ผู้เขียน หัวข้อ: ทะเลท่วมโลก-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1206 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับทะเลสูงขึ้นและพายุรุนแรงเกิดถี่ขึ้น เราจะรับมือกันอย่างไร

                กว่าที่เฮอร์ริเคนแซนดี จะมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมปีที่ผ่านมา พายุได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้หลายประเทศในแถบแคริบเบียนและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายสิบราย เมื่อต้องเผชิญพายุลูกใหญ่ที่สุดที่เคยก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก มหานครนิวยอร์กและเมืองชายฝั่งอื่นๆก็สั่งอพยพประชากรในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ใช่ว่าทุกคนจะปฏิบัติตาม และคนที่เลือกอยู่รับมือพายุแซนดีก็ได้เห็นภาพตัวอย่างของอนาคต เมื่อโลกที่อุ่นขึ้นทำให้ระดับทะเลสูงขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้ง

                แบรนดัน ดีลีโอ ประติมากรวัย 43 ปี อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรร็อกอะเวย์ซึ่งเป็นแนวผืนทรายแคบๆ ยาว 18 กิโลเมตรยื่นลงไปในทะเลของลองไอแลนด์  “ตอนที่มีคนบอกว่า คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) จากพายุลูกนี้จะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเฮอร์ริเคนไอรีนเมื่อปีก่อน ผมไม่รู้สึกสะทกสะท้านเลยครับ” เขาบอก แต่ไม่นานเขาก็ต้องเปลี่ยนใจ

                ดีลีโอออกไปดูสถานการณ์ข้างนอกตอน 15.30 น. คลื่นกำลังซัดทางเดินไม้ริมหาดยาว 9 กิโลเมตร เขาเล่าว่า “น้ำซัดถึงทางเดินไม้แล้วครับ ผมคิดว่า พับผ่าสิ อีกตั้งสี่ชั่วโมงครึ่งกว่าน้ำจะขึ้นเต็มที่ ภายในสิบนาทีนี้น้ำอาจรุกคืบเข้าใกล้ถนนอีก 3 เมตรก็ได้”

                ทางเดินไม้ริมหาดสามชิ้นใหญ่ๆ ถูกน้ำซัดมากระแทกสนสองต้นหน้าห้องพักของดีลีโอ ถนนกลายสภาพเป็นแม่น้ำลึกหนึ่งเมตร ขณะที่คลื่นลูกแล้วลูกเล่าพัดพาน้ำทะลักเข้าสู่คาบสมุทร รถหลายคันเริ่มลอยอยู่ในสายน้ำปั่นป่วน เสียงโหยหวนจากสัญญาณกันขโมยของรถยนต์ยิ่งเพิ่มความน่าพรั่นพรึงให้เสียงอึกทึกจากจากสายลม น้ำที่ไหลหลาก และไม้แตกหัก ท้องฟ้าทางตะวันตกสว่างไสวราวกับจุดพลุ หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดที่บรีซีพอยต์ ซึ่งเป็นเขตพักอาศัยใกล้ปลายติ่งของคาบสมุทร บ้านเรือนกว่าหนึ่งร้อยหลังที่นั่นไหม้เป็นจุณในคืนนั้น

                หลังจากหลับๆตื่นๆอยู่ตลอดทั้งคืน  ดีลีโอก็ออกไปสำรวจนอกบ้านไม่นานก่อนฟ้าสาง น้ำลดลงแล้ว แต่ถนนบางสายยังมีน้ำขังสูงถึงต้นขาเป็นบางช่วง เขาบอกว่า  “มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทรายครับ อย่างกับอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างไงอย่างงั้น”

                ดาวเคราะห์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง คือผลพวงจากอารยธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลของเรา เป็นดาวเคราะห์ที่อุทกภัยจากมหาวายุอย่างแซนดีจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าครึ่งองศาเซลเซียสในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา และทำให้ระดับทะเลสูงขึ้นราว 20 เซนติเมตร ต่อให้เรายุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงทั้งหมดภายในวันพรุ่งนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในบรรยากาศก็จะยังทำให้โลกร้อนขึ้นต่อไปอีกหลายร้อยปี เราได้สร้างโลกที่ร้อนขึ้นและระดับทะเลที่สูงขึ้นจนกู่ไม่กลับไว้ให้ลูกหลานในอนาคตเสียแล้ว

                เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศขึ้นสูงถึง 400 ส่วนในล้านส่วน หรือสูงสุดนับตั้งแต่สามล้านปีก่อน ระดับทะเลในตอนนั้นอาจสูงกว่าปัจจุบันถึง 20 เมตร ซีกโลกเหนือส่วนใหญ่ปราศจากน้ำแข็งตลอดทั้งปี ต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าที่มหาสมุทรจะมีระดับสูงจนเข้าขั้นหายนะเช่นนั้นอีกครั้ง  และส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้หรือไม่ ในระยะสั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า ระดับทะเลจะสูงขึ้นมากแค่ไหนและรวดเร็วเพียงใด

                ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อระดับทะเลในสองลักษณะ การเพิ่มขึ้นของระดับทะเลในปัจจุบันราวหนึ่งในสามเกิดจากการขยายตัวด้วยเหตุความร้อน (thermal expansion) จากข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนที่เหลือเกิดจากการละลายของน้ำแข็งบนผืนแผ่นดิน จนถึงขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขา แต่ข้อวิตกใหญ่ในอนาคตก็คือ พืดน้ำแข็งยักษ์ในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา เมื่อหกปีก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เผยแพร่รายงานซึ่งคาดการณ์ระดับทะเลสูงสุดไว้ที่ 58 เซนติเมตรเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ แต่รายงานดังกล่าวจงใจตัดความเป็นไปได้ที่ว่าพืดน้ำแข็งอาจเคลื่อนตัวหรือไหลลงสู่ทะเลรวดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากยังไม่มีการศึกษากลไกทางฟิสิกส์ของกระบวนการดังกล่าวอย่างชัดเจน

                แม้ไอพีซีซีจะเตรียมออกรายงานฉบับใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้  ซึ่งคาดกันว่าตัวเลขคาดการณ์ของระดับทะเลน่าจะสูงขึ้นเล็กน้อย กระนั้นก็ยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับศาสตร์การละลายของพืดน้ำแข็ง  แต่นักภูมิอากาศวิทยาในปัจจุบันคาดการณ์ว่า กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งรวมกันแล้วเฉลี่ยปีละประมาณ 208 ลูกบาศก์กิโลเมตรมาตั้งแต่ปี 1992 หรือราวปีละ 200,000 ล้านตัน หลายคนคิดว่าระดับทะเลจะสูงกว่าระดับปัจจุบันอย่างน้อยหนึ่งเมตร เมื่อถึงปี 2100 แต่ตัวเลขนี้อาจต่ำเกินไปอีกก็ได้

                “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราสังเกตเห็นพืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกมีอัตราการละลายเร็วขึ้นครับ” แรดลีย์ ฮอร์ตัน นักวิจัยจากสถาบันโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย วิทยาเขตนิวยอร์กซิตี  บอกและเสริมว่า “สิ่งที่น่าวิตกคือ ถ้าอัตราเร่งนี้ดำเนินต่อไป กว่าจะสิ้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เราอาจเห็นระดับทะเลสูงขึ้นถึงหกฟุต [ราวสองเมตร] ทั่วโลก แทนที่จะเป็นสองหรือสามฟุต” เมื่อปีที่แล้ว ในการประชุมผู้เชี่ยวชาญที่จัดโดยสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) เห็นพ้องกับตัวเลขคาดการณ์ระดับทะเลสูงสุดอยู่ที่ 6.6 ฟุตหรือสองเมตรจากสี่สถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับปี 2100  ขณะที่หน่วยทหารช่างกองทัพบกสหรัฐฯ (U.S. Army Corps of Engineers: USACE) แนะให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาใช้ตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.5 เมตร

                ไม่ว่าอย่างไร  เมืองชายฝั่งต่างๆทั่วโลกล้วนเผชิญกับภัยคุกคามสองต่อ กล่าวคือ มหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจะค่อยๆรุกคืบเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และระดับทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้คลื่นพายุซัดฝั่งมีรัศมีการทำลายล้างกว้างไกลขึ้นความเสี่ยงหรือภัยคุกคามนั้นไม่มีวันเลือนหายไป มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ คลื่นซัดฝั่งจากพายุที่มีความรุนแรงหนึ่งในร้อยปีแบบเฮอร์ริเคนแซนดีอาจเกิดทุกคาบสิบปีหรือต่ำกว่านั้น หากเราใช้ตัวเลขคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับทะเลที่ 0.5 เมตรซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) คาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2070 ประชากรราว 150 ล้านคนตามเมืองท่าขนาดใหญ่ทั่วโลกจะเผชิญความเสี่ยงจากเหตุน้ำท่วมชายฝั่ง พร้อมทรัพย์สินมูลค่า 35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก พวกเขาจะรับมืออย่างไร

เรื่องโดย ทิม ฟอลเจอร์
กันยายน