ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐบาลกำลังลิดรอนสิทธิข้าราชการ  (อ่าน 3549 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
รัฐบาลกำลังลิดรอนสิทธิข้าราชการ
« เมื่อ: 31 มกราคม 2011, 17:16:32 »

 เมื่อเร็วๆนี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการห้ามสั่งจ่ายยากลุ่มยากลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟตและไดอาเซอเรนทุกรูปแบบ โดยอ้างว่า ไม่ใช่ยา และอ้างว่าจะประหยัดเงิน 442 ล้านบาท

และกรมบัญชีกลางกำลังจะพิจารณาห้ามข้าราชการเบิกยาอีก 9 กลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะประหยัดเงิน อีก4,815 ล้านบาท

 การกระทำของอธิบดีกรมบัญชีกลางโดยความเห็นชอบของรัฐบาล ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของข้าราชการ ตามสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการรับทราบว่าตนเองและครอบครัวจะพึงได้ จากการสมัครเข้ารับราชการ

   ทั้งนี้ข้าราชการทั้งหลายรวมทั้งข้าราชการบำนาญที่เข้ารับราชการก่อนปีพ.ศ. 2553นี้ ก่อนจะสมัครเข้ารับราชการ ต่างก็ได้รับทราบว่าตนเองจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในการเป็นข้าราชการอย่าง ไรบ้าง

 เช่นได้รับเงินเดือนตามอัตราที่กำหนด ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัว ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลนี้หมายถึงเงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าห้องพิเศษ และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาการเจ็บป่วย รวมทั้งค่าตรวจสุขภาพประจำปีด้วย

 แต่ต่อมา กรมบัญชีกลางเห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มมากขึ้น จึงได้ออกระเบียบต่างๆเพื่อกำจัดสิทธิในการใช้ยาบางอย่างของข้าราชการ ซึ่งถือว่าเป็นการ “ลิดรอนสิทธิข้าราชการ” โดยกรมบัญชีกลางอ้างว่า ต้องการ “คุมค่ารักษาพยาบาลไม่ให้เกิน 70,000 ล้านบาท” ตามข่าวและรายละเอียดจากhttp://www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L10152592/L10152592.html

 ทั้งนี้ ถ้าเราติดตามข่าวเกี่ยวกับงบประมาณในการรักษาของประชาชนไทยที่มีอยู่ 3 ระบบ คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เคยเรียกว่า “30 บาทรักษาทุกโรคหรือผู้ที่มีบัตรทอง” ที่มีประชาชนในกลุ่มนี้อยู่ 49 ล้านคน ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ 10 ล้านคน  และ ประชาชนในกลุ่มข้าราชการที่มีอยู่อีกประมาณ 5 ล้านคนจะเห็นได้ว่า มีการกล่าวอ้างว่า ประชาชนในกลุ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีถึง 48 ล้านคนนั้น ใช้เงินเพียง 120,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกลุ่มสวัสดิการข้าราชการ 5 ล้านคน ที่ใช้เงินมากขึ้นทุกปีจนเกือบถึง 70,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

  แต่ถ้าเรามาดูตัวเลขความเป็นจริงของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วจะเห็นได้ ว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลประชาชน 49 ล้านคนนั้น เป็นงบประมาณปลายปิด โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บได้ตามราคาต้นทุนการรักษาที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นงบประมาณที่ขาดดุล 

  แต่งบประมาณสวัสดิการข้าราชการนั้น เป็นงบประมาณที่รพ.เรียกเก็บตามราคาต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาผู้ป่วยใน ระบบนี้ และเป็นงบประมาณที่ช่วยทำให้โรงพยาบาลภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรพศ.ไม่ขาดทุนในการดำเนินงาน จวบจนปีพ.ศ. 2553 ที่กรมบัญชีกลางเริ่มควบคุมค่าใช้จ่ายสวัสดิการข้าราชการที่เป็นผู้ป่วยใน ตามแบบสปสช. กล่าวคือจ่ายเงินตามราคากลางตามรายกลุ่มโรค DRG (Diseases Related Group) โดยคิดค่ารักษาผู้ป่วยในตาม RW (Relative Weight) คือ จ่ายเงินค่ารักษาโรคในกลุ่มเดียวกัน ตามราคากลางที่กำหนด ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงที่รพ.ต้องจ่ายไปในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ สปสช.อ้างว่าสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ทำให้กรมบัญชีกลางหันมาควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในตามแบบสปสช.บ้าง ทำให้รพศ.ที่เคยมีรายได้ตามภาระค่าใช้จ่ายจริงจากระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากการได้รับเงินตาม RW นั้น เป็นเงินที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลต้องจ่ายไปแล้ว

 อนึ่ง พบว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากสปสช.นั้น เป็นงบประมาณปลายปิด เป็นเงินตายตัว ถึงแม้จะกำหนดค่า RW ไว้ เป็นราคากลาง แต่สปสช.ก็ไม่สามารถจ่ายเงินตามราคากลางได้ จะยกตัวอย่างพอให้เข้าใจดังนี้ ค่าใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วยอาจจะเท่ากับ 100 บาท แต่สปสช.จะกำหนดค่า RW ได้ประมาณ 50 -75 บาท และถึงเวลาจ่ายจริงสปสช.อาจจ่ายแค่ 35-70 บาท เท่านั้น

   แต่รพ.ต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขยังพอมีเงินดำเนินงานอยู่ได้ เพราะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากงบการรักษาของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและกองทุนประกันสังคม แต่เมื่อกรมบัญชีกลางควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงส่งผลให้สถานะทางการเงินของรพ.ต่างๆเห็นได้อย่างชัดเจน

   จากตัวเลขของกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่แสดงการขาดทุนจากในไตรมาส 4 ของปี2552 (ขาดทุน 1,246.38 ล้านบาท) ขาดทุนมากขึ้นในไตรมาส 1 ของปี 2553 (1,704.47 ล้านบาท) และขาดทุนในไตรมาส 2 ปี 2553( 1,887.16 ล้านบาท)

กล่าวคือ โรงพยาบาลภาครัฐที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชนในระบบบัตรทองนั้น ได้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการ ที่ขาดทุนมาตลอด  โดยเห็นได้จากตัวเลขของเงินสำรองสุทธิชองโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ลดลงเรื่อยๆ

 โดยจำนวนโรงพยาบาลทั้งสิ้นในกระทรวงสาธารณสุขมี 840 แห่ง มีรพช. 746 แห่ง รพท. 69 แห่ง และรพศ. 25 แห่ง พบว่ารพช. ร้อยละ 69มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย รพท.ร้อยละ 67 มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและรพศ.ร้อยละ 62 มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และพบว่ารพ.ขนาดใหญ่มีค่าเฉลี่ยการขาดทุนสูงกว่ารพ.ขนาดเล็ก กล่าวคือรพศ.ขาดทุนมากกว่ารพท. 3.5 เท่า ขาดทุนมากกว่ารพช. 7.4 เท่าและรพท.ขาดทุนมากกว่ารพช.2.1 เท่า

   ในภาพรวมพบว่ากลุ่มรพศ.มีรายได้เป็นตัวเงินจากสวัสดิการข้าราชการเท่ากับราย ได้จากงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ . ในขณะที่จำนวนผู้ใช้สิทธิข้าราชการสูงกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 5 เท่า แสดงว่า รายได้จากสิทธิข้าราชการสูงกว่ารายได้จากสิทธิหลักประกันสุขภาพมาก

 นับจากปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปี 2553 กลุ่มรพศ.มีสภาพการเงินถดถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเริ่มปรากฏว่ามีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปี 2553  โดยขาดทุนในไตรมาส 3 เป็นมูลค่า 314,518,252.98 บาท

 อนึ่ง พบว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลจากสปสช.นั้น เป็นงบประมาณปลายปิด เป็นเงินตายตัว ถึงแม้จะกำหนดค่า RW ไว้ เป็นราคากลาง แต่สปสช.ก็ไม่สามารถจ่ายเงินตามราคากลางได้ จะยกตัวอย่างพอให้เข้าใจดังนี้ ค่าใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วยอาจจะเท่ากับ 100 บาท แต่สปสช.จะกำหนดค่า RW ได้ประมาณ 50 -75 บาท และถึงเวลาจ่ายจริงสปสช.อาจจ่ายแค่ 35-70 บาท เท่านั้น โดยอ้างว่าไม่มีเงินอีกแล้ว

 แต่กรมบัญชีกลางไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์วิจัย อย่างลึกซึ้งว่า สาเหตุของการที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการสูงมากกว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีสาเหตุจากอะไร แต่พยายามมากำหนดวงเงินให้น้อยลง โดยการงดยาที่จำเป็นตามคำสั่งแพทย์ โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของข้าราชการที่ยอมทำงานเงินเดือนน้อย เพื่อที่จะได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย แต่กรมบัญชีกลางกำลังละเมิดสิทธิข้าราชการ ซึ่งเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลมีต่อข้าราชการ

  ถ้ากรมบัญชีกลางจะทำเช่นนั้นก็สมควรจะทำกับข้าราชการใหม่ ที่จะสมัครเข้ารับราชการหลังจากระเบียบนี้ออกมา  คนที่จะรับราชการจะได้ตัดสินใจว่าจะสมัครเป็นข้าราชการหรือไม่ไม่ใช่ไปยกเลิกคำสัญญาย้อนหลังกับผู้ที่เป็นข้าราชการแล้ว

  ได้ทราบว่าสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส จะได้ประชุมกันเพื่อยื่นคัดค้านการออกระเบียบของกระทรวงการคลังนี้ และถ้ากระทรวงการคลังและรัฐบาลไม่ฟังเสียงคัดค้าน ก็คงจะมีการพิจารณาดำเนินการในการฟ้องศาลปกครองต่อไป

   นอกจากรัฐบาลจะลิดรอนสิทธิข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังละเมิดสิทธิผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กล่าวคือผู้ประกันตนเป็นประชาชนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบกับ เงินที่นายจ้างช่วยจ่าย ผู้ประกันตนจึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล แต่รัฐบาลปล่อยให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโฆษณาอย่างเปิดเผยไปทั่วประเทศว่า ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น ที่มี มีสิทธิรักษาฟรีทั่วประเทศ แล้วประชาชนกลุ่มผู้ประกันตน ทำไมจึงไม่ได้สิทธินี้เหมือนกับประชาชนกลุ่มอื่น เป็นความ “เหลื่อมล้ำ” ที่รัฐบาลเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น และะเป็นการดำเนินการที่ผิดต่อมาตรา 51รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

นอกจากรัฐบาลจะลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังจำกัดสิทธิของแพทย์ ที่ไม่สามารถเลือกสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยของตน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยในระบบประกันสังคม
 ทั้งนี้ เพราะกองทุนเหล่านี้ ใช้ "เงิน" เป็นตัวตั้งที่สำคัญ ในการกำหนดว่า แพทย์จะสามารถสั่งยาชนิดใดได้บ้าง และยาที่แพทย์สามารถสั่งได้ ก็จะมีเพียงยาเดิมๆ ที่มีใช้มานานแล้ว และเป็นยาราคาต่ำที่สุด ที่องค์การเภสัชผลิตได้เองในประเทศ หรือไม่ก็เป็นยาที่ไปบังคับทำ CL มาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งบางครั้ง แพทย์ใช้ไปแล้วก็ไม่สามาร5ถเห็นผลดีในการรักษาผู้ป่วย
รัฐบาลต้องการที่จะประหยัดเงิน แต่รัฐบาลไม่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ไม่ต้องการให้ใช้ยาจากต่างประเทศเลย

แต่มันน่าแปลกใจมาก ที่ประเทศไทยสามารถซื้อสินค้าทุกชนิดจากต่างประเทศได้โดยเสรี แต่ยาซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์มากพอๆกับอาหาร รัฐบาลกลับบังคับไม่ให้แพทย์ มีโอกาสได้พิจารณาใช้ให้บังเกิดผลดีกับผู้ป่วยของตน


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
drchurchoo@gmail.com
ข้าราชการบำนาญ


*เอกสารอ้างอิง รายงานสถานะการเงินหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  สิงหาคม 2553