ผู้เขียน หัวข้อ: เด็กไทย, ครูไทย, ผู้ใหญ่ไทย, ราชการไทย, และห้องสมุดไทย  (อ่าน 988 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
ผู้ใหญ่ไทยชอบโทษเด็กไทย โดยไม่พิจารณาตัวเองว่าที่เด็กไทยเป็นอย่างนั้นก็ด้วยผลจากการกระทำของครูไทย, ผู้ใหญ่ไทย, ราชการไทย จะรวบรวมปัญหามาให้อ่านแล้วพิจารณา

ผศ.กิตติคุณ รุ่งเรือง ผอ. สถาบันวิจัยพัฒนาและสาธิตการศึกษา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การสอนของครูไทยเกิดภาวะวิกฤตอย่างมาก แม้ครูจะรู้ว่าการสอนที่ดีต้องให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แต่เวลาครูสอนในชั้นเรียนก็ยังให้ตัวครูเองเป็นศูนย์กลาง สอนด้วยความเคยชิน เอาแต่ความสบายของตัวเอง จนเกิดเป็นความมักง่าย สอนตามหนังสือ เอาหนังสือมาเปิดอ่านให้เด็กฟัง สังคมไทยจึงไม่ไปไหน ยังย่ำอยู่กับที่

คนที่จะออกแบบการเรียนการสอนและทำหลักสูตรได้ดีเพื่อให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคนแต่ละชั้นเรียนคือครู เพราะทุกวันนี้แต่ละสถานศึกษามีอิสระในการทำหลักสูตรของตัวเอง การจัดการศึกษาไม่ว่าจะจัดในรูปแบบใด จึงต้องเริ่มต้นที่ครู อยากให้กระทรวงศึกษาธิการตลอดถึงรัฐบาลเล็งเห็นคุณภาพของครูให้มากกว่านี้ อย่ามุ่งแต่ปริมาณหรือสนับสนุนให้ครูก้าวหน้าทำแต่ผลงานทางวิชาการของตัวเอง จนปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว (คม ชัด ลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2555 หน้า 10)

"ทุกวันนี้เด็กทุกคนเรียนพิเศษเป็นหลัก ส่วนการเรียนในห้องเรียนเป็นแค่พิธีกรรม--เพื่อให้มีชื่ออยู่ในระบบโรงเรียน จะได้มีสิทธิสอบตรง หรือแอดมิชชั่นส์เท่านั้น"

"ครูสอนเนื้อหาในห้องเรียนแค่ส่วนหนึ่ง แล้วบอกเด็กว่าถ้าอยากรู้เพิ่มเติมให้ไปเรียนพิเศษกับครูข้างนอก ซึ่งก็เป็นครูคนเดียวกับที่สอนในห้องเรียนนั่นแหละ แต่กั๊กเนื้อหาไปสอนพิเศษเก็บเงิน" (กรุงเทพธุรกิจ โฟกัส ฉบับวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2555 หน้า 12)

"เด็กไทยปัจจุบันอ่านหนังสือ 2-5 เล่มต่อปี" นายกุลธร เลิศ

สุริยะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ้างถึงข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ "แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับประเทศ

ในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์และเวียดนาม ที่มีอัตราการอ่านประมาณ 50-60 เล่มต่อปี" การอ่านหนังสือน้อยของคนไทย ขึ้นอยู่กับระดับ

การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการอ่าน (เดลินิวส์ฉบับวันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555 หน้า 26)

ที่จริง กศน.มีห้องสมุดประชาชนทั้งแบบ "เฉลิมราชกุมารี" และแบบอื่นๆ กระจายอยู่ในท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศ ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งเท่าที่มีอยู่ที่จะกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นได้

แต่ห้องสมุดในไทยที่ไหนๆก็เหมือนกัน คือ ไม่รื่นรมย์ ไม่ร่าเริง ไม่สนุก ไม่ชวนให้เข้าไปใช้บริการ ยิ่งห้องสมุดประชาชนในท้องถิ่นยากจนยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก

แนวทางแก้ไขเบื้องต้น สำหรับ กศน. ซึ่งมีผู้แนะนำไว้มากและนานแล้ว ขอสรุป (อย่างน่าเบื่อ) มาดังนี้

1.หาหนังสือทันสมัย อ่านสนุก รูปมากๆ ตัวหนังสือน้อยๆ แต่ตัวโตๆ เช่น การ์ตูนทุกประเภท, นิยายวัยรุ่น, ฯลฯ เข้าห้องสมุด แล้วลดหนังสือภาษาราชการให้เหลือแต่น้อย

2.ลดทัศนคติของผู้บริหารห้องสมุดประชาชน จากวิชาการบรรณารักษ์จัดจ้าน ให้มีลักษณะบริหารจัดการกิจกรรมการอ่านอย่างสนุกสนานสม่ำเสมอ ผ่านงานศิลปะ, ดนตรี, กีฬา, ฯลฯ หรืออื่นๆ จิปาถะ

3.สร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วม 2 ข้อข้างต้น ด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดกิจกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปรวดเร็วมาก แต่ตรงนี้มีปัญหาแก้ไม่ตกเมื่อราชการไทยมักวางตนเป็นนายมากกว่าจะสร้างเครือข่าย

ฉะนั้น แทนที่จะชักชวนคนเข้าห้องสมุด เพื่ออ่านหนังสือ ก็มีแต่จะปิดกั้นด้วยการวางอำนาจ แล้วทำห้องสมุดให้เป็นห้องเรียนของ กศน. ก็เลยเจ๊ง

แม้ทำได้ตามนี้จริงๆก็ไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะคนจะอ่านหรือไม่อ่าน

มีเงื่อนไขอื่นๆอีกมากนัก เกินกว่าจะหยั่งรู้และเข้าใจได้หมด แต่กระนั้นก็ต้องไม่สิ้นเพียร

เด็กไทยอ่านหนังสือ 2-5 เล่มต่อปี ผู้ใหญ่ไทยก็อ่านหนังสือไม่ต่างจากเด็กไทยเท่าไรนักหรอก

เพราะอะไรๆก็พอกันทั้งนั้น ไม่ว่าเด็กไทย, ผู้ใหญ่ไทย, ราชการไทย, และห้องสมุดประชาชนไทย


คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
มติชน 29 ตุลาคม 2555