ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤติภาษาที่กำลังสาบสูญ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1292 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ทุกๆ 14 วันจะมีภาษาหนึ่งตายลง เมื่อถึงศตวรรษหน้า เกือบครึ่งหนึ่งของภาษา

ราว 7,000 ภาษาทั่วโลกอาจสูญสิ้นไปตลอดกาล เพราะผู้คนและชุมชนท้องถิ่น
พากันละทิ้งภาษาแม่ไปใช้ภาษาอังกฤษ จีนกลาง หรือสเปนแทน

เมื่อภาษาหนึ่งไร้คนพูดอีกต่อไป เราจะสูญเสียอะไรไปบ้าง

 

เช้าวันหนึ่งในต้นฤดูใบไม้ร่วง อันเดรย์ มอนกุช กับพ่อแม่เริ่มเตรียมอาหารเย็น พวกเขาเลือกแกะตัวหนึ่งมาจากฝูง แล้วจับมันนอนหงายบนผ้าพลาสติก  บ้านของครอบครัวนี้ตั้งอยู่ในป่าสนไทกาไซบีเรียริมทุ่งหญ้าสเตปป์อันกว้างไกลสุดสายตา  ข้ามขอบฟ้าไปคือเมืองคืยซิล  เมืองหลวงของสาธารณรัฐตูวาในสหพันธรัฐรัสเซีย  เดิมทีชาวตูวาเป็นชนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ที่โยกย้าย อาล หรือกระโจม ฝูงแกะ วัว และกวางเรนเดียร์ไปตามทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ตามฤดูกาล  หากมองในแง่ภูมิศาสตร์  ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ใกล้ใจกลางของทวีปเอเชีย  แต่ในแง่ภาษาและความสัมพันธ์กับชุมชน  พวกเขาอยู่ตรงชายขอบซึ่งเป็นแนวพรมแดนระหว่างความเจริญกับประเพณีดั้งเดิม

เมื่อผมถามนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เมืองคืยซิลว่า         มีคำอะไรในภาษาตูวาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษหรือรัสเซียไม่ได้บ้าง พวกเขานึกถึงคำว่า  เฮอเมย์ (khöömei) เพราะคำคำนี้เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของชาวตูวาอย่างใกล้ชิด  ชนิดที่ว่ามีแต่ชาวพื้นเมืองเท่านั้นที่จะเข้าใจ  อีกคำหนึ่งคือ โฮยอือเซรี (khoj ӧzeeri) หรือวิธีล้มแกะของชาวตูวา ถ้าเรามองว่าการฆ่าปศุสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับสัตว์แล้ว  คำคำนี้คงสื่อถึงความใกล้ชิดเป็นพิเศษ  เพราะเป็นการทำให้สัตว์    หมดลมด้วยการล้วงเข้าไปในรอยกรีดที่หนังแกะ  แล้วใช้นิ้วเด็ดเส้นเลือดใหญ่ให้ขาด  สัตว์จะตายอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัวและเป็นการตายอย่างสงบ  ในภาษาของชาวตูวา   คำว่า   โฮยอือเซรี ไม่ได้แปลว่าการฆ่าสัตว์เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงเมตตาธรรมและมนุษยธรรม  เป็นพิธีกรรมที่ครอบครัวหนึ่งจะปลิดชีวิต ถลกหนัง และแล่แกะเป็นชิ้นๆ ก่อนจะเอาเกลือทาหนัง นำเนื้อมาปรุงอาหาร และทำไส้กรอกด้วยเลือดที่รองไว้และเครื่องในที่ล้างจนสะอาด  กระบวนการทั้งหมดจะทำอย่างประณีตโดยใช้เวลาถึงสองชั่วโมง  ขณะลงมือ  ผู้ฆ่าจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดและต้องระวังไม่ให้เลือดกระเซ็นแม้แต่หยดเดียว คำว่า   โฮยอือเซรี จึงหมายถึงสัมพันธภาพระหว่างคนกับสัตว์  และเป็นเครื่องวัดนิสัยใจคอของคน

ตูวาเป็นหนึ่งในภาษาย่อยมากมายหลายภาษาทั่วโลก  ในจำนวนประชากรโลกเจ็ดพันล้านคน มีภาษาพูดอยู่ราว 7,000 ภาษา  ตามสถิตินี้ ถ้าแบ่งเท่าๆกันน่าจะมีคนพูดในอัตราหนึ่งภาษาต่อหนึ่งล้านคน  แต่ภาษาเองก็ไม่ต่างไปจากชีวิต นั่นคือไม่มีสิ่งใดเท่าเทียม ร้อยละ 78 ของคนทั้งโลกพูดภาษาหลักๆ 85 ภาษา  ส่วนภาษาย่อย 3,500 ภาษามีคนพูดเพียง 8.25 ล้านคน ดังนั้นขณะที่มีผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง 328 ล้านคน ภาษาจีนกลาง 845 ล้านคน ผู้พูดภาษาตูวาในรัสเซียกลับมีเพียง 235,000 คนเท่านั้น นักภาษาศาสตร์ประมาณว่า ภายในหนึ่งร้อยปี เกือบครึ่งหนึ่งของภาษาที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้อาจสูญหายไป ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1,000 ภาษาที่เข้าข่ายวิกฤติหรือใกล้สูญสิ้นเต็มที

ในยุคที่โลกเชื่อมต่อและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นทุกวัน  เขตแดนของประเทศหรือพรมแดนทางธรรมชาติไม่อาจปกป้องภาษาในที่ห่างไกลให้รอดพ้นจากภาษาที่ทรงอิทธิพลในโลกแห่งการสื่อสารและการค้าได้อีกต่อไป ภาษาจีนกลาง อังกฤษ รัสเซีย ฮินดี สเปน และอาหรับ คืบคลานเข้าสู่ทุกหมู่บ้าน แย่งชิงพื้นที่ภาษาตูวา ภาษายาโนมามี (Yanomami) และภาษาอัลไตอิก (Altaic) ไปทีละครัวเรือน พ่อแม่ตามหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆมักส่งเสริมให้ลูกหลานเลิกใช้ภาษาของบรรพบุรุษที่พูดกันในวงแคบ แล้วหันไปใช้ภาษาที่จะทำให้ได้รับการศึกษาและประสบความสำเร็จมากกว่า

แต่ใครเล่าจะตำหนิพวกเขาได้   ยิ่งมีโทรทัศน์ที่ทำให้เห็นภาพโลกวัตถุนิยมอันชวนหลงใหล  และความมั่งคั่งดูเหมือนจะพูดภาษาอังกฤษเสียด้วย นักภาษาศาสตร์คนหนึ่งพยายามให้คำจำกัดความของภาษาว่า ภาษาถิ่น (dialect) จะกลายเป็นภาษาหลัก (language) ได้ก็ต่อเมื่อมีกองทัพหนุนหลัง ทุกวันนี้  ภาษาใดที่มีสถานีโทรทัศน์และสกุลเงินจะสามารถลบล้างภาษาที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ได้    ดังนั้น  ชาวตูวาจึงต้องพูดภาษารัสเซียหรือจีนหากต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว   การครอบงำของภาษารัสเซียเหนือภาษาตูวาเห็นได้อย่างชัดเจนในการพูดของชาวตูวารุ่นที่เติบโตในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนนิยมพูด  อ่าน และเขียนภาษารัสเซียแทนภาษาถิ่น

แต่ภาษาตูวายังจัดว่าเข้มแข็งกว่าภาษาถิ่นอื่นๆที่เปราะบางกว่ามาก  บางภาษามีคนพูดเพียงหนึ่งพันคน บางภาษาไม่ถึงสิบคน  หรืออาจเหลือเพียงคนเดียว  ภาษาถิ่นอย่างภาษาวินทู (Wintu) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ภาษาสเลตซ์เตนี   (Siletz Dee-ni)   ในรัฐออริกอน   หรือภาษาอามูร์ดัก  (Amurdak) ซึ่งเป็นภาษาของพวกอะบอริจินในรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีของออสเตรเลีย  มีคนพูดได้คล่องหรือเกือบคล่องอยู่เพียงหนึ่งหรือสองคน  เมื่อไร้คู่สนทนา  ผู้พูดภาษาคนสุดท้ายคงต้องทนกล้ำกลืนอยู่ในโลกอย่างอ้างว้างเดียวดาย จะมีวัฒนธรรมแง่ใดสูญหายไปหากมีการแปลภาษานั้นๆเป็นภาษาหลักอื่นๆ และภูมิปัญญาใดที่จะหมดไปจากโลกหากขาดความหลากหลายทางภาษา

กรกฎาคม 2555