แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 51
76
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” หลักคำสอนในทางพุทธศาสนาที่คุ้นหูกันดีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้พูดถึงความไม่มีโรคในความหมายถึงการมีสุขภาพดีแต่อย่างใด  ความหมายที่แท้จริงของความไม่มีโรค(อาโรคยะ)นั้นกลับหมายถึง “นิพพาน” คือเป็นสภาวะสมบูรณ์สูงสุด

ขณะที่การมีสุขภาพดีในทัศนะพุทธศาสนาโดยทั่วไปหมายถึงความมีโรคน้อยต่างหาก เนื่องจากพุทธศาสนามองว่าความเจ็บไข้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะมนุษย์เราประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นอนิจลักษณะ คือเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เป็นอนิจจัง หลักสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรให้สมบูรณ์ดี และในยามที่เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปทุกข์ใจ เรามีหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขบำบัดรักษาและบริหารชีวิตให้ดี ถ้าหลีกเลี่ยงโรคได้ก็หลีกเลี่ยง ถ้ามันเกิดขึ้นก็รักษาไป ทำให้ได้ผลดี แต่อย่าไปทุกข์กระวนกระวายกับโรคภัยไข้เจ็บนั้น

ในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้แบ่งโรคออกเป็น 2 อย่างด้วยกันคือ โรคทางกายกับโรคทางใจ ทั้ง 2 โรคนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “คนที่ไม่มีโรคทางกายเป็นเวลานานๆ ก็ยังพอหาได้ แต่คนที่ไม่มีโรคทางใจ แม้เพียงชั่วขณะนั้นหาได้ยากเต็มที จะมีก็แต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีโรคทางใจ” โดยนัยนี้ พระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับโรคทางใจมากกว่าโรคทางกาย ในแง่จุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนา สุขภาพกายเป็นเพียงบันไดให้เราไต่ไปสู่จุดหมาย ไม่ใช่เป็นจุดหมายปลายทางแต่อย่างใด เพราะในที่สุดแล้วมนุษย์ควรจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยการมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ ส่วนสุขภาพกายเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เราเข้าถึงชีวิตที่ดีงามขึ้นไป ไม่ใช่จุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนา

ในสมัยพุทธกาล การจัดการสุขภาพโดยเฉพาะในหมู่พระภิกษุสงฆ์ เน้นไปที่การจัดการทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพราะกายและใจนั้นสัมพันธ์กัน เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เมื่อกายสงบ ย่อมได้รับความสุข และเมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น ในทางกลับกันถ้าจิตใจไร้ปีติ กายก็ย่อมไม่สงบ เมื่อกายไม่สงบ จะหาความสุขและสมาธิได้อย่างไรกัน

ดังจะเห็นได้จากการบำเพ็ญทุขรกิริยาของพระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ ทรงทรมานพระวรกายนานาวิธี มีการกลั้นลมหายใจและอดอาหาร จนทำให้กายไม่สงบ เครียด ระส่ำระสาย หาความสุขไม่ได้ จิตก็ไม่เป็นสมาธิ ฟุ้งซ่าน จนพระองค์ต้องหันมาเดินทางสายกลาง การจัดการสุขภาพในความหมายนี้ย่อมต้องสมดุลกันทั้งกายและใจ

หลักฐานที่จารึกไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก กล่าวไว้ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของพระภิกษุนั้นมีทั้งระดับธรรมดา ระดับปานกลาง กระทั่งระดับรุนแรง ส่วนการดูแลรักษามีด้วยกันหลายวิธี ทั้งโดยวิธีทางการแพทย์ โดยธรรมะ และโดยการป้องกันการเกิดโรคด้วยข้อปฏิบัติสุขอนามัยในวัตร 14

การดูแลรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ หมายถึงการรักษาด้วยยา บางครั้งอาศัยพระภิกษุดูแลกันเอง บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ลงมาดูแลด้วยพระองค์เอง และบางครั้งก็อาศัยหมอชาวบ้านมาช่วยดูแล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น ยาที่ใช้ส่วนมากเป็นยาพื้นบ้าน ในเภสัชชขันธกะ พระวินัยปิฎกเล่มที่ 5 ได้พรรณนาถึงยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น เช่น

ชนิดที่เป็นรากไม้ ได้แก่ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู เหง้าบัว  รากบัว เป็นต้น

น้ำฝาดที่เป็นยา  ได้แก่ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมาน เป็นต้น

ยาชนิดที่ใช้ใบ ได้แก่ ใบสะเดา ใบโมกมัน ใบขี้กา ใบแมงลัก ใบฝ้าย เป็นต้น

ยาชนิดที่ใช้ผล ได้แก่ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกศ เป็นต้น

ยาชนิดที่ใช้ยางไม้ ได้แก่ หิงคุ ยางเคี่ยวจากหิงคุ ยางเคี่ยวจากเปลือกหิงคุ ยางจากยอดตันตกะ ยางจากใบตันตกะ ยางจากการเคี่ยวก้านตันตกะ กำยาน เป็นต้น

นอกจากยาที่ได้จากธรรมชาติแล้ว ยังมียาที่ได้จากคน สัตว์ เช่น การใช้สมอดองน้ำปัสสาวะโค หรือน้ำปัสสาวะคน การใช้อุจจาระของคนผสมเป็นตัวยาแก้พิษ

อย่างไรก็ตาม ยังปรากฎหลักฐานว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นรู้จักวิธีการผ่าตัดแล้ว ในคัมภีร์วินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ 5 ได้พรรณนาถึงการผ่าตัดไว้คร่าวๆ ว่า “หมอตรวจดูอาการของคนไข้เสร็จแล้ว สั่งให้คนที่เหลือออกไป ขึงม่าน จับคนไข้มัดไว้กับเสา จากนั้นก็ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้มาตรวจดู ตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดลำไส้กลับไว้ตามเดิมแล้วเย็บหนังท้องแล้ว ทายาสมานแผล”

การดูแลรักษาด้วยธรรมะ ในพระไตรปิฎกจะพบว่ามีการใช้ 2 วิธีด้วยกันคือ ใช้สวดให้คนป่วยฟัง และคนป่วยนำหลักธรรมมาปฏิบัติเพื่อระงับความเจ็บไข้ การสวดพระปริตร หมายถึง การใช้บทสวดต่างๆ สาธยายให้คนป่วยฟัง การฟังสาธยายธรรม ทำให้กายผ่อนคลายไม่เครียดได้ เมื่อกายผ่อนคลายไม่เครียด จิตก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สามารถใช้ปัญญาพิจารณาเข้าถึงความจริงแห่งชีวิต และทำจิตให้มีสุขภาพสมบูรณ์เต็มที่ กายที่เครียดจากความเจ็บไข้ก็จะผ่อนคลาย ปรับเข้าสู่สภาพปกติได้ง่าย กรณีดังกล่าวนี้ พบทั้งกรณีการสวดให้ฆราวาสญาติโยมฟัง การสวดให้พระภิกษุด้วยกันฟัง รวมกระทั่งการสวดให้พระพุทธเจ้าฟัง

การสวดในลักษณะดังกล่าว ส่งผลหลายลักษณะ เช่น ในรายที่อาการหนัก ไม่ไหว ไม่รอดแล้ว ก็ถือเป็นการช่วยประคองจิตให้อยู่ในฐานะที่ควร ที่เหมาะสม อย่างน้อยก็พอจะประกันได้ว่า หากตายไปในสภาพจิตแบบนี้ ไม่ไปสู่ทุคติแน่นอน

ข้อนี้ได้กลายมาเป็นแบบแผนสำหรับการปฏิบัติของชาวพุทธในปัจจุบัน ในกรณีญาติพี่น้องพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ป่วยไม่รอดแล้วก็จะนิยมนิมนต์พระมาสวด และเรียกการสวดชนิดนี้ตามภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า “สวดตัดกรรม” ในรายที่เป็นพระสงฆ์สาวก ท่านได้รับการฝึกจิตมาดีแล้ว มีพลังจิตสูง การสวดพระปริตรจะส่งผลให้หายจากอาการป่วยไข้ได้ การรักษาโรคด้วยการสวดพระปริตรให้ฟังจึงพบเห็นได้บ่อยทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎก และคัมภีร์อรรถกถา

ส่วนการนำหลักธรรมมาปฏิบัติเพื่อระงับความเจ็บป่วย เช่น อิทธิบาท 4 อันมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา มีอานุภาพตรงที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตจากความเจ็บไข้ เรียนรู้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับตนและหาหนทางเยียวยาแก้ไขเพื่อระงับความเจ็บปวดให้บรรเทาเบาบางไป เมื่อมีอิทธิบาท 4 เราก็จะมีความหนักแน่น อดทน สืบค้นหาเหตุแห่งความเจ็บไข้ ทำให้เราได้เรียนรู้โรคภัยต่างๆ ที่เกิดกับตน จนเข้าใจโรคและวิธีการเยียวยารักษาได้

แต่ที่เน้นเป็นการเฉพาะก็เห็นจะเป็น ในมหาสติปัฏฐานสูตรและอานาปานสติสูตร ได้พูดถึงการเจริญสติและการทำสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ทั้ง 2 พระสูตรนี้ นับว่าเป็นยอดของการทำกายและใจให้สงบผ่อนคลายไม่เครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทางกายและใจ การเจริญสติทุกขณะที่เคลื่อนไหวและการทำสมาธิ ย่อมช่วยให้จิตตั้งมั่น สงบ ผ่อนคลาย เมื่อกายผ่อนคลาย อวัยวะต่างๆ ก็จะทำงานปกติมีดุลยภาพ ร่างกายก็สามารถซ่อมแซม ทำลาย และต่อต้านโรคที่คุมคามเราได้

การป้องกันการเกิดโรคด้วยข้อปฏิบัติสุขอนามัยในวัตร 14 นับได้ว่าพระพุทธองค์ได้วางหลักการดำเนิน

ชีวิตที่ดีงาม ซึ่งนำไปสู่การดูแลป้องกันตัวเองจากทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ธรรมเพื่อดำเนินชีวิตให้งอกงาม ธรรมเพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีร่วมกัน ธรรมเพื่อชีวิตครอบครัว ธรรมเพื่อความสัมพันธ์ในสังคม ธรรมเพื่อความอยู่ดีทางเศรษฐกิจ และธรรมสำหรับภิกษุสงฆ์ ฯลฯ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มากมายหลายแห่งด้วยกัน รวมทั้งวัตรปฏิบัติที่พูดถึงมารยาท ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภิกษุสงฆ์ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องถ่ายอุจจาระ ปัสสวะ เรื่องการล้างบาตร การขบฉัน ฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นถึงสุขอนามัยที่พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุมา

เช่น วัตรปฏิบัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 1 ใน 14 ข้อ ที่พระสงฆ์ต้องถือปฏิบัติขณะพำนักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นสุขอนามัยขั้นพื้นฐานสำคัญของพระสงฆ์นอกจากหลักธรรมที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากความสกปรกรกรุงรังของเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ในที่อยู่อาศัย โดยนัยนี้ก็จะเห็นว่า พระพุทธองค์นั้นนับเป็นยอดในการรักษาความสะอาดของอาคารสถานที่และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่สะอาดแต่จิตใจแต่ฝ่ายเดียว ต้องสะอาดด้านในและด้านนอกด้วย

ในหมู่ภิกษุสงฆ์นั้น ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการดูแลสุขภาพสืบสายมาจากสมัยพุทธกาล โดยมีพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานสำคัญที่บันทึกหลักธรรมคำสอน พระวินัย หรือข้อปฏิบัติสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเรื่องราวต่างๆ ของพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ไว้มากมาย ครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งหมด

เราจึงเห็นภิกษุสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชนหมู่บ้าน แต่ละท่านแต่ละวัดใช้วิธีหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น มีทั้งที่เข้าไปสงเคราะห์ชาวบ้านในเรื่องของสุขภาพกายและสุขภาพใจโดยตรง เช่น เข้ามาทำหน้าที่เป็นหมอยาช่วยแนะนำและรักษาโรคให้กับชาวบ้านตามโอกาส หรือช่วยบำบัดทางด้านจิตใจให้กับชาวบ้าน ด้วยการแนะนำให้คำปรึกษาหรือว่าสาธยายธรรมให้คนป่วยฟัง ให้วัตถุมงคลต่างๆ ไปจนถึงประกอบพิธีกรรม ดูฤกษ์ดูยาม ขับผีร้าย เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีจิตใจเข้มแข็งต่อสู้กับทุกข์ภัยไข้เจ็บได้

เก็บความจาก

สมเกียรติ  มีธรรม, สุขภาพดีมิติพุทธ. แหล่งที่มา: เว็บไซต์สถาบันอ้อผะหญา, http://www.orphya.org/index.php/th/features/104-2013-02-24-03-37-34

พระครูศรีปัญญาวิกรม, การแพทย์สมัยพุทธกาล. แหล่งที่มา: http://www.oknation.net/blog/bunruang/2008/08/17/entry-1


Sun, 2015-02-01
http://www.hfocus.org/content/2015/02/9195

77
  อ่างทอง - สัตวแพทย์จุฬาฯ พร้อม จนท.ประมงอ่างทองตรวจสอบ "ปลากระเบนราหูยักษ์" หลังเด็กวัย 13 ขวบชาวอ่างทองจับได้ พบเป็นเพศเมียกำลังตั้งครรภ์ มีบาดแผล 8 แห่ง แท้งลูกแล้วส่วนหนึ่ง เตรียมรักษาก่อนปล่อยกลับเจ้าพระยา ประมงอ่างทองเผยปลาที่พบเรียกว่า "ฮิแมนทูร่า เจ้าพระยา" เป็นปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ชาวบ้านเผยพบสิ่งประหลาดหลังจับปลากระเบนราหูยักษ์ได้ พบมีงูจงอางมาที่ปลา และเจ้าแม่ตะเคียนมาเข้าทรงร้องให้ปล่อย

รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะสัตวแพทยศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ประจำคณะสัตว์แพทย์ศาตร์จุฬาลงกรณ์ กำลังทำการตรวจรักษาปลากระเบนราหูยักษ์ หรือ Himantura (ฮิแมนทูร่า) เจ้าพระยา

        เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (16 ก.พ.) รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาตร์ คณะสัตวแพทยศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ประจำคณะสัตว์แพทย์ศาตร์จุฬาลงกรณ์ พร้อมนายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจสอบพร้อมทำการรักษาปลากระเบนราหูยักษ์ ที่เด็กชายวัย 13 ขวบตกได้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
       
       รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เปิดเผยว่า ปลากระเบนราหูยักษ์ที่พบตัวนี้วัดความยาวได้ 3.80 เมตร กว้าง 2.00 เมตร เป็นเพศเมียที่กำลังตั้งครรภ จากการตรวจสอบตามลำตัวพบมีบาดแผลจำนวน 8 แห่ง ซึ่งจะได้ทำการรักษาก่อนที่จะปล่อยกลับสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
       
        "แต่ที่น่าเสียดาย คือ พบที่บริเวณท้องข้างซ้ายของปลาได้เกิดแท้งลูกออกไปแล้ว ส่วนที่ท้องด้านขวายังมีลูกอยู่ แต่ไม่ทราบจำนวน"
       
       รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ กล่าวต่อว่า ที่ตนและคณะเดินทางมาตรวจสอบปลากระเบนราหูยักษ์ครั้งนี้เพื่อจะนำปลาขึ้นมาดูบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บว่าเกิดบาดแผลขึ้นได้อย่างไร และอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่พบนี้มีมากน้อยเพียงใด หากรักษาแล้วจะสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้หรือไม่

        "ปลาชนิดนี้ แม้แต่บริษัทสารคดีชื่อดังยังสนใจที่จะมาทำการถ่ายทำเพื่อไปเผยแพร่ เป็นปลาที่ควรอนุรักษ์เนื่องจากมีเหลืออยู่จำนวนน้อยมาก โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Himantura polylepis เป็นปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ๋ ซึ่งจะพบมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง"
       
       พร้อมกล่าวต่อว่า "ที่มาในวันนี้เพื่อเก็บตัวอย่างจากเลือดและฝังชิปเข้าไปในตัวปลาเพื่อเก็บข้อมูลการดำรงชีวิตของปลากระเบนราหูยักษณ์ จากนั้นก็จะทำการรักษาอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่พบต่อไป"

        ด้านนายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ปลากระเบนราหูที่พบนั้นเรียกว่า Himantura (ฮิแมนทูร่า) เจ้าพระยา เป็นปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด หลังจากชาวบ้านจับได้และแจ้งไปยังประมงจังหวัด ตนก็ได้ประสานไปยังทีมสัตวแพทย์ศาตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ให้มาทำการตรวจรักษาปลากระเบนราหู หรือ อิฮิแมนทูร่า เจ้าพระยา ตัวนี้ ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
       
       ทางด้านนายบุญสม เทศทอง อายุ 56 ปี ตาของ ด.ช.ณัฐวัฒน์ พูลมีวัย 13 ปี ที่จับปลากระเบนราหูยักษ์ได้ กล่าวว่า หลังจากจับปลากระเบนราหูยักษ์ตัวนี้ได้ก็ได้ทำการกั้นบริเวณและขังปลาไว้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายอย่างโดยเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมาได้พบงูจงอางขนาดใหญ่ว่ายน้ำมาอยู่ที่บริเวณปลากระเบนราหูยักษ์อยู่ จากนั้นไม่นานงูจงอางตัวนั้นก็หายไป
        "เมื่อตอนเช้านี้ก็ได้มีร่างทรงเจ้าแม่ตะเคียนที่มาดูปลากระแบนราหูยักษ์ตัวนี้แล้วร้องไห้ครวญครางขอให้ปล่อยปลาออกไป ผมกับทางญาติจึงได้ปรึกษากันและลงความเห็นว่า เมื่อแพทย์รักษาเสร็จก็จะให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไปโดยไม่รับเงินใดๆ ทั้งสิ้น" นายบุญสม กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 กุมภาพันธ์ 2558

78

ภาพ : ราชันแห่งปักษี
ภาพโดย : เคลาส์ นิกก์
คำบรรยายภาพ : ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันซึ่งเป็นเรื่องปกติของหมู่เกาะอะลูเชียน ทำให้อินทรีหัวขาวตัวนี้เนื้อตัวเปียกโชก นกนักล่าเหล่านี้ไม่ค่อยกระฉับกระเฉงยามฝนตก

ท่วงท่าและลีลาอันสง่ายามโบยบินเหนือฟากฟ้าสีคราม คือเสน่ห์ของอินทรีหัวขาว นกที่คนหลายชาติยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ

นกที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ไม่ใช่แค่สำหรับชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนอีกหลากหลายชาติ ภาพถ่ายมักเผยให้เห็นความสง่างามของอินทรีหัวขาว   โดยเฉพาะท่วงท่า ลีลา และเรือนขนที่งดงามไร้ที่ติยามโบยบินเหนือฟากฟ้าสีคราม

                ในหมู่เกาะอะลูเชียนของอะแลสกา ผมพบเห็นอินทรีหัวขาวที่ดิบเถื่อนและทรหดยิ่งกว่านั้น พวกมันทั้งสกปรก เนื้อตัวเปียกโชก และต่อสู้กันเอง แต่บางทีอาจเป็นไปได้ว่า นกที่สามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายและ   สหายผู้ไม่เป็นมิตร ย่อมเป็นที่มาของแรงบันดาลใจที่ดีกว่า

                รอบๆหมู่บ้านอูนาลาสกาและดัชต์ฮาร์เบอร์ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นท่าเรือประมงขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ อินทรีหัวขาวมักคุ้นเคยกับผู้คน ปลามีอยู่ทุกหนแห่ง และพวกมันก็อ้อยอิ่งอยู่ในละแวกนั้นเพื่อคอยกินของเหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นตามเรือประมง จุดที่ชาวประมงทำความสะอาดอวน หรือแม้แต่หลังคาโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

                เพื่อบันทึกภาพเหล่านี้  ผมมักออกไปยังป่าเขานอกเมืองที่ซึ่งนกอินทรีที่คุ้นเคยกับผู้คนมักรวมตัวกัน ผมสามารถเข้าใกล้พวกมันได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้บังไพร กระนั้นผมก็ต้องคอยระวังตัว ต้องเรียนรู้ว่าพวกมันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คุณอาจเห็นผมนอนคว่ำอยู่โดยมีนกอินทรีอยู่รอบๆสัก 40 ตัวเห็นจะได้

                ผมไปหมู่เกาะอะลูเชียนมาแล้วเจ็ดครั้ง และจะไปที่นั่นอีก  จะเรียกผมว่ามนุษย์อินทรีก็ได้  ก็ผมชอบพวกมันมากนี่นา   พวกมันบินได้ แต่ผมบินไม่ได้


เรื่องโดย เคลาส์ นิกก์
มกราคม

79

ภาพ : ชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกา
ภาพโดย : พอล นิกเคลน
คำบรรยายภาพ : กะโหลกศีรษะของสตรีวัยเยาว์คนหนึ่งถูกวางหงายขึ้นเพื่อให้ฟันอยู่กับที่ กะโหลกซึ่งพบในถ้ำใต้น้ำในประเทศเม็กซิโกนี้เผยให้เห็นโฉมหน้าผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกในดินแดนโลกใหม่

การค้นพบทางโบราณคดี ทฤษฎี และงานวิจัยใหม่ๆด้านพันธุกรรม ช่วยไขปริศนาที่มีมานานเรื่องชนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกา

ใบหน้าแรกของมนุษย์คนแรกๆในทวีปอเมริกาเป็นของเด็กหญิงวัยรุ่นผู้อับโชคที่ตกลงไปเสียชีวิตในถ้ำบนคาบสมุทรยูกาตานเมื่อราว 12,000 ถึง 13,000 ปีมาแล้ว เรื่องราวการค้นพบเธอเปิดฉากขึ้นในปี 2007 เมื่อทีมนักดำน้ำชาวเม็กซิกันนำโดยอัลเบร์โต นาบา พบสิ่งที่น่าตื่นใจ นั่นคือถ้ำมหึมาใต้น้ำที่พวกเขาตั้งชื่อว่า โอโยเนโกร (Hoyo Negro) หรือ “หลุมดำ” แสงไฟของพวกเขาส่องให้เห็นกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์กองสุมอยู่บนพื้นถ้ำอันมืดมิด รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ที่เกือบจะสมบูรณ์อย่างน้อยหนึ่งโครง

นาบารายงานการค้นพบนี้ไปยังสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก ซึ่งได้รวบรวมทีมนักโบราณคดีและนักวิจัยสาขาอื่นๆจากนานาชาติมาทำการสำรวจถ้ำและสิ่งที่อยู่ภายใน โครงกระดูกซึ่งได้รับการขนานนามอย่างรักใคร่เอ็นดูว่า ไนอา (Naia) ตามชื่อของนางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในน้ำในเทพปกรณัมกรีก ได้กลายเป็นโครงกระดูกเก่าแก่ที่สุดโครงหนึ่งเท่าที่เคยพบในทวีปอเมริกา และเป็นโครงกระดูกแรกสุดที่อยู่ในสภาพดีพอจะใช้เป็น ฐานเพื่อจำลองใบหน้าขึ้นใหม่ แม้แต่นักพันธุศาสตร์ยังสามารถสกัดตัวอย่างดีเอ็นเอของเธอได้

เศษซากและหลักฐานเหล่านี้อาจร่วมกันไขปริศนาที่มีมานานเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในทวีปอเมริกา กล่าวคือถ้าชาวอเมริกันพื้นเมืองสืบเชื้อสายมาจากผู้บุกเบิกชาวเอเชียซึ่งอพยพมายังทวีปอเมริกาตอนปลายสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เหตุไฉนพวกเขาจึงไม่มีความคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษยุคโบราณของตนเลย

จากรูปลักษณ์ทุกอย่างที่เห็น ชนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาเป็นพวกก้าวร้าวเลือดร้อน หากเรามองดูซากโครงกระดูกของคนในทวีปอเมริกาสมัยดึกดำบรรพ์ (Paleo-American) จะเห็นว่า ผู้ชายกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง และสี่ในสิบคนมีรอยแตกร้าวที่กะโหลกศีรษะ ซึ่งไม่คล้ายกับรอยที่เกิดจากอุบัติเหตุในการล่าสัตว์ และไม่มีร่องรอยใดบ่งบอกถึงการต่อสู้ในสงคราม แต่กลับดูเหมือนว่าเป็นการต่อสู้กันเอง

พวกผู้หญิงไม่มีการบาดเจ็บในลักษณะนี้ แต่มีรูปร่างเล็กกว่าพวกผู้ชายมาก อีกทั้งมีร่องรอยของภาวะทุพโภชนาการและการเป็นเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัว

ในความเห็นของจิม แชตเทอร์ส นักโบราณคดีและผู้นำร่วมของทีมวิจัยโอโยเนโกร เห็นว่า ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า คนในทวีปอเมริการุ่นแรกสุดเป็นพวกที่เขาเรียกว่า “คนเถื่อนของซีกโลกเหนือ” คือมีความกล้าบ้าบิ่นและก้าวร้าว  พวกผู้ชายมีความเป็นชายสูงเกินปกติ ส่วนพวกผู้หญิงมีร่างเล็กและอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายชาย เขาคิดว่านี่คือเหตุผลที่ลักษณะใบหน้าของคนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาดูช่างแตกต่างจากใบหน้าของชาวอเมริกันพื้นเมืองรุ่นหลังๆมาก คนเหล่านี้เป็นนักบุกเบิกและชอบเสี่ยงภัย พวกผู้ชายที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติและชนะในการต่อสู้แย่งชิงผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ ลักษณะนิสัยแกร่งกร้าวและรูปร่างบึกบึนจึงได้รับคัดเลือกมากกว่าพวกที่นุ่มนวลและก้าวร้าวน้อยกว่า ซึ่งปรากฏให้เห็นในประชากรรุ่นต่อๆมาที่อยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น

ไนอามีลักษณะใบหน้าเหมือนคนในทวีปอเมริการุ่นแรกสุดทั่วไป เช่นเดียวกับลายเซ็นทางพันธุกรรม (genetic signature) แบบเดียวกับที่พบในชาวอเมริกันพื้นเมืองปัจจุบัน นี่แสดงว่าคนทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกันเพราะประชากร รุ่นแรกสุดถูกแทนที่ด้วยประชากรรุ่นหลังๆซึ่งอพยพมาจากเอเชีย ดังที่นักมานุษยวิทยาบางคนยืนยัน หากเกิดจากการที่ประชากรกลุ่มแรกวิวัฒน์หรือเปลี่ยนแปลงไปหลังมาถึงทวีปอเมริกาแล้วต่างหาก

ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ยี่สิบ เป็นที่เข้าใจกันว่า ปริศนาเกี่ยวกับคนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาได้รับการไขให้กระจ่างแล้วไม่มากก็น้อย ย้อนหลังไปเมื่อปี 1908 โคบาลคนหนึ่งที่หมู่บ้านฟอลซอม รัฐนิวเม็กซิโกพบซากของไบซันโบราณซึ่งเป็นชนิดย่อยที่สูญพันธุ์ไปแล้วของไบซันเขายาว พวกมันเคยท่องไปทั่วพื้นที่แถบนั้นเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว ต่อมานักวิจัยของพิพิธภัณฑ์พบปลายหอกปะปนอยู่กับกองกระดูก ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ชัดว่ามีคนอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือมาเนิ่นนานก่อนช่วงเวลาที่เราเคยเชื่อกัน หลังจากนั้นไม่นานก็พบปลายหอกอายุ 13,000 ปีใกล้กับเมืองโคลวิส รัฐนิวเม็กซิโก และภายหลังก็มีผู้พบสิ่งที่รู้จักกันในนามปลายหอกโคลวิสนี้ในแหล่งโบราณคดีต่างๆอีกหลายสิบแห่งทั่วทวีปอเมริกาเหนือ

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือเคยเชื่อมต่อกันด้วยมวลแผ่นดินกว้างใหญ่ที่เรียกว่า เบอรินเจีย (Beringia) ในช่วงสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้าย กอปรกับชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกาดูเหมือนจะเป็นพวกพรานล่าสัตว์ใหญ่ที่เคลื่อนย้ายตลอด จึงฟังดูสมเหตุสมผลที่จะสรุปว่า พวกเขาคงตามแมมมอทและสัตว์ที่ล่าอื่นๆออกมาจากทวีปเอเชีย ข้ามเบอรินเจียลงมาทางใต้ ผ่านฉนวนเปิดหรือเส้นทางระหว่างพืดน้ำแข็งแคนาดาขนาดมโหฬารสองแผ่น และในเมื่อไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดมาสนับสนุนว่าเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ก่อนช่วงเวลาของพรานโคลวิส จึงเป็นที่มาของทฤษฎีที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางมาตลอดว่า พรานโคลวิสคือชนกลุ่มแรกในทวีปอเมริกา

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1997 เมื่อทีมนักโบราณคดีมีชื่อหลายคนไปเยือนแหล่งโบราณคดีชื่อมอนเตเวร์เด (Monte Verde) ทางตอนใต้ของประเทศชิลี ที่นั่น ทอม ดิลเลเฮย์ จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ อ้างว่าได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์เมื่อกว่า 14,000 ปีมาแล้ว คำกล่าวอ้างนี้จุดประเด็นโต้แย้งเช่นเดียวกับการกล่าวถึงมนุษย์ก่อนยุคโคลวิสอื่นๆ ดิลเลเฮย์ถึงกับถูกกล่าวหาว่าไปจัดฉากโบราณวัตถุและสร้างข้อมูลขึ้นมาเอง แต่หลังจากพิจารณาหลักฐานซ้ำอีกครั้ง ทีมผู้เชี่ยวชาญก็ลงความเห็นว่า คำกล่าวอ้างของเขามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ในช่วง 18 ปีนับตั้งแต่ “ระเบิด” มอนเตเวร์เดตกลงมาสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการโบราณคดี  คำถามดั้งเดิมที่ว่า โคลวิสคือคนกลุ่มแรกใช่หรือไม่  ได้รับคำตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลักฐานจากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือเผยให้เห็นว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนยุคโคลวิส โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีเดบรา แอล. ฟรีดกิน (Debra L. Friedkin Site) ทางตอนกลางของรัฐเทกซัส ซึ่งอาจถึงกับเป็นสถานที่อยู่อาศัย แห่งแรกสุดของมนุษย์ในซีกโลกตะวันตกที่สามารถพิสูจน์ได้

เมื่อปี 2011 ไมเคิล วอเตอร์ส นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม ประกาศว่า เขาและทีมงานขุดพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์เป็นบริเวณกว้าง โดยมีอายุเก่าแก่ถึง 15,500 ปี หรือราว 2,500 ปีก่อนพรานโคลวิสกลุ่มแรกจะมาถึง แหล่งโบราณคดีฟรีดกินตั้งอยู่ในหุบเขาเล็กๆ ห่างจากเมืองออสตินไปทางเหนือราวหนึ่งชั่วโมงทางรถยนต์ ที่นั่นมีธารน้ำเล็กๆไหลรินชั่วนาตาปี ปัจจุบันเรียกว่า ลำธารบัตเตอร์มิลก์ ขนาบข้างด้วยต้นไม้ให้ร่มเงาและชั้นหินเชิร์ตซึ่งเป็นหินที่ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ทำให้พื้นที่แถบนี้เหมาะแก่การอยู่อาศัยของผู้คนตลอดระยะเวลาหลายพันปี

“หุบเขาแห่งนี้มีบางอย่างต่างจากที่อื่นครับ” วอเตอร์สบอก เราเคยคิดกันมานานว่า คนกลุ่มแรกสุดในทวีปอเมริกาเป็นพวกล่าสัตว์ใหญ่กันเป็นหลัก โดยติดตามแมมมอทและมาสโตดอนพันธุ์อเมริกันข้ามทวีปเข้ามา แต่หุบเขานี้เป็นทำเลเหมาะมากสำหรับพวกเก็บของป่าล่าสัตว์ ผู้คนที่นี่น่าจะกินถั่วและรากพืช กุ้งเครย์ฟิชและเต่า และคงล่าสัตว์ เช่น กวาง ไก่งวง และกระรอก พูดอีกนัยหนึ่งคือ ผู้คนเหล่านี้คงไม่ได้มาแวะพักระหว่างเดินทางต่อไปยังที่อื่น แต่พวกเขาอยู่อาศัยกันที่นี่

วอเตอร์สบอกว่า “ผมคิดว่าข้อมูลนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามีคนเข้ามาอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อ 16,000 ปีก่อน เวลาจะพิสูจน์ว่าหลักฐานดังกล่าวคือตัวแทนของการอยู่อาศัยแรกเริ่มในทวีปอเมริกาได้หรือไม่ หรือว่ามีอะไรอื่นที่เก่ากว่านี้”

 เรื่องโดย เกลนน์ ฮอดเจส
มกราคม

80
การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือความเชื่อทางโหราศาสตร์ อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังการย้ายเมืองหลวงของพม่า

ทางหลวงหมายเลข 8 ระหว่างย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ดูว่างเปล่า  รถของเราแล่นโดดเดี่ยวไปเกือบตลอดทาง นานๆครั้งถึงจะมีเพื่อนร่วมทางเป็นรถยนต์วิ่งสวนมา หรือไม่ก็เป็นรถที่วิ่งไล่หลังมามุ่งหน้าขึ้นเหนือเหมือนเรา  ภายในรถ นอกจากเสียงลมพัดอื้ออึงและเสียงยางบดไปกับพื้นถนนแล้ว มีเพียงเสียงสนทนาระหว่างผมกับ “พันเดียก” (นามสมมติ) โชเฟอร์ขับรถรับจ้างพาชาวต่างชาติเยี่ยมชมพม่า เขาเล่าให้ฟังว่า ทางหลวงหมายเลข 8 นี้สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ ซึ่งอยู่ระหว่างกลางและห่างจากย่างกุ้ง 320 กิโลเมตร เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลพม่าที่หวังว่า ถนนสายนี้จะเชื่อมนครหลวงแห่งใหม่กับนครหลวงเก่าทั้งสอง และพร้อมที่จะนำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เข้าสู่ศักราชใหม่

เนปิดอว์ในความหมายว่า “มหาราชธานี” หรืออีกนัยหนึ่งคือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ว่ากันว่าเมืองที่เนรมิตขึ้นจากความว่างเปล่านี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายพลตาน ฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของพม่าที่วาดฝันให้เป็นนครหลวงอัน ภาคภูมิแห่งภูมิภาค

ท่ามกลางข้อถกเถียงหลากหลายทฤษฎีที่พยามหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดพม่าจึงย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่กว่า 7,000ตารางกิโลเมตรทางตอนกลางของประเทศ  หรือใหญ่กว่าสิงคโปร์ประมาณสิบเท่า ทว่าที่ผ่านมา การย้ายเมืองหลวงของพม่าถือเป็นเรื่องปกติของผู้บริหารแผ่นดินในแต่ยุคสมัย รัฐบาลพม่าในขณะนั้นให้เหตุผลว่า ความที่เนปิดอว์ตั้งอยู่ใจกลางประเทศ ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทำได้สะดวก และมีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ขณะที่เมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้งนั้นทั้งคับแคบและแออัด อ่องคิน นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าให้ความเห็นว่า กองทัพบกของพม่าแข็งแกร่งกว่ากองทัพเรือมาก ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงให้ห่างจากชายฝั่งทะเลมากเท่าไร ถือว่ายิ่งปลอดภัยจากการโจมตีจากชาติมหาอำนาจมากขึ้นเท่านั้น

 

ผมมีโอกาสทำความรู้จักกับเมืองหลวงใหม่แกะกล่องของเออีซีนี้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27  ซึ่งพม่าและเนปิดอว์เป็นเจ้าภาพครั้งแรก แม้ที่ผ่านมา พม่าเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทองก็จริง แต่หลังเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์ก็ไม่เคยเป็นเจ้าภาพอีกเลย มหกรรมกีฬาครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นการเปิดตัวเมืองหลวงใหม่อย่างเป็นทางการต่อสายตาชาวโลกด้วย

ด้วยเงินกู้ยืมจากจีน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงค์ และสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในภูมิภาค  โครงการก่อสร้าง “เมกะโปรเจ็กต์” มากมายผุดขึ้นในเนปิดอว์  ทางการพม่าประกาศให้เนปิดอว์เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐบาล และสาธารณูปโภคต่างๆ เพียง 3 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก  แม้ว่าในความเป็นจริง  สิ่งปลูกสร้างหลายแห่งยังสร้างไม่เสร็จดีจนทุกวันนี้ 

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้มาเยือนจากต่างแดนเรือนหมื่นเช่นนี้ ผมกลับไม่รู้สึกถึงความเป็นเมืองของเนปิดอว์ ไม่ใช่เพียงแค่ท้องถนนกว้างใหญ่ แต่ไร้รถราวิ่งเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงบรรยากาศความมีชีวิตชีวาของผู้คน ที่นี่ไม่มีพ่อค้าแม่ขาย ไม่มีร้านรวง ไม่มีคนวิ่งออกกำลังกาย ไม่มีจักรยาน  นอกจากพนักงานและคนงานก่อสร้างที่ผมพบในโรงแรมแล้ว  ตลอดวันแรกในเนปิดอว์ ผมจึงเห็นแต่เพียงตำรวจจราจรเท่านั้น

 

ถ้าไม่ใช่นักธุรกิจชาวพม่าที่ต้องติดต่อราชการกับรัฐบาลแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากมาเมืองหลวงใหม่นัก ด้วยสนนราคาที่พักค่อนข้างสูง ชาวพม่าทั่วไปจึงมักพักอยู่ตามโรงแรมของรัฐบาลที่สงวนให้กับคนพม่าเท่านั้น โรงแรมที่ว่านี้ดูแล้วเหมือนค่ายทหารมากกว่า ราคาที่พักค่อนข้างถูกคือประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ  จึงมักมีเพียงห้องว่างๆ  เตียงเรียงราย และผ้าห่มเก่าๆ ในเนปิดอว์นอกจากโซนโรงแรมแล้ว โซนอื่นๆที่สำคัญได้แก่ โซนที่อยู่อาศัย โซนที่ทำการของราชการซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตก และโซนทหารทางทิศเหนือ

เช้าวันต่อมา เราไปเดินเตร็ดเตร่ในย่านโซนที่อยู่อาศัยของข้าราชการซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามโซน แต่ละโซนมีอาคารราว 400-500 หลัง  โดยสีของหลังคาเป็นตัวบ่งบอกหน่วยงาน  ตอนนี้อาคารราว 1,200 หลังมีผู้อยู่อาศัย  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการผู้เป็นเจ้าของเสมอไป  ห้องจำนวนมากมีผู้เช่าอาศัยอยู่ หรือไม่ก็เป็นญาติสนิทมิตรหสาย เพราะข้าราชการ ผู้นั้นอาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ส่วนข้าราชการระดับสูงได้รับสิทธิให้อยู่ในแมนชันที่สะดวกสบายกว่านี้  จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตัวเลขประชากร 1,164,299 คนในเนปิดอว์นับจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ของทางการพม่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง

ถัดจากบริเวณนี้ไปเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร ว่ากันว่านายทหารระดับสูง รวมถึงผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลก็อาศัยอยู่บริเวณนี้ และยังเชื่อกันว่ามีอุโมงค์และบังเกอร์สร้างไว้เพื่อป้องกันตัวโดยเฉพาะ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเรื่องนี้จะถูกปิดเป็นความลับมากที่สุด

 

เราเลือกใช้เส้นทางถนนสู่รัฐสภาเพื่อผ่านไปชมพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ โดยผ่านถนนยี่สิบเลนอันโด่งดัง ว่ากันว่าแม้แต่เครื่องบินพาณิชย์อย่างโบอิ้ง 747 ยังสามารถลงจอดได้สบาย  ซึ่งก็ดูจะไม่เกินจริงไปนัก ยังไม่นับรวมอาคารรัฐสภาที่คะเนด้วยสายตาแล้วน่าจะใหญ่โตกว่าอาคารที่ทำการรัฐสภาไทยมากเอาการ

ท่ามกลางผู้ชมราว 30,000 คนเบียดเสียดกันอยู่ในสนามกีฬา Wunna Theikdi Stadium รัฐบาลพม่าดูจะภาคภูมิใจกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติครั้งแรกในรอบ 25 ปีอย่างมาก เช่นเดียวกับการเปิดตัวเมืองหลวงแห่งใหม่สู่สายชาวโลกอย่างเป็นทางการ ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่า “ราชธานี” แห่งนี้จะเบิกร่องให้พม่าก้าวสู่ศตวรรษใหม่  ผมมองพลุที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในพิธีปิดการแข่งขันแล้วอดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่จะเปรียบได้กับแสงสว่างที่ส่องนำทางให้ประเทศมุ่งไปสู่ความสดใสในอนาคต

 เรื่องโดย เทพ การุณย์
มกราคม

81

ภาพ : วิถีโคบาลแห่งปาตาโกเนีย
ภาพโดย : โตมาส มูนีตา
คำบรรยายภาพ : บากัวเลรอส หรือเหล่าโคบาลที่ตามจับปศุสัตว์ดุร้าย หยุดพักขณะตามวัวบนคาบสมุทรอันโตนิโอบารัสในแถบที่ราบสูง ปาตาโกเนียของชิลี มีน้อยคนที่เลือกวิถีชีวิตแบบบากัวเลโร “เป็นชีวิตที่งดงามแต่โหดเอาการครับ” เซบาสเตียน การ์เซีย อิเกลเซียส (คนซ้ายสุด) บอก

เรื่องราวว่าด้วยเลือด มิตรภาพ ความกล้าหาญ และประเพณีเก่าแก่ของเหล่านักจับวัวท้ามฤตยูแห่งอเมริกาใต้

เรื่องราวของเลือด ความกล้าหาญ และประเพณี  มักเกี่ยวข้องกับเหล่าอาชา ผู้คนที่เก่งกาจ ทว่าไม่โอ้อวด และแน่นอนว่าต้องรวมถึงการเสี่ยงชีวิตและการบาดเจ็บถึงขั้นพิกลพิการ และก็เช่นเดียวกับเรื่องราวในแนวนี้ส่วนใหญ่ สภาพภูมิประเทศมักทุรกันดารอย่างเหลือเชื่อ  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรกร้างห่างไกล  จึงยากที่จะเข้าถึงด้วยวิธีการปกติทั่วไป  แต่ถ้ารู้ว่าควรมองหาตรงไหน  คุณจะสังเกตเห็นซัทเทอร์แลนด์ (Sutherland)  ในแผนที่โดยมีรูปร่างคล้ายนิ้วยื่นเข้าไปในอ่าวอุลตีมาเอสเปรันซาซาวนด์ทางตอนใต้ของภูมิภาคปาตาโกเนียในประเทศชิลี

เซบาสเตียน การ์เซีย อิเกลเซียส วัย 26 ปี  เป็นวิศวกรการเกษตรโดยอาชีพ  แต่ในหัวใจเขาคือโคบาลผู้สั่งสมประสบการณ์และภูมิปัญญาตามแบบฉบับของคนที่เติบโตท่ามกลางสัตว์ใหญ่  คุณตาของเขาคือ อาร์ตูโร อิเกลเซียส ผู้เป็นดั่งตำนาน ครอบครัวอิเกลเซียสเป็นหนึ่งในครอบครัวแรกๆที่มาตั้งถิ่นฐานที่นี่เมื่อปี 1908  และเปิดร้านขายของชำให้บริการแก่เหล่าผู้บุกเบิก ต่อมาไม่นาน ครอบครัวนี้สร้างไร่เอสตานเซียเมร์เซเดสขึ้นบนผืนดินงดงามดั่งภาพวาดที่หันหน้าออกสู่ทะเลและด้านหลังเป็นภูเขา  พอถึงปี 1960  อาร์ตูโรก็ซื้อไร่ปศุสัตว์เอสตานเซียอานามาเรียที่เข้าถึงได้แต่ทางเรือหรือขี่ม้าสิบชั่วโมง  และราวกับว่าอานามาเรียยังไกลปืนเที่ยงไม่พอ  เขายังออกไปตั้งถิ่นฐานที่ซัตเทอร์แลนด์อีก  ที่นี่เป็นพื้นที่ที่แทบไม่มีทางเข้าถึงซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเอสตานเซียอานามาเรียอีกที  ช่วงหนึ่งในประวัติของบ้านไร่แห่งนี้  ลูกจ้างรายหนึ่ง ภรรยาของเขากับลูกอีกสองคน อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆที่ซัตเทอร์แลนด์ แต่ฝ่ายภรรยาซึ่งคงทนความโดดเดี่ยวต่อไปไม่ไหว  ตัดสินใจหนีตามชาวประมงไป  สุดท้ายลูกจ้างรายนั้นกับลูกกำพร้าแม่สองคนก็ละทิ้งที่นั่นเช่นกัน  และต้อนฝูงปศุสัตว์ออกมาสู่แดนศิวิไลซ์อีกครั้ง

พวกวัวที่พลัดหลงจากฝูงปศุสัตว์ของอาร์ตูโรกลายเป็นวัวป่าและแพร่พันธุ์ออกไป การคัดสรรตามธรรมชาติทำให้สัตว์พวกนี้ตัวใหญ่และดุร้ายขึ้น  ทุกฤดูร้อน  อาร์ตูโรจะไล่ต้อนพวกมัน  โดยขี่ม้าจากเอสตานเซียอานามาเรียไปกับสุนัขต้อนวัวและม้าที่เขาไว้ใจมากที่สุด  บางครั้งเขาส่งวัวป่าหรือ บากัวเลส (baguales)  ซึ่งแปลตามตัวว่า “วัวโหดเถื่อน” ไม่ใช่แค่ “วัวป่า” ลงเรือไปขายที่ตลาดในเมืองปวยร์โตนาตาเลส

แต่ทุกวันนี้ ตระกูลอิเกลเซียสอันหมายถึงครอบครัวขยายของลุงป้าน้าอาและญาติลูกผู้พี่ผู้น้อง ซึ่งมีความผูกพันกับผืนแผ่นดินนี้น้อยมากหรือไม่มีเลย ได้ตัดสินใจขายอานามาเรียกับซัตเทอร์แลนด์ให้เจ้าของไร่ปศุสัตว์ผู้มั่งคั่งรายหนึ่ง เจ้าของรายใหม่อนุญาตให้เซบาสเตียนเข้าไปไล่ต้อนวัวป่าในไร่เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเริ่มเสาะหา บากัวเลรอส หรือโคบาลมือดีที่สุดจากปวยร์โตนาตาเลสมาช่วยงาน  และยอมให้เราติดตามไปด้วย  ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาหวังว่า สักวันจะได้พานักท่องเที่ยวออกต้อนวัวป่าเพื่อรักษาประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ฝูงวัวป่าในซัตเทอร์แลนด์ไม่เคยเห็นเชือกมานานหลายรุ่นแล้ว และลำพังการเดินทางไปซัตเทอร์แลนด์ครั้งนี้ เราจะขี่ม้าไปกับเซบาสเตียนและโคบาลอีกสามคน พร้อมด้วยม้า 20 ตัว และสุนัขอีก 30 ตัว เป็นเวลาอย่างน้อยสองสามวันในสภาพภูมิประเทศที่จะมอบความตายเป็นรางวัลให้กับการก้าวพลาดเพียงก้าวเดียว

ฉันโทรศัพท์กลับบ้านเพื่อขอกำลังใจ  “เขาบอกให้ลูกเอาแว่นตากันลมไปด้วยค่ะ” ฉันบอกพ่อ พ่อเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดว่า  “แว่นตากันลมนั่นใช้สำหรับบุกโปแลนด์  ไม่ใช่ใส่ไปไล่ต้อนวัวนะลูก”  พ่ออายุ 70 กว่า  เป็นลูกเกษตรกรชาวแซมเบียที่เกิดในประเทศอังกฤษ  พ่อไม่ยี่หระเลยตอนไล่ฝูงช้างให้ออกไปจากไร่กล้วยกลางหุบเขาแซมบีซี หรือตะเพิดจระเข้จากบ่อปลาของแม่

 

ฉันไม่ได้เอาแว่นกันลมติดมาด้วย  แต่ทันทีที่เผชิญหน้าวัวป่าตัวหนึ่งในซัตเทอร์แลนด์  เรื่องแว่นตากลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลย  ต้นไม้ตรงหน้าเราหักโค่นราวกับโดนรถเกลี่ยดินพุ่งชน  “มองหาต้นไม้ไว้นะ” ใครสักคนเคยแนะนำฉันอย่างนั้น  แต่ยังไม่ทันที่ฉันจะขยับม้า   เจ้าวัวก็โผล่พรวดออกมา  แม้จะมีฝูงสุนัข 30 ตัวไล่งับหูและส้นเท้า  คอยทึ้งเนื้ออ่อนๆที่อยู่ต่ำกว่าหางของมัน แต่ดูเหมือนมันจะไม่มีวันล้มและพร้อมทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า  ฉันมองไปรอบตัวไม่เห็นโคบาลสักคน  เจ้าวัวหยุดยืน  หอบหายใจจนสีข้างกระเพื่อมราวกับมันกำลังชั่งใจดูสถานการณ์ ใครที่คิดว่าอารมณ์ความรู้สึกของสัตว์เป็นเรื่องเหลวไหล คนคนนั้นคงยังไม่เคยมองเข้าไปในดวงตาของวัวป่าที่กำลังคลั่ง

แต่แล้วโคบาลสี่คนก็โผล่พรวดออกมา  ควบม้าออกจากป่าอย่างเร็วเหลือเชื่อ  มือหนึ่งถือสายบังเหียน อีกมือพร้อมที่จะขว้างบ่วงบาศ  พอเห็นพวกเขา  เจ้าวัวก็วิ่งเตลิดเข้าป่า มุ่งหน้าไปทางทะเลสาบ ฉันตามไปในระยะห่างที่คิดว่าปลอดภัยพอฉันไปถึงทะเลสาบ วัวตัวนั้นกลับถูกเชือกเส้นหนึ่งรัดคอตายแล้วโดยบังเอิญ  โคบาลคนหนึ่งพยายามช่วยชีวิตโดยดึงลิ้นของมันออกมา ส่วนอีกคนกระโดดขื้นๆลงๆอยู่บนท้องราวกับกำลังผายปอดช่วยชีวิตอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ไร้ผล ชีวิตได้หลุดลอยออกจากดวงตาของมันซึ่งแปรเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเขียวของธารน้ำแข็งไปแล้ว ถ้าจับได้เป็นๆวัวตัวนี้จะมีมูลค่าเท่ากับค่าจ้างหนึ่งเดือน  แต่ถ้ามันตาย ก็เหลือแค่เป็นอาหารให้เรากับสุนัขเท่านั้น

ในช่วงสองสัปดาห์ต่อมา  พวกโคบาลจับวัวเพศเมียได้ราวครึ่งโหล วัวเพศผู้หลายตัว และลูกวัวหนึ่งตัว วัวเพศผู้ตัวหนึ่งจมน้ำตายในทะเลสาบ วัวเพศเมียตัวหนึ่งกระโดดลงจากหน้าผาจนเชือกรัดคอตาย  ที่พักของเราคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นสาบสางของสัตว์และกลิ่นคาวเนื้อ พวกผู้ชายเริ่มโหยหาเรื่องอย่างว่า และผลัดกันเล่าเรื่องตลกโปกฮาที่ไม่มีใครยอมแปล เพราะมีฉันอยู่ด้วย

เรือจะมาที่ซัตเทอร์แลนด์ได้ก็ต่อเมื่ออากาศดีเท่านั้น  “อากาศดีแน่ครับ” เซบาสเตียนว่าทั้งๆที่ขัดกับสภาพที่เห็นทุกอย่าง แต่เรือก็มาจริงๆ พวกโคบาลจัดการต้อนสัตว์ทั้งหมดลงเรือ พวกเราส่วนใหญ่ออกจากซัตเทอร์แลนด์พร้อมรอยขีดข่วนและฟกช้ำดำเขียว มีบางคนปวดหลัง ม้าอายุมากตัวหนึ่งขากระเผลกจากการตกจากเส้นทางเดิน แต่มันเดินกระย่องกระแย่งลงเรืออย่างเต็มใจ สุนัขตัวหนึ่งถูกวัวเหวี่ยงฟาดเข้ากับต้นไม้ ด้วยความสับสนงุนงงและอารามตกใจ มันจึงวิ่งกลับบ้าน อีกตัวหนึ่งรอดตายจากการถูกน้ำตกพัดพาไป

ขณะที่เรือหันหัวมุ่งหน้าสู่เมืองปวยร์โตนาตาเลส ฉันนึกถึงไร่เอสตานเซียอานามาเรียว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตจะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของพื้นที่แถบนี้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัวป่าคงถูกกำจัด ความกล้าหาญเหนือคนและความดุดันเฉียบขาดของเหล่าโคบาลคงกลายเป็นเพียงนิทานรอบกองไฟ  ความลี้ลับและความดิบเถื่อนของสถานที่แห่งนี้อาจถูกเปิดเผยและกำราบจนศิโรราบ เซบาสเตียนยกเบียร์ขึ้นเป็นเชิงแสดงความคารวะต่อผืนดิน บรรพบุรุษของเขา และต่อพวกเรา “แด่ชีวิตนี้!” เขาว่า เราทุกคนดื่ม และแล้วซัตเทอร์แลนด์ก็หายลับไปจากสายตา

 เรื่องโดย อเล็กซานดรา ฟุลเลอร์
มกราคม

82

ภาพ : อวสานของดาวรุ่นแรก
ภาพโดย : โรเบิร์ต คลาร์ก
คำบรรยายภาพ : ดาวดวงแรกๆในเอกภพดวงหนึ่งระเบิดออก ผ่านวงล้อมของสสารมืดที่มองไม่เห็น และกระจายคาร์บอน ออกซิเจน และธาตุอื่นๆออกสู่ห้วงอวกาศ การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ในภาพนี้แสดงให้เห็นว่าดาวอาจไม่มีทางก่อตัวขึ้นได้เลยและด้วยความเร็วขนาดนั้น คือ เพียง 100 ล้านปีหลังปรากฏการณ์บิ๊กแบง หากปราศจากแรงโน้มถ่วงของสสารมืดที่มีอยู่ล้นเหลือ แต่ธรรมชาติของมันยังไม่เป็นที่แน่ชัด

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่เอกภพ สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็น อันได้แก่สสารมืดและพลังงานมืด

หลังจากการวิจัยหลายทศวรรษ  ปัจจุบันนักเอกภพวิทยาสามารถบอกด้วยความมั่นใจระดับหนึ่งว่า เอกภพถือกำเนิดจากฟองอวกาศขนาดเล็กกว่าอะตอมเมื่อ 13,820 ล้านปีมาแล้ว  เป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถทำแผนที่รังสีพื้นหลังในเอกภพ (cosmic background radiation) หรือแสงที่เปล่งออกมาเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 378,000 ปี ด้วยความละเอียดถูกต้องมากกว่าร้อยละ 0.001

แต่พวกเขาก็สรุปด้วยว่า ดาวและดาราจักรทั้งหมดที่พวกเขาเห็นบนท้องฟ้าเป็นเพียงร้อยละห้าของเอกภพที่สังเกตได้ ส่วนใหญ่ที่มองไม่เห็นประกอบด้วยสสารมืด (dark matter) ร้อยละ 27 และพลังงานมืด (dark energy) อีกร้อยละ 68 ทั้งสองสิ่งล้วนเป็นปริศนา เคยคิดกันว่าสสารมืดเป็นผู้ปั้นแต่งผืนแผ่นระยิบระยับกับลวดลายเกี่ยวกระหวัดของเหล่าดาราจักร ซึ่งรวมกันเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ของเอกภพ แต่กลับไม่มีใครทราบว่ามันคืออะไร ส่วนพลังงานมืดยิ่งลึกลับมากขึ้นไปอีก คำว่าพลังงานมืดซึ่งบัญญัติขึ้นแทนอะไรก็ตามที่กำลังเร่งอัตราเร็วของการขยายตัวของเอกภพได้รับการเหมารวมว่าเป็น “ฉลากสามัญสำหรับสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับสมบัติของสิ่งยิ่งใหญ่ในเอกภพของเรา”

เบาะแสแรกที่ว่าสสารมืดมีอยู่ทั่วไปถูกพบในทศวรรษ 1930 โดยนักดาราศาสตร์ชาวสวิสชื่อ ฟริตซ์ ซวิกกี เขาวัดความเร็วที่ดาราจักรในกระจุกดาราจักรผมเบเรนิซ (Coma Cluster) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 321 ล้านปีแสง โคจรรอบศูนย์กลางกระจุกดาราจักร แล้วคำนวณว่า เว้นเสียแต่กระจุกดาราจักรจะมีมวลมากกว่าที่เห็น ดาราจักรของมันก็น่าจะปลิวกระจายออกสู่อวกาศนานแล้ว ซวิกกีสันนิษฐานว่า ในเมื่อกระจุกดาราจักรผมเบเรนิซอยู่มาได้หลายพันล้านปี ย่อมหมายความว่า “สสารมืดมีอยู่ในเอกภพด้วยความหนาแน่นยิ่งกว่าสสารที่มองเห็นได้อย่างไม่มีอะไรเปรียบ” การค้นคว้าต่อมาบ่งชี้ว่าดาราจักรไม่มีทางก่อตัวขึ้นได้ตั้งแต่แรก หากปราศจากความโน้มถ่วงของสสารมืดคอยดึงดูดวัสดุบรรพกาลเข้าด้วยกันในเอกภพวัยเยาว์

ปริศนาสสารมืดว่าแปลกแล้ว ยังกลายเป็นคำทายเด็กเล่น เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ลี้ลับของพลังงานมืด ซึ่งไมเคิล เทอร์เนอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ยกให้เป็น “ความลึกลับอย่างที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งมวล”

เทอร์เนอร์คิดคำว่า “พลังงานมืด” ขึ้นหลังจากนักดาราศาสตร์สองทีมประกาศเมื่อปี 1998 ว่า อัตราการขยายตัวของเอกภพดูเหมือนกำลังเร่งเร็วขึ้น พวกเขาได้ข้อสรุปนี้จากการศึกษาดาวที่ระเบิดด้วยลักษณะเฉพาะ ซึ่งสว่างมากจนเห็นได้จากที่ห่างไกล และมีความสว่างสม่ำเสมอเหมาะสำหรับช่วยวัดระยะดาราจักรอันห่างไกล แรงดึงดูดซึ่งกันและกันระหว่างดาราจักรทั้งหมดในเอกภพคือเครื่องชะลอการขยายตัวของเอกภพ ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงคาดว่าจะเห็นเอกภพที่ขยายตัวช้าลง แต่พวกเขากลับพบสิ่งตรงข้าม นั่นคือเอกภพมีแต่ขยายตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆตลอดห้าพันถึงหกพันล้านปีที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ นักสังเกตการณ์กำลังสาละวนทำแผนที่เอกภพซึ่งแม่นยำอย่างไม่เคยมีมาก่อน และหาหลักฐานว่าพลังงานมืดปรากฏขึ้นเมื่อไร มีพลังเท่าเดิมหรือมากขึ้น พวกเขาได้เปรียบที่สามารถมองย้อนไปในอดีต สิ่งที่นักวิจัยผู้ศึกษาดาราจักรที่ห่างจากโลกหลายพันล้านปีแสงมองเห็น คือภาพที่เป็นจริงเมื่อหลายพันล้านปีก่อน กระนั้น ขีดจำกัดของพวกเขาคือความสามารถของกล้องโทรทรรศน์และเครื่องตรวจวัดดิจิทัล การเขียนประวัติศาสตร์เอกภพวิทยาที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากในอดีตตรงที่เราจำเป็นต้องใช้หรือสร้างอุปกรณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

เสียงเรียกร้องกำลังได้รับการขานรับด้วยโครงการต่างๆ เช่น การทำแผนที่สเปกตรัมการแกว่งกวัดของอนุภาคแบรีออนหรือบอสส์ (Baryon Oscillation Spectroscopic Survey: BOSS) ซึ่งใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.5 เมตรที่หอดูดาวอาปาเชพอยต์ในรัฐนิวเม็กซิโก เพื่อทำแผนที่ระยะทางเอกภพที่ความละเอียดร้อยละหนึ่ง ขณะเดียวกัน โครงการสำรวจพลังงานมืด (Dark Energy Survey) ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์บลังโกขนาดสี่เมตรบนเทือกเขาแอนดีสในประเทศชิลี ก็กำลังรวบรวมข้อมูลของดาราจักรถึง 300 ล้านดาราจักร อีกด้านหนึ่ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดขององค์การอวกาศยุโรปซึ่งจะส่งขึ้นในปี 2020 ได้รับการออกแบบให้วัดค่าพลวัตเอกภพอย่างละเอียดตลอดช่วงหนึ่งหมื่นล้านปีที่ผ่านมา และยังมีความคาดหวังอย่างสูงต่อกล้องโทรทรรศน์แอลเอสเอสที (LSST: Large Synoptic Survey Telescope) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในภาคกลางตอนเหนือของประเทศชิลี กล้องโทรทรรรศน์ทรงป้อมขนาด 8.4 เมตรกล้องนี้ติดตั้งกล้องดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดที่โลกเคยผลิต และออกแบบมาเพื่อถ่ายภาพเอกภพที่สังเกตได้ให้ได้ไกลที่สุด

ด้วยเครื่องมือเหล่านี้ นักเอกภพวิทยาหวังจะเขียนประวัติศาสตร์ของการปรากฏและอิทธิพลของพลังงานมืดขึ้นด้วยการวัดอัตราการขยายตัวของเอกภพโดยตรงตลอดช่วงเวลาในอดีต ประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งคืออนาคตของเอกภพ  ถ้าเราอยู่ใน “เอกภพที่วิ่งเตลิด” ซึ่งพลังงานมืดมีแต่จะครอบงำมากขึ้น ดาราจักรเกือบทั้งหมดจะถูกขับออกไปจนพ้นสายตาของกันและกันในที่สุด ทิ้งให้นักเอกภพวิทยาในอนาคตอันห่างไกลสังเกตได้เพียงดาราจักรใกล้ตัวกับอวกาศอันมืดดำ

 เรื่องโดย ทิโมที แฟร์ริส
มกราคม

83

ภาพ : ฟ้าประทาน ต้องคำสาป ถูกช่วงชิง
ภาพโดย : จอห์น สแตนเมเยอร์
คำบรรยายภาพ : คริสตชนชาวอาหรับในจอร์แดนปีนเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนเพื่อสวดอธิษฐานใต้ไม้กางเขนในสัปดาห์สมโภช พระคริสตเจ้าทรงสำแดงองค์

ภาคสามของมหากาพย์การเดินเท้าท่องโลกเพื่อตามรอยบรรพชน นำผู้เขียนท่องดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของสามศาสนา อันได้แก่ ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม

เยรูซาเลมไม่ใช่นครแห่งสงคราม แอฟเนอร์ กอเรน ยืนยันหัวชนฝาในเรื่องนี้

เราย่ำเท้าเดินใต้ฟ้ายามเช้าที่ไร้เมฆในดินแดนเลแวนต์  เลียบไปตามทางระบายน้ำเสียที่ไหลเชี่ยวเป็นฟองฟอดมาจากเยรูซาเลม ธารน้ำเสียเน่าเหม็นนี้ไหลลัดเลาะเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตรสู่ทะเลเดดซี เราเดินตามทางน้ำทิ้งประหนึ่งการจาริกแสวงบุญรูปแบบหนึ่ง กอเรน นักโบราณคดีชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของอิสราเอล คิดอย่างนั้น

"เกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงมาแล้ว 700 ครั้งนับตั้งแต่เยรูซาเลมก่อตั้งขึ้น" เขาเหลียวหลังมาบอกระหว่างแทรกตัวฝ่าฝูงนักท่องเที่ยวทางศาสนาในเขตเมืองเก่า "แต่ก็มีช่วงปลอดสงครามยาวนานหลายช่วงที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วยนะครับ "

เรามาด้วยกันสามคน

กอเรนเป็นชาวเยรูซาเลมโดยกำเนิด ปัญญาชนผมเผ้ากระเซอะกระเซิงผู้นี้มีเชื้อสายยิว ส่วนบัสซาม อัลมูฮาร์ สหายและช่างภาพชาวปาเลสไตน์ เป็นมัคคุเทศก์เดินเท้าผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจากเขตเวสต์แบงก์ ผมมาร่วมเดินกับทั้งสองหลังเดินเท้าขึ้นเหนือมาเป็นเวลา 381 วันจากทวีปแอฟริกา โดยเริ่มออกเดินจากต้นกำเนิดทางชีววิทยาของมนุษยชาติในริฟต์แวลลีย์ของเอธิโอเปีย  และเข้าสู่ดินแดนที่ก่อเกิดเกษตรกรรม การประดิษฐ์ภาษาเขียน และความเชื่อว่าด้วยเทพสูงสุดหรือเอกเทวนิยมนั่นคือดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent) การเดินทางของผมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชื่อ เดินเท้าท่องโลกออกจากอีเดน (Out of Eden Walk) โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินตามรอยเส้นทางของบรรพบุรุษยุคหินผู้ค้นพบโลกใบนี้ ผมตั้งใจจะรอนแรมเป็นเวลาเจ็ดปีจนลุถึงซอกมุมสุดท้ายบนพื้นพิภพที่เผ่าพันธุ์ของเราดั้นด้นไปถึง ซึ่งก็คือติ่งด้านใต้สุดของทวีป อเมริกาใต้

การเดินเลาะทางระบายน้ำเสียของพวกเราน่าเร้าใจพอๆกับพิลึกพิลั่น  กอเรนอยากบำบัดน้ำเสียเหล่านี้ให้กลายเป็นน้ำดี (ประเทศเยอรมนีให้คำมั่นว่าจะให้ทุนสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย) และสร้างเส้นทาง "สีเขียว" ยาวหลายกิโลเมตรที่ทอดไปตามแนวหุบเขาในตำนานที่ซึ่งเยรูซาเลมก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปีก่อน เส้นทางเดินเท้าดังกล่าวจะแผ่กิ่งก้านจากเขตเมืองเก่าผ่านทะเลทรายที่กล่าวถึงในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ความที่ต้องตัดผ่านแนวพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงก์ เส้นทางเดินเท้าดังกล่าวน่าจะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมชีวิตของชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล ส่วนลำน้ำที่ได้รับการบำบัดก็อาจช่วยให้เกิดสันติภาพขึ้นระหว่างปรปักษ์สำคัญแห่งตะวันออกกลางคู่นี้

"การจาริกนี้จะแตกต่างออกไปในหลายระดับครับ” กอเรนบอกและเสริมว่า “มันอาจจะทอดไปตามเส้นทางสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมก็จริง แต่ยังเชื่อมโยงชาวปาเลสไตน์กับอิสราเอลเข้าด้วยกันในแบบที่จับต้องได้มากๆ และแน่นอนว่าจะมีน้ำสะอาดด้วย" กอเรนบอก

เราเริ่มออกเดินจากกลุ่มโบราณสถานของสามศาสนา [อิสลาม คริสต์ และยิว] ที่ต่างก็นับถืออับราฮัม ได้แก่ โดมศิลา (Dome of Rock) หมู่ยอดแหลมของวิหารแห่งที่ฝังพระศพศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) และกำแพงตะวันตก (Western Wall) อันสูงตระหง่าน   เราเดินเหงื่อท่วมไปตามท้องถนนไร้ร่มเงาในย่านชุมชนชาวปาเลสไตน์  เลาะเลียบไปตาม ทางน้ำผ่านเนินเขาร้อนแล้ง คูระบายน้ำที่โอบล้อมวิหารยุคศตวรรษที่หก และสนามฝึกยิงปืนของกองทัพอิสราเอล เมื่อเข้าสู่หุบผาชันอับลม เราต้องหายใจทางปากเพื่อให้กลิ่นเหม็นพอทำเนาลงบ้าง สองวันต่อมา เราก็มาถึงที่หมายปลายทาง นั่นคือทะเลเดดซีที่ทอดตัวอยู่ระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน

"ลัทธิเอกเทวนิยมถือกำเนิดขึ้นที่นี่ครับ" กอเรนบอกผมบนยอดผาที่มองออกไปเห็นผืนน้ำสีน้ำตาลแดง "เมื่อเราคิดค้นเกษตรกรรมขึ้นมาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีผีสางนางไม้ประจำอยู่ตามบ่อน้ำพุ หรือเทพาอารักษ์ที่สถิตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรอีกต่อไป”

คงเหลือแต่เพียงปริศนาสูงสุด [เป็นต้นว่า จักรวาลก่อกำเนิดขึ้นได้อย่างไร] เท่านั้น

ความฝันของกอเรนดูช่างเป็นไปไม่ได้  ทำไม่ได้จริง และไร้เดียงสา  (หลายสัปดาห์ต่อมา การสู้รบระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลจะประทุขึ้นอีกรอบ จรวดจะพุ่งผ่านท้องฟ้า อิสราเอลจะบุกเข้าสู่ฉนวนกาซา "เหตุการณ์แบบนี้ทำให้ผมต้องถอยหลังเข้าคลองไปอีกอย่างน้อยสองปี" กอเรนจะทอดถอนใจ "แต่ผมจะรอ")  จะว่าไปแล้ว บรรพบุรุษของเราคงเดินหน้าสู่ดินแดนใหม่ๆกันแบบนี้ในยุคอรุณรุ่งแห่งอารยธรรม พวกเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคเลวร้ายจนน่าขันครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะเวลา 2,500 ชั่วรุ่นอันหลากล้นไปด้วยความล้มเหลว ท้อแท้สิ้นหวัง หายนะ และวิกฤติศรัทธาประดามี

ถึงกระนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่า การเดินหน้าต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด

 เรื่องโดย พอล ซาโลเพก
มกราคม

84
สมองของทารกซึ่งเป็นเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้อันน่าทึ่ง ต้องการความรักในการพัฒนาโดยเฉพาะในช่วงเวลา หัวเลี้ยวหัวต่ออย่างขวบปีแรก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ขณะที่โคเคนระบาดกำลังบ่อนทำลายเมืองต่างๆของสหรัฐฯอยู่นั้น แฮลลัม เฮิร์ต กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดในเมืองฟิลาเดลเฟีย กังวลถึงผลร้ายที่จะเกิดกับเด็กซึ่งมารดาติดยาขณะตั้งครรภ์ เธอและเพื่อนร่วมงานศึกษาเด็กอายุสี่ขวบจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ โดยเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่มารดาเสพยาเสพติดกับไม่เสพระหว่างตั้งครรภ์ พวกเขาไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่กลับพบว่าเด็กทั้งสองกลุ่มมีระดับไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก

การค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิจัยกลุ่มนี้เบนความสนใจจากความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มไปยังความเหมือนของทั้งสองกลุ่ม นั่นคือการถูกเลี้ยงดูท่ามกลางความยากจน เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของเด็ก นักวิจัยได้ไปเยี่ยมเยียนบ้านของเด็กๆพร้อมกับรายการตรวจสอบ พวกเขาถามคำถามพ่อแม่เด็กเป็นต้นว่า มีหนังสือสำหรับเด็กถึงสิบเล่มหรือไม่ มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีเพลงสำหรับเด็กหรือไม่ และมีของเล่นที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องตัวเลขบ้างหรือไม่

นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า เด็กๆที่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลที่บ้านดีกว่ามักมีระดับไอคิวสูงกว่า เด็กๆที่ได้รับการกระตุ้นการรับรู้มากกว่าจะมีความสามารถด้านภาษาดีกว่า และเด็กๆที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความอบอุ่นมากกว่าจะมีความสามารถด้านความจำดีกว่า

หลายปีต่อมา เมื่อเด็กๆเข้าสู่วัยรุ่น นักวิจัยจะศึกษาภาพสมองของพวกเขาด้วยเครื่องเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ และเปรียบเทียบภาพเหล่านั้นกับข้อมูลที่เคยบันทึกไว้เกี่ยวกับระดับความอบอุ่นจากการเลี้ยงดูที่เด็กได้รับตอนอายุสี่และแปดขวบ นักวิจัยพบว่า ความอบอุ่นจากการเลี้ยงดูตอนอายุสี่ขวบกับขนาดของฮิปโปแคมปัสซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน แต่การเลี้ยงดูตอนอายุแปดขวบกับขนาดของฮิปโปแคมปัสกลับไม่มีความสัมพันธ์กัน ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนทางอารมณ์มีความสำคัญต่อเด็กๆขณะอายุยังน้อยเป็นอย่างมาก

ผลการศึกษาในฟิลาเดลเฟียซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2010 เป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆที่แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองที่กำลังพัฒนาได้ จากนั้นเป็นต้นมา การศึกษาชิ้นอื่นๆก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเจริญเติบโตของสมองทารกเช่นกัน ทั้งๆที่สมองเกิดมาพร้อมกับความสามารถมากมาย แต่สมองยังคงต้องอาศัยข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมอย่างมากในการพัฒนายิ่งขึ้นไป

ทั้งๆที่การเลี้ยงดูลูกน้อยอยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันๆปี แต่เรายังมีความเข้าใจเพียงน้อยนิดว่า เด็กทารกพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็วในด้านการเรียนรู้ ภาษา การใช้เหตุผล และการวางแผนได้อย่างไร พัฒนาการอันรวดเร็วประดุจสายฟ้าซึ่งเกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรกๆนี้มาพร้อมกับการก่อตัวของวงจรประสาทที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก สมองของทารกแรกเกิดจะมีเซลล์ประสาทประมาณแสนล้านเซลล์ซึ่งใกล้เคียงกับในวัยผู้ใหญ่ เมื่อทารกเติบโตขึ้น การรับข้อมูลความรู้สึกจำนวนมากจะทำให้เซลล์ประสาทเกิดการต่อเชื่อมกัน ส่งผลให้เกิดจุดเชื่อมต่อราวร้อยล้านล้านจุดเมื่ออายุได้สามขวบ

ตัวกระตุ้นและกิจกรรมต่างๆ อย่างการฟังเพลงกล่อมเด็กหรือการเอื้อมหยิบของเล่น ช่วยสร้างโครงข่ายประสาทที่แตกต่างกัน วงจรประสาทจะแข็งแรงขึ้นเมื่อผ่านการถูกกระตุ้นซ้ำๆ ปลอกที่ห่อหุ้มเส้นใยประสาทซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าเรียกว่า ไมอีลิน (myelin) จะหนาขึ้นตามเส้นทางที่ถูกใช้บ่อย ทำให้กระแสไฟฟ้าหรืออิมพัลส์เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น วงจรที่ไม่ได้ใช้งานจะถูกตัดออกจากการเชื่อมต่อในกระบวนการที่เรียกว่า การตัดแต่งจุดประสานประสาท (synaptic pruning) สมองจะผ่านวัฏจักรของการเจริญเติบโตและลดขนาดลงให้เหมาะสมในระหว่างอายุหนึ่งถึงห้าขวบ และอีกครั้งในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ทั้งนี้ประสบการณ์ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจารึกวงจรที่จะอยู่คงทนต่อไป

 

หลังขึ้นครองอำนาจในโรมาเนียช่วงกลางทศวรรษ 1960 นีโคไล เชาเชสกู ผู้นำคอมมิวนิสต์ ดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่จากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม หลายพันครอบครัวย้ายออกจากหมู่บ้านไปใช้ชีวิตในเมืองเพื่อทำงานในโรงงานของรัฐบาล นโยบายนี้ทำให้พ่อแม่จำนวนมากต้องทิ้งเด็กแรกเกิดไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็กของรัฐบาล

หลังจากเชาเชสกูถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 1989 โลกภายนอกจึงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่อันเลวร้ายของเด็กๆเหล่านี้ ทารกถูกทิ้งอยู่ในเตียงที่มีคอกกั้นนานหลายชั่วโมง โดยทั่วไปเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ก็เฉพาะตอนที่ผู้ดูแลซึ่งแต่ละคนต้องรับผิดชอบเด็ก 15 ถึง 20 คน เข้ามาป้อนอาหารหรืออาบน้ำให้เท่านั้น ในปี 2001 ทีมนักวิจัยชาวอเมริกันเริ่มศึกษาเด็ก 136 คนจากสถานรับเลี้ยงเด็กหกแห่งเพื่อศึกษาผลกระทบของการถูกทอดทิ้งที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก

ทีมนักวิจัยนำโดยชาร์ลส์ ซีแอนา จิตแพทย์เด็กจากมหาวิทยาลัยทูเลน เนทาน ฟอกซ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการและนักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และชาร์ลส์ เนลสัน นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สนใจพฤติกรรมผิดปกติของเด็กเป็นพิเศษ เด็กหลายคนซึ่งมีอายุต่ำกว่าสองขวบเมื่อเริ่มทำการศึกษา ไม่แสดงความผูกพันกับผู้ดูแลของตน เวลาอารมณ์เสีย พวกเขาจะไม่ไปหาผู้ดูแล “ในทางกลับกัน เด็กๆจะแสดงพฤติกรรมดุร้ายอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พวกแกเดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย เอาศีรษะโขกพื้น หมุนตัวและยืนนิ่งอยู่กับที่” ฟอกซ์เล่า

เมื่อนักวิจัยทำการตรวจภาพคลื่นไฟฟ้าสมองหรืออีอีจี (electroencephalogram: EEG) ของเด็ก พวกเขาพบว่าสัญญาณอ่อนกว่าสัญญาณที่บันทึกได้จากเด็กทั่วไปที่อายุเท่ากัน “เหมือนมีใครเอาสวิตช์หรี่ไฟไปติดเพื่อลดกิจกรรมทางสมองของเด็กๆลงครับ” ฟอกซ์เปรียบเปรย จากนั้นเขาและเพื่อนร่วมงานนำเด็กครึ่งหนึ่งไปฝากไว้กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่พวกเขาเลือกด้วยความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ ส่วนเด็กที่เหลือจะอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กต่อไป ครอบครัวอุปถัมภ์ได้รับค่าจ้างรายเดือน หนังสือ ของเล่น ผ้าอ้อม และสิ่งของอื่นๆ ตลอดจนการเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวจากนักสังคมสงเคราะห์

ฟอกซ์และเพื่อนร่วมงานติดตามเด็กต่อไปอีกหลายปี และสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่ม เมื่ออายุได้แปดขวบ เด็กที่นำไปให้ครอบครัวอุปภัมภ์เลี้ยงดูตั้งแต่อายุสองขวบหรืออ่อนกว่านั้นแสดงรูปแบบคลื่นไฟฟ้าสมองที่ไม่แตกต่างจากเด็กอายุแปดขวบทั่วไป ส่วนเด็กที่ยังอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กยังคงมีคลื่นไฟฟ้าสมองที่อ่อนกว่า แม้ว่าเด็กทั้งหมดที่ทำการศึกษาจะมีปริมาตรสมองน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกันในประชากรทั่วไป แต่เด็กกลุ่มที่ได้รับการอุปถัมภ์มีปริมาณเนื้อขาว (white matter) ซึ่งเป็นส่วนของใยประสาทขาออก (axon) ที่ต่อเชื่อมกับเซลล์ประสาท มากกว่าพวกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก

ความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่มปรากฏชัดตอนอายุสี่ขวบ นั่นคือความสามารถทางสังคมของเด็ก “เราพบว่าเด็กหลายคนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวอุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ถูกพาออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ตอนนี้สามารถสร้างความผูกพันกับผู้ดูแลเหมือนเด็กปกติแล้วครับ” ฟอกซ์บอก “ในช่วงแรกๆของชีวิต สมองยังมีความยืดหยุ่นมากพอ ทำให้เด็กสามารถเอาชนะประสบการณ์ด้านลบได้” และนั่นเป็นข่าวดีที่สุด ฟอกซ์เสริม เพราะผลกระทบบางอย่างของการถูกทอดทิ้งซึ่งทำให้เด็กอ่อนแอ สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ตราบเท่าที่เด็กยังไม่พ้นระยะวิกฤติของพัฒนาการ

 เรื่องโดย ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ
กุมภาพันธ์

85

ภาพ : ไรจิ๋วจอมพลัง
ภาพโดย : มาร์ติน เอิกแกร์ลี
คำบรรยายภาพ : ในภาพที่ได้รับการขยายหลายร้อยเท่าภาพนี้ ไรดินซึ่งเป็นสัตว์นักล่าคือความน่าพรั่นพรึงในโลกใบจิ๋วของพวกมัน PARAZERCON SP. ขยาย 556 เท่า

พวกมันคืบคลานและออกลูกออกหลานในถิ่นอาศัยแสนพิสดาร บ้างตั้งฐานปฏิบัติการบนร่างกายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น บนใบหน้าของคุณ

หลายปีก่อนผมเคยคาดเดาเรื่องไรผิวหนังซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในปุ่มรากผมของมนุษย์เอาไว้  พวกมันมีขนาดเล็กมากถึงขนาดที่ว่าไร 12 ตัวสามารถล้อมวงเต้นรำอยู่บนหัวเข็มหมุดได้  แต่พวกมันน่าจะออกมาเริงร่าอยู่บนใบหน้าคุณมากกว่า พวกมันทำเช่นนั้นในเวลากลางคืนเพื่อผสมพันธุ์  ก่อนคลานกลับเข้าไปในปุ่มรากผมตอนกลางวันเพื่อกินอาหาร ที่นั่นแม่ไรจะวางไข่สองสามใบซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดตัว  ไข่รูปร่างเหมือนตัวไรจะฟักเป็นตัว จากนั้นลูกไรจะลอกคราบหลายต่อหลายครั้งซึ่งเป็นกระบวนการที่ไรทุกตัวทำกัน นั่นคือการสลัดโครงสร้างแข็งด้านนอกออก ก่อนจะคืบคลานออกมาโดยมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเล็กน้อย  ไรใช้ชีวิตระยะตัวเต็มวัยอยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ความตายจะมาเยือนทันทีที่ภายในตัวไรซึ่งไม่มีทวารหนักอัดแน่นไปด้วยมูล

ทุกวันนี้ เรารู้จักไรผิวหนังอยู่ด้วยกันสองชนิด ผมคาดเดาว่าเพียงแค่สุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่จำนวนไม่ต้องมากมายอะไร เราน่าจะพบไรมากชนิดขึ้นกว่าเดิม และเป็นชนิดใหม่ๆที่วงการวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย

การคาดเดาของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องวิวัฒนาการและพฤติกรรมมนุษย์  วิวัฒนาการมีแนวโน้มจะทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมีความหลากหลายมากที่สุด  ในทางกลับกัน มนุษย์มีแนวโน้มจะมองข้ามสิ่งเล็กๆ ตัวอย่างเช่น ไรน้ำซึ่งอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเลสาบ หนองบึง หรือแม้แต่แอ่งน้ำเล็กๆ มักอยู่รวมกันนับร้อยนับพันตัวต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร แต่น้อยคนนักจะเคยได้ยินเกี่ยวกับไรน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานยังรวมถึงตัวผมด้วย ทั้งๆที่ผมมีอาชีพศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจ้อยแท้ๆ

ในโลกของไร สัตว์ประหลาดตัวจริงบางชนิดอาศัยอยู่ในดินที่ซึ่งเราอาจพบไรนักล่าที่ส่วนปากมีลักษณะคล้ายอาวุธในยุคกลาง บ้างมีขากรรไกรคมกริบเหมือนฟันฉลาม บ้างมีปากคล้ายใบมีดที่งับเข้าหากันด้วยแรงมหาศาล สัตว์ร้ายเหล่านี้ย่องไปตามรูหนอนและแทรกตัวไปตามช่องว่างเล็กๆระหว่างเม็ดทราย

ไรบางชนิดอาศัยอยู่ตามเรือนยอดไม้ในป่าฝน บนใบไม้ และในดินที่ทับถมอยู่ตามง่ามไม้ รวมทั้งตามกอพืชอิงอาศัย

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า ไรเปลี่ยนโลกนี้ไป พวกมันสามารถพลิกหน้าดินให้เร็วขึ้นหรือช้าลง เร่งหรือชะลอการย่อยสลายของอินทรียสาร ทำให้พืชผลเป็นโรคหรือแข็งแรง

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า โลกมีไรอยู่มากมายกี่ชนิด คลังตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยไรชนิดพันธุ์ที่ยังไม่มีใครมีโอกาสศึกษา บางชนิดจะช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของพวกมันอย่างไม่ต้องสงสัย บางชนิดกินแมลงกินพืช และอาจเป็นประโยชน์ทางการเกษตรหรือการแพทย์ กระนั้น บางชนิดก็อาจเป็นพาหะของโรคร้ายเสียเอง

การคาดเดาของผมยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ไรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวจนสามารถอยู่ได้ในแทบทุกสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่หลอดลมของผึ้ง ก้านขนนก ทวารหนักของเต่า ต่อมผลิตกลิ่นเหม็นของแมลงหลายชนิด ระบบย่อยอาหารของเม่นทะเล ปอดของงู ไขมันในตัวนกพิราบ ลูกตาของค้างคาวกินผลไม้ เรื่อยไปจนถึงขนรอบอวัยวะเพศผู้ของค้างคาวดูดเลือด การใช้ชีวิตในถิ่นอาศัยเหล่านี้ส่งผลให้ไรจำเป็นต้องมีอวัยวะหรือคุณลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น ขน สารเคมี แผ่นเท้า ส่วนปาก และกลเม็ดต่างๆ

ไม่ว่าเราจะนิยามถิ่นอาศัยอย่างไร เล็ก ใหญ่ หรือแคบแค่ไหน ก็จะพบไรได้เสมอ

ทว่าถิ่นอาศัยที่เหมาะสมกับไรมากที่สุดคือร่างกายสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก แมลง หรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าไร ไรที่อาศัยร่างกายสัตว์เป็นบ้านจะปรับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อให้สามารถเกาะอยู่กับเจ้าบ้านได้อย่างเหนียวแน่นในทุกสถานการณ์

จากความหลากหลายและความสามารถเฉพาะตัวเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนึกวาดภาพว่า ผู้คนที่อยู่กันเต็มห้อง (คิดถึงถิ่นอาศัยทั้งหมดสิ!) จะเป็นแดนสวรรค์สำหรับการค้นพบไรมากแค่ไหน

 เรื่องโดย ร็อบ ดันน์
กุมภาพันธ์

86

ภาพ : โลกกำลังจมน้ำ
ภาพโดย : กีเดียน เมนเดล
คำบรรยายภาพ : เมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) อุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้หมู่บ้านย่านชานเมืองหลวงของวิไลพร โขงจันทึกน้ำท่วมสูง แต่เธอยังคงไปจับจ่ายซื้อของให้ครอบครัว

ช่างภาพผู้ห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม บันทึกภาพชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วโลก

สภาพอากาศรุนแรงซึ่งบางครั้งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดูเหมือนกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในทุกวันนี้ กระนั้น ผลกระทบที่มีต่อชีวิตผู้คนโดยทั่วไปอาจยังไม่ชัดเจนนัก ผมเริ่มบันทึกผลกระทบดังกล่าวในปี 2007 โดยเก็บภาพอุทกภัยสองครั้งที่เกิดห่างกันไม่กี่สัปดาห์ ครั้งหนึ่งในสหราชอาณาจักร และอีกครั้งหนึ่งในอินเดีย

                นับจากนั้นเป็นต้นมา ผมตระเวนเดินทางไปเยือนพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วโลก เช่น เฮติ ปากีสถาน ออสเตรเลีย ไทย ไนจีเรีย เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และอีกครั้งที่สหราชอาณาจักร ในพื้นที่ประสบภัยเหล่านั้น วิถีชีวิตของผู้คนพลิกผันไปชนิดไม่ทันตั้งตัว

                ภาพถ่ายบุคคลคือหัวใจของโครงการนี้ ผมมักติดตามผู้คนในภาพถ่ายระหว่างที่พวกเขาเดินลุยน้ำท่วมสูงกลับที่พัก แม้การโพสท่าของพวกเขาอาจดูปกติธรรมดา แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย บ่อยครั้งที่พวกเขารู้สึกโกรธขึ้งที่ประสบเคราะห์กรรมเช่นนั้น และหัวเสียกับการตอบสนองที่เชื่องช้าไม่ทันการณ์ของภาครัฐ หลายคนอยากให้ชะตากรรมของพวกเขาเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง หรือให้โลกภายนอกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา

                ผมเลือกใช้กล้องฟิล์มโรลไลเฟล็กซ์ตัวเก่าในการบันทึกภาพ กล้องดิจิทัลทำได้ง่ายกว่าก็จริง แต่เกรนหรือเนื้อฟิล์มมีคุณสมบัติบางอย่างที่ผมชอบ อีกทั้งการใช้กล้องเก่าๆ ก็ช่วยเพิ่มมิติความขรึมขลังและเป็นทางการให้กับสถานการณ์

                ในหลายวัฒนธรรม อุทกภัยแฝงนัยเชิงวัฒนธรรมหรือความเชื่ออันเก่าแก่ เมื่อสภาพอากาศรุนแรงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ตำนานหรือความเชื่อเหล่านั้นกำลังกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้มากขึ้นทุกที 

เรื่องโดย กีเดียน เมนเดล
กุมภาพันธ์

87

ภาพ : ทะเลกลืนกินแผ่นดิน
ภาพโดย : จอร์จ สไตน์แมตช์
คำบรรยายภาพ : ตึกระฟ้าหรูหราสร้างใหม่ผุดขึ้นจนแน่นขนัดซันนีไอลส์บีชในรัฐฟลอริดา ตัวเมืองไมแอมีและเขตชานเมืองจะเผชิญความเสี่ยงทางการเงินจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อถึงปี 2050 หนักหนาสาหัสมากกว่าเขตเมืองแห่งใดในโลก

ระดับทะเลที่สูงขึ้นนอกชายฝั่งฟลอริดา คือหนังตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองชายฝั่งทั่วโลกพึงระวัง

แฟรงก์ เบห์เรนส์ เป็นโฆษกของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติดัตช์ที่มองเห็นลู่ทางทำเงิน ไม่ใช่การขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เขาดับเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ตขนาด 6.5 เมตร และปล่อยให้เรือลอยตามน้ำไปยังกลางมอลเลก  ทะเลสาบส่วนบุคคลในนอร์ทไมแอมีบีช

            ทะเลสาบแห่งนี้เคยเป็นเหมืองหิน ไม่ต่างจากทะเลสาบอื่นๆอีกหลายแห่งในรัฐฟลอริดา และตลอดหลายปีนับจากนั้นก็เป็นทั้งสถานที่จัดการแข่งเรือ ท้องน้ำให้เหล่ามานาทีแหวกว่าย และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองแห่งผุดโครงการถมทะเลสาบบางส่วนเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม เบห์เรนส์กำลังประชาสัมพันธ์หมู่บ้านลอยน้ำบนเกาะเทียมส่วนตัว 29 เกาะ แต่ละเกาะเป็นที่ตั้งของบ้านเดี่ยวหรูหราสี่ห้องนอน หาดทราย สระว่ายน้ำ ต้นปาล์ม และท่าจอดเรือยาวพอให้เรือยอชต์ขนาด 25 เมตรจอดได้สบาย สนนราคาทั้งหมดอยู่ที่ 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            บริษัทดัตช์ด็อกแลนด์สของเบห์เรนส์เลือกพัฒนาทะเลสาบแห่งนี้ และทำแคมเปญการตลาดขายเกาะส่วนตัวเหล่านี้ประหนึ่งเป็นที่หลบภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนมีเงิน ความเสี่ยงต่างๆจากระดับทะเลที่สูงขึ้นน่ะหรือ นั่นแหละคือเสน่ห์ดึงดูดของบ้านลอยน้ำ เกาะต่างๆจะยึดหรือถ่วงไว้กับก้นทะเลสาบด้วยสมอที่ยืดหดได้ตามระดับน้ำในทะเลสาบ

            โครงการของบริษัทดัตช์ด็อกแลนด์สฟังดูเหมือนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพี้ยนๆอีกโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพี้ยนๆในฟลอริดา แต่การออกแบบที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศทำให้โครงการนี้แตกต่างจากตึกระฟ้าส่วนใหญ่ที่อยู่รายรอบซึ่งสร้างขึ้นโดยแทบไม่คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของระดับทะเลที่คาดการณ์ว่าจะทำให้น้ำท่วมเซาท์ฟลอริดาบ่อยครั้งในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า และอาจถึงกับทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำเมื่อสิ้นศตวรรษ

            แนวคิดและวิธีการที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไป  และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต สะท้อนให้เห็นจุดเปลี่ยนในการถกเถียงอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคำเตือนเรื่องภาวะโลกร้อนกลายเป็นเร่งด่วนยิ่งขึ้น และผลกระทบเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจห้างร้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จำนวนมากขึ้นเริ่มนำปัญหานี้มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจต่างๆเกี่ยวกับอนาคต  พวกเขาหันไปสนใจเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศรุนแรงและภาวะน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นแล้วเมื่อระดับทะเลสูงขึ้น

            ฟลอริดาเป็นทำเลเหมาะสำหรับการศึกษาต้นทุนและผลกำไรที่เป็นไปได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  เมืองชายฝั่งอื่นๆมีความเสี่ยง แต่ฟลอริดาถือว่าเปราะบางที่สุดแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้นำรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ในกรุงวอชิงตัน และแม้กระทั่งในศาลาว่าการรัฐฟลอริดาในเมืองแทลลาแฮสซียังลังเลสงสัยในเรื่องนี้  แต่ ณ ที่    แห่งนี้ตรงปลายติ่งด้านใต้สุดของฟลอริดา ผู้นำท้องถิ่นหลายคนเตรียมพร้อมรับมือแล้ว อนาคตของฟลอริดาจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อนตั้งแต่เรื่องเรื่องภาษี การจัดการเขตพื้นที่หรือโซนนิ่ง โครงการก่อสร้างสาธารณะต่างๆ ไปจนถึงสิทธิในทรัพย์สิน ทั้งหมดนี้มีแรงผลักดันมาจากระดับทะเลที่สูงขึ้น

            นอกเหนือจากระดับทะเลที่สูงขึ้น ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าฟลอริดายังต้องเผชิญศึกหนักจากสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ทั้งภัยแล้งในฤดูแล้งและน้ำท่วมในฤดูฝน ตามการทำนายของสำนักประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นซีเอ (National Climate Assessment: NCA) ความร้อนและภัยแล้งส่อแววคุกคามอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่แถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศด้วยพืชผลเมืองหนาว และอาจส่งผลต่อพืชหลักสามชนิดของฟลอริดา ได้แก่ มะเขือเทศ อ้อย และพืช สกุลส้ม ขณะที่ฤดูฝนจะเกิดพายุบ่อยขึ้น ทั้งเฮอร์ริเคนที่รุนแรงขึ้นและคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ที่สูงขึ้น

            ความเสียหายหนักหน่วงที่สุดจะเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งความยาว 2,170 กิโลเมตรของรัฐ สามในสี่ของประชากรฟลอริดา 18 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตหรือเคาน์ตีริมชายฝั่งซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึงสี่ในห้าของระบบเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาริมชายฝั่ง รวมถึงอาคาร ถนน และสะพาน มีมูลค่าราวสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากการประเมินเมื่อปี 2010 และเกือบครึ่งหนึ่งของชายหาดความยาว 1,330 กิโลเมตรของรัฐเริ่มเผชิญกับการกัดเซาะแล้ว

            ตามข้อมูลของเอ็นซีเอ ระดับน้ำในมหาสมุทรต่างๆอาจสูงขึ้น 60 เซนติเมตรภายในปี 2060 เนื่องจากน้ำอุ่นขึ้นและขยายตัว รวมไปถึงการละลายของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์และพืดน้ำแข็งขั้วโลก พอถึงปี 2100 ระดับทะเลอาจสูงขึ้นได้ถึงสองเมตรซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของไมแอมี-เดดจมอยู่ใต้น้ำ ระดับทะเลที่สูงขึ้นทุกๆ 30 เซนติเมตรจะทำให้แนวชายทะเลขยับลึกเข้าสู่แผ่นดินระหว่าง 150 ถึง 610 เมตร

            ระดับทะเลที่สูงขึ้น 60 เซนติเมตรเพียงพอที่จะทำให้โรงบำบัดน้ำเสียของไมแอมี-เดดเคาน์ตีบนเกาะเวอร์จิเนียคีย์และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เทอร์คีย์พอยต์ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวบิสเคย์นทั้งคู่ ไม่สามารถเดินเครื่องต่อไปได้

            แนวชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะภูมิประเทศราบต่ำและยาวของฟลอริดาอาจล่อแหลมมากกว่าที่อื่นก็จริง แต่ไม่มีภูมิภาคใดของโลกที่พูดได้ว่าปลอดภัยจากระดับทะเลที่สูงขึ้น เมื่อปี 2012 น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง และพายุ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ ก่อความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และท่ามกลางการพยากรณ์ที่เลวร้ายลงว่า สภาพอากาศรุนแรงจะเกิดขึ้นทั่วโลก พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดกระหน่ำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เมื่อปี 2013 คร่าชีวิตผู้คน 6,200 คนในฟิลิปปินส์ ในปีเดียวกันนั้น ภัยแล้งยังทำลายพืชผลในเกือบทุกทวีปทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกาและเอเชียใต้  เขตไฮแลนด์สหรือที่ราบสูงของบราซิลซึ่งตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคมรสุมของอเมริกาใต้ เผชิญภัยแล้งหนักหนาสาหัสที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979 จนต้องมีการปันส่วนน้ำ   การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีสและหิมาลัยจะส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำในเปรู อินเดีย และเนปาล รุนแรงขึ้น

            ธนาคารโลกออกมาทำนายว่า ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การขาดแคลนอาหาร และภาวะทุพภิกขภัย จะทำให้คนหลายล้านต้องอพยพย้ายถิ่น ชายฝั่งทะเลที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจมน้ำ ที่เลวร้ายกว่านั้น ระดับทะเลที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสายหลักๆ เนื่องจากน้ำเค็มรุกคืบแทรกซึมเข้าทำลายพื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลกบางแห่ง ทุกวันนี้ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวครึ่งหนึ่งของประเทศและมีผู้คน 17 ล้านคนอาศัยอยู่เผชิญปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแล้ว

เรื่องโดย ลอรา ปาร์กเกอร์
กุมภาพันธ์

88

ภาพ : 39,000 ปีก่อน
ภาพโดย : สตีเฟน อัลวาเรช
คำบรรยายภาพ : นักวิทยาศาสตร์ขูดตัวอย่างจากเพดานถ้ำหลากสีสันในถ้ำอัลตามีราของสเปนเพื่อนำไปตรวจหาอายุ ถ้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยภาพเขียนสิงสาราสัตว์ที่วาดขึ้นระหว่าง 19,000 ถึง 15,000 ก่อน สัญลักษณ์นามธรรมบนเพดานถ้ำวัดอายุได้เก่า แก่กว่านั้นอย่างน้อย 20,000 ปี

นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติคือ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังงานศิลป์ชิ้นแรกๆของโลกเหล่านี้

ทางเข้าถ้ำให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่ลำคอของสัตว์ขนาดใหญ่ยักษ์ ทางเดินโลหะดูประหนึ่งลิ้นที่ตวัดลงสู่ความมืดมิดเบื้องล่าง เพดานถ้ำเตี้ยลง มีหลายจุดที่ผนังถ้ำทึบตันบีบแคบจนแตะไหล่ผม จากนั้น ผนังหินปูนที่ขนาบอยู่กลับเปิดกว้างขึ้น และเราก็ก้าวเข้าสู่คูหาถ้ำกว้างใหญ่ที่เปรียบได้กับท้องของเจ้าสัตว์ยักษ์ตัวนั้น

เหล่าสิงโตถ้ำอาศัยอยู่ที่นี่

แล้วยังมีแรดขนปุย แมมมอท และไบซัน รวมกันเป็นสวนสัตว์ป่าดึกดำบรรพ์ซึ่งมีทั้งที่กำลังแตกตื่นวิ่งหนี ต่อสู้ และแอบย่องล่าเหยื่อ ภายนอกถ้ำ พวกมันสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้ว แต่นี่หาใช่โลกแห่งความเป็นจริง ในถ้ำแห่งนี้ พวกมันยังมีชีวิตอยู่ตามผนังมืดทึบและแตกร้าว

ย้อนหลังไปราว 36,000 ปีก่อน ใครคนหนึ่งเดินจากปากถ้ำเข้าสู่คูหาที่เรายืนอยู่ในตอนนี้ และเริ่มลงมือวาดรูปบนผนังถ้ำอันว่างเปล่าโดยอาศัยแสงวูบวาบจากเปลวไฟ เป็นภาพสิงโตถ้ำ ฝูงแรดและแมมมอท ไบซันงดงามหนึ่งตัว และสัตว์ในจินตนาการตัวหนึ่งที่ครึ่งบนเป็นไบซันส่วนครึ่งล่างเป็นผู้หญิง ภาพเหล่านี้วาดขึ้นบนแผงหินทรงกรวยขนาดใหญ่ที่ทิ้งตัวลงมาจากเพดานถ้ำ ในคูหาอื่นๆ มีภาพม้า ไอเบกซ์ และวัวป่าออร็อก นกฮูกตัวหนึ่งบนผนังหินวาดด้วยโคลนโดยใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียว ไบซันมหึมาอีกตัววาดด้วยลายพิมพ์มือจุ่มดินเทศ (ocher)  แล้วยังมีหมีถ้ำที่เยื้องย่างอย่างสบายอารมณ์ราวกับมาองหาที่จำศีลระหว่างฤดูหนาวอันยาวนาน ภาพเหล่านี้มักวาดโดยการลากเส้นต่อเนื่องอย่างชำนิชำนาญเพียงเส้นเดียว

รวมแล้ว เหล่าศิลปินวาดภาพสัตว์ทั้งสิ้น 442 ตัวตลอดช่วงเวลาอาจจะหลายพันปี โดยใช้พื้นผิวถ้ำ 36,000 ตารางเมตรต่างผืนผ้าใบ สัตว์บางตัวอยู่เพียงลำพัง หรือแม้กระทั่งซ่อนอยู่ตามซอกหลืบ แต่ส่วนใหญ่มักรวมฝูงเป็นภาพโมเสกแผงใหญ่เช่นภาพที่ผมมองอยู่ตอนนี้ภายในส่วนลึกที่สุดของถ้ำ

ถ้ำซึ่งถูกหินถล่มปิดทับมานานถึง 22,000 ปีแห่งนี้มีโอกาสเห็นแสงเดือนแสงตะวันอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1994 ระหว่างที่นักสำรวจถ้ำสามคน ได้แก่ เอเลียต บรูเนล, คริสเตียง อิลแลร์, และชอง-มารี โชเว ปีนป่ายไปตามรอยแยกแคบๆ บนหน้าผา แล้วโรยตัวลงสู่ทางเข้าอันมืดมิด นับแต่นั้นเป็นต้นมา กระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสก็ปกปักรักษาถ้ำซึ่งปัจจุบันรู้จัก   กันในชื่อ โชเว-ปง-ดาร์ก (Chauvet-Pont-d'Arc) อย่างหวงแหนยิ่ง

ความล้ำเลิศเชิงศิลปะจากฝีมือมนุษย์เช่นนี้บังเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อนานมาแล้ว และดูเหมือนจะไม่มีแบบอย่างมาก่อน กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ยังเชื่อกันว่าภาพเขียนที่พบตามผนังถ้ำยุคหินเก่าตอนปลายในแถบยุโรปใต้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างถ้ำอัลตามีรา ถ้ำลาสโก และถ้ำโชเว เป็นการแสดงออกของมนุษย์สายพันธุ์ที่เจริญกว่า นั่นคือมนุษย์สมัยใหม่อย่างพวกเราที่เดินทางมาถึงทวีปนี้ แล้วขับไล่มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลผู้ป่าเถื่อน ไร้ความคิดเชิงศิลปะ ซึ่งอาศัยและวิวัฒน์อยู่ในแถบนั้นมานานนับแสนปีออกไป

เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่า เรื่องราวซับซ้อนกว่านั้นมาก แถมยังน่าสนใจกว่านั้น เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นที่แอฟริกา เช่นเดียวกับเรื่องราวส่วนใหญ่

คริสโตเฟอร์ เฮนชิลวูดจ้องมองไปทางมหาสมุทรอินเดีย  เขายืนอยู่ ณ ปลายติ่งทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาและหากไม่นับโขดหินมหึมาที่ถูกคลื่นลมกัดกร่อนทิ้งตัวลงไป 24.5 เมตรสู่เบื้องล่าง ก็นับว่าไม่มีอะไรขวางกั้นระหว่างรองเท้าบู๊ตของเขากับทวีปแอนตาร์กติกา นอกเสียจากท้องทะเลปั่นป่วนจนคลื่นแตกฟองที่ทอดยาว 2,400 กิโลเมตร

เฮนชิลวูดจากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ในแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัยเบอร์เกนในนอร์เวย์ กับเพื่อนร่วมงาน ช่วยกันขุดค้นตรงจุดนี้มาตลอดช่วงเช้าในแหล่งโบราณคดีคลิปดริฟต์เชลเตอร์ และพบเครื่องมือหินจำนวนหนึ่ง รวมทั้งวัตถุใหม่ๆอื่นๆ ซึ่งช่วยตอกย้ำหลักฐานที่หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆว่า มนุษย์สมัยใหม่เคยอยู่อาศัยตามเนินเขาและถ้ำตื้นๆในแถบนี้เป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 165,000 ปี กระนั้น การค้นพบอันตราตรึงที่สุดของเขาบางส่วนกลับมาจากถ้ำบลอมบอสที่อยู่ห่างจากคลิปดริฟต์ออกไป 45 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก วันหนึ่งเมื่อปี 2000 ทีมงานของเขาขุดพบก้อนดินเทศแกะลายขนาดเล็กกว่าโทรศัพท์มือถือเล็กน้อยก้อนหนึ่ง ดินเทศเป็นวัสดุที่พบได้ทั่วไปในแถบนี้ของแอฟริกา และใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่เป็นสีเขียนเนื้อตัวไปจนถึงเป็นสารถนอมอาหารมาตลอดหลายพันปี  แต่ดินก้อนนี้ไม่เหมือนใคร ย้อนหลังไปราว 75,000 ปีก่อน คนหัวใสคนหนึ่งสลักลวดลายเป็นเส้นไขว้ทับกัน เส้นขนาน และเครื่องหมายรูปสามเหลี่ยมไว้บนดินก้อนนี้

ไม่มีใครรู้ความหมายของลายเส้นเหล่านั้น ซึ่งนับจากนั้นก็มีการค้นพบลวดลายลักษณะเดียวกันบนดินเทศอีก 13 ชิ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นลายเซ็น หรือเป็นการคำนวณอะไรสักอย่าง หรือจะเป็นรายการของชำยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจุดประสงค์ที่ไม่แน่ชัดนี้จะเป็นอะไรกันแน่ แต่ลวดลายเหล่านี้ก็มีอายุเก่าแก่กว่าหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ทุกชิ้นที่มีการสรุปอย่างแน่ชัดในยุคนั้นถึง 35,000 ปี

การโต้แย้งลดทอนความน่าเชื่อถือของการการค้นพบดังกล่าวในตอนแรก นักวิทยาศาสตร์บางคนโจมตีเจ้าดินก้อนน้อยนี้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ส่วนลวดลายก็อาจเป็นเพียงการขีดขูดเรื่อยเปื่อย "พวกเขาบอกว่า ดินก้อนนี้ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย" เฮนชิลวูดเล่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักวิชาการคนอื่นๆก็เริ่มยอมรับว่า การค้นพบนี้อาจเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะตัวอย่างเก่าแก่ที่สุดของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์

ในเวลาต่อมา นักวิจัยพบสมบัติล้ำค่าจากถ้ำบลอมบอสอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องมือกระดูกที่แกะสลักและตกแต่งอย่างประณีต รวมทั้งหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เมื่อกว่า 100,000 ปีมาแล้ว ผู้อาศัยในถ้ำแห่งนี้บดดินเทศเป็นผงละเอียด ก่อนนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆจนมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก แล้วบรรจุไว้ในเปลือกหอยเป๋าฮื้อซึ่งเป็นภาชนะเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรารู้จัก และอาจใช้เป็นสีตกแต่งสำหรับเขียนตามเนื้อตัว ใบหน้า  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ หรือเสื้อผ้า ในปี 2009 เฮนชิลวูดรายงานว่าพบก้อนดินเทศและหินสลักลายตารางซึ่งทำขึ้นอย่างจงใจเพิ่มเติมอีกโดยมีอายุเก่าแก่ถึง 100,000 ปีเช่นกัน

เมื่อเทียบกับความงามชวนตะลึงของงานศิลปะที่สรรค์สร้างขึ้นที่ถ้ำโชเวในอีก 65,000 ปีต่อมา ศิลปวัตถุเหล่านี้อาจแลดูพื้นๆก็จริง แต่การขีดเขียนรูปทรงง่ายๆ รูปหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องหมายแทนอีกสิ่งหนึ่ง หรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากความคิดของคนคนหนึ่งที่คนอื่นๆร่วมรับรู้ความหมายได้นั้น  คือเครื่องหมายบ่งบอกการก้าวข้ามจากอดีตในฐานะสัตว์ของเรามาสู่สิ่งที่เราเป็นในวันนี้ นั่นคือสายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์สารพัดรอบตัว ตั้งแต่ป้ายจราจรบนทางด่วน ไปจนถึงแหวนแต่งงานบนนิ้วนาง และไอคอนต่างๆบนสมาร์ตโฟนของเรา

เรื่องโดย ชิป วอลเตอร์
กุมภาพันธ์

89
พบเรื่องราวของคนไทยไม่เป็นสองรองใคร จากนักวิทยาศาสตร์ถึงนักบินผาดแผลง คนเก็บอดีตถึงนักล่าไดโนเสาร์และนักปีนเขา

คนเก็บอดีต

การพบเจอข้าวของเก่าๆ เปรียบเหมือนการได้พบเพื่อนเก่าอีกครั้ง เอนก นาวิกมูล เป็น นักสะสมของเก่าตัวยงที่เก็บข้าวของแทบทุกประเภท และแสวงหาความรู้จากของเหล่านั้น  เพื่อ “ปะ-ชุน” อดีตที่เคยแหว่งหาย เขาเป็นเจ้าของผลงานหนังสือที่ต่อยอดจากการค้นคว้า ของเก่ารวมแล้วกว่า 170 เล่ม และเปิดบ้านย่านพุทธมณฑลเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เพื่อส่งต่อ เสน่ห์แห่งความทรงจำให้แก่ผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยือน

อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักสะสมกับนักธุรกิจ

นักสะสมมุ่งเรื่องความรู้ นักธุรกิจมุ่งเรื่องเงิน นักสะสมมุ่งศึกษาว่า สิ่งของเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง เช่นขวดน้ำมะเน็ด ที่ผมสนใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จากที่เคยเห็นแต่บนแผ่นกระดาษ พอมีคนเอามาให้ก็เกิดความรู้ ทั้งวิธีการรินและการที่ ลูกแก้วไปคาที่คอขวด ทีนี้พอคนสนใจมากขึ้น ก็เริ่มมีคนนำมาแสดง นักสะสมคนอื่นๆแตกยอดไปเสาะหาตราหรือยี่ห้อต่างๆ บ้างออกไปหานักประดาน้ำเพื่องมขวดในแม่น้ำลำคลอง พอมีขวดมากเข้าจึงได้เห็นว่า ยี่ห้อของคนไทยมีเป็นร้อย แบบ นี่คือการทำให้ความรู้งอกเงยขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่เป็นนักธุรกิจซื้อแล้วนำไปขายต่อ มูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากร้อย สองร้อยเป็นไม่รู้กี่พัน  เห็นไหมว่า คนขายก็สนุกที่จะเพิ่มราคา  คนซื้อก็สนุกที่ได้เห็นข้าวของ

การเก็บของเก่าหรือต่อยอดความรู้ให้บทเรียนอะไรบ้าง

ในส่วนของผมจะเน้นให้ความรู้มากกว่า เพราะเราสนใจเรื่อง “แรกมีในสยาม” ซึ่งมีสารพัดอย่าง ให้ความรู้มากมาย มหาศาล ส่วนเรื่องราคาหรือมูลค่า ผมไม่ค่อยสนใจ อย่างหนังสือ คนอื่นอาจซื้อที่สมบูรณ์หน่อย สวยงาม แต่ผมไม่ได้ สนใจอย่างนั้น อาจเป็นเพราะไม่ได้มีสตางค์ไปซื้อ หรือรอหนังสือที่สมบูรณ์แบบ ผมเอาเนื้อหาเป็นหลัก ถ้าเล่มนี้มีเนื้อหา ที่ต้องการ ปกฉีกขาดไปบ้างก็รับได้

การต่อยอดความรู้มีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดแทนประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก แต่เรากลับไม่ใส่ใจเรื่องความรู้ สนใจเรื่องบันเทิงเป็นหลัก เราร้องรำทำเพลงมากมาย แต่ในสายวิชาการ รัฐกลับไม่มีเงินจะช่วย อย่างเช่นในพิพิธภัณฑ์ เราอยากดูของเล่นสมัยรัชกาล ที่หนึ่งหรือสองจะเป็นของไทยหรือต่างประเทศก็ตาม แต่กลับไม่มีให้ดู ถามว่าเราจะทำอย่างไร ซื้อสิ ซื้อจากต่างประเทศ แล้วมาจัดแสดง หรือเครื่องราชบรรณาการที่ฝรั่งเคยส่งมาถวาย เราทำสูญหายหมด ถ้ำมอง [ตู้หรือหีบที่มีแว่นขยายสำหรับดูภาพยนตร์สั้นๆหรือรูปต่างๆ] แผนที่สวยๆ กล้องถ่ายรูป แว่นตาแปลกๆ สารพัดอย่างที่เขาส่งมา เหลือแต่ลูกโลกกับรถไฟ จำลองวิกตอเรีย แล้วก็ดาบนโปเลียน แต่จนป่านนี้รัฐก็ยังไม่ทำ ผมพูดเรื่องนี้ซ้ำซากจวนจะ 30 ปีได้แล้ว รัฐอีลุ่ยฉุยแฉกกับงาน 5 วัน 10 วัน 5 ล้าน 10 ล้าน จัดนิทรรศการเดี๋ยวเดียว แล้วก็ทิ้งหมด ไม่สร้างสิ่งถาวร ไม่มีกรมกอง ด้านพิพิธภัณฑ์โดยตรง

เคยท้อแท้บ้างไหม

รำคาญใจมากกว่า เพราะเหนื่อย 30 ปีแล้วที่ต้องยกของ แบกของ ทำนิทรรศการ นี่ก็บ้านผม (บ้านพิพิธภัณฑ์ พุทธมณฑล สายสอง) ยกให้ของอยู่  รัฐขนาดจะส่งข้าราชการมาดู ยังไม่ค่อยมาเลย ไม่ต้องพูดถึงงบประมาณและความรู้

แล้วอะไรทำให้คุณยังทำต่อไปได้

ความชอบ อยากให้ความรู้เหล่านี้ตกอยู่กับแผ่นดิน ก็แค่นั้น ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่น เขาจะไปกู้กับระเบิดทำไมก็เพราะเป็นห่วงประเทศชาติน่ะสิ

ทำไมคนถึงชอบของเก่า

คงเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่า ไปอ่านความคิดเห็น [ในสมุดเยี่ยม] จะรู้เลยว่า ส่วนใหญ่รู้สึกมีความสุข เพราะได้มาเห็นของ ที่เคยมีในบ้าน เพราะไม่มีใครจะเก็บของทุกชิ้นในชีวิตไว้ที่บ้านหรอกครับ คือพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่ หนึ่งให้ความรู้ สอง ให้เป็นสถานที่ได้มาพักผ่อนหรือเดินเล่นบ้าง แทนที่จะเดินเล่นในห้างอย่างเดียว

นักบินผาดแผลงหญิง คนแรกของไทย

แม้สาริน วิชยากูล (อิ๋น) จะไม่รู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคต่อการบินผาดแผลง ทว่าในประเทศไทย การบินผาดแผลงยังจำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ชายค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากภาพลักษณ์ของการเป็น “กีฬา” เสี่ยงอันตราย เมื่อครั้งศึกษาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย เธอคว้าแชมป์การบินผาดแผลงแห่งชาติออสเตรเลีย ประเภทนักบินหน้าใหม่ แม้ทุกวันนี้ เธอจะว่างเว้นจากการบินผาดแผลง เพราะความจำเป็นเรื่องหน้าที่การงาน แต่ชีวิตบนฟากฟ้า ยังเป็นลมหายใจของผู้หญิงคนนี้เสมอ

การบินผาดแผลงเป็นความฝันของคุณหรือเปล่า

แรกๆยังไม่ใช่   ตอนอยู่ออสเตรเลียยังขับเครื่องบินง่อยๆอยู่  วันหนึ่งไปเห็นเครื่องที่เข้าจอดแบบสปอร์ตๆ ก็ร้อง โอ้โห! อยากบินเครื่องนี้ สวยมากเลย แต่ยังไม่ใช่ความฝัน แค่เหมือนเห็นคนขับรถหรูๆ พอเวลาผ่านไป เริ่มบินเครื่องเล็ก ครูทำผิด ท่าแล้วร่วงลงมา ก็เลยเกิดอาการกลัว สงสารผู้โดยสารว่าขนาดนักบินยังกลัว แล้วผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร ก็เลยเริ่มรู้สึกว่า อยากเข้าใจท่าบินให้มากขึ้นเท่านั้นเอง

แต่สุดท้ายก็ฝึกจนได้บินเอง

ตอนแรกเรียนที่โรงเรียน แต่ค่าเรียนแพงมาก เลยตัดสินใจย้ายโรงเรียน โชคดีมาก เจอโรงเรียนบินผาดแผลงที่ครูเก่ง ชื่อฟิล ยูนิคอมป์  ได้แชมป์โลกสองสมัย เลยไปสมัครเรียนกับเขา

ถ้าย้อนกลับไป ชีวิตบนฟ้าของคุณเริ่มต้นอย่างไร

เคยเป็นแอร์โฮสเตส แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่บุคลิกของตัวเองที่ต้องยิ้ม เสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ไม่ค่อยชอบเจอคน ไม่ค่อยสังคมเท่าไร เลยรู้สึกว่าตัวเองอยู่แต่ในห้องนักบิน (cockpit)  น่าจะดีกว่า คุยกับแค่เครื่องจักร แล้วก็คุยกับแค่กัปตัน คงจะโอเค ก็เลย อยากเป็นนักบิน

แล้วชีวิตบนฟ้าเป็นอย่างไร

สวยมากค่ะ มุมมองไม่เหมือนกับข้างล่าง โดยเฉพาะเวลาบินผาดแผลง เห็นโลกแบบอัปไซด์ดาวน์ (upside down – กลับ  หัวกลับหาง) เห็นพื้นกลับหัว เห็นทะเลอยู่บนหัวเรา มหัศจรรย์มาก แล้วก็ได้รู้สึกถึง Positive G Force (แรงดึงดูดบวก) ตามมาด้วย Negative G Force (แรงดึงดูดลบ)  อธิบายง่ายๆว่า  ถ้า Positive G Force ก็เหมือนน้ำหนักตัวเราคูณสอง แต่ถ้าเป็น Negative G Force กลับกลายเป็นว่า ตัวเราเบาเหมือนถูกดึงขึ้นไปคูณสอง ความรู้สึกแปลกดี

การบินอย่างนั้นได้ต้องฝึกหนักอย่างไรบ้าง

ตอนบินรอบแรก ครูจะให้ดูท่าที่เราต้องบิน แล้วถามว่า รับได้ไหม ตอนนั้นก็กลัวนะ แต่ว่ารับได้ เขาให้ทำอะไรก็ทำใช้อารมณ์ประมาณว่าช่างมัน ทำก็ได้ ก็เลยไม่กลัว แล้วพอเริ่มเข้าบทเรียนสอนท่าอย่างท่า Spin คือเวลาขึ้นไปบิน แล้วหมุนควง ถ้าเกิดดึงผิดจังหวะ ดึงมากเกินไป ดึงน้อยเกินไป ความเร็วตก แล้วถ้าเกิดเครื่องจะหมุนตกพื้น เขาจะสอน ก่อนขึ้นบินว่า ต้องแก้ไขสถานการณ์ย่างไร ที่จริงท่าแก้ก็แปลกมาก คือไม่ต้องจับอะไรเลย เดี๋ยวเครื่องจะ recover หรือปรับ ของมันเอง

ความยากของมันคืออะไร

สติค่ะ คือต้องรู้ทั้งสามมิติ ต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน หัวอยู่ตรงไหน ความเร็วเท่าไร เราทำอะไร ต้องรู้หมดเลย

ซ้อมนานแค่ไหน ถึงจะเทิร์นโปรได้

จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละคน บอกไม่ได้ตายตัว ตัวเองใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ก่อนจะไปแข่ง แต่คนที่ไปแข่งด้วยส่วนใหญ่ จะอายุมากกว่า บินกันมาแล้วสี่ห้าปี บางคนเปิดโรงเรียนสอน ที่จริงเรื่องบินผาดแผลงเป็นเหมือนงานอดิเรก เป็นกีฬา คือไม่เหมือนในเมืองไทยที่ตื่นเต้นกับบินผาดแผลง  แต่ที่นั่นเหมือนเราไปตีกอล์ฟ

แต่แน่นอนมันแฝงอันตราย ขจัดความกลัวอย่างไร

ก่อนจะไปเรียนยอมรับว่ากลัวมาก แล้วเครื่องก็แรง กลัวว่าเราจะควบคุมเครื่องได้ไหม แต่ขจัดความกลัวโดยพยายามทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร เข้าใจวิธีควบคุม ประเมินความเสี่ยง สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ก่อนขึ้นบินก็ต้องเช็คเครื่อง เปิดดูเครื่องยนต์ ดูทุกอย่าง สายพาน ล้อ เครื่องพร้อม เราพร้อม กินไม่ต้องมาก นอนมากๆ ก็พร้อมขึ้นไปบินค่ะ

ประสบการณ์การบินผาดแผลงให้อะไรคุณบ้าง

ทำให้รู้จักเครื่องบินมากขึ้น บินแบบสามมิติเป็นอย่างไร แล้วก็รู้ว่าความเสี่ยงที่ทุกคนเห็นอย่างขึ้นไปบินหมุนๆ ต้องเริ่มจากควาามเข้าใจก่อน อันที่จริงไม่ใช่ความเสี่ยงเลย ถ้าเรารู้จักมัน

นักล่าไดโนเสาร์ คนแรกของไทย

แม้ดร.วราวุธ สุธีธร จะเกษียณอายุราชการจากกรมทรัพยากรธรณีแล้ว แต่ความหลงใหลในภารกิจค้นหา ไดโนเสาร์ของเขาไม่มีวันเกษียณ เขาคือนักบรรพชีวินวิทยาผู้คร่ำหวอดที่บุกเบิกวงการสำรวจฟอสซิล ไดโนเสาร์ในประเทศไทย และเสาะหาจิกซอว์เล็กๆ เพื่อปะติดปะต่อภาพใหญ่ อันจะนำไปสู่คำตอบว่าโลกในครั้งบรรพกาลของเรามีหน้าตาอย่างไร

ทุกวันนี้งานของอาจารย์ยังท้าทายไหม

ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก หลังเกษียณ ผมย้ายมาอยู่ศูนย์บรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ที่มีการเรียนการสอน คนรุ่นต่อไป สร้างคนรุ่นใหม่ๆขึ้นมา ผมดูแลเรื่องการออกภาคสนาม การอนุรักษ์ตัวอย่าง การขุด และการนำตัวอย่างขึ้นมา

ทำไมการค้นพบซากฟอสซิลส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคอีสาน

เพราะไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ภาคอีสานเกือบทั้งภาคเป็นบริเวณที่เคยเป็นแผ่นดินมา ตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิกเมื่อกว่า 200 ล้านปีก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นแหล่งฟอสซิลที่ดีที่สุดในประเทศไทย มีการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำลำธารทับถมซากไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไว้มาก

การแยกแยะระหว่างหินกับกระดูกยากหรือไม่

ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพียงแต่ต้องสังเกตแล้วจำแนก อย่างกระดูกจะมีรูปร่างเฉพาะ สีอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันนิดหน่อย แล้วเวลาที่เราหยิบขึ้นมาดูใกล้ๆ ต้องชี้ชัดให้ได้ว่า นี่เป็นกระดูกหรือหิน คือดูจากสี เนื้อหรือผิวสัมผัส และรูปร่างเฉพาะ

นักบรรพชีวินวิทยาต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ต้องช่างสังเกต อดทน สองเรื่องนี้เรื่องใหญ่ อย่างเวลาพาไปลงภาคสนาม แรกๆต้องเดินดูอย่างเดียว แล้วสอนให้แยกแยะว่า อันไหนเป็นกระดูก อันไหนเป็นหิน การมองเห็นว่านี่เป็นฟัน นี่เป็นกระดูก ความจำของเราจะเป็นตัวช่วยจำแนก พวกนี้ได้ จากการฝึกอย่างเดียว  ฝึกมากๆ

การทำงานในห้องปฏิบัติการเป็นอย่างไร

ต้องยิ่งอดทนกว่า คือมีสมาธิ ไม่ใจร้อน ต้องใจเย็น แล้วต้องค่อยๆทำทีละน้อย เวลาเตรียมอนุรักษ์ตัวอย่าง ต้องใช้ เครื่องมือสกัดหินทีละนิดเพื่อรักษากระดูกไม่ให้แตก ถ้าเกิดใจร้อนมือหนักทำกระดูกแตก หักหรือบิ่น ซ่อมได้ก็จริง แต่เสียเวลามากในการซ่อมให้กลับมาเหมือนเดิม 

ขนาดเกษียณอายุราชการแล้ว ทำไมยังไม่ทิ้งวงการนี้

ยังสนุก แล้วก็มีความสุขที่ได้ทำ การไปขุดกลางแจ้ง ทำงานเหนื่อย ร้อน ต้องนั่งกับพื้น ค่อยๆแซะทั้งวัน แต่เมื่อไรที่เจอ กระดูก เจอฟอสซิลชิ้นใหม่ เราจะอยากรู้ว่ามันคืออะไร ต้องค่อยๆเปิด ค่อยๆเห็นทีละนิด แล้วถ้าเจอชิ้นสำคัญอย่าง เช่นหัวกะโหลก ฟันส่วนกราม ชิ้นส่วนที่ไม่ค่อยพบเห็น หรือชิ้นส่วนที่ครบสมบูรณ์ เราจะมีความสุขมาก ที่เหนื่อยๆ นี่หายเป็นปลิดทิ้ง  ทำได้อีกสามวันเจ็ดวันไม่มีเหนื่อย

ที่ผ่านมาชิ้นไหนประทับใจที่สุด

น่าจะเป็นชิ้นที่ใหญ่มากๆ แล้วก็ครบสมบูรณ์ แต่ว่าชิ้นที่ผมมีความสุขที่สุด คือส่วนของหัวกระโหลก ส่วนของฟัน หรือส่วนของขากรรไกรที่มีฟันติดอยู่ โอ้โห ทั้งทีมครึกครื้นมาก เพราะเป็นส่วนหายาก หัวกะโหลกของสัตว์ทุกชนิด สามารถจำแนกลงไปได้ลึกมาก

มีทฤษฎีอธิบายการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์มากมาย อาจารย์เชื่อทฤษฎีไหน

ผมคิดว่าแต่ละทฤษฎีมีเหตุผล แต่เราพอสรุปได้ว่า ในช่วงท้ายๆของยุคไดโนเสาร์ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับโลกรุนแรงและ กินเวลายาวนาน ทั้งสาเหตุจากในโลกและนอกโลก เพราะถ้าเราดูประวัติจากบันทึกฟอสซิลในช่วงที่ไดโนเสาร์ลดจำนวน ลง จะเห็นว่าเกิดวิกฤติขึ้นในโลกอยู่ก่อนแล้ว พอมีอุกกาบาตตกใส่โลก ก็เหมือนตัวปิดจ็อบ ส่วนสาเหตุจากภายในโลก อย่างภูเขาไฟระเบิดรุนแรงคงส่งควันส่งก๊าซขึ้นไปปกคลุมโลกจนมืดมิด นั่นคือสองสาเหตุรุนแรงที่ฆ่าสิ่งมีชีวิตบนโลกในมหายุคมีโซโซอิก

คนไทยคนแรก บนยอดเขาสูงที่สุดในโลก
 
เมื่อปี พ.ศ. 2551 วิทิตนันท์ โรจนพานิช ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์และผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นไปชูธงชาติไทยบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ทุกวันนี้ เขาเรียกตัวเองว่าคนบ้างาน และมีโปรเจคต์ใหม่ๆในหัวตลอดเวลา ตั้งแต่สร้างภาพยนตร์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ทำงานศิลปะ ไปจนถึงสะสมกีต้าร์ แต่การตระเวนปีนยอดเขาสูงทั่วโลก เป็นสิ่งที่เขาหลงใหลและไม่เคยลืมช่วงเวลาแห่งความทรงจำเมื่อขึ้นไปยืนบนยอดเขาเหล่านั้น

ทำไมจึงไม่อยากให้ใช้คำว่า “พิชิต” ยอดเขาเอเวเรสต์

ผมรู้สึกว่ามนุษย์พิชิตธรรมชาติไม่ได้ แล้วยิ่งได้ไปอยู่ตรงเอเวอเรสต์ เอาแค่เขาอนุญาตให้ไปยืนตรงนั้นก็บุญโขแล้ว มันไม่ใช่การพิชิตธรรมชาติ แต่ถ้าคุณเรียกว่า พิชิตใจตัวเอง คงใช่แน่นอน มนุษย์ต้องการความภาคภูมิใจ ต้องการสร้าง สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อให้คนทั่วไปเห็นถึงความยิ่งใหญ่ ทั้งในแง่ของความเป็นมนุษย์ และในแง่ของตัวตนหรืออัตตา เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่เราใช้คำว่า “พิชิตเอเวอเรสต์” ผมรู้สึกว่ามันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ณ จุดนั้น ผมรู้สึกว่าตัวเราเล็กมาก ชีวิตสั้นมาก แล้วมนุษย์ไม่ได้มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความพยายามที่จะขึ้นไปตรงนั้นเพื่อได้รู้ว่า จริงๆแล้ว มนุษย์ไม่มีอะไรเลย เหมือนยอดเอเวอเรสต์นั่นแหละครับ บนนั้น ไม่มีอะไรเลย คำว่า “พิชิต” ผมรู้สึกว่ามันฉาบทา  ทำนองจะบอกว่า เราเหนือคนอื่น เราเก่ง ซึ่งมันขัดแย้ง

ความท้าทายของการปีนยอดเขาสูงที่สุดของโลกอยู่ตรงไหน

ความท้าทายคือสุดท้ายแล้ว เราจะหาวิธีเอาชนะใจตัวเราได้อย่างไร เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่กับใจจริงๆ ขี้เกียจออกไป วิ่ง ขี้เกียจออกกำลังกาย ขี้เกียจหาสปอนเซอร์ หวาดกลัว กลัวเขาจะปฏิเสธ เหนื่อยล้า กลัวนั่นกลัวนี่ เริ่มจากใจคิดไปก่อน ทั้งนั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจึงอยู่ที่การเอาชนะใจตัวเอง อุปสรรคสำคัญคือตัวเราเอง

แล้วเอาชนะใจอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่” ก็คิดมาตลอดว่ามันคืออะไร พอตอนไปปีนเลยได้รู้แก่ใจว่า ทุกอย่างเริ่มจากใจจริงๆ ถ้าชนะใจ ก็ชนะทุกอย่าง กลับมาตอบคำถามว่าทำอย่างไร หนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่าตัวเราจริงๆแล้วเป็นใคร เราอยู่เพื่ออะไร เมื่อรู้แล้ว เราก็จะรู้อะไรที่ถูกที่ควรในชีวิต อะไรที่เหมาะสม พอประมาณ อะไรเป็นสิ่งฉาบทาโกหก ถ้าเราสามารถก้าวล่วงสิ่งฉาบทาโกหกไปได้  เราก็จะชนะใจตัวเอง

ในฐานะคนไทยคนแรกบนยอดเขาเอเวอเรสต์ การเป็น “คนแรก” สำคัญกับคุณไหม

เฉยๆมากเลยครับ ที่จริงมันสำคัญตรงที่เมื่อได้ทำก็มีความตั้งใจว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังๆ เพราะผมเชื่อว่า แรงบันดาลใจจะช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แล้วคนจะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีงาม ทำให้ประเทศของเราดีขึ้น  นี่คือสิ่งที่ผมอยากถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมขึ้นไป ไม่ได้คิดหรอกว่า จะต้องเป็นที่หนึ่ง แต่ไม่มีใครทำพอดี จะคิดว่าเป็น อุปาทานก็ได้  แต่ผมคิดว่าเป็นการเอาอุปาทานมาทำให้เป็นสิ่งดี

บรรยากาศรอบข้างตอนนั้นเป็นอย่างไร

เป็นความอัศจรรย์ครับ อันนี้สาบานได้เลย ก่อนจะขึ้นไปฟ้าปิดเป็นสีขาวหมด แต่พอเราอยู่บนยอด เมื่อชูพระบรม ฉายาลักษณ์เท่านั้นแหละครับ เมฆบนนั้นเหมือนมีใครปัดออก ฟ้าเปิด มีเมฆลอยอยู่ด้านล่างบ้าง แต่ว่าด้านบนเปิดโล่ง ไม่มีเมฆเลย ต้องบอกว่าเป็นสถานที่อัศจรรย์ เหมือนแดนสวรรค์

การปีนเขามีเสน่ห์อย่างไร

ก่อนปีนเอเวอเรสต์ ผมไม่เคยปีนเขาเลย สูงที่สุดก็ภูเขาทองวัดสระเกศ ภูกระดึง ภูชี้ฟ้า เขาคิชฌกูฏ ไม่เคยไปเลย เพราะว่าไม่ชอบ เหนื่อย ร้อน แต่ตั้งใจไปเอเวอเรสต์ เพราะครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วก็ค้นพบอะไรบางอย่าง อย่างตอนไป หิมาลัย มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมคิดว่าเขาทุกลูกศักดิ์สิทธิ์ ตรงที่เป็นประตู เปิดให้เรารู้จักตัวเองจริงๆ เราจะค้นพบ ตัวเราบนนั้น

นักวิทยาศาสตร์หญิงไทย คนแรกในแอนตาร์กติกา
 
ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ บอกว่า โลกใต้สมุทรที่ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นแหล่ง ข้อมูลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในฐานะผู้หลงใหลท้องทะเลและมหาสมุทร แอนตาร์กติกาคือความฝันที่เป็นจริงของเธอ ทว่ากว่าที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหญิงผู้นี้จะได้ไป สัมผัสผืนน้ำเย็นยะเยือกที่นั่น  เธอต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งทั้งทางร่ายกายและจิตใจ

การดำน้ำครั้งไหนเปลี่ยนชีวิตของอาจารย์

ตอนเด็กๆช่วงหน้าร้อนหรือเสาร์อาทิตย์ ครอบครัวเราชอบไปพักผ่อนชายทะเล มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณแม่พาไปดำน้ำแบบสนอร์เกิลที่จังหวัดตรัง ตอนนั้นยังเป็นเด็กอายุแค่สิบกว่าขวบ ลงไปเห็นปลาตัวใหญ่มาก สีสวย ปะการังก็สวย เลยเกิด ความประทับใจ และอยากเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล พอดีคุณพ่อคุณแม่เป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เลยอยาก เป็นนักวิจัยตั้งแต่เด็ก  เหมือนคุณพ่อคุณแม่

ทำไมต้องเป็นแอนตาร์กติกา

เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ตอนเด็กๆอยากเห็นเพนกวินตัวเป็นๆ เคยเห็นเพนกวินเหมือนกันที่ห้างสรรพสินค้า แต่ตัวเป็นผดสีแดงไปหมดเพราะมันร้อน พอได้มาเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ต่างประเทศ อาจารย์ที่เคยไปแอนตาร์กติกา มาก่อนเล่าว่า ที่แอนตาร์กติกาไม่ใช่เห็นแค่เพนกวินกับแมวน้ำ แต่ธรรมชาติที่นั่นยังบริสุทธิ์อยู่มาก เราจะได้เห็นว่า ระบบนิเวศที่ปราศจากมนุษย์เป็นอย่างไร เพราะอย่างที่เราศึกษาในประเทศไทย จะเป็นระบบนิเวศที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง พฤติกรรมสัตว์ล้วนมีมนุษย์เข้าไปมีอิทธิพล แต่ที่แอนตาร์กติกกาไม่ใช่อย่างนั้น เวลาเราไปเห็นเพนกวิน มันจะเดินเข้ามาหา แบบไม่กลัว อีกอย่างคือเรื่องภาวะโลกร้อน แอนตาร์กติกาถือเป็นภาชนะรับของเสียใบใหญ่ของโลก เพราะก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ที่เราปล่อย ผลสุดท้ายจะไปตกที่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เพราะฉะนั้นการไปศึกษาที่นั่น จะเป็นปราการด่านแรก ที่บอกว่าโลกเราเป็นอย่างไร

แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร

น่าเป็นห่วงค่ะ น้ำแข็งละลายไปเรื่อยๆ อันตราย เพราะน้ำแข็งละลายจะเพิ่มปริมาณน้ำให้สูงขึ้น ประเทศไทยอยู่ห่าง แอนตาร์กติกาเป็นหมื่นกิโลเมตร หลายคนอาจนึกสงสัยว่า เราจะไปได้รับผลกระทบอะไร ตอบได้เลยว่าได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสที่น้ำจะท่วมชายฝั่งทะเลบ้านเราย่อมมีมากขึ้น

ตอนไปแอนตาร์กติกา เตรียมตัวอย่างไร

มีโอกาสได้ไปสองครั้ง ครั้งแรกไม่ได้ดำน้ำ แต่ครั้งที่สองได้ดำน้ำ การเตรียมตัวจะต่างกัน ครั้งแรกไปกับทีมญี่ปุ่น ที่สมบุกสมบันพอสมควร ต้องเดินเท้า 7-8 ชั่วโมงหลายวันติดต่อกัน ต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรง สภาพจิตใจต้อง เข้มแข็งด้วย เพราะตอนนั้นเดินทางด้วยเรือหนึ่งเดือน อยู่ที่นั่นนานสองเดือน แล้วเดินทางกลับอีกหนึ่งเดือน ระหว่างที่อยู่บนเรือ ถึงจะใช้อีเมลได้ แต่ก็น้อย อินเทอร์เน็ตแทบใช้ไม่ได้เลย สภาพจิตใจต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ห้ามคิดถึงบ้านนะคะ แต่ต้องสามารถอยู่ร่วมกับคนตรงนั้น 80 กว่าชีวิตให้ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะบอกว่าเบื่อแล้ว ขอออกไปเดินเที่ยวข้างนอกคนเดียว เขาไม่ให้เด็ดขาด อันตราย ส่วนครั้งที่สองไปไม่นาน การเดินทางสะดวกขึ้น เพราะคนละมุมทวีปกัน ไปกับทีมของจีน บินจากชิลีไปสามชั่วโมงครึ่งก็ถึง ตรงนั้นเป็นชุมชนหรือ Community ของนักวิทยาศาสตร์เลยค่ะ ก็ไม่ได้หนักสักเท่าไร แต่ที่ต้องฝึกมาก เพราะจะไปดำน้ำในอุณหภูมิต่ำ  ลบหนึ่งองศา  แล้วชุดต่างๆก็ต้องเป็นชุดพิเศษ

ทั้งๆที่แอนตาร์กติกาอยู่ไกลมาก ทำไมเราต้องสนใจแอนตาร์กติกา

ถ้าเรายังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก มันจะไปตกที่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ แล้วสุดท้ายผลจะย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ตอนนี้ น้ำแข็งละลายแล้ว ยิ่งน้ำแข็งละลายมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ระดับทะเลสูงขึ้น แล้วอย่างห่วงโซ่อาหาร ถ้าเรายังชอบกินอาหารทะเล แม้ตัวเราจะอยู่ห่างจากแอนตาร์กติกามากก็ตาม แต่ห่วงโซ่อาหารเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน เพราะฉะนั้น การไปศึกษา ที่แอนตาร์กติกาจะทำให้เรารู้ว่า โลกของเราเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
กุมภาพันธ์

90
บางตอนจากเอกสารประกอบโครงการศิลปะภาพถ่ายจากวิถีอาเซียน
คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในทางสากลช้างเป็นสัตว์ท้องถิ่นของดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เพราะมีชุกชุมทั่วไปช้างงานที่ฝึกดีแล้วเป็นสินค้าส่งออกไปอินเดียใต้และลังกาช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ทั้งของพม่าและไทย

รูปช้างบนแผนที่ประเทศพม่า[จาก Khin Myo Chit. A WONDERLAND OF BURMESE LEGENDS. Bangkok :Tamarind Press, 1984.]

ไทยรบพม่า เป็นข้อความครอบงำสังคมไทยให้มีอคติว่าพม่าเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ จึงมีกิจกรรมปลุกใจเกลียดพม่า ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

มีต้นเรื่องจากหนังสือไทยรบพม่า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แต่พม่าไม่มีสำนึกว่าไทยเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ เหมือนที่ไทยมีอคติต่อพม่า จึงไม่มีกิจกรรมปลุกใจเกลียดไทย

เพราะพม่าไม่ได้รบไทย มีแต่พระเจ้าแผ่นดินอังวะ, หงสาวดี รบกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

ไทย, พม่า เพิ่งมี

ชื่อประเทศพม่า เพิ่งมีเมื่ออังกฤษยึดครองเป็นอาณานิคมราวหลัง พ.ศ. 2428 (ตรงกับสมัยต้น ร.5) 130 ปีมาแล้ว

ชื่อประเทศไทย เพิ่งมีคราวเปลี่ยนจากสยามเป็นไทยเมื่อ พ.ศ. 2482 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว 76 ปีมานี้เอง

ถ้าจะเรียกไทยรบพม่าหรือพม่ารบไทย ต้องหลัง พ.ศ. 2482 แต่ไทยกับพม่ามีสงครามเหมือนก่อนตั้งแต่สมัย ร.2 (พ.ศ. 2353-2367)

ชื่อประเทศ

ยุคอยุธยา ยังไม่เรียกประเทศไทยว่าไทย และพม่า แต่เรียกตามชื่อราชธานีของรัฐต่างๆ ซึ่งมีหลายแห่งหลายชื่อ

ไทยเรียกประเทศว่ากรุงศรีอยุธยา เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแล้วเรียกรัฐอื่นๆ ตามชื่อนั้น เช่น รัฐล้านนา ที่เมืองเชียงใหม่

พม่าเรียกประเทศว่ากรุงอังวะ เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้ากรุงอังวะ แล้วเรียกรัฐอื่นๆ ตามชื่อราชธานีของประเทศนั้น เช่น รัฐหงสาวดี ที่เมืองพะโค

ดังนั้น ไทยรบพม่าเป็นคำใหม่ หลังจากอังกฤษยึดครองแล้วเรียกชื่อ "เมืองขึ้น" แห่งนี้ว่า Burma แต่ไทยออกเสียงเพี้ยนเป็น พะ-ม่า ปัจจุบันสะกดว่า พม่า


(ซ้าย) อนุสาวรีย์มหาราชทั้งสามของประวัติศาสตร์พม่า
(จากซ้ายไปขวา) พระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ที่กรุงเนปิดอว์
(ขวา) พระเจ้าสีป่อ (ธีบอ) กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า


เมียนมา, พม่า

เมียนมาร์ (Myanmar) กับพม่า (Bama) เป็นคำเดียวกัน (อังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น Burma)

เดิมชื่อ พม่า เปลี่ยนเป็น เมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. 2532 (เมียนมาร์ เดิมเขียน เมียนมา)

พม่า มาจากไหน?

ประวัติศาสตร์พม่า มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (เช่นเดียวกับไทย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ) และนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อาเซียน

ประวัติศาสตร์พม่า ยกย่องนับถือบรรพชนหลัก 2 พวก คือ ปยู และ มอญ

พุกาม

ความเป็นพม่า เริ่มที่รัฐพุกาม (Pagan) ราวหลัง พ.ศ. 1600 ยุคพระเจ้าอโนรธา มังช่อ นับถือพุทธศาสนาเถรวาท มีอำนาจเหนือเมืองมอญที่อยู่ทางใต้ของพุกาม (ร่วมสมัยรัฐละโว้-อโยธยา ในไทย)

พุกาม อยู่บนพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน มีสถูปเจดีย์นับพันองค์ขนาดมหึมาก่อด้วยอิฐ ล่มสลายจากการรุกรานของพวกมองโกลกองทัพกุบไลข่าน ราว พ.ศ. 1832

ศาสนาพม่า

พม่านับถือศาสนาพม่า หมายถึง ศาสนาผีที่เคลือบด้วยพุทธศาสนา

นัต (nat) คือ ผีบ้านผีเมืองของพม่ามี 37 ตน และมีอิทธิฤทธิ์เป็นที่นับถือยำเกรงกว้างขวาง เพราะล้วนเป็นผีตายโหง

หนึ่งในจำนวนนั้นมีนัตของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้รวมอยู่ด้วย

ประชากร

ในพม่ามีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ รวมกันโดยประมาณมากกว่า 60 ล้านคน

พม่า พูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) มี 68% เป็นจำนวนมากสุด

นอกนั้นเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฉาน (ไทยใหญ่) 9%, มอญ 2%, กะเหรี่ยง, อาระกัน (ยะไข่), ชิน, อินเดีย, จีน, ฯลฯ


(ซ้าย) ภาพเขียนรูปนัตพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
(ขวา) หงส์ตัวเมียยืนเกาะหลังหงส์ตัวผู้ สัญลักษณ์ของมอญ และเมืองหงสาวดี
นิทานประจำเมืองหงสาวดี เล่าว่าหงส์ตัวเมียยืนเกาะหลังหงส์ตัวผู้
สะท้อนให้เห็นสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมเหนือผู้ชาย


ฉาน (Shan)

ฉาน หรือ ชาน เพี้ยนจากคำเดิมว่า สยาม

มีประชากรราว 9% พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว

มีศูนย์กลางอยู่ตอนบนของพม่า ทางเหนือติดจีน ทางตะวันออกติดไทย แม่น้ำสาละวินไหลผ่าน

[ชื่อแม่น้ำว่าสาละวินเป็นภาษาพม่า แต่ในตำนานล้านนาเรียกแม่น้ำคง คำเดียวกับของ, โขง มาจากคำมอญว่า โคลฺ้ง แปลว่า เส้นทางคมนาคม]

เอกสารยุคอยุธยาเรียกไทยใหญ่ เพราะรับพุทธศาสนาแล้วเป็นรัฐก่อนไทยน้อย (ลุ่มน้ำโขง)

มอญ (Mon)

พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร มีประชากรราว 2%

มีศูนย์กลางอยู่ริมทะเลอันดามันตอนล่างของพม่า ทางทิศตะวันออกติดไทย ยาวลงไปทางทิศใต้

มอญ เป็นคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์บนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ถือเป็นบรรพชนคนอาเซียน (รวมไทยด้วย) กลุ่มหนึ่ง

มอญ กร่อนคำจาก รามัญ, รฺมนฺ หมายถึง แผ่นดินและผู้คน และ เรฺมญฺ กลายเป็น เมง มีใช้ในล้านนา

อักษรมอญ วิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะในอินเดียใต้ (ทมิฬ) และอักษรทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. 1500 จารบนใบลาน รูปอักษรกลมเพื่อสะดวกในการจาร

ไทยรับพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาผ่านมอญ แล้วรับอักษรมอญดัดแปลงเป็น อักษรธรรม ล้านนา-ล้านช้าง เขียนบนใบลานและปั๊บสา (กระดาษสา)

ลายพม่า

ลายพม่า (รวมลายมอญ) ได้พื้นฐานจาก 2 ทาง คือ

1.ลายดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิในศาสนาผี ราว 3,000 ปีมาแล้ว

2.ลายกระหนกจากอินเดีย มากับศาสนาพราหมณ์-พุทธ

พื้นฐานอย่างนี้มีเหมือนกันหมดทั้งลายลาว, ลายเขมร, ลายเวียดนาม, และลายไทย (ต่อมาจึงมีลายจีนเข้าผสม) นับเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน

พม่ากินข้าว

คนพม่ากินข้าวเป็นอาหารหลัก มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

และน่าเชื่อว่ากินข้าวเหนียว (ข้าวเมล็ดป้อม) เหมือนคนทั้งหลายในสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ กับข้าว (กินกับข้าวเหนียว) จึงเป็นประเภท "เน่าแล้วอร่อย" เหมือนเขมร, ลาว, มลายู กับข้าวพม่า-มอญ โดยรวมๆ หลักๆ แล้วไม่ต่างจากไทย

งาปิ ภาษาพม่า-มอญ หมายถึง น้ำปลา หรือเครื่องปรุงอาหารทำจากกุ้ง, ปลาเล็กหมักเข้าด้วยกัน แล้วโขลกผึ่งแดดจนได้ที่ ซึ่งตรงกับคำไทยที่ขอยืมมาว่า กะปิ

พม่านุ่งโสร่ง

มักเข้าใจทั่วไปว่าโสร่งเป็นของพม่าเท่านั้น เพราะพม่านุ่งโสร่ง

แต่ภาพสลักเสียมกุกที่ปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 ชาวสยามในขบวนแห่ก็นุ่งผ้าผืนเดียวคล้ายโสร่ง

โสร่ง หมายถึง ผ้าผืนใหญ่ใช้นุ่งห่ม โดยเย็บชายผ้าติดกันเป็นถุง เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนโบราณ

พม่าไม่ได้เผาทำลายอยุธยาทั้งหมด

อยุธยาที่เห็นเหลือแต่ซากทุกวันนี้ เป็นฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีนกันเองทั้งนั้น แต่มักโยนบาปเหมาให้พม่าพวกเดียว

หลังกรุงแตกอยุธยาถูกทำลายครั้งใหญ่ ไม่มีพม่าเกี่ยวข้องเลย

เริ่มจากรื้อกำแพงเมือง ขนอิฐใส่เรือลงไปสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพฯ สมัย ร.1

ต่อมารื้อกำแพงเมืองส่วนที่เหลือ เพื่อถมทำถนนรอบเกาะ สมัย ร.5

กระทั่งหลัง พ.ศ. 2500 ข้าราชการกับพ่อค้านักการเมืองท้องถิ่นร่วมกันจ้างคนรื้อเจดีย์ขายอิฐเก่า แล้วเอาที่ดินสร้างอาคารพาณิชย์

ไทย-พม่า

ภูมิศาสตร์ ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านกัน

วัฒนธรรม ทำให้เรามีมรดกร่วมกัน

เทคโนโลยี ทำให้เราเชื่อมต่อกัน ทั้งโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต ถนน ฯลฯ

สำนึกของความเข้าใจ หรือ mentality ทำให้เราเหินห่างจากเครือญาติเพื่อนบ้าน

ประวัติศาสตร์ ทำให้เราเป็นศัตรูกัน

(จากงานไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน จัดโดย โตโยต้า และโครงการตำราฯ ที่ ม. นเรศวร จ. พิษณุโลก เมื่อ 18-19 ธ.ค. 2557)

คอลัมน์ประชาชื่น
มติชนออนไลน์  6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 51