ผู้เขียน หัวข้อ: โลกสวยด้วยลูกกลมๆ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1160 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในชนบทของแอฟริกา ลูกฟุตบอลกระเด้งกระดอนอย่างไม่สม่ำเสมอ สนามฟาดแข้งนั้นเล่าก็มีตั้งแต่แห้งกรังและเขียวชอุ่ม  ไปจนถึงมีวัชพืชขึ้นรกเรื้อและพื้นทราย  พูดง่ายๆก็คือขอให้มีที่ว่างเรียบๆสักหน่อยเป็นอันใช้ได้  เสาประตูอาจทำจากเศษไม้ที่พอหาได้นำมามัดรวมกัน  ส่วนนักเตะบ้างเท้าเปล่า บ้างสวมรองเท้ากีฬาขาดวิ่น กระนั้น เด็กๆก็ได้อวดฝีแข้งและสนุกสุดเหวี่ยงไปกับการวิ่งไล่เตะลูกบอลทำมือรูปทรงบูดเบี้ยว  พวกเขาดวลแข้งกันอย่างสง่าผ่าเผยและบันเทิงเริงใจ เป็นการเล่นเพื่อความสุขใจล้วนๆ

จะมีไหนอีกเล่าที่กีฬาซึ่งได้ชื่อว่า “เกมอันสวยงาม” จะสวยงามสมชื่อกว่านี้

เจสสิกา ฮิลล์ทูต เชื่ออย่างนั้น สองปีก่อนเมื่อมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกจัดขึ้นที่แอฟริกาเป็นครั้งแรก ช่างภาพซึ่งพำนักอยู่ในเบลเยียมผู้นี้อยากรู้ว่า  ฟุตบอลที่อยู่ห่างไกลจากแสงสีและสนามกีฬาขนาดใหญ่เป็นอย่างไร สิ่งที่เธอพบจากการเดินทางนานกว่าเจ็ดเดือนในสิบประเทศ รวมระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตร คือเกมกีฬาของคนรากหญ้าซึ่งความหลงใหลมีชัยเหนือความยากจนข้นแค้น  และบอลลูกกลมๆเพียงหนึ่งลูกสามารถ “นำความสุขมาสู่คนทั้งหมู่บ้าน” ได้

ในชุมชนกว่า 30 แห่งที่เธอไปเยือน  ผู้คนจะทำลูกบอลจากวัสดุที่พอหยิบฉวยได้ใกล้มือ ไม่ว่าจะเป็นผ้าขี้ริ้วหรือถุงเท้า ยางรถยนต์หรือเปลือกไม้ ถุงพลาสติกหรือ (แม้แต่) ถุงยางอนามัยเป่าลม  ทุกที่ที่ฮิลล์ทูตไปเยือน  เธอจะแลกเปลี่ยนลูกบอลที่ซื้อจากร้านค้าและนำติดรถมาด้วยกับ “อัญมณีน้อยๆ อันเลอค่า” เหล่านี้  ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ ทำขึ้นเอง

ปีเตอร์ อะเลจี นักเขียนและอาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต บอกว่า  เรื่องราวของฟุตบอลในแอฟริกามีประวัติความเป็นมายาวนาน  ย้อนหลังไปเมื่อปี 1862  หนึ่งปีก่อนหน้าการบัญญัติกฎกติกาสากลของกีฬาฟุตบอลที่กรุงลอนดอน  การแข่งขันหลายนัดจัดขึ้นที่เมืองเคปทาวน์และพอร์ตเอลิซาเบทในแอฟริกาใต้  กีฬาชนิดนี้แพร่หลายไปทั่วทวีปผ่านทางจักรวรรดินิยมยุโรปโดยมาพร้อมกับทหาร พ่อค้า  เส้นทางรถไฟ และโรงเรียนของหมอสอนศาสนา คนท้องถิ่นยอมรับกีฬานี้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงปรับและประยุกต์รูปแบบการเล่นเป็นของตนเองและฟุตบอลก็เป็นที่นิยมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในศตวรรษที่ผ่านมา  นักฟุตบอลชาวแอฟริกันได้เปลี่ยนโฉมหน้าเกมกีฬาของชาวโลกชนิดนี้ เมื่อหลายประเทศเจริญขึ้นและได้รับเอกราช ชาติเหล่านี้ได้เข้าร่วมสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (International Federation of Association Football: FIFA) และประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งหลังๆ

แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของ “เกมสดๆ” ที่เล่นกันในชุมชนหลังเขาทุรกันดารทั่วแอฟริกา อาบูบาคารี อับ-ดุล กานียู  ครูผู้ดูแลสโมสรเยาวชนในเมืองทามาเล ประเทศกานา  เชื่ออย่างนั้น  “ความหลงใหลของทุกคนที่นี่ต่างหากครับ  ฟุตบอลทำให้เราเพลิดเพลินและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน   ทันทีที่การแข่งขันเปิดฉากขึ้น  เราจะโยนเรื่องบาดหมางทั้งหมดทิ้งไป”

ฮิลล์ทูตเห็นดีเห็นงามด้วย  “ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีความเสมอภาคมากที่สุดในโลกค่ะ  ทุกคนเข้าถึงมันได้  ผู้คนที่ฉันพบทำสิ่งยิ่งใหญ่ด้วยสิ่งเล็กน้อยที่พวกเขาพอจะหาได้     คุณอาจมองดูลูกบอลขาดรุ่งริ่งแล้วรู้สึกเศร้าใจ  เป้าหมายของฉันคือการทำให้คุณมองดูลูกบอลเหล่านี้  แล้วรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจค่ะ” เธอทิ้งท้าย

กุมภาพันธ์ 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2013, 22:05:17 โดย pani »