ผู้เขียน หัวข้อ: ป่าฝนผืนนี้มีไว้เพื่อขาย(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1248 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
อันเดรส ลิงก์ นักไพรเมตวิทยา (primatologist) ประจำมหาวิทยาลัยลอสอันเดสในเปรู เดินฝ่าอากาศหนาวเย็นและชื้นแฉะของยามเช้า  ฟ้าเพิ่งจะสาง แต่ราวป่ากลับระงมไปด้วยสรรพสำเนียงของสัตว์นานาชนิดซึ่งเป็นสิ่งที่ลิงก์ได้ยินได้ฟังในยามเช้าของทุกวัน ขณะเดินท่องผืนป่าซึ่งอาจเรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก

ต้นนุ่นยักษ์และมะเดื่อที่มีรากค้ำยันแผ่กว้างเหนือพื้นดินยืนต้นตระหง่านราวเสาหินโรมันพุ่งขึ้นสู่เรือนยอดไม้ กิ่งก้านสาขาที่ปกคลุมไปด้วยกล้วยไม้และพืชจำพวกบรอมีเลียดหรือสับปะรดสีช่วยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ทั้งแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขณะที่รากอากาศของต้นไทรพันเลื้อยกระหวัดรัดรอบลำต้นอย่างแน่นหนา

เราเลี้ยวลงทางลาดชันเข้าสู่ผืนป่าที่มีต้นปาล์มหน้าตาประหลาดชื่อว่า ปาล์มโซคราเทีย (Socratea exorrhiza) ขึ้นอยู่ทั่วไป ปาล์มชนิดนี้มีรากลอยสูงเหนือพื้นดินขึ้นมาหนึ่งเมตรซึ่งเอื้อให้พวกมันสามารถขยับตำแหน่งได้เล็กน้อยเพื่อหาแสงสว่างและธาตุอาหาร นี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครได้รับรู้หลายล้านเรื่องว่าด้วยการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นรอบๆสถานีศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพตีปูตีนีหรือทีบีเอส (Tiputini Biodiversity Station: TBS) ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกเดกีโต  ซึ่งครอบคลุมผืนป่าบริสุทธิ์เนื้อที่ 6.5 ตารางกิโลเมตรตรงบริเวณชายขอบอุทยานแห่งชาติยาซูนี (Yasuní National Park) อุทยานแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าดิบชื้นเกือบ 9,800 ตารางกิโลเมตรทางตะวันออกของเอกวาดอร์

ทำเลที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติยาซูนีช่วยโอบอุ้มความรุ่มรวยเหล่านี้เอาไว้ โดยตั้งอยู่ตรงจุดตัดระหว่างเทือกเขาแอนดีส เส้นศูนย์สูตร และภูมิภาคลุ่มน้ำแอมะซอน อันเป็นทำเลทองทางนิเวศวิทยาที่ซึ่งพืชพรรณ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในแถบอเมริกาใต้มากระจุกกันอยู่อย่างมากมาย ฝนตกหนักเกือบทุกวันตลอดทั้งปี และมีสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลน้อยมาก แสงแดด ความอบอุ่น และความชุ่มชื้นเป็นปัจจัยอยู่คู่กับผืนป่าชั่วนาตาปี

พื้นที่แถบนี้ของลุ่มน้ำแอมะซอนยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองสองกลุ่ม ได้แก่ ชนเผ่าคิชวาและชนเผ่าเวารานี ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตลอดแนวถนนและแม่น้ำสายต่างๆ การติดต่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างชาวเวารานีกับกลุ่มหมอสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นอย่างสันติในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ทุกวันนี้ ชุมชนชาวเวารานีส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการค้าและแม้กระทั่งกิจกรรมการท่องเที่ยวกับโลกภายนอก ไม่ต่างจากชาวคิชวาซึ่งเป็นอดีตชนเผ่าคู่อาฆาต กระนั้น ชนเผ่าเวารานีสองกลุ่มได้หันหลังให้การติดต่อกับโลกภายนอก และเลือกที่จะเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ป่าสูงขึ้นไปที่เรียกกันว่า โซนาอินตันคีเบล (Zona Intangible) หรือเขตหวงห้ามที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้ แต่โชคร้ายที่บริเวณนี้ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติยาซูนีไม่ได้ครอบคลุมถิ่นหากินดั้งเดิมทั้งหมดของพวกเขา ส่งผลให้นักรบของสองกลุ่มเข้าทำร้ายและขับไล่ผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากและตัดไม้ทั้งภายในและภายนอกเขตหวงห้าม

อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปใต้พื้นดินอุทยานแห่งชาติยาซูนียังมีขุมทรัพย์อีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นความท้าทายอย่างเร่งด่วนสำหรับสายใยชีวิตอันล้ำค่าบนผิวดิน นั่นคือน้ำมันดิบแห่งแอมะซอนปริมาณหลายร้อยล้านบาร์เรลที่ยังไม่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้ ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลและบริษัทน้ำมันร่วมกันกำหนดเขตสัมปทานน้ำมันทับพื้นที่อุทยาน ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีชัยเหนือการอนุรักษ์ในการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมของอุทยานแห่งนี้ มีแปลงสัมปทานอย่างน้อยห้าแปลงครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของอุทยาน สำหรับประเทศยากจนอย่างเอกวาดอร์ แรงกดดันให้ขุดเจาะน้ำมันนั้นแทบจะเรียกได้ว่าต้านทานไม่ไหวเลยทีเดียว รายได้จากการส่งออกครึ่งหนึ่งของเอกวาดอร์มาจากน้ำมันอยู่แล้ว โดยเกือบทั้งหมดมาจากจังหวัดทางตะวันออกในลุ่มน้ำแอมะซอน

ในข้อเสนอที่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งแรกเมื่อปี 2007 ประธานาธิบดีราฟาเอล กอร์เรอา เสนอที่จะไม่แตะต้องแหล่งน้ำมันดิบราว 850 ล้านบาร์เรลในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติยาซูนีโดยไม่มีกำหนด พื้นที่แถบนี้รู้จักกันในชื่อ แปลงไอทีที (ITT Block) ซึ่งตั้งชื่อตามแหล่งน้ำมันสามแห่ง ได้แก่ อิชปินโก (Ishpingo) ตัมโบโกชา (Tambococha) และตีปูตีนี (Tiputini) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ธรรมชาติและป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 410 ล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประธานาธิบดีกอร์เรอาจึงเรียกร้องเงินชดเชยมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เอกวาดอร์ต้องสูญเสียไป เขาย้ำว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะนำไปใช้สนับสนุนโครงการพลังงานทางเลือกและโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ

ความคิดริเริ่มข้างต้นที่เรียกกันว่าโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ (Yasuní-ITT Initiative) ได้รับความนิยมอย่างสูงในเอกวาดอร์ การสำรวจความคิดเห็นระดับชาติหลายครั้งยืนยันตรงกันว่า ชาวเอกวาดอร์ตระหนักมากขึ้นว่าอุทยานแห่งชาติยาซูนีเป็นขุมทรัพย์ทางนิเวศวิทยาที่ควรได้รับการปกปักรักษาไว้ แต่กระแสตอบรับของนานาชาติที่มีต่อโครงการนี้กลับไม่คึกคักเอาเสียเลย จนถึงกลางปี 2012 เอกวาดอร์ได้รับคำมั่นจากประเทศผู้สนับสนุนทางการเงินรวมแล้วเพียงแค่ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประธานาธิบดีกอร์เรอาตอบโต้ด้วยการยื่นคำขาดอย่างฉุนเฉียวหลายระลอก ขณะที่โครงการดังกล่าวหยุดชะงักและประธานาธิบดีกอร์เรอาเตือนว่าเวลาเหลือน้อยลงทุกที        โครงการขุดเจาะน้ำมันในภาคตะวันออกของเอกวาดอร์ยังคงคืบคลานขยายวงต่อไป และแม้แต่รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยาน

ปัจจุบัน บริษัทน้ำมันเปโตรอามาโซนาสของรัฐบาลกำลังเดินหน้าเต็มพิกัดในการเข้าไปพัฒนาแปลงน้ำมัน 31 (Block 31) โดยมีการตัดถนนยาว 14.5 กิโลเมตรจากทางใต้ของแม่น้ำนาโปมายังแม่น้ำตีปูตีนี ไม่เพียงเท่านั้น รถแทรกเตอร์ยังได้เดินหน้าลึกเข้าไปในป่าอีกฝั่งของแม่น้ำตีปูตีนีแล้วด้วย

การดำเนินการครั้งนี้น่าจะจุดกระแสความขัดแย้ง เพราะเป็นการบุกรุกครั้งใหม่เข้าสู่พื้นที่อุทยาน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้เคยแย้งว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของแปลงน้ำมัน 31 ที่รู้กันว่ามีอยู่ 45 ล้านบาร์เรลนั้นน้อยเกินไปสำหรับการลงทุนมหาศาลตามสัญญาสัมปทาน พวกเขาชี้ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการเข้าไปลงทุนในแปลง 31 คือการวางโครงสร้างพื้นฐานเตรียมไว้รองรับการเข้าสู่แปลงไอทีทีซึ่งอยู่ติดกันในท้ายที่สุด ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการคุกคามความน่าเชื่อถือของโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ พอๆกับที่เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและกลุ่มชนพื้นเมืองโดดเดี่ยวที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ป่าสูงขึ้นไป

ในการมาเยือนเอกวาดอร์ครั้งนี้ ผมได้รับโอกาสให้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ประธานาธิบดีกอร์เรอาเกี่ยวกับโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ ประธานาธิบดีกอร์เรอาวัย 49 ปีเป็นคนมีเสน่ห์ พูดจาฉะฉาน และเฉลียวฉลาด เขาพูดตรงประเด็นไม่อ้อมค้อมระหว่างที่เราพูดคุยกัน โดยบอกว่า โครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟยังอยู่ระหว่างการเจรจา “เราพูดมาตลอดว่า ถ้าเราไม่ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับโครงการนี้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เราก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากน้ำมัน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างดีที่สุดครับ”

ท่านประธานาธิบดีกล่าวต่อว่า โครงการนี้นำไปสู่การตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างแท้จริง “เอกวาดอร์เป็นประเทศยากจน เรายังมีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เราต้องการระบบสาธารณสุขและที่อยู่อาศัยที่ดีพอ เรายังขาดอะไรอีกมากมายครับ สิ่งที่เหมาะกับเอกวาดอร์มากที่สุด คือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ แต่เราก็เข้าใจด้วยว่า เรามีส่วนรับผิดชอบในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล นี่แหละครับ สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

เมื่อการสัมภาษณ์มาถึงบทสรุป ประธานาธิบดีกอร์เรอาดูเหมือนคนที่ตัดสินใจแล้ว เขาบอกว่า “ผมขอยืนยันว่าเราจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเรา เหมือนกับที่ทุกประเทศในโลกทำกัน เราไม่สามารถทำตัวเป็นยาจกนั่งทับกระสอบทองคำไว้เฉยๆได้หรอกครับ” อย่างไรก็ตาม เขาเต็มใจจะให้ประชาชนลงมติว่าจะยอมรับสิ่งที่ชาวเอกวาดอร์ทั่วไปเรียกกันว่าแผนสองหรือแผนบี (Plan B) นั่นคือการใช้ประโยชน์จากน้ำมันในแปลงไอทีทีหรือไม่

ขณะเดินลงบันไดด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดี ผมหวนคิดถึงถนนที่กำลังสร้างอยู่ในแปลงน้ำมัน 31 ซึ่งเปรียบเหมือนตัวแทนของการรุกล้ำธรรมชาติ ไม่ว่าผลของโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟจะออกมาในรูปใด พื้นที่ขนาดใหญ่ของอุทยานแห่งชาติยาซูนีจะยังคงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ผมนึกถึงคำพูดก่อนหน้านี้ของเคลลี สะวิง ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถานีทีบีเอส ตอนที่เรานั่งคุยกันอยู่บนดาดฟ้าสถานีวิจัย “ถ้าโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟล้มเหลว เราจะพยายามหาหนทางรักษาผืนป่าบางส่วนเอาไว้ครับ” สะวิงบอกกับผมราวกับว่าเขาเองก็มองข้ามการตัดสินใจในเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน “ประเด็นหลักที่ผมห่วงคือ ทุกครั้งที่ประนีประนอมกับการพัฒนา เราจะลงเอยด้วยการเหลือพื้นที่ให้ธรรมชาติน้อยลงทุกที” เขาทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า “เราควรใช้ความสามารถของเราสยบธรรมชาติ และฉวยประโยชน์จากทรัพยากรทั้งหมดเพื่อตัวเราเอง จนถึงจุดที่ธรรมชาติรับไม่ไหวอย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องถามตัวเองแล้วละว่า เราจะรู้จริงๆหรือว่า จุดแตกหักนั้นอยู่ตรงไหน”

มกราคม 2556