แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 446 447 [448] 449 450 ... 651
6706
"ธาริต"จวก"หมอวิทิต" ตั้งแง่ไม่ให้ความร่วมมือในชั้นสอบสวน ย้ำโครงการโรงงานวัคซีนมีประเด็นส่อปัญหาเพียบ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการเข้าสอบปากคำของนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก โดยระบุว่า ดีเอสไอไม่ได้รับความร่วมมือจากนพ.วิทิตเท่าที่ควร เนื่องจากนพ.วิทิตแทบจะไม่ให้การใด ๆ เลย แต่ขอให้ดีเอสไอตั้งประเด็นสอบถามจากนั้นจะขอชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาอีกครั้ง ซึ่งดีเอสไอมองว่านพ.วิทิต มีลักษณะตั้งแง่กับดีเอสไอ ทั้งที่ผ่านมาดีเอสไอพยายามให้เกียรตินพ.วิทิต

ทั้งนี้ยืนยันว่า ดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน ขณะที่นพ.วิทิตมีหน้าที่ให้การไปตามข้อเท็จจริง โดยประเด็นที่ดีเอสไอตรวจสอบพบว่ามีปัญหาต้องชี้แจงยังมีหลายประเด็น ทั้งการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ความเหมาะสมของในการขับเคลื่อนโครงการ ความสัมพันธ์ของบริษัทสัญญาที่แยกออกเป็นหลายคู่สัญญาว่ามีประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ การเอื้อประโยชน์กับเอกชนทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอกำหนดให้ น.พ.วิทิตชี้แจงรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ดีเอสไอภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  8 พฤษภาคม 2556

6707
ความสำเร็จของรางวัล SQA หรือ Singapore Quality Award ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดที่มอบให้แก่องค์กรที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา เพื่อแสดงถึงมาตรฐานการดำเนินงาน และการบริหารบุคลากรขององค์กรที่ยอดเยี่ยมที่สุดในระดับสากล

รางวัล SQA ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ โดยได้ประสานแนวทางของ Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศไทย

ได้นำ Thailand Quality Award หรือ TQA มาใช้ในการประเมิน และวัดผลองค์กรให้มีมาตรการการบริหารงานที่เป็นเลิศที่สุดในประเทศเทียบเท่ากับระดับสากล

สำหรับองค์กรที่จะได้รับรางวัล SQA ในประเทศสิงคโปร์ จะต้องเป็นองค์กรที่มีคะแนนอย่างน้อย 700 คะแนน ส่วนองค์กรที่ได้คะแนนตั้งแต่ 800 คะแนน

ขึ้นไปจะได้รับรางวัลคุณภาพสิงคโปร์ยกย่องพิเศษ (Singapore Quality Award with Special Commendation) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของประเทศสิงคโปร์

โดยองค์กรที่ได้รับรางวัล SQA ประจำปี 2555 ได้แก่ Singapore Customs และ Wing Tai Retail Singapore ส่วนรางวัลที่น่าสนใจที่สุดของรางวัล SQA คือ รางวัลคุณภาพสิงคโปร์ยกย่องพิเศษ ได้แก่ Singapore Prison Service (SPS) องค์กรประเภททัณฑสถานของสิงคโปร์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการบริหารการจัดการที่มีคุณภาพอย่างน่ายกย่องที่สุดในประเทศ



ไม่นานผ่านมา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ชวนไขรหัส (ไม่) ลับสู่การบริหารจัดการของเรือนจำแห่งนี้ในหัวข้อที่ว่า "การวางกลยุทธ์เพื่อก้าวไปสู่การมีระบบเรือนจำที่น่าชื่นชมที่สุดในโลก"

ภายใต้งานสัมมนา Thailand Quality Award 2012 Winner Conferenceซึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้ "Singapore Prison Service" ก้าวไปสู่จุดยืนได้ "โก ตง ไห่" ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับส่วน

เจ้าหน้าที่เรือนจำสิงคโปร์บอกว่า ก่อนอื่นเราจะต้องวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเรือนจำของเราอย่างชัดเจนเสียก่อน

"โดยเริ่มต้นจากกำหนดวิสัยทัศน์ในการก้าวไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะสะท้อนให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเราจะเป็นเรือนจำเพื่อสร้างคนมากกว่าการรับฝากขังในช่วงระยะเวลาหนึ่งเหมือน

เรือนจำอื่นทั่วไป ซึ่งเราได้ใช้เวลาการประชุมและหารือร่วมกันกว่า 9 เดือน จนสามารถกำหนดวิสัยทัศน์เรือนจำ

ของเรา นั่นคือเราจะเป็นเสมือนหนึ่งกัปตันของชีวิตคุณ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าการชี้ทางของเราจะทำให้เขาสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างดีและมีคุณค่าที่สุด"

"ต้องบอกว่าการมีวิสัยทัศน์ที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราก้าวไปสู่การบริหารการจัดการที่เป็นเลิศได้ ดังนั้นเราจึงต้องวางกลยุทธ์ทั้งระบบ ตั้งแต่การพัฒนาปรัชญา และกำหนดตัวชี้วัดของทั้งองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนขององค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า"

"ที่สำคัญ การสื่อสารระหว่างคณะทำงานต่างมีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพราะเราต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนขององค์กรบุคลากรคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะบอกได้ว่าผลลัพธ์ของความสำเร็จเกิดขึ้นหรือยัง"

ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสู่การสร้างศักยภาพของบุคลากรในเรือนจำแห่งนี้ "โก ตง ไห่" จึงได้วางกลยุทธ์ไว้เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย

"หนึ่ง สร้างศักยภาพ โดยจะเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ในการประชุมหารือทบทวนกลยุทธ์และระบบการบริหารการจัดการ เรียกได้ว่าในทุกขั้นตอนของการประชุมทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม เพื่อรับทราบข้อปรับปรุงและแก้ไขกันอย่างเป็นทีม"

"สอง สร้างค่านิยม ให้ทุกคนเป็นผู้คุมอย่างมืออาชีพ ซึ่งค่านิยมของเราจะต้องวางเส้นทางบันไดสู่ความสำเร็จ โดยที่บุคลากรของเราทุกคนจะต้องรับรู้ได้ว่าเส้นทางของแต่ละคนในการก้าวไปสู่บันไดสูงสุดมีทั้งหมดกี่ขั้น และในแต่ละขั้นจะต้องมีการทดสอบเพื่อผ่านไปยังบันไดขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งนี่คือหนทางการสร้างผู้นำในเรือนจำของเรา"

"นอกจากนี้ การสร้างค่านิยมของเรา รวมถึงผู้ทำหน้าที่จะต้องเสมือนครูฝึกนักโทษด้วย โดยครูฝึกจะต้องทำหน้าที่สร้างเวทีเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสร้างโอกาส

ให้กับเหล่านักโทษ ภายใต้การทำ Workshop เป็นประจำ การทำหน้าที่เช่นนี้จะเป็นการย้ำเตือนว่า การที่เราเป็นผู้คุมขังอย่างมืออาชีพจะต้องมอบโอกาสให้กับนักโทษ เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะสามารถกลับไปยืน

จุดเดิมในสังคมได้อย่างสวยงาม นี่คือค่านิยมที่เราพยายามปลูกฝังให้กับบุคลากรทุกคน"

"สาม สร้างนวัตกรรม โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรในการเชื่อมนวัตกรรม และการบริหารงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งการจะมุ่งสู่นวัตกรรมใหม่ได้เราจะต้องสร้าง

3i ประกอบด้วย Idea มีความคิด และดีไซน์ Improvement ต้องรู้จักปรับปรุงและแก้ไข และ Initiative ต้องริเริ่ม

สิ่งใหม่อยู่เสมอ"

นอกจากนั้น "โก ตง ไห่" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า...ทุกกลยุทธ์ของเราจะพยายามสอดแทรกตลอด เสมือนเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่นอกจากจะค่อย ๆ หล่อหลอมสร้าง

ตัวตนและคุณค่า โดยเริ่มต้นจากบุคลากรผู้คุมขัง เพื่อให้เขารู้สึกถึงความเป็นคนที่มีคุณค่าจากกิจกรรมที่เราส่งเสริม ทั้งนั้นเพื่อจะได้ถ่ายทอดให้กับนักโทษของเราได้อย่างมืออาชีพ

ตรงนี้จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ได้รับรางวัล SQA ครั้งนี้

"เพราะนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่สำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากเรายังคงใช้แนวคิดที่ว่าเพื่อที่จะเป็นกัปตันในชีวิตให้กับเขาอย่างมืออาชีพ และนี่คือการสร้างความพึงพอใจและสิ่งที่มีค่าที่สุดของเรา"

และนี่คืออีกหนึ่งองค์กรที่ไม่เคยมองข้ามการพัฒนา และมุ่งสร้างบุคลากรจนเป็นองค์กรที่น่ายกย่องที่สุดสำหรับประเทศสิงคโปร์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 8 พ.ค. 2556

6708
วานนี้ (7พ.ค.) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับกรอบแนวทางการพิจารณาเพื่อการควบคุมและส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง (เฮมพ์) เป็นพืชเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สำหรับกัญชงแล้ว ปัจจุบันเป็นพืช ที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อน   
   
จะว่าไปแล้ว "กัญชง" กับ "กัญชา" มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก หรือมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แทบจะแยกไม่ออกว่าอันไหนคือ "กัญชง" หรือ "กัญชา"

และต่อไปนี้ จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง "กัญชง" กับ "กัญชา" เพื่อความกระจ่าง และสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูล หรือความรู้รอบตัวได้

สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด เคยศึกษาเปรียบเทียบ "กัญชา" กับ "กัญชง" เมื่อปี พ.ศ.2537 โดยได้รับการสนับสนุนตัวอย่างจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาคเหนือ โดยทำการศึกษาทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทำการเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ ของส่วนต่างๆ

พบว่า สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีอยู่ในกัญชา และกัญชง เหมือนกัน ได้แก่ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol , THC) แคนนาบิไดออล (Cannabidiol,CBD) และแคนนาบินอล (Cannabinol,CBN)
 
ลักษณะทางกายภาพ พบว่า กัญชาและกัญชง มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ส่วนของยอด-ช่อดอก ช่อใบของกัญชา มีลักษณะเป็นพุ่ม ส่วนกัญชง มีลักษณะเรียว เล็ก

2. ลักษณะใบ พบว่า กัญชามีใบใหญ่ กว้าง ส่วนกัญชง ใบจะเรียวและเล็กกว่า

3. ส่วนของกิ่งและลำต้นของกัญชา มีลำต้นเตี้ย เป็นพุ่ม ระยะห่างของข้อ-ปล้อง จะสั้น สำหรับกัญชงแล้ว ลำต้นจะสูง ชะลูด ระยะห่างของข้อ-ปล้อง จะยาว และท่อน้ำเลี้ยงก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ กัญชา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อน้ำเลี้ยง ใหญ่กว่า ของกัญชง

4. ในส่วนของราก ไม่มีลักษณะที่แตกต่างกันเด่นชัดเท่าใดนัก

โดยสรุปก็คือ

ทางด้านกายภาพ มีความแตกต่างกันในส่วนต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน เช่น ลักษณะใบ ลำต้น รวมถึงท่อน้ำเลี้ยงเส้นผ่าศูนย์กลางของกัญชงเล็กกว่ากัญชา เป็นต้น

ส่วนทางด้านองค์ประกอบทางเคมี กัญชา และกัญชง มีสารออกฤทธิ์ที่เหมือนกัน 3 ชนิด คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล, แคนนาบิไดออล และแคนนาบินอล แต่มีปริมาณแตกต่างกัน กล่าวคือ "กัญชา" มีปริมาณเตตราไฮโดรแคนนาบินอลมากกว่า กัญชง ส่วน "กัญชง" จะมีปริมาณแคนนาบิไดออลมากกว่ากัญชา

มติชนออนไลน์  8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

6709
ครม.ไฟเขียว 1.1 หมื่นล้านบาทขึ้นเงินเดือน พนักงานมหาวิทยาลัยเท่า ขรก. อธิการฯมหา′′ลัย ใหญ่-เล็ก โอดรับภาระอ่วม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย จำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 79 แห่ง ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่ ศธ.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มคุณวุฒิให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย จำนวน 54,801 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 79 แห่ง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 2555 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,792,432,440 บาท ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 ขอให้มหาวิทยาลัยใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของมหาวิทยาลัยเบิกจ่ายไปก่อน โดยสำนักงบประมาณจะตั้งงบฯให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป

นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้เบิกจ่ายปี 2555 จำนวน 3,014,836,290 บาท ปี 2556 จำนวน 4,260,969,010 บาท และ ปี 2557 จำนวน 4,516,627,140 บาท แบ่งจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยพนักงานมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้งหมด 10,688 คน ใช้งบประมาณ 2,648,751,120 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จำนวน 4,263 คน ใช้งบประมาณ 1,062,998,880 บาท มหาวิทยาลัยส่วนราชการ จำนวน 19,410 คน ใช้งบประมาณ 5,013,891,610 บาท และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 20,440 คน ใช้งบประมาณ 3,102,790,830 บาท

การปรับงบประมาณเพิ่มเติมให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เหมือนเช่นที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการปรับเงินเดือนแรกบรรจุและเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยŽ นายพงศ์เทพกล่าว

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติให้มหาวิทยาลัยเจียดเงินเหลือจ่ายของตนเอง มาเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น เข้าใจว่าทุกแห่งคงจะเกิดปัญหาเหมือนกัน แต่ต้องเตรียมวางแผนหางบประมาณมาดำเนินการในส่วนนี้ให้ได้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย หลังจากที่รัฐบาลได้เพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้ว พนักงานมหาวิทยาลัยจึงควรจะได้รับเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 2,170 คน ต้องใช้เงินเพื่อมาจ่ายชดเชยให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 219 ล้านบาท ซึ่งคงไม่ได้กระทบอะไรมากนัก

ด้าน นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช.มีพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 คน คาดว่า ต้องใช้งบจ่ายชดเชยเงินเดือนให้แก่พนักงานกว่า 200 ล้านบาท ถือว่าไม่กระทบมาก แต่ถ้าว่าตามจริงการขึ้นเงินเดือนถือเป็นนโยบายรัฐบาล ดังนั้น หากรัฐบาลเตรียมการอย่างรอบคอบ น่าจะดำเนินการไปได้ดี การที่ ครม.มีมติดังกล่าว ถือว่าผิดคาดเล็กน้อย เดิมมหาวิทยาลัยคิดว่ารัฐบาลจะสามารถหางบฯมาช่วยสนับสนุนได้ ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต้องแบกภาระเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

นายนำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามมติ ครม. เพราะการปรับเพิ่มเงินเดือนถือเป็นขวัญกำลังใจของพนักงานมหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี มีพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด 327 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน เดือนละ 1.7 ล้านบาท แต่ถ้าปรับเพิ่ม จะเพิ่มเป็นเดือนละ 5 ล้านบาท ซึ่งอัตราที่ปรับใหม่ ดังนี้ ระดับปริญญาตรี สายสนับสนุน เดิม 15,190 บาท เพิ่มเป็น 17,290 บาท ปริญญาโทสายสนับสนุน เดิม 19,860 บาท เพิ่มเป็น 21,320 บาท ปริญญาโท สายวิชาการ เดิม 22,950 บาท เพิ่มเป็น 24,600 บาท ปริญญาเอกสายสนับสนุน เดิม 28,500 บาท เพิ่มเป็น 30,000 บาท บวกเงินเพิ่มพิเศษอีก 5,000 บาท ซึ่งในส่วนของ มทร.ธัญญบุรี ต้องใช้เงินรายได้มหาวิทยาลัยมาจ่าย ซึ่งก็พอมี

"แต่มหาวิทยาลัยที่มีรายได้น้อยอาจมีปัญหาบ้าง เพราะขณะนี้นักศึกษาที่เลือกเรียนที่ มทร.น้อยลง ทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้น้อยลงด้วย อาจเพราะในปัจจุบันเด็กมีทางเลือกมากขึ้น จึงเลือกเรียนที่อื่น ซึ่งมหาวิทยาลัยก็แก้ปัญหาโดยการปรับตัว เน้นเปิดหลักสูตรที่จบไปแล้วหางานทำได้ง่าย เพื่อดึงดูดให้นักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น" นายนำยุทธกล่าว

ข่าวหน้า1มติชนรายวัน 8 พ.ค.56

6710
1. “สุรพงษ์” ชงพิกัดปราสาทพระวิหารเข้า ครม.ก่อนส่งศาลโลก ปัดเปิดเผย อ้างความลับ ด้านศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี “นพดล” ลงนามแถลงการณ์ร่วมฯ!

       ความคืบหน้าคดีปราสาทพระวิหาร หลังฝ่ายไทยและกัมพูชาเสร็จสิ้นการแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ผู้พิพากษาชาวโซมาเลีย ซึ่งเป็น 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาในศาลโลก ได้ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์หรือชี้จุดในแผนที่ซึ่งคู่ความคิดว่าเป็นพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ในวันที่ 26 เม.ย. ภายในเวลา 17.00น. และให้ทั้งสองฝ่ายส่งข้อสังเกตต่อคำตอบของคู่กรณีด้วยภายในวันที่ 3 พ.ค.เวลา 17.00น.นั้น
       
       นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะทีมทนายสู้คดีพระวิหาร ได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยอมรับว่า ได้มีโอกาสคุยกับนายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะมีการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก โดยบอกไปว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ จะยังคงเหมือนเดิม
       
       นายสุรพงษ์ ยังชี้แจงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตนเคยเสนอให้ ครม.อนุมัติตัดนายวีรชัยออกจากองค์คณะของคณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) เมื่อปี 2554 โดยโบ้ยว่า ตนไม่ได้เสนอ แต่เป็นการเสนอโดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่เห็นว่ามีทูตท่านอื่นดำเนินการแทนได้ อีกทั้งยังต้องการให้นายวีรชัยมีเวลาทำงานสู้คดีพระวิหารอย่างเต็มที่
       
       ขณะที่นายวีรชัย ได้ขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนไทยที่ส่งไปให้คณะที่ต่อสู้คดี พร้อมเชื่อมั่นว่า ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว
       
       วันต่อมา(22 เม.ย.) นายสุรพงษ์ ได้นำทีมทนายสู้คดีพระวิหาร ทั้งนายวีรชัย และทนายความชาวต่างประเทศ ประกอบด้วย ศ.อแลง แปลเล่ต์ ,ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ,ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ และ น.ส.อลินา มิรอง เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการต่อสู้คดีให้ทราบ โดยมีผู้นำ 4 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมรับฟัง แต่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟัง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรับฟังข้อมูลแล้วเสร็จ คณะทั้งหมดได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับนายกฯ แต่ระหว่างยืนถ่ายภาพ ศ.อแลง ซึ่งยืนอยู่ข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หันมาหอมแก้ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยิ้มอย่างขวยเขิน สำหรับผู้ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นพิเศษก็คือ น.ส.อลินา มิรอง ทนายผู้ช่วยของ ศ.อแลง ซึ่งถูกขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก
       
       ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล พูดถึงการระบุพิกัดบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเพื่อยื่นต่อศาลโลกว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร คิดว่าทำเพียงแค่ 15 นาทีก็เสร็จแล้ว
       
       ทั้งนี้ วันต่อมา(23 เม.ย.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเรื่องพิกัดแผนที่บริเวณปราสาทพระวิหารที่ทีมทนายต่อสู้คดีได้ร่วมหารือกันเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ แต่ไม่ขอเปิดเผย เพราะทีมทนายขอปิดเป็นความลับ และว่า “ต้องเสนอต่อศาลโลกในวันที่ 26 เม.ย. จากนั้นเมื่อกัมพูชาได้เสนอและมีข้อโต้แย้งแล้วเสนอกลับเข้ามา เราก็ต้องดูของกัมพูชาและเสนอกลับไปด้วยในวันที่ 3 พ.ค.” อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความลับ แต่นายสุรพงษ์ ก็แย้มว่า “ไทยจะเสนอแนวพิกัดแบบสั้น เพราะเป็น 1 ในข้อต่อสู้ ซึ่งจะระบุว่า พื้นที่ของไทยอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งไม่รวมพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ขอพูดสั้นๆ เพราะพูดมากไม่ได้”
       
       ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงความมั่นใจในหลักฐานของฝ่ายไทย แต่ผลจะออกมาอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับคณะผู้พิพากษาและศาลโลก “วันนี้เราจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราหนีไปไหนกันไม่ได้ เราได้แสดงความเป็นสุภาพบุรุษอยู่แล้ว และต้องคุยกับกัมพูชาว่าเราจะอยู่อย่างสันติก่อนคำตัดสิน ส่วนหลังคำตัดสินค่อยว่ากันอีกทีว่า จะทำอย่างไร”
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำสั่งคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพพล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีนายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา วันที่ 18 เม.ย.2551 สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า คำฟ้องถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย พร้อมนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 5 ก.ค. ด้านนายนพดล ยืนยันว่า พร้อมไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะไม่เคยมีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 190
       
       ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่ศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมฯ ของนายนพดลไว้พิจารณา แสดงให้เห็นว่า ใครที่อยู่เบื้องหลังการขายชาติให้กัมพูชา เพราะที่ผ่านมา นายนพดลพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อเอาตัวรอดว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และยังบิดเบือนคำพูดของนายวีรชัย พลาศรัย ว่าทีมทนายไทยได้นำแถลงการณ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีที่ศาลโลก ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ ทนายความกัมพูชาเป็นผู้หยิบยกเอาแถลงการณ์นี้มาใช้ประโยชน์ โดยระบุว่าในแถลงการณ์ร่วมฯ ยอมรับแผนที่แนบท้ายของกัมพูชา โดยไม่มีการเสนอแนวเส้นรอบปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.ปี 2505 ทำให้นายวีรชัยต้องหักล้างข้อมูลของฝ่ายกัมพูชา
       
       2. พท.เตรียมออก จม.ปฏิเสธอำนาจศาล รธน. พร้อมยื่นถอดถอนตุลาการฯ ขณะที่เสื้อแดงชุมนุมกดดัน ด้านศาล รธน.แจ้งจับ 4 แกนนำแดงหมิ่น!

       ความคืบหน้ากรณี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.สายเลือกตั้งจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ได้ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและคณะรวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิและลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคที่ ส.ส.ดังกล่าวสังกัด
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายโภคิน พลกุล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเผยว่า พรรคฯ เตรียมออกจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน สมาชิกรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา พร้อมส่งสัญญาณให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และสมาชิกรัฐสภา ไม่ต้องส่งคำชี้แจงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันตามที่ศาลฯ กำหนด เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดเหน็บนายโภคินและพรรคเพื่อไทยว่า ศาลฯ เพียงแค่รับพิจารณาคดี แต่กลับมีความพยายามคัดค้าน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารทั้งหมด ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และถือเป็นเรื่องที่อันตราย
       
       ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่ต้องทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาขอขยายเวลาทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน โดยอ้างว่า เดือน เม.ย.มีวันหยุดราชการหลายวันจึงทำคำชี้แจงไม่ทัน นายนิคม ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของ 60 ส.ว.ที่ต้องทำคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำเป็นคำชี้แจงรวม แล้วให้ทั้ง 60 ส.ว.ลงชื่อ
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ได้มีมติให้ส่งคืนเอกสารคำฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งมาให้ พร้อมแนบที่อยู่ของ ส.ส.ที่ถูกยื่นฟ้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดส่งเอง โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภา ไม่มี ส.ส.มารับเอกสารดังกล่าว ด้านศาลรัฐธรรมนูญเตรียมพิจารณาอีกครั้งว่าจะจัดส่งให้ ส.ส.หรือไม่ หรือจะปิดเอกสารดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการศาล หรือจะประกาศโดยวิธีอื่นใด
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนที่หนุนแก้รัฐธรรมนูญจะเคลื่อนไหวด้วยการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วย นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน ได้นำมวลชนประมาณ 200 คน ไปชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญกดดันให้ตุลาการฯ ทั้ง 9 คน ลาออก โดยอ้างว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม และใช้อำนาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       ทั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าวได้มีการขู่ยกระดับที่จะปิดล้อมศาลรัฐธรรมนูญ หากตุลาการฯ ไม่ยอมยุติการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ฝ่ายตุลาการฯ พยายามไม่ตอบโต้ อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลการปราศรัยของกลุ่มเสื้อแดง เพราะอาจเข้าข่ายดูหมิ่นศาล
       
       ด้านนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน แกนนำกลุ่มเสื้อแดงดังกล่าว นอกจากไม่หวั่นแล้ว ยังท้าทายให้ตุลาการฯ รีบฟ้องด้วย “ไม่กลัว ประชาชนมาทวงถามความชอบธรรมของตุลาการ เราพร้อมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น ขอท้าทายให้มาฟ้องได้เลย”
       
       2 วันต่อมา(27 เม.ย.) สำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีแกนนำคนเสื้อแดงที่ชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ประกอบด้วย 1.นายพงษ์พิสิษฐ์ พงษ์เสนา หรือเล็ก บ้านดอน 2.นายธนชัย สีหิน หรือ “ดีเจหนุ่มวีคลอง 11” 3.นายมงคล หนองบัวลำภู และ 4.นายศรรัก มาลัยทอง ในความผิดฐานดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ 198 พร้อมหลักฐานแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงการปราศรัย
       
       ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงอยู่ระหว่างล่าชื่อ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนต่อ ป.ป.ช. รวมทั้งจะเดินทางไปสำนักงบประมาณเพื่อเรียกร้องให้ระงับการจ่ายเงินเดือนแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า ส่วนพรรคเพื่อไทย ก็ได้ล่าชื่อ ส.ส.เพื่อเตรียมยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งเช่นกัน
       
       ด้านนักวิชาการสายเสื้อแดงก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับกลุ่มเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย โดยนายวรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำประชาชน 4 คน เดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกผ่าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอให้ส่งต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้นายวรพล ยังได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม เพื่อดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ขณะที่กลุ่มเสื้อแดง นำโดยนายธนชัย สีหิน หรือ “ดีเจหนุ่มวีคลอง 11” , น.ส.สมพร ไชยมาตย์ หรือ “ดีเจอ้อม” และนางผุสดี แย้มสกุลณา หรือ “อาจารย์เป้า” ก็ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบฯ ให้ดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน
       
       3. “ก่อแก้ว” กลับนอนคุกอีกครั้ง หลังศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ด้าน “กกต.” ยัน ยังไม่หลุดจาก ส.ส. เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด!

       เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ศาลอาญา ได้นัดฟังคำสั่งคดีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จำเลยที่ 5 คดีร่วมกันก่อการร้าย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ นายก่อแก้วถูกศาลสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2555 เนื่องจากมีพฤติกรรมข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และปราศรัยยุยง ปลุกปั่น และปลุกระดมทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเปิดสมัยประชุมสภาฯ นายก่อแก้วจึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ แต่หากปิดสมัยประชุมเมื่อใด นายก่อแก้วต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ดังนั้นก่อนที่สภาฯ จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 20 เม.ย. นายก่อแก้วจึงยื่นตำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เพื่อขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงปิดสมัยประชุมด้วย
       
       ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นไต่สวน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่จำเลยเป็น ส.ส.อยู่ ,นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ได้เบิกความยืนยันจำเลยมีนิสัยอ่อนโยน เรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว ไม่มีนิสัยชอบใช้ความรุนแรงหรือไม่ฟังเหตุผลผู้อื่น ประกอบกับช่วงที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสมัยประชุมสภาฯ จำเลยก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือปราศรัยในลักษณะปลุกปั่นยั่วยุให้ นปช.ออกมาชุมนุม อีกทั้งจำเลยยังช่วยรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประสานกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน ให้เข้ามาเจรจาเพื่อหาทางออก ให้เกิดความปรองดอง ฯลฯ
       
       อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า แม้พยานทั้ง 3 ปากจะยืนยันถึงความประพฤติของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2555 แล้ว มาจากการที่จำเลยกระทำการยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขของศาล
       
       นอกจากนี้จากการไต่สวนยังไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ทำในสิ่งที่แสดงให้ศาลเห็นและรับฟังได้ว่า จำเลยสำนึกในการกระทำที่ผิดเงื่อนไขของศาล หรือได้มีการบรรเทาผลร้ายจากการกระทำของจำเลย ในทางตรงข้าม กลับได้ความว่าจำเลยยังคงยืนยันว่าการกระทำของจำเลยไม่ผิดเงื่อนไขของศาล จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอีกครั้งหนึ่ง ให้ยกคำร้อง
       
       ทั้งนี้ หลังศาลมีคำสั่งดังกล่าว นายก่อแก้วได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ จากนั้น วันต่อมา(23 เม.ย.) นางกุลรัตน์ พิกุลทอง ภรรยานายก่อแก้ว พร้อมกลุ่ม นปช.ประมาณ 10 คน ได้เข้าเยี่ยมนายก่อแก้ว ซึ่งนายก่อแก้ว ยืนยันว่า จะไม่ขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหมือนที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก เคยทำ เพราะไม่ใช่แนวทางของตน นายก่อแก้ว ยังได้ย้อนถามศาลอาญาด้วยว่า ใช้หลักกฎหมายใดในการตีความว่าตนไม่สำนึกผิด
       
       2 วันต่อมา(25 เม.ย.) นายเจษฎา จันทร์ดี ทนายความของนายก่อแก้ว ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นายก่อแก้วได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่านายก่อแก้วไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขศาลอาญาแต่อย่างใด
       
       ส่วนความคืบหน้ากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วินิจฉัยสมาชิกสภาพ ส.ส.ของนายก่อแก้ว ว่าการถูกคุมขังจากกรณีศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ทำให้พ้นจากการเป็น ส.ส.หรือไม่ ล่าสุด(22 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เผยว่า กกต.มีมติเอกฉันท์ว่า นายก่อแก้วยังมีสมาชิกสภาพ ส.ส.อยู่ เนื่องจากไม่ได้ถูกคุมขังในวันเลือกตั้ง อีกทั้งคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงถือว่ายังไม่ขาดคุณสมบัติแต่อย่างใด
       
       4. สลด! โจรใต้ วางระเบิด 2 ชั้น บึ้มทหารชุดอีโอดีที่นราฯ ขณะตรวจสอบหลังเก็บกู้สำเร็จ ผล ดับ 4 เจ็บ 6 !

       เมื่อวันที่ 22 เม.ย. น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ อ.เมือง จ.นราธิวาส และ น.ท.ธรรมนูญ วรรณา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้นำทหารชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด(อีโอดี) ของกองพลาธิการทหาร เข้าเก็บกู้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใส่ไว้ในถังแก๊สปิคนิค หนัก 25 กิโลกรัม วางไว้โคนต้นไม้ริมถนนเพชรเกษมสายปัตตานี-นราธิวาส ใกล้สะพานบ้านจำปากอ หมู่ 1 ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ โดยมีป้ายผ้าต่อต้านการเจรจาสันติภาพกับบีอาร์เอ็นแขวนอยู่ 1 ผืน
       
        จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เปิดเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและวิทยุสื่อสาร ก่อนเข้าเก็บกู้โดยใช้เวลา 15 นาที ขณะที่นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าฯ นราธิวาส ซึ่งเดินทางไปร่วมตรวจสอบ ได้ยกระเบิดดังกล่าวขึ้นจากพื้นด้วยตนเองด้วย ซึ่งทุกอย่างดูเหมือนเรียบร้อยด้วยดี
       
        แต่ 20 นาทีต่อมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ฯ นำวัตถุระเบิดดังกล่าวไปยังฐานปฏิบัติการ ฉก.นราธิวาส 32 เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ปรากฏว่า ระเบิดดังกล่าวได้เกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดนอกจากทำให้ตัวอาคารฐานปฏิบัติการฯ ได้รับความเสียหายแล้ว ยังส่งผลให้ทหารชุดเก็บกู้เสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บ 6 นาย สำหรับทหารที่เสียชีวิต 4 นาย คือ พ.จ.อ.ทัศนัย ชมพูทวีป รองหัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิด ,เรือโทชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ หัวหน้าชุดอีโอดี ,จ.อ.เรวัตร คงนาค และ จ.อ.องอาจ ศักดา
       
        ด้าน น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ บอกว่า สาเหตุของการระเบิดครั้งนี้ น่าจะเกิดจากแรงกระแทกหรือระบบไฟฟ้าในระเบิดลูกดังกล่าวเกิดการลัดวงจรขึ้นมา ซึ่งตนได้กำชับให้ทหารทุกนายเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นแล้ว
       
        ขณะที่ น.ท.ธรรมนูญ วรรณา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ บอกว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งที่มีการตัดวงจรระเบิดแล้ว คาดว่าน่าจะเกิดจากการลัดวงจร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจะต้องนำไปศึกษาอย่างละเอียดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร คงต้องพิจารณาหลายจุดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
       
        ด้าน พ.ท.สมควร คงยิ่ง หัวหน้าชุดทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กองทัพบก พูดถึงเหตระเบิดดังกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นการลวงของกลุ่มคนร้ายที่ต่อชนวนไว้ 2 ชั้น แต่น่าจะมาจากการกระแทกของประจุไฟฟ้าที่อยู่ภายใน ทำให้เกิดแรงปะทุขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก ต่อไปอาจต้องมีการทำลายวัตถุระเบิด ณ สถานที่ที่มีการใช้ก่อเหตุทันที
       
        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียจากเหตุระเบิดดังกล่าว “ผมเสียใจกับคนที่ได้รับการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม วันนี้กองทัพบกดูแลเรื่องเบี้ยประกันชีวิต เงินตอบแทนและกำลังคิดดูแลผู้พิการในระยะยาว เบี้ยรายเดือน ส่วนที่ผู้ก่อเหตุจุดชนวนระเบิดไว้ 2 ชั้นนั้น ต้องไปดูสาเหตุว่าเกิดจากที่เราไปรื้อ หรือเปิดระบบอะไรหรือไม่”
       
        ด้าน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พูดถึงเหตุระเบิดดังกล่าวว่า หน่วยอีโอดีดังกล่าวได้รับแจ้งว่า มีวัตถุต้องสงสัย จึงเดินทางไปเก็บวัตถุระเบิด โดยคนร้ายใส่ระเบิดไว้ในถังแก๊ส ซึ่งอีโอดีชุดดังกล่าวได้เก็บกู้เรียบร้อยแล้ว แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะคนร้ายวางระเบิดไว้ 2 ชั้น เมื่อชุดอีโอดีนำถังแก๊สมาตรวจสอบภายในหน่วย และทำการแกะชิ้นส่วน จึงทำให้เกิดระเบิดขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6711
1. ไทย-เขมร แถลงด้วยวาจาเรียบร้อยแล้ว ด้านศาลโลกสั่งทั้ง 2 ฝ่ายชี้พิกัดพื้นที่รอบปราสาทที่เป็นของกัมพูชาภายใน 26 เม.ย.!

       ความคืบหน้ากรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เปิดโอกาสให้คู่กรณี คือไทยและกัมพูชาได้แถลงด้วยวาจากรณีที่กัมพูชาได้ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เพื่อยืนยันว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชา โดยกัมพูชา ซึ่งเป็นฝ่ายชี้แจงก่อนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา พร้อมทีมทนาย ได้อ้างเหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความว่า เป็นเพราะไทยรุกรานกัมพูชา นอกจากนี้ฝ่ายกัมพูชายังพยายามโน้มน้าวให้ศาลโลกรับรองแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เพื่อให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาด้วยนั้น
       
       ปรากฏว่า ในส่วนของฝ่ายไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยทนายความฝ่ายไทย ซึ่งแถลงด้วยวาจาต่อศาลรอบแรกเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า การที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่เคารพศาล เพราะนำเรื่องเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 มาแอบแฝงอยู่ในการยื่นขอตีความ ทั้งที่ศาลเคยปฏิเสธที่จะชี้ขาดเรื่องเขตแดนไปแล้ว ถือว่าผิดข้อกำหนดข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก
       
       นายวีรชัย ยังย้ำด้วยว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนไปแล้ว โดยที่กัมพูชาเองก็พึงพอใจและไม่เคยคัดค้าน แต่เพิ่งมาคัดค้านเมื่อกัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งกัมพูชาต่างหากที่เป็นฝ่ายรุกรานไทย รวมทั้งพยายามสร้างความสับสนให้ศาลโลกด้วยการอ้างว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ที่รับรองโดยคำพิพากษา ทั้งยังปลอมแปลงแผนที่เพื่อนำกลับมายื่นประกอบคำขอให้ศาลโลกตีความในครั้งนี้ด้วย
       
       ขณะที่ ศ.โดนัลด์ แค็คเรย์ ทนายความชาวแคนาดาของไทย ขึ้นให้การด้วยวาจา โดยยืนยันว่า คำขอของกัมพูชาไม่เข้าข่ายที่จะให้ศาลโลกตีความ และว่า กัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินว่าไทยมีพันธกรณีที่ต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง โดยพยายามให้ศาลเข้าใจว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทในคดีปราสาทพระวิหารตั้งแต่ปี 2505 เพื่อจะได้ตีความให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา ทั้งที่คดีปราสาทพระวิหารในครั้งนั้น ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว
       
       ด้าน น.ส.เอลินา มีรอง ทนายความชาวโรมาเนียของไทย ขึ้นให้การด้วยวาจาโดยชี้ว่า กัมพูชาพยายามทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเอกสารเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ในการปักปันเขตแดน ทั้งที่ในคดีเดิมมีแผนที่ถึง 59 ฉบับ ขณะที่แผนที่ภาคผนวก 1 ก็ไม่ได้มีแค่รุ่นเดียว แต่มีหลายรุ่น และแต่ละรุ่นก็แตกต่างกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบไปกับคำฟ้องของตนเมื่อปี 2502 ก็ไม่หมือนกับแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบมาในคำขอให้ศาลโลกตีความในครั้งนี้ น.ส.มิรอง ยังจับพิรุธกัมพูชาด้วยว่า “คดีเดิม กัมพูชายอมรับเส้นเขตแดนที่ไปตามสันปันน้ำ และได้ถ่ายทอดเส้นเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ในบริเวณปราสาทพระวิหารออกมาในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากเส้นของไทย แต่ปัจจุบันกัมพูชากลับปฏิเสธเส้นของตัวเองดังกล่าว ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงขอให้ศาลไม่รับพิจารณาคำขอตีความของกัมพูชา”
       
       ขณะที่ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจา โดยย้ำว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ด้วยการถอนทหารและล้อมรั้วลวดหนาม พร้อมขึ้นป้าย “เขตบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับ สังเกตได้จากกรณีสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขกัมพูชาขณะนั้น เสด็จฯ ไปยังปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2506 และทอดพระเนตรเห็นรั้วลวดหนามอย่างชัดเจน ซึ่งมิได้ทรงติดใจแต่อย่างใด แต่การที่กัมพูชามาเปลี่ยนท่าที เพราะต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จึงเสนอแผนผังที่กำหนดพื้นที่ที่จำเป็นในการขึ้นทะเบียนฯ แต่ปรากฏว่าแผนผังล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ 4.6 ตร.กม.ไทยจึงได้ประท้วงการขึ้นทะเบียนดังกล่าว กระทั่งปี 2551 กัมพูชาจึงขึ้นทะเบียนได้เพียงตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบเพียงเล็กน้อย ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกระบุแล้วว่า ทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนของกัมพูชาได้ลดขนาดลงและมีพื้นที่เพียงปราสาทพระวิหาร ไม่รวมชะง่อนผา หน้าผา และถ้ำ นั่นแสดงว่ายูเนสโกได้กลับไปสู่หลักการของคำพิพากษาปี 2505 ที่ว่า เฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ไม่รวมชะง่อนผา
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่การแถลงด้วยวาจารอบแรกของฝ่ายไทยจะเสร็จสิ้น นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ผู้พิพากษาชาวโซมาเลีย ได้บอกให้คู่ความทั้งสองฝ่ายระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์หรือชี้จุดในแผนที่ซึ่งคู่ความคิดว่าเป็นพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ทั้งนี้ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก กำหนดให้ไทยและกัมพูชาส่งคำตอบพิกัดดังกล่าวในวันที่ 26 เม.ย. ภายในเวลา 17.00น. และให้ทั้งสองฝ่ายส่งข้อสังเกตต่อคำตอบของคู่กรณีด้วยภายในวันที่ 3 พ.ค.เวลา 17.00น.
       
       วันต่อมา(18 เม.ย.) ฝ่ายกัมพูชาได้แถลงปิดการให้การด้วยยวาจาต่อศาลโลก โดย ศ.ร็อดแมน บุนดี ทนายความฝ่ายกัมพูชา ได้กล่าวโต้แย้งฝ่ายไทย โดยอ้างว่าสมเด็จสีหนุฯ เคยประท้วงการล้อมรั้วลวดหนามของไทยบริเวณปราสาทพระวิหารช่วง 4 เดือนก่อนที่จะเสด็จฯ ไปยังปราสาทฯ ศ.บุนดี ยังปฏิเสธด้วยว่า กัมพูชาไม่ได้ปลอมแปลงแผนที่ตามที่ทนายฝ่ายไทยอ้าง พร้อมกล่าวหาว่าฝ่ายไทยได้ลบเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ลง
       
       ขณะที่ฝ่ายไทยได้แถลงปิดการให้การด้วยวาจาต่อศาลโลกในวันที่ 19 เม.ย. โดย ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย แถลงตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชาไม่ยอมตอบประเด็นที่ตัวเองกำลังขอให้ศาลโลกพิพากษาเกินคำขอในเรื่องของเส้นแบ่งเขตแดน เพราะไม่เคยมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น พร้อมย้ำว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถนำมาประกอบคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาใหม่ได้
       
       ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้แถลงด้วยวาจาปิดท้ายว่า ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาไม่คงเส้นคงวา การอ้างเส้นต่างๆ ในแผนที่ ก็ไม่มีความคงเส้นคงวา และยังใช้เส้นเทียมในการกล่าวอ้างเพื่อให้บริเวณโดยรอบปราสาทกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย พร้อมย้ำว่า ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว คำขอของฝ่ายกัมพูชาจึงไม่มีมูล และไม่จำเป็นต้องตีความคำพิพากษาดังกล่าวอีก
       
       จากนั้น ประธานศาลโลกได้แจ้งตัวแทนและทนายทั้งสองฝ่ายว่า คณะตุลาการไม่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และจะมีคำพิพากษาในเวลาที่เหมาะสมต่อไป
       
       ทั้งนี้ หลังฝ่ายไทยเสร็จสิ้นการให้ถ้อยแถลงต่อศาลโลก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ไปแสดงความชื่นชม พร้อมขอบคุณนายวีรชัยและคณะทนายความฝ่ายไทย “ขอชื่นชมและขอบคุณจากใจในความตั้งใจของทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มที่ ทุกคนให้การดีทุกคน โดยเฉพาะนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ตัวแทนประเทศไทย ทำได้ดีมาก ขอให้กำลังใจทุกคน”
       
       2. รัฐสภาเสียงข้างมาก เมิน ปชป.วอล์กเอาต์ ลงมติแปรญัตติแก้ รธน.15 วัน – “สมศักดิ์” ส่อเผด็จการให้นับย้อนหลัง ด้าน ปชป. เตรียมร้อง ป.ป.ช. สอบ!

       เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติกำหนดวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หลังที่ประชุมเสียงข้างมากเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ก่อนมีมติตั้งกรรมาธิการขึ้นมา 3 คณะ คณะละ 45 คน เพื่อพิจารณาแปรญัตติใน 15 วัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้แปรญัตติ 60 วัน ซึ่งตามระเบียบต้องให้ที่ประชุมลงมติว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ 60 วันหรือ 15 วัน แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงสรุปให้แปรญัตติ 15 วัน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ พร้อมเรียกร้องให้นายสมศักดิ์เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติเรื่องวันแปรญัตติใหม่ หาไม่แล้วจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ กลัวถูกถอดถอนจึงเรียกประชุมเพื่อลงมติเรื่องนี้อีกครั้ง
       
        ปรากฏว่า เมื่อเข้าสู่วาระการประชุม นายสมศักดิ์ แจ้งว่า การประชุมครั้งนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี เสนอเพิ่มวันแปรญัตติเป็น 30 วัน และนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอวันแปรญัตติเป็น 60 วัน จึงขอดำเนินการเพื่อลงมติต่อ แต่นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า การประชุมครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ แทนที่ประธานจะปิดประชุมอย่างเดียว กลับวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วัน ถือว่าประธานทำผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน การมาเปิดประชุมวันนี้ แสดงว่าประธานยอมรับแล้วว่าทำผิด
       
        ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียดว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวันแปรญัตติอีกครั้ง ถ้าไม่เปิดประชุมจะยื่นถอดถอน พอเรียกประชุมก็ประท้วงว่าตนทำผิดรัฐธรรมนูญอีก สรุปว่าทำอะไรก็ผิดใช่หรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่ตนวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วันหลังองค์ประชุมไม่ครบนั้น เป็นไปตามข้อบังคับแล้ว
       
        จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงนายสมศักดิ์ว่า เมื่อญัตติคาอยู่ในที่ประชุม ต้องนัดประชุมต่อเพื่อลงมติในวันถัดไป แต่นายสมศักดิ์กลับสรุปว่าองค์ประชุมไม่ครบและให้แปรญัตติ 15 วัน จึงถือว่าไม่ชอบ ด้านนายสมศักดิ์พยายามชี้แจงโต้แย้งเป็นระยะๆ ก่อนตัดบทว่า จะไม่ให้ประท้วงแล้ว ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ โห่ลั่นกลางสภา
       
        จากนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมลงมติเรื่องวันแปรญัตติ นายสมศักดิ์ จึงบอกว่า จะให้สิทธิ ส.ส.ประท้วงอีก 2 คน และจะลงมติ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยกมือประท้วงหลายคน จึงตำหนิประธานรัฐสภาว่า อย่าใช้วิธีเผด็จการ แต่นายสมศักดิ์ไม่สน ตัดสินใจปิดการใช้สิทธิประท้วง และให้ที่ประชุมลงมติเรื่องวันแปรญัตติทันที พร้อมประกาศว่า จะขอรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ทุกประการ
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ขอใช้สิทธิประท้วงว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่สามารถลงมติได้ หากประธานยังยืนยันในคำวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่การประชุมครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่นายสมศักดิ์ ยังคงยืนยันว่า การสรุปให้แปรญัตติ 15 วัน ก่อนปิดประชุมครั้งที่แล้ว เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 96
       
        ด้านนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิอภิปรายว่า ข้อบังคับที่ 96 ระบุว่า หากไม่มีมติเป็นพิเศษให้ถือตามข้อบังคับคือ 15 วัน แต่เมื่อที่ประชุมมีผู้เห็นเป็นอื่น ที่เห็นต่างจาก 15 วัน ข้อยุติจึงยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นหากจะมีการลงมติ ประธานต้องยอมรับก่อนว่า ที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง จึงต้องมีการลงมติใหม่
       
        ขณะที่นายสมศักดิ์เมินคำท้วงติงของนายชวน ยังคงยืนกรานว่าข้อบังคับการประชุมกำหนดให้แปรญัตติ 15 วัน พร้อมอ้างว่า 15 วันดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ 19 เม.ย. เพราะการลงมติเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. เวลา 02.00น. ดังนั้นผลการใช้บังคับจะเกิดขึ้นในวันถัดไปคือวันที่ 5 เม.ย.
       
        หลังนายสมศักดิ์สรุปเช่นนั้น ทำให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่พอใจ ลุกขึ้นขว้างหนังสือข้อบังคับการประชุมใส่โต๊ะ และขอใช้สิทธิประท้วง โดยชี้ว่า ถ้านับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ถือว่าไม่ถูกต้อง ต้องนับวันแปรญัตติจากวันที่ลงมติคือวันนี้(18 เม.ย.) พร้อมเตือนว่า ประธานกำลังเดินไปสู่กับดักตัวเอง เป็นไม้หลักปักขี้เลน
       
        ด้านนายสมศักดิ์ ไม่สน ยังคงยืนยันในความคิดตัวเอง และเรียกให้นับองค์ประชุมเพื่อลงมติทันที ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เดินออกจากห้องประชุมทันที ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชูกระดาษที่เขียนคำว่า “เผด็จการ” เดินไปหน้าที่นั่งนายสมศักดิ์เพื่อประท้วง
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุมหลังพรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ ได้มีมติ 356 เสียง เห็นชอบวันแปรญัตติเดิมคือ 15 วัน ขณะที่ 19 เสียงเห็นตามญัตติของพรรคประชาธิปัตย์คือ 60 วัน มีผู้งดออกเสียง 33 เสียง และไม่ลงคะแนน 5 เสียง จากนั้นนายสมศักดิ์ สรุปอีกครั้งว่า การยื่นเสนอคำแปรญัตติจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 19 เม.ย. ก่อนสั่งปิดประชุมทันที
       
        ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ตนและนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.ของพรรค จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า นายสมศักดิ์จงใจกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       
        ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและคณะรวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิประชาชน และลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายสมศักดิ์และคณะทั้ง 312 คน ส่งคำชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วันนั้น
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.รวม 30 คน นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายอำนวย คลังผา ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้อ้างเป็นตัวแทนสมาชิกรัฐสภาที่ออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาตามมาตรา 68 โดยชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมาสั่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติหยุดหรือห้ามออกกฎหมาย เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
       
        ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย บอกว่า ส.ส.ของพรรคจะไม่ทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่กำหนด 15 วัน เพราะการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68
       
        ขณะที่นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.บางส่วนออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และจะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาต่อไป ดังนั้น หากผู้ถูกร้องไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจในคำร้องดังกล่าว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วยวาจาในขั้นตอนการไต่สวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการฯ
       
       3. สภาฯ เสียงข้างมาก มีมติเลื่อน กม.นิรโทษฯ เป็นวาระด่วนลำดับแรกสมัยประชุมหน้า ด้าน 40 ส.ว.ค้าน เหตุช่วยคนหมิ่นสถาบันหลุดคดี!

       เมื่อวันที่ 18 เม.ย. หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อ เพื่อพิจารณากระทู้ทั่วไปและกระทู้ถามสด นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาญัตติที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้สภาบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมสมัยหน้า
       
        ทั้งนี้ หลังที่ประชุมมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ได้มีการลงมติ โดยเสียงข้างมากมีมติ 283 เสียง ต่อ 56 เสียง ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จากเดิมที่ค้างพิจารณาในลำดับที่ 5.23 ขึ้นมาพิจารณาก่อนในลำดับที่ 1 ตามที่นายวรชัยเสนอ นั่นหมายความว่า หากมีการเปิดประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปเมื่อใด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก
       
        ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ประกาศจุดยืนคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เนื่องจากมีบางมาตราที่ระบุชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และยังเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
       
       นายไพบูลย์ ยังชี้ด้วยว่า หากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อใด จะมีปัญหาและถูกตีกลับ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เพราะจะมีมวลชนออกมาต่อต้าน รวมทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่จริงใจปกป้องสถาบัน
       
       ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฉบับที่ตนยกร่างไว้ เสนอต่อที่ประชุมสภาทันทีที่เปิดสมัยประชุมหน้า พร้อมยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์นับหนึ่งประเทศไทย และจะเป็นผลบวกต่อบุคคลทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม มีทั้งหมด 6 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 ระบุว่า การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ระหว่างปี 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ หากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ,ผู้สนับสนุน ,ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
       
       4. ปภ. สรุป 7 วันอันตราย ตายสูสีปีที่แล้ว 321 เจ็บกว่า 3 พันคน “ประจวบฯ-เชียงใหม่” ตาย-เจ็บมากสุด!

       เมื่อวันที่ 18 เม.ย.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) สำหรับยอดรวมอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย(11-17 เม.ย.) พบว่า เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,828 ครั้ง ลดลงจากช่วง 7 วันอันตรายของปีที่แล้ว จำนวน 301 ครั้ง สำหรับปีนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 321 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวน 3,040 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 280 คน
       
        สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาแล้วขับ ตามด้วยขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิคอัพ พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.00น.–20.00น. ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน
       
       สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในช่วง 7 วันอันตราย คือ เชียงใหม่ จำนวน 104 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 110 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยช่วง 7 วันอันตราย มี 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต และระนอง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 เมษายน 2556

6712
 1. เขมร ให้การคดีพระวิหารต่อศาลโลกแล้ว อ้างเหตุไทยรุกราน ด้านกลุ่มทวงคืนฯ เตรียมนำธงชาติไทยขึ้นปักบนเขาพระวิหาร 17 เม.ย.!

       จากกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เพื่อยืนยันว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชา ซึ่งศาลโลกได้กำหนดให้ฝ่ายกัมพูชาและไทยชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย. ก่อนจะมีคำพิพากษาในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้านั้น ปรากฏว่า กัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายชี้แจงก่อนในวันที่ 15 เม.ย มีนายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา เป็นตัวแทน ได้ชี้แจงต่อศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยอ้างเหตุที่กัมพูชาต้องยื่นคำร้องให้ศาลโลกนำคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารมาตีความอีกครั้งว่า เนื่องจากกัมพูชาถูกฝ่ายไทยรุกรานและโจมตี ทำให้ปราสาทพระวิหารได้รับความเสียหาย และมีการเสียชีวิต เพราะมีการตีความคำพิพากษาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องเขตแดน และหลังจากที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คนไทยก็มีการคัดค้าน
       
       ทั้งนี้ นายฮอร์ นัมฮง ยังกล่าวหาว่าไทยพยายามลดขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาปี 2505 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2554 ที่ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท แสดงให้เห็นว่าไทยดูหมิ่นและทำไม่ถูกกฎหมาย และว่า ฝ่ายไทยกล่าวหาว่ากัมพูชาเอาประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทพระวิหาร ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ของเขามานาน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายฮอร์ นัมฮง พยายามชี้นำให้ศาลโลกยึดหลักเขตแดนตามแผนที่ในภาคผนวกที่ 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เพื่อให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา โดยอ้างว่า แผนที่ดังกล่าวใช้อ้างอิงมาตั้งแต่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 ซึ่งในความเป็นจริง แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวในปี พ.ศ.2450 และไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส พ.ศ.2447 ทำให้ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ ซึ่งหากยึดตามแผนที่ดังกล่าว จะส่งผลให้ไทยเสียดินแดนให้กัมพูชาประมาณ 1.8 ล้านไร่ รวมทั้งจะส่งผลต่อการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่จะตกเป็นของกัมพูชามากขึ้นด้วย
       
       สำหรับตัวแทนฝ่ายไทยซึ่งนำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก มีกำหนดจะชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลโลกในวันที่ 17 เม.ย. เวลา 15.00น.-18.00น. และ 20.00น.-21.30น. จากนั้นวันที่ 18 เม.ย.จะเป็นการชี้แจงรอบสองของฝ่ายกัมพูชา ในเวลา 20.00น.-22.00น. ส่วนไทยจะชี้แจงรอบสองในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 20.00น.-22.00น. โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เปิดเว็บไซต์ http://www.phraviharn.org เพื่อถ่ายทอดสดภาพและเสียงการชี้แจงของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาให้ประชาชนได้ทราบ รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุเอฟเอ็ม 92.5 เอเอ็ม 891 ของกรมประชาสัมพันธ์ด้วย
       
       ขณะที่สถานการณ์บริเวณชายแดน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่า ทหารไทยและตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ยังคงตั้งด่านตรวจเข้ม ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นไปบริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เด็ดขาด
       
       ด้านนายกิติศักดิ์ พ้นภัย หัวหน้ากลุ่มกำลังแผ่นดิน เผยว่า วันที่ 17 เม.ย. กลุ่มพลังมวลชนทวงคืนแผ่นดินเขาพระวิหารทุกกลุ่มทุกเครือข่าย จะรวมพลังประชาชนชาวไทยผู้รักชาติรักแผ่นดินประมาณ 10,000 คน นำธงชาติไทย สูง 21 เมตร ขึ้นไปปักที่บริเวณเขาพระวิหาร หรือบริเวณภูมะเขือให้ได้ ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จากหลายจังหวัดมาปิดกั้นไม่ให้กลุ่มพลังมวลชนนำธงชาติขึ้นไปติดตั้งบริเวณเขาพระวิหารนั้น นายกิตติศักดิ์ บอกว่า ไม่อยากให้ นปช. หรือคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่เป็นคนไทยแต่หัวใจเป็นคนต่างชาติ เข้ามาขัดขวางคนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดินที่เคลื่อนไหวในครั้งนี้ พร้อมเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกัน “จึงขอเชิญชวนชาวไทยผู้รักชาติทุกคนร่วมกิจกรรมทวงคืนผืนแผ่นดินเขาพระวิหารในวันที่ 17 เม.ย. และร่วมกันแสดงออกว่า ชาวไทยต้องการให้ใช้สันปันน้ำปักปันเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร และไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก”
       
       2. “สมศักดิ์” กลัวถูกถอดถอน ยอมเรียกประชุมรัฐสภาโหวตวันแปรญัตติแก้ รธน.ใหม่ 18 เม.ย. ด้าน พท. จ่อดันสภาฯ เร่งพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษฯ !

       หลังที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากได้รับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.เลือกตั้งกลุ่มนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เมื่อวันที่ 3 เม.ย. จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 3 คณะ คณะละ 45 คน เพื่อพิจารณาแปรญัตติใน 15 วัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้แปรญัตติ 60 วัน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ 15 วัน ซึ่งตามระเบียบต้องให้ที่ประชุมลงมติว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ 60 วันหรือ 15 วัน แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงสรุปให้แปรญัตติ 15 วัน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ พร้อมเรียกร้องให้นายสมศักดิ์เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติเรื่องวันแปรญัตติใหม่ หาไม่แล้วอาจมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเข้าข่ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ แต่นายสมศักดิ์ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมใหม่แล้วนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายสมศักดิ์ มีท่าทีอ่อนลง โดยขอให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายไปคุยกันว่า จะสามารถเปิดประชุมได้ในวันไหน และว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่าอะไรที่ยอมกันได้ก็ควรจะยอม อย่าพยายามสร้างเงื่อนไข หรือเอาชนะคะคานกัน พร้อมส่งสัญญาณว่า วันที่สามารถประชุมได้คือ 18 เม.ย.ที่นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้วในเวลา 10.00น.-18.00น. สามารถขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาได้ก่อนในเวลา 09.30น. และว่า ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีก็คงเรียบร้อย
       
       ขณะที่นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) อ้างว่า เดิมเป็นมติของวิป 3 ฝ่ายอยู่แล้วที่ให้แปรญัตติ 15 วัน แต่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เสนอให้แปรญัตติ 60 วัน “ผมขอถาม ปชป.ว่าจะแปรญัตติทำไมถึง 60 วัน พูดกันทีก็จะมีกว่าร้อยประเด็นออกมาให้ถกเถียง แล้วมันจะเสียเวลาไหม ผมอยากถามว่ามันควรทำหรือไม่ เพราะแม้แต่กฎหมายสำคัญๆ ที่มีมากกว่า 70-80 มาตรา ยังใช้เวลาแปรญัตติกันไม่เยอะขนาดนี้เลย...”
       
       อย่างไรก็ตาม ในที่สุด นายสมศักดิ์ ได้นัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติกำหนดเวลาการแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 09.30น. ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนไม่เห็นด้วยที่นายสมศักดิ์เรียกประชุมดังกล่าว โดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ บอกว่า “ประธานรัฐสภากลัวจะถูกฝ่ายค้านถอดถอน ไม่น่าโลเล ทำอย่างนี้หลายรอบแล้ว เพราะกลัวฝ่ายค้าน” ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย บอกว่า หากวันเปิดประชุมรัฐสภา ฝ่ายค้านพูดมาก ทาง ส.ส.รัฐบาลจะเสนอให้มีการลงมติวันแปรญัตติทันที เพื่อปิดปากฝ่ายค้าน จะให้โอกาสฝ่ายค้านมาอภิปรายด่ารัฐบาลไม่ได้
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า ปชป.พร้อมขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มีการล้มล้างการปกครอง รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตัวเองได้ นอกจากนี้ยังจะขวางการแก้ไขมาตรา 190 ที่ลดอำนาจการตรวจสอบของรัฐสภาด้วย “ขณะนี้คนที่มีอำนาจ เจ้าของอำนาจตัวจริง กำลังคิดทำธุรกิจในพื้นที่ในทะเลที่คาบเกี่ยวของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ข้อตกลงเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา มีลับลมคมใน แสวงหาผลประโยชน์ จึงต้องขวางคนโกง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”
       
       ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ให้วินิจฉัยยุบพรรค ปชป. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและคณะรวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิและลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคที่ ส.ส.ดังกล่าวสังกัด 6 พรรค ซึ่งนายเรืองไกรชี้ว่า ต้องยุบ ปชป. และตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคด้วย เนื่องจาก ปชป.ได้เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคจำนวน 11 คน จึงถือว่า 11 คนนี้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว มีมติเอกฉันท์ 8 เสียงไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร เนื่องจากพิจารณาแล้วไม่พบการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 สำหรับตุลาการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม 1 คน คือนายชัช ชลวร ซึ่งลาประชุม เนื่องจากติดภารกิจ
       
       นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้มีมติ 5 ต่อ 3 ให้รับคำร้องของนายบวร ยสินทร และคณะ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 68 ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่าประธานรัฐสภากับพวกรวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลฯ เห็นว่า การยกเลิกสิทธิของประชาชนในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงยื่นต่ออัยการสูงสุดเพียงทางเดียว เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน จึงมีมูลที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้อง เพื่อให้ศาลฯ ตรวจสอบตามมาตรา 68 วรรคสอง
       
       ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการกระทำของ ส.ส.และ ส.ว.ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68 ,111-120 ซึ่งมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และตัดอำนาจประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันกระทำในสิ่งที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน “ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง...หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเป็นความผิดจริงตามที่ได้ร้อง ผู้ตรวจการฯ สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ยับยั้งการกระทำหรือลงโทษทางอาญาต่อไป”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. หลังการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะมีประเด็นร้อนเกิดขึ้นด้วย เพราะ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาบอกแล้วว่า จะเสนอให้ที่ประชุมเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาในวันดังกล่าว โดยอ้างว่า ส.ส.ในพรรคเห็นด้วย เพราะต้องเห็นแก่ประชาชนที่ถูกจองจำในเรือนจำ พร้อมเปรียบเทียบว่า เรื่องความยากจน ความหิวโหยยังพอรอได้ แต่คนถูกจำกัดสิทธิถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ
       
       3. “เฉลิม” ยอมลงพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ลั่น ไม่เคยกลัว ด้านเลขาฯ สมช.ยัน ไม่เลื่อนเจรจาบีอาร์เอ็น!

       เหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีการอุ้มฆ่าทหารที่ จ.นราธิวาส และวางระเบิดรถนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เสียชีวิต ขณะที่เริ่มมีความไม่แน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยจะเลื่อนเจรจาสันติภาพรอบสามกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 29 เม.ย.หรือไม่
       
       ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ จ.ยะลาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. เพื่อให้กำลังใจข้าราชการและเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุไม่สงบ รวมทั้งได้เดินทางไปเคารพศพนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าฯ ยะลาด้วย
       
       ขณะที่นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของนายอิศรา ก่อนมีมติรวบรวมเงินตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมตั้งค่าหัว 1 ล้านบาท หากเจ้าหน้าที่สามารถจับกลุ่มคนร้ายที่ลอบวางระเบิดรถนายอิศราได้
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าฯ ยะลา เผยว่า ตำรวจ สภ.บันนังสตา ได้ออกหมายจับผู้ร่วมก่อเหตุแล้ว คือ นายอับดุลเลาะ ตาเปาะโอ๊ะ อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.บันนังสตา เคยก่อเหตุคดีสำคัญมาแล้ว 4 คดีเมื่อปี 2552 และยังร่วมก่อเหตุลอบยิงแล้วฆ่าตัดคอ ตชด.หน่วยพลร่มที่บ้านบือซู อ.บันนังสตา เมื่อปี 2550 ด้วย
       
       สำหรับเหตุไม่สงบยังคงเกิดขึ้นรายวัน แต่ดูเหมือนโจรใต้จะเปลี่ยนเป้าหมายมาที่เจ้าหน้าที่มากกว่าชาวบ้าน โดยเมื่อช่วงสายวันที่ 7 เม.ย. คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่ฝังไว้ข้างถนนสายบ้านเมาะสาวา-บ้านบองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขณะที่อาสาสมัครทหารพราน(อส.ทพ.) โสภณ เหมาะสม สังกัดกรมทหารพรานที่ 45 และ อส.ทพ.ก้องเกียรติ แก่นดี สังกัดกรมทหารพรานที่ 11 ขี่รถจักรยานยนต์ผ่าน ส่งผลให้รถเสียหลักล้มลง จากนั้นคนร้ายไม่ต่ำกว่า 6 คน ที่ดักซุ่มอยู่ข้างทาง ได้ใช้ปืนเอ็ม 16 และอาก้ามาจ่อยิง อส.ทพ.ทั้ง 2 นายเสียชีวิต ก่อนยึดปืนเอ็ม 16 และปืนลูกซองยาวของ อส.ทพ.ไป
       
       กลางดึกคืนเดียวกัน ล่วงเข้าวันที่ 8 เม.ย. คนร้ายได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่บ้านของนายนัจมุดดีน อูมา แกนนำกลุ่มวาดะห์ และที่ปรึกษาปัญหาชายแดนภาคใต้ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยแรงระเบิดทำให้หลังคาบ้านเป็นรูโหว่ ขณะที่ตำรวจ สภ.ระแงะ สันนิษฐานเบื้องต้นว่า สาเหตุอาจเชื่อมโยงกับกรณีที่นายนัจมุดดีนเป็นที่ปรึกษาของรองนายกฯ เฉลิมในการแก้ปัญหาไฟใต้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า คนร้ายได้ยิงเอ็ม 79 ถล่มบ้านนายนัจมุดดีนซ้ำอีกรอบในคืนต่อมา แต่กระสุนพลาดเป้าไปตกบนถนน ห่างจากรั้วบ้านของนายนัจมุดดีนประมาณ 100 เมตร โดยสะเก็ดระเบิดกระเด็นไปถูกนายสุไลมาน สะมะแอ ซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในบ้านบริเวณดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ ขณะเกิดเหตุ นายนัจมุดดีนและครอบครัวไม่ได้อยู่ในบ้านพัก เพราะเกรงไม่ปลอดภัย จึงได้พากันไปอาศัยอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราว
       
       ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ไม่ยอมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเกิดกรณีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ถล่มบ้านนายนัจมุดดีน ที่ปรึกษาของตนก็ตาม “ผมรู้รายละเอียดหมด แต่ผมไม่จำเป็นต้องออกไปพูด เพราะเรื่องการข่าวต้องถือเป็นความลับ จะลงใต้บ้าง ไม่ลงบ้าง ลงช้าลงเร็ว ไม่ใช่ปัจจัยหลักของการทำงาน ปัจจัยทำงานคือต้องบูรณาการด้านการข่าว...”
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูแลปัญหาไฟใต้ด้วยตัวเอง เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมคงจะทำงานเรื่องนี้ลำบาก เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมพูดคุยด้วย และไม่ได้ร่วมคณะนายกฯ เดินทางลงพื้นที่
       
       อย่างไรก็ตาม 2 วันให้หลัง(11 เม.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม ได้ลงพื้นที่เป็นครั้งแรกที่ จ.ปัตตานี พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนไปนอนค้างที่ จ.ยะลา 1 คืน พร้อมเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากนายกฯ มอบหมาย และไม่เคยกลัวการลงพื้นที่ภาคใต้แต่อย่างใด
       
       ขณะที่คนร้ายได้ก่อเหตุป่วนที่ จ.ปัตตานีเมื่อคืนวันที่ 10 เม.ย.รวม 35 จุด มีทั้งระเบิดเรือประมง ,เผาสัญญาณโทรศัพท์ ,ยิงใส่ฐานอาสาสมัคร ,เผารถยนต์ ,เผาสหกรณ์การเกษตร ฯลฯ
       
       ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าเริ่มมีกระแสข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยอาจเลื่อนเจรจาสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย.ออกไปก่อน ซึ่งตอนแรก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ก็ไม่ยืนยัน โดยบอกว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนประสานงาน เนื่องจากมาเลเซียจะมีการเลือกตั้ง แต่ภายหลัง พล.ท.ภราดร ได้ยืนยันเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ว่า ได้รับการประสานจากผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียแล้ว โดยยืนยันว่าการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย.ยังมีอยู่เหมือนเดิม ส่วนการเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซียไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจา เพราะการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ค.
       
       4. ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ลดโทษมือระเบิดพรรคภูมิใจไทย จาก 35 ปี เหลือ 5 ปี ปรับ 50 บาท!

       เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอนก สิงขุนทด ซึ่งตาบอดจากเหตุระเบิดที่หน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อปี 2553 เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิด มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกวัตถุระเบิดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร และกระทำให้เกิดระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 ,38 ,74 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 ,222 ,218 และ 371
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2553 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันผลิตวัตถุระเบิด และร่วมกันมีวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยนายอเนกเป็นผู้เข็นรถเข็นผลไม้ที่ซุกซ่อนระเบิดไว้ เข็นผ่านไปทางด้านหลังที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ใกล้ซอยพหลโยธิน 43 เขตจตุจักร กทม. ก่อนเกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ผนังด้านหลังอาคารพรรคภูมิใจไทยแตกเสียหาย ขณะที่ร้านขายอาหารและรถยนต์บริเวณใกล้เคียงก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน นอกจากนี้แรงระเบิดยังทำให้นายอเนกตาบอดทั้งสองข้างด้วย
       
        ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2555 ให้จำคุกนายเอนก 2 กระทงๆ ละ 10 ปี ฐานมีระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และปรับ 100 บาท ฐานพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะ และให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและสถานที่ประชุม ซึ่งเป็นโทษหนักสุดตามมาตรา 222 และ 218 แต่จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกทั้งสิ้น 35 ปี และปรับ 50 บาท ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษลง
       
        ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สถานที่ประชุมตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าไม่ได้กระทำผิด จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น แม้จำเลยจะทำและมีวัตถุระเบิด 2 ลูก โดยระเบิดอีก 1 ลูก เจ้าหน้าที่ไปตรวจยึดได้ที่ริมถนนรามอินทรา 81 นั้น ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนามุ่งกระทำในคราวเดียว ความผิดของจำเลยฐานร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา จึงฟังขึ้น เห็นสมควรลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี ฐานทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและสถานที่ประชุม จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้เป็นเวลา 5 ปี และปรับ 50 บาท

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 เมษายน 2556

6713




สองนักวิชาการทีดีอาร์ไอ'ดร.สมชัย จิตสุชน'และ'ดร.สุเมธ องกิตติกุล'ออกโรงโต้ทีมที่ปรึกษานายกฯ'พันศักดิ์ วิญญรัตน์'หลังรัฐบาลแจงกรณีรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้เงิน2.2ล้านล้านบาทดำเนินการว่าถูกทางคุ้มค่าหรือไม่ ขณะทีมที่ปรึกษาระบุว่าเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้     

ตามที่คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ได้เผยแพร่คำชี้แจงเรื่อง"รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ภาระหนี้สิน แต่คือโอกาสใหม่ของการสร้างรายได้” เพื่อแลกเปลี่ยนกับบทวิเคราะห์เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ: เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง คุ้มค่า และเป็นประชาธิปไตย” ของ ดร.สมชัย จิตสุชน และ ดร.สุเมธ องกิตติกุล แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ผู้เขียน (ดร.สมชัย จิตสุชน และ ดร.สุเมธ องกิตติกุล) ขอขอบคุณที่คณะทำงานฯ ให้ความสนใจบทวิเคราะห์ดังกล่าว และขอถือโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลับ ดังนี้

ลงทุนหรือไม่ลงทุน อยู่ที่ ‘ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส’ ของการศึกษาความเป็นไปได้

จากที่คณะทำงานฯ ชี้แจงว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย มีความคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยพิจารณาจากผลการประมาณการจำนวนผู้โดยสารขั้นต่ำ ซึ่งจัดทำโดย Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation (TSDI) เมื่อเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2555 ซึ่งระบุว่า เพียงแค่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย ‘รวมกัน’ ก็จะมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง “23.8 ล้านคน-เที่ยว” ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ผู้เขียนเคยระบุว่า รถไฟความเร็วสูงควรมีผู้โดยสารในปีแรกสูงถึง “9 ล้านคน-เที่ยว” เป็นอย่างน้อย จึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนดำเนินงาน

ผู้เขียนขอชี้แจงว่า ตัวเลข “9 ล้านคน-เที่ยว” ของผู้เขียนเป็นตัวเลขของจำนวนผู้โดยสารคุ้มทุนสำหรับเส้นทางรถไฟหนึ่งเส้นทาง ที่มีระยะทาง 500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่ากรุงเทพฯ-หนองคาย (530 กิโลเมตร) การที่คณะทำงานฯ เปรียบเทียบตัวเลข “23.8 ล้านคน-เที่ยว” ซึ่งเป็นการรวมสองเส้นทางเข้าด้วยกัน และมีเส้นทางที่ยาวกว่า กับ “9 ล้านคน-เที่ยว” เพื่อบอกว่า แม้ใช้ตัวเลขของทีดีอาร์ไอเองก็ยังคุ้มทุน จึงเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ หรือผู้อ่านก็อาจแย้งว่า แม้จะปรับลดตัวเลข “23.8 ล้านคน-เที่ยว” ลงตามสัดส่วนระยะทางให้เหลือ 500 กิโลเมตร ก็จะได้ตัวเลขสูงกว่า 9 ล้านคน-เที่ยวอยู่ดี แสดงว่ายังคงคุ้มทุน ซึ่งก็อาจถูกต้อง แต่ประเด็นนี้มิใช่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตมากกว่าว่า ในปีแรก ๆ ที่เปิดดำเนินการ จำนวนผู้โดยสารจริงจะมีจำนวนเท่าใด เท่ากับจำนวนที่คุ้มทุนหรือไม่ ไม่ว่าตัวเลขนั้นจะเป็น 9 ล้านคน-เที่ยว หรือ 23.8 ล้านคน-เที่ยว

ตัวอย่างเช่น เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เดินทางโดยสายการบินต้นทุนต่ำกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในปัจจุบัน พบว่ามีเพียงปีละ 5 ล้านคน-เที่ยว ซึ่งหากรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริง ก็คงแบ่งจำนวนผู้โดยสารจากสายการบินต้นทุนต่ำมาส่วนหนึ่ง (น้อยกว่า 5 ล้านคน) ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารที่เปลี่ยนจากการเดินทางช่องทางอื่นหรือจำนวนผู้โดยสารใหม่ที่ไปเชียงใหม่เพิ่มขึ้น เพราะมีรถไฟความเร็วสูงให้ใช้บริการจะเป็นจำนวนเท่าไร ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด

ผู้เขียนจึงเรียกร้องให้เปิดเผยวิธีการคำนวณ แบบจำลองที่ใช้ และสมมติฐานต่าง ๆ ที่นำไปสู่การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งเป็นตัวกำหนดที่สำคัญต่อผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้

เหตุที่ผู้เขียนต้องการให้เปิดเผยรายละเอียด ของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระดับ Pre-Feasibility Study ระดับ Feasibility Study และไม่ว่าจะจัดทำโดยหน่วยงานใด เพราะต้องการให้การศึกษาความเป็นไปได้มี ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘ความโปร่งใส’ โดยเฉพาะในเรื่องการประมาณการต้นทุนโครงการและจำนวนผู้โดยสาร

งานวิจัยของ Flyvbjerg (2009) ระบุปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ในอดีตว่า มีปัญหาด้านต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่สูงกว่าที่คาดการณ์ (Cost overruns) และผลประโยชน์ที่ได้รับน้อยกว่าที่คาดการณ์ (Benefit shortfalls) หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการไปแล้ว กล่าวคือ มีจำนวนผู้ใช้งานจริงน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมข้อมูลของโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 200 โครงการ จาก 20 ประเทศ ใน 5 ทวีป พบว่าต้นทุนของโครงการด้านรถไฟมีค่าเฉลี่ยต้นทุนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 44.7 และในส่วนของการคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการ พบว่าโครงการด้านรถไฟมีจำนวนผู้โดยสารจริงน้อยกว่าการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารมากถึงร้อยละ 51.4 โดยพบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาความเป็นไปได้จัดทำหรือจัดจ้างโดยหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนเสนอให้การศึกษาความเป็นไปได้จัดทำโดยหน่วยงานเป็นกลางและมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาซ้ำรอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ

รถไฟความเร็วสูงกับ ‘ค่าเสียโอกาส’ และ ‘ความเสี่ยง’ ของการลงทุน

คณะทำงานฯ ระบุว่ารัฐบาลวางแผนสร้างรายได้อื่นนอกเหนือจากการให้บริการรถไฟความเร็วสูงจนทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการเพิ่มการพิจารณารายได้อื่นแบบ non-rail เพื่อเพิ่มรายได้รวมของโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องที่ทำได้ และสามารถใช้เป็นเกณฑ์ ‘เบื้องต้น’ ในการตัดสินใจว่าควรสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ กล่าวคือ หากรายได้รวมทั้งหมดสูงกว่าต้นทุนการก่อสร้างก็ควรสร้างรถไฟความเร็วสูง และในทางตรงข้าม หากรายได้รวมต่ำกว่าก็ไม่ควรสร้าง

อย่างไรก็ตาม การทุ่มเทเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากในโครงการใดโครงการหนึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มากกว่านั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นสอนเราว่าการพิจารณาต้นทุนที่ถูกต้องควรคำนึงถึง ‘ค่าเสียโอกาสในการลงทุน’ มากกว่า กล่าวคือ หากนำเงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนในโครงการอื่นจะได้ ‘รายได้รวม’ จากโครงการเหล่านั้นมากกว่ารายได้รวมจากการลงทุนในรถไฟความเร็วสูงหรือไม่

ตัวอย่างเช่น หากเพิ่มการลงทุนในระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้สมบูรณ์มากกว่าที่เสนอในร่าง พ.ร.บ. (ซึ่งอาจรวมทั้งการปรับปรุงระบบรางส่วนใหญ่ให้เป็นรางมาตรฐาน เพื่อให้สามารถเพิ่มความเร็วในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร) ก็สามารถมีรายได้อื่นแบบ non-rail เช่น รายได้จากส่วนของ ‘สถานี’ ได้เช่นกัน ในขณะที่ก็อาจได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากระบบรางของรถไฟทางคู่มากกว่าระบบรางรถไฟความเร็วสูง จนทำให้รายได้รวมสูงกว่าการนำเงินไปลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงก็เป็นได้

มิพักต้องกล่าวถึงว่า หากพิจารณาเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนเข้าไปด้วย ดูเหมือนว่ารถไฟความเร็วสูงจะมีความเสี่ยงเรื่องการประมาณการจำนวนผู้โดยสารดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยใช้บริการมาก่อนจึงประมาณการผู้โดยสารได้ยากกว่าการใช้รถไฟปกติ นั่นยิ่งทำให้เราต้องระมัดระวังในการด่วนสรุปว่ารถไฟความเร็วสูงคือการลงทุนที่ดีที่สุดจากเงินจำนวนเดียวกันนี้

รถไฟความเร็วสูงกับ ‘ผลประโยชน์ทางอ้อม’

จากที่คณะทำงานฯ อ้างถึงผลการสำรวจของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพบว่า “จำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการขยายตัวของ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ในจังหวัดต่างๆ ในระดับภูมิภาค” และระบุว่า “รถไฟความเร็วสูงจะทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของ GPP” รวมทั้งประโยชน์อื่น ๆ เช่นการกระจายสินค้าของบริษัทไปรษณีย์ไทย

ผู้เขียนมีความเห็นว่าความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่าง GPP และจำนวนผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้โดยปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นความสัมพันธ์ในทิศทางใด กล่าวคืออาจเป็นไปได้เช่นกันว่า GPP สูงขึ้นจากสาเหตุอื่นก่อน จากนั้นจึงมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตาม อีกทั้งต่อให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางที่คณะทำงานฯ โน้มน้าวให้เชื่อ แต่ความสัมพันธ์นั้นมาจากจำนวนผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ มิได้เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงโดยตรง ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงจะไปแย่งชิงผู้โดยสารจากสายการบินต้นทุนต่ำจำนวนหนึ่งซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารรวม (สายการบินต้นทุนต่ำรวมกับรถไฟความเร็วสูง) เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าที่อยากเห็น ผลต่อ GPP จึงน้อยกว่าที่ประมาณได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับกรณีรายได้รวม การวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์รวมที่รวมผลทางอ้อมที่เกิดกับภาคเศรษฐกิจอื่นนั้นควรทำกับการลงทุนในทุกกรณี เพราะผลทางอ้อมมิได้เกิดขึ้นกับรถไฟความเร็วสูงเพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากใช้เงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนในระบบรถไฟทางคู่ ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ลดลงย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อภาคธุรกิจอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาตลอด และเกี่ยวโยงกับหลายภาคการผลิตมากกว่าการท่องเที่ยว ประโยชน์ทางอ้อมจึงน่าจะสูงกว่ารถไฟความเร็วสูงด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ ประโยชน์ของการขนส่งสินค้าของรถไฟความเร็วสูงนั้นจำกัดกว่ารถไฟทางคู่ ตัวอย่างที่คณะทำงานฯ ยกมาเรื่องการจัดส่งพัสดุและสินค้าอาหารของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นั้นชัดเจนว่ามีขนาดของประโยชน์น้อยกว่ากรณีรถไฟทางคู่ ซึ่งส่งเสริมการขนถ่ายสินค้าหลากหลายประเภทและในปริมาณและมูลค่าที่สูงกว่ามาก

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนของประโยชน์ทางอ้อมที่น่าจะมากกว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงคือการลงทุนด้านนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา โดยหากโยกเงินที่ใช้สำหรับสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ก็จะทำให้สัดส่วนการลงทุน R&D ต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มเป็นร้อยละ 1 ต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบสิบปี ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการลงทุน R&D เป็นหัวใจที่ตัดสินว่าประเทศจะหลุดพ้นหรือก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้หรือไม่ และเป็นที่ทราบเช่นกันว่ารัฐบาลยังมิได้แสดงความมุ่งมั่นชัดเจนกว่าการกล่าวด้วยวาจาว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ยังมิพักต้องพูดถึงการใช้จ่ายด้านสังคมในการดูแลผู้สูงอายุที่ขาดลูกหลานดูแล เด็กพิการ เด็กกำพร้า และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ที่น่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยลงในระยะยาว

รถไฟความเร็วสูงกับ ‘นโยบายประชานิยม’

การสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ชัดเจนว่าประชาชนจะ ‘นิยม’ มากน้อยเพียงใด (แม้ภาคธุรกิจก่อสร้างและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องจะนิยมค่อนข้างแน่) แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการวางแผนการใช้ทรัพยากรการเงินที่จำกัดของประเทศในทิศทางใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเสี่ยงน้อยสุดหรือในระดับที่รับได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม บทความของผู้เขียนที่คณะทำงานฯ กล่าวถึงรวมทั้งบทความนี้มิได้ต้องการชี้ชัดว่า รถไฟความเร็วสูงนั้นต้องเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอนและไม่ควรสร้าง การยกตัวอย่างข้างต้นก็เป็นเพียงการคาดเดาไม่ต่างไปจากการกล่าวอ้างผลประโยชน์ทางบวกของรถไฟความเร็วสูง ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อคือเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจลงทุนตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้มีความรอบคอบ มีหลักเกณฑ์และใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย

ผู้เขียนอยากเห็นการถกเถียงเพี่อร่วมกันสร้างกระบวนการตัดสินใจลักษณะดังกล่าวมากกว่าการโน้มน้าวเพื่อให้เชื่อ (rhetoric) ว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง

วันที่เขียนบทความ 04/05/2556
ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง

6714
นับจากกรณีการออกมาแฉบันได 4 ขั้นยึดหลักประกันสุขภาพเมื่อราวๆต้นปีที่แล้ว...ผ่านมาถึงวันนี้ ขบวนการยึดกุมอำนาจในระดับบอร์ด ก็น่าจะสำเร็จไปแล้ว...

แล้ว...ก็ให้บังเอิญว่า สวรส.หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนองค์กรพอดีในการตั้งบอร์ด ก็มีการใช้วิธีใหม่แก้ใน ครม. ยกเลิกวิธีการเดิม โดย ครม.เสนอทันที”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกอีกว่า เอาล่ะไม่เป็นไร อะไรผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกัน แต่ผลกระทบในภาพใหญ่ มีการบังคับ สวรส. จ้างทีมงานหนึ่งศึกษาวิจัยเรื่องการปฏิรูปวงเงินอยู่ที่ราวๆ 8-10 ล้านบาท

แถมเล่าลือกันว่า...ผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังก็ชงให้เป็นบอร์ด สปสช. อีกด้วย

“น่าสนใจว่า เสียเงินไปขนาดนี้กลับไม่มีเปเปอร์ มีแต่พาวเวอร์พอยท์ ผู้ใหญ่ระดับเจ้ากระทรวงก็จับเอามาอ้างว่าศึกษาเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน...”

ทำงานแบบสุกเอาเผากิน นี่หรือคือการปฏิรูปแบบใหม่?

การปฏิรูปหน่วยงานตระกูล “ส” ทั้งหลาย ให้ขึ้นอยู่ใต้รองปลัด นายแพทย์เกรียงศักดิ์ มองว่าแย่กว่าเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นถึงจะเฉไฉว่าไม่ได้ยึด พอคนโวยวายก็เปลี่ยนอยู่หลายเวอร์ชั่น เปลี่ยนเป็นภายใต้นายกฯก็แล้วกัน แต่เลขาฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองเลขาฯก็เป็นปลัด

พูดง่ายๆให้เห็นภาพ...เอาตัวแทนที่มีเพียง 1 คน เปลี่ยนเป็นเพิ่มให้มีคนมาทำงานเพิ่ม เป็นการปฏิรูปกินสองเด้ง เด้งแรก...เป็นการกินรวบ สสส. เหตุ มองในแง่ร้ายก็เพราะอยากได้เงินเอามาใช้ ลึกไปกว่านั้นก็เป็นเด้งที่สอง...ระแวงว่ากลุ่ม “ส” ทั้งหลายเป็นขุมกำลังน้ำเลี้ยงให้ฝ่ายต่อต้านท่านผู้นำพลัดถิ่น

ยิ่งชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นใน สปสช. เดิมทีเงินขึ้นอยู่กับปลัด หรือรัฐมนตรี ตามหลักก็เป็นสิทธิ โอนไปตามกฎหมายว่าจะให้ตามโรงพยาบาลต่างๆเท่านั้นเท่านี้...ตามสิทธิที่ประชาชนได้รับ มาคราวนี้การปฏิรูปเปลี่ยนโฉมหน้า สิทธิขึ้นอยู่กับผู้ตรวจราชการ ก็กลายเป็นของกระทรวงอีก

อ้างเรื่องการดูแลตามเขต แล้วก็จะวกกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ

 

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น...กระทรวงสาธารณสุขสั่งจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม.ทั่วประเทศกว่า 80,000 เครื่อง ส่อเค้าเสมือนเป็นการชิมลางทุจริต

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ชี้ว่า ความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรเงินและสั่งให้จังหวัดต่างๆมีการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม. ทั้ง 76 จังหวัด ใน 2 กลุ่มคือ ตำบลนำร่องและตำบลจัดการสุขภาพ ตำบลละ 15 ชุด รวม 27,375 ชุด และ ตำบลทั่วไป ตำบลละ 10 ชุด รวม 54,310 ชุด

รวมทั้งสิ้น 81,685 ชุด เป็นเงิน 147,033,000 บาท

ความผิดปกติมีอยู่ว่า...ในปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆทั้งประเทศไม่มีใครเขาซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลกันแล้ว เหมือนการเลิกซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ใช้ระบบเช่าแทน และคิดราคาตามค่าถ่ายเอกสาร

โรงพยาบาลต่างๆใช้วิธีการซื้อแผ่นตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่องกันทั้งสิ้น ซึ่งราคาจัดซื้อมีตั้งแต่แถบละ 5–7 บาท โดยแถมเครื่องไม่จำกัด เช่น ใช้ในการแจกให้สถานีอนามัย

ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง...หากซื้อเครื่องไปแล้ว จะทำให้รัฐต้องตกเป็นทาสของบริษัทเจ้าของเครื่อง โดยต้องใช้แถบตรวจน้ำตาลของบริษัทและขึ้นอยู่กับบริษัทจะกำหนดราคาแถบตรวจน้ำตาลมาด้วย...

เช่น อบจ.จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน จัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลของบริษัทหนึ่ง ในราคาชุดละ 2,500 บาท (รวมอุปกรณ์อื่นเล็กน้อย) เมื่อแถบตรวจที่แถมมาจำนวน 30-50 แถบหมดไป เครื่องนี้ก็หมดสภาพ เลยต้องจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแจกใหม่กว่า 600,000 แถบ ในราคา 11 บาทต่อแถบ

น่าสนใจอีกว่า...บริษัทที่เข้าไปทำตลาดก็เป็นบริษัทเดียวกับที่ขายให้ อบจ.ในภาคอีสานดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้จึงส่อไปในความไม่ชอบมาพากล

และ...อาจมีการขอเงินทอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สนนราคาเครื่องละ 1,800 บาท เงินทอน 720 บาท ซื้อทั้งหมด 81,685 ชุด...ก็อิ่มพุงกางไม่น้อยไปกว่า 58 ล้านบาท

ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานกองประกอบโรคศิลปะดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กลับกำลังพยายามแจกเครื่องตรวจน้ำตาลที่ต้องมีการเจาะเลือดผู้ป่วย ที่ในทางการแพทย์ถือเป็นวิธีรุนแรง (Invasive) ที่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

“อสม.เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถยกระดับไปตรวจคนอื่นได้ ยกเว้นเจาะให้ตนเองเท่านั้น” นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ว่า “ทั้งที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้มีมติทักท้วงแล้วก็ตาม...แต่ก็ยังมีการสั่งให้จัดซื้อก่อน แล้วค่อยหาทางแก้กฎหมาย แสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจในการที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

ขณะนี้หลายจังหวัดเริ่มกระบวนการจัดซื้อไปมากแล้ว เช่นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาท ต้องใช้วิธีการอีออกชั่น (eauction) ก็ได้มีกระบวนการกำหนดทีโออาร์ (TOR) ไปแล้วหลายจังหวัด เช่น เชียงราย นครพนม นครราชสีมา อุบลราชธานี

ส่วนจังหวัดที่วงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท ใช้วิธีสอบราคา ที่สอบราคาเสร็จแล้วคือจังหวัดอำนาจเจริญ และกำลังอยู่ระหว่างยื่นซองคือจังหวัดอ่างทอง

อนึ่ง จากการสอบถาม นพ.สสจ.บางท่าน แสดงอาการอึดอัดใจอย่างชัดเจน เนื่องจากทราบดีว่าเครื่องลักษณะนี้ไม่มีใครเขาซื้อกัน มีแต่ซื้อแถบตรวจน้ำตาลแถมเครื่องเท่านั้น บางคนก็ใช้วิธีการถ่วงเวลา แต่บางคนถูกเร่งรัดจากเบื้องบนมากจึงต้องตอบสนองไป

นี่เองที่ว่าเป็นการส่อไปในทางเตรียมการชิมลางทุจริตครั้งใหญ่


ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้...แพทย์ชนบทขอมองในแง่ร้ายเอาไว้ก่อน ทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังย้อนยุคกลับไปสู่ยุคกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน และสอดรับกับการที่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้ผู้นำคิดใหม่รื้อใหม่อาจตั้งธงเดินเกมกลยุทธ์รวบเงิน สปสช.กว่า 180,000 ล้านบาท มาอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งนึง

แผนฮุบเงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ...จากเดิมที่เป็นไปตามสิทธิของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้อยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรในระดับเขตกระทรวงสาธารณสุขในท้ายที่สุด

แล้วก็เชื่อมโยงกับปมปัญหากรณี P4P หรือ “Pay-for-Performance” ในภาพใหญ่ไม่น่าจะมีเจตนาอื่นเพื่อบีบให้หมอรัฐลาออก เดินเข้าสู่อุ้งมือเครือเอกชนได้โดยง่าย

กลเกมการปฏิรูประบบสุขภาพรัฐไทยทั้งหมดไม่ใช่เรื่องดี ข้อมูลวงในบอกว่า ก่อนที่จะมีการเข้ามายึดระบบบริการสุขภาพในบ้านเราทั้งหมดตั้งแต่สมัยยุคที่คนไกลบ้านเรืองอำนาจ...มีรายงานวิจัยต่างประเทศที่ได้รับการว่าจ้างว่า ถ้าจะยึดสัมปทานอะไรสักอย่างจะต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

น่ากลัวว่าหนึ่งในนั้นมีเรื่องสุขภาพอยู่ด้วย เห็นแล้วขนลุก ที่เห็นประโยคที่ว่า “บริการสุขภาพบ้านเรา มีหน่วยงานที่เข้มแข็งในการพิทักษ์คือเครือข่ายแพทย์ชนบท ต้องล้มก่อนจึงจะยึดได้”.


ไทยรัฐฉบับพิมพ์
4 พฤษภาคม 2556

6715
 "หมอชลน่าน" ควงรองปลัด สธ. ชี้แจงการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่าแสนคนเป็น พกส. ลั่นจะเร่งบรรจุให้เสร็จใน ส.ค.นี้ ฟุ้งมีความมั่นคงในอาชีพ ได้สิทธิสวัสดิการใกล้เคียงข้าราชการ
   
       วันนี้ (4 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลนครนายก จ.นครนายก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ใน 17 จังหวัดภาคกลางจำนวน 600 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนสถานภาพลูกจ้างชั่วคราวในสถานพยาบาลสังกัด สธ. เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ว่า การปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานเพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอัตรากำลังคนการให้บริการดูแลรักษาประชาชน ทั้งนี้ หลังออกระเบียบว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 เดือน สธ.จะเร่งดำเนินการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 117,000 คน ทั้งสายวิชาชีพเฉพาะและสายสนับสนุนเข้าเป็น พกส. ให้เสร็จสิ้นทั่วประเทศภายใน ส.ค. 2556 มีสัญญา 4 ปี เหมือนพนักงานราชการ โดยพร้อมเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นไป
       
       นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า อัตราการจ้าง พกส.จะใช้บัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยกเว้นสายงานวิชาชีพ เช่น พยาบาล จะได้รับ 1.2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ ขั้นต้น 15,960 บาท ขณะที่ตามระบบเดิมจะได้รับ 11,340 บาท เลื่อนค่าจ้างทุกวันที่ 1 ต.ค.ของปี และปรับเพิ่มค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 12 ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ไม่ต่างจากข้าราชการ มีสิทธิลา การศึกษาต่อ ลาคลอดบุตร ส่วนผู้ชายมีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วันทำการ
       
       ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่ง พกส. จะมีคณะกรรมการของหน่วยบริการดำเนินการประเมิน ทั้งความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะของบุคคล โดยแบ่ง พกส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภททั่วไป มี 3 กลุ่มงาน ได้แก่

1.กลุ่มเทคนิคบริการและบริหารทั่วไป
2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ
3.กลุ่มเชี่ยวชาญ และ

ประเภทพิเศษ ได้แก่ กลุ่มที่ต้องใช้ความสามารถสูงและมีความจำเป็นของหน่วยงาน ที่สำคัญมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสร้างความมั่นคงให้แก่พนักงานฯทุกคน เมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินสะสม รวมกับเงินสมทบพร้อมทั้งผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนคืนให้สมาชิกทุกคน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 พฤษภาคม 2556

6716

ผลสำรวจจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศในเอาเซียน ดีกว่าลาว และกัมพูชาเท่านั้น ส่วนคะแนนโทเฟลอยู่อันดับ 6 ในกลุ่มอาเซียน* โดยเวียดนามแซงหน้าแล้ว หากไม่เร่งปรับทัศนคติ และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน อีกสามปีข้างหน้าสถานการณ์แรงงานไทยจะ เสียเปรียบในเวที AEC ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ หรือมีทักษะในด้านอื่น ๆ ก็ตาม

แรงงานไทยเจอศึกหนักหากไม่รู้ภาษาอังกฤษ

ปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ส่งผลให้แรงงาน สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายในภูมิภาค

นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแรงงานไทย เพราะจะมีการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน เพราะจะมีอาชีพ 8 อาชีพที่แรงงานสามารถทำงานได้ทั่วภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ การบริการ/การท่องเที่ยว บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มคัดเลือกพนักงานในระดับภูมิภาคแทนการหาแรงงานในประเทศเพียงอย่างเดียว  วุฒิการศึกษาเท่ากัน เกรดเท่ากัน แต่จุดที่จะตัดสินว่าใครจะได้งาน คือความสามารถทางภาษา

อริสรา ธนาปกิจ หรือครูแนน ผู้พลิกวงการภาษาอังกฤษด้วยเสียงเพลง และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันพัฒนาภาษา Enconcept E- Academy เบื้องหลังความสำเร็จของเด็ก ๆ จำนวนมาก ให้ข้อคิดเห็นในงาน “Think Beyond : คิดข้ามช็อต” ว่า “การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าภาษาอังกฤษดี คนไทยจะได้เปรียบ ภาษาอังกฤษไม่ได้สำคัญแค่เรื่องการติดต่อสื่อสาร แต่ยังเป็นเหมือนประตูบานใหญ่ในการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะต้นทางความรู้ส่วนใหญ่ เช่น วารสารทางการแพทย์ หรือ การค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต มักจะเป็นภาษาอังกฤษ”

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก Enconcept E- Academy ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ โดยยกตัวอย่างบริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมที่อยากทำงานที่แท่นขุดเจาะ เพราะรายได้เริ่มต้นสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน บริษัทดังกล่าวใช้วิธคัดเลือกพนักงานด้วยการให้พนักงานโทรข้ามประเทศไปยังโรงเรียนสอนภาษาที่ประเทศอังกฤษ เพื่อวัดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เข้าสมัคร

ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์มาแรงหลังเปิด AEC

หลังเปิด AEC โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระหว่างประเทศจะพัฒนามากขึ้น เช่น จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนมายังสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่ผ่านประเทศไทย เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยจะขยายตัวสูงมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยกว่า 20 ล้านคน นับว่าเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพราะเราเชี่ยวชาญเรื่องการบริการและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการรู้ภาษาอังกฤษและภาษาที่สามอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยในการหางานในอุตสาหกรรมนี้ได้ ”อาชีพที่มาแรงอย่าง อาชีพบริการและการท่องเที่ยว ก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเด็กสายศิลป์ เพราะต้องใช้ความสามารถทางด้านภาษาอย่างมาก เด็ก ๆ ควรมีความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาที่สามที่แนะนำคือ ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอาหรับ เพราะในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก” ครูพี่แนนชี้

นอกจากนี้ไทยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในด้านการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ หากวิเคราะห์ถึงที่ตั้งของประเทศไทยแล้ว ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์หรือเรียกว่า HUB กล่าวคือ ด้านบนเป็นจีน ฝั่งหนึ่งเป็นอินเดีย อีกฝั่งหนึ่งเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนด้านล่างเป็นออสเตรเลีย จะมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ดังนั้นอีก 1 อาชีพที่น่าสนใจคือโลจิสติกส์ หรือการขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการด้านการขนส่งสินค้าจากคลังไปยังผู้บริโภค ซึ่งไทยยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้าน โลจิสติกส์ อยู่มาก

จะเห็นได้ว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้อง “กำจัดจุดอ่อน” เริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ก้าวสู่ AEC ได้อย่างมั่นใจและมั่นคง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  29 เม.ย 2556

6718
ประสบการณ์จริง จากรถเกียร์ออโต้ อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด !

คงเคยอ่านข่าว รถจอดอยู่แล้วไหลชนเจ้าของบ้าน หรือตกคลองกันบ้าง เรื่องเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้รถยนต์เกียร์ออโต้ทุกคนนะครับ

เหตุเกิดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา นี้เอง
หลังจากที่ได้นำรถออกจากอู่ตอนบ่าย กับรถ BENZ 300 E เอารถไปเข้าอู่เพื่อดูแลตามปกติ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง. น้ำมันเกียร์เข็คโน่นเช็คนี่ตามเลขที่กิโลตามกำหนด ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเลย แต่วันนี้เกิดเหตุไม่คาดฝันจนได้

เคยได้ยินไหม...เกียร์หลุด!!!
มันไม่ใช่เกียรต์หลุดออกมา และไม่ใช่เข้าเกียร์ไม่ได้
แต่มันหลุดไปอยู่ที่เกียร์ถอย R !!!!!!

อาการเป็นอย่างไรน่ะหรือ?
คือ...ไม่ว่าคุณจะเข้าเกียร์อะไร ก็ควบคุมรถไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะพลักเกียร์ไปอยู่ที่ P, D, 3 หรือ 2 ก็ตาม
ทุกเกียร์รถจะถูกสั่งให้ถอยหลังทั้งหมด!!!!

ยิ่งคุณพยามยามจะเดินหน้า โดยผลักไปที่ D แล้วเหยียบคันเร่ง เครื่องยนต์จะถูกเร่งให้ถอยหลังแรงขึ้น
ยกเว้นคุณจะเหยียบเบรคอยู่อย่างนั้น!!!!

อย่าหวังพึ่งเบรคมือ
เพราะมันจะมีประสิทธิภาพเมื่อรถจอด ป้องกันไม่ให้ไหลเท่านั้น

เย็นวันนั้น หลังเลิกงาน แวะ Shopping ที่ห้างเดอะมอล์ ผ่านจากจุดรับบัตรตรงทางเข้า ไปเล็กน้อยก็เห็นที่มีที่จอดรถว่างอยู่ เป็นทางลาดเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆ) ก็เลยเปิดไฟกระพริบ

เปลี่ยนเป็นเกียร์ R เพื่อถอยหลังเข้าที่จอด
ถอยไปได้ครึ่งคัน เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงเท่าไหร่
ก็เปลี่ยนเป็น D เพื่อให้รถเดินหน้าจะได้ตั้งลำถอยใหม่
ตอนนี้เองรถไม่ยอมเดินหน้า!!! มันยังคงถอยหลังซะงั้น!!!

ก็เริ่มแปลกใจ หันมามองหน้ากัน เกิดอะไรขึ้น
รีบเหยียบเบรค เข้าเกียร์ D ใหม่เหยียบคันเร่งเบาๆ
รถกลับถอยหลังแรงขึ้นไปอีก ก็เหยียบเบรคอีก
แต่กำลังของรถมันคอยจะถอยอย่างเดียว
เครื่อง ดังหึ่ง ๆ จะถอยลูกเดียว!!!!

ทีนี้คิดว่าจะทำอย่างไรดี ไม่เคยเจอ ก็เลยให้อีกคนเปิดประตูลงมามองหาว่ามันมีที่กั้นล้อด้านหลังไหม จะได้กั้นรถไว้ได้ เพราะด้านหลังเป็นท่อแก๊ส และท่อน้ำขนาดใหญ่ของห้าง ถ้าถอยไปชน จะเกิดอะไรขึ้น?

พอลงไปดูเห็นมีที่กั้นค่อยโล่งใจหน่อย ก็เลยตะโกนบอกมีที่กั้น จอดเลยไม่ต้องถอยแล้ว คนขับก็เหยีบเบรค และเลื่อนเกียร์มาที่เกียร์ว่าง N ห่างจากจุดที่กั้นเป็นปูนประมาณ 2 คืบได้
แล้วก็ปล่อยเบรค เพื่อจะดับเครื่องจอด

ทันใดนั้นเองสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ...
รถกระโดดข้ามไปอยู่บนที่กั้นด้วยความเร็วและแรงมาก
ในชั่ววินาทีเดียว วินาทีเดียวจริงๆ

ซึ่งคนที่ยืนดูท้ายอยู่ อยู่ห่างจากตัวรถทางด้านข้างไม่ถึงฝ่ามือ ยืนตะลึง แรงของรถ กระแทกท่อแก๊สกับท่อน้ำอย่างแรง กันชนแตกเละ โครมเบ้อเริ่ม สิ่งที่ทำตอนนั้นคือ ตะโกน ดับเครื่อง ดับเครื่อง ดับเครื่อง

หลายคนคงสงสัยแล้วแล้วจากนั้นเป็นอย่างไรต่อ
ก็ค่อยๆ มองซ้ายมองขวาช่วยกันเข็นรถที่มันคาอยู่บนขอบปูน
และกำลัง เบียดท่อแก๊สกับท่อน้ำ ออกหนะสิ
โชคดีมากๆ ท่อเป็นเหล็กหนามาก ไม่อย่างนั้น
คนที่ดูหลังอยู่ด้านท้าย คงไม่มีโอกาสมาเล่าให้ฟัง คงจะแบนไปกับท่อแก๊สไปแล้ว

* ทุกคนคงอยากดูรูป แต่ตอนนั้นตกใจลืมนึกไป *

สิ่งที่อยากจะฝากเตือนทุกคนก็คือ

1. เมื่อเกิดเหตุควบคุมรถไม่ได้เพราะเกียร์หลุด ต้องดับเครื่องยนต์ทันที ( คำแนะนำของช่าง) เพราะรถที่เกียร์หลุด จะไม่สามารถควบคุมได้เด็ดขาด ยกเว้นหลุดไปเป็นเกียร์ว่าง

2. เวลาจะถอยหลัง หรือออกรถ ระวังอย่าให้มีคนยืนอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่ เวลาถอยรถ เรามักมีคนไปด้วยช่วยลงไปดู เพราะไม่แน่ใจหรือคอยระวังรถคันอื่น

3. รถที่พึ่งออกจากอู่ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีข้อผิดพลาด

4. สติของคนขับ สำคัญมาก แม้ประสบการณ์หลายสิบปี ก็อาจควบคุมไม่ได้

ด้วยความปรารถนาดี เพื่อเป็นประสบการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ที่มา : Forward Mail

6719
 รมช.สาธารณสุข ยัน P4P ไม่ทำให้รายได้หมอลดลง และไม่มีการยกเลิกแต่จะมีการปรับเปลี่ยนการนับแต้มให้เหมาะสมได้ มีมาตรฐานการให้คะแนนตามความยากง่ายและพื้นที่ที่รักษาพยาบาล
       
       วันนี้ (30 เม.ย.56) บริเวณชั้น 9 โรงพยาบาลชลบุรี นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมามอบนโยบายโครงการ "1 หมอที่ปรึกษา 1 โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล" ระยะที่ 2 ท่ามกลาง นายแพทย์ พยาบาล นักสุขภาพ จากโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 500 คนเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย โดยมีนายแพทย์ อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ให้การต้อนรับ
       
       โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและจะเป็นประโยชน์อันสูงสุดแก่ประชาชนไทย โดยจัดโครงการ ให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ คือ 1 หมอ 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ประชาชนมีหมอประจำตัวทุกครัวเรือน ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ ดังเป้าหมาย คือ "ประชาชนมีหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจติดต่อได้ทุกเวลา" โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา
       
       นายแพทย์ ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ ทุกครัวเรือนมีหมอประจำตัว คือเข้าไปดูแลรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างใกล้ชิด และจะเป็นการลดเวลาในการเดินทางรวดเร็วในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
       
       ส่วนนโยบาย P4P นั้น นายแพทย์ ชลน่าน กล่าวว่า การใช้นโยบาย P4P เพื่อเป็นการควบคุมรายจ่ายหรือค่าตอบแทนให้กับแพทย์ตามโรงพยาบาลของรัฐ เป็นไปตาม ครม. โดยยืนยันว่า P4P จะไม่ทำให้รายได้ของหมอลดลง เพราะหากรายได้ของหมอรายไหนที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกับค่าตอบแทนลดลงจากเดิม ทาง ครม.การันตีรับประกันให้กระทรวงสาธารณสุข จัดค่าตอบแทนชดเชยให้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย ส่วนการนับแต้มการให้คะแนนของหมอ ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลเก็บให้ จะให้คะแนน ตามความยากง่ายของการรักษาพยาบาล และพื้นที่ที่หมอประจำอยู่ ถ้าถิ่นไกลหรือกันดาร ก็จะให้คะแนนสูงกว่าปกติ และหากนโยบาย P4P ที่ใช้ยังไม่เหมาะสม ก็จะมีการปรับปรุงประเมินผลกระทบไปยัง ครม. จนกว่าจะเหมาะสมทุกประการต่อไป


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 เมษายน 2556

6720
อดีตปลัด สธ.งง “แพทย์ชนบท” ไม่รู้ค้านอะไร จากเรื่อง P4P กลายเป็นเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวาน บอกเสียดายหากมีการพูดคุยกันให้จบจะได้ประโยชน์ส่วนรวม แนะ P4P ของ รพช.ต้องคิดเกณฑ์การส่งเสริมป้องกันให้มาก
       
       นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านการที่ สธ.ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay For Performance) ว่า เรื่องดังกล่าวหากงบประมาณเพียงพอก็คงไม่ต้องทะเลาะกัน เพราะปัจจุบันงบประมาณแต่ละปีด้านสาธารณสุขสูงมาก รัฐบาลจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งคงต้องพิจารณางานให้เหมาะสมกับเงินที่ได้รับ ทั้งนี้ การคิดค่าตอบแทนแบบใหม่นั้นโรงพยาบาลใหญ่ไม่มีปัญหาคือ ตรงไปตรงมาว่าทำเท่าไรก็ได้เท่านั้น แต่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีด้วยกันหลายขนาด หลายตำแหน่งทั้งใกล้และไกล ถือเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงเรื่องของการปฏิบัติงาน
   
       นพ.วัลลภ กล่าวอีกว่า หากคิด P4P ทั้งแง่การป้องกันและการรักษา จะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะเมื่อพูดถึงนโยบายมักจะกล่าวว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา แต่เมื่อปฏิบัติงานจริงกลับพบว่างานด้านการป้องกันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับผลตอบแทน เมื่อ รพช.ต้องทำงานส่งเสริมป้องกัน แต่ไม่ถูกคิดคะแนนให้มากพอที่จะอยู่ได้ จึงกลายเป็นปัญหามากขึ้น อีกทั้ง รพช.มีความเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร สังเกตได้ว่า แพทย์ย้ายไปอยู่ รพช.มากขึ้น แต่เป็นพื้นที่ใกล้ตัวจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ห่างไกล หากไม่ใช้ P4P มาจับ แล้วจะใช้อะไรเพื่อทำให้ทราบได้ว่าเงินที่ใส่ไปคุ้มกับงานที่ได้มา
       
       “ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นำเรื่อง P4P มาคุยกัน แต่เสียดายที่ไม่เกิดความชัดเจนในเรื่องส่งเสริมป้องกัน ว่า งานที่ได้คืออะไร และควรได้ค่างานที่มากขึ้นให้สมกับที่เหนื่อยทำงาน แต่ก็ไม่มีการคุยกันต่อกลับไปนำเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวานมาพูดแทน ทำให้ไม่ได้ก้าวต่อไป และเมื่อไม่มีการคุยกันต่อจึงไม่ทราบว่าต้องการอะไรกันแน่” อดีตปลัด สธ.กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ความขัดแย้งดังกล่าวควรมีทางออกร่วมกันอย่างไร นพ.วัลลภ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่อย่างเดียวคือการคุยกัน โดยนั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกัน ไม่ใช่คุยนอกรอบหรือคุยผ่านเวที ก็เหมือนกับประเทศ เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมีผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งผู้พร้อมไกล่เกลี่ยคงมีเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้มานั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกันได้ เพราะถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากคุยกันต่อไปก็น่าจะได้คำตอบที่ดี และได้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก ซึ่งควรมีการคุยเรื่องเกณฑ์ P4P ให้ชัดเจน หากปล่อยให้ยาวไปสังคมก็เข้าใจได้ลำบากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 เมษายน 2556

หน้า: 1 ... 446 447 [448] 449 450 ... 651