แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 449 450 [451] 452 453 ... 653
6751
นับจากกรณีการออกมาแฉบันได 4 ขั้นยึดหลักประกันสุขภาพเมื่อราวๆต้นปีที่แล้ว...ผ่านมาถึงวันนี้ ขบวนการยึดกุมอำนาจในระดับบอร์ด ก็น่าจะสำเร็จไปแล้ว...

แล้ว...ก็ให้บังเอิญว่า สวรส.หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนองค์กรพอดีในการตั้งบอร์ด ก็มีการใช้วิธีใหม่แก้ใน ครม. ยกเลิกวิธีการเดิม โดย ครม.เสนอทันที”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกอีกว่า เอาล่ะไม่เป็นไร อะไรผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกัน แต่ผลกระทบในภาพใหญ่ มีการบังคับ สวรส. จ้างทีมงานหนึ่งศึกษาวิจัยเรื่องการปฏิรูปวงเงินอยู่ที่ราวๆ 8-10 ล้านบาท

แถมเล่าลือกันว่า...ผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังก็ชงให้เป็นบอร์ด สปสช. อีกด้วย

“น่าสนใจว่า เสียเงินไปขนาดนี้กลับไม่มีเปเปอร์ มีแต่พาวเวอร์พอยท์ ผู้ใหญ่ระดับเจ้ากระทรวงก็จับเอามาอ้างว่าศึกษาเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน...”

ทำงานแบบสุกเอาเผากิน นี่หรือคือการปฏิรูปแบบใหม่?

การปฏิรูปหน่วยงานตระกูล “ส” ทั้งหลาย ให้ขึ้นอยู่ใต้รองปลัด นายแพทย์เกรียงศักดิ์ มองว่าแย่กว่าเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นถึงจะเฉไฉว่าไม่ได้ยึด พอคนโวยวายก็เปลี่ยนอยู่หลายเวอร์ชั่น เปลี่ยนเป็นภายใต้นายกฯก็แล้วกัน แต่เลขาฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองเลขาฯก็เป็นปลัด

พูดง่ายๆให้เห็นภาพ...เอาตัวแทนที่มีเพียง 1 คน เปลี่ยนเป็นเพิ่มให้มีคนมาทำงานเพิ่ม เป็นการปฏิรูปกินสองเด้ง เด้งแรก...เป็นการกินรวบ สสส. เหตุ มองในแง่ร้ายก็เพราะอยากได้เงินเอามาใช้ ลึกไปกว่านั้นก็เป็นเด้งที่สอง...ระแวงว่ากลุ่ม “ส” ทั้งหลายเป็นขุมกำลังน้ำเลี้ยงให้ฝ่ายต่อต้านท่านผู้นำพลัดถิ่น

ยิ่งชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นใน สปสช. เดิมทีเงินขึ้นอยู่กับปลัด หรือรัฐมนตรี ตามหลักก็เป็นสิทธิ โอนไปตามกฎหมายว่าจะให้ตามโรงพยาบาลต่างๆเท่านั้นเท่านี้...ตามสิทธิที่ประชาชนได้รับ มาคราวนี้การปฏิรูปเปลี่ยนโฉมหน้า สิทธิขึ้นอยู่กับผู้ตรวจราชการ ก็กลายเป็นของกระทรวงอีก

อ้างเรื่องการดูแลตามเขต แล้วก็จะวกกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ

 

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น...กระทรวงสาธารณสุขสั่งจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม.ทั่วประเทศกว่า 80,000 เครื่อง ส่อเค้าเสมือนเป็นการชิมลางทุจริต

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ชี้ว่า ความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรเงินและสั่งให้จังหวัดต่างๆมีการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม. ทั้ง 76 จังหวัด ใน 2 กลุ่มคือ ตำบลนำร่องและตำบลจัดการสุขภาพ ตำบลละ 15 ชุด รวม 27,375 ชุด และ ตำบลทั่วไป ตำบลละ 10 ชุด รวม 54,310 ชุด

รวมทั้งสิ้น 81,685 ชุด เป็นเงิน 147,033,000 บาท

ความผิดปกติมีอยู่ว่า...ในปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆทั้งประเทศไม่มีใครเขาซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลกันแล้ว เหมือนการเลิกซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ใช้ระบบเช่าแทน และคิดราคาตามค่าถ่ายเอกสาร

โรงพยาบาลต่างๆใช้วิธีการซื้อแผ่นตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่องกันทั้งสิ้น ซึ่งราคาจัดซื้อมีตั้งแต่แถบละ 5–7 บาท โดยแถมเครื่องไม่จำกัด เช่น ใช้ในการแจกให้สถานีอนามัย

ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง...หากซื้อเครื่องไปแล้ว จะทำให้รัฐต้องตกเป็นทาสของบริษัทเจ้าของเครื่อง โดยต้องใช้แถบตรวจน้ำตาลของบริษัทและขึ้นอยู่กับบริษัทจะกำหนดราคาแถบตรวจน้ำตาลมาด้วย...

เช่น อบจ.จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน จัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลของบริษัทหนึ่ง ในราคาชุดละ 2,500 บาท (รวมอุปกรณ์อื่นเล็กน้อย) เมื่อแถบตรวจที่แถมมาจำนวน 30-50 แถบหมดไป เครื่องนี้ก็หมดสภาพ เลยต้องจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแจกใหม่กว่า 600,000 แถบ ในราคา 11 บาทต่อแถบ

น่าสนใจอีกว่า...บริษัทที่เข้าไปทำตลาดก็เป็นบริษัทเดียวกับที่ขายให้ อบจ.ในภาคอีสานดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้จึงส่อไปในความไม่ชอบมาพากล

และ...อาจมีการขอเงินทอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สนนราคาเครื่องละ 1,800 บาท เงินทอน 720 บาท ซื้อทั้งหมด 81,685 ชุด...ก็อิ่มพุงกางไม่น้อยไปกว่า 58 ล้านบาท

ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานกองประกอบโรคศิลปะดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กลับกำลังพยายามแจกเครื่องตรวจน้ำตาลที่ต้องมีการเจาะเลือดผู้ป่วย ที่ในทางการแพทย์ถือเป็นวิธีรุนแรง (Invasive) ที่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

“อสม.เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถยกระดับไปตรวจคนอื่นได้ ยกเว้นเจาะให้ตนเองเท่านั้น” นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ว่า “ทั้งที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้มีมติทักท้วงแล้วก็ตาม...แต่ก็ยังมีการสั่งให้จัดซื้อก่อน แล้วค่อยหาทางแก้กฎหมาย แสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจในการที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

ขณะนี้หลายจังหวัดเริ่มกระบวนการจัดซื้อไปมากแล้ว เช่นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาท ต้องใช้วิธีการอีออกชั่น (eauction) ก็ได้มีกระบวนการกำหนดทีโออาร์ (TOR) ไปแล้วหลายจังหวัด เช่น เชียงราย นครพนม นครราชสีมา อุบลราชธานี

ส่วนจังหวัดที่วงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท ใช้วิธีสอบราคา ที่สอบราคาเสร็จแล้วคือจังหวัดอำนาจเจริญ และกำลังอยู่ระหว่างยื่นซองคือจังหวัดอ่างทอง

อนึ่ง จากการสอบถาม นพ.สสจ.บางท่าน แสดงอาการอึดอัดใจอย่างชัดเจน เนื่องจากทราบดีว่าเครื่องลักษณะนี้ไม่มีใครเขาซื้อกัน มีแต่ซื้อแถบตรวจน้ำตาลแถมเครื่องเท่านั้น บางคนก็ใช้วิธีการถ่วงเวลา แต่บางคนถูกเร่งรัดจากเบื้องบนมากจึงต้องตอบสนองไป

นี่เองที่ว่าเป็นการส่อไปในทางเตรียมการชิมลางทุจริตครั้งใหญ่


ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้...แพทย์ชนบทขอมองในแง่ร้ายเอาไว้ก่อน ทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังย้อนยุคกลับไปสู่ยุคกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน และสอดรับกับการที่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้ผู้นำคิดใหม่รื้อใหม่อาจตั้งธงเดินเกมกลยุทธ์รวบเงิน สปสช.กว่า 180,000 ล้านบาท มาอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งนึง

แผนฮุบเงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ...จากเดิมที่เป็นไปตามสิทธิของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้อยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรในระดับเขตกระทรวงสาธารณสุขในท้ายที่สุด

แล้วก็เชื่อมโยงกับปมปัญหากรณี P4P หรือ “Pay-for-Performance” ในภาพใหญ่ไม่น่าจะมีเจตนาอื่นเพื่อบีบให้หมอรัฐลาออก เดินเข้าสู่อุ้งมือเครือเอกชนได้โดยง่าย

กลเกมการปฏิรูประบบสุขภาพรัฐไทยทั้งหมดไม่ใช่เรื่องดี ข้อมูลวงในบอกว่า ก่อนที่จะมีการเข้ามายึดระบบบริการสุขภาพในบ้านเราทั้งหมดตั้งแต่สมัยยุคที่คนไกลบ้านเรืองอำนาจ...มีรายงานวิจัยต่างประเทศที่ได้รับการว่าจ้างว่า ถ้าจะยึดสัมปทานอะไรสักอย่างจะต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

น่ากลัวว่าหนึ่งในนั้นมีเรื่องสุขภาพอยู่ด้วย เห็นแล้วขนลุก ที่เห็นประโยคที่ว่า “บริการสุขภาพบ้านเรา มีหน่วยงานที่เข้มแข็งในการพิทักษ์คือเครือข่ายแพทย์ชนบท ต้องล้มก่อนจึงจะยึดได้”.


ไทยรัฐฉบับพิมพ์
4 พฤษภาคม 2556

6752
 "หมอชลน่าน" ควงรองปลัด สธ. ชี้แจงการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่าแสนคนเป็น พกส. ลั่นจะเร่งบรรจุให้เสร็จใน ส.ค.นี้ ฟุ้งมีความมั่นคงในอาชีพ ได้สิทธิสวัสดิการใกล้เคียงข้าราชการ
   
       วันนี้ (4 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลนครนายก จ.นครนายก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ใน 17 จังหวัดภาคกลางจำนวน 600 คน เพื่อชี้แจงนโยบายและความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนสถานภาพลูกจ้างชั่วคราวในสถานพยาบาลสังกัด สธ. เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ว่า การปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานเพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอัตรากำลังคนการให้บริการดูแลรักษาประชาชน ทั้งนี้ หลังออกระเบียบว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 เดือน สธ.จะเร่งดำเนินการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 117,000 คน ทั้งสายวิชาชีพเฉพาะและสายสนับสนุนเข้าเป็น พกส. ให้เสร็จสิ้นทั่วประเทศภายใน ส.ค. 2556 มีสัญญา 4 ปี เหมือนพนักงานราชการ โดยพร้อมเข้าสู่ระบบการจ้างงานแบบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นไป
       
       นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า อัตราการจ้าง พกส.จะใช้บัญชีเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยกเว้นสายงานวิชาชีพ เช่น พยาบาล จะได้รับ 1.2 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ ขั้นต้น 15,960 บาท ขณะที่ตามระบบเดิมจะได้รับ 11,340 บาท เลื่อนค่าจ้างทุกวันที่ 1 ต.ค.ของปี และปรับเพิ่มค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 12 ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ไม่ต่างจากข้าราชการ มีสิทธิลา การศึกษาต่อ ลาคลอดบุตร ส่วนผู้ชายมีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วันทำการ
       
       ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. กล่าวว่า การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่ง พกส. จะมีคณะกรรมการของหน่วยบริการดำเนินการประเมิน ทั้งความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะของบุคคล โดยแบ่ง พกส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภททั่วไป มี 3 กลุ่มงาน ได้แก่

1.กลุ่มเทคนิคบริการและบริหารทั่วไป
2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ
3.กลุ่มเชี่ยวชาญ และ

ประเภทพิเศษ ได้แก่ กลุ่มที่ต้องใช้ความสามารถสูงและมีความจำเป็นของหน่วยงาน ที่สำคัญมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสร้างความมั่นคงให้แก่พนักงานฯทุกคน เมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินสะสม รวมกับเงินสมทบพร้อมทั้งผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนคืนให้สมาชิกทุกคน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 พฤษภาคม 2556

6753

ผลสำรวจจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศในเอาเซียน ดีกว่าลาว และกัมพูชาเท่านั้น ส่วนคะแนนโทเฟลอยู่อันดับ 6 ในกลุ่มอาเซียน* โดยเวียดนามแซงหน้าแล้ว หากไม่เร่งปรับทัศนคติ และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนให้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน อีกสามปีข้างหน้าสถานการณ์แรงงานไทยจะ เสียเปรียบในเวที AEC ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ หรือมีทักษะในด้านอื่น ๆ ก็ตาม

แรงงานไทยเจอศึกหนักหากไม่รู้ภาษาอังกฤษ

ปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ส่งผลให้แรงงาน สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายในภูมิภาค

นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแรงงานไทย เพราะจะมีการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน เพราะจะมีอาชีพ 8 อาชีพที่แรงงานสามารถทำงานได้ทั่วภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ การบริการ/การท่องเที่ยว บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มคัดเลือกพนักงานในระดับภูมิภาคแทนการหาแรงงานในประเทศเพียงอย่างเดียว  วุฒิการศึกษาเท่ากัน เกรดเท่ากัน แต่จุดที่จะตัดสินว่าใครจะได้งาน คือความสามารถทางภาษา

อริสรา ธนาปกิจ หรือครูแนน ผู้พลิกวงการภาษาอังกฤษด้วยเสียงเพลง และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันพัฒนาภาษา Enconcept E- Academy เบื้องหลังความสำเร็จของเด็ก ๆ จำนวนมาก ให้ข้อคิดเห็นในงาน “Think Beyond : คิดข้ามช็อต” ว่า “การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าภาษาอังกฤษดี คนไทยจะได้เปรียบ ภาษาอังกฤษไม่ได้สำคัญแค่เรื่องการติดต่อสื่อสาร แต่ยังเป็นเหมือนประตูบานใหญ่ในการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะต้นทางความรู้ส่วนใหญ่ เช่น วารสารทางการแพทย์ หรือ การค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต มักจะเป็นภาษาอังกฤษ”

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก Enconcept E- Academy ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ โดยยกตัวอย่างบริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมที่อยากทำงานที่แท่นขุดเจาะ เพราะรายได้เริ่มต้นสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน บริษัทดังกล่าวใช้วิธคัดเลือกพนักงานด้วยการให้พนักงานโทรข้ามประเทศไปยังโรงเรียนสอนภาษาที่ประเทศอังกฤษ เพื่อวัดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เข้าสมัคร

ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์มาแรงหลังเปิด AEC

หลังเปิด AEC โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระหว่างประเทศจะพัฒนามากขึ้น เช่น จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนมายังสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่ผ่านประเทศไทย เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยจะขยายตัวสูงมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยกว่า 20 ล้านคน นับว่าเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพราะเราเชี่ยวชาญเรื่องการบริการและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการรู้ภาษาอังกฤษและภาษาที่สามอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยในการหางานในอุตสาหกรรมนี้ได้ ”อาชีพที่มาแรงอย่าง อาชีพบริการและการท่องเที่ยว ก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเด็กสายศิลป์ เพราะต้องใช้ความสามารถทางด้านภาษาอย่างมาก เด็ก ๆ ควรมีความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาที่สามที่แนะนำคือ ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอาหรับ เพราะในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก” ครูพี่แนนชี้

นอกจากนี้ไทยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในด้านการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ หากวิเคราะห์ถึงที่ตั้งของประเทศไทยแล้ว ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์หรือเรียกว่า HUB กล่าวคือ ด้านบนเป็นจีน ฝั่งหนึ่งเป็นอินเดีย อีกฝั่งหนึ่งเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนด้านล่างเป็นออสเตรเลีย จะมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ดังนั้นอีก 1 อาชีพที่น่าสนใจคือโลจิสติกส์ หรือการขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการด้านการขนส่งสินค้าจากคลังไปยังผู้บริโภค ซึ่งไทยยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้าน โลจิสติกส์ อยู่มาก

จะเห็นได้ว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้อง “กำจัดจุดอ่อน” เริ่มต้นเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ก้าวสู่ AEC ได้อย่างมั่นใจและมั่นคง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  29 เม.ย 2556

6755
ประสบการณ์จริง จากรถเกียร์ออโต้ อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด !

คงเคยอ่านข่าว รถจอดอยู่แล้วไหลชนเจ้าของบ้าน หรือตกคลองกันบ้าง เรื่องเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้รถยนต์เกียร์ออโต้ทุกคนนะครับ

เหตุเกิดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา นี้เอง
หลังจากที่ได้นำรถออกจากอู่ตอนบ่าย กับรถ BENZ 300 E เอารถไปเข้าอู่เพื่อดูแลตามปกติ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง. น้ำมันเกียร์เข็คโน่นเช็คนี่ตามเลขที่กิโลตามกำหนด ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเลย แต่วันนี้เกิดเหตุไม่คาดฝันจนได้

เคยได้ยินไหม...เกียร์หลุด!!!
มันไม่ใช่เกียรต์หลุดออกมา และไม่ใช่เข้าเกียร์ไม่ได้
แต่มันหลุดไปอยู่ที่เกียร์ถอย R !!!!!!

อาการเป็นอย่างไรน่ะหรือ?
คือ...ไม่ว่าคุณจะเข้าเกียร์อะไร ก็ควบคุมรถไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะพลักเกียร์ไปอยู่ที่ P, D, 3 หรือ 2 ก็ตาม
ทุกเกียร์รถจะถูกสั่งให้ถอยหลังทั้งหมด!!!!

ยิ่งคุณพยามยามจะเดินหน้า โดยผลักไปที่ D แล้วเหยียบคันเร่ง เครื่องยนต์จะถูกเร่งให้ถอยหลังแรงขึ้น
ยกเว้นคุณจะเหยียบเบรคอยู่อย่างนั้น!!!!

อย่าหวังพึ่งเบรคมือ
เพราะมันจะมีประสิทธิภาพเมื่อรถจอด ป้องกันไม่ให้ไหลเท่านั้น

เย็นวันนั้น หลังเลิกงาน แวะ Shopping ที่ห้างเดอะมอล์ ผ่านจากจุดรับบัตรตรงทางเข้า ไปเล็กน้อยก็เห็นที่มีที่จอดรถว่างอยู่ เป็นทางลาดเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆ) ก็เลยเปิดไฟกระพริบ

เปลี่ยนเป็นเกียร์ R เพื่อถอยหลังเข้าที่จอด
ถอยไปได้ครึ่งคัน เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงเท่าไหร่
ก็เปลี่ยนเป็น D เพื่อให้รถเดินหน้าจะได้ตั้งลำถอยใหม่
ตอนนี้เองรถไม่ยอมเดินหน้า!!! มันยังคงถอยหลังซะงั้น!!!

ก็เริ่มแปลกใจ หันมามองหน้ากัน เกิดอะไรขึ้น
รีบเหยียบเบรค เข้าเกียร์ D ใหม่เหยียบคันเร่งเบาๆ
รถกลับถอยหลังแรงขึ้นไปอีก ก็เหยียบเบรคอีก
แต่กำลังของรถมันคอยจะถอยอย่างเดียว
เครื่อง ดังหึ่ง ๆ จะถอยลูกเดียว!!!!

ทีนี้คิดว่าจะทำอย่างไรดี ไม่เคยเจอ ก็เลยให้อีกคนเปิดประตูลงมามองหาว่ามันมีที่กั้นล้อด้านหลังไหม จะได้กั้นรถไว้ได้ เพราะด้านหลังเป็นท่อแก๊ส และท่อน้ำขนาดใหญ่ของห้าง ถ้าถอยไปชน จะเกิดอะไรขึ้น?

พอลงไปดูเห็นมีที่กั้นค่อยโล่งใจหน่อย ก็เลยตะโกนบอกมีที่กั้น จอดเลยไม่ต้องถอยแล้ว คนขับก็เหยีบเบรค และเลื่อนเกียร์มาที่เกียร์ว่าง N ห่างจากจุดที่กั้นเป็นปูนประมาณ 2 คืบได้
แล้วก็ปล่อยเบรค เพื่อจะดับเครื่องจอด

ทันใดนั้นเองสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ...
รถกระโดดข้ามไปอยู่บนที่กั้นด้วยความเร็วและแรงมาก
ในชั่ววินาทีเดียว วินาทีเดียวจริงๆ

ซึ่งคนที่ยืนดูท้ายอยู่ อยู่ห่างจากตัวรถทางด้านข้างไม่ถึงฝ่ามือ ยืนตะลึง แรงของรถ กระแทกท่อแก๊สกับท่อน้ำอย่างแรง กันชนแตกเละ โครมเบ้อเริ่ม สิ่งที่ทำตอนนั้นคือ ตะโกน ดับเครื่อง ดับเครื่อง ดับเครื่อง

หลายคนคงสงสัยแล้วแล้วจากนั้นเป็นอย่างไรต่อ
ก็ค่อยๆ มองซ้ายมองขวาช่วยกันเข็นรถที่มันคาอยู่บนขอบปูน
และกำลัง เบียดท่อแก๊สกับท่อน้ำ ออกหนะสิ
โชคดีมากๆ ท่อเป็นเหล็กหนามาก ไม่อย่างนั้น
คนที่ดูหลังอยู่ด้านท้าย คงไม่มีโอกาสมาเล่าให้ฟัง คงจะแบนไปกับท่อแก๊สไปแล้ว

* ทุกคนคงอยากดูรูป แต่ตอนนั้นตกใจลืมนึกไป *

สิ่งที่อยากจะฝากเตือนทุกคนก็คือ

1. เมื่อเกิดเหตุควบคุมรถไม่ได้เพราะเกียร์หลุด ต้องดับเครื่องยนต์ทันที ( คำแนะนำของช่าง) เพราะรถที่เกียร์หลุด จะไม่สามารถควบคุมได้เด็ดขาด ยกเว้นหลุดไปเป็นเกียร์ว่าง

2. เวลาจะถอยหลัง หรือออกรถ ระวังอย่าให้มีคนยืนอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่ เวลาถอยรถ เรามักมีคนไปด้วยช่วยลงไปดู เพราะไม่แน่ใจหรือคอยระวังรถคันอื่น

3. รถที่พึ่งออกจากอู่ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีข้อผิดพลาด

4. สติของคนขับ สำคัญมาก แม้ประสบการณ์หลายสิบปี ก็อาจควบคุมไม่ได้

ด้วยความปรารถนาดี เพื่อเป็นประสบการณ์หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ที่มา : Forward Mail

6756
 รมช.สาธารณสุข ยัน P4P ไม่ทำให้รายได้หมอลดลง และไม่มีการยกเลิกแต่จะมีการปรับเปลี่ยนการนับแต้มให้เหมาะสมได้ มีมาตรฐานการให้คะแนนตามความยากง่ายและพื้นที่ที่รักษาพยาบาล
       
       วันนี้ (30 เม.ย.56) บริเวณชั้น 9 โรงพยาบาลชลบุรี นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมามอบนโยบายโครงการ "1 หมอที่ปรึกษา 1 โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล" ระยะที่ 2 ท่ามกลาง นายแพทย์ พยาบาล นักสุขภาพ จากโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 500 คนเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย โดยมีนายแพทย์ อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ให้การต้อนรับ
       
       โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและจะเป็นประโยชน์อันสูงสุดแก่ประชาชนไทย โดยจัดโครงการ ให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ คือ 1 หมอ 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ประชาชนมีหมอประจำตัวทุกครัวเรือน ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ ดังเป้าหมาย คือ "ประชาชนมีหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจติดต่อได้ทุกเวลา" โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา
       
       นายแพทย์ ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ ทุกครัวเรือนมีหมอประจำตัว คือเข้าไปดูแลรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างใกล้ชิด และจะเป็นการลดเวลาในการเดินทางรวดเร็วในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
       
       ส่วนนโยบาย P4P นั้น นายแพทย์ ชลน่าน กล่าวว่า การใช้นโยบาย P4P เพื่อเป็นการควบคุมรายจ่ายหรือค่าตอบแทนให้กับแพทย์ตามโรงพยาบาลของรัฐ เป็นไปตาม ครม. โดยยืนยันว่า P4P จะไม่ทำให้รายได้ของหมอลดลง เพราะหากรายได้ของหมอรายไหนที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกับค่าตอบแทนลดลงจากเดิม ทาง ครม.การันตีรับประกันให้กระทรวงสาธารณสุข จัดค่าตอบแทนชดเชยให้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย ส่วนการนับแต้มการให้คะแนนของหมอ ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลเก็บให้ จะให้คะแนน ตามความยากง่ายของการรักษาพยาบาล และพื้นที่ที่หมอประจำอยู่ ถ้าถิ่นไกลหรือกันดาร ก็จะให้คะแนนสูงกว่าปกติ และหากนโยบาย P4P ที่ใช้ยังไม่เหมาะสม ก็จะมีการปรับปรุงประเมินผลกระทบไปยัง ครม. จนกว่าจะเหมาะสมทุกประการต่อไป


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 เมษายน 2556

6757
อดีตปลัด สธ.งง “แพทย์ชนบท” ไม่รู้ค้านอะไร จากเรื่อง P4P กลายเป็นเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวาน บอกเสียดายหากมีการพูดคุยกันให้จบจะได้ประโยชน์ส่วนรวม แนะ P4P ของ รพช.ต้องคิดเกณฑ์การส่งเสริมป้องกันให้มาก
       
       นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านการที่ สธ.ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay For Performance) ว่า เรื่องดังกล่าวหากงบประมาณเพียงพอก็คงไม่ต้องทะเลาะกัน เพราะปัจจุบันงบประมาณแต่ละปีด้านสาธารณสุขสูงมาก รัฐบาลจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งคงต้องพิจารณางานให้เหมาะสมกับเงินที่ได้รับ ทั้งนี้ การคิดค่าตอบแทนแบบใหม่นั้นโรงพยาบาลใหญ่ไม่มีปัญหาคือ ตรงไปตรงมาว่าทำเท่าไรก็ได้เท่านั้น แต่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีด้วยกันหลายขนาด หลายตำแหน่งทั้งใกล้และไกล ถือเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงเรื่องของการปฏิบัติงาน
   
       นพ.วัลลภ กล่าวอีกว่า หากคิด P4P ทั้งแง่การป้องกันและการรักษา จะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะเมื่อพูดถึงนโยบายมักจะกล่าวว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา แต่เมื่อปฏิบัติงานจริงกลับพบว่างานด้านการป้องกันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับผลตอบแทน เมื่อ รพช.ต้องทำงานส่งเสริมป้องกัน แต่ไม่ถูกคิดคะแนนให้มากพอที่จะอยู่ได้ จึงกลายเป็นปัญหามากขึ้น อีกทั้ง รพช.มีความเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร สังเกตได้ว่า แพทย์ย้ายไปอยู่ รพช.มากขึ้น แต่เป็นพื้นที่ใกล้ตัวจังหวัดไม่ใช่พื้นที่ห่างไกล หากไม่ใช้ P4P มาจับ แล้วจะใช้อะไรเพื่อทำให้ทราบได้ว่าเงินที่ใส่ไปคุ้มกับงานที่ได้มา
       
       “ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นำเรื่อง P4P มาคุยกัน แต่เสียดายที่ไม่เกิดความชัดเจนในเรื่องส่งเสริมป้องกัน ว่า งานที่ได้คืออะไร และควรได้ค่างานที่มากขึ้นให้สมกับที่เหนื่อยทำงาน แต่ก็ไม่มีการคุยกันต่อกลับไปนำเรื่องทุจริตเครื่องตรวจเบาหวานมาพูดแทน ทำให้ไม่ได้ก้าวต่อไป และเมื่อไม่มีการคุยกันต่อจึงไม่ทราบว่าต้องการอะไรกันแน่” อดีตปลัด สธ.กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ความขัดแย้งดังกล่าวควรมีทางออกร่วมกันอย่างไร นพ.วัลลภ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่อย่างเดียวคือการคุยกัน โดยนั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกัน ไม่ใช่คุยนอกรอบหรือคุยผ่านเวที ก็เหมือนกับประเทศ เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องมีผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งผู้พร้อมไกล่เกลี่ยคงมีเยอะ แต่จะทำอย่างไรให้มานั่งโต๊ะร่วมพูดคุยกันได้ เพราะถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากคุยกันต่อไปก็น่าจะได้คำตอบที่ดี และได้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก ซึ่งควรมีการคุยเรื่องเกณฑ์ P4P ให้ชัดเจน หากปล่อยให้ยาวไปสังคมก็เข้าใจได้ลำบากว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 เมษายน 2556

6758
สสส.เปิด “ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ” แหล่งเรียนรู้ด้านพืชอินทรีย์ต้นน้ำ-ปลายน้ำมุ่งสร้างเกษตรกรหัวใจรักสุขภาพ ผลิตพืชปลอดสร้างพิษ ร่วมปกป้องสุขภาพคนไทย ครบวงจรแห่งแรกในไทย ชี้จำเป็นต้องเร่งแก้หลังเกษตรกรไทยใช้สารเคมีปีละ 16,000 ล้าน ต้นเหตุขายไม่ได้ถูกกีดกัน
       
       วันนี้ (29 เม.ย.) ที่โรงละครหมู่บ้านไทย สามพราน ริเวอร์ไซด์ รศ.จุมพล รอดคำดี กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิด “ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ” ว่า การพัฒนาเกษตรกรด้วยแนวทางเกษตรอินทรีย์ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ โดยศูนย์พัฒนาเกษตรกรฯ ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการผลิตพืชระบบอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้สนใจ เข้าร่วมศึกษาระบบเกษตรอินทรีย์ โดยปัจจุบันได้ให้ความรู้และอบรมเกษตรกรมาแล้วจำนวน 9 รุ่น หรือกว่า 500 คน โดยจะมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชอินทรีย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด มาคอยให้คำแนะนำว่า กระบวนการผลิตพืชอินทรีย์อย่างครบกระบวนการ
       
       รศ.จุมพล กล่าวว่า การเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 และยังเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนได้รับความปลอดภัย ถือเป็นการได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งสินค้าเกษตรปลอดภัยมีความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพราะเป็นสินค้าทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัยในสุขภาพ ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ จึงทำหน้าที่ให้คำแนะนำอย่างครบวงจรสำหรับเกษตรกร ตั้งแต่การเริ่มต้นขบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ ไปจนถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นศูนย์ให้บริการเกษตรกรเป็นแห่งแรกที่ให้คำปรึกษาเกษตรกรอย่างครบวงจร โดยคาดว่าหลังจากเปิดศูนย์ ฯอย่างเป็นทางการจะมีเกษตรกรสนใจเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 500 รายในปีนี้ เนื่องจากตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเป็นตลาดที่กำลังเติบโตได้ดี
       
       นายอรุษ นวราช หัวหน้าโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตพืชมากถึง 1 ใน 3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สารพิษจะสะสมเข้าสู่ร่างกายทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืช และผู้บริโภค นอกจากนี้ ปัญหาของสารพิษตกค้างยังกลายเป็นข้อจำกัดในการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อการส่งออกที่สำคัญของไทย หากเกษตรกรไม่เปลี่ยนวิธีการผลิต ก็มีแนวโน้มสูงที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทยจะถูกจำกัด ห้ามส่งออกไปยังประเทศที่เน้นเรื่องคุณภาพสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
       
       ด้าน นายอำนาจ หลงสมบุญ เกษตรกรที่เข้าอบรมหลักสูตรสร้างเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ รุ่น 3กล่าวว่า จากการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการการผลิตพืชอินทรีย์อย่างถูกวิธีแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ จะพบปัญหาในการระบายสินค้าของตัวเอง เพราะไม่มีแผนการตลาดอย่างถูกวิธี ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคา เชื่อว่า “ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ” จะลดช่องว่างในขั้นตอนทำการตลาดที่เป็นหัวใจสำคัญลงได้ พร้อมชื่นชมหลักสูตรสร้างเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ ว่าช่วยเติมเต็มให้เกษตรกรเข้าใจในกระบวนการผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างดี
       
       ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจในการผลิตพืชอินทรีย์อย่างถูกวิธี สามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ โทร.034-322544 โทรสาร 034-225203

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6759
สธ.ตั้งเป้า 5 ปีมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจนหายขาดและอยู่ไม่ไกลบ้านใน 12 เครือข่ายบริการ ชูศูนย์สุขภาพชุมชมบ้านโป่ง ได้ภาคเอกชนหนุนที่ดิน ช่วยลดความแออัด รพ.บ้านโป่ง ได้ปีละ 25,000 ราย ปชช.พึงพอใจ สะดวกเดินทางง่าย รอคิวไม่นาน ใช้ยาเหมือน รพ.ใหญ่
       
       วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับมอบที่ดินและอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านโป่ง พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ 38 รายการ อาทิ เครื่องตรวจคลื่นความถี่สูง เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องตรวจหู คอ ตา จมูก เครื่องพ่นละอองฝอยช่วยผู้ป่วยโรคหอบหืด เครื่องขูดหินน้ำลายไฟฟ้า เป็นต้น จาก ดร.เสนาะ อูนากูล คณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เอสซีจี เพื่อมอบให้ รพ.บ้านโป่ง สนับสนุนนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ โดยศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป บริการทันตกรรม การแพทย์แผนไทย ส่งเสริมสุขภาพและกายภาพบำบัด เปิดให้บริการตั้งแต่ เม.ย. 2556 เป็นต้นมา ดูแลประชากรในเขตเทศบาลบ้านโป่ง 26,518 คน
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สธ.เร่งพัฒนาระบบบริการทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ใกล้บ้านที่สุด อย่างกลุ่มสิทธิ 30 บาท พบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2553 มีผู้ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก 27 ล้านกว่าคน รวม 144 ล้านกว่าครั้ง เพิ่มเป็น 32 ล้านกว่าคน รวม 167 ล้านกว่าครั้งในปีที่ผ่านมา แม้ประชาชนจะเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการลดจำนวนการป่วย โดยให้ทุกหน่วยบริการเพิ่มการสร้างสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จะเพิ่มระบบการตรวจคัดกรองเพื่อการป้องกัน รวมทั้งตรวจหาโรคมะเร็ง เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2559 ได้วางแผนพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไปจนถึงเจ็บป่วยรุนแรงหรือมีความยุ่งยาก เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการรวม 12 เครือข่ายทั่วประเทศ ดูแลประชากรเครือข่ายละ 5-6 จังหวัด เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าพัฒนาการเติบโตของโรงพยาบาลอย่างมีทิศทาง เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จะทำให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านมาตรฐานเดียวกัน ตั้งเป้าภายใน 5 ปีนี้ จะมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในโรงพยาบาลศูนย์ที่อยู่ใน 12 เครือข่าย บริการใน 4 สาขาได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ และทารกแรกเกิด เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากในพื้นที่และเครือข่าย และอยู่ไม่ไกลบ้าน
       
       “การลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัด ได้เพิ่มศูนย์สุขภาพในชุมชนเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ดำเนินการคล้ายโพลีคลินิก เป็นเครือข่ายบริการผู้ป่วยนอกของ รพ.ศูนย์ หรือ รพ.ทั่วไป จัดแพทย์ พยาบาล พร้อมเครื่องมือ บริการตรวจรักษา สร้างสุขภาพในชุมชน ลดการเจ็บป่วย ขณะนี้ตั้งแล้ว 236 แห่ง จากการติดตามประเมินผลที่ อ.บ้านโป่ง พบว่าได้ผลดี ลดความแออัดที่ รพ.บ้านโป่งปีละ 25,000 ราย ประชาชนพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 85 เนื่องจากเดินทางสะดวก ใช้เวลารอไม่นาน ใช้ยาตัวเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่” ปลัด สธ.กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6760
สบส.ยันไม่พบจังหวัดทำผิดระเบียบใดในการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เปิดทางให้เดินหน้าต่อได้ ระบุซื้อเครื่องตรวจแล้วได้แถบตรวจราคาถูก หรือซื้อแถบตรวจแพงแถมเครื่องตรวจ ให้แต่ละพื้นที่ตัดสินใจเองว่าแบบใดเหมาะสมสุด

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
   
       วันนี้ (29 เม.ย.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุถึงการส่อทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งชะลอการจัดซื้อแล้ว ว่า การจัดซื้อขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยอิงระเบียบการจัดซื้อจัดหาพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี และเท่าที่มีการดำเนินการขณะนี้ยังไม่มีการทำผิด ดังนั้น จังหวัดที่ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วสามารถดำเนินการกระบวนการจัดซื้อต่อไป ส่วนการให้ อสม.ใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดนั้นสามารถทำได้ เพราะได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพให้เจาะเลือดจากเส้นเลือดฝอยปลายนิ้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มานานแล้ว เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อมาลาเรีย ซึ่งการตรวจคัดกรองเบาหวานก็ใช้วิธีเดียวกัน อีกทั้งมีการอบรมในการใช้เครื่องตรวจคัดกรอง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนพัฒนาขีดความสามารถของ อสม.ให้เป็นนักจัดการสุขภาพ จึงต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนเครื่องวัดความดัน และปี 2556 จึงจะสนับสนุนเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด
       
       น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า ระหว่างการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแถมแถบตรวจ หรือจัดซื้อแถบตรวจแถมเครื่องตรวจน้ำตาลรูปแบบใดดีกว่า อยู่ที่การพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยมีข้อมูลว่าการจัดซื้อเครื่องที่เป็นมาตรฐานและใช้กันโดยทั่วไป ราคา 1,000-5,000 บาท หากซื้อแถบตรวจจะราคา 8-17 บาทต่อแถบ แล้วแต่ชนิดและคุณภาพของแถบ อย่างซื้อเครื่องตรวจแล้วซื้อแถบจะได้ราคาของแถบตรวจถูกกว่าการซื้อแถบอย่างเดียว ส่วนการซื้อแถบตรวจแล้วให้เครื่องตรวจใช้จะมีการบวกค่าบำรุงรักษา และแถบตรวจจะราคา 12 บาทต่อแถบ แต่ถ้าซื้อเครื่องตรวจจะซื้อแถบตรวจในราคา 8 บาทต่อแถบ เป็นต้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6761
“หมอประดิษฐ” สั่งการบ้านผู้บริหาร สธ.กำหนดเดตไลน์เขตบริการสุขภาพ 1 ก.ค.ดีเดย์บัตรประกันสุขภาพเด็กแรงงานต่างด้าว 1 มิ.ย.เร่งเดินหน้าสร้างคลังสต๊อกยา หลังเสร็จแล้ว 4 แห่ง และเตรียมปรับแผนทำงาน รพ.สต.หลังเน้นรักษามากกว่าส่งเสริมสุขภาพ ลั่นไม่ถอย P4P ให้กลุ่มแพทย์ชนบท เพราะหลักเกณฑ์ทบทวนได้ตลอดเวลา

นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
   
       วันนี้ (29 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามงานกับผู้บริหารระดับสูง สธ.ว่า ในที่ประชุมตนได้กำชับการดำเนินการ 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1.การเดินหน้าปรับโครงสร้างระบบสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเขตบริการสุขภาพ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ก.ค.2556 เพื่อแสดงถึงการปรับปรุงคุณภาพบริการ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และลดความซ้ำซ้อนการใช้กำลังคนของสถานพยาบาลภายในเขตบริการเดียวกัน สอดคล้องกับการใช้อัตรากำลังคนเพิ่มในการบรรจุลูกจ้างประจำของ สธ.เป็นข้าราชการที่จะดำเนินการในช่วง ต.ค.2556 ที่สำคัญจะส่งผลดีเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในเชิงคุณภาพ เช่น การได้รับบริการที่ดีขึ้น ลดการรอคิวผ่าตัดหัวใจ หรือต้อกระจก เป็นต้น
       
2.บัตรสุขภาพสำหรับเด็กแรงงานต่างด้าวที่เกิดในไทย มีสิทธิซื้อประกันสุขภาพในอัตรา 365 บาทต่อปี โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นคนต่างด้าวในประเทศต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเองเช่นกัน โดยสั่งการให้คำนวณต้นทุนการให้บริการใหม่เป็นอัตราที่เหมาะสมโดยไม่ให้ประเทศต้องขาดทุน และหากไม่ยินยอมซื้อประกันสุขภาพ เพราะราคาครั้งเดียวสูง ให้พิจารณาทบทวนต้นทุนราคาการใช้บริการต่อครั้ง เพราะขณะนี้คิดค่าบริการตามต้นทุนเก่า
       
3.การทำคลังสินค้าตามภาคต่างๆ ระหว่าง สธ.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้มีการเก็บยาในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสำรองกรณีฉุกเฉินต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกยา ซึ่งได้รับรายงานว่าดำเนินการไปแล้ว 4 แห่ง และในปี 2556 จะดำเนินการอีก 10 แห่ง และ

4.ดำเนินการให้บทบาทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะปัจจุบันเน้นเรื่องเชิงการรักษามากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ต้องมีการเพิ่มบุคลากร
       
       “ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (Pay For Performance :P4P ) จะไม่มีการถอยในเรื่องนี้ และเดินหน้าตามหลักการต่อไปตามปกติ แต่ในส่วนของหลักเกณฑ์การดำเนินการ เช่น การจัดแบ่งพื้นที่สถานพยาบาล ผมย้ำเสมอว่าสามารถมาหารือทบทวนร่วมกันได้ ซึ่งการดำเนินการมีการทบทวนปรับปรุงตลอดเวลาอยู่แล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6762
แพทย์ชนบทเคลื่อนไหวขยายการคัดค้านนโยบาย P4P ต่อเนื่องในทุกสาขาวิชาชีพสาธารณสุข และขยายผลไปถึงผลประโยชน์ทับซ้อนรวมไปถึงการทุจริตภายในกระทรวง ขณะเดียวกันเตรียมชวนประชาชนเป็นแนวร่วมคัดค้าน มั่นใจหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 จะไม่ผ่าน และไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ประชาชนมีผลกระทบด้วย
       
       วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุข นำโดยแพทย์ชนบท พยาบาล ทันตภูธร เภสัชกร นักเทคนิคทางการแพทย์ นักรังสีทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช กว่า 150 คน รวมตัวกันประชุมเพื่อทำความเข้าใจในกรณีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย หรือ P4P ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการคัดค้านอย่างกว้างขวางจากแพทย์ชนบท และเครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุขจากทั่วประเทศ
       
       โดยมีนายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล แกนนำแพทย์ชนบทเป็นผู้ที่ให้ความรู้ในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแต่ละสาขาวิชาชีพ และได้ให้ความสำคัญความสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายระบบสุขภาพของประเทศ ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เอื้อให้กับเอกชน ความเสี่ยงต่อการทุจริตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การรวมศูนย์อำนาจ และการทุจริตเงินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
       
       นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ระบุว่า ท้ายที่สุดแล้วระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 จะไม่สามารถผ่านนำมาใช้งานได้จริง เนื่องจากปัญหาที่มีอยู่มากในตัวเอง ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไปนั้น ในเครือข่ายวิชาชีพทุกวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข จะมีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทัน และจะร่วมกันขึ้นป้ายคัดค้านนโยบาย รวมทั้งต่อต้านรัฐมนตรีตามสถานบริการเครือข่ายบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดทุกระดับ และในสัปดาห์ต่อไปนั้น จะมีการให้ความรู้กับภาคประชาชนถึงความเสี่ยง โดยจะเริ่มจากแกนนำชุมชน เครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านการบริการด้วย ทั้งหมดจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบอารยะขัดขืน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 เมษายน 2556

6763
สำหรับ ส. อื่นๆก็เช่นกันคือมีแพทย์ชนบทรุ่นใหญ่กระจายกันเข้าไปบริหารทุก ส. เช่น สช. มี นพ. อ. ที่เขียน พรบ. ของ สช. เองกับมือเอาเข้าครม. ด้วยตัวเอง และก็เป็นเลขาซะเอง เรียกว่า"ชงเองกินเอง" เลยละ

ผลงานแรก คือ ของบมาสร้างตึก และมาบริหารปีละ 400 ล้าน ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คนทำงาน หรือก็หยิบมือเดียว งานก็มีแต่ออกไปประชุมชาวบ้าน จังหวัดละ 40 - 50 คน เพื่อให้รับรองกฏหมายที่อยากจะเอาไปใช้ แล้วบอกว่า นี่คือการทำประชาพิจารณ์ ใช้งบไปแต่ละที่มากมายเหลือเชื่อ เก่งมั้ย? นี่แหละฮีโร่จอมปลอมทั้งก๊ก เอาเงินภาษีของพวกเรามาเลี้ยงพวกพ้องกลุ่มตัวเองปีละมากๆ อย่างถูกกฏหมาย อย่างยั่งยืนตราบใดที่มี พรบ. นี้อยู่ เก่งจริงนะตัวแค่เนี๊ย

   ผลงานที่เป็นข่างร่ำลืออยู่ตอนนี้ก็คือ ถูกสอบทุจริตหลายกระทงที่องค์การเภสัชกรรม เช่น ซื้อผงเคมีทำยาพาราเซต อ้างว่าแก้ปัญหายาขาดแคลนช่วงน้ำท่วมเมือปี 2554 ทั้งที่โรงงานกำลังน้ำท่วม ซื้อมาก็ตอกเม็ดยาไม่ได้แต่ทุ่มเทซื้อมาถึงเกือบ 140 ตัน แล้วในที่สุดก็ทำเป็นเม็ดยาไม่ได้เพราะไม่มีโรงงานไหนยอมตอกเม็ดยาให้เนื่องจากผงยานี้ไม่มีคุณภาพ ซ้ำยังมีเศษเส้นผม และผงฝุ่นสีน้ำตาลอยู่ในนั้นด้วย ดูด้วยตาเปล่าก็ไม่กล้าเอาไปทำยาให้คนกินแล้ว อย่าลืมว่ายานี้คนทุกเพศทุกวัยใช้กันมากมาย เรียกได้ว่าเป็นยาประจำบ้านเลยทีเดียว

อย่างเช่นในอดีตองค์การเภสัชไปจ้าง บ. โอสถอินเตอร์ฯ ที่มีแพทย์ชนบทรุ่นใหญ่เป็นประธานอยู่ผลิตยาพาราเซตแถมเส้นลวดมาในเม็ดยาด้วย ชาวบ้านที่กำลังจะกินตกใจมากเอาไปฟ้องสื่อและผู้ว่าฯจังหวัดนั้นเป็นข่าวเกรียวกราว ดูเหมือนว่าพี่น้องกลุ่มนี้ชอบผลิตยาพาราด้อยคุณภาพซะจริงๆ อยากถามว่าเมื่อเป็นบริษัทยาของหลวงที่บังคับให้โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขซื้อทุกโรง ทำไมไม่คิดที่จะผลิตยาคุณภาพดีเป็นมาตรฐานให้บริษัทยาเอกชนดูเป็นตัวอย่าง และเป็นที่พึ่งประชาชนผู้เจ็บป่วยได้จริง ไม่หวังแต่ซื้อของไม่มีคุณภาพเพื่ออะไรบางอย่างสำหรับตนเอง ส่วนชาวบ้านจะเป็นจะตายช่างมัน เพราะคนซื้อและญาติพี่น้องก็ไม่ยอมกินยาที่ตนผลิตอยู่แล้ว เลยไม่แคร์ น่ากลัวจริงๆ ยาอื่นๆจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ เราจะวางใจได้อย่างไร

พอถูกสอบสวนสิ่งผิดปกตินี้ ตอบไม่ได้ว่าทำไมน้ำท่วมจึงไม่ซื้อพาราเซตสำเร็จรูปที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนใช้โดยตรงเลย น่าจะถูกเรื่องถูกเวลาและได้ประโยชน์กว่ามั้ย? ตอบไม่ได้ก็พาลโกรธผู้ตรวจสอบ

แล้วยังเรื่องโรงงานต่างๆ ที่พฤติกรรมตั้งแต่อยากผลิตวัคซีนทั้งที่ยังไม่มีความรู้ เลือกวิธีผลิตสะเปะสะปะ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เปลี่ยนแต่ละครั้งใช้เงินเพิ่มทุกครั้ง หมดเงินไปมากกว่า 1,400 ล้านบาทแล้ว ยังไม่มีวัคซีนมาให้ใช้ซักหยด เอาเงินสร้างโรงงานไปซื้อวัคซีนที่บริษัทผลิตให้เรียบร้อยแล้วมาใช้ 1,400 ล้านบาทนี้ น่าจะซื้อได้หลายปีที่เดียว พอถูกตรวจสอบเรื่องนี้ ก็เหมือนเดิมตอบไม่ได้ว่าที่เลือกวิธีการสิ้นเปลืองกว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะได้วัคซีนมาใช้จริงเมื่อไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ ปลอดภัยแค่ไหน ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ สงสัยว่าเป็นวิธีการคิดและทำที่ฝืนธรรมชาติมาก คำถามจึงพุ่งไปที่ว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่เบื่องหลังหรือเปล่า เป็นการ "สู้แล้วรวย" หรือเปล่า แพทย์ชนบทรุ่นใหญ่ทั้งหลายต้องตอบให้สังคมรับทราบ และหายคลางแคลงใจให้ได้ ไม่ใช่สู้แบบ "อีแอบ" แบบที่กำลังทำอยู่ คือ ให้แพทย์ชนบทรุ่นเล็กที่นำโดย นพ. ก. ออกมาก่อหวอดไล่รัฐมนตรี โดยอ้างว่าไม่พอใจเรื่องค่าตอบแทน P4P เอาประเด็นนี้เรียกแนวร่วมที่เป็นแพทย์กับทันตแพทย์ ใน รพ.ชุมชน มาร่วมม็อบ แต่ไปๆมาๆ ประเด็นเปลี่ยนว่า อย่ารังแกองค์การเภสัช ซึ่งลูกพี่แพทย์ชนบทรุ่นใหญ่กำลังถูกตรวจสอบอยู่ เห็นเงาคุกอยู่ลางๆ ทั้งทีมจนต้องเกิดการ "ประชุมลับ" ที่โรงแรมมิราเคิล เมื่อไม่นานนี้ ผู้เข้าประชุมมีทั้ง นพ. 2 ว. นพ. ช. นพ. ณ. นพ. พ. ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบอร์ดรุ่นเก่าและรุ่นก่อนมาร่วมกันหาทางรอดจากความผิดที่กำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก DSI ซึ่งมีเรื่องถาโถมเข้ามาอีกไม่ขาดสาย จากฝีมือของท่านเหล่านี้ เหมือนกับว่าเอานิ้วจิ้มลงตรงไหนในองค์การเภสัชขณะนี้ก็จะเจอผลงานอุบาทก์ของกลุ่มนี้อยู่เต็มไปหมด

   เมื่อรัฐมนตรี สธ. คนนี้ทราบเรื่องเข้าจึงอยากปรับปรุงให้องค์การเภสัชสะอาดโปร่งใส ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องขับไล่รัฐมนตรีคนนี้ให้พ้นเก้าอี้ให้จงได้ เพราะเป็นอันตรายต่อพวกตนเองเหลือเกิน อย่างที่ไม่เคยมีรัฐมนตรี สธ. คนไหนทำมาก่อน ก็เลยต้องรีบสาดโคลนใส่ร้าย และไล่โดยแพทย์ชนบทรุ่นเล็กใส่เข้าไปอย่าได้ยั้ง ห้ามเจรจากับรัฐมนตรีเด็ดขาด ไม่ต้องมีเหตุผล จุดประสงค์ คือ ไล่! อย่างเดียว ไม่ว่ารัฐมนตรีและปลัดกระทรวงจะเสนอเวทีพูดคุยหาทางออกที่ดีร่วมกันอย่างไร กลุ่มม็อบก็ไม่สน จนน่าสงสัยว่าทำไมม็อบนี้ไม่มีเหตุผลเอาซะเลย จะมีได้อย่างไรเล่าลูกพี่บอกว่า "ห้ามเจรจาเด็ดขาด" จนกว่าจะไล่ รมต. ได้สำเร็จ

  เช่นวันนี้ 24 เมษายน 2556 ก็มีม็อบแพทย์ชนบทและพวก ได้แก่ นางสาว ส. จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นาย น. จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นาง ป. จากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และกลุ่มคนไข้โรคเอดส์ โรคไตวาย โรคมะเร็ง และ กลุ่มสหภาพแรงงานขององค์การเภสัชกรรม มาร่วมกันขับไล่ รมต. สธ. อีกแล้ว และบอกว่า "ก้าวข้าม P4P แล้วนะ" เปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่องอื่นๆ ไปแล้ว และเป็นที่สังเกตว่ามีแพทย์มาร่วมน้อยมาก นับหัวได้ 10 กว่าคนเท่านั้น แสดงว่าผู้คนที่มาร่วมเริ่มงงว่า "อ้าว! เริ่มด้วย P4P แล้วไฉนลงท้ายด้วยเรื่องสอบทุจริตองค์การเภสัชไปได้" ถึงได้บอกไงล่ะว่า "ขึ้นต้นเป็นลำไม่ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา" (โปรดติดตามตอนต่อไป)

6764


ช่วงนี้มีข่าวร้อนเกี่ยวกับแพทย์ชนบทไล่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด มีข่าวว่าวันที่ 24 จะมีการรวมตัวกันของแพทย์ชนบทกับ กลุ่มคนรักหลักประกัน (NGO สปสช.เก่า) กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ กลุ่มผู้ป่วยไตวาย กลุ่มผู้เสียหายทางการแพทย์ และแนวร่วมใหม่คือกลุ่มสหภาพองค์การเภสัชฯ จะไปขับไล่รัฐมนตรีอีกครั้งที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจะไปให้ สตง. ตรวจสอบทุจริตของรัฐมนตรีอีกด้วย

   "ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา" ช่างเข้ากันกับพฤติกรรมของแพทย์ชนบทครั้งนี้เสียจริงๆ เพราะว่าเริ่มจากไม่พอใจค่าตอบแทนระบบ P4P ก็มาประท้วงรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาค่อยเปลี่ยนเรื่องเป็น รมต.จับทุจริตยาขององค์การเภสัชกรรมมาผสมสุดท้ายกลายเป็นไล่รัฐมนตรีสถานเดียว  มันกลายเป็นอย่างนี้ได้ยังไง ผู้ตามข่าวที่ไม่ใช่คนสธ. ก็ยังงงๆกันอยู่ จะเฉลยให้ทุกท่านทราบ ณ บัดนี้ โปรดติดตาม.....

   "แพทย์ชนบท" เริ่มเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีกลุ่มแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนได้รวมตัวกันขึ้นมา มีที่ปรึกษาคือ ราษฎรอาวุโส และรุ่นใหญ่คือ นพ. 3 ส. นพ. 4 ว. นพ. ช. นพ. อ. นพ. ศ. นพ. 2 พ. เป็นต้น ในปัจจุบันก็จะมีรุ่นเล็กที่ชื่อ นพ.ก.ที่โดดเด่น และมีแพทย์ชนบทดีเด่นทั้งหลาย ที่คัดเลือกกันขึ้นมาทุกปี ขณะนี้มีมากมายจนจำกันไม่หมด ใครๆว่าเป็นฮีโร่ พระเอกขี่ม้าขาวผู้เสียสละ ผู้คนหวังว่าเมื่อกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในองค์กรใดก็จะทำให้องค์กรนั้นโปร่งใส

   แต่เอ๊ะ!ช่วงหลังมานี่มีข่าวไม่ค่อยดีออกมาอยู่เรื่อย ทำไม เมื่อพวกเขาตั้ง สปสช. ขึ้นมาไม่นานนักก็มีข่าวทำเงินค่ารักษาของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ค้างท่ออยู่ใน สปสช. ไม่ไปถึงปลายทาง ทำให้โรงพยาบาลค่อนประเทศโวยวายว่า "เจ๊งแล้วจ้า" จนเป็นปัญหาที่ค่อยๆดังออกมาสู่สังคม นอกสธ. ในขณะที่ตัวต้นเหตุ สปสช. ปฏิเสธพัลวันว่า "ไม่จริ๊ง ไม่จริง" แต่มีคนเฉลยว่า "จริงจ้า" คือ กรรมมาธิการกระทรวงสาธารณสุขวุฒิสภา ได้ตรวจสอบมีเอกสารยืนยันว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2552 - 2554 มีเงินค้างท่ออยู่ใน สปสช. ถึง 39,900 ล้านบาทเศษ หย่อน 40,000 ล้านบาทไปนิดเดียว

   ต่อมาพวกเขาไปอยู่องค์การเภสัชกรรมอยู่ราว 2 วาระ ก็พบว่าพากันซื้อยามาทิ้งให้หมดอายุเล่นๆ หลายชนิดเลยทีเดียวมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนก โรงงานผลิตยารักษาโรคเอดส์ และ "โรงงาน 7 ชั่วโคตร" อีกแห่ง ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้จริง  ทั้งที่ใช้เงินไปหลายพันล้านบาทและเสียเวลาหลายปีแล้ว  ทั้งยังมีการซื้อครุภัณฑ์การแพทย์แบบจ่ายเงินไปแล้วไม่ได้ของตั้งหลายรายการ วงเงินก็ไม่น้อย และซื้อวัสดุ เช่น เลนส์แก้วตาเทียม มาทิ้งอีกจำนวนมาก และยังมีของอย่างอื่นอีกมากล้วนแล้วแต่ด้อยคุณภาพ มาให้คนไทยทั่วประเทศใช้ แต่ตัวเองและญาติไม่ใช้แน่นอน เขายืนยันกับผู้เขียนเอง

   นี่หรือฮีโร่ของเรา เป็นเรื่องจริงหรือใส่ร้ายกันแน่ คนดีปานนั้นจะกลายเป็นผู้ร้ายปานนี้ได้อย่างไร เอาละ เรามาดูกัน

   เริ่มที่ปี พ.ศ. 2544 กลุ่มแพทย์ชนบทรุ่นใหญ่ ได้สร้างงานสำคัญขึ้นมา คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก่อตั้งปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นจุดที่เริ่มต้นสำหรับอ้างว่ามีปัญหาอะไรในระบบสาธารณสุขของประเทศก็ตั้งโจทย์ทำวิจัยและก็มี องค์กรในกำกับของรัฐ(ทีชอบอ้างว่าเป็นองค์กรอิสสระ) คือ ส. ต่างๆออกมาอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาประเทศ  แล้วให้กลุ่มแพทย์ชนบทไปบริหาร ส.เหล่านี้ทั้งสิ้น เริ่มโดย

   1. สสส. เริ่ม พ.ศ. 2544 อ้างว่าเพื่อใช้ภาษีบาปจากเหล้า บุหรี่มาดูแลสุขภาพคนไทย บริหารโดย นพ.ว และพวกได้บริหารโดยซื้อสื่อเป็นหลัก เช่น สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ  นอกนั้นก็เป็นโครงการของกลุ่ม NGO สายแพทย์ชนบท ที่ใช้ชื่อว่า มูลนิธิเกี่ยวกับผู้บริโภคทั้งหลายมารองรับงบประมาณที่เหลือจากสื่อทั้งหมดของ สสส. ไปทำอะไรหลายๆอย่างมา 10 กว่าปี คนไทยก็ยังกินเหล้า สูบบุหรี่มากขึ้น และตายจากเมาแล้วขับมากขึ้นทุกปีๆอย่างต่อเนื่องในทุกเทศกาล แสดงถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี หรือไม่ งบประมาณที่ใช้ไปปีละ 3,000 กว่าล้านบาท คุ้มค่าหรือเปล่า บรรลุวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง สสส. หรือไม่ ไม่เคยมีคำตอบ

   2. สปสช. เรื่ม พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเลือกมาเป็นนโยบายประชานิยมในสโลแกนว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" ได้รับงบประมาณปีละกว่าแสนล้านบาท ในช่วง 10 ปีแรกบริหารโดยกลุ่มแพทย์ชนบทรุ่นใหญ่ทั้งทีมประกอบด้วย นพ. 3 ส. นพ. 4 ว. และทีมนางสาว ส.และนาง ป. NGO สายแพทย์ชนบทร่วมกันบริหาร เป็นบอร์ดและเป็นอนุกรรมการทั้ง 13 คณะ อ้างว่ามาถือเงินของประชาชนไว้จ่ายค่ารักษาแทนประชาชน

  10 ปีผ่านไป ก็อย่างที่รู้ ว่าเงินที่ผ่านเข้ามาได้ค้างท่ออยู่ใน สปสช. โดย รพ.ทั่วประเทศมีปัญหาได้รับเงินค่ารักษาจาก สปสช. ไม่ครบต่อเนื่องหลายปี จนเจ๊งค่อนประเทศ  ในขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมหาศาลเกือบ 3 เท่าผู้รักษาไม่เพิ่ม  ก่อให้เกิดความล้า จนอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง พวก NGO ของ สปสช.ก็ทำ "พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ฯ"ขึ้นมาเพื่อบีบบุคลากรสาธารณสุขทุกสังกัดให้จ่ายเงินเข้ากองทุนของ พรบ. นี้ให้พวก NGO เหล่านี้บริหาร กดขี่เยี่ยงทาส ซ้ำเติมให้กดดันมากขึ้นจนคนไม่อยากเป็นแพทย์ พยาบาล อีกต่อไป เพราะไม่อยากมาเป็นทาส NGO

  3.และมี ส. อื่นๆอีก เช่น สรพ. สช. สกส. สกสอ. และ IHPP เป็นต้น

  ช่วงนี้เองกลุ่มแพทย์ชนบทรุ่นใหญ่ได้ยกทีมเข้าไปเป็นบอร์ดองค์การเภสัชกรรม เช่น นพ. ว. เป็นประธาน และ นพ. ส. นพ. ช. และพวกได้มาร่วมกันบริหาร ทั้งที่หลายคนในกลุ่มนี้เป็นบอร์ด สปสช. อยู่ควบคู่กัน จึงมีไอเดียกระฉูดว่า สปสช.ควรซื้อยา วัสดุ ครุภัณฑ์ ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศโดยซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ เท่านั้น เงินทอนที่เกิดขึ้นเกินร้อยล้านบาทต่อปี กลุ่มนี้ก็ทำโครงการไปเพิ่มพูนความรู้แถวๆ ยุโรป สแกนดิเนเวีย จีน ตามอัธยาศัย ในนามคนของสำนักงาน สปสช. แต่มีคำถามว่ามันเป็นเงินของใคร เพราะเงินที่ซื้อเป็นค่ารักษาผู้ป่วยในบัตร 30 บาท ของทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่เงินทอน สปสช. เอาไปเที่ยวนั้น มันถูกไหม  สตง. เลยเฉลยว่าผิดแน่ เมื่อ 22 พ.ย. 2554 ลงในเว็บไซต์ สตง. หลังจากตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี และพบการใช้เงินผิดอีก 7 ประเด็นใหญ่ แยกเป็นหลายประเด็นย่อย รวมแล้วเกิน 40 หน้า น้อยซะเมื่อไหร่(โปรดติดตามตอนต่อไป)

6765
ภูเก็ตพบยาเสพติดสายพันธุ์ใหม่ระบาด ในกลุ่มวัยรุ่น ชื่อ 'Tramadol' มีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มและมีความสุข ผลร้ายกดประสาทส่วนกลาง-หายใจไม่ออกเสียชีวิต...

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 56 นายวิรัช พาที ผอ.กกท.จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพพสาสติกที่เป็นสิ่งห่อหุ้มตัวยาชนิดหนึ่งที่ มีชื่อว่า Tramadol ลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า นี้คือยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดใน จ.ภูเก็ต โดยเปลือกยาทั้งหมดเก็บได้ที่ด้านหลังโรงยิมเนเซียม 1 ศูนย์กีฬาสะพานหิน ถ.ภูเก็ต อ.เมือง โดยยาดังกล่าวใช้ผสมกับน้ำอัดลม เปลือกเปล่าที่พบคือ หลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการกินกันทุกคืน นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เก็บมาให้ดู อยากให้สื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและปราบปรามการจำหน่ายยา ต้องห้ามชนิดดังกล่าว ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นในบ้านเมืองเรา

จากการสอบถามไปยังกลุ่มเภสัชกร รพ.วชิระภูเก็ต เพื่อขอทราบคุณสมบัติเกี่ยวกับตัวยาชนิดดังกล่าว ทราบว่าเป็นยาแก้ปวดกลุ่ม weak opioid agonist มีข้อบ่งใช้ในการระงับอาการปวด ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ทั้งการจับกับ mu-opiatereceptor ในระบบประสาท ส่วนกลางและยับยั้ง serotonin และ norepinephrine reuptake ซึ่งช่วยปรับสมดุลการตอบสนองต่อความเจ็บปวดและช่วยยับยั้งการส่งกระแสประสาท ความเจ็บปวดในไขสันหลัง ยาออกฤทธิ์ระงับปวดภายใน 1 ชั่วโมง ระยะเวลาออกฤทธิ์นาน 9 ชั่วโมง ขนาดยาที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ 50-100 มิลลิกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงโดยกำหนดขนาดยาสูงสุด คือ 400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่การที่ยาใดๆ ก็ตามที่สามารถจับ mu-opiate receptor นอกจากหวังผลออกฤทธิ์ระงับปวด แล้วยังมีผลทางด้านเภสัชวิทยาอื่นๆ ได้แก่ ฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจ ทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขและก่อให้เกิดการเสพติดทางกาย ทำให้ยาในกลุ่ม opioid agonist ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องมีการควบคุมการจำหน่าย

โดยในปี 2010 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้มีการเพิ่มข้อความเตือนการใช้ tramadol ในเอกสารกำกับยา เนื่องจากยาเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเสพติดยา ผู้ป่วยที่รับประทานยาระงับประสาทหรือยาต้านซึมเศร้าและเตือนความเสี่ยงต่อ การใช้ tramadol เกินขนาด สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติความผิดปกติทางอารมณ์มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย มีประวัติเสพติดยาระงับจิตประสาท ติดแอลกอฮอล์ เสพติดยากลุ่ม opioid หรือสารเสพติดอื่นๆ ที่มีผลกดประสาทส่วนกลางจะมีโอกาสเสียชีวิตจากการใช้ยา tramadol โดยการใช้ tramadol เกินขนาดมีผลกดระบบประสาทส่วนกลางและกดการหายใจได้

ไทยรัฐออนไลน์ 24 เมย 2556

หน้า: 1 ... 449 450 [451] 452 453 ... 653