ผู้เขียน หัวข้อ: ใครคิดได้ก่อน  (อ่าน 1051 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ใครคิดได้ก่อน
« เมื่อ: 14 พฤษภาคม 2012, 11:19:46 »
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในการค้นหาองค์ความรู้ใหม่หรือการประดิษฐ์ต่างๆ ในบางครั้ง และหลายครั้งการพบหรือการสร้างมักเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยคนหลายคน ทั้งๆ ที่ผู้พบหรือผู้สร้างสิ่งเหล่านั้นไม่รู้จักกัน และไม่เคยติดต่อกันเลย เพราะต่างคนต่างอยู่คนละที่ แต่คิดได้และทำได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน
       
       เช่นในปี 1656 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) Christiaan Huygens นักดาราศาสตร์ชาวดัตซ์ได้ตีพิมพ์ผลงานดาราศาสตร์ หลังจากที่คิดว่า เขาได้เห็น “วงแหวน” ของดาวเสาร์ แต่ได้เขียนสิ่งที่เห็นเป็นรหัสว่า “aaaaaaa cccc d eeeee g h iiiiii llll mm nnnnnnnnnn oooo pp q rr s ttttt uuuuu” จึงไม่มีใครเข้าใจความหมายของรหัสที่เขาเขียนเลย
       
       จนอีกสามปีต่อมา เมื่อ Giovanni Domenico Cassini นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนได้ทำให้โลกตกตะลึง เมื่อเขาแถลงว่า ได้เห็นและพบวงแหวนหลายวงล้อมรอบดาวเสาร์ Huygens ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับข่าวนี้เลย เพราะเขาได้ขอให้นักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ตรวจสอบตัวอักษรต่างๆ ที่เขาได้เขียนไว้ในรายงาน ซึ่งถ้านำมาจัดเรียงเป็นประโยคในภาษาละตินก็จะได้ประโยคว่า “Annulo eingitur, tennui, plano, nusquam cohaerente, adeclipticam inclinato” ซึ่งแสดงการเห็นวงแหวนล้อมรอบดาวเสาร์
       
        วงการดาราศาสตร์จึงให้เครดิตการพบวงแหวนรอบดาวเสาร์แก่ทั้ง Huygens และ Cassini
       
        สำหรับเหตุผลที่ Huygens มิได้แถลงออกมาอย่างชัดแจ้ง เมื่อได้เห็นวงแหวนนั้น เพราะเขาเกรงจะถูกนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ดูถูกและติเตียนความสามารถของเขาว่าผิดเพี้ยน แต่เมื่อ Cassini อ้างเป็นผู้พบวงแหวนเป็นคนแรก Huygens จึงจำต้องเปิดเผยความสำเร็จของตัวเองบ้าง
       
        การพบดาวเคราะห์ Neptune ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พบโดยนักดาราศาสตร์สองคนในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะในปี ค.ศ.1843 สมาคม Royal Society แห่ง Göttingen ในเยอรมนีได้ประกาศมอบเงินรางวัล 50 ducats แก่นักดาราศาสตร์ผู้สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดดาวยูเรนัสจึงมีลักษณะการโคจรที่ผิดปกติ เช่น เร็วผิดปกติ และช้าผิดปกติในบางเวลา
       
        แม้เวลาจะผ่านไปนานถึงสองปี ก็ไม่มีใครสามารถให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้ จนกระทั่งถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1845 John Couch Adams นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ และ Urbain Jean Joseph Leverrier นักดาราศาสตร์แห่งฝรั่งเศสต่างได้เสนอแนะว่า ณ บริเวณนอกวงโคจรของดาวยูเรนัสมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่ง และดาวดวงนี้ได้ส่งแรงโน้มถ่วงกระทำต่อยูเรนัส ได้ทำให้วิถีโคจรและความเร็วของยูเรนัสเบี่ยงเบนไป ครั้นเมื่อ Johann Gottfried Galle ส่องกล้องโทรทรรศน์ไป ณ ตำแหน่งที่ Leverrier พยากรณ์ เขาก็เห็นดาว Neptune ทันที
       
        วงการดาราศาสตร์จึงให้เครดิตการพบดาว Neptune แก่ Adams และ Leverrier
       
       แต่การวิเคราะห์เอกสารและหลักฐานที่ Adams และ Leverrier นำเสนอ แสดงให้เห็นว่า Adams ใช้ข้อมูลที่ผิดพลาดแต่คำนวณถูก ดังนั้น ณ วันนี้ Leverrier จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พบดาว Neptune แต่เพียงผู้เดียว
       
       ในด้านสิ่งประดิษฐ์ก็มีเหตุการณ์กล่าวหาว่า ผู้ประดิษฐ์ “ลอกเลียน” และ “ขโมย” กันเช่นกัน เช่น ในกรณีที่เกิดกับ Alexander Graham Bell ผู้ที่โลกยอมรับว่าเป็นผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์เป็นคนแรก เพราะ Bell ถูกนักประดิษฐ์คนอื่นๆ ฟ้องศาลร่วม 600 ครั้งว่า Bell ได้ลอกเลียนและขโมยความคิดของบุคคลอื่น
       
        ดังตำนานว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1876 Bell ได้ตะโกนส่งเสียงไปในโทรศัพท์บอกเพื่อนชื่อ Watson ว่า “Mr. Watson come here, I want you.” ประโยคอมตะนิรันดร์กาลนี้มีบันทึกในหนังสือประวัติการประดิษฐ์โทรศัพท์ และในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องชีวประวัติของ Bell
       
        แต่ที่ประตูทางเข้าอาคาร Ballou ที่ Tufts College ในเมือง Medford ของรัฐ Massachusetts มีแผ่นป้ายจารึกติดอยู่ซึ่งมีข้อความว่า
       

        “นี่คือ สถานที่ที่
        AMUS EMERSON DOLBEAR
        ศาสตราจารย์ฟิสิกส์ในระหว่างปี 1874 – 1906
        ได้ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โทรศัพท์”
       

       
       ส่วนในอิตาลีผู้คนรู้ว่าผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ชื่อ Antonio Meucci ในเยอรมนี ผู้ประดิษฐ์โทรศัทพ์ชื่อ Philip Reis และในปี ค.ศ.1899 ที่งาน International Exposition ที่กรุง Paris ได้มีการมอบเหรียญทองคำแก่ทั้ง Elisha Gray และ Alexander Bell ในฐานะที่เป็นผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์
       
        จึงเป็นไปได้ว่า Bell, Gray, Dolbear และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคนต่างก็ประดิษฐ์เครื่องโทรศัพท์ได้ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่นักประดิษฐ์เหล่านี้ไม่เคยได้ปรึกษาหารือกัน ในทำนองเดียวกับการที่ฝนตกในสถานที่ต่างๆ พร้อมกัน เพราะสถานที่เหล่านั้นต่างก็มีไอน้ำเกินขีดอิ่มตัว ฉันใดก็ฉันนั้น ความสำเร็จในการประดิษฐ์ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เกิดขึ้นเพราะสถานที่นั้นมีอัจฉริยะ
       
        ไม่เพียงแต่โทรศัพท์เท่านั้นที่มีคนสร้างได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน กรณีโทรทัศน์ก็มีนักประดิษฐ์ที่คิดสร้างได้ในปี ค.ศ.1926 พร้อมๆ กันหลายคน เช่น A. Baird ในอังกฤษ P.T. Jenkins และ V.K. Zworykin ในอเมริกา เป็นต้น
       
        โลกชีววิทยาก็มีการพบทฤษฎีวิวัฒนาการโดย Charles Robert Darwin และ Alfred Russel Wallace ในเวลาไล่เรี่ยกัน ดังเป็นที่รู้กันว่า หลังจากที่ใช้เวลานาน 5 ปี ในการเดินทางรอบโลกด้วยเรือรบหลวง H.M.S. Beagle เมื่อ Darwin กลับถึงอังกฤษในอีก 7 ปีต่อมา เขาก็ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งโดยเรียบเรียงความคิดเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการออกมา หนังสือนี้หนา 231 หน้าแต่ Darwin ยังไม่ตีพิมพ์เผยแพร่เพราะ Darwin ยังไม่มั่นใจ และยังไม่มีหลักฐานครบครัน เวลาได้ล่วงเลยไปจนกระทั่งถึงวันหนึ่งในต้นสัปดาห์ที่สามของเดือนมิถุนายน ค.ศ.1858 Darwin ก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งพร้อมบทความที่ถูกส่งมาจาก Ternate ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งในกลุ่มเกาะ Malay Archpelago ของอินโดนีเซีย โดยมีผู้ส่งชื่อ Alfred Russel Wallace ที่ Darwin ไม่รู้จักสนิทสนมมาก่อน เอกสารฉบับนั้นมีเนื้อหาของทฤษฎีวิวัฒนาการที่ Darwin ได้ครุ่นคิดตลอดเวลาร่วม 20 ปีอย่างครบถ้วน จึงเป็นเสมือนบทคัดย่อของหนังสือที่ Darwin เขียน
       
        ณ วันนี้ ทั้ง Darwin และ Wallace จึงได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตร่วมกัน
       
        ด้านคณิตศาสตร์ก็มีกรณีการค้นพบทฤษฎีแคลคูลัสพร้อมๆ กัน ทำให้ Newton และ Leibnitz ได้ทะเลาะวิวาทกันว่า ใครคือผู้พบก่อน โดยเริ่มโต้เถียงกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 การวิวาททำให้มีการโกรธกันตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งถึงรุ่นลูก หลาน เหลน โหลน แต่วันนี้ได้จบลงอย่างสันติแล้ว
       
        คู่กรณีในที่นี้คือ Brook Taylor นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ (เจ้าของ Taylor’s theorem, และอนุกรม Taylor) กับ Johann Berhoulli นักคณิตศาสตร์แห่ง Switzerland ในประเด็นว่า ใครคือผู้สร้างวิชาแคลคูลัส Taylor นั้นสนับสนุน Newton เพราะเป็นคนอังกฤษชาติเดียวกัน และสนิทสนมกัน ส่วน Bernoulli นั้นสนับสนุน Godfried Wilhelm Leibnitz ชาวเยอรมัน นอกจากจะเชียร์มวยคนละข้างแล้ว การวิวาทกันครั้งนั้นยังบอกนิสัย และความสามารถของคู่กรณีด้วย
       
        เพราะในงานเขียนเรื่อง Method of Increments ของ Taylor มีโจทย์หลายข้อที่ Bernoulli เองก็สนใจ และคิดจะแก้โจทย์เหล่านี้เช่นกัน แต่ Taylor ไม่ชอบให้เครดิตใคร (นอกจาก Newton) ว่าตนเป็นคนตั้งโจทย์เหล่านั้นเอง เหตุการณ์นี้ทำให้ Bernoulli โกรธเคืองมากจึงเขียนบทความโจมตี Taylor ว่า ชอบลอกเลียนความคิดของคนอื่น (ในบทความฉบับนั้น Bernoulli มิได้ลงชื่อตนเองอย่างเปิดเผย แต่ Taylor ก็รู้)
       
        เมื่อ Taylor รู้ว่าใครคือคนเขียนบทความบริภาษตน จึงลงบทความแก้ข้อกล่าวหา (โดยไม่ลงชื่อเช่นกัน) และได้กล่าวดูแคลน Bernoulli ว่าเคยคำนวณผิดอย่างฉกรรจ์มาอย่างน้อยครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน
       
        การกระแนะกระแหนและบริภาษระหว่าง Taylor กับ Bernoulli ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งถึงปี 1719 Taylor ก็ได้หยุดตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ ของ Bernoulli เพราะหันไปสนใจปัญหาอื่น แต่ Bernoulli ก็ยังไม่หายโกรธแค้น
       
        เมื่อ Taylor วัย 46 ปี เสียชีวิตในปี ค.ศ.1731 หลังจากที่ภรรยาของเขาทั้ง 2 คน แท้งลูก Taylor รู้สึกเสียใจมาก ทันทีที่ทราบข่าวว่า Taylor ตาย Bernoulli ได้ออกมากล่าวอย่างสะใจว่า “คนที่เป็นศัตรูกับข้าพเจ้าต้องตายทุกคน และ Taylor เป็นศัตรูคนที่ 6 ที่ตายก่อนข้าพเจ้าภายในเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพราะคนเหล่านี้ได้โจมตี และกลั่นแกล้งข้าพเจ้าต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ามิได้เคยทำสิ่งใดผิด การเสียชีวิตของคนเหล่านี้จึงดูเสมือนว่า พระเจ้าได้ทรงแก้แค้นให้ข้าพเจ้าแล้ว”
       
        ในขณะที่ Bernoulli กับ Taylor ต่อสู้กันด้วยวาจาอย่างดุเดือด เพื่อนของคนทั้งสองที่ชื่อ Pierre Rémond de Montmort ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีความเป็นไปได้ ก็ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยหลายครั้ง แต่ความพยายามไม่เป็นผล
       
        จนกระทั่งบรรดาคู่กรณีตายจากกันไป และวันเวลาได้ผ่านไปจนถึงยุคของ Leonore Feigenbaum แห่งมหาวิทยาลัย Tufts ซึ่งเป็นนักประวัติคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ศึกษาจดหมายต่างๆ ที่ Taylor เก็บไว้ จึงได้เชิญให้ Francois และ Helene Cromby (ญาติของ Rémond) เปิดห้องในปราสาทของตระกูล Rémond ให้ Feigenbaum และบรรดาลูกหลานที่เป็นญาติของ Taylor กับ Bernoulli มาพบปะกันเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1990 เพื่อเจรจายุติกรณีพิพาท การพบปะกันในวันนั้นมี Chalmer E.F. Trench แห่งเมือง Slane ใน Ireland เป็นตัวแทนของตระกูล Taylor และ René Bernoulli แห่ง Basel ในสวิสเซอร์แลนด์เป็นตัวแทนของตระกูล Bernoulli
       
        ทั้ง Trench และ Bernoulli ต่างก็ได้ดื่มแชมเปญให้กัน แล้วประกาศเลิกการเป็นศัตรูกันตลอดไป ในงานปรองดองนี้ได้มีการมอบกิ่งมะกอกให้กัน แม้จะช้าไปร่วม 275 ปีก็ตาม
       
        สำหรับผู้คิดวิชา Calculus ก็คือ Newton และ Leibnitz ซึ่งต่างคนต่างคิดได้ในเวลาไล่เรี่ยกันครับ

สุทัศน์ ยกส้าน 4 พฤษภาคม 2555
manager.co.th