ผู้เขียน หัวข้อ: “กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์” วิจัยสมุนไพรต่อลมหายใจภูมิปัญญาไทย  (อ่าน 723 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       นับแต่เข้าสู่หนทางการวิจัยสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง เมื่อคราวศึกษาปริญญาเอก ชีวิตของด็อกเตอร์หนุ่ม “กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์” ก็ถอนตัวออกจาก “สมุนไพรไทย” ไปไม่ได้อีก
       
       ทันทีที่จบการศึกษาในปี 2555 ดร.กรวินท์วิชญ์ ก็ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ซึ่งนอกจากการสอนนักศึกษาแล้ว อีกบทบาทและภารกิจหนึ่งก็คืองานวิจัยสมุนไพรไทย ตำรับยาสมุนไพรและตำรับยาโบราณต่างๆ เพื่อให้รู้ลึกถึงสรรพคุณที่แท้จริง และบ่งบอกได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และตลอด 2 ปีของการเป็นอาจารย์และทำวิจัย ดร.กรวินท์วิชญ์ ได้นำผลงานวิจัยสมุนไพรของ มทร.ธัญบุรี ไปคว้ารางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมาแล้วถึง 18 รางวัล จนล่าสุด มทร.ธัญบุรี ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นให้แก่ ดร.กรวินท์วิชญ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี วันคล้ายวันสถาปนา มทร.ธัญบุรี

   
“กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์” วิจัยสมุนไพรต่อลมหายใจภูมิปัญญาไทย
ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์
        สำหรับสาเหตุที่ทำให้สนใจการวิจัยสมุนไพรไทย ดร.กรวินท์วิชญ์ เล่าว่า เพราะสมุนไพรไทย ตำรับตำรายาโบราณเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาของไทย มีการใช้มานานแล้ว แต่ข้อมูลสำคัญบางอย่างเริ่มหายไป นับตั้งแต่ชนชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพล หรือแม้สมัยเสียกรุงศรีอยุธยา ตำรับตำรายาเหล่านี้ก็ถูกเผาทำลายไปมาก ทำให้ความรู้บางอย่างขาดช่วงไป ไม่ได้มีการนำมาต่อยอด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เมื่อเสียชีวิตไปบ้างก็เผาตำราติดตัวไปด้วย สูตรยาต่างๆ ที่มีมาแต่บรรพบุรุษก็จะสูญสิ้นไป
       
       “สูตรยาสมุนไพรบางตัวมีส่วนประกอบมากถึง 20 กว่าตัว ทั้งสมุนไพรในส่วนที่เป็นยาหลัก ยารอง ส่วนที่นำมาแต่งกลิ่น หรือแม้แต่นำมาดับพิษของยาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งบางครั้งเราไม่ทราบเลยว่าแต่ละตัวมีสรรพคุณและความสำคัญอย่างไร ซึ่งการวิจัยด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ถึงระดับในเซลล์ และในโมเลกุล จะสามารถให้คำตอบเราได้ ทำให้รู้ชัดแจ้งว่าสมุนไพรในสูตรยาแต่ละตัวจะช่วยเรื่องอะไร มีพิษหรือไม่ การใช้อย่างมีความรู้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
       
       ดร.กรวินท์วิชญ์ บอกด้วยว่า ยิ่งนำตำรับตำรายาโบราณมาวิจัยก็ยิ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดตำรับยา และช่วยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการทำการตลาดด้วย เพราะต้องยอมรับว่าการแพทย์แผนโบราณของพื้นที่ต่างๆ กำลังเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ อย่างประเทศอาเซียนก็จะเน้นในเรื่องภูมิปัญญาของตัวเองมาก นอกจากนี้ หากเราไม่วิจัยให้รู้จริงว่าใช้รักษาได้ผลจริงหรือไม่ เมื่อทำการตลาดออกไปก่อนแล้วปรากฏว่าไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้ก็เท่ากับเป็นการทำลายสมุนไพรตัวนั้นให้หายไปเลยก็ได้
       
       ในการทำวิจัยตำรับยาและสมุนไพรนั้น สิ่งที่ ดร.กรวินท์วิชญ์ให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ “ความเชื่อ” คือเชื่อว่ามีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้จริง โดย ดร.กรวินท์วิชญ์ ให้เหตุผลว่า หากเราทำวิจัยอย่างมีความเชื่อว่าสมุนไพรหรือตำรับยานั้นได้ผลจริง เราจะมีความมั่นใจในการทำวิจัย และพยายามหาสมมติฐานและคำตอบให้กับการทำวิจัยได้ และมีความมุ่งมั่นในการทำวิจัยนี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยของ ดร.กรวินท์วิชญ์ สามารถไปคว้ารางวัลในระดับประเทศและนานาชาติมาได้หลากหลายรางวัล
       
       นอกจากนี้ ความเชื่อ ที่เป็นพื้นฐานในการทำวิจัยนี้ยังเป็นสิ่งที่ ดร.กรวินท์วิชญ์ให้ความสำคัญและพร่ำสอนนักศึกษาในการทำวิจัยทุกครั้ง คือทำให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของตำรับยาไทยและเชื่อว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และทำให้พวกเขาศึกษาให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาทำวิจัย รวมไปถึงการต่อยอดผลงานวิจัยของตัวเองออกไปสู่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการจะทำผลิตภัณฑ์ก็ต้องมาคิดมาดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ เพราะหากทำออกมาในลักษณะเช่นเดิม ดูโบราณหรือเชยๆ ก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้รับความสนใจ
       
       สิ่งที่ ดร.กรวินท์วิชญ์ ยังดำเนินการต่ออีกเรื่องก็คือ การประสานและเริ่มหารือกับบริษัทเอกชนต่างๆ ให้เห็นคุณค่าของงานวิจัย เพื่อนำงานวิจัยแต่ละอย่างนั้นไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย และช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ เพราะต่างประเทศก็มีความสนใจในสินค้าเหล่านี้ แต่จะต้องมีผลการวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลรับรองชัดเจน
       
       ความตั้งใจที่จะสืบสานภูมิปัญญาของไทยแต่โบราณด้วยงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งส่วนตัวและการสอนนักศึกษา เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ปรากฏออกสู่สายตาสาธารณชนเพิ่มขึ้นอีกเป็นแน่แท้

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 มกราคม 2558