ผู้เขียน หัวข้อ: มข.เจ๋ง!วิจัย"กิ่งสนสามใบ-ติ๋วขน” ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว  (อ่าน 1028 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด


วันนี้ (20 ก.ค.) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)หรือ สซ. จัดแถลงข่าว”ซินโครตรอนกับการศึกษาสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร”  โดยมีนายปลอดประสพ  สุรัสวดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  เป็นประธานในการแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารและทีมวิจัย   


ศ.น.ท.ดร.สราวุธ  สุจิตจร  ผู้อำนวยการ สซ.  กล่าวว่า  งานวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยแบบบูรณาการ  จากโครงการวิจัยเพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   โดยมีคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น    คือ  ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร  รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์ และ น.ส.ศศิภาวรรณ  มาชะนา ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน  คือ  ดร.วราภรณ์  ตัณฑนุช และ ดร.กาญจนา ธรรมนู  ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากสารสกัดพืชสมุนไพร  ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากงานวิจัยสำรวจพืชตามพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน  ตั้งแต่ปี 2554  และได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง


ด้าน ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา  วีระปรียากูร   อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น  หัวหน้าทีมวิจัย ฯ กล่าวว่าเนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ  แม้ปัจจุบันการรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดจะมีประสิทธิภาพสูงแต่ก็มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา และมีการดื้อยาเกิดขึ้น  จึงได้ศึกษาสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและลดการดื้อยา มาใช้เสริมยาเคมีบำบัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


“จากการศึกษาพืชสมุนไพรหลายชนิด พบว่า สารสกัดจากกิ่งของพืช 2 ชนิด คือ ติ้วขนและสนสามใบ ให้สารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว  โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเองจากภายใน หรือเรียกว่าการตั้งโปรแกรมทำลายตัวเอง (Apoptosis)  ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตายลงไป ไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง ร่างกายจึงไม่เกิดการอักเสบขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว


  ด้าน ดร.วราภรณ์  นักวิจัยจากสถาบันแสงซินโครตรอน กล่าวว่า  เพื่อให้ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของพืชสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกที่เกิดขึ้นภายในเซลล์มะเร็ง    ซึ่งผลที่ได้พบว่าสารสกัดสมุนไพร ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งตายและมีกลไกการออกฤทธิ์ของพืชทั้งสองชนิด แตกต่างจากการรักษาโดยใช้ยาเมลฟาเลนหรือยาเคมีมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


ดร.วราภรณ์   กล่าวอีกว่า การใช้แสงซินโครตรอน ถือเป็นเทคนิคใหม่ในการวิจัยที่จะต้องวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ จะนำไปสู่การนำพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์จริงในอนาคต  และจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาและพัฒนาหาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต่อไป ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทย และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิม อีกด้วย

เดลินิวส์ 20 กรกฎาคม 2555