ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกจาก นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ แกนนำแพทย์ชนบท  (อ่าน 1277 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
จดหมายเปิดผนึกจาก นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ แกนนำแพทย์ชนบท ถึงรัฐมนตรีคลัง เรียกร้องให้ทบทวนและคิดให้ดีหากจะเรื่องการจ่ายตาม P4P เข้า ครมวันที่ 31 มีนาคมนี้ เตือนก่อนเดี๋ยวจะหาว่าไม่มีการทัดทานอย่างเป็นทางการ

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนของแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกรและเจ้าหน้าที่อื่นๆในกระทรวงสาธารณสุขจากระบบเหมาจ่ายเป็นระบบตามภาระงาน(P4P) โดยจะเริ่มตั้งแต่1เมย. นี้เป็นต้นไป ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมทันตภูธรและเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ได้มีมติคัดค้านแนวทางดังกล่าว โดยได้มีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 มีนาคม 25 56 และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งนี้เนื่องจากแนวทางP4P ไม่ใช่แนวทางที่จะสร้างแรงจูงใจที่เพียงพอให้บุคลากรไปทำงานในเขตชนบท(เขตระดับอำเภอลงไปทั้งที่ทุรกันดารเสี่ยงภัยและไม่ทุรกันดาร) ปัจจุบันมีแพทย์ที่ทำงานอยู่ในชนบทเพียง 3,400 คนแต่ต้องรับภาระดูแลประชากร 46 ล้านคน ในขณะที่มีแพทย์ใน รพ. ศูนย์-รพ. ทั่วไป กว่า 9,000 คน แตกต่างกันถึง 3 เท่า มาตรการทางการเงินที่ใช้ในระบบเหมาจ่ายตามระดับของรพ. ตามจำนวนปีที่ทำงาน ตามพื้นที่ทุรกันดารเสี่ยงภัย ได้ส่งผลให้มีการคงอยู่ของบุคลากรในชนบทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพียง5ปีที่ใช้มาตรการดังกล่าวมีแพทย์เพิ่ม 48เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยมีมาก่อน แม้กระทั่งในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชมรมแพทย์ชนบทจึงมีข้อเสนอมายังท่านเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทบทวนดังนี้คือ

1) ระบบการบริการในโรงพยาบาลประกอบไปด้วยบุคลากรหลายกลุ่มวิชาชีพ หลายระดับ หลายลักษณะงาน การวัดค่างานของแต่ละกลุ่มแต่ละวิชาชีพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะดำเนินการต้องเตรียมความพร้อมมาก มิเช่นนั้นจะเกิดความแตกแยกขัดแย้งสูง ทั้งภายในโรงพยาบาล ระหว่างโรงพยาบาล ระหว่างจังหวัด การทำงานในลักษณะสหวิชาชีพที่ทำงานโดยยึดเป้าหมายของผู้ป่วยจะถูกสั่นคลอน มองการดูผู้ป่วยเป็นชิ้นงาน เป็นเครื่องจักรที่ผลิตงานให้มีแต้ม ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

2) การปรับเปลี่ยนแนวทางดังกล่าวไม่มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท จะทำลายแรงจูงใจที่จะไปทำงานในเขตชนบท เพราะต้องทำงานภายใต้ความขาดแคลนและเสียโอกาสต่างๆ ที่มีในเขตเมืองแล้วยังต้องมีแรงกดดันในการเก็บข้อมูลภาระงานส่วนบุคคลในทุกๆการปฏิบัติงาน บุคลากรเดิมที่ปฏิบัติงานนานๆ ประสบการณ์เชี่ยวชาญสูง จะตัดสินใจย้ายเข้าสู่พื้นที่ๆเจริญกว่า

3) ประสบการณ์จากการดำเนินการในพื้นที่บางรพ. ที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้างว่าศึกษาวิจัยนั้น มิใช่เป็นการศึกษาวิจัย แต่เป็นการทดลองจ่ายเพิ่มเติม(Top up) จากระบบเหมาจ่ายเดิมที่ใช้อยู่แล้ว มิใช่เป็นการจ่ายทดแทน

4) แนวทางดังกล่าวสร้างความขัดแย้งระหว่างบุคลากรที่ทำงานในเขตชนบทดูแลประชาชนด้อยโอกาสกับรัฐบาลจนมีการระดมพลออกมาชุมนุมกันอย่างมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 มีนาคม 2556 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่จะคลี่คลายแต่อย่างใด
จึงเรียนมายังท่านเพื่อพิจารณาไตร่ตรองทบทวนอย่างรอบคอบก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่31 มีนาคม 2556 หากดำเนินการแล้วจะเกิดความผิดพลาดเสียหายใหญ่หลวงต่อนโยบายการสร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนยากจนในชนบทอย่างร้ายแรง

นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล

จาก facebook วงการแพทย์ และสาธารณสุขไทย