันทึกของ รปภ.ระบุว่า เมื่อเวลา 05.12น. “น้องบอส” ขับรถคันดังกล่าวออกจากบ้าน
       
       ต่อมา ทนายความได้แนะนำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อายุ 27 ปี บุตรชายนายเฉลิม อยู่วิทยา ประธานบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ด ออกมามอบตัวกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก่อนนำตัวไปสอบปากคำที่ สน.ทองหล่อ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนจะได้ผู้ต้องหาตัวจริง คือนายวรยุทธ ปรากฏว่า ทาง พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สารวัตรปราบปราม สน.ทองหล่อ ได้นำตัวนายสุเวศ หอมอุบล อายุ 45 ปี พ่อบ้านของตระกูลอยู่วิทยา มามอบตัวโดยอ้างว่าเป็นผู้ขับรถคันก่อเหตุ แต่เมื่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์มารู้ภายหลังว่านายสุเวศไม่ใช่ผู้ก่อเหตุตัวจริง แต่น่าจะเป็นการจัดฉากและเป็นความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาของ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณมากกว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์จึงไม่พอใจอย่างมาก และได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ ไปช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นเวลา 30 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบวินัย แต่ภายหลัง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ พร้อมกันนี้ได้ตั้ง พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ และยังได้แจ้งข้อหานายสุเวศฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานด้วย
       
       สำหรับผลการสอบสวนนายวรยุทธ ผู้ก่อเหตุตัวจริงนั้น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เผยว่า เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การภาคเสธ ซึ่งต้องนำตัวผู้ต้องหาไปตรวจว่าเมาแล้วขับหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 5 แสนบาท ด้านนายสมัคร เชาวภานนท์ ทนายความนายวรยุทธ บอกว่า ผู้ต้องหาและครอบครัวยินดีชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ว่าจะผิดหรือถูก และจะเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ ด.ต.วิเชียรทุกคืน รวมทั้งจะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิตด้วย
       
       ด้านนายอานันท์ กลั่นประเสริฐ พี่ชาย ด.ต.วิเชียร กล่าวหลังเดินทางมารับศพน้องชายที่สถาบันนิติเวชวิทยาว่า “เรื่องนี้ผมรู้สึกรับไม่ได้ และถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก ที่คนก่อเหตุขับรถชนน้องชายแล้วขับรถหนี มีการลากศพไปไกล หากชนแล้วหยุด น้องชายผมคงมีโอกาสรอด อาจจะไม่ตาย...”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายเฉลิม อยู่วิทยา บิดานายวรยุทธ ได้ไปร่วมงานศพ ด.ต.วิเชียรแทบทุกคืน โดยได้ขอโทษญาติของ ด.ต.วิเชียรถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมรับปากจะให้การช่วยเหลือและรับผิดชอบทุกอย่าง และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ขณะที่นายวรยุทธ ผู้ก่อเหตุ ได้เดินทางไปเคารพศพ ด.ต.วิเชียร พร้อมกับนางดารณี มารดาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. แต่ไม่ได้พูดคุยหรือขอโทษญาติ ด.ต.วิเชียรถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผลการตรวจพิสูจน์ร่องรอยหลักฐานการชนของรถเฟอร์รารีกับรถจักรยานยนต์ พบว่า น่าจะเป็นการชนลักษณะตรง จากนั้นมีการลากรถจักรยานยนต์ครูดไปกับถนน โดยคาดว่าร่างของ ด.ต.วิเชียร ติดอยู่บนฝากระโปรงรถด้านหน้าเฟอร์รารี เพราะมีเส้นผม เลือด และเครื่องหมายยศของ ด.ต.วิเชียรติดอยู่ด้านหน้ารถ และจากจุดชน ห่างไปประมาณ 64.8 เมตร ได้พบกองเลือด คาดว่าร่างของ ด.ต.วิเชีรน่าจะตกจากกระโปรงรถลงพื้นถนน ณ จุดนี้ ส่วนรถจักรยานยนต์น่าจะยังติดอยู่ที่รถเฟอร์รารี ก่อนจะสะบัดหลุดออกจากเฟอร์รารีห่างจากจุดแรกที่พบร่องรอยการชนประมาณ 200 เมตร
       
       ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยว่า ได้แจ้งข้อหานายวรยุทธฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และข้อหาหลบหนีโดยไม่แจ้งเหตุให้เจ้าพนักงานทราบ และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 2-5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังได้เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา คือขับรถขณะมึนเมา เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หลังผลตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของนายวรยุทธพบว่า อยู่ที่ 64 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยนายวรยุทธได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 12 ก.ย. ส่วนข้อหาพยายามฆ่า ยังไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิด สำหรับความเร็วของรถขณะชนนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบกล้องวงจรปิด โดยเบื้องต้นมีรายงานว่า นายวรยุทธน่าจะขับรถด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
       
       3. กบอ.ผวา ฝนถล่มกรุง ทำหลายจุดน้ำท่วมขัง สั่งเลื่อนซ้อมระบายน้ำฝั่งตะวันออก!

       ความคืบหน้ากรณีรัฐบาลเตรียมปล่อยน้ำเข้ากรุงเพื่อทดสอบระบบระบายน้ำของคูคลองใน กทม. ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย. โดยวันที่ 5 จะทดสอบกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก บริเวณคลองทวีวัฒนาและคลองอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกัน ส่วนวันที่ 7 ก.ย. จะทดสอบฝั่งตะวันออก บริเวณคลองระพีพัฒน์และคลองลาดพร้าว โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ร่วมกับกรมชลประทาน กองทัพเรือ และกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดย กทม.ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทดสอบปล่อยน้ำเข้ากรุงครั้งนี้ เพราะเกรงประชาชนจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเดือน ก.ย.เป็นเดือนที่ฝนตกหนักที่สุดในรอบปี
       
       แต่รัฐบาลยังยืนยันจะมีการทดสอบระบายน้ำใน กทม.ในช่วงดังกล่าว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้คณะอนุกรรมการระบายน้ำชี้แจงเส้นทางที่จะมีการทดสอบการระบายน้ำอย่างละเอียด รวมทั้งเพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ได้ พร้อมยืนยันว่า จะทำทุกขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง หากทดสอบแล้วมีปัญหาตรงไหน พร้อมที่จะหยุดภายใน 5 นาที
       
       ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงก่อนหน้าจะมีการทดสอบระบายน้ำ 1 วัน(4 ก.ย.)ว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ในวันที่ 5 ก.ย.จะมีฝนตกร้อยละ 80 ดังนั้นจะมีฝนตกแน่นอน กทม.จึงได้เตรียมเจ้าหน้าที่จากสำนักต่างๆ 2,000 คน พร้อมรถดับเพลิง ทีมแพทย์-พยาบาล และรถสุขาเคลื่อนที่ เพื่อเฝ้าระวังบริเวณประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาและจุดเสี่ยง 7 แห่ง เช่น บริเวณพุทธมณฑลสาย 3 และสาย 4 ,หมู่บ้านเศรษฐกิจ ฯลฯ
       
       ขณะที่สถานการณ์โดยทั่วไป เริ่มมีน้ำท่วมในบางจังหวัดจากภาวะฝนตกหนัก เช่น อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ,อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่หลายหมู่บ้านน้ำท่วมเกือบ 2 เมตร ฯลฯ ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ประกาศเตือน 20 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ระหว่างน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการทดสอบระบบระบายน้ำในวันแรก วันที่ 5 ก.ย. ซึ่งเป็นการทดสอบในพื้นที่ปลายน้ำฝั่งตะวันตกของ กทม. บริเวณคลองทวีวัฒนา ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยดี แม้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ปริมาณน้ำฝนเพียงเล็กน้อยแค่ 12 มิลลิเมตรเท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการทดสอบแต่อย่างใด
       
       ทั้งนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.บอกว่า การทดสอบครั้งนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นการระบายน้ำที่ดีกว่าช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ถึง 3 เท่า ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แสดงความเป็นห่วงการทดสอบระบายน้ำฝั่งตะวันออกที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ย. เพราะคลองลาดพร้าว คลองบางเขน และคลองเปรมประชากรตัดผ่านพื้นที่หลายชุมชน ประกอบกับอาจมีร่องมรสุมจากประเทศฟิลิปินส์เข้าไทยในช่วงดังกล่าวด้วย
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พอใจผลการทดสอบระบายน้ำในวันที่ 5 ก.ย. พร้อมมั่นใจ ปีนี้น้ำจะไม่ท่วม กทม.แน่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยืนยันจะทดสอบระบายน้ำในวันที่ 7 ก.ย.อีกครั้ง แม้หลายฝ่ายจะห่วงเรื่องฝนที่อาจตกต่อเนื่องไปถึงวันที่ 7 ก.ย.ก็ตาม
       
       อย่างไรก็ตาม หลังเกิดฝนตกต่อเนื่องตลอดวันที่ 6 ก.ย. ส่งผลให้ กบอ.ตัดสินใจประกาศยกเลิกการทดสอบระบบระบายน้ำฝั่งตะวันออกของ กทม.ในวันที่ 7 ก.ย. เนื่องจากพบน้ำท่วมขังหลายจุด จึงเกรงว่าหากเดินหน้าทดสอบระบบระบายน้ำตามแผนที่วางไว้ต่อไป อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ จึงขอเลื่อนออกไปก่อน
       
       4. ฟอร์บส์ จัดอันดับ 40 เศรษฐีไทย ปี’ 55 “เจ้าสัวธนินท์” ยังครองแชมป์ ด้าน “ทักษิณ” ติดอันดับ 23 !

       เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นิตยสารฟอร์บส์ ฉบับประจำเดือน ก.ย.2555 ได้เผยผลการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศไทย 40 อันดับ ประจำปี 2555 ปรากฏว่า อันดับ 1 ยังคงเป็นนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และครอบครัว โดยมีทรัพย์สินประมาณ 270,000 ล้านบาท ซึ่งนายธนินท์รั้งอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่สามแล้ว อันดับ 2 เป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์ มีทรัพย์สินประมาณ 207,000 ล้านบาท อันดับ 3 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งตกจากอันดับสองเมื่อปีที่แล้ว มีทรัพย์สินประมาณ 186,000 ล้านบาท อันดับ 4 เป็นของตระกูลอยู่วิทยา ซึ่งเพิ่งสูญเสียนายเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของฉายาเจ้าพ่อกระทิงแดงไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีทรัพย์สินประมาณ 162,000 ล้านบาท อันดับ 5 นายกฤต รัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก บรอดคาสติ้ง แอนด์ ทีวี มีทรัพย์สินประมาณ 93,000 ล้านบาท ฯลฯ
       
        ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ติดอันดับ 23 โดยมีทรัพย์สินร่วมกับครอบครัวประมาณ 18,000 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดอันดับปีนี้ มีเศรษฐีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมา 2 ราย คือ นายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความประจำตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ติดอันดับ 20 มีทรัพย์สินประมาณ 21,200 ล้านบาท และนายเฉลิม หาญพิทักษ์ เจ้าของกิจการในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ติดอันดับ 33 มีทรัพย์สินประมาณ 8,550 ล้านบาท
       
        ส่วนผู้ที่รั้งท้ายมหาเศรษฐีอันดับ 40 ของไทยในปีนี้ คือ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มีทรัพย์สินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012
       
        ทั้งนี้ นิตยสารฟอร์บส์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มหาเศรษฐีของไทยร่ำรวยขึ้นกว่าเดิมปีละ 20% ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งสาหตุที่ทำให้รวยขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศลดอัตราภาษีประกอบการของบริษัทลงจาก 30% เหลือ 23% และจะลดลงอีกเหลือ 20% ในปี 2556 และ 2557

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 กันยายน 2555

5601
ทุกวันนี้ Green คึกคัก จนเป็นคำกล่าวยอดฮิตในเชิงสัญลักษณ์ของการดำเนินการที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการไม่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
       
       นี่เป็นแนวทางที่สังคมโลกยุคนี้กำลังเผชิญสภาวะวิกฤต ทั้งดิน น้ำ อากาศ คาดหวังให้กิจการต่างๆ มีจิตสำนึกและแนวปฏิบัติโดยไม่ซ้ำเติมปัญหาวิกฤตที่อยู่รอบตัวเรา
       
       ด้วยเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี่เอง จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดขึ้นว่า สังคมคาดหวังว่า องค์กรต่างๆ จะต้องมี CSR หรือ Corporate Social Responsibility นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
       
       คำว่า สังคม (Social) ที่ล้อมรอบองค์กร เมื่อมองอย่างกว้าง หมายถึง สังคมในองค์กร คือ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน สังคมในวงใกล้ คือ ลูกค้า คู่ค้า ครอบครัวพนักงาน ชุมชนรอบข้างองค์กร หรือโรงงาน และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สังคมในวงไกล คือ ประชาชน หน่วยงานต่างๆ
       
       ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ใหญ่โตและมีบทบาททางเศรษฐกิจสังคมมากเพียงไร พลังจากการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อสังคมระดับต่างๆ ย่อมมีมากตามขนาดและบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบก็ตาม
       
       จึงกล่าวได้ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นกระบวนการซึ่งจะส่งผลลัพธ์ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

LPN รณรงค์ให้เจ้าของร่วมคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ตัวอย่างหนึ่งของกรีน
   
       เมื่อกิจการใดมี ผู้บริหารสูงสุด (CEO) ที่มีจิตสำนึก CSR มีวิสัยทัศน์ และมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร (CG) คือ เน้นความถูกต้อง ซื่อตรง เป็นธรรม และโปร่งใส นักลงทุน เชื่อมั่นในผลประกอบการจะดีมีคุณธรรม ก็อยากถือหุ้น พนักงานดีๆ ก็อยากร่วมงานด้วย และรักองค์กร ลูกค้า พึงพอใจในคุณภาพและประสิทธิภาพ คู่ค้า ก็พอใจในความเป็นธรรม อยากคบค้าด้วย ชุมชน ประทับใจในความเอื้อเฟื้อดูแล สังคมวงกว้าง ย่อมชื่นชม
       
       ถ้าเป็นเชิงบวก คือ เก่งและดี ย่อมส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสังคมทั้งวงใน วงใกล้ และวงไกล ต่างอยากคบ อยากสนับสนุนด้วย
       
       หลักการที่กล่าวข้างต้นน่าจะเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ก้าวหน้ายุคใหม่ ซึ่งเป็นกระแสโลกที่เปลี่ยนจากการมุ่งเป้าหมายมิติเดียว (Bottom Line) คือ กำไรอย่างยุคเก่า หันมามุ่งผลลัพธ์ 3 มิติ (Triple Bottom Line)
       
       เป็นการกำหนดเป้าหมายองค์กรที่คำนึงถึงผลดีต่อ 3 มิติ คือ Profit (กำไร) People (คน หรือสังคม) และ Planet (โลกของเรา คือสิ่งแวดล้อม)
       
       นั่นคือ 3 เสาหลักที่ค้ำจุนให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยความ “เก่งและดี” โดยมีภูมิคุ้มกัน ไม่สร้างความเสียหายต่อสังคมทั้งวงใกล้และวงไกล รวมทั้งจุดยืนที่ไม่ซ้ำเติมวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโลกกำลังเผชิญวิกฤตทั้งภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่ทั่วโลกกำลังรับบทเรียนอย่างประจักษ์ชัดในระดับต่างๆ
       
       ดังนั้น องค์กรที่มียุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติด้วยกระบวนของฝ่ายต่างๆ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และการตลาดที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in process) ซึ่งมีผลกระทบจากผลการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงกว่ากิจกรรมการช่วยสังคมซึ่งเป็นส่วนนอกเหนือจากธุรกิจปกติ เรียกว่า CSR-after process
       
       น่ายินดีที่ในมิติการสร้างคุณค่า หรือไม่ทำลายด้าน “สิ่งแวดล้อม” หรือเรียกเป็นสัญลักษณ์ว่า Green นั้น ปัจจุบันองค์กรที่ก้าวหน้ายุคใหม่ได้ใส่เข้าไปเป็นคุณลักษณะโดดเด่นในด้านต่างๆ ที่จะเลือกเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ไม่สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม หรือค้นคิดวิธีการที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
       
       นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation)
       
       อาคารสีเขียว (Green Building)
       
       ร้านค้าสีเขียว (Green Store)
       
       ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product)
       
       การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)
       
       การตลาดสีเขียว (Green Marketing)
       
       นั่นเป็นตัวอย่างของแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า วิกฤตก็สร้างโอกาส การเกิดวิกฤตของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พยายามตอบโจทย์ที่สร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม
       
       ขณะเดียวกันนี่ก็เป็นผลดีต่อการสร้างความแตกต่างของธุรกิจ และเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วย
       
       แต่ที่สำคัญและจะยั่งยืนสมจริง ก็คือ เกิดความจริงใจจากจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

สุวัฒน์ ทองธนากุล
ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 สิงหาคม 2555

5602
กลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่าที่ฟุ้งกระจายบริเวณตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อช่วง 2 วันที่ผ่านมา เกิดจากซากปลาตายหรือปฏิกิริยาเคมีของสาหร่ายในทะเลสาบแห่งหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาณเตือนแผ่นดินไหวอย่างที่หลายคนหวาดเกรง ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เผยวานนี้ (11)
       
       วันจันทร์ที่ผ่านมา (10) ทางการแคลิฟอร์เนียได้รับแจ้งจากประชาชนหลายร้อยคนที่ได้กลิ่นเหม็นคล้ายกำมะถันฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 150 ไมล์ ซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดในโลกอินเทอร์เน็ตว่า กลิ่นดังกล่าวอาจเกิดจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ และเป็นสัญญาณเตือนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
       
       อย่างไรก็ตาม สำนักงานจัดการคุณภาพอากาศประจำชายฝั่งตอนใต้ (South Coast Air Quality Management District) ยืนยันว่า ต้นตอของกลิ่นเหม็นมาจากทะเลสาบ ซอลตัน ซี ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากเมืองซานดิเอโกไปทางตะวันออกราว 2 ชั่วโมงรถยนต์
       
       “เราพบหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า ทะเลสาบซอลตัน ซี คือที่มาของกลิ่นเหม็นที่แพร่กระจายไปทั่ว” แบร์รี วอลเลอร์สไตน์ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน กล่าว
       
       เขาอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ “ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุดังเช่นที่เกิดในทะเลสาบซอลตันซี มีกลิ่นไม่ต่างจากไข่เน่าเลย”
       
       ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานแห่งนี้เชื่อว่า “กระแสลมคงจะทำให้น้ำก้นทะเลสาบซึ่งเต็มไปด้วยแบคทีเรียและมีกลิ่นเหม็น ลอยขึ้นมาด้านบน”
       
       “แม้ระดับความเข้มข้นของไฮโดรเจนซัลไฟด์ในทะเลสาบซอลตันซีจะสูงผิดปกติ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพของมนุษย์”
       
       ปรากฎการณ์แผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงนี้ หลังจากที่เกิด “แผ่นดินไหวกลุ่ม” ขนาดกลางเขย่าตอนใต้ของรัฐหลายร้อยระลอกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม โดยมีจุดศูนย์กลางที่เบเวอร์ลีฮิลล์ถึง 2 ครั้ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

5603
  รองปลัด สธ.ชี้ 3 กองทุนสุขภาพอยู่ในภาวะบีบ ต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด ต้องประเมินอีกระยะว่าจะกระทบโรงพยาบาลหรือไม่ แนะ สธ.จัดสรรงบแบบเหมาเข่ง เริ่มจากงบฯส่งเสริมป้องกันโรค ด้าน สปสช.-สปส.ประสานเสียงไม่รวมกองทุนแน่ แค่พัฒนาให้กลมกลืน
       
       วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 วันที่ 12-14 กันยายน นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “กองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน : สิทธิต่างๆ โอกาสรวม/ปัญหาอุปสรรค” ว่า วันนี้กองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการอยู่ในภาวะบีบทั้งหมด คือ พยายามใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดกับกองทุน ไม่ต้องการให้นำเงินที่เหลือจากกองทุนตนเองไปใช้โปะให้กับอีกกองทุนหนึ่ง อย่างเช่น สวัสดิการข้าราชการจากการเบิกจ่ายตามจริงกรณีผู้ป่วยในเปลี่ยนเป็นการจ่ายตามการวินิจฉัยโรคร่วม หรือ ดีอาร์จี (DRG)
       
       “ถามว่า กระทบกับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลหรือไม่ อาจจำเป็นต้องบันทึกผลไประยะหนึ่งก่อนจึงจะสามารถระบุผลที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการต้องใช้จ่ายเงินด้วยความระมัดระวังมากขึ้นให้เกิดผลคุ้มค่าที่สุด รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยต้องมีการปรับลด เช่น การใช้ยาต้องสมเหตุสมผล ค่าแรงต้องมีความเหมาะสม หากใช้จ่ายด้วยความสมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี และการเบิกชดเชยค่าบริการสมเหตุสมผลแล้ว ถ้ายังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินต้องมาปรับและเคลียร์กัน” นพ.สมชัย กล่าว
       
       นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า งบเหมาจ่ายรายหัวที่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลได้รับจากกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคมไม่ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% แต่จะมีการหักกันเงินไว้ก่อน อย่าง กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะหักไว้ 25% เป็นเงินเดือนข้าราชการ สธ.อีก 75% ที่เหลือไม่ได้จ่ายลงมาให้หน่วยบริการทั้งหมด แต่จะจ่ายมาให้เพียงส่วนหนึ่งที่เหลือจะใช้ระบบทยอยจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่ยุ่งยากก่อให้เกิดเงินคงค้างอยู่ส่วนกลาง หรือเรียกว่า เงินค้างท่อถึง 1-2 ปี ส่วนตัวจึงเห็นว่าหากเป็นไปได้ควรจ่ายให้ สธ.แบบเหมาเข่งทั้งหมดแล้วมาบริหารจัดการเอง แต่ต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่าเงินที่สธ.ได้รับจัดสรรมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นนำไปทำอะไรบ้าง
       
       นพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นเห็นว่า ส่วนที่จะมอบให้สธ.บริหารจัดการเองได้แบบเต็มๆ คือ ในส่วนของงบส่งเสริมป้องกันโรค ที่ไม่ควรจัดสรรให้แบบรายปีต่อปี เพราะการส่งเสริมป้องกันโรคไม่สามารถประเมินผลได้แบบรายปี ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนิน จึงควรจัดสรรงบให้สธ.เป็นราย 4 ปีโดย สธ.ทำแผนงานชัดเจน อีกทั้งเงินในส่วนนี้แม้ในการของบประมาณของ สปสช.จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลในอัตราประชากร 48 ล้านคน แต่เงินส่วนนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนำมาใช้ต้องใช้เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคคนทั้งประเทศคือ 60 ล้านคน ไม่ได้แยกว่าดูแลแค่ผู้ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น
       
       ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 9 และ 10 มีเจตนารมย์ในการให้รวม 3 กองทุน และรวมถึงมาตรา 12 กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ด้วย ซึ่งโดยหลักการต้องการให้การบริหารจัดการ 3 กองทุนกลมกลืนกันเท่านั้น ไม่ได้รวมกองทุน ซึ่งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 16 ข้อ จะพบว่าในข้อ 14 กำหนดว่า จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต้องให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม และต้องมีการบูรณณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบสุขภาพต่างๆ หมายความว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์บูรณาการทั้ง 3 กองทุนให้กลมกลืน โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอถึงการสร้างความเสมอภาคการเข้าถึงบริการของประชาชน
       
       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน อดีตรองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จะไม่มีการรวมกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุนเข้าเป็นกองทุนเดียวแน่นอน ซึ่งในส่วนของ สปส.ขณะนี้มีเงินของลูกจ้างที่ฝากไว้กับ สปส.ทั้งหมด 940,000 ล้านบาท เป็นเงินต้นของลูกจ้างประมาณ 6 แสนล้าน อีก 2-3 แสนล้านเป็นดอกเบี้ย และเป็นส่วนรักษาพยาบาลประมาณ 8 หมื่นล้าน
       
       “นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า ไม่รวมกองทุน เพียงแต่อยากให้ประชาชนที่ไปรับบริการต้องไม่ถูกถามสิทธิ และหากต้องย้ายสิทธิ ต้องย้ำว่าสิทธิที่ควรต้องได้ต่อเนื่องต้องได้เหมือนเดิม สรุปคือ สิทธิการได้รับประโยชน์ ต้องเป็นไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งการทำประกันสังคมก็คล้ายกับสปสช. โดยต้องการป้องกันความยากจนอันเกิดจากการเจ็บป่วย โดยให้เหมาจ่าย และให้รักษาจนสิ้นสุดการรักษา สำหรับวิธีการจ่ายเงินเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ขอยืนยันว่า ยึดหลักประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง โดยลูกจ้างต้องได้รับการดูแลโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม” นพ.สุรเดช กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

5604
 นักวิชาการเตือนเปิดประชาคมอาเซียน เสี่ยงต่างชาติแย่งชิงรับบริการสุขภาพคนไทย เผย คนชั้นกลางกระทบมากสุด แนะต้องเพิ่มกำลังผลิตบุคลากรสาธารณสุข ย้ำ เปิดการค้าเสรียิ่งเปิดช่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าทำลายสุขภาพหลั่งไหลเข้าไทยมากขึ้น
       
       วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวในงานเสวนา “ประชาคมอาเซียน 2558 โอกาสหรือวิกฤตระบบสุขภาพไทย” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2555 ว่า ปัจจุบันไทยให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน 65 ล้านคน แต่หากมีประชาคมอาเซียนจะต้องเตรียมพร้อมการบริการให้กับคนถึง 575 ล้านคน ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหามาก หากไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นข้อตกลงที่มีการหารือถึงประเด็นการอนุญาตให้กลุ่มประเทศสมาชิก สามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการได้สูงสุดร้อยละ 70 ของบริการภาพรวม ซึ่งรวมถึงบริการสาธารณสุขด้วย ตรงนี้ต้องระวังเพราะจะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างแน่นอน
       
       “ปัจจุบันประเทศไทยควบคุมไว้ไม่ให้ต่างชาติลงทุนในประเทศเกินร้อยละ 50 จากบริการทั้งหมด แต่ก็มีพวกนอมินีใช้ชื่อคนไทยแทน และเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อใดจะยิ่งลำบาก เรื่องนี้แม้ปัจจุบันในกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่ได้แก้กฎหมายตามข้อหารือในระดับอาเซียนก็ตาม แต่ก็อยากให้จับตามองเรื่องนี้ด้วย เพราะหากมีการแก้กฎหมายคล้อยตามเมื่อใด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน ซึ่งตรงนี้ต้องถามทางกระทรวงพาณิชย์ เพราะเข้าใจว่าดูแลเรื่องนี้” นพ.ภูษิต กล่าว

   
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่น่าจะเป็นปัญหาในอนาคต คือ ปัจจุบันโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ก็มีการยกระดับขึ้น อยากให้โรงเรียนแพทย์เหล่านี้คำนึงถึงปรัชญาเดิมที่ตั้งขึ้นเพื่อคนไทย แม้จะยกระดับเป็นเมดิคัล ฮับ แต่ขอให้ยึดประชาชนคนไทยเป็นหลักด้วย ไม่เช่นนั้น ต้องมีการแยกหน่วยออกไป นอกจากนี้ การเปิดเมดิคัล ฮับ สำหรับแรงงานต่างด้าวและชาวต่างชาติ อาจส่งผลกระทบต่อคนชั้นกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะหาโรงพยาบาลเข้ารักษาตัวยาก ฉะนั้น สธ.ต้องทำงานในเชิงรุก โดยต้องมองว่าอย่างไรต่างชาติก็ต้องไหลเข้ามาสู่ประเทศทั้งแรงงานและคนรวย ต้องมีการวางแผนการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ ไม่ใช่วางแผนสำหรับคนไทยเพียงอย่างเดียว
       
       “ปัจจุบันจำนวนแพทย์ต่อผู้ป่วยใน กทม.คิดเป็น 1 ต่อ 700-800 คน ส่วนในต่างจังหวัดคิดเป็น 1 ต่อ 9,000 คน หากเปิดประชาคมอัตราผู้ป่วยต่อแพทย์หนึ่งคนก็จะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น เราจะผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในปริมาณเท่าเดิมเหมือน 10-20 ปีที่แล้วไม่ได้ การจะไปอิมพอร์ตจากพม่า หรือประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้ประเทศเขาขาดกำลังคน วิธีที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มกำลังผลิตของไทยเอง โดยต้องวางแผนสำหรับคนอาเซียนที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย ไม่ใช่สำหรับคนไทยเพียงอย่างเดียว อยากฝากถึงปลัด สธ.คนใหม่และรัฐมนตรี สธ.ให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย” นพ.ภูษิต กล่าว
       
       นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่า หากเข้าสู่อาเซียนจะส่งผลกระทบในเรื่องของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งอาหารและยา รวมทั้งพวกสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อย่างบุหรี่ และเหล้า ยิ่งมีการเปิดการค้าเสรีจะยิ่งทะลักเข้ามามาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุหรี่ต้องระวัง ปัจจุบันในอาเซียนมีคนสูบบุหรี่ถึง 127 ล้านคน จีน มีคนสูบบุหรี่ 301 ล้านคน และมีกระแสข่าวว่า จีนกำลังจะสร้างโรงงานผลิตบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีก ตรงนี้หากมีข้อตกลงอาเซียนพลัส 3 ซึ่งมี จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี ทั้งนี้ หากมีการเจรจาเปิดการค้าเสรี ระวังบุหรี่จีนจะเข้ามาไทยด้วย นอกจากนี้ ต้องเตรียมพร้อมการบริการผู้ป่วยต่างชาติในกลุ่มที่ไม่ร่ำรวย หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าว อย่างพม่า ด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ชายแดนภาคใต้จะมีผลกระทบอย่างไรเมื่อเข้าสู่อาเซียน นพ.ภูษิต กล่าวว่า หากพูดถึงมาเลเซีย สิ่งที่ต้องระวังคือ การดึงพยาบาลไทย เพราะราคาค่าจ้างแพงกว่าไทยเท่าตัว แม้ปัจจุบันไทยจะมีนโยบายจูงใจแพทย์ แต่พยาบาลยังไม่มี เรื่องนี้ต้องระวังการดึงบุคลากรด้วย อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ใช่จะมีแต่ผลกระทบ เพียงแต่หากมุ่งหวังด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ระวังผลกระทบแล้ว อาจเกิดปัญหาได้
       
       ด้าน พญ.ภาวนา อังคสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าส่วนแบ่งการตลาดในการบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเทศไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 สิงคโปร์ และ มาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 14 แม้ไทยจะมีสัดส่วนมาก แต่ปรากฏว่า รายได้ของไทยกลับมีเพียงร้อยละ 30 แต่สิงคโปร์ แม้สัดส่วนน้อยกว่ากลับมีรายได้ถึงร้อยละ 47 แสดงว่าคุณภาพการบริการดีมาก ทำให้ราคาสูงตามด้วย ดังนั้น ต้องกลับมามองจุดนี้ และพัฒนาให้ดีขึ้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

5605
ผู้เขียนได้แจกแจงถึงภัยของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคมาแล้ว 3 ตอน คือ ภัยต่อประชาชน ภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขและงบประมาณแผ่นดิน ในตอนนี้ผู้เขียนจะขอชี้ให้เห็นมหันตภัยของระบบ 30 บาท ที่มีต่อการประกันสุขภาพของประเทศไทย

   การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้ต้องการประกันภัย จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทประกันภัยเป็นจำนวนที่กำหนดตามสัญญา(กรมธรรม์)ที่ตกลงกันไว้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย

   โดยสรุป การประกัน(insurance) คือการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสามส่วนคือ ผู้รับประกัน ผู้เอาประกัน ผู้รับผลประโยชน์

 ส่วนการประกัน(ภัย) สุขภาพหรือ Health Insurance เป็นการลดภาระค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ลดภาระบุคคลรอบข้าง เป็นการประกันภัยความเสี่ยงทางการเงิน ในกรณีเจ็บป่วย บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามวงเงินของการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ที่ต้องการทำประกันสุขภาพ ก็จะต้องจ่ายเงินของตนล่วงหน้าให้แก่บริษัท(รับ)ประกันโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะได้รับการรักษาในวงเงินเท่าไร หรือครอบคลุมโรคอะไรบ้าง

  ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ 3 ระบบ คือ

1.ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบนี้รวมอยู่ในผลประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับร่วมกับการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน จากการ”ทำราชการ” ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพื่อกำหนด “สิทธิประโยชน์” ในการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัว ฉบับล่าสุดคือ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553

 ถึงแม้ว่าข้าราชการจะไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าแก่กรมบัญชีกลาง แต่ก็เหมือนกับว่ากรมบัญชีกลางได้ “หักเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน” กลับคืนสู่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนข้าราชการกับเงินเดือนภาคเอกชน สำหรับบุคลากรที่มีคุณวุฒิเหมือนกันแล้ว จะเห็นได้ว่าเงินเดือนในส่วนราชการนั้น น้อยกว่าเงินเดือนในภาคเอกชนมาก

 จึงเห็นได้ว่าการให้สวัสดิการต่างๆแก่ข้าราชการ เป็นการให้สัญญาล่วงหน้าว่า ประชาชนที่มาสมัครเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานบริการประชาชนอื่นๆนั้น นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะได้รับสวัสดิการอื่นๆนอกเหนือจากเงินเดือน รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มาสมัครสอบแข่งขัน เพื่อที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
ระบบนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันให้กับข้าราชการซึ่งเป็นลูกจ้างของราชการและครอบครัวโดยทางราชการซึ่งเป็นนายจ้างใช้เงินภาษีจ่ายให้เป็นสวัสดิการ โดยกรมบัญชี กลางเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินในระบบนี้โดยมีข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน ได้รับสวัสดิการจากระบบนี้   

โดยสรุประบบสวัสดิการข้าราชการเป็นระบบที่ข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

2.ระบบประกันสังคม เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2497โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้มีสวัสดิการแก่ลูกจ้างในภาคเอกชน ได้รับความช่วยเหลือและได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วย  ตกงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตณและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ซึ่งได้มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 เป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ที่เป็นลูกจ้างจะต้องร่วมจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนประกันสังคมในอัตราส่วนร้อยละ 5 ของเงินเดือน โยนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบในอัตราส่วนที่เท่ากัน และรัฐบาลต้องจ่ายอีกร้อยละ 2.75 สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทุกๆเดือน ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ประกันตน(ลูกจ้าง) จะได้รับสิทธิประโยชน์จากเงินกองทุนนี้ ทั้งหมดรวมทั้งสิ้นดังนี้คือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย 1.5%โดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเท่ากัน  สงเคราะห์บุตร ชราภาพ 3% ว่างงาน 0.5% มีขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง ธุรกิจเอกชน   ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็คือลูกจ้าง นายจ้าง และผู้เสียภาษี โดยมีสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้บริหารโดยมีลูกจ้างประมาณ 10 ล้านคน ได้รับความคุ้มครอง(ประกันสุขภาพ)จากระบบนี้ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์อื่นๆตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม

3.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ National Health Security Act เป็นการให้ “หลักประกันสุขภาพ” แก่ประชาชนไทย 48 ล้านคน (ที่ยังไม่มีสิทธิ์ในการประกันสุขภาพจากทั้ง 2 ระบบดังกล่าวข้างต้น)  เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาโรคโดยจ่ายเงินเพียงครั้งละ 30 บาท ไม่ว่าการเจ็บป่วยนั้นจะมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้มีการแก้ไขเป็นไม่ต้องจ่ายเงินเลยในปี 2550 และกลับมากำหนดให้จ่ายเงินในปี 2555 ครั้งละ 30บาทอีกครั้งหนึ่ง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ไม่ต้องจ่ายเงิน และ “ไม่ต้องการจ่ายเงิน” อีก 21 ประเภท

เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด (ครอบคลุมประชาชน 48 ล้านคน)การบริหารจัดการบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายครอบคลุมบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ
โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้บริหารภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4.ระบบสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของนักการเมือง ทั้งนี้นอกจากเงินเดือนแล้ว นักการเมืองจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นรวมทั้งการประกันสุขภาพ ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการพ.ศ.2555
ระบบนี้ นักการเมืองไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุน แต่จ่ายโยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งในระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบนี้ จะมีอัตรากำหนดไว้สูงที่สุดกว่าระบบอื่นๆที่ต้องจ่ายเงินจากภาษีของประชาชน

5.ระบบประกันเอกชน   
   เป็นระบบสมัครใจผู้ที่ต้องการได้สิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอของบริษัทประกันสามารถซื้อบริการประกันสุขภาพได้จากบริษัทประกันภัยต่างๆ โดยที่ประชาชนรับผิดชอบจ่ายเงินเอง และบริษัทเอกชนแต่ละแห่งเป็นผู้บริหาร

 ความแตกต่างของ “ที่มาของเงินงบประมาณ”ในแต่ละกองทุน

  จะเห็นได้ว่าการประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้นมีอยู่เพียง 4 ระบบที่เกิดขึ้นตามการบัญญัติของกฎหมายคือพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ส่วนระบบสุดท้ายคือระบบประกันเอกชนนั้นเป็นระบบที่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของประชาชนเอง โดยประชาชนต้องจ่ายเงินของตนเองทั้งหมดในการประกันสุขภาพของตน จึงจะไม่กล่าวถึงระบบนี้อีกในบทความนี้
ส่วนระบบอื่นที่เหลืออีก 4 ระบบ เป็นระบบที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมา “ร่วมจ่าย”เป็น “ค่าประกันสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสิทธิในการ “ประกันสุขภาพ” จึงควรพิจารณาดูว่า ได้บริหารงานคุ้มค่าเงินภาษี และประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างดีมีมาตรฐานหรือไม่ ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอด เช่นเดียวกับประชาชนอื่นๆ
 
1. ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนมาจ่ายทั้งหมด โดยข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ข้าราชการยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

  2.ส่วนระบบที่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มีส่วนจ่ายเงินของตนเองโดยตรงเข้าสู่กองทุน ได้แก่กองทุนประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างหรือที่เรียกว่า “ผู้ประกันตน” ต้องจ่ายเงินจากเงินเดือนของตนเอง 5% ทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลจ่ายเงินจากภาษีสมทบเพียง 2.75% เท่านั้น สำหรับเงินส่วนที่ใช้ในการประกันสุขภาพคิดเป็น 1.5% (จาก 5%)
ฉะนั้น ถ้าลูกจ้างมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือ 9,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องจ่ายเงินของตนเองเดือนละ 135 บาท จึงจะได้รับการประกันสุขภาพ

นับว่า เป็นคนที่มีรายได้น้อย แต่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพด้วยตนเอง มีนายจ้างและเงินภาษีประชาชนช่วยจ่ายอีกฝ่ายละ 135 บาทเท่ากัน

 3.ในส่วนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินปีละมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยประชาชนในระบบไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่ระบบ หรือจ่ายเพียง 30 บาทโดยเลือกที่จะไม่จ่ายก็ได้ ทั้งนี้มีประชาชน 48 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์จากกองทุนนี้

 ซึ่งในจำนวนประชาชน 48 ล้านคนนี้ อาจจะมีคนจนไม่ถึง 20 ล้านคน แต่มีคนที่ไม่จน แต่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง อาจเป็นเจ้าของกิจการ เป็นพ่อค้า คหบดี มีเงินมากมาย แต่มาเบียดบังใช้บริการฟรีให้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพให้ฟรีๆ
ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ

  มีการกล่าวอ้างโดยทั่วไปว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน และมีผู้เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมในแต่ละกองทุน โดยเสนอให้มีการรวมกองทุนสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละกองทุนมีสิทธิในการได้รับบริการสุขภาพโดยให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

  ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 51 ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “

 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้สิทธิประชาชนทั้งยากไร้และไม่ยากไร้ ได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

   ที่สำคัญก็คือ โดยหลักการสากล การทำให้เกิดความ “เสมอภาค” นั้นไม่ได้ทำให้เกิด “ความเป็นธรรม” เสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากคนแต่ละคนย่อมมีคุณสมบัติหรือทรัพย์สมบัติไม่เท่าเทียมกัน การให้ความเสมอภาคแก่บุคคลที่ไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งเป็นการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้น้อย ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ คนที่มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมากตามอัตราส่วนที่กฎมายกำหนด หรือคนพิการ ทุพพลภาพ ก็ควรได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากกว่าคนที่ไม่พิการ คนชรา ก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากสังคม เป็นต้น

   ฉะนั้นในสังคมที่เจริญแล้วและมีวัฒนธรรมที่จะจรรโลงสังคมให้อยู่อย่างเป็นปกติสุข  สังคมจึงต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสในสังคม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

  แต่การที่สปสช.ให้สิทธิแก่ประชาชน 48 ล้านคน ได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-2555 นี้ ได้ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบการบริการสาธารณสุขของไทยดังที่กล่าวแล้ว(มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอน “ภัยต่อระบบบริการสสาธารณสุข” กล่าวคือ ทำให้ระบบการบริการสาธารณสุข“ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐาน” เนื่องจากงบประมาณที่สปสช.ส่งให้แก่โรงพยาบาลนั้นไม่เพียงพอต่อการที่จะรักษามาตรฐานการบริการสาธารณสุขได้ เช่น การกำหนดการรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย โดยการเริ่มต้นล้างไตทางหน้าท้องก่อนเป็นครั้งแรกกับผู้ป่วยไตวายทุกคน (CAPD-first)   จนทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเหล่านี้ตายไปมากกว่า 40% ในบางศูนย์ก็มีอัตราตายไปถึง 100% หรือการบังคับให้แพทย์สั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นเพียงบางชนิดเท่านั้น ไม่สามารถสั่งใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ โดยให้ใช้ยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งผลจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานก็ทำให้เกิด “มหันตภัยต่อผู้ป่วย” ดังที่ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกัน

   และสวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ที่เป็นองค์กรแม่ที่ได้ “ออกลูก” เป็น สสส. สปสช. และสช.แล้ว ได้ส่งลูก(เครือข่ายสถาบัน)คือสพตร.(สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล ) ไปตรวจสอบการรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และพบว่ามีแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักถึง 66% 

แทนที่สวรส.จะพูดว่ายาในบัญชียาหลักไม่สามารถครอบคลุมการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ทำให้แพทย์ต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก แต่สวรส.และสพตร.กลับ “บิดเบือนความจริง” หรือ “โกหก” ว่า แพทย์ “ยิงยา”หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา และส่งเรื่องให้ DSI สอบสวนแพทย์หลายร้อยคน แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีรายงานจาก DSI ว่า มีการทุจริตประพฤติมิชอบของแพทย์ในกรณีสั่งยานอกบัญชียาหลักอย่างมากมายเหมือนที่สพตร.ออกข่าวแต่อย่างใด

 ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลทำการตรวจสอบว่าสพตร.และสวรส. “โกหกหลอกลวงรัฐบาลให้หลงเชื่อได้หรือไม่”ในกรณีการกำหนดยาในบัญชียาหลักที่ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน จนทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโรคของตน
นอกจากการโกหกเรื่องยาแล้ว สวรส.ยังไปโกหกรัฐบาลให้หลงเชื่อว่า การรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนจะทำให้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพยั่งยืน โดย สวรส.ยัง” ออกลูก” มาเป็นสวปก. (สำนักงานวิจัยระบบประกันสุขภาพไทย) โดยมีโครงการวิจัยที่ต้องการผลลัพท์คือ “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ” แล้วอ้างผลการวิจัยของสวปก. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยตั้งเป็นสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (สพคส.) ใน”เครือสถาบันสวรส.” หรือเท่ากับสวรส. “ออกลูก”เป็นสพคส.ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2553 โดย มีเป้าหมายที่จะดำเนินการตามแผนการ (โดยอ้างธรรมนูญสุขภาพหมวด 12)ดังต่อไปนี้คือ

1.   จะต้องมีระบบการเงินการคลังรวมหมู่ที่ยั่งยืน ไม่มุ่งเชิงธุรกิจ
2.   โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 จะให้จ่ายจากครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 20
3.   โดยรายจ่ายสุขภาพมีอัตราเพิ่มไม่มากกว่าอัตราเพิ่มของ GDP 
4.   โดยมีแหล่งเงินมาจากระบบภาษีอัตราก้าวหน้า และเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ
5.   ขยายสิทธิครอบคลุมคนไทยทุกคน และหลีกเลี่ยงการเก็บเงินแบบร่วมจ่าย ถ้าทำต้องไม่ใช่เพื่อเรื่องรายได้ และต้องคุ้มครองคนจน
6.   ให้เป็นระบบการคลังรวมหมู่แบบปลายปิด กำหนดวงเงินใช้จ่ายล่วงหน้า

ซึ่งเมื่อดูจากแนวทางที่สพคส.ตั้งธงไว้ ก็คือ ไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพของตน ต้องการให้เป็นเงินงบประมาณจากภาษีประชาชนทั้งหมด และต้องการให้มีแหล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้จ่ายในกองทุนจาก “การเก็บภาษีก้าวหน้า” และต้องการรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนให้มาอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกันให้เป็นผลสำเร็จ

  และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารกองทุนที่รวมแล้วนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่มพรรคพวกของ สวรส.  ซึ่งปัจจุบัน ก็ยึดกุมอำนาจในการบริหาร สงวรส. สสส. สช. สปสช. และองค์กรลูกทั้งหลายทั้งปวง ที่ใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ล้านบาท (สมแสนล้านบาท)

 โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำการตรวจสอบและประเมินการทำงานอย่างเป็นทางการว่า มีการใช้เงินไปอย่างเหมาะสม สุจริต โปร่งใส หรือหมกเม็ด ทุจริต เบียดบังผลประโยชน์ไปสำหรับตนเองและพรรคพวกโดยมิชอบ
ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 นยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติว่า กพร. มีหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลงานขององค์กรเหล่านี้ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะ และกำหนดไว้ว่า ถ้าองค์กรเหล่านี้ ทำงานโดยไม่ประหยัด และไม่คุ้มค่า ครม.สามารถยุบองค์กรเหล่านี้ได้ (3) แต่ยังไม่เห็นว่ากพร.จะได้ไปตรวจสอบและประเมินผลองค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด อาจถือได้ว่ากพร.ละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่?  ส่วนธง(เป้าหมาย)ที่สพคส.ตั้งไว้ข้อ 4 ก็คือการ “จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และเก็บภาษีจากจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ “ หมายความว่า ถ้าเงินงบประมาณที่จะใส่เข้าไปในกองทุนสุขภาพใหญ่นี้มีไม่เพียงพอ และไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายด้วย ก็จะต้องมีการ “ขึ้นอัตราการเก็บภาษีจากประชาชน รพ.เอกชน และสินค้าบาป”

  แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการเพิ่มอัตราการ “เก็บภาษีก้าวหน้า”จนมี “เม็ดเงิน” ใส่เข้ามาในกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ จึงเกิดเหตุการณ์ที่สปสช.ได้พยายามที่จะ “จำกัดค่าใช้จ่าย”ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาท เช่นการจำกัดรายการยา การจำกัดวิธีการรักษา โดยไม่เคยไป “จำกัดการมาใช้บริการสาธารณสุข” หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ประชาชนจะมารับบริการสาธารณสุขได้

  ทำให้เงินงบประมาณที่จะให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐาน เกิดมหันตภัยต่อประชาชน บุคลากรสาธารณสุขและระบบบริการสาธารณสุขดังกล่าวแล้ว

  แต่สปสช. ได้ทำการ “โกหก” คือไม่ได้บอกความจริงให้ประชาชนทราบว่า การบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก่อให้เกิดมหันตภัยดังกล่าว สปสช.ได้แต่โฆษณาว่า  “30 บาทรักษาทุกโรคอย่างมีมาตรฐาน”
การบริการสาธารณสุขจะมีมาตรฐานได้อย่างไร? ในเมื่อขาดเงิน ขาดยา ขาดบุคลากรทางการแพทย์และขาดมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังกล่าวมาแล้ว

แต่สปสช.ไม่หยุดอยู่แค่การโกหกประชาชน สปสช.ยังโกหกกรมบัญชีกลางว่า จะแก้ปัญหาการใช้เงินในระบบสวัสดิการข้าราชการได้ ก็ต้องทำตามที่สปสช.ทำกล่าวคือ จำกัดรายการยา และคิดอัตราการรักษาผู้ป่วยในแบบรายกลุ่มโรค (Diseases Related Group) ในราคาต่ำกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วย แบบที่สปสช.ใช้อยู่

ในส่วนผู้ป่วยในก็ให้ “จำกัดงบประมาณ” โดยระบบเหมาจ่ายรายโรค(Diseases Related Group) โดยจ่ายให้โรงพยาบาลน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

 ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง เนื่องจากก่อนที่กรมบัญชีกลางจะคิดราคารักษาผู้ป่วยแบบที่สปสช.ใช้นั้น โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการและผู้ป่วยประกันสังคม ต้องนำเงินที่ได้จากการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบนี้ มาจ่ายชดเชยการขาดทุนในระบบ 30 บาท (ทำให้กรมบัญชีกลางต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ)

 เมื่อกรมบัญชีกลางหันมาใช้ระบบเดียวกับสปสช. จึงทำให้รพ.ไม่ได้รับเงินจากระบบสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยการขาดทุนจากสปสช.อีกต่อไป ทำให้ปัญหาการขาดทุนรุนแรงขึ้น

  และการที่จะประหยัดเงินในการรักษาผู้ป่วยนอก สปสช.ก็แนะนำกรมบัญชีกลางให้จำกัดรายการยาที่ผู้ป่วยจะได้รับ ไม่ให้แพทย์ใช้ยาได้อีก 9 กลุ่ม เพื่อ “ประหยัดงบประมาณค่ายา”

  พร้อมทั้งมีการเสนอให้ครม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด ระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะ”ลดค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพ” โดยการควบคุมกำกับการใช้ยา กำกับการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักและยาต้นแบบในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ กำหนดแนวทางเวชปฏิบัติ และข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลัก  รวมถึงข้อบ่งชี้การตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยเทคโนโลยีราคาแพง  กำหนดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายและการจ่ายยา  และปรับอัตราการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมให้เป็นเอกภาพระหว่างกองทุน  และการพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินแบบตกลงราคาล่วงหน้าบริการผู้ป่วยนอก

 โดยสรุปก็คือสพคส. สวรส. และสปสช.ต่างก็บิดเบือนความจริงว่า แพทย์ใช้ยาฟุ่มเฟือย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินจำเป็น จึงต้องหาทางประหยัดงบประมาณ โดยการตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ในการ “ประหยัดงบประมาณ” ค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัย และค่ารักษาผู้ป่วยในทุกกองทุน
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ที่จะถูกควบคุมการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการใช้ยาให้มีมาตรฐานเลวเหมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 สปสช.ยังโกหกอีกว่าโรงพยาบาลไม่ขาดทุน มีเงินเหลือเพิ่มขึ้น และสปสช.ประหยัดงบประมาณได้ถึง 4,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง การที่สปสช.อ้างว่าประหยัดเงินได้จากการจัดซื้อยาแทนโรงพยาบาลนั้น สปสช.ได้นำเอาเงินค่าตอบแทนการซื้อยาเอาไปเป็นประโยชน์แก่บุคลากรสปสช.เอง โดยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ชี้ว่าไม่ถูกต้อง
แต่สปสช.ก็ยังยืนยันว่าได้ชี้แจงไปแล้ว ในขณะที่กรรมการตรวจสอบความผิดของสปสช.ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมาตรวจสอบนั้น ก็มีความเห็นว่าสปสช.ทำไม่ถูกต้องตามที่สตง.ชี้ประเด็นแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดแต่อย่างใด น่าจะถือได้ว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำกับดูแลสปสช.ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ “กำกับสปสช.” มาโดยตลอด

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ที่มติครม.กำหนดสปสช.ต้องถูกตรวจสอบและประเมินผลงานโดยกพร. แต่ก็ไม่ปรากฏว่า กพร.ได้ทำการตรวจสอบและประเมินผลงานของสปสช.แต่อย่างใด อันอาจจะถือได้ว่าสำนักงานกพร.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่นี้

  ในขณะที่สปสช.กลับไป”ว่าจ้าง” ให้บริษัทเอกชนมาประเมินผลงานของตน น่าจะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 คงต้องรอดูว่า เมื่อไรสวรส. สพคส. และสปสช. จึงจะยอมสารภาพเรื่องโกหก เหมือนท่านรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งทีเพิ่งออกมาสารภาพเรื่อง “โกหกสีขาว” จะได้มีการยุติมหันตภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ ทั้งหลายในประเทศไทยเสียที

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
7 ก.ย. 55


เอกสารอ้างอิง
  1.http://www.hsri.or.th/about/introduction

2. http://www.hsri.or.th/plans/34
3. . http://www.tmi.or.th/docs/midyear2.ppt
4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2555

5606
“เสถียรธรรมสถาน” เร่งใช้ธรรมะปลุกเร้าให้ธุรกิจปรับทิศทางใหม่ ชูแนวทางพระโพธิสัตว์ลดเลิกการมุ่งไปสู่การกอบโกยเข้าหาตัว หวังหยุดยุคแห่งความทุกข์ยาก ชี้ “การให้” คือกุญแจสู่ทางรอดและความสำเร็จอย่างยั่งยืน
       
       แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดโครงการ “ปลุกหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์” เพื่อนำธรรมะมาขับเคลื่อนและปลุกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกหรือจุดเล็กๆ เพื่อจะขยายไปในวงกว้างต่อไป เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่ 10 ปีจะเห็นได้ชัดว่า สังคมของการเอาหรือกอบโกยทำให้เกิดความทุกข์ยาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อโลก ซึ่งน่าจะต้องสะเทือนใจกันได้แล้ว และถ้าไม่ทำวันนี้จะไม่เหลืออะไรแล้ว สิ่งที่เห็นในวันนี้คือการพูดถึงธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และการทำธุรกิจอย่างสมดุล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเน้นให้ตระหนักคือ “การให้” เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในยุคนี้
       
       “การให้มีความยากง่ายอยู่ที่การทำบ่อยๆ ไม่ใช่นานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคา เพราะถ้านานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคาหมายความว่าไม่จริงใจ แต่การทำบ่อยๆ หรือให้ได้ง่ายขึ้น สม่ำเสมอ และเป็นการให้ที่ไม่ผลักตกเหวคือการให้ที่ทำให้เกิดความมั่นคง สามารถยืนอยู่บนฐานกำลังของการพึ่งพาตนเอง นักธุรกิจหรือผู้บริหารต้องคิดว่าจะให้อย่างไรที่เป็นการให้อย่างยั่งยืน และทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้อย่างมีราคา ซึ่งมีรากศัพท์มาจากราคะ หมายความว่าเป็นการให้เพื่อหวังจะเอา แต่ให้โดยสละราคะคือการให้อยู่เหนือการได้คืน แม้จะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อทำได้แล้วจะมีความยั่งยืน”
       
       ในระดับปัจเจกต้องทำให้เกิดขึ้นในวิถีขององค์กรด้วยการทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การสนับสนุนให้พนักงานในออฟฟิศภาวนาจิตมากขึ้น หรือคนที่ไม่เคยสวดมนต์ ใส่บาตร ก็สนับสนุนให้ทำ ซึ่งเมื่อระดับปัจเจกเริ่มมีความสุขที่ได้ให้ จะทำให้ง่ายในการขยายฐานการให้ออกไป และไม่ต้องอธิบายมาก เมื่อพนักงานในองค์กรมีความสุขที่ได้ให้ องค์กรจะได้ทรัพยากรที่มีจิตใจที่จะให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็จะทำเต็มที่และองค์กรจะได้กำไรตามมานั่นเอง นี่จึงเป็นเรื่องของการฝึกปฏิบัติ
       
       แม่ชีศันสนีย์ทิ้งท้ายว่า ถ้าคนในบริษัทมีจิตที่คิดจะให้ จะกลายเป็นบริษัทที่ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายได้ เช่น การทำธุรกิจย่อมมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ทำให้ต้องวิ่งอย่างหืดหอบมากกว่าจะได้เข้าเส้นชัย แต่เมื่อทำให้เกิดการให้จะกลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหรือพลังที่จะทำให้การทำธุรกิจสำเร็จได้ง่ายขึ้น สำหรับการนำพระโพธิสัตว์มากล่าวถึงหรือเป็นตัวอย่างเพราะถ้าเป็นคนธรรมดาจะให้ได้ยาก แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์จะทำได้ง่าย เช่น การควักลูกตาให้ ควักหัวใจให้ ฯลฯ เพราะการมีกำลังหรือพลังนั่นเอง หรืออย่างเสถียรธรรมสถานซึ่งไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นองค์กรที่พิสูจน์มาแล้วว่ายิ่งให้ยิ่งมีกำลัง ยิ่งให้ในสิ่งที่คนอื่นให้ได้ยาก

 จิตอาสากู้โลก
       
       ไจตนย์ ศรีวังพล ผู้อำนวยการรายการข่าวจราจร สวพ.FM 91 และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิไลเซ็นเตอร์แอนด์ซันส์ จำกัด กล่าวว่า การเป็นสถานีวิทยุเพื่อความปลอดภัยและการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาหรือความทุกข์ของคนในสังคมเมือง ดังนั้น ภารกิจหรือจุดประสงค์ของงานหรือธุรกิจที่ดูแลอยู่นี้มีความชัดเจนว่าคือการให้ เป็นการให้ข้อมูลและประสานความช่วยเหลือความปลอดภัยจากการจราจร
       
       ที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำแนวทางนี้มาใช้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวจากการมี “โพธิ” หรือปัญญาตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ และ “สัตว์” ก็คือตัวเรา “โพธิสัตว์” คือคนเราที่พัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง และการที่เราจะอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข เราต้องมีความสุขก่อน ซึ่งการอยู่บนหนทางของการพัฒนาเราต้องอยู่ก่อนและชวนคนอื่นไปด้วยกัน ในเรื่องการให้เราไม่ได้ให้คนเดียว แต่ชวนผู้ฟังรายการของเราให้ด้วย เช่น กองทุนเหรียญสลึงซึ่งเห็นเหรียญสลึงที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ ก็นำมาช่วยคนที่ไม่มีในสังคมด้วยสิ่งที่ถูกทิ้งขว้าง เป็นการชวนคนอื่นมาพัฒนาและให้ร่วมกัน เช่นเดียวกับการทำงานในบริษัท เป็นการทำงานแบบช่วยเหลือกัน ให้โอกาสกันทำในสิ่งที่ดีๆ รวมทั้งเน้นในเรื่องจิตอาสา เพราะทำให้เกิดการแบ่งปันและช่วยเหลือกันมากขึ้น
       
       “ในทางธุรกิจหมายถึงการไม่ต้องกำไรมากๆ มาก่อน แต่ต้องคิดถึงการให้มาก่อน ธุรกิจจะอยู่รอดเมื่อมีแนวทางเช่นนี้กันมากขึ้นๆ จะทำให้การเอาเปรียบ เบียดเบียนกัน และมุ่งกอบโกยเข้าหาตนเองลดลง และสุดท้ายจะทำให้โลกอยู่รอดได้” ไจตนย์กล่าวย้ำ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 กันยายน 2555

5607
พิษน้ำท่วมทำโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่สะดุด กำลังการผลิตลดลง กระทบโรงพยาบาล-ศูนย์ล้างไตส่วนภูมิภาคขาดแคลนถุงน้ำเกลือหนัก อย.-อภ.เร่งแก้ปัญหาจับมือ 3 บริษัทผลิตน้ำเกลือเป็นตัวแทนจำหน่าย คาด สถานการณ์ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

       วันนี้ (7 ก.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถานการณ์ถุงน้ำเกลือขาดตลาดในขณะนี้ สาเหตุหลักเกิดจากโรงงาน GHP ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ และสามารถผลิตน้ำเกลือป้อนตลาดถุงน้ำเกลือได้มากถึง 25-30% นั้น กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงจากเหตุการณ์ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ทำให้กำลังการผลิตลดลง และสามารถจำหน่ายได้เฉพาะกลุ่มศูนย์ล้างไต ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าประจำเท่านั้น ทำให้ลูกค้ารายย่อยอื่นๆอาทิ โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคต่างๆ ได้รับผลกระทบในการสั่งซื้อถุงน้ำเกลือ ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานผลิตน้ำเกลือแห่งนี้จะสามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมภายในสิ้นปีนี้
       
       “ขอยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากการโก่ง หรือการขึ้นราคาน้ำเกลือแต่อย่างใด แต่เกิดจากการผลิตน้ำเกลือของโรงงานหลักนั้น ผลิตได้น้อยลง ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุงฟื้นฟูให้สามารถกลับมาผลิตได้ 100% แต่ยังต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเช่นเดิม” เลขาธิการ อย.กล่าว
       
       นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในขณะนี้ อย.และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ได้รับความร่วมมือจาก 3 บริษัทผู้ผลิตน้ำเกลือ ได้แก่ A.N.B. Laboratories, Thai Otsuka และ Thai Nakorn Patanaซึ่งทั้ง 3 บริษัทจะส่งมอบถุงน้ำเกลือประมาณ 5-6 หมื่นถุงให้แก่ อภ.เป็นตัวแทนจำหน่ายภายในช่วงสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า จะสามารถจำหน่ายถุงน้ำเกลือให้แก่ศูนย์ล้างไตและโรงพยาบาลต่างๆ ได้หมดภายในวันจันทร์ที่ 10 ก.ย.นี้ หากศูนย์ล้างไตหรือโรงพยาบาลใดที่ขาดแคลนถุงน้ำเกลือก็สามารถติดต่อมาที่ อภ.ได้ นอกจากนี้ ทั้ง 3 บริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนถุงน้ำเกลือจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
       
        นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคไตประสบปัญหาขาดแคลนน้ำยาหรือน้ำเกลือ สำหรับฟอกเลือด โดยทั้งประเทศมีทั้งหมด 30,000 ราย เป็นผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 10,000 ราย ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำยาฟอกเลือดถึงเดือนละ 1 ล้านถุง แต่ปัจจุบันมีโรงงานที่ป้อนน้ำเกลือรายหลักๆ คือ บริษัท GHP แต่ประสบปัญหาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม เนื่องจากโรงงานผลิตอยู่ภายในนวนคร จนขณะนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงงานที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ บริษัท A.N.B. Laboratories หรือบริษัท อำนวยเภสัชฯ บริษัทไทย โอนิซูกะ ( Thai Otsuka) และ บริษัท ไทยนครพัฒนา (Thai Nakorn Patana) ก็ประสบปัญหากำลังผลิต ไม่สามารถผลิตได้ทัน เนื่องจากอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิต มีการปรับปรุงเครื่อง ประกอบกับเครื่องที่ใช้มีปัญหาอยู่บ้าง ทำให้ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดขาดแคลนน้ำเกลือขึ้น
       
       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า โรงงานที่ผลิตน้ำเกลือล้างไตในไทยขณะนี้มี 4 บริษัท กำลังการผลิตได้ปีละประมาณ 120 ล้านถุง โดยมี 1 บริษัทที่ถูกน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งขณะนี้เริ่มเปิดเดินเครื่องได้แล้ว แต่กำลังการผลิตยังไม่ครบ 100 เปอร์เซนต์ จึงทำให้ขาดสภาพคล่องได้ เบื้องต้น อภ. ได้สั่งนำเข้าจาก 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกว่า 1 ล้านถุง ขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์-1 เดือน ซึ่งขณะนี้เรือกำลังทยอยเข้ามาและจะเข้ามาเรื่อยๆ เช่น วันที่ 13 กันยายน 2555 จะมา 22,800 ถุง วันที่ 17 -18 กันยายน 2555 จำนวน 600,000 ถุง เป็นต้น โดย จะเร่งกระจายให้หน่วยฟอกไตเทียมที่ขาดแคลน และจะให้ครบภายใน 3 วัน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2555

5608
“วิทยา” ปลื้ม แถลงผลงาน 1 ปี โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินโดนใจ ปชช.มากสุด ฟุ้งช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก 90.5% เล็งขยายสิทธิผู้ป่วยไตวายครอบคลุม 3 กองทุน ย้ำร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี แต่ต้องการพัฒนาการบริการ ลดความแออัดของโรงพยาบาล
       
       วันนี้ (7 ก.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลงาน “365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน” ว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจำนวนทั้งสิ้น 48.5 ล้านคน ผ่านนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีการพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่โดดเด่นที่สุด และประชาชนได้รับประโยชน์ในทุกสิทธิ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ 30 บาท กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ภายใต้โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638 คน อัตรารอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 โดยเอแบคโพลสำรวจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 พบว่า ประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล
       
       “จากความสำเร็จในการบูรณาการโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ก้าวต่อไปจะเดินหน้าขยายสิทธิให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกกองทุนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แม้ย้ายสิทธิก็ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเหมือนเคย รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกองทุนจะต้องได้รับยาต้านไวรัสฯ ที่ระดับค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะเดินหน้าในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ จะขยายสิทธิเรื่องผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมทุกกองทุนด้วย ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้ง ให้ได้ภายในปี 2556” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นายวิทยา กล่าวอีกว่า นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่แค่เก็บเพราะต้องการในเรื่องของความมีศักดิ์ศรีเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ประสงค์จ่ายจะไม่มีศักดิ์ศรี มีเหมือนกันหมด แต่หลักๆ ต้องการพัฒนาการบริการมากกว่า ซึ่งตรงนี้ยังช่วยในเรื่องลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วย และยังเพิ่มศักยภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 226 แห่ง และพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ป่าเขาอีก 200 แห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพิ่มระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ให้ประชาชนที่ใช้บริการที่ รพ.สต.ได้พบแพทย์เฉพาะทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ กระจายแพทย์ให้บริการที่ รพ.สต.ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และค่าเสียโอกาสได้ 4 เท่า และอีกนโยบายในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา คือ โครงการไข่ใหม่แลกยาเก่า ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ประชาชนใช้ยาทุกชนิดอย่างเหมาะสมด้วย
       
       ด้านนพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท นับเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่ของไทยที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน อาจยังไม่พร้อมในสถานพยาบาลบางแห่ง อย่างในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้น อาจมีบางแห่งไม่เรียกเก็บ ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิของเขา อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศการร่วมจ่ายแพร่หลายมาก และมีวิธีที่ซับซ้อนกว่าของไทย อาทิ บรูไน จะเรียกเก็บกับผู้ป่วยประมาณ 25 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นผู้ป่วยโรคง่ายๆ ก็จะเรียกราคาถูก ผู้ป่วยโรคปานกลางก็จะเรียกเก็บอีกระดับ และผู้ป่วยอาการหนัก อาทิ ผ่าตัดสมอง หัวใจ หรือโรคมะเร็ง กลุ่มนี้จะไม่เรียกเก็บเลย เนื่องจากรัฐบาลบูรไนเห็นว่าเป็นโรคที่สามารถทำให้ผู้ป่วยล้มละลายได้ จึงไม่ควรเรียกเก็บ

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2555

5609
ผู้เขียนได้เขียนเรื่องมหันตภัยหรือภัยอันร้ายแรงของระบบ 30 บาทที่มีต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว
วันนี้จะเขียนต่อถึงมหันตภัยของระบบ 30 บาทที่มีต่อระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและภัยต่องบประมาณแผ่นดิน
ซึ่งน่าจะต้องมองก่อนว่า ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลอะไรต่อระบบสาธารณสุขไทยบ้าง ดังต่อไปนี้

1.   กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป
เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถูกส่งไปให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนา
2.   โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากเกินไป
3.   มาตรฐานการแพทย์ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขมีปัญหา
4.   สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีขึ้น
5.   งบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า/สมเหตุผล
6.   อวสานของกระทรวงสาธารณสุข
เนื่องจากการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ
ซึ่งจะขอกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดมหันตภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขดังนี้

1.กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป

เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถูกส่งไปให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนา ทั้งนี้ บทบัญญัติในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ม. 5ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ
เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดและในมาตรา 38 กำหนดให้มีการจัดตั้ง "กองทุนหลักประกันสุภาพแห่งชาติ"มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และในมาตรา 41
ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้แก่หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ
โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และมาตรา 46 กำหนดว่าหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการและหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปีตามม.18(13)

  ฉะนั้นเมื่อมีการมอบงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกาบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาทแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้จ่ายงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรงอีกต่อไป กระทรวงสาธารณสุขมีช่องทางเดียวที่จะบอกให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทราบว่ามีเงินเพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนหรือไม่ โดยการเสนอความคิดเห็นในการประชุมประจำปีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องจัดตามหน้าที่ในม.18(13)

  แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยจัดประชุมเลยและไม่เคยรับฟังความคิดเห็นว่าหน่วยบริการสาธารณสุขประสบกับปัญหาการขาดงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่ปรากฏว่าสปสช.กล่าวหาว่ารพ.กระทรวงสาธารณสุขมีกำไรด้วยซ้ำไป!

 นอกจากนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในม.18(3) ในการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตแต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้สปสช.โฆษณาประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศว่า 30 บาทรักษาทุกโรคต่อมาก็ประกาศว่ารักษาฟรีอย่างมีคุณภาพใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาล หรือในปัจจุบันก็ประกาศว่า 30 บาทเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการโดยไม่ต้องพักเที่ยง และยกเว้นไม่ต้องจ่ายอีก 20ประเภท และประเภทที่ 21ไม่ต้องการจ่ายก็ได้สิทธิ์นั้นทันที

   การโฆษณาประชาสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าจะต้องได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างดีที่สุด แต่ในเมื่อโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณที่พอเพียงและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯก็ไม่รับฟังความคิดเห็นเรื่องการขาดงบประมาณที่เหมาะสมจากหน่วยบริการและไม่แก้ไขการขาดแคลนนั้นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถที่จะพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และไม่มีเงินจ้างบุคลากร เพิ่มให้พอรองรับจำนวนผู้ป่วย จนมีปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องนอนเตียงเสริมเตียงแทรกตามระเบียง หรือปูเสื่อนอนตามพื้น และต้องเสียเวลารอคอยเป็นครึ่งค่อนวัน
กว่าจะได้รับการตรวจรักษาแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับงบประมาณแผ่นดินในการบริหารจัดการในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลตามความจำเป็นและเหมาะสม
นอกจากนั้น โรงพยาบาลยังได้รับเงิน  "ค่าบริการสาธารณสุข"จากผู้ป่วยที่ไปรับบริการสาธารณสุข เรียกว่า "เงินบำรุง"โรงพยาบาลซึ่งผู้อำนวยการมีอำนาจที่จะใช้เงินบำรุงในขอบเขตที่กำหนด เพื่อที่จะพัฒนาและปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์รวมทั้งจ้างเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขมาเพิ่มจากอัตราข้าราชการและลูกจ้างประจำเพื่อให้สามารถให้บริการที่สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว แก่ผู้ป่วยได้

แต่เมื่อเริ่มมีระบบ 30 บาทกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินที่จะจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลเลยและโรงพยาบาลก็เก็บเงินค่าบริการได้เพียงครั้งละ 30 บาทและต่อมาก็เก็บไม่ได้เลย ทำให้โรงพยาบาลขาดทั้งเงินงบประมาณแผ่นดิน และขาดเงินบำรุงโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินพัฒนาและปรับปรุงใดๆรวมทั้งไม่มีเงินจ้างบุคลากรที่ขาดแคลนอีกด้วยทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก และไม่มีความปลอดภัยในการไปรับบริการมากขึ้น

2.โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากเกินไป

โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ต้องรับภาระในการดูแลรักษาหรือให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ของระบบ30 บาท เพราะเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่นั้น ตอนแรกเมื่อเริ่มโครงการ 30 บาทก็เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทด้วย
แต่ในระยะต่อมารพ.เอกชนส่วนใหญ่ก็ถอนตัวออกจากการร่วมโครงการนี้ ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต้องรับภาระดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยมากขึ้นหลายเท่าตัวมีผู้ป่วยไปรับบริการสูงถึง 200 ล้านครั้ง/ปีในปัจจุบัน แต่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีไม่พอเพียง อาคารสถานที่ก็คับแคบ และจำนวนผู้ป่วยก็มากขึ้น ทำให้มีสภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลผู้ป่วยต้องเสียเวลาในการไปโรงพยาบาลเกือบทั้งวัน เพื่อจะมีเวลาได้พบหน้าแพทย์เพียง 2- 4 นาทีทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อความเสียหายหรือความเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่แพทย์อธิบาย ผู้ป่วยขาดความเชื่อมั่นในการรักษา ได้ยาไปกินแล้วสองสามวันไม่หายก็เปลี่ยนโรงพยาบาล ไปรักษาที่อื่น ทำให้จำนวนผู้ป่วยยิ่งมากขึ้นและภาระงานของโรงพยาบาลก็มากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

3.มาตรฐานการแพทย์ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขมีปัญหา

จากการที่สปสช.จ่ายเงิน "ค่าบริการสาธารณสุข"ให้แก่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลต่างๆไม่เพียงพอ แต่สปสช.กลับเอาเงินที่ควรจะส่งให้รพ.ไปทำโครงการในการรักษาโรคบางอย่างเองโดยไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.เช่นโครงการผ่าตัดต้อกระจก และโครงการอื่นๆอีกมากทำให้สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาโรคทั่วไปน้อยลง และสปสช.จำกัดรายการยาและรายการรักษา
ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่สามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสมและทันสมัยและในปัจจุบันนี้การจำกัดรายการยาแบบนี้กำลังจะถูกกรมบัญชีกลางนำไปใช้ในระบบสวัสดิการข้าราชการเพิ่มอีกด้วย การจำกัดรายการยาโดยอาศัยเพียงข้อจำกัดของงบประมาณจะทำให้ไม่มีการพัฒนาวิชาการทางการแพทย์ในระบบโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไปทำให้ประชาชนที่พอมีเงิน ต้องหันไปรับบริการจากโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น จนมีรายงานในตลาดหลักทรัพย์ว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% แต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขตกต่ำ ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากขึ้นทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และมีผลไปจนถึงการผลักดันให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แทนที่จะป้องกันการเสียหาย โดยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการเพื่อทำให้ประชาชนปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น การเกิดความเสียหายก็เป็นภัยต่ประชาชนส่วนการออกพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯก็ทำให้เกิดการต่อต้านจากบุคลากร เพราะเกรงว่าจะทำให้เสี่ยงภัยจากการถูกฟ้องร้องมากขึ้นไปอีก

4.สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าประชาชนจะ "เข้าถึง"บริการมากขึ้น แต่ความจำกัดเรื่องงบประมาณต่างๆดังกล่าว ประกอบกับประชาชนไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรเลยไม่มีการกำหนดกฎกติกา ว่าจะไปรับบริการสาธารณสุขได้ปีละกี่ครั้งจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ปีละกี่ครั้ง
จะต้องไปพบแพทย์ทั่วไปก่อนจึงจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ จะต้องมีหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างไรถ้าเจ็บป่วยเพราะพฤติกรรมไม่ดี เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทำให้ป่วยบ่อยต้องไปรพ.มากกว่าปีละกี่ครั้งจะต้องจ่ายเงินค่ายาในการรักษาด้วย
ถ้าไม่ป่วยเลยในปีนั้นๆก็อาจจะได้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณกันบ้างและควรให้ผู้ป่วยที่ไม่ยากจนต้องจ่ายค่ายยาตามอัตราส่วนเช่น10-20%ของมูลค่ายา ไม่ใช่ไม่จ่ายเลยหรือจ่ายแค่ครั้งละ 30 บาทซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก การที่ให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ายาก็เพื่อให้ตระหนักใน"มูลค่า"ที่ต้องจ่ายไปในการที่จะได้ยาเพราะคนไทยมักจะมองว่าของที่รัฐบาลให้นั้นมันฟรีไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่ามันก็มาจากเงินภาษีของทุกคนจึงใช้ของฟรีอย่างทิ้งๆขว้างๆโดยรัฐมนตรีก็ส่งเสริมการใช้ยาแบบทิ้งๆขว้างๆโดยการเอายามาแลกไข่ไปกินได้อีก (โดยยาที่แลกมาก็ต้องทิ้งไปเพราะไม่แน่ใจในชนิดและคุณภาพของยา)แต่สำหรับประชาชนที่ยากไร้และสมควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล(เช่นพิการ)ก็ควรจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงิน

5.งบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม และเป็นภาระหนักแก่งบประมาณแผ่นดิน

การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้มีการตั้งสำนักงาน มีกรรมการ อนุกรรมการและบุคลากรประจำสำนักงานสปสช.มากมาย และไปประจำทุกพื้นที่ของประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณบริหารสำนักงาน
เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงแก่บุคลากร กรรมการและอนุกรรมการมากมายทั้งๆที่มีหน้าที่เพียงแค่ บริหารกองทุน แต่ทำให้ต้องจ่ายเงินจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและกรรมการส่วนหนึ่งก็เป็นข้าราชการประจำที่ได้รับเงินเดือนประจำอยู่แล้ว
ก็มารับเงินเบี้ยประชุมอีกทำให้งบประมาณแผ่นดินถูกจ่ายซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข แต่เป็นกรรมการจากกลุ่มเอกชน ที่มีความใกล้ชิดกับสปสช.
และเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนรัฐบาลก็พยายามจำกัดงบประมาณ แต่ไม่กล้าที่จะบอกประชาชนว่าคุณภาพที่ดีๆนั้นหาไม่ได้จากราคาถูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพทย์ปัจจุบันก้าวหน้าไปทุกเวลา แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะบังคับให้ใช้แต่ยาเดิมๆซึ่งไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงบางอย่างได้

  นอกจากนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯยังไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างแท้จริง
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพก็แยกออกไปเป็นองค์กรอิสระนอกเหนือการควบคุมของนักการเมืองและราชการ
แต่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ในการทำงานโดยมีอำนาจการบริหารจากคณะกรรมการในรูปแบบเดียวกับสปสช. และบุคคลในกลุ่มเดียวกันซึ่งน่าจะเป็นการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง   ในการเป็นคณะกรรมการในองค์กรต่างๆเหล่านี้ เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ซึ่งมีองค์กรลูกอีกมากมายหลายองค์กร เช่น สรพ.(สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล)
สพตร.(คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาล) ซึ่งสพตร.นี้ก็ไปตรวจสอบการสั่งยาของแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆและระบุว่าแพทย์"ยิงยา"กล่าวคือสั่งยาโดยไม่ถูกต้องเพราะมีประโยชน์จากบริษัทยา พร้อมทั้งส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบ  ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีการทุจริตแต่อย่างใดกลายเป็นว่าสพตร.ที่มีแพทย์เพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกโรคกลับไปเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของผู้เชี่ยวชาญแบบนี้ สมควรหรือไม่?) ซึ่งสำนักงานต่างๆเหล่านี้ ต่างก็ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะได้รับงบประมาณแผ่นดินในการบริหารงาน แต่การดำเนินการต่างๆไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลว่าได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่

6.อวสานกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากการบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขนั้นขาดเอกภาพ กล่าวคือมีแต่ภาระงาน  ไม่มีงบประมาณ ไม่สามารถทำตามนโยบายใดๆได้ต้องทำตามคำสั่งและมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกอย่างตลอดไปจนการสั่งยาของแพทย์
จึงเท่ากับว่าไม่มีอำนาจใดๆในการทำงาน ต้องตกเป็น "เมืองขึ้น"ของสปสช. ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดองค์กรตระกูลส.ต่างดังกล่าวแล้ว ได้แก่สวรส.(และองค์กรลูกอีก 6 องค์กร) สสส. สช. และสปสช. ได้มองว่าการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากเขาได้บอกว่า ในอนาคตนั้น "ระบบสุขภาพ"นั้นจะไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล(รัฐมนตรี)และระบบราชการส่วนกลาง(ปลัดกระทรวง)เลย เพราะเขาบอกว่า สช.จะเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายผ่านการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและรัฐบาลต้องทำตามเพราะบัญญัติไว้แล้วในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550

 สสส.จะเป็นผู้จัดการให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ สปสช.จะเป็นฝ่ายควบคุมการบริหารงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจะเป็นผู้จัดบริการสาธารณสุข ข้อสุดท้ายนี้ ก็คือมหันตภัยอันยิ่งใหญ่ต่อระบบบริการสาธารณสุข
และกระทรวงสาธารณสุขจะถึงกาลอวสาน  (ไม่ต้องมีอยู่อีกต่อไป)

   พร้อมกับการอวสานของการบริหารราชการแผ่นดินโดยผู้แทนราษฎร(สส) และอวสานของมาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพราะกลุ่มองค์กรอิสระเหล่านี้ อ้างผลประโยชน์ประชาชนบังหน้า แต่แท้ที่จริงแล้ว จำกัดงบประมาณในการรักษาทำให้จำกัดมาตรฐานการบริการแต่ใช้งบประมาณตอบแทนพวกพ้องจนร่ำรวยไปตามๆกัน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
4 กันยายน 2555

5610
 อาชีพการเลี้ยงวัว-ควายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ควายไทยให้คงอยู่ แต่ปัจจุบันปริมาณวัว ควายไทยลดลงอย่างมากเนื่องจากมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ด่านพรมแดนสากลมุกดาหารพบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200 ตัว/วัน
       
       อาชีพการเลี้ยงโค กระบือเพื่อใช้งานและขายบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์โค กระบือไทยให้คงอยู่ ที่สำคัญยังสร้างรายได้เลี้ยงชีพครอบครัวเกษตรกร โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดทำโครงการรวมใจภักดิ์อนุรักษ์ควายไทย พร้อมจัดตั้งเป็นธนาคารโค-กระบือตามแนวพระราชดำริฯ สนับสนุนทั้งวัคซีนและเชื้อผสมพันธุ์ฟรีแก่เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงควาย
       
       แต่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าปริมาณการเลี้ยงโค กระบือไทยเพื่อใช้งานมีจำนวนลดลง จากข้อมูลจังหวัดมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 5,046 ครัวเรือน จำนวนควาย 20,539 ตัว เป็นควายที่สามารถใช้แรงงานได้เพียง 257 ตัว หรือประมาณ ร้อยละ 1.25 ของจำนวนควายทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าควายไทยที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและการอนุรักษ์หายไปไหน
       
       จากคำบอกเล่าของเกษตรกร พบว่าสาเหตุที่ปริมาณวัว ควายไทยลดลงก็เนื่องมาจากความนิยมในปัจจุบันเปลี่ยนจากการใช้แรงงานควายมาเป็นการใช้เครื่องจักรในการทำนา นอกจากนี้ มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประชากร “ควายไทย” ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ คือการส่งออก
       
       นางสาวพรพิมล สัตยาภินันท์ นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่บริเวณด่านพรมแดนมุกดาหาร พบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายไปลาว เวียดนาม และจีนมีมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีปริมาณวัว ควายที่ส่งออกรวมแล้ว 8,370 ตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ของวัว ควายไทย
       
       ดังนั้น แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์ควายไทยอยู่แล้วก็ตาม หากยังมีนายทุนที่มุ่งหวังรายได้จากการส่งออกเพื่อการค้า การส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ย่อมไม่ได้ผล ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์ควายไทยไม่ให้หายไปเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
       
       ปัจจุบันการส่งออก โค และกระบือที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขตแต่ละวัน มีการส่งออกไปแขวงสะหวันนะเขตประมาณ 200-400 ตัว โดยจะมีรถบรรทุกโค กระบือ มาจอดถ่ายโค กระบือที่ทางเข้าด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 มุกดาหาร เป็นจำนวนมากโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่มีการกักกันเพื่อรอตรวจหาโรคติดต่อที่มากับโค และกระบือ
       
       นางสาวพรพิมลระบุว่า โค กระบือที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ เพราะโค กระบือส่วนใหญ่ได้นำมาจากต่างจังหวัด หลายจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งการส่งออกที่จังหวัดมุกดาหารเห็นได้ว่าไม่มีการกักกันแต่อย่างใด เพราะรถบรรทุกที่ขนโค กระบือ จะมาขนถ่ายกันที่ถนนทางเข้าด่านสะพาน แล้วก็วิ่งผ่านด่านไปยังแขวงสะหวันนะเขต หากเป็นเช่นนี้วัว ควายในประเทศไทยคงจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2555

หน้า: 1 ... 372 373 [374] 375 376 ... 536