ผู้เขียน หัวข้อ: ทะเลกลืนกินแผ่นดิน-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 944 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : ทะเลกลืนกินแผ่นดิน
ภาพโดย : จอร์จ สไตน์แมตช์
คำบรรยายภาพ : ตึกระฟ้าหรูหราสร้างใหม่ผุดขึ้นจนแน่นขนัดซันนีไอลส์บีชในรัฐฟลอริดา ตัวเมืองไมแอมีและเขตชานเมืองจะเผชิญความเสี่ยงทางการเงินจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อถึงปี 2050 หนักหนาสาหัสมากกว่าเขตเมืองแห่งใดในโลก

ระดับทะเลที่สูงขึ้นนอกชายฝั่งฟลอริดา คือหนังตัวอย่างของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองชายฝั่งทั่วโลกพึงระวัง

แฟรงก์ เบห์เรนส์ เป็นโฆษกของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สัญชาติดัตช์ที่มองเห็นลู่ทางทำเงิน ไม่ใช่การขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เขาดับเครื่องยนต์เรือสปีดโบ๊ตขนาด 6.5 เมตร และปล่อยให้เรือลอยตามน้ำไปยังกลางมอลเลก  ทะเลสาบส่วนบุคคลในนอร์ทไมแอมีบีช

            ทะเลสาบแห่งนี้เคยเป็นเหมืองหิน ไม่ต่างจากทะเลสาบอื่นๆอีกหลายแห่งในรัฐฟลอริดา และตลอดหลายปีนับจากนั้นก็เป็นทั้งสถานที่จัดการแข่งเรือ ท้องน้ำให้เหล่ามานาทีแหวกว่าย และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองแห่งผุดโครงการถมทะเลสาบบางส่วนเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม เบห์เรนส์กำลังประชาสัมพันธ์หมู่บ้านลอยน้ำบนเกาะเทียมส่วนตัว 29 เกาะ แต่ละเกาะเป็นที่ตั้งของบ้านเดี่ยวหรูหราสี่ห้องนอน หาดทราย สระว่ายน้ำ ต้นปาล์ม และท่าจอดเรือยาวพอให้เรือยอชต์ขนาด 25 เมตรจอดได้สบาย สนนราคาทั้งหมดอยู่ที่ 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            บริษัทดัตช์ด็อกแลนด์สของเบห์เรนส์เลือกพัฒนาทะเลสาบแห่งนี้ และทำแคมเปญการตลาดขายเกาะส่วนตัวเหล่านี้ประหนึ่งเป็นที่หลบภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนมีเงิน ความเสี่ยงต่างๆจากระดับทะเลที่สูงขึ้นน่ะหรือ นั่นแหละคือเสน่ห์ดึงดูดของบ้านลอยน้ำ เกาะต่างๆจะยึดหรือถ่วงไว้กับก้นทะเลสาบด้วยสมอที่ยืดหดได้ตามระดับน้ำในทะเลสาบ

            โครงการของบริษัทดัตช์ด็อกแลนด์สฟังดูเหมือนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพี้ยนๆอีกโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพี้ยนๆในฟลอริดา แต่การออกแบบที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศทำให้โครงการนี้แตกต่างจากตึกระฟ้าส่วนใหญ่ที่อยู่รายรอบซึ่งสร้างขึ้นโดยแทบไม่คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของระดับทะเลที่คาดการณ์ว่าจะทำให้น้ำท่วมเซาท์ฟลอริดาบ่อยครั้งในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า และอาจถึงกับทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำเมื่อสิ้นศตวรรษ

            แนวคิดและวิธีการที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไป  และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต สะท้อนให้เห็นจุดเปลี่ยนในการถกเถียงอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคำเตือนเรื่องภาวะโลกร้อนกลายเป็นเร่งด่วนยิ่งขึ้น และผลกระทบเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจห้างร้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จำนวนมากขึ้นเริ่มนำปัญหานี้มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจต่างๆเกี่ยวกับอนาคต  พวกเขาหันไปสนใจเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศรุนแรงและภาวะน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นแล้วเมื่อระดับทะเลสูงขึ้น

            ฟลอริดาเป็นทำเลเหมาะสำหรับการศึกษาต้นทุนและผลกำไรที่เป็นไปได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  เมืองชายฝั่งอื่นๆมีความเสี่ยง แต่ฟลอริดาถือว่าเปราะบางที่สุดแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้นำรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ในกรุงวอชิงตัน และแม้กระทั่งในศาลาว่าการรัฐฟลอริดาในเมืองแทลลาแฮสซียังลังเลสงสัยในเรื่องนี้  แต่ ณ ที่    แห่งนี้ตรงปลายติ่งด้านใต้สุดของฟลอริดา ผู้นำท้องถิ่นหลายคนเตรียมพร้อมรับมือแล้ว อนาคตของฟลอริดาจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อนตั้งแต่เรื่องเรื่องภาษี การจัดการเขตพื้นที่หรือโซนนิ่ง โครงการก่อสร้างสาธารณะต่างๆ ไปจนถึงสิทธิในทรัพย์สิน ทั้งหมดนี้มีแรงผลักดันมาจากระดับทะเลที่สูงขึ้น

            นอกเหนือจากระดับทะเลที่สูงขึ้น ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าฟลอริดายังต้องเผชิญศึกหนักจากสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ทั้งภัยแล้งในฤดูแล้งและน้ำท่วมในฤดูฝน ตามการทำนายของสำนักประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นซีเอ (National Climate Assessment: NCA) ความร้อนและภัยแล้งส่อแววคุกคามอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่แถบชายฝั่งตะวันออกของประเทศด้วยพืชผลเมืองหนาว และอาจส่งผลต่อพืชหลักสามชนิดของฟลอริดา ได้แก่ มะเขือเทศ อ้อย และพืช สกุลส้ม ขณะที่ฤดูฝนจะเกิดพายุบ่อยขึ้น ทั้งเฮอร์ริเคนที่รุนแรงขึ้นและคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ที่สูงขึ้น

            ความเสียหายหนักหน่วงที่สุดจะเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งความยาว 2,170 กิโลเมตรของรัฐ สามในสี่ของประชากรฟลอริดา 18 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตหรือเคาน์ตีริมชายฝั่งซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึงสี่ในห้าของระบบเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาริมชายฝั่ง รวมถึงอาคาร ถนน และสะพาน มีมูลค่าราวสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากการประเมินเมื่อปี 2010 และเกือบครึ่งหนึ่งของชายหาดความยาว 1,330 กิโลเมตรของรัฐเริ่มเผชิญกับการกัดเซาะแล้ว

            ตามข้อมูลของเอ็นซีเอ ระดับน้ำในมหาสมุทรต่างๆอาจสูงขึ้น 60 เซนติเมตรภายในปี 2060 เนื่องจากน้ำอุ่นขึ้นและขยายตัว รวมไปถึงการละลายของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์และพืดน้ำแข็งขั้วโลก พอถึงปี 2100 ระดับทะเลอาจสูงขึ้นได้ถึงสองเมตรซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของไมแอมี-เดดจมอยู่ใต้น้ำ ระดับทะเลที่สูงขึ้นทุกๆ 30 เซนติเมตรจะทำให้แนวชายทะเลขยับลึกเข้าสู่แผ่นดินระหว่าง 150 ถึง 610 เมตร

            ระดับทะเลที่สูงขึ้น 60 เซนติเมตรเพียงพอที่จะทำให้โรงบำบัดน้ำเสียของไมแอมี-เดดเคาน์ตีบนเกาะเวอร์จิเนียคีย์และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เทอร์คีย์พอยต์ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวบิสเคย์นทั้งคู่ ไม่สามารถเดินเครื่องต่อไปได้

            แนวชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะภูมิประเทศราบต่ำและยาวของฟลอริดาอาจล่อแหลมมากกว่าที่อื่นก็จริง แต่ไม่มีภูมิภาคใดของโลกที่พูดได้ว่าปลอดภัยจากระดับทะเลที่สูงขึ้น เมื่อปี 2012 น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง และพายุ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ ก่อความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และท่ามกลางการพยากรณ์ที่เลวร้ายลงว่า สภาพอากาศรุนแรงจะเกิดขึ้นทั่วโลก พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดกระหน่ำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เมื่อปี 2013 คร่าชีวิตผู้คน 6,200 คนในฟิลิปปินส์ ในปีเดียวกันนั้น ภัยแล้งยังทำลายพืชผลในเกือบทุกทวีปทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกาและเอเชียใต้  เขตไฮแลนด์สหรือที่ราบสูงของบราซิลซึ่งตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคมรสุมของอเมริกาใต้ เผชิญภัยแล้งหนักหนาสาหัสที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979 จนต้องมีการปันส่วนน้ำ   การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีสและหิมาลัยจะส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำในเปรู อินเดีย และเนปาล รุนแรงขึ้น

            ธนาคารโลกออกมาทำนายว่า ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การขาดแคลนอาหาร และภาวะทุพภิกขภัย จะทำให้คนหลายล้านต้องอพยพย้ายถิ่น ชายฝั่งทะเลที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจมน้ำ ที่เลวร้ายกว่านั้น ระดับทะเลที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสายหลักๆ เนื่องจากน้ำเค็มรุกคืบแทรกซึมเข้าทำลายพื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลกบางแห่ง ทุกวันนี้ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวครึ่งหนึ่งของประเทศและมีผู้คน 17 ล้านคนอาศัยอยู่เผชิญปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแล้ว

เรื่องโดย ลอรา ปาร์กเกอร์
กุมภาพันธ์