ผู้เขียน หัวข้อ: ทำลายวิถีน้ำ เหมือนดังทำลายตน  (อ่าน 1172 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ทำลายวิถีน้ำ เหมือนดังทำลายตน
« เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2011, 22:15:22 »
 วิกฤติน้ำท่วมเมืองไทยปีนี้หนักหนาสาหัสนัก เป็นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่กินพื้นที่ครอบคลุมไปทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในกทม.เมืองหลวง
       
       สำหรับการเกิดน้ำท่วมครั้งมโหฬารถล่มทลาย จนประชาชนเดือดร้อนไปแทบทุกหย่อมหญ้าในปีนี้ ปัจจัยหลักมาจากฝนฟ้า พายุ มรสุม ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในเขตภูมิภาคอินโดจีนมากเป็นพิเศษ ผิดแปลกไปจากวิถีธรรมชาติปกติ ซึ่งเมื่อย้อนไปดูถึงต้นตอ มันก็มาจากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นต้นเหตุสำคัญของทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง(ส่วนปัจจัยเสริมมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ และล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
       
       นอกจากนี้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเรายังทำลาย“วิถีแห่งเมืองน้ำ” ที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมภูมิปัญญาการกินอยู่ อาศัย ใช้ชีวิตกับสภาพธรรมชาติที่อุดมไปด้วยน้ำในที่ราบลุ่มสุวรรณภูมิมานับร้อยนับพันปี
       
       วิถีน้ำ วิถีไทย
       
       “น้ำ”นอกจากจะเป็นดังชีวิตของคนทั่วโลกแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในรวมไปถึงผู้คนในสยามประเทศ(รวมไปถึงผู้คนในภูมิภาคแถบนี้)อีกด้วย
       
       น้ำนอกจากจะไหลรี่จากที่สูงสู่ที่ต่ำเข้าสู่แม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลองบึง แอ่งหนองต่างๆแล้ว วิถีแห่งน้ำยังแทรกซึมซอกซอนเข้าไปอยู่ในวิถีไทยเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม เกษตรกรรม งานศิลปะ บทเพลง งานสถาปัตยกรรม คติความเชื่อ และอื่นๆอีกมากมาย
       
       ยกตัวอย่างล่าสุดสดๆร้อนๆกับเทศกาลงานออกพรรษาที่หลายพื้นที่ล้วนต่างมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บั้งไฟพญานาค ไหลเรือไฟ ลอยผาสาด ลากพระ หรืองานประเพณีแข่งเรือที่นิยมทำกันในช่วงน้ำหลากเช่นนี้
       
       ขณะที่ 2 งานประเพณีชื่อดังระดับเวิลด์อีเวนต์ของไทยอย่างสงกรานต์และลอยกระทงนั้น ต่างก็มีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น
       
       สุโขทัย-อยุธยา เมือง(อิง)น้ำ
       
       มีคำกล่าวกันมาช้านานแล้วว่าวิถีของคนไทยนั้นเป็นดังสายน้ำ คือสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
       
       ในอดีตการสร้างบ้านสร้างเมืองของผู้คนในสยามประเทศ(และในสุวรรณภูมิ) ล้วนต่างอิงลำน้ำเป็นหลัก ไล่ไปตั้งแต่ชุมชนเล็กๆไปจนถึงเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องอิงแม่น้ำลำธารเป็นเส้นเลือดหลัก เพื่อเอาไว้สำหรับ กินดื่ม ประกอบอาหาร ทำความสะอาด อาบน้ำ ซักล้าง ทำการเกษตร และการสัญจรคมนาคม
       
       ผังเมืองสุโขทัย(เมืองโบราณ)ราชธานีแห่งแรกของไทยนั้นนอกจากจะอ้างอิงกับลำน้ำยมแล้ว ยังมีการประยุกต์ผังเมืองพระนครของขอมมาปรับใช้ มีการขุดบารายหรือสระขนาดใหญ่ตามคติจักรวาลและเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สอย ทำการเกษตร เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใกล้ๆกับเขตวัดพระพายหลวงยาวไปตามแกนตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนี้ยังมีการทำทำนบ ทำคันกันดินกั้นน้ำเป็นเขื่อนโบราณ สำหรับกักเก็บน้ำและผันน้ำตามธรรมชาติจากลำคลองใหญ่น้อย เข้าเมืองอีกทางหนึ่ง นับเป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่สามารถนำวิถีของสายน้ำตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแยบยล
       
       มาถึงในสมัยอาณาจักรอยุธยา วิถีความเป็นเมืองน้ำแห่งสยามประเทศ ปรากฏชัดเจนมาก เนื่องจากตำแหน่งของกรุงศรีอยุธยาเมืองหลวงตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก(ประมาณ 2 เมตร) มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดหลักกับคูคลองใหญ่น้อยอีกมากมาย
       
       ที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นพื้นที่รับน้ำสำคัญ ทุกๆปีในช่วงหน้าฝนน้ำเหนือจะไหลบ่าลงมาพร้อมกับตะกอนธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ท่วมพื้นที่ราบลุ่มแห่งนี้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน ประชาชนต้องปรับตัวเปลี่ยนมาใช้วิถีชีวิตที่ผูกสัมพันธ์กับสายน้ำ การสัญจรหันมาใช้เรือเป็นหลัก
       
       ขณะที่บ้านเรือนของชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง ยามปกติใต้ถุนจะใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เก็บเกวียน พักผ่อน และประกอบกิจกรรมสารพัดสารพัน แต่พอฤดูน้ำหลากท่วม พวกเขาจะปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยมาไว้สำหรับจอดเรือแทน
       
       ครั้นพอน้ำลดชาวบ้านก็กลับมาใช้วิถีชีวิตบนบกที่ยังอ้างอิงกับสายน้ำอีกครั้ง นับเป็นวิถีปกติของคนไทยโบราณในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่ดำรงคงอยู่ผูกพันกับสายน้ำ สามารถปรับตัวตามธรรมชาติใช้ชีวิตยามน้ำท่วมน้ำหลากได้อย่างเป็นปกติสุข และน่ายกย่องในภูมิปัญญา
       
       กรุงศรีอยุธยา ภูมิปัญญาแห่งเมืองน้ำ
       
       ประสบการณ์และภูมิปัญญาแห่งน้ำที่คนไทยสั่งสมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี ทั้งการเลือกวางผังเมืองในพื้นที่ราบลุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งภูมิภาค ทั้งการดำรงวิถีชีวิตปรับตัวให้กลมกลืนกับวิถีแห่งสายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสัญจร การสร้างบ้านเรือนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
       
       นอกจากนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีการขุดคูคลองลัดเชื่อมลำน้ำ จากลำน้ำสายเล็กไปสู่ลำน้ำสายใหญ่ เพื่อนำไปสู่ทางออกทะเล ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นชุมทางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ สามารถเดินเรือไปยังปากอ่าวไทย แล้วแผ่ขยายอำนาจลงไปจนถึงแหลมมลายูได้
       
       ขณะเดียวกันก็สร้างท่าเรือเศรษฐกิจไว้ที่ป้อมเพชร ให้เรือเดินทะเลของชาวต่างชาติแล่นเข้ามาเทียบท่า นำสินค้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยน โดยนำลงใส่เรือเล็กลำเลียงผ่านประตูน้ำเข้าไปขายในเมืองอีกที นั่นจึงทำให้มีเรือสินสินค้า เรือเดินทะเลของชาวต่างชาติ แล่นเข้า-ออกมา ค้าขายสินค้ากันอย่างคึกคัก ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าขายอย่างมาก จัดอยู่ในอันดับต้นๆของเอเชีย(ในสมัยนั้น)เลยทีเดียว
       
       สำหรับภูมิปัญญาแห่งเมืองน้ำอันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็คือ การรู้จักใช้คุณประโยชน์จากน้ำตามสภาพธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ศัตรู โดยมีการสร้างตัวเมือง สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบไว้นอกเขตพื้นที่น้ำหลาก เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเมือง ไม่สามารถตีบุกฝ่ากำแพงเมือง เข้าไปในเมืองได้ก็ต้องล้อมอยู่ด้านนอก พอน้ำหลากมาก็ท่วมข้าศึก ศัตรู ล้มตาย ทำให้ต้องยกทัพกลับไป ซึ่งมีบันทึกว่าพม่าได้ยกทักมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ถึง 6 ครั้งเลยทีเดียว
       
       อย่างไรก็ตาม แม้กรุงศรีอยุธยาจะรู้จักใช้ประโยชน์จากสภาพน้ำหลากให้เป็นประโยชน์ แต่เมื่อผู้ปกครองอ่อนแอ และมีคนไทยด้วยกันเองทรยศขายชาติไปเปิดประตูเมืองให้พม่า สุดท้ายก็ทำให้ตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาถูกเจาะ ถูกตีแตก นำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด
       
       วิถีเมืองน้ำพ่ายเมืองบก
       
       จากกรุงศรีอยุธยาผ่านมาสู่ยุคกรุงธนบุรี และยุคกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยยังยึดความเป็นเมืองแห่งน้ำมาสร้างบ้านแปงเมืองเหมือนเดิม
       
       สมัยกรุงธนบุรีมีการเลือกทำเลเมือง“บางกอก” ตำบลเก่าแก่ที่เจริญเติบโตมาในสมัยสุโขทัย ที่อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา(คลองลัดที่ขุดขึ้นมาใหม่) เป็นเมืองหลวง
       
       ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร”
       
       บางกอก(ใหม่)หรือกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ทั้งลำคลองธรรมชาติ และคลองขุดอีกมากมาย รวมแล้วมีนับร้อยนับพันสายไหลเชื่อมโยงถึงกัน จนต่างชาติขนามนามให้เป็น“เวนิสตะวันออก” ที่โด่งดังไปทั่วโลก
       
       แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน วิถีเปลี่ยน
       
       สยามประเทศค่อยๆเปลี่ยนจากเมืองน้ำมาเป็นเมืองบกตามแบบตะวันตก วิถีชีวิตเมืองน้ำในอดีตได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นวิถีเมืองบก
       
       ถนนมาแทนที่แม่น้ำลำคลอง ทำให้แม่น้ำลำคลองถูกทอดทิ้งเน่าเสีย ลำคลองจำนวนมากถูกถมสร้างเป็นถนนรองรับจำนวนรถยนต์ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น
       
       สังคมเกษตรกรรมที่คนไทยเป็นหนึ่ง มีการสั่งสมภูมิปัญญามายาวนาน เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม(นิค)แบบก้าวกระโดด ทั้งๆที่รากฐานเรายังไม่แน่น ภูมิปัญญายังไม่แกร่ง เป็นได้แค่เมืองผู้ผลิตป้อนให้ต่างชาติเจ้าของภูมิปัญญา แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐกลับกระเหี้ยนกระหือรือ ต่อการเป็นนิคของไทย ภายใต้เงาที่ทาบทับของการคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน
       
       พื้นที่รับน้ำทำการเกษตรกรรมในที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะที่อยุธยาถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ถนนคอนกรีต บ้านจัดสรร สิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก ถูกสร้างขึ้นมาขวางทางน้ำ บล็อกทางน้ำ แม่น้ำลำคลองหลายสายถูกถม ถูกรุกล้ำ ป่าไม้ถูกโค่นทำลาย ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ โดยเฉพาะภูมิปัญญาแห่งเมืองน้ำที่เคยเป็นเอกอุแห่งสยามประเทศ ถูกละเลย ถูกหลงลืม และถูกทอดทิ้ง
       
       จากน้ำท่วมที่เคยเป็นมิตรในอดีต ได้กลายเป็นวิกฤตแห่งยุคสมัย(ขออนุญาตยืมคำของพี่สำราญ รอดเพชร) ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เป็นดังฝันร้ายผ่านพ้น รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีวาระแห่งชาติในการรับมือกับน้ำในปีต่อๆไป โดยอย่ามุ่งมองไปที่เมกะโปรเจกต์ โครงการหมื่นล้าน แสนล้าน เพื่อที่จะหวังเงินใต้โต๊ะแต่อย่างเดียว แต่หากควรมองไปถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษว่าที่ผ่านมาคนไทยเรามีวิถีผูกพันกับสายน้ำ ใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำอย่างกลมกลืนและมีความสุขอย่างพอเพียงมาได้อย่างไร

โดย ปิ่น บุตรี
13 ตุลาคม 2554