ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อคิดวันเกษียณ โดย วรากรณ์ สามโกเศศ  (อ่าน 1280 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เมื่อข้าราชการเกษียณอายุ เรามักจะได้อ่านหนังสือชีวประวัติและผลงานของท่านผู้เกษียณอายุกันอยู่เสมอ นานๆ จะพบหนังสือที่มีแนวแปลกสักครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ผมได้พบหนังสือลักษณะที่ว่านี้ซึ่งเป็นของคุณวลัยรัตน์ ศรีอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้เกษียณอายุเมื่อปลายเดือนกันยายนที่เพิ่งผ่านไป

หนังสือเล่มเล็กที่มีคุณค่านี้ผู้เกษียณอายุเป็นผู้เขียนเองทั้งหมด เมื่อผมได้อ่านก็รู้สึกขึ้นมาว่าต้องเอามาสื่อต่อเพื่อให้ได้อ่านกันกว้างขวางยิ่งขึ้น

ผมขอยกมาเป็นตอนๆ ที่โดนใจผมแล้วกัน อย่างไรก็ดีก่อนอื่นขอเล่าประวัติคุณวลัยรัตน์สักเล็กน้อย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเธอเรียนที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดีมาก) สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบ Post-Graduate Diploma ด้าน Development Studies จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และจบปริญญาโทด้าน Public Policy and Administration จาก Institute of Social Studies ที่มีชื่อเสียงจากเนเธอร์แลนด์ เธอทำงานที่สำนักงบประมาณตลอดระยะเวลา 37 ปีของอายุราชการ มีประสบการณ์กว้างขวางมาก และเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำงาน เหนือสิ่งอื่นใดเธอเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในความเป็นผู้มีหลักการ มีความตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม เธอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเมื่อต้นตุลาคม 2552

ข้าราชการผู้ใหญ่ต้องประสบแรงกดดันด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง สำหรับเธอนั้น "การได้รับตำแหน่งสูงสุดมาด้วยความไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นโชคดีส่วนตน การทำงานในตำแหน่งสูงสุดบนความไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นโชคดีของส่วนรวม

ความโชคดีส่วนตนคือ แม้มีแรงกดดันก็เสมือนไร้ซึ่งความกดดัน ความเหน็ดเหนื่อยกับความกดดันนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความเหน็ดเหนื่อยเป็นผลจากทำงาน ความกดดันเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างความถูกต้องกับความไม่ชอบธรรม หรืออาจหมายถึงความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน

เมื่อเหน็ดเหนื่อยโดยไม่มีความกดดัน ย่อมหมายถึงผลงานที่ปราศจากความขัดแย้งระหว่างความถูกต้องและความไม่ชอบธรรม และเป็นความเหน็ดเหนื่อยที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้......."

ในเรื่องการทำงาน "ในชีวิตการทำงาน หากความจริงที่ว่า "ไม่มีใครเก่งไป ทุกเรื่อง และไม่มีใครไม่เก่งไปทุกเรื่อง" เป็นที่ตระหนักอยู่ในใจของตนเองแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าหรือลูกน้องก็ย่อมทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความสุขของทุกฝ่าย และนำไปสู่ผลสำเร็จอันเกินคาดได้

ไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง ไม่มีใครไม่เก่งไปทุกเรื่อง หากไม่สามารถค้นและพบความไม่เก่งในความเก่ง หรือความเก่งในความไม่เก่งของผู้อื่นแล้วละก็ ผู้ที่ไม่เก่งมิใช่ผู้ใดเลยนอกจากตนเอง

ความมีประสิทธิภาพในการทำงานต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หากไม่เช่นนั้นแล้วการไร้ประสิทธิภาพย่อมควรแก่การสรรเสริญมากกว่าการถูกตำหนิมิใช่หรือ"

คุณวลัยรัตน์พูดถึงเรื่องความกล้าหาญในการทำงานอย่างน่าฟังว่า ".....ความกล้าหาญที่ถูกใช้โดยคนไม่ดี ผนวกกับความกล้าหาญที่ไม่ถูกใช้โดยคนดี เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับอนาคตของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็กอย่างองค์กรหนึ่งๆ หรือสังคมขนาดใหญ่ระดับประเทศชาติ จะเริ่มกล้าหาญกันตั้งแต่บัดนี้หรือจะรอจนถูกปกครองโดยคนไม่ดี และไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ความกล้าหาญอีกเลย มีคำพูดว่าคนกล้าตายครั้งเดียวและขอต่อด้วยความเชื่อว่า "คนไม่กล้าตายทั้งเป็น" และคนที่คิดว่าตนเป็นคนดี แต่ปล่อยให้ความไม่ดีเกิดขึ้นทั้งรู้โดยไม่มีความกล้าที่จะทำอะไรเพื่อขจัดความไม่ดีนั้น ไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคนดี แต่เป็นคนที่ดูดายไม่เอาธุระส่วนรวมและเอาตัวรอดไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นเอง ไม่สนใจว่า องค์กรจะอยู่อย่างสง่างามหรือจะอยู่แบบเน่าและหมดศักดิ์ศรี คนแบบนี้ยังจะคิดว่าตนเองเป็นคนดีอยู่อีกหรือ"

ในสังคมไทยบุญคุณและความถูกต้องชนกันเสมออย่างสับสน ความคิดในเรื่องนี้ของเธอก็คือ "บุญคุณและความถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรจะต้องไปด้วยกัน แต่หากเมื่อใดที่ต้องเลือกระหว่างการทดแทนบุญคุณกับความถูกต้อง ควรจะกลับไปทบทวนดูว่าบุญคุณนั้นเกิดมาจากความสุจริตใจของผู้มีบุญคุณหรือไม่ คำว่าบุญคุณต้องแตกต่างจากคำว่า "แลกเปลี่ยน" อย่างสิ้นเชิง เพราะหากต้องแลกเปลี่ยนก็แปลว่าต้องมีการคาดหวังถึงสิ่ง ตอบแทนซึ่งกันและกัน แต่การมีบุญคุณไม่ต้องการสิ่งตอบแทนอื่นใดนอกจากความรู้สึกที่ดีต่อกัน และโอกาสที่ผู้เป็นหนี้บุญคุณจะทำสิ่งดีๆ และถูกต้องต่อผู้มีบุญคุณ โอกาสเช่นที่ว่าต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และเป็นโอกาสที่เมื่อเริ่มต้นแล้วไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โอกาสนี้เรียกกันว่าความกตัญญูซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญทั้งปวง"

ในฐานะลูกสาวที่อยู่กับพ่อและแม่มาตลอด เธอให้แง่มุมของความรักที่มีต่อพ่อและแม่ ดังนี้ "เมื่อสมัยที่ยังมีพ่อแม่อยู่ครบ เพื่อนที่เขาสูญเสียพ่อไปแล้วพูดเสมอว่าให้รักพ่อแม่ให้มากๆ ให้ทำดีต่อพ่อแม่มากๆ ฟังแล้วก็รู้สึกว่าความรักก็รักแน่ การทำดีต่อพ่อแม่เท่าที่ทำก็ดีแล้ว แต่เมื่อวันหนึ่งที่พ่อจากไปจึงรู้ว่าที่ว่ารักแล้วและทำดีแล้วนั้นยังไม่เพียงพอเลย จะเรียกว่ารู้สึกตัวเมื่อสายไปก็น่าจะถูก เพราะถึงแม้ยังเหลือแม่อยู่และรักแม่ ทำดีกับแม่มากแค่ไหน ก็ยังอยากให้พ่อกลับมาเพื่อที่จะรัก และทำดีกับพ่อให้มากกว่าที่เคยรักและเคยทำ บัดนี้จึงรู้แล้วว่าทำไมเพื่อนพูดแบบนั้น ก็พยายามพูดต่อกับทุกคนที่รู้จักแบบเดียวกัน แต่เรื่องเช่นนี้คงอาจจะไม่สามารถบอกต่อให้คนอื่นเข้าใจได้จนกว่าผู้นั้นจะผ่านเหตุการณ์ด้วยตนเอง

ทุกวันนี้ไม่มีอะไรมากเกินไปสำหรับแม่ ไม่มีอะไรยากเกินไปที่จะทำให้แม่ แต่เมื่อถึงเวลาที่แม่ต้องจากไปก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันกับเมื่อพ่อจากไปแล้ว คือยังรักและทำดีให้ไม่พอ คนที่ยังมีครบทั้งพ่อและแม่ลองจำลองเหตุการณ์ว่าไม่มีพ่อหรือแม่ดู แล้วจะได้เริ่มเพิ่มเติมความรัก และทำดีต่อพ่อแม่ก่อนที่จะสายเกินไปดีไหม"

ขอจบด้วยข้อคิดในเรื่องช้าและเร็ว ดังนี้

"คิดเร็ว ทำเร็ว น่าเชื่อ
คิดช้า ทำช้า น่าเบื่อ
คิดเร็ว ทำช้า น่ารอ
คิดช้า ทำเร็ว น่ากลัว

คิดเร็ว พูดเร็ว น่าเชื่อ
คิดช้า พูดช้า น่าเบื่อ
คิดเร็ว พูดช้า น่ารอ
คิดช้า พูดเร็วน่ากลัว
คิดช้า ทำช้า อาจช้าไป
คิดไว ทำไว อาจพลาด
ช้ากับพลาด คงต้องเลือก"

ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยการฝากข้อคิดเหล่านี้ครับ

(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2554)