ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดบันทึกประชุมถก'ร่วมจ่าย'บัตรทอง  (อ่าน 470 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9790
    • ดูรายละเอียด
แนวคิดที่จะให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 47 ล้านคน "ร่วมจ่าย"ค่ารักษาพยาบาล ถูกพูดถึงในที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยปรากฏหลักฐานจาก "บันทึกการประชุม"ในช่วงท้าย

นำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรงจากเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มแพทย์อาวุโสโดยมองว่าเป็นแนวความคิด "ถอยหลังเข้าคลอง"

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ยืนกรานว่า สธ.ไม่เคยมีแนวคิดร่วมจ่าย และส่วนตัวก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ในที่ประชุม

"เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยหรือมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อ คสช.แต่อย่างใด" นพ.ณรงค์ระบุชัด

เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและยุติความสับสน"โพสต์ทูเดย์" ถอดคำพูดในการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งเป็นความจริงที่ว่า นพ.ณรงค์ ไม่ได้พูดหรือนำเสนอให้มีการ "ร่วมจ่าย" ต่อ คสช.ด้วยตัวเอง

ทว่ากลับมีผู้บริหารระดับอธิบดีซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนพ.ณรงค์ นำเสนอแทน โดยได้กล่าวแทรกขึ้นช่วงท้ายก่อนปิดการประชุมอย่างฉิวเฉียด อธิบดีรายนี้ยอมรับว่า สธ.มีแนวคิดดังกล่าวมานานแล้ว ขณะที่ประธานการประชุม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ก็ได้ให้แนวทางการดำเนินการตามที่ สธ.นำเสนอ

การประชุมร่วมระหว่าง สธ.และ คสช.ดำเนินไปร่วม 2 ชั่วโมง กระทั่งช่วง 5 นาทีสุดท้าย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวแทรกขึ้น

"ขออนุญาตเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อย่างที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เรียนไว้แล้วว่าในระบบมีเงินที่จะต้องดูแลอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทและทั้งหมดก็รักษาฟรี ส่วนใหญ่ก็จะมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็น สปสช. กรมบัญชีกลางหรือประกันสังคม ตามจ่ายอยู่

ปัญหาก็คือว่าในงบประมาณที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและก็มีค่าใช้จ่ายในการดูแลจำนวนครั้งต่อปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ส่งให้บุคลากร สธ.ไม่เพียงพอ ถ้ามองไปอีก10-20 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นระบบแบบนี้ไปเรื่อยๆเราก็คงจะชดเชยเงินเท่าไรก็คงไม่พอ ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเสนอก็คือว่า มองในระยะกลางและระยะยาวคงจะต้องมีการปรับระบบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวเองบ้าง นั่นก็คือการให้เกิด 'co-payment' ด้านสุขภาพเหมือนอย่างที่ทั่วโลกทำกัน เพราะในวันนี้ถ้าทุกอย่างฟรีหมดก็จะทำให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆโดยที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

สิ่งนี้ (นโยบายร่วมจ่าย) เป็นเรื่องที่ทางเรา(สธ.) พยายามทำอยู่แล้ว แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมีประเด็นปัญหาเรื่องของคะแนนเสียงอะไรต่างๆซึ่งขณะนี้ก็เป็นโอกาสที่จะมองในเชิงปรับระบบให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นและให้ประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น"

ทันทีที่ นพ.ธวัชชัย สิ้นสุดคำ พล.ร.อ.ณรงค์ในฐานะประธานการประชุมกล่าวตอบ

"ที่พูดมานี้ถือว่าตรงเลย เพราะว่าเราเห็นปัญหาข้างหน้าอยู่แล้ว ปีนี้ 2 แสนล้านบาท ปีถัดไปคนอายุเพิ่มขึ้นแล้วไม่เสียชีวิตสักที (เสียงหัวเราะดังทั้งห้องประชุม) รวมทั้งตัวผมเองด้วย ก็มีค่าดูแลเพิ่มขึ้นแล้วถึงตอนนั้นเราคงไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนตรงนี้ได้

ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในการที่จะให้ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาหรือประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการจ่าย แต่ก่อนมี 30 บาทรักษาทุกโรค ก็อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูแล้วมันต่ำไปหรือเปล่า หรือมันพอเหมาะไหม หรือถ้าจะมีส่วนร่วมทาง สธ.ก็ต้องคิดว่าจะต้องมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ในราคายาหรือราคาค่าตรวจรักษา 100 บาท คนที่ไปใช้บริการจะเสียสักเท่าไร 50% หรือ 30% หรืออะไรอย่างนี้ คงต้องหาตัวเลขหรือว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้ออกมาให้ได้

ซึ่งผมว่าต้องมองแล้วในตอนนี้ เพราะเราคงอุดหนุนเงินทั้งหมดในระยะยาวคงเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่าจะไปไม่ไหว นอกจากเราจะไปจดภาษีเรื่องสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นๆ คนก็จะมีปัญหาอีกเหมือนกัน ก็ฝากให้คิดกันด้วย"

พล.ร.อ.ณรงค์ ย้ำในช่วงสุดท้ายของการประชุมว่าฝากเรียนทุกท่านว่า คสช.ไม่ได้ต้องการมาล้วงลูกหรือมาทำอะไรทั้งสิ้นใน สธ. แต่ต้องการช่วยผลักดันงานที่ค้างอยู่ให้ดำเนินการเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ ยังให้อำนาจ ปลัด สธ.รื้อโครงการที่ดูแล้วไม่เหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงว่าเป็นใบสั่งทางการเมืองทิ้ง

"แผนงานโครงการต่างๆ ในปี 2558 ถ้าทางสธ.เห็นว่าแผนโครงการใดที่พิจารณามาก่อนหน้านี้แล้วเบี่ยงเบนหรือไม่ตอบสนองข้อเท็จจริง อาจด้วยมีอะไรเข้ามาแทรกแซงบ้าง หรือโครงการไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มีความผิดเพี้ยนไป ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการที่จะปรับ คิดว่าท่านผู้บริหาร สธ.จะใช้ช่วงโอกาสดีๆ นี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่เดือน ตัดโครงการเหล่านั้นทิ้งไปให้หมดเลยเพื่อปฏิรูประบบให้เข้าที่เข้าทาง"หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ทิ้งท้ายก่อนกล่าวปิดการประชุม

นอกจากนี้ 1 วันก่อนที่ นพ.ณรงค์ จะยืนกรานว่าสธ.ไม่มีแนวคิดร่วมจ่าย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข (นพ.ณรงค์ ก็เป็นสมาชิกประชาคม) ซึ่งปรากฏตัวสนับสนุนปลัด สธ.มาอย่างต่อเนื่องได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นร่วมจ่ายเป็นเรื่องที่คนในแวดวงสาธารณสุขและกลุ่มคนที่คัดค้านทราบดีว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ

"แต่ไม่ใช่สัดส่วนมากมายขนาดนี้ ควรร่วมจ่ายในอัตราประมาณ 30-50 บาท ที่สำคัญต้องไม่เก็บเงินกับผู้ยากจน เด็ก ผู้สูงวัย แต่ให้เก็บกับกลุ่มคนวัยทำงาน เรื่องนี้พูดกันมานานแต่ไม่มีใครกล้าทำโดยเฉพาะพรรคการเมือง" พญ.ประชุมพร ช่วยยืนยันอีกเสียงว่า สธ.มีการพูดกันมานานแล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ สมาชิกประชาคมสาธารณสุข (ซึ่งที่ผ่านมามักจะมาให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ โดยเฉพาะช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์) รวมถึงตัว นพ.ณรงค์ จะร่วมกันแถลงข่าว"การปฏิรูประบบการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุข" ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เวลา 11.00 น.

นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557