ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภาตั้งอนุฯเฉพาะกิจ 2 ชุดกรณี "น้องแกรมมี่" เอาผิดใน 6 เดือน  (อ่าน 604 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
แพทยสภาตั้งคณะอนุฯเฉพาะกิจอุ้มบุญ 2 ชุด ด้านจริยธรรมและสอบสวนเคส "น้องแกรมมี่" เอาผิดแพทย์ใน 6 เดือน เห็นชอบกม.อุ้มบุญ แต่ต้องแก้ประกาศเพิ่มเติม พร้อมเสนอ "สมศักดิ์-อิทธพร" ร่วมสภาปฏิรูป ด้านราชวิทยาลัยสูติฯ เร่งแพทยสภาออกกฎหมายตาม กม.อุ้มบุญ
       
       วันนี้ (14 ส.ค.) เมื่อเวลา 17.00 น. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เรื่องปัญหาอุ้มบุญ ว่า การพิจารณาความผิดแพทย์ที่ทำอุ้มบุญ "น้องแกรมมี่" นั้น เนื่องจากมีข้อมูลปรากฏจากสื่อต่างๆ ชัดเจนที่มีแพทย์ 2 รายเข้าข่ายกระทำผิด คณะกรรมการแพทยสภามีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ 2 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการจริยธรรมเฉพาะกิจ มี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร เป็นประธาน และ 2.คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ มีตนเป็นประธาน เพื่อให้สามารถสอบสวนแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ส่วนกรณีอื่นที่ปรากฏตามข่าว ยังมีความไม่ชัดเจน เช่น กรณีอุ้มบุญพ่อชาวญี่ปุ่น อาจต้องรอให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สรุปเรื่องและส่งรายชื่อมายังแพทยสภาอีกครั้งว่า แพทย์คนใดเป็นผู้กระทำ โดยเบื้องต้นทราบว่า แพทย์ที่กระทำไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ แต่หากทำผิดเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภา ก็ถือว่าได้กระทำผิด ต้องได้รับการสอบสวน


       นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด จะดำเนินการสอบสวนตามหลักฐาน และเรียกผู้ที่เข้าข่ายอาจกระทำการฝ่าฝิืนเข้ามารายงานและสอบสวน หากพบว่ามีแพทย์คนใดฝ่าฝืนอีกก็จะนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ เพื่อดูว่าเรื่องมีมูลความผิดหรือไม่ แล้วส่งต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาทันที โดยกระบวนการสอบสวนยึดการให้ ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากสอบสวนพบว่าผิดจริยธรรมจริง จะมีโทษตั้งแต่ การว่ากล่าวตักเตือน การภาคทัณฑ์ การพักใช้ใบอนุญาต 1-2 ปี และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งกรณีที่ฝ่าฝืนเกณฑ์ หรือ ทำผิดประกาศมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนใหญ่จะมีโทษหนัก
       
       นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับการปรับปรุงข้อบังคับแพทยสภา เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น ห้ามโฆษณาว่า มีไข่บริจาคหรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน หรือ มีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ห้ามทำในคู่สมรสเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส ของแพทยสภา และห้ามไม่ให้แพทย์ร่วมมือกับนายหน้า หรือ เอเยนซีในการจัดทำการอุ้มบุญ โดยในที่ประชุมมีมติรับหลักการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลงนามและประกาศใช้ได้หลังจากการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งต่อไปเดือนหน้า
       
       “แพทยสภาเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของ คสช.แล้ว แต่ยังต้องมีการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมกังวลคือ การเจ็บป่วยของเด็กอุ้มบุญ หรือ หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องได้รับการดูแลอย่างไร เป็นต้น ซึ่งหากกฎหมายผ่านการพิจารณา ก็จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อออกเกณฑ์รายละเอียดต่อไป เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้แพทยสภา กำหนดเกณฑ์รายละเอียดด้านการแพทย์ประมาณ 11 มาตรา” นพ.สัมพันธ์ กล่าว
       
       ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านการประชุมศึกษามาเป็นเวลานาน โดยรวมถือว่าดีในหลักการ มีเนื้อหาที่ครอบคลุมทางด้านการคุ้มครองสิทธิของเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในกฎหมายได้ระบุให้แพทยสภา ราชวิทยาลัยฯ กำหนดหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และการให้บริการ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่พัฒนา ซึ่งประเด็นที่สังคมกังวลคือ ให้หญิงที่ไม่ใช่ญาติอุ้มบุญแทนนั้น ในเกณฑ์ของแพทยสภากำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ว่าเพื่อรักษาความบกพร่องของสามี ภรรยา ที่ไม่สามารถมีบุตรได้ หากทำตามโจทย์นี้ทุกอย่างก็ชัดเจน การที่คนเราไม่สามารถมีลูกได้ถือเป็นโรค ทำไมถึงต้องปิดกั้นการรักษา แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรมและความพร้อม ยึดหลักการที่เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากของคู่สามี ภรรยา และที่กำหนดให้ผู้ที่รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ป้องกันเรื่องการค้าอีกทาง
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการแพทยสภายังมีมติ เสนอชื่อผู้แทนแพทยสภาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศไทยจำนวน 2 คน คือ ศ.นพสมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา อันดับ 1 และ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 สิงหาคม 2557