ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทย์ฯร่วม รพ.สต.ตรวจเลือดช่วยวินิจฉัยโรค - มองคุณภาพชีวิต  (อ่าน 991 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
พ.สต. หมายถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัยเดิม ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของภาครัฐที่อยากให้ประชาชนท้องถิ่นมาใช้บริการให้มากขึ้น ด้วยมีข้อดีคือใกล้บ้าน ใกล้ใจ คนให้บริการก็รู้จักกันดี ในโรคพื้นฐานง่าย ๆ ไม่จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลชุมชนหรือจังหวัดให้เสียเวลา มาใช้บริการใกล้บ้านก่อน ไม่ดีขึ้นเจ้าหน้าที่จะแนะนำส่งต่อไปให้เอง

บ้านเราได้มีการพัฒนาด้านสุขภาพมานานปี โดยทั่วไปพบว่าปัจจุบันนี้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นโรคติดเชื้อลดลง อัตราการตายของทารกและมารดาลดลง คนอายุยืนขึ้น แสดงถึงเมื่อเจ็บป่วยมีการเข้าถึงโรงพยาบาลดีขึ้น ในขณะเดียวกันยามเจ็บป่วยคนมักชอบไปโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคพื้นฐาน โรงพยาบาลเล็ก ๆก็พอช่วยได้ ที่พบมากคือโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เอง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ด้วยหลักการป้องกันอันเดียวกัน

ภาครัฐจึงได้มีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นจุดเปลี่ยนให้คนพื้นที่ที่เป็นโรคพื้นฐานมาใช้บริการใกล้บ้านก่อน เจ้าหน้าที่ก็ได้ถูกฝึกอบรมมาอย่างดี จะช่วยให้คำแนะนำ โดยเฉพาะเรื่องการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง และให้รู้จักการป้องกันโรค หากดูแล้วเกินความสามารถจะช่วยส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ต่อไป

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่างได้พัฒนาตามกำลังและความสามารถของคนพื้นที่นั้น ๆ มาตลอด วันนี้ขอคุยเรื่อง รพ.สต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็น โรงพยาบาลต้นแบบแห่งหนึ่งจากความร่วมมือของ 6 องค์กรท้องถิ่น ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สาธารณสุขจังหวัด, อบต., วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี, รพ.ไชยา, สสอ.ไชยา และ รพ.สต.ปากหมาก

ผมได้มีโอกาสไปกับสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งจัดโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-สธ.ปชส. อภิรดี เฉยรอด และคณะ ยัง จ.สุราษฎร์ธานี ผอ.ศูนย์วิทย์ฯ สุราษฎร์ธานี ปิยนาถ ลีวิวัฒน์ และ จิราภรณ์ เพชรรักษ์ ได้เล่าให้ฟังถึงการรวมตัว 6 องค์กรช่วยกันทุกด้าน ทางศูนย์วิทย์ฯ มีรถห้องแล็บเคลื่อนที่จะไปช่วยตรวจเลือดหลัก ๆ คือหาน้ำตาลและไขมันในเลือดเพื่อช่วยการวินิจฉัยโรคพื้นฐานง่าย ๆ ที่เป็นกันมาก จะทำทั้งที่ รพ.สต.ปากหมาก และตามหมู่บ้านในท้องที่นี้รวมกลุ่มกันไว้ จะมาตามนัด เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย คนไข้ไม่ต้องไปในเมือง

รพ.สต.ทั่วประเทศมีเกินหมื่นแห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 637 แห่ง ได้เลือก 7 แห่งของ อ.ไชยา ด้วยมีความพร้อมมากที่สุด แต่ละองค์กรช่วยกัน ผอ.วิทยาลัยพยาบาลฯ อุบลรัตน์ โพธิ์พัฒนชัย ช่วยด้านวิชาการ ลาวัลย์ เวทยาวงศ์ ผอ.รพ.สต.ปากหมาก ประสานงาน สสจ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐศิริพงษ์ อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ลงพื้นที่ทำกันมา 1 ปี หากผลออกมาเป็นที่พอใจอาจจะเป็นต้นแบบสำหรับที่จะทำแห่งอื่นต่อไปอีก และ นายก อบจ. มนตรี เพชรขุ้ม และคณะได้ให้การสนับสนุนทุกอย่างอย่างดี รวมทั้งด้านงบประมาณด้วย

มีเวลาได้แวะไปเยี่ยมชม รพ.มะเร็ง สุราษฎร์ธานี ผอ.ประสิทธิ์ ขอไพบูลย์, เปรมวดี ทิพย์ชิต, ปวริคร์ อินยัญญะ ฯลฯ ได้เล่าให้ฟังว่าให้บริการมาตั้งแต่ปี 2543 จะรองรับคนไข้ภาคใต้ตอนบนหมดเพราะมีแห่งเดียว ให้การรักษาโรคมะเร็งทางรังสีรักษาและเคมีบำบัด เห็นคนไข้ที่นั่งรอมีทั้งโรคทั่วไปและมะเร็ง สถานที่กว้างขวาง สะอาด เครื่องมือฉายแสงลิแนคได้มาใหม่ ประสิทธิภาพการรักษาดีมาก

โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ผอ.พงศ์ปณต คงชาตรี บอกว่าเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ปัจจุบันมีคนไข้ร่วม 100 คน จุดเด่นของที่นี่คือเรื่องแพทย์แผนไทย สร้างได้ครบวงจร มีเจ้าหน้าที่บริหารด้านนี้ราว 50 คน คนไข้มารับบริการราว 100 คนทุกวัน เริ่มด้วยอบไอน้ำร้อนด้วยสมุนไพร แล้วอาบน้ำด้วยสมุนไพรเช่นกัน ต่อจากนั้นจะไปยังห้องนวด ประคบ ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่ง พวกปวดเมื่อย ขัดยอกตามร่างกาย คุณหมอว่าได้ผลดีมาก ผู้ที่ความดันโลหิตสูง หลังบำบัดจะลดลงให้เห็นทันที แสดงถึงร่างกายผ่อนคลายเต็มที่

รพ.สต.ยุคใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ นำรถแล็บเคลื่อนที่ตรวจเลือดทั้งในโรงพยาบาลและตามชุมชน เพื่อช่วยการวินิจฉัยโรค เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายคนไข้ พอถึงระยะหนึ่งหากได้ผลดีคงจะเป็นต้นแบบเพื่อแพร่หลายต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติม จิราภรณ์ เพชรรักษ์ 08-1811-3352.

นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี
suvit.kiatisevi@gmail.com