ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่รู้เท่าทันเอ็นจีโอ‏  (อ่าน 2068 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9801
    • ดูรายละเอียด
นาย จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศรับรองกับเอ็นจีโอสาธารณสุขว่า จะผลักดันให้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่สภาและสามารถผ่านการรับรองจากสภาออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ล้านเปอร์เซ็นต์ โดยไม่เคยอ่านพ.ร.บ.คุ้มครองฯฉบับร่างโดยรัฐบาลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ซ่อนเร้นอะไรไว้เบื้องหลังบ้าง ซึ่งมีหลายมาตราในพ.ร.บ.ฉบับร่างของรัฐบาลเอง ที่เนื้อหาในแต่ละมาตราขัดกันเอง หรือเนื้อหาในมาตราเดียวกันแต่คนละวรรคก็ขัดกันเอง รวมทั้งมาตรา 50 ก็เขียนไว้แบบล็อคสเป็คอย่างโจ๋งครึ่มเลยว่า ให้เอ็นจีโอด้านสาธารณสุขเป็นกรรมการรักษาการ 6 ใน 11คน ที่เหลืออีก 5 คนนั้น รัฐมนตรีก็คงฝันหวานว่าจะเอาคนที่ตัวเองสั่งซ้ายหัน/ขวาหันได้ (เช่นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข) มาเป็นกรรมการในบทเฉพาะกาล เพื่อจะออกระเบียบต่างๆ รวมทั้งระเบียบการบริหารกองทุน ที่คงจะเอื้อประโยชน์ให้เอ็นจีโอและพวกพ้องของรัฐมนตรี และที่สำคัญที่สุดก็คือคงจะออกระเบียบเพื่อมาล็อคสเป็คการเลือกกรรมการมาบริหารกองทุนต่อไปในอนาคต

  ซึ่งถ้าใครไม่อ่านร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลอย่างละเอียด และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ตามตัวอักษรทุกตัวแล้ว ก็อาจจะหลงเชื่อเอ็นจีโอ ที่แอบอ้างว่า เป็นเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องการสนับสนุนให้ผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ที่จริงแล้วมันจะให้ประโยชน์แก่เอ็นจีโออย่างมากมายมหาศาล มากกว่าประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเอ็นจีโอต่างก็หวังว่าพวกตนจะได้เข้ามาเป็นกรรมการ 6 ใน 11 คน ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 50 และรัฐมนตรีรวมทั้งข้าราชการระดับสูงที่อาจจะได้มาเป็นกรรมการในบทเฉพาะกาลอีกอย่างน้อยก็คือ 3 ใน 5 คนที่เหลือ เพราะก็เขียนล็อคสเป็คไว้เช่นเดียวกันในมาตรา 50

    สรุปแล้ว คนทั้ง2 พวกที่กล่าวมานั้น มีความต้องการมา “หาผลประโยชน์” จากเงินกองทุน เป็นเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยงเดินทาง และผลประโยชน์อื่นๆอีกมากมายจากเงิน 10% ของกองทุน

    ท่านผู้อ่านบทความนี้อาจจะนึกไม่ถึงว่า เงินกองทุน 10% นี้มันจะมากมายมหาศาลแค่ไหน? ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างให้ท่านลองพิจารณาดู จากบทเฉพาะกาล ก็เขียนไว้ว่า ให้โอนเงินตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เหลืออยู่โอนเข้ากองทุนตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ และให้เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล/คลินิก และสถานประกอบการเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขทุกแห่งเข้ากองทุน ซึ่งจะเป็นจำนวนทั้งสิ้นดังนี้

1.       เงินตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเงิน 1,200 ล้านบาทในปีงบประมาณพ.ศ. 2554

2.       เงินจากผู้ป่วยนอกครั้งละ 5 บาท เป็นเงินเท่ากับจำนวนครั้งของผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลในแต่ละปีคูณด้วย 5 จะเท่ากับ (63,000,000 x 2.7 x 5) = 850,500,000 บาท เงินจำนวนนี้คิดตามสถิติของพ.อ.(พิเศษ)นพ.กิฎาพล วัฒนะกุล  กรรมการควบคุมคูณภาพมาตรฐานหน่วยบริการของสปสช. ที่มีสถิติว่าประชาชนไทยไปตรวจรักษาแบบผู้ป่วยนอกปีละ 2.7 ครั้งต่อคนต่อปี และไปโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน(นอนในโรงพยาบาล) 11 % ของจำนวนประชาชนทุกคน

3.        เงินจากผู้ป่วยในครั้งละ 80 บาท เท่ากับ (80 x 63,000,000 x 0.11) = 554,400,000 บาท

ฉะนั้นเมื่อรวมเงินกองทุนทั้งหมดแล้วจะเป็นเงินทั้งสิ้นปีละ1,200,000,000 +850,500,000+554,400,000 = 2,604,900,000 บาท และกรรมการกองทุนที่น่าจะมาจากเอ็นจีโอ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข จะมีสิทธิใช้เงิน 10% เท่ากับ 260,490,000 บาท ในการบริหารและการทำงานตามที่พวกเขาได้เขียนเอาไว้ในพ.ร.บ.ใหม่นี้

   อนึ่ง จำนวนเงินที่คิดนี้ ยังไม่รวมเงินในมาตรา 41 ปีละประมาณ 800 -900 ล้านบาท ที่มีเหลือจากการช่วยเหลือประชาชน ตามมาตรา 41 ที่ใช้เงินช่วยเหลือปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท ฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว เงินตามมาตรา 41 นี้ ยังมีเหลืออีกประมาณปีละ 700 X 8  = 5,600,000 ล้านบาท   (หมายเหตุ เลข 8  มาจากจำนวน 8 ปีของการมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545- 2553)ซึ่งกรรมการในพ.ร.บ.ใหม่นี้จะสามารถเอา 10% มาใช้ เท่ากับ 560,000,000 บาท (หมายเหตุ เลข 8  มาจากจำนวน 8 ปีของการมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545- 2553)

 เมื่อรวมจำนวนเงินทั้งสิ้นที่พวกผลักดันพ.ร.บ.ต้องการเข้าไปบริหารเป็นประเดิมเมื่อสามารถผลักดันให้พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาได้สำเร็จ จะมีโบนัสก้อนโตคือ 260,490,000 + 560,000,000 =820,490,000 ล้านบาท (มากกว่างบประมาณที่นพ.ประเวศ วสี ขอจากรัฐบาลเป็นงบประมาณการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเสียอีก)

ฉะนั้นทั้งเอ็นจีโอและรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการระดับสูงที่ไปร่วมร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล ต่างก็มีความหวังว่า จะได้มีส่วนไปใช้เงินกองทุนก้อนโตนี้ตามอำเภอใจ เพราะพวกมากลากไปตามที่เขียนล็อกสเป็คอย่างโจ๋งครึ่มในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ตามร่างของรัฐบาลอยู่แล้ว

   การกล่าวอ้างว่าประชาชนทั้ง 63 ล้านคน จะได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ จึงเป็นการแอบอ้างเอาประชาชนมาบังหน้า แต่พฤติการณ์มันส่อเจตนาอย่างชัดเจนว่า ต้องการเขียนพระราชบัญญัติ เพื่อให้เอ็นจีโอและรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข หาเงินมาใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเงินที่เหลือก็ไม่ต้องคืนกระทรวงการคลัง เงินก็อาจจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ กรรมการกองทุนก็อาจจะมีมติให้เอาเงินกองทุนไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกองทุนจะได้มีเงินเพิ่มขึ้นมากๆ เงินบริหาร 10% ก็จะได้เพิ่มพูนเป็นเงาตามตัว กรรมการก็จะได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

  กองทุนนี้ จึงน่าจะมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล จนทำให้พวกที่สนับสนุนการผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... นี้ มีความพยายามใช้มวลชนจัดตั้งทุกวิถีทาง มากดดันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันเอ็นจีโอ เพื่อให้รัฐมนตรีรักษาสัญญาลูกผู้ชาย(หรือเปล่า?) ในการที่จะผลักดันพ.ร.บ.นี้เข้าสภาให้ได้ล้านเปอร์เซ็นต์ตามที่สัญญาไว้

 เอ๊ะ หรือผู้เขียนอาจจะตีราคารัฐมนตรีต่ำเกินไปว่า รัฐมนตรีไม่รู้เท่าทันเอ็นจีโอ?  เพราะคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีได้ น่าจะต้องเป็นคนฉลาดหลักแหลม และมีความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงที่ตัวเองรับผิดชอบ บ้านเมืองจึงจะเจริญรุ่งเรือง ประชาชนจึงจะมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

  หรือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะแกล้งโง่ ?????

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)