ผู้เขียน หัวข้อ: เทพเจ้าแห่งสงคราม(1) : "หวังเจี้ยน" เทพสงครามคู่บัลลังค์จิ๋นซี  (อ่าน 1074 ครั้ง)

power

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 27
    • ดูรายละเอียด
ถึงคราวที่จะต้องเขียนถึงเรื่องราวที่ติดกันไว้นานมากแล้ว นั่นคือ ในบรรดาขุนศึกเมืองจีนนั้น ใครเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามที่มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยยุให้ค้นหามา
       
        จริงๆ จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย เพราะระดับที่เราจะยกให้เป็นสุดยอดเทพเจ้าแห่งสงครามนั้นเอาจริงๆ ก็ต้องถึงระดับตีแผ่นดินหรือรวบรวมแผ่นดินได้อย่างต่ำก็ครึ่งหนึ่ง เอาที่เนื้อๆ วัดด้วยความเก่งกาจจากมาตรฐานที่ว่ามาได้แก่ ใครนำศึกได้ชัยชนะมากที่สุด ได้พื้นที่มากที่สุด สังหารและเข่นฆ่าศัตรูได้มากที่สุด ชัยชนะมีผลต่อประวัติศาสตร์หรือสามารถพลิกโฉมหน้าของการสงคราม รวมถึงถูกพูดถึงกันมากในประวัติศาสตร์ที่สุดก็คือควรจะได้รับการยกย่องไป
       
        ในประวัติศาสตร์การสงครามของจีนนั้นมีมากมายถ้านับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน (เพราะมีการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการแล้ว) จวบจนมาถึงราชวงศ์ชิง ถ้านับเอามาตรฐานเหล่านี้เทพเจ้าแห่งสงครามที่ว่าก็คงนับได้เกินสิบคนแน่ๆ ครับ ผมจะค่อยๆ ไล่ไปตั้แต่ราชวงศ์ฉินซึ่งเป็นราชวงศ์แรกที่สามารถรวบรวมมหาอาณาจักรทั้งหกรัฐประกอบไปด้วย ฉิน หาน เว่ย ฉู่ จ้าว เอี้ยนและฉี ให้กลายเป็นรัฐเดียวและปกครองใต้กฏหมายเดียวกันได้สำเร็จ ฉินอ๋องหรือที่เรารู้จักกันในนามจิ๋นซีฮ่องเต้ทำภาระกิจที่สุดแสนจะพิศวงได้ขณะที่พระองค์มีอายุเพียงแค่ 35 ปีเท่านั้น
       
        การที่จะทำเช่นนั้นได้พระปรีชาสามารถของพระองค์ก็ส่วนหนึ่ง แต่มือไม้ที่ทำให้รัฐฉินเอาชนะทุกรัฐได้นั้นก็เพราะพวกเขามียอดขุนศึกระดับเทพเจ้าแห่งสงครามอยู่ ยอดขุนศึกผู้นั้นมีชื่อว่า หวังเจี้ยน (Wang Jian)
       
        ในยุคสงครามหกรัฐนั้นมียอดขุนพลอยู่ 4 คนที่ได้รับการยกย่องว่าสุดยอดนันคือ หวังเจี้ยน และ ไปฉี ( Bai qi) ของรัฐฉิน และอีกสองท่านนั่นคือ หลี่มู่ และ เหลียนปอ แต่คู่หลังนี้เป็นขุนศึกของฝ่ายรัฐจ้าวที่เป็นรัฐไม้เบื่อไม้เมากับรัฐฉินมาโดยตลอด
       
        สงครามที่เกิดขึ้นจากฝีมือของทั้งสี่คนนี้รวมๆ กันแล้วทำให้เกิดคนตายมากกว่า 4 ล้านคน
       
        แต่ตัวของหวังเจี้ยนนั้นเชือดและทำลายชีวิตของฝ่ายตรงข้ามไปราวๆ 8 แสนคนตลอดอายุของการเป็นทหารของเขา คนเดียวที่มีตัวเลขมากกว่าหวังเจี้ยนก็คือ ไป่ฉีที่จัดการชีวิตของฝ่ายตรงข้ามประมาณล้านกว่าคน เสียดายแต่ว่าไปฉีนั้นโดนกษัตริย์รัฐฉินประหารชีวิตเสียก่อน ก่อนหน้าที่จิ๋นซีฮ่องเต้จะเกิดได้ 2 ปี เหตุเพราะไป่ฉีนั้นไม่ต้องการจะไปรบตามคำสั่งของกษัตริย์รัฐฉินในช่วงเวลานั้น เหตุเพราะการส่งเสบียงในการทำสงครามนั้นไม่ดีพอ การปฏิเสธการนำทัพอยู่หลายรอบทั้งๆ ที่ไป่ฉีนั้นมีสถิติการรบ 73 ครั้งและไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว ทำให้กษัตริย์รัฐฉินรู้สึกว่าไป่ฉีอาจจะทรยศ สุดท้ายก็ประกาศเนรเทศไป แต่ขณะที่ริบสมบัติและจะเนรเทศไปฉีไปให้พ้นจากรัฐฉินนั้น กษัตริย์แห่งรัฐนี้ก็เกิดปิ๊งไอเดียว่า ควรจะต้องฆ่ายอดนักรบคนนี้ดีกว่าปล่อยไว้ให้เป็นหอกข้างแคร่ เขาก็เลยถูกคำสั่งให้ไป่ฉีฆ่าตัวตายเพื่อแสดงความจงรักภักดี สิ้นชีพของเทพเจ้าสงครามคนแรกของรัฐฉินไปโดยปริยาย
       
        หวังเจี้ยนนั้นเป็นยอดขุนพลมาตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งได้นายดีที่เข้าใจเรื่องของการทำสงครามอย่างเต็มที่อย่างอิ๋งเจิ้งหรือจิ๋นซีฮ่องเต้นั้น เขาก็เหมือนพยัคฆ์ติดปีก ความจริงนั้นหวังเจี้ยนรบให้รัฐฉินมาตั้งนานแล้วครับ ในฐานะนายพลฝีมือดีของรัฐที่อยู่ทางตะวันตกของจีนรัฐนี้ แต่เกียรติยศของความเป็นยอดนักรบของเขาขึ้นจุดสูงสุดเมื่อปี 225 BC เมื่อจิ๋นซีก็ประกาศทำการโจมตีรัฐฉู่อย่างเป็นทางการ รัฐฉู่นั้นอยู่ทางใต้กินบริเวณที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุด(ช่วงเวลานั้นเหลือแต่ ฉู่ เอี้ยน และ ฉี เท่านั้นที่ยังสามารถต้านทานรัฐฉินได้ ส่วนรัฐจ้าว รัฐหาน และเว่ยนั้นโดนตีแตกไปนานแล้ว และก็เป็นฝีมือของหวังเจี้ยนที่เดินหน้าลุยเอาแผ่นดินมาให้ฉินนั่นเอง โดยหวังเจี้ยนเป็นคนตีเมืองหานตานเมืองหลวงของรัฐจ้าวแตก หลังจากนั้นเมื่อรัฐเอี้ยนส่งจิงเคอมาลอบสังหารจิ๋นซีแต่ไม่สำเร็จ ก็เป็นหวังเจี้ยนอีกเหมือนกันที่นำกองทัพเข้าถล่มรัฐเอี้ยนแหลกคามือ แก้แค้นแทนฮ่องเต้ของเขา) ทำให้อิ๋งเจิ้งหรือจิ๋นซีอ๋องมั่นใจว่า ถ้าเอาชนะฉู่ได้ โอกาสที่จะครองแผ่นดินทั้งหมดก็จะอยู่ในมือ
       
        เมื่อกษัตริย์จอมประจัญบานจะยึดรัฐฉู่ให้ได้ก็ไม่มีใครกล้าทัดทาน ทั้งๆ ที่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ทั้งเวลาและการโจมตีดังกล่าวดูเป็นเรื่องที่จะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ หวังเจี้ยนเป็นคนเดียวที่กล้าตั้งคำถามกับแผนการนี้ เขาชี้ให้เห็นว่า แผ่นดินของรัฐที่เหลือทั้งสามนั้ดูเหมือนจะล้อมจักรวรรดิฉินอยู่ ถ้าเลือกที่จะทำสงครามกับฉู่ในเวลานี้ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐที่เหลือคือ เอี้ยนที่อยู่ทางตะวันออก และฉีที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือถือโอกาสเข้ามาโจมตีกินพื้นที่ของรัฐฉินที่เพิ่งได้มา อีกทั้งชัยภูมิทางใต้ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยถนัดนักกับการควบม้าเข้าทำการรบ ประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้จากบันทึกสื่อจี้ ( Shiji) กล่าวไว้ว่า จิ๋นซีถามกลางที่ประชุมต่อหวังเจี้ยนว่า จะทำศึกกับฉู่นั้นต้องใช้คนจำนวนเท่าไหร่ หวังเจี้ยนคำนวณแล้วบอกว่าต้องใช้ทหารทั้งสิ้น 6 แสนนายเพื่อครองแดนใต้อันเป็นที่ตั้งของรัฐฉู่ ขณะที่ หลี่ซิน นายพลรุ่นน้องเสนอว่า ใช้ทหารเพียง 2 แสนคนก็เพียงพอ จิ๋นซีอ๋องก็เลยให้หลี่ซินไปรบแทน และบ่นว่าสงสัยหวังเจี้ยนจะแก่ไปเสียแล้วที่จะเอาชนะฉู่โดยใช้กำลังพลตั้ง 6 แสนนาย หวังเจี้ยนก็เลยอ้างว่าป่วยขอกลับไปอยู่บ้านที่บ้านนอกแทน
       
        ภายในเวลา 6 เดือน ข่าวร้ายก็ส่งกลับมายังเมืองเสียนหยางว่ากองทัพของฉินนั้นพ่ายแพ้ต่อกองทัพของฉู่อย่างยับเยิน ทั้งติดเชื้อไข้ป่า ทั้งเจอกับแผนการรบทั้งน้ำทั้งบก ซึ่งทหารฝ่ายฉินนั้นไม่คุ้นเคยเอาเลย แถมกำลังรบของฝ่ายฉู่นั้นมีมากถึง 5 แสนนายมากกว่าฝ่ายฉินซึ่งเป็นฝ่ายเข้าตีเสียอีก จิ๋นซีอ่องถึงกลับต้องควบม้ามาหาหวังเจี้ยนขอให้กลับไปช่วยงานในกองทัพ โดยพระองค์จะจัดการคนให้ 6 แสนคนตามที่ต้องการ หวังเจี้ยนขอที่นาและบริวารอีกมากมายเป็นเครื่องตอบแทนในชัยชนะของเขา
       
        เรื่องของรางวัลที่หวังเจี้ยนขอนั้น เข้าใจว่าจะเป็นการเสริมแต่งเข้าไปเพื่อให้เรื่องราวของหวังเจี้ยนมีลุ้นมากขึ้น เพราะ ในฐานะนักรบที่ชนะศึกนั้น รัฐฉินจะให้รางวัลอยู่แล้วในฐษนะที่เป็นทหารอาชีพ ทหารรัฐฉินนั้นเหมือนทหารรับจ้างมากกว่าทหารเกณฑ์ ใครรบและเอาหลักฐานการฆ่ามาให้ดูได้ก็จะได้บำเหน็จจากหัวของทหารฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว ยิ่งทำศึกใหญ่ๆก็ไม่ต้องห่วงเลยว่า แม่ทัพนั้นจะได้รับทรัพย์กันอู้ฟู่ขนาดไหน
       
        กองทัพของหวังเจี้ยนจำนวน 6 แสนไปถึงเมืองห้วยหยางในอีก 6 เดือนต่อมา แต่แทนที่จะทำสงครามประจันบาญกันทันที หวังเจี้ยนก็ทำเซอร์ไพรซ์แก่ฝ่ายตรงข้ามด้วยการสั่งให้ทหารอยู่เฉยๆ และซ้อมรบอยู่ในค่ายเท่านั้น ปล่อยให้ทหารฝ่ายฉู่ซึ่งนำทัพโดยเซียงเอี้ยนถึงกับงงว่าจะเอายังไง การไม่ออกรบเลยของกองทัพฉินนั้นผ่านไป 3 เดือนอย่างรวดเร็ว ทำเอาอีกฝ่ายมั่นใจว่ากองทัพฉินคงไม่กล้าข้ามแม่น้ำฮั่นมาโจมตีเป็นแน่ นั่นทำให้มาตรการของการป้องกันคลายตัว แม่ทัพเซียงเอี้ยนของฝ่ายฉู่ถึงกับส่งหนังสือให้กษัตริย์ของฝ่ายตัวเองเสด็จมาดูชัยชนะเสียด้วยซ้ำไป โดยเซียงเอี้ยนให้เหตุผลว่า การที่พวกเขารบชนะเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้กองทัพฉินไม่กล้าทำอะไร
       
        อย่างไรก็ดีทหารที่ทางฉู่เห็นว่ามานอนเฉยๆ อยู่ในค่ายนั้นเป็นเพียงแผนลวง เพราะกำลังหลักนั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าเลียบเขาในแถบเจียงซีและอันฮุยเพื่อซ้อมรบกันยังเงียบๆ และให้กองทัพใหม่นี้คุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อนให้มากที่สุด พวกเขารอกันอยู่แต่ว่าเมื่อไหร่พวกฉู่จะประมาท ทัพฉินก็จะเข้าโจมตีสองทางพร้อมๆ กัน
       
        ฝูจู่อ๋องแห่งรัฐฉู่นั้นก็บ้าจี้มาดูชัยชนะด้วยตัวเองถึงเมืองห้วยหยาง หวังเจี้ยนนั้นกำหนดฤกษ์ของการรบอยู่ที่การมาของกษัตริย์เมืองฉู่ เขามั่นใจว่า การป้องกันที่กำแพงเมืองจะผ่อนคลายในวันนี้ แล้วก็เป็นไปตามคาดเมื่อทหารจำนวนหนึ่งต้องไปเสียเวลาสวนสนามให้กษัตริย์ของพวกเขาดู แถมยังมีการฉลองในชัยชนะมากมาย กองทัพฉินก็เข้าโจมตีทันทีด้วยกำลังพลทั้ง 6 แสนนาย
       
        หวังเจี้ยนบุกเข้าห้วยหยางได้สำเร็จ เซียงเอี้ยนนั้นเจอการโจมตีกระทันหันเข้าไป ถึงกับไปไม่เป็น กษัตริย์ฝูจูของฉู่นั้นหนีไม่ทัน โดนนายพลเมิ่งอู่ของกองทัพฉินฟันเข้ากลางตัวจนเสียชีวิตคาที่ นายพลเซียงเอี้ยนนั้นหนีไปได้ แต่ก็มาฆ่าตัวตายทีหลังด้วยความอนาถใจ ไม่กี่เดือนถัดจากนั้นรับฉู่ก็ตกเป็นของรัฐฉินและแม่ทพที่ยาตราทัพเข้าไปสู่เมืองฉู่ได้อย่างยิ่งใหญ่ก็คือหวังเจี้ยนนั่นเอง งานนี้ทหารฉู่ตายเกือบทั้ง 5 แสนคน หวังเจี้ยนก็ได้รับฉายาว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามจากศึกครั้งนี้
       
        หลังจากนั้นไม่นานรัฐที่เหลือก็ตกเป็นของฉินอย่างง่ายดาย อิ๋งเจิ้งสถาปนาตัวเองเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้และกลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้พิศวงกันต่อไป ตัวหวังเจี้ยนนั้นหลังจากทำศึกรวมแผ่นดินให้แก่รัฐฉินได้แล้วก็ลาออกไปทำนาเลี้ยงหลานอย่างสบายใจ แตกต่างไปจากแม่ทัพในยุคนั้นหลายคนที่ส่วนใหญ่จะตายโหงเพราะโดนกษัตริย์ตัวเองอิจฉาริษยาหรือไม่ก็พ่ายต่อการเมืองในราชสำนักนะครับ
       
        แต่เรื่องราวของเทพเจ้าแห่งสงครามอีกคนกำลังจะเกิด ชื่อนี้คนไทยอาจจะคุ้นมากกว่าหวังเจี้ยน ชื่อของเขาก็คือ เซี่ยงหวี่หรือฉู่ไหวอ๋องหรือฌ้อปาอ๋องที่คนไทยหรือนักดูงิ้วรู้จักกันดีนะครับ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 ตุลาคม 2555