ผู้เขียน หัวข้อ: เรียกคืนแอปเปิลเป็นเหตุ! สืบ “โรคลิสเทอริโอซิส” ย้อนหลังมาจากผลไม้ไม่สะอาด  (อ่าน 945 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรคเผยเชื้อแบคทีเรียในแอปเปิลก่อโรคในไทยน้อย พบอัตราป่วยตายไม่ถึง 1% เผยสอบสวนโรคย้อนหลังส่วนใหญ่เกิดจากการกินผักผลไม้ไม่สะอาด ย้ำต้องล้างทำความสะอาดหรือปรุงสุกก่อนทุกครั้ง มียาปฏิชีวนะรักษา ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่

        นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา แจ้งเรียกคืนสินค้าแอปเปิลสายพันธุ์กาล่า และสายพันธุ์แกรนนี่สมิธ ยี่ห้อ Big B และ Granny's Best เนื่องจากมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย ซึ่งก่อโรคลิสเทอริโอซิส ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวปรากฏว่ามักพบในแอปเปิ้ลเคลือบคาราเมล ว่า เชื้อตัวนี้เป็นเชื้อที่พบในธรรมชาติโดยทั่วไป แต่ไม่น่าจะปนเปื้อนอยู่ในคาราเมล ซึ่งกระบวนการสอบสวนโรคคงต้องเป็นหน้าที่ของทางสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยเชื้อนี้มีพบอยู่ในธรรมชาติเช่นกัน แต่มีรายงานการพบในประเทศไทยน้อยมาก อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 1 โดยโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ แต่มีการพบมานานแล้ว ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนโรคพบว่า เกือบทั้งหมดมาจากการบริโภคผักผลไม้ที่ไม่สะอาด ซึ่งปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย (Listeria Monocytogenes)
       
       นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า หลังรับเชื้อนี้ 3 - 70 วัน โดยเฉลี่ย 20 วัน อาจมีการป่วยได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มป่วยด้วยอาการมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงพบได้น้อยราย โดยจะมีการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ รวมไปถึงการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้แท้งบุตร ซึ่งหากประชาชนกังวลใจในการรับประทานผักและผลไม้ ก็สามารถล้างทำความสะอาดให้สะอาดก่อนบริโภคได้ รวมถึงการปอกเปลือกผลไม้
       
       “ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนก เพราะใช่ว่าผักผลไม้ทุกอย่างจะมีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ และถึงแม้ว่าจะมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ก็จะติดเชื้อโรคทันที แต่การทำความสะอาดผักผลไม้ และการรับประทานอาหารปรุงสุกจะช่วยฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้ การบริโภคก็จะปลอดภัย ไม่มีการติดเชื้อหรือเกิดโรคลิสเทอริโอซิสขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการเฝ้าระวังเชื้อทั้งในอาหารและในคน อย่างสินค้านำเข้าหากตรวจพบก็จะส่งกลับทันที ไม่มีการแจกจ่าย ที่สำคัญเชื้อแบคทีเรียตัวนี้มียาปฏิชีวนะรักษาให้หายได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มกราคม 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
 อย. สหรัฐฯ ทำหนังสือถึง ก.เกษตรฯ และ อย. แจ้งเรียกคืน “แอปเปิล Big B” พันธุ์กาล่า และ แกรนนี่สมิธ เหตุเกี่ยวข้องการแพร่ระบาดเชื้อ “ลิสเทอริโอซิส” ก่ออันตรายหญิงตั้งครรภ์ คนชรา ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ขอให้ตรวจสอบเก็บตัวอย่างสินค้า ด้านกรมควบคุมโรคชี้พบรายงานเชื้อนี้น้อย แต่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและสมองได้ แนะล้างผักผลไม้ก่อนกิน

        วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 14 ม.ค. 2558 เรื่อง องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) แจ้งการเรียกคืนสินค้าของบริษัท Bidart Bros. โดยระบุว่า ด้วยสำนักงานที่ปรึกษาฯได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา แจ้งว่า สินค้าของบริษัท Bidart Bros. ได้ถูกเรียกคืนจากการจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากตรวจพบว่าการใช้หรือสัมผัสกับสินค้าดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรืออันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า สินค้าดังกล่าวได้ถูกส่งออกไปจำหน่ายในประเทศไทย หรือบริเวณใกล้เคียง แต่เนื่องจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ไม่สามารถติดตามตรวจสอบสินค้าที่ได้ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ จึงได้แจ้งมายังทางการไทย เพื่อพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ และเรียกคืนสินค้าเหล่านั้นออกจากการจัดจำหน่ายในประเทศไทยตามที่เห็นสมควรต่อไป
       
       ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้แนบข้อมูลประกอบดังนี้ 1. สินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท Bidart Bros. 2. สินค้าที่ถูกเรียกคืน ได้แก่ แอปเปิลพันธุ์กาล่า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Big B” และแอปเปิลพันธุ์แกรนนี่สมิธ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Big B” หรือ “Granny's Best” 3. เหตุผลในการเรียกคืนสินค้า เนื่องจากสินค้าทั้งสองรายการมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรค Listeriosis ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กแรกเกิด หญิงมีครรภ์ และคนชรา หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 4. รายชื่อบริษัทที่รับสินค้าดังกล่าวในประเทศไทย ได้แก่ Fiesta Fruit, Inc, MB Fresh International, Paramount Export Co., United Fruits Corp., Voita Citrus, และ Dovex Export Company โดยหนังสือดังกล่าวยังระบุว่า จะขอติดตามและตรวจสอบการเก็บตัวอย่างสินค้า รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางการไทยดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับแจ้งจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ทั้งนี้ นอกจากหนังสือฉบับนี้ ยังได้ทำเรื่องเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้วเช่นกัน
       
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) สธ. กล่าวว่า เชื้อลิสเทอริโอซิส (Listeriosis) เป็นเชื้อที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม อุจจาระคนและสัตว์ และแหล่งน้ำ ซึ่งจะมีโอกาสปนเปื้อนได้ง่ายในอาหารประเภทผักสด ผลไม้ และ นม แต่มีรายงานการพบเชื้อต่ำในประเทศไทย ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะมีปัญหากับกลุ่มผู้ที่มีความต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี เด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง หรือผู้เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักพบว่าเชื้อดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้อขึ้นสมอง ทั้งนี้ ช่องทางการพบเชื้อครั้งนี้เกิดจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีกระบวนการตรวจสอบและป้องกันสินค้านำเข้าทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การล้างผัก ผลไม้ ก่อนรับประทานสามารถช่วยล้างเชื้อที่ปนเปื้อนออกได้ ส่วนผลิตภัณฑ์นม ก็ควรรับประทานที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว ส่วนอาหารอื่นๆ การทำให้สุกก็สามารถฆ่าเชื้อดังกล่าวได้
       
        นพ.ทวี โชตพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก กล่าวว่า เชื้อลิสเทอริโอซิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายที่สามารถก่อโรคได้ในคนทุกคน แต่จะอันตรายมากกว่าในทารก หญิงตั้งครรภ์ เพราะมีภูมิคุ้มกันร่างกายค่อนข้างต่ำ ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หรือเข้าสู่สมอง ทำให้มีการอาการไข้ หรือสามารถทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม เชื้อตัวนี้ส่วนใหญ่จะพบในผลิตภัณฑ์นม ยีสต์ เนย จึงมักพบก่อโรคในคนแถบยุโรป อเมริกา แต่ตอนนี้ก็เริ่มพบในคนไทยเช่นกัน เพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 มกราคม 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
อย. ยัน “แอปเปิล” เปื้อนเชื้อลิสเทอริโอซิสไม่มีการนำเข้ามาในไทย ส่วนล็อตที่เพิ่งนำเข้าไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีการแจ้งเตือน แต่มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจศูนย์วิทย์ชลบุรีแล้ว คาดรู้ผลในอีก 2 - 3 วัน ด้านกรมวิทย์เตือนหญิงท้องต้องระวัง เชื้อทำให้แท้งลูกได้ ก่อนกินผักผลไม้ต้องล้างน้ำ
       
        ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าประเทศไทยมีรายชื่อในบัญชีเป็นลูกค้าด้วย แต่แอปเปิลทั้งสองสายพันธุ์ที่มีปัญหาไม่ได้มีการนำเข้ามาในไทย​ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด ​อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบพบว่า มีแอปเปิลนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาในวันนี้ (16 ม.ค.) ทางด่านแหลมฉบัง จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ยี่ห้อ Big B และ Granny's Best ตามที่หนังสือแจ้งเตือนระบุ อย่างไรก็ตาม อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ​โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าตรวจสอบและเก็บเชื้ออย่างละเอียดก่อนที่จะปล่อยสินค้าออกจากกระบวนการ โดยตามปกติ​กรมวิชาการเกษตร จะวิเคราะห์โรคพืช ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้เก็บเชื้อที่จะเกิดในคนซึ่งปนเปื้อนมา ​อย่างไรก็ตาม เชื้อดังกล่าวนั้นเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป ในประเทศก็มีมักเติบโตได้ดีในอากาศที่เย็น และมักอยู่ตามผักผลไม้ต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะแอปเปิ้ลเท่านั้น หากประชาชนกังวลก็เพียงแค่ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำก่อนรับประทานก็เพียงพอ แต่เพื่อความมั่นใจก็สามารถปอกเปลือกก่อนรับประทานได้
       
       “เชื้อนี้คนที่สุขภาพแข็งแรงไม่น่ากังวล อย่างมากก็จะมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือท้องเสีย แต่อาจรุนแรงสำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก ทั้งนี้ ยืนยันว่ารุ่นที่มีปัญหาตามข่าวไม่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย และล็อตที่นำเข้ามาอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่สายพันธุ์ที่เป็นปัญหา แต่ก็มีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
        นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แอปเปิลที่ อย. สุ่มตรวจนั้นจะส่งมาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ซึ่งการตรวจเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 วัน เนื่องจากต้องรอเวลาในการเพาะเชื้อ ซึ่งเชื้อดังกล่าวเรามีการตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่เชื้อที่มีความยุ่งยากในการตรวจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่เชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พฤติรรมในการบริโภคด้วย สาเหตุที่สหรัฐฯพบรายงานการป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าในไทยเพราะเขานิยมบริโภคทั้งเปลือก และไม่มีการล้างน้ำ เนื่องจากบ้านเมืองเขาอากาศเย็น เชื้อตามธรรมชาติมีน้อย จึงนิยมกินลักษณะนั้นทำให้เกิดปัญหา แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เชื้อในธรรมชาติมีมาก ทำให้วัฒนธรรมในการรับประทานของเราจึงต้องมีการล้างน้ำก่อน ซึ่ง สธ. ก็พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าให้ล้างผัก ผลไม้ก่อนรับประทาน และเพื่อความมั่นใจก็ให้ปอกเปลือกก่อน
       
       “ เชื้อตัวนี้ถือว่าใจเสาะมาก เพราะเพียงแค่ล้างน้ำก็สามารถทำให้เชื้อหลุดออกจากผิวผัก ผลไม้ได้แล้ว เมื่อล้างออกไปเชื้อก็ตาย เพราะฉะนั้น แค่ล้างน้ำก่อนรับประทานก็มีความปลอดภัย ส่วนที่หญิงตั้งครรภ์ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะเชื้อนี้จะทำให้แท้งลูกได้ เพราะเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำคร่ำ จึงต้องระมัดระวังในการรับประทาน ควรล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง ” นพ.อภิชัย กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 มกราคม 2558