ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 พ.ค.2558  (อ่าน 908 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 พ.ค.2558
« เมื่อ: 14 มิถุนายน 2015, 00:34:12 »
1. “ทักษิณ” ปากพาจน ถูกถอนพาสปอร์ต-แจ้งจับฐานหมิ่นสถาบัน แถมจ่อถูกถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ !

        เมื่อวันที่ 27 พ.ค. กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ฝ่ายความมั่นคงได้เสนอให้กระทรวงฯ พิจารณาเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 326 และ 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายจะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ จึงยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ เลขที่ U957441 และเลขที่ Z530117 ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2558
      
        ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลว่า อดีตนายกฯ ไปพูดให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ แล้วเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายข้อ จึงเข้าไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดี จากนั้น ปอท.จึงรายงานให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ
      
        ขณะที่นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า พนักงานสอบสวน ปอท. ได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการเพื่อดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเบื้องต้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีดังกล่าวจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว และเป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร โดยขั้นตอนจึงต้องเสนอเรื่องให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณา
      
       นายวันชัย เผยด้วยว่า "ทราบจากอัยการที่รับสำนวนว่า ปอท.ส่งสำนวนการสอบสวนความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ข้อหา คือหมิ่นประมาท และมาตรา 112 ในส่วนของข้อหาหมิ่นประมาทนั้น คิดว่ามาจากกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา มีการสมคบคิดกระทำรัฐประหาร ส่วนเรื่องมาตรา 112 นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดในสำนวน เพราะไม่สามารถเปิดดูสำนวนได้"
      
        ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 26 พ.ค. หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเข้าข่ายกระทบความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
      
        อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. สังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศเกาหลีใต้ ความยาว 1.32 นาที โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวถึงเบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยกล่าวหาว่าเป็นความร่วมมือกันขององคมนตรี-กองทัพ-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. “คือ ประเทศไทยนี่ ... ตราบใดที่เขาปล่อยให้ทำงาน ก็ยังมีอำนาจ แต่ถ้าไม่ปล่อยให้ทำงานก็ไม่มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองคมนตรีทั้งหลาย ก็เที่ยวนี้ก็... ทหารก็จะฟังองคมนตรี เพราะตอนที่เขาไม่ต้องการให้เราอยู่ เขาก็ให้สุเทพออกมา และให้ทหารเข้ามาช่วย และก็มีพวกบางคนจากในวังมาช่วย เลยทำให้เราไม่มีอำนาจอะไร ผมก็เลยคุยกับนายกฯ ปูว่าเหตุการณ์เหมือนที่พี่โดนมา…”
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากมีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ กระแสสังคมเริ่มถามหาความคืบหน้าเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง เนื่องจากเคยมีการพิจารณาเรื่องนี้มาหลายรัฐบาล แต่เรื่องกลับเงียบไป โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เผยว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ10) เป็นผู้รับผิดชอบ
      
        ด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ กล่าวในเวลาต่อมาถึงการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ว่า กรณีนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำข้อเท็จจริงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่มิได้อยู่ในราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 5 คดี และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้ออกประกาศสืบจับผู้กระทำความผิด ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 มาประกอบการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อไป
      
       ล่าสุด(29 พ.ค.) พล.ต.อ.ชัยยะ เผยว่า คณะกรรการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยระเบียบความผิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้หลบหนีคดี และว่า จะส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติภายในวันเดียวกันนี้ เพื่อให้พิจารณาเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป พล.ต.อ.ชัยยะ ยืนยันด้วยว่า การพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณถือเป็นการพิจารณาใหม่ โดยผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ต้องหาที่ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ 7 หมาย พร้อมย้ำว่า การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งแน่นอน เพราะคณะกรรมการที่ร่วมพิจารณามาจากหลายฝ่าย และ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะส่งหนังสือมายืนยันความบริสุทธิ์ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
      
       ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า คณะกรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงตน ถ้าเรื่องมาถึง ตนจะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งในเรื่องความถูกต้อง เพื่อความละเอียดรอบคอบ "หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นเช่นใดก็จะต้องว่าไปตามนั้น โดยจะไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวหักล้างหรือไปแก้ความคิดเห็นของคณะกรรมการ”
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้นานเท่าใด พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลา 1 - 2 วันหรือกี่วัน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และว่า เมื่อพิจารณาแล้ว จะเสนอ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อ เมื่อถามว่า ผลกระทบหลังจากถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเสียสิทธิอะไรบ้าง พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ตนก็ไม่ทราบเหมือนกัน อาจจะเป็นการเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
      
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(29 พ.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ภาพขณะกำลังนั่งสมาธิอยู่ภายในห้องพระ ผ่านอินสตาแกรม พร้อมข้อความเหน็บแนมผู้มีอำนาจที่ยกเลิกหนังสือเดินทางของตนว่า "หลังจากได้อุ้มหลานที่สิงคโปร์ วันนี้กลับมาดูไบแล้ว ได้มีเวลานั่งสมาธิ เช่นเดียวกับวันว่างทุกวันที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มการแผ่เมตตาให้กับผู้มีอำนาจทั้งหลาย ได้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง เพื่อจะได้มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บริหารแต่อำนาจ และสร้างความแตกแยกให้มากยิ่งขึ้น สำหรับผมเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” คือ ทุกสิ่งไม่มีอยู่จริง เมื่อเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป พาสปอร์ตก็เช่นกัน ก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โตอะไรกันมากมาย ผมก็ยังเป็นคนเดิมจนกว่าจะลาโลกไป อยากให้คนไทยมีเมตตาต่อกัน กฎหมายและปืนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากเมตตาเท่านั้น”
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า ตัวเองอยู่ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ข้อมูลในอินสตาแกรมกลับระบุสถานที่(Location) ว่า “ราบ 11” ซึ่งอาจหมายถึง กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ร.11 รอ.
      
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้นำข้อความที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์ผ่านอินสตาแกรมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สวนกลับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ตนเป็นคนของประเทศ ไม่ได้ทำอะไรด้วยอำนาจ ทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย ระเบียบและความถูกต้อง การเป็นผู้นำประเทศไม่มีความรู้สึกรักหรือเกลียด เพราะต้องดูแลคนทั้งหมดด้วยความเที่ยงธรรม
      
       2. “ครม.” เสนอแก้ไข รธน.100 ประเด็น ไม่แตะที่มานายกฯ คนนอกด้าน “สปช.” ไม่เอา “โอเพ่นลิสต์” ขณะที่ “สนช.” ขอ ส.ว.สรรหาทั้งหมด!

        ความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ เช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) และพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นใดบ้าง โดยต้องส่งข้อเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 25 พ.ค.ซึ่งพบว่า แต่ละฝ่ายมีข้อเสนอทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
      
        โดยในส่วนของ ครม.นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ข้อเสนอของ ครม.รวมแล้วประมาณ 100 ประเด็น แต่ไม่ใช่ 100 มาตรา เพราะบางมาตรามีหลายประเด็น “ใน 100 ประเด็นนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นการขอแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาทิ กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา...”
      
        สำหรับประเด็นสำคัญที่ ครม.เสนอ ได้แก่ เสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 (ระบุให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษได้สมัยประชุมละ 1 ฉบับ) , เสนอให้ทบทวนการให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ แต่ไม่ได้เสนอให้แก้ไขเรื่องที่มานายกฯ ที่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก หรือที่มา ส.ส.และ ส.ว. เพราะหากแก้ อาจต้องรื้อหลายมาตรา แต่เสนอว่าองค์กรอิสระที่มีประมาณ 39 องค์กร ควรคงไว้บ้าง และตัดออกบ้าง
      
        ส่วนข้อเสนอของทาง สปช.นั้น แบ่งเป็นข้อเสนอจาก 7 กลุ่ม รวมจำนวน 8 คำขอ โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เผยผลสรุปของคณะอนุ กมธ.ที่จัดทำประเด็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองและ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญต้องไม่ยาวมากนัก เสนอแก้ไขทั้งฉบับให้เหลือ 100 กว่ามาตรา ส่วนรายละเอียดให้ออกเป็นกฎหมายลูก พร้อมเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ซึ่งไม่ได้ทิ้งระบบสัดส่วนผสมทั้งหมด โดยให้มี ส.ส.500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอให้ยกเลิกระบบโอเพ่นลิสต์ เปลี่ยนเป็นบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ส่วนกลไกการตรวจสอบ ให้ ส.ส.ลงชื่อ 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด แล้วยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระที่มาจากองค์กรอิสระต่างๆ 7 คน ทำหน้าที่ไต่สวนความผิด หากพบว่ามีมูลทุจริต ให้ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ตัดสิน
      
        ขณะที่ สนช.เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 24 ประเด็น เช่น ให้ตัดคำว่า “พลเมือง” ออก แล้วใช้คำว่า “บุคคล” แทน ส่วนกรณีที่มานายกฯ ที่เปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก สนช.เห็นด้วยกับหลักการตามมาตรา 172 แต่เห็นว่าหลักการยังไม่ครอบคลุม เช่น กรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการ จึงเสนอให้วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 รวมทั้งตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทั้งหมด สำหรับที่มา ส.ส. นั้น สนช.เห็นด้วยกับระบบโอเพ่นลิสต์ ส่วนที่มา ส.ว.เสนอให้มาจากสรรหาทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมามากเกินไป พร้อมกันนี้ได้เสนอให้กำหนดเงื่อนไขในบทเฉพาะกาลว่า ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเวลา 5 ปีหลังจากประกาศใช้
      
        ด้าน กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดวันให้แต่ละกลุ่มที่เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้เข้าชี้แจง กมธ.ยกร่างฯ ระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย.นี้ โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ 9 คือ ครม.นำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะได้เข้าชี้แจงในวันที่ 6 มิ.ย. ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 มิ.ย.-3 ก.ค. ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะไปประชุมนอกสถานที่ที่สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่ายอย่างเข้มข้นและจริงจัง โดย กมธ.ยกร่างฯ ยืนยัน จะนำทุกความเห็นและทุกข้อเสนอแนะมาประกอบการพิจารณา
      
       3. ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ร่ำรวยผิดปกติ เตรียมส่ง อสส.ยื่นศาลฎีกานักการเมืองสั่งยึดบ้าน 16 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน!

        เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าร่ำรวยผิดปกติ และให้คณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของนายสมศักดิ์ที่ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ทุกกรณี ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2554 ว่านายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีไม่แสดงเงินฝากของตน และคู่สมรสที่ฝากไว้ในบัญชีต่างๆ และไม่แสดงบ้านพักอาศัยเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่า นายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
      
        ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร่ำรวยผิดปกติแล้วเห็นว่า นายสมศักดิ์ได้เริ่มปลูกบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ตั้งแต่ปี 2541 ในช่วงที่นายสมศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมีการก่อสร้างต่อเนื่องในขณะที่นายสมศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยปลูกสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2554 ใช้เงินปลูกสร้างประมาณ 16 ล้านบาทเศษ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่นายสมศักดิ์นำมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้วเห็นว่า คำชี้แจงรับฟังไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น โดยนายสมศักดิ์อ้างว่าเป็นเงินครอบครัว และเงินที่เหลือจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับไม่พบว่า มีการนำเงินจากที่มาดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างบ้านจริง และนายสมศักดิ์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนการชี้แจงให้ ป.ป.ช.เชื่อถือได้
      
        ดังนั้นป.ป.ช.จึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า นายสมศักดิ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ได้แก่ บ้านพักอาศัย มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท ที่ ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ตามมาตรา 80 พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เผยว่า คดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก
      
        ด้านายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทราบมติของ ป.ป.ช.แล้ว และเตรียมเปิดแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ถนนสุโขทัย กรุงเทพฯ
      
    

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 พ.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2015, 00:34:27 »
  4. ไทย เป็นเจ้าภาพประชุม 17 ประเทศแก้ปัญหาผู้อพยพทางเรือ พร้อมเปิดทางสหรัฐฯ บินผ่านน่านฟ้าสำรวจโรฮีนจากลางทะเล!

        เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย หลังเกิดปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาลอยลำอยู่กลางทะเล โดยมีตัวแทนจากประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 17 ประเทศ เช่น บังกลาเทศ เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย อิหร่าน ฯลฯ
       
        ทั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการประชุมที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ว่า เวทีนี้ไม่ใช่เวทีที่จะมาพูดหรืออภิปราย แต่เป็นเวทีที่จะหารือเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว อย่างยั่งยืน และว่า เบื้องต้น ต้องให้ความช่วยเหลือพื้นฐานตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งไทยได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งเรือช่วยชีวิต( Floating Platform) เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้อพยพ ก่อนส่งไปยังประเทศที่มีความพร้อมให้การช่วยเหลือต่อไป
       
       นอกจากนี้ ไทยยังได้อนุมัติให้เครื่องบินสหรัฐฯ บินเข้าเขตน่านฟ้าของไทยตามที่สหรัฐฯ เคยแจ้งความประสงค์ไว้ว่า ต้องการลาดตระเวนเพื่อสำรวจผู้อพยพที่ลอยลำอยู่กลางทะเล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ได้อนุมัติด้วยวาจาแล้ว ซึ่งจะสามารถปฏิบัติการได้ทันที โดยในทางปฏิบัติ ศูนย์ของสหรัฐฯ จะต้องประสานกับศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย(ศอ.ยฐ.) ซึ่งมีกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
       
        พล.อ.ธนะศักดิ์ ยังกล่าวย้ำต่อสื่อมวลชนด้วยว่า “ผมยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่ปาหี่ แต่แสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์และช่วยเหลือผู้อพยพ เราได้พูดคุยกับพม่าและบังกลาเทศแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ว่าจะร่วมกันแก้ปัญหา และการประชุมครั้งนี้จะไม่พูดว่าใครเป็นต้นเหตุของปัญหา ถ้าพูด การประชุมจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหา”
       
       ด้านนายทิต ลิน ผู้แทนพม่า กล่าวในการประชุมครั้งนี้ โดยปฏิเสธข้อเรียกร้องของสำนักงานเพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) ที่ให้รัฐบาลพม่าให้สถานะพลเมืองแก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่้ต้นตอ และลดการอพยพออกนอกประเทศของคนเหล่านี้ โดยนายทิต ลิน ชี้ว่า ความเห็นของ UNHCR ถือว่าเป็นการแทรกแซงปัญหาภายในของพม่า และ UNHCR ไม่ควรชี้เฉพาะเจาะจงให้พม่ารับผิดชอบปัญหาผู้ลี้ภัยลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายแต่เพียงประเทศเดียว และว่า ปัญหาผู้อพยพทางเรือ ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยพม่ายืนยันว่า ได้ให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยขณะนี้ได้ให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศลาดตระเวนทางทะเลเพื่อช่วยคนเหล่านี้
       
       ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมดำเนินอยู่ นางชื่นสุข อาศัยธรรมกุล กรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมคณะเยาวชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกของเลขาธิการแอมเนสตี้ฯ ถึงผู้นำประเทศต่างๆ โดยเรียกร้องให้อาเซียน และออสเตรเลีย ประสานความร่วมมือในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ที่ตกอยู่ในความยากลำบาก โดยอนุญาตให้เรือที่บรรทุกผู้อพยพเข้าฝั่งในประเทศที่ใกล้ที่สุดอย่างปลอดภัย และไม่ผลักดันเรือโดยการข่มขู่หรือคุกคาม พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานด้วยการให้ที่พัก อาหาร น้ำ และยารักษาโรค นอกจากนี้แอมเนสตี้ยังเสนอให้มาเลเซียจัดประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ตามกฏบัตรอาเซียน และขอให้ประเทศพม่ายุติการเลือกปฏิบัติ และใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจา รวมทั้งประกันการเข้าถึงรัฐยะไข่อย่างเสรี หากเขาเหล่านั้นต้องการเดินทางกลับ จะต้องไม่ถูกสกัดกั้น รวมทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานด้านมนุษยชนระหว่างประเทศสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
       
       5. ศาลพิพากษา จำคุกอดีตแกนนำพันธมิตรฯ คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีบุกทำเนียบฯ ปี ’51 ก่อนอนุญาตประกันตัวสู้คดี!

        เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ต.สุรพงษ์ สายวงศ์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และอดีตผู้ประสานงาน กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก โดยร่วมกันทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 362 และ 365
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 51 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ ต่อมาหลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค. 51 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 51 จำเลยกับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบฯ ทุกด้าน พวกจำเลยได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบฯ รวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้า แล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. 51 - 3 ธ.ค. 51 และระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบฯ ผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเลคโทรนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ
       
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แกนนำพันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมปราศรัยและบุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แม้ว่าบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สถานที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ไม่ใช่จะเข้าออกตามอำเภอใจได้ ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ชุมนุมนั้น ศาลเห็นว่าเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุให้รับฟังได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการเข้าไปในทำเนียบฯ เพื่อห้ามปรามผู้ชุมนุมไม่ให้ทำลายทรัพย์สิน ซึ่งแม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการห้ามปรามผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยพร้อมผู้ชุมนุมได้บุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบฯ โดยปีนรั้ว ใช้คีมตัดโซ่คล้องประตู ซึ่งทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย และเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีคนใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจึงต้องเข้าไปหลบอยู่ในทำเนียบฯ นั้น แต่ในวันที่ 26 ส.ค. 51 ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่สามารถอ้างเพื่อยกเว้นไม่ให้ต้องรับโทษได้ แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ถือว่ามีความผิด
       
        การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-6 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 อนุมาตราสอง ,362 และ 83 การกระทำของจำเลยผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี
       
        หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพในวงเงินคนละ 2 แสนบาท เพื่อขอประกันตัวอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งหก และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีตามกฎหมายภายใน 30 วัน โดยจะนำคำพิพากษากรณีของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกับพวกบุกรุกอาคารรัฐสภา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือนให้รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่าจำเลยขาดเจตนา ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหก โดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด
       
       6. “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ไม่จ่ายค่างวดทีวิดิจิตอล พร้อมขอคืนใบอนุญาต “ไทยทีวี-โลก้า” ด้าน กสทช.ชี้ แม้เลิกกิจการ ก็ต้องจ่ายค่าประมูล 1,600 ล้าน!

        เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งเหลือ 8 ช่องจาก 24 ช่องที่คาดว่าจะมาจ่ายในวันสุดท้าย แต่เมื่อถึงกำหนด ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการมายื่นจ่ายเงินแก่ กสทช. 22 ช่อง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 8,404.422 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้มาจ่าย คือ บริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่องไทยทีวี และช่องโลก้า วงเงินรวม 288.472 ล้านบาท
       
        ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.เผย ว่า กสทช.จะส่งหนังสือแจ้งเตือนบริษัทไทยทีวีให้มาชำระเงินค่างวด พร้อมเสียค่าปรับร้อยละ 7.5 ต่อปี หากบริษัท ไทยทีวี ไม่จ่าย กสทช.จะฟ้องศาลแพ่งเพื่อเอาผิดและขอค่าชดเชยตามกฎหมาย
       
        ทั้งนี้ วันต่อมา(26 พ.ค.) นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี ได้ทำหนังสือแจ้ง กสทช.ว่า ขอเลิกใบอนุญาตและประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ช่องรายการไทยทีวี และหมวดหมู่ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ช่องรายการโลก้า โดยอ้างเหตุว่า ตั้งแต่บริษัทฯ ได้ใบอนุญาตจาก กสทช.เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2557 จนถึงปัจจุบัน กสทช.ไม่ควบคุมดูแลการเปลี่ยนผ่านระบบการรับชมสัญญาณโทรทัศน์ในระบบภาคพื้นดินไปสู่การรับส่งสัญญาณระบบดิจิตอลให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือแผนแม่บทที่ กสทช.ได้ประกาศและประชาสัมพันธ์ไว้ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่สามารถรับชมสัญญาณภาพและเสียงโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิตอลได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการอย่างร้ายแรง บริษัทฯ จึงขอบอกเลิกใบอนุญาตและเลิกการประกอบกิจการตามใบอนุญาต โดยขอให้มีผลภายใน 15 วันนับตั้งแต่ กสทช.ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยบริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ เพราะผู้ใช้บริการที่รับชมทีวีดิจิตอลมีไม่มาก เนื่องจากความบกพร่องและล่าช้าของ กสทช.เอง โดยบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป
       
        ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า กสทช.ได้ประชุมกรณีบริษัท ไทยทีวีขอยกเลิกใบอนุญาตทีวีดิจิตอล และได้ข้อสรุปว่า ผู้ประกอบการสามารถขอยกเลิกใบอนุญาตได้ แต่ต้องเสนอแผนเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) พิจารณาก่อน ว่าจะอนุมัติแผนเยียวยาที่เสนอมาหรือไม่ และว่า ระหว่างนี้ ไทยทีวีไม่สามารถหยุดออกอากาศได้ หากหยุดออกอากาศจะมีความผิด และจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตจนติดแบล็กลิสต์ ซึ่งจะทำให้นางพันธุ์ทิพา ขาดคุณสมบัติในการเป็นเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมในช่องมิสทรีที่นางพันธุ์ทิพามีใบอนุญาตทีวีดาวเทียมอยู่ ซึ่งอาจทำให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงไม่สามารถขอใบอนุญาตเปิดช่องทีวีดาวเทียมใหม่ได้อีกต่อไป
       
        นายฐากร เผยด้วยว่า การยกเลิกใบอนุญาตตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของประกาศ กสทช. ระบุว่า ผู้ที่ยกเลิกใบอนุญาตจะต้องโดนยึดหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตหลังการประมูล ในอัตรา 100% ของเงินค่าประมูล ซึ่งแบงก์การันตีงวดแรก ผู้ประกอบการทุกรายได้จ่ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ค.57 ดังนั้นหากบริษัท ไทยทีวีจะยกเลิกใบอนุญาต ก็ต้องถูกยึดแบงก์การันตีส่วนที่เหลือในงวดที่ 2- งวดที่ 6 ของทีวีที่ประมูลมาทั้ง 2 ช่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,634.4 ล้านบาท โดย กสทช.จะยึดทีละงวดจนครบจำนวน นายฐากร ยังฝากถึงบริษัท ไทยทีวี ด้วยว่า “ขอย้ำว่า ถึงแม้ท้ายที่สุด กสท.จะอนุมัติให้เลิกใบอนุญาต แต่ไทยทีวีก็ยังต้องจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตที่ประมูลไป 2 ช่อง ขอให้ไทยทีวีคิดดีๆ ก่อนตัดสินใจไม่จ่าย”


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 พฤษภาคม 2558