ผู้เขียน หัวข้อ: ฉากหลังความสำเร็จ...แพทย์ไทยช่วยเนปาล “นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร” และทีม สธฉ.  (อ่าน 559 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลขนาด 7.8 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 7 พันราย และบาดเจ็บสูงถึงกว่า 1.7 หมื่นคน แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมที่เศร้าสลด แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความมีน้ำใจและมิตรไมตรีของชาติต่างๆ ที่ยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงประเทศไทยที่ส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน
       
       แต่การจะส่งทีมแพทย์ไทยไปช่วยเหลือนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะท่ามกลางความวุ่นวายที่ข้อมูลต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ความช่วยเหลือที่พร้อมใจกันไหลหลั่งเข้าสู่ประเทศ ทีมกู้ชีพกู้ภัยจากชาติต่างๆ ที่เร่งรีบมาช่วยด้วยความปรารถนาดี กับทางเข้าออกที่มีเพียงสนามบินกาฐมาณฑุเพียงแห่งเดียว จะเห็นได้ว่าหลายเที่ยวบินไม่สามารถลงจอดได้
       
       เห็นได้ชัดว่า ข้อมูลและการประสานงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเข้าไปช่วยเหลืออย่างไม่มีระบบและขาดการประสานงาน สุดท้ายก็จะกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่เจ้าของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบให้สำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน(สธฉ.) ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อกรุยทางในการส่งทีมแพทย์และความช่วยเหลือของไทยเป็นไปด้วยความสะดวกอย่างที่สุด
       
       นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผอ.สธฉ. เปิดเผยว่า ทีมของ สธฉ.จะเป็นจุดประสานข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประเทศเนปาลทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุนั้นมีความวุ่นวายอย่างมาก เพราะสถานที่เกิดเหตุอยู่ไกล อยู่คนละประเทศ ข้อมูลต่างๆยังไม่มีความชัดเจน ความต้องการความช่วยเหลือจากประเทศต้นทางก็ยังไม่แน่ชัด ข้อมูลต่างๆ ก็รับมาจากการรายงานข่าว ซึ่งภาพรวมถือว่ายังไม่ชัดเจนพอ ที่สำคัญคือยังไม่สามารถติดต่อประสานงานกับคนในพื้นที่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ แต่จะเห็นได้ว่าบุคลากรจำนวนมากของไทยพร้อมที่จะแสดงออกและเดินทางไปช่วยเหลือ เพราะต้องการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งหากเราไม่มีการจัดระบบความช่วยเหลือที่เป็นระบบ ก็จะเหมือนกับหลายประเทศที่ส่งคนเข้าไปแล้วยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้
       
       “ช่วงที่เกิดภัยพิบัติทรัพยากรทุกอย่างในพื้นที่มีจำกัด ก็ต้องเอามาแบ่งให้คนที่เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งที่ยังไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ตรงนี้จะเป็นการสร้างภาระให้แก่เจ้าของประเทศ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพเช่นนี้กับทีมแพทย์ไทยที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ จึงต้องรอข้อมูลให้ชัดเจนและสามารถติดต่อประสานงานกับพื้นที่ได้เสียก่อน ซึ่ง นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัด สธ.ได้เป็นตัวแทนทีมแพทย์ที่เดินทางไปติดต่อประสานงาน จนเมื่อได้คอนแทคที่แน่ชัดแล้วก็พร้อมที่จะส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือได้ทันที”
       
       นพ.อนุรักษ์ เล่าอีกว่า เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนจากประเทศต้นทาง ความช่วยเหลือที่เขาต้องการแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของทีม สธฉ.คือการรวบรวมรายชื่อบุคลากรต่างๆ ที่อาสาสมัครจะเดินทางไป โดยมีการให้ขึ้นบัญชีรายชื่อแยกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มแพทย์ในแต่ละสาขา กลุ่มพยาบาล กลุ่มนักวิชาการ เป็นต้น เพื่อที่จะได้จัดสรรกำลังคนได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการความช่วยเหลือ และนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว (วอร์รูม) เนปาล ในการตัดสินใจต่างๆ เรียกได้ว่า หน้าที่ของทีม สธฉ.จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็นต่างๆ รวมไปถึงสถานการณ์ต่างๆ รายวันมาประมวล วิเคราะห์ และจัดแนวทางความช่วยเหลือที่เหมาะสมส่งให้แก่วอร์รูมพิจารณา
       
       “อย่างตอนที่ส่งทีมแพทย์ไทยชุดแรกไปได้แล้วนั้น ก็มีการติดต่อส่งข้อมูลต่อกันทุกวัน เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด การจะส่งทีมแพทย์ชุดที่ 2 ที่ 3 ไปนั้นก็ต้องอาศัยข้อมูลจากในพื้นที่มาวิเคราะห์ อย่างทีมแพทย์ชุด 3 ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่าในพื้นที่นั้นพ้นระยะของการกู้ชีพกู้ภัยไปแล้ว จำนวนคนป่วยก็เริ่มน้อยลง มองว่าทีมที่จะส่งไปช่วยก็ต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการวางแนวทางและฟื้นฟูระบบสาธารณสุขของเนปาล เช่น สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งจากการทำงานอย่างต่อเนื่องหลายวัน ต้องชื่นชมและขอบคุณทีมงานทุกคน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ทุกคนทำงานกัน 24 ชั่วโมง ไม่ได้พักกันเลย”
       
       นพ.อนุรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้ว การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ งานธุรการจิปาถะก็ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบของทีม ไม่ว่าจะเป็นเอกสารต่างๆ การประสานขอวีซ่า การเดินทางจะบินอย่างไร อุปกรณ์ข้าวของต่างๆ ที่จะต้องเตรียมไปก็จะต้องมาเช็กว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ รวมไปถึงต้องอบรมบุคลากรทีมแพทย์ที่ส่งไปให้ความช่วยเหลือ ให้สามารถทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่การเงินได้ เพราะแม้จะเป็นเรื่องด่วน แต่การเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ก็ต้องถูกต้องตามระเบียบด้วย ก็จะอบรมและวางแผนให้ข้อมูลว่าจะต้องบริหารจัดการเรื่องการเงินอย่างไร
       
       “แม้ สธฉ.จะเพิ่งตั้งขึ้นเป็นสำนักได้ไม่นาน แต่เชื่อว่าหากเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในไทยจะสามารถดำเนินการในเรื่องข้อมูลและการประสานได้อย่างเป็นระบบระเบียบ เพราะที่ผ่านมาก็เคยทำหน้าที่นี้ในวอร์รูมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคกลางเมื่อปลายปี 2555 หรือแม้แต่ช่วงชุมนุมทางการเมืองที่ต้องมีการเตรียมรับมือต่างๆ ว่ามวลชนขนาดนี้หากเกิดเหตุขึ้นจะต้องใช้กำลังคนเท่าไรในการรับมือ และจากกรณีเนปาลก็ถือเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ช่วยให้เรามีศักยภาพในการเตรียมพร้อมรับมือกับการจัดการภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี”


ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 พฤษภาคม 2558