แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - science

หน้า: [1] 2 3 ... 13
1
การยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการตามที่กำหนดไว้และยื่นโดยถูกวิธี

การฟ้องคดีปกครองไม่มีแบบของคำฟ้องกำหนดไว้เฉพาะ แต่ต้องทำเป็นหนังสือ ฟ้องด้วยวาจาไม่ได้ ใช้ถ้อยคำสุภาพ มีรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กล่าวคือ ต้องระบุ

ชื่อ ที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี
ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
คำขอ
และลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี


โดยต้องแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมคำฟ้อง โดยผู้ฟ้องคดีต้องจัดทำสำเนาคำฟ้องและสำเนาพยานหลักฐานตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีด้วย
สำหรับวิธีการยื่นคำฟ้องนั้นจะยื่นด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นแทนหรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้

อนึ่ง ในกรณีที่มีผู้ประสงค์จะฟ้องคดีหลายคนในเหตุเดียวกัน บุคคลดังกล่าวจะยื่นคำฟ้องร่วมกันเป็นฉบับเดียว โดยมอบให้ผู้ฟ้องคดีคนหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีทุกคนก็ได้ ในกรณีนี้ถือว่าการกระทำของตัวแทนผู้ฟ้องคดีในกระบวนพิจารณาผูกพันผู้ฟ้องคดีทุกคนด้วย

ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี
(ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)
กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2
ศาลปกครอง คือ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่จะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ที่เรียกว่า
คดีปกครอง  

ศาลปกครองนั้นจะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทที่เกิดระหว่าง หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมาย ออกคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือมีการกระทำละเมิด หรือต้องรับผิดอย่างอื่นใดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย รวมทั้งคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองด้วย


ตัวอย่างคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองได้

๑.  คดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน
๒.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการคมนาคมและขนส่ง
๓.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการควบคุมอาคารและการผังเมือง
๔.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและอาคารชุด
๕.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและวินัย

๖.  คดีพิพาทเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ
๖.๑ คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับเงินบำเหน็จบำนาญ
๖.๒ คดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งหรือการดำเนินการเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านข้า ราชการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การ  
      จ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ สวัสดิการเกี่ยวกับการช่วยเหลือบุตร สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร    
       สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินค่าตอบแทนหรือสวัสดิการอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

๗.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน
๘.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการประกอบกิจการและเหตุเดือดร้อนรำคาญ
๙.  คดีพิพาทเกี่ยวกับการพัสดุและสัญญาทางปกครอง
๑๐. คดีพิพาทเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และความรับผิดอย่างอื่น (การรอนสิทธิ)
๑๑. คดีพิพาทเกี่ยวกับการศึกษา
๑๒. คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
๑๓. คดีพิพาทเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการและงานทะเบียน
๑๔. คดีพิพาทเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์
   

3
พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

มาตรา ๗๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

(๒) .................................................................................

(๓) ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

 มาตรา ๙ ในกรณีที่นายจ้าง.....................หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๗๐ ............................ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

4
ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๔๔

ข้อ ๘ ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อ๗ ให้คณะกรรมการตามข้อ๙ ประกาศกำหนดการจ่ายเงินค่าตอบแทนได้ โดยพิจารณาตามความจำเป็นของหน่วยบริการและต้องไม่เป็นภาระต่อสถานะเงินบำรุงของหน่วยบริการ ดังนี้
.........................................
(๒)   กรณีที่ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเกินกว่าหนึ่งเท่าแต่ไม่เกิน ๒ เท่า หรือปรับลดลงไม่เกินร้อยละ ๒๕ จากอัตราที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการตามข้อ๙ ประกาศกำหนด โดยเสนอขอความเห็นชอบจากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขแต่ละเขตก่อน แล้วเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบ

(๓)   ในกรณีที่ปรับเพิ่มมากกว่า ๒ เท่า หรือลดลงมากกว่าร้อยละ ๒๕ จากอัตราที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการตามข้อ๙ ประกาศกำหนด โดยเสนอขอความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน
...
ข้อบังคับนี้ ครอบคลุม ฉบับ ๙ ด้วย ดูตามนี้ คนที่มีสิทธิสั่งไม่จ่าย คือ ปลัดกระทรวง

5
ค่าตอบแทน P4P ให้จ่ายจากเงินบำรุง หรือเงินงบประมาณ แสดงว่า มีแหล่งเงินที่จะมาจ่ายP4Pได้ ๒ แหล่ง คือ เงินบำรุงของหน่วยบริการ (ถ้าเงินบำรุง ไม่พอหรือมีปัญหา)และ เงินงบประมาณ(ก็น่าจะเป็นแหล่งเงินอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดหาและจัดสรรให้เพียงพอ)

(หลายโรงพยาบาลที่มีตัวเลขเงินบำรุงเป็นลบ ก็เลือกที่จะจ่ายP4Pให้กับบุคลากร ไม่ค้างจ่าย  หลายโรงพยาบาลไม่จ่าย ค้างจ่ายเพราะเอาไปจ่ายด้านอื่นๆ  ที่สำคัญ คือ การที่สถานะการเงินของโรงพยาบาลเป็นลบ ทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลถูกเพ่งเล็งจากผู้ตรวจและ/หรือปลัดกระทรวง รึเปล่า)

ระเบียบเงินบำรุงของหน่วยบริการ

การจ่ายเงินบำรุง ๘ กรณีนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ
๑. เพื่อการปฏิบัติราชการของหน่วยบริการอื่น
๒. การจ่ายลักษณะค่าตอบแทน หรือเงินค่าตอบแทนพิเศษ แก่บุคคลที่ให้บริการหรือ สนับสนุนการบริการด้านต่าง ๆ ดังนี้
                     -ด้านการรักษาพยาบาล
                     -ด้านการสาธารณสุข ที่เป็นบริการอันเป็นประโยชน์
                     -ด้านการชันสูตรพลิกศพ
                     -ด้านอื่นที่กฎหมาย หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ
๓. เพื่อเป็นค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน กรณีส่งต่อ อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือจำเป็น  
    ต้องรักษาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
๔. เพื่อเป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายคาบ
๕. เพื่อเป็นค่าซ่อมแซม ต่อเติมหรือปรับปรุงบ้านพัก หรืออาคารที่พัก
๖. เพื่อซื้อครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และยานพาหนะ
๗. การจ่ายเงินบำรุงเพื่อเป็นค่าจ้าง และค่าตอบแทนแก่พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
๘. การจ่ายเงินบำรุงเพื่อสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข

ก็จะมีคำถามตามมา เช่น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เอาเงินบำรุงไปจ่ายอะไรบ้าง ทำไมไม่จ่ายP4P ?
ทำไมผู้บริหารกระทรวง รัฐมนตรี/ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งรู้แล้วว่าเงินบำรุงของหลายโรงพยาบาลมีปัญหา) ไม่ไป defend ของบประมาณมา (งบประมาณประเทศมีตั้งเท่าไหร่ กระทรวงอื่นๆเค้าขอไปใช้ กระทรวงสาธารณสุขพยายามมากพอที่จะขอมารึเปล่า ถ้าเห็นความสำคัญ) ?

6





ค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือ  P4P ที่มีการค้างจ่ายกันมานานสำหรับบางโรงพยาบาลนั้น จ่ายโดย เอาง่ายๆ คือ ระเบียบฉบับ ๙ (ซึ่งตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว ใช้ ฉบับ ๑๒ แทน) ลองมาดูว่าในระเบียบฉบับนี้ มีถ้อยคำเกี่ยวกับเงินบำรุงอย่างไรบ้าง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๕๕๖

๑๒.๑ เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ฉบับนี้ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
........
๑๒.๕ ให้หน่วยบริการขออนุมัติดำเนินการต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนตามข้อ๙แห่งข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๔๔ ตามแบบคำขออนุมัติแนบท้ายหลักเกณฑ์นี้

(คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนตามข้อ๙ แห่งข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๔๔
(๒).....ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าหน่วยบริการทุกระดับ เกิน ๑๕ คน เป็นกรรมการ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ)

ข้อ ๒ การจ่ายเงินค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์นี้ ให้จ่ายจากเงินบำรุง หรือเงินงบประมาณ แล้วแต่กรณ๊
...
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องรายละเอียดการดำเนินการการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน พ.ศ.๒๕๕๘

ข้อ ๒ การกำหนดกรอบวงเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน จะมีการกำหนดกรอบวงเงินที่ใช้เป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีเป็นระยะๆ....

๒.๕ หน่วยบริการสามารถกำหนดวงเงินเพิ่มเติมจากข้อ ๒.๒ ถึง ๒.๔ อีกร้อยละ ๑ ของค่าแรงทั้งหมดของหน่วยบริการเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องเป็นไปตามสถานะเงินบำรุงของหน่วยบริการ โดยขออนุมัติคณะกรรมการฯ...

มีอยู่แค่นี้ครับสำหรับ ฉบับ ๙ แต่มีในระเบียบฉบับไหนอีก โปรดติดตาม

ไม่จ่ายค่าตอบแทน P4P ผู้บริหารทำได้หรือไม่?

7

จากการประชุมวิชาการประจำปีส่วนภูมิภาค ของสมาคมแพทย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย วันที่ 4-6 มกราคม 2560 ณ เดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน ชลบุรี มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุโดยเฉพาะเรื่องของการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือต่อสมอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การบาดเจ็บที่ศีรษะ(โดยเฉพาะบาดเจ็บต่อสมอง)มีความสูญเสียอย่างมากทั้งอัตราตายที่สูง ความพิการทุพพลภาพทั้งชั่วคราวและถาวร มีการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย เฉพาะแค่อุบัติเหตุทางถนน ปีๆหนึ่งก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นคน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก) ประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และในจำนวนนี้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตจากบาดเจ็บที่ศีรษะ(ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)

มีผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายประมาณ 3 พันคนต่อปี (รายงานประจำปี 2558 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) อวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายสูงสุด คือ ศีรษะ นอกจากนี้การพลัดตกหกล้มก็มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 2 พันคน

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ(ไม่ว่าจากสาเหตุใด อุบัติเหตุทางถนน ถูกทำร้าย พลัดตกหกล้ม หรือทำร้ายตัวเอง) ที่มีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะและสมอง หากมีปริมาณเลือดมากหรือสมองบวมมาก จนทำให้มีการกดเบียดก้านสมอง(brain herniation) จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดสมองโดยด่วน การผ่าตัดภายในเวลาที่เหมาะสมจะช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บได้ หากล่าช้าออกไปจะทำให้มีอัตราตายและความพิการสูง

ในส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด มีแพทย์ผ่าตัดสมอง(ประสาทศัลยแพทย์)เพียง 56 จังหวัด อีก 20 จังหวัดยังไม่มี ดังนั้นหากมีผู้บาดเจ็บที่จะต้องได้รับการผ่าตัดสมองโดยด่วนในจังหวัดเหล่านี้ ก็จะต้องส่งตัวผู้บาดเจ็บนั้นไปยังจังหวัดใกล้เคียงที่มีขีดความสามารถในการผ่าตัดสมองได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลา
(จังหวัดที่ยังไม่มีประสาทศัลยแพทย์ - แม่ฮ่องสอน, พะเยา, น่าน, สุโขทัย, กำแพงเพชร, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, ตราด, ระนอง, พังงา, สตูล และปัตตานี)

มี 28 จังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์เพียง 1-2 คน ซึ่งอาจไม่สามารถอยู่เวรได้ตลอดเวลา ทุกวัน ทั้งปีได้ อาจมีบางเวลา บางวันที่ผู้บาดเจ็บที่จะต้องได้รับการผ่าตัดสมองถูกส่งตัวไปจังหวัดอื่นอีกเช่นกัน
(จังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์ 1-2 คน - ลำพูน, แพร่, ตาก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, ลพบุรี, ปทุมธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, เลย, หนองคาย, นครพนม, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, ยโสธร, สุรินทร์, ชุมพร, กระบี่, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ยะลา และนราธิวาส)

ในจังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งสามารถจัดเวรได้ตลอดทุกวันตลอดทั้งปี (28 จังหวัด)เรื่องระยะทางในแต่ละอำเภอไปยังตัวจังหวัด ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้ผู้บาดเจ็บได้รับการผ่าตัดสมองในเวลาที่ไม่เหมาะสมได้ หากอำเภอใดใช้เวลาเฉพาะการเดินทาง มากกว่า 1ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาในการประสานระหว่างโรงพยาบาล และเวลาเตรียมการที่จำเป็นอื่นๆ)

ประเมินคร่าวๆได้ว่า เกือบหนึ่งในสี่ของประชาชนในส่วนภูมิภาค(ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ที่ไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดสมองได้ในเวลาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน นั่นคือ การขาดโอกาสที่สำคัญ โอกาสที่จะมีชีวิตรอด โอกาสที่จะไม่กลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพ

https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1381673211883983.1073741864.100001239514505&type=3&uploaded=7

8
ฝรั่งเศสจะห้ามใช้ภาชนะทำจากพลาสติกสำหรับใส่อาหารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นถ้วยชาม จาน และแก้วน้ำภายในปี 2563

ภายใต้มาตรการใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนที่แล้วให้เวลาผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหลายจนถึงปี 2563 ในการเปลี่ยนแปลงวัสดุในการผลิตภาชนะพลาสติกสำหรับใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียวที่จะจำหน่ายในฝรั่งเศส โดยต้องทำจากวัสดุชีวภาพ

มาตรการนี้จะทำให้ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ห้ามการใช้ภาชนะพลาสติกใส่อาหารทุกชนิด มาตรการนี้เป็นอีกความพยายามของฝรั่งเศสที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หลังมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนก.ค.

บรรดาองค์กรสิ่งแวดล้อมล้วนสนับสนุนมาตรการล่าสุดของฝรั่งเศส และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆทำตาม แต่กลุ่มผู้คัดค้านอ้างว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และไม่มีหลักฐานว่า พลาสติกที่ทำจากวัสดุชีวภาพจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 13 กันยายน 2559

9
เครื่องยนต์สันดาปภายในถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกในประเทศเยอรมัน แต่ในขณะนี้ประเทศเยอรมันกำลังจะเลิกใช้งานมันแล้ว สภาผู้แทนรัฐของเยอรมันได้ผ่านมติที่จะห้ามใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน – ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน – เริ่มตั้งแต่ปี 2030

สภาผู้แทนรัฐซึ่งมีหน้าที่ออกกฏหมายระดับชาติของประเทศเยอรมันเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงที่หวังจะช่วยให้มีเฉพาะยานพาหนะที่ไม่มีการปล่อยมลพิษเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนถนนของสหภาพยุโรปในอีก 14 ปีข้างหน้า มตินี้จะต้องถูกประกาศใช้เป็นทางการทั่วยุโรปและจะต้องได้รับอนุมัติจากสหภาพยุโรปด้วย แต่อย่างที่ทราบกัน เยอรมันมีอิทธิพลอย่างมากในสหภาพยุโรป

Oliver Krischer สมาชิกสภาผู้แทนรัฐกล่าวว่า “ถ้าข้อตกลงปารีสเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ก็ไม่ควรมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในใหม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนถนนได้อีกหลังจากปี 2030”

มตินี้เรียกร้องให้ตลาดรถยนต์ในสหภาพยุโรปทบทวนการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีและค่าธรรมเนียมที่ให้ความสำคัญกับรถยต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษด้วย การสร้างมาตรการทางภาษีจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น

มติของสภาผู้แทนรัฐของเยอรมันครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณไม่เพียงเฉพาะภายในสหภาพยุโรปเท่านั้น ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องตระหนักถึงทิศทางและอนาคตของตลาดรถยนต์ในอนาคต และจะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

10 ต.ค. 2559
http://www.takieng.com/stories/2064

10
 บีบีซี - สื่อต่างประเทศรายงานข่าวในวันอังคาร (23 ส.ค.) เหล่าสัตวแพทย์ของไทยประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเนื้องอกใกล้หัวใจของงูอนาคอนด้ายักษ์ วัย 10 ปี ที่มีความยาว 5 เมตร และหนักถึง 52 กิโลกรัม
       
       สำนักข่าวบีบีซีรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของนายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง จ.ปทุมธานี เผยว่า ทีมสัตวแพทย์ต้องใช้เวลาในการผ่าตัดนานถึง 7 ชั่วโมง ในการกรีดผ่านหนังและผนังท้องของอนาคอนด้า เพื่อเข้าไปให้ถึงก้อนเนื้องอกที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม


        นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ ยังได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า “การตรวจสองครั้งที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า เจ้าอนาคอนด้ามีเนื้องอกอยู่บริเวณหัวใจก้อนใหญ่มาก จึงทำการผ่าตัดที่แสนยากครั้งนี้ ใช้เวลาผ่าถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง จึงจะเสร็จ ใช้หมอเปลืองมาก แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ”
       
       “ต้องขอขอบคุณทีมงาน และพนักงานโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง และทีมงานของพี่อดัม ในการถ่ายทำภาพและวิดีโอในครั้งนี้ด้วยครับ ก้อนเนื้อหนักหนึ่งกิโลครับ ผ่ายากมาก แต่ก็ฟื้นตัวแล้ว งานนี้ได้หมอโตโต้ น.สพ.ทักษะ เวสารัชชพงศ์ มาช่วยเป็นคนผ่าครับ ติดตามในรายการ Save life ได้นะครับ” นายสัตวแพทย์ ทวีศักดิ์ ระบุผ่านเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dr.taweesak/posts/1214273525270318.

โดย MGR Online       
23 สิงหาคม 2559

11
3 นักเรียนที่เป็นตัวแทนจากประเทศไทย นางสาวสุรีย์พร ตรีเพชรประภา นางสาวธิดารัตน์ เพียรจัด และ นางสาวกาญจนา คมกล้า ตัวแทนนักเรียนจากประเทศไทย ได้รับพระราชทานรางวัล Stockholm Junior Water Prize ประจำปี 2016 จาก เจ้าฟ้าชายคาร์ล ฟิลิป แห่งสวีเดน ด้วยผลงานนวัตกรรมการกักเก็บน้ำซึ่งทำงานเลียนแบบต้นสับปะรดสี ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่งานสัปดาห์น้ำโลก (World Water Week) ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.)
        พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์/MGRออนไลน์ - นางสาวสุรีย์พร ตรีเพชรประภา นางสาวธิดารัตน์ เพียรจัด และ นางสาวกาญจนา คมกล้า ตัวแทนนักเรียนจากประเทศไทย ได้รับรางวัล Stockholm Junior Water Prize ประจำปี 2016 จากผลงานนวัตกรรมการกักเก็บน้ำซึ่งทำงานเลียนแบบต้นสับปะรดสี ได้รับพระราชทานรางวัลจาก เจ้าฟ้าชายคาร์ล ฟิลิป แห่งสวีเดน ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่งานสัปดาห์น้ำโลก (World Water Week) ณ กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.)
       
       หลังจากที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติของต้นสับปะรดสี (Bromeliad)โดยเฉพาะด้านรูปทรงของพืชที่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดีแล้ว สุรีย์พร ตรีเพชรประภา ธิดารัตน์ เพียรจัด และ กาญจนา คมกล้า จึงได้สร้างอุปกรณ์กักเก็บน้ำที่มีกลไกการทำงานคล้ายกับการเก็บน้ำของต้นสับปะรดสี และได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งบนต้นยางพารา ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนไทยทั้ง 3 คน สามารถคว้ารางวัล Stockholm Junior Water Prize ประจำปี 2016 ไปครองได้สำเร็จ จากผลงานดังกล่าวซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธรรมชาติคือครูที่ดีที่สุดของมนุษย์
       
       คณะกรรมการตัดสินรางวัลรู้สึกประทับใจในความคิดสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัด ความวิริยะ อุตสาหะ ความกระตือรือร้น และความสนใจ เอาใจใส่ที่มีต่อน้ำ ของนักเรียนไทยผู้ชนะรางวัล
       
       “ผลงานที่ชนะรางวัลในครั้งนี้จะช่วยจัดการกับปัญหาความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท ผ่านการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย แต่ทว่าซ่อนความซับซ้อนของกลไกภายในไว้เป็นอย่างดี” คณะกรรมการตัดสินรางวัล ระบุในคำประกาศกิตติคุณ “อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยเกษตรกรหลายร้อยคนได้ทดลองใช้อุปกรณ์ในพื้นที่เพาะปลูก และต่างก็ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพืชสวยงามที่มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำอย่างยอดเยี่ยม”


        เมื่อถามถึงการต่อยอดโครงการในอนาคต นางสาวสุรีย์พร ตรีเพชรประภา กล่าวว่า “ดิฉันจะนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อช่วยบรรเทาความยากจนในชุมชนของเรา”
       
       ทอร์กนี โฮล์มเกรน กรรมการบริหารของ สถาบันน้ำระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Water Institute หรือ SIWI) กล่าวว่า “สิ่งนี้แสดงว่าในการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชุมชน และผลงานชิ้นนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่สะท้อนถึงความเรียบง่าย ความชาญฉลาด และตอบโจทย์เรื่องการปรับใช้งาน ซึ่งจะสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่”
       
       การแข่งขันชิงรางวัล Stockholm Junior Water Prize จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นความสนใจด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในหมู่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลก โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศจำนวนหลายพันคน เพื่อเป็นตัวแทนจาก 29 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างงานสัปดาห์น้ำโลกประจำปี 2016 ที่กรุงสตอกโฮล์ม

MGR Online       
31 สิงหาคม 2559

12
วันที่ 3 กรกฎาคม 2559

       
       เรียน ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกท่าน
       เรื่อง โปรดช่วยชีวิตคนไทยจำนวนมากที่ต้องมาเสียชีวิตจากการล้างไตทางหน้าท้องด้วยวิธีการ CAPD-First ซึ่งน่าจะมีปัญหาการทุจริตขาดธรรมาภิบาลและน่าจะมีการฮั้วประมูลซื้อน้ำยาล้างไต โปรดช่วยหยุดการกระทำดังกล่าว
       
       ผู้เขียนได้รับทราบความห่วงใยจากหลายท่านว่าการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วย CAPD-first หรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับแรก ของ สปสช. อาจจะเป็นสาเหตุทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก
       
       รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดำรัส โรจนเสถียร ได้เขียนลงในเฟสบุ๊กว่าจากการประมาณคาดว่าใน 5 ปีที่ใช้โครงการนี้ มีคนตายไปแล้วนับหมื่นคน
       
       ผู้เขียนและแพทย์หลายท่านได้พยายามเตือนว่าควรแก้ไขโครงการ เพราะเป็นแนวทางที่ผิดจริยธรรมทำให้แพทย์ไม่สามารถหาเลือกยาและวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วยได้
       
       ล่าสุดผู้เขียนได้ทราบข้อมูลการทำวิจัยจาก นายแพทย์ กฤษณพงศ์ มโนธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตระดับ 10 ได้ทำวิจัยเก็บข้อมูลจาก 2 โรงพยาบาลขนาดใหญ่มากในกรุงเทพมหานครเปรียบเทียบกัน พบว่าอัตราการตายของผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วย CAPD-first สูงจนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถึงแม้ผลการศึกษาจะยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากต้องใช้เวลาการวิจัยอีกระยะ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข ผู้เขียนจึงได้ขอข้อมูลเบื้องต้นนี้มาเปิดเผยให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน
       
       จากรูปฟังก์ชันการอยู่รอดวิเคราะห์ผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม แกนตั้งเป็นอัตราการอยู่รอด แกนนอนเป็นเวลา (เดือน) เปรียบเทียบการรักษาด้วยการฟอกเลือด (HD) กับ CAPD ทั้งหมดเป็น CAPD-first นายแพทย์ กฤษณพงศ์ได้แยกผู้ป่วยตามอายุ ที่ 60 ปี จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยอายุน้อยจะตายน้อยกว่าอายุมาก โดยหากอายุน้อยและรักษาด้วยการฟอกเลือดจะมีอัตราการอยู่รอดสูงในหนึ่งปีพบผู้ป่วยรอดชีวิตถึง 80% ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ หากรักษาด้วย CAPD-first แม้จะมีอายุน้อยก็มีอัตราการตายสูงมาก แถมยังตายมากกว่าผู้ป่วยสูงอายุที่รักษาด้วยการฟอกเลือด (60%) ด้วยซ้ำ โดยพบว่ารักษาด้วย CAPD-first ในหนึ่งปีรอดชีวิตเพียงประมาณ 40% ทั้งกลุ่มที่อายุมากและ 50% ในกลุ่มอายุน้อย อัตราการตายที่สูงนี้สูงกว่าการรักษาด้วย CAPD ในต่างประเทศหรือ CAPD ในไทยในผู้ป่วยที่เหมาะสมและใช้น้ำยาจากแหล่งอื่น ทำให้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าอัตราการตายที่สูงนี้เกิดจากการบริหารจัดการ CAPD-first ผู้เขียนจึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วน และผู้เขียนมีคำถามหลายคำถามที่ต้องการให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแสดงธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 3/1 และ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารบ้านเมืองที่ดี 2546


รูปที่ 1 ฟังก์ชันการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคไตที่ล้างไตด้วย CAPD และ HD จำแนกตามกลุ่มอายุ
        คำถาม 1: ถ้าท่านอายุน้อยกว่า 60 ปี หรือคนในครอบครัวที่ท่านรัก ป่วยเป็นโรคไตวาย ท่านจะเลือกระบบการรักษาด้วยวิธีใด?
       
       คำถาม 2: การที่สปสช กำหนดให้ทุกคนที่ไตวาย ต้องใช้ CAPD-first เป็นนโยบายทางสาธารณสุขที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์และตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
       
       ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้ต้นทุนของการล้างไตทางหลอดเลือด (Hemodialysis) และการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) แทบจะไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด ดังแสดงการคำนวณในตาราง 1 ด้านล่างนี้ สำหรับ CAPD ต้องใช้น้ำยาวันละ 4 ถุงตกรวมเป็นเงิน 15,000 บาทต่อเดือน และสปสช ได้จ่ายเงินค่ายาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับผู้ป่วยที่ฟอกไตทางหน้าท้องอีกเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 18,000 ต่อเดือน ในขณะที่ Hemodialysis มีค่าใช้จ่ายในการฟอกไต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งคำนวณจากราคากลางของสำนักงานประกันสังคม และมีบางท้องที่สามารถทำราคาได้ถูกกว่านี้อีก ดังนั้นต้นทุนในการฟอกเลือดตกที่ 12,000-18,000 บาท ซึ่งจะถูกกว่าสำหรับผู้มีอาการโรคไตไม่หนักมาก
       
       ตารางที่ 1 คำนวณต้นทุนและเปรียบเทียบวิธีการล้างไตทางหน้าท้องของ สปสช (CAPD First) และการล้างไตทางหลอดเลือด (HD)


        คำถาม 3: ในเมื่อต้นทุนถูกกว่าทำไม สปสช จึงเลือกที่จะล้างไตทางหน้าท้องเป็นวิธีการบังคับวิธีการแรก ทั้งๆ ที่แพงกว่า ตายมากกว่า น่ามีการติดเชื้อในช่องท้อง (Peritonitis) ซึ่งหากลุกลามเข้ากระแสเลือด (Sepsis) แล้ว จะเป็นอันตรายมากและค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงมากกว่านี้อีกหลายสิบเท่าโปรดช่วยตอบประชาชนชาวไทยด้วย?
       
        สิ่งที่น่าห่วงใยที่สุดคือในกระบวนการจัดซื้อน้ำยาล้างไตนั้น ดังแสดงในรูปที่ 2 กระบวนการบริหารจัดซื้อและจัดส่งน้ำยาล้างไตในโครงการ CAPD-First ของ สปสช มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 5 ฝ่าย
       
       ฝ่ายแรกคือ สปสช มีหน้าที่ในการคำนวณจำนวนน้ำยาล้างไตที่ต้องจัดซื้อในแต่ละช่วงเวลา เช่น หนึ่งปี จากจำนวนผู้ป่วยไตวาย สปสช สั่งซื้อน้ำยาล้างไตจากองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้จำนวนน้ำยาล้างไตที่สั่งซื้อรวมในแต่ละรอบะปีงบประมาณโดยสปสช จากองค์การเภสัชกรรมคือหมายเลข (1) ในรูปที่ 2 สปสช ใช้วิธีการทยอยสั่งซื้อทีละเล็กละน้อยไม่เกินหนึ่งพันล้านบาทลงนามโดยนายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ
       
       คำถาม 4: การทยอยจัดซื้อน้ำยาล้างไต CAPD ทีละเล็กละน้อย ถือว่าเป็นการซอยการจัดซื้อที่ผิดจาก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 หรือไม่ และถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?
       
       ฝ่ายที่สองคือองค์การเภสัชกรรม ทำหน้าที่เป็นนายหน้าและคนกลางในการจัดซื้อน้ำยาล้างไตจากบริษัทยาสองบริษัทคือ จำนวนน้ำยาทั้งหมดที่จัดซื้อในแต่ละรอบปีงบประมาณนั้นคือตัวเลข (2) ดังแสดงในรูป องค์การเภสัชกรรมได้รับแถมน้ำยาล้างไตร้อยละ 1 จาก บริษัท B ส่วนบริษัท F นั้น ไม่ได้แถมให้ นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมยังจัดจ้างผู้เก็บและผู้ส่งน้ำยาให้ถึงบ้านผู้ป่วยโรคไตวายที่ล้างไตด้วย CAPD ทางหน้าท้อง โดยใช้ตัวเลขหมายเลข (3) ในการแสดงจำนวนดังกล่าว
       
       ฝ่ายที่สามคือบริษัทยา B และ F เมื่อรับคำสั่งซื้อจากองค์การเภสัชกรรมแล้วก็มีหน้าที่ส่งมอบน้ำยาล้างไตเป็นจำนวนเท่ากับหมายเลข (4) ให้กับไปรษณีย์ไทย


        ฝ่ายที่สี่คือไปรษณีย์ไทยมีหน้าที่จัดเก็บรักษาให้น้ำยาล้างไตที่ได้รับมอบมาจาก B และ F เป็นจำนวนเท่ากับ (4) และต้องมีหน้าที่ในการรักษาอุณหภูมิให้ดี ไม่ให้น้ำยาเสื่อม ไม่ให้เกิดการปนเปื้อน และจัดส่งให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเป็นจำนวนเท่ากับ (5) ในรูปที่ 2
       
       ฝ่ายที่ห้าคือประชาชนผู้ป่วยโรคไตตามสิทธิบัตรทองที่เข้าโครงการ CAPD-First ซึ่งต้องล้างไตวันละ 4 ครั้งหรือใช้น้ำยา 4 ถุง ด้วยคุณภาพและปริมาณตรงตามเวลาที่ต้องการ
       
       ทั้งนี้ระบบควบคุมภายใน (Internal Control Process) ต้องควบคุมและตรวจสอบปริมาณของน้ำยาล้างไตในแต่ละขั้นตอนของการจัดซื้อและส่งมอบได้อย่างถูกต้อง โดยหากกระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีประสิทธิภาพแล้ว จำนวนน้ำยาล้างไตจะต้องเท่ากันดังสมการด้านล่างนี้คือ
       
       ปัญหาคือการขาดระบบควบคุมภายในให้ยอดทั้งห้ายอดที่ว่านี้ตรงกัน ทั้งๆ ที่สามารถวางระบบตรวจสอบกระทบยอด (Reconciliation) ด้วยคอมพิวเตอร์ได้โดยง่าย ทั้งนี้ในความเป็นจริงพบว่ายอดดังกล่าวไม่ได้ต้องตรงกันอย่างที่ควรจะเป็น และมีประเด็นที่ควรตรวจสอบด้วยระบบบัญชีซึ่งอาจจะชี้ให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพในกระบวนการดังกล่าวหรืออาจจะมีการทุจริตในกระบวนการดังกล่าวก็เป็นได้ประเด็นที่พึงสังเกตนี้สามารถให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบปริมาณและจำนวนเงินทั้งห้าตัวเลขนี้ว่าตรงกันทุกประการหรือไม่ โดยการนับ stock และดูเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่นเดียวกับกรณีการรับจำนำข้าว หากมีความผิดปกติสามารถสืบหาบุคคลผู้ทุจริตมาลงโทษได้
       
       คำถาม 5: ได้มีการตรวจสอบภายในและแสดงตัวเลขทั้งห้าดังกล่าวว่าตรงกันหรือไม่? มีการสูญเสีย สูญหาย จากโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด? และมีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในการจัดซื้อหรือไม่?
       
       ทั้งนี้การที่ สปสช จัดซื้อยาและน้ำยาล้างไตเองมาโดยตลอดผ่านมาจากองค์การเภสัชกรรม โดยมีการจัดซื้อน้ำยาล้างไตมากเป็นอันดับหนึ่งรองลงมาคือยารักษาโรคเอดส์ผ่านระบบ VMI และทำให้ สปสช ได้รับเงิน rebate กลับคืนเป็นจำนวนเงิน 5% ของยอดที่ซื้อยาและน้ำยาล้างไต แล้วนำเงินดังกล่าวมาเป็นเงินสวัสดิการพนักงานและผู้บริหาร เช่น การซื้อเครื่องแบบให้พนักงาน การจัดรถรับส่งพนักงาน การไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ในนามเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ แทนที่จะนำเงินดังกล่าวมาเป็นเงินรักษาพยาบาลประชาชน ทางกฏหมายต้องถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ต้องจัดการให้เด็ดขาด และ คตร. สตง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตัดสินว่าผิดกฎหมายไปแล้วนั้นก็ยังไม่ได้มีการคืนเงินเป็นของแผ่นดินเพื่อนำกลับมาใช้รักษาชีวิตประชาชนแต่อย่างใด
       
       คำถาม 6: การได้เงิน rebate 5% จากการจัดซื้อน้ำยาล้างไตเป็นแรงจูงใจของสปสช ในการจัดซื้อน้ำยาล้างไต CAPD เพราะทำให้ได้ผลประโยชน์แก่พวกพ้องและเป็นลาภมิควรได้หรือไม่? แม้ทาง สปสช จะได้หยุดเรื่องเงิน rebate ดังกล่าวลงไปแล้ว แต่ทำไมจึงยังไม่มีการเอาผิดและเรียกเงินคืนเข้าคลังหลวงของแผ่นดิน? หากไม่ทำเช่นดังกล่าวจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่? การกระทำดังกล่าวเป็นนายหน้าค้าความจน เป็นนายหน้าค้าความตาย กับประชาชนผู้ยากไร้หรือไม่ ผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์และสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
       
        จากการตรวจสอบพบว่าการจัดซื้อน้ำยาล้างไตของ สปสช น่าจะผิดกฎหมายเข้าข่ายการฮั้วประมูล มีเอกสารที่ชวนให้สงสัยว่าการจัดซื้อดังกล่าวขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เช่น วันที่ 26 กันยายน 2555/วันที่ 12 กันยายน 2556 นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ ได้แจ้งความจำนงค์เรื่องการทำสัญญาจัดซื้อน้ำยาล้างไต ปี 2556 โดยระบุว่า โดยมีเงื่อนไขการสนับสนุนเช่นเดียวกับปีก่อน (การสนับสนุนที่ว่าคือของแถมจากบริษัทยา หรือเงิน rebate 5% ที่สปสช จะได้รับหรือไม่?) ส่วนในวันที่ 20 สิงหาคม 2557 นายแพทย์ประทีป ธนะกิจเจริญ ได้ลงนามแจ้งความจำนงในการจัดซื้อและขอยืมน้ำยาล้างไตทางช่องท้องชนิดถุงคู่ (CAPD) เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการโรคไตวายเรื้อรัง โดยระบุว่าเมื่อได้รับของครบถ้วนแล้ว สปสช จะดำเนินการจัดซื้อในภายหลังต่อไป ภายหลังนายแพทย์วินัย สวัสดิวร ผู้ถูกมาตรา 44 พักงานปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการสปสช เป็นคนลงนามจัดซื้อ
       
       สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ สปสช ได้เจรจาต่อรองกับบริษัทน้ำยาล้างไตโดยตรง ในบันทึกการประชุมหารือของโครงการน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ในวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เวลา 13.30-16.30 ระหว่าง สปสช องค์การเภสัชกรรม ไปรษณีย์ไทย และบริษัทยา และมีการนัดประชุมครั้งต่อไปวันอังคารที่ 8 มกราคม 2556 เวลา 9.30-12.00 ที่ไปรษณีย์ไทย
       
       คำถาม 7: การที่สปสช เข้าไปจัดการและแทรกแซงการทำงานดังกล่าว โดยที่ผู้จัดซื้อน้ำยาล้างไตจากบริษัทยาคือ องค์การเภสัชกรรม สปสช ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อดังกล่าว และการไปประชุมร่วมกับบริษัทยาและเป็นการประชุมต่อเนื่องหลายครั้งเช่นดังกล่าว จะเข้าข่ายฮั้วการประมูลจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่? ทั้งนี้เมื่อมีคนกลางในการจัดซื้อแล้ว เหตุใด สปสช จึงต้องเข้าไปจัดการในเรื่องการจัดซื้อดังกล่าว การไปพบกับบริษัทยาเช่นดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่?
       
       ผู้เขียนขอวิงวอนให้ ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกท่าน ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และตอบคำถามแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดหลักธรรมาภิบาลว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไปตามแต่จะเห็นสมควร
       
       
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
      
3 กรกฎาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000066124

13
 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้โพสต์ใน Facebook ส่วนตัวกล่าวถึงวิกฤตการขาดทุนของ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีกำลังเข้าสู่ขั้นรุนแรงและซ้ำซาก โดยเป็นการ ขาดทุนจากระบบ UC หรือบัตรทอง 30 บาท ประมาณ24,300 ล้านบาทต่อปี และ อาจารย์ได้สรุป ข้อเสนอแนะของชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มาชี้แจง กมธ.สธ. (อย่างย่อ) คือ ปรับเงินเดือนตามลักษณะและภาระงาน ปรับปรุงกลไกการจัดสรร ชดเชยข้ามบริการระหว่างส่งเสริมป้องกันและบริการผู้ป่วยนอก แก้ปัญหาเงินค้างท่อ ปรับประสิทธิภาพการบริหาร รัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ และมี Co-payment ให้ประชาชนจ่ายเพิ่มล่วงหน้า หรือจัดตั้งกองทุนเงินออมส่งเสริมสุขภาพ ไม่ป่วยมีเงินเก็บสะสม ส่วน กมธ.สธ. เคยเสนอเอาไว้ ว่าให้แก้กม.เพื่อแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ยังได้ขอให้ทุกคนทุกฝ่าย “ช่วยกันคิดหาวิธีให้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองเดินหน้าต่อไปให้เกิดความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของพี่น้องคนไทย”


        ผู้เขียนขอเสนอว่า มีกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ควรพิจารณาปรับปรุงหลักการและวิธีการบริหารจัดการกองทุนย่อย ของ สปสช. ด้วย เชื่อว่าหากประสบความสำเร็จจะส่งผลดีต่อ สุขภาพของประชาชนและลดปัญหา โรงพยาบาลขาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปรดพิจารณาการแบ่งงบประมาณของ บัตรทอง ดังรูป (ใน comment)
       
       สรุปคร่าวๆ คือ งบประมาณของ บัตรทองหรือ UC ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอนเตียง กองทุนย่อย และ เงินเดือนบุคลากร อย่างละประมาณเท่าๆ กัน ข้อสังเกตคือ งบประมาณกองทุนย่อยซึ่งดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงกลุ่มเล็กกลับเท่ากับหรือมากกว่า ผู้ป่วยในเสียอีก ดังนั้นหากบริหารงบประมาณกองทุนย่อยด้วยหลักการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อได้ว่า นอกจากจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาแล้วยังสามารถพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
       
       ในปัจจุบันการกำหนดกองทุนย่อยว่าจะทำอะไรบ้างเป็นการกำหนดตามนโยบายผู้บริหาร สปสช. และขาดการศึกษาความคุ้มค่าแบบองค์รวม เช่น มีการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ HIV แต่ไม่มีการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยไม่มีการศึกษาว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และส่วนใหญ่ขาดการศึกษาทางคลินิกก่อนนำมาใช้ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคตามหลักสากล เช่น ผู้ป่วยไตวายทุกคนหากต้องล้างไต ตามหลักควรจะเลือกได้ว่าจะฟอกเลือด หรือทำ CAPD คือการล้างไตโดยใส่น้ำยาในช่องท้องเองที่บ้าน ที่ผ่านมา สปสช. ให้ผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองทุกคนทำ CAPD ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเรียกว่า CAPD-first ก่อนกำหนดใช้ CAPD-first ทั่วประเทศไม่มีการศึกษาทางคลินิคเปรียบเทียบ CAPD-first กับ CAPD ตามข้อบ่งชี้ และ การฟอกเลือด เป็นต้น นอกจากนี้การบริหารกองทุนย่อยจะเป็นแบบ “one rule fits all” หมายความว่าทั่วทั้งประเทศใช้วิธีเดียวกันไม่ขึ้นกับบริบทใด ๆ เช่น ผู้ป่วยไตวายทุกคนที่ใช้สิทธิบัตรทองหากต้องล้างไตต้องใช้ CAPD-first เท่านั้น ไม่มีสิทธิฟอกเลือด แม้ว่าจะอยู่ใกล้โรงพยาบาลที่ฟอกเลือดได้ก็ตาม สุดท้าย สปสช ไม่มีการศึกษาติดตามผลด้านคุณภาพ เช่น โครงการ CAPD-first ได้ดำเนินมาถึง 10 ปี สปสช กลับไม่ทราบเลยว่า CAPD-first มีอัตราการตายสูงผิดปกติ
       
       ในด้านการบริหารงบประมาณปัจจุบันกองทุนย่อยแตกเป็นหลายกองทุน และห้ามโอนเงินข้ามกองทุน ทำให้เมื่อใช้เงินไม่หมดก็กลายเป็นเงินค้างท่อและเป็นเงินที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างยิ่ง
       
       การกำหนดกองทุนย่อยโดยขาดการศึกษาถือว่าขัดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง “เหตุผล” “one rule fits all” และการแตกงบประมาณเป็นกองทุนย่อย ๆ โดยห้ามโอนข้ามกองทุน เป็นแนวทางบริหารที่ขัดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง “ความพอเพียง” ไม่มีการศึกษาติดตามผลด้านคุณภาพ เป็นแนวทางบริหารที่ขัดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง “ภูมิคุ้มกัน”
       
       ในการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควรพิจารณา ถึง เหตุผล ความพอเพียง และภูมิคุ้มกัน ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ สร้างหลักการ การบริหารกองทุนย่อยดังนี้
       
       เหตุผล หลักการของเหตุผลในงานบริหารคือรู้เหตุของปัญหาและรู้คุณค่าในงานนั้น ๆ
       1. ใช้คนให้ถูกกับงาน เหตุผลคือกองทุนย่อยทำขึ้นเพื่อการบริการและบริบาลทางการแพทย์ การดำเนินงานเป็นหน้าที่ของ องค์กรแพทย์ซึ่งรู้หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยและข้อห้ามในการใช้วิธีการดูแลรักษา ที่ผ่านมา สปสช. เป็นคนกำหนดวิธีการดำเนินการซึ่ง สปสช. เป็นองค์กรประกันค่ารักษาการเข้าไปบริหารจัดการการรักษาโรคยากที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุ่มเสี่ยงในการผิดจริยธรรมทางการแพทย์จากความไม่รู้
       2. สร้างกองทุนย่อยตามเหตุตามผล
       2.1 สร้างวิธีการศึกษาปัญหาของแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีการทางระบาดวิทยาและศึกษาจากผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่น
       2.2 สธ และ สปสช วิเคราะห์ เพื่อเลือกโครงการที่เหมาะสม ที่เมื่อทำแล้วสามารถลดภาระของโรงพยาบาล เช่น ในอีสานหากลดการติดพยาธิในตับได้ก็จะสามารถลดภาระงบประมาณการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับได้ เป็นต้น
       2.3 สร้างกองทุนย่อยเพื่อศึกษาวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและถ่ายทอดวิธีแก้ปัญหาให้แก่ผู้ปฏิบัติตามปกติ
       
       พอเพียง หลักการของความพอเพียงทางด้านงบประมาณคือ ใช้ให้พอดี ให้เหมาะสม ไม่เบียดเบียนองค์รวม และเกื้อหนุนองค์รวม
       1. พอดี และ เหมาะสม : ดำเนินกองทุนย่อนตามปัญหาในพื้นที่ และเมื่อดำเนินการจะได้ผลดีกว่าการจัดการโดยวิธีปกติ ทั้งแง่ค่าใช้จ่ายและคุณภาพการรักษา
       2. ไม่เบียดเบียน : กำหนดงบประมาณโดยให้ ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอนเตียงเป็นหลัก หากมีงบประมาณเหลือจึงควรนำมาใช้สำหรับโครงการเฉพาะ หากทำตามนี้จะแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนได้ทันที อย่างไรก็ตามอาจจะต้องวางแผนให้เกิดผลกระทบกับโครงการกองทุนย่อยที่สำคัญด้วย
       3. เกื้อหนุน : ปัญหาการขาดทุนหนึ่งของโรงพยาบาลคือ เงินค้างท่อในกองทุนย่อย ดังนั้น ควรบริหารงบประมาณโดยถ่ายโอนเงินค้างท่อไปที่โรงพยาบาลที่ขาดทุนได้ นอกจากนี้กองทุนย่อยนั้น ๆ นอกจากจะทำเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะแล้ว ควรจะทำเพื่อลดภาระงานของโรงพยาบาลทางอ้อมด้วย เช่น วัคซีนป้องกันโรคจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใน โรงพยาบาล เป็นต้น
       4. เลิกใช้ “one rule fits all” นอกจากทำให้มีการรักษาที่ไม่เหมาะสมกับบริบทโดยไม่จำเป็นแล้ว “one rule fits all” ยังเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่เหมาะสม เช่น เคยมีรายงานจากราชวิทยาลัยจักษุว่า การผ่าตัดต้อกระจกด้วยงบกองทุนย่อยของ สปสช มีการผ่าต้อกระจกเกิน เป็นต้น
       5. รวมงบประมาณกองทุนย่อยเป็นกองทุนเดียว และหากใช้ไม่หมดควรโอนไปเป็นค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
       
       ภูมิคุ้มกัน หลายต่อหลายครั้ง การทำงานเพื่อผลดีกลับกลายเป็นผลเสียได้ บทบาทของภูมิคุ้มกันในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียจากการบริหารนั้น ๆ
       1. มีการประเมินผลการทำงานของกองทุนย่อยโดยเฉพาะด้านคุณภาพ เปรียบเทียบกับการดำเนินตามปกติ
       2. ประเมินความคุ้มค่าในการทำกองทุนย่อยว่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลหรือไม่
       3. มีแผนการและวิธีการในการยุบเลิกโครงการในเวลาอันควร ทั้งโครงการแก้ปัญหาแล้ว และ โครงการที่ผลการประเมินไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยการยุบเลิกโครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบ
       
       ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้ทำตาม แต่ขอให้พิจารณา ศึกษาข้อเสนอนี้ด้วย อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า การนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร       
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
22 กรกฎาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000072438

14
นพ.ปพน ดีไชยเศรษฐ
       ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาหม่อม จังหวัดสงขลา

       
       หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เมื่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และนำมาประกาศใช้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 โครงการนี้ประชาชนเรียกติดปากว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นโครงการที่ได้รับความนิยมและชื่นชอบจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนไม่มีรัฐบาลหรือนักการเมืองคนใดกล้ายกเลิกโครงการนี้ได้ แม้โครงการนี้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่าโครงการนี้มีปัญหามาก ยกตัวอย่างเช่น งบประมาณที่ต้องใช้มากขึ้นทุกปีจนเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ โรงพยาบาลขาดทุน ปัญหาคุณภาพการรักษาพยาบาล เป็นต้น
       
       ถ้าไม่มีการแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้น โครงการนี้อาจทำให้ระบบการเงินการคลังของประเทศล่มสลายได้และอาจทำให้ต้องยกเลิกโครงการนี้

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : ปัญหาและแนวทางแก้ไข
        ดังนั้นเพื่อให้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการต่อไปได้และมีการพัฒนาการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีการแก้ไขโครงการนี้ให้ดียิ่งขึ้น
       
       สำหรับปัญหาของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพอจำแนกได้ดังนี้
       
       1. ปัญหางบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ
       โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ UC เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2546 ได้งบรายหัว 1,202.40 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2559 ได้งบรายหัว 3,028.94 บาท ครอบคลุมประชากร 48.787 ล้านคน รวมเป็นเงินทั้งหมด 163,152 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นมาก ถ้าไม่มีการแก้ไขปรับปรุงจะทำให้งบประมาณของโครงการนี้ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมากจนเป็นภาระกับระบบการเงินการคลังของประเทศ แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลที่ขาดทุนยังมีจำนวนมาก ผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากขึ้น
       
       2. โรงพยาบาลขาดทุนจากการดำเนินงาน
       
       สาเหตุที่โรงพยาบาลขาดทุนมีหลายสาเหตุ ได้แก่
       
       2.1 งบประมาณที่จัดสรรให้โครงการหลักประกันสุขภาพไม่เพียงพอ ทำให้เงินที่สปสช.จัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆไม่เพียงพอ
       
       2.2 ปัญหาจากระบบการจัดสรรเงินของ สปสช. ที่จัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆแบบเหมาจ่ายรายหัว ตามประชากรที่ขึ้นทะเบียน ทำให้โรงพยาบาลที่มีประชากรขึ้นทะเบียนน้อยได้รับเงินน้อย ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
       
       2.3 การเอาเงินเดือนบุคลากรรวมอยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้โรงพยาบาลที่มีประชากรขึ้นทะเบียนน้อย มีค่าบุคลากรสูง ส่งผลให้มีเงินมาใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยเหลือน้อย ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
       
       นอกจากนี้การจ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวในงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ของ สปสช.จะมีการหักเงินเดือนก่อน จึงโอนเงินมาให้โรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยมากขึ้น หรือมีงบช่วยเหลือจากเขตสุขภาพเพิ่มเติมให้โรงพยาบาล สปสช.ก็ยังหักเงินเดือนเพิ่มอีก แล้วจึงโอนเงินส่วนที่หักเงินเดือนไปแล้วมาให้โรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลขอดูรายละเอียดการหักเงินเดือนเพิ่มและการจัดสรรเงิน สปสช.ก็ไม่ให้ดู ทำให้โรงพยาบาลไม่ทราบตัวเลขเงินที่จะได้รับจัดสรรจริงๆ
       
       การรวมเงินเดือนอยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคาดหวังว่าจะมีบุคลากรกระจายไปอยู่ในโรงพยาบาลที่ขาดบุคลากรแต่มีเงินมาก ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา 10 กว่าปีพบว่าไม่สามารถกระจายบุคลากรไปอยู่ได้ โรงพยาบาลชุมชนที่มีบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจากการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีมากขึ้น การจัดสรรของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บุคลากรไปอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น ค่าตอบแทนบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนที่เพิ่มขึ้นมีผลให้บุคลากรไปอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น
       
       ดังนั้นจึงเห็นสมควรตัดเงินเดือนออกจากโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้การจัดสรรเงินให้โรงพยาบาลมีความเป็นธรรม ถูกต้อง ทำให้การทำงานของสปสช.ง่ายขึ้นและดีขึ้น
       
       2.4 การแบ่งงบกองทุนเป็นกองทุนย่อยๆ เฉพาะโรคจำนวนมาก ห้ามเบิกเงินข้ามกองทุน ส่งผลให้มีเงินค้างท่อจำนวนมาก
       
       2.5 การโอนเงินกองทุนไปให้แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช้หน่วยบริการ เช่น สวรส. , มูลนิธิต่างๆ ทำให้เงินที่จะโอนให้หน่วยบริการเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมีน้อยลง
       
       2.6 ค่าตอบแทนบุคลากรตามระเบียบค่าตอบแทนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น มีส่วนทำให้โรงพยาบาลขาดทุน แต่จำเป็นต้องให้ค่าตอบแทนบุคลากรในส่วนนี้ เพื่อให้บุคลากรทำงานได้ดีขึ้น มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ไม่ลาออก
       
       3. ผลเสียต่อสุขภาพประชาชน คุณภาพการรักษาพยาบาลและมาตรฐานทางการแพทย์
       
       จากผลการศึกษาของ TDRI และผู้ศึกษาท่านอื่นๆ พบว่า อัตราการตายของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สูงกว่าสิทธิข้าราชการ
       
       การจำกัดสิทธิในการรักษาของสปสช.ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะยินยอมจ่ายเงินเอง สปสช.ก็ไม่ยินยอม ถ้าโรงพยาบาลจะจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โรงพยาบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นเอง โรงพยาบาลซึ่งขาดทุนอยู่แล้วจึงไม่สามารถจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยบางโรคเช่น มะเร็ง โรคธาลัสซีเมีย ไม่สามารถรับยาที่มีคุณภาพดีได้ แม้จะยินยอมจ่ายเงินเองก็ไม่ได้
       
       โรคบางโรคเช่น โรคไตวายเรื้อรัง สปสช.บังคับให้ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง(CAPD–First)ก่อนที่จะรักษาด้วยวิธีล้างไตทางเส้นเลือด (Homodialysis) ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายมีอัตราการติดเชื้อในกระแสเลือดสูง มีอัตราตายสูงกว่าผู้ป่วยไตวายสิทธิอื่นๆ
       
       4. ผลเสียต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานดูแลรักษาพยาบาล
       
       ผลจากการมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนมารับบริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น โดยที่บุคลากรเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้น ต้องตรวจผู้ป่วยให้เร็วขึ้นเนื่องจากมีผู้ป่วยมารอตรวจจำนวนมาก ต้องอยู่เวรมากขึ้น ได้พักผ่อนน้อยลง ส่งผลให้สุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์แย่ลง บางคนทนกับภาระงานไม่ไหวต้องลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน
       
       การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้น ต้องตรวจรักษาให้เร็วขึ้น ไม่มีเวลาอธิบายโรคให้ผู้ป่วยเข้าใจให้มากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแย่ลง มีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น ทำให้แพทย์เสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน แพทย์มีการส่งตรวจพิเศษมากขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็น แต่เพื่อป้องกันตนเองกรณีที่ถูกฟ้อง ทำให้มีการส่งตรวจที่มากเกินไป ส่งผลให้โรงพยาบาลและประเทศชาติต้องสูญเสียเงินมากขึ้น และผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น
       
       แนวทางการแก้ไข
       
       ควรมีการปรับปรุงแก้ไขโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อความเท่าเทียม ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อคือ
       
       1. ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่ดีขึ้น
       2. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพมีความสุข ทำงานได้ดีขึ้น
       3. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอยู่ได้ ไม่ขาดทุน สามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น
       
       สำหรับแนวทางการแก้ไขและพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้
       
       1. การตัดเงินเดือนบุคลากรออกจากโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       จะทำให้การจัดสรรเงินของสปสช.ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โรงพยาบาลต่างๆสามารถรับรู้เงินที่จะได้รับจัดสรรได้เที่ยงตรงขึ้น
       
       โรงพยาบาลที่ขาดทุนจากการที่มีประชากรขึ้นทะเบียนน้อย แต่มีค่าบุคลากรสูง จะได้รับเงินมากขึ้น
       
       สำหรับโรงพยาบาลที่มีประชากรขึ้นทะเบียนมากและมีค่าบุคลากรน้อย อาจมีผลกระทบบ้าง แต่เนื่องจากได้รับเงินจัดสรรมากอยู่แล้ว โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีกำไร เงินที่ลดลงจากการตัดเงินเดือนออกไป คงมีผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลที่ขาดทุน
       
       2. การจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวให้โรงพยาบาล ให้จัดแบบขั้นบันได เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีประชากรน้อยมีรายรับเพิ่มขึ้น สามารถลดการขาดทุนของโรงพยาบาลได้
       
       3. การจัดงบกองทุนย่อยเฉพาะโรค ควรมีเท่าที่จำเป็นและน้อยที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศเท่านั้น กรณีมีเงินกองทุนย่อยเหลือ ควรให้สามารถใช้จ่ายเบิกข้ามกองทุนไปช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดทุนหรือไปใช้ในหมวดเหมาจ่ายรายหัวได้
       
       4. การร่วมจ่ายแบบเศรษฐกิจพอเพียง / ประชารัฐ
       
       4.1 การใช้จ่ายผ่านค่าใช้จ่ายส่วนแรก คือการเก็บเงิน 30 บาทสำหรับผู้มารับบริการทุกคน ยกเว้นผู้ยากจนที่ลงทะเบียนกับรัฐบาล ซึ่งการเก็บเงินส่วนนี้อาจเพิ่มเป็น 50 บาท เพื่อให้ผู้มารับบริการเห็นคุณค่าของการมารับบริการทางการแพทย์ มาใช้บริการทางการแพทย์อย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้บริการเกินเลย ประชาชนจะดูแลสุขภาพมากขึ้น
       
       4.2 การซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้า (Co-insurance)
       
       โดยการให้สปสช.เป็นผู้ดูแลออกกองทุนประกันสุขภาพล่วงหน้า ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 39 (3) ,(8)
       
       การซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้า ไม่ได้ทำให้สิทธิบัตรทองเดิมลดลง แต่เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากบัตรทองเดิม โดยบัตรทองที่ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าอาจตั้งชื่อใหม่เป็น บัตรทองพรีเมี่ยม บัตรทองวิสดอม บัตรทองช่วยชาติ หรือชื่ออื่นๆที่เหมาะสม ในที่นี้ขอใช้ชื่อว่า “บัตรทองช่วยชาติ”
       
       บัตรทอง ได้สิทธิประโยชน์หลักหรือพื้นฐาน
       บัตรทองช่วยชาติได้สิทธิประโยชน์หลัก ร่วมกับสิทธิประโยชน์พิเศษ
       บัตรทองช่วยชาติ ราคาประมาณ 4,000 บาทต่อปี
       
       สิทธิประโยชน์พิเศษของบัตรทองช่วยชาติ
       1. สามารถพักในห้องพิเศษได้ และได้ส่วนลดค่าห้องพิเศษ 1,000 บาทต่อวัน ปีละไม่เกิน 10 วัน (โดยโรงพยาบาลร่วมลดให้ 500 บาทและกองทุนบัตรทองช่วยชาติร่วมจ่าย 500 บาท)
       2. ส่วนลดค่าตรวจนอกเวลาราชการ 50 บาทต่อครั้ง ปีละไม่เกิน 12 ครั้ง (โดยกองทุนบัตรทองช่วยชาติ จ่ายให้กับโรงพยาบาล 50 บาทต่อครั้ง)
       3. ค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เบิกได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี
       4. ค่าผ่าตัดพิเศษ ค่าหัตรการพิเศษ เบิกได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี
       5. ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ได้ส่วนลด 1,000 บาทต่อ Package (โดยโรงพยาบาลร่วมลดให้ 500 บาทและกองทุนบัตรทองช่วยชาติร่วมจ่าย 500 บาท)
       6. สามารถเลือกโรงพยาบาลของรัฐที่จะไปตรวจรักษาได้ทุกแห่ง
       7. เงินซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้า (บัตรทองช่วยชาติ) ของตนเองและบุคคลในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
       8. กรณีไม่ได้ใช้สิทธิรับบริการใดๆ จะได้รับส่วนลด 10% , 20% ,30% ในปีถัดๆไป
       9. สามารถซื้อสิทธิประกันสุขภาพล่วงหน้า (บัตรทองช่วยชาติ) ได้ทุกสิทธิ ทั้งสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง (สิทธิบัตรทองช่วยชาติ ใช้สิทธิได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของแต่ละสิทธิเท่านั้น)
       
       ข้อดีของสิทธิบัตรทองช่วยชาติ
       - โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนาให้ดีขึ้น สามารถอยู่ได้แบบยั่งยืน
       - ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น มีศักดิ์ศรี ร่วมเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น
       - สิทธิประโยชน์พื้นฐานยังเหมือนเดิม แต่ได้สิทธิเพิ่มขึ้นในบัตรทองช่วยชาติ
       - ประชาชนมีสิทธิเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด เลือกยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้
       - ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของประชาชนได้ดีขึ้น มีการตรวจสุขภาพประจำปี
       - โรงพยาบาลขาดทุนลดลง มีการพัฒนาคุณภาพการรักษาให้ดีขึ้น สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถเก็บค่ารักษาแพงเกินไปได้
       - ส่งเสริมการออม เนื่องจากบัตรทองช่วยชาติสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
       - ประชาชนทุกสิทธิ มีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล
       
       5. แก้ไขมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       “เงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการโดยหาผู้กระทําผิดมิได้หรือหาผู้กระทําผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร” ให้รวมถึงคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ (สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง และคนไทยที่ไม่มีสิทธิใดๆ)
       
       6. ยกเลิกมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรา 41 ไล่เบี้ยเอาแก้ผู้กระทําผิดได้

โดย นพ.ปพน ดีไชยเศรษฐ       
19 สิงหาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000083106

15
31 สิงหาคม 2559 จะเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของประเทศเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะวันที่ 31 สิงหาคมคือวันแรกของ “การประชุมสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 (The Union Peace Conference- 21st Century Panglong)” ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วัน ณ กรุงเนปิดอ เมืองหลวงของประเทศ โดยมีเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายบัน คี มูน เป็นสักขีพยาน และเป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม และในการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมจาก 16 ตัวแทนจากรัฐบาล 16 ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ 10 ตัวแทนจากพรรคการเมือง และตัวแทนทั้งจาก กองทัพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งแน่นอนว่า หากการประชุมสัมติภาพครั้งนี้สามารถบรรลุข้อตกลงต่างๆ ที่จะประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของเมียนมาได้แล้วล่ะก็ รากฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะนำพาเมียนมาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะสามารถลงหลักปักฐานได้
       
       ปัญหาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางครั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธทำให้สถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศเมียนมาเป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดการณ์ และกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
       
       ปัจจุบัน เมียนมาประกอบด้วย 14 เขตการปกครอง โดย 7 เขตถูกเรียกว่า ภูมิภาค (region) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า อันได้แก่ เขตตะนาวศรี (Tanintharyi) เขตหงสาวดี (Bago) เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) เขตมาเกว (Magway) เขตย่างกุ้ง (Yangon) เขตสะกาย (Sagaing) และ เขตอิรวดี (Ayeyarwady)
       
       ในขณะที่อีก 7 เขต ถูกเรียกว่ารัฐ (State) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยตั้งหลักแหล่งอยู่มากกว่า พื้นที่เหล่านี้ได้แก่ รัฐกะฉิ่น (Kachin) รัฐกะยา (Kayah) รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) รัฐฉานหรือรัฐไทใหญ่ (Shan) รัฐชิน (Chin) รัฐมอญ (Mon) และ รัฐยะไข่ (Rakhine)
       
       ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมียนมาก็เช่นเดียวกับประเทศไทยในอดีต นั่นคือ เราไม่ได้มีรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติที่มีเขตพื้นที่ทางการเมืองการปกครองที่ชัดเจนเหมือนในยุโรป แต่เราอยู่รวมกันในลักษณะของกลุ่มคน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองคอยขยายอิทธิพลเข้ามา ในกรณีของเมียนมาในอดีต ก็ได้แก่ อาณาจักรพุกาม อาณาจักรตองอู และอาณาจักรคองบอง ซึ่งเป็น 3 จุดศูนย์กลางอำนาจใหญ่ที่เคยรวบรวมผู้คนจำนวนมากในอดีตไว้ได้
       
       แน่นอนว่าการรวมกลุ่มกันในลักษณะนี้ทำให้ มหาอำนาจตะวันตกในอดีตแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคมได้อย่างไม่ยากนักภายใต้แนวคิดแบ่งแยกแล้วปกครอง
       
       ในกรณีของเมียนมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐฉานหรือไทใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศไทยภายใต้ชื่อ สหรัฐไทยเดิม ถูกกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาดูแล ทำให้เกิดการประชุมปางหลวง ครั้งที่ 1 ขึ้น เมื่อปี 1946 โดยตัวแทนของฝ่ายพม่านำโดย อู นุ (ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ) พยายามเจรจากับฝ่ายเจ้าฟ้าไทใหญ่เพื่อขอให้นำเอารัฐฉานเข้าเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับประเทศพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักร แต่ความพยายามครั้งนี้ล้มเหลว และนำไปสู่การประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ในช่วงต้นของเดือนกุมภาพันธ์ 1947

สนธิสัญญาปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ภารกิจจากพ่อสู่ลูก
นายพลอองซาน (แฟ้มภาพ)
        การประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากที่นายพลอองซาน (คุณพ่อของ ดอ อองซาน ซูจี) ลงนามใน Aung San – Atlee Agreement เมื่อช่วงเดือนมกราคม 1947 โดยสาระสำคัญของข้อตกลงนี้ก็คือสหราชอาณาจักรต้องคืนเอกราชให้กับพม่าในอีก 1 ปี ต่อจากนี้ โดยจะมีการรวมอาณานิคมทั้งหมดของสหราชอาณาจักรในบริเวณนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งแน่นอนสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้ในการประชุมช่วงแรกของปางหลวงครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1947 ไทใหญ่หรือรัฐฉานปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า ตัวแทนฝ่านคะฉิ่นเข้าร่วมประชุมกับไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐฉิ่นเข้าร่วมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ โดยทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ตกลงจัดตั้ง Supreme Council of the United Hills Peoples (SCUHP) ขึ้นเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า
       
       และในที่สุดพระเอกก็ออกโรงในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เมื่อนายพลอองซาน เข้าร่วมการเจรจา พร้อมกับ H.N.C Stevenson ตัวแทนฝ่ายสหราชอาณาจักรและสามารถเจรจจนหาข้อยุติได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1974 โดยการลงนามของ ฝ่ายพม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น และชิน ใน สนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement)
       
       โดยใจความสำคัญของสัญญาปางหลวง ก็คือ ตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาข้าหลวงเกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน, สมาชิกของ SCUHP ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ, ที่ปรึกษาข้าหลวงและผู้ช่วยที่ปรึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบดินแดนของตนเอง, กำหนดรายละเอียดในการตั้งรัฐกะฉิ่น, ประชากรในรัฐชายแดนมีสิทธิเท่ากับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ, การดำเนินงานตามสนธิสัญญาต้องไม่ละเมิดสิทธิทางการคลังของรัฐฉาน รัฐชิน และ รัฐกะฉิ่น
       
       และนั่นเองที่ทำให้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรทั้งหมดสามารถรวมตัวกันได้ จนทำให้ประเทศได้รับเอกราชในอีก 1 ปีต่อมา นั่นทำให้สนธิสัญญาปางหลวงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกอบกู้เอกราช เช่นเดียวกับนายพลอองซานที่ก็ได้รับสถานะวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติด้วยเช่นกัน
       
       อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่าในช่วงกลางปี 1947 โดยทุกกลุ่มคาดหวังจะเห็นประเทศเป็น สหพันธรัฐ ที่แต่ละกลุ่มน่าจะมีอำนาจในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทุกคนคาดไว้ เพราะ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 อองซานและคณะบริหารถูกลอบยิงและเสียชีวิตในอาคารที่กำลังประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ ทำให้ อูนุ ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน และทำให้ใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป
       
       โดยสิทธิในการถอนตัวซึ่งเป็นใจความสำคัญของสนธิสัญญาปางหลวงได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญก็จริง แต่เป็นไปเพียงเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะการจะขอแยกตัวเพื่อตั้งรัฐอิสระตามที่ตกลงกันไว้ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข คือ 1) ต้องผ่านไป 10 ปีจึงถอนตัวได้ 2) ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ 3) ผู้นำของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นำของสหภาพทราบเพื่อดำเนินการลงประชามติ และในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงรัฐฉานกับรัฐกะยาเท่านั้นที่มีสิทธิถอนตัว รัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมแต่แรก ส่วนรัฐชินถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองพิเศษจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       
       เท่านั้นยังไม่พอ รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนานด้วย เพราะในปี 1962 นายพลเนวินก็ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่ค่อนข้างล้มเหลวของอูนุ และเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในรูปแบบของพม่าเอง จนถึงปี 1988 และกว่าที่ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นในเมียนมาก็ต้องรอจนถึงปลายปี 2015 ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไป และได้ประธานาธิบดี อู ทิน จ่อ ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในรอบ 50 ปีของประเทศ
       
       แน่นอนว่า ดอ อองซาน ซูจี ลูกสาวนายพลอองซาน ผู้เป็นแรกผลักดันสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลรวมทั้งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ ย่อมต้องการเห็นการยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเป็นปัญหาเรื้อรังมาต้องแต่สมัยคุณพ่อของเธอ รวมๆ แล้วก็ว่า 70 ปีจากการประชุมปางหลวงครั้งแรกในปี 1946 จนปัจจุบัน 2016
       
       ดอ อองซาน ซูจี แม้จะมีความขัดแย้งบ้างเล็กน้อยในช่วงของการเลือกตั้งทั่วไป ที่พรรค NLD ของเธอส่งตัวแทนเข้าไปลงสนามเลือกตั้งแข่งกับผู้สมัครจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนเมษายน 2016 พอถึงเดือนพฤษภาคม คณะทำงาน Union Peace Dialogue Joint Committee (UPDJC) ก็เกิดขึ้น โดยกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากรัฐบาล 16 คน ตัวแทนจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 16 คน และอีก 10 คนจากพรรคการเมือง ร่วมทำงานเพื่อให้เกิดการประชุม “การประชุมสันติภาพปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 (The Union Peace Conference- 21st Century Panglong) ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559
       
       ภารกิจที่คุณพ่อของเธอทำยังไม่สำเร็จ และต้องรอคอยนานกว่า 70 ปี เพื่อให้ลูกสาวมาสานต่อจะสำเร็จหรือไม่ ต้องคอยจับตาดูครับ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม       
31 สิงหาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000087219

หน้า: [1] 2 3 ... 13