ผู้เขียน หัวข้อ: สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ...“การกระทำด้วยตรรกะของวันวาน (Yesterday’s Logic)”  (อ่าน 780 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
 มีผู้อาวุโสท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจมากในเวทีสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (3 สิงหาคม 58) ว่า “ทรัพยากรเป็นของใคร” แต่ไม่มีวิทยากรท่านใดตอบ คงเป็นเพราะว่าได้เลยเวลาอาหารกลางวันมามากแล้ว ผู้ถามคงอยากให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่ในเรื่องดังกล่าว เพราะหัวข้อที่ใช้ในการสัมมนาคือ “ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และกรอบการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
       
        ผมเองได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรของกลุ่มย่อยในตอนบ่าย จึงถือโอกาสตอบคำถามลับหลังผู้ถามว่า ในความเห็นของผมแล้ว คำถามดังกล่าวตั้งอยู่บนกรอบคิดที่ถือว่ามนุษย์เป็นใหญ่ในโลก มนุษย์เป็นผู้จัดการโลกและถือตัวเองเป็นสำคัญ (Ego-อัตตา)
       
        ด้วยแนวคิดดังกล่าว มนุษย์จึงใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้ระบบภูมิอากาศของโลกเสียสมดุล จนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่ขึ้นทุกขณะ กล่าวเฉพาะในช่วง 15 ปีเศษของศตวรรษที่ 21 ธรรมชาติได้ “จัดการ” มนุษย์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก เฉพาะในทวีปเอเชียแห่งเดียวก็เสียชีวิตไปกว่า 7 แสนคนแล้ว นี่ยังไม่นับกรณีแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล คลื่นความร้อนในประเทศปากีสถานและอินเดีย
       
        โดยสรุปก็คือ แนวคิดที่มนุษย์ (บางคน) เป็นใหญ่นั้นตั้งอยู่บนเหตุผลที่อันตรายมากและถือได้ว่าล้าสมัยไปแล้ว เราเรียกเหตุผลดังกล่าวว่า “ตรรกะของวันวาน (Yesterday’s Logic)”
       
        ผมได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ปัจจุบันได้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อสร้างชุมชนมนุษย์ที่เคารพและปกป้องสิทธิของธรรมชาติ (The Rights of Nature) หรือ สิทธิของแม่พระธรณี (The Rights of Mother) ในขณะที่ประเทศเรากำลังเรียกร้องแค่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนเท่านั้น

        ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นประเทศในละตินอเมริกาได้บัญญัติสิทธิของแม่พระธรณีเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและผ่านการรับรองของประชาชนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปี 2551
       
        “เป้าหมายของมนุษย์ไม่ใช่การควบคุมธรรมชาติ แต่คือการดูแลธรรมชาติที่เหมือนกับแต่ละคนดูแลแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตตนเอง นี่คือคำอธิบายถึงที่มาของแม่พระธรณี นี่หมายความว่า มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ในฐานะชุมชนที่มีธรรมชาติและทั้งหมดเป็นศูนย์กลาง เราคือสังคมโลก หรือกล่าวให้ดีกว่านี้ก็คือ เราคือชุมชนของระบบสิ่งมีชีวิต” (บางตอนในเอกสาร BuenVivires เป็นภาษาเอกวาดอร์ ค้นจากกูเกิลแปลว่า “ชีวิตที่ดี”)
       
        ผมขอยกตัวอย่างประกอบความหมาย “ตรรกะของวันวาน” อีกสัก 2 ตัวอย่างนะครับ เพื่อความชัดเจน
       
        ตัวอย่างแรก ในปี 2516 ภาควิชาคณิตศาสตร์ ที่ผมเริ่มทำงาน ภาคฯ ได้สั่งซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าตั้งโต๊ะราคาประมาณ 3 ถึง 5 หมื่นบาทจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 เครื่องแต่ในปลายปีนั้นเองอาสาสมัครชาวเยอรมันซึ่งเดินทางผ่านประเทศสิงคโปร์ได้ซื้อเครื่องคิดเลขที่มีความสามารถทำงานได้มากกว่า มีฟังก์ชันคณิตศาสตร์ครบขนาดเท่าฝ่ามือในราคา 8,500 บาท และเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เครื่องคิดเลขจากประเทศจีนซึ่งทำงานได้เท่ากันราคาแค่ 350 บาทเท่านั้น
       
        นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกเสียใจและเก็บมาเป็นบทเรียนจนถึงทุกวันนี้ ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน และน่าจะเป็นทุกมหาวิทยาลัยที่อายุไล่เลี่ยกันนะครับ ตัวอย่างที่สอง ผมเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ นักศึกษาบอกว่าช่วยยกตัวอย่างเยอะๆ มีคนตั้งคำถามกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า “สิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีพลังอำนาจมากที่สุด” ท่านตอบว่า
       
        “สูตรดอกเบี้ยทบต้น” ท่านตอบสั้นๆ
       
        ผมขอขยายความสักนิดว่า ถ้าผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในตลาดสดด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อวัน ด้วยเงินต้นเพียง 100 บาท ภายใน 180 วัน ถ้าใช้สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น” อย่างครบถ้วน เงินรวมเก็บครั้งเดียวในวันสุดท้ายจะเป็นมากกว่า 2,822 ล้านบาท เห็นหรือยังละครับว่า มันมีพลังอำนาจมากมายขนาดไหน!
       
        เราไม่ทราบว่า ไอน์สไตน์ ตอบคำถามนี้ในปีใด ทราบแต่ว่าท่านเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1955 ในปีนั้นโลกยังไม่ประสบกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมายเท่ากับทุกวันนี้
       
        สมมติว่าถ้าไอน์สไตน์ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ คำตอบของท่านน่าจะเป็น “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์” ซึ่งในยุคสมัยของท่านยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเหตุผลของไอน์สไตน์ในวันที่ตอบคำถามนั้น (60 ถึง 70 ปีที่แล้ว) ในวันนี้ได้กลายเป็น “ตรรกะของวันวาน” ไปเรียบร้อยแล้ว
       
        เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง สูตรดอกเบี้ยทบต้นนั้นเกิดพลังอำนาจขึ้นได้ก็เฉพาะกับคนที่ไปกู้เขามา แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มันเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่ากู้หรือไม่กู้ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศยากจนที่ระบบการเตือนภัยและการอพยพไม่มีประสิทธิภาพพอ ทั้งๆ ที่คนยากคนจนผู้รับเคราะห์เป็นผู้เผาพลังงานน้อยมาก


        ผมขอจบประเด็นความหมายของ “ตรรกะของวันวาน” ไว้แค่นี้นะครับ แต่จะขอขยับมาที่ประเด็นที่ว่า แล้ว “เหตุผลดังกล่าวมันมีความสำคัญอย่างไรกัน” ผมขอยกเอาคำพูดของนักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่งมาอธิบายครับ คือ
       
        Peter Drucker (1909-2005) นักคิดนักเขียน นักการศึกษาและที่ปรึกษาด้านการจัดการชาวอเมริกันที่เกิดในประเทศออสเตรียได้เคยกล่าวประโยคที่สำคัญและน่าคิดไว้ว่า
       
        “สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดในเวลาที่มีความแปรปรวน ปั่นป่วน และสับสนอลหม่าน (Turbulence) ไม่ใช่เป็นตัวความโกลาหลอลหม่านเอง แต่เป็นการกระทำที่อาศัยตรรกะของวันวาน (Yesterday’s Logic)”
       
        เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอนำภาพมาเสนอด้วยครับ (อ้างอิงแหล่งที่มาแล้ว)


        ผมขอทำความเข้าใจกับความหมายของคำสักเล็กน้อยก่อนนะครับ ผมมักจะยกตัวอย่างความหมายของ Turbulence ให้นักศึกษาเห็นภาพว่า ให้สังเกตกิ่งไม้ที่ลอยมากับลำธารใกล้น้ำตกในฤดูฝน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะคาดหมายได้ว่ากิ่งไม้นั้นจะไหลไปในทิศทางใด สภาพดังกล่าวเรียกว่า Turbulence แต่ที่ใกล้ๆ จุดดังกล่าว เราอาจจะคาดได้ถูกต้องว่ากิ่งไม้นั้นจะไหลไปทางไหน
       
        สถานการณ์ของโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากครับ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับโลกและระดับชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องความเร็วอย่างเดียวนะครับที่เป็นปัญหาของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นความซับซ้อนของระบบ (ชื่อคอลัมน์นี้ “โลกที่ซับซ้อน” ) ที่เป็นเรื่องยากที่คนทั่วๆ ไปซึ่งต้องยุ่งกับการทำมาหากินจะตามได้ทัน
       
        ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอย่างเรื่องพลังงานด้วยแล้ว นอกจากจะมีความซับซ้อนในตัวมันเองแล้ว ยังมีการลวงกันทั้งวาทกรรมและคำโฆษณาจากพ่อค้า นักการเมือง รวมทั้งนักวิชาการรับจ้างบางคนอีกต่างหาก เช่น ถ่านหินสะอาด พลังงานหมุนเวียนมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ เป็นได้แค่อาหารเสริมเท่านั้นมีราคาแพง เป็นต้น
       
        ผมเองได้พยายามให้ข้อเท็จจริงกับสังคมมายาวนาน หักล้างวาทกรรมดังกล่าวได้ทุกประเด็น พร้อมหลักฐานที่สามารถสืบค้นกลับได้ แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงอันจำกัดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
       
        แต่อย่าหาว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลยครับ ที่มัน “ยังอยู่ในแวดวงอันจำกัดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมเรายังคงคิดและกระทำแบบเดิมๆ ใช้ “ตรรกะของวันวาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสื่อสารยุคใหม่ที่มันได้เคลื่อนมาอยู่ในมือของปัจเจกมากขึ้นแล้ว แทนที่จะอยู่ในมือพ่อค้าอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่เราก็ยังใช้มันยังไม่เต็มที่ เรามีเทคโนโลยี แต่เราไม่ค่อยมี “สารสาธารณะ” ร่วมที่จะสื่อออกไป (ขอโทษด้วยหากผมกล่าวแรงเกินไป)
       
        เราทราบถึงผลเสียของระบบพลังงานในปัจจุบัน เราเข้าใจว่า หากปล่อยให้ระบบพลังงานของประเทศไทยเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปแล้ว มันจะฆ่าเราและลูกหลานเราในอนาคตอย่างไร แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่า (1) ระบบพลังงานใหม่นั้นเป็นอย่างไรและ (2) เราจะต้องช่วยกันทำอะไรได้บ้าง
       
        ผมได้คำตอบของคำถามแรกมาจากสไลด์ของ Gerd Futurist (นักอนาคตศึกษา) ซึ่งได้รับแนวคิดนี้มาจากหนังสือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม” อีกทอดหนึ่ง ผมขอแปลข้อมูลในแผ่นสไลด์ดังกล่าวนะครับ


        “เป็นการร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน จึงทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม (TIR) ในศตวรรษที่ 21 มนุษย์หลายร้อยล้านคนจะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ในบ้านของตนเอง ในสำนักงาน และในโรงงาน แล้วแบ่งปันไฟฟ้าระหว่างกัน โดยผ่านทางโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่เรียกว่า อินเทอร์กริด (Intergrid)”
       
        เท่าที่ผมพยายามทำความเข้าใจ ระบบอินเทอร์กริดก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ตเพียงแต่สิ่งที่ไปในอินเทอร์กริดคือพลังงานไฟฟ้า
       
        หลักการสำคัญของอินเทอร์กริดคือการแบ่งปัน คือการใช้งานร่วมกัน เป็นการใช้พลังงานที่มาจากด้านข้าง (Lateral Power) หรือพลังงานที่ผลิตได้เองจากบ้านข้างเคียง มีการกระจายตัวไม่รวมศูนย์ซึ่งต่างจากระบบในปัจจุบันที่ผู้ใช้ไฟฟ้านับล้านรายแต่ได้มาจากโรงไฟฟ้าเดียวซึ่งอยู่ไกลเป็นพันกิโลเมตรระบบพลังงานแบบใหม่จึงเป็นพลังงานผู้ใช้มีส่วนร่วมทั้งการใช้และการผลิต เป็นพลังงานที่เป็นประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น มีความยืดหยุ่น ในขณะที่ระบบพลังงานในปัจจุบันเป็นเผด็จการ ไม่ยืดหยุ่น แต่เอื้อต่อการคอร์รัปชันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
       
        Rifkin ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรป) อธิบายให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า
       
        “เพราะว่าพลังงานก็เปรียบเสมือนเป็นออกซิเจนทางเศรษฐกิจ (Economic Oxygen) จึงเป็นความสำคัญที่จะให้มันอยู่ใกล้กับประชาชนผู้ใช้มัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามก็จะทำเช่นนั้นแหละ”
       
        Rifkin ในฐานะที่ปรึกษาของผู้นำประเทศดังกล่าว เขาได้เสนอนโยบายพลังงานสั้นๆประกอบด้วยคำเพียง 5 คำ สำหรับพลังงานฟอสซิลคือ “เก็บมันไว้ใต้ดิน (Keep it in the Ground)” ซึ่งกำลังเป็นกระแสใหม่ของโลก แม้แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลแห่งสหราชอาณาจักรก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วย รวมทั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลด้วย
       
        ผมนึกถึงเพลงเก็บตะวันซึ่งผมหมายถึงพลังงานแสงอาทิตย์นะ ผมอยากจะเปลี่ยนจาก 5 คำที่ว่า “เก็บเอาไว้ในใจ” มาเป็น “ช่วยผลักดันเป็นนโยบาย” อย่าแค่เอาไว้ตากผ้า ตากปลาเท่านั้นนะครับ
       
        ผมจะจบบทความนี้ด้วยข้อสรุป 2 ประการ คือ
       
        หนึ่ง กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเดินหน้าเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภายใต้แผนพีดีพี 2015 ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินว่า กำลังกระทำด้วยตรรกะของวันวานซึ่งถือเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด ในสถานการณ์ที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างรวดเร็ว
       
        ผมเกรงว่าจะซ้ำรอยเหมือนกรณีเครื่องคิดเลขของผมเมื่อปี 2516 อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลดังกล่าวคงไม่อยู่ในหัวของหน่วยงานของรัฐ เพราะมีระเบียบรองรับอยู่ว่า อัตราผลตอบแทนการลงทุน (ROIC) อยู่ที่ร้อยละ 8 ดังนั้นความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่ กฟผ. แต่อยู่ที่ประชาชนผู้จ่ายค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเขาดีดลูกคิดถอยหลังจากผลตอบแทนการลงทุนที่ร้อยละ 8 เสมอ
       
        สอง เท่าที่ผมได้ติดตามอย่างเกาะติดในนโยบายพลังงานของหลายประเทศ ผมมีความมั่นใจว่าระบบพลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยพลังงานต้องเป็นจริง แล้วมันได้โผล่มาให้เราเห็นจริงแล้วในหลายพื้นที่ หลายประเทศทั่วโลก
       
        อ้อ เกือบลืมครับ คำถามที่ 2 เราจะต้องช่วยกันทำอะไรได้บ้าง คำตอบสั้นๆ คือช่วยกันแบ่งปันข่าวสารสาธารณะที่เราคิดว่าสำคัญให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดนโยบายใหม่เพื่อให้การปรองดองระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งครับ

โดย ประสาท มีแต้ม    9 สิงหาคม 2558
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000090015