ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มชาติพันธุ์มีหลักแหล่งในไทย ก่อนมี‘คนไทย’ในสุวรรณภูมิ  (อ่าน 360 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
ผู้เขียน   สุจิตต์ วงษ์เทศ

กลุ่มชาติพันธุ์มีหลักแหล่งในไทยก่อนมี‘คนไทย’ในสุวรรณภูมิ

ไทยหลงผิดคิดว่ามีเชื้อชาติไทยแท้อยู่ในโลก แต่ความจริงแล้วไม่มี, หลงผิดว่าเชื้อชาติไทยแท้มีแหล่งเดิมอยู่เทือกเขาอัลไต (เขตมองโกเลีย) แต่ความจริงแล้วไม่ใช่, หลงผิดว่าเชื้อชาติไทยแท้เป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า (ในจีน) แต่ความจริงไม่ใช่เจ้าของ, หลงผิดว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนเชื้อชาติไทยแท้ แต่หลักฐานวิชาการทุกด้านยืนยันตรงกันว่าไม่จริง

ไม่มีคนเชื้อชาติไทยแท้
คนไทยมีแรกสุดในรัฐอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.1800 จากการเรียกตัวเองว่า “ไทย” ของคน “ไม่ไทย” หลายชาติพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ส่วนในรัฐสุโขทัยไม่พบจารึกเรียกตัวเองว่า ไทย)
บรรพชนคนไทยจึงเป็นคนชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ตั้งแต่เหนือสุด ได้แก่ ม้ง, เมี่ยน (เย้า), รวมทั้งคนในตระกูลพม่า-ทิเบต เช่น กะเหรี่ยง เป็นต้น จนถึงใต้สุด ได้แก่ มลายู กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีหลักแหล่งในไทยและอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว ก่อนมี “คนไทย” ในสุวรรณภูมิ

ไทยเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่เป็นชื่อเชื้อชาติ หลักฐานโบราณคดีไม่บอกเชื้อชาติ แต่แสดงวัฒนธรรม
ดังนั้น ที่ทางการบอกในหนังสือหรือตำราประวัติศาสตร์ไทย ว่ากลุ่มโน้นนี้นั้นเป็นคนไทยสมัยต่างๆ จึงเป็นวรรณกรรมเพิ่งสร้างตามแนวทางของเจ้าอาณานิคมยุโรป ราว 100 ปีที่แล้ว โดยไม่มีหลักฐานรองรับสนับสนุนทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดี

ทั้งหมดเป็นต้นเหตุให้ทุกวันนี้รัฐราชการรวมศูนย์ “กีดกัน” กลุ่มชาติพันธุ์ มิให้เป็นคนไทย ทั้งๆ พวกเขาเป็นคนไทยเหมือนคนไทยอื่นๆ

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เป็นตัวการหล่อหลอมครอบงำข้าราชการไทยมีสำนึกกีดกันคนชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ “เสียสิทธิ์” ทั้งๆ มีสิทธิ์รับสัญชาติ “ไทย” ตามกฎหมาย หรือมิฉะนั้นกว่าจะได้รับพิจารณาก็ถ่วงเวลายาวนานนับ 10 ปี โดยปกปิดความจริงไว้ ดังพบทั่วไปแต่ไม่เป็นข่าวในสื่อ หรือเป็นข่าวไม่มาก เช่น กรณีนายหม่อง ทองดี อดีตนักเรียนไร้สัญชาติที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่น และได้รางวัลชนะเลิศ (มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2561 หน้า 10) “รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ” แต่ไม่ได้ทำตามหน้าที่และไม่ได้ทำตามที่มีผู้รับปากไว้เมื่อได้รางวัลจากญี่ปุ่น จึงใช้เวลานานมากจนเกินความจำเป็น

วีรบุรุษ“ไม่ไทย”
วีรบุรุษเชื้อชาติไทยแท้ไม่เคยพบในตำนานเก่าแก่ แต่เท่าที่พบล้วน “ไม่ไทย” และเป็นลูกผสมจากนานากลุ่มชาติพันธุ์ ที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ร้อยพ่อพันแม่”
พระเจ้าอู่ทอง เป็นวีรบุรุษในตำนานผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา (ไม่มีตัวตนจริง) มีต้นตระกูลคือพระเจ้าพรหม (ผู้เป็นใหญ่บนที่ราบในหุบเขาขุนน้ำนางนอน จ. เชียงราย) มีต้นโคตรเป็นลูกผสมกลุ่มชาติพันธุ์โยกย้ายถ่ายเทจากลุ่มน้ำสาละวินในภาคเหนือของพม่า ครั้นตั้งหลักแหล่งสองฝั่งน้ำแม่สาย (แอ่งเชียงแสน) ยังผสมทางเผ่าพันธุ์อีกยาวนานกับตระกูลต่างๆ เช่น ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลม้ง (แม้ว) -เมี่ยน (เย้า) เป็นต้น

ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย ไม่มีจริงในโลก แต่ถูกยกเป็นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่เพิ่งสร้างใหม่โดยคนชั้นนำสยามราวร้อยกว่าปีมานี้เอง เพื่อกีดกัดคนส่วนใหญ่ไม่ให้เป็นไทย แล้วหลีกเลี่ยงและปกปิดข้อมูลความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ของบรรพชนคนไทย

พระเจ้าพรหม เวียงพานคำ (แม่สาย เชียงราย) บรรพชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อไปข้างหน้าเป็น “คนไทย” ต้นตระกูลพระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา (ลายเส้นจากจินตนาการของ “ปิยะดา” พิมพ์ครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย (ภาพ พ.ศ. 2545)

มังราย ลัวะ ปน ลื้อ
เชื้อสายข้างแม่ของพญามังราย คือ นางคำข่าย (ตระกูลภาษาไต-ไท ปัจจุบันเรียกลื้อ เมืองเชียงรุ่ง สิบสองพันนา มณฑลยูนนาน ทางใต้ของจีน)
เชื้อสายข้างพ่อของพญามังราย สืบจากปู่เจ้าลาวจก (ตระกูลภาษามอญ-เขมร ปัจจุบันเรียก ลัวะ แผลงคำเป็น ลวะ) เชื้อสายปู่เจ้าลาวจก ยังสืบถึงพญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา
ปู่เจ้าลาวจกมีหลักแหล่งดั้งเดิมตามตำนานอยู่ดอยตุง (ทิวเขาขุนน้ำนางนอน หรือผาสามเส้า) ชำนาญถลุงเหล็ก ทำเป็นจก (แปลว่า จอบขุดดิน)
ดอยตุง หมายถึง แหล่งน้ำใหญ่อยู่ใต้ดอย ที่ขังรวมจนบวมแน่นตุง (ครั้นหลังรับศาสนาพุทธ แปลงตุง หมายถึง ธง) เป็นต้นน้ำแม่สาย และหนองน้ำอันเป็นหลักแหล่งบ้านเมือง ที่ต่อไปคือเมืองเชียงแสนโยนกนาคพันธุ์

มังราย, งำเมือง, พระร่วง
มังราย กับงำเมือง เป็นเครือญาติใกล้ชิดร่วมตระกูลปู่เจ้าลาวจก แล้วเป็นสหายร่วมชาติภาษากับพระร่วงกรุงสุโขทัย
เพราะงำเมืองกับพระร่วงเป็นสหายร่วมสำนักเรียนของครูเดียวกัน (คือสุกทันตฤๅษี) เขาสมอคอน เมืองละโว้ งำเมืองเลยเชื่อมพระร่วงเป็นสหายกับมังราย แล้วร่วมกันตรวจเลือกสถานที่สร้างเมืองเชียงใหม่

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ (จ.เชียงใหม่) เชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ภายหลังพูดภาษาไท-ไต แล้วถูกยกย่องเป็นไทย

ดอยสุเทพ
ดอยสุเทพ ได้ชื่อจากฤๅษีวาสุเทพ เป็นหลักแหล่งของคนดั้งเดิม (ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง) พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร มีผู้นำในตำนานเป็นลัวะ ชื่อ ขุนวิลังคะ เป็นประชากรสำคัญกลุ่มหนึ่งของรัฐหริภุญไชย
พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1839 (ราว 700 ปีมาแล้ว) บริเวณเชิงดอย เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์จากดอยสุเทพหล่อเลี้ยงไพร่บ้านพลเมืองตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

จามเทวี
ฤๅษีวาสุเทพส่งทูตไปเชิญพระนางจามเทวี (ตระกูลมอญ-เขมร บรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง) แห่งกรุงละโว้-อโยธยา (โดยคำแนะนำของฤๅษีสุกทันต์) ขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย (ลำพูน)
เส้นทางที่จามเทวีขึ้นไปหริภุญไชย เป็นสัญลักษณ์ของการขยายเส้นทางการค้าและการเมือง จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปลุ่มน้ำปิง-วัง แล้วต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำสาละวิน (ลาว เรียก น้ำแม่คง)

โยนก-ล้านนา กับ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โยนก-ล้านนา กับ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีบรรพชนร่วมกันเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว มีทั้งพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต จนถึงชวา-มลายู และอื่นๆ
ต่อมาใช้ภาษาตระกูลไท-ไต เป็นภาษากลางทางการค้าขายแลกเปลี่ยน ครั้นนานไปก็ตกอยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ที่เรียกกันสมัยหลังว่า ไทย

ขุนบรม ตำนานตระกูลไท-ไตจากเมืองแถน (ในเวียดนาม) บอกร่องรอยความสัมพันธ์ว่าเชื้อสายขุนบรมคนหนึ่งโยกย้ายไปเป็นเจ้านายผู้นำดินแดนโยนก-ล้านนา อีกคนหนึ่งเป็นเจ้านายผู้นำดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา
แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองแถน, เมืองโยนก-ล้านนา และเมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ

พงศาวดารเหนือ มีตำนานนิทานเล่าว่าเจ้านายกลุ่มสยาม (สุพรรณบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี) เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับเจ้านายหริภุญไชย (ลำพูน) หลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปเศียรยักษ์-เทวดา ฝีมือช่างแบบหริภุญไชย อายุราว พ.ศ.1600-1700 พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

สำเนียง “เหน่อสุพรรณ” ภาษาพูดในชีวิตประจำวันของคนฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสำเนียงเดียวกับลาวเหนือ (ล้านช้าง-ล้านนา) ส่งผลให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีโครงเรื่องหลักอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พระพันวษา) กับล้านนา (เจ้าเชียงอินทร์ เมืองเชียงใหม่)

ขับเสภาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีต้นทางอยู่ที่ประเพณี “ขับซอยอยศ” ของล้านนา-ล้านช้าง ซึ่งฟักตัวอยู่ภาคกลางนับพันปีมาแล้ว จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงพัฒนาเป็น “ตีกรับขับเสภา” อย่างที่รู้จักทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

โคลงสี่สุภาพ ที่แพร่หลายในภาคกลาง มีต้นทางจากคำขับลำตามประเพณีล้านนา-ล้านช้าง ลุ่มน้ำโขง

“โล้ชิงช้า” ของไทยได้จากกลุ่มชาติพันธุ์

โล้ชิงช้าไม่มีในอินเดีย แต่มีในพราหมณ์สยามที่ได้จากกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์ (เช่น กะเหรี่ยง ราชบุรี) ในภาพนี้เป็นโล้ชิงช้าสมัย ร.5 ที่เสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ (วัดสุทัศน์) กรุงเทพฯ (ภาพถ่ายเก่า)

กลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์เป็นบรรพชนกลุ่มหนึ่งของคนไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว และสืบเนื่องต่อมาจนทุกวันนี้ แต่ความเป็น “ชาติ” ของไทยถูกกำหนดโดยคนชั้นนำในอดีตที่กีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นคนอื่นที่ “ไม่ไทย”

“โล้ชิงช้า” เป็นการละเล่นในพระราชพิธีสมัยอยุธยา และเป็นประเพณีพิธีกรรมที่พราหมณ์สร้างสรรค์ขึ้นจากวัฒนธรรมในศาสนาผีของกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะพิธีกรรมโล้ชิงช้านักวิชาการโบราณคดีไทยรุ่นใหม่ตรวจสอบหลักฐานแล้วไม่พบตามคติพราหมณ์ในอินเดีย

กลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์โดยเฉพาะในไทย เช่น กะเหรี่ยง ราชบุรี มีประเพณีโล้ชิงช้าเพื่อขอลมให้พัดแรงๆ บ่มพืชพันธุ์ที่กำลังมีผลผลิตให้ “แก่แดดแก่ลม” สุกเร็วๆ จะได้เก็บเกี่ยวเก็บไว้เป็นอาหาร

โล้ชิงช้าเป็นประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้วของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วทำสืบเนื่องจนปัจจุบัน ชุมชนชาติพันธุ์จัดโล้ชิงช้าเดือนอ้าย (คือ เดือน 1 ทางจันทรคติ ตรงกับราวพฤศจิกายน-ธันวาคม) ภาษากะเหรี่ยง (ราชบุรี) “ชิงช้า” แปลว่า เดือนอ้าย

เสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ พราหมณ์นักบวชจากอินเดียต้องการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อตั้งหลักแหล่งบริเวณสยามสุวรรณภูมิ แล้วพบว่าคนพื้นเมืองยกย่องประเพณีโล้ชิงช้าเดือนอ้าย ซึ่งไม่เคยมีในพิธีพราหมณ์อินเดีย จึงผนวกพิธีโล้ชิงช้าไว้ในพิธีพราหมณ์ตั้งแต่บัดนั้น ทำให้โล้ชิงช้าถูกจัดเป็นพระราชพิธีซึ่งพบในทวาทศมาสโคลงดั้น (สมัยอยุธยาตอนต้น)

หลังจากนั้นสืบเนื่องมีเสาชิงช้าเพื่อโล้ชิงช้าหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สมัยอยุธยาที่เมืองเพชรบุรี, เมืองนครศรีธรรมราช แล้วสืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่หน้าวัดสุทัศน์มีเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์


 28 มกราคม 2564
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2549339
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 มกราคม 2021, 12:08:06 โดย story »