ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ธ.ค.2555  (อ่าน 1111 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ธ.ค.2555
« เมื่อ: 23 ธันวาคม 2012, 22:12:11 »
1.สวดยับ ช่อง 11 ถ่ายสด “ทักษิณ” เปิดงานมวยไทยที่มาเก๊า แถมผู้จัดแอบอ้างถ้วยพระราชทาน “ในหลวง” ด้าน “ปชป.-กลุ่มกรีน” ยื่น ป.ป.ช.เอาผิด!

       เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เวลาประมาณ 20.30น. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11 เดิม) ได้ถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยไทยวอริเออร์ส์ เทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งจัดขึ้นที่เขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้ชมเป็นอันมากก็คือ งานดังกล่าวมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
       
       ทั้งนี้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณจะกล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังยืนยันความจงรักภักดีของตนที่มีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมอ้างว่า ข้อกล่าวหาว่าตนไม่จงรักภักดีนั้น ล้วนแต่ไม่มีมูลความจริง ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือเอาชนะทางการเมืองเท่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพูดถึงกรณีที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย นำคลิปเสียงที่พาดพิงถึงตนไปเปิดบนเวทีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามเพื่อให้เห็นถึงความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันด้วย โดยอ้างว่า คลิปของ เสธ.อ้ายมีการตัดต่อ
       
       อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เสธ.อ้าย ได้ออกมายืนยันความไม่จงรักภักดีของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า คลิปเสียงที่ตนเปิดนั้น เป็นต้นฉบับ ไม่มีการตัดต่อ และบางอย่างที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต มีความรุนแรงชนิดที่ไม่มีใครสามารถทนได้ เสธ.อ้าย ยังบอกด้วยว่า ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่สิ่งที่ตนเกลียดคือ พ.ต.ท.ทักษิณดูหมิ่นสถาบัน ยุยง นปช.และพรรคเพื่อไทย และเห็นได้ชัดว่า ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณพยายามเลี้ยงกลุ่ม นปช.ที่ไม่เอาสถาบัน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังช่อง 11 ถ่ายทอดสด พ.ต.ท.ทักษิณเป็นประธานเปิดการแข่งขันมวยดังกล่าว ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความไม่เหมาะสม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักโทษหนีคดี และมีการมองว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่ช่อง 11 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พี่ชาย เมื่อนักข่าวไปถามเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า เป็นเรื่องของกรมประชาสัมพันธ์ ตามหลักไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ และว่า ยังไม่เห็นเนื้อหาว่ามีส่วนที่เกี่ยวกับรัฐหรือความมั่นคงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของผู้จัดรายการ ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
       
       ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มุ่งถวายความจงรักภักดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของพสกนิกรคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือต่างประเทศ และ พ.ต.ท.ทักษิณมีสิทธิที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดี ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับคนไทย
       
       ด้าน น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลช่อง 11 ก็ออกมาพูดในลักษณะให้ท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ โดยบอก “ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีนี้มันเป็นกรณีการถ่ายทอดสด และเรื่องที่จะบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ออกอากาศ คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็มีสิทธิ์ที่จะพูด และเป็นสิทธิเสรีภาพของคนทั่วไป ตราบใดที่ไม่ได้พูดที่เป็นการทำลายความมั่นคง”
       
       ขณะที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะประธานจัดการแข่งขันมวยไทยวอริเออร์ส์ฯ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะรู้ว่าตนจัดงาน แต่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าจะมาหรือไม่ จึงเตรียมไว้ 2 แผน แผนแรก จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณเปิดงาน แต่ถ้าไม่มา ตนจะเปิดงานเอง “เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนไทยคนหนึ่ง และรู้ว่ามีการแข่งขันชกมวยเพื่อเฉลิมพระเกียรติ จึงมาร่วมงานด้วย เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ที่สำคัญเป็นถึงอดีตนายกฯ จึงต้องให้เกียรติท่าน...”
       
       พล.อ.ชัยสิทธิ์ ยังพูดปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณสามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะไม่ได้เดือดร้อนใคร และว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ชั่วร้ายอะไร มีเพียงพวกเดียวที่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณชั่วร้าย พร้อมอ้างด้วยว่า การที่ช่อง 11 ถ่ายทอดการแข่งขันมวยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ ก็มีการเสียเงินค่าเช่าช่วงเวลาให้ช่อง 11 อยู่แล้ว
       
       ด้านกลุ่มกรีนที่มีนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนและดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับการปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกช่อง 11 จำนวน 4 ราย คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ,น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการช่อง 11 เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายเจตนาและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       ขณะที่ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ระหว่างตรวจสอบทางเทคนิค เพราะทราบว่าช่อง 11 มีการเกี่ยวสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสดจากทีวีดาวเทียมเอเชียอัพเดทของกลุ่มเสื้อแดง จึงถือว่ามีการเตรียมการเรื่องนี้เป็นอย่างดี รัฐบาลจะบอกว่าไม่ทราบเรื่องนี้ไม่ได้ และว่า นอกจาก พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร จะยอมรับว่ามีการเตรียมให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวแล้ว ในเฟซบุ๊กของผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ใกล้ชิด ยังมีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้ด้วย “ปัญหาเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณพยายามทำตัวเป็นเจ้าของรัฐบาลนี้ เพราะมีน้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี และอาจมองว่า น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นลูกน้องในบริษัทตัวเอง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงกระทำการโดยไม่เกรงใจนายกฯ และรัฐมนตรี วันนี้ น.ส.ศันสนีย์จะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ ควรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกทีวีช่อง 11 แต่การจัดงานมวยไทยวอริเออร์ส ครั้งนี้ ยังมีการแอบอ้างถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อมอบให้แก่ผู้ชนะด้วย ทั้งที่ไม่ได้มีการพระราชทานถ้วยรางวัลให้การแข่งขันดังกล่าว เนื่องจากสถานที่จัดการแข่งขันไม่เหมาะสม คือเป็นบ่อนคาสิโน ทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง จึงแจ้งว่าไม่ให้ถ้วยพระราชทาน แต่เมื่อถึงเวลาจัดการแข่งขันจริง พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ เลขาธิการจัดงานดังกล่าว กลับบอกว่าผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปครองเป็นเวลา 1 ปี
       
       ทั้งนี้ หลังเรื่องแดงขึ้นมา ทั้ง พ.ต.ท.กุลธน และ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ประธานจัดงานดังกล่าว ต่างออกมาอ้างว่า เป็นความผิดพลาดในขั้นตอนทำเรื่องขอพระราชทานถ้วยรางวัล และมีการนำสคริปท์เดิมที่มักใช้อ่านในการแข่งขันที่มีการขอพระราชทานถ้วยรางวัลทุกครั้งมาอ่าน พร้อมยืนยันว่าตัวเองมีความจงรักภักดี ไม่ได้มีการแอบอ้าง และเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด และว่า ได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว
       
       ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้เตรียมยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ น.ส.ศันสนีย์ ฐานสมคบกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์แอบอ้างถ้วยพระราชทาน โดยมีหลักฐานเป็นพยานบุคคลที่ท้วงติงการแอบอ้างและใช้ถ้วยพระราชทานปลอมแล้ว แต่ผู้มีอำนาจกลับบอกว่า เรื่องมาถึงขนาดนี้แล้วให้เลยตามเลย “แม้พล.อ.ชัยสิทธิ์ ได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่เป็นการทำหลังจากสำนักราชเลขาธิการท้วงติง ที่สำคัญคือตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ผู้จัดงาน รวมทั้งช่อง 11 ผู้ถ่ายทอดก็สมคบกันใช่หรือไม่ เพราะต่างรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าถ้วยดังกล่าวเป็นถ้วยพระราชทานปลอม แต่ยังกล้า ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นเรื่องนี้คนไทยไม่ควรเพิกเฉย และควรทำเรื่องนี้ให้เป็นเยี่ยงอย่างในสังคม จะได้ไม่มีใครกล้าอีก”
       
       2.ดีเอสไอ ประเคนข้อหา "มาร์ค-สุเทพ” ก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธ ด้าน ปชป. เตือน “ธาริต” เตรียมเข้าคุก!

       เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 99 ศพ ในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ได้นัดให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
       
       ปรากฏว่า ก่อนจะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงบ่าย นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้เดินทางเข้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเช้า ซึ่งมีประชาชนไปรอมอบดอกไม้ให้กำลังใจบุคคลทั้งสองกว่า 300 คน ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้ยืนยันกับผู้มาให้กำลังใจว่า ตนและนายสุเทพไม่เคยทำอะไรที่มีเป้าหมายในการทำร้ายประชาชน แต่การเป็นนายกฯ และรองนายกฯ ที่ดูแลฝ่ายความมั่นคง มีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ จึงได้ดำเนินการตามหน้าที่ โดยมอบนโยบายชัดเจนว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียของพี่น้องประชาชน แต่วันนี้ผู้มีอำนาจตั้งธงมาแล้ว จะปฏิเสธอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น “ผมกับคุณสุเทพจะต่อสู้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ต้องกังวลว่าจะหลบหนีไปไหน... ผมไม่ใช่คนขี้ขลาด ขี้โกงที่จะไปอยู่เมืองนอก...จะไม่ยอมให้มีการนำเรื่องนี้มาต่อรองผลประโยชน์ใดทางการเมือง... ถ้าศาลตัดสินว่าพวกผมผิดถึงขั้นให้ประหารชีวิต พวกผมก็ยินดี เพราะผมต้องการรักษากฎหมายไทย หากถูกประหารชีวิต ผมก็ขอให้คนที่ต้องติดคุกกลับมาเสียดีๆ บ้านเมืองจะได้เดินไปข้างหน้าได้”
       
       ส่วนบรรยากาศที่ดีเอสไอ ขณะที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงบ่ายนั้น ปรากฏว่า มีญาติผู้เสียชีวิตบางส่วนมาส่งเสียงตะโกนต่อว่า พร้อมเปิดเพลงพญาโศก
       
       หลังใช้เวลาเข้ารับทราบข้อกล่าวหากว่า 3 ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ เผยว่า ดีเอสไอได้แจ้งข้อหาตนและนายสุเทพ 2 คดี คือ คดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล และคดีการบริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมผ่านบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาเรื่องเงินบริจาค แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด ส่วนคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายฯ นั้น ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นกัน เนื่องจากคำบรรยายพฤติการณ์กับข้อหาที่ดีเอสไอแจ้งมีส่วนที่ขัดกัน รวมทั้งไม่ได้มีการนำพฤติการณ์เรื่องก่อการร้ายมาประกอบสำนวน และไม่พูดถึงการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ดีเอสไอแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีการละเว้นข้อเท็จจริง
       
       ทั้งนี้ ดีเอสไอไม่ได้นำตัวนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพส่งศาลเพื่อฝากขังตามที่ทนายความ นปช.และญาติผู้เสียชีวิตร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายธาริตเปลี่ยนเป็นการกำหนดเงื่อนไข 4 ข้อแลกกับการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบด้วย 1.การเดินทางออกนอกประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานสอบสวน 2.ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน 3.ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวนคดี และ 4.ไม่กระทำการใดใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จ พนักงานสอบสวนได้ให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งภายหลังปรากฏว่า มีผู้นำภาพขณะที่ทั้งสองกำลังพิมพ์ลายนิ้วมือไปโพสต์ในอินเตอร์เน็ต พร้อมข้อความเหน็บแนม โดยคนโพสต์ใช้ชื่อ “นินจาแดง” ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้โทรศัพท์ไปต่อว่านายธาริตที่ปล่อยให้ภาพดังกล่าวหลุดออกไป นายธาริตจึงได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
       
       ด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนนายธาริตที่แจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่า เตรียมตัวเข้าคุกได้เลย วันนี้ความผิดของนายธาริตสำเร็จแล้ว เพราะแจ้งข้อหากับประชาชนที่ไม่มีความผิด เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะเดียวกัน มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางวินัย เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย
       
       3.รัฐบาล หวั่นกระแสต้าน ยอมทำประชามติแก้ รธน.ก่อนโหวตวาระ 3 มั่นใจมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 23 ล้านคน!

       เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญไทย แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและคณะทำงานพรรคพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ถือโอกาสประชุมและออกแถลงการณ์ในนามพรรคร่วมรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ รัฐธรรมนูญจะต้องมีที่มาจากประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำตั้งแต่ยกร่างจนถึงให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
       
       วันเดียวกัน(10 ธ.ค.) นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเผยว่า ตนได้พบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยบังเอิญที่มาเก๊าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณได้พูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากไม่มีทางออกและจำเป็นต้องทำประชามติก็สามารถรอได้ ส่วนการลงมติในวาระ 3 เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะพิจารณา
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับเช่นกันว่า ได้หารือ พ.ต.ท.ทักษิณเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่อ้างว่าเป็นการคุยกันในเชิงข้อเสนอแนะ เพราะกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องของรัฐสภา ทั้งนี้ วันต่อมา(11 ธ.ค.) คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ คือ 1.รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 2.การจะลงมติวาระ 3 ควรจะรณรงค์ทำความเข้าใจให้คนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน 3.การทำประชามติ มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในวาระ 3 อยู่แล้วว่า หลังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ยกร่างเสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ 4.ระหว่างนี้หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็สามารถทำได้ และ 5.ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า หากมีการลงมติในวาระ 3 แล้ว จะมีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ หรือมีการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ อีกหรือไม่
       
       ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยัน พรรคจะคัดค้านเต็มที่หากรัฐบาลจะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้เผยจุดยืนของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นด้วยหากเดินหน้าลงมติวาระ 3 เพราะขัดต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วย ก็ค่อยมาโหวตวาระ 3
       
       ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย และคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เชื่อว่า รัฐบาลจะเลือกทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 แน่นอน แต่อาจมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพื่อแก้ไขจำนวนเสียงที่ใช้ในการทำประชามติ เนื่องจากมาตราดังกล่าวระบุว่า การทำประชามติ จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนมีทั้งหมด 46 ล้านคน ดังนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 23 ล้านเสียงขึ้นไป ถือว่าต้องใช้คะแนนเสียงสูงมาก จึงอาจมีการแก้ไขโดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเป็นเกณฑ์ตัดสิน
       
       ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการประชุมกำหนดท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.หลังรับทราบรายงานข้อสรุปของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนแถลงผลประชุมว่า เห็นควรให้มีการทำประชามติก่อนลงมติวาระ 3 เพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งมีเพียงคณะรัฐมนตรี(ครม.) เท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับการทำประชามติ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้าน ให้สังคมมีทางออกอย่างละมุนละม่อม อย่างไรก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อสรุปสุดท้ายของพรรคร่วมรัฐบาลระบุด้วยว่า “ไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า รัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ตลอด”
       
       ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฯ ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพื่อลดจำนวนเสียงที่จะชี้ขาดในการทำประชามติ ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาฯ คณะทำงานพรรคร่วมฯ บอกว่า ต้องมีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติเกิน 23 ล้านคน ไม่เช่นนั้น กระบวนการจัดทำประชามติต้องหยุดลง และเมื่อมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 23 ล้านคน ต้องเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งว่าเห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงจะเป็นข้อยุติในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป “ผมมั่นใจว่าจะมีผู้มีสิทธิออกมาลงประชามติเกิน 23 ล้านคนแน่นอน เนื่องจากพิจารณาคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคนเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 และไม่กังวลว่าประชาชนที่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุนการทำประชามติครั้งนี้ เพราะไม่จำเป็นว่าฐานเสียงของพรรคใดจะต้องเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคนั้นเสมอไป”
       
       4.ศาล รธน. เล็งฟ้องเอาผิดสมาชิก พท.-ทนายเสื้อแดง ฐานจ้องทำลาย “6 ตุลาการ” หลังไม่สั่งระงับการชุมนุม เสธ.อ้าย!

       เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย(พท.) และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความของคนเสื้อแดง พร้อมพวก ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายจรูญ อินทจาร ,นายเฉลิมพล เอกอุรุ ,นายนุรักษ์ มาประณีต ,นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี โดยกล่าวหาว่าตุลาการฯ ทั้ง 6 คน ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณียกคำร้องที่พวกตนขอให้สั่งระงับการชุมนุมของกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการใช้อาวุธและแก๊สน้ำตา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก
       
        ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดแถลงในวันต่อมา(13 ธ.ค.) โดยชี้แจงว่า การวินิจฉัยกรณีดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการที่มีอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 และเป็นการใช้อำนาจโดยสุจริต คำนึงถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
       
        นายพิมล ยังชี้ด้วยว่า การกระทำของกลุ่มนายสิงห์ทองและพวก เป็นการกระทำที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญ โดยจงใจและไม่สุจริตของผู้มีวิชาชีพทางกฎหมาย มากกว่าจะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการ เพราะการตรวจสอบตุลาการมีช่องทางการยื่นถอดถอนอยู่แล้ว ดังนั้น หากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการมุ่งทำลายองค์กรตุลาการจริง อาจจะต้องดำเนินการทางกฎหมายกับนายสิงห์ทองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะทำให้องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเสียหาย และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 ธันวาคม 2555