ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาธรรมมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอนที่ 6)  (อ่าน 678 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9803
    • ดูรายละเอียด
 ผลกระทบจากการขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


ในตอนที่ 5 ได้พูดถึงหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาดธรรมวภิบาลในหลายประเด็น ทั้งในแง่ขาดหลักนิติธรรม ขาดหลักคุณธรรม ขาดหลักความโปร่งใส ขาดหลักความมีส่วนร่วม ขาดหลักความรับผิดชอบและขาดหลักความคุ้มค่า

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในทุกวาระที่กล่าวมาแล้ว ล้วนต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ต้องรับผลงานจากการบริหารของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน 48 ล้านคน ที่เป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการรับบริการสุขภาพ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องทำงานภายใต้กฎระเบียบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต้องออกระเบียบตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น

ผลกระทบจากการขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีต่อประชาชน

การขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เกิดผลกระทบไปถึงประชาชนที่ไม่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้แก่

1.ข้าราชการและครอบครัวที่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากพ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพ.ศ. 2553 เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เปรียบเทียบว่าค่ารักษาพยาบาลข้าราชการมีอัตราเฉลี่ยรายหัวสูงกว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง จนทำให้มีการแก้ไขพ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการใหม่ในปีพ.ศ. 2553 โดยแก้ไขการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่ให้ “เบิกได้ตามที่จ่ายจริง” มาเป็นให้ “เบิกได้ตามที่กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังกำหนดเท่านั้น”

และกรมบัญชีกลางก็ทะยอยออกระเบียบห้ามข้าราชการเบิกค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในหลายกรณี มีระเบียบในการ “จำกัดและลิดรอนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา”

จนทำให้มีกลุ่มข้าราชการรวมตัวกันเป็น “สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ” ออกมาคัดค้านการดำเนินการลิดรอนสิทธิข้าราชการและครอบครัวอย่างไม่เป็นธรรมของกรมบัญชีกลาง

ในปัจจุบันนี้ ข้าราชการต้อง “ร่วมจ่ายเงินในการไปรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย” เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากการที่กรมบัญชีกลาง “ดำเนินการออกระเบียบจำกัดสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการอย่างต่อเนื่อง”

ซึ่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือผู้มีเงินเดือนสูงๆอาจไม่เดือดร้อนอะไรในเรื่องนี้ แต่ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ต้องเสี่ยงชีวิตและสุขภาพในการรับราชการ คงมีความเดือดร้อนมากขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการรักษาสุขภาพตามจริง ต้องร่วมจ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

2. ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตนเองเป็นเงินสมทบกับนายจ้างละรัฐบาล มีสิทธิได้รับการรักษา “ไม่น้อยกว่าบัตรทอง” กล่าวคือแม้จะต้องจ่ายเงินเอง แต่ผู้ประกันตนยังถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการรักษาเท่ากับผู้ไม่ต้องจ่ายเงินในระบบบัตรทองเท่านั้น ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำกับประชาชนในระบบ 30 บาทอย่างแท้จริง

ผลกระทบจากการขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีต่อระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและมาตรฐานการแพทย์

การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี ยังเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข กล่าวคือ

1. คุณภาพการรักษาผู้ป่วยตกต่ำลง เพราะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกระเบียบ และข้อบังคับในการใช้ยาได้เพียงบางอย่างเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาอาการป่วยของตน เช่นการให้ได้ยารักษามะเร็งเป็นบางชนิดเท่านั้น หรือการบังคับให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องรับการล้างไตทางหน้าท้องเป็นวิธีแรกเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในอัตราสูงมาก

2. แพทย์ขาดอิสระในการรักษาผู้ป่วย แพทย์ไม่สามารถสั่งยาให้ผู้ป่วยนอกเหนือจากรายการยาอันจำกัดของสปสช. ทำให้แพทย์รุ่นใหม่ๆไม่มีโอกาสใช้ยาใหม่ ขาดประสบการณ์ในการรักษา ไม่ต้องใช้วิชาความรู้ในการเลือกยาสำหรับรักษาผู้ป่วย เพราะไม่มียาให้เลือกจากข้อจำกัดของสปสช. ทำให้วิชาการแพทย์หยุดนิ่งและล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ให้โรงพยาบาลเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยถ้าแพทย์สั่งยานอกเหนือจากบัญชีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

3. ไม่มียาที่มีประสิทธิผลและทันสมัย รายการบัญชีที่สปสช.ใช้คือบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาหรือเลิกประกอบวิชาชีพเวชกรรมไปแล้ว และบางคนมีอคติต่อแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยว่า “ชอบใช้ยาแพงๆ” ไม่ได้บอกว่า “ชอบใช้ยาที่มีประสิทธิผลสูงสุด”
แต่ถ้าถามว่าถ้ากรรมการยาหลักแห่งชาติป่วยเองแล้ว จะยอมใช้แต่ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือจะใช้ยาที่มีประสิทธิผลสูงสุด การกำหนดให้ใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิผล ยังทำให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วย เกิดการดื้อยา รักษาไม่หาย เจ็บป่วยเรื้อรัง พิการหรือตายโดยยังไม่สมควรตาย

4. เด็กไทยขาดโอกาสในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคใหม่ๆ เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ส่งเสริมกระบวนการป้องกันโรค เช่นไม่ส่งเสริมให้มีการใช้วัคซีนใหม่ ทั้งๆที่วัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคดี มีความปลอดภัย และหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้ป้องกันโรคสำหรับพลเมืองของตนแล้ว เช่นวัคซีนป้องกันอุจจาระร่วงจากโรต้าไวรัส วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับวัยรุ่นสตรี พอมีแพทย์เสนอให้ใช้วัคซีนนี้ ก็จะปรากฎมีข่าวของNGO กลุ่มเดียวกับกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกมาโจมตี(โดยไม่มีมูลความจริง)ว่าการเสนอให้ใช้วัคซีนใหม่เพราะมี(คนบางคน)มีผลประโยชน์กับบริษัทวัคซีนหรือบริษัทยาข้ามชาติ ทำให้เด็กและเยาวชนไทย ขาดโอกาสในการจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่หลายประเทศใช้กันอยู่ทั่วไป

5. โรงพยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยบัตรทองเกิดปัญหาการขาดงบประมาณในการรักษาผู้ป่วย โดยกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย ทั้งๆที่มีสาเหตุมากจากการบริหารกองทุน (ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)ที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดความสุจริตโปร่งใส ขาดความรับผิดชอบ และมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) อดีตเลขาธิการสปสช.คนที่สอง จะพูดเสมอว่า “รัฐบาลให้เงินมาเท่าไรก็บริหารได้” เพราะเขาไม่รับผิดชอบต่อปัญหาการขาดดุลบัญชีของโรงพยาบาล ที่ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชน)
ปัญหาต่างๆทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับทราบหรือไม่?

ตามอำนาจหน้าที่แล้วคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องรับทราบปัญหานี้ และต้องหาทางแก้ไข
แต่เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รายงานเรื่องเหล่านี้ให้คณะกรรมการฯทราบหรือไม่ หรือคิดว่า “ตนเองบริหารได้เอง” ดังที่ไปชี้แจงเสมอๆว่า สปสช.บริหารได้ไม่ว่าจะให้งบประมาณเท่าไรก็ตาม

เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ “เลขานุการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”ตามมาตรา13 และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 31 คือ ให้เลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติและประกาศของคณะกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่ง
ถ้าติดตามการทำงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2545 จะเห็นได้ว่า กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด)ที่มาจากการสรรหา นั้น ล้วนเป็นสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท หรือผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทเป็นส่วนใหญ่
ส่วนเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น คนแรกก็คือแกนนำคนสำคัญของชมรมแพทย์ชนบท และเลขาธิการสปสช.คนที่สอง ก็คือคนที่สนิทสนมกับสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทและเป็นคนที่ชมรมแพทย์ชนบทไว้วางใจ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับทราบปัญหาต่างๆดังที่กล่าวแล้วข้างต้นหรือไม่? จึงเป็นคำถามสำคัญที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องตอบ เพราะเป็นหน้าที่ของกรรมการทุกคนในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารกองทุนและการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แต่เนื่องจากกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่างก็มีภาระหน้าที่อื่น หรือเป็นข้าราชการประจำ ไม่มีเวลามานั่งตรวจสอบการทำงานของเลขาธิการ การทำงานของคณะกรรมการก็คือมาประชุมเพื่อลงมติต่างๆ ตามที่คณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์เสนอ อาจไม่มีเวลาให้ความสำคัญในการอ่านสาระสำคัญในระเบียบวาระการประชุม ทำให้ไม่สามารถ “ควบคุม”การทำงานของเลขาธิการสปสช.ได้
จึงเกิดคำถามเรื่อง “ธรรมาภิบาลของเลขาธิการสปสช.” ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า หรือหายไปแล้วเช่นเดียวกัน?

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
25 กรกฎาคม 2559