ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 ต.ค.2558  (อ่าน 705 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 ต.ค.2558
« เมื่อ: 11 มกราคม 2016, 10:32:41 »
1.ตำรวจ รวบ “สารวัตรเอี๊ยด-หมอหยองพร้อมเลขาฯ” ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ด้านราชทัณฑ์แถลง “สารวัตรเอี๊ยด” ผูกคอตายในเรือนจำแล้ว!

        เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูง โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ และมี พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นรองหัวหน้าคณะ ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการโยกย้ายตำรวจกองปราบปราม ไปปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเมื่อวันที่ 18 ต.ค.หรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ บอกว่า เบื้องต้นเป็นคนละเรื่องกัน
       
       สำหรับตำรวจกองปราบฯ 8 นาย ที่ถูกเด้งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ประกอบด้วย 1.พ.ต.อ.ศิวพงษ์ พัฒน์พงศ์พานิช รองผู้บังคับการกองปราบปราม(รอง ผบก.ป.) 2.พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผกก.2 บก.ป. 3.พ.ต.ท.วสุ แสงสุกใส รอง ผกก.2 บก.ป. 4.พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา รอง ผกก.2 บก.ป. 5.พ.ต.ท.จีรวัฏฐ์ บุญวัฒนาภรณ์ สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง 6.พ.ต.ท.ณัทกฤช พรหมจันทร์ สารวัตรกองกำกับการ 2 บก.ป. 7. พ.ต.ท.พิทยา กล่ำเอม สารวัตรกลุ่มงานถวายความปลอดภัย กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ 8. พ.ต.ท.สุวัฒชัย ศรีทองสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์
       
       ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ เผยว่า คดีหมิ่นเบื้องสูงที่กำลังสืบสวนนี้ มีการร้องทุกข์โดยกองทัพ และได้ขอศาลออกหมายจับ ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ว ต่อมา วันที่ 21 ต.ค. พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในฐานะ 1 ในคณะพนักงานสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้นำคำร้องยื่นต่อศาลทหารเพื่อขอฝากขังผู้ที่ถูกออกหมายจับคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงจำนวน 3 คน เป็นเวลา 12 วัน ประกอบด้วย 1.พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา สว.กก.1 บก.ปอท. หรือสารวัตรเอี๊ยด อายุ 44 ปี 2.นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง อายุ 53 ปี หมอดูชื่อดัง และก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดงานกิจกรรมพิเศษโครงการ bike for MOM ปั่นเพื่อแม่ 3.นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาท อายุ 39 ปี เป็นเลขาฯ ของหมอหยอง โดยหมอหยองและนายจิรวงศ์ ถูกออกหมายจับข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ขณะที่ พ.ต.ต.ปรากรม ข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ , มีใช้วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม และหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
       
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวทราบจาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนมีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูงมานานกว่า 1-2 เดือนแล้ว โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้แจกเอกสารเรื่องจับกุมผู้ต้องหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงว่า เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ตรวจพบว่ามีกลุ่มบุคคลกระทำผิด มีพฤติกรรมแอบอ้างหรือแสดงออกในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าตนเองมีความใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูง และได้เรียกหรือรับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งได้ทำผิดกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฐานความผิด การกระทำของบุคคลดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ และความเสียหายอื่นๆ ในวงกว้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทหารจึงได้ใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.เรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อมูลและควบคุมตัวไว้ พบว่ามีมูลทำความผิดจริง จึงมอบหมายให้ พ.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งสามให้การรับสารภาพ
       
       หลังออกหมายจับและฝากขังผู้ต้องหาทั้งสาม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ลงนามคำสั่งให้ พ.ต.ต.ปรากรม ออกจากราชการ และขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนตำรวจกองปราบฯ 8 นายที่ถูกย้ายมาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ว่าเกี่ยวข้องคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงหรือไม่
       
       มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ตำรวจกองปราบฯ ได้เดินทางไปอายัดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และทรัพย์สินบางรายการที่คอนโดมิเนียม ลาเมซอง 24 ซอยพหลโยธิน 24 ซึ่งเป็นที่พักของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา 1 ใน 3 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของหมอหยองที่ซอยพหลโยธิน 14 โดยได้ยึดเอกสารไปตรวจสอบพร้อมอายัดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง
       
       หลังจาก พ.ต.ต.ปรากรม-หมอหยอง และนายจิรวงศ์ หรืออาท เลขาฯ หมอหยอง ถูกควบคุมตัวตามหมายขังของศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่า พ.ต.ต.ปรากรม ใช้เสื้อผู้ต้องขังที่ทางเรือนจำจ่ายให้ตามระเบียบผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขัง เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.วันที่ 23 ต.ค. ซึ่งหลังจากเวรรักษาการณ์ได้ตรวจพบ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาและเปิดห้องขังเข้าไปให้การช่วยเหลือในทันที โดยเบื้องต้น พบว่า พ.ต.ต.ปรากรม ยังไม่เสียชีวิต จึงพยายามใช้เครื่องช่วยหายใจ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทันที แต่แพทย์แจ้งในเวลาต่อมาว่า พ.ต.ต.ปรากรม เสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ คาดว่า พ.ต.ต.ปรากรม อาจมีปัญหาในการปรับตัว จึงคิดสั้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และส่งศพให้สถาบันนิติเวชดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวต่อไป
       
       2. “บิ๊กตู่” นำข้อเสนอ “องคมนตรี” ปฏิรูป ปท.ให้ฝ่าย กม.ก่อนส่ง กรธ. ด้าน “วรชัย” รีบโวยจ้องปิดกั้น “เพื่อไทย” ลงเลือกตั้งหรือไม่!

        ตามที่มีข่าวว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ลงวันที่ 15 ต.ค.นั้น มีรายงานว่า เนื้อหาบางส่วนในจดหมาย นอกจากนายธานินทร์จะแสดงความยินดีกับ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ทำหน้าที่ให้ประเทศได้อย่างดีเยี่ยมจนเกิดความสำเร็จหลายด้านแก่ประเทศในการประชุมใหญ่องค์กรสหประชาชาติ รวมถึงการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ขึ้นมาแล้ว นายธานินทร์ได้เสนอเรื่องสำคัญ 7 ข้อ ที่ควรจะมีการพิจารณาร่วมกัน เช่น เรื่องการขนส่งทางทะเล ซึ่งนายธานินทร์เห็นว่า โครงการขุดคอคอดกระมีความสำคัญ ควรจะมีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย และเปิดการเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อพิจารณาข้อต่อรองให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด
       
       นายธานินทร์ ยังพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ยังไม่เห็นผลด้วยว่า ส่วนหนึ่งมาจากการให้โอกาสนักการเมืองที่กระทำความผิดกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหลังจากพ้นโทษ 5 ปี ตนเห็นว่าควรจะปิดโอกาสคนกลุ่มนี้ไม่ให้กลับมาทำความผิดซ้ำอีก พร้อมกันนี้ นายธานินทร์ยังหนุนให้ปฏิรูปเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการเรียกร้องทรัพย์สินคืน เพื่อไม่ให้พวกที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ พร้อมทรัพย์สินที่กอบโกยไป ไม่ควรให้ที่ยืนแก่คนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ควรให้มีพื้นที่ใดในพื้นพิภพ ได้เป็นที่ซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตคดโกง
       
       ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ เผยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ว่า ได้รับและเห็นจดหมายของนายธานินทร์ ที่เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดถึงจดหมายของนายธานินทร์อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ว่า ได้พูดให้ที่ประชุม ครม.ทราบแล้ว และให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดู และส่งต่อ กรธ.
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า อดีต ส.ส.บางคนของพรรคเพื่อไทยออกอาการข้องใจข้อเสนอของนายธานินทร์ เช่น นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า อยากถามว่า นายธานินทร์กำลังส่งสัญญาณให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันคนของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ลงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คนของพรรคถูกกล่าวหาว่าโกงและทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น คดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และว่า ที่นายธานินทร์ระบุว่า มีคนโกงแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้น อยากถามนายธานินทร์ว่า พูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ เพียงแค่อดีตนายกฯ เซ็นให้ภริยาไปซื้อที่ดิน แบบนี้เรียกโกงตรงไหน
       
       3. คกก.สรรหา มีมติเลือก 5 ว่าที่ ป.ป.ช.แล้ว “วัชรพล-สุวณา” เข้าวินตามคาด ด้าน “วัชระ” เตรียมยื่นค้าน “วัชรพล” ชี้ไม่เหมาะสม!

        เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่มีนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน เพื่อเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.จำนวน 5 คน จากผู้เข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 59 คน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเลือกผู้เหมาะสมเป็น ป.ป.ช. 5 คน ประกอบด้วย นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และอดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. , นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม , พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก
       
       สำหรับคณะกรรมการสรรหามีจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต , นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา , นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงคะแนนสรรหาว่าที่ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ผู้ได้รับเลือกหลายคน กว่าจะได้คะแนนถึงเกณฑ์ คือ 2 ใน 3 หรือ 3 คะแนน ต้องโหวตกันอยู่หลายรอบ มีเพียงนายวิทยา และนางสุวณา ที่ลงคะแนนรอบเดียวผ่าน ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ต้องลงคะแนน 2 รอบจึงผ่านเกณฑ์ นายสุรศักดิ์ ลงคะแนน 4 รอบ และ พล.อ.บุณยวัจน์ ลงคะแนนถึง 7 รอบ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหาจะนำรายชื่อผู้ได้รับเลือกทั้ง 5 คน เสนอ สนช.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
       
       ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อคัดค้านการเห็นชอบ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็น ป.ป.ช. เนื่องจากเคยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เมื่อครั้งรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ตนเคยยื่นเรื่องให้ดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ไม่ดำเนินการ
       
       4. ศาลฎีกา พิพากษายืนประหารชีวิต “อดีต ส.ท.ต่าย” คดีฆ่า “กอบกุล” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคไทยรักไทย!

        เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆ่านางกอบกุล นพอมรบดี อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.ราชบุรี ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนายมานิต นพอมรบดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามีของนางกอบกุล โจทก์ร่วม ฟ้องนายอนันตศักดิ์ หรือ ต่าย ศรีสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี หรือ ส.ท.ต่าย อายุ 50 ปี , นายวิญญู หรือ เลิฟ รัตนวรรณี อายุ 38 ปี พ่อค้าขายผัก และนายอานนท์ หรือ เอ็ม พันธ์รัตน์ คนดูแลโต๊ะสนุ๊กเกอร์ อายุ 48 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน , มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 80, 83, 91, 289, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2549 จำเลยทั้งสาม ได้ร่วมกับนายสงัด หรือ เปี๊ยก พุ่มเพ็ง ผู้ต้องหาอีกคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ร่วมกันมีอาวุธปืนเล็กกลแบบเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และกระสุนปืน .223 และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางกอบกุล จนถึงแก่ความตาย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน คือ นายชาตรี ศุภรานันท์ ผู้เสียหายที่ 1 และ จ.ส.ต.สายชล แก้วสายทอง ผู้เสียหายที่ 2 เหตุเกิดขณะรถจอดรอสัญญาณไฟอยู่ที่บริเวณสี่แยกเขางู ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี
       
       ซึ่งในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การสารภาพฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ขณะที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยโจทก์ขอให้นับโทษนายอนันตศักดิ์ จำเลยที่ 1 ต่อจากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ในความผิดเล่นการพนันสลากกินรวบเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2548 ด้วย
       
       สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นโทษบทหนักสุด และจำคุกอีกคนละ 3 ปี ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่จำเลยที่ 2 - 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 -3 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 3 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2549 ให้แก่นายชาตรี ศุภรานันท์ คนขับรถนางกอบกุล ผู้เสียหายที่ 1
       
       ต่อมานายมานิต สามีของนางกอบกุล โจทก์ร่วม , นายอนันตศักดิ์ หรือ สท.ต่าย จำเลยที่ 1 และนายอานนท์ จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกา แต่ภายหลัง จำเลยที่ 3 ได้ยื่นขอถอนฎีกา
       
       ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณากรณีที่โจทก์ร่วมยื่นฎีกาในประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2-3 หรือไม่ โดยศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสอง จึงพิพากษายืนประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ยื่นขอถอนฎีกานั้น ศาลฎีกาอนุญาต ดังนั้นจำเลยที่ 3 จึงต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ให้จำคุกตลอดชีวิต
       
       

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 ต.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 11 มกราคม 2016, 10:32:56 »
5. ศาลฎีกา พิพากษาแก้ยกฟ้อง “สนธิ” ปราศรัย “ทักษิณ” ซื้อประชาชนให้รัก-หมกมุ่นไสยศาสตร์!

        เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายชาตรี ถริปภัสสโร เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ. 2541
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 6-24 มี.ค.2549 จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยทำนองว่า โจทก์ใช้เงินซื้อประชาชนให้รักตนเอง และสร้างภาพให้ลูกน้องไปเผาเวทีของพันธมิตรกู้ชาติที่ จ.ภูเก็ต และกล่าวหาว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีบ้า ต้องไล่ให้ไปประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า โจทก์หมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์ ให้หมอเขมรไปทำพิธีที่ทำเนียบรัฐบาล ทำพิธีฝังรูปฝังรอยที่ศาลพระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ เหตุเกิดที่เขตดุสิต กทม.และทั่วราชอาณาจักร
       
       คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 4 หมื่นบาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี
       
       ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยจัดปราศรัยโดยมีประชาชนมานั่งฟังจำนวนมาก จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและใช้อุปกรณ์ในการจัดเวทีปราศรัย ติดป้าย แขวนบัตรจำนวนมากตามไปด้วย ข้อเท็จจริงทำให้จำเลยที่ 1 และคนทั่วไปเข้าใจได้ว่า การจัดปราศรัยของจำเลยต้องใช้เงินจำนวนมาก การปราศรัยของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม
       
       ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่าได้ข้อมูลลับจากนายทหารระดับนายพลว่า มีการสั่งทีมสังหารจากภาคใต้-ภาคอีสาน ให้จัดการลอบสังหารตนเอง และถูกลูกน้องของนายหน้าเหลี่ยมเผาเวทีพันธมิตรกู้ชาติที่ จ.ภูเก็ต โดยจำเลยนำสืบว่า ขณะรณรงค์ต่อต้านให้โจทก์ลาออกนั้น บ้านจำเลยถูกลอบยิง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาคนร้ายมาลงโทษได้ ประกอบกับเห็นคนแต่งกายคล้ายตำรวจมาซุ่มอยู่แถวบ้าน และเวทีพันธมิตรที่ภูเก็ตก็ถูกเผา ประเด็นนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าขณะจำเลยที่ 1 รณรงค์ต่อต้านโจทก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะป้องกันตัวเอง ส่วนกรณีกล่าวหาว่าโจทก์เป็นบ้านั้น คนทั่วไปยังเห็นว่าโจทก์เป็นคนปกติ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย แต่กรณีที่กล่าวหาว่าชาติกำลังวิบัติ เพราะมีนายกฯ ที่หมกมุ่นกับไสยศาสตร์นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำตามที่จำเลยที่ 1 ปราศรัย และการที่โจทก์จะเชื่อไสยศาสตร์ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับประชาชน การกล่าวหาดังกล่าวของจำเลยในส่วนนี้ย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง
       
       ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หนึ่งกระทง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี โดยให้รอลงอาญา 2 ปี แต่เพื่อให้หลาบจำ ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 2 หมื่นบาท และให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาย่อใน นสพ.ผู้จัดการเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาและจำเลยที่ 1 ก็ได้ยื่นฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง
       
       ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวปราศรัยว่า ชาติบ้านเมืองกำลังจะวิบัติ เพราะเรามีนายกฯ ที่หมกมุ่นเรื่องไสยศาสตร์ มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์เป็นผู้สมัครใจและลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อจะบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สามารถกำหนดนโยบายและมีผลโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ และยังได้บริหารเงินงบประมาณของแผ่นดินอันมีผลตามกฎหมาย การกระทำ ความเชื่อ อุปนิสัยต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็อาจมีผลต่อความไว้วางใจตามศรัทธาความเชื่อ ความสง่างามและศักดิ์ศรีของประเทศด้วย ซึ่งประชาชนทุกคนย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่จะสามารถวิจารณ์ให้ความเห็นในทางปกป้องส่วนได้เสียของตนเอง รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติได้
       
       ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของโจทก์นั้น ศาลเห็นว่า โจทก์มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยที่โจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า พฤติกรรมของโจทก์ในหลายเรื่องมุ่งไปทางไสยศาสตร์ เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ในทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ทำพิธีเป็นชาวกัมพูชา และมีคนร้ายทุบพระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ ต่อมามีการประดิษฐานพระพรหมขึ้นมาใหม่ โดยเป็นหน้าที่ของมูลนิธิท้าวมหาพรหม ซึ่งโจทก์ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย แต่รีบเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อร่วมพิธี โดยห้ามบุคคลอื่นไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมด้วย เว้นแต่คนใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการใช้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อทำบุญประเทศ อีกทั้งมีการนำคณะรัฐมนตรีไปประชุมที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อ้างว่าส่งเสริมการท่องเที่ยว ความจริงเป็นการแก้เคล็ด เพื่อให้โจทก์ได้นั่งอยู่ในตำแหน่งอย่างยั่งยืน และสถานที่ดังกล่าวใช้ทำพิธีกรรมของกษัตริย์ ที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นสถานที่ชุมนุมของเทพและเทวดา จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรรมตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ ประชาชนและคนทั่วไปจึงสามารถแสดงความคิดเห็น ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
       
       6. ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้องอดีตตำรวจเสื้อแดงคดียิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม ปี ’53 ชี้พยานขัดแย้งกัน!

        เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม อายุ 48 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้วเป็นจำเลยในความผิดฐานก่อการร้าย, กระทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น, พยายามทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ทำให้เสียทรัพย์, ยิงปืนโดยใช้ดินระเบิดในที่ชุมนุม, มีเครื่องยิงระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, ใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา ประกอบมาตรา 80 และ 83 และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490
       
        โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2553 จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 ยิงลูกระเบิดไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม เขตพระนคร ทำให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ สายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังได้รับความเสียหาย จำเลยกับพวกมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ บังคับ รัฐบาลในขณะนั้นให้ยุบสภา ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการสนับสนุน ช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จำเลยมีเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก ลูกระเบิดแบบสังหาร เอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก ปืนกลมือ (เอ็ม 3) ขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน .45 จำนวน 48 นัด
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2554 ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 38 ปี และให้ริบของกลาง ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี
       
        โดยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์หลายปากซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาต่างกัน เบิกความถึงสาระสำคัญตำแหน่งที่นั่งของคนร้ายไม่ตรงกัน พยานบางรายระบุว่าเห็นจำเลยเป็นคนขับ แต่พยานบางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับ พยานบางรายระบุว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป แต่พยานบางรายบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก ขัดแย้งกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าใช่จำเลยหรือไม่ที่นั่งอยู่ในรถคันดังกล่าว อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืน แสงไฟมีน้อย นอกจากนี้ แม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงจะพบว่ามีสารพันธุกรรมจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขณะที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา
       
       ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้ง 4 ปาก แสดงให้เห็นว่า พยานเห็นคนร้ายในเวลากลางคืน แม้จะมีแสงสว่างแต่ก็ยังเป็นข้อจำกัดในการมองเห็น และเป็นการพบคนร้ายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่น่าจะมองเห็นชัดเจนหรือจำหน้าคนร้ายได้แม่นยำ อีกทั้งพยานโจทก์ที่เห็นคนร้ายก็ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยบังเอิญ ซึ่งต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง ส่วนรถยนต์ของกลางที่โจทก์นำสืบว่ามีการซื้อขายต่อๆ กันมา จนกระทั่งมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย พยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันอย่างชัดเจน เพราะขั้นตอนการซื้อขายใช้เวลาเพียงเล็กน้อย
       
       ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอของจำเลยตรงกับดีเอ็นเอที่เจ้าหน้าที่ตรวจเก็บได้จากเสื้อแจ็กเกตสีดำ ของกลางที่ยึดได้จากภายในรถยนต์คันดังกล่าวนั้น ศาลเห็นว่า จากรายงานผลการตรวจดีเอ็นเอ เป็นการตรวจหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 2 เดือน ซึ่งขัดแย้งกับผลการตรวจของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลางที่ตรวจหลังเกิดเหตุทันที และไม่พบดีเอ็นเอของจำเลย พยานโจทก์และพยานแวดล้อมขัดแย้งกัน มีเหตุให้สงสัยและยังมีพิรุธ อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกฟ้องตามศาลอุทธรณ์
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ต.ต.บัณฑิต จำเลย ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแต่อย่างใด และถูกศาลออกหมายจับตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีพฤติการณ์จงใจหลบหนีไม่มาศาล โดยมีเพียงนายประกันที่ถูกปรับและยึดเงินประกัน 1 ล้านบาทเดินทางมาศาล ซึ่งนายประกันแถลงต่อศาลว่า ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยได้ ด้านศาลเห็นว่า ครบกำหนด 1 เดือนที่ออกหมายจับแล้ว แต่ยังไม่มีตัวจำเลย จึงให้อ่านคำพิพากษาทันที

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 ตุลาคม 2558