ผู้เขียน หัวข้อ: บัณฑิตแพทย์รุ่นแรก ม.อุบลฯ จบหลักสูตร พร้อมลงพื้นที่รักษาผู้ป่วยเขตอีสาน  (อ่าน 746 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี จัดงานวันรำลึกพระคุณอาจารย์ใหญ่ ประจำปี2555 เพื่อรำลึกพระคุณอาจารย์ใหญ่ที่ท่านได้อุทิศร่างกายให้นักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้ ในงานนี้ บัณฑิตแพทย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงเดือนธันวาคม 2555นี้ ได้ถือโอกาสเดินทางมาร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย
       ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจกับบัณฑิตแพทย์รุ่นแรก ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรียนจบหลักสูตรและสามารถสอบOSCE (Objective Structured Clinical Evaluation) ผ่านทุกคน คิดเป็น 100%และทำงานในเขตภาคอีสานทุกคน

       รองศาสตราจารย์ นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในบัณฑิตแพทยศาสตร์ รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในครั้งนี้ว่า วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชุมชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่อีสานใต้ ซึ่งปัจจุบันในภาคอีสานแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 5,000 คน เมื่อเทียบกับในกรุงเทพฯ แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 600 กว่าคน จะเห็นว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ดังนั้น วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อมารับใช้ชุมชนในอีสานใต้ กระจายในพื้นที่อีสานทั้งหมด 50 คน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคณะแพทย์ในชนบท ในภาคอีสานก็จะมี 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสารคาม ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยจะรับนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่อีสาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็จะรับในนักศึกษาในเขตพื้นที่ 4จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ จบแล้วก็ทำงานรับใช้ประชาชนในอีสานใต้
       
       “ในส่วนของบัณฑิตรุ่นแรกของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในปีการศึกษา 2554มีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งหมด 50 คน ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงเดือนธันวาคมนี้ บัณฑิตรุ่นแรกของเราสามารถผ่านการสอบ OSCE (Objective Structured Clinical Evaluation) ฝึกหัดความชำนาญในการเป็นแพทย์ หรือที่เคยเรียกกันว่า "ใบประกอบโรคศิลป์"ของแพทย์ ซึ่งมีการสอบ ส่วนด้วยกัน สามารถสอบผ่านทุกคน คิดเป็น 100%ถือได้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ และในขณะนี้วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข กำลังก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดจำนวน 112 เตียง คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี และก็จะมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาประจำที่นี่ ในอนาคตวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขจะเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ในอีสานเช่น โรคพยาธิใบไม้ในตับที่พบกันมากในอีสาน และเราก็จะต้องไปพัฒนาต่อไป ต่อไปในอนาคตก็ต้องร่วมมือกันกับกระทรวงสาธารณสุขในการศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงโรคในพื้นถิ่น และแก้ปัญหาโรคของคนภาคอีสาน
       
       ขณะนี้เราเพิ่งจะเจริญเติบโตและปัจจุบันเริ่มมีแพทย์จบออกไปรับใช้ประชาชนในอีสานใต้จำนวน 50 คน คิดว่าคนเก่งในอีสาน ต้องเจริญเติบโตที่อีสาน และพัฒนาอีสาน เมื่อจะเปิด AECประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมพร้อมวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขเพื่อรองรับอาเซียนด้วย”
       
       รองศาสตราจารย์ นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข กล่าวในช่วงท้าย และในส่วนของบัณฑิตแพทย์ ที่มาร่วมงานวันรำลึกพระคุณอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวแสดงความรู้สึกและความภาคภูมิใจในครั้งนี้ด้วย

       สำหรับ “นายแพทย์ณัฐพล ศรีดาพันธุ์” แพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบัณฑิตแพทย์รุ่นแรกของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงอาจารย์ใหญ่ว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากต่อการเรียนแพทย์ ช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ทำให้รู้ถึงโรคและการรักษา สามารถนำความรู้ไปช่วยรักษาพี่น้องคนไทยได้
       “อาจารย์ใหญ่ท่านเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเรามาก ขอขอบพระคุณท่านที่ทำให้เราได้มีความรู้ และขอระลึกถึงอาจารย์ใหญ่ทุกท่านที่ได้ให้ความรู้ต่อนักศึกษาแพทย์ทุกคน”
       
       เช่นเดียวกับ “แพทย์หญิงเพชรลดา อินเนา” แพทย์ประจำโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เป็นบัณฑิตแพทย์รุ่นแรกของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจบไปแล้วก็ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ศึกษามาดูแลประชาชนชาวอีสานใต้ตามเจตนารมของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข “ท่านอาจารย์ใหญ่ก็จะเรียนระบบกายวิภาคทั้งหมดของอาจารย์ใหญ่ กราบขอบพระคุณอาจารย์ใหญ่ทุกคนรวมถึงญาติ ๆ ที่อุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาและนำความรู้ไปรักษาประชาชนในภาคต่อไป”
       
       “แพทย์หญิงพรนิภา สืบสารคาม” แพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น กล่าวว่า ตนได้นำความรู้ที่เรียนไปใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ทุกอย่าง ต้องขอขอบคุณสถาบันที่นี่มาก และโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ที่เป็นที่ฝึกแพทย์ชั้นคลินิก ฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนว่าให้ตั้งใจเรียนตั้งใจศึกษาหาความรู้ เพราะความรู้ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนจะจำเป็นในการรักษาคนไข้และประชาชนอย่างมาก “อยากให้น้องๆ นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเล่าเรียนและนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการรักษาประชาชน และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านเป็นอาจารย์ที่สำคัญมาก ถึงท่านจะไม่ได้มาสอนเรา แต่เราก็ได้เรียนรู้จากท่าน และท่านมีจิตกุศลที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ทุกคน ได้เรียนรู้ในร่างของท่าน”
       
       ส่วน “แพทย์หญิงอุทัยวรรณ ภูมราพรรณ” แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวว่า ตอนเรียนนั้นไม่เครียดเท่าไหร่ แต่ในการทำงานเราต้องรับผิดชอบชีวิตของคนป่วยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น และ ขอขอบพระคุณอาจารย์ใหญ่ ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างสูง ในการที่จะสอนเราให้รู้ถึงกายวิภาคความเป็นไปของร่างกายมนุษย์
       “อาจารย์ใหญ่ท่านได้เสียสละร่างกายและให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเล่าเรียนและนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการรักษาประชาชน ขอขอบพระคุณท่านอย่างสูง และฝากถึงน้อง ๆที่กำลังเรียนฝากถึงว่าทุกอย่างมีแต่ละขั้นแต่ละก้าวอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนทำทีละสเต็ป อย่างมีสติ และมีความสุขกับมัน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แล้วจะประสบความสำเร็จ”
       
       ปิดท้ายด้วย “แพทย์หญิงนฤพร นิลวรรณ์” แพทย์ประจำโรงพยาบาลยโสธร กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่แพทย์รุ่น 1 ที่จบออกมาและได้ทำงานกันทุกคนและได้สร้างชื่อเสียงให้บุคคลทั่วไปเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ สำหรับเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันก็ให้การยอมรับ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยไหน เพราะเราเป็นวิชาชีพแพทย์ด้วยกันหมด     
       
       นี่คืออีกหนึ่งก้าวแห่งความภาคภูมิใจของบัณฑิตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถผลิตแพทย์ ออกมารับใช้ชุมชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยยึดหลักตามคุณลักษณะบัณฑิตแพทย์ที่พึงประสงค์ ที่ว่าบัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นแพทย์ที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม สามัคคี มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพ สามารถประเมินตนเองและพัฒนา ในด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่แพทยสภากำหนด มีความสามารถในการดำรงชีวิตในชุมชนและสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีความเป็นผู้นำและทักษะในการทำงานเป็นทีม เป็นผู้ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีจิตสำนึกในการให้บริการและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก มุ่งแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของชุมชน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 ตุลาคม 2555