แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: [1] 2 3 ... 51
1
เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ผมเพิ่งไปเที่ยวอินเดีย 5 วัน 5 คืนกับกลุ่มเพื่อน โดยเราไปเที่ยวที่อัครา ชัยปุระ และเดลี กันมา สมาชิกร่วมก๊วนในครั้งนี้ต่างมีเป้าหมายในการมาเที่ยวต่างกัน บางคนอยากมาเห็นทัชมาฮาล บางคนอยากไปเยือนชัยปุระ-นครสีชมพู แต่สำหรับผม จุดมุ่งหมายในการขอไปเยือนเมืองแขกซักครั้งนั้นเพราะว่าผมเป็นคนที่ชอบอาหารแขกมาก เลยอยากลองไปกินแบบต้นตำรับแท้ๆ ถึงถิ่นว่ารสชาติจะเป็นยังไง ส่วนการได้มาเที่ยวนั้นถือซะว่าเป็นผลพลอยได้

        เหินฟ้าสู่ดินแดนภารตะ มุ่งสู่อัครา
       พวกเราลงเครื่องที่เดลีก่อนจะเดินทางไปอัครา เพื่อความสะดวกพวกเราเช่ารถพร้อมคนขับตลอดทั้งการเดินทาง ซึ่งทำให้ชีวิตดีมากกกก เพราะกำหนดตารางการเดินทางได้เอง ออกสายก็ไม่ต้องกลัวตกรถ อ้อ แล้วเวลาเปิดปิดสถานที่ท่องเที่ยวของพี่แขกนี่ก็ฮาดีนะ แทนที่จะบอกว่าเปิดกี่โมงถึงกี่โมง พี่แกเล่นบอกเวลาทำการว่า Sunrise to Sunset ถ้าไม่คุ้นจะรู้สึกยากกับการจัดตารางเที่ยวเล็กน้อย

        เส้นทางระหว่างเดลีไปอัคราโดยมากมีสภาพเป็นท้องทุ่งนา มีโรงเผาอิฐเห็นเป็นปล่องควันสูงๆ เป็นระยะๆ บางครั้งก็เจอไร่มัสตาร์ดเล็กๆ สีเหลืองสดกลางทุ่ง บางครั้งอยู่ดีๆ ก็เจอโรงเรียนโผล่ขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว และเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนตัวน้อยในเครื่องแบบกำลังเดินตามกันบนทางเล็กๆ กลางทุ่งนั้นไปโรงเรียน
       
       สภาพบนท้องถนนนี่เรียกได้ว่าวุ่นวายดีแท้ เบียดกันไปแทรกกันไปปาดกันไป คนนึกจะข้ามถนนก็ข้ามกัน บางทีวัว ลา อูฐ ก็ขึ้นมาเดินเล่นนอนเล่น คนขับก็ต้องหลบให้ดีๆ เสียงแตรดังสนั่น นั่งรถไปก็เกร็งเสียวกันไปตลอดทาง

        ทัชมาฮาล
       แวบแรกที่ได้เห็นทัชมาฮาล ความรู้สึกคือขนลุก ตื้นตัน ประทับใจ ไม่ใช่ด้วยความยิ่งใหญ่สวยงามอย่างเดียวนะ แต่เพราะนี่มันคือสถานที่ระดับโลกที่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ จนวันนี้มันอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ไปถึงที่นั่นประมาณสี่โมงครึ่ง ถ่ายรูปกำลังสวยเลย เราก็พยายามเก็บภาพคู่กับทัชมาฮาลกัน ซึ่งการเอาตัวรอดและช่วงชิงทรัพยากรต่างๆ ในเมืองแขกนี่ใจต้องแข็งจริงๆ ตรงมุมมหาชนมีคนออกันรอคิวถ่ายรูปอยู่มากมาย แรกๆ เราก็คิดจะรอตามคิว ปรากฏว่าพอเหมือนจะถึงคิวเรา ก็จะมีคนอื่นเบียดแทรกเข้าไปยืนถ่ายกันเฉย เลยไม่สนแล้ว ดูจังหวะดีๆ เข้าได้คือเข้าไปเลย ที่หนักกว่าคือบางทีต่อให้เรากำลังถ่ายรูปอยู่ตรงนั้นแล้ว ก็จะมีคนมายืนจะถ่ายรูปของตัวเองด้วยจนบังเราหรือเข้ามาในเฟรมเราเหมือนกัน เอากับพี่แกสิ

        สถาปัตยกรรมของทัชมาฮาลนี่สวยงามจริงๆ ที่ชอบมากคือสีสันลวดลายดอกไม้ต่างๆ ที่เกิดจากการแซะหินอ่อนให้เป็นร่องรูปร่างที่ต้องการ แล้วเอาหินสีต่างๆ ฝังลงไปในร่องนั้นและใช้กาวชนิดพิเศษยึดไว้ก่อนที่จะขัดผิวหน้าให้เนียนเรียบอีกที ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะ ความอดทน และกำลังคนจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งด้วยหินอ่อนแกะสลักสวยๆ อีกมากมาย

        ชัยปุระ
       ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถาน ความเจริญต่างๆ ก็มีเป็นธรรมดา ตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ย่านการค้าครึกครื้น ผังเมืองสวยงาม ถนนกว้างขวาง ถึงคนจะเยอะรถจะแยะ แต่มันดูไม่วุ่นวายเท่ากับเดลี ชัยปุระได้ชื่อว่านครสีชมพูจากตึกรามบ้านช่องในเขตเมืองเก่าที่ทาด้วยสีชมพูทั้งหมด เนื่องมาจากเมื่อปี 1876 มหาราชาที่ครองนครในยุคนั้นมีรับสั่งให้ประชาชนทาอาคารบ้านเรือนต่างๆ ให้เป็นสีชมพูทั้งหมดเพื่อต้อนรับเจ้าชายจากอังกฤษ ภายหลังรัฐบาลได้ออกกฎหมายให้อาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าต้องทาสีชมพูเพื่อคงเอกลักษณ์นี้ไว้ แต่เอาจริงๆ แล้วสีชมพูที่ว่ามันก็ไม่ได้ชมพูหรอก มันคือสีดินเหนียวออกส้มๆ น้ำตาลๆ ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงการต้อนรับและไมตรีจิตของเขา แต่ทำไมสมัยนั้นเขาถึงเรียกสีชมพูอันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ

       Hawa Mahal เป็นส่วนหนึ่งของ City Palace มีลักษณะเป็นเหมือนตึกแถวสูงๆ สร้างจากหินทรายสีแดงและสีชมพู มีหน้าต่างมากมายเกือบหนึ่งพันบาน สวยงามและสง่ามาก เลียนทรงมาจากมงกุฎของพระวิษณุ พี่ไกด์บอกว่ามีไว้ให้เหล่านางสนมขึ้นมาแอบส่องดูความเป็นไปของชาวเมืองผ่านช่องหน้าต่างโดยที่คนข้างนอกมองเข้ามาไม่เห็น
       
       หลังจากนั้นเราก็ไป Amber Fort หรือ Amer Fort ซึ่งต้องออกนอกตัวเมืองไปประมาณสิบกิโลเมตร โดยเป็นป้อมและวังบนภูเขา เมื่อใกล้ถึงเราจะเริ่มเห็นตัววังตระหง่านอยู่บนเนินเขา ซึ่งตัดกับท้องฟ้าสีสดใสเป็นฉากหลัง และด้านหน้าเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่สะท้อนภาพตัวป้อมและวังทอดในเงาน้ำสวยมาก ระหว่างทางเจอหมองูแขกมาโชว์เป่าปี่สะกดงูให้ดูด้วย เคยเห็นแต่ในการ์ตูนขายหัวเราะสมัยก่อน จู่ๆ ก็ได้มาเห็นของจริง สนุกดีจัง วิวจากข้างบนป้อมสวยมาก ตัวอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็สวยงาม เช่น ตำหนักที่ตกแต่งด้วยกระจกทั้งหลัง ประตูพิฆเนศวร ซึ่งความพิเศษคือสีที่ใช้ระบายลวดลายต่างๆ นั้นผสมอัญมณีบดละเอียดสีนั้นๆ ลงไปด้วย


       Baori หรือ Stepwell คือบ่อน้ำใหญ่ เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนในการขุดเจาะน้ำบาดาลไว้ใช้และทำเป็นบันไดเพื่อลงไปเอาน้ำได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมเอาไว้ และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจพบปะเพื่อนฝูงได้อีกด้วย
       Chand Baori นั้นเป็น Baori ที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งอยู่แถวๆ ชัยปุระ ซึ่งพวกเราอยากแวะไปดูก่อนกลับแต่พบว่ามันต้องย้อนกลับไปอีกทาง ต้องเสียเวลาเพิ่มอีกกว่า 4 ชั่วโมง พวกเรากำลังจะตัดใจมุ่งหน้ากลับเดลีอยู่แล้วเชียว จู่ๆ พี่คนขับแกก็นึกได้ว่ามันมี Baori เล็กๆ แถวนี้อยู่เลยพาพวกเราไปดู ซึ่งดูเหมือนจะไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก ตอนที่เราไป ไม่มีใครอยู่ที่นั่นเลย น้ำในบ่อเป็นสีเขียวสดใสจากพวกตะไคร่และสาหร่าย มีเศษขยะลอยอยู่เล็กน้อย โชคดีมากที่บ่อน้ำที่นี่เล็กและคนมาไม่มาก ทำให้เราสามารถลงไปได้ถึงชั้นล่างสุดโดยที่ไม่มีอะไรมากั้นเหมือนที่ Chand Baori นั่งมองไปก็นึกถึงสมัยโบราณ ที่ตรงนี้คงครึกครื้นเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านแถบนี้ แต่พอมีระบบประปาแล้ว สถานที่นี้ก็เลยถูกทิ้งร้างไป

        เก็บตกก่อนกลับ
       ยอมรับว่าอังกฤษมาสร้างและวางผังเมืองไว้ให้ดีจริงๆ ถนนกว้างขวางเป็นระเบียบ มีต้นไม้ใหญ่ ตึกทรงสวยงาม พูดถึงอินเดียแล้วจะไม่พูดถึงการซื้อของนี่ไม่ได้เลย ทักษะการขายของของพ่อค้าแม่ค้าที่นี่คือปลิงเรียกพ่อ ไก่เรียกแม่ คือทั้งเกาะติด ทั้งจิกลูกค้าแบบสุดยอด แค่เดินผ่านแล้วเรียกนี่ยังนับว่าธรรมดา บางทีถามราคาแล้วไม่เอานี่พี่แกถือของเดินตามจิกเป็นสิบนาทีเลยนะ ถ้าเราไม่สนก็เดินกลับไป แล้วกลับมาใหม่พร้อมสินค้าชิ้นใหม่ที่พยายามนำเสนอเผื่อถูกใจอีก ระดับหนักสุดคือเดินผ่านเฉยๆ ไม่ได้มองด้วยซ้ำแต่กลับเข้ามาเสนอสินค้าเอง แล้วก็เดินตามเรื่อยๆ เสนอราคามาให้แล้วก็ลดให้เอง ผมเจอคนมาเสนอขายแส้หนังด้วยวิธีนี้ จากตอนแรก 1,500 รูปี เดินตามเรามาเรื่อยๆ ลดไปลดมาเหลือ 150 รูปี คือประมาณ 80 กว่าบาท ตื๊อจนเพื่อนผมแนะนำว่าซื้อๆ ไปเถอะ แล้วเอามาฟาดใส่ตาพ่อค้านี่แหละฐานที่ตื๊อดีนัก 5555 ที่อินเดียนี่น่าซื้อของมาก เพราะราคาถูกจริงๆ ของสวยๆ ดีๆ มันก็มีเยอะแยะ บางอย่างมันลดได้จนถูกเหลือเชื่อ จนแอบคิดไม่ได้ว่าคนผลิตต้นน้ำเขาจะได้กำไรหรือค่าแรงเท่าไหร่เนี่ย


        แล้วพบกันใหม่
       การมาเที่ยวครั้งนี้ได้เปิดประสบการณ์ ภาพลักษณ์ ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับอินเดียให้กับพวกผมมาก การมารู้มาเห็นด้วยตัวเองมันยิ่งทำให้ภาพต่างๆ ชัดขึ้นว่า จริงๆ มันก็ไม่ได้ลำบากหรือน่ากลัวอะไรขนาดนั้น แต่ก็เข้าใจนะว่าการเดินทางโดยรถยนต์และมาเที่ยวแต่ในย่านเจริญในหัวเมืองใหญ่ ทำให้เราได้เจอแต่ความสะดวกสบายเสียเป็นส่วนมาก อาจจะยังไม่ได้สัมผัสอินเดียจริงๆ ครบทุกแง่มุมซึ่งยังมีอะไรมากกว่านี้อีกเยอะ สำหรับผมสิ่งที่ได้จากการมาอินเดียอีกอย่างคือการได้มาเห็นร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตทั้งที่ยังคงสภาพและที่ทรุดโทรมไปแล้ว มันทำให้เราอดทึ่งถึงความยิ่งใหญ่และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรโบราณที่เคยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นที่ที่มีความศิวิไลซ์อันดับต้นๆ ของโลก และยิ่งเข้าใจถึงคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มากขึ้นไปอีก ที่แห่งนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่ดึงดูดให้ผมกลับมาเรียนรู้ ค้นหา
       
       แล้วพบกันใหม่นะ...อินเดีย


โดย Marsmag    24 ธันวาคม 2558

2
 FREE & EASY IN PHILADELPHIA
       
       ไม่ว่าใครจะคุ้นเคยจากชื่อเมืองในรัฐเพนซิลวาเนียแห่งนี้จากหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ บนกล่องฟิลาเดลเฟียครีมชีส (ซึ่งไม่ได้ผลิตในฟิลาเดลเฟีย) หรือในฐานะเมืองมรดกโลกแห่งเดียวของอเมริกา แต่เราน่าจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งหากใช้เวลาอย่างช้าๆ สบายๆ ไม่เร่งร้อนที่นี่
       
       นั่นคือความเป็นอิสระซึ่งมาพร้อมกับสุขที่แสนเรียบง่าย ราวกับเวลาเดินช้าลงไปสักหนึ่งถึงสองสเต็ป


        WALK, DON’T RUN
       ในทริปสั้นๆ สัก 2-3 วันซึ่งน่าจะเพียงพอกับการมาเที่ยว เราคิดว่าวิธีการซึมซับบรรยากาศและชื่นชมความสวยสงบและเป็นธรรมชาติของการใช้ชีวิตในเขตใจกลางเมืองที่ฟิลาเดลเฟียคือการเดินลัดเลาะไปตามถนนเล็กๆ ที่มีโครงสร้างเป็นบล็อกๆ ที่เราชอบมากคือตึกเก่าอายุนับร้อยๆ ปี กับบ้านเรือน ร้านอาหาร คาเฟ่ โบสถ์ ซึ่งเรียงตัวท่ามกลางต้นไม้เปลี่ยนสีในย่าน Rittenhouse Square

        ด้วยความเก่าแก่ของเมืองฟิลาเดลเฟียที่ William Penn ค้นพบตั้งแต่ปี 1682 และเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของ American Revolution ไปจนถึงการประกาศอิสรภาพในปี 1776 และหนึ่งในศูนย์กลาง Revolutionary War ดังนั้นความเป็นอนุรักษนิยม ความเก่าแก่ของสิ่งก่อสร้างที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมือง จึงกลมกลืนไปกับความเจริญของเมืองในยุคปัจจุบัน


        OLD TREASURES
       เสมือนย้อนไปยังอดีตที่รุ่มรวยและมีความหมายต่อความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติของชาวอเมริกัน บน Market Street ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสายหลัก เราจะพบทั้ง Liberty Bell, Philadelphia Museum of Art, Philadelphia City Hall, Independence Hall และเมื่อไปถึงย่าน Old Town ติด Delaware River ซึ่งไม่ไกลเกินสิบนาทีเดินก็จะพบสุสานที่ฝังร่างบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ รวมทั้งอนุสาวรีย์ Benjamin Franklin


        ANTIQUE SHOP
       ข้าวของเก่าสารพัดชนิดตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ จานชาม สิ่งพิมพ์ ไปจนถึงของใช้ทหารจากสมัยสงครามและเสื้อผ้าวินเทจมีขายในฟลีมาร์เกต (Flea Market) ที่จัดกันทุกวันเสาร์ และจะโยกย้ายเปลี่ยนสถานที่เป็นอินดอร์ในช่วงฤดูหนาว เป็นความคึกคักช่วงวันหยุดสำหรับคนที่หลงใหลกลิ่นอายอดีตและนักสะสม (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ philafleamarkets.org) บน Bainbridge Street มีร้านของเก่าหลายร้าน เราชอบ Anastasia's ซึ่งมีของนานารูปแบบแถมจัดดิสเพลย์สวยราวกับเป็นมิวเซียมขนาดย่อม     

        NO, NON-CHEESY!
       เราไม่อาจระบุหรือการันตีว่าฟิลาเดลเฟียเป็นสวรรค์สำหรับนักกิน แต่บรรยากาศด้านอาหารของที่นี่ก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่จะทำให้คุณหลงรักได้ไม่ยากเลย เพราะทั้งผลผลิตสดใหม่จากฟาร์มสำหรับนักปรุงเอง ความหลากหลายของรสชาติคุ้นลิ้นในไชน่าทาวน์ที่มีให้เลือกนานาชาติ อิตาเลียนมาร์เกตขนาดใหญ่ที่เดินได้เป็นครึ่งวัน เมนูคลาสสิกสไตล์อเมริกัน ตลอดจนฝีมือของเชฟรุ่นใหม่ๆ ในร้านอาหารที่เรายอมต่อคิวรอเหมือนชาวฟิลาเดลเฟีย ต่างช่วยให้แต่ละมื้อแต่ละวันที่ฟิลาเดลเฟียเป็นความสุขที่มากกว่าแค่เพียงอิ่มท้อง


Philly Cheese Steak
         Philly Cheese Steak จากร้านในย่าน Italian Market เมนูที่ใครๆ พูดกันเล่นๆ ว่ามาถึงฟิลาเดลเฟีย (หรือ Philly ตามที่คนอเมริกันเรียก) ก็ควรลอง เพราะมันคือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งไปแล้ว ขนมปังแซนด์วิชนุ่มยาวผ่ากลาง ใส่เนื้อหั่นบางที่ผัดกับหัวหอมและเนยบนกระทะเหล็กจนหอมฟุ้ง โปะด้วยอเมริกันชีสดูไม่หรูหราอะไร แต่มันอร่อยมากเสียจนสุดท้ายเราก็กินหมดชิ้น แม้ว่ามันจะดูใหญ่ไปหน่อยในตอนแรกก็ตาม


        READING TERMINAL MARKET
       ปากท้องของชาวฟิลาเดลเฟียที่มีทั้งอาหารสด ร้านอาหารเด็ดๆ หลายสิบร้าน ร้านขนมอบกันใหม่ๆ แม้แต่ร้านเครื่องเทศหรือร้าน Cookbook และอุปกรณ์ต่างๆ ที่นี่คือตลาดสาธารณะในประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่ากลิ่นอาหารหอมฟุ้งทั้งฮอลล์จะยั่วน้ำลายเราตั้งแต่เปิดประตูเข้ามาก้าวแรก


        LA COLOMBE
       ถ้าจะหากาแฟดีๆ สักแก้ว เราว่าคุณน่าจะชอบกาแฟลา โคลอมบ์ (La Colombe) ที่เป็นโรสเตอร์เอง และบาริสต้าชงกาแฟทุกแก้วอย่างตั้งใจ มากกว่าจะเดินตามหากาแฟแฟรนช์ไชส์แบรนด์ดังสัญชาติเดียวกัน ที่สำคัญพอดื่มเสร็จก็เดินไปนั่งเล่นในสวน หรือไป Liberty Bell ที่อยู่ติดๆ กับร้านได้เลยทันที


        HIGH STREET ON MARKET
       ร้านอาหารและคาเฟ่ที่เด็ดและดังเรื่องขนมปังอบใหม่อยู่หลังร้านไม่ทำให้เราผิดหวัง ทั้งแซนด์วิชมื้อเที่ยง โดนัทแกล้มกาแฟมื้อเช้า และดินเนอร์ที่ผู้คนยอมต่อแถวรอโต๊ะ ในความเรียบง่ายไม่ประดิดประดอยมาพร้อมรสชาติอร่อยที่ไปซ้ำได้หลายรอบ เพื่อจะลองเมนูใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ


        SABRINA'S CAFE
       อีกร้านที่เราบังเอิญพบและเชื่อว่าต้องอร่อยจากจำนวนคนที่ต่อแถวรอ บรันช์วันอาทิตย์กับเมนูง่ายๆ สไตล์อเมริกันอย่างเบอร์เกอร์เนื้อเลี้ยงด้วยหญ้า โปะชีสชิ้นหนาเสิร์ฟกับมันฝรั่งทอดร้อนๆ ชิ้นใหญ่ ได้ใจไปเต็มๆ

โดย Marsmag    25 มกราคม 2559

3

ภาพ : ก้าวย่างจากเงื้อมเงา
ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์
คำบรรยายภาพ : เสือดาวซึ่งแสงแฟลชจากกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ซ่อนไว้และแสงไฟจากตัวเมืองมุมไบฉายให้เห็นตัว เดินด้อมๆมองๆไปตามแนวชายขอบอุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีในประเทศอินเดีย

เสือดาวมีความสามารถเต็มเปี่ยมที่จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมนุษย์ คำถามคือแล้วมนุษย์เล่าพร้อมเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเสือดาวหรือไม่

เรากำลังนั่งรอเสือดาวอยู่ในความมืดข้างเส้นทางเดินป่าตามแนวตะเข็บอุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีในประเทศอินเดีย อันเป็นพื้นที่ป่าขนาด 104 ตารางกิโลเมตรใจกลางมหานครมุมไบ อพาร์ตเมนต์สูงหลายชั้นปลูกเรียงรายอยู่ฝั่งตรงข้ามอุทยานนี่เอง ขณะนี้เป็นเวลา 22.00 น. เสียงล้างจานและเสียงกล่อมเด็กเข้านอนดังลอดหน้าต่างที่เปิดอยู่ เสียงหัวเราะของเด็กวัยรุ่น เสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ และเสียงผู้คน 21 ล้านคนจ้อกแจ้กจอแจราวกับเครื่องจักรขนาดมโหฬาร ณ ที่ใดที่หนึ่งในป่ารอบตัวเรา เสือดาวกำลังเงี่ยหูฟังอยู่เช่นกัน

                ภายในอุทยานและบริเวณโดยรอบมีเสือดาวอาศัยอยู่ประมาณ 35 ตัว โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละตัวมีอาณาเขตราวสี่ตารางกิโลเมตร ทั้งๆที่เสือดาวสามารถออกหากินเป็นระยะทางวันละ 15 กิโลเมตร เสือดาวที่นี่ยังถูกล้อมรอบด้วยชุมชนเมืองที่แออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยมีประชากรหนาแน่นถึงราว 30,000 คนต่อตารางกิโลเมตร กระนั้นเสือดาวก็ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข  อาหารส่วนหนึ่งของพวกมันคือกวางดาวและสัตว์ป่าอื่นๆภายในเขตอุทยานแต่เสือดาวหลายตัวยังหากินไปตามแนวชายขอบที่ไม่ได้ล้อมรั้วแยกธรรมชาติจากอารยธรรม  ขณะที่เมืองกำลังหลับใหล พวกมันก็แอบย่องไปตามตรอกซอกซอยด้านล่าง เที่ยวลักกินสุนัข แมว หมู หนู ไก่ และแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ติดสอยห้อยตามอารยธรรมของมนุษย์ เสือดาวกินคนด้วย แต่ก็เกิดขึ้นนานๆครั้ง

                ช่วงสายๆของวันเสาร์วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ในแถบชนบทของเมืองชุนนาร์ ห่างจากมุมไบไปทางทิศตะวันออก 150 กิโลเมตร รถยนต์สังกัดหน่วยงานรัฐบาลแล่นเข้ามาจอดที่บ้านไร่หลังเล็กแต่ดูมีฐานะ บรรยากาศคุกรุ่นด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่ทุกคนยังควบคุมอารมณ์ไว้ได้ บนระเบียงใหญ่หน้าบ้านซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสูง ระดับเอวและมุงหลังคาด้วยแผ่นโลหะ คนกลุ่มหนึ่งรอคอยชายจากกรมป่าไม้ผู้นี้

                หกวันก่อนหน้านั้น ในคืนวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 22.30 น. ไส มัณฑลิก วัย 2 ขวบ คุกเข่าอยู่บนม้านั่งยาวตรงระเบียงนี้ พลางไถรถบัสของเล่นไปบนสันกำแพง ย่านั่งพักผ่อนอยู่บนโซฟาข้างๆเขา เวลาเดียวกันนั้นเอง ในพงหญ้าสูงห่างออกไป 20 หรือ 30 เมตร เสือดาวสังเกตเห็นอะไรบางอย่างเข้า นั่นคือศีรษะที่ขยับไปมา ขนาดพอๆกับลิงบอนเน็ตที่เป็นเหยื่อตามธรรมชาติของมัน มันเริ่มย่องเข้าหา ถ้าเด็กน้อยโชคดี เขาคงไม่ทันได้เห็นเสือดาวคาบตัวเขาข้ามกำแพงผ่านทุ่งไป ย่ากรีดร้องลั่น สมาชิกที่เหลือของครอบครัวพากันวิ่งฝ่าความมืดตามไป แต่ก็สายเสียแล้ว

                ขณะนี้ความโศกเศร้าพอจะบรรเทาเบาบางลงไปบ้าง พวกผู้หญิงนั่งเงียบๆกันอยู่บนพื้นตรงปลายระเบียง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั่งอยู่ตรงกลางระเบียง ส่วนที่ปลายระเบียงอีกด้าน พ่อของเด็กน้อยนั่งอยู่ตรงจุดที่ลูกชายถูกคาบไป เจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำตัวเองและอธิบายว่า  เขาไม่ได้หมายความว่าเงินชดเชยประมาณ 12,300 ดอลลาร์สหรัฐจะทดแทนความสูญเสียได้ แต่เป็นการรับทราบของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเสือดาว

                ครอบครัวมัณฑลิกมีข้อเรียกร้องสองสามข้อ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าเขาจะพยายามช่วย เป็นอันเสร็จพิธี  หลังจากนี้ ห่างออกไปหกกิโลเมตร เขายังต้องแวะบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งเกิดเรื่องราวทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุเสือดาวกัดคนขึ้นมาสักครั้งแล้ว ก็มักเกิดขึ้นซ้ำเป็นระลอก ความตายของไส มัณฑลิก เป็นการโจมตีครั้งที่สามในแถบชุนนาร์ภายในเวลากว่าสองสัปดาห์เท่านั้น และเป็นการเสียชีวิตรายที่สอง

                น่าฉงนที่ส่วนใหญ่แล้วเสือดาวกับมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้แต่ในมุมไบ แล้วทำไมจึงเกิดการโจมตีขั้นร้ายแรงหลายครั้งในพื้นที่เช่นชุนนาร์ เช้าวันนั้นหลังจากการมอบเงินชดเชยที่บ้านมัณฑลิก วิทยา อเตรยะ นักชีววิทยาของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า นั่งอยู่ข้างไร่อ้อยในเมืองอะโกเลซึ่งอยู่ใกล้เคียง บนหน้าจอแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ของเธอ จุดสีฟ้าซึ่งสว่างขึ้นมาจนลายพร้อยบนแผนที่ของชุมชนนี้   แสดงถึงสถานที่ที่เธอพบเสือดาวระหว่างการศึกษาเป็นระยะเวลาห้าปีที่นี่โดยใช้กล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ซ่อนไว้และปลอกคอวิทยุ  สรุปก็คือ เธอพบเสือดาวทุกหนแห่ง เสือตัวเต็มวัย 11 ตัวเดินท่องไปตอนกลางคืนในเมืองอะโกเลและบริเวณรอบๆ อันเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีป่า  ไม่มีกวางหรือเหยื่อตามธรรมชาติขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ และมีคน 20,000 คนสัญจรไปมาในตอนกลางวัน

                เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเสือดาวจึงผิดเพี้ยนไป อเตรยะจึงวิเคราะห์การโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแถบชุนนาร์ระหว่างปี 2001 ถึง 2003 จากสิ่งที่ตอนแรกดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ คือกรมป่าไม้ดักจับเสือดาวกว่าหนึ่งร้อยตัวจากพื้นที่ปัญหาในชุนนาร์ ส่วนใหญ่ดำเนินการหลังเกิดการโจมตีปศุสัตว์ ต่อมาเสือดาวเหล่านั้นจึงได้รับการปล่อยเข้าป่าห่างจากจุดที่จับมาโดยเฉลี่ย 30 กิโลเมตร อันเป็นวิธีเดียวกับที่ทั่วโลกใช้จัดการสัตว์ นักล่าซึ่งสร้างปัญหา แต่หลังจากการย้ายที่ใหม่ อเตรยะและทีมงานกลับพบว่า การโจมตีมนุษย์ในชุนนาร์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 325 และอัตราการโจมตีถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

                “นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการมีจิตผิดปกติในสัตว์วงศ์แมวค่ะ” อเตรยะกล่าว ความผิดปกตินี้เกิดจากความบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกจับขังกรง ถูกมนุษย์ควบคุม และถูกปล่อยตัวในภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคยและเป็นอาณาเขตที่มีเสือดาวตัวอื่นครอบครองอยู่แล้ว อเตรยะและผู้ร่วมวิจัยอธิบายว่า การที่จู่ๆก็เกิดการโจมตีขึ้นหลายครั้งไม่ได้เป็นผลจากความดุร้ายที่เสือดาวมีมาแต่กำเนิด แต่ “การจับไปปล่อยที่ใหม่ชักนำให้มันโจมตีมนุษย์”

                ผู้จัดการป่าประจำกรมป่าไม้เข้าใจประเด็นเมื่ออเตรยะนำเสนองานวิจัยเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน อุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีในมุมไบไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของอุทยานเป็นสถานที่นำเสือดาวมาปล่อยอีกต่อไป (เช่นเดียวกับที่ชุนนาร์ อุทยานเองก็กำลังประสบปัญหาการโจมตีของเสือดาว)  สื่อในเมืองหันมาสนใจแนวคิดที่ว่า การจับเสือดาวไปปล่อยที่ใหม่อันตรายกว่าตัวเสือดาวเองเสียอีก  เริ่มมีการจัดอบรมให้ตระหนักถึงแนวคิดที่สำคัญกว่า นั่นคือการพบเห็นตัวเสือดาวในละแวกบ้านไม่ได้เป็น “ความขัดแย้ง”  แต่การจับเสือดาวไปไว้ที่อื่นซึ่งเป็นวิธีแรกที่ชาวเมืองมักเรียกร้องกลับทำให้ระบบสังคมของเสือดาวเสียไป และเปิดอาณาเขตให้เสือดาวตัวใหม่ที่อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าในเรื่อง “การปรับตัวเข้าหากัน”  ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ เสือดาวในมุมไบ อะโกเล และพื้นที่อื่นๆไม่ใช่ “ผู้บุกรุก” แต่เป็นผู้อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ต่างหาก


เรื่องโดย ริชาร์ด คอนนิฟฟ์
ธันวาคม 2558

4
สัมผัสความเปลี่ยนแปลงของนิวยอร์กในช่วงแปดทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมชมทัศนียภาพอันตระการตาของมหานครแห่งนี้จากเบื้องบน

            นานมาแล้ว ตอนยังเป็นเด็กชายวัยแปดขวบ ขณะยืนอยู่บนหลังคาอาคารห้องเช่าสูงสามชั้นในย่านบรุกลิน ผมได้สัมผัสกับความรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นครั้งแรก

            ผมยังไม่เคยขึ้นไปบนหลังคาตามลำพังมาก่อน แม่ผมบอกว่า มันเป็นหน้าผาที่มนุษย์สร้างขึ้นและอันตรายเกินไป

            ตอนโพล้เพล้ พอเพื่อนฝูงแยกย้ายกันกลับบ้านไปกินข้าว ส่วนแม่ผมก็ออกไปซื้อของพอดี ผมเสี่ยงไต่บันไดขึ้นไปอย่างกล้าๆกลัวๆ ปลดกลอนประตู แล้วก้าวออกไป ชั่วขณะนั้นเองที่ผมรู้สึกว่าชีวิตผมเปลี่ยนไปแล้ว

ทางทิศตะวันตก ไกลโพ้นเลยอ่าวออกไป ดวงอาทิตย์กำลังคล้อยลงสู่ภูมิทัศน์ที่ผมรู้จักแค่ในชื่อ “เจอร์ซีย์” หมู่เมฆเคลื่อนตัวช้าๆ ส่วนที่อยู่ใกล้ดูดำทะมึน ส่วนที่อยู่ไกลออกไปมีขอบเรืองแสงสีส้ม เรือบรรทุกสินค้าแล่นเอื่อยๆทิ้งเส้นสายสีขาวไว้บนผืนน้ำดำมืด ในแมนแฮตตัน หมู่อาคารสูงกำลังกลืนหายไปกับฟ้าที่มืดสลัวลง ไม่มีแสงไฟสว่างไสวในยามสงครามเช่นนั้น เบื้องล่างผมเป็นหลังคาบ้านราวห้าสิบหลัง ทั้งหมดรวมกันเป็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของรูปทรง สีสัน และเงามืดเร้นลับ ทอดยาวเหนือขอบเขตของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ย่านนี้”

            ผมพยายามนึกหาถ้อยคำ แต่ไม่มีคำใดผุดขึ้นมา ตอนนั้นผมยังบรรยายความรู้สึกตัวเองไม่เป็น แน่นอนครับว่าคำคำนั้นคือ “ความอัศจรรย์ใจ”

            ความอัศจรรย์ใจอีกมากจะตามมาหลังจากนั้น ตลอดช่วงชีวิตอันรุ่มรวย เข้มข้น และยาวนาน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้ด้วยการข้ามพรมแดนในจินตนาการของย่านตัวเองออกไป “สู่นิวยอร์ก” อย่างที่เราพูดกันเมื่อเอ่ยถึงแมนแฮตตัน

            ในช่วงหลายปีต่อมา ผมตกหลุมรักการเดิน หนังสือการ์ตูน การวาดรูป ทีมเบสบอลบรุกลินด็อดเจอร์ และการอ่าน รวมถึงบทเพลงของบิลลี ฮอลิเดย์, เอดิต ปียัฟ และที่โปรดปรานที่สุดคือ แฟรงก์ ซีนาตรา ผมถังแตก เช่นเดียวกับคนอื่นๆทุกคนในยุคและย่านนั้น บางครั้งในช่วงวัยรุ่น ผมจะนั่งรถไฟใต้ดินไปลงสถานีที่ไม่เคยไปมาก่อน และแค่เดินเล่นเรื่อยเปื่อย ผมจะมองดูบ้านเรือน อาคารห้องเช่า โรงเรียน ร้านค้า โบสถ์ และสุเหร่ายิว พลางพยายามนึกภาพชีวิตของผู้คนเหล่านั้นซึ่งผมไม่รู้จัก แน่นอนว่าผมกำลังฝึกหัดเพื่อจะกลายเป็นนักเขียนโดยไม่รู้ตัว

            ผมไม่ใช่เด็กแปดขวบหรือสิบแปดอีกต่อไปแล้ว ผมอายุแปดสิบปี และถ้าเดี๋ยวนี้ความตื่นตาตื่นใจกับอัศจรรย์ของนิวยอร์กจะหายากยิ่งกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา นั่นไม่ใช่เพราะความเย้ายวนใจอันวูบไหวของอารมณ์ถวิลหาอดีต พวกเรา ชาวนิวยอร์กรู้ดีว่า เราอาศัยอยู่ในเมืองอันเปี่ยมไปด้วยพลวัต ที่มีการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการ และการก่อสร้างเกิดขึ้นตลอดเวลา บางครั้งในทางที่ดีขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น

            แน่นอนว่าย่านต่างๆแปรเปลี่ยนไป และเรายังสูญเสียบางย่านไปด้วยเช่นกัน

            ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ ผมหยั่งรากลึกอยู่ในนิวยอร์ก แต่ผมยังเป็นคนพเนจรในดินแดนต่างถิ่นด้วย ผมชอบเม็กซิโกเพราะผู้คนที่นั่น รวมทั้งดนตรี อาหาร และวรรณกรรม นอกจากนี้ ผมยังไปใช้ชีวิตอยู่ในบาร์เซโลนา โรม เปอร์โตริโก และไอร์แลนด์ ผมไปทำข่าวสงครามที่เวียดนาม ไอร์แลนด์เหนือ นิการากัว และเลบานอน ในทุกหนแห่งที่ไป ผมเป็นนักเดิน ผมพยายามมองให้เห็น ไม่ใช่แค่ดู

            เมื่อสองสามปีก่อน ผมอ่านถ้อยคำของเชมัส ฮีนีย์ กวีรางวัลโนเบลชาวไอริช ซึ่งช่วยให้ผมมองเห็นบางสิ่งเกี่ยวกับนิสัยใจคอของตัวเอง รวมทั้งของคนอื่นๆที่เหมือนผม “หากคุณมีโลกใบแรกที่มั่นคง และมีความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่มั่นคง” เขาเขียนไว้ “เช่นนั้นแล้ว ในบางซอกหลืบของคุณ คุณจะพบอิสรภาพเสมอ คุณจะเดินทางไปไหนก็ได้ในโลก เพราะคุณรู้ว่าคุณเป็นคนที่ไหน คุณมีบ้านให้กลับไปหาได้เสมอ”

            บ้านที่ผมกลับไปหาได้เสมอยังคงเป็นนิวยอร์กอย่างไม่ต้องสงสัย

            ทว่าขณะย่างเข้าสู่ความคลุมเครือแห่งวัยชราที่ซึ่งความอัศจรรย์ใจมักเจือด้วยความเสียดาย บ่อยครั้งหัวใจผมหนักอึ้งเพราะสิ่งที่เห็นนิวยอร์กอันเป็นที่รักของผมกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่  แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้น นิวยอร์กมั่งคั่งและสมบูรณ์แข็งแรงกว่าเมื่อสมัยผมยังเด็ก แต่โฉมหน้าทางสถาปัตยกรรมของที่นี่ดูจืดชืดห่างเหินขึ้น เป็นมนุษย์น้อยลง และดูเหมือนกำลังเย้ยหยัน ในแมนแฮตตัน เหล่าตึกระฟ้าซึ่งผุดขึ้นมาใหม่กำลังบดบังท้องฟ้า

            จากมุมมองของสมาชิกตัวจริงคนหนึ่งของบรรดาสามัญชนคนเดินถนน อาคารใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างของอัจฉริยภาพทางวิศวกรรม ไม่ใช่ความงามทางสถาปัตยกรรม แม้แต่ในย่านบรุกลินอันเป็นที่รักของผม ก็กำลังมีการก่อสร้างอาคารทรงกล่องขนาดใหญ่แห่งใหม่ๆอยู่เช่นกัน ความอัศจรรย์ของผืนฟ้าไร้ขอบเขตของบรุกลินกำลังอันตรธานไป ทุกวันนี้จะเห็นได้เฉพาะจากตึกชั้นสูงๆที่อยู่ไกลๆเท่านั้น

            ตึกใหม่ๆที่สร้างขึ้นแทนที่ตึกเก่าและเป็นที่คุ้นเคย เสียดแทงสูงลิ่วถึง 90 ชั้นสู่อากาศเหนือนิวยอร์กราวกับพุ่งขึ้นไปกัดกินท้องฟ้าอย่างหิวกระหาย เกาะแมนแฮตตันทั้งเกาะ ตั้งแต่ย่านอินวูดทางเหนือสุดจรดย่านแบตเตอรี่ปาร์กทางใต้สุด แลดูระยิบระยับวับวาวไปด้วยตึกใหม่ๆ วันไหนแดดแรง ผนังด้านนอกอาคารที่เป็นกระจกทำเอาผู้คนตาพร่ากันถ้วนหน้า

            แน่นอนว่าเป็นไปได้ที่ในอนาคตอันไกลโพ้น ตึกเสียดฟ้าใหม่ๆเหล่านี้จะเฉิดฉายด้วยพลังความรู้สึกทำนองเดียวกันเมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็คงเป็นไปได้ แต่ผมยังสงสัยอยู่ หน้าตาตึกพวกนี้ส่วนใหญ่ว่างเปล่า ผนังด้านหน้าตึกบ่งบอกชัดแจ้งถึงการต่อต้านความเขลา การซุบซิบนินทา ความบกพร่อง หรือความต้องการของมนุษย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แฝงเร้นด้วยประเด็นทางชนชั้นมาแต่ไหนแต่ไร ทว่าสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่นี้ดูเหมือนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเงินก้อนโต มีรายงานว่าผู้อยู่อาศัยตามตึกเหล่านี้ปกติมาอยู่กันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมีใครเป็นสมาชิกสมาคมครูและผู้ปกครอง หรือคณะกรรมการชุมชน หรือรู้จักเจ้าของร้านขายอาหารตรงหัวมุมถนนของตัวเองแต่ผมอาจจะผิดก็ได้ พวกเขาอาจเป็นมนุษย์ที่ดีเลิศ หัวเราะร่าเริง และจิตใจโอบอ้อมอารี แต่ถึงอย่างไรก็ดูไม่มีแนวโน้มว่าจะให้กำเนิดหรือสร้างนักเขียนอย่างเฮนรี เจมส์, อีดิท วอร์ตัน หรือหลุยส์ ออกินคลอส ผู้รู้จักแปลงชีวิตอภิสิทธิ์ชนของตนให้เป็นบทกวีร้อยแก้ว ผู้มาใหม่อาศัยอยู่บนปราการสูงเสียดฟ้า ตัดขาดจากเราทุกคนที่เหลือ พวกเขาน่าจะรู้สึกเหงาและอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอย่างแน่นอน


 เรื่องโดย พีต แฮมิลล์
ธันวาคม 2558

5

ภาพ : วิทยาศาสตร์จากกาแล็กซี่อันไกลโพ้น
ภาพโดย : PHOTOGRAPH BY THE RONALD GRANT ARCHIVE/ALAMY STOCK PHOTO
คำบรรยายภาพ : หากใครเป็นแฟนตัวยังของสตาร์วอร์สคงจะคุ้นเคยกันดีกับสถานีรบอวกาศ ดาวมรณะ หรือ เดธสตาร์ ซึ่งดวงแรกถูกลุค สกายวอล์คเกอร์ทำลายโดยการยิงเข้าไปทางช่องระบายความร้อน (THERMAL EXHASUT PORT) ที่เชื่อมต่อกับตัวเครื่องโดยตรง แต่ในความเป็นจริงดาวมรณะถูกวิเคราะห์ว่าช่องระบายความร้อนยังไม่ใช่ปัญหาหนักที่สุด นักวัสดุศาสตร์ชี้ว่า ปืนรบเลเซอร์ของสถานีควรสร้างจากปฏิสสาร แต่สนามแม่เหล็กที่ต้องควบคุมปฏิสสารด้วยก็ดูจะรับหน้าที่หนักหนาเกินไป

ในขณะที่ทุกคนกำลังออกผจญภัยไปยังกาแล็กซีอันไกลโพ้นอีกครั้งกับหนังภาคล่าสุดของมหากาพย์แห่งสงครามระหว่างดวงดาวอย่าง สตาร์วอร์ส อุบัติการณ์แห่งพลัง (Star Wars: The Force Awakens) คงไม่มีใครตื่นเต้นไปกว่าเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากหนังเรื่องนี้

“หนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิทยาศาสตร์หลายคน มันทำพวกเขาคิว่าบางทีสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จริง” เอลิซาเบ็ธ โฮล์ม นักวัสดุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าว “พวกมันทำให้ฉันคิดนอกกรอบ จากกระแสของสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต”

เหล่านักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจและวิเคราะห์เรื่องราวและสิ่งประกอบจากในหนัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้จากหลักและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องฟิสิกส์พลาสมาไปจนถึงจิตวิทยา การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่ใจรัก แต่มันเป็นสื่อการเรียนที่ดีที่สุดในจักรวาล

“ถ้าคุณสามารถเชื่อมโยงบางจุดของเรื่องเข้ากับหลักทางวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุสมผล คุณจะร้อง อะ-ฮ้า!” จิม คาคาลีออสกล่าว เขาเป็นนักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop culture) “มันเป็นหนทางในการสร้างความเชื่อมโยง”

ในวันนี้เราได้รวบรวมการค้นพบที่ดีและใหม่ที่สุดจากเหตุการณ์ตลอดหนทางของการเป็นมหากาพย์แห่งนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นสื่อการเรียน แรงบันดาลใจ และคำแนะนำสำหรับตัวละครจากกาแล็คซี่อันไกลโพ้นทั้งหลาย

การล่มสลายของดาวมรณะ

ไม่เพียงได้มีเพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์นโยบายเท่านั้นที่ถูกดาวมรณะขายฝันในหัวข้อของการใช้พื้นที่อันมหาศาลของกาแล็กซีอย่างไรให้เกิดประโยชน์ แต่อาวุธชิ้นเทพของจักวรรดิเอมไพร์ชิ้นนี้ยังได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรอีกด้วย

สกาย วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์วิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ สกอตแลนด์ ได้นำการระเบิดของดาวมรณะดวงแรกมาวิเคราะห์เป็นกรณีตัวอย่างของความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในงานวิศวกรรมขนานใหญ่ให้กับนักเรียนของเขา หลังได้รับหนังสือ คู่มือแบบละเอียดของดาวมรณะ (Death Star Owner's Technical Manual: Star Wars: Imperial DS-1 Orbital Battle Station) วอล์กเกอร์และเพื่อนร่วมงานใช้เวลาสี่วันตามเวลาที่ฝ่ายกบฎวางแผนก่อนโจมตีในหนัง ตรวจสอบและวิเคราะห์ความบกพร่องของสถานีรบดวงนี้โดยวิธีที่ต่างกันสองวิธี

วิธีแรกเป็นเทคนิคการตรวจสอบความมั่นคงและปลอดภัยขององค์ประกอบจากปี 1970  วิธีนี้ส่วนประกอบทุกชิ้นจะถูกนำมาวิเคราะห์หาข้อบกพร่องอย่างละเอียด แม้กระทั่งด้ามยิงซูเปอร์เลเซอร์ ส่วนวิธีที่สองคือการจำลองภาพยานออกมาในรูปแบบของเครือข่าย ซึ่งส่วนที่เป็นศูนย์กลางหรือมีการเชื่อมต่อแบบพิเศษ นับเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงสูง

ในด้านผลลัพธ์ เทคนิคแรกไม่ระบุว่าช่องระบายความร้อนจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในหนังมีความเสี่ยงใดๆ เป็นเพียงโพรงธรรมดาเท่านั้น แถมยังใช้เวลาในการตรวจสอบถึงสิบวัน ซึ่งหากใช้เทคนิคนี้ในหนังฐานยาวิน 4 คงกลายเป็นจุณไปแล้ว ส่วนเทคนิคที่สองนั้นใช้เวลาสี่วันตามที่กำหนดไว้และช่องระบายความร้อนก็ถูกนับเป็นจุดเสี่ยงจุดหนึ่งร่วมกับข้อบกพร่องอื่นๆ อีกมากมายของดาวมรณะ อาทิความเสถียรของระบบควบคุมแรงโน้มถ่วงของยานและการขาดระบบป้องกันอาวุธชีวภาพ

จากการวิเคราะห์ วอล์กเกอร์พบว่าแผนที่ดีที่สุดในการทำลายดาวมรณะคือ “ให้ R2D2 เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของดาวมรณะ แล้วปล่อยไวรัสเข้าไป แต่ถ้าทำแบบนั้นหนังเรื่องนี้จะกลายเป็น สงครามวันดับโลก (Independence Day) ซึ่งสนุกไม่ได้เสี้ยวของสตาร์วอร์ส”

“คุณคิดว่านักเรียนจะชอบสิ่งไหนมากกว่ากันระหว่างสูตรสมการกับเพลงประกอบอิมพีเรียลมาร์ช” วอล์กเกอร์กล่าว

สุขภาพทางกายของชาวกาแล็กซี

นอกจากวิทยาศาสตร์ไซไฟแล้ว สตาร์วอร์สยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยงเข้ากับการแพทย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งเรื่องของมิดิคลอเรียน หรือบาดแผลที่เกิดจากกระบี่แสง (Light Saber) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลสกายวอล์คเกอร์ ที่ดูเหมือนจะต้องเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่ตลอด และตัวอนาคินก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

โรแนน เบิร์ก และรอนนี พลอฟซิง  สองอายุรแพทย์ชาวเดเนมาร์กประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนได้นำการพูดรัวเร็ว อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของดาร์ธเวเดอร์มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจ ให้กับนักศึกษาแพทย์ พวกเขาบอกว่าดาร์ธเวเดอร์มีครบทุกอาการ

จากการวิเคราะห์ฉากต่อฉาก พวกเขาสันนิษฐานว่าปอดของท่านดาร์ธนั้นได้รับแก๊สร้อนและเถ้าภูเขาไฟบนดาวมุสตาฟาร์ อันเป็นสถานที่ที่เขาปราชัยแก่ โอบีวัน เคโนบิ (ในภาคซิธชำระแค้น) มากเกินไป ซึ่งแก๊สร้อนทำให้ปอดของเขาเหมือนถูกเผาไหม้ตลอดเวลา

จากการสังเกตของเบิร์กพบว่า แม้ชุดสีดำของดาร์ธ เวเดอร์จะไม่เหมาะแก่การสวมใส่ แต่มันทำหน้าที่คล้ายกับห้องปรับบรรยากาศ  หรือ hyperbaric chamber [เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไว้ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ] และช่วยป้องกันผิวหนังของท่านดาร์ธจากความร้อน แต่ชุดก็ไม่ใช่ตัวเลือกทางการรักษาที่เบิร์กแนะนำอยู่ดี เขากล่าวว่า “ตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับผมคือปลูกถ่ายปอดใหม่” ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องกล้วยๆ สำหรับผู้รวบรวมจักรวรรดิเอ็มไพร์ “ปอดสุขภาพดีคู่ใหม่คงหาได้ไม่ยาก  ทันทีที่เขาออกคำสั่ง” เบิกร์กเสริม

นอกจากสุขภาพทางกายแล้ว ตัวละครในเรื่องยังได้รับเชิญไปเป็นหัวข้อสนทนาชั้นเยี่ยมในห้องเรียนด้านจิตวิทยาอีกด้วย

“พวกเขาคือต้นแบบสำหรับตัวละครที่คนดูสามารถเข้าถึงได้” ไรอัน ซี. ดับเบิลยู. ฮอล์ล จิตแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา กล่าว “พวกเราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่ตกต่ำและหวังว่าจะก้าวข้ามมันไปได้ด้วยดี เหมือนอย่างตัวละครเหล่านี้”

ในด้านจิตวิทยาแล้ว อนาคินคือเป็นชื่อที่ปรากกฎอยู่บนบทความทางวิชาการบ่อยที่สุด บทความทางด้านนี้ส่วนใหญ่ล้วนแต่มุ่งไปที่ สภาพจิตใจและอารมณ์ของเจไดผู้ตกต่ำและพลิกผันเข้าสู่ด้านมืดจนเป็นดาร์ธเวเดอร์ในที่สุด

ในปี 2011 ทีมจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสนำโดย อีริค บุย ได้ร่วมกันเขียนบทความวิจัยลงในวารสารไซไคอาทริ รีเสิร์ช (Psychiatry Research) อ้างว่า อนาคิน สกายวอล์คเกอร์มีอาการของผู้ป่วยโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง หรือ borderline personality disorder ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางใจ เห็นได้จากปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่ไม่ค่อยดี พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และอารมณ์ที่ไม่คงที่


งานวิจัยหลายชิ้นพยายามที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของอนาคิน สกายวอล์กเกอร์ เจไดผู้ทะเยอะทะยานก่อนร่วงหล่นอย่างน่าเศร้ากลายเป็นดาร์ธเวเดอร์ การถกเถียงยังคงอยู่บนหัวข้อว่า เขามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งหรือไม่ เพราะผลลัพธ์จะส่งผลต่อชาวอเมริกันอีกสามล้านคน เพราะจริงๆ แล้ว อนาคิน สกายวอล์กเกอร์ ในชีวิตจริงนั้นมีอยู่กลาดเกลื่อน จากการประเมินของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกันกว่าสามล้านคนมีลักษณะนิสัยแบบอนาคิน

บุยกล่าวว่า “แม้ว่าการวินิจฉัยโรคของตัวละครในภาพยนตร์ให้ถูกต้องจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังคงเป็นไปได้ จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการหากรณีตัวอย่างที่อาจเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต”

เหมือนที่โอบิวันว่าไว้ “มีเพียงซิธลอร์ดเท่านั้นที่ (สามารถ) จัดการกับความเด็ดขาดหนึ่งเดียวได้”

ภัยซ่อนเร้น

อนาคินไม่ใช่ตัวร้ายเพียงคนเดียวที่ตกเป็นเป้าถกเถียงเชิงการแพทย์ ก่อนหน้านี้ ฮอล์ลและซูซาน แฮทเทอร์ ฟรีดแมน แห่งมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ได้ตีพิมพ์บทความหนาปึ้กที่วิเคราะห์เกี่ยวกับบรรดาตัวละครในสตาร์วอร์ส ตั้งแต่ตัวเดินเรื่องหลักไปยังตัวละครสมทบมากมาย

ยกตัวอย่างเช่น  แจบบ้า เดอะฮัตต์ ที่ดูคล้ายจะมีอาการทางจิต ( psychopath)  แลนโด คัลลิสเซี่ยน นักพนันตัวยง หรือแม้แต่อาจารย์เจไดผู้สุขุมอย่าง โอบิวัน เคโนบิ ก็แสดงอาการของโรคซึมเศร้าอย่างอ่อน

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีตัวละครที่สุขภาพจิตดีเยี่ยมเหลือยู่ในบทความบ้าง ฟรีดแมนและฮอล์ลพบว่า จักรพรรดิพัลพาทีน หรือซิธลอร์ด ผู้โหดเหี้ยมและหยาบช้าแห่งจักรวรรดิกาแลคติคนั้นเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม เห็นได้จากความสามารถในการสร้างความเดือนร้อนและหยิบยื่นความชั่วร้ายไปทั่วทุกแห่งหนโดยตัวเขาเอง

ในกรณีของพัลพาทีนนั้นเป็นอะไรที่แตกต่าง “เพราะโดยปกติแล้ว ผู้คนมักตัดสินว่าเหตุการณ์ที่น่ากลัวนั้นเกิดจากความผิดปกติทางจิต แต่ผู้ป่วยหรือมีปัญหาทางด้านจิตใจนั้นมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าจะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง”

ยังมีอีกตัวอย่างที่ขาดไม่ได้คือ จาร์ จาร์ บิงคส์ ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือ  attention-deficit hyperactivity disorder ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีของแฟนหนังที่ว่า จาร์ จาร์ บิงคส์ อาจจะกลาย ดาร์ธ จาร์ จาร์ ในภาคเจ็ด เพราะนำพลัง (Force) ไปใช้ในทางที่ผิด เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับจักรพรรดิพัลพาทีน

ฮอล์ลเชื่อว่าจาร์ จาร์ บิงคส์ คงไม่สามารถทำงานแบบนั้นได้ และหากบิงคส์เป็นซิธ อยู่ข้างพัลพาทีนและลูกศิษย์คนอื่น “กฎที่ว่าซิธมีพร้อมกันได้เพียงสองคนเท่านั้นจะถูกแหก”

 
ตามหาทาทูอิน

สตาร์วอร์ส ภาคแรกนั้นเปิดฉากกมาด้วยภาพลุคท่ามกลางกองขยะและความชั่วร้ายบนดาวทาทูอิน แต่ถึงจะเป็นเป็นดาวท่าอันโดดเดี่ยวห่างไกล ทิวทัศน์ของทาทูอินก็ยังคงดูสวยแปลกตาสำหรับชาวโลก อาจะเพราะพระอาทิตย์ตกดินทั้งสองดวง

ทาทูอินนับเป็นดวงดาวที่มี ดาวฤกษ์คู่ [หรือดาวสองดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ไปพร้อมกัน เรียกสั้นๆ ว่าดาวคู่] ซึ่งนักดาราศาสตร์ในปัจจุบันก็กำลังตามล่าหาดาวที่มีลักษณะคล้ายกันนี้อยู่ สิ่งที่ทำให้ดาวคู่เป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์คือแรงดึงดูดที่มีสภาพแปรปรวนมาก ซึ่งสภาพนี้ส่งผลให้ทฤษฎีการกำเนิดดวงดาวจากการตัวของผงธุลีระหว่างดวงดาวกลายเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก

อ้างอิงจาก แมตทิว มูตแอสเพากห์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเทนเนสซี   ดาวที่มีระบบดาวฤกษ์คู่นั้นไม่ได้หายาก กว่าครึ่งของดวงดาวที่มองเห็นจากโลกคือพวกมัน  เมื่อกลางปี 2000 แมตทิว มูตแอสเพากห์ และแมทซีจ์ คอนแนสกี จาก Polish Academy of Sciences ได้ทำโครงการตามล่าหาดาวคู่ ที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความมีอารมณ์ขัน แมตทิวจึงตั้งชื่อโครงการเป็นภาษาอังกฤษว่า The Attempt To Observe Outer-planets In Non-single-stellar Environments ซึ่งมีตัวย่อเป็น TATOOINE (ทาทูอิน) ผลจากการตั้งชื่อนี้ทำให้จอร์จ ลูคัส เชิญมูตแอสเพากห์ไปเยี่ยมชมสกายวอล์กเกอร์แรนช์ (Skywalker Ranch) หรือศูนย์บัญชาการใหญ่อันเงียบสงบของลูคัสฟิล์ม

คอนแนสกีบอกว่าชื่อย่อของมัน ”น่าประทับใจไม่ต่างกับตัวโครงการเอง” ซึ่งใช้วิธีการแสกนหาการสั่นโคลงในสเปกตรัมแสง อันเป็นจากดาวดวงอื่นที่กำลังโคจรอยู่ แม้ว่าผลการค้นหาในระยะแรกจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่นัก แต่กล้องเคปเลอร์ก็ได้คอนเฟิร์มแล้วว่ามีดาวนี้อยู่จริง ส่วนคอนแนสกีเองก็ยังคงสานต่อความฝันในการหาดาวคู่ของเขา ด้วยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน ชื่อว่า “โซลาริส” (Solaris)  ตามนิยายไซไฟคลาสสิกของโปแลนด์
 

นักดาราศาสตร์สงสัยว่าจักรวาลยังมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าบ้านเกิดของสกายวอล์กเกอร์ให้เราค้นหา พวกเขารักษาความอยากรู้อยากเห็นนี้ไว้เหมือนกับพวกนักวิทยาศาสตร์ กูรูเรื่องสตาร์วอร์สคนอื่นทั้งก่อนหน้าและนับจากนี้

“จักรวาลนั้นน่าพิศวงกว่าสตาร์วอร์สยังมีหลายสิ่งที่มหัศจรรย์เกินกว่านักสร้างหนังคนไหนจะคิดได้ซ่อนอยู่ในนั้น”


เรื่องโดย Michael Greshko
ธันวาคม 2558

6
เทคนิคการทำแผนที่ทางอากาศด้วยเลเซอร์เผยโฉมซากปรักครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่ในป่าดิบของฮอนดูรัสซึ่งอาจเป็นนครสาบสูญในตำนาน

                วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2015 เฮลิคอปเตอร์ทหารลำหนึ่งทะยานขึ้นจากลานบินใกล้เมืองกาตากามัส ประเทศฮอนดูรัส บ่ายหน้าไปทางเทือกเขาลามอสกีเตีย เบื้องล่าง เรือกสวนไร่นาค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นลาดเนินสูงชันอาบแสงอาทิตย์ บ้างปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น  บ้างถูกแผ้วถางเป็นฟาร์มปศุสัตว์  นักบินมุ่งหน้าไปยังช่องเขาเล็กๆรูปตัววี (V) ฝูงนกยางบินอยู่เบื้องล่าง ยอดไม้สั่นไหวจากการเคลื่อนไหวของฝูงวานรที่มองไม่เห็นตัว  ที่นี่ไม่มีร่องรอยกิจกรรมใดๆของมนุษย์ นักบินบังคับเครื่องให้โฉบลงด้านข้างก่อนจะลดระดับลง เป้าหมายคือพื้นที่โล่งริมฝั่งแม่น้ำ

                ในกลุ่มผู้ที่ก้าวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์มีนักโบราณคดีคนหนึ่งชื่อ คริส ฟิชเชอร์ หุบเขาแห่งนี้อยู่ในภูมิภาคซึ่งเล่าลือกันมาช้านานว่าเป็นที่ตั้งของเมือง “ซิวดัดบลังกา” (Ciudad Blanca) มหานครในตำนานที่สร้างด้วยศิลาสีขาว หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า นครสาบสูญแห่งวานรเทพ ฟิชเชอร์ไม่เชื่อตำนานเหล่านั้น แต่เชื่อว่าในหุบเขาที่เขาและเพื่อนร่วมงานเรียกกันง่ายๆว่า ที1 (T1) นี้มีซากปรักนครสาบสูญของจริงซึ่งถูกทิ้งร้างมาอย่างน้อยครึ่งสหัสวรรษ จะว่าไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่เขาแน่ใจด้วยซ้ำ

                ในการเดินทางครั้งนี้ ทีมสำรวจใช้เทคนิคที่เรียกว่าไลดาร์ [lidar ย่อมาจาก light detection and ranging หรือการตรวจหาและวัดระยะทางด้วยแสง] เทคนิคนี้ใช้ทำแผนที่นครการากอลของชาวมายาในประเทศเบลีซ ไลดาร์ทำงานด้วยการสะท้อนลำแสงเลเซอร์อินฟราเรดนับแสนๆลำกลับขึ้นมาจากป่าดิบชื้นเบื้องล่าง และบันทึกตำแหน่งของจุดการสะท้อนแสงในแต่ละครั้ง “กลุ่มจุด” สามมิตินี้จะนำไปคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อคัดกรองลำแสงที่ปะทะต้นไม้และพุ่มไม้ออก เหลือไว้แต่ภาพที่เกิดจากลำแสงซึ่งส่องลงไปถึงพื้นดิน รวมถึงโครงร่างของสัณฐานทางโบราณคดี

                และเพื่อให้การเดินทางง่ายขึ้น เอลกินส์และเบเนนสันว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของอังกฤษ (British Special Air Service: SAS) สามคนซึ่งก่อตั้งบริษัทช่วยนำทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์เข้าไปในพื้นที่อันตราย เฮลิคอปเตอร์นำพวกเขามาปล่อยล่วงหน้าเพื่อปรับพื้นที่สำหรับลงจอดและตั้งค่ายพักแรมโดยใช้มีดพร้าและเลื่อยยนต์ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กลับไปยังกาตากามัสเพื่อรับฟิชเชอร์กับคนอื่นๆมาสมทบ แอนดรูว์ “วูดดี้” วูด หัวหน้าทีมช่วยเหลือ เล่าให้ผมฟังในภายหลังว่า ขณะที่พวกเขาทำงาน สัตว์ป่าต่างๆ ทั้งสมเสร็จ ไก่ป่า และลิงแมงมุม เดินไปมาอยู่แถวนั้นหรือจับกลุ่มกันอยู่บนต้นไม้ ไม่มีท่าทีว่าจะเกรงกลัวเลย

                วูดเลือกที่ราบขั้นบันไดยกระดับด้านหลังลานลงจอดเป็นที่ตั้งแคมป์หลักท่ามกลางต้นไม้สูงใหญ่ จะเข้าไปได้ต่อเมื่อข้ามสะพานไม้ซุงซึ่งทอดข้ามแอ่งโคลนและปีนขึ้นตลิ่งไปอีก เขาห้ามทุกคนออกจากที่พักโดยไม่มีผู้คุ้มกันเพราะเกรงอันตรายจากงูโบทรอปส์เกล็ดสันซึ่งมักเรียกกันว่า “งูพิษร้ายสุดยอด” ทว่าฟิชเชอร์ไม่อดทนพอ เขาคุ้นเคยกับงานภาคสนามเสี่ยงอันตรายดี จึงประกาศว่าจะออกไปสำรวจตามลำพัง บ่ายคล้อยวันนั้น วูดจึงยินยอมให้ทีมออกไปสำรวจซากปรักอย่างคร่าวๆ ทีมที่ล่วงหน้าไปก่อนรวมกลุ่มกันอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ต่างคนต่างสวมสนับแข้งกันงูและทายากันแมลง อุปกรณ์จีพีเอสที่ฟิชเชอร์ดาวน์โหลดแผนที่จากไลดาร์ไว้แสดงตำแหน่งของเขาโดยสัมพันธ์กับซากปรักที่คาดว่ามีอยู่

                ฟิชเชอร์ดูทิศทางจากอุปกรณ์จีพีเอสแล้วตะโกนบอกวูด ซึ่งใช้มีดพร้าฟันพุ่มเฮลิโคเนียหนาทึบเปิดทางให้ เราลุยข้ามแอ่งโคลนสองแห่ง แห่งหนึ่งมีโคลนลึกถึงต้นขา ปีนขึ้นตลิ่งสูงบนที่ราบน้ำท่วมถึง และเดินไปจนถึงตีนเนินสูงชันที่มีป่าทึบปกคลุม นี่คือชายขอบของสิ่งที่น่าจะเป็นเมือง “ขึ้นไปบนยอดกันเถอะ” ฟิชเชอร์เอ่ยปากชวน

                เราปีนขึ้นไปบนลาดเนินลื่นๆที่มีใบไม้ทับถม ตรงยอดเนินที่พืชพรรณขึ้นหนาทึบ ฟิชเชอร์ชี้ให้เห็นแอ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเค้าโครงของสิ่งก่อสร้าง ออสการ์ เนย์ล กรุซ หัวหน้าแผนกโบราณคดีของสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ฮอนดูรัส คุกเข่าลงมองดูให้ชัดๆ  เขาค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานของสิ่งก่อสร้างแบบใช้ดินอัด ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่า นี่คือพีระมิดที่สร้างด้วยดิน

                ฟิชเชอร์กับวูดนำทีมลงจากพีระมิด มุ่งหน้าไปยังที่ซึ่งฟิชเชอร์หวังว่าจะเป็น “ลานจัตุรัส” หรือพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่หนึ่งในสิบแห่งของเมือง พอไปถึง เราก็พบผืนป่าดิบชื้นที่มีลักษณะราบเรียบผิดธรรมชาติราวกับสนามฟุตบอล มีเนินดินเป็นแนวยาวล้อมอยู่สามด้าน นั่นคือซากปรักของกำแพงและอาคาร ร่องน้ำเซาะสายหนึ่งตัดผ่านลานจัตุรัสแห่งนี้ เผยให้เห็นผิวหน้าลานที่ปูด้วยหิน  เมื่อเดินข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของลาน  เราพบก้อนหินแบนๆเหมือนเป็นแท่นบูชาแถวหนึ่งวางอยู่บนก้อนหินมนใหญ่สีขาวที่จัดเรียงเป็นสามเส้า  แต่ต้นไม้หนาทึบยังคงบดบังสายตาของเรา ทำให้ไม่สามารถคะเนผังหรือขนาดของนครโบราณแห่งนี้ได้ เมื่อดวงอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า เราจึงพากันกลับแคมป์

                เราตื่นขึ้นเช้าวันถัดมาและเริ่มออกสำรวจกันอีกครั้ง เสียงครืนครั่นที่ดังมาจากยอดไม้เบื้องบนบอกให้รู้ว่าฝนกำลังจะตกหนัก หลายนาทีต่อมา ฝนจึงตกถึงพื้น ไม่นานเนื้อตัวเราก็เปียกโชก

                ฟิชเชอร์ถือมีดพร้าเดินมุ่งหน้าไปทางเหนือกับเนย์ลและควน การ์ลอส เฟร์นันเดซ-ดีอัซ วิศวกรไลดาร์ของทีม   เพื่อทำแผนที่ลานจัตุรัสอื่นๆของเมือง ขณะที่แอนนา โคเฮน นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และอาลีเซีย กอนซาเลซ นักมานุษยวิทยาของทีมสำรวจ ปักหลักอยู่ข้างหลังเพื่อถางพื้นที่บริเวณที่มีก้อนหินเรียงกันอยู่ให้เตียนโล่งพอตกบ่าย ฟิชเชอร์และทีมก็กลับมาหลังจากทำแผนที่ลานจัตุรัสได้อีกสามแห่งและเนินดินอีกหลายแห่ง ทุกคนดื่มชาร้อนใส่นมคนละถ้วยท่ามกลางสายฝน วูดบอกให้ทุกคนกลับที่พักเพราะเกรงว่าระดับน้ำในแม่น้ำอาจสูงขึ้น ทีมสำรวจจึงเดินเรียงเดี่ยวกลับไป ทันใดนั้น ช่างภาพ ลูเชียน รี้ด ที่เดินอยู่เกือบรั้งท้ายก็ตะโกนขึ้น

                “เดี๋ยวก่อน ตรงนี้มีก้อนหินแปลกๆด้วยนะ”

                ตรงฐานของพีระมิด ยอดประติมากรรมหินที่สลักเสลาอย่างงดงามหลายสิบชิ้นโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน วัตถุที่พวกเขามองผ่านม่านใบไม้และเถาวัลย์ ทั้งยังมีมอสส์ขึ้นปกคลุม ค่อยๆปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในแสงสลัวยามสนธยาของป่าทึบ แลเห็นเป็นหัวเสือจากัวร์ที่กำลังแยกเขี้ยว ภาชนะศิลาประดับรูปหัวนกแร้ง โถขนาดใหญ่สลักลวดลายรูปงู และวัตถุอีกชุดหนึ่งลักษณะคล้ายบัลลังก์หรือโต๊ะที่มีการประดับประดา ซึ่งนักโบราณคดีเรียกว่า เมตาเต (metate) ศิลปวัตถุทุกชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ น่าจะยังไม่มีใครแตะต้องตั้งแต่ถูกทิ้งไว้เมื่อหลายศตวรรษก่อน

                 “นี่เป็นการจัดวางวัตถุในพิธีกรรมสำคัญครับ” ฟิชเชอร์อธิบาย “แทนที่จะเก็บไว้เป็นมรดกตกทอดในครอบครัว พวกเขากลับนำข้าวของเหล่านี้มาวางทิ้งไว้ที่นี่ บางทีนี่อาจเป็นเครื่องเซ่นสรวงก็ได้ครับ”

                วันต่อๆมา ทีมนักโบราณคดีบันทึกวัตถุแต่ละชิ้นในตำแหน่งเดิม ขณะที่เฟร์นันเดซก็ติดตั้งเครื่องไลดาร์บนสามขาเพื่อสแกนศิลปวัตถุแล้วสร้างภาพสามมิติของแต่ละชิ้นขึ้นมา ไม่มีการแตะต้อง ไม่มีการเคลื่อนย้ายใดๆทั้งสิ้น จนกว่าจะถึงคราวหน้า เมื่อทีมสำรวจกลับมาพร้อมกับเครื่องมือและเวลาที่เหมาะสม

                ขณะที่ผมเขียนสารคดีเรื่องนี้ มีการวางแผนการสำรวจอีกครั้งซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างกว่าเดิมและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฮอนดูรัสอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาการลักลอบขนยาเสพติดและความรุนแรงที่ตามมา ฮอนดูรัสจึงเป็นประเทศยากจนที่ต้องการข่าวดีอย่างเร่งด่วน ซิวดัดบลังกาหรือนครสีขาวอาจเป็นตำนานเล่าขาน ทว่าอะไรก็ตามที่ช่วยให้ตำนานเรื่องนี้ใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาย่อมสร้างความตื่นเต้นให้ได้อย่างมโหฬาร นี่คือความภูมิใจร่วมกัน เป็นการยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับอดีตก่อนยุคโคลัมบัส เมื่อทราบข่าวการค้นพบกรุสมบัติดังกล่าว ควน ออร์ลันโด เอร์นันเดซ ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ก็สั่งให้จัดตั้งหน่วยทหารไปประจำการที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ตลอดเวลาเพื่อเฝ้าระวังพวกลักลอบขุดสมบัติ หลายสัปดาห์ต่อมา เขานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูด้วยตาตนเอง และให้คำมั่นว่ารัฐบาลของเขาจะทำ “ทุกอย่างที่ทำได้” ไม่เพียงเพื่อสานต่อการสำรวจและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของหุบเขาแห่งนี้    แต่ยังรวมถึงมรดกทางนิเวศวิทยาของภูมิภาคโดยรอบด้วย


 เรื่องโดย ดักลาส เพรสตัน
ธันวาคม 2558

7
พระนางพรหมจารีมารีย์ (Virgin Mary) ทรงเป็นทั้งผู้อธิษฐานวิงวอนพระเจ้าให้เหล่าคริสตชน และสัญลักษณ์แห่งศรัทธาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์

            เวลาแห่งการประจักษ์ 17.40 น. ณ โบถส์น้อยแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งหนึ่งที่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อีวาน ดราจีเซวิก คุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา น้อมศีรษะลงครู่หนึ่ง รอยยิ้มค่อยๆ ปรากฏบนใบหน้า เขาเงยหน้าขึ้นมองสรวงสวรรค์ เริ่มกระซิบกระซาบ ฟังอย่างตั้งใจ แล้วกระซิบอีกครั้ง บทสนทนาประจำวันของเขากับแม่พระผู้นิรมลเริ่มขึ้นแล้ว

            ดราจีเซวิกเป็นเด็กเลี้ยงแกะยากจนคนแรกในหกคนที่ให้ปากคำว่า เห็นภาพนิมิตของแม่พระผู้นิรมลเมื่อปี 1981 พระแม่ทรงปรากฏพระองค์ต่อเด็กสาวสี่คนและเด็กหนุ่มสองคนในฐานะ “ราชินีแห่งสันติภาพ” และส่งข้อความแรกในหลายพันข้อความ  ชี้แนะให้ผู้มีศรัทธาหมั่นสวดภาวนาและขอให้คนบาปสำนึกผิด  ตอนนั้นดราจีเซวิกอายุ 16 ปีและเมดจูกอเรเป็นหมู่บ้านในยูโกสลาเวียที่ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ยังไม่ใช่ศูนย์กลางปาฏิหาริย์แห่งการรักษาและการกลับใจ ที่ดึงดูดผู้จาริกแสวงบุญ 30 ล้านคนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

            ฉันอยู่ที่เมดจูกอเรกับชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง  ส่วนใหญ่เป็นคุณพ่อจากบอสตันกับชายสองหญิงสองที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย  เรามีอาร์เทอร์ บอยล์ คุณพ่อลูก 13 วัย 59 ปีเป็นผู้นำ บอยล์มาที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2000 พร้อมกับมะเร็งที่กระจายไปทั่วร่างและเวลาที่เหลืออีกไม่กี่เดือน  เขารู้สึกหดหู่สิ้นหวังและคงไม่มาถ้าเพื่อนสองคนไม่เคี่ยวเข็ญ แต่คืนแรกที่มาถึง หลังจากแวะไปสารภาพบาป เขาก็รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจในทันที

             “ความกังวลและความเศร้าหมองหายเป็นปลิดทิ้งเลยครับ” เขาเท้าความหลัง “เหมือนยกภูเขาออกจากอกยังไงยังงั้นเลยครับ เหลือแต่ความโล่งเบาสบาย”

            เช้าวันรุ่งขึ้น เขากับเพื่อนสองคน คือร็อบและเควิน ไปพบ “ผู้เห็นแม่พระประจักษ์” อีกคนหนึ่งที่ชื่อวิกคา อีวานโควิก-มียาโทวิก และขอให้เธอช่วย เธอใช้มือข้างหนึ่งจับศีรษะเขาไว้ แล้วสวดอ้อนวอนให้แม่พระผู้นิรมลทูลขอให้พระเจ้ารักษาเขา บอยล์บอกว่าเขาสัมผัสได้ถึงความรู้สึกแปลกๆ “เธอเริ่มอธิษฐาน ร็อบกับเควินเอามือจับผมไว้ และความร้อนจากการอธิษฐานของเธอที่ส่งเข้ามาในตัวผมก็ทำเอาพวกเขาเหงื่อแตกพลั่กเลยครับ”

            เมื่อเดินทางกลับบอสตันในสัปดาห์ต่อมา ผลซีทีสแกนที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตต์สเจเนอรัลบอกว่า เนื้องอกของเขาหดหายจนแทบไม่เหลือเลย

            ตั้งแต่นั้น บอยล์กลับมาที่หมู่บ้านนี้แล้ว 13 ครั้ง “ผมก็เหมือนผู้ชายทั่วๆไปละครับ ชอบเล่นฮอกกี ดื่มเบียร์ และตีกอล์ฟด้วย” เขาบอก แต่ทุกวันนี้ บอยล์ยอมรับว่าเขากลายเป็น “เหมือนกระบอกเสียงให้กับพลังแห่งการบำบัดโรคของพระเยซูคริสต์ และแน่นอนว่าต้องรวมถึงแม่พระกับพลังในการอธิษฐานวิงวอนของพระองค์ด้วย”

 

            การสวดภาวนาขอให้แม่พระผู้นิรมลอธิษฐานวิงวอนถึงพระเจ้า และการอุทิศตนเพื่อพระองค์ คือปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก แนวคิดเรื่องพระแม่มารีย์ในฐานะผู้อธิษฐานวิงวอนพระเยซูคริสต์ เริ่มจากเหตุอัศจรรย์เรื่องเหล้าองุ่นในงานสมรสที่หมู่บ้านกานาดังปรากฏตามท้องเรื่องในพระวรสารนักบุญยอห์น พระแม่ตรัสแก่พระเยซูว่า “พวกเขาไม่มีเหล้าองุ่น” พระเยซูจึงทรงแสดงอัศจรรย์ครั้งแรก กระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึง ค.ศ. 431  ที่ประชุมสภาสังคายนาสากลครั้งที่สาม ณ เมืองเอเฟซัสจึงมอบตำแหน่งทีโอโตกอส (Theotokos – Mater Dei)  หรือพระมารดาพระเจ้าแด่พระนางอย่างเป็นทางการ  นับแต่นั้นก็ไม่มีสตรีนางใดที่ได้รับการเทิดทูนเทียบเท่าพระนางอีกแล้ว ในฐานะสัญลักษณ์สากลของความรักแห่งมารดา ตลอดจนการทนทุกข์และการอุทิศตน พระแม่มารีย์เป็นจุดเชื่อมโยงกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เข้าถึงง่ายกว่าคำสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร เสื้อคลุมของพระแม่ทั้งโอบอุ้มและคุ้มภัย เมื่อมีคนถามว่า พระแม่มารีย์มีความหมายอย่างไรต่อพระองค์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสตอบว่า “ทรงเป็น แม่ ของเรา”

            พระแม่มารีย์ปรากฏพระองค์อยู่ทุกหนแห่ง ทรงเป็นที่มาของชื่อดอกมารีโกลด์ ภาพจากโบสถ์แม่พระกวาดาลูเปเป็นหนึ่งในภาพเหมือนสตรีที่ผลิตซ้ำมากที่สุดภาพหนึ่งของโลก ในแต่ละปี ทรงนำพาผู้คนหลายล้านไปยังสักการสถานต่างๆ เช่น ที่ฟาติมาในโปรตุเกสที่น็อกในไอร์แลนด์ หล่อเลี้ยงกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่คาดว่ามีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และสร้างงานหลายพันตำแหน่ง ทรงเป็นแรงบันดาลใจของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่หลายชิ้น ตลอดจนกวีนิพนธ์ บทสวด และดนตรี ทั้งยังทรงเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของผู้คนหลายพันล้านคน

            ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ถือว่า พระแม่มารีย์ทรงสูงศักดิ์กว่าสตรีใดในโลกหล้า และพระนาม “มีรยัม” ก็ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานบ่อยกว่า “มารีย์” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เสียอีก

            ถึงกระนั้น เบาะแสเกี่ยวกับชีวิตของพระนางกลับหายากยิ่ง นักวิชาการเกี่ยวกับพระแม่มารีย์ต้องค้นหาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เอกสารหรือต้นฉบับสมัยศตวรรษที่หนึ่งจากแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และการขุดค้นทางโบราณคดี

            พระคัมภีร์บอกเราว่า  พระนางมารีย์อาศัยอยู่ที่เมืองนาซาเรทช่วงที่ชาวโรมันมีอำนาจเหนือดินแดนของชาวยิว เมื่อพระนางตั้งครรภ์ คู่หมั้นที่เป็นช่างไม้ชื่อโยเซฟคิดจะทิ้งพระนางไปเงียบๆ กระทั่งทูตสวรรค์มาเข้าฝันและห้ามไว้ กำเนิดของพระกุมารเยซูมีการเอ่ยถึงในพระวรสารเพียงสองฉบับ คือพระวรสารนักบุญลูกาและพระวรสารนักบุญมัทธิว ส่วนพระวรสารนักบุญมาระโกและพระวรสารนักบุญยอห์นก็กล่าวถึงพระมารดาของพระเยซูคริสต์หลายครั้ง

            บาทหลวงเบอร์ทรันด์ บูบี ผู้เขียนงานวิจัยสามเล่มจบ เรื่อง มารีย์แห่งแกลิลี และอาจารย์ผู้ทรงเกียรติคนหนึ่งจากสถาบันวิจัยมารีย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเดย์ตัน ในรัฐโอไฮโอ บอกว่า เหล่าอัครสาวกเขียนพระวรสารหลังพระเยซูสิ้นพระชนม์ไปแล้วประมาณ 40 ถึง 65 ปี และไม่มีใครเป็นนักเขียนชีวประวัติเลย “ฉะนั้น อย่าคาดหวังเลยครับว่า  พวกเขาจะเล่าประวัติทั้งหมดของพระนางมารีย์ เราปะติดปะต่อชีวิตของพระนางจากที่โน่นนิดที่นี่หน่อยครับ”

            ความที่เรารู้จักพระแม่มารีย์จากพระคัมภีร์น้อยมาก “เราจึงใส่คุณค่าทางวัฒนธรรมให้พระแม่มารีย์อย่างไรก็ได้” เอมี-จิลล์ ลีไวน์ อาจารย์ด้านยิวศึกษาและพระคริสตธรรมภาคพันธสัญญาใหม่จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ อธิบาย นี่คือสิ่งที่นักวิชาการทางศาสนาบางคนเรียกว่า “การปรุงแต่งทางวัฒนธรรม” ลีไวน์เสริมว่า “พระแม่มารีย์อาจเป็นมารดาผู้ระทมทุกข์ สาวน้อยพรหมจรรย์ หรือเทพธิดาก็ได้ พระเยซูเป็นชายในอุดมคติฉันใด พระแม่มารีย์ก็เป็นหญิงในอุดมคติฉันนั้นค่ะ”


เรื่องโดย มัวรีน ออร์ท
ธันวาคม 2558

8
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก แต่ใครบ้างที่จะอยู่รอด ใครบ้าง ที่อาจต้องบอกลา

            สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นคือความจริงของธรรมชาติ แต่ภูมิอากาศโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จนกระทั่งอาจพลิกโฉมหน้าของผืนดินและท้องทะเล  และส่งผลกระทบต่อสรรพชีวิต 

            “จะมีสิ่งมีชีวิตส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งเสมอที่อยู่รอดและได้ประโยชน์จากสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อนข้างฉับพลันครับ” ทอมัส เลิฟจอย นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน และภาคีสมาชิกของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวและเสริมว่า “แต่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะตกที่นั่งลำบาก” ถ้าไม่ถึงกับล้มหายตายจากไป           

            อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการนี้เท่านั้น ก่อนจะตามมาด้วยสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว  (รวมถึงภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน) ฤดูผสมพันธุ์และฤดูอพยพที่เปลี่ยนแปลงไป แหล่งอาหารไม่แน่นอน รูปแบบโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว และระดับทะเลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆอีกมากมาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

            การเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลดีกับสิ่งมีชีวิตบางจำพวกเป็นต้นว่าฤดูใบไม้ผลิที่ยาวนานกว่าเดิมส่งผลให้มีอาหาร มากขึ้น สภาพแวดล้อมบางอย่างอาจเปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย  และการอพยพย้ายถิ่นอันเหนื่อยยาก อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ขณะที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินต่อไปอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็อาจเผชิญกับขีดจำกัดครั้งใหม่และตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเช่นกัน

            นี่ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปปรากฏเด่นชัดในปัจจุบัน

            “ไม่มีทางหวนกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้วครับ” เจมส์ วัตสัน จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงกรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (World Conservation Society) กล่าวและเสริมว่า “ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป” สัตว์ป่าที่เคยใช้ชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแน่นอนในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมากำลังถูกกดดันและทดสอบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

            การคาดการณ์ของเราว่า  สัตว์ชนิดไหนจะ “ไปได้สวย” และสัตว์ชนิดใดจะ “ตกที่นั่งลำบาก” อาจไม่ถูกต้องเสมอไป วัตสันบอกว่า ตัวอย่างเช่น “ที่ผ่านมาเราแทบคาดไม่ถูกเลยว่า สถานการณ์จะย่ำแย่ลงแค่ไหน ระดับความรุนแรงของการละลายบริเวณขั้วโลกทั้งสองกับผลกระทบ  [ต่อสัตว์ป่า] นั้นช่างน่าตระหนก”  ยังมีเรื่องความเปราะบางต่ออุณหภูมิของระบบนิเวศปะการังหลายแห่ง และการเกิดพายุต่างๆ อีกด้วย  “มีอะไรที่เราต้องรับมือมากจริงๆครับ”

            ทว่าประสบการณ์และแบบจำลอง ตลอดจนสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับชีววิทยาจะช่วยให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า  จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น สิ่งมีชีวิตชนิดใดสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้ ตั้งแต่ชนิดพันธุ์ที่มีความยืดหยุ่นสูงซึ่งทนต่อสภาพอากาศหลายรูปแบบ สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและแพร่พันธุ์ได้เร็ว  สิ่งมีชีวิตที่สามารถเดินทางไปยังแหล่งอาศัยที่เหมาะสมแห่งใหม่ได้หรือยังพอมีที่ทางให้ไป สิ่งมีชีวิตที่สามารถแข่งขัน ซึ่งโดยมากเป็นพวกชนิดพันธุ์รุกราน ไปจนถึงวัชพืช

            สิ่งมีชีวิตกลุ่มที่ตกที่นั่งลำบากได้แก่พวกที่ต้องการสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเฉพาะเจาะจง สิ่งมีชีวิตที่ปัจจุบันต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว กลุ่มประชากรเล็กๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจายหรือถูกล้อมกรอบอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต  สัตว์ที่ต้องแข่งขันกับมนุษย์ ชนิดพันธุ์ที่ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม พวกที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ตามเกาะแก่งต่างๆ และกลุ่มที่ต้องพึ่งพาปะการัง ไปจนถึงสัตว์ที่ต้องอาศัยน้ำแข็งเพื่อความอยู่รอด

            เราหยุดภาวะโลกร้อนไม่ได้ แต่เราชะลอขบวนรถแห่งการทำลายล้างนี้ได้ เลิฟจอยบอกว่า การฟื้นฟูสภาพภูมิประเทศควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปกป้องสรรพชีวิต  เขาเสริมว่า ความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องของระบบนิเวศได้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกซ์ไซด์ส่วนเกินปริมาณมาก “ความพยายามอย่างขนานใหญ่ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมน่าจะช่วยลดทอนความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศโลกลงได้เทียบเท่าครึ่งองศา ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ”

            ขณะที่การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้และการดูแลสิ่งที่ยังเหลืออยู่  ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆพอๆกัน  วัตสันบอกว่า  “สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ในตอนนี้คือ  ต้องสามารถระบุและปกป้องกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญสูงสุดเอาไว้ จากนั้นก็พยายามกันไม่ให้มนุษย์เข้าไปยุ่มยามกับวิถีทางของพวกมันครับ”


 เรื่องโดย เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์
พฤศจิกายน 2558

9
เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น ผู้คนในประเทศเกาะอย่างคิริบาตีจะสืบทอดวิถีชีวิตและครรลองอันเก่าแก่ของบรรบุรุษได้อีกนานอีกใด

            เวลาเช่นนี้เรียกว่า อีติงกาโร (itingaaro) หรือฟ้าสางยามอรุณ เกาะเพิ่งจะตื่นจากหลับใหล ผู้คนลอยคออาบน้ำในลากูนอย่างง่วงงุน บ้างวักน้ำล้างหน้า บ้างดำผุดดำว่าย

            ระดับน้ำขึ้นเต็มที่ เลยลากูนออกไป มหาสมุทรทอดไกลจนจรดขอบฟ้า มาราวา คาราวา ตาราวา “ทะเล ท้องฟ้า แผ่นดิน” คือเทพเจ้าโบราณสามองค์ของผู้คนในประเทศคิริบาตีหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชาวอี-คิริบาตี แต่เทพทั้งสามกำลังเสียสมดุล พระแม่มหาสมุทรหาได้เป็นศูนย์กลางแห่งการโอบอุ้มและดลบันดาลทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาเคยรู้จักมาตลอด พระนางกำลังเผยพระพักตร์ที่แตกต่างออกไป เป็นโฉมหน้าอันน่าพรั่นพรึงของระดับน้ำที่รุกล้ำกลืนกินและคลื่นที่โหมซัดกระหน่ำ

            ทุกวันนี้ ชาวอี-คิริบาตีอยู่กับความเป็นจริงของมาราวาที่เพิ่มระดับขึ้น นี่คือช่วงเวลาของ บิบิตากิน คานวน โบง หรือ “ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศที่ยาวนานหลายวัน” วลีในภาษาคิริบาตีที่หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ชาวเกาะอยู่กันอย่างหวาดหวั่นและไม่มั่นใจกับวลีนี้

            จะไม่ให้หวาดหวั่นได้อย่างไรเล่า ในเมื่อโลกพร่ำบอกพวกเขาว่า ประเทศเกาะซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างบ้านของพวกเขาจะจมน้ำในไม่ช้า บรรดาผู้นำของพวกเขายังบอกเองว่า คิริบาตีซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 33 เกาะ ท่ามกลางความกว้างใหญ่ไพศาลของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางนี้เป็น “หนึ่งในประเทศซึ่งเปราะบางที่สุดในบรรดาพื้นที่เปราะบางทั้งหลาย” พวกเขาทำนายด้วยว่า เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ (atoll) ตาระวาซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปภายในหนึ่งชั่วอายุคน

            แต่ชาวอี-คิริบาตีจำนวนมากไม่ยอมรับว่า บ้านเกิดของตนกำลังกลายเป็น “ประเทศเกาะที่รอวันอันตรธาน” และพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากยอมรับชะตากรรม   พวกเขาไม่คิดว่าตนเองเป็น “ชาวเกาะที่กำลังจมน้ำ” แต่เป็นลูกหลานของนักเดินทางผู้สืบทอดประเพณีแห่งความทรหดอดทนและการเอาตัวรอดอันน่าภาคภูมิ พวกเขาเชื่อว่าสวรรค์ของตนไม่มีทางเลือนหายในเร็ววัน

            แต่หมู่เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแน่นอน ทะเลทั้งกัดเซาะชายฝั่งและแทรกซึมลงสู่ดิน ทำให้น้ำในบ่อน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย  ทำลายต้นไม้และพืชผล  ความอุดมสมบูรณ์ของเกาะปะการังวงแหวนอย่างตาระวา ขึ้นอยู่กับชั้นน้ำจืดบางๆที่ลอยอยู่เหนือชั้นหินอุ้มน้ำเค็มโดยมีน้ำฝนคอยเติมเต็มให้ เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น แม้ปัจจุบันจะอยู่ที่เพียงปีละไม่กี่มิลลิเมตร แต่มีแนวโน้มว่าอัตราจะเร่งเร็วขึ้น เช่นเดียวกับระดับน้ำเค็มใต้ดิน ส่งผลให้ปริมาณน้ำจืดลดลงอย่างน่าวิตก

            นับเป็นโชคดีของชาวเกาะที่มีการพยากรณ์ว่า ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า แม้จะมีแนวโน้มว่าฝนอาจตกหนักมากจนทำให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากแหล่งน้ำจืดใต้ดินแปรผันไปตามระดับทะเลที่สูงขึ้น และในกรณีของเกาะตาระวายังมีแรงกดดันจากจำนวนประชากร การกักเก็บน้ำฝนจากหลังคาจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง บนเกาะอาไบอางหน่วยงานบรรเทาทุกข์จากต่างชาติได้สร้างระบบรองน้ำ กรองน้ำ ทำให้น้ำสะอาด และจัดเก็บน้ำฝนอย่างง่ายๆ ให้ชุมชนหลายแห่ง ตราบใดที่มีน้ำจืด คุณย่อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆได้ อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง แต่จะนานแค่ไหน ไม่มีใครตอบได้

            ชาวประมงเคยรู้ว่า ปลาแต่ละชนิดชอบเหยื่อประเภทใด ควรจับในเวลากลางวันหรือกลางคืน และจับด้วยวิธีใดจะได้ผลมากที่สุด จะใช้เบ็ด บ่วง หรือตาข่ายดี ทว่าความแน่นอนของโลกสมัยนั้นกำลังกลายเป็นอดีต ท้องน้ำที่เคยมีปลาให้จับอยู่เสมอ มาบัดนี้เหลือแต่เบ็ดและตาข่ายที่ว่างเปล่า ว่ากันว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้ปลาบางชนิดหนีไปอยู่ในน่านน้ำที่เย็นกว่า

            แนวปะการังกำลังถูกคุกคามเช่นกัน และสถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะที่น้ำทะเลอุ่นขึ้นและเป็นกรดมากขึ้นตลอดช่วงศตวรรษนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตของแนวปะการังจะช้าลงหรือกระทั่งหยุดนิ่ง ปรากฏการณ์ปะการัง ฟอกขาว (coral bleaching) เกิดขึ้นเมื่อปะการังที่อยู่ภายใต้แรงกดดันขับสาหร่ายซึ่งเคยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยและทำให้ปะการังมีสีสันและได้รับสารอาหารออกไป  ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นราวทุกๆสิบปี แต่ตอนนี้กลับพบเห็นได้บ่อยขึ้นและในที่สุดอาจเกิดขึ้นทุกปี นี่คือภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของปะการัง และทำให้สีรุ้งสดใสของปะการังหม่นมัวลง

            เมื่อแนวปะการังจากไปแล้ว หมู่เกาะก็จะตามไปด้วย หมู่เกาะปะการังวงแหวนอาศัยตะกอนที่ทับถมจากปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆในทะเลซึ่งมักถูกพายุกวาดขึ้นมากองไว้บนฝั่ง ทำให้เกาะโผล่พ้นน้ำได้ แนวปะการังที่ตายแล้วย่อมไม่สามารถหล่อเลี้ยงเกาะที่มันสร้างขึ้นมากับมือได้

            โลกแบบไหนกันที่ทะเลกำลังทำลายสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาเอง

            เรื่องราวความยากลำบากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ความเห็นใจเงินช่วยเหลือหลั่งไหลมายังคิริบาตีและบรรดาเกาะใกล้เคียง แต่หากคุณได้ยินได้ฟังเรื่องมหันตภัยทางสิ่งแวดล้อมบ่อยมากพอ คุณอาจคิดว่าไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นอีก นอกจากต้องอพยพออกไป ขณะนี้มีการพูดถึงการย้ายถิ่นกันมาก เราควรจะอยู่หรือไม่ หรือควรจะไปเสีย เราจะถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นหรือไม่ ถ้าต้องย้าย จะไปที่ใด ไม่มีประเทศไหนเปิดประตูต้อนรับผู้ลี้ภัยทางสภาพภูมิอากาศหรอก

            คำถามเหล่านี้ล้วนสร้างความเจ็บปวดให้พวกเขา เพราะเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในภาษาคิริบาตี คำว่า “แผ่นดิน” กับ “ผู้คน” เป็นคำเดียวกัน หากแผ่นดินของคุณหายไป แล้วคุณคือใครกันเล่า

            แต่หากคิดในทางกลับกัน ชาวหมู่เกาะแปซิฟิกขึ้นชื่อลือชาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นอยู่แล้ว บรรพบุรุษของพวกเขาเคยทำให้มหาสมุทรทั้งหมดเป็นบ้านด้วยซ้ำ ตำนานว่าด้วยต้นกำเนิดของชาวคิริบาตีเล่าว่า นาเรเอา ผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็น แมงมุม และนับแต่นั้นมา ชาวอี-คิริบาตีก็ชักใยมาตลอด ทุกครอบครัวจะมีญาติพี่น้องอยู่ในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิจิ และต่างประเทศที่ไกลออกไป

            บางครั้งเราอาจได้ยินคำพูดทำนองคาดหมายว่า คนหนุ่มสาวจะออกจากคิริบาตี ส่วนคนเฒ่าคนแก่เลือกจะอยู่ต่อ แต่หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยกลับเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ มากกว่าที่จะไปแสวงหาความร่ำรวยในต่างบ้านต่างเมือง มันนีเอ ริเคียอัว คุณแม่ยังสาวซึ่งทำงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมของคิริบาตี บอกผมว่า เธออยากทำงานให้ผู้คนของเธอมากกว่าจะไปทำงานให้ประเทศอื่น แม้พ่อของเธอจะหว่านล้อมให้เธอย้ายไปอยู่ใน “ที่ที่สูงกว่านี้”

            “ใจหนึ่งฉันก็อยากไปนะคะ” เธอยอมรับ แต่ “คิริบาตีเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆของฉัน แม้จะมีภัยคุกคามน่ากลัวพวกนั้นก็ตาม”



 เรื่องโดย เคนเนดี วอร์น
พฤศจิกายน 2558

10
เกษตรกรที่พึ่งฟ้าฝนในประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไรเมื่อรับมือกับสภาพอากาศผันผวน และเราจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตพลังงานได้อย่างไร

            เมื่อ 11 ปีก่อน  สมบัติ ชุมนุม หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี พาโยโกะ มินามิ ภรรยาชาวญี่ปุ่น กลับมายังบ้านเกิดที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เพื่อสานฝันของเขา นั่นคือการแปรนาข้าวเดิมของพ่อที่ใช้สารเคมีมายาวนาน  ไปสู่นาข้าวอินทรีย์และแปลงเกษตรผสมผสาน

            หลังไถปรับหน้าดินแข็งโกกเกกไร้ธาตุอาหาร และยกระดับที่นาให้สูงขึ้น เขาก็เริ่มขุดสระน้ำขนาดใหญ่ โดยผันน้ำมาจากลำห้วยวังหินที่อยู่ท้ายแปลงที่ดิน “หัวใจของการทำเกษตรคือน้ำครับ” เขาบอกขณะพาผมเดินฝ่าดงหญ้าริมคันนา เลียบสระน้ำกว้างใหญ่ที่เชื่อมต่อกับลำห้วยไหลเอื่อย  สมบัติใช้น้ำจากสระแห่งนี้รดต้นไม้ ปลูกข้าว และอุปโภคในครัวเรือน “ตอนมาทำใหม่ๆ ชาวบ้านแถวนี้หาว่าผมบ้า ไม่ใส่ยา ไม่ใส่ปุ๋ย แถมขุดสระน้ำใหญ่โต เขาไม่ขุดกันใหญ่ขนาดนี้หรอก เพราะเสียดายที่ดินปลูกข้าวครับ” เขาบอก

            สมบัติเคยทำงานที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรอินทรีย์ในกรุงเทพฯ มาก่อน จึงมีความรู้ด้านการจัดการแปลงเกษตรพอสมควร แปลงนาของเขาปลูกข้าวหลากหลาย ทั้งข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 อันลือชื่อของดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ข้าวเหนียวกข.6 และข้าวพันธุ์ใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง “ไรซ์เบอร์รี่”  ที่อยู่ติดกันคือสวนผสมสารพัน  ตั้งแต่กะทกรกยันเพกา กล้วยน้ำว้ายันมะรุม ใกล้ๆกันคือโรงเรือนไก่ไข่ และกองลอมฟางที่เป็นรังของเห็ดฟาง ซึ่งภรรยาของเขาจะมาเก็บไปทำอาหารทุกเช้า มีคอกแพะและวัว (ว่างเปล่าเพราะเลี้ยงไม่ไหว) เขาใช้แผงเซลล์สุริยะผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในบ้าน ไม่ดูโทรทัศน์ แต่ยังต้องพึ่งน้ำมันสำหรับใส่เครื่องสูบน้ำ และรถยนต์

             นอกเหนือจากสระน้ำขนาดใหญ่ สมบัติยังขุดสระน้ำขนาดเล็กอีกหลายสระ กระจายอยู่ในบริเวณที่เครื่องสูบน้ำส่งไปไม่ถึง สระน้ำเหล่านี้จะรับน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุม กักตุนไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งซึ่งกินระยะเวลายาวนาน แม้จะไม่มากพอสำหรับการทำ “นาปรัง” แต่ก็ช่วยประทังในยามฉุกเฉินสำหรับ “นาปี” เขาเชื่อว่าการมีแหล่งน้ำหลายแหล่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ และความไม่แน่นอนของฤดูกาล

            การวางแผนที่ดีทำให้ที่ผ่านมา สมบัติไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทว่าแม้จะวางแผนดีอย่างไร กลางปีพ.ศ. 2558  สภาพอากาศเกิดผิดแผกไปจากที่เขาเคยรู้จัก  สมบัติเล่าว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศเย็นจนต้องนั่งผิงไฟ และฤดูมรสุมที่ฝนควรจะเทลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม กลับล่าช้าไปถึงสามเดือน จนเกิดภัยแล้งรุนแรง

            สมบัติประคับประคองนาข้าวที่ปักดำไปแล้วด้วยแหล่งน้ำสำรองที่เหลืออยู่ เขาสูบน้ำถึงเลนตมในสระใหญ่ไม่ต้องพูดถึงสระน้ำขนาดเล็กที่แห้งกรังดินแตกระแหง ต้นข้าวที่ปักดำกำลังงามก็จริง แต่หากฝนไม่เทลงมาในเร็ววัน ก็เตรียมบอกลาผลผลิตปีนี้ได้เลย “นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครับ แต่เป็นธรรมชาติ ปีนี้แล้งมากจริงๆครับ เราต้องแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้ากันรายวัน เพราะฤดูกาลเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” เขาบอก

            ทว่าชาวนาละแวกนั้นไม่ได้วางแผนรอบคอบอย่างสมบัติ   ไม่ต่างจากเกษตรกรอีกหลายล้านครัวเรือนที่ยังคงหวังพึ่งฟ้าฝน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พวกเขาหว่านไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนหรือพฤษภาคมตามรูปแบบการทำนาน้ำฝนเดิมๆ ทยอยแห้งตายทั้งหมด  เนื่องจากฝนไม่เทลงมาตามนัดในเดือนมิถุนายน  “ข้าวนาปี” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ ของชาวอีสานต้องพึ่งพาน้ำฝนและฤดูกาลแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  มาบัดนี้ล้วนแปรสภาพเป็นนาร้างกว้างไกลสุดลูกหู ลูกตา ชาวนาต่างสิ้นเนื้อประดาตัว และหากความทุกข์มีมูลค่า ชาวนาแถบนั้นคงเป็นเศรษฐีกันทุกคน

            ผมถามเขาว่า ถ้าปีหน้าสภาพอากาศเป็นแบบนี้อีก เขาจะวางแผนอย่างไร สมบัติยอมรับว่าไม่มีทางรู้สภาพอากาศในอนาคตได้เลย และข้อมูลการพยากรณ์อากาศของทางการก็เชื่อไม่ค่อยได้ “เราต้องเสี่ยง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแต่ละปีครับ” เขาพยายามขบคิดตามประสานักวางแผน “แต่ถ้าไม่มีน้ำ เราก็คงต้องหยุดทำนาครับ” เขาบอก

 

            ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมืองใหญ่รถติดและจงชังฝนหลงฤดูที่ถล่มลงมายามเย็นหลังเลิกงาน  หรือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ภาวนาฝอยฝนผิดนัดให้โปรยลงมา สภาพอากาศแปรปรวนในทุกวันนี้อาจเป็นบันไดขั้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา  การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม การขนส่งและพาณิชย์ กิจกรรมการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน การจัดการขยะ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายล้วนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศจนเกิดภาวะโลกร้อน  ส่งผลให้เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนมากขึ้นทุกที อาทิ มรสุมรุนแรง ภาวะแห้งแล้งยาวนาน ฝนทิ้งช่วง คลื่นความร้อน และน้ำท่วมฉับพลัน

            ผลกระทบรุนแรงเห็นชัดที่สุดในภาคเกษตร  ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรในเอเชียมีแนวโน้มลดลงกว่าร้อยละ 30 เกษตรกรรายย่อยเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังพึ่งฟ้าพึ่งฝนตามฤดูกาล รวมถึงพวกที่มีฐานะยากจน ปฏิทินการเพาะปลูกที่ไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป หรือแม้แต่พืชบางชนิดที่เคยให้ผลผลิตดีก็อาจถูกรบกวนด้วยโรคพืชและแมลงใหม่ๆ ขณะที่ผู้คนในเมือง แม้จะไม่ได้พึ่งพิงฟ้าฝนโดยตรง แต่ผลกระทบจากโลกร้อนก็เป็นชนวนของปัญหาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง อาหารราคาแพง โรคติดต่อ ไปจนถึงภัยพิบัติฉับพลัน

 

            บางทีการปรับตัวเฉพาะหน้าไปตามสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในทุกวันนี้  อาจไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงในอนาคตข้างหน้า “ผมคิดว่าวันนี้เมืองไทยเรายังไม่มีการปรับตัวอย่างที่ควรจะเป็นครับ” วิฑูรย์ ปัญญากุล จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และผู้เขียนหนังสือ เกษตรอินทรีย์กับโลกร้อน กล่าวและเสริมว่า ที่ผ่านมา การปรับตัวรับสภาพอากาศผันผวนในประเทศไทยเป็นเพียงการรับมือในระยะสั้น หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เขาเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิศาสตร์ ผู้คน และแม้แต่เศรษฐกิจที่แตกต่าง  ทำให้การปรับตัวรูปแบบเดียวกันใช้ไม่ได้ผล เขายกตัวอย่างมาตรการของรัฐบาลที่แก้ปัญหาภาคการเกษตรในช่วงแล้งแบบเดียวกันทั้งประเทศ เช่น งดการปลูกข้าว หรือแนะให้ปลูกพืชชนิดอื่น “เป็นสิ่งที่ผิดมากครับที่ทุกคนคิดว่า เราต้องปรับตัวเหมือนๆกัน เพราะการปรับตัวแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

            วิฑูรย์และทีมงานเคยศึกษาแนวทางการปรับตัวในภาคเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ยโสธร และหลายพื้นที่ในแถบที่ลุ่มภาคกลาง  เขาพบว่าลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันย่อยลงไปถึงระดับท้องถิ่น นั่นหมายความว่า การพยากรณ์อากาศระดับมหภาคไม่สามารถให้รายละเอียดได้ลึกพอ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงริเริ่มสร้างกระบวนการเก็บข้อมูลสภาพอากาศท้องถิ่น และวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ล่วงหน้า สำหรับสร้างแผนการเพาะปลูกระยะยาว และเสนอวิธีรับมือให้ชาวบ้านหลายๆวิธี  รวมทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะได้รับ “เป็นการปรับตัวเชิงรุกโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประเมินผลกระทบแล้ววางแผนครับ”

            อัมพร คำมั่น วัย 50 ปี และสามี เป็นชาวนาอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่เข้าร่วมโครงการทดลองการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อหลายปีก่อน เธอมีที่นาสามแปลง ควายหกตัว วัวอีกสองตัว และบ่อน้ำซับสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ  เธอปลูกพืชอาหารผสมผสานหลายชนิดในที่ดิน รวมทั้งปลูกข้าวแบบอินทรีย์เพื่อรักษาความชื้นในดิน เป้าหมายของโครงการคือทำให้เธอและครอบครัวมีอาหารหมุนเวียนทั้งปีโดยกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผลผลิตในช่วงสภาพอากาศแปรปรวน และมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามแล้งซึ่งเป็นความไม่แน่นอนของสภาพอากาศท้องถิ่นทุกวันนี้

            แต่ที่น่าสนใจคือ  เธอจะตื่นแต่เช้าตรู่ทุกวันเพื่อจดบันทึกสภาพอากาศ รวมทั้งลักษณะเมฆที่เห็นตอนเช้าเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศในหลายเดือนถัดไปด้วยตนเอง เธอทำข้อมูลภูมิอากาศท้องถิ่นผนวกกับภูมิปัญญาจากการสังเกต ทำให้วางแผนการเพาะปลูกได้ยืดหยุ่นกว่า “มื้อนี้ฮู้ล่วงหน้าแล้วว่า ฝนจะมาล่า สิเลยเลื่อนตกกล้าไปเดือนนึง” เธอพูดถึงนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่เขียวชอุ่ม ผิดกับแปลงของเพื่อนบ้านหลายแปลงที่ยืนต้นตายหรือไม่ก็ทิ้งร้างเพราะภัยแล้ง

            เช้าตรู่วันหนึ่งเราพบกันตอนที่เธอกำลังจดบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ “มื้อนี้เอิ้นว่าลายเกล็ดปลา” เธออธิบายถึงสภาพเมฆในเช้าวันนั้น และพยากรณ์ว่าอีกสี่เดือนข้างหน้าจะหนาวเย็น แต่ไม่มากนัก  วิชาพยากรณ์อากาศท้องถิ่นนี้เธอเรียนมาจากแม่เฒ่า ซึ่งอาศัยการเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างพฤติกรรมของมดและการติดดอกของต้นมะม่วง “ก็บ่ถึงร้อยหรอกค่า แต่ก็แม่นอยู่” เธอพูดถึงความแม่นยำของการพยากรณ์

             แม้จะยอมรับว่า ที่ผ่านมาพยากรณ์คลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่อัมพรยังคงเชื่อมั่นวิธีสังเกตธรรมชาติของเธอมากกว่าพยากรณ์อากาศจากโทรทัศน์  ผมถามเธอว่า  รู้จักภาวะโลกร้อนไหม “คือฮ้อนอีหลีแม่นบ่ แล้วก็แล้งในดินหลายอีหลี เพราะว่าอากาศมันแห้ง” เธอพยายามอธิบาย ผมถามต่อว่า แล้วเธอจะปรับตัวรับมืออย่างไร

            “ถึงจะฮ้อนแล้วก็แล้งอีหลี” อัมพรตอบ ขณะเหม่อมองเมฆและแสงแรกของวัน “แต่ชาวนาอย่างเราก็ต้องอดทน     สิแม่นบ่”


 เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
พฤศจิกายน 2558

11
โลกกำลังอยู่ในภาวะเครียดจัด เทคโนโลยีด้านดาวเทียมและเซนเซอร์ใหม่ๆในห้วงอากาศ คือความหวังที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจชีพจรโลกได้อย่างแม่นยำ ก่อนทุกสิ่งจะสายเกินเยียวยา

            แค่ภาพจากหน้าต่างก็แย่พอแล้ว ขณะเครื่องบินวิจัยของเขาบินผ่านแนวป่าสนซีคัวยายักษ์ในแคลิฟอร์เนีย

            เกรก แอสเนอร์ มองเห็นความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งยาวนานสี่ปี แต่เมื่อผละจากหน้าต่างไปดูจอภาพในห้องปฏิบัติการลอยฟ้า สิ่งที่เห็นยิ่งน่าตกใจกว่า หลายจุดในป่าเป็นสีแดง “แสดงถึงความเครียดขั้นรุนแรงครับ” เขาว่า

            ภาพดิจิทัลเหล่านี้มาจากระบบกราดตรวจสามมิติ (3-D Scanning System) ที่แอสเนอร์ นักนิเวศวิทยาสังกัดสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ (Carnegie Institution for Science) เพิ่งติดตั้งในเครื่องบินใบพัดของเขา  ระบบจะกราดแสงเลเซอร์สองลำไปยังหมู่ไม้ ขณะที่กล้องสเปกโทรมิเตอร์คู่สร้างโดยห้องปฏิบัติการไอพ่นหรือเจพีแอล (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ขององค์การนาซา ซึ่งคอยบันทึกแสงแดดหลายร้อยความยาวคลื่น ตั้งแต่ย่านที่ตาเห็นถึงแสงอินฟราเรดที่สะท้อนขึ้นมาจะเผยรายละเอียดองค์ประกอบทางเคมีของต้นไม้ถึงขนาดที่สามารถระบุชนิดของต้นไม้แต่ละต้น และแม้กระทั่งบอกได้ว่าไม้ต้นไหนดูดซึมน้ำไว้เท่าใด อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสุขภาพ จากแผนสีที่เขาเลือกใช้วันนั้นแสดงว่า ต้นไม้ที่ขาดน้ำจะเห็นเป็นสีแดงสด

            ภาพอาจดูน่ากลัว แต่นี่คือแนวทางใหม่สำหรับการมองโลก “ระบบนี้ผลิตแผนที่ซึ่งบอกเราเกี่ยวกับระบบนิเวศได้ภายในการบินผ่านเที่ยวเดียว มากกว่าที่การทำงานภาคพื้นดินทั้งชีวิตอาจจะสร้างได้นะครับ” แอสเนอร์เขียนในภายหลัง และหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าคาร์เนกีของเขาก็เป็นเพียงแนวหน้าของกระแสที่กำลังมาแรงเท่านั้น

            เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ล้ำยุคเป็นเครื่องมือที่ดีขึ้นเรื่อยๆในการติดตามสัญญาณชีพของโลก เมื่อปี 2014 ต่อต้นปี 2015 องค์การนาซาส่งภารกิจสำคัญห้าภารกิจขึ้นสู่อวกาศเพื่อเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์โลก (สองภารกิจคือการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่บนสถานีอวกาศ) ทำให้จำนวนรวมกลายเป็น 19 ภารกิจ  องค์การอวกาศจากบราซิล จีน ยุโรป และที่อื่นก็เข้าร่วมด้วย “ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคทองของงานรับรู้จากระยะไกล (remote sensing)” ไมเคิล ไฟรลิค ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์โลกขององค์การนาซา บอก

            ต้องบอกไว้ก่อนว่า ข่าวคราวจากดวงตาทั้งหลายบนท้องฟ้าส่วนใหญ่ไม่ใช่ข่าวดี เพราะมักเป็นประจักษ์พยานว่า  โลกอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายและป่าดงดิบที่หดหาย ไปจนถึงระดับที่สูงขึ้นและเรื่องอื่นๆ  แต่ในยุคที่ผลกระทบต่อโลกอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์มาถึงจุดร้ายแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เซนเซอร์ล้ำยุคดังกล่าวก็ช่วยให้การเฝ้าติดตามและเข้าใจผลกระทบเหล่านั้นเป็นไปได้อย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน และถึงแม้จะไม่ใช่ยารักษาโลกที่กำลังป่วยไข้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น เพียงเท่านี้ก็พอจะเป็นความหวังได้บ้างแล้ว

            แม้สุขภาวะของโลกจะเผชิญความท้าทายนานัปการ แต่ที่ผ่านมาโลกก็ยังหยัดยืนอยู่ได้อย่างน่าทึ่ง ในจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 37,000 ล้านตันที่ปล่อยสู่บรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ มหาสมุทร ผืนป่า และทุ่งหญ้า ก็ยัง ดูดซับไว้ได้ถึงครึ่งหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครรู้ว่า ถึงจุดไหนที่ผู้แบกรับจะถึงจุดอิ่มตัว กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยยังไม่มีหนทางหรือวิธีการที่แยบคายพอที่จะวัดการไหลเวียนของคาร์บอนในธรรมชาติเลย

            สถานการณ์เปลี่ยนไปในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 เมื่อองค์การนาซาส่งดาวเทียมโอซีโอ-2 (Orbiting Carbon Observatory-2: OCO2)  ขึ้นสู่วงโคจร ตามคำพูดของผู้จัดการโครงการ ดาวเทียมดวงนี้ได้รับการออกแบบให้ “เฝ้าดูโลกหายใจ” กล่าวคือสามารถวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยหรือดูดซับโดยภูมิภาคใดๆของโลกด้วยความแม่นยำถึงหนึ่งในล้านส่วน แผนที่ทั้งโลกชุดแรกๆที่ได้จากข้อมูลของดาวเทียมโอซีโอ-2 แสดงกลุ่มเมฆคาร์บอนดออกไซด์ลอยขึ้นจากออสเตรเลียตอนเหนือ แอฟริกาตอนใต้ และบราซิลตะวันออก ที่ซึ่งป่าถูกแผ้วถางและเผาป่าเพื่อทำเกษตร 

            เกรก แอสเนอร์กับทีมงานเคยขบคิดปริศนาเรื่องที่ไปของคาร์บอนด้วยเช่นกัน ก่อนขึ้นบินตระเวนเหนือผืนป่าในแคลิฟอร์เนีย พวกเขาบินตรวจตราป่าเขตร้อนขนาด 720,000 ตารางกิโลเมตรในประเทศเปรูอยู่หลายปีเพื่อคำนวณปริมาณคาร์บอนในผืนป่า

            ในเวลานั้น เปรูกำลังหารือกับพันธมิตรนานาชาติเกี่ยวกับวิธีการปกป้องป่าดิบชื้นของประเทศ แอสเนอร์สามารถชี้ให้เห็นได้ว่า พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกหรือคุกคามมากที่สุดจากการทำป่าไม้  กิจกรรมการเกษตร หรือการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน หรือคิดเป็นปริมาณราวหกพันล้านตัน แอสเนอร์บอกว่า การรักษาพื้นที่เหล่านั้นจึงไม่เพียงช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ แต่ยังปกป้องชนิดพันธุ์พืชและสัตว์อีกนับไม่ถ้วนด้วย                         

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า องค์การนาซาวางแผนจะส่งภารกิจใหม่ห้าภารกิจเพื่อศึกษาวัฏจักรน้ำ พายุเฮอร์ริเคน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เครื่องมือสังเกตโลกชื่อคิวบ์แซตส์ (CubeSats) ซึ่งมีขนาดเล็กมาก บางชิ้นเล็กกว่าฝ่ามือ  จะขออาศัยภารกิจอื่นพาขึ้นสู่ห้วงอวกาศ   สำหรับนักวิทยาศาสตร์อย่างแอสเนอร์  ความจำเป็นเร่งด่วนนั้นชัดเจน “โลกกำลังอยู่ในสถานะที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วครับ หลายอย่างเปลี่ยนไปในทางที่เรายังไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับ” เขาบอก


 เรื่องโดย ปีเตอร์ มิลเลอร์
พฤศจิกายน 2558

12
พลังงานแสงอาทิตย์นำทั้งแสงสว่างและความหวังไปสู่ผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ท่ามกลางความมืดมิดในบางซอกมุม ของโลก

            ประศานต์ มัณฑ์ล กดปุ่มเปิดโคมไฟแอลอีดีขนาดเท่าห่อขนมในกระท่อมที่เขาอยู่กับภรรยาและลูกสี่คน ทันใดนั้น             

            แสงเรื่อเรืองสีเหลืองสดและสีฟ้าน้ำทะเลที่สะท้อนออกมาจากแผ่นผ้าใบมุงหลังคาและฝาผนังของครอบครัวก็อาบพื้นที่แคบๆที่พวกเขาใช้ซุกหัวนอน  มัณฑ์ลวัย 42 ปีชี้นิ้วไปตามสมบัติซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นภายในบ้าน  เขาปิดชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง  ถอดปลั๊กออกทีละชิ้น  และหอบไปยังเต็นท์ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 18 เมตร ที่นั่นเขาเป็นคนขายชา หรือไจวัลลาห์ ให้คนที่เดินผ่านไปมาบนถนนอันเงียบเหงาของเมืองมโธตันทะ  เมืองที่แวดล้อมไปด้วย ผืนป่าใกล้พรมแดนด้านเหนือของอินเดีย

            “ชีวิตผมมันเศร้าครับ แต่ผมตั้งใจจะอยู่รอดให้ได้” มัณฑ์ลบอก “และแสงจากพลังงานแสงอาทิตย์นี่แหละที่ช่วยให้ผมเปิดร้านตอนกลางคืนได้”

            มัณฑ์ลผู้สร้างบ้านอย่างผิดกฎหมายบนที่ดินสาธารณะ เป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว  เป็นเครื่องจักรที่มีหลายร้อยบริษัททำงานเชิงรุกเต็มที่ในการขายเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กให้ลูกค้าที่อยู่นอกโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศกำลังพัฒนา ประมาณการว่ามีผู้คนราว 1,100 ล้านคนในโลกที่อยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ และเกือบหนึ่งในสี่อยู่ในประเทศอินเดียที่ซึ่งคนอย่างมัณฑ์ลถูกบีบให้ต้องพึ่งพาน้ำมันก๊าดและแบตเตอรี่ลูกใหญ่เทอะทะที่มีน้ำกรดรั่วซึมออกมา

            ชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของมัณฑ์ลที่ให้พลังงานแก่โคมไฟแอลอีดีสองดวงและพัดลมหนึ่งเครื่องนี้ได้พลังงานจากแผงเซลล์สุริยะขนาด 40 วัตต์  การทำงานเริ่มจากดวงอาทิตย์สาดแสงลงมายังแผง และชาร์จพลังงานเข้าเครื่องชาร์จประจุขนาดเล็กสีส้มครั้งละราวสิบชั่วโมง  มัณฑ์ลเช่าชุดผลิตไฟฟ้านี้จากซิมปาเน็ตเวิร์กส์ (Simpa Networks) ซึ่งเสนอขายแผนสมาชิกที่ออกแบบให้เหมาะกับงบของลูกค้าผู้มีรายได้น้อย ถึงกระนั้น เงินราวๆ 35 เซ็นต์ต่อวันก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตสำหรับมัณฑ์ลผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยเงินไม่ถึงสองดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 

            แต่ถึงอย่างนั้น มัณฑ์ลกลับบอกว่า การจ่ายเงินร้อยละ 20 ของรายได้เพื่อแลกกับบริการของซิมปาก็ยังดีกว่าการใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางความมืด  เขาบอกว่า “ผมใช้เงินมากขนาดนี้ในการชาร์จไฟแบตเตอรี่มาก่อนหน้านี้แล้วครับ และต้องเดินไปกลับราวหนึ่งกิโลเมตรเพื่อไปชาร์จไฟ บางทีน้ำกรดในแบตเตอรี่ก็กระเซ็นมาโดนผิวจนไหม้ ครั้งหนึ่งถึงกับกัดทะลุเนื้อผ้ากางเกงของผมลงไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไฟฟ้าละครับ”

            การดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งไฟฟ้าของมัณฑ์ลเป็นเรื่องราวที่พบเห็นได้ตามหมู่บ้านต่างๆในประเทศอย่างอินเดีย เมียนมาร์ (พม่า) และในทวีปแอฟริกาที่ซึ่งบริษัทเอกชนขายชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และแผงเซลล์สุริยะ ตลอดจนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือหรือโซลาร์ฟาร์ม (solar farm) องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ (International Energy Agency: IEA) ประมาณการว่า  ผู้คนราว 621 ล้านคนในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกาไม่มีไฟฟ้าใช้  ขณะที่ในอินเดีย  ข้อมูลสำมะโนประชากรเมื่อปี 2011 ระบุว่า  การมีสายส่งไม่เพียงพอทำให้ประชากรเพียงร้อยละ 37  จากจำนวนเกือบ 200 ล้านคนในรัฐอุตตรประเทศซึ่งเป็นบ้านเกิดของมัณฑ์ล มีไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานหลักในการให้แสงสว่าง บริษัทซิมปาคาดการณ์ว่า ราว 20 ล้านครัวเรือนที่นั่นต้องอาศัยน้ำมันก๊าดเป็นส่วนใหญ่โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุน ตามเมืองกสิกรรมขนาดเล็กต่างๆ ชาวบ้านชาร์จโทรศัพท์มือถือจากแบตเตอรี่รถแทรกเตอร์ ฤดูร้อนแต่ละคราวซึ่งอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 46 องศาเซลเซียส จะมีคนหลายร้อยคนคนเสียชีวิตจากโรคลมแดด (heatstroke) ขณะที่เขม่าดำจากการเผาน้ำมันก๊าดก็กัดกินทำลายปอด

            ในตลาดตามชนบทของอินเดีย  พ่อค้าทำเงินจากแสงอาทิตย์กันมานานหลายปีแล้ว ก่อนหน้าที่บริษัทอย่างซิมปาจะเริ่มเสนอให้บริการลูกค้าอย่างมัณฑ์ล บรรดาพ่อค้าโฆษณาชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูกด้วยการนั่ง เปิดพัดลมเย็นสบายอยู่ที่แผงขนาดพอๆกับตู้เสื้อผ้า ชุดอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาสามถึงสี่ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพียงเศษเสี้ยว ของราคาที่มัณฑ์ลจ่ายให้ซิมปาทุกเดือน

            จูเลียน มาร์แชล  อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อุตสาหกรรมบริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศกำลังพัฒนา มาร์แชลเฝ้าติดตามมลภาวะทางอากาศในบ้านของลูกค้าทั้งที่อยู่ภายในโครงข่ายและนอกโครงข่ายไฟฟ้า เขายังทำวิจัยเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากน้ำมันก๊าดและแหล่งพลังงานสกปรกอื่นๆ มาร์แชลชื่นชมบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ราวหกบริษัทรวมทั้งซิมปาที่นำนวัตกรรมทางการค้ามาใช้ในชนบทของอินเดีย เขาบอกว่า “เหตุผลหลักที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อบริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์มาจากเรื่องการเงินส่วนบุคคลก็จริง แต่สิ่งที่ได้มาด้วยคือประโยชน์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชนครับ”   

            กลับมาที่มโธตันทะ  ภายในเต็นท์ขายชา มัณฑ์ลประกอบชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของเขา และนำโคมไฟมาแขวนไว้ บริเวณนั้นว่างเปล่าท่ามกลางความร้อนระอุยามบ่าย ขณะที่เขาคนชาในหม้อโลหะบนเตาฟืน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินและอากาศเย็นลงก็น่าจะมีลูกค้าผ่านมาบ้าง

            มัณฑ์ลหวังว่า เขาจะเช่าชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เครื่องที่สองได้ เพื่อที่ลูกๆจะได้มีที่ที่เงียบกว่านี้สำหรับนั่งทำการบ้าน แต่ขณะนี้สิ่งสำคัญลำดับแรกสุดคือ ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตซึ่งเป็นเป้าหมายที่มัณฑ์ลเชื่อว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เป็นจริงได้

            “พอลูกค้าเห็นแสงไฟก็จะมาที่ร้านกันครับ” เขาบอก


 เรื่องโดย ไมเคิล เอดิสัน เฮย์เดน
พฤศจิกายน 2558

13

ภาพ : เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา
ภาพโดย : ลูกา โลกาเตลลี
คำบรรยายภาพ : กังหันลมรายล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้เมืองการ์ซไวเลอร์ในเยอรมนีตะวันตก ปัจจุบัน เยอรมนีใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 หรือสูงขึ้นจากเมื่อสิบปีที่แล้วร้อยละเก้า ในที่สุดพลังงานหมุนเวียนคงแซงหน้าถ่านหิน ถึงแม้เยอรมนีจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอันดับแรกก็ตาม


การปฏิวัติพลังงานครั้งสำคัญของเยอรมนี อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆดำเนินรอยตาม เพื่อหยุดยั้งหรือชะลอผลกระทบเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            เยอรมนีกำลังริเริ่มการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่เรียกว่า เอแนร์จีเวนเดอ (energiewende) หรือการปฏิวัติพลังงานที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เห็นว่า สักวันหนึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และในบรรดาชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วยกัน เยอรมนีถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้  เมื่อปีที่แล้ว การผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 27 ของเยอรมนีได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนถึงสามเท่า การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นหลังภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีอันเกลา แมร์เคิล ประกาศจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 17 แห่งภายในปี 2022 จนถึงขณะนี้ เยอรมนีปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปแล้วเก้าแห่ง และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สูงกว่าปริมาณที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งเก้าแห่งนั้นเคยผลิตได้เสียอีก

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เยอรมนีมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อโลกคือคำถามที่ว่า เยอรมนีจะเป็นผู้นำการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า พอถึงปลายศตวรรษนี้ การปล่อยคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นต้องลดลง จนแทบเหลือศูนย์ เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนครั้งใหญ่ กล่าวคือลดลงจากปี 1990 ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2020 และลดลงอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในปี 2050

            ตอนนี้คำสัญญาเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ การปฏิวัติพลังงานของเยอรมนีเกิดจากรากหญ้า ได้แก่พลเมืองทั่วไปและกลุ่มองค์กรพลังงานภาคประชาชนที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่ง แต่บริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งคงไม่เห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติพลังงานนี้กดดันให้รัฐบาลของแมร์เคิลชะลอการดำเนินการต่างๆ เยอรมนียังคงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในปริมาณสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนมากนัก และหนทางข้างหน้ายังยาวไกลกว่ามาก หากเอแนร์จีเวนเดอจะแทรกตัวเข้าสู่ภาคการขนส่งและการผลิตความร้อน ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่าโรงไฟฟ้าเสียอีก

            ทุกคนพูดตรงกันว่า เยอรมนีต้องเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิลพร้อมๆกัน “คุณไม่มีทางกำจัดปีศาจตนหนึ่งด้วยการใช้ปีศาจอีกตนหนึ่งได้หรอกครับ เราต้องกำจัดทั้งคู่” ฮันส์-โยเซฟ เฟลล์ นักการเมืองคนสำคัญจากพรรคกรีน (Green Party) อธิบาย [ตอนที่พรรคกรีนเยอรมนีก่อตั้งขึ้นในปี 1980 สองนโยบายหลักของพรรคคือการชูสันติภาพและคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์] ส่วนฟอลเคอร์ ควัชนิง นักวิจัยด้านพลังงาน ให้ทรรศนะว่า “พลังงานนิวเคลียร์ส่งผลต่อตัวผมเอง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อลูกหลานของผม นั่นคือความแตกต่างครับ”

            ในปี 1983 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกรีนกลุ่มแรกตบเท้าเข้าสู่บุนเดสทาก หรือรัฐสภาแห่งชาติเยอรมนีได้สำเร็จ และเริ่มสอดแทรกแนวคิดสีเขียวเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโซเวียตที่เชียร์โนบิลระเบิดในปี 1986 พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือเอสพีดี (Social Democratic Party: SPD) หัวเอียงซ้าย หนึ่งในสองพรรคใหญ่ของเยอรมนี ก็กลับลำมาชูธงต่อต้านนิวเคลียร์ด้วย ถึงแม้เชียร์โนบิลจะเกิดขึ้นห่างออกไปกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร แต่เมฆหรือฝุ่นกัมมันตรังสีก็ลอยมาไกลถึงเยอรมนี และบรรดาผู้ปกครองก็ได้รับคำเตือนให้กำชับบุตรหลานให้อยู่แต่ในบ้าน

            แต่ต้องรอถึงภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะในอีก 25 ปีต่อมา กว่าที่แมร์เคิลกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือซีดียู (Christian Democratic Union: CDU) ของเธอจะเชื่อว่า ควรปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2022 เมื่อถึงตอนนั้นพลังงานหมุนเวียนคงอยู่ในกระแสแล้ว

 เรื่องโดย โรเบิร์ต คุนซิก
พฤศจิกายน 2558

14

ภาพ : ความงามบนร่างอสูร
ภาพโดย : ไมเคิล ดี. เคิร์น
คำบรรยายภาพ : งูไวเปอร์ ใบไม้หลากสี

ขณะที่คนทั่วไปเกลียดกลัวสัตว์เลื้อยคลาน แต่ช่างภาพผู้หนึ่งกลับใช้ศิลปะช่วยเปลี่ยนความน่าอัปลักษณ์ให้กลายเป็นความงามชวนมอง

คนส่วนใหญ่เกลียดกลัวสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์จำพวกแมง (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกสัตว์ขาปล้อง) ต่างๆ  เป็นความกลัวเก่าแก่แทบจะเรียกได้ว่าดึกดำบรรพ์ มนุษย์วิวัฒน์ขึ้นโดยเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงสัตว์เหล่านี้ซึ่ง ในหลายกรณีก็นับว่ามีเหตุผลดี แต่นั่นย่อมหมายความว่า พวกเราส่วนใหญ่มักขาดประสบการณ์ในการเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดและชื่นชมความงามของพวกมันด้วย สัตว์เหล่านี้บางชนิดต้องการความช่วยเหลือจากเรา สิ่งที่ผมพยายามทำคือ ช่วยให้ผู้คนมองเห็นความงามในร่างอสูรด้วยการนำศิลปะนามธรรมมาลอกความกลัวและอคติจากจิตใจ

            ผมเริ่มจากการถ่ายภาพเหมือนของพวกมัน จากนั้นจึงรื้อและลดทอนรายละเอียดต่างๆให้เหลือเพียงองค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่สีสัน เส้นสาย ลวดลาย และพื้นผิว องค์ประกอบเอกเทศเหล่านี้คือพื้นฐานของภาพใหม่ที่ผมปรับแต่งขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆ ในโปรแกรมโฟโต้ชอป ผลงานที่ได้คือภาพเหมือนจริงเป็นคู่ๆ โดยด้านหนึ่งเป็นภาพจริง ส่วนอีกด้านเป็นภาพ แนวนามธรรม

            ผมเริ่มทำภาพชุดนี้เกือบจะเรียกได้ว่าอย่างไม่ตั้งใจ ผมแค่ต้องการออกแบบโลโก้หัวจดหมายเพื่อใช้สำหรับธุรกิจถ่ายภาพของตัวเอง แต่ความที่ผมรักสัตว์เลื้อยคลาน ผมเลยถ่ายภาพกิ้งก่าอีกัวนา ผมคิดว่าดวงตาข้างหนึ่งของมันน่าจะสวยสะดุดตาพอที่จะใช้เป็นภาพเดี่ยวๆสำหรับหัวจดหมายได้  แต่ปรากฎว่าขนาดกลับไม่พอดีกับหัวจดหมาย  ผมจึงทำภาพสะท้อนขึ้นอีกภาพที่ด้านบน  ภาพที่ได้ทั้งสวยงามและเหนือจริง  ไม่เหมือนสิ่งใดในธรรมชาติ  ทั้งๆที่ภาพนี้มีที่มาจากของจริงในธรรมชาติแท้ๆ

            ภาพแต่ละภาพที่ผมสร้างขึ้นล้วนแตกต่างกัน เพราะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว บางภาพใช้เพียงการคร็อปหรือตัดทอนภาพบางส่วนออกแล้วทำภาพสะท้อนขึ้น  ขณะที่บางภาพใช้เทคนิคหลายอย่างประกอบกัน  และบางภาพก็ออกมาไม่สวยเอาเสียเลย แต่สำหรับผม  การเดินทางนั้นมีคุณค่าพอๆกับจุดหมายปลายทาง  ผมมีความสุขที่เห็นภาพเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อยจากการทำซ้ำแต่ละครั้ง  ผมจึงเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้สังเกตการณ์กระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่ได้ในเวลาเดียวกัน

            ในงานแสดงภาพ  ผมชอบที่จะแสดงภาพเชิงนามธรรมก่อน เมื่อผู้ชมมองภาพครั้งแรก ผมคิดว่าพวกเขามีความรู้สึกขัดแย้งลึกๆระหว่างความงามของภาพกับความกลัวที่มีต่อสัตว์ซึ่งเป็นที่มาของภาพ แต่เมื่อพวกเขาตระหนักว่ามันเป็นเพียงแค่ภาพ พวกเขาจะเริ่มขยับเข้ามาใกล้ และศึกษารายละเอียดต่างๆ ผมจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อทำให้ความกลัวเปลี่ยนเป็นความสนใจใคร่รู้ ในตอนนี้ผมหวังว่าผู้ชมจะสามารถชื่นชมความงามของภาพจริงและภาพนามธรรมไปพร้อมๆ กัน  ผมคิดว่านั่นคือคุณค่าของสิ่งที่ผมกำลังสร้างสรรค์ขึ้น อันได้แก่การทำให้ผู้คนเปิดใจยอมรับและชื่นชมสัตว์เหล่านี้  ซึ่งผมหวังว่าอาจจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การปกป้องคุ้มครองพวกมันต่อไป


 เรื่องโดย ไมเคิล ดี. เคิร์น
ตุลาคม 2558

15

ภาพ : กอบกู้พุทธสถานเมสไอนัก
ภาพโดย : ไซมอน นอร์โฟล์ก
คำบรรยายภาพ : การเล่นกับทัศนมิติ (perspective) ทำให้พุทธสถานศิลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรที่เมสไอนัก ประเทศอัฟกานิสถาน ดูใหญ่โตกว่าความเป็นจริง ที่ผ่านมา นักโบราณคดีขุดค้นได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกลุ่มอาคารทางพุทธศาสนาอันกว้างใหญ่ซึ่งมีอายุระหว่างศตวรรษที่สามถึงแปด

ขุมทรัพย์สินแร่ทองแดงทอดตัวอยู่ใต้แหล่งโบราณคดีสำคัญทางพุทธศาสนาในอัฟกานิสถาน มรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้จะรอดพ้นจากการทำลายล้างหรือไม่

ราวหนึ่งชั่วโมงไปตามทางหลวงการ์เดซทางใต้ของกรุงคาบูล  เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน  มีเส้นทางสายหนึ่งเลี้ยวซ้ายหักศอกลงสู่ถนนลูกรังในเขตจังหวัดโลการ์ที่ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นให้การสนับสนุนกลุ่มตอลิบาน  พื้นที่โดยรอบสั่นสะเทือนจากระเบิดที่ซุ่มวางอยู่ตามข้างถนน  การโจมตีด้วยจรวด  การลักพาตัว  และเหตุฆาตกรรม  ถนนสายนี้ทอดเลียบไปตามก้นแม่น้ำแห้งผาก   ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ  เครื่องกีดขวางถนนของกองกำลังต่างๆ  ป้อมยาม และกลุ่มอาคารหลังคาสีน้ำเงินล้อมลวดหนามป้องกันผู้บุกรุก  ทว่าภายในกลับว่างเปล่า

            ห่างออกไปไม่ไกล  ทิวทัศน์เปิดโล่งมองเห็นหุบเขาไร้ต้นไม้ที่เป็นริ้วรอยยับย่นจากแนวหลุมขุดค้นทาง โบราณคดีและกำแพงโบราณที่โผล่พ้นดินขึ้นมา  ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีชาวอัฟกานิสถานและนานาชาติ พร้อมคนงานมากถึง 650 คน ขุดพบพระพุทธรูปหลายพันองค์  ต้นฉบับลายมือ เหรียญกษาปณ์ และสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ เช่น หมู่อารามและป้อมค่ายที่มีอายุย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่สาม  รอบๆแหล่งขุดค้นมีจุดตรวจการณ์ตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งร้อยจุด และตำรวจราว 1,700 นายคอยลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืน

            การขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณนี้นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถาน แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคุ้มครองนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนกับคนงานท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่ง  ที่ฝังอยู่ใต้ซากปรักเหล่านี้คือขุมทรัพย์สินแร่ทองแดง  ครอบคลุมพื้นที่กว้างสี่กิโลเมตรและทอดยาวราว 1.5 กิโลเมตร   แหล่งแร่ทองแดงนี้ถือเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ยังไม่มีการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประมาณการว่าน่าจะมีแร่ทองแดงอยู่ราว 11.4 ล้านตัน ในสมัยโบราณ ทองแดงสร้างความมั่งคั่งให้วัดวาอารามและหมู่สงฆ์ใน  พุทธศาสนาที่นี่  รัฐบาลอัฟกานิสถานหวังว่าทองแดงจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

            ชื่อเสียงเรียงนามของสถานที่แห่งนี้ฟังดูช่างนอบน้อมถ่อมตน  เพราะเมสไอนัก (Mes Aynak) แปลว่า “บ่อทองแดงน้อยๆ” ย้อนหลังไปเมื่อปี 2007 บริษัทไชน่าเมทัลเลอร์จิคัลกรุ๊ป หรือเอ็มซีซี (China Metallurgical Group Corporation: MCC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่งและเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองแดงที่นี่เป็นเวลา 30 ปี บริษัทประมูลด้วยเงินกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาว่าจะสร้างสาธารณูปโภคให้พื้นที่ห่างไกลและขาดความเจริญแห่งนี้ รวมทั้งถนน ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์ ทางการอัฟกานิสถานคาดว่า เหมืองทองแดงจะอัดฉีดเม็ดเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอันเปราะบางของประเทศที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2002

            เป็นที่ทราบกันมาหลายสิบปีแล้วว่า เมสไอนักน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีอันทรงคุณค่า เมื่อมีการเปิดเผยสัญญาที่ทำกับจีนต่อสาธารณชน ผู้สนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมของอัฟกานิสถานจึงเรียกร้องให้มีการขุดค้นสมบัติโบราณในสถานที่แห่งนี้และขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องก่อนจะสูญหายไปกับการทำเหมืองเปิด ทว่าศิลปวัตถุเหล่านี้เดิมทีก็ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว มิใช่จากการทำลายล้างของกลุ่มตอลิบาน แต่จากพวกลักลอบขุดสมบัติที่แอบมาขุดไปทีละชิ้นสองชิ้น

            อันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การทำเหมืองต้องล่าช้าออกไป กลุ่มอาคารหลังคาสีน้ำเงินที่สร้างขึ้นสำหรับวิศวกรชาวจีนถูกทิ้งร้าง หลังถูกจรวดยิงถล่มเป็นระลอกเมื่อปี 2012 และ 2013 อันตรายอีกอย่างหนึ่งมาจากกับระเบิดที่โซเวียตฝังไว้ในช่วงทศวรรษ 1980 รวมทั้งวัตถุระเบิดที่กลุ่มตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะห์ทิ้งไว้เมื่อไม่นานมานี้ ซ้ำร้าย  เมื่อปี 2014 กลุ่มตอลิบานยังสังหารผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดไปแปดคน

            นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยแล้ว ยังมีเรื่องการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การขาดทางรถไฟที่จะขนส่งทองแดงออกจากภูมิภาค และการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เมื่อปี 2013 บริษัทเอ็มซีซีเริ่มโต้แย้งเงื่อนไขบางประการในสัญญา และทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกันใหม่ การทำเหมืองทองแดงถ้าเกิดขึ้นได้จริงก็คงไม่น่าจะเร็วกว่าปี 2018

            ความล่าช้าของการเปิดเหมืองทองแดงทำให้นักโบราณคดีมีเวลาขุดสำรวจนานกว่าที่คิดไว้มาก แม้แรงงานขุด จะลดจำนวนลงมากก็ตาม อดีตที่พวกเขากำลังเผยให้เห็นนั้นช่างแตกต่างจากความรุนแรงและความไร้ระเบียบในยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ศตวรรษที่สามถึงศตวรรษที่แปด เมสไอนักเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุข ที่นี่มีกลุ่มอารามในพุทธศาสนารวมเจ็ดแห่งซึ่งประกอบด้วยอาคารหลายชั้น วิหาร กุฏิ และ  ห้องอื่นๆ แต่ละแห่งมีหอคอยโบราณและกำแพงสูงเป็นปราการป้องกัน

            เมสไอนักยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแคว้นคันธาระ ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณที่ปัจจุบันคือภูมิภาคแถบตะวันออกของอัฟกานิสถานและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ชุมทางอารยธรรมแห่งนี้เป็นจุดบรรจบของศาสนาใหญ่ๆของโลก ได้แก่ ศาสนาฮินดู พุทธศาสนา และศาสนาโซโรอัสเตอร์ ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมกรีก เปอร์เซีย เอเชียกลาง และอินเดีย


 เรื่องโดย แฮนนาห์ บลอค
ตุลาคม 2558

หน้า: [1] 2 3 ... 51