แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - patchanok3166

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19
151
ร.ต.อ.ควบกระบะเสียหลักข้ามเลน พุ่งชนรถรีเฟอร์ รพ.ประโคนชัย พลิกคว่ำตกข้างทาง พยาบาลสาวดับ 1 ราย สาวท้องแก่ พร้อมญาติ และคนขับบาดเจ็บรวม 5 ราย


วันนี้ (16 ต.ค. 61) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนด์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งทราบว่ามีนายตำรวจยศ ร.ต.อ.สถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ เป็นคนขับ ได้เสียหลักข้ามเลนพุ่งชนประสานงากับรถพยาบาลของ โรงพยาบาลประโคนชัย บนถนนสายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ช่วงระหว่างบ้านไทร-ไพบูลย์ ต.บ้านไทร อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ จนรถพยาบาลคันดังกล่าวพลิกคว่ำตกลงไปข้างทางในสภาพพังเสียหายยับเยินเกือบทั้งคัน  อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กระจายเกลื่อน  เป็นเหตุให้ทั้งพยาบาลที่นั่งมาในรถรีเฟอร์คันดังกล่าว รวมถึงสาวท้องแก่  ญาติ และคนขับรถ ได้รับบาดเจ็บ รวมจำนวน 6 คน


โดยมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร และกู้ชีพ อบต.บ้านไทร ได้ลำเลียงส่งโรงพยาบาลประโคนชัย เพื่อให้แพทย์ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้ผู้บาดเจ็บมีพยาบาลสาว ทราบชื่อนางสาวสุดารัตน์ เชื่อมาก อายุ25ปี พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เขาคอก สสอ.ประโคนชัย อาการสาหัสไม่ได้สติ เจ้าหน้าที่จึงทำการปั้มหัวใจเพื่อช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ สุดท้ายพยาบาลสาวคนดังกล่าวเสียชีวิตในที่สุด ถือเป็นการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่


ส่วนสาวท้องแก่ถูกส่งไปรักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4 คน ยังรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลประโคนชัย ส่วนรถกระบะที่มี ร.ต.อ.เป็นคนขับ ด้านหน้าก็มีสภาพพังเสียหายยุบเข้าไปถึงเกือบถึงคอนโซนหน้ารถ แต่คนขับได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย


>> ยืนยันทำคดีตรงไปตรงมา หลังพยาบาลสาวถูกกระบะตำรวจพุ่งชนดับ


เบื้องต้นจากการสอบถามทราบว่า รถรีเฟอร์หรือรถพยาบาลคันดังกล่าวได้ลำเลียงสาวท้องแก่ใกล้คลอดมาจาก โรงพยาบาลประโคนชัย เพื่อจะส่งไปทำคลอดที่ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โดยมีญาติ และเจ้าหน้าที่พยาบาลนั่งในรถคันดังกล่าวด้วยรวม 6 คน แต่ระหว่างทางได้มีรถกระบะวิ่งสวนทาง และข้ามเลนพุ่งเข้ามาชนจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันพังยับเยิน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายรายดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนก็จะได้ทำการสอบปากคำคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และสอบปากคำพยานแวดล้อมที่เห็นเหตุการณ์  รวมถึงตรวจสอบกล้องหน้ารถเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง

เผยแพร่ 16 ต.ค 61 โดย sanook.com

152
พญ.ชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี


ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง

การศึกษาทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด Framingham Heart Study พบอุบัติการณ์ของภาวะนี้ในคนทั่วไป 3% และในผู้สูงอายุพบมากถึง 23% สำหรับผู้ที่เคยมีอาการวูบหมดสติมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกถึง 1 ใน 3 เท่า


สาเหตุของภาวะวูบหมดสติ

โดยส่วนใหญ่เกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Vasovagal Syncope) นอกจากนั้นอาจเกิดจากภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือเสียน้ำมาก และจากยาบางชนิด

ทั้งนี้ อาการวูบหมดสติ ที่เกิดจากการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติชั่วคราว อาจถูกกระตุ้นในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การขับปัสสาวะ การขับถ่ายอุจจาระ การกลืนอาหาร การไอ จาม ภาวะกลัวสถานการณ์ต่างๆ เช่น การถูกเจาะเลือด และการฉีดยา เป็นต้น



อันตรายจากภาวะวูบหมดสติ

ผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติ มีโอกาสเกิดอันตรายจากการหมดสติแล้วล้มลง โดยเฉพาะบางอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถ นักบิน นักประดาน้ำ คนงานก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำเติมจากการเป็นลมได้



รับมือกับภาวะวูบหมดสติ

เมื่อพบผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้รีบช่วยเหลือด้วยการพานั่ง หรือนอนราบ ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และรีบขอความช่วยเหลือเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลต่อไป เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และการรักษาให้ตรงกับสาเหตุที่ก่อโรค โดยแพทย์จะตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น ตรวจพิเศษทางระบบหัวใจหลอดเลือด และตรวจพิเศษทางระบบประสาทอัตโนมัติ


ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ แข็งแรง โดยรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน ถือเป็นแนวทางพื้นฐานสำคัญ ที่ช่วยป้องกันภาวะวูบหมดสติได้เป็นอย่างดี



เผยแพร่:15 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

153
อย.ชี้ บริจาคนมแม่ ควรทำผ่านธนาคารนมแม่ มีอยู่ 2 แห่งในไทย คือ ศิริราช และ รามาธิบดี ผ่านระบบฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของลูก ย้ำ เด็กได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาค ถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมาย เตือนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนม


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การบริจาคนมแม่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดื่มนมแม่ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวน้อย และทารกที่มีปัญหาการเจ็บป่วย ซึ่งแม่มีปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะของธนาคารนมแม่ ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารนมแม่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารนมแม่ศิริราช และธนาคารนมแม่รามาธิบดี ดำเนินการภายใต้ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งได้นำมาตรฐานของคลินิกนมแม่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาจัดทำหลักเกณฑ์และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย สำหรับคุณแม่ที่จะบริจาคน้ำนมจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ว่า ไม่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค เมื่อพบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะจ่ายให้เด็กทารก ในโรงพยาบาลต่อไป


ทั้งนี้ การบริจาคน้ำนมแม่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายจึงไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่อย่างไรก็ตาม อย. มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย หากพบมีเด็กได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาคจะถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมายกรณีผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


“การส่งเสริมการดื่มนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากนมแม่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูง สำหรับเด็กปกติสนับสนุนให้เด็กกินนมแม่ตนเอง หากจำเป็นต้องได้รับการบริจาคนมแม่จะต้องได้รับผ่านธนาคารนมแม่ที่มีกระบวนการคัดกรองโรคและฆ่าเชื้อนมที่มีมาตรฐาน เนื่องจากเด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ ส่วนคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมน้อย หรือมีปัญหาเรื่องการให้นมแม่ สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกนมแม่ ที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนมมารับประทานเอง เนื่องจากสตรีมีครรภ์และแม่ที่อยู่ในช่วงการให้นมลูกถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องมีความตระหนักและระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหาร เนื่องจากอาหารทุกชนิดที่แม่รับประทานจะมีผลโดยตรงต่อทารกด้วย หากมีความประสงค์จะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการบริโภค และขอย้ำว่า อย. ไม่เคยอนุญาตการกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวว่า สามารถช่วยเพิ่มน้ำนมได้” เลขาธิการ อย. กล่าว


เผยแพร่:  16 ต.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

154
รพ.จุฬาฯ เปิดตัวคู่มือ “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คู่มือการดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ให้ความรู้ 4 ด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสรีระ ปัญหาของผู้สูงวัยและการดูแล โรคเฉพาะของคนแก่ และการดูแลจิตวิญญาณมีส่วนร่วมกับชุมชน


วันนี้ (12 ต.ค.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานเสวนาเปิด “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คัมภีร์การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแบบครบวงจร และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงวัย รวมถึงกิจกรรมการแสดงของกลุ่มผู้สูงวัยภายในงาน ณ อาคาร ส.ธ.


ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้การบริการทางการแพทย์ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุต้องการบริการและการดูแลมากขึ้น ขณะที่ต้องเตรียมผู้สูงอายุให้มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษามากขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและประเมินด้านสุขภาวะของผู้สูงวัยที่ต้องมุ่งเน้นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมผู้สูงวัยทุกด้าน เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกคนได้ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีคุณภาพ


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้ มีการจัดตั้ง “กองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย” และจัดสร้าง “อาคาร ส.ธ.” เพื่อเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านผู้สูงวัยแบบบูรณาการครบวงจร และเป็นต้นแบบของสังคมไทยในการดูแลผู้สูงวัย จนนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมศักดิ์ศรี เพื่อลดการพึ่งพิงผู้อื่น


กิจกรรมโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เน้นการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงวัยในทุกๆ ด้าน และการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากร ในการนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยจัดทำเป็น “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คู่มือการดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถนำมาใช้อ้างอิงในการดูแลผู้ป่วยตลอดจนการทำวิจัยด้านผู้สูงวัย นอกจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวผู้สูงวัยในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมถึงผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย นับว่าเป็นคู่มือในการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การดูแลรักษา และฟื้นฟูภาวะต่างๆ ของผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยจะมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประเด็นคำถามในเกือบทุกวงการในประเทศไทย สังคมไทยในอนาคตควรจะมีแนวทาง มาตรการหรือนโยบายอย่างไรในการปรับเปลี่ยนรองรับจำนวนผู้สูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงวัยในประเทศไทย นอกจากไม่เป็นภาระต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าในประเทศไทย


ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งเป็นรากฐานสำหรับสังคมผ้สูงวัยในอนาคตของประเทศไทยคือ ประเด็นด้านสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขควรร่วมกันสร้างแนวทางการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย และร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยไทย แนวความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจัดทำ ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โดยคาดว่า ตำราเวชศาสตร์สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะช่วยสนับสนุนและเป็นเครื่องมือให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง เรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยไทย และสามารถต่อยอดความรู้โดยการสร้างงานวิจัยด้านผู้สูงวัยต่อไป


ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย ประกอบด้วยองค์ความรู้ผู้สูงวัย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นองค์ความรู้ความเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของผู้สูงวัย ส่วนที่ 2 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาผู้สูงวัย และแนวทางการดูแลแก้ไข ส่วนที่ 3 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหรือภาวะเฉพาะของระบบต่างๆ ที่เป็นปัญหาของผู้สูงวัย และส่วนที่ 4 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยด้านจิตวิญญาณและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เป็นต้น


นอกจากการจัดทำตาราเวชศาสตร์เพื่อผู้สูงวัยแล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุยังคงมุ่งเน้นตามพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงวัยสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อผู้อื่น มีการจัดตั้ง คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี เพื่อสร้างเสริมการดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงวัยตั้งแต่เริ่มต้น ให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


นพ.ไอศวรรย์ เพชรล่อเหลียน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึงอายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะโรคกลุ่ม NCD เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ซี่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะสมองเสื่อม กุญแจสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคกลุ่มนี้ คือ การปรับวิถีชีวิตให้มีความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ด้วยการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร การดูแลอารมณ์ การพักผ่อน และการพบปะสังสรรค์เข้าสังคม ความท้าทายคือทำอย่างไร จึงจะผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ เข้ากับศิลปะในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบุคคลได้


นพ.ภรเอก มนัสวานิช อาจารย์ประจำฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับวัยสูงอายุ ควรเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย ควบคุมโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรค การฝึกสมอง และการเข้าสังคม


เผยแพร่: 12 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

155
ศิริราช ขอรับบริจาคเลือดกรุ๊ปเอ เผย ขาดแคลนระดับวิกฤต


เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.วิโรจน์ จงกลวัฒนา หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ต้องใช้เลือดในการรักษา ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนเลือดสำรองหมู่ เอ ในระดับวิกฤต


ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคเลือดเพื่อให้มีเลือดเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย โดยที่ไม่ต้องขอรับจากสภากาชาดไทยที่ต้องกระจายเลือด ให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคเลือดได้ที่ ตึก 72 ปี วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ การธนาคารเลือด 0 2419 7492, 0 2419 8081 ต่อ 123, 128


สำหรับผู้ที่ต้องการมาบริจาคเลือดขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยพักผ่อนให้เพียงพออย่าง น้อย 6 ชั่วโมง น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป เพื่อที่จะนำเลือดมาปั่นแยกเอาผลิตภัณฑ์ไปใช้อย่างอื่นร่วมด้วย และต้องไม่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์




 6 ต.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

156
สสส.- เครือข่ายลดเค็ม เผยผลสำรวจเมนูเจยอดฮิต “พะโล้- จับฉ่าย-ขนมจีนน้ำยากะทิ” พบโซเดียมสูงสุด คนไทยกินเค็มเกินค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า ผู้ป่วย 2 ล้านคน/ปี แนะ 3 กินเจแบบได้บุญ ได้สุขภาพ “เลือกกินผักสด-ลดเค็มเลี่ยงอาหารแปรรูป-ลดมัน ลดแป้ง”


วันนี้ (10 ต.ค.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “เจนี้ ลดเค็ม ได้บุญ ได้สุขภาพ” โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะกินเจ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจมาจากการซื้อจากร้านอาหารเพื่อความสะดวก โดยการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเจจะพิจารณาจากรสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารเป็นอันดับแรก


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มจึงทำการสุ่มตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยม บนถนนสายเศรษฐกิจ 3 แหล่งใน กทม. ได้แก่ เยาวราช อ.ต.ก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผัดกะเพรา แกงส้ม ผัดผัก ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และ ผัดขิง พบว่า ทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ โดยในแต่ละมื้อไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม ซึ่งเมนูที่มีโซเดียมสูงสุด คือ พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,092.44 มิลลิกรัม/200 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อเกือบ 2 เท่า ตามด้วยอันดับ 2 ต้มจับฉ่าย (1,055.11 มิลลิกรัม/200 กรัม) และอันดับ 3 ขนมจีนน้ำยากะทิ (1,037.33 มิลลิกรัม/200 กรัม) นอกจากนี้ ยังพบอาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี้ยวหรือดองเป็นเวลานาน จะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็ม เพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด


“ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยพบว่าปริมาณโซเดียมที่คนไทยกินเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน ที่เกิดจากพฤติกรรมกินเค็ม เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ สสส.จึงอยากชวนคนไทยในช่วงเทศกาลกินเจนอกจากถือศีลละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อยากชวนให้ร่างกายได้พักไตด้วยการลดเค็มในเมนูเจ ซึ่งมี 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดี คือ 1. เลือกทานผักสด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโดยต้องล้างผักให้สะอาด 2. ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูปหรือการทานน้ำซุป เพราะมีเกลือสูง 3. หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง หลายคนกินเจแล้วน้ำหนักเพิ่ม เพราะในเมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืชซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว


นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ประธานสถานศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ได้สาธิตการทำอาหารเจ อร่อยได้ ไม่ต้องเค็ม ในเมนู “หูฉลามเจ” พร้อมกับข้อแนะนำการปรุงอาหารเจให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ



 10 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

157
ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ สปสช.หนุนงบตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องดี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและอัตราเสียชีวิต ชวนคนอายุ 50-70 ปี ตรวจคัดกรองได้ที่ รพ.สต.- รพ.ใกล้บ้าน ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย


นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่” ตอนหนึ่งว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 3 ประเภทมะเร็งที่ผลการศึกษา ระบุว่า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากทำการคัดกรองในระดับประชากร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้งบสนับสนุนการคัดกรองดังกล่าวในประชากรอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีความหลากหลายในเรื่องระบบบริการ แต่โดยภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยการคัดกรองดังกล่าวทำโดยวิธีการตรวจอุจจาระ หากพบเซลล์เม็ดเลือดแดงแพทย์ก็จะส่องกล้องตรวจให้ฟรี ซึ่งการคัดกรองจะช่วยให้พบผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มและสามารถรักษาให้หายขาดได้


นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย โดยมักพบโรคในผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50-70 ปี แต่ครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งดังกล่าว ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงส่วนหนึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารฟาสต์ฟูด ที่สำคัญคือ การตรวจคัดกรองตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งทุกวันนี้ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนอายุ 50-70 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการตรวจเลือดที่แฝงอยู่ในอุจจาระได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ


นพ.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า การตรวจคัดกรองมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากมะเร็งปากมดลูกที่เคยมีสถิติผู้ป่วยสูงที่สุด เมื่อมีการให้สิทธิประโยชน์คัดกรอง ก็ทำให้ตัวเลขลดลงมาอยู่ในลำดับที่สอง ซึ่งการรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งทำให้ประชาชนให้ความสำคัญและเข้ามาตรวจเพิ่มมากขึ้น ส่วนมะเร็งบางประเภท อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งปอด แม้ว่าจะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรอง แต่จากผลการศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากทุกวันนี้ไม่มีนโยบายคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ อย่างจริงจัง จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ราวๆ 2 หมื่นราย ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นด้วยเช่นกัน


 8 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

158
อินทผลัม (หรือที่มักชอบเขียนกันผิดเป็น อินทผาลัม) ถึงแม้จะมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่ในปริมาณสูง แต่ผลไม้รสหวานอร่อยชนิดนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ลองอ่านรายละเอียดพวกนี้ดูนะ แล้วคุณจะรู้ว่าอินทผลัมเป็นผลไม้ที่ชวนกินจริงๆ
ข้อมูลทางโภชนาการ



อินทผลัมหนึ่งลูกจะมีสารอาหารดังต่อไปนี้

     แคลอรี่: 20

    ไขมันรวม: 0.03 กรัม

    คาร์โบไฮเดรทรวม: 5.33 กรัม

    ใยอาหาร: 0.6 กรัม

    น้ำตาล: 4.5 กรัม

    โปรตีน: 0.17 กรัม

    วิตามินบี 6: 0.012 มิลลิกรัม

    ธาตุเหล็ก: 0.07 มิลลิกรัม

    แมกเนเซี่ยม: 3 มิลลิกรัม

    โปตัสเซี่ยม: 47 มิลลิกรัม


 
ประโยชน์ของอินทผลัม


นอกเหนือจากรสชาติอร่อยแล้ว อินทผลัมยังอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ มากมาย แถมยังมีประโยชน์อีกมากมาย

 
มีกากใยสูง

อินทผลัมจะช่วยเพิ่มปริมาณกากใยในอาหารได้มากขึ้น เนื่องจากอินทผาลัม 3.5 ออนซ์ มีปริมาณกากใยอยู่เกือบ 7 กรัม ซึ่งกากใยอาหารนั้นใครๆ ก็รู้กันดีว่ามีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ โดยผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้คนจำนวน 21 คน กินอินทผลัมวันละ 7 ลูก เป็นเวลา 21 วัน จะช่วยให้ถ่ายอุจจาระถี่ขึ้น และช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ไม่ได้กินอินทผาลัม นอกจากนี้กากใยในอินทผลัมจะทำให้การย่อยอาหารทำงานช้าลง และช่วยป้องกันน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้

 
อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ


อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ด้วย สารต่อต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนั้นเป็นโมเลกุลที่ไม่มีความคงที่ ที่อาจก่อให้เกิดปฎิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และก่อให้เกิดโรคได้


อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังอยู่สามชนิด ซึ่งก็ได้แก่


    ฟลาโวนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้จะช่วยลดอาการอักเสบ และมีการทำศึกษาวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรงเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็งบางชนิด


    แคโรทีนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรง และอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา อย่างเช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม


    กรดฟีโนลิค สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้มีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจด้วย

 
ช่วยทำให้สมองแข็งแรง


การศึกษาวิจัยในห้องทดลองพบว่าอินทผลัมช่วยลดสารอินเตอร์ลิวคิน 6 (Interleukin 6 หรือIL-6) ในสมอง ซึ่งถ้าเรามีสารชนิดนี้มากเกินไป ก็จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การทดลองในสัตว์ยังพบว่า อินทผลัมช่วยลดการก่อตัวของโปรตีนบีตา-แอมีลอยด์ (Beta-amyloid) ที่จะทำให้เกิดเป็นคราบสะสมขึ้นในสมอง ซึ่งจะเป็นการรบกวนการสื่อสารระหว่างสมองกับเซลล์ต่างๆ นำไปสู่การตายของเซลล์สมอง และทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาได้

 
ช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น


การกินผลไม้ในช่วงสองสามสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะช่วยขยายปากมดลูก ซึ่งจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยลดเวลาในการเบ่งคลอดลงด้วย โดยการศึกษาวิจัยที่ทำกับผู้หญิงจำนวน 69 คน ที่กินอินทผลัมวันละ 6 ลูก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด จะช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาในการคลอดน้อยกว่าด้วย ซึ่งเป็นเพราะอินทผลัมมีสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนออกซิโทซินในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้มดลูกเกิดอาการบีบรัดตัวได้ง่ายขึ้น


ประโยชน์ทางด้านสุขภาพอื่นๆ



ว่ากันว่าอินทผลัมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างอื่นด้วย ถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตาม ซึ่งประโยชน์พวกนั้นก็ได้แก่…


    ช่วยให้กระดูกแข็งแรง อินทผลัมมีแร่ธาตุหลายชนิด ร่วมทั้งฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม และแมกเนเซียม ซึ่งแร่ธาตุพวกนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

    ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินทผลัมมีดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

 
ข้อควรระวังของอินทผลัม


เนื่องจากอินทผลัมมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณสูง ฉะนั้น คนที่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน ควรจะต้องระวังการกินอินทผลัมเอาไว้หน่อย แต่ถ้าเรากินอันทผลัมในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องโรคเบาหวานอยู่ก็ตาม


29 ส.ค 61       ขอขอบคุณ ข้อมูล :ออมสิน แสนล้อม

159
เนื่องด้วยฤดูกาลที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่ายๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV เชื้อนี้มองเผินๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้


 
ไวรัส RSV คืออะไร?

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว


 
ไวรัส RSV ติดต่อกันอย่างไร?

การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน


 
อาการเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV

โดยในช่วง 2-4 วันแรก มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้น ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง


 ทั้งนี้จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว


 
การรักษาจากการติดเชื้อไวรัส RSV

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้


 
การป้องกันจากเชื้อไวรัส RSV

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ สิ่งสำคัญคือการป้องกันการติดเชื้อ RSV ซึ่งทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อยๆ เพราะการล้างมือ สามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70


ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง


ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนอร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง



01 ก.ย.61  ขอขอบคุณ  ข้อมูล :นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

160
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า การทานไข่ 1 ฟองทุกวัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอันตรายอย่างหลอดเลือดหัวใจมากถึง 18% และยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองของโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ทานไข่อีกด้วย


งานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลจากคนทั่วไปอายุ 30-79 ปีจำนวน 400,000 คนจากที่ต่างๆ กันถึง 10 ที่ในประเทศจีน นักวิจัยให้อาสาสมัครทานไข่วันละฟอง และเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับคนที่ไมได้ทานไข่วันละฟองยาวนานถึง 9 ปี พบว่าคนที่ทานไข่วันละฟองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจแข็ง หัวใจวาย และโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดและหัวอื่นๆ น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ทานไข่วันละฟอง


หากใครที่มีความกังวลถึงเรื่องของคอเลสเตอรอลในไข่แดง สามารถลดการทานไข่แดงให้น้อยลงได้ แต่ยังสามารถทานได้บ้างบางส่วน (ไม่จำเป็นต้องงด 100%) และสามารถเลือกวิธีปรุงไข่ให้ดีสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น โดยเลือกทานไข่ต้ม ไข่ตุ๋น (ปรุงน้อยๆ) ไข่ดาวน้ำ หรือไข่คน (ใส่น้ำมันหรือเนยน้อยๆ) แทนการทานไข่เจียวไข่ดาวตามปกติได้


02 ก.ย. 61  ขอขอบคุณ     ข้อมูล :Harvard Health Publishing

161
วิจารณ์หนัก กรมแพทย์แผนไทย MOU ร่วมการยาสูบแห่งประเทศไทย ทำสารสกัดนิโคตินรูปแบบแผ่นแปะบุหรี่ นักกฎหมาย มธ.เผยยกเลิกทำ MOU แล้วเหตุขัดกฎหมายระหว่างประเทศด้านยาสูบ


นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำ MOU ร่วมกับ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และองค์กรธุรกิจ โดยการทำ MOU ครั้งนี้ ยสท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 หรือชื่อเดิมที่รู้จักกันคือโรงงานยาสูบ ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำบันทึกความร่วมมือดังกล่าวด้วยกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ เพื่อจัดทำสารสกัดนิโคตินในรูปแผ่นแปะอดบุหรี่ โดยระบุบทบาทหน้าที่ของ ยสท.ไว้ว่า ส่งเสริมการปลูกยาสูบและพัฒนาสายพันธุ์ที่มีปริมาณสารสำคัญสูง แล้วนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากสารสกัดนิโคตินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ รวมทั้งศึกษาวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตยาสูบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป


นายไพศาล กล่าวว่า การที่หน่วยงานสาธารณสุข ที่มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อสุขภาวะของประชาชน ได้มีความร่วมมือกับ ยสท.ที่เป็นอุตสาหกรรมยาสูบ ทำให้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนกระทั่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ยกเลิกการทำ MOU กับ ยสท. เนื่องจากการดำเนินของกรมแพทย์แผนไทยฯ ในเรื่องนี้ ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านควบคุมยาสูบคือ กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) โดยในมาตรา 5.3 ได้ระบุชัดเจนว่า หน่วยงานของรัฐพึงยกเลิกความตกลงที่ทำกับอุตสาหกรรมยาสูบหรือบริษัทบุหรี่ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข มีความร่วมมือกับ ยสท.แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศในอนาคต เพราะเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาใบยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบ


“ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว กรมควบคุมโรคควรเร่งรัดผลักดันให้มีการเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจำกัดการติดต่อหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับอุตสาหกรรมยาสูบต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพ และทีมนักวิชาการ เคยช่วยยกร่างระเบียบนี้เสนอต่อผู้บริหารกรมควบคุมโรคมาหลายปีแล้ว” นายไพศาล กล่าว




เผยแพร่: 4 ก.ย. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

162
กก.สปสช.ชี้ แนวคิดให้ผู้ป่วยบัตรทองร่วมจ่าย 10-20% ประหยัดเงินแค่หลักพันล้าน แต่ส่งผลผู้มีรายได้น้อยมารับบริการน้อยลง ย้ำถ้าเก็บจริงต้องเก็บเหมือนกันทุกกองทุน และต้องหาวิธีแก้ไขผลกระทบด้วย


จากกรณีข่าวกระทรวงการคลังมีแนวคิดลดสิทธิบัตรทอง โดยให้ประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือมีฐานะดี จ่ายเงินเองด้วย เช่น จ่าย 10% บัตรทองจ่าย 90% เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาภาระเงินงบประมาณ โดยคงสิทธิเดิมให้คนจนผู้มีรายได้น้อย


วันนี้ (4 ก.ย.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ไม่ใช่แค่สิทธิของประชาชนอย่างเดียว แต่พิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า การลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพ 100 บาท จะได้ผลตอบแทน 20 บาท เพราะมีผลในเชิงเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ โลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งธนาคารโลกประเมินแล้วพบว่า ไทยลงทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนที่ได้ประโยชน์ คือ คนที่มีรายได้ระดับล่างสุด 20% มีอำนาจซื้อมากขึ้นทุกปี เพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้สำหรับสุขภาพ สามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันฯ อำนาจการซื้อของคนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ลดลงเรื่อยๆ


นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อมองเป็นการลงทุน คำถามคือ ประชาชนควรร่วมลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการร่วมลงทุนหรือร่วมจ่ายมี 2 ประเภทคือ จ่ายก่อนป่วย และจ่ายหลังป่วย โดยจ่ายก่อนป่วยคือ เบี้ยประกัน ซึ่งมีเพียงประกันสังคมเท่านั้นที่มีเบี้ยประกัน บัตรทองและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ไม่มี ถ้าจะมีเบี้ยประกันกับบัตรทอง ก็ควรมีเบี้ยประกันสำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย มิเช่นนั้นจะไม่เป็นธรรม และต้องจ่ายอย่างเป็นธรรม ใครรายได้มากก็จ่ายมาก ใครรายได้น้อยก็จ่ายน้อย ส่วนการจ่ายหลังป่วย มี 3 แบบ 1. Co-payment หรือค่าเหยียบแผ่นดิน เข้าไปใช้บริการก็ต้องจ่ายทันที ซึ่งมีเฉพาะบัตรทอง


2.Deductible หรือจ่ายขั้นต่ำก่อนประกันจ่าย เช่น ค่ารักษา 1,000 บาท ถ้ารักษาไม่เกิน 1,000 ก็จ่ายเต็มตามจำนวนเงินจ่ายจริง แต่ถ้าค่ารักษา 1,500 บาท ก็จ่ายที่เพดาน 1,000 บาท อีก 500 ประกันจ่าย เป็นต้น ขณะนี้ยังกองทุนสุขภาพในเมืองไทยยังไม่มีการจ่ายแบบนี้ และ 3. Co-insurance หรือร่วมประกัน ซึ่งเป็นข่าวในขณะนี้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล 100 บาท ประกันจ่าย 90 บาท ผู้ป่วยจ่าย 10 บาท ระบบนี้ดีน้อยที่สุด การวิจัยทั่วโลกรวมทั้งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยอาจารย์ อุดมศักดิ์ โง้วศิริ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่า การร่วมจ่ายแบบนี้ทำให้คนใช้บริการน้อยลง โดยที่คนจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่สำคัญคือการไปรับบริการที่น้อยลง เกิดทั้งกับบริการที่จำเป็นและไม่จำเป็น หรือพูดง่ายๆว่ายอมป่วยอยู่บ้านแม้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้บริการ


“เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวที่มีแถลงการณ์หรือยืนยันอย่างเป็นทางการจากกรมบัญชีกลาง เราก็ว่ากันไปตามข่าวและข้อมูลเชิงวิชาการ สมมติถ้าจะทำกับบัตรทอง ปัจจุบันรัฐใช้งบประมาณปีละ 180,000 ล้านบาทกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าจะให้ร่วมจ่าย 10% อย่างมากสุดก็ได้ 18,000 ล้านบาท แต่เมื่อไม่เก็บจากคนจนซึ่งขั้นทะเบียนไว้ประมาณ 10 ล้านคนจากจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 45 ล้านคน ก็หักออกไปอีก 25-30% เงิน 18,000 ล้านบาท ก็เหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท และยังมีอีกส่วนที่มีสิทธิแต่ไม่ใช้สิทธิ เช่น ไปใช้บริการหน่วยบริการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วควักเงินจ่ายเอง เมื่อหักลบออกไปอีก รวมๆแล้วก็จะประหยัดงบประมาณได้ไม่มาก ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท” นพ.สุวิทย์ กล่าว


นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การประหยัดงบประมาณไปได้หลักพันล้านแต่มีผลกระทบทำให้คนระดับล่างเช่น คนที่ไม่มีบัตรคนจน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ไปใช้บริการทั้งๆที่มีความจำเป็น แบบนี้จะเหมาะสมหรือไม่ และจะมีการแก้ไขผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ ถ้าจะเก็บ 10% จากบัตรทอง ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะเก็บ 10% เหมือนกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นหลักการง่ายๆ คือถ้าจะเก็บก็ต้องเก็บให้ทั่วถึง ทำให้เหมือนกันทั้ง 3 กองทุนและหาทางปกป้องคนยากคนจนให้ได้ ถ้าทำได้ มันก็น่าจะรับการยอมรับ และถ้าจะทำจริงๆ กรมบัญชีกลางควรจะเก็บจากสวัสดิการข้าราชการก่อน เพราะเป็นสิทธิที่กรมบัญชีกลางบริหาร ส่วนประกันสังคมต้องให้กระทรวงแรงงานพิจารณา ขณะที่บัตรทองก็เป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณา แต่ละระบบมีคนรับผิดชอบอยู่



เผยแพร่: 4 ก.ย. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

163
สธ.-กลุ่มเภสัชกร ถกเคร่งร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ได้ข้อเสนอแบ่งยา 3 กลุ่ม ยึดมาตรา 13 พ.ร.บ.ฉบับเก่า ให้ 3 วิชาชีพจ่ายยาได้ตามเดิม เตรียมเสนอ รมว.สธ. 5 ก.ย.นี้


ความคืบหน้ากรณีการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... จน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายรัฐมนตรี ต้องสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมหาข้อสรุป ขณะที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบให้ ปลัด สธ.เชิญกลุ่มเภสัชกรมาหารือข้อยุติในวันที่ 4 ก.ย. 2561


วันนี้ (4 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... โดยมีผู้บริหาร สธ. และ อย. เช่น นพ.สุขม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. เป็นต้น รวมถึงตัวแทนเภสัชกรกลุ่มต่างๆ เช่น ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ตัวแทนคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ม.ขอนแก่น กลุ่มเขียวมะกอก กลุ่มรวมใจ และกลุ่มเภสัชกรเพื่อปวงประชา เป็นต้น เข้าร่วม


นพ.เจษฎา กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือยังมีไม่กี่ประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน คือ การแบ่งประเภทกลุ่มยา ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สบายใจมากที่สุด โดยมีการเสนอให้เหลือเพียง 3 กลุ่มตามหลักสากล ส่วนบางประเด็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ก็ให้กลับไปใช้มาตราเดิมของ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 คือ มาตรา 22(5) เรื่องการจ่ายยาของวิชาชีพอื่นๆ ก็ให้กลับไปใช้มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 แทน ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


นพ.สุรโชค กล่าวว่า กลุ่มเภสัชกรเสนอให้แบ่งยาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ยาควบคุมพิเศษ 2.ยาอันตราย และ 3.ยาสามัญประจำบ้าน แต่จะมีร้านขายยากลุ่มที่เรียกว่า ขย.2 ซึ่งเป็นร้านบรรจุเสร็จ ตรงนี้ต้องไปเขียนเพิ่มเติมให้ชัดว่า เป็นยาประเภทใด และไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่ต้องไปเขียนเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ จะมีการนำข้อหารือทั้งหมดเสนอ รมว.สาธารณสุข ในการประชุมผู้บริหาร สธ. วันที่ 5 ก.ย. 2561 เพื่อเสนอประกบกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องถอนออกมา เพียงแค่ปรับแก้บางมาตราเท่านั้น นอกจากนี้ จะต้องมีการเชิญวิชาชีพอื่นๆ มาหารือด้วย


ภก.จิระ กล่าวว่า สำหรับเรื่องกลุ่มยาที่เราค้าน เพราะร่าง พ.ร.บ. ยา แบ่งยาเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งมีการระบุถึงยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นยากลุ่มไหน เป็นยากลุ่ม ขย. 2 ที่เป็นยาบรรจุเสร็จเดิมหรือไม่ ซึ่งจะต้องเขียนให้ชัดว่าคืออะไร จำเป็นต้องมีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถือว่าพอใจระดับหนึ่งกับผลการหารือ เพราะสุดท้ายก็กลับไปสู่จุดเดิมๆ ที่เป็นอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายใหม่ ควรได้เห็นอะไรใหม่ๆ ระบบยาประเทศไทยทัดเทียมสากล แต่สุดท้ายแล้วก็ทำเพื่อให้ได้เท่าเดิม แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เลย เพราะประเด็นที่เห็นตรงกันก้ใช้ไป แต่ข้อขัดแย้งที่ยุติไม่ได้ก็เอา พ.ร.บ.เดิมมาแปะแทน อย่างเรื่องวิชาชีพที่จ่ายยา ก็ใช้ มาตรา 13 พ.ร.บ. ฉบับปี 2510 มาใช้แทน คือ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ จ่ายยาได้ตามรูปแบบเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงาน ในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลของชมรมเภสัชชนบท ได้จัดทำ 10 ข้อที่ อย.ไม่ได้บอกประชาชน เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยา ประกอบด้วย 1.(ร่าง) พ.ร.บ.ยาที่ผ่านมา อย.(แค่)ฟังความคิดเห็น แต่ไม่เอาข้อเสนอมาปรับปรุง เพิ่มเติม 2. การผลิตยา ใครก็ทำได้ ทำที่ไหนก็ได้ ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยยาที่ไร้มาตรฐาน 3. ไม่มีการทบทวนทะเบียนยา อายุทะเบียน 7 ปี ยาด้อยประสิทธิภาพ ยังคงถูกหลอกขายต่อไป เนื่องจากในร่างกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ให้ทบทวนทะเบียนยา มีแค่ว่าใครมาขึ้นทะเบียนก็มาเสนอทุก 7 ปี 4.โฆษณายา ปล่อยตามสะดวก จดแจ้งเลยกรณีแบบ “เมจิกสกิน” คงกลับมาอีก 5.ยาชีววัตถุ ปล่อยจดแจ้งตามสะดวก อินซูลิน (เบาหวาน) มาตรฐานต่ำจะตามมา 6. แจกของขวัญ สวัสดิการพาเที่ยว ยาราคาแพงขึ้น..อีกแล้ว 7.ไม่สนใจหลักถ่วงดุล ทวนสอบ ในระบบยาเกิดความเสี่ยงให้ประชาชนได้รับยาผิด 8.ใครก็ส่งมอบยา แนะนำการใช้ยาให้เราได้ ได้รับยาที่ปลอดภัย เกิดโรคที่เกิดจากยา 9. ขายยาได้ว่อนเน็ต จะยังถูกหลอกลวงกันต่อไป และ10. เจตนารมณ์ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยแต่ย้อนกลับไปใช้แนวคิด พ.ศ. 2510




เผยแพร่: 4 ก.ย. 2561  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

164
แพทย์แผนไทยเผยยังไม่มีวิจัย “อังกาบหนู” ช่วยรักษามะเร็ง เตรียมเก็บข้อมูลเพิ่มหาทางต่อยอดวิจัย ชี้ วิจัย “สมุนไพร” รักษามะเร็ง มีทั้งหาสารสำคัญฆ่าเซลล์มะเร็ง และดูจากตำรับยาโบราณรักษาอาการคล้ายมะเร็ง จึงพัฒนาต่อยอด เตือนอังกาบหนูต้องกินพอเหมาะ ระวังรากมีการศึกษาทำสเปิร์มลด เสี่ยงเป็นหมันได้


วันนี้ (23 ส.ค.) นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวสรรพคุณสมุนไพร “อังกาบหนู” ว่า อังกาบหนูเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อยู่มาก มีรสเย็นและรสเบื่อเมา มีความเป็นพิษเล็กน้อย คล้ายกับฤทธิ์ของเหล้า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า อังกาบหนูสามารถรักษามะเร็งได้ มีแค่ข่าวว่าชาวบ้าน จ.สุโขทัย 5-13 ราย กินแล้วหายจากมะเร็ง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยลงไปหาข้อเท็จจริง ว่า มีผู้ป่วยในพื้นที่กี่คน ป่วยมะเร็งที่อวัยวะใด ระยะที่เท่าไร รักษาหายจริงหรือไม่ มีผลการตรวจรักษาจากแพทย์ยืนยันหรือไม่ เพราะบางครั้งพบว่า ประชาชนเข้าใจผิดว่า ตัวเองเป็นมะเร็ง แต่ไม่ได้เป็น รวมถึงความหมายการหายจากมะเร็งก็ต่างกัน ซึ่งทางแพทย์ คือ จะต้องไม่มีเซลล์มะเร็งในร่างกายอีก แต่ชาวบ้านอาจแค่ร่างกายดีขึ้น กิน ดื่ม นอนหลับ ไม่ปวด ก็คือหายแล้ว


นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ หากพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็จะพิจารณาว่า จะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การจะเลือกสมุนไพรหรือตำรับยามาวิจัยว่ารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่นั้น จะมี 2 แนวทาง คือ 1.ด้านวิทยาศาสตร์ จะเป็นการหาสารสำคัญของสมุนไพรว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ แต่การวิจัยเพียงแค่วิธีนี้อาจไม่ยุติธรรมต่อสมุนไพร เพราะสมุนไพรมักจะทำเป็นตำรับยา มีสมุนไพรหลายๆ ตัวมาเป็นยาหลัก ยารอง ยาเสริม ยาแก้ ยาตัด ยาต้าน อย่างตำรับวัดคำประมง ที่มีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู จากการศึกษาพบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ก็ฆ่าเซลล์ที่ดีในร่างกายด้วย แต่เมื่อนำทั้งตำรับที่มีสมุนไพรกว่า 25 ตัว มาศึกษา พบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดี ฆ่าเซลล์ร่างกายน้อยลง เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ฤทธิ์สมุนไพรตัวหนึ่งไปแก้พิษอีกตัวหนึ่ง





เผยแพร่:   24 ส.ค. 2561 โดย: MGR Online

165
หากเราประกาศกร้าวต่อหน้าเพื่อนๆ ว่า เราอยากกินคลีน อยากสุขภาพดี สิ่งแรกๆ ที่ทุกคนทราบดี คือเราต้องทานอาหารที่มีไขมันน้อยลง เพราะมันทำให้อ้วน และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหลาย ๆ อย่างตามมา  หรือแม้กระทั่งนม ทุกคนก็แนะนำให้ดื่มนมไขมันต่ำ แถมยังยืนยันความดีงามของนมไขมันต่ำได้อีกทาง จากการที่บรรดาโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา เลือกนมไขมันต่ำมาให้นักเรียนดื่ม


แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เราจะเห็นข่าวและการรณรงค์ต่อต้านการบริโภคนมไขมันต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมมีการนำผลการวิจัย ออกมาเปิดเผยว่า การดื่มนมที่มีไขมันปกติ เป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่านมไขมันต่ำ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มาหาคำตอบกันค่ะ


นมไขมันต่ำ ดีต่อร่างกายจริงหรือ?



จากผลงานวิจัยของ Dr. Dariush Mozaffarian ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation ระบุว่า เขาและทีมงานวิเคราะห์ผลการตรวจเลือดของผู้ใหญ่ จำนวน 3,333 คน ที่เข้าร่วมโครงการ วิจัยเป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี พบว่า ผู้ที่เลือกดื่มนม หรือทานอาหารที่มาจากนมชนิดที่มีไขมันเต็มที่ ร้อยละ 46 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานน้อยกว่าคนที่ดื่มนมไขมันต่ำ จึงทำให้กล่าวได้ว่า การดื่มนมไขมันต่ำ ก็ไม่ได้ให้ผลดีไปกว่าการดื่มนมที่มีไขมันเต็มที่แต่อย่างใด


นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้นมปกติ จะมีแคลอรีมากกว่านมไขมันต่ำ และผู้เชี่ยวชาญส่วนมากก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน แต่จากการศึกษาใหม่กลับพบว่า เมื่อเราลดปริมาณการบริโภคไขมันลง เราก็จะหันไปบริโภคน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตแทน  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ส่งผลกระทบต่ออินซูลิน หรือฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน นอกจากนี้ Dr. Dariush Mozaffarian ยังพบว่า นมที่มีไขมันมัน ไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ตีพิมพ์บทความลงใน The American Journal of Nutrition ว่า จากข้อมูลผู้หญิงจำนวน 18,438 คน เกี่ยวกับการดื่มและไม่ดื่มนมไขมันต่ำ พบว่า การดื่มนมที่มีไขมัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 8


Dr. Dariush Mozaffarian กล่าวว่า “เราควรต้องหยุดให้คำแนะนำผู้บริโภค ด้วยการอ้างอิงทฤษฎีเก่า ๆ และเราควรจะหันมามองภาพรวมของการบริโภคอาหาร หรือความสัมพันธ์ของการบริโภคอาหารแต่ละชนิด ที่มีผลต่อกันและกัน ไม่ใช่การเพ่งเล็งไปที่อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น เมื่อเราบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เราจะได้รับพลังงานที่เพียงพอ ทำให้ไม่รู้สึกหิว จนต้องมาบริโภคน้ำตาล หรือแป้งเข้าไปเพิ่ม นอกจากนี้ไขมันในนม มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และยังลดความอยากน้ำตาลลงได้อีกด้วย”


ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ดื่มนมได้อย่างสบายใจมากขึ้นนะคะ สิ่งที่ควรเลี่ยงน่าจะเป็นน้ำตาลมากกว่า เลือกดื่มนมจืด ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้หนทางสู่สุขภาพดีก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วล่ะค่ะ

20 ส.ค.61    sanook.com

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19