แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 444 445 [446] 447 448 ... 653
6676
กก.มรดกโลกมีมติเอกฉันท์ 21 เสียง รับ ‘พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช’ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกเหตุเข้า 3 หลักเกณฑ์ ‘กรมศิลป’ เร่งทำเอกสารก่อนเสนอมรดกโลกปี 2558
       
       นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 37 กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่า เวลาประมาณ 09.48 น.ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีมติเอกฉันท์ 21 เสียง พิจารณารับรองวาระ 8A ในการเสนอชื่อวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นตามที่ประเทศไทยนำเสนอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามกำหนดทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ หลักเกณฑ์ข้อ 1.เป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศของการสร้างจากอัจฉริยะของมนุษย์ เนื่องจากวัดพระมหาธาตุฯ เป็นสิ่งที่ตัวแทนของระบบความเชื่อทางพระพุทธศาสนาผ่านทางแผนผังและการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยได้แบ่งขอบเขตพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานของวัด บรรดาสถาปัตยกรรมและการประดับอาคารอุดมไปด้วยการสื่อความหมายปรัชญาทางพระพุทธศาสนาและพุทธประวัติ ซึ่งแสดงถึงแนวคิดของการออกแบบจากอัจฉริยภาพของมนุษย์
       
       ด้าน นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กล่าวว่า เมื่อได้การพิจารณาเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแล้วจากนี้ไปกรมศิลปากร และทาง จ.นครศรีธรรมราช ต้องเร่งจัดทำเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือ Nomination dossier เพื่อให้ทันต่อการเสนอวัดพระมหาธาตุฯ ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักพอสมควร เนื่องจากต้องมีความครบถ้วนของข้อมูล รวมทั้งสร้างแผนบริหารจัดการวัดพระมหาธาตุฯ ให้สมบูรณ์ที่สุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 มิถุนายน 2556

6677
ญาติโวย พ่อตาวัย 62 ป่วยปวดหลัง เอกซเรย์พบเส้นทับกระดูกสันหลัง แพทย์ รพ.ฝาง ผ่าตัดให้ ระหว่างพักฟื้นเกิดอาการช็อก มาเสียชีวิตที่ รพ​.มหาราชนครเชียงใหม่ อ้าง รพ.ฝาง ให้เลือดผิดกรุ๊ป ผู้ตายเลือดกรุ๊ป O แต่กลับนำเลือดกรุ๊ป B ด้าน ผอ.รพ.ฝาง รับผิดพลาดเพราะความเร่งรีบ หลังได้เลือดจากลูก จึงนำไปใช้... 

เรื่องราวสะเทือนวงการแพทย์รายนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 14 มิ.ย. 56 ร.ต.อ.ธัญชนะวุฒิ อุปทอง พงส.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากแพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ หลังมีคนไข้เสียชีวิตโดยได้ส่งมาจาก รพ.ฝาง มารักษา จึงรุดไปสอบสวน พบศพ นายอินถา ดีโลก อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 6 ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

จากการร่วมชันสูตรกับแพทย์ ทราบประวัติการส่งตัวว่า แพทย์ รพ.ฝาง ให้เลือดผู้ป่วยผิดกรุ๊ป ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการช็อก เมื่อมารักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งศพไปให้แพทย์ภาควิชานิติเวช ผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดอีกครั้ง

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 มิ.ย. 56 นายณณัฐรัชต์ ฟองมาลา อายุ 32 ปี ลูกเขยผู้ตายอยู่บ้านเลขที่ 22/2 หมู่ 4 ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ พร้อมญาติจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาฟังผลการผ่าชันสูตรพลิกศพและขอรับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด

นายณณัฐรัชต์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา พ่อตามีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ทางญาติจึงพาไปส่ง รพ.ฝาง ให้แพทย์รักษา แพทย์ได้ทำการเอกซเรย์แล้วพบว่ามีเส้นกดทับกระดูกไขสันหลัง จึงทำการผ่าตัดให้ เมื่อวันเดียวกัน จากนั้นได้นำนายอินถาออกมานักพักฟื้นที่ห้องไอซียู โดยมีพยาบาลนำเลือดมาเติมเพิ่ม เนื่องจากนายอินถาเสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด ซึ่งนายอินถามีเลือดกรุ๊ปโอ แต่เลือดที่พยาบาลนำมาเติมให้นั้นเป็นกรุ๊ปบี เมื่อเติมเลือดใหม่ผิดกรุ๊ปเข้าไป ทำให้นายอินถาไม่รู้สึกตัว จึงถูกส่งมารักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และช็อกเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ผลผ่าการชันสูตรศพของแพทย์ระบุว่า นายอินถาเสียชีวิตเนื่องจากเลือดไม่เข้ากัน (Blood incompatibilty)

นายณณัฐรัชต์ เผยว่า ทางญาติได้ขอรับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ส่วนจะเอาผิดกับ รพ.ฝาง และผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ ขอจัดการศพนายอินถาและปรึกษาญาติกันก่อน ว่าจะเอาอย่างไร เพราะอยากให้รายของนายอินถาเป็นรายสุดท้าย ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับคนไข้รายอื่นๆ อีก

ล่าสุด เมื่อเวลา 16.30 น. นพ.วิชญ์ สิริโรจน์พร ผู้อำนวยการ รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีนายอินถา ว่า ขั้นตอนในการผ่าตัดไม่มีผิดพลาด แต่ผู้เสียชีวิตมีเลือดประจำตัวกรุ๊ป O แต่ได้รับการสนับสนุนเลือดจากลูกผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นกรุ๊ป B ซึ่งตามปกติการขอสนับสนุนเลือด จนท.แล็ปจะเปลี่ยนเป็นเลือดที่ตรงกับกรุ๊ปเลือดของคนไข้ แต่ด้วยความเร่งรีบของ จนท.แล็ป เห็นว่าเป็นนามสกุลเดียวกัน จึงมอบไป หลังจากมอบไปแล้ว จนท.ตรวจสอบว่าผิดพลาด ก็ได้เร่งรีบแก้ไข แต่ไม่ทันการแพทย์นำคนไข้เข้ารักษาในห้องไอซียู เวลาเดียวกัน ได้เร่งนำคนไข้ส่งต่อ รพ.นครพิงค์ แต่ญาติขอส่งรักษาต่อที่ รพ.มหาราชฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลจะให้การช่วยเหลือและประสานเบื้องต้นแล้ว หลังเสร็จงานศพจะได้ประสานญาติผู้เสียชีวิตต่อไป โดยโรงพยาบาลไม่ได้มีการปกปิดข่าวแต่อย่างใด.

ไทยรัฐออนไลน์

    โดย ทีมข่าวภูมิภาค
    15 มิถุนายน 2556

6678
 “คณะทำงานพิจารณาค่าตอบแทนฯ” ตั้งคณะกรรมการย่อย 3 ชุดเร่งแก้ปัญหา “การปฏิบัติงาน-ค่าตอบแทน” แพทย์ชนบทขอสูตรเดิม ยืนตามฉบับ 4, 6 พร้อมเปลี่ยน P4P ใหม่เป็น PQO หรือเพย์ ฟอร์ ควอลิตี้ เอาต์คัม

    ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนฯ ว่า จะต้องร่วมกันทำภารกิจพิจารณาปรับปรุงแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ

1.การชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายพีฟอร์พีในช่วงที่ผ่านมา โดยแนวทางการชดเชยจะคิดจากระเบียบค่าตอบแทนฉบับเก่าลบด้วยค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งได้ให้คณะทำงานชุดย่อยไปสรุปจำนวนเงินเยียวยาและแหล่งที่มาของเงินว่าจากเอามาจากไหน จะจ่ายอย่างไร

2.การกำหนดระบบการประเมินผลงานที่เหมาะสมกับ รพ.ชุมชน (KPI) ซึ่งจะต้องมีการคุยกันในรายละเอียด เพื่อนำผลการพิจารณาร่วมกันเข้าสู่การจัดทำระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีการประเมินผลรายบุคคล เช่นเดียวกับการประเมินผลปฏิบัติงานรายปี ว่าใครทำอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน และ

3.การแก้ปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติงานสายอื่นที่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย

    ดร.คณิศกล่าวอีกว่า โดยสรุปการประชุมในวันนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการย่อย 3 ชุดขึ้นมาพิจารณาในแต่ละประเด็น โดยในส่วนของการชดเชยเยียวยาน่าจะเสร็จสิ้นไม่เกิน 1 เดือน แต่สำหรับกำหนด KPI และการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนในสายงานอื่นที่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยในวันที่ 21 มิ.ย. จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกันรายละเอียดการทำงานของคณะกรรมการย่อยให้ทันกับการเริ่มปฏิบัติตามพีฟอร์พีเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้

    นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยืนยันว่าเมื่อวานนัดหมายกับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เพื่อหารือถึงแนวทางในการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องการปรับ ครม.ไม่หนักใจถ้าโดนปรับออก เพราะตนตั้งใจมาทำงานให้นายกฯ ถ้านายกฯ จะเปลี่ยนตัวก็แล้วแต่ดุลพินิจ

    ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เนื้อหาที่พูดคุยคือการตั้งคณะทำงานชุดย่อย 3 ชุด ไปจัดทำรายละเอียดของแต่ละชุด โดยการเยียวยาชดเชยนั้นจะต้องดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย.2556 จนถึงวันที่มีการออกข้อบังคับ สธ.ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการฉบับที่ 10 ซึ่งข้อบังคับฉบับดังกล่าวจะพยายามเอาข้อบังคับฉบับที่ 4 และ 6 มารวมเป็นเนื้อเดียวกัน คาดว่าฉบับที่ 10 สามารถประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายลงได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท เนื่องจากมี รพ.ชุมชน (รพช.) ประมาณ 221 แห่งที่จะต้องปรับพื้นที่ใหม่ สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (เคพีไอ) ของบุคลากรใน รพช.นั้นจะไม่ใช้คำว่าพีฟอร์พี แต่จะเรียกว่าพีคิวโอ หรือเพย์ ฟอร์ ควอลิตี้ เอาต์คัม (Pay for Quality Outcome) หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามคุณภาพงาน ซึ่งแตกต่างจาก P4P ที่เก็บแต้มการทำงานเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าเนื้องานมีคุณภาพหรือไม่

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวการพูดคุยกับ รมว.สธ.ในวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า โดยหลักเป็นการพูดคุยกับ ดร.คณิต แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วน รมว.สาธารณสุขแค่มาทักทายเท่านั้น.

ไทยโพสต์    19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

6679
ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด คุมพีฟอร์พี รองปลัด สธ.เป็นประธาน ก่อนเริ่มใช้เดือนต.ค.นี้...

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการตั้งคณะทำงานย่อย 3 ชุด ได้แก่

1.คณะทำงานชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ  มี  พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องเงิน แหล่งที่มาของเงิน และระเบียบการเบิกจ่ายเงิน ส่วนแนวทางการชดเชยเยียวยามีความชัดเจนแล้ว คือ หากใครได้รับเงินน้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญก็จะได้รับการเยียวยาชดเชย

2.คณะทำงานกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (KPI) ของโรงพยาบาลชุมชน มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เป็นประธาน และ

3.คณะทำงานชุดย่อย กลุ่มผู้ปฏิบัติงานอื่น ที่อาจจะมีบางจุดเล็กๆที่ต้องปรับ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นประธาน และสามารถเริ่มใช้พีฟอร์พีพร้อมกันได้ในเดือน ต.ค.นี้.

ไทยรัฐออนไลน์

    โดย ทีมข่าวการศึกษา
    19 มิถุนายน 2556

6680
“P4P” หรือ Pay-for-Performance เป็นอาวุธที่ดีสำหรับโรงงานผลิต แต่ไม่ใช่สำหรับหมอรักษาคนไข้...ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย

กระนั้นก็มีความจริงอีกมุมที่ต้องสะท้อนออกมาเล่าสู่กันฟัง นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า รัฐบาลมองถึงเรื่องความมั่นคงของระบบประกันสุขภาพในอนาคต เนื่องจากใน 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่าตัว

“ในภาพรวมงบประมาณของประเทศไทยด้านสุขภาพใช้ไปราวร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด หากปล่อยให้งบก้อนนี้โตไปเรื่อยๆ ไม่เข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ก็จะไปกินงบ ประมาณลงทุนของประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่จะมาสร้างรายได้เข้าประเทศ”

รวมทั้งในอีก 22 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากประสบการณ์ ของประเทศญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เพราะคนสูงอายุต้องการการดูแลที่มาก กว่าคนปกติหนุ่มสาว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายแพทย์ประดิษฐ บอกว่า กระบวนการที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ทำได้หลายๆอย่าง อันดับแรกสุด เช่น ร่วมกันบริหารให้เป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสม หรือมีการแบ่งทรัพยากรกันใช้ เช่น โรงพยาบาลเล็กร่วมกันใช้ห้องผ่าตัด หรือมีการร่วมกันซื้อยาเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง
ในด้านกำลังคน ให้มีการแบ่งปันกำลังคนกัน เพราะถ้ายังบริหาร แบบเดิม...แต่ละโรงพยาบาลใช้คนที่แยกกัน คนก็จะไม่เพียงพอและต้องขอเพิ่มตลอด ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปเพิ่มคน

ขณะนี้เรามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เป็นงบประมาณด้านกำลังคนเกือบร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด การเพิ่มคนโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จะเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน ดังนั้นจึงมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำ P4P คือ...ประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง...รัฐบาลเข้าใจดีว่า การจ่ายเงินให้แพทย์หรือทันตแพทย์ในอดีต ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแบบเหมาจ่าย มีจุดประสงค์ส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังไม่ทั่วถึงกลุ่มบุคลากรอื่นๆ เช่น พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทำให้รายได้ยังเหลื่อมล้ำ ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้

นอกจากนี้ จับตาไปที่...เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่ผ่านมายังไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าให้ไปแล้วรัฐบาลต้องได้ผลลัพธ์อะไร จึงได้ทำ “P4P”...ขึ้นมา โดยมุ่งหวังว่าสิ่งที่ประชาชนจะได้ขึ้นมาคือ

1. เชิงปริมาณ กระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น 2.เชิงคุณภาพ โดยมีตัวชี้วัด ในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เช่น ลดอัตราการป่วยด้วยไข้เลือดออก หรือผู้ป่วยเบาหวานได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น

นับรวมไปถึงตัวชี้วัดคุณภาพด้านการรักษาพยาบาล เช่น การลดระยะรอคิว ผ่าตัดแล้วไม่มีการติดเชื้อ ทำให้คนไข้กลับบ้านเร็วขึ้น รักษาคนไข้หายเร็วขึ้น คุณภาพการรักษาและการบริการด้านอื่นก็ต้องดีขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยการปรับการจ่ายค่าตอบแทนครั้งนี้ มีเงินส่วนหนึ่งที่ให้เป็นค่าคงที่ แล้วบวกด้วย P4P...

สุดท้าย...จะได้ประโยชน์คือลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของภาครัฐกับเอกชน ได้เงินเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน...คุณภาพงานที่ชัดเจน ตอบคำถามรัฐบาลและประชาชนได้

“สำคัญที่สุด หัวใจของ P4P คือมีการวัดผล ซึ่งจะช่วยในเชิงบริหาร โดยผู้อำนวยการหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร ถ้าเราจะประเมินองค์กรหรือหน่วยงานของเราว่ามีผลงานที่ดีไหม สามารถรับใช้ประชาชนได้หรือไม่ ก็ต้องมีการวัดผล”

นายแพทย์ประดิษฐ ย้ำว่า ในกระบวนการของการทำ P4P ต้องวัดผล ทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น หัวหน้างานบริการบอกว่า คนเข็นเตียงทำไมชั่วโมงหนึ่งแล้วเข็นไปแค่ 2 เตียงเท่านั้น ทั้งๆที่ยังมีคนไข้นั่งรออยู่

“เท่านี้ก็วัดผลได้แล้วว่าทำไมเข็นไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคิวไม่ดี คุณภาพเปลไม่ดี เตียงไม่ดี จึงทำให้ทำงานไม่ได้ ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งการทำ P4P จะมีผลพลอยได้ตามมาอีกมาก...

และถ้าเราไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นการวัดผล เพื่อจะได้ปรับปรุงคุณภาพ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนได้แน่ๆ”
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนนั้น มีประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วย ในส่วนเจ้าหน้าที่...ในหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะเป็นการสะท้อนการอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ยาก ขาดแคลน ซึ่งต้องจ่ายเป็นอัตราคงที่

อีกส่วนคือ “การจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน” หรือ “P4P” เป็นการจ่ายเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานเกินเกณฑ์ ซึ่งหลักการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คิดว่าหลักการนี้ทุกคนเห็นตรงกัน ส่วนในรายละเอียด เช่น พื้นที่ วิธีการจ่าย วิธีการเก็บคะแนน และวงเงินที่จ่ายนั้น ในระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ก็เปิดให้มีการปรับเพื่อให้สอดคล้อง และไม่แข็งตัวเกินไป เป็นอำนาจของผู้ตรวจราชการ...ผู้บริหารกระทรวงฯ

น่าสนใจสำหรับประโยชน์ในส่วนของประชาชน นายแพทย์ณรงค์ สะท้อนว่า ในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน การคิดค่าคะแนนไม่เพียงการรักษาพยาบาลอย่างเดียว ยังครอบคลุมถึงการส่งเสริม ป้องกัน งานวิชาการ งานเยี่ยมบ้านและอื่นๆ

“ผลทำให้กิจกรรมบางอย่างที่ไม่เคยได้รับการบันทึกก็จะถูกบันทึก และจะทำให้คนทำงานในส่วนนั้นๆ ได้เห็นคุณค่าของงาน ซึ่งผลประโยชน์จะกลับมาที่ประชาชน”

โรงพยาบาลหลายแห่งที่ดำเนินการมาแล้ว ได้ผลประเมินชัดเจนว่า ทำให้เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นที่จะทำงาน แม้กระทั่งระดับปฏิบัติการ เช่น เวรเปล ซึ่งจะมีการบันทึกคะแนน

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เขามองถึงปริมาณและคุณภาพที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะช่วยในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ทั้งในส่วนของนักเรียนทุนรัฐบาลและในส่วนของนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก็คือจะพยายามให้เกิดความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด

ประเมินความก้าวหน้าของการทำ “P4P” มีข้อมูลว่า...ขณะนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ได้เริ่มเก็บข้อมูลแล้ว

หลังจากที่ได้ชี้แจงผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของ 800 กว่าแห่งเข้ามารับฟัง และมีหลายแห่งที่พร้อมที่จะจ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

ส่วนในภาพรวมของโรงพยาบาลชุมชนก็พยายามจะทำความเข้าใจร่วมกันกับผู้บริหารระดับเขต ผู้บริหารระดับจังหวัด เตรียมพร้อมที่จะทำเรื่องนี้ ส่วนที่มีหลายคนได้สะท้อนปัญหาการทำ เช่น การปรับเงิน วงเงินน้อยไป ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไปดู

นโยบายรัฐบาลชัดเจนว่า ถ้าประหยัดหรือเพิ่มประสิทธิภาพได้ เงินก้อนนั้นก็น่าจะเอากลับมาใช้เป็นค่าตอบแทน...ทั้งหมดเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญและเป็นหัวใจของ “P4P” อีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องรับฟัง.

ไทยรัฐฉบับพิมพ์
6 มิถุนายน 2556

6681


แถลงการณ์ กลุ่มแพทย์อาวุโสโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป    โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์   โรงพยาบาลชุมชน
ณ ห้องสมุด กรมการแพทย์   วันที่ 14   มิถุนายน  2556

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 2-3  เดือนที่ผ่านมา  พวกเราซึ่งเป็นแพทย์อาวุโส โดยหลายท่าน รับราชการในกระทรวงต่อเนื่องมา เกือบ 30 ปี รู้สึกไม่สบายใจ กับเหตุการณ์ ความไม่เข้าใจกันของผู้บริหารกระทรวงฯ กับผู้ปฎิบัติ  นำมาซึ่งความร้าวฉาน และกลายไปเป็นเรื่องการเมือง อย่างที่ไม่ควรจะเป็น

กระทรวงสาธารณสุขเปรียบเหมือนร่างกาย  ที่มีอวัยวะ ครบ 32  ทุกอวัยวะล้วนมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้   เปรียบเหมือนโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป สถาบันทางการแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์  โรงพยาบาลชุมชน  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล   ทั้งหมดคือพวงบริการ ในระบบบริการสุขภาพ ที่ต้องพึงพาอาศัยกัน  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะแตกต่างก็เพียงแค่บริบทในการให้บริการเท่านั้น  

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ต้นตอน่าจะมาจากการพูดคุยกันน้อยไป  ทำความเข้าใจ สื่อสารกันได้ไม่ทุกระดับ  สุดท้ายเมื่อไม่เข้าใจกัน การพูดคุยกันในภายหลังยากที่จะเข้าใจกัน  ความหวาดระแวงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว  จะทำลายระบบสาธารณสุขของเราซึ่งเข้มแข็ง  อยู่แล้วให้อ่อนแอลง  ปัญหานี้ เรากลุ่มแพทย์อาวุโส  มีความคิดว่า ไม่ควรโทษว่าใครถูก ใครผิด  แต่เราควรมาหาแนวทางว่า เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อองค์กร และคนไข้ของเรา โดยที่ไม่มีการหวาดระแวง ซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในเวลานี้

พวกเรากลุ่มแพทย์อาวุโสจึงชวนกันมานั่งพูดคุย  ซึ่งพวกเราไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไร กับปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น  แต่เห็นว่าปัญหาน่าจะมาจาก  เรื่องการทำ  p4p ที่จะต้องจดบันทึก ล่าแต้มมาแลกเงิน  ทำให้ขาดซึ่งศักดิ์ศรี ความเป็นวิชาชีพ( ข้อเสนอของฝ่ายหนึ่ง)  กับความหวังดีของผู้บริหารกระทรวง  ที่ต้องการให้บุคลากรมีรายได้เหมาะสมกับความยากลำบากในการปฎิบัติงาน ในลักษณะงานอันเป็นที่น่ารังเกียจ(ทำงานสัมผัสกับโรคติดต่อ สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ) ในสายตาของบุคคลอื่น  แต่เป็นอาชีพที่มีเกียรติยิ่งในวิชาชีพที่พวกเรารัก  หลังจากที่เราได้พูดคุยกัน จึงมีมติ เสนอให้ทุกกลุ่มวิชาชีพ ได้พิจารณา  แนวทางที่น่าจะเหมา ในการเดินหน้าระบบสาธารณสุขของเรา ดังนี้

1. ขอให้ปรับเปลี่ยนการทำ P4P แบบจดแต้ม แลกเงิน ซึ่งเป็นภาระในการปฎิบัติ และไม่เหมาะสม กับวิชาชีพที่ให้บริการผู้เจ็บป่วย ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม  และอาจทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่บุคลากรของกระทรวง  โดยเปลี่ยนเป็นงานประจำสู่คุณภาพบริการ  หรือ  Routine to  P4P  หลายท่านอาจไม่ชอบ  P4P  ก็อาจใช้คำไทยดังกล่าวข้างต้นก็ได้  โดยใช้หลักฐานการทำงาน ที่ปรากฏใน  43  แฟ้ม จากโปรแกรมทางการแพทย์  HOS  XP  ที่ใช้กันอยู่เกือบทุกโรงพยาบาล  และทุกหน่วยงานของโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้ง รพ.สต.  ซึ่งไม่ต้องจดบันทึก แบบทำมือ  แต่มันเป็นการบันทึกที่เราต้องทำกันเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว นำผลงานจาก 43 แฟ้มดังกล่าว มาใช้กำหนด วงเงินที่จะจ่ายตอบแทนให้กับหน่วยบริการ  ตามเกณฑ์ที่คณะทำงานประชุมตกลงในระดับกระทรวง จากนั้น หน่วยบริการนำเงินดังกล่าวจ่ายให้กับบุคลากรในหน่วยบริการทุกคน รวมทั้ง back office  ตามสัดส่วนที่กล่าวต่อ ในข้อที่  2.

2. เร่งดำเนินการจัดทำ bench mark ในเรื่องรายได้ของบุคลากร ทุกสาขาอาชีพในกระทรวง เที่ยบกับรายได้ของวิชาชีพ ที่เหมือนกันในภาคเอกชน โดยเปรียบเทียบรายได้ในสัดส่วนที่เทียบกับภาคชน ที่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 หรือเท่าเทียมกัน  แล้วนำมาคำนวนเป็นสัดส่วน  ร้อยละ เพื่อเป็นมาตรฐาน ในการจ่ายเงินให้กับบุคลากร ตามข้อ 1. ต่อไป (ไม่ควรนำวิชาชีพ มาเทียบเปรียบกัน อย่างที่กระทรวงดำเนินการไปแล้ว ขอให้แก้ไข เพราะเป็นการเหลื่อมล้ำ  และแตกแยก )

3. ผลักดันให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นข้าราชการ กสธ. พ้นจากเงามืด ของ กพ. เพื่อให้ตอบสนองกับลักษณะงาน และเพิ่มบุคลากรที่จำเป็น ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้มีเลิอดใหม่ มาถ่ายเลือดเก่าที่อายุมากแล้ว ไม่สมควรปฎิบัติงานในลักษณะ เป็นเวรผลัดได้  นอกจากนี้ สามารถกำหนดเพดานเงินเดือนให้สอดรับกับลักษณะงานอันที่น่ารังเกียจและมีความรับผิดชอบสูง ดังกล่าวข้างต้น  เทียบเคียงกับข้าราชการตุลาการ  ซึ่งในระยะยาว จะได้ไม่ต้องมีปัญหากับสำนักงบประมาณ ในเรื่องเงินกินเปล่า  ฉบับที่   4  6  7 และ 8  ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

4. สร้างความรักสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น ลดกลุ่มก้อนผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดพวงบริหารทางการแพทย์ที่แท้จริง อันได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป   โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะงานที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ในการให้บริการแก่ประชาชน

5. กระทรวงฯ ควรปรับแนวทางในการสื่อสาร ให้บุคลากรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ การปฎิบัติงานอันเป็นการเพิ่มภาระงาน  โดยการทำพิจารณ์ หาข้อเสนอแนะของบุคลากรทุกสาขาอาชีพในกระทรวง ด้วยความเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ลดแรงต้านทาน ที่อาจเกิดขึ้น ดังในปัจจุบัน

6. กระทรวงฯ อาจขอความร่วมมือจากสำนักงานสถิติจังหวัด ประเมินความพึงพอใจของผู้มารับบริการ ในสถานบริการแต่ละระดับ ซึ่งเป็นคนกลางที่ยอมรับได้  เพื่อประเมินผลงาน ที่ทำกันในข้อที่ 1. ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ  ผู้มีส่วนได้เสีย  เพื่อเป็นการบ้านให้ผู้บริหารในทุกระดับ  ดำเนินการปรับปรุงระบบบริการ ให้มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการของประชาชน และบริบทของหน่วยงานตนเอง

...

6682
 “หมอเกรียง” เชิดใส่ ไม่ขอร่วมประชุมตั้ง คกก.P4P บอกไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ต้องทำผ่าน “สุรนันทน์” เตรียมรวมตัวเคลื่อนไหว รร.เอเชีย แอร์พอร์ต 20 มิ.ย.แทนหน้าบ้านนายกฯ เพื่อหารือก่อนเคลื่อนพลต่อ ขณะที่ “หมอประดิษฐ” ขอรายชื่อ คกก.P4P และตรวจข้อมูล อภ.13 มิ.ย.

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
   
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการ P4P ปรากฏว่า ชมรมแพทย์ชนบท ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วม เนื่องจากข้อตกลงในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. คือ การตั้งคณะกรรมการ และดำเนินการเรื่อง P4P จะต้องทำผ่านนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขานุการการประชุม แต่การเรียกประชุมครั้งนี้กลับเป็น สธ.โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.เป็นประธาน ซึ่งมองว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลง ที่สำคัญพวกตนก็ไม่เชื่อมั่นว่า สธ.จะทำตามข้อเสนอที่ต้องการให้ใช้รายละเอียดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโรงพยาบาลชุมชนตามฉบับ 4 และ 6 การทำ P4P ต้องสมัครใจ และการเพิ่มค่าตอบแทนให้วิชาชีพอื่นด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าการไม่เข้าร่วมจะถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ เพราะ ครม.ได้มอบให้ นพ.ประดิษฐ ดำเนินการตามข้อตกลง นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ข้อตกลงไม่ใช่ให้กระทรวงเรียกประชุมตั้งคณะกรรมการ P4P และไม่ใช่ว่าไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากพวกตนเตรียมรายชื่อที่จะเสนอเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้แล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 13 มิ.ย.และจะส่งให้นายสุรนันทน์ และ ดร.คณิศ
       
       “การเสนอ ครม.ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดต้องเสนอวาระ 2 ครั้ง โดย รมว.สาธารณสุข เสนอข้อสรุปวาระที่ 6 เลขาธิการนายกฯ เสนอเข้าวาระที่ 7 แต่เป็นวาระของทั้ง สธ.และของเครือข่าย ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดต้องแยกกัน ไม่รวมกันเป็นวาระเดียว แสดงให้เห็นว่าต้องการเฉไฉอะไรหรือไม่” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
       
       เมื่อถามว่าจะเดินหน้าประท้วงหน้าบ้านนายกฯอีกหรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ล้มเลิกความคิด โดยในวันที่ 20 มิ.ย.แทนที่จะไปรวมตัวกันที่บ้านนายกฯ บุคลากรโรงพยาบาลชุมชนกว่า 800-1,000 คน จะรวมตัวกันที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต โดยจะนัดประชุมเพื่อติดตามปัญหาและหารือการเคลื่อนไหวว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากสุดท้ายไม่ได้ข้อยุติเรื่องนี้พวกตนอาจจะเดินทางจากโรงแรมเอเชียไปบ้านนายกฯก็เป็นได้ เพราะอย่างไรเสียจะไม่ยอมหยุด แต่จะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป
       
       ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อในส่วนของแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เบื้องต้นมีดังนี้ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตภูธร ได้แก่ ทพ.วัฒนา ทองปัสโณว์ โรงพยาบาลยุพราช จ.เลย, นพ.ยุทธนา สุทธิธนากร ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน คือ นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี รพ.50 พรรษา จ.อุบลราชธานี ตัวแทนผู้ป่วยฯ คือ นายธนพล ดอกแก้ว รองประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ชมรมคนรักหลักประกันสุขภาพ คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ส่วนสหภาพ อภ.คือ นายระวัย ภู่ระกา
       
       วันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียกประชุมตัวแทนกลุ่มวิชาชีพในหน่วยบริการทุกระดับ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทน P4P และหารือแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา P4P ว่า การประชุมเป็นการดำเนินการตามมติที่ตกลงให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษา P4P โดย ดร.คณิศ เลขานุการการประชุมหารือร่วม 3 ฝ่ายจะเป็นประธานคณะกรรมการ และมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นเลขานุการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันเพื่อให้ทันใช้ P4P วันที่ 1 ต.ค. 2556 โดยจะพิจารณาเรื่องค่าชดเชยกรณีทำและไม่ทำ P4P ส่วนการพิจารณารายละเอียดการทำ P4P ของโรงพยาบาลชุมชนนั้น จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการย่อยเพื่อศึกษาว่า บริบทเป็นอย่างไร เพราะโรงพยาบาลชุมชนเน้นการทำงานเชิงส่งเสริมป้องกันก็ต้องวัดผลการปฏิบัติงานตามนั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับสัดส่วนคณะกรรมการ เบื้องต้นขอให้ทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเสนอเข้ามาภายในวันที่ 13 มิ.ย. ส่วนรายชื่อสำหรับคณะทำงานที่จะเข้าไปดูข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยเฉพาะกรณีข้อเท็จจริงการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผอ.อภ.ขอให้ส่งมายัง ดร.คณิศ ภายในวันดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อที่ตนจะได้ประกาศแต่งตั้งทั้ง 2 ชุดอย่างเป็นทางการ พร้อมทำงานได้ภายในสัปดาห์หน้าทันที
       
       “ส่วนที่แพทย์ชนบทไม่เข้าร่วมประชุม ทราบว่าได้ให้เหตุผลว่า มีการสื่อสารคลาดเคลื่อน เพราะแพทย์บางส่วนเดินทางกลับต่างจังหวัด เดินทางมาเข้าร่วมไม่ได้” นพ.ประดิษฐ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 มิถุนายน 2556

6683
พบพะเยามีสถิติดื่มแอลกอฮอล์สูงสุดอันดับ 1 ของประเทศ โดยเฉพาะนักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ดื่มสุราเถื่อนสูงสุด พ่อเมืองแนะบังคับใช้กม.ในพื้นที่อย่างจริงจัง ควบคุมการดื่ม...

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. พระราชวิริยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีสรุป และหารือทิศทางการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยา  ซึ่งศูนย์ประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยาจัดเวทีดังกล่าวขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดทิศทางการทำงาน และยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาด้านแอลกอฮอล์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งผู้ร่วมบรรยาย โดยระบุว่า  จากสถิติของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด ปี 2554 ทั้งหมด 8 ด้าน พบว่า จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดที่มีสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ใน 4 ด้าน โดยเป็นจังหวัดที่มีความชุกของนักดื่มในประชากรผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) , เป็นจังหวัดที่มีความชุกของนักดื่มในประชากรวัยรุ่น (15 – 19 ปี) , เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษีในนักดื่มผู้ใหญ่  และเป็นจังหวัดที่มีดัชนีคะแนนความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์สูงสุดของประเทศ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาที่ได้ผลคือ การจัดการกับปัญหาและลดความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด จึงควรมีนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง.

ไทยรัฐออนไลน์ 11 มิย 2556

6684


๘ มิถุนายน ๒๕๕๖
สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

   เรื่องราวของ “คุณชายหมอ” หรือ “ม.ร.ว.พุฒิภัทร จุฑาเทพ” ศัลยแพทย์หนุ่มฝีมือดีผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมอง เล่นเอาสาวๆ และไม่สาว ทั่วพระนคร รวมถึงตามหัวเมืองต่างๆ ให้กรี๊ดกร๊าด และอยากจะเป็นคนไข้กันทั่วบ้านทั่วเมือง (แม้จะเป็นโรคทางสมองก็เถอะ) ทำให้ในชีวิตจริงของ นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร รองประธานสมาพันธ์ฯ ซึ่งเป็น neuro ศัลย์ ต้องไปลดความหล่อเหลาลงบ้าง เผื่อคนไข้จะลดลงไปด้วย …...สาธุ

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราชาวสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญ และเตรียมพร้อมรับมือยังทันท่วงที เพราะ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เป็นหน่วยงานที่ใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับต้นๆของแต่ละจังหวัด บางโรงพยาบาลใช้ไฟฟ้ามากกว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กบางโรงจะผลิตได้ หากเกิดไฟฟ้าดับ เชื่อว่าทุกโรงพยาบาลคงมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้แล้วโดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน  ห้องผ่าตัด และเครื่องช่วยหายใจในICU แต่อย่าลืมเตรียม น้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟให้เพียงพอด้วย ถ้ามีไฟดับยาวนาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์เราด้วย

วันที่ ๖ มิ.ย.นี้ มีการประชุม ๓ ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ คือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เพื่อหาข้อยุติปัญหานโยบายสาธารณสุข โดยเฉพาะ P4P ซึ่งมีข้อสรุป คือ จัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีตัวแทนจากทุกวิชาชีพเข้ามาร่วมทำงาน ทำหน้าที่ ๒ เรื่องหลัก คือ

๑.ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และ
๒.คิดมาตรการเยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการทำ P4P หรือไม่ได้ทำ P4P เพราะมีสาเหตุจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.ที่ระบุให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ครอบคลุมบุคลากรที่ต่อต้านการทำ P4P

ทั้งนี้ การเยียวยาจะย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย.-๑ ต.ค.โดยเป็นลักษณะของการชดเชยส่วนต่างค่าตอบแทนเมื่อเทียบระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิมกับการจ่ายแบบ P4P คาดว่าคณะทำงานจะใช้เวลาดำเนินการ ๒ เดือน โดยกลุ่มแพทย์ชนบท เสนอมาตรการเยียวยาต้องใช้ตามประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ ๔ และ ๖ จึงจะยอมรับได้   ซึ่งรายละเอียดของการเยียวยานี้ ทางสมาพันธ์ฯจะติดตามอย่างใกล้ชิด และถ้ารพ.ไหนมีปัญหาหรืออยากจะเสนอแนะเรื่องP4P ช่วยนำเสนอ มายัง http://www.thaihospital.org  สมาพันธ์ฯจะรับเป็นแกนนำในการปรึกษาหารือกับปลัดกระทรวงฯและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เรื่องการปฎิรูปกระทรวงกันครั้งใหญ่ ของท่านปลัดฯ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ต่อจากฉบับที่แล้ว จะเล่าให้อ่านในโอกาสต่อไป
                สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย


6685


ผลหารือ P4P "หมอประดิษฐ" จ่อรายงานเข้าครม. แพทย์ชนบทบอกพอใจ-รอดูท่าทีรัฐบาล
มติชน   วันที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการหารือเพื่อหาข้อยุติปัญหาที้เกิดจากนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรววงสาธารณสุข หรือ นโยบาย P4P ล่าสุด นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการหารือร่วมทั้ง 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า หลักการทำ P4P ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการของประชาชน โดยหนึ่งในมาตรการคือ เรื่องของเงิน และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรแต่ละวิชาชีพ ทั้งนี้ การทำ P4P ต้องหมาะสมกับบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีกติกากลางให้กับหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ส่วนหลักเกณฑ์รายละเอียดปลีกย่อยนั้น ต้องมาหารือร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการ โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามา ร่วมทำงาน โดยทำหน้าที่ 2 เรื่องหลัก คือ การปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และการคิดมาตรการเยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาล ที่สังกัดที่ทำ P4P หรือ สถานพยาบาลไม่ได้ทำ P4P ที่มีสาเหตุมาจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนได้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. และสำหรับการประชุมครั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะรายงานให้ครม. ได้รับทราบต่อไป
 
ด้านเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า โดยภาพรวมพอใจกับการหารือครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของคนไทยไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้น เพราะจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพที่ดี มีแพทย์ที่จะทำงานอยู่ในชนบท โดยจากการเจรจาในวันนี้ถือว่าเป็นที่พอใจระดับหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้จะขอรอดูรายละเอียดที่รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ สุข เสนอต่อครม. ในวันที่ 11 มิถุนายน นี้ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะมีการชุมนุมในวันที่ 20 มิถุนายน ที่บ้านนายกรัฐมนตรี แต่หากรัฐบาลมีความจริงใจ ทำตามข้อเรียกร้องในทุกด้านก็คงจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
...

"หมอประดิษฐ-แพทย์ชนบท”จูบปากเดินหน้าพีฟอร์พี
เดลินิวส์   วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556

สุรนันทน์” หย่าศึก “หมอประดิษฐ-แพทย์ชนบท” ยอมผ่อนปรน รพ.ไม่พร้อมทำพีฟอร์พีให้ชะลอไปก่อน ตั้ง “ดร.คณิต”กำหนดหลักเกณฑ์กลาง ก่อนดำเนินการ 1 ต.ค.56 ด้าน “หมอเกรียง”ประกาศชัยชนะ พอใจภาพรวมเจรจา
วันนี้ (6 มิ.ย.)  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาหาทางออกกรณีความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายความ เป็นธรรมในระดับสุขภาพ นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) ใช้เวลากว่า 4 ชม.
นายสุรนันทน์ แถลงว่า ดีใจที่มีการคุยกัน ซึ่งคงไม่จบในวันเดียว เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีด้วย ส่วนรายละเอียดขอให้ไปคุยนอกรอบ เวทีนี้ยังเปิดอยู่หากจำเป็นก็ยินดี ซึ่ง นพ.ประดิษฐต้องไปทำงานต่อโดยตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการมีตัวแทนจากทุกภาค ส่วนมาคุยกันด้วยบรรยากาศแบบนี้และควรกำหนดระยะเวลา เพราะนายกฯไม่อยากให้ใช้เวลานาน อะไรที่ต้องเยียวยา ชดเชย ทาง รมว.สาธารณสุขจะไปดำเนินและรายงานให้ ครม.ทราบในการประชุมสัปดาห์หน้า
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ฟอร์พีไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน คงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมากติกาหลายข้ออาจทำให้หน่วยบริการไม่พร้อมไม่เข้าใจจึงเห็นพ้องต้อง กันว่า ถ้าหน่วยบริการไม่พร้อมทำในขณะนี้สามารถชะลอได้ แต่วันที่ 1 ต.ค.2556 น่าจะดำเนินการได้ แต่เพื่อขจัดปัญหาในการดำเนินการน่าจะมีคณะทำงานมาปรับปรุงแก้ไขกติกาเป็น กติกากลางระหว่างนี้หากมีผู้ได้รับผลกระทบจะต้องเยียวยาให้รวมถึงหน่วย บริการที่ไม่ทำพีฟอร์พี ตนจะตั้งคณะทำงาน 1 ชุดประกอบด้วยแพทย์จาก รพ.ทุกระดับพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หวังว่าต่อจากนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลพัฒนาพีฟอร์พีที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีทิฐิ
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า พอใจในภาพรวมการเจรจา ถือเป็นชัยชนะของประชาชนทุกคน ทั้งนี้มีการรับปากว่าจะมีมาตรการเยียวยาโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับค่าตอบแทน ฉบับที่ 4 และ 6 ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. หลังจากนี้จะจัดทำระเบียบฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับระเบียบเดิมและเพิ่มความ เป็นธรรมในกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ มี ดร.คณิต แสงสุพรรณ เป็นประธาน คิดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือน ส่วนพีฟอร์พีให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้ต้องทำหลักเกณฑ์ให้ รพ.อยากทำ ส่วนจะเคลื่อนไหวต่อหรือไม่ขอดูมติ ครม.ก่อน ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐยังคงอยู่แต่ให้เป็นดุลยพินิจนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเจรจาเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพได้หารือกันต่อ โดยบางคนยังข้องใจในการยอมรับมติดังกล่าว ถึงกับพูดว่า ดูเหมือนพวกเราสลายม็อบด้วยตัวพวกเราเองจนแกนนำต้องอธิบายให้เข้าใจว่ายัง ต้องมีการติดตามรายละเอียดที่จะเข้า ครม.ต่อไป.
...

มติ3ฝ่ายตั้งทีมดูp4p-เยียวยาคน
มติร่วม 3 ฝ่าย ตั้งคทง.จัดทำหลักเกณฑ์ p4p ให้สอดคล้องบริบทหน่วยบริการ - ออกมาตรการเยียวยาบุคลากร 'แพทย์ชนบท' ยันเดินหน้าปลด 'หมอประดิษฐ'

คมชัดลึก  6 มิถุนายน 2556

               เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการหารือโต๊ะกลมร่วมกันของ 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาอขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี(Pay for Performance :P4P) ประกอบด้วย นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี ,นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กลุ่มคนรักหลักประกันฝ่ายละ 15 คน โดยใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งการเจรจาโต๊ะใหญ่ และกลุ่มย่อยระหว่างการรับประทานอาหาร
                ในเวลา 14.00 น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. กล่าวหลังเสร็จสิ้นการหารือว่า 3 ฝ่าย มีมติร่วมให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกวิชาชีพด้านสาธารณสุข เข้ามาร่วมทำงาน โดยทำหน้าที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และ 2. คิดมาตรการชดเชย เยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาลที่สังกัดทำพีฟอร์ พี หรือสถานพยาบาลไม่ได้ทำพีฟอร์พีที่มีสาเหตุจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วน กลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ โดยการเยียวยาชดเชย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ระบุให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ครอบคลุมบุคคลากรที่ต่อต้านการทำพีฟอร์พี
                นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มแพทย์ชนบทเข้าใจตรงกันว่า การคัดค้านเกิดจากความไม่พร้อมของหน่วยบริการ ไม่ใช่การต่อต้านการทำพีฟอร์พี โดยการเยียวยาจะย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 1 ตุลาคม 2556 ในการเยียวยาจะเป็นลักษณะของการชดเชยส่วนต่างค่าตอบแทนเมื่อเทียบระหว่าง เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิมกับการจ่ายแบบพีฟอร์พี คาดว่า คณะทำงานจะใช้เวลาดำเนินการ 2 เดือน ทั้งนี้ ตนจะนำรายละเอียดของการหารือร่วมกันรายงานเป็นความก้าวหน้าต่อ ครม.ในการประชุมสัญจรที่จะถึงนี้
                "ระหว่างที่คณะทำงานชุดนี้ทำงาน สถานพยาบาลที่มีความพร้อมก็เดินหน้าทำพีฟอร์พีไปตามปกติ ส่วนสถานพยาบาลที่ไม่พร้อมก็ส่งรายละเอียดมายังกระทรวงฯว่าไม่พร้อมด้วย เหตุผลใด เพื่อที่กระทรวงฯจะได้เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน หลังจากนั้นเมื่อกฎ ระเบียบที่มีการกำหนดโดยคณะทำงานชุดนี้แล้วเสร็จ เชื่อว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จะมีการทำพีฟอร์พีในทุกสถานพยาบาลในสังกัด จะไม่มีข้อข้องใจว่าไม่พร้อมหรือหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสมอีก เพราะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละสถานพยาบาลแล้ว "นพ.ประดิษฐ กล่าว
                รมว.สธ. กล่าวต่ออีกว่า 3 ฝ่ายยังเห็นตรงกันว่า หลักการทำพีฟอร์พีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและส่งผลต่อคุณภาพการให้ บริการของประชาชน ,มีความจำเป็นที่จะต้องตรึงบุคลากรไว้ในพื้นที่ชนบท ซึ่งหนึ่งในมาตรการ คือ เรื่องเงิน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรแต่ละวิชาชีพ และการทำพีฟอร์พีต้องหมาะสมกับบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่หรือระดับของ หน่วยบริการ จึงต้องมีกติกากลางให้กับหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ส่วนหลักเกณฑ์รายละเอียดปลีกย่อยต้องมาหารือร่วมกับเพื่อให้สอดคล้องกับ บริบทของหน่วยบริการ
                ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า โดยภาพรวมพอใจกับการหารือครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของคนไทยไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้น เพราะจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพที่ดี มีแพทย์ที่จะทำงานอยู่ในชนบท โดยจากการเจรจาในวันนี้ถือว่าหลักการเป็นที่พอใจ ซึ่งหลังจากนี้จะขอรอดูรายละเอียดที่รมว.สธ.จะเสนอต่อครม. หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะมีการชุมนุม แต่หากรัฐบาลมีความจริงใจ ทำตามข้อเรียกร้องในทุกด้านก็คงจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
                นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรายชื่อของคณะทำงานจะเสนอตัวแทนจากเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบ สุขภาพทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มคนรักหลักประกัน และชมรมแพทย์ชนบท เพื่อหารือในหลักเกณฑ์การทำงานและจาการหารือในวันนี้ นพ.ประดิษฐมีความเข้าใจว่าขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนไม่มีความพร้อมในการใช้หลัก เกณฑ์การทำพีฟอร์พีตามที่กระทรวงฯกำหนด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงฯที่จะสร้างกติกาให้โรงพยาบาลทั้งหมด อยากทำพีฟอร์พีแบบสมัครใจ ซึ่งจะเป็นงานต่อจากนี้ที่คณะทำงานจะดำเนินการร่วมกัน
 
               "มาตรการเยียวยาต้องเป็นการใช้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ย เลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ6 แพทย์ชนบทจึงจะยอมรับได้ โดยจะต้องจัดทำเป็นหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่อีก 1 ฉบับ เป็นฉบับที่ 10 เพื่อกำหนดให้ระหว่างการดำเนินงานของคณะทำงานใช้การจ่ายค่าตอบแทนตามฉบับ 4 และ 6 ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ปลดนพ.ประดิษฐออกจากรมว.สธ.ยังยืนยันข้อเรียกร้อง เดิมโดยได้มอบเอกสารเหตุผลให้นายสุรนันท์เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อ พิจารณา "นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
...

ประดิษฐถอย"P4P"ตั้งกก.ร่วมทุกฝ่ายแก้ปัญหา
Post Today 06 มิถุนายน 2556

"ประดิษฐ"ยอมปลดล็อค!ไม่บังคับโรงพยาบาลชุมชนใช้ P4P พร้อมตั้งกรรมการร่วมแพทย์ชนบทพิจารณาเกณฑ์ใหม่

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ภายหลังการหารือ ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ ชมรมคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ข้อสรุปว่า จะให้โรงพยาบาลชุมชนที่ไม่พร้อมจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 9 ก่อนหน้านี้ โดยโรงพยาบาลที่ไม่พร้อมทำ P4P สธ.จะพิจารณาเกณฑ์ในการเยียวยาย้อนหลังไปตั้งแต่ 1 เม.ย.

ทั้ง สธ. และ แพทย์ชนบท เห็นตรงกันว่าระบบค่าตอบแทน จะเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และต้องมีการเสริม สร้างรายได้ไม่ให้มีความแตกต่าง รัฐ และเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยากลำบาก จึงต้องมีเงินก้อนนี้ ส่วนที่ไม่ให้มีความแตกต่างกันมากในวิชาชีพ
นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันว่า การทำ P4P ต้องมีการออกกติกากลาง ไม่ให้มีความแตกต่าง โดยแต่ละพื้นที่ต้องทำเอง ถ้าเป็นยาสามัญ เป็นไปไม่ได้ เช่น กติกาทางการเมือง ต้องไม่ให้โรงพยาบาลติดลบ อย่างไรก็ตาม สธ.ยังเห็นว่า P4P เป็นประโยชน์ และจะต้องทำภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ระหว่าง สธ. โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยคณะกรรมการ จะต้องมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย และจะไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ โดยหวังว่า 4 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปด้วยเหตุและผล และจะปรับปรุงแก้ไขกติกาให้สอดคล้องความเป็นจริง ความเป็นไปได้เท่านั้น ยืนยันว่า จะให้การเยียวยาเฉพาะโรงพยาบาลที่ไม่พร้อมเท่านั้น ไม่นับรวมโรงพยาบาลที่ต่อต้านระบบ

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ถือว่าแพทย์ชนบท และเครือข่ายฯ ประสบความสำเร็จในเวทีเจรจาวันนี้ เนื่องจากรมว.สธ. ยอมชะลอการใช้ P4P ออกไป และให้เป็นไปตามความสมัครใจมากกว่าที่จะบังคับ ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดโอกาสให้แพทย์ชนบทเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาเกณฑ์อีกครั้ง

ส่วนปัญหาเรื่องระบบร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ทางรมว.สธ. ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับ การตั้งคณะกรรมการพิจารณาปัญหาในอภ.  รมว.สธ. ได้ยอมับให้มีตัวแทนของภาคประชาชน ขึ้นมาสะสางปัญหาร่วมกัน จึงถือว่าข้อสรุปในเวทีวันนี้ค่อนข้างน่าพอใจ
ทั้งนี้ จะใช้มาตรการเยียวยาขึ้นมาใหม่ โดยใช้ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรูปแบบเดิมเป็นฐาน โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบการเงินการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะร่างมาตรการเยียวยาให้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนปัญหา P4P ได้ข้อสรุปว่า หากโรงพยาบาลใดจะเข้าร่วม ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ต่างจากการบังคับให้ทำก่อนหน้านี้ ส่วนวิชาชีพหรือโรงพยาบาลใดที่ต้องการจะทำ ก็สามารถดำเนินการได้ โดยสธ.ไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้ทำ

ขณะที่ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นพ.ประดิษฐ จะเสนอผลการประชุมร่วมกันในวันนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ทันที ขณะเดียวกัน รมว.สธ. จะมีการตั้งคณะกรรมการในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อลดข้อขัดแย้ง

...



6686
วันนี้ (6 มิ.ย.)  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาหาทางออกกรณีความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายความเป็นธรรมในระดับสุขภาพ นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) ใช้เวลากว่า 4 ชม.

นายสุรนันทน์ แถลงว่า ดีใจที่มีการคุยกัน ซึ่งคงไม่จบในวันเดียว เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีด้วย ส่วนรายละเอียดขอให้ไปคุยนอกรอบ เวทีนี้ยังเปิดอยู่หากจำเป็นก็ยินดี ซึ่ง นพ.ประดิษฐต้องไปทำงานต่อโดยตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาคุยกันด้วยบรรยากาศแบบนี้และควรกำหนดระยะเวลา เพราะนายกฯไม่อยากให้ใช้เวลานาน อะไรที่ต้องเยียวยา ชดเชย ทาง รมว.สาธารณสุขจะไปดำเนินและรายงานให้ ครม.ทราบในการประชุมสัปดาห์หน้า

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ฟอร์พีไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน คงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมากติกาหลายข้ออาจทำให้หน่วยบริการไม่พร้อมไม่เข้าใจจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าหน่วยบริการไม่พร้อมทำในขณะนี้สามารถชะลอได้ แต่วันที่ 1 ต.ค.2556 น่าจะดำเนินการได้ แต่เพื่อขจัดปัญหาในการดำเนินการน่าจะมีคณะทำงานมาปรับปรุงแก้ไขกติกาเป็นกติกากลางระหว่างนี้หากมีผู้ได้รับผลกระทบจะต้องเยียวยาให้รวมถึงหน่วยบริการที่ไม่ทำพีฟอร์พี ตนจะตั้งคณะทำงาน 1 ชุดประกอบด้วยแพทย์จาก รพ.ทุกระดับพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หวังว่าต่อจากนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลพัฒนาพีฟอร์พีที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีทิฐิ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า พอใจในภาพรวมการเจรจา ถือเป็นชัยชนะของประชาชนทุกคน ทั้งนี้มีการรับปากว่าจะมีมาตรการเยียวยาโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. หลังจากนี้จะจัดทำระเบียบฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับระเบียบเดิมและเพิ่มความเป็นธรรมในกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ มี ดร.คณิต แสงสุพรรณ เป็นประธาน คิดว่าไม่น่าเกิน 2 เดือน ส่วนพีฟอร์พีให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ โดยก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้ต้องทำหลักเกณฑ์ให้ รพ.อยากทำ ส่วนจะเคลื่อนไหวต่อหรือไม่ขอดูมติ ครม.ก่อน ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐยังคงอยู่แต่ให้เป็นดุลยพินิจนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเจรจาเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพได้หารือกันต่อ โดยบางคนยังข้องใจในการยอมรับมติดังกล่าว ถึงกับพูดว่า ดูเหมือนพวกเราสลายม็อบด้วยตัวพวกเราเองจนแกนนำต้องอธิบายให้เข้าใจว่ายังต้องมีการติดตามรายละเอียดที่จะเข้า ครม.ต่อไป.

เดลินิวส์ 6 มิถุนายน 2556

6688
วันที่ 5 มิย 56 เวลา 9.30-13.30  น.ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนที่เข้าประชุมทุกประเภท  29  คน

   ชมรมโรงพยาบาลชุมชน ประธานโดย นายแพทย์จิรโรจน์ ธีรเดชธนพงศ์ ผอ.รพช.บางเลน  นายแพทย์ชัยวัฒน์  พงศ์ทวีบุญ ผอ.รพช.หนองบัว (รองประธานชมรมฯ)  นพ.ทินกร ชื่นชม  รพช.สามพราน   นพ.ไอศวรรย์ รักชาติ  ผอ.รพช.หว้านใหญ่   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรงพยาบาลดงหลวง จ.มุกดาหาร  นพ.สุขสันต์ รักธรรมนัก  ผอ.รพช.ค่ายบางระจัน  นางเตือนใจ นาคละมัย ทีมสุขภาพ และทีม พยาบาล  เภสัชกร  กับทีม  back office ของโรงพยาบาลบางเลน และ รพช.อีกหลายแห่งตามรายชื่อประชุมนี้ มีมติเรื่อง p4p ในโรงพยาบาลชุมชน ว่า

1.   การประกาศใช้ p4p ในโรงพยาบาลชุมชน ดำเนินการรีบด่วนอย่างมาก  ผอ.รพช.ทราบเรื่องเมื่อกุมภาพันธ์ 2556 หรือเพียงเวลาต่ำกว่า 1 เดือน ตั้งตัวไม่ติด

2.   p4p ทีกระทรวงประกาศให้ใช้ยังเป็นเพียงเกณฑ์กว้างๆ   ไม่มีเกณฑ์ชัดเจนที่ปฏิบัติได้ในโรงพยาบาลชุมชน   การให้โรงพยาบาลไปคิดเกณฑ์เอง เสี่ยงต่อการผิดระเบียบการจ่ายเงินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้

3.   ขอให้ชะลอการทำ p4p ในโรงพยาบาลชุมชนออกไปประมาณ 6 เดือน

4.   ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เป็นข่าว อ้าง p4p เพื่อให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

5.   ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เป็นข่าวของบางกลุ่มในเรื่ององค์การเภสัชกรรม และ สปสช. ฯ  ที่ออกจากกรอบเรื่อง p4p และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย

6.   เบี้ยเลี้ยงของโรงพยาบาลชุมชนมีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาขาดบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน ควรปรับ แต่ไม่ควรมีทิศทางยกเลิก

7.   ขอให้กระทรวงดำเนินการแยกตัวจาก กพ. เพื่อให้มีการบริหารบุคลากรสาธารณสุขที่สอดคล้องกับลักษณะงานเฉพาะของงานด้านการตรวจรักษา และงานสาธารณสุข

         โดยจัดประชุมหารือกัน ที่ห้องอาหารกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง 9.00-10.30 น.  และ ต่อมาได้ร่วมประชุมกับ แพทย์โรงพยาบาลศุนย์ รพ.ทั่วไป  ได้แก่ นายแพทย์ รังสรรค์ บุตรชา ผู้แทนสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป นายแพทย์ประชา ชยาภัม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชงิเทรา  นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชสิริ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน นายแพทย์เอกชัย อัศวนฤนาถ สถาบันการแพทย์ฯ  และทีมงานพยาบาล เภสัชกร โรงพบาลศูนย์/ทั่วไป อีกหลายท่าน   จนถึงเวลา 13.30 น.

          และเวลา 13.30 น. ได้ขอเชิญรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้เข้ารับฟังข้อขัดข้อง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังกล่าว ร่วมกับทีมแพทย์ รพศ.รพท./ รพ.กรมการแพทย์

    รัฐมนตรีได้รับทราบข้อขัดข้อง  ข้อเสนอ  พร้อมรับในข้อเสนอให้ชะลอการใช้ p4p    ออกไปโดยจะหารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจจะให้ชะลอไป และมีการพูดคุยปรับกัน ถึงเดือน ตุลาคม 56  อีกครั้ง  และรับทราบถึงทีมผู้ปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ล้วนไม่ต้องการให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง  แต่ต้องการให้แก้ไขปัญหาเรื่อง p4p และเบี้ยเลี้ยง ตามที่จะได้หารือพูดคุยกันต่อไป

   สำหรับเรื่อง แยกจาก กพ.นั้นรัฐมนตรี ตอบข้อถามนี้ว่า ได้มอบรัฐมนตรีชลน่านดำเนินให้ดำเนินการในเรื่องนี้  นัดประชุมคร้งตอ่ไป
14 มิย 56 เวลา 13.00 น.ที่เดิม

            ชมรมโรงพยาบาลชุมชน 081  8348552 
             นพ.จิรโรจน์ ฯ ประธานชมรมฯ

6689
นักโภชนาการมหิดลเผยวิจัยพบสารต้านอนุมูลอิสระใน "น้ำพริกตาแดง" ชี้กินเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงเป็น "มะเร็ง-เบาหวาน-หัวใจ-ความดันโลหิต"ได้

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายเอกราช เกตวัลห์ นักวิชาการประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อาหารไทยถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารหลากหลาย โดยเฉพาะน้ำพริกประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารติดบ้านเรือนของคนไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้มีการวิจัยคุณค่าทางอาหารในน้ำพริกตาแดง พบว่าเป็นน้ำพริกที่มีส่วนประกอบจากเครื่องเทศและสมุนไพรสดหลายชนิด ซึ่งล้วนมีสารสำคัญที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ

"จากการวิจัยได้ใช้น้ำพริกตาแดงที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ ศึกษาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง โดยใช้ 3 วิธีทดสอบทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการที่มีหลักการแตกต่างกัน พบว่าน้ำพริกตาแดงตำรับสุขภาพมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) และลูทีน (Lutein) อยู่ในปริมาณสูง ซึ่งสารเหล่านี้สามารถต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้นำไปทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดทีพ สเตรส (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถต้านสารอนุมูลอิสระได้ และฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกายของหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำด้วยควันบุหรี่ เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่และได้รับอาหารผสมน้ำพริกตาแดง 1 หน่วย และ 2 หน่วย เทียบกับหน่วยบริโภคของคนน้ำหนัก 50 กิโลกรัม และน้ำหนักหนู สามารถต้านสารอนุมูลอิสระ และการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ต้านสารอนุมูลอิสระในร่างกายมีค่าเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่อย่างเดียว และกลุ่มควบคุม" นายเอกราชกล่าว

จากผลการวิจัยดังกล่าว นายเอกราชกล่าวว่า สรุปได้ว่าน้ำพริกตาแดงประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถต้านอนุมูลอิสระทั้งในหลอดทดลอง และในร่างกายของหนู นอกจากนี้ ยังสามารถลดการอักเสบจากการได้รับควันบุหรี่อีกด้วย ดังนั้น หากมีการบริโภคน้ำพริกตาแดงเป็นประจำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระได้ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ด้าน รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหิดล กล่าวว่า อาหารไทยมักมีส่วนประกอบพวกเครื่องแกง พริกต่างๆ ซึ่งล้วนมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น พริก มีคุณสมบัติช่วยระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้า ป้องกันการเกิดมะเร็ง กระเทียม มีฤทธิ์ในการลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ตะไคร้ มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด หอมแดง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ข่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง ผิวมะกรูด ลดความดันโลหิต เป็นต้น จึงแนะนำให้ทุกบ้านบริโภคน้ำพริกเป็นอาหารหลัก

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 มิ.ย.2556)





6690
75 ปีมาแล้วที่ทางการฟินแลนด์จะต้องมอบ"กล่อง"ให้แก่คุณแม่ทุกราย โดยกล่องดังกล่าวประกอบด้วยสิ่งของจำเป็นสำหรับทารก อาทิ เสื้อผ้า ผ้าปู และของเล่น และยังสามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นเตียงเด็กได้อีกด้วย กระทั่งมีผู้กล่าวว่า"กล่อง"ดังกล่าว ทำให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดต่ำที่สุดในโลก

นโยบายการมอบกล่องดังกล่าวให้แก่สตรีใกล้คลอด สามารถย้อนไปได้ราวยุค 1930 โดยรัฐบาลคาดหวังว่าเด็กทุกคนจะได้รับการปฏิบัติความเท่าทียมกันตั้งแต่แรกเกิด โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะมีที่มาจากที่ใด

อุปกรณ์ภายในประกอบด้วย เสื้อผ้าเด็ก ถุงนอน อุปกรณ์อาบน้ำ ผ้าอ้อม ผ้าปูเตียง ที่นอนเล็กๆ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ และด้วยการที่ที่นอนถูกวางไว้บริเวณพื้นล่างสุดของกล่องนี่เอง ที่ทำให้มันสามารถนำไปใช้เป็นเตียงนอนสำหรับเด็กอ่อนได้ และเด็กหลายคนก็ได้ใช้กล่องกระดาษดังกล่าวเป็นที่นอนแรกในชีวิต


ทั้งนี้ แม่ของเด็กมีทางเลือกสองทาง คือการรับกล่องดังกล่าวไปใช้ หรือรับเป็นเงินสด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 140 ยูโร แต่ 95% นิยมรับเป็นกล่อง เพราะมีมูลค่ามากกว่าเงิน

ธรรมเนียมการให้กล่องดังกล่าว สามารถย้อนกลับไปถึงปี 1938 ที่เดิมทีจะมอบให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในปี 1949 ที่มีการเสนอทางเลือกให้รับเงินหรือกล่อง โดยผู้ที่ต้องการรับต้องไปแจ้งความจำนงที่คลีนิคแพทย์ก่อนที่จะมีอายุครรภ์ครบ 4 เดือน กล่องดังกล่าวไม่เพียงแต่มีเครื่องใช้จำเป็นสำหรับแม่และเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำให้สตรีมีครรภ์ ให้ได้พบแพทย์และพยาบาลอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อยุค1930ฟินแลนด์เป็นประเทศยากจน และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดค่อนข้างสูง ในอัตรา 65 ต่อ 1,000 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีต่อมา

กว่า 75 ปีที่ผ่านมา กล่องดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างผู้หญิงรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นสัญลักษณ์แทนการย่างเข้าสู่ความเป็นแม่ของหญิงสาว

ไรญา เคลเม็ตตี วัย 49 ปี ชาวกรุงเฮลซิงกิ เปิดเผยว่า เธอยังจำได้ถึงช่วงเวลาที่ต้องไปรับกล่องจากที่ทำการไปรษณีย์ สำหรับลูก 1 ใน 6 คนของเธอ เธอกล่าวว่า นอกจากมันจะน่ารักแล้ว มันยังเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาของการมีลูก แม่ เพื่อนๆ และญาติของเธอต่างรู้สึกตื่นเต้นที่จะดูว่าในกล่องจะมีอะไรอยู่บ้าง และข้าวของจะมีสีสันสดใสเพียงใด

ขณะที่แม่สามีของเธอ ซึ่งได้รับกล่องนี้กล่องแรกในราวช่วงปี 1960 กล่าวว่าในขณะนั้นเธอเองก็ไม่ทราบว่าต้องการอะไรบ้าง แต่เมื่อเปิดออกมาสิ่งที่จำเป็นก็มีอยู่ครบถ้วนแล้ว  ส่วนซอนญา วัย 23 ปี ลูกสาวของเคลเม็ตตี ก็รู้สึกตื่นเต้นเช่นเดียวกับแม่และย่าของเธอเช่นกันเมื่อได้รับกล่องดังกล่าวเป็นครั้งแรก  ขณะที่คุณแม่ลูกสอง วัย 35 ปีกล่าวว่า สีสันของเสื้อผ้าทำให้รู้ว่าเด็กๆเกิดในปีใด เนื่องจากมีการเปลี่ยนสีสันของเสื้อผ้าเด็กทุกปี  และเป็นเรื่องดีที่บรรดาแม่ๆจะเอาเสื้อผ้าที่ได้รับมาร่วมชื่นชมกัน

สำหรับบางครอบครัว สิ่งของที่อยู่ในกล่อง อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถมีได้ในชีวิตจริง หากมันไม่ใช่ของที่ได้รับมาโดยไม่คิดมูลค่า แต่สำหรับเวย์รีเนน แล้ว ข้อดีของมันคือช่วยทำให้ประหยัดเวลามากกว่าเงิน มันทำให้เธอไม่ต้องเสียเวลากับการเลือกซื้อและต้องมาเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละชนิด นอกจากนั้น เมื่อตอนที่เธอมีลูกคนที่สอง เธอขอรับเป็นเงินสดแทน เพราะเห็นว่าเสื้อผ้าที่ได้มาจากกล่องแรก สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เนื่องจากสีสันของเสื้อผ้า เป็นสีที่มีความเป็นกลางและเหมาะกับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย

นอกจากนั้น สิ่งของที่บรรจุอยู่ในกล่อง ยังมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยในช่วงยุค 1930-1940 สิ่งของในกล่องจะเน้นเป็นผ้า เนื่องจากแม่ในยุคนั้นนิยมตัดชุดให้เด็กๆเอง แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  กระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องใช้ผ้าสักหลาดและผ้าฝ้ายทอจำนวนมาก ดังนั้นวัสดุบางอย่างจึงถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นรองเตียงที่ทำจากกระดาษ และผ้าห่อตัวทารก

ส่วนในช่วงยุค 1950 เริ่มมีการใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น และในช่วงยุค 60 และ 70 เริ่มมีการใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่น ในปี 1968 เริ่มมีการให้ถุงนอน และในปีต่อมาก็เริ่มมีการให้ผ้าอ้อมเป็นครั้งแรก และเมื่อยุคสมัยผ่านไป ผ้าอ้อมผืนใหญ่ก็ได้เปลี่ยนเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปเช่นในปัจจุบัน

พานู พุลมา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ฟินแลนด์และนอร์เวย์ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ แสดงความเห็นว่า แต่เดิมทีทารกมักจะต้องนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ แต่การมาของกล่องกระดาษ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กต้องนอนแยกจากพ่อแม่ เขากล่าวว่า หนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของโครงการนี้คือการทำให้เด็กหันมากินนมแม่มากขึ้น  เขายังเชื่อว่าการนำหนังสือภาพใส่ลงไปในกล่องด้วย จะก่อให้เกิดผลในทางบวกต่อเด็ก ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้หยิบจับหนังสือ และหันมาอ่านในที่สุด

ท้ายที่สุด เขามองว่ากล่องดังกล่าวคือสัญลักษณ์ของแนวคิดแห่งความเท่าเทียม และแนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่เด็กๆ

แปลและเรียบเรียงจาก "Why Finnish babies sleep in cardboard boxes"
โดย Helena Lee
BBC News

มติชนออนไลน์ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หน้า: 1 ... 444 445 [446] 447 448 ... 653