ผู้เขียน หัวข้อ: เศรษฐกิจพอเพียง คืนสมดุลธรรมชาติฝ่าทุนนิยม  (อ่าน 1111 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาซึ่งการแข่งขันเพื่อการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในหลายภาคส่วน รวมทั้งในเรื่องของการลงทุนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจในโลกที่กำลังประสบปัญหาอยู่อย่างรุนแรงและยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งการดำเนินเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมที่มีการเติบโตสูงมากขึ้นในทุกๆ ปี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในประเทศไทยที่ดำเนินมาแล้วหลายต่อหลายปี คือ ใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ รวมไปถึงการอนุรักษ์พัฒนาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ การอนุรักษ์น้ำ เพื่อให้เป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อทุกๆ ด้าน
       
       โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และจิตอาสาจากภาคีเครือข่าย ตลอดจนชาวบ้าน ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กว่า 1,000 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกป่าจำนวน 2,500 ต้น ที่ประกอบไปด้วยพันธ์ไม้หลายชนิด เพื่อคืนความสมบูรณ์แก่ป่าต้นน้ำ และถือเป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาบนพื้นที่ “บ้านพุสวรรค์” ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการต่อยอดแนวพระราชดำริ หลักองค์ความรู้ 6 มิติของในหลวง
       
       ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บอกว่า กิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และ 80 พรรษา ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปลายปี 2554 โดยสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้สำรวจพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการด้วยหลักองค์ความรู้ 6 มิติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประกอบด้วย น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยได้คัดเลือกพื้นที่บ้านหมู่ 1 ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีสภาพเหมาะสมกับการน้อมนำแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์มาใช้ในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน
       
       สำหรับแนวทางการพัฒนาจะยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นสำคัญ รวมทั้งยังศึกษาวิธีการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการปิดทองหลังพระ ที่เน้นความสำคัญเรื่องการ “ระเบิดจากข้างใน” หรือยึดหลักการพัฒนาภายใต้พื้นฐานความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจทำให้พบว่าพื้นที่บ้านพุสวรรค์มีลักษณะเด่นด้านความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนรวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของพื้นที่นี้คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภครวมถึงขาดความรู้ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ และต้องส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
       
       เนื่องจากพื้นที่ในเขตตำบลบ้านพุสวรรค์แห่งนี้มีอ่างเก็บน้ำซึ่งมีสภาพล้อมรอบด้วยเขตป่าชุมชน นับเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านทั้งแหล่งอาหารและเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้นทุกปี ต้นน้ำและลำห้วยต่างๆ จึงแห้งขอด ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำ สร้างความเสียหายต่อป่าต้นน้ำในวงกว้าง และทำลายระบบนิเวศ อันนำไปสู่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในอนาคต
       
       ดังนั้น สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้ผนึกแรงกายและแรงใจกับหน่วยงานต่างๆ และภาคีจิตอาสา รวมทั้งชาวบ้าน และนักเรียนในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน ช่วยกันปลูกต้นไม้จำนวน 2,500 ต้น ประกอบด้วย ต้นมะค่าโมง เภตรา ตะแบก ตะเคียน สะเดา และต้นงิ้ว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาบ้านพุสวรรค์เพื่อช่วยคืนความสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายว่าจะปลูกให้ได้ครบ 8,000 ต้น พร้อมกับสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 80 ฝายให้เสร็จภายในปีหน้า พร้อมกันนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังได้เปิดศูนย์ประสานงานโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ พื้นที่บ้านหมู่ 1 ในตำบลพุสวรรค์ อำเภอแก่งกระจานแห่งนี้อย่างเป็นทางการด้วย เพื่อสานต่อการพัฒนาให้ครบทุกมิติตามเป้าหมายเพื่อให้บ้านพุสวรรค์เป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ชุมชนใกล้เคียงต่อไป
       
       ถือเป็นประโยชน์ที่ชาวบ้านและคนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไปโดยตรงจากการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดเดียวกันได้ใช้ไปดำเนินต่อไปได้ เพราะปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยได้มีการบุกรุกและทำลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ป่านั้นถือเป็นแหล่งต้นน้ำแก่ผืนแผ่นดิน ช่วยดูดซับน้ำและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และเป็นระบบนิเวศแก่สัตว์ป่าเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนจึงมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 ตุลาคม 2555