ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐบาลจะโอนงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการไปให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชน  (อ่าน 741 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่า จะให้บริษัทเอกชนรับประกันสุขภาพให้แก่ข้าราชการ ซึ่งข่าวนี้ ทำให้ผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการมีความวิตกห่วงใยว่า จะเป็นสาเหตุให้ข้าราชการถูกตัดสิทธิบางอย่างในการรักษาพยาบาลออกไปด้วยหรือไม่ จนทางโฆษกรัฐบาลได้ออกมายืนยันว่ารัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีการตัดสิทธิข้าราชการ (1)
แต่กลับมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง อ้างว่าเป็นเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(2.3) ได้ออกมาคัดค้านแนวคิดของรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่เหตุผลที่พวกเขาคัดค้านนั้นมีเหตุผลแปลกประหลาดว่า
เหตุผลข้อที่ 1.ขัดมาตรา 9 และขัดมาตรา 66 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้รวมเอาสวัสดิการข้าราชการมารวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยให้มีการตราพ.ร.ฎ.ภายใน 1 ปีนับแต่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้บังคับ ซึ่งผู้เขียนบทความนี้ขออธิบายว่า รัฐบาลไม่มีความพยายามที่จะดำเนินการตามมตรา 9 และมาตรา 66 เลย เนื่องจากที่มาของเงินใน 2 ระบบนี้แตกต่างกัน(4) และจะรวมเมื่อใดข้าราชการก็จะออกมาคัดค้านแน่นอน และทุกรัฐบาลก็ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจากการที่พ.ร.บ.หลักหระกันสุขภาพใช้บังคับมา 14 ปีแล้ว
เหตุผลข้อที่ 2 อ้างว่าระบบประกันสุขภาพเอกชนมีข้อจำกัด อาจจะส่งผลต่อสวัสดิการข้าราชการที่เคยได้รับ เหตุผลข้อนี้ ผู้เขียนเห็นด้วย แต่การที่คนกลุ่มนี้ไปบอกให้รัฐบาลใช้บทเรียนจากการจัดสวัสดิการข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่สปสช.สามารถแก้ปัญหาการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาให้สปสช.จัดบริการให้โดยใช้งบประมาณเพียง 7,000 บาทตอคนต่อปี โดยได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับระบบสวัสดิการข้าราชการที่ใช้เงินสูงถึง 12,000 บาทต่อคนต่อปี หรือถ้าจะให้บริษัทเอกชนรับประกันก็ไม่ควรให้เกิด 7,000 บาทต่อคนต่อปี
ข้อนี้ผู้เขียนก็ขอถามว่า ทำไมสปสช.รับประกัน 30 บาท สปสช.ใช้งบประมาณเพียง 3,000 บาทต่อคนต่อปี แต่รับประกันข้าราชการท้องถิ่นจึงแพงกว่าของประชาชน ถามว่าสปสช.สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคน 2 กลุ่มนี้หรือไม่?
เหตุผลข้อที่ 3 การที่รัฐบาลจะไปซื้อประกันเอกชนให้ข้าราชการ จะทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับรพ.เอกชน จะส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของรพ.รัฐแน่นอน
ข้อนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะปัจจุยันนี้ รพ.รัฐบาลรับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช.ได้เงินไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่รักษาข้าราชการยังพอมีรายได้คุ้มทุนอยู่บ้าง เท่ากับระบบสวัสดิการข้าราชการช่วยพยุงฐานะการเงินของโรงพยาบาลหลายร้อยแห่งไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากการมีหนี้ค้างชำระจากระบบ 30 บาท(5,6)
เหตุผลข้อที่ 4 อ้างว่าวิธีการที่จะให้บริษัทเอกชนรับทำประกันข้าราชการ ไม่สามารถป้องกันการช็อปปิ้งยาได้เหตุผลข้อนี้ เป็นการคิดเอาเองของกลุ่มเครือข่ายอ้างรักหลักประกันสุขภาพ ว่า ที่ค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการแพงนั้น เพราะข้าราชการชอบ “ช็อปปิ้งยา”
แต่ค่าใช้จ่ายในสวัสดิการข้าราชการที่สูงนั้นมีหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากการช็อปปิ้งยาดังที่กล่าวหาข้าราชการ (อาจมีบ้างก็น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่พวกช็อปปิ้งยาน่าจะเป็นระบบ 30 บาท ที่เอายาเก่าไปแลกไข่มากินได้อีกหลายหมื่นล้านเม็ด) กล่าวคือ
1.มีผู้เจ็บป่วยมาก จาก การเป็นผู้สูลอายุของพ่อแม่ข้าราชการหรือจากตัวข้าราชการบำนาญ หรือเจ็บ(บาดเจ็บ)ป่วยจาการทำราชการ เช่นทหาร ตำรวจ ข้าราชการในพื้นที่อันตราย ถูกผู้ร้ายยิง ถูกระเบิดในการลาดตระเวณ ทำให้มีอัตราการไปรับการรักษาอย่างมากและยาวนานและยังอาจมีค่าใช้จ่ายในการที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอีกนาน (ไปดูได้ที่รพ.ทหาร ตำรวจได้)
และข้าราชการมีสิทธิเบิกค่าห้องพิเศษได้บางส่วน อาจทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบ 30 บาทได้
2. ข้าราชการสามารถได้รับยาที่เหมาะสมตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ ไม่ถูกบังคับให้รับยาด้อยมาตรฐานตามกฎเหล็กของสปสช. หรือไม่ต้องรับยาที่สปสช.ไป “เหมาโหลซื้อมา ให้ผู้ป่วยทุกคนเหมือนๆกันแบบในระบบ 30 บาท” โดยยาเหมาโหลนี้ไม่ได้มีประสิทธิผลเหมาะสมกับผู้ป่วยทุกคนเหมือนๆกัน ซึ่งยาที่ใช้ได้ตามมาตรฐานและทันสมัยนี้ อาจทำให้มูลค่าการรักษาสูงขึ้น
ถ้ากลุ่มอ้างประชาชนนี้ ได้รับรู้ความจริงว่า การรักษาจากระบบ 30 บาทนี้ถูกบังคับให้รักษาแบบ “ต่ำกว่ามาตรฐาน”มาตลอด ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพของประชาชน(7)
การที่กลุ่มคนพวกนี้ออกมายื่นข้อเสนอแบบนี้ บางข้อเสนอก็ดูเหมือนกับจะห่วงใยข้าราชการแต่แท้ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ก็คือ “NGO เครือข่ายของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” บางคนก็เป็นบอร์ดมาแล้ว 2 สมัย บางคนก็รับเงินขากสปสช.เข้าสู่มูลนิธิของตน
จึงอยากบอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ถ้าจะประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานแล้ว จะจ่ายเงินแค่คนละ3,000 บาทต่อคนต่อปีนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ดูแต่สปสช.ยังเรียกเก็บจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประกันสุขภาพถึง 7,000 บาทต่อคนต่อปี
ถ้าท่านรัฐมนตรีอยากจะรู้ว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้นจ่ายมากเพราะข้าราชการทหาร ตำรวจหรือข้าราชการอื่นจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในขณะทำหน้าที่ราชการ หรือสูงมากเพราะข้าราชการให้งบประมาณฟุ่มเฟือยไร้ประสิทธิภาพ ท่านก็ต้องให้กรมบัญชีกลางไปศึกษาข้อมูลวิเคราะห์วิจัยก่อน เพื่อหาสาเหตุแห่งปัญหา จะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ให้สบกับเป็นรัฐบาลยุค 4.0
ปล.อย่ามอบให้ TDRI หรือสวรส.หรือสปสช.หรือสวปก.ทำวิจัยก็แล้วกัน มันจะมีอคติมากนะท่านรมต.

เอกสารอ้างอิง
1. http://www.thaihospital.org/board/index.php... โฆษกรัฐบาลยันรัฐไม่ตัดสิทธิรักษาข้าราชการ หากให้บริษัทประกันดูแล
2. http://www.matichon.co.th/news/301814 เครือข่ายประชาชนร้องบิ๊กตู่ ยกเลิกซื้อประกันสุขภาพเอกชนให้ข้าราชการ
3. https://www.hfocus.org/content/2016/09/12815 เครือข่ายประชาชนร้องนายกฯ ยกเลิกซื้อประกันเอกชนให้ข้าราชการ ชี้ “ลิดรอนสิทธิ-กระทบรพ.รัฐ”
4. http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1324#.V-4eIMlksec มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย
5. http://thaipublica.org/2011/09/10-years-healthcare/ 10 ปีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รพ.รัฐขาดทุนก้วนหน้า
6. http://thaipublica.org/2011/09/10-years-healthcare/ โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะใคร? : บทวิเคราะห์หาสาเหตุ
7. http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1125#.V-4qdMlksec 30 บาทรักษาทุกโรคเหมือนของดี แต่ในความเป็นจริงมันเหมือนยาพิษเคลือบน้ำตาล

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
30 กันยายน 2559