ผู้เขียน หัวข้อ: เตือน! เด็กกินนมผงเสี่ยงป่วยกว่ากินนมแม่ 3-5 เท่า  (อ่าน 770 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
 อึ้ง! เด็กไทย 50% กินแต่นมผง ไม่กินนมแม่ ชี้ เสี่ยงป่วยมากกว่า 3-5 เท่า ทั้งท้องเสีย ปอดบวม ลำไส้อักเสบ ภูมิแพ้ เหตุ บ.นมผง ทำการตลาดรุกหนัก มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ-สสส.หนุนมติ ครม.ห้าม บ.นมผง ทำการตลาดนมทารกทุกรูปแบบ เผยนมแม่อาหารวิเศษพบสารอาหารกว่า 200 ชนิด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน
       
       วันนี้ (26 ส.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นประธานในการเปิดงานสัปดาห์นมแม่โลก 2555 “ช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่” จัดโดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งองค์การพันธมิตรโลกเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีสมาชิกว่า 120 ประเทศทั่วโลก กำหนดให้วันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ให้เป็น “สัปดาห์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โลก” เพื่อรณรงค์ให้แม่ทั่วโลกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกมากขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 20 แล้ว
   
       พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนา “สิ่งดี ที่มีเฉพาะในนมแม่… แต่ใคร… ทำให้เด็กไทยไม่ได้กิน?” ว่า ปัจจุบันการโฆษณานมผงในประเทศไทยทำการตลาดรุนแรงมาก โดยอ้างว่ามีการเติมสารอาหารต่างๆ ให้เทียบเท่าสารอาหารจากนมแม่ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะในนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด อาทิ เซลล์ภูมิคุ้มกัน สารปกป้องต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว สารไลโซซายม์ สาร Lactoferrin สาร secretary Ig A สาร Probiocit สาร Prebiotic และสาร Glycan สารเหล่านี้เป็นตัวอย่างสารในระบบภูมิคุ้มกัน จึงไม่มีทางที่นมผงผสมจะเติมสารอาหารครบสูตรได้ นอกจากนี้ การโฆษณานมผง ที่ระบุว่า เพิ่มสาร DHA AA ก็เป็นการโฆษณาเกินจริง ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเชื่อถือไม่ได้
       
       พญ.ศิราภรณ์ กล่าวว่า เด็กที่กินนมแม่ จะไม่ป่วยบ่อย สมองมีโอกาสพัฒนาต่อเนื่อง ที่สำคัญยังป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม 3-5 เท่า เช่น โรคท้องเสีย ปอดบวม โรคลำไส้เล็กอักเสบ โรคภูมิแพ้ ภาวะอ้วน และการเสียชีวิต บางโรคทำให้ป่วยน้อยกว่า 20 เท่า และมีผลต่อการเสริมสร้างพัฒนาการและเชาว์ปัญญาที่ดี ที่สำคัญ ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังน้อยกว่าพ่อ แม่ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน รวมทั้งพ่อแม่ที่เป็นพนักงานในหน่วยงานต่างๆ ยังต้องขาดงานสูงกว่ากลุ่มพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประมาณ 3 เท่า ซึ่งจากการสำรวจของกรมอนามัย พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 29% ในปี 2552 เพิ่มจากปี 2548 อยู่ที่ 5.4% ในขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมอย่างเดียวมีมากกว่า 50% หรือราว 4 แสนคนต่อปี
       
       พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขานุการมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ได้กินนมแม่คือ การทำการตลาดของนมผง โดยที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกได้มีมติรับรองให้มี “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก” ตั้งแต่ปี 2524 เพื่อคุ้มครองให้เด็กได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งประเทศไทยได้นำมาปฏิบัติใช้ในปีเดียวกัน เพื่อควบคุมการตลาดของบริษัทประกอบธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก แต่ยังพบการละเมิดอย่างต่อเนื่อง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงและชุดของขวัญให้แม่เด็กทำให้แม่ทดลองใช้นมผงมากขึ้น มีผลต่อการสร้างนมแม่ลดลงการบริจาคนมผงให้โรงพยาบาลเพื่อใช้เลี้ยงทารกแรกเกิด ทำให้เด็กเสียโอกาสได้รับหัวน้ำนม การโฆษณนมผงเทียบเท่านมแม่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าใช้แทนนมแม่ได้ ซึ่งนมแต่ละยี่ห้อก็มีสารอาหารแตกต่างกัน แต่นมแม่มีสารครบถ้วนกว่า
       
       นางพรธิดา พัดทอง ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบการทำการตลาดนมผงในโรงพยาบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,239 แห่ง ใน 20 รัฐ เมื่อปี 2554 พบว่า โรงพยาบาลในรัฐที่มีกฎหมายห้ามบริษัทนมผงทำการตลาด ห้ามแจกตัวอย่างนมผง มีอัตราการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 81.5% มากกว่าโรงพยาบาลในรัฐที่ไม่มีกฎหมายห้าม ซึ่งมีอัตราการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียง 67% สอดคล้องกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 6 เดือนของโรงพยาบาลที่ห้ามการแจกตัวอย่างนมผง มีถึง 52.7% ขณะที่โรงพยาบาลที่ยอมให้มีการแจกตัวอย่างนมผงมีเพียง 37% ทำให้จำเป็นต้องควบคุมการทำการตลาดอาหารสำหรับเด็กอย่างจริงจัง
       
       ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวา ดีใจที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดสัปดาห์นมแม่โลก และเน้นที่ต้นเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้รับนมแม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สาเหตุหลัก คือ 1.แม่ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เช่น แม่มีนมไม่พอจึงต้องใช้นมผงผสมแทน 2.พฤติกรรมการตลาดของบริษัทนมผงผสมที่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการกำกับการตลาดและการโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ในสถานบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมติ ครม. ดังกล่าวได้คุ้มครองสถานพยาบาลทั้งรัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร จะช่วยปกป้องไม่ให้บริษัทนมผงทำการตลาดในสถานที่ดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทนมผงลงทุนเพียง 1 กระป๋อง แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและยาวนาน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 สิงหาคม 2555