แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 ... 46 47 [48] 49 50 51
706

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าฉลามมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ทั้งแววตาแบบฆาตกรต่อเนื่อง ยิ้มแสยะอวดฟันเกเต็มปาก และความบ้าคลั่งดุร้ายยามขย้ำเหยื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราไม่เคยรู้สึกว่าฉลามเป็นสัตว์ที่น่ารักเลย และนักเขียนก็ไม่ช่วยแก้ภาพลักษณ์ให้เท่าไรนัก เฮอร์แมน เมลวิลล์ นักเขียนชื่อดังแห่งศตวรรษที่สิบเก้าผู้นิยมเล่าเรื่องท้องทะเล บรรยายว่าฉลามเป็น "จอมตะกละตัวซีดที่ชอบกินเนื้อเหวอะหวะ" มี "ปากเต็มไปด้วยฟันคมดุจใบเลื่อย" "ลำตัวเขย่าขวัญ" และ "ส่วนหัวอัปลักษณ์"

     เมลวิลล์เห็นฝูงฉลามรุมขย้ำซากวาฬ "เนื้อเหวอะหวะ" อย่างตะกละตะกลามหลายครั้งตลอดหลายปีที่รอนแรมบนเรือล่าวาฬ ซึ่งอธิบายว่าทำไมเขาจึงมีมุมมองที่อคติต่อสัตว์ชนิดนี้ แต่หมู่เกาะบาฮามาสอาจเปลี่ยนใจเขา

     ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งขนเครื่องพิมพ์ดีดและคันเบ็ดมาปลีกวิเวกที่หมู่เกาะแห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับปลา การตกปลา และการเล่นเรือใบ เขาเคยโดนฉลามแย่งกินปลาที่สาวเบ็ดขึ้นมาไม่ทัน (เฮมิงเวย์ยิงฉลามระบายแค้นและเผาซากบนชายหาดไปหลายตัว) แม้จะคอยประณามหยามเหยียดฉลามอยู่เสมอ แต่เฮมิงเวย์ก็เขียนถึงมันอย่างชื่นชมอยู่บ้าง

     นวนิยายเรื่อง เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) ซานติอาโกพูดถึงฉลามปากหมาที่โผล่ขึ้นมาหายใจว่า "รูปร่างของมันช่างสวยงาม ถ้าไม่นับปาก...มันไม่ใช่สัตว์กินซากหรือสัตว์ที่หาอาหารยามหิวเท่านั้น... แต่สวยและสง่า ทั้งยังไม่รู้จักหวาดกลัวอะไรเลย" หมู่เกาะบาฮามาสยังคงสภาพเหมือนเมื่อครั้งที่เฮมิงเวย์เคยสัมผัส ผืนน้ำสีคราม ใสสะอาด และอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกลุ่มเกาะซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่และเกาะปริ่มน้ำ (cays) ราว 700 เกาะกระจัดกระจายอยู่ห่างจากรัฐฟลอริดาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 800 กิโลเมตร ที่นี่ยังไม่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ชนพื้นเมืองยังดำรงชีพด้วยขายกุ้งมังกรบาฮามาส ปลากะพง และหอยสังข์ นักตกปลายังตกปลากระบอกยนจากพื้นทราย และได้ปลากระโทงและปลากระโทงร่มจากลิ้นแห่งมหาสมุทร หรือหุบเหวเย็นยะเยือกใต้ทะเลลึก 1,829 เมตร ฉลามก็ยังอยู่ที่นี่เช่นกัน

     เฉพาะจุดดำน้ำไทเกอร์บีชก็มีฉลามเสือร่วมสิบตัวว่ายวนอยู่ในลักษณาการที่ไม่เหมือนแร้ง แต่เหมือนปลาตะเพียนเหนือเปลของทารกมากกว่า ดวงตาสีเข้มที่ระแวดระวังมีขนาดเท่ากำปั้น ลายจุดจางๆและวงกลมบนผิวหนังดูละม้ายลายผ้าบาติก ว่ากันว่าฉลามเสือดุร้ายรองจากฉลามขาว มันกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฉลามชนิดอื่น ป้ายทะเบียนรถ หรือยางรถยนต์ ฉลามเสือเพศเมียขนาดใหญ่ตัวหนึ่งผละออกจากฝูงและว่ายเข้ามาใกล้ฉันจนเห็นรูขุมขนตรงปลายจมูก ที่ช่วยให้มันรับพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าจากสิ่งมีชีวิตอื่น

     เมื่อร่างมหึมานั้นเคลื่อนผ่านมาถึงเงียบๆ ฉันก็ยื่นมือไปลูบลำตัวซึ่งเหมือนกระดาษทรายเนื้อละเอียด มันว่ายวนกลับไปรวมกับฝูงอย่างสงบและมั่นใจ สำหรับปลาที่มีภาพลักษณ์ดุร้าย ฉลามตัวนี้กลับทำให้ฉันประทับใจแต่แรกพบ สีสันของหมู่เกาะบาฮามาสไม่ได้มีเพียงฉลามเสือขนาดใหญ่เหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีฉลามอีกกว่า 40 ชนิด อาทิ ฉลามเลมอน ฉลามหัวค้อนยักษ์ ฉลามวัว ฉลามครีบดำ ฉลามปากหมา ฉลามซิลกี และฉลามทราย นอกจากฉลามสีน้ำเงินและฉลามวาฬขนาดมหึมาที่อพยพผ่านมา ฉลามอื่นๆอาศัยอยู่ที่นี่ตลอดปี และแพร่พันธุ์ในทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งอันเงียบสงบที่มันเกิด

     ชาวประมงยังคงด่าทอฉลามหัวขโมยที่ชอบขโมยปลาไปกิน เหลือแต่ปากและเหงือกคาสายเบ็ดให้ดูต่างหน้า คำว่าบาฮามาสมาจาก "บาคามาร์" ซึ่งเป็นภาษาสเปนแปลว่า "ทะเลตื้น" กลุ่มเกาะบาฮามาสตั้งอยู่บนลานหินปูนสองแผ่น คือ แนวเนินตื้นใต้ทะเลบาฮามาใหญ่และเนินตื้นใต้ทะเลบาฮามาเล็ก ที่มีร่องน้ำลึกถึง 3,962 เมตรคั่น กลุ่มเกาะนี้มีการผสมผสานของห้วงน้ำลึกและตื้น สันหินขรุขระใต้น้ำ หาดทราย แนวปะการัง หญ้าใต้ทะเล ป่าชายเลน และทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งอันสงบเงียบ ซึ่งช่วยฟูมฟักสรรพชีวิตหลากชนิดหลายขนาด

     น้ำใสสะอาดจากมหาสมุทรแอตแลนติกไหลรวมกับกระแสน้ำอุ่นจากอ่าวเม็กซิโก เกิดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำซึ่งดึงดูดฉลามจากใกล้ไกลให้เข้ามา และปัจจุบันท้องน้ำสีครามใสสะอาดแห่งนี้ก็คือสวนสวรรค์อันสโมสรของพวกมัน ในท้องน้ำที่มีป่าชายเลนล้อมรอบ มีลูกฉลามเลมอนว่ายอยู่ในน้ำตื้นและโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำใสราวกระจก "ที่นี่วิเศษมากครับ" ซามูเอล "ด็อก" กรูเบอร์ นักชีววิทยาซึ่งมีศูนย์วิจัยฉลามงอยู่ใกล้ๆ พูดขึ้น

     ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งเล็กๆของหมู่เกาะบาฮามาสที่ชื่อบิมินีแห่งนี้ เป็นแหล่งอนุบาลลูกฉลามตามธรรมชาติ ที่ซึ่งลูกฉลามเลมอนถือกำเนิดและเติบโตโดยไม่ถูกพวกเดียวกันกิน ซามูเอลแกะรอยฉลามเพศเมียตัวเต็มวัยที่ติดเครื่องติดตามตัวมาถึงที่นี่เมื่อสองสามปีก่อน เมื่อเราเดินลุยน้ำในแอ่งน้ำธรรมชาติอันใสแจ๋ว ปลาตัวเล็กๆก็ว่ายหลบเข้าไปตามรากพืชชายเลนที่แผ่ไปทั่ว พวกปูวิ่งหาที่ซ่อน ป่าชายเลนรกทึบและเขียวครึ้มเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิดที่ส่งเสียงร้องทำลายความเงียบเป็นระยะๆ บางตัวกระแอมเหมือนรถบรรทุกสตาร์ตไม่ติด แต่ส่วนใหญ่จะมีก็แต่เสียงลมแผ่วผ่าน ลูกฉลามตัวเท่าๆขวดไวน์ว่ายเฉียดข้อเท้าชวนให้เสียวสันหลังวาบ

     กรูเบอร์ผู้มีเคราครึ้ม สวมแว่นกันแดด เอาผ้าสีแดงพันรอบใบหน้าเพื่อกันแดดและยุง ดูเหมือนสิงห์นักบิดมากกว่านักชีววิทยาทางทะเล เขาคุกเข่าลงบนพื้นทรายในน้ำตื้นๆ พยายามเคาะเหยื่อล่อลูกฉลามให้เข้ามาใกล้ๆพลางฮัมเพลงรักเบาๆ และสบถเสียงดังเมื่อไม่มีตัวไหนสนใจ แต่พอจับได้ เขาก็ทำเสียงกะหนุงกะหนิงเหมือนแม่คุยกับลูกน้อย

     กรูเบอร์แสดงให้ดูว่า เมื่อถูกพลิกให้หงายท้อง ลูกฉลามจะมีสภาพเหมือนนอนหลับ หรือที่เรียกว่า ภาวะไม่ตอบสนองตามธรรมชาติ (tonic immobility) สถิติของกระทรวงสาธารณสุขในนิวยอร์กระบุว่า ในแต่ละปี มีคนถูกฉลามทำร้ายน้อยกว่าถูกคนด้วยกันทำร้าย และเรามีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือถูกคู่สมรสสังหารมากกว่าคมเขี้ยวฉลาม แต่การสร้างสำนึกในหมู่ประชาชนและการขอเงินสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์ฉลามก็ยังเป็นเรื่องยาก ห้องปฏิบัติการของกรูเบอร์บนเกาะบิมินีใต้เป็นห้องทำงานราคาถูก มีแหดักปลาขาดๆพาดอยู่ด้านนอก รถบรรทุกที่ได้รับบริจาคพ่นควันเสียคลุ้งทันทีที่ออกวิ่ง (ผู้โดยสารต้องเปิดประตูแง้มไว้เพื่อหายใจ)

     อาสาสมัครส่วนใหญ่พักรวมกันในบ้านพักสำเร็จรูปชั้นเดียวสีฉูดฉาด กินอาหารธรรมดาอย่างขนมปังขาว และนอนบนฟูกที่เรียงเป็นแพ พวกเขาอายุราวยี่สิบกว่าๆ ดูอดนอนและอดโซ แต่ก็ยังกระตือรือร้นที่จะทำงานวิจัยอย่างจริงจังในดงฉลาม

 มีนาคม 2550

707

"พระเยซูกับลาอยู่ไหน" ชายสวมแจ็กเก็ตหนังสีดำร้องถามพลางเร่งฝีเท้าไปตามทางเดินที่ชั้นใต้ดินของโบสถ์เซนต์ฟรานซิสออฟแอสซีซี "เพิ่งเห็นอยู่แว้บๆนะ" หญิงคนหนึ่งตอบ "นั่นไง" ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายสามโมง ขบวนแห่วันกู๊ดฟรายเดย์ (วันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนก่อนคืนชีพในวันอาทิตย์ที่เรียกว่าอีสเตอร์ซันเดย์) ที่ใหญ่ที่สุดขบวนหนึ่งในอเมริกาเหนือ กำลังจะเริ่มต้น ทุกอย่างจึงโกลาหลไปหมด "ส่งพระเยซูกับลาขึ้นมา เดี๋ยวนี้ เลย" เสียงสั่งของผู้ชายดังมาจากวิทยุสื่อสาร ผู้คนข้างบนออกไปรอนอกโบสถ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงวัยคลุมผ้าคลุมไหล่ซึ่งกำลังร้องเพลงสวดภาษาอิตาเลียน แต่ตรงกลางยังมีชายหนุ่มผิวดำซึ่งฮัมเพลงคลอไปด้วยและสองแม่ลูกชาวจีน ชายที่แต่งตัวเป็นพระเยซูรีบเข้ามาสมทบโดยมีชายที่สวมแจ็กเก็ตตามไปติดๆ "เพลงสวดที่ร้องอยู่นี่เพลงอะไรหรือครับ" ผมถาม "ไม่รู้ สิครับ ผมเป็นคนโปรตุเกส" ชายที่สวมแจ็กเก็ตตอบ ก่อนจะเดินลงบันไดไปตามหาจูดาสผู้ถือถุงใส่เหรียญเงินอีกครั้ง ดวงอาทิตย์ทอแสงผ่านกิ่งก้านที่ไร้ใบลงอาบรูปปั้นพระแม่มารีบนไหล่ชายกลุ่มหนึ่ง

     วงดนตรีที่มีเสียงแตรทูบาทิ้งทำนองเศร้าสร้อยคลอเสียงแคลริเน็ตกำลังบรรเลงเพลง "Tutti Dobbiam Morrie" ซึ่งแปลว่า ทุกคนต้องตาย กลุ่มฝูงชนที่ยืนเรียงแถวอยู่บนทางเท้ามีทั้งหญิงชราที่สวดภาวนาพลางนับลูกปัดบนสร้อยกางเขน และเด็กหญิงที่กอดตุ๊กตากระต่ายอีสเตอร์สีชมพูไว้แน่น นี่คือโทรอนโต เมืองที่มองเผินๆ จะนึกถึงเมืองของชนชั้นกลางผิวขาวที่คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายแองโกลแซกซัน นับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่จริงคนโทรอนโตเองก็คิดเช่นนั้นมาตลอดจนเมื่อเร็วๆนี้ ที่พวกเขาเริ่มรู้สึกพิศวงระคนยินดีเมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเชื้อชาติในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา "ผมโตมาในสมัยที่เราหยอดเงินในตู้บริจาค ให้มิชชันนารีใช้เป็นทุนในการเผยแผ่ศาสนาให้คนนอกรีต หรือพวกที่ไม่ได้นับถือคริสต์" ชายสูงวัยชาวโทรอนโตบอก นั่นคือยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่ไม่บอกความรู้สึกตามแบบฉบับแคนาดาว่า "เดี๋ยวนี้คนนอกรีตกับพวกที่ไม่ได้นับถือคริสต์ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ พวกเขาก็เป็นคนดีนะ ว่าไหม"

     ทุกวันนี้ โทรอนโตเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของชนชาติมากที่สุดในโลก มีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนถึง 6 ฉบับ ชุมชนชาวแคริบเบียนมีการเฉลิมฉลองในงานเทศกาลที่คล้ายงานมาร์ดิกราส์นาน 2 สัปดาห์ (แต่จัดขึ้นเป็นประจำในฤดูร้อนตามสภาพอากาศ) มีสถานีวิทยุชิน (CHIN) ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาต่างๆ 32 ภาษา เมื่อผมถามจอห์นนี ลอมบาร์ดี เจ้าของสถานี ว่าตอนนี้เป็นรายการภาษาอะไร เขาดูนาฬิกาข้อมือก่อนตอบว่า "11.45 น. เป็น...อ๋อ ภาษาโครเอเชียครับ"

     ในแต่ละปี มีผู้อพยพมายังแคนาดา 230,000 คน หนึ่งในสามของจำนวนนี้ได้ลงหลักปักฐานที่โทรอนโต ผู้ลี้ภัยซึ่งหนีวิกฤติการณ์มาจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวทมิฬในศรีลังกา ชาวฮูตูจากรวันดา หรือชาวเชเชนจากอดีตสหภาพโซเวียต ไม่เพียงเป็นคนน่าคบเท่านั้น แต่ยังทำให้โทรอนโตน่าอยู่มากขึ้น ปาฏิหาริย์แบบนี้เป็นสิ่งที่น่าค้นหาสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำตัวดีอาจถูกมองว่าเป็นข้อเสีย และการใช้ความรุนแรงมักนำหน้าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างชนชาติต่างๆ แต่โทรอนโตก็มีปัญหาเช่นกัน สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้สังคมต้องแบกรับภาระหนักอึ้ง งบประมาณสำหรับโครงการชุมชนเหลือเพียงน้อยนิด (ซึ่งชาวโทรอนโตบางส่วนคิดว่าเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้อพยพ) มีความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชานเมืองเรื่องการแบ่งสรรภาษีอย่างเป็นธรรม ทว่าถนนหนทางในโทรอนโตก็ยังสะอาดสะอ้าน รถไฟใต้ดินยังคงตรงเวลา และอาชญากรรมรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในอัตราน้อยเช่นเดิม (ในปี 1995 โทรอนโตมีฆาตกรรรม 2 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่วอชิงตัน ดี.ซี. มีสถิติ 65 ราย) ผู้คนต่างเชื้อชาติยังคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติในสังคมที่มีรากเหง้าแบบแองโกลสก็อตติชโบราณ ซึ่งเชื่อในระเบียบวินัยและการปฏิบัติตัวเหมาะสม กระทั่งขอทาน นักเต้นระบำเปลื้องผ้า หรือแม้แต่เด็กขายดอกกุหลาบตามสถานบันเทิง ก็ยังสุภาพเรียบร้อย

     โทรอนโตพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นเมืองแห่งชนชั้นกลางที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ หน่วยงานการท่องเที่ยวโทรอนโตแจกคู่มือท่องเที่ยวที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ว่า เมืองนี้เคยน่าเบื่อแค่ไหน ซึ่งเมื่อปี 1906 นักท่องเที่ยวคนหนึ่งเห็นว่า "โทรอนโตทำให้วันอาทิตย์ในหมู่บ้านในสกอตแลนด์เป็นสวรรค์ไปเลย" ชาวเมืองซึ่งไม่ชอบใจนักที่โทรอนโตถูกมองว่าน่าเบื่อ มักจะแก้ตัวว่า พวกเขาก็แค่เงียบ จุกจิก และเจ้าระเบียบเกินไปหน่อยเท่านั้น

กุมภาพันธ์ 2550

708

เมื่อป่าตื่น.. ฮูว.. ฮูว.. ฮูว.. ก๊ก.. ก๊ก.. ก้ากก้ากก้าก กวอ... กวอ... ใต้ผืนป่าฝนเขตร้อนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เสียงชะนีมือดำ นกหว้า และนกชนหิน กู่ร้องก้องหุบเขาที่มีม่านหมอกขาวละมุนลอยเข้าโลมไล้ จังหวะทำนองเช่นนี้ปลุกเราจากหลับใหลได้ทุกเช้า แต่ลึกลงไปภายใต้เรือนยอดไม้ของผืนป่า เนื้อที่ราว 270,725 ไร่ ในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลา ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับผืนป่าเบลุมของประเทศมาเลเซีย ท่วงทำนองเดียวที่สร้างความระทึกคึกคักราวเสียงจังหวะบรรเลงของลิเกพื้นบ้านฮูลูของภาคใต้นั้น คงหนีไม่พ้นลำนำวิถีแห่งไทร ผู้สังเกตการณ์ต้นไทร "ศูนย์รวมสรรพสัตว์" อย่างพวกเราต้องทำทุกวิถีทาง ทั้งแอบซุ่มเงียบบนพื้นดินเปียกๆที่เต็มไปด้วยรอยตีนหมูป่า เก้ง ทาก และหน่วยผลไทรสุกงอม และปีนป่ายขึ้นไปนั่งประจำการบนห้างสูงบนต้นลำพูป่าก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน ข้างหน้าเราคือ ไทรพัน F.dubia Wall. ex King ต้นใหญ่ซึ่งอาจออกผลได้สองครั้งต่อปี ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ เจ้าหน้าที่ศึกษาวิจัยความหลากหลายของชนิดไม้สกุลไทรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และศิริพร ทองอารีย์ เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของไทย ระบุว่าไทรชนิดนี้เป็น หนึ่งใน เจ็ดชนิดที่ค้นพบใหม่ของไทย จากทั้งหมดที่พบอยู่เดิม 80 ชนิด ไทรพันพุ่มหนาเกี่ยวกระหวัดรัดเอาต้นยวนเปลือกขาวความสูงมากกว่า 50 เมตร เป็นฐานที่มั่น ก่อนหย่อนรากดิ่งลงไปดูดซับเอาธาตุอาหารที่พื้นดินเบื้องล่าง พร้อมกับออกหน่วยผลสุกสีแดงและม่วงดำ สีสันอันฉูดฉาด เป็นที่รู้กันในหมู่สัตว์ป่านักกินผลไม้ว่า ร้านอาหารกลางป่าพร้อมเปิดต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือนจากทั่วสารทิศ ซึ่งพอถึงตอนนี้ เราก็เฝ้าสังเกตการณ์อยู่อย่างลับๆ ด้วยใจจดจ่อ ที่หน้าร้านเป็นที่เรียบร้อย และแล้วร้านก็เปิด.. ทันทีที่ม่านฟ้าด้านตะวันออกเริ่มเปิดฉาก     

     หมีขอตัวอ้วนขนยาวสีดำแซมเทา ลูกค้าผลัดดึกผู้โอ้เอ้อยู่กับอาหารมื้อสุดท้ายจนกระทั่งรุ่งสาง ก็ไต่ตามกิ่งอ่อนเอนของต้นไทรหายไป พร้อมกับการปรากฏตัวของนกชนหิน ที่กลายเป็นลูกค้ารายแรกของต้นไทรผลัดเช้า ตามมาด้วยนกเงือกหัวแรดคู่ผัวเมีย และฝูงนกเงือกปากดำอีก 5 ตัว ที่ถลาเข้ามาเกาะตามกิ่ง ก่อนจะเลือกจับจ่ายหน่วยผลไทรสุกได้และป้อนเข้าปาก กลืนหายลงลำคอ โดยไม่ลืมคาบติดปากตอนโผออกไปทางหุบเขาเบื้องล่างด้วย เพียงไม่กี่อึดใจต่อมา ชะนีมือดำก็โหนตัวเข้าประจำที่บนโต๊ะอาหารเช้าพร้อมลูกตัวเล็กเกาะแน่นอยู่กับอก โดยมีพี่น้องในครอบครัวอีก ๓ ตัว ติดตามเข้ามาสมทบเหมือนจะทนทานต่อสีสันยั่วน้ำลายของหน่วยผลไทรไม่ไหว "ถ้าเป็นร้านอาหารจริงๆ ถือว่าไทรมีแผนการตลาดที่ยอดเยี่ยม" ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งเปรยขึ้น ด้วยจำนวนลูกค้าที่มากมายหลายหน้า ที่ทั้งโหนทะยาน บิน ไต่ ร่อน และเดินเข้ามาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสายเป็นเครื่องยืนยัน รายงานผลการสำรวจชนิดสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วยการเก็บกินหน่วยผลพืชสกุลไทร เมื่อปี 2547 ของภานุมาศและคณะ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 52 ชนิด โดยแบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 20 ชนิดและนกอีก 32 ชนิด การที่ไทรแต่ละต้นแต่ละชนิดวนเวียนกันออกหน่วยผลตลอดทั้งปี ซึ่งแตกต่างกับพืชพันธุ์ชนิดอื่นที่ออกลูกเป็นฤดูกาลพร้อมกันคราวละมากๆในทีเดียวและเพียงระยะสั้นๆอย่างสิ้นเชิง ทำให้ไทรกลายเป็นแหล่งอาหารขึ้นชื่อของป่าฝนเขตร้อน ยามที่ผลไม้อื่นขาดแคลน สัตว์ป่าหลายชนิดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการค้นหาไทรเพื่อยังชีพแทน แต่กระนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงปลายหน้าแล้งของป่าฮาลา-บาลา ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า มีจำนวนชนิดไทรที่ออกหน่วยผลสุกพร้อมๆ กันมากกว่า 35 ชนิด นี่อาจเป็นกลยุทธ์แบบลดแลกแจกแถมสำหรับลูกค้าเพื่อร่วมส่งท้ายหน้าแล้งของปี

กุมภาพันธ์ 2550

709

ประกายสีน้ำเงินไพลินที่แวบมาและวับไปราวกับภาพลวงตานั้นคือปีกที่โบกกระพือของนกตัวกระจิริด หรือแมลงกันแน่ ครู่ต่อมาประกายนั้นก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เห็นถนัดตาขึ้นว่าเป็นนกแน่นอน แต่เป็นนกตัวเท่านิ้วหัวแม่มือ เจ้าของปีกที่โบกได้ 80 ครั้งต่อวินาที จนทำให้เกิดเสียงหึ่งเบาๆ ขนหางคล้ายใบพายสามารถบังคับทิศทางได้ทั้งซ้ายขวาและขึ้นลง ขณะที่เจ้านกจิ๋วจ้องมองดอกไม้สีส้มสดใสรูปร่างคล้ายแตร มันก็แลบลิ้นที่บางเหมือนเส้นด้ายออกจากจะงอยปากเล็กๆเพื่อลิ้มรสน้ำต้อย (nectar) แสงอาทิตย์ที่ต้องขนนกสะท้อนประกายรุ้งดุจอัญมณีต้องแสงตะวัน เช่นนี้เอง คนส่วนใหญ่จึงได้ชื่นชมและไม่รู้จะสรรหาถ้อยคำใดมาบรรยายลักษณะของนกฮัมมิงเบิร์ด กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ผู้เคร่งขรึมที่สุดก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอ่ยชมนกชนิดนี้ว่า "สวยงาม" "โดดเด่น" และ "ไม่เหมือนใคร"
     

     แต่สิ่งที่ชวนอัศจรรย์ยิ่งกว่าก็คือ เจ้านกที่ดูบอบบางนี้กลับเป็นหนึ่งในสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในอาณาจักรสัตว์ ฮัมมิงเบิร์ดราว 330 ชนิดพันธุ์อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและมักจะถึงขั้นทารุณ จากอะแลสกาไปถึงอาร์เจนตินา จากทะเลทรายแอริโซนาไปถึงชายฝั่งโนวาสโกเชีย และจากป่าในที่ลุ่มต่ำของบราซิลไปถึงแนวหิมะบนเทือกเขาแอนดีสที่สูงกว่า 4,500 เมตร (นกชนิดนี้พบในอเมริกาเหนือและใต้ รวมทั้งหมู่เกาะรอบๆที่เรียกว่าโลกใหม่เท่านั้น)
     

      คาร์ล ชุชมันน์ นักปักษีวิทยาจากสถาบันสัตววิทยาอเล็กซานเดอร์เคอนิกแห่งเยอรมนีและมูลนิธิเบรห์ม บอกว่า "ฮัมมิงเบิร์ดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วสำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่ก็เอาตัวรอดได้ครับ" ฮัมมิงเบิร์ดมีน้ำหนักแค่ 5-6 กรัม หัวใจขนาดเท่าผลองุ่นของมันเต้นด้วยอัตราเฉลี่ย 500 ครั้งต่อนาที (ขณะเกาะนิ่งบนกิ่งไม้) หรือ 4,500 ล้านครั้งตลอดชีวิต หรือมากกว่าคนที่มีอายุขัย 70 ปีเกือบสองเท่า

 มกราคม 2550

710

มิเชล โอลีฟ (Michel Olyff) ศิลปินชาวเบลเยียม คงตื้นตันใจไม่น้อย เพราะสัญลักษณ์มรดกโลกที่เขาออกแบบให้ยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันประดับอยู่ในสถานที่สำคัญรวม 890  แห่งใน 148 ประเทศ    ทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 689 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 176 แห่ง  และมรดกโลกผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ  25 แห่ง  และยังมีสถานที่อีกไม่น้อยที่ต้องการสัญลักษณ์นี้ไป   “ตีตรา” รับรองความสำคัญราวกับเครื่องหมายการค้า        
                มรดกโลก (World Heritage) เป็นแนวคิดมุ่งมั่นปกป้องสถานที่สำคัญทั่วโลกให้รอดพ้นจากการคุกคามของภัยหลากหลาย ทั้งน้ำมือมนุษย์ สงคราม และภัยธรรมชาติ เพื่อเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
                ไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนสถานที่ต่างๆ ในประเทศให้เป็นมรดกโลกมาแล้ว 5 แหล่ง ประกอบด้วยมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรและเมืองบริวาร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แหล่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง  และป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็น และยังมีสถานที่สำคัญๆอีกกว่าสิบแห่งที่เข้าคิวรอ สองแห่งในนั้นคืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี และเส้นทางราชมรรคา ปราสาทพิมาย-เมืองต่ำและพนมรุ้ง ซึ่งบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list)
                ความสำคัญของมรดกโลกไม่ได้อยู่ที่เงิน เพราะแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนในทางเงินทุนสักบาท ทว่าตรามรดกโลกสามารถสร้างและปลุกเร้าให้เกิดพลังในการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งที่เงินซื้อไม่ได้ มรดกโลกช่วยให้เกิดความหวงแหน เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประเทศภาคีสมาชิกต้องออกกฎหมายพิทักษ์ จัดหาบุคลากรและเงินทุนเพื่อปกปักรักษาแหล่งมรดกโลก   ตรามรดกโลกจึงเปรียบเสมือนปริญญาการจัดการที่เข้มแข็ง   ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร บอกว่า "ดีกรีในการปกปักรักษามรดกโลกจะสูงเป็นพิเศษครับ เพราะมี awareness ตั้งแต่ในระดับชุมชน จังหวัด ไปจนถึงประเทศ สูงกว่าแหล่งโบราณคดีทั่วไป”

           ตัวอย่างเร็วๆนี้คือข่าวครึกโครมการขยายถนนสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่สองของไทย     ซึ่งแม้จะไม่ได้กระทบกับพื้นที่ป่าโดยตรง   แต่ก็กลายเป็นวิวาทะตั้งแต่ในสภากาแฟไปจนถึง     โต๊ะจีน นี่คือพลังของมรดกโลกที่กระตุ้นให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นและความหวงแหนอย่างเข้มข้น ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ  รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในเวทีเสวนา “การขยายถนนในพื้นที่ป่ากรณีเขาใหญ่” ว่า "การที่เขาใหญ่เป็นทั้งอุทยานแห่งแรกของไทยและมรดกโลกทางธรรมชาติทำให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษครับ"
ทว่านัยเคลือบแฝงภายใต้ตรามรดกโลกอันงดงาม ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การท่องเที่ยว” ทั้งนี้เพราะมรดกโลกเปรียบเสมือนตรารับรองคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวผู้แสวงหาความแปลกใหม่ ทำนองเดียวกับที่ร้านอาหารมีตราหรือโลโก้รับรองความอร่อย ในแง่มุมหนึ่งนี่คือประโยชน์ เพราะชาวบ้านท้องถิ่นเจ้าของมรดกโลกคือผู้ได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยโดยตรง    
                ณ บ้านเชียง หมู่บ้านไทพวนทางตะวันออกของจังหวัดอุดรธานี ที่นี่นักโบราณคดีค้นพบเครื่องปั้นดินเผา ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันร่องรอยชุมชนอายุกว่า 5000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีอันทรงคุณค่าส่งผลให้บ้านเชียงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 ไหลายและหม้อเขียนสีอันเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเชียงก็โด่งดังไปทั่วโลก
               หลังจากนั้น บ้านเชียงก็เจริญขึ้นตามลำดับนอกจากถนนรนแคมที่ขยายเพื่อรับรถของนักท่องเที่ยว และเมืองที่เจริญผิดหูผิดตา ชาวบ้านหลายคนก็ผันตัวจากชาวนาเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างไม่เคอะเขิน เล็ก กวางชัยภูมิ ชาวบ้านหัวก้าวหน้าคนแรกๆ ที่ก็อปปี้ลวดลายของไหโบราณไปขายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวจนมีเงินมีทองใช้ไม่ลำบาก เล่าว่า "ขายดี แต่ก่อนแม่นี่บ้านนอกหลายเด้อ ขายได้เงินแสนฝากธนาคารบ่เป็น ยัดใส่เสื้อใน โอ๊ย! พุงนี้ป่อง"
               น่าอิจฉาคนบ้านเชียง แต่การท่องเที่ยวก็ไม่ใช่แนวคิดอันสวยหรูของมรดกโลก และบ่อยครั้งก็เป็นทางแพร่งที่ชวนคนมาทะเลาะกันได้บ่อยๆ นักอนุรักษ์บางคนประณามหยามเหยียดการท่องเที่ยวแบบสุดโต่งว่าเป็นการทำลายล้าง "จิตวิญญาณ" ทางวัฒนธรรมจนวอดวาย แผงร้านค้าที่แออัดยัดเยียดในพื้นที่มรดกโลกรอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นกรณีหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการคุกคามแหล่งมรดกโลกด้วยน้ำมือของการท่องเที่ยว
                แต่ชาวบ้านบางคนคงไม่ยี่หระ เพราะการท่องเที่ยวนำเงินมาให้พวกเขาและพัฒนาท้องถิ่นจนเจริญผิดหูผิดตา  แม่ใหญ่คำตา วัย 86 ปี ขายเสื้อผ้าไหมอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง บอกว่า "แม่แก่แล้ว แต่บ่คิดว่าสิได้เห็นเลยน้อ ลูกเอ๊ย มื้อนี่บ้านเชียงเจริญดีแท้ๆ"

ถ้าการท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านเจ้าของมรดกโลกยิ้มได้สบายอกสบายใจจากโอกาสทางรายได้ แต่สำหรับชาวเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกแห่งแรกของไทยอาจไม่ได้คิดเช่นนั้นทุกคน เพราะหากย้อนไปราวยี่สิบปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นมรดกโลก ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องอพยพย้ายออกจากที่ดินใกล้โบราณสถาน เพื่อเปิดโอกาสให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะบำรุง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นมรดกโลก เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านส่วนหนึ่ง พวกเขามองว่าเป็นการคุกคามสิทธิ

                ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวกันอาศัยในชุมชนที่ชื่อว่า ชุมชนรามเล็ก ซึ่งอยู่ติดกับรั้วอุทยานฯเพียงไม่กี่ก้าว ท่ามกลางความต้องการของภาครัฐที่อยากจะควบคุมและจำกัดการเติบโตของชุมชนในเขตโบราณสถาน ทว่าจากที่ผมลองสอบถามชาวบ้านในชุมชนนี้ดู พวกเขาไม่มีใครที่อยากจะย้ายออกจากชุมชนไปอีก และไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
                นี่คือความคับข้องใจของอีกแนวความคิดหนึ่ง เมื่อยูเนสโกมองการขยายตัวของชุมชนเป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการขยายตัวที่เป็นการรบกวน "ความดั้งเดิม" (authenticity) และกระทบกระเทือนต่อภูมิทัศน์มรดกโลก ที่ผ่านมาการจัดการดังกล่าวมักโดนท้วงติงมาก มรดกโลกที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณ ไม่ต่างอะไรกับซากปรักหักพังที่อวดโฉมในพิพิธภัณฑ์ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาอาวุโสให้ความเห็นว่า มรดกโลกนั้นตัดขาดจากจิตวิญญาณของชุมชน ทำลายวิถีชุมชนของชาวบ้าน  ไม่ต่างอะไรกับการล่าอาณานิคม และชาวบ้านท้องถิ่นล้วนตกเป็นเหยื่อมรดกโลก "ผมว่ามรดกโลกทุกแห่งล้วนดูแห้งแล้ง เพราะไม่มองประวัติศาสตร์ทางสังคม ไม่มีการสืบเนื่องของคนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่อยู่ตรงนั้น"                                                                                                                                                            
แดดบางๆสีเหมือนสุราจางในบ่ายวันอาทิตย์ ค่อยๆละเลียดอยู่ตามหลืบพงหญ้าริมน้ำน่าน ฝั่งตรงข้ามคือแปลงเพาะปลูกอะไรสักอย่างที่เจ้าของไถพรวนเตรียมหว่านพืชในฤดูกาลใหม่ ตรงขอบฟ้าไกลลิบคือสันเขาสลับซับซ้อนที่โอบกอดเมืองนี้ไว้อย่างอบอุ่น น่าน จังหวัดเล็กๆที่มีประชากรราว 475,000 คน และมีประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม  อันเป็นเอกลักษณ์ กำลังเดินหน้าสู่มรดกโลกอย่างช้าๆ พร้อมๆไปกับโปรยเสน่ห์ยั่วยวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยเทศ  
                สโรช รัตนมาศ หัวหน้าวัฒนธรรมจังหวัดน่าน หนึ่งในฟันเฟืองผลักดันเมืองน่านสู่มรดกโลกมาเกือบสิบปี เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อสมัยยังเด็ก เขาเคยเห็นรถไถดิน ไถกลบทำลายกำแพงอิฐเมืองเก่าที่อำเภอปัวไปต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ครั้งนั้นฝังใจเขา เมื่อสโรชเติบโตขึ้น ภาระหน้าที่การงานทำให้เขาได้มาเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์  เขาเดินหน้าผลักดันการอนุรักษ์เมืองเก่า โดยตั้งเป้าการเป็นมรดกโลกเป็นเป้าหมายสูงที่สุด “มันเหมือนตั้งว่าบอลไทยไปบอลโลกนั่นแหละครับ”
                แต่การเดินหน้าสู่เป้าหมายนั้นอาจต้องลงทุนมหาศาล ภายใต้แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน สาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมเป้าหมายกำลังได้รับการจัดระเบียบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขื่อนป้องกันน้ำท่วม ระบบบำบัดน้ำเสีย เก็บสายไฟลงใต้ดิน ปรับปรุงถนน และอื่นๆอีกสารพัด สโรชยอมรับว่า “ผมว่าที่ทำๆกันไปเนี่ย ลงทุนไปเป็นพันล้านแล้วมั้งครับ”
                หรือเราควรจะลืมเสีย ท่ามกลางความพยายามผลักดันมรดกโลกอย่างแข็งขัน แนวคิดหนึ่งผุดขึ้นมาเบาๆแนวคิดที่ว่าคือ “มรดกน่านสู่มรดกโลก” สรุปง่ายๆคือการมุ่งมั่นปกปักพิทักษ์อัตลักษณ์ความเป็นน่านให้เข้มแข็ง และมองเป้าหมายมรดกโลกเป็นผลพลอยได้ แนวคิดดังกล่าวได้รับแรงผลักดันมาจาก นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ปูชนียบุคคลวัย 77 ปีของจังหวัดน่าน "ผมเคยเตือนว่าให้ทำมรดกน่านก่อนแล้วค่อยเป็นมรดกโลก ไม่ใช่มรดกโลกมาก่อนมรดกน่าน แผนพัฒนาก็เลยไม่ฟังก์ชั่น" หมอบุญยงค์ กล่าว    
                แม้จะมรดกโลกเต็มไปด้วยข้อวาระซ่อนเร้นอันมากมาย ทั้งการท่องเที่ยวที่นำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลักแสนล้านบาท พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเติบโต เป็นเกมการเมืองที่เอามาห้ำหั่นกันได้อย่างรุนแรงอย่างกรณีปราสาทเขาพระวิหาร หรือการอนุรักษ์ปกปักแหล่งโบราณสถานได้อย่างแข็งขัน แต่นั่นขึ้นกับว่าเราจะนำตรามรดกโลกไปใช้ในทางใด          
                แต่สำหรับผมแล้วคงโก้ไม่หยอกหากมีตรามรดกโลกติดอยู่รั้วหน้าบ้านผม ผมว่าจะขายพวงมาลัย ดอกไม้ธูปเทียน และทำวุ้นมะพร้าวตรามรดกโลกจำหน่าย น่าสนใจไหมครับ

สิงหาคม 2553

711

ถ้ำใต้น้ำนอกชายฝั่ง (off-shore flooded cave) หรือที่เรียกว่า หลุมสีน้ำเงินใต้สมุทร (ocean blue hole) เป็นพื้นที่ส่วนขยายของทะเลที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลงรุนแรง และเป็นบ้านของสรรพชีวิตหลากหลายชนิด ขณะที่หลุมสีน้ำเงินบนผืนแผ่นดิน (inland blue hole) เช่นที่พบบนเกาะหรือมวลแผ่นดินลักษณะอื่นๆ กลับมีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนที่ใดในโลก ส่วนใหญ่เป็นเพราะลักษณะทางธรณีวิทยาและสภาพทางเคมีของน้ำ ในถ้ำที่มีน้ำท่วมขังอย่างเช่น  หลุมสตาร์เกตบนเกาะแอนดรอสซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง ส่งผลให้เกิดการแยกชั้นของน้ำที่มีสภาพทางเคมีต่างกันอย่างชัดเจน น้ำจืดที่ได้น้ำจากน้ำฝนลอยเป็นชั้นบางๆอยู่ข้างบน ปิดทับชั้นของน้ำเค็มที่มีความหนาแน่นกว่า เสมือนเป็นฝาปิดกันไม่ให้น้ำเค็มสัมผัสกับออกซิเจนในบรรยากาศ และทำให้แบคทีเรียไม่สามารถย่อยสลายอินทรียวัตถุได้ แบคทีเรียใต้ชั้นของน้ำจืดอยู่ได้โดยอาศัยซัลเฟต (เกลือชนิดหนึ่งในน้ำเค็ม) และทำให้เกิดผลพลอยได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือที่เรียกว่าก๊าซไข่เน่า ซึ่งหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากๆอาจทำให้ประสาทหลอนและถึงตายได้

ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์เพียงหยิบมือที่ได้ดำลงไปสำรวจหลุมสีน้ำเงิน แต่ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปี 2009 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขาวิชาและนักดำน้ำในถ้ำมาร่วมกันสำรวจที่เกาะแอนดรอส อะบาโก และเกาะอื่นๆอีก 5 แห่งในหมู่เกาะบาฮามาสเป็นเวลาสองเดือน ผู้ริเริ่มโครงการสำรวจหลุมสีน้ำเงินในหมู่เกาะบาฮามาส (Bahamas Blue Hole Expedition) ในครั้งนี้คือ เคนนี บรอด นักสำรวจถ้ำมือฉมังและนักมานุษยวิทยา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบาฮามาส เมื่อได้ผู้นำที่มีคารมคมคาย รุ่มรวยอารมณ์ขัน และเปี่ยมความมุ่งมั่นอย่างบรอด บวกกับได้ไบรอัน เคคุก มารับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในการดำน้ำ และเวส สไกล์ส นักสำรวจถ้ำชั้นหัวกะทิ เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์และภาพนิ่ง ทำให้ทีมสามารถดำลงไปสำรวจหลุมสีน้ำเงินราว 25 หลุมรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ครั้ง พวกเขาเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่จะช่วยขยายพรมแดนความรู้ของเราเกี่ยวกับหลุมสีน้ำเงิน

พวกเขาทำงานกันอย่างเร่งด่วน เพราะจากอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของระดับทะเลในปัจจุบัน ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ถ้ำภายในแผ่นดินหลายแห่งจะจมอยู่ใต้น้ำทะเล ส่งผลให้สูญเสียสภาพทางเคมีอันเปราะบาง และทำลายสภาพที่ทำให้ถ้ำเหล่านี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

ขณะเดียวกัน หลุมสีน้ำเงินจำนวนไม่น้อยมักถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติที่สำคัญของเกาะ บรอดอธิบายว่าแม้โลกอันมืดมิดเบื้องล่างจะมีความสำคัญเพียงใด แต่ความที่มองไม่เห็น จึงทำให้ไม่ได้รับการอนุรักษ์เป็นลำดับต้นๆ ฉะนั้นเป้าหมายอีกประการหนึ่งของการสำรวจในครั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความสำคัญของหลุมสีน้ำเงินและภัยคุกคามที่พวกมันกำลังเผชิญอยู่

เราโยงใยชีวิตไว้กับออกซิเจนโดยไม่พักต้องคิด ทว่าในความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนโลกที่ปราศจากก๊าซชนิดนี้มานานกว่าพันล้านปี และที่น่าขันก็คือออกซิเจนเกิดขึ้นบนโลกโดยเป็นของเสียที่แบคทีเรียปล่อยออกมา เจนน์ แมคาลาดี นักดาราศาสตร์ชีววิทยา กำลังศึกษาสภาพทางเคมีของน้ำในหลุมสีน้ำเงินในหมู่เกาะบาฮามาส เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมซึ่งคล้ายคลึงกับโลกยุคแรกเริ่มที่ไม่มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงชีวิตมากที่สุด เธอพุ่งความสนใจไปที่ช่วงเวลาระหว่าง 4,000 ล้านปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นบนโลกเป็นครั้งแรก จนถึงราว 2,500 ล้านปีก่อนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่ายุคเริ่มมีออกซิเจน การศึกษาแบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนในหลุมสีน้ำเงินเหล่านี้ ทำให้เธอสันนิษฐานได้ถึงชีวิตที่อาจดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำซึ่งไม่มีออกซิเจนบนดาวเคราะห์และดวงจันทร์อันไกลโพ้นดวงอื่นๆ

แมคาลาดีไม่ใช่นักดำน้ำ แต่เธอเป็นนักสำรวจถ้ำบนบกที่กระตือรือร้น เธอขอให้นักดำน้ำเก็บตัวอย่างน้ำ แบคทีเรีย และไฮโดรเจนซัลไฟด์ จากระดับความลึกต่างๆกัน ตั้งแต่ระดับผิวน้ำไปจนถึง 80 เมตร การค้นคว้าส่วนใหญ่ของเธอซึ่งรวมทั้งการตรวจสอบดีเอ็นเอ การเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย และการค้นหาฟอสซิลในระดับโมเลกุล ต้องรอจนกว่าเธอจะกลับไปใช้เครื่องมือที่ห้องปฏิบัติการ แต่เนื่องจากไฮโดรเจนซัลไฟด์มีความไม่เสถียรสูงจนไม่สามารถขนส่งกลับไปได้        เธอจึงต้องวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำเพื่อหาระดับของก๊าซนี้ในภาคสนามโดยใช้เครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (spectrophotometer) แบบพกพา

“เพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละหลุมนั้นแตกต่างกัน” แมคาลาดีอธิบาย “เราจึงวิเคราะห์ดีเอ็นเอของตัวอย่างจุลินทรีย์จากหลุมสีน้ำเงิน 5 แห่งที่อยู่บนบก ผลที่ได้คือเราไม่พบจุลินทรีย์ชนิดพันธุ์ซ้ำกันเลยค่ะ” แล้วเธอก็ต้องแปลกใจต่อไปอีกเมื่อพบว่า จุลินทรีย์ในถ้ำเหล่านี้มีวิธีเสาะหาแหล่งพลังงานแตกต่างกันออกไป “บางชนิดใช้กลเม็ดชนิดที่เราเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในทางเคมี ถ้าเรารู้อย่างแน่ชัดว่าจุลินทรีย์พวกนี้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างไรแล้ว เราก็จะทราบว่าต้องมองหาอะไรในโลกที่ปราศจากออกซิเจนค่ะ”

สตาร์เกตประกอบด้วยอุโมงค์แนวตั้งตรงกลางซึ่งลึกราว 100 เมตร และมีอุโมงค์แยกย่อยออกไปทางทิศเหนือและทิศใต้ เคคุกเคยออกไปสำรวจอุโมงค์ด้านทิศเหนือหรือนอร์ทแพสเสจเป็นระยะทางราว 400 เมตร และท่องลึกเข้าไปไกลกว่านั้นในอุโมงค์ด้านทิศใต้หรือเซาท์แพสเสจ เชื่อกันว่าในหมู่เกาะบาฮามาสมีหลุมสีน้ำเงินอยู่มากมายกว่า 1,000 หลุม ในจำนวนนี้มีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับการสำรวจแล้ว และเคคุกคาดว่า สามในสี่ของหลุมเหล่านี้ยังมีอุโมงค์ที่หลีกเร้นจากสายตานักสำรวจอีกมากมาย

               ปากทางเข้าเซาท์แพสเสจประดับประดาด้วยแท่งแคลไซต์หรือที่เรียกว่าหินถ้ำ (speleothem) อันตระการตา มีตั้งแต่ที่เป็นแผ่นบางพร้อมจีบพลิ้วเหมือนม่านและทรงกระบอกเรียวยาวราวหลอดดูด ไปจนถึงหินงอกหินย้อยที่เราคุ้นตา โครงสร้างแปลกตาเหล่านี้ก่อตัวขึ้นในยุคน้ำแข็งที่ระดับทะเลลดลงมากจนถ้ำแห้งผาก สำหรับปีเตอร์ สวอร์ต อาจารย์ด้านธรณีวิทยาทางทะเลและธรณีฟิสิกส์ หินถ้ำซึ่งมีการสะสมตัวอย่างช้าๆในอัตรา 1 ถึง 5 เซนติเมตรต่อ 1,000 ปีเป็นบันทึกอันล้ำค่าของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี การศึกษาถึงหินถ้ำอย่างละเอียดลออจะทำให้สวอร์ต, บรอด และเอมี เคลเมนต์ นักสร้างแบบจำลองภูมิอากาศ  ได้ข้อมูลล้ำค่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง อย่างกะทันหันของภูมิอากาศในอดีต รวมทั้งพายุที่พัดกระหน่ำยาวนานกว่าปกติจนหอบเอาฝุ่นทรายในทะเลทรายสะฮาราข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาจากแอฟริกาเมื่อหลายพันปีก่อน ดังปรากฏร่องรอยของเหล็กปริมาณมากในหินงอกและแถบสีแดงในชั้นหินตะกอนของผนังถ้ำ ข้อมูลจากการศึกษาหินถ้ำจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมทั้งระดับทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องกัน
สิงหาคม 2553

712
สำหรับคุณผู้ชาย คุณกล้าไปยืนปัสสาวะไหม?

หดหมด ฉี่ไม่ออกหรอก

สำหรับคุณผู้หญิง คุณกล้าเข้าไปนั่งไหม?

คงเหมือนกัน ไม่ออกแน่

713
อัศจรรย์ เลข 9
ผลคูณ 9 x 8 เท่ากับ 72
ตั้งข้อสังเกตในผลคูณได้น่าสนใจคือ 7 ซึ่งเป็นหลักสิบของผลลัพธ์นั้นมีค่าน้อยกว่า 8 อยู่ 1
และ 2 ซึ่งเป็นหลักหน่วยของผลลัพธ์เมื่อรวมกับ 7 ก็ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 9

ข้อสังเกตนี้ยังพบได้ในผลคูณด้วย 9 อื่นๆ อาทิ
99 x 38 = 3762
(37 น้อยกว่า 38 อยู่ 1 และ 3 ก็ขาดอยู่ 6 จึงจะครบ 9 , 7 ขาดอยู่ 2 จึงจะครบ 9)

999 x 187 = 186813
(186 น้อยกว่า 187 อยู่ 1 และ 1 ขาดอยู่ 8 จึงจะครบ 9, 8 ขาดอยู่ 1 จะครบ 9, 3 ขาดอยู่ 6 จึงจะครบ 9)

จำนวนหลักของผลลัพธ์จะเท่ากับจำนวนหลักของตัวตั้งและตัวคูณบวกกัน

ในส่วนของผลคูณตัวตั้งและตัวคูณไม่เท่ากัน  อาทิ 79 x 999 = 78921

จงอธิบายว่าใช้หลักอะไรในการคิด
ใช้สมองกันหน่อย บริหารไว้ สมองจะได้ไม่ฝ่อ


1 บาทที่หายไป
เพื่อนๆกัน 3 คนไปทานขนม  เขาขายถ้วยละ 10 บาท

เมื่อทานเรียบร้อย ก็จ่ายไปคนละ 10 บาท เท่ากับว่าจ่ายไปทั้งหมด 30 บาท

บังเอิญวันนั้นเจ้าของร้านใจดีบอกว่า ลดให้พวกเรา 5 บาท ขอเก็บแค่ 25 บาท

พร้อมกับบอกให้เด็กเสริฟเอามาคืน  เด็กเสริฟถือเงินมา 5 บาท
บอกว่าพี่มี 3 คน เอาไปคนละ บาทก็พอ ที่เหลือ 2 บาท ขอทิปละกัน

ตกลงยินดีให้เด็กเสริฟไป 2 บาท .

ทีนี้ก็เท่ากับว่าเราได้เงินคืนคนละ 1 บาท
เท่ากับว่าเราจ่ายไปคนละ 9 บาท 3 คน
(ก็เท่ากับว่า 9 x 3 = 27)

น้องเด็กเสริฟ เอาไป 2 บาท
(ก็ 27 + 2 เท่ากับ 29)

อ้าว ??? เงินหายไปไหน 1 บาท
ช่วยกันตามหาหน่อยว่ามันหายไปไหน

714
ตั้งกระทู้มาตั้งนาน เพิ่งมีคนกล้าหาญตอบ
ถู..ถู...ถูกต้องนะ....ครั...ครับ

เอาไอคิวแบบนี้
มาช่วยกันพัฒนาบ้านของเรานะครับ   :D

715

เศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่เก้าถูกครอบงำโดยสองมหาอำนาจทางการค้า รายแรกคือจีนภายใต้การปกครองของจักรพรรดิราชวงศ์ถัง ซึ่งอ้าแขนรับผู้คนมากหน้าหลายตาสู่เมืองหลวงฉางอานหรือที่ตั้งเมืองซีอานในปัจจุบัน ส่วนมหาอำนาจทางการค้าอีกรายในตอนนั้นคือแบกแดด เมืองหลวงแห่งราชวงศ์อับบาซิดนับตั้งแต่ ค.ศ. 762 เป็นต้นมา

เส้นทางที่เชื่อมโยงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากสองซีกโลกเข้าด้วยกันคือเส้นทางสายไหม (Silk Road) และเส้นทางการค้าทางน้ำที่เรียกว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Route) แม้เส้นทางสายไหมบนแผ่นดินจะเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่เรือสินค้าน้อยใหญ่อาจท่องทะเลระหว่างจีนและอ่าวเปอร์เซียมาตั้งแต่สมัยคริสตกาลแล้ว เครือข่ายเส้นทางเดินเรือและอ่าวทั้งหลายได้อาศัยวัฏจักรของลมมรสุมในการเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและความคิดวิทยาการอย่างต่อเนื่อง

ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถังต้องการสินค้าอย่างสิ่งทอเนื้อดี ไข่มุก หินปะการัง และไม้หอมจากเปอร์เซีย แอฟริกาตะวันออก และอินเดีย ในทางกลับกัน จีนได้ส่งออกกระดาษ หมึก และสินค้าที่สำคัญที่สุดอย่างผ้าไหม ความที่มีน้ำหนักเบาและม้วนเก็บได้ง่าย ทำให้ผ้าไหมสามารถขนส่งทางบกได้สะดวก แต่เมื่อถึงศตวรรษที่เก้า เครื่องเคลือบดินเผาจากจีนก็ได้รับความนิยมอย่างสูงแล้ว และพาหนะอย่างอูฐคงไม่เหมาะในการขนส่งสินค้าที่เปราะบางเหล่านี้ ดังนั้นถ้วยโถโอชามบนโต๊ะอาหารของพ่อค้าชาวเปอร์เซียผู้มั่งคั่งจึงถูกขนถ่ายลงเรือสินค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดีย มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ไหนแต่ไรมา เรือน้อยใหญ่ต่างเผชิญอันตรายในช่องแคบเกลาซามาแล้วทั้งนั้น เส้นทางคอขวดระหว่างเกาะเล็กๆอย่างบังกาและเบลีตุงของอินโดนีเซียสายนี้มีน้ำทะเลสีเทอร์คอยส์ที่ซุกซ่อนแนวกองหินใต้น้ำและหินโสโครกระเกะระกะไว้เบื้องล่าง แต่แม้จะมีอันตรายสารพัด ชาวประมงพื้นบ้านที่ดำน้ำหาปลิงทะเลก็ได้อาศัยน่านน้ำแถบนี้เป็นที่หากินมาช้านาน เมื่อราวสิบปีก่อน พวกเขาพบหินปะการังซึ่งมีเซรามิกฝังอยู่โดยบังเอิญที่ระดับความลึก 16 เมตร พวกเขาดึงถ้วยชามสภาพสมบูรณ์หลายใบออกจากไหขนาดใหญ่ใบหนึ่งและนำขึ้นฝั่งไปขาย

ปรากฏว่าชาวประมงเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ค้นพบทางโบราณคดีใต้น้ำครั้งสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือซากเรือสินค้าอาหรับสมัยศตวรรษที่เก้าพร้อมศิลปวัตถุสมัยราชวงศ์ถังกว่า 60,000 ชิ้น ซึ่งมีทั้งทองคำ เงิน และ เซรามิก ตัวเรือและระวางสินค้าซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อซากเรือเบลีตุง (Belitung wreck) เป็นประจักษ์พยานว่า แผ่นดินมังกรสมัยราชวงศ์ถังเป็นผู้ผลิตสินค้าปริมาณมหาศาลและส่งออกไปขายทางทะเล ไม่ต่างไปจากจีนในปัจจุบัน

ทว่าสมบัติส่วนมากที่พบกลับกลายเป็นข้าวของที่เทียบได้กับสินค้าโรงงานที่ผลิตยกโหล นั่นคือถ้วยชามฉางชา ที่ได้ชื่อตามเตาเผาเมืองฉางชาในมณฑลหูหนานอันเป็นสถานที่ผลิต นักวิชาการรู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่าถ้วยชาที่ดูเรียบๆและใช้งานได้จริงนั้นเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่แปดถึงสิบ เพราะมีการค้นพบเศษถ้วยในแหล่งโบราณคดีที่อยู่ไกลจากจีนอย่างอินโดนีเซียและเปอร์เซีย แต่ที่ผ่านมานักโบราณคดีพบถ้วยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพียงไม่กี่ใบเท่านั้น

ผลการศึกษาด้วยการจำลองแบบชี้ว่า เรือสินค้าอาหรับที่พบมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือใบที่ยังพบเห็นได้อยู่ในประเทศโอมานในปัจจุบัน ซึ่งเรียกกันว่า ไบตลกอริบ (baitl qarib) สำหรับท่าเรือที่เรือสินค้าอาหรับลำนี้ออกเดินทางมาและจุดหมายปลายทางยังไม่เป็นที่แน่ชัด ไม่มีปูมเดินเรือหลงเหลือ รายการสินค้าหรือแผนที่ก็ไม่ปรากฏ แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า เรือมีจุดหมายอยู่ที่ตะวันออกกลาง อาจเป็นเมืองท่าของอิรักชื่ออัลบัสเราะห์ (ปัจจุบันคือบัสรา) เป็นไปได้ว่าเรือออกเดินทางจากกว่างโจว ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสายไหมทางทะเล

ในบรรดาถ้วยชามฉางชาหลายหมื่นใบที่พบในซากเรือนั้น ใบหนึ่งมีข้อความจารึกว่า “วันที่สิบหก เดือนเจ็ด ปีที่สองในรัชศกเป่าลี่” หรือตรงกับ ค.ศ. 826 ตามปฏิทินตะวันตก และน่าจะเป็นวันเวลาที่ถ้วยใบนี้ถูกผลิตขึ้น เรือจึงอาจออกเดินทางหลังจากนั้นไม่นาน

ระวางสินค้าที่มีลักษณะซ้ำๆกัน อีกทั้งยังมาจากแหล่งผลิตแตกต่างกันหลายแห่ง บ่งบอกว่าสินค้าเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าส่งออกที่ผลิตตามคำสั่งซื้อ ลวดลายและการประดับตกแต่งสินค้าสะท้อนรสนิยมอันหลากหลายของตลาดโลก พูดง่ายๆ ก็คือมีทุกสิ่งที่คนต้องการ ตั้งแต่สัญลักษณ์ดอกบัวในคติพุทธศาสนา ไปจนถึงลวดลายจากเอเชียกลางและเปอร์เซีย

ข้าวของที่กู้ขึ้นมาจากเรือสินค้าอาหรับลำนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออก ไม่ต่างจากรองเท้าผ้าใบและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตีตราว่า “เมดอินไชน่า” หรือผลิตในประเทศจีน ที่ขายกันเป็นลำเรือในปัจจุบัน แต่นักดำน้ำยังพบขุมทรัพย์ที่ท้ายเรือเป็นเงินและทองคำ รวมทั้งเซรามิกเนื้อดี ซึ่งเรายังไม่ทราบความสำคัญอย่างแน่ชัด

นับตั้งแต่จีนเริ่มค้าขายกับชาวโลกเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน มหาอำนาจทางการค้าแห่งนี้ก็มีทั้งช่วงที่เปิดและปิดประเทศ ในสมัยราชวงศ์ถังการค้าขายเปิดกว้างอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาหลายร้อยปี สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย อาทิ ดินปืน กระดาษ แท่นพิมพ์ และเหล็กหล่อ ล้วนหนุนนำให้จีนพร้อมผงาดขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก การค้าขายกับโลกตะวันตกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยนักเดินเรือชาวจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ

เมื่อแม่ทัพเจิ้งเหอผู้ยิ่งยงออกเดินเรือในปี 1405 พร้อมกองเรือ 317 ลำนั้น จีนก็เป็นมหาอำนาจทางทะเลเต็มตัวแล้ว แต่ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน กลับมีพลังอีกด้านหนึ่งที่ทรงอำนาจพอๆกันดำเนินควบคู่ไปด้วย นั่นคือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเหล่าพ่อค้าวาณิช และความคลางแคลงในอิทธิพลวัฒนธรรมต่างชาติที่มาพร้อมกับสินค้านำเข้า แนวคิดนี้ย้อนกลับไปถึงยุคของขงจื๊อ ผู้เชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนค้าขายไม่ควรชี้นำหรือครอบงำวัฒนธรรมและค่านิยมของชาวจีน

ครั้นล่วงถึงปี 878 ผู้นำกบฏนามหวงเฉาได้ลุกฮือขึ้นเผาบ้านเรือนและปล้นสะดมเมืองกว่างโจว สังหารชาวมุสลิม ยิว คริสต์ และปาร์ซี ไปหลายหมื่นคน และไม่นานนักหลังสมุทรยาตราหลายครั้งของเจิ้งเหอ และการค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส โลกทัศน์ของขงจื๊อก็เข้าครอบงำวัฒนธรรมจีน จักรพรรดิมังกรรับสั่งให้เผาทัพเรือของตนและปิดประเทศ เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เคยเชื่อมโยงจีนกับโลกภายนอกกลับกลายเป็นเส้นทางรกร้าง นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางมายังมหาสมุทรอินเดีย และพอถึงปลายศตวรรษที่สิบเจ็ดและต้นศตวรรษที่สิบแปด มหาอำนาจยุโรปก็เริ่มครอบงำการค้าโลก จอห์น มิกซิก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า “ประวัติศาสตร์โลกคงเปลี่ยนโฉมหน้าไปหมด หากจีนไม่ปิดประเทศนานถึง 500 ปี”

ปัจจุบันจีนกำลังแข่งขันกับอินเดียในการเป็นเจ้าโรงงานของโลก พญามังกรเปิดประตูการค้าอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และหันกลับไปค้าขายกับคู่ค้าแต่เก่าก่อนอย่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง “เครือข่ายการค้าในโลกยุคโบราณกลับฟื้นคืนผ่านอุตสาหกรรมและโรงงานในโลกยุคโลกาภิวัตน์” หวังเกิงอู่ นักประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

แต่คราวนี้จะยืนยงได้นานเพียงใดนั้น คงต้องรอดูกันต่อไป

มิถุนายน 2552

716

แชงกรีลา คือสถานที่ในตำนานซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง ชื่อนี้ได้มาจากนวนิยายที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1933 ของเจมส์ ฮิลตัน เรื่อง ลับฟ้าปลายฝัน (Lost Horizon) อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่เดินทางมาพบกับวัดในอุดมคติชื่อแชงกรีลา ณ ดินแดนรกร้างห่างไกลของทิเบต  อารามแชงกรีลามีพระสงฆ์จำวัดอยู่กว่า 50 รูปจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทุกรูปล้วนมุ่งมั่นในการศึกษาด้านจิตวิญญาณ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมปัญญาของมนุษยชาติ

                ว่ากันว่าฮิลตันได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างแชงกรีลามาจากข้อเขียนของนักพฤกษศาสตร์นามโจเซฟ ร็อก ผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจและการผจญภัยในมณฑลยูนนานอันห่างไกล ไปจนถึงทิเบตและที่อื่นๆ ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ  นอกจากนี้  ฮิลตันยังอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับศัมภาลา (Shambhala) หรือสรวงสวรรค์บนแดนดินตามคติพุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนปลอดพ้นจากความฉ้อฉลและความโลภโมโทสันของโลกภายนอก

แม้ว่าปัจจุบันแทบจะไม่มีคนอ่านนวนิยายเรื่องนี้กันแล้ว แต่คำว่าแชงกรีลาและสิ่งที่คำคำนี้สื่อถึง นั่นคือ   สถานที่สุดปลายฟ้าอันงดงามและความเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลกมาช้านาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนวนิยายว่าด้วยยูโทเปียหรือดินแดนในอุดมคติเล่มอื่นๆเช่นกัน  กล่าวคือเนื้อเรื่องแทบไม่ได้กล่าวถึงความทุกข์ยากหรือธรรมชาติด้านลบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความอิจฉาริษยา ราคะ โลภะ และความทะเยอทะยาน จึงทำให้ภาพรวมของหนังสือและแก่นเรื่องอันได้แก่แชงกรีลา ดูเรียบง่ายเกินไป และช่างตรงกันข้ามกับความเป็นจริงของเมืองที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าแชงกรีลาในปัจจุบัน

ก่อนหน้าที่จะได้ชื่อว่าแชงกรีลานั้น เมืองนี้มีชื่อเดิมว่าจงเตี้ยน เป็นเมืองบนเส้นทางการค้าที่ระดับความสูง 3,160 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มโกรกธารที่ลึกและตระการตาที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นจุดนับพบของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สามสาย ได้แก่ แยงซีเกียง โขง และสาละวิน นี่คือภูมิภาคอันห่างไกลที่ร็อกเคยสำรวจในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930

ทว่าหลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปนับจากนั้น เริ่มจากการทำไม้เพื่อการค้าขนาดใหญ่ที่เปิดฉากขึ้นในทศวรรษ 1950 พอถึงช่วงกลางทศวรรษ 1990 รายได้กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่แถบนี้ได้มาจากอุตสาหกรรมป่าไม้ แต่เมื่อถึงปี 1998 การตัดไม้เกินขนาดในบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียงมีส่วนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ รัฐบาลจีนจึงประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้เพื่อการค้าทุกชนิดในภูมิภาคแห่งนี้  เมืองจงเตี้ยนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนและการค้า ด้วยการหันไปหาการท่องเที่ยวแทน โดยใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและทำเลที่อยู่ใกล้ภูมิประเทศอันตระการตา

พอถึงปี 2001 หลังจากวิ่งเต้นอยู่นาน ในที่สุดเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองจงเตี้ยนก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในกรุงปักกิ่งให้ตั้งชื่อเมืองและเทศมณฑลใหม่ว่าแชงกรีลา ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์เด็ดทางการตลาดเลยทีเดียว แต่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาถึงในปี 2003 เมื่อองค์การสหประชาชาติให้การรับรองความหลากหลายทางชีวภาพอันแสนมหัศจรรย์ในเขตโกรกธารรอบๆ และประกาศให้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งมรดกโลกเขตสามแม่น้ำไหลเคียง (Three Parallel Rivers World Heritage Site) และแล้วแชงกรีลาหรือเมืองจงเตี้ยนเดิมก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของนักเดินทางชาวจีนไปโดยปริยาย

รายงานของสหประชาชาติกล่าวถึงเขตสามแม่น้ำไหลเคียงว่าเป็น “ศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของจีน” โดยมีพรรณพืชและพรรณสัตว์มากมายหลายชนิด  อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศที่ต่างกันสุดขั้วยังเกื้อกูลต่อชาติพันธุ์มนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ถูกแม่น้ำซึ่งมิอาจข้ามผ่านและขุนเขาสูงตระหง่านขวางกั้นไม่ให้ติดต่อถึงกัน ได้พัฒนาภาษาและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทว่าเป็นเรื่องน่าขันที่กฎบัตรเขตสามแม่น้ำไหลเคียงกลับมุ่งพิทักษ์แต่พื้นที่รอบๆ โดยมิได้รวมตัวแม่น้ำไว้ด้วย เหตุผลประการหนึ่งก็คือ ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเลียบแม่น้ำส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ นอกจากนี้ การไม่รวมแม่น้ำไว้ในกฎบัตร ยังมีเป้าประสงค์อีกประการหนึ่งคือ เพื่อตอบสนองความกระหายพลังงานของจีน  ที่ซึ่งพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศร้อยละ 80 ได้มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เนื่องจากถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก ขณะที่พลังน้ำสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของประเทศ จึงมีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำทั้งสามสายเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง

แม้ว่าโกรกธารขนาดมหึมาที่ใกล้ที่สุดหลายแห่งจะอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมในตัวเมืองแชงกรีลา แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคสามแม่น้ำไหลเคียงกลับแทบไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เมืองเลย หากแชงกรีลาอีกแห่งมีอยู่จริง ซึ่งเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวและสงบเงียบใกล้เคียงกับสวรรค์บนดิน แชงกรีลานี้คงจะอยู่ในดินแดนไกลปืนเที่ยงอันไกลโพ้นที่ซึ่งร็อกค้นพบและฮิลตันนำมาสรรค์สร้างให้กลายเป็นแดนสรวง ผมและเพื่อนร่วมทางจึงออกตามหาแชงกรีลาแห่งนั้น

เราเดินลัดเลาะข้ามลุ่มน้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำสาละวิน เพื่อไปยังเมานต์คาวาเกอโบอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จุดชมวิวแห่งหนึ่ง ผมมองลอดเกลียวไลเคนสีเทาไปยังทัศนียภาพแปลกตาราวกับอีกโลกหนึ่ง หลายร้อยเมตรเบื้องล่าง ในเวิ้งหุบเขาใกล้ๆกับผืนป่าเก่าแก่สูงชัน เราเห็นผืนป่าเล็กๆสีเขียวขจี ฤานี่จะเป็นแชงกรีลาอีกแห่งที่เราตามหา เราใช้เวลาหลายชั่วโมงผ่านทางเดินคดเคี้ยวนับร้อยๆช่วงกว่าจะไปถึงสถานที่มีมนตร์ขลังดังกล่าว จากนั้นเราได้ไปเยือนบ้านแบบทิเบตหลังหนึ่งซึ่งฉาบปูนขาวโพลนดูราวกับป้อมปราการ ในบ้านไร่หลังนี้มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่และเด็กๆ รวมทั้งลุงอีกคน อาศัยอยู่รวมกัน

ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ยังสาว เธอมีชื่อว่าสนอว์ ในระหว่างพูดคุยกัน เธอกระเตงลูกไว้ในแขนข้างหนึ่งขณะให้นมลูกไปพร้อมๆกับเติมฟืนใส่เตาไฟ ดูข้าวที่หุงไว้ คนน้ำชาเนยจามรี โยนเปลือกมันฝรั่งให้หมูในคอก ล้างจาน และคัดแยกพริกไปด้วย สนอว์บอกว่าใฝ่ฝันอยากจะไปให้พ้นจากที่นี่ หรือแชงกรีลาในจินตนาการของผม เพื่อไปยังเมืองแชงกรีลาของจริง เธอได้ยินว่าที่นั่นเด็กสาวในวัยเดียวกันได้ไปโรงเรียน ส่วนวันเสาร์ก็ได้เดินคล้องแขนเพื่อนๆไปช็อปปิ้งกันในห้าง

สถานที่ที่สนอว์ใฝ่ฝันถึงอาจเป็นสถาบันฝึกอบรมทิเบตตะวันออกหรืออีทีทีไอ (Eastern Tibet Training Institute: ETTI) ซึ่งตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองแชงกรีลา สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยเบน ฮิลล์แมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สถาบันแห่งนี้จัดหลักสูตรวิชาชีพ 16 สัปดาห์ที่ให้นักเรียนได้กินอยู่พร้อมเรียนฟรี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนจากชนบทให้สามารถหางานทำในเมืองได้    ฮิลล์แมนกล่าวว่า “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่วิวัฒน์อยู่ตลอดเวลา” เขาเตือนผมไม่ให้ยึดติดหรือยัดเยียดภาพลักษณ์ในอุดมคติที่ชาวตะวันตกมีต่อแชงกรีลาในปัจจุบัน ในมุมมองของฮิลล์แมน ความท้าทายที่แท้จริงสำหรับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในแชงกรีลา ก็คือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อโลกสมัยใหม่

นักเรียนของเขามาจากหลากหลายชนเผ่าและชาติพันธุ์ ทั้งชาวทิเบต ไป๋ ลี่ซู่ น่าซี ฮั่น และอี๋ แต่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่แร้นแค้น ทุกคนต้องอ้อนวอนขอพ่อแม่ให้อนุญาตมาเรียนหนังสือที่สถาบัน ซึ่งมีห้องเรียนสะอาดสะอ้าน เพียบพร้อมไปด้วยหอพัก และห้องครัวแสนสบาย ไม่มีใครอยากกลับไปใช้ชีวิตชาวนาที่แสนยากเข็ญอีกแล้ว           

บ่ายแก่ๆวันหนึ่ง ศิษย์เก่าหลายคนของสถาบันมารวมตัวกันในห้องพักอาจารย์ พวกเขาตื่นเต้นที่จะได้เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังจนเก็บอาการไว้ไม่อยู่ คนสุดท้ายที่ได้พูดคือทาชิ เซอริง หนุ่มร่างผอมสูงวัย 21 ปี ผู้สดใสร่าเริงและมีเรือนผมดำสนิทปรกใบหน้า หนุ่มทิเบตคนนี้เรียนภาษาอังกฤษและทักษะในการทำงานด้านการบริการที่สถาบันอีทีทีไอ และปัจจุบันทำงานเป็นมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวไปเยือนหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและเมืองน้อยใหญ่ในทิเบตอย่างลาซา เขารู้ตัวดีว่าหลีกหนีจากชีวิตลำเค็ญมาได้  จึงหวังให้เพื่อนๆในหมู่บ้านได้มีโอกาสเช่นเดียวกัน เขาบอกว่า “ตอนนี้ผมมีส่วนได้สร้างอนาคตแล้วครับ!”   
พฤษภาคม 2552

717

               การที่แบรม สโตเกอร์เลือกทรานซิลเวเนียเป็นถิ่นกำเนิดตัวละครผีดูดเลือดของเขา ทำให้ชาวโรมาเนียชาตินิยมหลายคนขุ่นเคือง บ้างถึงขั้นอ้างทฤษฎี ประวัติศาสตร์ของวาซีเล เบอร์สัน ว่าเป็นแผนการของกษัตริย์มัตเทียส โคร์วีนุส แห่งฮังการี ผู้เป็นคู่อริกับเจ้าชายวลาด ตเซเปช ในศตวรรษที่สิบห้า ก่อนจะโยงเข้ากับเคานต์แวมไพร์ในศตวรรษที่สิบเก้าโดยกล่าวหาว่า อาร์มีเนียส วัมเบรี นักวิชาการฮังการี และสายลับเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สโตเกอร์ และตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อเบลา ลูกอซี นักแสดงชาวฮังการี ได้รับบทแดร็กคูล่าในศตวรรษที่ยี่สิบ

               ขณะเดียวกันก็มีคนเห็นว่า ในเมื่อโรมาเนียจำเป็นต้องเกี่ยวพันกับแวมไพร์อย่างหลีกไม่พ้น จึงควรจะฉวยโอกาสใช้แดร็กคูล่าเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเสียเลย สุภาพบุรุษท่าทางภูมิฐานและดูเบื่อเล็กน้อยสวมแว่นตากรอบหนา มีเรือนผมสีขาวตัดสั้น ยืนอยู่กลางฝูงชนในห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าที่ท่าอากาศยานโอ โตเปนี นีโคลาเอ ปาดูรารู ประธานสมาคมแดร็กคูล่าทรานซิลเวเนียหรือทีเอสดี (Transylvanian Society of Dracula) ยิ้มต้อนรับแขกจากฐานทัพทหารอเมริกันในเยอรมนีผู้ซื้อทัวร์ แดร็กคูล่าสุดสัปดาห์ในโรมาเนีย
“ยินดีต้อนรับสู่บูคูเรชตี (บูคาเรสต์ในภาษาอังกฤษ) ตอนนี้ยังไม่มีอะไรต้องกังวลนะครับ พรุ่งนี้ เราถึงจะไปทรานซิลเวเนียกัน”

ฟ้ามืดแล้วเมื่อจอช, คาร์ลี, แอลไลนา และเควินสี่หนุ่มสาวทหารเรือผู้ได้มาเยือนถิ่นแวมไพร์สมใจ ก้าวขึ้นรถตู้ จอชเอ่ยถามขึ้นว่า “เราจะได้เห็นหมาป่าไหมครับ”ปาดูรารูเจอคำถามแบบนี้ปีละหลายครั้ง ตลอด 20 ปีที่ตำนานแดร็กคูล่า กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาจากคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ เขาได้กลายเป็นมัคคุเทศก์นำทัวร์แนวทดลองและเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมทีเอสดีเมื่อปี 1991 องค์กรวัฒนธรรมแห่งนี้คือสื่อกลางในการแก้ปัญหาแดร็กคูล่าระหว่างโรมาเนียกับโลกตะวันตกโดยศึกษาเคานต์แดร็กคูล่าในนวนิยายและพระประวัติของเจ้าชายวลาด ตเซเปช และเป็นสมาชิกสมาคมทีเอสดีในโรมาเนียม ทั้งบัณฑิตยสภา นักประวัติศาสตร์ นักชาติพันธุ์วิทยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว และนักวิจัยผู้สนใจปรากฏการณ์แดร็กคูล่า

ปัจจุบันสมาคมมีสาขาอยู่ในประเทศต่างๆทั้ง แคนาดา สหรัฐฯ สวีเดน เยอรมนี และอิตาลี ฝนตกปรอยๆ และเสียงที่ปัดน้ำฝนซึ่งดังเอี๊ยดอ๊าดช้าๆก็ทำให้ผมได้ยินเรื่องราวที่ปาดู รารูกำลังเล่าให้ลูกทัวร์ฟังเพียงกระท่อนกระแท่น เขาบอกว่า “พวกคุณมาถึงที่นี่กันได้ก็เพราะนักเขียนที่ชื่อแบรม สโตเกอร์ เจ้าของนวนิยาย 18 เรื่องและเรื่องสั้นอีกมากมายผู้โด่งดังจากนวนิยายเรื่อง แดร็กคูล่า
กุมภาพันธ์ 2551

718
“พ.รบ.  คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข  พ.ศ. ..........  ”
   
   ในความเห็นของนักกฎหมาย  ที่ปรึกษากรรมการบริการสาธารณสุขของรัฐสภา  เสนอว่า
กฎหมายฉบับนี้ ไม่สมควรเสนอเข้าสภาเลย  เพราะขัดหลักกฎหมายว่าด้วยหลักสัดส่วน  ดังนี้

1.  ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์      
-  สร้างความสัมพันธ์อันดี      
ไม่สามารถบรรลุเพราะจะเพิ่มความหวาดระแวงกัน
-  ผู้เสียหายได้รับการชดเชยโดยเร็ว   
ไม่เร็ว  เพราะกรรมการมีอยู่ที่ กทม. แห่งเดียว
ขั้นตอนมากใช้เวลายาวนาน ในการดำเนินการขอชดเชย
-  ต้องการลดคดีฟ้องร้องผู้ให้บริการ      
ไม่ลด  กลับจะเพิ่มขึ้นมาก จากกลไกของมาตรา 6 (2)

2.  ความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ  นี้
-  ไม่จำเป็น เพราะ
เอกชนมีกลไกรองรับและฟ้องร้องได้ตามปกติอยู่แล้ว
โรงพยาบาลของรัฐมี พ.ร.บ  รับผิดทางละเมิดรองรับอยู่และ
ผู้ป่วยบัตรทองก็มี ม.41  รองรับอย่างดี

3.  ชั่งประโยชน์สาธารณะต้องได้ดุลย์กับเอกชนเท่าเทียมกัน
   -  ไม่เท่าเทียมเพราะรัฐผลักภาระให้เอกชน / ผู้ให้บริการ
   -  ลดประโยชน์ประชาชน (สาธารณะ) ในการรักษา
   -  เพิ่มภาระของเอกชน และ ผู้ให้บริการด้านเงินสมทบ

ควรทำอะไรในเวลานี้   
1)  รวบรวมรายชื่อ  10,000 ชื่อ จากกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ นี้ และ
2)  ถ้า พ.ร.บ ออกมาจนได้

ให้ทุกโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข แจ้งค่าใช้จ่ายเงินสมทบ  (5 บาท x OPD + 80 x  IPD) แก่ รัฐมนตรี ให้รับภาระหาเงินมาจ่ายกองทุนนี้เองเพราะ โรงพยาบาลจ่ายไม่ไหว

719

ต้นฤดูหนาว พ.ศ. 2543 ณ ริมรั้ววัดแห่งหนึ่งในชนบทภาคอีสาน มีสระน้ำใหญ่ที่ร่มครึ้มไปด้วย       แมกไม้ กลดของพระสงฆ์แขวนโยงเรียงรายไปตามคันดินรอบสระ  ถัดออกไปเป็นท้องทุ่งนาที่ข้าวกำลังตั้งท้องใกล้ออกรวง  เสียงใบข้าวสากๆสีกันดังเกรียวแว่วมาตามสายลมอ่อนที่พัดระลอกน้ำต้องแสงจันทร์ในสระเป็นคลื่นพลิ้ว เช่นเดียวกับผ้ามุ้งรอบขอบกลด  เป็นภาพที่ผมมองเห็นหลังจากค่อยๆลืมตาขึ้น  การนั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิราบ ขาขวาทับขาซ้าย หลังมือขวาทับฝ่ามือซ้าย  นั่งนิ่ง  หลังตรง และพยายามกำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจเข้าออกเป็นเวลานาน ทำให้ใจสงบ แต่กายกลับเมื่อยขบไปทั้งตัว   ผมไม่สามารถมองเห็นอิริยาบถของพระสงฆ์    ผู้เป็นสหธรรมิกรูปอื่นๆในกลดเหล่านั้นได้  ได้แต่เดาว่าคงอยู่ระหว่างทำสมาธิหรือพยายามข่มจิตให้เป็นสมาธิเช่นเดียวกับผม

ความสงบรำงับของคนหมู่มาก ถึงแม้จะกระจัดกระจายอยู่ห่างกันพอสมควร แต่ก็มีพลังโน้มน้าวให้ผมอยากทำสมาธิต่อไปอีก  แต่เป็นสมาธิในท่านอน มิใช่ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่เพราะกำลังพ่ายแพ้ต่อความง่วง  แต่เพื่อให้การนอนนั้นเป็นการนอนอย่างมีสติที่สุด  ผมจึงนอนในท่าตะแคงขวา มือหนึ่งรองแนบใบหน้า อีกมือหนึ่งทอดทาบไปบนลำตัว ใช่แล้วครับ นอนในท่าเดียวกับพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั่นเอง ที่ยากมากคือการซ้อนเท้า ตาตุ่มกลมๆทำให้เท้าไม่สามารถซ้อนสนิทกันได้ ทั้งยังเลื่อนไปไถลมา  ผมเลื่อนตาตุ่มหลบกันหน่อยหนึ่งตามตำรา  แล้วกลับไปกำหนดลมหายใจเข้าออก  พยายามไม่คิดถึงเรื่องใดๆ สักพักเมื่อรู้สึกว่าจิตสงบขึ้นก็ตั้งใจว่าจะตื่นนอนตอนสามนาฬิกาตรง

แต่แวบหนึ่ง ความสงสัยก็ผุดขึ้นในใจว่า เอ... พระอรหันต์สามารถนอนหลับโดยที่ยังมีสติอยู่ได้อย่างไรและการหลับทั้งที่ยังมีสตินั้นจะเรียกว่าการนอนหลับได้หรือ เป็นอย่างไรกันแน่หนอ... และแล้ว ผมก็ผล็อยหลับไปโดยไม่มีสติ  ในคืนที่สงบและหนาวเย็นนั้น

หลายชั่วโมงต่อมา ผมรู้สึกตัวตื่น และหยิบนาฬิกาปลุกขึ้นเพ่งดูในความสว่างของคืนเดือนหงาย  สักพักก็มองเห็นเข็มวินาทีกำลังเคลื่อนจากวินาทีที่ห้าสิบแปด...ห้าสิบเก้า และหกสิบ ที่สามนาฬิกาตรง  ผมรีบกดปุ่มปิดเสียงปลุกก่อนที่มันจะดังขึ้น 

                ตำราบอกว่าหากตั้งใจมากไปก็จะตื่นก่อน หย่อนไปก็จะตื่นหลัง แต่การตื่นได้ตรงตามเวลาที่ต้องการนั้นเป็นธรรมดาของผู้ฝึกสมาธิจนชำนาญ   

นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ผมตื่นได้ใกล้เวลาที่ตั้งใจไว้มากขนาดนั้น เป็นประสบการณ์สมาธิหลังจากบวชเป็นพระมากว่าร้อยวัน  และยังคงประทับใจจนปัจจุบัน

“ความรู้อันยอดยิ่ง”

ย้อนหลังไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น บนยอดเนินเขาใกล้ชายแดนไทย-พม่าในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เบื้องล่างคือแม่น้ำสาละวินที่ไหลมาจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ กลางวันมีเสียงปืนประปรายจากฝั่งตรงข้าม แต่ในยามค่ำคืนเช่นนี้กลับได้ยินแต่เสียงน้ำซัดโขดหินใหญ่ดังครืนๆ รอบกองไฟที่กลุ่มนักศึกษาหนุ่มนั่งล้อมวงสนทนาบนลานดิน พระภิกษุวัยห้าสิบต้นๆนั่งบนถังพลาสติก พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมที่มักมีความคิดแผลงๆต่างแย่งกันสอบถามถึงเรื่องราวต่างๆในมุมมองสนุกสนานและคึกคะนองตามวัย   ท่ามกลางบทสนทนาออกรสออกชาติ   ที่ดำเนินอยู่นั้น ผมนึกลังเลใจกับคำถามของตนเอง แต่ยังไม่ทันเอ่ยปากถาม หลวงพ่อกลับเป็นฝ่ายถามผมขึ้นว่า “เอ้า...ว่ายังไง เดอะ โชว์ มัส โก ออน” ผมชะงักไปครู่หนึ่งจึงตอบท่านกลับไปว่า

“อ๋อ...ครับหลวงพ่อ คือผมอยากจะทราบที่ฝรั่งเขาว่า เดอะ โชว์ มัส โก ออน คือคนหนุ่มอย่างเรา             ก็เหมือนนักแสดงที่กำลังโลดแล่นอยู่ในโลก  คงจะสงบได้ยากและเราจำเป็นต้องสงบด้วยหรือครับ” แต่แทนที่   ผมจะตั้งอกตั้งใจฟังคำตอบจากปากท่าน จิตใจผมกลับว้าวุ่นนึกสงสัยในใจว่า “เอ... เรายังไม่ได้ถามเลยนี่นา แล้วนี่หลวงพ่อมาล้วงคำถามจากในใจไปได้อย่างไรกัน” คืนนั้นผมเข้านอนด้วยความรู้สึกสับสน ใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่า เราอาจพลั้งปากถามออกไปโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่ท่านยังไม่มีจังหวะตอบทันทีก็เป็นได้...

เช้าวันรุ่งขึ้น แดดยามสายทาบทาแม่น้ำสาละวินจนทอประกายระยิบระยับ ผมนั่งในหลุมฐานรากของพระธาตุสถาปัตยกรรมไทใหญ่ กำลังก้มๆเงยๆใช้เสียมขุดดิน  เหตุแห่งการมาของพวกเราในคราวนี้ก็เพื่อเสริมฐานรากของพระธาตุน้อยที่กำลังทรุดโทรมองค์นี้ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลวงพ่อเดินขึ้นมาพูดคุยทักทาย     พวกเรา ก่อนจะมาหยุดที่ผม ท่านเอ่ยถามเรื่องการเรียนของผมที่มหาวิทยาลัย  “มีข้อขัดข้องสงสัยอย่างไรอยู่หรือ” ผมจึงเริ่มเล่าว่า “ไม่ใช่เรื่องขัดข้องอะไรหรอกครับหลวงพ่อ แต่ผมอยากฟังจากหลวงพ่อเกี่ยวกับปรัชญาการออกแบบอย่างหนึ่งในโลกสถาปัตยกรรมที่ผมสนใจและชอบใจมาก คือเรื่องปรากฏการณ์ศาสตร์”

“เขาว่าวัตถุในโลกเหมือนจะประกอบจากสองสิ่ง คือสิ่งอันมีอยู่แต่ไม่แสดง ฝรั่งเรียกว่า แอบเซนซ์”    ผมว่า

“ส่วนนี่” ผมตบเบาๆไปที่ฐานฉาบปูนสีขาวขุ่นของพระธาตุโบราณที่อยู่ตรงหน้า ยังไม่ทานขาดคำ หลวงพ่อก็พูดขึ้นว่า “ก็ เพรสเซนซ์ สิ่งอันแสดง”

ผมมองดูใบหน้ายิ้มแย้มสดใสในแดดสายของภิกษุสูงวัย อดีตนายดาบตำรวจจากอยุธยาที่ลาออกจากราชการมาหลายสิบปี ทิ้งความสับสนวุ่นวายของโลกไว้เบื้องหลัง  ผมมองนิ่งอยู่ ไม่พูดอะไร ได้แต่รอฟังหลวงพ่อพูดเรียบๆแต่ระมัดระวัง ราวกับจะบอกผมเป็นนัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหาใช่เรื่องน่าตื่นเต้น หรือลึกล้ำพิสดาร “ก็เหมือนวิชาที่เธอได้ร่ำเรียน เธอย่อมมีความรู้ความชำนาญและทำได้  ฉันเองก็เหมือนกัน” ท่านยิ้มอย่างเมตตาแล้วเดินจากไป...

เหตุการณ์ในวันนั้นไม่เพียงวนเวียนอยู่ในความคิดผม แต่ยังจุดประกายความอยากรู้ให้ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับการฝึกจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ผมอดคิดไม่ได้ว่า  ความนึกสนุกอยากลองดีของผมต่อพระนักปฏิบัติรูปนั้น โดนกำราบอย่างไร้ข้อกังขาด้วยเจตนาและเมตตาธรรมของท่านที่ตั้งใจทำให้ผมเชื่อในพลังแห่งสมาธิ หรือนี่คือหนึ่งในสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอภิญญาหก  หรือความรู้อันยอดยิ่ง 6 ประการ ได้แก่ มีฤทธิ์  หูทิพย์ ตาทิพย์  หยั่งรู้ใจผู้อื่น  ระลึกชาติ และสุดท้ายคือการทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป 

ห้าข้อแรกนั้นเป็นญาณในทางโลก หรือโลกียอภิญญา  มนุษย์ทำได้ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา  เป็นอภิญญาที่มีการเสื่อมถอยและสร้างขึ้นใหม่ได้  ทั้งห้าข้อนี้ทำให้มนุษย์ตื่นเต้นมาทุกยุคทุกสมัย ทว่าพุทธศาสนากลับไม่เสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซ้ำยังติเตียนใครก็ตามที่หลงมัวเมากับสิ่งเหล่านี้ว่า ผู้เมาฤทธิ์ เพราะหาได้เกี่ยวข้องกับการพ้นทุกข์ไม่  เรื่องราวเกี่ยวผู้เมาฤทธิ์มีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น ฤาษีชื่อโรหิตัสสะผู้สามารถเหาะเหินเดินอากาศด้วยความเร็วดังว่าย่างเท้าเดียวข้ามมหาสมุทร เหาะไปตลอดร้อยปีไม่  หยุด ด้วยเห็นว่าถ้าเดินทางพ้นโลกนี้ไปได้น่าจะเป็นภพใหม่ที่ไร้ทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด   แต่สุดท้ายยังไม่ทันถึงที่สุดจักรวาล ก็ตายลงเสียก่อน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าฤทธิ์ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ 

หนทางแห่งอริยชนและอริยเจ้าทั้งหลายในพุทธศาสนา  จึงมุ่งไปยังข้อที่หกอันเป็นโลกุตระอภิญญาที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีเสื่อมถอย และนำไปสู่การบรรลุธรรมสูงสุดคือ  นิพพาน   

ณ ยอดเนินเขาเล็กๆริมแม่น้ำสาละวินนั่นเองที่ผมได้ยินประโยค “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” จากวาจาของมนุษย์ซึ่งได้สำแดงหนึ่งในอภิญญาให้ประจักษ์แก่ผม 

ความหมายแห่งสมาธิ

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิตอย่างแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกซัดส่ายไปมาจาก       เรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป พวกเราคงคุ้นเคยกับสภาพแบบนี้ดี 

ในหนังสือ พุทธธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ซึ่งเป็นตำราร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาท  อธิบายลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิว่ามีลักษณะสำคัญดังนี้  คือ แข็งแรง  มีพลังมากเหมือนกระแสน้ำที่พุ่งไปทางเดียว  ราบเรียบ  สงบซึ้งเหมือนบึงน้ำใหญ่ ใสกระจ่างเหมือนน้ำนิ่งสนิทที่ตกตะกอนแล้ว จึงมีสภาพนุ่มนวลควรแก่งานต่างๆ

แข็งแรง และนุ่มนวล  ควรแก่งานต่างๆ...

กุลยา คูธนะวนิชพงษ์ คงเป็นคนหนึ่งที่ชินกับการใช้สมาธิในงานของเธอ เพราะสถาปนิกผู้นี้ต้องใช้สมาธิเพื่อปรุงเหตุผลกับจินตนาการเข้าด้วยกันเวลาออกแบบ 

แต่นั่นเป็นสมาธิคนละแบบกับที่เธอได้รับคำแนะนำจากคุณแม่ ซึ่งเป็นอาจารย์พยาบาลสูตินรีเวชผู้สอนให้เธอรู้จักกับสมาธิสำหรับการคลอด ตั้งแต่เมื่อตอนคลอดลูกสาวคนโต และบัดนี้กุลยาต้องพึ่งพาสมาธินี้อีกครั้ง

ท่ามกลางเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของว่าที่คุณแม่ท่านอื่นบนเตียงรอคลอดรอบข้าง  กุลยากำหนดให้ความเจ็บปวดระบายออกมากับลมหายใจยาวที่มีเสียงดังฟู่...ฟู่เท่านั้น สมาธิจากการเฝ้าดูลมหายใจทำให้เธอรอเคยเวลาด้วยจิตใจสงบเยือกเย็น ส่วนสตินั้นเล่าก็ทำให้เธอตื่นเต็มที่เพื่อรับรู้ว่านี้คือกระบวนการคลอด

เธอบอกว่า “รู้ถึงความเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องจัดการเอง” เมื่อจับจังหวะการปวดได้ว่ามีลักษณะเป็นรอบๆ เธอจึงรอคอยจนรอบที่แท้จริงมาถึง  ก่อนบอกแก่พยาบาลผู้ดูแลว่า  “คุณพยาบาลคะช่วยมาดูหน่อยค่ะ รู้สึกว่าจะคลอดแล้ว” 

บนเตียงคลอด กุลยาสูดลมหายใจให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้  ลึกจนรู้สึกว่าไม่มีช่องว่างเหลืออยู่ใน         กายแล้ว จึงปลดปล่อยลมหายใจออกมาพร้อมกับการเบ่งครั้งที่หนึ่ง... ครั้งที่สอง ระหว่างนี้เธอรับรู้ถึงการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างแม่กับลูก เธอเริ่มสูดลมหายใจใหญ่อีกครั้ง  และในครั้งที่สามนั่นเอง เธอก็ให้กำเนิดบุตรชายที่น่ารักอย่างปลอดภัย

“เข้าใจเลยว่าพลังลมปราณเป็นอย่างไร” เธอบอก  จิตที่เป็นสมาธิสามารถทำให้เกิดพลังขึ้นทั้งทางใจและทางกาย 

แล้วสภาพจิตที่ไม่เป็นสมาธินั้นนั่นเล่า มีลักษณะอย่างไร   

หากเป็นสภาพที่ตรงกันข้าม ก็ย่อมหมายถึงความอ่อนแอและแข็งกระด้าง ไม่ควรแก่การงานใดใด

“นิวรณ์ห้า”  คือสิ่งที่เป็นเครื่องขัดขวาง  หากพบนิวรณ์ที่ไหน ที่นั่นไม่มีสมาธิ  พระพุทธเจ้าทรงยกรูปธรรมเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า...

เริ่มจากในห้องมืด เอาน้ำขุ่นข้นอันเป็นตัวแทนของ วิจิกิจฉา หรือความลังเลสงสัยเติมใส่ภาชนะ ใส่สีต่างๆลงไป เช่น สีเหลืองจากขมิ้น  สีแดงจากครั่ง ซึ่งเปรียบได้กับ กามฉันทะ หรือความอยากต่างๆ จากนั้น ยกขึ้นตั้งเตาเร่งไฟจนเดือดพล่าน อุปมาเหมือนจิตใจที่รุ่มร้อนไปด้วย พยาบาท หรือความขุ่นเคืองขัดใจ แล้วจึงใส่สาหร่าย  จอกแหนและผักน้ำ อันเป็นรูปธรรมของ ถีนมิทธะ หรือความง่วงหงาวหาวนอน ก่อนจะเป่าผิวน้ำนั้นด้วยลมแห่ง อุทธัจจกุกกุจจะ หรือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

แล้วก้มลงมองดูเงาสะท้อนของตนในซุปประหลาดนั้น  อุปมาดังพยายามมองดูจิตตนขณะนิวรณ์ทั้งห้าครอบงำ ย่อมไม่มีทางเห็นได้เลย ฉันใดก็ฉันนั้น นิวรณ์ทั้งห้าขัดขวางสมาธิและทำให้สภาพของจิตไม่เหมาะแก่การงานใดๆทั้งสิ้น

โดยทั่วไป คนเราย่อมมีสภาวะจิตที่เป็นสมาธิและไม่เป็นสมาธิสลับกันอยู่ตลอดทั้งวัน สมาธิแบบหนึ่งจะเกิดแก่เราในเวลาที่ตั้งใจทำอะไรบางอย่างอย่างแน่วแน่  เช่น ศิลปินวาดภาพอยู่ตามลำพังในสถานที่อัน         เงียบสงบ  เด็กๆเฝ้าดูสิ่งต่างๆในธรรมชาติ  หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังเล่น  นี่เป็นสมาธิชั่วขณะ  ไม่มั่นคง อาจถูกรบกวนให้แปรเปลี่ยนได้โดยง่าย

เฝ้าดูจิตตน

สมาธิในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นแบ่งเป็นลำดับขั้น ได้แก่ ขณิกสมาธิ  (momentary concentration) สมาธิชั่วขณะ อุปจารสมาธิ (access concentration) สมาธิที่จวนเจียนจะแน่วแน่  และ อัปปนาสมาธิ (attainment concentration) สมาธิที่แน่วแน่ แนบสนิท

โดยทางธรรมแล้ว ผมไม่อาจถามเยาวลักษณ์ ถมปัทม์ ผู้เป็นพี่สาวแท้ๆว่า เธอสามารถทำสมาธิได้ถึงระดับใด บางทีเธออาจไม่ได้สนใจไปถึงขั้นนั้น สมาธิของเธออาจหมายถึงการข่มความเศร้าโศกอันใหญ่หลวง จากการสูญเสียบิดามารดาในอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปลายปี 2550 การสวดมนต์โดยออกเสียงทั้งกลางวันกลางคืน การทำสมาธิที่บ้าน และการเข้าร่วมกิจกรรมการปฏิบัติธรรมหลายแห่งตลอดระยะเวลาเกือบสองปี ให้ประโยชน์แก่เธออย่างไรบ้าง “เหมือนทำให้เราตื่น” เธอเปรียบชีวิตก่อนการฝึกสมาธิว่าเหมือนการหลับ หรือหลงไปตามเสียงเพลงและละครอยู่ตลอดเวลา จิตมีสภาพเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย  เมื่อฝึกได้สักพัก เธอบอกว่า “การตื่น” ทำให้เธอสามารถหยุดร้องไห้ด้วยความคิดว่า “เอ๊ะ... นี่เรากำลังหลงใหลไปกับละครและเพลงเศร้าอีกแล้ว”

 นี่คือสติหรือการระลึกรู้ที่เธอบอกว่ามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากที่ก่อนหน้านั้นกว่าจะรู้ตัว ก็ปล่อยให้ตัวเองเศร้าโศกจมทุกข์อยู่หลายวัน  เธอบอกว่า ทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่รู้ตัวในวินาทีนั้นเอง วินาทีที่อดีตพยายามไล่ตามมาให้ทัน

ดูเหมือนว่าการหลับตา กลับทำให้เธอตื่นขึ้น   

สมบัติใกล้แค่ปลายจมูก

ศาสตร์แห่งการทำสมาธิของมนุษย์นั้นมีมายาวนานเพียงใด

พระพุทธองค์ประสูติเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว ณ ดินแดนที่องค์ความรู้ทางสมาธิเจริญงอกงามอยู่ก่อนแล้ว  และพระองค์ก็ทรงเริ่มต้นแสวงหาจากการศึกษาในสำนักของอาจารย์ผู้สอนในแนวทางของสมาธิและการเข้าฌาน  ครั้นเมื่อตรัสรู้ก็ทรงสรรเสริญแนวทางอาณาปานสติ หรือการทำสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเข้าออกว่าทรงอยู่ในวิหารธรรมนี้โดยส่วนมากตลอดพระชนม์ชีพ

หลายคนคงนึกสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เพียงการหยุดคิดแล้วเฝ้าตามดูลมหายใจตนเองจะเป็น      ปฐมบทแห่งการเปลี่ยนมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆให้พัฒนาขึ้นเป็นอริยบุคคลที่อยู่เหนือทุกข์ทั้งมวล หากเปรียบไปแล้ว ลมหายใจของเราคงไม่ต่างอะไรจากสมบัติติดตัวล้ำค่าที่อาจนำพาเราก้าวเดินไปสู่ศักยภาพอันมหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่จะพึงมีได้ไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม แต่เรากลับไม่รู้ตัวหรือไม่เชื่อว่าตนมีสมบัติอันล้ำค่านี้อยู่แค่ปลายจมูก จึงไม่เคยได้เรียนรู้และฝึกฝนเพื่อเอาไปใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย 

สมาธิเป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง  แต่ปัจจุบันสมาธิกลับถูกใช้ไปในทางแก้ไขเยียวยา  ชาวโลกจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจสมาธิเพราะความป่วยไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนดูเหมือนว่าการที่โลกน่าอยู่น้อยลงทุกวัน  กลับมีส่วนทำให้สมาธิแพร่หลายมากขึ้นหรือไม่ 

หากมองในแง่ดี สำหรับโลกตะวันออกซึ่งแต่เดิมสมาธิเป็นเรื่องของพระนักปฏิบัติหรือไม่ก็ผู้สูงวัย      แต่ปัจจุบัน เรากลับพบเห็นคนหนุ่มสาวในสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ หรือแม้แต่เด็กเล็กๆตามโรงเรียน ขะมักเขม้นกับการทำสมาธิ ในแง่นี้สมาธิจึงเป็นเครื่องมือพัฒนาคน

ส่วนในตะวันตกซึ่งเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์และปัญญาทางวัตถุ  สมาธิได้แพร่หลายเข้าไปพร้อมๆกับความสนใจในคำสอนทางศาสนาจากโลกตะวันออก ชาวตะวันตกผู้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์วิจัย มีส่วนอย่างมากในการขยายขอบเขตการรับรู้เรื่องสมาธิให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมต่อชาวโลก 

รายงานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จำนวนมากมายแสดงให้เห็นประโยชน์ของการทำสมาธิ  ทั้งๆที่การทดลองเหล่านั้นส่วนมากออกแบบให้ทำสมาธิเบื้องต้นเท่านั้น และเราไม่อาจรู้ว่าผู้ร่วมการทดลองเข้าถึง   สมาธิในระดับใด และผลการทดลองที่เกิดขึ้นมาจากสมาธิระดับใดกันแน่   กระนั้น รายงานเหล่านั้นก็ชี้ชัดว่าสมาธิมีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ เสริมสร้างสุขภาพทั้งกายใจ      เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน การสร้างสรรค์ทางศิลปะและวิทยาการ ไปจนถึงการกีฬาแทบ    ทุกประเภท

แต่ก็ใช่ว่าสมาธิจะมีแต่ด้านบวก ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ เช่น งานวิจัยของดร.ดีน แชปีโร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตเวช แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า จากผู้เข้าฝึกกรรมฐานติดต่อกันสองสัปดาห์จำนวน 27 ราย มี 17 ราย (ร้อยละ 62) เกิดอาการหวาดกลัว เครียด สับสน ซึมเศร้า สงสัยในตนเอง อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างปฏิบัติ ในจำนวนนี้หลายคนเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญแล้ว นอกจากนี้    ยังมีรายงานถึงผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติ  เช่น การเป็นตะคริว และอาการรู้สึกไม่ยินดียินร้าย       เป็นต้น

ในเรื่องนี้ คำสอนของครูบาอาจารย์หลายท่านที่สอนสมาธิแนวพุทธเถรวาทในประเทศไทย ได้กล่าวเตือนถึงข้อควรระวังหลายประการในการปฏิบัติสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน   เพราะการเริ่มฝึกสมาธิก็เปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นการเดินทางท่องโลกภายในจิตใจตนเอง  และก็เช่นเดียวกับการเดินทางทั้งหลายที่อาจเกิดการหลงทางได้ ในสังคมของนักปฏิบัติสมาธิจึงมีการแลกเปลี่ยน สอบทานความรู้กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในลักษณะกัลยาณมิตรและศิษย์กับอาจารย์

เยียวยาความเจ็บไข้

“พยาบาลนิก” หรือ ศุภภร ธรรมชูวงศ์  อดีตผู้ป่วยหนักจวนเจียนจะเสียชีวิต เธอใช้เวลาหลายปีในการรักษาร่างกายและจิตใจ จากการเป็นแล้วกลับเป็นอีกของ “มะเร็ง” โรคร้ายที่กัดกินแม้แต่จิตใจของคนปกติให้สั่นคลอนและหวาดหวั่น เธอบอกว่าจากที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้เมื่อ 12 ปีก่อน กว่าจะเข้าใจวิธีการรักษาสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจก็เพิ่ง 5 ปีมานี้เอง ความสมดุลที่ว่านี้คือสิ่งที่เธอค้นพบจากประสบการณ์ของตนเอง และได้ใช้   มันช่วยเยียวยาผู้คน 

การ “คิดรก” อาจหมายถึงนิวรณ์ เป็นสิ่งแรกๆที่เธอแนะนำผู้ป่วยให้ขจัดออกไปให้เร็วที่สุด ผู้ป่วยเอดส์มักตกเป็นเหยื่อของการคิดรก ผ่านอาการหม่นหมองกังวล ไม่ยอมรับตนเอง ไม่กล้าเปิดเผยตัว ความเครียดและความเจ็บป่วยในที่สุดจะก่อให้เกิดโทสะและความคิดร้าย หลายคนลงเอยด้วยการคิดฆ่าตัวตาย 

เมื่อการคิดรกขัดขวางการบำบัดรักษา ศุภภรบอกว่าเธอมี “เครื่องมือหลายอย่าง” ดูเหมือนกระเป๋า “ยา” ของเธอนอกจะมียาดีชื่อสมาธิแล้ว ยังมีศีล และปัญญาด้วย เธอหอบหิ้ว “พุทธวิธี” เหล่านี้ไปทุกที่เพื่อช่วยเหลือผู้คน

“อย่างศีลข้อหนึ่ง เว้นจากการฆ่าสัตว์ หากทำได้จิตย่อมเกิดเมตตาและปีติสุข”  เมตตานั้นเป็นยา
รักษาโทสะการคิดร้าย  ซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ที่มีสภาพดังไฟเผาจิต “สุราเมรัยถ้าเว้นได้ร่างกายก็ย่อมแข็งแรง...ใช่ไหมคะ” ผมเริ่มรู้สึกถึงพลังในการทำงานของเธอ  อาจเป็นพลังจากสมาธิที่สั่งสมเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นผู้ป่วยเต็มขั้น  พยาบาลนิกบอกว่าสมาธิทำให้เธอ “รู้สึกถึงพลัง รู้สึกถึงเซลล์ในร่างกายทั้งร้ายและดีที่กำลังได้รับการรักษาเยียวยาและกำลังเบิกบาน” 

ปัจจุบัน ศุภภรรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรโครงการสมาธิบำบัด ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้งานของเธอขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง   เช่น โรงพยาบาลในสี่จังหวัดอีสานใต้  ปัจจุบันมีเสียงตามสายที่จะน้อมนำทุกคนให้ทำกิจกรรมง่ายๆไปพร้อมๆกันทั้งโรงพยาบาล  ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วย และญาติผู้กระวนกระวายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแพทย์ พยาบาล และพนักงานผู้เคร่งเครียดทุกคนที่จะมีโอกาสได้พักและรักษาจิต    ด้วยการทำสมาธิ  สวดมนต์ และแผ่เมตตา

สมาธิครั้งแรก...ลมหายใจครั้งสุดท้าย 

สองปีมาแล้ว ด้วยจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าเรียนมากเกินความคาดหมาย ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  หนึ่งในสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาชีวิตและความตาย  ได้บรรจุวิชากรรมฐานซึ่งเป็นอุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำสมาธิแบบต่างๆ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร  โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อสร้างบัณฑิตผู้สามารถนำพาผู้ป่วยระยะสุดท้าย และแม้แต่ตนเองให้จากโลกนี้ไปอย่างดีที่สุด

เมื่อความตายกำลังคืบคลานเข้ามาทีละน้อย ขณะที่เรายังมีความรู้สึกนึกคิด ความกลัวอาจเป็นความเจ็บปวดที่สุดของใจซึ่งถาโถมเข้ามาพร้อมกับความเจ็บปวดที่สุดของร่างกายซึ่งทับทวีขึ้นเรื่อยๆ   เราจะต้องเผชิญกับสภาพนั้นเพียงลำพัง  ไม่ว่าจะมีญาติมิตรล้อมรอบดูใจหรือไม่ก็ตาม  ในสภาพเช่นนี้  สมาธิอาจเป็นสิ่งเดียว  เป็นความรู้เดียวของมนุษยชาติในบรรดาความรู้ทั้งหลาย  ที่จะช่วยให้เราบริหารเวลาสุดท้ายที่มีอยู่น้อยนิด  มาทำประโยชน์อันยิ่งแก่ตนเอง นั่นคือทำความสงบให้เกิดแก่การตายของเราเป็นเบื้องต้น  และการดับสนิท เป็นเบื้องปลาย

ขอเพียงให้จิตได้ละวางทุกขเวทนาทั้งหมด แล้วดิ่งลงสู่สมาธิ  แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆก็พอ         

เสี้ยวเวลาระหว่างการเวียนว่าย

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้ทำสมาธิอย่างจริงๆจังๆเลย  จนกระทั่งเมื่อหกเดือนก่อน  ระหว่างทางเดินเชื่อมอาคาร     ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด  สามชั่วโมงที่ผมเดินเตร่ไปมา ด้วยความห่วงกังวลอยู่หน้าห้องคลอด  มือหนึ่งหิ้วถุงขนมและกระเป๋าเล็กๆใส่เสื้อผ้ากับของใช้จุกจิกอย่างแปรงสีฟัน มือหนึ่งจูงลูกสาววัยสี่ขวบ การรอคอยในฐานะพ่อซึ่งกำลังจะมีลูกอีกคน ในวันนี้ เด็กที่กำลังจะเกิดมาจะไม่มีปู่และย่ามารอต้อนรับสู่โลก และคอยประคบประหงมอย่างสุดรักเหมือนกับพี่สาวน้อยๆของเขา  ไม่ว่าจะคิดไปทางไหนหรืออย่างไร ผมก็อดกลัวไม่ได้ว่าความสูญเสียอันใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นกับครอบครัวเราอีกไหม  ภาพแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย วังวนอันน่าอึดอัดและทนได้ยากในฐานะทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ มีให้เห็นและสัมผัสได้อย่างครบถ้วนและใกล้ชิดในโรงพยาบาล   

พลันก็มีเสียงของสุภาพสตรีท่านหนึ่งดังขึ้นมาจากลำโพงสีดำที่แขวนอยู่บนเพดาน น้ำเสียงนั้นฟังดูอ่อนโยน นุ่มนวล ชวนให้เราทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ได้พักใจสักครู่หนึ่งจากทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วใช้เวลาสั้นๆนั้น...ทำสมาธิ... เธอขอให้เราละวางกังวลทั้งหมด  แล้วดิ่งลงสู่สมาธิจิตไปพร้อมๆกับเธอ   

แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่าช้างกระดิกหู สั้นเท่างูแลบลิ้น...ก็เพียงพอแล้ว
ตุลาคม 2552

720

มนุษย์ฆ่า พังคี พญานาคหนุ่มแห่งเมืองบาดาล ผู้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาเฝ้าชมความงามของนางไอ่คำด้วยหลงรัก แต่พญานาคในร่างกระรอกน้อย กลับถูกจับมาแล่เนื้อเถือหนังแจกจ่ายให้ชาวเมืองกินกันทั่ว เผ่าพันธุ์พญานาคโกรธแค้นพากันยกพลขึ้นมาทำสงครามถล่มแผ่นดิน ไล่เข่นฆ่านางไอ่คำ และชาวเมืองขอมดินแดนอันเรืองรองจนมลายจมลงเป็น “หนองหาน” คือเรื่องเล่าตามนิทาน ผาแดงนางไอ่ ที่ชาวพื้นถิ่นผูกขึ้นอธิบายปรากฎการณ์การทรุดตัวของแผ่นดินจากธารน้ำบาดาลไหลเซาะโดมเกลือใต้ดินจนทรุดเป็นทะเลสาบน้ำจืดอันไพศาลเมื่อนานปีล่วงมาแล้ว

สีสันของสายลมแล้ง

เมื่อฤดูแล้งมาถึง น้ำที่หลากท่วมเหือดลง ลานดินริมห้วยหนองเกิดเป็น ดินเอียด บางทีเรียก “ขี้บ่อ” หรือดินเค็มที่ใช้ทำเกลือ เจ้าจ้ำ           ผู้สื่อสารกับวิญาณประจำหมู่บ้านกำหนดวันเซ่นไหว้ นางเพียงแก้ว วิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งบ่อเกลือ ส่งสัญญาณให้ผู้ที่จะต้มเกลือลงขูดดินเอียด เตรียมวัตถุดิบสำหรับทำ เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือขี้ทา โดยนำธูปเทียน ดอกไม้ หมาก พลู “ดอกบัว” (ปลัดขิกทำจากกิ่งไม้) มาไหว้ที่ศาลใกล้ๆบ่อเกลือเพื่อขอพรจากวิญญาณในผงดินแห่งความเค็มที่พวกเขาเคารพศรัทธา ขอให้ได้เกลืองามๆ ก่อนจะตั้งเตาต้มเกลือ

                เสียงสรวลเสในหมู่คนต้มเกลือเป็นสีสันของสายลมแล้งริมทุ่งหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เรื่องสองแง่สามง่ามที่สรรหามาเล่าเป็นเรื่องสุดฮาของหมู่คนต้มเกลือหญิง การโอ้อวดรูปร่าง ขนาด สีสันของ “ดอกบัว” หรือท่อนไม้ที่บากแต่งสมมุติเป็นอวัยวะเพศชายที่ใช้บูชานางเพียงแก้ว เรียกรอยยิ้มเสียงหัวเราะ ช่วยคลายเหนื่อยคลายร้อน ไม่ขัดต่อศีลธรรม ยิ่งพูดเรื่องใต้ร่มผ้ายิ่งทำให้ได้เกลือสมบูรณ์ เพราะเชื่อว่านางเพียงแก้วชอบ บ่อเกลือในอดีตจึงเป็นแหล่งที่หนุ่มสาวได้พบปะแสดงออกต่อกันอย่างเปิดเผยจนหลายคู่พบรักกันที่บ่อเกลือ

                สวน  สุขารมย์ อายุ 68 ปี นักต้มเกลือรุ่นใหญ่ชาวบ้านอุ่มจาน ตำบลอุ่มจาน อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เล่าบรรยากาศการต้มเกลือที่บ่อเกลือโนนหนองเหล็ก บ่อเกลือริมหนองหานกุมภวาปี ซึ่งเดิมกว้างขวางและมีชาวบ้านหลายร้อยคนจากหลายหมู่บ้านวนเวียนมาต้มเกลือ แม่เฒ่านึกถึงวัยสาวด้วยดวงหน้าพรายยิ้มราวกับเพิ่งผ่านไปไวๆนี้เอง มหกรรมแห่งฤดูแล้งที่ผู้คนวนเวียนมาต้มเกลือ นำสิ่งของมาแลกเกลือโดยเฉพาะปีที่น้ำจากหนองหานหลากท่วมจนได้ข้าวน้อยไม่พอกิน ปีนั้นต้องต้มเกลือมากๆ แล้วชักชวนกันเป็นคาราวานนำเกลือใส่เกวียนเทียมวัวนับสิบๆเล่มออกเดินทางจากบ้านลุ่มไปแลกข้าวกับชาวบ้านดอน ในอัตราเกลือ 1 ส่วนต่อข้าว 1 ส่วน  “ข้าวแลกเกลือ...เกลือแลกข้าว ขุต่อขุ  ต่าต่อต่า  ขายกะขายแลกกะแลก”  กองคาราวานเกวียนเกลือวันนี้ไม่มีแล้ว         แต่เสียงประกาศจากรถเร่แลกเกลือกับข้าวยังคงป่าวแลกป่าวขายอยู่ในชุมชนอีสาน เพราะคนอีสานนิยมเกลือพื้นบ้านทำให้เกลือต้มพื้นบ้านราคาแพงกว่าเกลือจากนาเกลือหรือเกลือโรงงานถึงสองเท่า

                ก่อนจบฤดูทำเกลือในแต่ละปี เมื่อได้เกลือตามที่ต้องการ เกวียนจำลองหรือรถสิบล้อจำลองขนาดเท่าฝ่ามือ ผูกโครงขึ้นมาจากซีกไม้ไผ่เล็กๆใช้บรรทุกเกลือพร้อมเครื่องไหว้บูชามาไหว้นางเพียงแก้ว เช่นเดียวกับเมื่อตอนลงต้มเกลือเป็นการคารวะขอบคุณนางเพียงแก้วที่มอบธาตุแห่งความเค็มนี้มาให้ และที่จะลืมไม่ได้ก่อนเก็บข้าวของกลับเรือน พวกเขาจะหิ้วตะกร้าเกลือพร้อมกับจอบเสียมไปขุดหลุมหยอดเกลือแล้วกลบฝัง เป็นการ “ปลูกเกลือ” เพื่อเพาะเชื้อพันธุ์ความเค็มให้มีดินเอียดอีกในปีหน้า

 

ร่องรอยอาณาจักรเกลือ 3,000 ปี

เส้นทางสายเกลือจากอีสานมีความสำคัญต่อผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ต่างจากทางสายไหมที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับยุโรป เพราะเกลือเป็นแร่ธาตุจำเป็น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอารยธรรมโลหะโดยเฉพาะเหล็ก จึงทำให้มนุษย์พยายามแสวงหา ครอบครอง และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเกลือมาใช้อย่างไม่หยุดยั้ง     

สุจิตต์ วงษ์เทศ  กล่าวในเวทีเกลือพื้นบ้าน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ว่า “ไม่แน่ว่ามนุษย์ผลิตเกลือมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว โดยเกิดขึ้นพร้อมๆกับสังคมการเพาะปลูกข้าว  เมื่อมนุษย์เริ่มตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง มีการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์  ซึ่งมักจะอยู่ใกล้ๆแหล่งเกลือ ไม่ว่าไทย มอญ พม่า เขมร หรือลาว เพราะเกลือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อาหารการกินของผู้คน... เกลือสำคัญเช่นกันกับข้าว มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าการผลิตเกลือในอีสานมีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี  เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  จังหวัดอุดรธานี  มีการผลิตข้าวเหนียวกับเกลือแล้ว  และแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...”  ความที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่ง “เกลือกับเหล็ก” จึงมีผู้คนจากทุกสารทิศมาตั้งหลักแหล่ง   เพื่อทำเกลือซึ่งเกี่ยวข้องกับการถลุงเหล็กหรือโลหะ โดยใช้เกลือช่วยให้จุดหลอมละลายโลหะต่ำลง เห็นได้จากเวลาตีเหล็กทำเคียว ช่างตีเหล็กจะเอาเหล็กเผาไฟให้แดงโล่แล้วคีบออกมาชุบน้ำเกลือก่อนตีทำให้ตีขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น  ที่สำคัญการทำเกลือที่พบในแถบทุ่งกุลานั้นไม่ใช่ทำเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ทำเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนกับอาณาจักรเขมรซึ่งไม่มีเกลือ รวมถึงเมืองชายทะเลปากน้ำโขงที่ไม่อาจทำเกลือสมุทรได้เพราะเป็นชายหาดโคลน
พฤศจิกายน 2552

หน้า: 1 ... 46 47 [48] 49 50 51