แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - science

หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13
121
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ห้องประชุม 1 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลปลานักล่าชนิดใหม่ของโลก ชื่อ อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี อายุประมาณ 150 ล้านปี อยู่ในยุคจูราสสิก ช่วยปลดล็อกปริศนาการจัดกลุ่มและลำดับสายวิวัฒนาการปลาโบราณชัดเจนขึ้น นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางแพร่กระจายพันธุ์สิ่งมีชีวิตไปยังทวีปต่างๆ

ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยา (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาวิจัยฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ และค้นพบปลาดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก เปิดเผยว่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ที่ขุดพบเป็นปลาน้ำจืดกระดูกแข็ง อยู่ในยุคจูราสสิกตอนปลายหรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน มีความยาวประมาณ 90 ซ.ม. มีลักษณะฟันที่เรียงหันคล้ายแท่งดินสอและขากรรไกรแข็งแรงอันทรงพลัง ฟันแหลมคมซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสัตว์นักล่า

ซากปลาดึกดำบรรพ์นี้ขุดพบที่แหล่งขุดค้นภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ในปีพ.ศ. 2551 โดยนายทองหล่อ นาคำจันทร์ ชาวบ้าน ต.ดินจี่ ค้นพบซากฟอสซิลปลานำมามอบให้ทางอำเภอคำม่วง และทางอำเภอส่งมาให้นักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเข้าสำรวจขุดค้นพบตัวอย่างปลากระดูกแข็งน้ำจืด 4 ตัวอย่าง ซึ่งมีความสมบูรณ์มากโดยเฉพาะส่วนกะโหลกและฟัน เมื่อเทียบเคียงกับตัวอย่างฟอสซิลปลาที่เคยค้นพบ จึงสามารถแยกได้ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก สันนิษฐานว่าจะเป็นต้นสายพันธุ์ปลาจระเข้ในปัจจุบัน  ดร.อุทุมพรกล่าว

นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยากล่าวอีกว่า การค้นพบครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมชนิดสายวิวัฒนาการของปลากระดูกแข็งโบราณแล้ว ยังจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งโบราณให้กระจ่างมากขึ้นจากเดิม ที่มักจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งที่ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้เข้าไว้ในสกุลเลปิเทส   แต่จากการวิจัยสามารถระบุลักษณะที่ชัดเจนของสกุลอีสานอิกธิส สามารถจัดกลุ่มปลาปริศนาที่ค้นพบในประเทศต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกลุ่มในสกุลอีสานอิกธิสได้ 2 ชนิด คือ อีสานอิกธิส ลาติฟรอนส์ และอีสานอิกธิส ลูชิวเอนซิส

สำหรับชื่ออีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ปลานักล่าสายพันธุ์ใหม่ที่ขุดพบครั้งนี้ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเลิศบุศย์ กองทอง อดีตนายอำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่มีบทบาทผลักดันให้เกิดการขุดค้นภูน้อย จนสามารถขุดพบซากฟอสซิลปลานักล่าสายพันธุ์ใหม่ของโลกในที่สุด  ดร.อุทุมพรกล่าวในตอนท้าย

มติชนออนไลน์  29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

122
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวง
ทรงเป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐
แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์แรกในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี
เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. ๒๔๑๑) รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๔๒ ปี เสด็จสวรรคต
เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยโรค
พระวักกะ รวมพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา
 
ย้อนไปกว่าร้อยปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีพระวิสัยทัศน์ทอด
ยาวมายังสยามประเทศในวันนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นการไกล     เลือกแนวทางปฏิรูประบบราชการ
(คอฟเวอร์เมนท์รีฟอร์ม) แทนการสร้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเป็นสถาบันหลัก
ตามที่ปรากฏชัดเจนใน “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี” ซึ่งอาจถือว่าเป็นการโต้ตอบผู้ที่เห็น
ว่าควรนำการปกครองของยุโรปมาใช้เพราะเชื่อว่าความเจริญของชาวยุโรปเป็นเพราะปกครองด้วย
ระบบรัฐสภา มีพรรคการเมืองไว้เป็นที่โต้เถียง ออกความเห็นเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นว่า ชาวยุโรปใช่ว่าจะมีความสามัคคีกัน
ส่วนมากคิดเอาเองเห็นตามคนพูด พระองค์ทรงกล่าวว่าเป็นความเข้าใจผิดว่า หากต้องการให้ประเทศ
เจริญ “จำเป็นจะต้องมีปาลิเมนต์ที่ราษฎรประชุมปรึกษาราชการ และผู้คิดการบ้านการเมืองนั้น
จะต้องเป็นสองพวกสามพวกในความคิดเห็นต่างกันเหมือนประเทศทั้งปวง เพราะเมืองไทยไม่ยอม
ให้มีความเห็นต่างๆกัน เป็นพวกเป็นเหล่าพูดได้คิดได้ตามใจ บ้านเมืองจึงไม่มีความเจริญเหมือน
ประเทศยุโรป.......”
 
พระองค์ทรงเห็นอีกว่าการจะให้รัฐสภาและพรรคการเมือง มีบทบาทในการสร้างความเจริญให้บ้าน
เมืองนั้น จะต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลานาน ดังที่ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
 
 “ส่วนความเห็นท่านพวกที่รู้การในประเทศยุโรปละเอียดนั้น    เห็นว่าเพราะเขามีปาลิเมนต์ที่ประชุม
ใหญ่     มีโปลิติกัลปาตี   คือพวกคิดราชการมีความเห็นต่างกันสำหรับที่จะโต้ทานกันและกัน เมื่อคนเป็น
อันมากได้พูดจาโต้ทานกันด้วยฝีปากจนสุดปัญญา การที่จะสำเร็จในปลายมือนั้นคงจะเป็นการที่ได้คิด
เหมือนหนึ่งกับกรองจนใสละเอียดแล้ว ด้วยผู้คิดดีกว่ากันคงต้องชนะกัน การอันนี้ก็เป็นการมีคุณดีจริง
แต่เป็นการมีคุณดีมากแต่ในยุโรปซึ่งเกิดขึ้นโดยความจำเป็นต้องมีขึ้น และได้ฝึกหัดต่อๆมาหลายร้อยปี...”
 
"แต่จะเอามาใช้ในเมืองไทยคงไม่เป็นการถูกกันเลย ด้วยพื้นเพ การงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน
เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรป มาปลูกข้าวจ้าวข้าวเหนียวใน
เมืองไทยจะไม่ได้ผลอันใด .......”
 
“ถ้าจะตั้งโปลิติกัลปาตี พวกคิดราชการก็จะมีได้ แต่พวกละเก้าคนสิบคนหรือสี่ห้าคน   แต่ยังมีพวกอื่นอีก
ที่เป็นอย่างเก่าๆอยู่นั้นตั้งร้อย พวกที่ถือว่าเป็นโปลิติกัลปาตี ทั้งสองสามพวกก็ต้องเห็นต้องดูถูกคนทั้งร้อย
นั้นว่าเป็นเลขเข้าเดือนไปหมด เพราะเหตุที่คนตั้งร้อยนั้นไม่มีความรู้ทุนรอนอันใด และไม่มีความชอบใจ
เห็นด้วยในความคิดนั้นทั้งสองอย่าง จึงตัดสินใจตัวเองว่าจะเป็นพวกไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นในพวก
โปลิติกัลปาตี มีข้างละเก้าคนสิบคนนั้น       แต่ชั่วจะเข้าทำการเป็นคอเวอนเมนต์ก็ไม่พอ คงจะมีพวก
ออปโปสิชั่นมากอยู่เสมอ เพราะเหตุที่ท่านพวกซึ่งเข้าพวกใดไม่ได้ ต้องเป็นเลขอยู่หลายร้อยนั้น
จะต้องเป็นออปโปสิชั่นเพิ่มพวกที่เป็นออปโปสิชั่นจริงๆ โดยความไม่เข้าใจว่าไปทางไหนอยู่เป็นนิจ
เพราะฉะนั้นการอันใดจะสำเร็จไปได้เพราะเหตุที่โปลิติกัลปาตีในเมืองไทยนั้นได้น้อย มาก หรือไม่ได้เลย
เพราะภูมิพื้นบ้านเมืองไม่พอกันกับการนั้น มักจะชักให้เกิดความแตกร้าววิวาทกันอันไม่เป็นประโยชน์”
 
และในอีกตอนหนึ่งของพระราชดำรัส ทรงย้ำสรุปว่า เมื่อความคิดพวกนั้นพวกนี้แตกต่างกัน ทำให้
เกิดทิฐิ    ไม่ยอมฟังคำทักท้วงใดๆ ในความคิด    หรือความคิดที่ดีกว่าของตน ต้องอาศัยผู้รู้ก็ยาก
ที่จะยอมรับ
 
“เพราะฉะนั้นจะป่วยการกล่าวไปถึงความคิดที่จะตั้งปาลิเมนต์ ขึ้นในหมู่คนซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิด
ราชการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง นอกจากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคน
เท่านั้น หรือจะมีโปลิติกัลปาตี พวกคิดราชการเป็นพวกเป็นเหล่า ซึ่งจะมีผู้ที่อยากเป็นไม่เกินยี่สิบ
สามสิบคน อันจะแบ่งออกเป็นสองพวกก็คงจะอยู่ในสิบสี่สิบห้าคนลงมา จะต้องเป็นทั้งผู้คิดผู้ทำตลอด
ราชอาณาเขต ที่ไหนจะทำการตลอดไปได้ ถ้าจะจัดตั้งปาลิเมนต์หรือให้เกิดมีโปลิติกัลปาตีขึ้นในเวลา
ที่บ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจน การอันใดไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วง
ให้บ้านเมืองมีความเจริญช้า......”
 
พระองค์ทรงตระหนักดีว่า รัฐสภา (ปาลิเมนต์) และพรรคการเมือง (โปลิติกัลปาตี) นั้น เป็นสถาบัน
ที่มิได้มีอยู่ในประเพณีการปกครองของไทย หากจะนำเข้ามาใช้ย่อมจะมีปัญหาที่จะหาคนที่มีความรู้
ถึงบทบาทและการดำเนินงานของพรรคการเมืองจริงๆ มาก่อตั้งพรรค ซึ่งก็ทรงเห็นว่าคงเป็นการยาก
ที่จะดำเนินงานได้สำเร็จ แต่กลับจะทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก และผู้นำของไทยในสมัยต่อมา
จนกระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งข้าพเจ้าเอง  ก็เห็นด้วยกับพระราชดำรัสนี้เป็นอย่างยิ่ง     พระองค์ทรงมี
พระวิสัยทัศน์เล็งเห็นหายนะเกิดแก่บ้านเมืองด้วยเหตุแห่งความไม่ตระหนักในบทบาทอันสำคัญและ
จริยธรรมพึงมีของนักการเมือง
 
 
ภาคผนวก บันทึกแทนใจทาสในเรือนเบี้ย
 
ในที่สุดก็มาถึงวาระของอิสรภาพและค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระปิยะมหาราช
จากการตราพระราชบัญญัติลักษณะเลิกทาส ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)
ให้คงความเป็นไทไว้ป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาติ
พระองค์ได้ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจในเรื่องการเลิกทาสเป็นเรื่องยากยิ่ง
ด้วยเพราะประชาชนมนมีฐานะในสมัยก่อนมีทาสรับใช้เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะขุนนางข้าราชการทั้งหาลาย
และคงได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่หลายฝ่าย
 
 
 
แต่พระองค์ทรงดำเนินการอย่างแยบคาย ค่อยเป็นค่อยไป
 
ทำให้การเลิกทาสสำเร็จราบรื่น
 
สมเด็จพระปิยะมหาราชเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย
 
ที่ได้ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจที่สำคัญนานัปการ
 
พระองค์จึงยังคงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยแม้เวลาผ่านมากว่า ๑๐๐ ปี

 
บันทึกแทนนักเรียนนอก: พระราชดำรัสของสมเด็จพระปิยะมหาราช
 
 
" (...)ฉันเห็นว่าความเห็นที่ควรจะนับว่าพึงได้ในการมายุโรปนั้น แบ่งเป็น ๔ ประการ"
 
คือเห็นชีวิตร์ในยุโรปเปนไปอยู่ประการใด ๑
 
เห็นที่เกิดทรัพย์แลสิ่งใดเป็นทรัพย์ ๑ 

เห็นกำลัง คือ การที่จะทำร้ายฤๅต่อสู้ศัตรู ๑
 
เห็นความสนุกทั้งหลายอันมีอยู่ประการ ๑ (...)"



http://mblog.manager.co.th/athenaz/th-123023/

123
เจ คืออะไร

“เจ” เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว เสียงภาษาแต้จิ๋วเป็นเสียงกึ่งสระเอกับสระแอ ลูกหลานจีนในไทยบางคนจึงออกเสียงเป็น “แจ” ซึ่งก็ไม่ควรต้องเถียงกันว่าเสียงไหนถูก ในที่นี้จะใช้ตามเสียงที่แพร่หลายว่า “เจ” คำนี้ภาษาจีนกลางออกเสียงเป็น “Zhai ไจ, จาย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บคำว่า “เจ” พร้อมทั้งให้นิยามไว้ว่า “เจ น. อาหารที่ไม่มีของสดคาวสำหรับญวนหรือจีนที่ถือศีล, แจ ก็ว่า (จ.)” ต่อมาในฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ปรับปรุงคำนิยามเป็น “เจ น. อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี, แจก็ว่า (จ. ว่าแจ)”

ตามนิยามหลักการกินเจต้องงดผักกลิ่นฉุนประเภทกระเทียม ผักชีด้วย จึงต่างจากมังสวิรัติ ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่า “งดเว้น (วิรัติ) เนื้อ (มังสะ : เนื้อคนและเนื้อสัตว์)” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า

“มังสวิรัติ น. การงดเว้นกินเนื้อสัตว์, เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผักว่า อาหารมังสวิรัติ” มังสวิรัติกับเจยังมีความแตกต่างกันอีก เช่น ผู้กินเจดื่มนมได้แต่ไม่กินไข่ ผู้ถือมังสวิรัติกินไข่แต่ไม่ดื่มนม เป็นต้น

ในภาษาไทยเก่าเรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ว่า กระยาบวช พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามคำนี้ว่า “กระยาบวช น. เครื่องกินที่ไม่เจือด้วยของสดคาว” เครื่องกระยาบวชที่คนไทยใช้ไหว้เจ้าไหว้ผีตามปกติคือ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้าหวีงาม นิยายอิงพงศาวดารจีนรุ่นเก่ามักแปลคำ “กินเจ” ว่า ถือศีลกินกระยาบวช คำมังสวิรัติเป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง

สรุปว่า การกินเจกับการกินมังสวิรัติต่างกันชัดที่ มังสวิรัติกินผักได้ทุกชนิด แต่กินเจต้องงดผักที่มีกลิ่นฉุนด้วย แต่ละยุคแต่ละตำรากำหนดไว้ต่างกัน แต่ที่ถือปฏิบัติกันในเมืองไทยปัจจุบันคือ หอม กระเทียม กุยช่าย (หอมแป้น) หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และเฮงกื๋อ ซึ่งไม่มีในไทยจึงอนุโลมเอาผักชีแทน

เนื่องจากการกินเจกับกินมังสวิรัติต่างกัน คนจีนในเมืองไทยจึงใช้คำเรียกกิจกรรมทั้งสองนี้ต่างกัน กินเจภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียะเจ (食斋)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือไจ (吃斋)” กินมังสวิรัติภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “เจียสู่ (食素)” ภาษาจีนกลางเรียก “ชือซู่ (吃素)”

เจในภาษาจีน
 
อักษร เจ ปรากฏครั้งแรกในจารึกโลหะสมัยราชวงศ์โจวแล้วพัฒนาจนลงตัวเป็นอักษรเสี่ยวจ้วนในยุคจั้นกั๋วปลายราชวงศ์โจว เป็นอักษรผสมประกอบด้วยอักษร “ฉี (齐 เรียบร้อย)” รวมกับอักษร “สื้อ (示    แสดง)” แล้วลดรูปรวมกันเป็นอักษร 斋 (ตัวตัดยุคหลังเป็น 斋) จีนกลางอ่านว่า Zhai แต้จิ๋วอ่านว่า เจ มีนัยความหมายว่า “แสดงถึงความเรียบร้อย, ทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยบริสุทธิ์”

ส่วนความหมายที่สมบูรณ์ชัดเจนนั้น อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) ตำราอธิบายตัวอักษรเล่มแรกของจีน ซึ่งเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๖๔๓ ได้นิยามความหมายของอักษรนี้ไว้อย่างกระชับว่า 斋 : 戒洁也  อ่านว่า “เจ : ไก้เกียกเอี่ย (ไจ : เจี้ยเจี๋ยเหย่)” แปลว่า  เจ : คือการงดเว้นเพื่อความบริสุทธิ์ คำว่า ไก้ (ไก่หรือเจี้ย) ที่แปลว่างดเว้นนี้ต่อมาใช้เป็นคำแปลคำว่า “ศีล” ของพุทธศาสนาด้วย เกียก (เจี๋ย) แปลว่า บริสุทธิ์ สะอาด เอี่ย (เหย่) เป็นกริยา แปลว่า คือ คำว่า เจ จึงอาจแปลให้เข้าใจง่ายว่า “การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์” แต่เป็นศีลแบบจีนโบราณ ไม่ใช่ศีลของพุทธศาสนา และอาจใช้ในความหมายว่า เรียบร้อยสะอาดก็ได้

คนจีนโบราณมีความเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่รับการติดต่อเซ่นสรวงจากคนสกปรกมีมลทิน ดังนั้นก่อนพิธีเซ่นสรวงหรือทำกิจสำคัญใดๆ ผู้ทำพิธีจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ถือศีลงดเว้นอาหารสดคาวคือเนื้อสัตว์และผักฉุนกลิ่นแรง งดสุรา กิจกรรมทางเพศ สำรวมกายใจให้บริสุทธิ์สะอาด โดยแยกตัวไปอยู่ในห้องต่างหากที่เตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นระยะเวลานานตามที่กำหนด เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นว่าตนมีศรัทธาแน่วแน่และบริสุทธิ์สะอาดพอ เรียกว่า กินเจ

การกินเจเป็นการถือศีลแบบจีนโบราณ ข้อห้ามสำคัญประการหนึ่งคืองดเว้นอาหารสดคาว ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์จวงจื่อพูดถึงเหยียนหุยศิษย์เอกของขงจื๊อว่า “เหยียนหุยกล่าวว่า บ้านข้าพเจ้ายากจน ไม่ดื่มสุรา ไม่กินอาหารสดคาวแรมเดือนแล้ว เช่นนี้จะเรียกว่ากินเจได้หรือไม่?” หนังสือหลี่ว์สื้อชุนชิวเรื่องเดือนอ้ายกล่าวว่า “(เดือนนี้) โอรสสวรรค์กินเจ” มีคำอธิบายเสริมโดยอ้างคัมภีร์หลุนอี่ว์ (วิจารณ์พจน์) ว่า “กินเจต้องเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่อยู่ ทำตนให้บริสุทธิ์สุภาพ” ถือเป็นเรื่องสำคัญดังที่คัมภีร์หลุนอี่ว์ บรรพ ๗ ข้อ ๑๓ กล่าวว่า “ปราชญ์ขงจื๊อระวังมากเรื่องกินเจ สู้รบและเจ็บป่วย”

คัมภีร์หลี่จี้ (บันทึกจารีต) บรรพจี้ถ่ง (หลักการเซ่นสรวง) พูดถึงเรื่อง เจ สมัยราชวงศ์โจวไว้ชัดเจนว่า “เมื่อจะทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่. หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่กินเจ. ช่วงไม่กินเจไม่มีข้อห้ามที่ต้องระมัดระวัง, ไม่ต้องควบคุมความอยาก. ครั้นถึงเวลาจะกินเจต้องระวังความชั่วร้าย, ระงับความอยาก. หูไม่ฟังดนตรี, ดังนั้นหนังสือโบราณจึงบันทึกว่า ‘ผู้กินเจไม่ฟังดนตรี’. ใจต้องไม่ฟุ้งซ่าน, ต้องอยู่ในวิถีแห่งธรรม. มือเท้าไม่เคลื่อนไหวไร้ระเบียบ, ต้องเรียบร้อยตามจารีต. การกินเจของประมุขต้องมุ่งให้ถึงคุณธรรมอันประเสริฐ,

ฉะนั้นต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน สำรวมพฤติกรรมให้ใจสงบ, แล้วกินเจเข้มงวดขัดเกลาจิตใจอีก ๓ วัน เพื่อให้ใจผ่องใสแน่วแน่. ใจผ่องใสแน่วแน่เรียกว่า ‘เจ’ (คือความเรียบร้อยบริสุทธิ์). เจนี้แลคือยอดของความประเสริฐบริสุทธิ์, จากนั้นจึงสามารถ (ทำกิจ) เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้. ฉะนั้นก่อนถึงช่วงเวลากินเจหนึ่งวัน, พนักงานฝ่ายในต้องแจ้งเตือนชายาของประมุข. ชายาก็ต้องกินเจพื้นฐาน ๗ วัน เจเข้มงวด ๓ วัน. ประมุขกินเจที่ห้องฝ่ายหน้า, ชายากินเจที่ห้องฝ่ายใน, แล้วจึงไปพบกันที่หอพระเทพบิดร (หอบวงสรวงบรรพชน).”

จากข้อความตอนนี้เห็นได้ชัดว่า การกินเจต้องสำรวมขัดเกลากายวาจาใจคล้ายถือศีล แม้ไม่ได้กล่าวถึงอาหารแต่ก็พออนุมานจากหลักฐานอื่น เช่น คำพูดของเหยียนหุยข้างต้นได้ว่า ไม่มีเนื้อสัตว์
การกินเจแบบนี้ในยุคต่อมามักลดเหลือเฉพาะเจเข้มข้น ๓ วัน เช่น เมื่อเล่าปี่จะไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาก็กินเจก่อน ๓ วัน

เจ ในภาษาจีนโบราณ จึงหมายถึง “ความเรียบร้อย ความเรียบร้อยบริสุทธิ์ การทำให้เรียบร้อยบริสุทธิ์ การถือศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาด”. การกินเจมิใช่เพียงกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนต้องห้าม, แต่เป็นการถือศีลแบบจีนโบราณดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หลี่จี้.

ต่อมาอักษร เจ (ไจ) ขยายความหมายออกไปอีก มหาอักขรานุกรมจีน ( 汉语大字典 ) ประมวลไว้ ๑๐ ความหมาย คือ ๑. คนโบราณก่อนการเซ่นสรวงหรือกิจสำคัญ อาบน้ำชำระร่างกาย แยกห้องอยู่ งดสุรา อาหารสดคาว ระงับความทะยานอยาก ชำระใจให้บริสุทธิ์ เพื่อแสดงศรัทธาคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๒. เคร่งขรึม, เคารพ ๓. สถานที่กินเจ ๔. ห้อง, อาคาร ๕. ห้องหนังสือ, โรงเรียน ๖. ชื่อร้านค้า เช่น ร้านหญงเป่าไจที่ปักกิ่ง ๗. กิจกรรมประเภทสวดมนต์ไหว้พระ เซ่นสรวงบนบาน ๘. ศัพท์ทางพุทธศาสนา หีนยานถือการไม่กินอาหารหลังเที่ยงเป็นเจ มหายานถือการไม่กินอาหารเนื้อเป็นเจ ๙. ถวายอาหารแก่พระ เณร ภิกษุณี นักพรต และให้อาหารแก่คนยากจน ๑๐. อ่านว่า Zi (จือ) หมายถึงชุดไว้ทุกข์

ความหมายที่แปดเกี่ยวข้องกับศีลของพุทธศาสนา เมื่อรวมกับคำว่า 戒 (ไก่ เจี้ย) เป็น 斋戒 (เจไก่, ไจเจี้ย) หมายถึงศีลในพุทธศาสนา

อาหารเจของจีน

ลูกหลานจีนในไทยมักเรียกอาหารที่ไม่ใช่เจตามภาษาถิ่นแต้จิ๋วว่า ชอ (臊) ซึ่งแปลว่ากลิ่นคาวเนื้อ แต่ในภาษาจีนมาตรฐานนิยมใช้คำว่า 荤  จีนกลางอ่าน hun (ฮุน) แต้จิ๋วอ่าน ฮุง มากกว่าใช้คำว่า  臊 (ชอ sao) หรือ 腥  (เซ็ง xing) ซึ่งแปลว่า เนื้อ เรื่องนี้มีที่มายาวนาน

อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ แปลความหมายอักษร 荤 (ฮุน) ว่า “ผักเหม็น” หมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรง เป็นความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์เลย แต่กลับใช้เรียกอาหารที่ไม่ใช่เจ ซึ่งมีเนื้อรวมอยู่ด้วยแทนอักษร 臊 (ชอ) และ  腥 (เซ็ง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อโดยตรง แสดงชัดว่าอาหารเจของจีนตั้งแต่โบราณมาน่าจะไม่มีผักกลิ่นฉุนแรง
เหตุผลมีเค้าเงื่อนอยู่ในคัมภีร์ก๋วนจื่อ (管子) วรรณกรรมยุคจั้นกั๋ว บรรพชิงจัง (轻重 หนักเบา) ว่า

“หวงตี้เจาะรูปั่นไม้ทำให้เกิดไฟ เพื่อปรุงเนื้อและผักเหม็นให้สุก”  เนื้อดิบคาวแรงย่อยยากจึงต้องปรุงให้สุก ผักทั่วไปกินได้ทั้งดิบและสุก แต่ผักที่กลิ่นฉุนแรงกินดิบๆ ยาก ต้องปรุงให้สุกก่อนเหมือนเนื้อสัตว์จึงอนุโลมเป็นอาหารประเภทเดียวกันคือ “ไม่เจ”

ดังนั้น การใช้ศัพท์ ฮุน 荤 คำเดียวซึ่งหมายถึงกลิ่นฉุนแรงจึงครอบคลุมอาหารเนื้อด้วย ดีกว่าใช้ศัพท์ ชอ   臊  เซ็ง 腥 ซึ่งหมายเฉพาะอาหารเนื้อ ไม่กินความถึงผักกลิ่นฉุนแรงด้วย

ผักเหม็น (荤) ของจีนโบราณคงหมายถึงผักที่มีกลิ่นฉุนแรงทั้งหลาย แต่ละถิ่นแต่ละยุคคงมีจำนวนต่างกันไป ถึงสมัยราชวงศ์หมิง หลี่สือเจินรวมชื่อผักกลิ่นฉุนที่ใช้เป็นสมุนไพรแพร่หลายไว้ในหนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (สารานุกรมสมุนไพร) ของเขา ๒๙ ชนิด แต่ที่เป็นผักต้องห้ามในการกินเจมี ๕ ชนิด เรียกว่า “อู่ฮุน (五荤) ผักเหม็นทั้งห้า”
พจนะสารานุกรมฉือไห่อธิบายคำนี้ไว้ว่า “อู่ฮุน : เรียกอีกอย่างอู่ซิง (ผักเผ็ดทั้งห้า) หนังสือเปิ๋นเฉ่ากังมู่ ตอนผัก ๑ ว่า

‘ผักเหม็นทั้งห้าก็คือผักเผ็ดทั้งห้า เพราะเผ็ดเหม็นทำให้มึนงงอ่อนล้า พวกฝึกอายุวัฒนะถือว่า กระเทียม กระเทียมเล็ก กุยช่าย (หอมแป้น) ผักชี หวินไถ (ผักน้ำมัน, ผักมัสตาร์ด) เป็นผักเหม็นทั้งห้า

พวกนักพรตเต๋าถือว่า กุยช่าย เซี่ย (หลักเกี๋ยว - หอมปรัง) กระเทียม ผักชี และหวินไถ เป็นผักเหม็นทั้งห้า ทางพุทธศาสนาถือว่า หอม กระเทียม กระเทียมเล็ก หลักเกี๋ยว และหิงคุ์เป็นผักเหม็นทั้งห้า หิงคุ์ คือ อาวุ่ย’ วิเคราะห์สรุป หิงคุ์รากคล้ายผักกาดหัว (ไชเท้า) ทั้งสุกและดิบกลิ่นคล้ายกระเทียม...”

คัมภีร์พุทธศาสนามหายานบอกชื่อผักเหม็น ๕ อย่างไว้ต่างกัน แต่ในเมืองไทยมักสรุปว่าได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย หลักเกี๋ยว (หอมปรัง) และเฮงกื๋อ (มหาหิงคุ์) ผักเหล่านี้ภาษาล้านนามีชื่อนำว่า “หอม” ถึงสี่ชนิด คือ กระเทียม เรียกหอมขาว จึงต้องเรียกหอมธรรมดาว่า หอมแดง กุยช่าย เรียกหอมแป้น หลักเกี๋ยว เรียกหอมปรัง หัวและใบเล็กว่าหอมแดงแต่กลิ่นแรงกว่า ทั้งสี่ชนิดล้วนเป็นพืชในสกุล Allium

คำกระเทียมเล็กนั้นแปลจากคำว่า  เสี่ยวซ่วน (小蒜 เสียวสึ่ง) มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) อธิบายว่า “เสี่ยวซ่วน : กระเทียมชนิดหนึ่งของจีน ต้นและใบเล็กกว่ากระเทียม จึงได้ชื่อเช่นนั้น...” กระเทียมทั่วไปนั้นภาษาจีนเรียกต้าซ่วน (大蒜  ตั้วสึ่ง) แปลตามรูปศัพท์ว่า กระเทียมใหญ่อย่างกระเทียมจีนในท้องตลาดทุกวันนี้ ทางพุทธอนุโลมเสี่ยวซ่วนเป็นกุยช่าย


เฮงกื๋อ (兴渠) นั้นเป็นเสียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางว่า ซิงฉวี ตรงกับคำบาลีว่า หิงฺคุ (หิงคุ์) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula asafoetida ยางมีกลิ่นร้อนฉุนและเหม็น ใช้ทำยาทามหาหิงคุ์ พืชสกุล Ferula มีหลายชนิด บางชนิดกินได้ ศัพท์เฮงกื๋อควรแปลว่า มหาหิงคุ์ ไม่ใช่ยาสูบอย่างที่บางคนอธิบายผิด เพราะยาสูบไม่ใช่ผักที่เป็นอาหาร ไม่รวมอยู่ในผักเหม็นห้าอย่าง แต่เป็นสิ่งเสพติดที่คนกินเจต้องงดแน่นอนอยู่แล้ว

ส่วนหวินไถ (芸苔) นั้นเสียงแต้จิ๋วว่า หุ่งไท้ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica Campestris L. ผักในสกุล Brassica มีหลายชนิด คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ฯลฯ ล้วนอยู่ในสกุล Brassica หวินไถหรือหุ่งไท้นั้นถ้าคนไทยเห็นก็ต้องเรียกว่าผักกวางตุ้ง เพราะคล้ายกันมาก ดอกสีเหลือง ภาษาจีนปัจจุบันเรียกว่า อิ๋วไช่ (油菜) หรืออิ่วไฉ่ เม็ดใช้หีบเอาน้ำมัน มีหลายสายพันธุ์ย่อย บางชนิดกลิ่นฉุน เม็ดใช้ประกอบทำมัสตาร์ด จัดเป็นผักเหม็นชนิดหนึ่งของศาสนาเต๋าเช่นเดียวกับผักชี แต่ทางพุทธถือว่ากินได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ผักฉุนต้องห้ามในอาหารเจของไทยถือตามแบบพุทธศาสนามหายาน

ผักเหม็นทั้งห้านี้ อินเดียก็คงมีมาแต่โบราณเช่นเดียวกับจีน เพราะฤๅษีที่ฉันผักผลไม้เป็นหลักส่วนมากฉันดิบ คงต้องงดผักผลไม้กลิ่นฉุนแรงเหมือนกัน พุทธศาสนามหายานรับคตินิยมนี้ต่อมา เมื่อแพร่มาถึงจีนจึงยังมีชื่อผักเหม็นทั้งห้าเป็นภาษาสันกสฤตอยู่คือ ลศุน (กระเทียม) ปลาณฑุ (หอมแดง) คฤญชนะ (หอมแป้น - กุยช่าย) ลตารกะ (หอมปรัง) และหิงคุ รวมเรียกว่า ปัญจปริวยยา แปลว่า ผัก (ราก) ที่มีกลิ่นฉุนทั้งห้า สี่ชนิดแรกแปลเทียบเป็นชื่อผักของจีนได้ แต่หิงคุถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและอิหร่าน จึงใช้ทับศัพท์ ซึ่งต่อมากลายเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า เฮงกื๋อ สำเนียงอำเภอเตี้ยเอี๊ย เป็นเฮงกู๋ใกล้กับคำหิงคุมาก ส่วนของศาสนาเต๋าทั้งสองสายคือนักพรตและพวกฝึกอายุวัฒนะล้วนเป็นผักที่มีในจีน ไม่มีหิงคุของอินเดีย

ความเป็นมาของอาหรเจและมังสวิรัติของจีน

ภาษาจีนเรียกอาหารเจและอาหารมังสวิรัติรวมๆ กันว่า ซู่สือ (素食  ซู่เจี๊ยะ) แปลว่า “อาหารบริสุทธิ์ กินอาหารบริสุทธิ์” ถ้าเป็นอาหารเจมักใช้คำขยายให้ชัดว่า “ฉวนซู่ ( 全素 ฉ่วงสู่) แปลว่า “บริสุทธิ์สมบูรณ์”
การกินเจและมังสวิรัติของจีนมีความเป็นมายาวนาน สมัยโบราณคนกินเจน้อย จะกินต่อเมื่อมีหน้าที่และมีกิจจำเป็น เพราะความไม่สะดวกเรื่องอาหาร ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่ายุคหลัง

การกินอาหารเจของจีนมีรากฐานมั่นคงสมัยราชวงศ์ฮั่น พัฒนามากในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้และราชวงศ์ถัง
การเปิดเส้นทางสายไหมตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทำให้มีพันธุ์ผักผลไม้ใหม่ๆ สู่จีน การเกษตรที่ก้าวหน้าทำให้มีผักผลไม้อุดมหลากหลายขึ้น ที่สำคัญคนของหวยหนันอ๋อง (พ.ศ. ๓๔๕-๓๖๙) ร่วมกันคิดทำเต้าหู้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองประเภทอื่นตามมา ทำให้มีโปรตีนทดแทน ทำอาหารได้หลายประเภทขึ้น เมนูอาหารเจจึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคราชวงศ์ฮั่นนี้

ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก แม้เดิมทีพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ แต่มหายานบางสายก็ให้ความสำคัญแก่การฉันเจ จึงเกิดคัมภีร์ลังกาวตารสูตรสนับสนุนเรื่องนี้ อนึ่งช่วงฤดูหนาวภิกษุในจีนออกบิณฑบาตลำบาก บางยุคพุทธศาสนาก็ถูกต่อต้าน ภิกษุ ภิกษุณีต้องทำอาหารกินเอาเองจึงจำเป็นต้องฉันมังสวิรัติหรือเจตามประเพณีเดิมของจีน

ต่อมาพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (พ.ศ. ๑๐๐๗-๑๐๙๒) ได้อ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรแล้วศรัทธามาก ปี พ.ศ.๑๐๕๔ จึงออก “ประกาศงดสุราและเนื้อ (断酒肉文)” ให้นักบวชพุทธศาสนาถือปฏิบัติ ปกติฤดูหนาวคนจีนต้องดื่มสุราช่วย ภิกษุ ภิกษุณีก็คงมีดื่มบ้าง ตามประกาศนี้ต้องงดขาด พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ครองราชย์นานถึง ๔๘ ปี แคว้นเหลียงของพระองค์ก็กว้างใหญ่ราวครึ่งประเทศจีน แคว้นอื่น ๆ ทางเหนือพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองมากเช่นกัน บัญญัติห้ามฉันสุราและเนื้อจึงแพร่ไปทั่ว กลายเป็นจารีตของนักบวชในพุทธศาสนาของจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากรัชกาลพระเจ้าเหลียงอู่ตี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคราชวงศ์ถังวัดบางแห่งห้ามผักฉุน ๕ อย่าง คือ กระเทียม กระเทียมเล็ก หอม หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) มหาหิงคุ์ วัดเต๋าบางแห่งก็ถือเอา กุยช่าย หอมปรัง กระเทียม ผักชี และหวินไถ (ผักน้ำมัน) เป็นผักฉุน ๕ อย่าง แล้วแพร่หลายกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา

ถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง อาหารเจและมังสวิรัติแพร่หลายมาก ในเมืองใหญ่ เช่น ไคเฟิง หางโจวมีร้านอาหารเจเปิดขาย มีผู้รวบรวมเมนูอาหารเจไว้ถึง ๑๐๔ รายการ เนื้อเทียม เป็ดไก่เทียมก็เริ่มมีตั้งแต่ยุคนี้ ถึงยุคราชวงศ์หมิงและชิง อาหารไม่มีเนื้อสัตว์โดดเด่นหลากหลายมาก แยกได้เป็น ๓ สาย คือ สายวัด สายวัง และสายชาวบ้าน สายวัดไม่มีผักฉุนจัดเป็นอาหารเจ ส่วนสายวังและชาวบ้านเป็นอาหารมังสวิรัติธรรมดา หลังจากนั้นอาหารสองประเภทนี้ก็พัฒนาสืบต่อมาจนปัจจุบัน

มีศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการกินเจอีกสองศาสนา คือ ศาสนาเต๋า และมณี

ปรัชญาเต๋า (道家) พัฒนาเป็นศาสนาเต๋า (道教) ชัดเจนตอนปลายราชวงศ์ฮั่น ไม่มีระบบนักบวชที่ชัดเจน มีแต่ผู้นำทำพิธีทางศาสนา ยามปกติก็ใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป พอจะทำพิธีทางศาสนาจึงกินเจตามแบบจีนโบราณ ถึงสมัยราชวงศ์ถังสำนักเต๋าบางแห่งจึงเริ่มกินเจทุกวัน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง เฮ้งเต้งเอี๋ยง (หวางฉงหยาง พ.ศ. ๑๖๕๕-๑๗๑๓) ได้ตั้งนิกายช้วนจินก้าแยกออกมาจากศาสนาเต๋าเดิม มีระบบนักบวชและกินเจตลอดชีวิตตามอย่างพุทธศาสนา

ปัจจุบันศาสนาเต๋าแบ่งเป็นสองนิกายใหญ่ นิกายช้วนจินก้ารุ่งเรืองในจีน นักพรตกินเจตลอด นิกายเจิ้งอี่ (เจี้ยอิด) รุ่งเรืองในไต้หวัน นักพรตกินเจแบบศาสนาเต๋าเก่าคือเมื่อจะทำพิธีกรรม ยามปกติกินหรือไม่กินเจก็ได้และไม่ถือเคร่งครัด
ส่วนศาสนามณีหรือมาณีกีเกิดในเปอร์เซีย ศาสดาชื่อมณีหรือ Manes (พ.ศ. ๗๕๙-๘๒๐) คำสอนอาศัยหลักของศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นพื้นฐานผสมผสานกับคำสอนของพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา

ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเหตุผลนิยม (Gnosticism) ของโรมัน ศาสนามณีเคยรุ่งเรืองแพร่หลายทั้งในยุโรป แอฟริกาและเอเชีย แพร่ถึงซินเจียงในช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ ตั้งแต่สมัยพระนางบูเช็กเทียนเข้าไปเผยแพร่ในนครฉางอานเมืองหลวงของราชวงศ์ถัง แล้วแพร่หลายในจีนหลายมณฑล พ.ศ. ๑๓๘๘ ถูกพระเจ้าอู่จงกวาดล้างจนเสื่อมโทรมไป แต่ได้พัฒนาไปเป็นลัทธิเม้งก้า (หมิงเจี้ยว) หรือลัทธิแสงสว่าง

พจนานุกรมศัพท์ศาสนา (宗教大词典) ของจีนอธิบายลัทธิเม้งก้าไว้ว่า : “เม้งก้า (หมิงเจี้ยว) : (๑) องค์กรลับทางศาสนา ซึ่งสืบเนื่องมาจากศาสนามณี มีศาสนาพุทธและเต๋าคละเคล้าผสมอยู่ด้วย กบฏชาวนาในยุคห้าราชวงศ์ ราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนมักใช้เป็นเครื่องมือตั้งองค์กรของพวกตน ยกย่องจางเจี่ยว (เตียวก๊กหัวหน้าโจรโพกผ้าเหลืองในต้นเรื่องสามก๊ก) เป็นศาสดา เคารพองค์พระมณีเป็นเทพแห่งแสงสว่าง บูชาพระอาทิตย์พระจันทร์.

ศาสนิกชอบแต่งชุดขาว กินมังสวิรัติ งดสุรา เปลือยศพฝัง. เน้นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน มีความเชื่อว่าพลังแห่งแสงสว่าง (ความดี) จะต้องชนะพลังแห่งความมืด (ความชั่ว) พ.ศ. ๑๔๖๓ ในยุคห้าราชวงศ์หมู่อี่ได้อ้างความเชื่อนี้ก่อการกบฏ ในยุคราชวงศ์ซ่ง ลัทธินี้แพร่หลายแถบหวยหนัน (มณฑลเจียงซู และบางส่วนของมณฑลเหอหนันกับมณฑลอานฮุย) เจ้อเจียง เจียงซี เจียงตง และฮกเกี้ยน รวมตัวกันเป็นกบฏชาวนาอยู่เสมอ ที่โด่งดังมากคือ กบฏฟางเล่า (ปึงละในเรื่องซ้องกั๋ง) กบฏหวางเนี่ยนจิง เป็นต้น (๒) คือศาสนามณี.”

ตามประวัติกล่าวว่า มาเนสหรือมณีถือมังสวิรัติตามปาติกบิดาตนซึ่ง “ได้ยินเสียงลึกลับในโบสถ์ที่เตสิโฟน (Ctesiphon) สั่งให้ท่านงดเว้นการดื่มไวน์ การบริโภคเนื้อสัตว์และการส้องเสพกามารมณ์” แต่เมื่อศาสนานี้เข้าสู่จีนได้รับคำสอนของพุทธศาสนาและศาสนาเต๋าไปผสมกับคำสอนเดิมของตนมา ลัทธิเม้งก้าก็ได้รับอิทธิพลจากพุทธและเต๋ามาก

การกินเจ ๑-๙ ค่ำ เดือนเก้ามีประวัติเกี่ยวข้องกับองค์กรลับทางศาสนาและการเมืองอยู่ด้วยในบางยุค ที่สำคัญคือ แต่งชุดขาวเหมือนกัน ดังนั้น สำนักวัดฝอกกวงซานในไต้หวันจึงกล่าวว่า กิจกรรมนี้มีที่มาจากลัทธิเม้งก้าหรือศาสนามณี ผู้ใช้นามปากกา “แปลงนาม” เชื่อทฤษฎีนี้มากที่สุด แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรศึกษาให้รอบด้านมากกว่านี้ก่อนแล้วค่อยสรุป
หากพูดถึงการกินเจของจีนโดยองค์รวมแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธว่าพุทธศาสนาเป็นพลังผลักดันให้การกินเจของจีนแพร่ออกไปมากที่สุด มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมกินเจของจีนสูงสุด

ทั้งนี้เพราะตามวัฒนธรรมเดิมของจีน การกินเจเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองหรือผู้นำและจะกินเฉพาะเมื่อจะทำพิธีกรรมหรือกิจสำคัญเท่านั้น

ตั้งแต่ราชวงศ์เหนือ-ใต้เป็นต้นมาการกินอาหารมังสวิรัติเป็นจารีตของนักบวชพุทธ พุทธศาสนาก็รุ่งเรืองแพร่หลายมาก มีวัดทั่วประเทศนับแสน ภิกษุ ภิกษุณีนับล้าน ถึงยุคราชวงศ์ถังพุทธศาสนาแพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายเซนกับนิกายสุขาวดี ชาวบ้านก็น่าจะถือเอาการงดบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบุญจริยามากขึ้น ที่สำคัญพุทธศาสนาทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาเป็นการกินเจอย่างสมบูรณ์ เพราะมีเรื่องการถือศีลร่วมอยู่ด้วย ผักฉุน ๕ อย่างก็ลงตัวชัดเจนในพุทธศาสนาก่อน และเป็นแบบแผนในการกินเจตลอดมาจนปัจจุบัน

ทางศาสนาเต๋า นักพรตเพิ่งจะกินเจอย่างสมบูรณ์จริงๆ ก็เพราะนิกายช้วนจินก้าในยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ความแพร่หลายของศาสนาเต๋าก็ไม่อาจเทียบกับพุทธได้ศาสนามณีและลัทธิเม้งก้าแพร่หลายในวงจำกัดยิ่งกว่า อิทธิพลต่อการกินเจทั่วไปเทียบกับพุทธศาสนาไม่ได้อย่างแน่นอน

แม้กระนั้นเราก็ไม่อาจเหมาเอาว่าการกินเจเกิดจากพุทธศาสนา เพราะจีนมีประเพณีกินเจมาแต่โบราณ แต่พุทธศาสนาเข้ามาเติมเต็มทำให้สายธารแห่งการกินเจแผ่กว้างออกไปเป็นแม่น้ำใหญ่และมหาสาครอันไพศาลแผ่ซ่านไปทั่วทุกถิ่นที่มีคนจีน

อนึ่งหลังจากการกินเจได้รับความนิยมแล้ว มีการกินเจในโอกาสต่างๆ เกิดขึ้นอีกมาก เช่น กวนอิมเจในช่วงประสูติกาลของพระโพธิสัตว์กวนอิม ๑๙ ค่ำ เดือนยี่ ความศรัทธาในพระกวนอิมทำให้การกินเจแผ่ขยายไปอีกมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เราจึงไม่อาจปฏิเสธคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนามหายานต่อวัฒนธรรมการกินเจ คนที่ไม่ยอมรับเรื่องนี้เท่ากับหลับตาไม่ยอมมองความจริง ชาวบ้านจีนกินเจเพราะอิทธิพลพุทธศาสนาเป็นสำคัญ รองลงไปคือศาสนาเต๋า ดังจะเห็นได้จาก เจ ประเภทต่างๆ ของจีนในหัวข้อต่อไป

มติชนออนไลน์ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555
(ศิลปวัฒนธรรม เมษายน   ถาวร สิกขโกศล)
 

124
ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี
 
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ คุณไกรฤกษ์ นานา เรื่อง “หลักฐานใหม่รัชกาลที่ ๕ พระอาการประชวรก่อนสวรรคต ไม่ใช่ตามที่เข้าใจกัน”๑ ที่ลงตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๔  รู้สึกดีใจมากที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ จากคุณไกรฤกษ์อีกเช่นเคย และบังเอิญเหลือเกินที่ผมกำลังค้นคว้าศึกษากรณีสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) อยู่พอดี ผมจึงถือโอกาสขอบคุณและขออนุญาตนำบทความของคุณไกรฤกษ์มาเป็นเอกสารอ้างอิงอีกหนึ่งชิ้น เพื่อความสมบูรณ์ของบทความนี้ ส่วนเอกสารชิ้นอื่นๆ ประกอบด้วย

๑. หนังสือเรื่อง “พระปิยมหาราช : รัฐกิจและชีวิตส่วนพระองค์” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ
๒. พระราชนิพนธ์เรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖”โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. หนังสือเรื่อง “หมอฝรั่งในวังสยาม” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอมัลคอล์ม สมิธ และแปลโดย คุณพิมาน แจ่มจรัส
๔. หนังสือเรื่อง “ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอนวรัต ไกรฤกษ์
๕. หนังสือเรื่อง “วันสวรรคต ๖๖ กษัตริย์ไทย”ซึ่งเขียนโดย คุณพิมาน แจ่มจรัส

ส่วนสาเหตุที่ผมต้องการศึกษาค้นคว้าในสาเหตุแห่งการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง เพราะเอกสารอ้างอิงส่วนใหญ่จะเขียนไว้ว่าพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการเรื้อรังเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์เสด็จสวรรคต   แต่ผมสงสัยว่าทำไมช่วงเวลาที่ทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายจนสวรรคตกินเวลาเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ถ้าพระองค์เป็นพระโรคพระวักกะพิการเรื้อรังจริงแล้วก็น่าจะทรงเป็นมานานแล้ว แต่พระอาการประชวรก่อนหน้านี้มีบันทึกไว้ไม่ชัดเจนและคุณไกรฤกษ์ได้เสนอข้อมูลใหม่ว่าพระอาการประชวรอาจเป็นไข้มาลาเรีย มะเร็งในกระเพาะอาหาร ม้ามโต โรคไตอักเสบ ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์คนหนึ่งที่มีความรักในวิชาประวัติศาสตร์มากเป็นพิเศษ จึงขออาสามาทำหน้าที่สร้างความกระจ่างแจ้งให้แก่พระราชประวัติตอนนี้ของพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อเป็นหลักฐานไว้แก่วงการประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไป
เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับการประชวรของพระองค์หลายประเด็น ผมขอแบ่งเป็นประเด็นย่อยดังนี้

๑. สาเหตุการประชวรครั้งสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตคืออะไร
๒. พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอะไรกันแน่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑
๓. พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการเรื้อรังจริงหรือไม่
๔. ภาวะพระปิหกะ (ม้าม) โตของพระองค์มีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
๕. บทสรุป

๑. สาเหตุการประชวรครั้งสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตคืออะไร

ต่อไปนี้ผมขอนำท่านผู้อ่านกลับมาสู่การประชวรครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าหลวง โดยเรียงลำดับและวิเคราะห์แบบวันต่อวันโดยอาศัยพระนิพนธ์ของ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งทรงบรรยายในหัวข้อ “วันสวรรคตของรัชกาลที่ ๕” ซึ่ง คุณพิมาน แจ่มจรัส ได้นำมาเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “วันสวรรคต๖๖ กษัตริย์ไทย”๖ เป็นหลัก

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ “...ทรงรู้สึกไม่สบายที่พระนาภี คือท้อง วันนั้นทรงขับรถยนต์ไฟฟ้าคันโปรดของพระองค์เพื่อทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศ แต่คราวนี้ไม่ทรงเสด็จลงจากรถพระที่นั่งอย่างที่เคย ทรงตรัสว่า ‘ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ’ ...เสด็จพ่อ [กรมพระยาดำรงราชานุภาพ - ผู้เขียน] จึงเสด็จตามเข้าไปฟังอาการที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ความว่าพระนาภีเสียและเสวยยาถ่ายแล้ว  ไม่มีพระอาการมากมายอันใดก็เป็นอันเบาพระทัยและเสด็จกลับวัง...”   

ในวันนี้ พระนาภีเสียนั้นหมายถึงพระบังคนหนักผูก ทำให้ทรงรู้สึกไม่สบายพระนาภี แต่ไม่ถึงกับปวดพระนาภี อาจจะทรงไม่ถ่ายพระบังคนหนักมาหลายวันก่อนหน้านี้ ทำให้พระองค์เสวยพระโอสถถ่ายเพื่อให้มีพระบังคนหนักเป็นปกติ

วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เล่าต่อไปว่า “...รุ่งขึ้นบ่ายเสร็จเวลากระทรวงแล้วก็เสด็จไปยังพระที่นั่งอัมพรอีก แต่วันนี้มหาดเล็กมาทูลว่าวันนี้เสด็จออกไม่ได้โปรดให้เจ้านายรวมทั้งเสด็จพ่อ เข้าไปเฝ้าข้างใน เมื่อเข้าไปเฝ้าก็ประทับตรัสคุยสนุกสนานดีตามเคย เป็นแต่ทรงเล่าพระอาการว่า พระนาภีเสีย เสวยน้ำมันละหุ่งไม่เดิน เห็นจะเป็นด้วยยาเก่าไป จะต้องเสวยใหม่”
 
เหตุการณ์ในวันนี้บอกเราว่า พระองค์ยังไม่ทรงพระบังคนหนักหลังจากเสวยยาระบายคือน้ำมันละหุ่งแล้ว ซึ่งพระองค์ตรัสว่าจะต้องเสวยใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงพระอาการอื่นๆ อันได้แก่รู้สึกไม่สบายที่พระนาภี ผมสันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะทรงดีขึ้นหรืออาจจะหายไปแล้วก็ได้

วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังทรงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงได้ตามปกติอย่างวันก่อน แสดงว่าพระอาการประชวรของพระองค์น่าจะอย่างน้อยเท่ากับหรือดีขึ้นอีกเมื่อเทียบกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เพราะก็ยังโปรดให้เจ้านายและข้าราชบริพารเข้าเฝ้าได้

ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ บันทึกไว้ว่า ในคืนวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระอาการคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียน ๑ ครั้ง ต่อนั้นมาจะเสวยอะไรก็ทรงรู้สึกว่าเต็มอยู่เสมอไม่ใคร่จะพร่องเลย ทรงพระโอสถสูบ (บุหรี่) หรือเสวยพระศรี (หมาก) ถูกเวลาไม่เหมาะก็ทรงคลื่นเหียน
 
วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ “...พอเสด็จเข้าไปถึงพระที่นั่งก็ได้ทรงทราบว่า [พระพุทธเจ้าหลวง - ผู้เขียน] ไม่ทรงพระสบายเพราะยาถ่ายเดินมากไป จนทรงเพลียถึงต้องบรรทมในพระที่... พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระโรคประจำพระองค์ แต่เรื่องพระวักกะพิการ...”การที่พระองค์ทรงถ่ายพระบังคนหนักมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้ทรงสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ภูมิต้านทานของพระองค์ลดต่ำลงและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและถ้าสูญเสียน้ำมากอาจถึงกับเกิดภาวะช็อคได้ หากไม่ได้ทรงรับน้ำทดแทนไม่ว่าจะทางหลอดเลือดดำหรือเสวยที่เพียงพอ แต่ยังโชคดีที่พระพุทธเจ้าหลวงยังเสวยพระกระยาหารได้ โดยเสวยขนมจีนน้ำยาตอนกลางวันและตกเย็นทรงให้จัดเป็นกระทงสังฆทาน กระทงใหญ่และกระทงเล็ก เครื่องคาวมี ฉู่ฉี่ปลาสลิดสด แกงเผ็ด หมูหวานผัด น้ำพริก ผักและปลาดุกย่างทอดเครื่องและมีของหวานอีกเจ็ดสิ่ง พระกระยาหารอยู่ก้นกระทงมีใบตองปิดในสามชั้น เสวยพระกระยาหารได้๒ ซึ่งกระเพาะและลำไส้จะย่อยได้ค่อนข้างยากน่าจะทำให้พระนาภีเสียได้ในเวลาต่อมา
 
แต่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เขียนว่า “...เมื่อคืน วันที่ ๑๙ มีทรงแน่น, หมอถวายฉีดยาแก้แน่นและยาถ่าย บรรทมหลับได้บ้าง มาวันที่ ๒๐ ไปพระบังคนหนักหลายครั้ง มีพระอาเจียนเมื่อเสวยน้ำ หมอฝรั่งที่เข้าไปรักษาอยู่มีศาสตราจารย์แพทย์เบอร์เคอร์ (Professor Dr. Borger) แพทย์เยอรมันประจำพระองค์ หมอเออเจนไรเตอร์ (Eugene Reytter  ภายหลังเป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง) กับหมออาปัวซ์ (Dr. A. Poix  ภายหลังเป็นพระยาอัศวินอำนวยเวท) ฝ่ายหมอไทยมีพระยาแพทย์พงศา (นาค โรจนแพทย์) พระยาแพทย์บอกแก่ฉันว่าได้ถวายพระโอสถระบายอย่างไทย แทรกเกลือ, แล้วยังได้ทรงแถมเองอีกด้วย, พระบังคนหนักจึ่งได้ไปมาก ฝ่ายหมอฝรั่งได้ถวายพระโอสถแก้แน่นเฟ้อและพระโอสถทาภายนอก ตามที่ฟังๆ ข่าวได้ความว่า พระธาตุได้เริ่มเสียเพราะเสวยกุ้งแนมเวลาดึก...”

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระอาการประชวรตั้งแต่วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นี้ ได้จากบันทึกของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่ถวายการรับใช้อยู่อย่างใกล้ชิด โดยพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ - ผู้เขียน] ได้ตรัสถามพระอาการจากหมอไรเตอร์ ซึ่งได้ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อนไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่ง อย่าเสวยพระอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง

ผมสังเกตดูว่า แพทย์ในยุคก่อนๆ หลายคนนิยมให้มอร์ฟีน ซึ่งปกติมักให้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากๆ เช่น แผลหลังผ่าตัด การใช้ยามอร์ฟีนมักจะได้ผลดีในการระงับปวด แต่บางครั้งก็เป็นการแก้ปลายเหตุ โดยที่อาการปวดดีขึ้นก็อาจจะทำให้การรักษาต้นเหตุล่าช้าออกไป ซึ่งในการประชวรครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็มีถวายมอร์ฟีนด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบทความเรื่องประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว๗
 
วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระยาบุรุษรัตนฯ ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์ในวันนี้ว่า “วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓  ย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่า พระศอแห้งแล้วเสวยพระสุธารส [น้ำ - ผู้เขียน] เย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผลหนึ่ง พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัยเรียกหมอทั้งสามคนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่าที่เสวยผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดี เพราะพระกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสวยพระกระยาหารหรือพระโอสถ จึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมดและเสียพละกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วหมอว่า อาหารไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้”

 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงปรึกษาพระเจ้าน้องยาเธอ ๓ พระองค์ คือ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ กรมหลวงดำรงฯ กรมหลวงนริศรานุวัตติวงศ์ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ ซึ่งเจ้านายทั้งสี่พระองค์ก็ได้ซักถามหมอฝรั่งทั้งสามคน โดยทั้งสามคนยืนยันว่า ยังไม่ควรจะวิตกกังวลแต่อย่างไร ยังไม่เป็นอะไรหรอก บรรทมอยู่นิ่งๆ ก็จะหาย เจ้านายทั้งสี่ก็มีความเห็นร่วมกันว่า ควรให้หมอฝรั่งถวายการรักษาต่อไปเพราะทำถูกต้องแล้ว เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ นำความขึ้นกราบทูลต่อพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์ทรงนิ่งเงียบไม่รับสั่งว่ากระไร ในช่วงเช้าพระองค์ทรงมีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคู ประมาณหนึ่งจานซุป หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี หลังจากนั้นพระองค์มีพระอาการซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ แต่พระองค์ก็ยังตรัสว่า ‘การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไรก็ให้รักษากันเถิด’ ในตอนเที่ยงมีพระบังคนเบาครั้งหนึ่ง  ประมาณหนึ่งช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน แต่พระยาบุรุษรัตน์ราชพัลลภสังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก
 
ฃในตอนบ่ายทรงมีไข้ปรอท ๑๐๐ เศษ  [องศาฟาเรนไฮต์ เท่ากับ ๓๘ องศาเซลเซียส - ผู้เขียน] แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง [ดังนั้น ตอนที่พระไข้ขึ้นสูงอาจถึง ๓๙ องศาเซลเซียสก็ได้ - ผู้เขียน]  มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่สองประมาณหนึ่งช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน โดยในเรื่องพระบังคนเบาน้อย เจ้านายทรงถามหมอซึ่งตอบว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไรนอกจากพระสุธารสสองสามช้อน ทำให้พระบังคนเบาน้อยไม่เป็นอะไร”

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบันทึกพระอาการตอนนี้ว่า “...เวลา ๘ ล.ท. [หลังเที่ยง - ผู้เขียน] เศษ หมอขึ้นไปตรวจพระอาการว่ามีพระองค์ร้อนปรอดขึ้น ๑๐๑ [องศาฟาเรนไฮต์ - ผู้เขียน] เศษ หมอปัวซ์ว่ามีทางที่ต้องระวังในเรื่องพระบังคนเบา เพราะมีพระโรคไตพิการชนิดเรื้อรัง (Chronic Nephritis) ซึ่งไม่เป็นโรคร้ายแรงก็จริงอยู่ แต่ก็มีโรคอื่นมักพลอยซ้ำ หมอได้ตกลงกันถวายพระโอสถรักษาทางพระวักกะ (ไต) หมอปัวซ์ว่าในวันนั้นยังไม่ต้องวิตก เพราะแรกเริ่มเดิมทีประชวรด้วยพระธาตุเสียและพระบังคนผูก เสวยพระโอสถระบายมาก พระบังคนหนักก็ออกมาเปนน้ำ ทั้งมีทรงพระอาเจียนด้วย นับว่าน้ำได้ออกมาแล้วทั้ง ๒ ทาง จึ่งไม่มีพระบังคนเบา อีกประการ ๑ หมอว่าพระโลหิตฉีดขึ้นพระเศียรมากจึ่งไม่พอที่จะบังคับพระวักกะให้ทำการตามน่าที่...”

 ในตอนเย็น พระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” พระองค์มีพระบังคนเบาครั้งที่ ๓ ประหนึ่งช้อนกาแฟอีกเช่นเคย  ซึ่งพอถึงตอนนี้หมอและเจ้านายแน่ใจว่าเป็นพระวักกะพิการ หมอได้ประชุมกันประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคนเบาและเร่งให้พระบังคนเบาโดยเร็วและใช้เครื่องสวนพระบังคนเบาในที่สุด แต่ไม่มีพระบังคนเบาเลย

ในตอนค่ำ หมอได้แจ้งว่าการหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้ว เห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาน้อยอีก ประมาณหนึ่งทุ่มเศษมีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือและเป็นครั้งสุดท้ายด้วย ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ แต่หมอฝรั่งและไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้นคงจะมีพระบังคนเบาอยู่ด้วย พระยาบุรุษรัตนฯ ได้บันทึกอีกว่า “...วันนี้เสวยซุปไก่เป็นพักๆ พักละสามช้อนบ้างสี่ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบ เพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่งหมอไทยไม่คัดค้าน       อะไร...”

 วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นี้เองที่พระอาการของพระพุทธเจ้าหลวงเริ่มรุนแรงขึ้น มีพระอาเจียน ๑ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายมีสีเขียว มีพระบังคนเบาน้อยทั้งหมด ๔ ครั้ง ครั้งละ ๑ ช้อนกาแฟ ๓ ครั้ง และ ๑ ช้อนเกลือ ๑ ครั้ง  มีพระบังคนหนัก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ มีพระไข้ ๑ ครั้ง

ผมมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้าหลวงน่าจะทรงขาดพระสุธารสอย่างรุนแรงอันมีสาเหตุจากการที่มีพระบังคนหนักหลายครั้งจนเพลียจากที่เสวยน้ำมันละหุ่ง เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แม้ว่ายังเสวยพระกระยาหารได้ในตอนกลางวันและเย็น แต่ผมคิดว่าพระองค์น่าจะเสวยได้ไม่มากทั้งพระกระยาหารและพระสุธารส ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกพระศอแห้งเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ หลังทรงตื่นบรรทมในตอนย่ำรุ่ง การที่พระองค์ขาดพระสุธารสอย่างรุนแรงจากที่มีพระบังคนหนักในเย็นวันที่  ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ร่วมกับการที่ในเวลา ๓ โมงเช้าของวันที่ ๒๐ ตุลาคม

หมอฝรั่งยังได้สั่งห้ามมิให้พระองค์เสวยพระกระยาหารเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมงอีก และเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ยังมีพระบังคนหนักอีก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ ที่เขียนในบทความของท่านว่า “...วิธีถวายการรักษาของหมอฝรั่งทั้งสามคนนี้ก็เรียกว่าใช้ได้ เพราะหากทรงพระนาภีเสีย ยาน้ำมันละหุ่งทำให้พระบังคนหนักออกมากเกินไป ก็สมควรที่จะให้ระบบลำไส้นั้นได้พัก โดยไม่ต้องมีอาหารเข้าไปให้ย่อยเป็นเวลาสัก ๒๔ ชั่วโมง”๒ เพราะว่าพระองค์ทรงสูญเสียพระสุธารสและเกลือแร่อย่างมากทางพระบังคนหนักหลายครั้ง ดังนั้นพระองค์จึงควรได้รับการถวายพระสุธารสเพื่อทดแทนโดยอาจให้เสวยหรือให้เป็นสารน้ำทางหลอดเลือดดำ   

สำหรับหัตถการทางแพทย์ที่ให้ทางหลอดเลือดดำเริ่มจาการริเริ่มให้ยาและต่อมาก็ให้เลือดสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นมาในต่างประเทศ ถ้าเทียบในประเทศไทยก็คงจะประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ค.ศ. ๑๖๖๒ (พ.ศ. ๒๒๐๕) แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากการติดเชื้อจากความไม่สะอาดและการที่กรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันในกรณีที่ให้เลือดและอันตรายส่วนใหญ่ทำให้เสียชีวิต จึงทำให้หยุดยั้งหัตถการนี้ไปเกือบ ๒๐๐ ปี จนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงมีการให้เลือดคน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเสียชีวิตสูงอยู่ ในช่วงเวลาเดียวกันมีการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่พบว่าเชื้อโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ การฆ่าเชื้อจะทำให้ไม่เกิดโรคติดเชื้อ ซึ่งนั่นคือแนวทางการทำให้ปราศเชื้อจุลชีพ (Sterilization) ทำให้การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำมีความปลอดภัยสูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓  หรือ ค.ศ. ๑๙๑๐ ซึ่งเป็นปีที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรเป็นครั้งสุดท้ายดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้วนั้นหากพระองค์ทรงได้รับน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิตดำอาจทำให้พระชนมชีพของพระองค์ยืนยาวไปอีกก็เป็นได้และผมก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ ในเรื่องต่อมาที่ว่า “...ในที่สุดหมอฝรั่งและไทยก็พิจารณาได้ถูกต้องว่า ที่ทรงไม่มีพระบังคนเบาหรือปัสสาวะออกมาเท่าที่ควรนั้นมิได้เป็นเพราะร่างกายขาดน้ำหรือเนื้อแห้งแบบที่แพทย์สมัยนี้เรียกกันว่า Dehydration แต่เป็นเพราะพระวักกะหรือไตทั้งสองข้างนั้นไม่ทำงานเสียแล้ว” โดยหลักการแล้วควรจะต้องถวายพระสุธารสให้เพียงพอก่อนแล้วหากยังไม่มีพระบังคนเบาอีกจึงจะถือว่าพระวักกะไม่ทำงานจริง ผมคิดว่าการที่ไม่มีพระบังคนเบาเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหรือพระโรคพระวักกะพิการเฉียบพลัน (Acute renal failure)

มติชนออนไลน์  15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

125
ไม่ใช่แค่ช่วง "กินเจ" แต่การบริโภคอาหารธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพ

ไม่ใช่แค่ช่วง "กินเจ" แต่การบริโภคอาหารธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมของผู้คนยุคนี้

 อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าการงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและใช้โปรตีนจากเห็ดและถั่วชนิดต่างๆแทน  จะช่วยให้กระเพาะอาหารได้พักจากการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำประจำอยู่ และการบริโภคผัก ผลไม้เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ร่างกายได้รับเกลือแร่และวิตามินที่นำไปช่วยเสริมสร้างกระบวนการทำงานต่างๆของร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 อีกทั้งยังให้สารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีที่ช่วยในการเพิ่มภูมิต้านทาน ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกด้วย

 แต่ทั้งนี้ต้องรู้จักเลือกและผสมผสานวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้เหมาะสม เพื่อจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายและสมดุล อย่างเช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืชจำพวก ข้าว ถั่วต่างๆ งา ล้วนแล้วแต่ให้คุณค่าสารอาหารที่ต่างกันออกไป

             ส่วนในเรื่องที่มีบางคนสงสัยว่า การกินเจให้ผลดีต่อสุขภาพจริงไหม และจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือไม่นั้น

 อันที่จริงอาหารเจซึ่งเต็มไปด้วยผักผลไม้และธัญพืช มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมี และใยอาหาร ฯลฯ

 ตัวอย่างผลไม้ที่มีฤทธิ์ของการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด ได้แก่ พรุน และบิลเบอรี่  ที่มีสารแอนโธไซยานิน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารฟลาโวนอยด์ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตา มีใยอาหารช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม โดยใยอาหารชนิดละลายน้ำช่วยลดคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาล ส่วนชนิดไม่ละลายน้ำช่วยป้องกันท้องผูกและมะเร็งในลำไส้

 ผักผลไม้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งใยอาหารทั้งสองชนิดโดยเฉพาะใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ แต่ใยอาหารที่ละลายน้ำจะมีน้อยกว่ายกเว้นผักผลไม้บางชนิดที่มีใยอาหารที่ละลายน้ำสูงได้แก่ พรุน ส้ม กล้วย แอปเปิล มะเขือยาว ฝักกระเจี๊ยบ เป็นต้น

 อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้ขาดสารอาหารบางชนิด ชาวเจควรเลือกรับประทานอาหารเจอย่างถูกวิธี สารอาหารที่ต้องเน้นเป็นพิเศษนอกเหนือจากโปรตีนก็คืออาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 2 หรือ ไรโบเฟลวิน วิตามินบี 12 วิตามินดี  และสังกะสี เพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ

 ที่สำคัญควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะอาหารที่มีกากใยสูงต้องการน้ำในการทำงานหากดื่มน้ำไม่พออาจทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส ปวดท้องได้

 จะเห็นได้ว่าการกินเจอย่างถูกหลักนั้น ทำให้อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งสารเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงเสมอ และยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้อีกด้วย

 แค่ช่วงกินเจระยะสั้นๆก็รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  21 ตุลาคม 2555

126
เคยมีเสียงร่ำลือต่อๆ กันมาว่า "กำแพงเมืองจริงเป็นสิ่งก่อสร้างเดียวของมนุษยชาติที่สามารถมองเห็นได้จากดวงจันทร์"

แต่ข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรต้องรับรู้ไว้ นั่นก็คือ ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วจะสามารถมองเห็นได้จากดวงจันทร์

แม้จะมีความยาว 21,196.18 กิโลเมตร (ข้อมูลจากสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน วันที่ 6 มิถุนายน 2555) ครอบคลุมพื้นที่ 15 มณฑลทั่วประเทศ แต่เพราะกำแพงเหล่านี้สร้างจากหิน ดิน ไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางธรรมชาติ เมื่ออยู่ในอวกาศจึงกลมกลืนกับธรรมชาติอื่นๆ อย่างง่ายดาย แต่จะสามารถเห็นความแตกต่างได้เมื่อใช้เรดาห์ในการค้นหา

ความมหัศจรรย์ของกำแพงเมืองจีนที่ก่อสร้างด้วยมือมนุษย์มาแต่โบราณ และมีความยาวจนชาวจีนเรียกกันว่า “กำแพงหมื่นลี้” ทำให้กำแพงเมืองจีนเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และองค์การยูเนสโก ยังได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” เมื่อปี พ.ศ. 2530 ด้วย

กำแพงเมืองจีน เดิมทีเป็นกำแพงที่มีป้อมคั่นเป็นช่วงๆ ของจีนสมัยโบราณ แต่กำแพงส่วนใหญ่ที่ปรากฎในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน โดยจักรพรรดิ์จิ๋นซีสั่งให้เชื่อมกำแพงทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกฮันส์ หรือชนเผ่าซงหนู ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาแต่โบราณ และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยฮ่องเต้องค์ต่อๆ มา จนสำเร็จในที่สุด

ทว่า ความสำเร็จที่ได้มานั้นต้องแลกกับความสูญเสียมหาศาล โดยมีการบันทึกไว้ว่า นักโทษและทาสที่ถูกใช้เป็นแรงงานในการสร้างกำแพงเมืองจีน ต่างต้องทำงานอย่างหนัก พวกเขาเหน็ดเหนื่อยและหิวโหยจนต้องล้มตายไป ซึ่งศพของผู้เสียชีวิตทั้งหลายก็จะถูกฝังไว้ใต้กำแพงแต่ละช่วง นั่นจึงทำให้กำแพงเมืองจีนถูกกล่าวขานว่าเป็น “สุสานที่ยาวที่สุดในโลก” เพราะทุกๆ หนึ่งฟุตของกำแพงก็คือหนึ่งชีวิตของผู้ก่อสร้างนั่นเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อก่อสร้างสำเร็จ กำแพงแห่งนี้มีส่วนช่วยให้การคมนาคมขนส่งในเส้นทางทุรกันดารเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น และก็กลายเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน จนทำให้มีผู้คนจากทั่วโลกพากันมาชื่นชมความมหัศจรรย์

สำหรับกำแพงเมืองจีนช่วงที่มีคนนิยมมาเที่ยวชมมากที่สุดคือ “ปาต๋าหลิ่ง” (Badaling) อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่ง 67 กิโลเมตร วิวทิวทัศน์ขุนเขากำแพงแถบนี้สวยงามมาก แนวของกำแพงเหยียดตัวไปตามแนวสันเขา สูงๆ ต่ำๆ แลดูคล้ายระลอกคลื่น หรือมังกรยักษ์เลื้อยไปตามสันเขา ซึ่งปลายกำแพงด้านเหนือมีกระเช้าไฟฟ้านำนักท่องเที่ยวขึ้น-ลงจากบริเวณลานจอดรถ

เหมา เจ๋อ ตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดที่เกิดเป็นชายแล้วยังไม่เคยปีนขึ้นไปบนกำแพงเมืองจีน ผู้นั้นไม่ใช่คนจริง”

ผู้ชายอยากเป็นคนจริง ผู้หญิงอยากไปเมืองจีน กำแพงเมืองจีนตอบสนองในทุกสิ่งที่ต้องการได้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์   20 ตุลาคม 2555

127
  เดอะ เทเลกราฟ - ศาลสูงสุดอิตาลีพิพากษาคดีตัวอย่าง โดยตัดสินชี้ขาดว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับเนื้องอกในสมอง เป็นการปูทางสำหรับการดำเนินคดีทางกฏหมายในกรณีเดียวกันนี้อีกมากมาย
       
       ศาลสูงสุดในกรุงโรมตัดสินว่า โทรศัพท์ของอินโนเซนเต มาร์โคลินี นักธุรกิจแดนมะกะโรนี วัย 60 ปี เป็นสาเหตุให้เขาล้มป่วย หลังจากใช้มือถือทำงานติดต่อกันวันละเกือบ 6 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 12 ปี หนังสือพิมพ์เดอะซันรายงาน
       
       "นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนจำนวนมาก ผมต้องการให้ปัญหานี้เป็นปัญหาสาธารณะ เนื่องจากคนจำนวนมากยังไม่รู้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว" มาร์โคลินีกล่าว
       
       "ผมอยู่กับโทรศัพท์ ตามปกติก็โทรศัพท์มือถือ อย่างน้อย 5 หรือ 6 ชั่วโมงทุกๆ วันที่ทำงาน ผมต้องให้เป็นที่ยอมรับว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างอาการป่วยของผมกับการใช้โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์ไร้สาย" เขาเผย และว่า "พ่อแม่จำเป็นต้องรู้ว่าลูกๆ ของพวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคนี้"
       
       ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษอ้างว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความเชื่อมโยงดังกล่าว แต่แองเจโล จิโน เลวิส นักวิทยาเนื้องอก และศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม รวมถึง ดร.กิวเซปเป กรัสโซ ศัลยแพทย์ประสาท ต่างมีหลักฐานยืนยันสำหรับกรณีของมาร์โคลินี
       
       พวกเขาชี้ว่า รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์ไร้สายสามารถทำลายเซลล์ และก่อให้เกิดเนื้องอกได้มากกว่า โดยเนื้องอกของมาร์โคลินีนั้นพบที่เส้นประสาทเส้นที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่โทรศัพท์สัมผัสกับศีรษะ
       
       แม้ว่าเนื้องอกของมาร์โคลินีจะไม่ใช่เซลล์มะเร็ง แต่ก็สามารถคร่าชีวิตเขาได้ หากเซลล์เนื้องอกลุกลามไปที่หลอดเลือดสมองคาโรทิด ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองของเขา ขณะที่ในปัจจุบัน ใบหน้าซีกซ้ายนักธุรกิจหนุ่มใหญ่รายนี้เป็นอัมพาต และต้องกินมอร์ฟีนแก้ปวดทุกวัน
       
       ศาสตราจารย์เลวิสกล่าวว่า คำตัดสินของศาลครั้งนี้เป็นเหมือนการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า การใช้โทรศัพท์ส่วนเชื่อมโยงกับเนื้องอกในสมอง และจะเป็นการเปิดทางให้กับเหยื่ออีกมากมายดำเนินกระบวนการทางกฏหมายได้
       
       ในปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกกระตุ้นให้ผู้คนหันมาจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยระบุว่าโทรศัพท์เหล่านั้นอาจเป็นสารก่อมะเร็งคลาสบีได้ ขณะที่ สำนักงานคุ้มครองสาธารณสุขของอังกฤษแย้งว่า ความเห็นทางวิทยาศาสตร์นั้นบ่งชี้ว่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 ตุลาคม 2555

128
สัญลักษณ์ธงเหลืองปลิวไสวอยู่ตามแผงร้านอาหาร เป็นสัญญาณบ่งบอกถึง "เทศกาลกินเจ" ที่หลายคนเลือกจะงดบริโภคอาหารสัตว์ แล้วหันมาทานผัก โปรตีนที่ได้จากถั่ว เต้าหู้แทน พร้อม ๆ ไปกับการรักษาศีล ทำความดี ซึ่งในปีนี้ผู้คนจำนวนมากสนใจหันมาร่วมถือศีลกินเจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นตอนนี้ก็หันมากินเจเพิ่มมากขึ้นด้วย

       Life On Campus จึงไม่พลาดที่จะเรียนเชิญ อาจารย์อมราภรณ์ วงษ์ฟัก กูรูด้านอาหารเจจากหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) มาให้คำแนะนำน้องๆ วัยรุ่น นิสิต นักศึกษา เกี่ยวกับการเลือกกินอาหารเจ การเตรียมตัวให้พร้อมกับการกินเจ การกินเจให้สมวัย ข้อควรระวังและความปลอดภัยในการกินอาหารเจ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
       
       กินเจให้สมวัย
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวถึงการรับประทานอาหารเจสำหรับวัยรุ่นมือใหม่หัดทาน ว่า หากพูดถึงเทศกาลอาหารเจ สิ่งแรกที่วัยรุ่นต้องทำความนึกถึง ข้อห้าม ข้อละเว้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเริ่มต้นเลือกรับประทานอาหารเจ
       
       “อาหารเจ เราต้องหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกชนิด และปรุงอาหารด้วยแป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งผักนานาชนิด ยกเว้น ผักฉุน 5 ประเภท ที่เป็นผักรสหนักมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ ได้แก่ 1.กระเทียม หัวกระเทียม ต้นกระเทียม ส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานมาก
       
       2.หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไตได้ แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย รวมทั้งนัยน์ตาพร่ามัว มีกลิ่นตัว
       
       3.หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
       
       4.กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
       
       5.ใบยาสูบไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ ของเสพติดมึนเมา อะไรต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำงานการทำงานของปอด
       
       นอกจากนี้จะต้อง งดเว้นเนื้อสัตว์ นม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์ งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก และที่สำคัญต้องรักษาศีล 5รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ พูดจาไพเราะ"

เมนูอาหารหลากหลาย ปลอดเนื้อสัตว์
       อย่าหลงเชื่อ “กินเจ ทำให้ผอม”
       
       “อย่าคาดหวังว่า ทานเจ แล้วจะผอม ถ้าเลือกกินอาหารแบบผิดๆ อาจทำให้อ้วนมากกว่าเดิม” นี้คำยืนยันแนะนำของกูรูด้านโภชนาการ อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวเสริมว่า หลักของการรับประทานอาหารเจคือ งดทานเนื้อสัตว์ และเลือกรับประทานอาหารจำพวกผักและแป้ง แต่บางคนไม่ทานผัก ก็ต้องเลือกทานแต่แป้ง หรือของทอดที่หาซื้อยากตามท้องตลาด
       
       “วิธีที่ดีที่สุด คือ การเลือกรับประทานอาหารเจอย่างถูกวิธี รับประทานอาหารประเภทแป้งพอดี หลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด ซึ่งใช้น้ำมันเยอะ ควรกินอาหารประเภท ต้ม นึ่ง หรืออบ ทานแป้งในปริมาณเท่าเดิม และหันมาทานผักมากขึ้น 10วันที่ทำให้น้ำหนักลดลง หรือ 10 วันที่ทำให้น้ำหนักคงที”

       เปิดคอร์สเรียนทำอาหารเจ ที่ มสด.
       
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวว่า เป็นประจำทุกๆ ปีที่ หลักสูตรคหกรรมศาสตร์ เปิดคอร์สพิเศษให้นักศึกษาปี 3 เรียนรู้วิธีการทำอาหารเจ ดัดแปลงเมนูอาหารเจแบบง่ายๆ สามารถทำรับประทานเองได้
       
       “ ชื่อคอร์ส“อาหารมังสวิรัตและอาหารเจ” สอนทั้งทฤษฏีและปฎิบัติ เด็กนักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า อาหารเจและมังสวิรัตแตกต่างกันอย่างไร รวมทั้งจะต้องเรียนทำเต้าหู้ นำถั่วเหลืองมาทำเต้าหู้แผ่น เพราะเรามองว่า เด็กเหล่านี้สามารถทำอาหารเจได้หลากหลาย ทั้งน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือแม้แต่โปรตีนเกษตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นักศึกษาหลายคนนำความรู้ไปบอกต่อครอบครัว ประกอบเป็นอาชีพเสริมได้ในช่วงเทศกาลกินเจ”
       
       จับฉ่าย “1 วัน 3เมนูใหม่”
       
       อาจารย์อมราภรณ์ กล่าวเอ่ยทิ้งท้ายด้วย เมนูจับฉ่าย เป็นเมนูยอดฮิตสำหรับคนกินเจ ให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ไม่จำเจ หรือน่าเบื่ออีกต่อไป แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินจากผักนานาชนิด
       
       “บางครอบครัวมักเลือกทำจับฉ่ายหม้อใหญ่ ที่จะสามารถนำมารับประทานได้ทุกมื้อ แต่พอทานไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เบื่อได้ เรามีจึงคิดปรับเมนูจับฉ่ายให้น่ากินมากยิ่งขึ้น เริ่มจาก มื้อเช้า นำข้าวเย็นที่เหลือจากเมื่อวาน นำมาต้มใส่น้ำ กลายเป็นข้าวต้มโรยหน้าด้วยจับฉ่าย หรือนำฟองเต้าหู้มาทอด แล้วโรยหน้าจับฉ่ายผัดเหมือนกับโจ้กที่มีหมี่กรอบโรยหน้า หรือเอาวุ้นเส้นมาผัดรวมกับจับฉ่าย กลายเป็นจับฉ่ายผัดแห้ง รับประทานแทนข้าว น่ารับประทานไปอีกแบบ”

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 ตุลาคม 2555

129
คำกล่าวที่ว่า "อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ยังเป็นคำพูดที่ไม่ล้าสมัย เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่าการมีสุขภาพที่ดี มีค่ายิ่งกว่าการมีเงินทองร้อยล้านด้วยซ้ำ เพราะแม้จะมีเงินมากมายมหาศาลก็ไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด
       
       วันนี้ทีมงาน Life & Family มีเคล็ดลับอายุยืนอย่างมีสุขภาพดีจาก นายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ผู้หันหลังให้กับการรักษาแผนปัจจุบันและหันไปใช้การรักษาแบบธรรมชาติบำบัด "ปฏิรูปจิต" สู่การ "ปฏิวัติชีวิต" อีกทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือแนวส่งเสริมสุขภาพเล่มล่าสุด "ปฏิวัติชีวิต ปฏิวัติสุขภาพ" รวมไปถึงเทคนิคดี ๆ จากคนรักสุขภาพอีก 2 ท่านที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกบ้านไม่มากก็น้อย
       
       คุณหมอบุญชัย เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ฟังว่า ปัจจุบันมีคนไทยประมาณ 20 ล้านคนป่วยเป็นโรคเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องมาจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ประกอบด้วย โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันผิดปกติ ซึ่งโรคเหล่านี้ ตำราการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด ต้องควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว และต้องกินยาควบคุมตลอดชีวิตเท่านั้น
       
       "ถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เราอาจเป็นโรคที่ต้องกลายเป็นคนตาบอดเป็นเวลาถึง 20 ปี หรือต้องฟอกไตตลอด 20 ปี กว่าที่จะล้มหายตายจาก ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตที่น่าอนาจใจก่อนตาย"
       
       อย่างไรก็ดี การทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี คุณหมอท่านนี้บอกว่า ต้องแก้ที่จิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นการแก้ทุกปัญหาสุขภาพอย่างถาวร เรียกว่าแก้ที่นิสัยถาวรหรือแก้ที่สันดาน ซึ่งตัวคุณหมอเองยอมรับว่าเป็นกบฎต่อการใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่กินเนื้อสัตว์ทุกประเภท เป็นเลือกกินเนื้อสัตว์บางประเภทเท่านั้น
       
       "คนเราไม่ควรทานสัตว์ตระกูลเดียวกับเรา คือ ไม่ควรทานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดูลิงกอริลล่าเป็นตัวอย่าง มันยังเป็นสัตว์กินพืช คนเราทานอาหารไม่ถูก คนอเมริกันเป็นโรคหัวใจกันเยอะ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 40 เปอร์เซ็นต์ และ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 35 เปอร์เซ็นต์ เพราะรับประทานเนื้อสัตว์พวกวัวและหมูมาก สัตว์เมื่อจะถูกฆ่าจะกลัวและเครียด ก็จะหลั่งสารก่อมะเร็งออกมา และเมื่อเรากินเข้าไป จะสะสมไปเรื่อยๆ พอถึงวันหนึ่งก็ป่วยเป็นมะเร็ง"
       
       แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ คุณหมอท่านนี้เคยรอให้ตัวเองล้มป่วยด้วยโรคร้ายที่กล่าวมาเสียก่อนถึงค่อยคิดได้ และด้วยความที่ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต จึงหันมาปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่ โดยใช้วิธีปฏิรูปจิต เปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิต และหันมาใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ หรือธรรมชาติบำบัดอย่างจริงจัง
       
       "ผมใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น เมื่อกลับมาตรวจสุขภาพอีกครั้ง ก็ไม่พบโรคร้ายเหล่านั้นอีกเลย ที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลตอบแทนที่ได้รับคือมีสุขภาพดีขึ้นมากอย่างเหลือเชื่อ แถมโรคตับอักเสบเรื้อรังและโรคเม็ดเลือดแดงมากเกินไป ที่เป็นมามากกว่า 20 ปี ก็หายไปด้วย"
       
       ส่วนเคล็ดลับที่คุณหมอใช้ปฏิรูปจิตตัวเองจนประสบความสำเร็จนั้น มีเคล็ดลับง่าย ๆ คือ คนเราจะมีสุขภาพดีหรือไม่ดีอยู่ที่จิตใจ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตสามารถกำหนดได้ว่าตัวเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเปลี่ยนจิตใต้สำนึกของตัวเองได้ก็สามารถปฏิรูปชีวิตได้ ใจเป็นสุข กายก็เป็นสุข เริ่มจากคิดดี เป็นผู้ให้ จะทำให้เราไม่ทุกข์

       นอกจากนี้ คุณหมอบุญชัยยังฝากด้วยว่า เวลาทำอะไรไปหรือคิดอะไรจิตใต้สำนึกจะบันทึกไว้หมด ดังนั้น ต้องคิดดีไว้ก่อน อย่าเอาเรื่องไม่ดีเข้ามาใส่ตัว กินอยู่ให้ดี ปฏิบัติตัวให้ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วเราจะซึมซับสิ่งที่ดีใส่ตัว ส่วนตัวไม่ชอบคำว่าควบคุม แต่ใช้คำว่าปฏิวัติชีวิตตัวเอง เมื่อทำไประยะหนึ่งมันจะเข้าไปสู่จิตใต้สำนึกและมันจะเปลี่ยนไปเอง เราจะเป็นคนใหม่โดยไม่ต้องบังคับตัวเอง
       
       ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถือเป็นคนที่มีสุขภาพดีมาก เดินตัวตรง กระฉับกระเฉง แม้จะมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว แต่ก็คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาหารหลักของครอบครัวในวัยเด็กคือผักตามท้องนา และเนื้อสัตว์ที่หามาได้คือ ปลา กุ้ง ที่อยู่ในนา
       
       "สมัยเด็ก ครอบครัวยากจน ไม่มีโอกาสได้รับประทานเนื้อสัตว์ ผมจึงชอบทานผักสด และทานมาตั้งแต่เด็กๆ อาหารจานหลักคือผักสดที่ปลูกเองที่บ้าน ชีวิตก็รับประทานผักมาตลอด เมื่อไปเรียนต่างประเทศก็ไม่มีปัญหา ใครๆ ดื่มไวน์ก็ดื่มน้ำเปล่า หรือใครที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บลัดดี้แมรี่ก็จะเลือกดื่มน้ำมะเขือเทศ และไม่ดื่มกาแฟ"
       
       ปัจจุบัน ดร.วิจิตร มีสวนผักอยู่ข้างบ้าน ทำเป็นโรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เอาไว้แจกเพื่อนบ้านด้วย ล่าสุดเพิ่งกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส ขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสก็รับประทานอาหารได้อร่อยและมีความสุข เพราะเลือกทานปลาทั้ง 7 วัน 7 ชนิดไม่ซ้ำกันเลย
       
       เมื่อถามลึกลงไปถึงหลักการดูแลชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดร.วิจิตร บอกว่า มีอยู่ 3 ประการหลัก ๆ ที่ให้ความสำคัญ คือ 1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ไม่กินเนื้อสัตว์ประเภทสัตว์ใหญ่ และรับประทานผักผลไม้ให้มาก 2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ หรือเต้นรำ ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมลีลาศด้วย และ 3. พักผ่อนให้เพียงพอ คนที่เครียด คือ คนพักผ่อนไม่พอ ต้องระวังอย่าให้เครียด
       
       ปิดท้ายกันที่เทคนิคดี ๆ จาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุพร เกิดสว่าง สูตินรีแพทย์อาวุโส นายกสมาคมประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุข ที่ให้เคล็ดลับดูแลสุขภาพไว้ว่า เวลาเหนื่อยให้นอนพัก ถ้านอนหลับลึกๆ สัก 5-10 นาทีก็จะดีขึ้น
       
       "ผมเริ่มดูแลตัวเองเมื่ออายุมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนทำงานเยอะมาก สังเกตว่าตอนที่อายุน้อยๆ กินเท่าไรก็ไม่อ้วน แต่พออายุมากขึ้น กินเหมือนเดิมก็อ้วน เพราะว่าระบบเผาผลาญมันแย่ลง ก็ต้องออกกำลังกายมากขึ้น และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลักสำคัญคือ กินให้ถูก อยู่ให้ดี หลับนอนให้เพียงพอ รู้จักหาความสุขใส่ตัวทั้งภายนอกคือการสุขกาย และภายใน คือ การได้ช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขจากภายใน ไม่มีใครจะโขมยไปจากเราได้" นี่คือสิ่งที่คุณหมอท่านนี้ให้ความสำคัญ ซึ่งนับเป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 ตุลาคม 2555

130


(แกงเหลือง, แกงไตปลา, แกงกะหรี่, ไก่ทอดขมิ้น, สารเคอร์คิวมิน, ทาคาน่า, กระตุ้นภูมิคุ้มกัน)

สายสัมพันธ์  ฉบับที่ 11

131
ในหนังสือ สุขอนามัยกับความผาสุก เล่ม 2 ได้บันทึกข้อความอมตะของนางเอลเลน จี ไวท์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อประมาณ 150 ปีด่อน ได้รับการยอมรับและพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าเป็นความจริงและมีความทันสมัยอยู่เสมอ จึงขอนำเสนอโดยตัดตอนมาบางส่วนดังนี้




สายสัมพันธ์ ฉบับที่ 11

132


(ต้นข้าวสาลีอ่อน, แคลเซียม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, สารแคโรทีน)

เอไซ ปีที่6-ฉบับที่4

133


(สารแคโรทีนอยด์, วิตามินซี, กรดโฟลิก, ซีลีเนียม, สารต้านอนุมูลอิสระ)

เอไซ ปีที่6-ฉบับที่4

134



เอไซ ปีที่6-ฉบับที่4

135






(ชาวเมารี, สนธิสัญญาไวตังกิ, เกาะเหนือ, เกาะใต้, คาอูรี, เฟิร์นสีเงิน, กีวีฟรุต, นกกีวี)

สายสัมพันธ์ ฉบับที่ 11

หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13